สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กะเหรี่ยง, ความเป็นอยู่และประเพณี, แก่งกระจาน
Author ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์, พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์
Title แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ปกาเกอะญอ, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
Total Pages 254 Year 2562
Source มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
Abstract

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความเป็นมาเป็นไปของชาวกะเหรี่ยงแผ่นดินใหญ่ หรือบางกลอยบนแต่เดิมอาศัยอยู่เขตป่าสงวนแก่งกระจาน ซึ่งผู้เขียนไม่เพียงแต่กล่าวถึงความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนใจแผ่นดินเท่านั้น ยังกล่าวถึงวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนก่อนที่จะถูกเผาทำลายบ้านเรือน และยุ้งฉาง อีกทั้งยังมีการขับไล่ที่ทำกินของชาวบ้านอีกด้วย ซึ่งรัฐเองได้ออกกฎหมายและมีคำสั่งให้ย้ายถิ่นฐานลงมาที่บางกลอยล่าง ทำให้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินเปลี่ยนไปและไม่ความสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ชาวบ้านจึงต่อสู้เพื่อที่จะได้กลับไปใช้พื้นที่เดิม และเพื่อความเป็นธรรม หนังสือเล่มนี้จึงมีประเด็นที่ผู้เขียนได้ถอดบทเรียนให้เห็นคือ บทเรียนจากกรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน หรือบางกลอยบน วิถีชุมชนและความเป็นชาติพันธุ์ในกระบวนการต่อสู้ ต่อรอง กับอำนาจรัฐและเงื่อนไขต่าง ๆ

Focus

ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เป็นการนำเสนอเรื่องราวความเป็นมา อัตลักษณ์วัฒนธรรม วิถีชุมชน และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านใจแผ่นดิน หรือบางกลอยบน ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการประกาศเป็นป่าอนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติ รัฐได้ใช้ระเบียบกฎหมาย และนโยบายในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจารีตประเพณีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงดังกล่าว โดยมีการถอดบทเรียนจากกรณีการต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อชุมชนและความชอบธรรม 

Ethnic Group in the Focus

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอ   แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีชื่อที่ผู้อื่นเรียก คือ กะเหรี่ยง, กะหร่าง, กะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งในอดีตคนกะเหรี่ยงถูกเรียกขานในหมู่คนไตและคนไทยว่า ‘ยาง’ (น.13) และมีชื่อเรียกตนเองว่า ปกาเกอะญอ (น.19)

History of the Group and Community

ตามคำบอกเล่าบ้านเกิดของชาวกะเหรี่ยงอยู่บนแผ่นดินที่เป็นที่ราบ ภูเขาและป่าลึกกระจัดกระจายทั้งในประเทศไทยและพม่า โดยมีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่บริเวณพรมแดนระหว่างไทยและพม่าเมื่อประมาณ 600 – 700 ปีมาแล้ว ซึ่งกะเหรี่ยงปกาเกอะญออาศัยกระจายบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณ ตามแนวชายแดนไทย – พม่า มีหลักฐานว่ากลุ่มปกาเกอะญอดั้งเดิม อาศัยอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินซึ่งเป็นบริเวณพรมแดนมามากกว่า 100 ปี นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผู้นำกะเหรี่ยงเพชรบุรี ในอดีตนามว่า หลวงศรีรักษา ดำรงตำแหน่งนายกองด่านบ้านลิ้นช้างซึ่งเป็นด่านด้านตะวันตกของเมืองเพชรบุรีราวปี พ.ศ. 2407–2408 อีกด้วย (น.13-14)

Settlement Pattern

บ้านใจแผ่นดินเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ด้านบนของเทือกเขาตะนาวศรีอันเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำหลายสาย (น.19) ได้แก่ แม่น้ำภาชี (แม่ประชี) แม่น้ำบางกลอย และแม่น้ำเพชรบุรี (น.30) และมีเรื่องเล่าของนายพรานว่า บริเวณสามแยกบางกลอยนั้นมีกลอยหัวใหญ่ขนาดสองคนโอบบริเวณลำห้วยบางกลอยซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านบางกลอยบน เป็นพื้นที่ติดต่อกับบ้านใจแผ่นดินในระยะเวลาเดินทางด้วยเท้าราว 1-2 วัน เป็นที่ตั้งถิ่นฐานและทำเกษตรไร่ข้าว (น.20)

Economy

ชาวกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดินดำรงชีวิตด้วยวิถีการผลิตแบบยังชีพเป็นหลักเช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงโดยทั่วไป (น.25) ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังชีพด้วยข้าวไร่ พริกและพืชผลอื่น ๆ ผลผลิตจากข้าวที่ได้จากการทำไร่หมุนเวียนในแต่ละปีจะเก็บไว้กินภายในครัวเรือนเท่านั้น หรืออาจจะแบ่งปันกันหากมีจำนวนมากพอ แต่จะไม่ขาย ยกเว้นพริกกะเหรี่ยง (มะแฮ่ะซะ) ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่น หากมีผลผลิตมากพอจึงจะนำออกไปขายหรือนำไปแลกกับเกลือซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สำคัญของชาวกะเหรี่ยง ส่วนสินค้าที่ชาวบ้านซื้อหากลับมาจากตลาดอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี หรือที่บ้านบ่อ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี นอกจากเกลือและกะปิแล้วยังเป็นอุปกรณ์การเกษตร (น.26)
นอกจากกลุ่มชาวบ้านทำไร่ทำนาและลงมาซื้อขายแลกเปลี่ยนในตัวเมือง อีกพวกหนึ่งคือนายพราน (โม่โช่ะ) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ อีกทั้งเรื่องคาถาอาคม (น.26)

Social Organization

ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบนอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ โดยมีต้นตระกูลหลักอยู่ 3 สายตระกูล ได้แก่ ตระกูลเลอคอ ตระกูลเกลจี และตระกูลมิมิ ซึ่งเป็นต้นตระกูลของปู่คออี้ ทั้งสามตระกูลมีสายสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานระหว่างกัน ในแต่ละครอบครัวจะมีลูกราว 5 – 7 คน ก่อนที่จะขยายครอบครัวออกไปในบริเวณใกล้เคียง (น.24)

Belief System

บ้านใจแผ่นดินซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีความเชื่อซึ่งชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่เรียกกันว่า ‘มาบุ๊’ (หมายถึง การทำบุญ) เป็นวิถีปฏิบัติในลัทธิฤาษี เชื่อในการบำเพ็ญความดีเพื่อไปสู่สวรรค์ ขณะที่คนเฒ่าคนแก่ในสมัยก่อนได้ ถือศีล ทำบุญ ในบริเวณที่เป็นใจแผ่นดินมีเรื่องเล่าถึงบุคคลที่บำเพ็ญบุญถือศีลสูงจนสามารถติดต่อกับคนในเมืองลับแลได้ นอกเหนือจากสองความเชื่อหลักดังกล่าวแล้วยังมีความเชื่อย่อย ๆ เช่น กลุ่มที่กินไก่ กลุ่มไหว้พระจันทร์ในช่วงเปลี่ยนผ่านรอบปีหรือ “เซ้อจ้ะ” กลุ่มที่เลี้ยงเจ้าป่าเจ้าเขา ประจำปีหรือ “มานิเช้อะ” และยังมีกลุ่มที่ไหว้เจดีย์หรือ ‘บาคุ’ ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มบาบุและอาจจะประกอบพิธีร่วมกัน ดังที่ปรากฏว่ามีการสร้างเจดีย์ดินปั้นในบริเวณที่ประกอบพิธีมาบุ๊ อันเป็นสัญลักษณ์ทางความเชื่อในหมู่บ้านแห่งนี้ (น.23)
ความเชื่อในสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติอย่างแยกกันไม่ออกตั้งแต่บรรพบุรุษซึ่งยึดถือประกอบไปกับจารีตและความเชื่อในการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่ปกปักรักษาบ้าน (ป่า) อาหาร (ทรัพยากรดิน น้ำ พืชพันธุ์และสัตว์) (น.25) ทั้งนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติสัตว์ป่า แหล่งน้ำ และผืนป่าอย่างชัดเจน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำทำนาย ลางบอกเหตุ รวมถึงคุณค่าของธรรมชาติต่าง ๆ (น.41) อีกทั้งมีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีเรียกขวัญข้าว (แกวะบึกะลา) ซึ่งรายละเอียดของพิธีกรรมอาจแตกต่างกันออกไปตามแต่ละครอบครัวแต่โดยหลักแล้วคือรูปแบบของการเซ่นไหว้ การเสี่ยงทายโดยมี บ่งคู้ เป็นผู้นำทางพิธีกรรม (น.34) 

Education and Socialization

ด้วยระบบความเชื่ออันเป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าและการดำเนินชีวิตที่โยงใยความสัมพันธ์กลมกลืนไปกับธรรมชาติในพื้นที่อันเป็นถิ่นฐานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ทำให้ชาวบ้านสามารถดำรงวิถีชีวิตภายใต้กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเคร่งครัดและสงบสุข (น.25) 

Folklore

นอกเหนือจากการประกอบพิธีกรรมแล้ว ชาวกะเหรี่ยงมีกิจกรรมการร้องรำทำเพลง เล่นดนตรีอย่างแคน ต๊ะหน้า (เตหน่า) ในช่วงการเรียกขวัญข้าวและงานบุญต่าง ๆ รวมถึงการเที่ยวหาสู่ในช่วงเทศกาลประเพณีการผูกข้อมือเดือน 9 ประเพณีของชาวกะเหรี่ยงนี้สานสายสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้อย่างเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น (น.36)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การทำไร่หมุนเวียนเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทั้งกลุ่มปกาเกอะญอและโผล่ว เป็นวิถีทางการผลิตและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ทั้งนี้การทำไร่หมุนหมุนเวียนเป็นระบบการเกษรที่คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินที่เคยทำการเพาะปลูกด้วยการหมุนเวียนพื้นที่ทำไร่ในทุก ๆ รอบปี ในภาษา     ปกาเกอะญอเรียกไร่ที่ทำการเพาะปลูกว่า “เควะ” และพื้นที่แต่ละแปลงเรียกว่า “ล่อ” ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงแตกต่างจากรูปแบบการเกษตรของคนพื้นที่ราบทั่วไป นั่นคือ ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใช้วิธีไถพรวนหรือเปิดหน้าดิน ทำให้ดินแปลงที่เว้นระยะพักฟื้นไว้ได้รับการฟื้นฟูและปรับสภาพดินโดยธรรมชาติ (น.32) นอกจากนี้ยังมีอัตลักษณ์การเลือกที่อยู่อาศัย ชาวกะเหรี่ยงปะกาเกอะญอมักตั้งถิ่นฐานอยู่ตามแพรกห้วยบนภูเขาหรือตามสันเขาซึ่งเป็นต้นน้ำ บริเวณใจแผ่นดินและบางกลอยบนเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญทั้งแม่น้ำภาชี (แม่ประชี) แม่น้ำบางกลอย และแม่น้ำเพชรบุรี อันเนื่องด้วยวิถีของชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียนและต้องอาศัยผืนดินและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ โดยพื้นที่ไร่มีอยู่ด้วยกันหลายแปลงสำหรับหมุนเวียนทำไร่ข้าวในแต่ละรอบปีซึ่งจะแยกเป็นสัดส่วนจากบริเวณที่ตั้งของที่พักอาศัย การตั้งบ้านเรือนของกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบนอยู่รวมกันเป็นหย่อมบ้านเล็ก ๆ หย่อมละ 2–5 หลังคาเรือน แต่ละหย่อมห่างกันเป็นเวลาเดินเท้านับชั่วโมงไปจนถึงนานข้ามวัน สะท้อนให้เห็นบ้านเรือนของคนในหมู่บ้านที่อยู่กระจัดกระจายห่างกัน ยกเว้นในช่วงที่มีการเอาแรงทำไร่หรือภายหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว จึงจะมีการเที่ยวหาสู่หรือเยี่ยมเยียนกันระหว่างคนกะเหรี่ยงในแต่ละหย่อมบ้านหรือต่างหมู่บ้าน (น.30)

Social Cultural and Identity Change

ความเปลี่ยนแปลงของชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินและบางกลอยบนที่ถูกบังคับโยกย้ายจากบ้านเดิมไปยังพื้นที่จัดสรรบริเวณบ้านโป่งลึก – บางกลอย เมื่อปีพ.ศ. 2539 จากการย้ายถิ่นฐาน ได้ประสบปัญหาความเป็นอยู่ของชาวบ้านกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่เคยดำรงชีวิตบริเวณต้นน้ำต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ลำบากกว่าเดิมซึ่งมีเงื่อนไขต่าง ๆ ประกอบกัน เช่น ข้อจำกัดแปลงที่ดิน หรือสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและแหล่งน้ำ ลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่อยู่รวมกันในพื้นที่ที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถย้ายที่อยู่อาศัยหรือกระจายเป็นหย่อมบ้านเหมือนเดิม ซึ่งส่งผลต่อวิถีทำกินแบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง การเพาะปลูกยังคงทำได้แต่ไม่สามารถทำให้ดำรงชีพได้อย่างเพียงพอ (น.67)
นอกจากพื้นที่จัดสรรจะไม่อำนวยต่อการทำไร่หมุนเวียนไปจนถึงการประกอบพิธีกรรมเพื่อขอบคุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อนุญาตให้ชาวบ้านทำไร่อย่างในอดีตแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีชีวิตภายใต้ข้อกำหนดและบริบทที่เกิดขึ้นใหม่ยังทำให้คติความเชื่อและประเพณีต่าง ๆ กำลังจะสูญหายไปจากชุมชนชาวกะเหรี่ยง (น.34)
สภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของชุมชนยังถูกแทนที่ด้วยการปรับเปลี่ยนอาชีพ ชาวบ้านหลายคนไม่สามารถดำรงวิถีการทำไร่หมุนเวียนแบบยังชีพเช่นที่เคยเป็น จึงต้องพึ่งพารายได้จากการทำงานทั้งงานทอผ้าในหมู่บ้านและออกมาทำงานรับจ้างชั่วคราวรูปแบบต่าง ๆ ในตัวอำเภอแก่งกระจานหรือจังหวัดเพชรบุรีเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะคนที่มีทักษะทางภาษาและกำลังพอที่จะไปทำงานนอกพื้นที่จัดสรรได้ (น.51)
ความเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวบ้านที่โยกย้ายมายังพื้นที่ใหม่โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือตามข้อตกลงเพื่อให้ดำเนินการอพยพโดยสมัครใจเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ยังเป็นปัญหาที่ชาวบ้านบางกลอยต้องเจอจนถึงปัจจุบัน (น.67)

Critic Issues

ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เป็นบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนเล็ก ๆ ที่ห่างไกลเพื่อรักษาบ้านใจแผ่นดิน ดินแดนอันห่างไกล ลี้ลับ และศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ด้วยความหวังที่จะกลับไปใจแผ่นดินบ้านเกิดใช้ชีวิตอย่างสงบ เรียบง่ายในพื้นที่ป่า และหวังให้รัฐและเจ้าหน้าที่ยอมรับ เข้าใจในวิถีของชาวกะเหรี่ยง และเคารพชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

Other Issues

เครือข่ายทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
ชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินและบางกลอยบนทั่วไปไม่ได้มีเครือข่ายทางสังคมนอกพื้นที่อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับในสมัยก่อน ยกเว้นภายหลังช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวที่มีการเดินเท้าไปเที่ยวบ้าน ตระเวนผูกข้อมือกันในหมู่พี่น้องกะเหรี่ยงหมู่บ้านต่าง ๆ อยู่บ้าง (น.54)
ความสัมพันธ์ของเครือข่ายทางสังคมโดยเฉพาะเครือข่ายทางชาติพันธุ์ของชาวกะเหรี่ยงปรากฏอีกครั้งในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างปี พ.ศ.2508-2511 ที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และแนวร่วมชาวกะเหรี่ยงถูกปราบปรามและกดดันอย่างหนักจากทางการ จนต้องถอยไปอาศัยในเขตป่า เข้าไปถึงต้นน้ำเพชรบุรี ห้วยแม่ประโดน ห้วยแม่เพรียง แม่น้ำบางกลอย โป่งลึก และบ้านใจแผ่นดิน ในช่วงเวลานั้นกะเหรี่ยงปกาเกอะญอในพื้นที่จึงมีปฏิสัมพันธ์กับสหาย พคท. ที่ส่วนหนึ่งเป็นกะเหรี่ยงโผล่วหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี (น.55)
เครือข่ายทางสังคมของชาติพันธุ์เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนชาวบ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบนที่เผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในเวลาต่อมาโดยเฉพาะเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) เครือข่ายดังกล่าวประกอบด้วยผู้นำชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นคนทำงานในพื้นที่ประสานกับเครือข่ายอื่น ๆ และองค์กรภายนอกในประเด็นทางสังคมต่าง ๆ (น.40)

บทเรียนจากกรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน/บางกลอยบน
ตั้งแต่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินการเผาทำลายบ้าน และยุ้งฉางของชาวบ้าน อีกทั้งใช้อำนาจบังคับให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงใจแผ่นดินและบางกลอยบนอพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตนในปีพ.ศ. 2553-2554 ในช่วงเวลานั้นชาวบ้านบางส่วนถูกผลักดันให้มาอยู่กับญาติพี่น้องในหมู่บ้านอื่น ๆ (น.76) ในระยะแรกคนกลางที่ทำหน้าที่สำคัญในการประสานชาวบ้านพร้อมทั้งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานตรวจสอบ คือ ทัศน์กมล โอบอ้อม หรืออาจารย์ป๊อด ภายหลังเหตุการณ์พ.ศ.2553-2554 เมื่อทัศน์กมลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องความเป็นชุมชนดั้งเดิมละการตั้งถิ่นของชาวกะเหรี่ยงที่มาก่อนหน้าประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง อีกทั้งเผยแพร่ข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สถานะแกนนำชาวบ้านที่เป็นคู่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ชัดเจนมากขึ้น และกลายเป็นเป้าหมายของการปองร้ายจนถึงแก่ชีวิตจากการถูกลอบยิงเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 (น.77) สถานะแกนนำหรือตัวแทนของชาวบ้านก่อให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำร้ายขึ้นอีกกับ           พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยหลานชายของปู่คออี้ มีมิ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในฐานะพยานคดีที่ปู่คออี้ และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ทั้งยังเป็นผู้จัดทำเอกสาร รวบรวมข้อมูลและพยานที่จะให้การตามนัดสืบพยานที่กำลังจะมาถึง แต่กลับหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 (น.78)
หากพิจารณาข้อเรียกร้องและความพยายามในการหาทางออกต่อกรณีปัญหาของชาวบ้านร่วมกันกับภาคส่วนต่าง ๆ จะเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะการแก้ไขประเด็นพื้นที่ทำกินเท่านั้น แต่รวมถึงกระบวนการเพื่อให้เกิดการดำรงวิถีทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อันเป็นใจความสำคัญของเรื่องทั้งหมด ในขณะที่ข้อถกเถียงรวมทั้งคำตัดสินอันสืบเนื่องจากการยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ศาลที่ทำหน้าที่ตัดสิน คลี่คลายข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้านรวมทั้งออกคำสั่งให้ดำเนินการคุ้มครอง ชดเชย หรือการกระทำอื่นใดต่อชาวบ้านนั้น ต่างเป็นเรื่องของสิทธิที่ควบคู่ไปกับกฎหมาย ซึ่งมิติของสิทธิที่ได้รับการเน้นย้ำในกรณีชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ นั่นคือ สิทธิชุมชน (น.88)

Map/Illustration

รูปภาพ
- ภาพขณะทำแผนที่ทำมือบริเวณบ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบน (น.16)
- ภาพนายโคอิ หรือคออี้ มิมิ (น.22)
- ภาพต้นพริกกะเหรี่ยง (น.27)
- ภาพต้นหมากในหมู่บ้านบางกลอยบน (น.28)
- ภาพวาดกะเหรี่ยงเพชรบุรี (น.29)
- ภาพสำรวจบ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบน (น.29)
- ภาพที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน/บางกลอยบน (น.31)
- ภาพขั้นตอนการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง (น.33)
- ภาพพิธีกรรมกินข้าวใหม่ (น.35)
- ภาพการร้องและเล่นดนตรีกะเหรี่ยงในพิธีเรียกขวัญข้าว (น.36-37)
- ภาพสายน้ำในหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง (น.42-43)
- ภาพต้นไม้ใหญ่ในป่าแก่งกระจาน (น.45)
- ภาพชาวกะเกรี่ยงเดินเท้าไปไร่ (น.47)
- ภาพข้าวเปลือกที่นำมาตากภายหลังจากเก็บเกี่ยว (น.50)
- ภาพชาวกะเหรี่ยงในคราวที่ประชุมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ (น.53)
- ภาพงานผ้าป่ากองบุญข้าว บ้านโป่งลึก – บางกลอย ปีพ.ศ. 2556 (น.55)
- ภาพครอบครัวและเครือข่ายกะเหรี่ยงร่วมกันทำพิธีเรียกขวัญบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ) ให้กลับบ้าน ที่ด่านมะเร็ว ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี (น.57)
- ภาพเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมและตัวแทนชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมทำกิจกรรมและแสดงความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะในการบูรณาการแนวนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 (น.71)
- ภาพชาวกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน/บางกลอยบน ณ ทำเนียบรัฐบาล (น.72)
- ภาพบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ (น.80) ภาพตำรวจเข้าสอบสวนกรณีการหายตัวของบิลลี่ที่หมู่บ้านโป่งลึก - บางกลอย (น.81)
- ภาพบิลลี่และชาวบ้านกะเหรี่ยงในกระบวนการรวบรวมข้อมูล (น.84)
- ภาพพฤ โอโดเชา และปู่คออี้ มีมิ ในวันฟังคำตัดสินคดีที่ปู่และชาวบ้านกะเหรี่ยงรวม 6 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง (น.89)
- ภาพผู้ฟ้องคดีสาบานตนในวันที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง (น.90)
- ภาพชาวกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน/บางกลอยบน (น.94)
- ภาพป่าแก่งกระจาน (น.97)
- ภาพนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ (มึนอ) ภรรยาของบิลลี่ และลูกสาว (น.143)
แผนที่
- แผนที่แหล่งตั้งถิ่นฐานกะเหรี่ยงกลุ่มต่าง ๆ ในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย (น.15)
- แผนที่ทำมือบริเวณบ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบน (น.17) 

Text Analyst กิตติยากรณ์ เสียวสุข Date of Report 01 ต.ค. 2564
TAG กะเหรี่ยง, ความเป็นอยู่และประเพณี, แก่งกระจาน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง