สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ผู้ไท, ญ้อ, กะเลิง, พหุชาติพันธุ์, ทุนทางวัฒนธรรม, ทุนทางสังคม, ทุนนิยมทางศาสนา, สำนักบุญนิยม, เกาะดอนสวรรค์, หนองหาร, สกลนคร
Author นิภาพร มาลีลัย
Title การใช้ทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนพหุชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ผู้ไท ภูไท, ญ้อ ไทญ้อ, กะเลิง, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น Total Pages 159 Year 2560
Source วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาลุ่มแม่น้ำโขงศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Abstract

วิทยานิพนธ์เรื่อง การใช้ทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนพหุชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากข้อมูลเอกสาร และวิจัยภาคสนามภายในชุมชนพหุชาติพันธุ์จำนวน 4 หมู่บ้าน ที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร กลุ่มชาติพันธุ์หลักในชุมชน ได้แก่ ผู้ไท ญ้อ และกะเลิง ผลวิจัยพบว่า สำนักบุญนิยมได้เข้ามาสร้างทุนนิยมทางศาสนาในจังหวัดสกลนคร โดยมุ่งเน้นด้านการรับบริจาคทรัพย์สินจำนวนมาก ลักษณะเช่นนี้ขัดแย้งต่อความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพหุชาติพันธุ์ในชุมชน พหุชาติพันธุ์จึงรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย เพื่อช่วงชิงพื้นที่ความเชื่อและปฏิเสธทุนนิยมทางศาสนาโดยการนำทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมมาฟื้นฟูและเผยแพร่แก่คนภายในและคนภายนอกชุมชน ได้แก่ การส่งเสริมระบบเครือญาติที่เข้มแข็ง ประเพณีขึ้นเขาสรงน้ำพระ การเรียนจารและการอ่านคัมภีร์โบราณ การสร้างพิพิธภัณฑ์ พิธีกรรมเหยา ความเชื่อเรื่องผี นอกจากสิ่งเหล่านี้จะเป็นการต่อต้านการขยายอำนาจของสำนักบุญนิยมแล้ว ยังส่งผลให้ชุมชนพหุชาติพันธุ์เกิดการพัฒนาทางการเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

Focus

เพื่อศึกษาวิธีนำทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
พหุชาติพันธุ์ท่ามกลางการขยายตัวของทุนนิยมทางศาสนา และเพื่อศึกษาเงื่อนไขที่ส่งผลให้ชุมชนพหุชาติพันธุ์สามารถช่วงชิงพื้นที่ทางความเชื่อ ท้าทายและต่อรองกับทุนนิยมทางศาสนา (หน้า 4)

Theoretical Issues

งานวิจัยเรื่อง การใช้ทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนพหุชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร สอดคล้องแนวคิดเรื่องทุนทางวัฒนธรรม อ้างจาก Pierre Boourdieu ว่าทุนทางวัฒนธรรมคือสิ่งที่บุคคลถูกหล่อหลอมจากสังคมจนเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดต่อกันมา และแนวคิดทุนทางสังคม อ้างจาก Robert Putnam ว่าทุนทางสังคมคือ ปัจจัยภายใน คือ ความเข้มแข็งของชุมชน เครือข่าย ความไว้ใจ และปัจจัยภายนอก คือ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น งานวิจัยพบว่า ชุมชนพหุชาติพันธุ์มีปัจจัยครบสองประการ ได้แก่ ปัจจัยภายใน คือ วัฒนธรรม ประเพณี เครือข่าย เศรษฐกิจและทรัพยากรในชุมชน ปัจจัยภายนอก คือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเข้ามาของทุนนิยมทางศาสนา สอดคล้องกับแนวคิดของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (2555) ว่า สองปัจจัยดังกล่าวมีความเชื่อมโยงต่อกันเสมอ  ทั้งยังสามารถบ่งบอกถึงความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของชุมชน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของชุมชนพหุชาติพันธุ์
นอกจากนี้ได้พบข้อขัดแย้งต่องานศึกษาที่ผ่านมาว่า ประเด็นทุนนิยมทางศาสนา ส่วนมากเป็นการศึกษาเกี่ยวกับหลักคำสอน แต่ยังขาดข้อมูลเชิงลึกในด้านวิถีชีวิตชุมชนที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ประเด็นทุนทางสังคม ส่วนมากเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรภายในชุมชนเป็นหลัก แต่ยังขาดการศึกษาความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การต่อต้านทุนนิยมทางศาสนาประเด็นทุนทางวัฒนธรรม ส่วนมากมักศึกษาด้านการนำภูมิปัญญามาสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในชุมชน แต่ยังขาดการศึกษาเรื่องการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างความสัมพันธ์ภายในชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อสามารถต่อรองและปฏิเสธทุนนิยมทางศาสนา และประเด็นด้านความเข้มแข็งในชุมชน ส่วนมากเป็นการศึกษารูปแบบและการทำงานของคนในองค์กร แต่ยังขาดการศึกษาแบบปัจเจกบุคคลและชุมชนที่ก่อให้เกิดเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง
งานวิจัยเรื่อง การใช้ทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนพหุชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร จึงให้ความสำคัญกับการสะท้อนบริบทที่เกิดขึ้นจากมุมมองของคนภายในพื้นที่ ทำให้พบว่าข้อมูลเชิงลึกด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนพหุชาติพันธุ์ ว่าถึงแม้พหุชาติพันธุ์จะมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แต่ชุมชนมีทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน เช่น ชุมชนมีความเชื่อเรื่องผีึบรรพบุรุษว่ามีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน ส่งผลให้พหุชาติพันธุ์มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง แม้ภายหลังทุนนิยมทางศาสนาจะรุกคืบเข้ามาในชุมชน แต่พหุชาติพันธุ์ก็สามารถรวมเครือข่ายต่อต้านและปฏิเสธทุนนิยมทางศาสนาได้อย่างแยบยล (หน้า 131-133)

Ethnic Group in the Focus

ผู้ไท ญ้อ และกะเลิง (หน้า 4)

Study Period (Data Collection)

เวลาทั้งสิ้น 2 ปี 2 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2557 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 (หน้า 34)

History of the Group and Community

ชุมชนพหุชาติพันธุ์เชื่อว่าบรรพบุรุษของชาติพันธุ์ตนเองสืบเชื้อสายมาจากเมืองเดียวกัน คือเมืองมหาชัยกองแก้ว หรือเมืองวังอ่างคำ ก่อนที่จะอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่บ้านปัจจุบัน แต่ละหมู่บ้านมีประวัติความเป็นมาดังนี้
ชาวผู้ไทบ้านนาดอน  มีประวัติความเป็นมาว่า ในอดีตมีพระธุดงค์มาจากบ้านดงกึม แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว เมื่อมาถึงบริเวณบึง ใกล้เคียงกับบ้านนาเกลือ ท่านเห็นว่าพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้กลับไปชักชวนชาวบ้านที่ประเทศลาวให้ไปตั้งถิ่นฐานด้วยกัน ข่าวนี้ได้แพร่ไปถึงอาญาพระพลและอาญาพระประเทพ ท่านเป็นชาวกะเลิง ท่านจึงได้พาชาวบ้านกะเลิงอีก8 ครอบครัวเดินทางมาตั้งถิ่นฐาน ในที่นี้แยกเป็นสองที่คือบริเวณห้วยทรายและดงหม่นริมห้วยทรายตอนบน แต่บริเวณนี้เกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ผู้นำทั้งสองจึงอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณบ้านโนนค้ออย่างถาวร ซึ่งคือหมู่บ้านนาดอนในปัจจุบัน การก่อตั้งหมู่บ้านจะเห็นการอพยพเคลื่อนย้ายตลอดเวลา เช่น ช่วงแรกชาวผู้ไทไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาเกลือ ก่อนย้ายมาที่บ้านนาดอน ทำให้ผู้คนบ้านนาเกลือและบ้านนาดอนมีความผูกพันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตั้งแต่ในอดีต (หน้า 44-46)
ชาวกะเลิงบ้านนาเจริญมีประวัติความเป็นมาว่า ปู่จุ่มเป็นผู้นำในการตั้งชุมชน ได้พาญาติชาวกะเลิงอีก 7 ครอบครัวอพยพมาจากเมืองมหาชัยกองแก้ว ประเทศลาว โดยการล่องเรือมาจากแม่น้ำโขง ภายแรกได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อาศัยอยู่ประมาณหนึ่งปี  ก่อนย้ายไปตั้งชุมชนใหม่บริเวณแม่น้ำก่ำ ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ตั้งหมู่บ้านว่า “บ้านโพนสว่าง” ต่อมาหมู่บ้านเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ชาวกะเลิงจึงอพยพออกมาตั้งชุมชนใหม่ บริเวณลำห้วยคำฮุย ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านโนนเจริญ” และมีการก่อตั้งวัดสว่างนาเจริญขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2445 วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2525 และได้รางวัลวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อ พ.ศ. 2531 แม้ประวัติการก่อตั้งชุมชนจะไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับชาติพันธุ์อื่น แต่เนื่องจากชาวกะเลิงนับถือผีและศาสนาพุทธ ประกอบกับมีการแต่งงานระหว่างชาติพันธุ์ ทำให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายระหว่างหมู่บ้าน ชาวบ้านนาเจริญจึงมีปฏิสัมพันธ์กับบ้านนาดอนกับบ้านนาเกลืออยู่เสมอ (หน้า 47)
ชาวผู้ไทบ้านนาธรรมมีประวัติความเป็นมาว่า ผู้นำชาวบ้านชื่อ “ปู่เถื่อน” นำชาวบ้านอพยพออกจากบ้านดงหลวง มาตั้งชุมชนที่ริมห้วยช้างเผือก ช่วง พ.ศ. 2419 ประมาณ 20 ครัวเรือน ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านนาดี” ต่อมาได้มีผู้นำชุมชนมาจากเมืองภูวา ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เข้ามาร่วมก่อสร้าง “วัดนางาม” โดยแต่งตั้งพระอธิการเหลาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เจ้าอาวาสรูปที่สองคือพระอธิการธรรม ท่านมีความสำคัญในการนำชาวบ้านให้เลิกนับถือผี และเผยแพร่คำสอนตามพระพุทธศาสนา ส่วนผู้นำหมู่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น เรียกว่า “ขุนหรือท่านขุน” ผู้นำหมู่บ้านคนแรกคือขุนมหาราช เป็นลูกชายคนโตของปู่เถื่อน จากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าอาวาสและผู้นำชุมชนเรื่อยมา กระทั่ง พ.ศ. 2456 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ท่านมีดำริให้คนไทยมีนามสกุล ขุนเทพอักษรผู้นำหมู่บ้านนาดีในขณะนั้นจึงตั้งนามสกุลไว้สามชื่อ ได้แก่ “ศรีนาถ” “แก้วคำพู” และ “แสนหานาม” เพื่อให้ชาวบ้านได้เลือกใช้เป็นนามสกุลจนถึงปัจจุบัน ต่อมา พ.ศ. 2478 ขุนเทพอักษรถึงแก่กรรม ผู้นำหมู่บ้านคนใหม่ คือ ลุงจารย์มหาดำ แก้วคำพู ขณะนั้นบ้านนาดีประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก ผู้นำหมู่บ้านจึงอพยพชาวบ้านจากริมห้วยช้างเผือก ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่สูง ซึ่งบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการตั้งชุมชน โดยตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านนาธรรม” และได้ก่อสร้างวัดบ้านนาธรรม
เมื่อ พ.ศ. 2481วัดได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมา ต่อมาได้มีการตัดถนนเข้าหมู่บ้าน ชุมชนจึงมีผู้คนเข้ามาอาศัยอย่างแน่นหนา (หน้า 49-50)
ชาวญ้อและชาวผู้ไทบ้านนาเกลือมีประวัติความเป็นมาว่า ชาวบ้านนาเกลือส่วนมากเป็นชาวญ้อที่สืบเชื้อสายมาจากเพี้ยศรีคอนชุม เดินทางอพยพผ่านท่าอุเทนและเมืองกองแก้วมหาชัย มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองหนองหาร โดยได้สร้างบ้านเรือนบริเวณริมหนองน้ำด้านตะวันตก หรือหนองนาบ้านในปัจจุบัน  ต่อมาได้มีคนอีกหลายชาติพันธุ์ข้ามแม่น้ำโขงมาทำการค้าขาย รวมไปถึงเข้ามาแต่งงานกับคนในหมู่บ้าน เช่น ชาวกะเลิงบ้านนาเจริญ เข้ามาแต่งงานกับชาวผู้ไทหรือชาวญ้อบ้านนาเกลือ ประกอบกับบ้านนาเกลือเป็นหมู่บ้านเดียวในอำเภอโคกศรีสุพรรณที่มีการต้มเกลือสินเธาว์ บ้านนาเกลือจึงเป็นจุดสำคัญที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์เครือญาติและเศรษฐกิจระหว่างชุมชนพหุชาติพันธุ์ (หน้า 55-57)

Demography

บ้านนาดอนมีประชากรประมาณ 700 คน หรือ 160 ครัวเรือน  บ้านนาเกลือมีประชากรประมาณ 657 คน หรือ 140 ครัวเรือน สำหรับบ้านนาเจริญและบ้านนาธรรม ไม่ปรากฏข้อมูลประชากร (หน้า 45, 53)

Economy

ผู้วิจัยให้ความสำคัญและมุ่งเน้นต่อการศึกษาชุมชนบ้านนาเกลือ พบว่าบ้านนาเกลือล้วนมีการติดต่อค้าขายกับบ้านนาดอน บ้านนาเจริญ และบ้านนาธรรม และมีความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจต่อกัน ดังนี้
บ้านนาดอน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่าจากเทือกเขาภูพานมาบริโภคและค้าขาย  เนื่องจากชาวบ้านนาดอนและบ้านนาเกลือมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตั้งแต่อดีต ชาวบ้านนาดอนจึงมักนำของป่าไปขายให้กับชาวบ้านนาเกลือ แต่เดิมจะใช้การหาบหรือใช้เกวียน ปัจจุบันบ้านนาดอนมีตลาดในการค้าขาย หากค้าขายนอกหมู่บ้านจึงจะขนย้ายโดยรถจักรยานยนต์ (หน้า 46-47)
บ้านนาเจริญ ชาวบ้านมีอาชีพทำนา เกษตรกรรมต่างๆ หมู่บ้านมีแหล่งน้ำสำคัญคือ ลำห้วยหนองคำฮุยร่องศาลา ลำห้วยกระแทะ และหนองโพนแก้ว ชาวบ้านบางส่วนทำอาชีพต้มเกลือเช่นเดียวกับบ้านนาเกลือ เนื่องด้วยชาวบ้านนาเจริญได้มีการแต่งงานกับชาวบ้านนาเกลือ จึงสามารถเข้าพื้นที่นาเกลือเพื่อเก็บเกล็ดเกลือ แล้วนำกลับไปต้มที่หมู่บ้านตนเองได้ แต่ส่วนมากจะนิยมเช่าพื้นที่บ้านนาเกลือในการต้มเกลือเพราะสะดวกมากกว่า (หน้า 48)
บ้านนาธรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ ทำนา หาปลา และหาของป่า บ้านนาธรรมได้เปรียบด้านการประกอบอาชีพเพราะชุมชนมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์กว่าหมู่บ้านอื่น ได้แก่ ป่าชุมชน แม่น้ำก่ำ ห้วยแคน ห้วยช้างเผือก หนองคำเมื่อย หนองคำแฮด และห้วยหนองอื่นๆ เนื่องจากบ้านนาธรรมมีปลาจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นในการติดต่อซื้อเกลือจากบ้านนาเกลือมาเพื่อใช้แปรรูปและถนอมอาหารอย่างสม่ำเสมอ (หน้า 50-51)
บ้านนาเกลือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและต้มเกลือ บ้านนาเกลือตั้งชุมชนอยู่บนพื้นที่สูง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “โพน” รอบหมู่บ้านเป็นที่ราบ ทางทิศตะวันออกมีบ่อน้ำ “หนองนาบ้าน” ถัดจากบ่อน้ำชาวบ้านเรียกว่า “ดง” คือป่าชุมชนซึ่งเป็นแหล่งอาหารของคนในหมู่บ้านและเป็นรอยต่อติดกับจังหวัดนครพนม ด้านทิศเหนือมี “ห้วยสิม” ห้วยน้ำขนาดเล็กที่ไหลมาจากต้นน้ำเทือกเขาภูพาน และไหลไปที่ “ห้วยแคน” บริเวณท้ายป่าชุมชน ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำก่ำ ปัจจุบันชาวบ้านใช้ห้วยสิมเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังมีหนองใหญ่ หนองนาบึง หนองโพนไฮ และทุ่งนาขนาดใหญ่ที่ติดต่อกับบ้านนาธรรมและบ้านนาดอน จะพบว่าบ้านนาเกลือมีทรัพยากรที่หลากหลาย ส่งผลให้บ้านนาเกลือเป็นจุดสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทางสังคมทั้งด้านเครือญาติและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี (หน้า 53-54)

Social Organization

เมื่อสำนักทุนนิยมเข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชน รวมไปถึงได้ทำลาย “ของค้ำของคูณ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวอีสานเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ทำให้เจริญ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ได้แก่ ความเชื่อดั้งเดิม โบราณสถาน โบราณวัตถุ คัมภีร์ใบลาน ส่งผลให้พหุชาติพันธุ์ทั้ง 4 หมู่บ้านเริ่มตระหนักถึงการรุกรานจากสำนักบุญนิยม จึงได้ริเริ่มรวมกลุ่มเครือข่ายจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อปฏิเสธการเข้ามาของสำนักบุญนิยม โดยเมื่อปี พ.ศ. 2550 เริ่มฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม  เช่น ประเพณีสรงน้ำพระขึ้นดอยอ่างกุ้ง พหุชาติพันธุ์ใช้เครือข่ายเครือญาติในการกระจายข่าว เพื่อชักชวนให้คนในชุมชนมาเข้าร่วมประเพณี  การฟื้นฟูการอ่านคัมภีร์ใบลาน ก่อนนำไปสู่การรวมกลุ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ที่บ้านนาเกลือ เมื่อ พ.ศ. 2555 (หน้า 87-89)
ประเพณีสรงน้ำพระขึ้นดอยอ่างกุ้งในอดีตนับได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายทางสังคม จากการที่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำอาหารเพื่อถวายพระ เนื่องจากเส้นทางขึ้นดอยอ่างกุ้งมีความชัน ผู้เฒ่าผู้แก่จึงจะใช้วิธีฝากอาหารคนหนุ่มสาวไปถวายพระแทน แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในชุมชน เมื่อชาวบ้านเริ่มฟื้นฟูประเพณี เมื่อ พ.ศ. 2552 องค์การบริหารส่วนตำบล ได้เข้ามาส่งเสริมด้านงบประมาณและอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรม เช่น ชมรมออฟโรดของจังหวัดสกลนคร เข้ามาอำนวยความสะดวกในการขนส่งอุปกรณ์และอาหาร หากผู้สูงอายุ เด็ก หรือคนเดินขึ้นเขาไม่ไหวก็สามารถติดรถขึ้นไปบนดอยอ่างกุ้งได้ สำหรับงบประมาณพหุชาติพันธุ์ทั้ง 4 หมู่บ้านจะนำเงินไปซื้ออุปกรณ์มาช่วยกันบูรณะพระธาตุดอยอ่างกุ้ง ผู้หญิงจะช่วยกันทำอาหาร หลังจากถวายอาหารพระ จึงจะเริ่มพิธีสรงน้ำพระธาตุและพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ทั้งยังมีการแข่งขันสร้างบั้งไฟ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความสนุกสนานและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน นอกจากนี้ชมรมออฟโรดสกลนครยังมีเครือข่ายจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมประเพณี รวมไปถึงการบอกกล่าวปากต่อปาก เรื่องประวัติความเป็นมาของประเพณีแก่คนรู้จัก ส่งผลให้ประเพณีสรงน้ำพระขึ้นดอยของพหุชาติพันธุ์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง  (หน้า 93-96)
สำหรับการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านนาเกลือ มีจุดประสงค์เพื่อเก็บรักษามรดกชุมชนไม่ให้ถูกรุกรานจากสำนักบุญนิยม และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ ผู้เสนอความคิดในการสร้างพิพิธภัณฑ์ คือ ป้าทองพูน ชาวผู้ไทบ้านนาธรรมที่แต่งงานกับชาวญ้อแล้วเข้ามาอาศัยที่บ้านนาเกลือราวสามสิบปี  เมื่อชาวบ้านนาเกลือและเจ้าอาวาสวัดบ้านนาเกลือเห็นด้วย เจ้าอาวาสและพระสงฆ์วัดบ้านนาเกลือทำการเลือกพื้นที่ในการสร้างพิพิธภัณฑ์ และทำพิธีบวงสรวงและมีการบวชชีพราหมณ์เมื่อ พ.ศ. 2555 โดยพิธีครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพหุชาติพันธุ์ โดยชาวบ้านทั้งสี่หมู่บ้านต่างเข้ามาร่วมพิธีบวงสรวง ออกแบบก่อสร้าง บริจาคเงิน และออกแรงในการสร้างพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมีขนาดเล็ก สร้างด้วยไม้สักทอง มีประตูเข้าออกทางเดียว เมื่อสร้างเสร็จได้ส่งมอบพิพิธภัณฑ์ให้บ้านนาเกลือในงานบุญกองข้าวบ้านนาเกลือ เมื่อ พ.ศ. 2557 จากนั้นชาวญ้อและชาวผู้ไทบ้านนาเกลือได้เริ่มรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ เพื่อนำมาขึ้นทะเบียนและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยสิ่งของที่มาจากบ้านนาเกลือมีจำนวนมากที่สุด ส่วนสิ่งของจากอีก 3 หมู่บ้านมีจำนวนลดหลั่นลงมา เช่น ธรรมมาสน์เก่า กลองเส็ง กลองเพลขนาดใหญ่ โปงไม้โบราณ คัมภีร์โบราณ แต่สำหรับคัมภีร์ใบลานบางส่วนที่เสียหายหนัก ยังคงถูกเก็บไว้ที่ห้องเก็บพระพุทธรูปบ้านนาเกลือภายในวัด ของบางส่วนที่เสียหายก็มีการบูรณะซ่อมแซมจนเกือบสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงภูมิปัญญาและเครื่องมือที่บ่งบอกวิถีชีวิตในอดีตของชาวบ้าน เช่น ไม้ลำตาล เครื่องมือหาปลา กล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์ได้ส่งผลให้พหุชาติพันธุ์ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรม ความเชื่อ เศรษฐกิจ ความเกื้อกูล และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตั้งแต่อดีต จนสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือในสังคมพหุชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นนัยยะในการช่วงชิงพื้นที่ความเชื่อและการต่อต้านกับสำนักบุญนิยม (หน้า 113-117)

Political Organization

ลักษณะการปกครองในท้องถิ่นถูกสะท้อนผ่านเหตุการณ์ที่แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และสำนักบุญนิยม กล่าวคือ
เหตุการณ์ความขัดแย้งเรื่องการแจกโฉนดที่ดินวัดดอนสวรรค์  เริ่มจากมีประกาศจากสำนักที่ดินจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ว่ารัฐแจกโฉนดที่ดินของวัดดอนสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดร้าง มีเนื้อที่ 85 ไร่ รัฐแจ้งว่าชาวบ้านสามารถคัดค้านการออกโฉนดจากเจ้าพนักงานได้ภายใน 30 วัน ชาวบ้านและหน่วยงานเอกชนในจังหวัดสกลนครส่วนมากไม่เห็นด้วยต่อการออกโฉนดในครั้งนี้ แต่เนื่องจากการประกาศให้คัดค้านไม่ทั่วถึง จึงทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งเทศบาลจังหวัดสกลนครได้ทำเรื่องจัดส่งเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมาชาวบ้านมีความเห็นขัดแย้งกับราชการอยู่บางกรณี เช่น การเขียนคำว่า “หนองหาน” หรือ “หนองหาร” แต่ชาวบ้านและหน่วยงานเอกชนก็ผ่อนปรนว่าสุดแต่ราชการจะกำหนด แต่การออกโฉนดที่ดินวัดดอนสวรรค์นั้น ชาวบ้านมีความเห็นว่าหน่วยงานราชการไม่โปร่งใสและต้องการนำที่ดินไปใช้ในการสร้างผลประโยชน์ จึงต้องออกมาคัดค้านอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังพบว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับการออกโฉนดคือคณะสงฆ์จากสำนักบุญนิยม ฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าวัดดอนสวรรค์เป็นวัดร้าง จึงต้องการปรับปรุงให้ภิกษุเข้าไปจำพรรษาและปฏิบัติภารกิจตามพุทธศาสนา ตัวแทนสำนักบุญนิยมได้ออกมาโต้แย้งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการขอออกโฉนดแต่อย่างใด เพราะกระบวนการทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานราชการ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจจากชาวบ้านในจังหวัดสกลนครอย่างมาก เนื่องจากบริเวณดอนสวรรค์เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่มีการดูแลจากกรมประมง ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 ทั้งนี้ยังมีตำนานที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เมื่อเกิดความขัดแย้งเรื่องการออกโฉนดวัดดอนสวรรค์ พหุชาติพันธุ์จึงเริ่มมองเห็นความไม่โปร่งใสของหน่วยงานราชการและการครอบครองพื้นที่ของสำนักบุญนิยม จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการร่วมกลุ่มเพื่อต่อต้านสำนักบุญนิยม (หน้า 70-72)
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์การช่วงชิงอำนาจระหว่างคณะสงฆ์ด้วยกันเอง สำหรับพหุชาติพันธุ์ได้ให้ความศรัทธาต่อ “พระมหาดิ่ง” ท่านเป็นพระมหานิกายที่มีความรู้ความสามารถระดับเปรียญธรรมเก้าประโยค ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านนาดอน แม้ท่านจะเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านนาดอน แต่ด้วยความรู้ความสามารถท่านจึงได้ปฏิบัติกิจสงฆ์เป็นหลักที่วัดพระธาตุเชิงชุม กระทั่งได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุม รอเพียงการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากสำนักงานพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เนื่องด้วยพระมหาดิ่งมีอุปนิสัยตรงไปตรงมา จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งกับพระสงฆ์ของสำนักบุญนิยม ประกอบกับสำนักบุญนิยมได้เข้ามามีอำนาจและเครือข่ายกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดสกลนคร จึงเกิดเหตุการณ์แย่งชิงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุม ดังนั้นพระมหาดิ่งจึงไม่ได้รับตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุม โดยตำแหน่งต่อมาที่พระมหาดิ่งควรจะได้รับ คือ ตำแหน่งเจ้าคณะตำบลดงหลวง  แต่สุดท้ายท่านก็ไม่ได้ตำแหน่งนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้พระมหาดิ่งจึงเป็นอีกท่านที่ประสบปัญหากับสำนักบุญนิยมด้วยตนเอง ท่านจึงได้ใช้โอกาสนี้ในการเป็นผู้นำรื้อฟื้นการอ่านและจารคัมภีร์ใบลานในชุมชนพหุชาติพันธุ์ เพื่อเป็นการปกป้องทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนพหุชาติพันธุ์ (หน้า 107)

Belief System

พหุชาติพันธุ์ทั้ง 4 หมู่บ้าน มีความเชื่อเรื่องผีและพุทธศาสนา ดังนี้
ชาวผู้ไทในชุมชนบ้านนาดอน  นับถือผีเป็นหลัก บางครอบครัวนับถือศาสนาพุทธ หรือนับถือทั้งสองความเชื่อ ชาวบ้านส่วนหนึ่งเป็นลูกเลี้ยงของแม่เมือง แม่เมืองคือผู้ที่สามารถสื่อสารกับผีแถน เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเมื่อประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีหรือพิธีกรรมเหยา (หน้า 46)
ชาวกะเลิงในชุมชนบ้านนาเจริญนับถือผี การประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีคล้ายคลึงกับชาวผู้ไท มีความแตกต่างในด้านเครื่องแต่งกายขณะประกอบพิธีกรรมเล็กน้อย ทั้งนี้ชาวบ้านนาเจริญบางกลุ่มยังเป็นลูกเลี้ยงของแม่เมืองบ้านนาเกลือ (หน้า 48)
ชาวผู้ไทบ้านนาธรรมนับถือศาสนาพุทธและผีเช่นเดียวกับชาวผู้ไททั่วไปมีความแตกต่างกันที่มีพระเกจิซึ่งเป็นที่เคารพของคนในชุมชนได้เข้ามาส่งเสริมด้านการนับถือศาสนาพุทธ และนำชาวบ้านประกอบพิธีกรรมทิ้งผีได้สำเร็จ บ้านนาธรรมจึงเป็นหมู่บ้านเดียวที่ไม่สามารถติดต่อกับผีแถนและไม่มีการทำพิธีเหยา ทั้งยังมีการนับถือศาสนาพุทธและปฏิบัติตนตามหลักคำสอนอย่างเคร่งครัด (หน้า 50-51)
ชาวญ้อและชาวผู้ไทบ้านนาเกลือ บ้านนาเกลือแต่เดิมนับถือผี แต่เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน พลวงพ่ออิน พระเกจิชาวผู้ไทผู้ซึ่งจำพรรษาที่บ้านนาดอน ท่านจึงเป็นผู้นำให้พหุชาติพันธุ์ละทิ้งการนับถือผี ส่งเสริมความเชื่อในศาสนาพุทธ แต่บางครอบครัวที่ยังละทิ้งความเชื่อเรื่องผีไม่ได้ จึงยังคงนับถือทั้งศาสนาพุทธและผีควบคู่กัน แม้ชุมชนพหุชาติพันธุ์จะมีความเชื่อแตกต่างกันแต่เมื่อมีประเพณีใดๆ ก็ตาม  แต่ละหมู่บ้านยังคงให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างสม่ำเสมอ (หน้า 60)
สำหรับ “หลวงพ่ออิน” ท่านเป็นผู้นำพหุชาติพันธุ์ละทิ้งความเชื่อผี และเผยแผ่คำสอนทางพุทธศาสนา เมื่อช่วง พ.ศ. 2490 หลวงพ่ออินเป็นที่เคารพของชาวผู้ไท ชาวญ้อและชาวกะเลิงจำนวนมาก  ต่อมาท่านได้ชักชวนลูกศิษย์ขึ้นไปก่อตั้งพระธาตุและพระพุทธรูปขนาดใหญ่บนดอยอ่างกุ้ง เมื่อสร้างเสร็จจึงเกิดเป็น “ประเพณีสรงน้ำพระดอยอ่างกุ้ง” ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ถึงแม้หลวงพ่ออินมรณภาพแต่ประเพณียังคงถูกจัดต่อเนื่องทุกปี แต่ประเพณีสรงน้ำพระซบเซาลงเมื่อมีสำนักบุญนิยมเข้ามามีอิทธิพลในชุมชน นับเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้พหุชาติพันธุ์รับรู้ถึงการคุกคามความเชื่อดั้งเดิมและเริ่มสร้างเครือข่ายเพื่อทำการต่อต้านสำนักบุญนิยม  (หน้า 90)

Education and Socialization

เมื่อเหตุการณ์เผาทำลายคัมภีร์ใบลานในหมู่บ้านนาธรรม ชุมชนพหุชาติพันธุ์จึงได้ตระหนักถึงการคุกคามจากสำนักบุญนิยม  ผู้นำฟื้นฟูคัมภีร์ใบลาน คือ “พระมหาดิ่ง” ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านนาดอน พระมหาดิ่งและปราชญ์ชาวบ้าน จึงเริ่มซ่อมแซมคัมภีร์ใบลานที่เสียหาย นอกจากนี้ยังมีแนวทางอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไม่ให้สูญหายไปจากชุมชน โดยการเปิดสอนอ่านอักษรธรรม อักษรไทน้อย อักษรขอมในคัมภีร์ใบลาน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและคนรุ่นใหม่ตระหนักในคุณค่าของคัมภีร์ใบลาน ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางไปเรียนที่วัดบ้านนาดอนและวัดบ้านนาเจริญ และนำคัมภีร์ใบลานไปสอนให้กับนักเรียนในโรงเรียนของชุมชนพหุชาติพันธุ์ ภายแรกที่เปิดสอนนั้นไม่ได้รับความสนใจมากนัก เนื่องจากคนทั่วไปมีความเห็นว่าการอ่านตัวอักษรในคัมภีร์ใบลานนั้นยาก ประกอบกับเนื้อหาส่วนมากเป็นพระไตรปิฎกเกี่ยวกับวินัยที่ไม่น่าสนใจ  แต่ภายหลังเมื่อเห็นว่าคัมภีร์ใบลานมีเรื่องตำนานพระโพธิสัตว์ นิทาน มนต์คาถา เรื่องปาฏิหาริย์ เรื่องราวที่ตื่นเต้นสนุกสนาน ทั้งยังสอดแทรกคำสอนทางพระพุทธศาสนา  จึงทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น ต่อมาพระมหาดิ่งจึงได้เปิดสอนให้ผู้สนใจและเยาวชนในวันอาทิตย์ที่วัดบ้านนาดอน แต่ยังคงไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองบางส่วนที่ยังศรัทธาสำนักบุญนิยมมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากเยาวชนบ้านนาเจริญและบ้านนาดอนมีความสนิทสนมกัน จึงมีการชักชวนเพื่อนของตนเองจากหมู่บ้านอื่นๆ เข้ามาเรียนอ่านคัมภีร์ใบลานด้วยกัน การสอนอ่านคัมภีร์ใบลานนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายเยาวชนภายในชุมชนพหุชาติพันธุ์  (หน้า 98-102)
นอกจากนี้ชุมชนพหุชาติพันธุ์ยังได้สร้างเครือข่ายกับนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการอ่านและการจารคัมภีร์ใบลานจากสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง เช่น กลุ่มข้าราชการเกษียณอายุราชการในจังหวัดสกลนคร ได้เข้ามาสนับสนุนพระมหาดิ่งและทุนในการจัดตั้ง “โครงการค้นกรุปราชญ์” สืบเนื่องจากความต้องการส่งเสริมให้ชุมชนเห็นคุณค่าและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานที่เป็นมรดกชุมชนไว้  โครงการมุ่งเน้นสนับสนุนให้นักเรียนและคนทุกเพศทุกวัยที่สนใจ เข้ามาศึกษาวิธีการจาร การซ่อมแซม และการอ่านคัมภีร์ใบลาน  ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ผู้เรียนอ่านคัมภีร์ใบลานต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น  ทั้งนี้กลุ่มข้าราชการเกษียณยังเป็นเครือข่ายช่วยประสานงานกับนักวิชาการอุดมศึกษาแห่งอื่นๆ ให้เข้ามาส่งเสริมทั้งในชุมชนพหุวัฒนธรรมและชุมชนใกล้เคียงอื่นๆ สำหรับชุมชนที่อยู่นอกเหนือพหุชาติพันธุ์ คือ หมู่บ้านบ้านฮ่ม ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียนขยายโอกาสและมีนักเรียนจากชุมชนชาติพันธุ์ศึกษาอยู่จำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนบ้านฮ่ม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สนใจปลูกฝังให้เด็กรุ่นหลังเห็นคุณค่าของคัมภีร์ใบลาน นักวิชาการจึงได้เข้าไปให้ความรู้แก่นักเรียน และเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกับปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานร่วมกัน และได้มอบตู้เก็บคัมภีร์ใบลานให้แก่โรงเรียนบ้านฮ่มเพื่อจัดเก็บคัมภีร์ก่อนนำส่งมอบให้กับทางวัด การเข้ามาของนักวิชาการนี้นอกจากทำให้พหุชาติพันธุ์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ยังเป็นที่สนใจอย่างมากในหมู่คณะสงฆ์ในสำนักบุญนิยม (หน้า 107-111)

Health and Medicine

พิธีกรรมเหยา คือ พิธีกรรมความเชื่อเรื่องผีและการเสี่ยงทายเมื่อคนในครอบครัวเจ็บป่วย ความเชื่อดั้งเดิมของพหุชาติพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำโขง การเหยาในภาคอีสานนิยมทำพิธีกรรมโดยชาวผู้ไท เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องผีฟ้าผีแถน ว่าเป็นเทพที่สามารถดลบันดาลให้เกิดได้ทั้งสิ่งดีหรือสิ่งร้ายต่อมนุษย์ พิธีกรรมเหยาจะใช้รักษาอาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้โดยแพทย์แผนปัจจุบัน เชื่อว่าอาการป่วยเกิดจากการล่วงละเมิดทำผิดต่อผี จึงต้องประกอบพิธีขอความช่วยเหลือจากผีฟ้าผีแถน อัญเชิญผีฟ้ามาเข้าคนทรง เพื่อทำนายอาการป่วย ทำพิธีกรรมรักษา และเป็นสื่อกลางระหว่างผีที่มาทำร้ายกับมนุษย์ พิธีกรรมเหยามี 4 ลักษณะ ดังนี้
1. การเหยาเพื่อชีวิต คือ การรักษาอาการเจ็บป่วยหรือต่ออายุผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ลูกหลานที่อยู่ต่างหมู่บ้านต่างกลับมาเพื่อช่วยกันเตรียมสิ่งของสำหรับการเหยา เป็นลักษณะการรวมเครือญาติประการหนึ่ง
2. การเหยาเพื่อคุมผีออก คือ เมื่อผู้ป่วยรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หมอเหยาจะทำพิธีทำนาย หากพบว่าสาเหตุมาจากผี หมอเหยาจะทำพิธีคุมผีออกจากผู้ป่วย เมื่อผีออกไปแล้วผู้ป่วยต้องลุกมาร่ายรำกับหมอเหยาจึงจะทำให้อาการป่วยหายขาด หมอเหยาผู้รักษามีตำแหน่ง “แม่เมือง” ผู้ป่วยที่มารักษามีตำแหน่ง “ลูกเลี้ยง” ลูกเลี้ยงต้องอยู่กับแม่เมืองให้ครบสามปี จึงจะทำการ “ขัวแขด” หรือพิธีตัดขาดแม่เมือง ซึ่งผู้ป่วยที่ผ่านการเหยาแล้วก็นับว่าเป็นหมอเหยาด้วยเช่นเดียวกัน ผู้ที่รับการเหยาเพื่อคุมผีออกมักไม่เปิดเผยข้อมูลมากนัก เพราะส่วนมากไม่ได้นับถือผีตั้งแต่แรก แต่เมื่อทำพิธีเหยาแล้วต้องรับความเชื่อเรื่องผีหรือเลี้ยงผีดังเช่นหมอเหยาคนอื่นด้วย
3. การเหยาเพื่อเลี้ยงผี คือ การที่หมอเหยาจัดงานเลี้ยงเพื่อขอบคุณผี จัดช่วงเดือนสี่หรือเดือนหกของทุกปี แต่หากปีใดที่ทรัพยากรชุมชนไม่อุดมสมบูรณ์หรือปีนั้นหมอเหยาไม่ได้รักษาผู้ป่วย จะไม่จัดงานเลี้ยงขอบคุณผี แต่จะจัดพิธีการฟายน้ำเหล้า หรือเรียกว่า “การลงผาม” วิธีการคือนำใบไม้หรือดอกไม้มาจุ่มเหล้าและประพรมให้ทั่ว งานจะจัดสองวันหนึ่งคืน ผู้ประกอบพิธีเป็นได้ทั้งแม่เมืองหรือลูกเลี้ยง หากผู้จัดงานเป็นผู้ที่มีคนรู้จักหรือแม่ลูกเลี้ยงจำนวนมาก การลงผามจะถือว่าเป็นงานใหญ่ที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนมาพบปะสังสรรค์กันอย่างสนุกสนาน  การลงผามจะไม่พบในชุมชนบ้านนาธรรม เนื่องจากบ้านนาธรรมไม่นับถือผีและเคร่งครัดในพุทธศาสนา
4. การเหยาเอาฮูบเอาฮอย คือ การเหยาในประเพณีบุญผะเหวดของแต่ละปี งานจะจัดติดต่อกันสามปีและเว้นหนึ่งปี ผู้ทำพิธีทั้งหมดเป็นผู้ชาย คำเหยาหรือกลอนจะกล่าวถึงเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่
ผู้วิจัยพบว่าชุมชนพหุชาติพันธุ์มักพบพิธีกรรมเหยาเพียง 3 ลักษณะแรกเท่านั้น(หน้า 118-121)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

คัมภีร์ใบลาน คือ การจารหรือการเขียนลงใบลาน คาดว่าได้อิทธิพลมาจากการลังกาตั้งแต่อดีต ก่อนที่จะเข้ามาเผยแพร่ในอาณาจักรล้านช้าง สปป.ลาว หรือภาคอีสานในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากจารอักษรตัวธรรมหนึ่งตัว จะได้อานิสงส์เท่ากับการสร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์ คัมภีร์ใบลานเป็นเอกสารบันทึกพระไตรปิฎก  หลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา พงศาวดาร วรรณกรรม ตำรายา กฎหมายโบราณ คาถา เป็นต้น  โดยคัมภีร์ใบลาน มีหน่วยเรียกว่า “ผูก”หรือ “ตับ” ใบลานยาว เรียกว่า “หนังสือผูก” ใบลานสั้น เรียกว่า “หนังสือก้อม” (หน้า 97-99)
เมื่อชุมชนพหุชาติพันธุ์ได้มีการรวมกลุ่มเครือข่ายเพื่อต่อต้านสำนักบุญนิยม โดยมี “พระมหาดิ่ง”  และปราชญ์ชาวบ้านบ้านนาดอนและบ้านนาเจริญ จึงได้เริ่มฟื้นฟูซ่อมแซมคัมภีร์ใบลานที่เสียหาย สำหรับพระมหาดิ่งท่านเคยเดินทางไปเรียนรู้การอ่านและการจารคัมภีร์ใบลานที่แขวงสะหวันเขต จึงได้นำความรู้ด้านการผลิตคัมภีร์ใบลานมาเผยแพร่ให้พระเณรคนในชุมชนพหุชาติพันธุ์ โดยแขวงสะหวันเขตเป็นพื้นที่มีต้นลานจำนวนมาก จึงมีชื่อเสียงเรื่องการผลิตคัมภีร์ใบลานหรือหนังสือก้อม ปัจจุบันแขวงสะหวันเขตมีจำนวนต้นลานลดน้อยลงไปมาก แต่ยังเป็นแขวงเดียวที่ยังคงหลงเหลือต้นลานอยู่ ขั้นตอนการผลิตคัมภีร์ใบลานฉบับสมบูรณ์และการจารใบลาน ดังนี้
การผลิตคัมภีร์ใบลาน
1. การเลือกใบลาน ใบลานที่จะนำมาทำคัมภีร์ ต้องเป็นใบที่ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป ควรเป็นใบลานที่อยู่ในป่าลึก จึงจะได้ใบลานที่คุณภาพดี ผู้เดินทางต้องมีการบวงสรวงเจ้าป่าเจ้าเขาก่อนจะเข้าไปตัดใบลาน และในหนึ่งปีจะมีการถือเป็นเคล็ดว่าห้ามตัดใบลานมากกว่า 20 ใบ  
2. การฉีกใบลาน เมื่อได้ใบลานแล้วต้องนำมาฉีกใบออกจากก้าน จะได้ใบลานยาวประมาณ 50- 70 เซนติเมตร จากนั้นนำใบลานมาซ้อนกัน 6- 7 แผ่น เจาะรูตรงปลายแผ่นแล้วม้วนใบลานเป็นก้อนกลม แล้วตอกร้อยรูที่เจาะไว้ให้แน่น
3. การต้มใบลาน ใช้กระทะที่มีความร้อนปานกลาง ใส่น้ำระดับพอท่วมใบลาน ทุบมะขามดิบใส่น้ำลงไปด้วยเพื่อกัดสีใบลานให้ขาวขึ้น การต้มจะใช้เวลาประมาณครึ่งวันถึงหนึ่งวัน จากนั้นรอให้เย็นแล้วล้างน้ำสะอาด ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง ใบลานที่แห้งจะม้วนงอ จึงต้องเก็บอีก 2– 3วัน โดยการม้วนไปอีกด้าน ใบลานจึงจะคืนตัวเป็นแผ่น
4. การนำใบลานเข้าไม้ประกับ นำแผ่นใบลานมาเรียงในไม้ประกับ ใบลานที่ถูกมัดเป็นห่อใหญ่มีใบลานประมาณ 2,000 ใบ เรียกว่า “ซองหนึ่ง” จากนั้นนำเหล็กแหลมเผาไฟเพื่อนำมาเจาะรู จำนวนสองรูตรงกลางใบลาน เมื่อทับใบลานจนหมดแล้ว นำไม้ประกับแผ่นบนมาทับไว้ให้แน่น ตัดส่วนที่เกินออกแล้วใช้เชือกรัดให้แน่น เก็บไว้อีกประมาณหนึ่งปี เพื่อให้ใบลานมีพื้นที่เรียบก่อน จึงจะสามารถนำไปจารได้ (หน้า 102-103)
การจารใบลาน
1. ใบลานสามารถจารได้สองด้าน จารโดยใช้เหล็กปลายแหลม ที่เรียกว่า “เหล็กจาร” กดปลายเหล็กให้เข้าไปในเนื้อใบลาน แต่ต้องระวังไม่ให้ทะลุอีกฝั่ง ผู้จารมักนั่งชันเข่าเพื่อรองรับฐานรองเหล็กจารให้แข็งแรง แล้วหมุนเหล็กจารตามแนวหัวแม่มือเพื่อให้ตัวอักษรเป็นเส้นโค้งงอ มักจารเป็นอักษรธรรมไทน้อย
2. เมื่อจารลงใบลานแล้วจะยังไม่สามารถมองเห็นเนื้อหาได้ ใบลานจะขึ้นเป็นเพียงรอยตัวอักษรสีขาว จึงต้องนำใบลานวางบนพื้นเรียบ ใช้แปรงจุ่มน้ำมันงาทาบนใบลาน จากนั้นใช้แปรงจุ่มเขม่าดินหม้อผสมน้ำมันยางทาใบลานให้ชุ่มทั้งสองด้าน สีดำจะซึมลงใบเนื้อใบลาน และใช้ลูกประคบกดซ้ำลงไปอีกครั้ง ตัวอักษรบนใบลานจะชัดเจนขึ้น
3. จากนั้นนำใบลานไปวางลงบนทรายละเอียด แล้วใช้มือลูบทรายออกจากใบลาน ทรายจะซึมซับเขม่าดินหม้อส่วนเกินออกจากใบลาน
4. จากนั้นนำใบลานไปทำความสะอาด นำผ้าดิบมาห่อใบลาน ใช้มือกดบนผ้าไว้ แล้วใช้มืออีกข้างดึงใบลานตามทางยาวออกไป เพื่อเป็นการเช็ดน้ำมันและเขม่าส่วนเกินออกจากใบลานอีกครั้ง จึงจะได้ใบลานที่พื้นผิวเรียบ เมื่อตรวจว่ามองเห็นเนื้อหาตัวอักษรชัดเจนแล้ว จึงนำใบลานมาประกอบเป็นเล่ม โดยการร้อยเข้ากับสายสนองและไม้ประกับ จึงได้คัมภีร์ใบลานฉบับสมบูรณ์ (หน้า 104-105)

Folklore

พหุชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร มีตำนานที่แสดงถึงความเชื่อเรื่องผีและพุทธศาสนา ดังนี้
ตำนานอุรังคธาตุตำนานกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาเผยแผ่ศาสนาในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และประทับรอยพระพุทธบาทไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในภาคอีสาน นอกจากนี้เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานก็ได้มีการนำพระธาตุมาบรรจุไว้ตามสถานที่บริเวณแม่น้ำโขง ในตำนานได้ปรากฏชื่อสถานที่สำคัญบริเวณแม่น้ำโขงหลายแห่ง เช่น พระธาตุพนม พระธาตุภูเพ็ก พระธาตุเชิงชุม พระธาตุนารายณ์แจงแวง พระธาตุเรณูนคร พระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทบัวบาน พระพุทธบาทเวินปลา ขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีตำนานอุรังคธาตุด้วยเช่นเดียวกัน ตำนานดังกล่าวบ่งบอกความเชื่อ วิถีชีวิต ประเพณีของชุมชนบริเวณใกล้เคียงพระธาตุที่ต่างๆ ตลอดจนแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสองฝั่งโขง (หน้า 40-41)
ตำนานผาแดงนาไอ่ ตำนานกล่าวว่า นางไอ่ ส่งคนไปจับกระรอกเผือก แต่คนจับทำกระรอกเผือกตาย นางไอ่จึงนำเนื้อกระรอกเผือกมาทำเป็นอาหารแจกจ่ายคนทั่วเมือง แต่ห้ามเด็กและแม่ม่ายกิน โดยกระรอกเผือกแท้จริงแล้วเป็นพญานาคชื่อ พญาภังคี มีพ่อชื่อ พญาศรีสุทโธ พญาศรีสุทโธรู้ข่าวการตายของลูกจึงพิโรธอย่างมาก และสั่งให้ฆ่าชาวเมืองทุกคนที่กินเนื้อกระรอกเผือก ท้าวผาแดงจึงพานางไอ่ขี่ม้าหนี เส้นทางที่หนีเกิดเป็นสายน้ำก่ำที่ติดต่อแม่น้ำโขง บ้านเมืองล่มลงกลายมาเป็นบึงหนองหารหลวง เหลือรอดชีวิตแต่ผู้ที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือกเท่านั้น บริเวณที่เหลือผู้รอดชีวิตกลายเป็นเกาะดอนกลางหนองหารหลวง ตำนานดังกล่าวสอนถึงการละเว้นจากการทำบาป ทั้งยังเป็นที่มาของ “เกาะดอนสวรรค์” ปัจจุบันบริเวณหนองหารและเกาะดอนสวรรค์เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกรมประมง  บริเวณหนองหารมีความหลากหลายทางความเชื่อ ได้แก่ มัสยิดของชาวมุสลิม โบสถ์ของชาวคริสต์ และวัดของชาวพุทธ นอกจากนี้ตำนานผาแดงนางไอ่ทำให้ชุมชนมีความเชื่อว่าหนองหารเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ชุมชนจึงมีความผูกพันและมีความหวงแหนต่อพื้นที่มาโดยตลอด (หน้า 41-42)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

พหุชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นชาวผู้ไท รองลงมาเป็นญ้อ กะเลิง และอื่นๆ ชุมชนมีความเชื่อหลัก คือ พุทธศาสนาและเรื่องผี อดีตทั้ง 4 หมู่บ้านนับถือผี ปัจจุบันบ้านนาธรรมเป็นชุมชนเดียวที่ละทิ้งความเชื่อเรื่องผี ส่วนบ้านนาเกลือ บ้านนาดอน และบ้านนาเจริญนั้นนับถือทั้งศาสนาพุทธและนับถือผีควบคู่กัน แม้พหุชาติพันธุ์ทั้ง 4 หมู่บ้านจะมีภาษาพูดและระยะเวลาก่อตั้งหมู่บ้านแตกต่างกัน  แต่พหุชาติพันธุ์มีสำนึกความอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องจากบรรพบุรุษต่างอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเช่นเดียวกัน และมีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมกัน ได้แก่ โบราณวัตถุ โบราณสถาน คัมภีร์ใบลาน  ศาลาการเปรียญ โบสถ์เก่า ความเชื่อ และเครือญาติที่เข้มแข็ง ส่งผลให้พหุชาติพันธุ์มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูล นอกจากนี้แต่ละชุมชนยังมีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกันอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ชุมชนสามารถรวมเครือข่ายเพื่อต่อต้านสำนักบุญนิยม เพื่อธำรงความเชื่อดั้งเดิมในพื้นที่พหุชาติพันธุ์  (หน้า 44, 61-63)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงด้านความเชื่อของคนในชุมชน เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยมี “พระสุธัม” ท่านเป็นพระมาจากกรุงเทพ และเป็นพระที่ได้รับความเคารพอย่างมากในกลุ่มสำนักบุญนิยม ภายแรกท่านได้เข้ามาเปิดโรงงานเย็บผ้า ส่งเสริมให้คนในชุมชนพหุชาติพันธุ์มีรายได้เสริม และเข้ามาพัฒนาวัดให้มีมาตรฐานเทียบเท่าชุมชนอื่น พระสุธัมจำวัดที่วัดบ้านฮ่ม จึงจะย้ายมาวัดบ้านนาธรรม เนื่องจากพระสุธัมมีอายุมากกว่าเจ้าอาวาสวัดบ้านนาธรรม ทำให้พระสุธัมไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในวัดอย่างที่ควรจะเป็น ท่านมีอารมณ์รุนแรงและมักเลือกปฏิบัติตนอย่างแบ่งแยกชนชั้น เช่น หากเป็นผู้ที่หน้าที่การงานมั่นคง มีกำลังทรัพย์ในการบริจาค ท่านก็จะพูดจาไพเราะ แต่หากเป็นชาวบ้านทั่วไป ท่านมักจะพูดว่ากล่าวอย่างรุนแรงบ่อยครั้ง ท่านยังได้มีการชักชวนว่าหากจะทำบุญต้องบริจาคเป็นเงินจำนวนมากเท่านั้น จึงจะได้บุญกุศลมหาศาล บุญที่ได้จะส่งผลให้ถูกหวยและร่ำรวย  การชักชวนเช่นนี้ส่งผลให้ชาวบ้านที่ศรัทธา นำที่นาที่ไร่ไปขายเพื่อนำเงินมาบริจาค บางครอบครัวที่มีความคิดขัดแย้งกันเองต่อการบริจาคลักษณะนี้ก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน นอกจากนี้พระสุธัมยังได้ชักชวนผู้ที่ศรัทธาในสำนักบุญนิยมให้เผาทำลายพระพุทธรูป โบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัด โดยให้เหตุผลว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเก็บไว้เพราะล้าสมัยและไร้คุณค่า  (หน้า 72-75)
สำนักบุญนิยมได้เข้ามาทำลายความเชื่อดั้งเดิมของคนในชุมชน จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับคำสอนในพระพุทธศาสนา ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการให้ความสำคัญกับเงิน วัตถุ และทุนนิยม สำหรับชุมชนมีทั้งฝ่ายที่ศรัทธาและไม่ศรัทธา ชาวบ้านที่ไม่ศรัทธามีความเห็นว่า พระสุธัมประพฤติตนไม่เหมาะสมและเข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องเงินทองมากจนเกินไป  ทั้งยังพบเห็นว่าพระสงฆ์ในสำนักบุญนิยมมักซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อการปฏิบัติกิจสงฆ์ เช่น เครื่องโฮมเธียเตอร์ เครื่องเล่นเกม และมักจัดงานรื่นเริงในวัดให้แก่คนในชุมชน จุดประสงค์ในการบวชเปลี่ยนแปลงไป โดยพระสงฆ์จากสำนักบุญนิยม มักเข้ามาบวชเนื่องจากทางบ้านมีฐานะยากจน มักเข้ามาบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนด้านวิชาการทางโลกมากกว่าการบวชเพื่อตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอน และไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย สำหรับชาวบ้านที่ศรัทธาในสำนักบุญนิยมมีความเห็นว่า พระสุธัมได้เข้ามาพัฒนาชุมชนและสร้างโรงงานส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน สามารถทำให้มีเงินบริจาคเข้าวัดเป็นหลักแสนหลักล้าน ซึ่งพระสงฆ์ในชุมชนไม่สามารถทำได้  และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการที่พระสงฆ์จะเข้ามาข้องเกี่ยวเรื่องเงินนั้นก็เป็นเรื่องปกติ กล่าวได้ว่าพระสุธัมมีอิทธิพลต่อชุมชนชาติพันธุ์อย่างมาก เนื่องจากท่านไม่ได้เป็นคนในชุมชนแต่สามารถสร้างสำนักบุญนิยมที่เป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์เมื่อมีงานผ้าป่าหรือรับบริจาคได้อย่างรวดเร็ว เครือข่ายนี้ยิ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้พระสุธัมมากขึ้นไปอีก สำหรับชาวบ้านที่ศรัทธาก็ยังคงบริจาคเงินจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนรับบริจาคที่ได้ของสำนักบุญนิยมนั้น มากกว่ากลุ่มพระมหานิกายในชุมชนพหุชาติพันธุ์เสมอ (หน้า 77-78,91)

Critic Issues

การที่สำนักบุญนิยมเข้ามามีอิทธิพลในบ้านนาธรรม ส่งผลให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในอีกสามหมู่บ้านว่า ความเชื่อของสำนักบุญนิยมจะทำลายความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนหรือไม่ เนื่องจากสำนักบุญนิยมมีความสำคัญในเรื่องของการซื้อบุญขายบุญ การให้ความสำคัญกับทุนนิยมมากกว่าคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีการรุกรานไปถึงของค้ำของคูณของชุมชน ชาวบ้านมีทั้งฝ่ายที่ศรัทธาและไม่ศรัทธา สำหรับชาวบ้านที่ไม่ศรัทธาจึงมีการรวมกลุ่มเพื่อประชุมหาวิธีในการต่อรองบนพื้นฐานของทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนพหุชาติพันธุ์ (หน้า85-86)

Other Issues

เมื่อระบอบทุนนิยมเข้ามามีความสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจแล้ว ยังได้ส่งผลกระทบต่อด้านศาสนา โดยทุนนิยมทางศาสนาเริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ.1517 พระสันตะปาปาลีโอที่ 10 ท่านต้องการสร้างวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม ท่านจึงขายใบไถ่บาปแทนการลงโทษด้วยลักษณะอื่น  ผู้ที่ซื้อใบไถ่บาปที่มีฐานะดีสามารถเลือกพระที่สารภาพบาปได้ ซึ่งพระสงฆ์อาจขอเงินบริจาคจากผู้ที่ต้องการไถ่บาปเพื่อสร้างวิหาร การขายใบไถ่บาปเช่นนี้ทำให้พระสันตะปาปาสามารถรับเงินจากคริสตศาสนิกชนที่อยู่ภายนอกกรุงโรมได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้มาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) ซึ่งเป็นผู้ปฏิรูปศาสนาคริสต์ไม่เห็นด้วย มีการประณามการขายใบไถ่บาปของพระสันตะปาปา โดยการนำ “ข้อวินิจฉัย 95 เรื่อง” (The 95 Theses) ไปติดไว้ที่ประตูโบสถ์วิตเตนเบิร์ก ประชาชนชาวเยอรมันและชาวยุโรปจำนวนมากเห็นด้วยกับลูเทอร์ เริ่มมีการปฏิรูปศาสนา สุดท้ายจึงจบลงด้วยการตกลงสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย ค.ศ.1648 ส่งผลให้ศริสตศาสนิกชนแยกตัวออกจากนิกายคาทอลิค มาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์ 
ด้านพุทธศาสนาก็ได้รับผลประทบจากทุนนิยมเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในยุคสมัยที่วัตถุเข้ามามีความสำคัญต่อมนุษย์ และมนุษย์มีเวลาในการฝึกจิตน้อยลงกว่าเดิม ดังนั้นการใช้เงินเพื่อซื้อความสำเร็จจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า เช่น การซื้อบุญ การบริจาคเงินจำนวนมากเพราะต้องการจะขึ้นสวรรค์หรือบรรลุนิพพาน แต่ไม่ได้ปฏิบัติหรือฝึกจิตใจตามคำสอนที่แท้จริงตามพระพุทธศาสนา ซึ่งสำนักบุญนิยมได้ใช้หลักการทุนนิยมทางศาสนาลักษณะนี้หารายได้เพื่อนำมาสร้างวัด และเผยแพร่วิถีปฏิบัติแบบทุนนิยมทางศาสนานี้ไปอย่างแพร่หลาย ส่วนมากมักได้รับความสนใจจากผู้ที่มีฐานะมั่นคงหรือนักธุรกิจ เนื่องจากมีความเชื่อว่าหากบริจาคเงินจำนวนมากแล้ว นอกจากจะได้บุญก็ยังส่งผลให้ประสบความสำเร็จด้านการทำงานและร่ำรวยเงินทองมากขึ้นไปอีก (หน้า 64-67)

Map/Illustration

- กรอบแนวคิดในการศึกษา (หน้า 32)
- แผนที่พื้นที่พหุชาติพันธุ์ ตำบลดงน้อย และตำบลดงหลวง อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร (หน้า 44)
- การเล่นไฟในพิธีเหยาผามแม่เมืองหอมบ้านนาเกลือ (หน้า 52)
- วิธีต้มเกลือของชาวบ้านนาเกลือ (หน้า 56)
- เกลือสีขาวขากทางทิศเหนือ และเกลือสีเหลืองจากทางทิศใต้ของบ้านนาเกลือ (หน้า 58)
- การสวดมนต์ข้ามปีใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กลางหมู่บ้านประเพณีทางด้านศาสนาพุทธของชาวบ้านนาเกลือ (หน้า 62)
- ลูกหลานของกลุ่มแกนนำที่ต่อต้านการออกโฉนดที่ดินบนเกาะดอนสวรรค์ (หน้า 71)
- ชาวบ้านทั้งสี่หมู่บ้านในชุมชนพหุชาติพันธุ์กำลังบูรณะและสรงน้ำพระธาตุดอยอ่างกุ้ง (หน้า 91)
- ชาวบ้านในชุมชนพหุชาติพันธุ์และชุมชนใกล้เคียงร่วมประเพณีขึ้นเขาสรงน้ำพระดอยอ่างกุ้ง (หน้า 92)
- คัมภีร์ใบลานของวัดบ้านดอนก่อนได้รับการบูรณะ (หน้า 98)
- พระนิมิต ชาวกะเลิง บ้านนาเจริญ กำลังลงสีเพื่อให้เห็นข้อความในใบลานหลังจากที่ได้จารเสร็จเรียบร้อยแล้ว -(หน้า 104)
- กลุ่มนักวิชาการในระดับอุดมศึกษาได้เข้ามาให้ความรู้กับชาวบ้านพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน พร้อมทั้งได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียนในโรงเรีนยนที่ใช้จัดกิจกรรม (หน้า 108)
- นักวิชาการระดับอุดมศึกษาเข้ามาให้ความรู้และช่วยซ่อมแซมบูรณะคัมภีร์ใบลานเก่าของวัดบ้านดอน (หน้า 111)
- ชาวบ้านนาเกลือได้จัดพิธีบวงสรวงเพื่อก่อสร้างพิพิธภัณฑ์และบวชชีพราหมณ์ (หน้า 116)
- หมอเหยาได้ทำการเสี่ยงทายดาบในพิธีเหยาของผาม “ผาม” คือ สิ่งปลูกสร้างชั่วคราวที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ อาจมุงหลังคาด้วยจาก บางแห่งมุงด้วยสังกะสีใช้ในการทำพิธีกรรม เมื่อเสร็จจากพิธีก็ทำการรื้อผามแม่เมืองเขียน (หน้า 119)
- ป้าหอม แม่เมืองบ้านนาเกลือ พาลูกเลี้ยงลงผาม (หน้า 121)
- ชาวบ้านนาเกลือและชาวบ้านนาดอนได้เข้ามาช่วยกันร้อยดอกจำปาเพื่อใช้ในการเหยาของผามแม่เมืองหอม (หน้า 124)
- การเชื่อมโยงของผู้คนในชุมชนพหุชาติพันธุ์ (หน้า 134)

Text Analyst ธัมมิกา รอดวัตร์ Date of Report 01 ต.ค. 2564
TAG ผู้ไท, ญ้อ, กะเลิง, พหุชาติพันธุ์, ทุนทางวัฒนธรรม, ทุนทางสังคม, ทุนนิยมทางศาสนา, สำนักบุญนิยม, เกาะดอนสวรรค์, หนองหาร, สกลนคร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง