สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject อูรักลาโว้ย, ชาวเล
Author Erik Nilsson
Title Waves of Change: Traditional religion among the Urak Lawoi, sea nomads of Ko Lanta, Thailand
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text -
Ethnic Identity อูรักลาโว้ย อูรักลาโวยจ, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
[เอกสารฉบับเต็ม]
Total Pages 58 Year 2553
Source Institutionnen för humaniora och samhällsvetenskap
Abstract

ผู้ศึกษาต้องการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในชุมชนอูรักลาโว้ยจากอิทธิพลของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธรณีพิบัติภัย ค.ศ. 2004 โดยมีกรอบคำถาม

  • บทบาทและหน้าที่ของศาสนาดั้งเดิมสำหรับอูรักลาโว้ยในวันนี้
  • การเข้ามาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อศาสนาดั้งเดิมและวัฒนธรรมอย่างไร
  • ชาวอูรักลาโว้ยพิจารณาเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย ค.ศ. 2004 อย่างไร และส่งผลกับความเชื่อหรือไม่
  • ในระยะยี่สิบปีนี้ศาสนาดั้งเดิมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
ในอีก 20 ปีข้างหน้า วิถีชีวิตของการหาปลาคงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคนอูรักลาโว้ย คนหนุ่มสาวในบ้านศาลาด่านเข้ากับสังคมสมัยใหม่และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วัฒนธรรมโต๊ะหมอที่เลือนรางลง แผ่วถางให้ชาวอูรักลาโว้ยกลายเป็นพุทธศาสนิกชนและคริสตชน มองเห็นถึงความเป็นไทยมากขึ้น ในทางหนึ่ง คนอูรักลาโว้ยได้รับการยอมรับในสังคมไทยมากขึ้น แต่แลกกับการสูญเสียความเป็นปึกแผ่นและวิถีชีวิตดั้งเดิม

Focus

รายงานเน้นการบันทึกศาสนาและการปฏิบัติของชาวอูรักลาโว้ยและวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของศาสนากับการดำเนินชีวิต รวมถึงความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงในช่วง 20 ปี โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย (น.2)

Theoretical Issues

เน้นการศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณนา แสดงให้เห็นถึงความเชื่อดั้งเดิมจากข้อมูลการสัมภาษณ์และการทบทวนวรรณกรรม รวมถึงการสังเกตการณ์ในพื้นที่ศาสนสถานสำคัญของชุมชนต่าง ๆ และนำมาอภิปรายกับความคิดเห็นของสมาชิกชุมชน ทั้งผู้อาวุโสและคนหนุ่มสาว โดยพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ของความเชื่อและพิธีกรรม และมองเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนเเปลงในปัจจุบัน โดยเฉพาะผลกระทบจากการท่องเที่ยวและการเข้ามาขององค์กรศาสนาระหว่างประเทศ

Ethnic Group in the Focus

ผู้ศึกษาอ้างถึงงานเขียนที่อธิบายถึงลักษณะของอูรักลาโว้ย กึ่งเร่ร่อน มีทักษะในการจับปลา และดำน้ำ ขี้อ้าย กลัวผู้มีอำนาจ ไม่มั่นใจ โดยระบุว่า Granbom (2007) เห็นว่าชาวอูรักลาโว้ยเป็นกลุ่มคนยากจนและอยู่ในภาวการณ์สูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีชื่อเรียกอูรักลาโว้ยแตกต่างกันไป ได้แก่ ชาวเล ไทยใหม่ ชนเร่ร่อนในท้องทะเล และอูรักลาโว้ย คำว่า อูรักลาโว้ย หมายถึงภาษาพูดด้วยเช่นกัน ระบบความเชื่อไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการปฏิบัติสืบต่อกันมาและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอูรักลาโว้ย คนในพื้นที่บางส่วนเห็นว่าความเชื่อที่นับถือนั้นไม่ใช่ศาสนาแต่อย่างใด (น.7) อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษากล่าวไว้ในตอนหนึ่ง “บุคลิกลักษณะแตกต่างจากที่เคยศึกษาไว้ เพราะจริงใจ สื่อสารตรง” (น.10)

Language and Linguistic Affiliations

อูรักลาโว้ย

Study Period (Data Collection)

ผู้ศึกษาการทำงานภาคสนาม ณ เกาะลันตา ประเทศไทย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ค.ศ.2009 (น.2)
ผู้ศึกษาเน้นการสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์ในสนามบนเกาะลันตา โดยเลือกการวิจัยเชิงคุณภาพ เพราะเปิดโอกาสให้ผู้วิจัยหาประสบการณ์ตรง การสัมภาษณ์เชิงลึกทำให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายและกว้างขวาง โดยเข้าใจบริบทในระหว่างการทำงาน แต่บันทึกคำสัมภาษณ์กลับแยกบริบท (อ้าง Kvale 1997) จึงมีการบันทึกระหว่างการทำงานเพื่อเข้าใจน้ำเสียง (อ้าง Ryen 2004) ผู้ศึกษาชี้ให้เห็นถึงปัจจัยบุคคลที่ตนเองเป็น “ฝรั่ง” ย่อมส่งผลต่อการทำงาน และพื้นหลังทางวัฒนธรรมยังผลต่อการตีความทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ความเข้าใจต่าง ๆ ผ่านล่ามเป็นชั้นทางวัฒนธรรมและปัจเจกบุคคลที่ส่งอิทธิพลอีกทางหนึ่ง (น.9)
กล่าวถึงการเตรียมตัวจากชั้นเรียนใน Uppsala การเตรียมคำถามในการสัมภาษณ์และกำหนดประเภทของพิธีกรรมที่ต้องการเข้าร่วม นำมาสู่การกำหนดลักษณะของผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้นำทางศาสนาหรือโต๊ะหมอ คนหนุ่มสาว (อายุราว 15-30ปี) ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 50ปี) เพศของผู้ให้ข้อมูลอยู่ในจำนวนเท่า ๆ กัน ส่วนคำถามที่เตรียมเป็นแนวทางการสัมภาษณ์ในระหว่างการทำงาน (น.9) ผู้ศึกษาสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญ และสามารถให้ความช่วยเหลือ เช่น ล่ามและผู้ให้ข้อมูล จากนั้น ค้นพบความวุ่นวายในฤดูกาลท่องเที่ยวทำให้มีการยกเลิกนัดหมายในการช่วยแปลหรือให้ข้อมูลบ่อยครั้ง (น.10)
ข้อมูลได้รับการบันทึกในสมุดภาคสนาม และถ่ายทอดลงอนุทินในแต่ละวัน รวมถึงการใช้กล้องถ่ายภาพ (น.10) นอกจากนี้ ในการสัมภาษณ์ ผู้ศึกษาใช้เครื่องบันทึกเสียงไม่ให้พลาดข้อมูลสำคัญ รวมถึงบันทึกคำถามเพิ่มหรือจดข้อมูลระหว่างการทำงาน ตลอดระยะการทำงาน มีล่ามสามคนที่ช่วยในการถ่ายทอดข้อมูล แต่พบข้อจำกัดในการสัมภาษณ์ผ่านล่าม นั่นคือข้อมูลบางส่วนอาจหายไป และล่ามกลายเป็นผู้ให้ข้อมูลเอง ส่วนการสัมภาษณ์ด้วยตนเองมีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะชาวบ้านที่ใช้ภาษาอังกฤษได้มีจำนวนไม่มากนัก แต่ทำให้ได้รับข้อมูลครบถ้วนตามแผนงาน อนึ่ง การสังเกตการณ์ การสังเกตการณ์ชีวิตประจำวันจากการอยู่กับครอบครัวในระยะหนึ่งสัปดาห์ เห็นความเป็นไปในหมู่บ้าน การเคารพศาลเจ้า หรือการสื่อสารระหว่างชาวประมง แม้ไม่มีคนพูดภาษาอังกฤษ แต่ให้ข้อมูลมาก (น.11)

History of the Group and Community

อูรักลาโว้ยชนพื้นถิ่นเกาะลันตา แต่ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับชาติภูมิ บ้างกล่าวว่าเป็นกลุ่มเดียวกับดยัค (Dyak) ที่อพยพจากเกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย มายังทะเลอันดามัน ขณะที่ Hogan (1972)  อ้างถึงชาติภูมิในเซเลเบส (Celebes) เป็นต้น ผู้ศึกษาอ้างถึงคำสัมภาษณ์ของผู้ให้ข้อมูลในสนาม อานนท์ ช้างน้ำ กล่าวถึงคำบอกเล่าของปู่ย่าตายายว่าเป็นกลุ่มคนที่เคยเป็นมุสลิมในสุมาตรา แต่ละทิ้งสู่อันดามันเริ่มเชื่อในธรรมชาติแทน นอกจากนี้ มีการกล่าวถึงถิ่นฐานเดิมของกลุ่มอูรักลาโว้ยจึงเคยอยู่ในช่องแคบมะละกา ส่วนข้อมูลในศูนย์วัฒนธรรมชาวเลในสังกาอู้กล่าวถึงการเดินทางจากเกดาห์ในมาเลเซียเมื่อ 500 ปีที่แล้ว และบ่ายหน้ามายังทะเลอันดามันและเกาะลันตา (น.6)
ทั้งนี้ ผู้ศึกษาไล่เรียงช่วงเวลาเพื่อการศึกษาศาสนาและความเชื่อในทะเลอันดามัน นำมาสู่การแบ่งเวลาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนประวัติศาสตร์ ความเชื่อในวิญญาณ และอิสลาม กำหนดช่วงเวลาที่อิสลามมีอิทธิพลในทะเลอันดามันราว 700-500 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่อูรักลาโว้ยเริ่มตั้งถิ่นฐานบนเกาะในทะเลอันดามันตามข้อมูลมุขปาฐะ (น.7)

Settlement Pattern

จากข้อมูลภาคสนามและงานเขียนของ Granbom (2007) ในการตั้งถิ่นฐานของอุรักลาโว้ยแถบอันดามันจนถึงทุกวันนี้ ประกอบด้วย เกาะหลีเป๊ะ เกาะบุโหลน เกาะอะดัง จังหวัดสตูล เกาะสิเหร่ สะปำ บ้านเหนือ แหลมหลา หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เกาะจำ พีพีดอน และเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
กล่าวเฉพาะในเกาะลันตา การตั้งถิ่นฐานครั้งแรกทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะลันตา ได้แก่ บ้านหัวแหลมและบ้านบ่อแหน และมักได้รับการพรรณนาว่าเป็นคนขี้อาย ซึ่งเป็นเหตุให้สันนิษฐานได้ว่า อูรักลาโว้ยย้ายถิ่นฐานจากบริเวณที่ตั้งรกรากครั้งแรก เมื่อมีคนจีนและอินเดียเข้ามายังชายฝั่งตะวันออก ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งในศูนย์วัฒนธรรมชาวเลสังกาอู้ระบุถึงการตั้งถิ่นฐานในสังกาอู้ร้อยกว่าปีที่แล้ว และเคยเป็นมุสลิมที่หากินด้วยการตกปลา ปลูกมะพร้าวและยาง ช่วงเวลาเดียวกันนั้น บางส่วนเคลื่อนย้ายจากโบแนมายังศาลาด่านซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะ จน ค.ศ. 1969 พระราชินีในรัชกาลที่ 9 อนุญาตให้อูรักลาโว้ยตั้งถิ่นฐานที่สังกาอู้และศาลาด่านจนถึงปัจจุบัน (น.7)
เกาะลันตาประกอบด้วยสองเกาะ เกาะลันตาใหญ่เป็นถิ่นฐานของอูรักลาโว้ย เหนือจรดใต้ 30 กิโลเมตร ตะวันออกถึงตะวันตก 2-3 เมตร กลางเกาะเขาขนาดเล็ก ป่า และการเพาะปลูก ชายฝั่งตะวันตกหาดยาว ที่มีเขาเล็ก ๆ ยื่นในทะเล ตะวันออกเป็นป่าชายเลน ส่วนเมืองเก่าเคยเป็นศูนย์กลางทางตะวันออกของเกาะ ศาลาด่านอยู่ทางเหนือสุดของเกาะลันตาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศาลาด่าน ประกอบด้วยหมู่บ้านคลองดาว ในไร่ และโต๊ะบาหลิว ส่วนทางใต้ ในหมู่บ้านสังกาอู้และบ้านหัวแหลม
หมู่บ้านสำคัญ ๆ ได้แก่
บ้านหัวแหลมครอบคลุมพื้นที่หลายส่วนตั้งอยู่ระหว่างสังกาอู้กับเมืองลันตาเก่า โดยมีชาวอูรักลาโว้ยอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลลันตา ซึ่งตั้งห่างจากเมืองลันตาเก่าไม่กี่กิโลเมตร บริเวณหัวแหลมนี้ประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม ทั้งมุสลิม จีน และอูรักลาโว้ย บ้านแบบดั้งเดิมและเป็นโครงสร้างคอนกรีตและไม้ หัวแหลมเป็นบริเวณตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมที่สุดของอูรักลาโว้ยบนเกาะลันตา
บ้านคลองดาวอยู่นอกศาลาด่านบริเวณที่เป็นเขา ห่างจากหาดคลองดาวไม่มากนัก บริเวณดังกล่าวจอดเรือหางยาวและสุสานสองแห่ง ส่วนใหญ่เป็นอูรักลาโว้ย มีมุสลิมปะปนบ้าง อาคารสร้างบนเนินเขาทำจากไม้ โรงแรม ร้านค้า และโบสถ์ใหม่ตั้งบนเนิน
บ้านในไร่ใกล้กับศาลาด่าน ไม่ไกลจากหาดนัก คือบ้านในไร่ มีทั้งโรงแรมและรีสอร์ทตั้งรายล้อม อาคารหลายหลังสร้างหลังจากธรณีพิบัติภัย บางส่วนเป็นโครงสร้างง่าย ๆ และมีบางส่วนเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
บ้านโต๊ะบางละใกล้กับท่าเรือศาลาด่าน อีกฝากสะพานไม้เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธี มีประวัติไม่ไกลนัก อาคารสร้างขึ้นอย่างง่ายเป็นเรือนบนเสาไม้ในแถบป่าชายเลน มีประชากรราว 50คน เป็นที่เก็บเรือของคนที่อาศัยอยู่ในคลองดาวและในไร่ (น.15-17)
ไม่มีตัวเลขแน่ชัดอูรักลาโว้ยแบบทางการ อ้างอิงข้อมูลของ Granbom (2007)  ประมาณประชากรอูรักลาโว้ยไว้ราว 900 คนเมื่อทศวรรษ 1990 ตามข้อมูลทางการมีประชากร 449 คนในสังกาอู้ สำรวจเดือนธันวาคม ค.ศ.2009 แต่อ้างข้อมูลของ Granbom (2007)  ประชากร 632 คนที่เป็นอูรักลาโว้ย ในศาลาด่านเมื่อ ค.ศ. 2004 ประมาณการโดยผู้ให้ข้อมูลมีประมาณ 75 คนที่บ้านหัวแหลม อูรักลาโว้ยทั้งหมดโดยประมาณ 1,150 คนจากประชากรในตำบลเกาะลันตา 28,000 คน ประมาณ 4% (น.18)

Belief System

ศาสนาดั้งเดิมอูรักลาโว้ย ความเชื่อวิญญาณบรรพบุรุษ มีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน วิญญาณบรรพบุรุษมีส่วนช่วยให้เกิดโชคดีและปัดเป่าสิ่งร้าย ระบบครอบครัวมีบทบาทสำคัญในสังคมอูรักลาโว้ย ผู้อาวุโสกว่าดูแลผู้อ่อนวัยกว่า เพื่อทำบุญให้แก่ผู้อาวุโสเมื่อจากไป โดยจะได้รับการเชิญมาร่วมพิธีกรรมในบางครั้ง โดยจะเห็นได้จากเครื่องประกอบพิธี ทั้งอาคาร เครื่องแต่งกาย เครื่องดื่มที่ผู้เสียชีวิตโปรดปราน หากทำพิธีไม่ถูกต้องกลายเป็นเคราะห์ร้าย (น.18)
โต๊ะหมอเป็นบุคคลสำคัญ มีความหมายถึง วิญญาณ และ คน โต๊ะหมอจึงทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงโลกทั้งสองสำหรับคนอูรักลาโว้ย ใน Granbom (2007) เรียกว่า ผู้รักษาโรค ส่วนใน Hogan (1972) เรียกว่า หมอผี หรือ Bumol ในสังคมอูรักลาโว้ย โต๊ะหมอจึงมีบทบาททั้งเป็นผู้ประกอบพิธี ผู้รักษา และผู้ให้คำแนะนำ โดยมีเครื่องประกอบพิธีเพียงจาน เทียน และมองผ่านเปลวเทียน รู้ว่าสามารถติดต่อวิญญาณได้แล้วหรือไม่ คำตอบจากวิญญาณจะบอกถึงสาเหตุของอาการป่วยหรือทำนายอนาคต แต่ละพื้นที่มีโต๊ะหมอคนสำคัญอยู่หนึ่งคน และมีโต๊ะหมออื่น ๆ เป็นผู้ช่วย (น.19)
โต๊ะหมอคงบทบาทในการเป็นผู้รักษาโรคในสังคมอูรักลาโว้ย จึงมีคนป่วยไปพบโต๊ะหมอเพื่อขอคำแนะนำ บางครั้งบอกให้เข้าป่าเพื่อหาสมุนไพรรับประทาน บางครั้งอาจจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด หรือการเซ่นไหว้วิญญาณ และบางครั้งทำยารักษาให้กับผู้ป่วย ผู้ศึกษาอ้างอิงถึงงานของ Hogan (1972) ที่ระบุถึงแนวโน้มการเสื่อมความนิยมในโต๊ะหมอในการรักษาโรค แต่ผู้ศึกษาพบว่า ในปัจจุบัน โต๊ะหมอคงมีบทบาท ทั้งนี้ ความนิยมในการรักษาแตกต่างระหว่างผู้อาวุโสกับคนหนุ่มสาว โดยคนหนุ่มสาวในบ้านศาลาด่านมักไปโรงพยาบาลเพื่อการรักษาโรคก่อน หากอาการไม่ดีขึ้น จึงไปหาโต๊ะหมอ ส่วนผู้อาวุโสมักไปพบโต๊ะหมอก่อนเมื่อไม่สบาย ส่วนคนในสังกาอู้ ตัดสินใจไปพบโต๊ะหมอก่อนเสมอ (น.20)
นอกจากนี้ โต๊ะหมอเป็นผู้นำพิธีคนสำคัญในพิธีลอยเรือ  ทั้งนี้ ผู้ศึกษากล่าวถึงความเชื่อของคนไทยทั่วไปที่ให้ความสำคัญและประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับเรือ ที่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในทัศนะของผู้ศึกษา เห็นว่าพิธีลอยเรือมีความสำคัญมากกว่าเมื่อคนอูรักลาโว้ยออกเรือหาปลา และมีความสำคัญน้อยลงเมื่อพวกเขาเปลี่ยนแปลงมาทำมาหากินในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผู้ศึกษายกตัวอย่างการประกอบพิธีเพื่อความโชคดีจากคำบอกเล่าของผู้ให้ข้อมูล ที่มีการนำหมากพลูที่ได้รับจากโต๊ะหมอหย่อนในทะเลใกล้กับสุสานบรรพบุรุษ และอีกชิ้นหนึ่งหย่อนในบริเวณที่จะตกปลา จึงเห็นได้ว่า การประกอบพิธีเพื่อความโชคดีคงได้รับการสืบทอด (น.20)
ปรากฏการทำนายโชคชะตา เช่น โชคในการตกปลา กุ้ง ปลาหมึก โอกาสในการทำมาหากิน บ้างต้องการรู้เกี่ยวกับคำพยากรณ์เกี่ยวกับกิจการหรือฤดูกาลท่องเที่ยว อาทิ ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นเจ้าของร้านขายอาหารใกล้คลองดาวที่ต้องการรู้ถึงการค้าขายในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังมาถึง วันฤกษ์ดีในการเปิดกิจการ รวมถึง “ยาเสน่ห์” เดิมทีโต๊ะหมอทำยาเสน่ห์ด้วยสำหรับคนที่ไม่มีโชคในความรัก เพื่อนำไปผสมในอาหารและเครื่องดื่ม แต่ปัจจุบันเรื่องราวเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นแล้ว บ้างว่าโต๊ะหมอในบางแห่งเช่นภูเก็ตยังทำยาเสน่ห์อยู่ แต่เมื่อถามกับผู้ให้ข้อมูลที่อยู่ราว 20ปี เห็นว่าเป็นเรื่องน่าขัน แต่มีข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลอายุ 30ปีที่มีคนใกล้ตัวโดนยาเสน่ห์เช่นกัน สำหรับการแต่งงาน โต๊ะหมอประกอบพิธีด้วยการเตรียมน้ำมนต์ให้คู่บ่าวสาวดื่ม พร้อมกับการปฏิบัติพิธีในทางพุทธและไทยด้วยเช่นกัน (น.21)
ผู้ศึกษายกตัวอย่าง การเข้าสู่สถานะโต๊ะหมอ “โต๊ะหมอบอเดน” ที่เรียนรู้หน้าที่จากพ่อที่เป็นโต๊ะหมอ โดยคนที่จะกลายเป็นโต๊ะหมอจะมีความสามารถในการรักษาผู้ป่วย แล้วใช้เวลาไม่น้อยในการบ่มเพาะความเชี่ยวชาญ ในแต่ละปี โต๊ะหมอต้องไปยังศาลเจ้าบ่อยครั้ง รวมถึงการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม มิเช่นนั้นจะสูญเสียความสามารถในการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับวิญญาณ นอกจากนี้ ยังมีข้อห้าม เช่น การเหยียบหมอนหนุนศีรษะของโต๊ะหมอ หรือศีรษะของโต๊ะหมอถูกกางเกง ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมคลาย โต๊ะหมอจึงระวังตัวเองอยู่เสมอทำให้ไม่มีคนรุ่นใหม่สืบทอดการเป็นโต๊ะหมอนัก เพราะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตหลายประการ (น.22) โต๊ะหมอบอเดนประสบปัญหาการสืบทอดเช่นกัน และไม่สามารถแสวงหาคนทดแทนได้ เพราะผู้ที่ต้องการเป็นโต๊ะหมอ ต้องเรียนรู้ด้วยความต้องการของเขาเอง (น.23)
พิธีลอยเรือ หรือในภาษาอูรักลาโว้ย Paladja มีการขนานนามโดยนักท่องเที่ยวว่า เทศกาลชาวเล เกิดขึ้นในสองช่วงเวลาของปี ได้แก่ เดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคม โดยใช้เวลาสองถึงสามวัน คำอธิบายจากผู้ให้ข้อมูลสิ่งที่ปฏิบัติทุกวันนี้ ชาวบ้านร่วมเดินจากหมู่บ้านคลองดาวและในไร่ เพื่อมายังบ้านโต๊ะบาหลิว ในการประกอบพิธีในคืนแรก โดยมีโต๊ะหมอประกอบพิธีเพื่อเชิญวิญญาณ กลุ่มชายเข้าป่าเพื่อตัดไม้จากต้นสละมาใช้ในการทำเรือที่เรียกว่าPlajuk หรือ Bajak ส่วนคืนที่สองย้ายสู่บ้านหัวแหลม เพื่อสร้างเรือให้แล้วเสร็จ โดยมีการประดิษฐ์รูปแทนบรรพชนจากไม้ พร้อมด้วยอาหาร เครื่องดื่ม และตัดเล็บและผม ใส่ไว้ในเรือ และใช้ข้าวสุกถูกตัวเด็ก ๆ และนำข้าวใส่ไว้ในเรือด้วย ทั้งนี้ ความหมายของพิธี (อ้างถึง Hogan 1972: 216-217)  หมายถึงการแสดงความเคารพต่อบรรพชน และนำสิ่งที่ไม่ดีออกไประหว่างพิธีและหลังพิธี ชาวบ้านทำไม้ให้เป็นกากบาทเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีและผีร้ายกลับเข้าหมู่บ้านอีก ภายหลังการลอยเรือมีการร่ายรำ โดยใช้เครื่องดนตรีรำมะนา สำหรับบรรเลงเป็นหลัก และร้องเพลงเพื่อการขออภัยจากการกระทำผิด โดยเรือจะล่องไปยังดินแดนที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพชนที่เรียกว่า Kanungniray
ผู้ศึกษาอ้างถึงบทความในนิตยสารท้องถิ่น กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับคนรุ่นใหม่ที่เต้นรำกับดนตรีสมัยใหม่ หรือดูโทรทัศน์ มากกว่าเข้าร่วมพิธีอย่างแท้จริง (น.24)
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนอูรักลาโว้ย เช่น โต๊ะบาหลิวเป็นวิญญาณของอูรักลาโว้ยคนแรกบนเกาะลันตา บ้างกล่าวว่าโต๊ะบาหลิวเป็นพระเจ้า บ้างว่าเป็นเจ้าแห่งวิญญาณทั้งปวง ศาลเจ้าของโต๊ะบาหลิวมีรูปเคารพขนาดใหญ่ในบ้านโต๊ะบาหลิว ชาวบ้านเชื่อในพลังอำนาจของโต๊ะบาหลิวเกี่ยวกับโชค การมีลูก หรือการตกปลาได้จำนวนมาก ส่วนคำอธิบายรูปเคารพข้างโต๊ะบาหลิวกลับได้ชื่อแตกต่างกัน ผู้ชายทางซ้ายมือของโต๊ะบาหลิวมีชื่อแตกต่างกัน Tobataj, Toadam, Toakohberataiหรือ Nilo
ในสังกาอู้พบสถานการณ์เดียวกัน ศาลเจ้าที่มีรูปเคารพ Raja Siridyanตามคำอธิบายของโต๊ะหมอมาราสี หญิงที่ประกบทั้งสองข้างเป็นภริยาของราชา เรื่องเล่ากล่าวถึงไม้ใหญ่ในหมู่บ้านที่ถูกคนในหมู่บ้านเผาทิ้ง และผู้คนล้มป่วย ราชาเข้าฝันโต๊ะหมอและบอกให้สร้างศาลในพื้นที่ว่างเปล่า เมื่อสร้างและฉลองศาลเจ้า แล้วทุกคนหายป่วย แต่มีข้อมูลที่แตกต่าง ผู้ศึกษาอ้างในงานของ Jägerberg/Mayr (2006: 14) โต๊ะหมอที่เสียชีวิต Sicken กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังกาอู้ ได้แก่ Yan, Tahara, Sigiluiแต่ต้องเป็นชาย 2 และหญิง 1 โต๊ะหมอบอเดนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าราชาเป็น “ผู้พิทักษ์แห่งเกาะ” แต่ไม่มีผู้ให้ข้อมูลในสังกาอู้เห็นสอดคล้อง และกล่าวเพียงว่า เกาะ โดยไม่ระบุชื่อ ซึ่งแต่เดิมโต๊ะหมอบอเดนเคยติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เพื่อความผาสุขของคนบนเกาะ
ส่วนรูปเคารพที่ศาลเจ้า บ้านหัวแหลม ยิ่งน่าสับสน โต๊ะหมอแต่ละคนให้ชื่อแตกต่างกัน ส่วนชาวบ้านที่อาศัยใกล้เคียงกลับไม่สามารถระบุชื่อได้ ผู้ศึกษาเห็นว่าชื่อเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญนักสำหรับชาวบ้าน นอกจากนี้แต่ละบ้านตั้งศาลเจ้าของครอบครัว และไม่มีข้อมูลใดที่สอดคล้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ยิ่งใหญ่ในงานของ Hogan (1973: 218) ระบุถึงในนาม tuhat besar de’ atas(น.34-35)

Education and Socialization

ปัจจุบันแม้ในสังกาอู้จะมีศูนย์วัฒนธรรมชาวเลที่ตั้งโดยเอกชนที่ตั้งใจให้เป็นสถานที่เพื่อการถ่ายทอดความรู้ศิลปหัตถกรรมให้กับเยาวชน และการขายสินค้าท้องถิ่นให้กับนักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล สังกาอู้กลายเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น (น.41)

Health and Medicine

มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิพลต่อความสุขสบายและความเจ็บไข้ได้ป่วย  ผู้ศึกษาอ้างการประกอบพิธี จากงานของ Granbom ในชื่ออูรักลาโว้ย (2007: 52) Paniaiแต่ผู้ศึกษาอ้างถึงข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลกล่าวถึง Plapai Niaiหรือ “การแก้บน” โต๊ะหมอประกอบพิธีเพื่อแสดงความขอบคุณต่อวิญญาณที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการป่วย เครื่องเซ่นจัดใส่จานได้แก่หมากพลูและยาเส้น โดยจุดเทียนเล่มหนึ่งเพื่อเชิญวิญญาณให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ (น.25)

Folklore

การเซ่นไหว้วิญญาณในท้องทะเล ในภาษาอูรักลาโว้ย Poyaที่หมายถึง การเตรียมอาหาร ความเชื่อเกี่ยวข้องกับการพึ่งพาทะเลเพราะเป็นแหล่งทำมาหากิน จึงต้องมีการเซ่นไหว้วิญญาณที่ปกปักรักษาท้องทะเลและสิ่งมีชีวิตเป็นการตอบแทน บางครั้งเรียกว่า Toohut Lawoiเพื่อให้การประมงได้ผลดี โดยพิธีเกิดขึ้นหลังพิธีลอยเรือในเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นฤดูมรสุม ในพิธีดังกล่าวโต๊ะหมอทำแพขนาดเล็กจากไม้ไผ่และใบไผ่ โดยมีเครื่องเซ่นได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร เป็นต้น และลอยออกสู่ทะเล หากล่องออกสู่น่านน้ำ นับเป็นโชคดี ในทางตรงข้าม หากลอยเรือแล้วจม ถือเป็นโชคร้าย (น.24)
ในภาษาอูรักลาโว้ย Karori Romaที่หมายถึงการนำ “โชค” มายัง “บ้าน” ข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลระบุถึงการทำบุญหนึ่งปีให้หลังเมื่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ และทุกปี ในเดือนเดียวกันนั้น ประกอบพิธีเพื่อให้เกิดโชคดี โต๊ะหมอนำผ้าแดงผูกไว้กับเพดานหรือเสาเรือน และเซ่นไหว้วิญญาณเพื่อนำความโชคดีมาให้กับบ้านและครอบครัว (น.25)
ความเชื่อเรื่องวิญญาณและผี อูรักลาโว้ยดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อในวิญญาณบรรพชนที่ส่งผลต่อสถานการณ์ต่าง ๆ สมาชิกในครอบครัวจึงมีความผูกพันอย่างเหนียวแน่น และคนอื่นในหมู่บ้านเดียวกัน ยังผลให้รวมตัวกันอย่างแน่นเฟ้น พ่อแม่และผู้อาวุโสดูแลครอบครัว และดำเนินต่อในชีวิตหลังความตาย ลูกหลานเชื่อว่าวิญญาณคงวนเวียนในการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงมีเรื่องเล่าต่าง ๆ นานา บางคนกล่าวถึงการพบเจอวิญญาณ บ้างเชื่อมโยงกับวิญญาณในความฝัน เช่น วิญญาณบรรพชนเข้าฝันเพื่อขอเสื้อผ้าที่อบอุ่น อาหาร หรืออยากดูการแสดงดั้งเดิมที่เรียกว่า รองแง็ง ลูกหลานต้องเซ่นไหว้ในสิ่งที่บรรพชนต้องการโดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้ประกอบพิธี  ผู้ศึกษากล่าวถึงการเซ่นไหว้ที่ศาลประจำปี ทั้งหลายทั้งปวงลูกหลานกล่าวถึงความสบายในการประกอบพิธีให้กับบรรพชน (น.26-27) การทำความสะอาดสุสาน ในภาษาอูรักลาโว้ย Patat Jiraiที่หมายถึงการทำความสะอาด และสร้างบริเวณใหม่ ประกอบพิธี ณ บริเวณสุสานแต่ละแห่งในทะเลอันดามัน ญาติพี่น้องนำอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ตายเคยโปรดปรานมาเซ่นไหว้ โดยมีโต๊ะหมอเชิญวิญญาณด้วยการจุดเทียนอัญเชิญ และมีการเลี้ยงในหมู่เครือญาติ เชื่อว่าหากบรรพชนพอใจและมีความสุข ครอบครัวจะมีความสุขเช่นกัน (น.25)
พบความเชื่อเกี่ยวกับการป้องกันสิ่งชั่วร้ายดังเช่นไม้รูปกากบาทในพิธีลอยเรือ ที่วางไว้หน้าหมู่บ้าน หรือใกล้กับเรือนพัก ทั้งนี้ ผู้ศึกษาสังเกตความแตกต่าง ที่ไม่พบสัญลักษณ์กากบาทที่ทำจากไม้ในคลองดาวและในไร่ โดยระบุข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลที่ว่าเครื่องหมายดังกล่าวควรอยู่ใกล้ศาลและผู้ที่ล่องทะเลที่พักในบ้านศาลาด่านมากกว่า อนึ่ง ความเชื่อในเรื่องวิญญาณเป็นการควบคุมทางสังคมให้คนประพฤติตนเหมาะสม ฉะนั้น สิ่งไม่ดีจึงเกิดจากการประกอบพิธีที่ไม่ถูกต้องหรือลืมประกอบพิธีบางอย่าง (น.27)
ศาลสถานที่ในการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพชนคือ ศาลเจ้า หรือที่เรียกว่า Rumah Dato’คำแรกหมายถึง บ้าน คำหลัง หมายถึง วิญญาณ คนจะไปไหว้ศาลเจ้าระหว่างวัน โอกาสพิเศษ หรืองานฉลอง เครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วยอาหาร เครื่องดื่ม บุหรี่ ผ้า หมากพลู เทียน นำถวายบนหิ้ง โดยผู้ศึกษาสังเกตเห็นว่า ศาลเจ้าแต่ละศาลเจ้ามีบทบาทแตกต่างกัน เพราะบางศาลเจ้าไม่ได้รับเครื่องเซ่นใด ๆ ในระหว่างที่ผู้ศึกษาอยู่ในภาคสนาม
ศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่โต๊ะบาหลิวเป็นสถานที่ที่มีการเซ่นไหว้มาก ผู้ให้ข้อมูลกล่าวถึงการบนบานให้ได้ลูกสาว เมื่อสมความตั้งใจนำหัวหมูไปเซ่นดังที่บนไว้ ส่วนพื้นที่ทางใต้ของเกาะ บ้านสังกาอู้ มีศาลเจ้าที่เรียกว่า Dato’ Kunnamdam(ดาโต๊ะขุนน้ำดำ) ชื่อเรียกตามบรรพชนคนสำคัญ ผู้คนให้ความนับถือมาก เพราะเป็นผู้ปกปักรักษา วิญญาณขุนน้ำดำปรากฏในรูปแบบของหินผา และอีกฟากหนึ่งมีวิญญาณของชาวประมงที่เสียชีวิตสถิตย์อยู่ ผู้ศึกษาอ้างถึง Hogan (1972) บริเวณที่สิงสถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติเรียกว่า Kramai แต่ไม่มีใครกล่าวถึงคำดังกล่าว และศาลเจ้าที่หัวแหลมที่มีการก่อสร้างด้วยฝีมือมากกว่าศาลเจ้าขนาดเล็ก ภายในประกอบด้วย รูปเคารพจำนวน 4 หุ่น หลังคามีการประดับด้วยไม้สลักรูปนก เรียกว่า Bulong Putéเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในการลดความแรงของพายุ ศาลเจ้าที่หัวแหลมนี้มีความสำคัญในการประกอบพิธีลอยเรือ ในช่วงเวลาอื่น ๆ ผู้คนจะไปไหว้ศาลเจ้าขนาดเล็กมากกว่า (น.28-30)
การแสดงความเคารพต่อวิญญาณด้วยการถวาย Nijai Badji คำแรกหมายถึง ถวาย คำหลังหมายถึง สิ่งที่ดี ในภาษาอูรักลาโว้ย โดยทำมาจากกิ่งไม้ที่ถากเปลือกออกและติดปลายด้วยศรและประดับด้วยเศษผ้าสีแดงและสีขาว พบเห็นในศาลเจ้าแห่งหนึ่งสังกะอู้ เพราะลูกของผู้ที่ถวายไม่สบาย กล่าวได้ว่า Nijai Badgiเป็นเสมือนเครื่องหมายในการป้องกันสิ่งชั่วร้ายหรือ Giraj Badji ซึ่งพบได้เช่นกันที่สุสาน (น.31)
สุสาน เมื่อมีคนตาย ร่างของผู้ตายจะถูกฝังที่สุสานหนึ่งในห้าแห่งบนเกาะลันตา โดยตั้งอยู่ใกล้กับทะเลเพื่อ “ฟังเสียงของทะเล” (อ้างใน Granham 2007: 63) ร่างได้รับการฝังไว้ในทรายและทำหลังคาหรือที่เรียกว่า balaj ในพิธีกรรมการฝั่งศพ มีการนำเครื่องดื่ม อาหาร บุหรี่ และเทียน ประกอบในพิธี และวางไว้ในตำแหน่งปลายเท้า โดยมีการวางหินไว้ที่ตำแหน่งของศีรษะ (และเท้าในบางครั้ง) เพื่อแสดงถึงเครื่องหมายป้องกันสิ่งชั่วร้าย ในระยะหลัง สิ่งคลุมหลุมศพเป็นเพียงผ้าห่ม แผ่นไม้และร่ม บริเวณตำแหน่งศีรษะของผู้ตาย
เมื่อมีผู้ตาย ลูกหลานจะเก็บร่างไว้ที่บ้านราวสองสามวันก่อนที่จะนำมาใส่ในโรงขนาดเล็กและฝังใกล้บรรพชนคนอื่น โดยวางตำแหน่งเหนือ-ใต้ ทำสัญลักษณ์ให้รู้ว่าส่วนใดเป็นศีรษะ ส่วนใดเป็นเท้า ด้วยท่อนไม้หรือหิน ฉะนั้น ชาวอูรักลาโว้ยจึงไม่นอนหัวศีรษะในแนวเหนือตาย เพราะไม่อยาก “นอนเหมือนคนตาย” นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องหมายป้องกันอันตรายทุกปีเพื่อความโชคดี ลูกหลานไปทำความสะอาดสุสานของบรรพชนทุกปี (น.32)
เริ่มมีการใช้ศาลเจ้าสำเร็จแบบศาลพระภูมิ โดยพบในศาลาด่าน แต่ไม่พบในสังกาอู้ ผู้ศึกษาตั้งข้อสังเกตถึงการใช้ศาลเจ้าตามความเชื่อแบบไทยแตกต่างจากศาลเจ้าของชาวอูรักลาโว้ย เพราะเป็นการเคารพต่อวิญญาณของบ้านหรือสวน อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพบการตั้งหิ้งบูชาภายในบ้านของชาวอูรักลาโว้ย เพื่อการแสดงความเคารพต่อวิญญาณของเรือน นับเป็นการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมไทยดังที่ Granbom (2007: 73) ระบุถึงการดำเนินชีวิตร่วมสมัย (น.31) นอกจากนี้ ยังพบสุสานในคอกวาง ที่มีลักษณะแตกต่างจากสุสานในแหล่งอื่นบนเกาะลันตา เพราะลักษณะสุสานได้รับอิทธิพลจากภายนอกไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการสร้างสถูป หรือการใช้ลิงกระดาษแบบจีนปักลงในหลุมฝัง นอกจากนี้ มีการประดับดอกไม้ที่หลุมฝัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะหลัง (น.33)

Social Cultural and Identity Change

ความเป็นอยู่ของคนจีน มุสลิม และอูรักลาโว้ยในพื้นที่ เริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ทศวรรษ 1990 คนนอกเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ในงาน Granbom (2007) เธอสังเกตแง่มุมในการดำเนินชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากการท่องเที่ยวและความทันสมัย (น.13)
คลื่นความเปลี่ยนแปลง (น.38-41)
การท่องเที่ยวและความทันสมัยตั้งแต่ ค.ศ.1990รีสอร์ทสำหรับนักท่องเที่ยวแห่งแรกสร้างบนเกาะลันตาทางตอนเหนือในคอกวาง และปีเดียวกัน อุทยานแห่งชาติได้รับการประกาศทางใต้ของเกาะ สามปีให้หลัง ธุรกิจการท่องเที่ยวและที่พักเติบโตอย่างรวดเร็ว ประปา ไฟฟ้า และโทรศัพท์เข้ามายังพื้นที่เป็นลำดับ ข้อมูลของ Granbom (2007: 55) ระบุข้อมูลที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อ  ค.ศ. 2004จำนวน 150-170แห่ง ป่าไม้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เกิดบ้านใหม่ ที่พักของนักท่องเที่ยว ร้านค้า รอบ ๆ บริเวณที่อูรักลาโว้ยตั้งถิ่นฐาน ทั้งบ้านในไร่และคลองดาว คนหนุ่มสาวจากสังกาอู้ทำงานกับรีสอร์ท ร้านอาหาร เรือนำเที่ยวในศาลาด่าน
การแย่งชิงหาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำให้หาดและที่ดินใกล้กับหาดทรายกลายเป็นสิ่งมีค่า หลายแห่งที่เคยเป็นสถานที่อยู่อาศัยของชาวอูรักลาโว้ยไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เพราะกลายเป็นโรงแรมและร้านอาหาร บ้างต้องขายที่ดินในราคาถูกจากแรงกดดัน สถานการณ์เริ่มนิ่งมากขึ้น แต่ความขัดแย้งคงดำเนินต่อไป เช่น การตั้งโรงแรมใหญ่ใกล้กับสุสาน เพราะไม่ใกล้จากถนนหลัก ในคลองดาวและในไร่ ผู้คนต้องอาศัยอยู่ห่างไกลจากชายหาด เรือ และทะเล มากยิ่งขึ้น ในทัศนะผู้ศึกษา โดยภาพรวมแล้ว อูรักลาโว้ยไม่ใช่ผู้ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
กฎหมายและระเบียบแม้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่โต๊ะหมอมาราสิแสดงความเป็นห่วงถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ด้วยข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ทุกวันนี้ ชาวบ้านไม่สามารถล่องเรือหาปลาหรือปลูกพืชในป่า จากกฎหมายควบคุมของอุทยานแห่งชาติ รวมถึงการพึ่งพาเศรษฐกิจเงินตรา โลกสมัยใหม่มาพร้อมกับกฎระเบียบ ดังเช่น การได้ใบอนุญาตขับเรือเพื่อการท่องเที่ยว ปากท้องขึ้นอยู่กับฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นสำคัญ มากกว่าฤดูกาลเพื่อการล่องเรือหาปลาดังเช่นในอดีต
ผลกระทบจากอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ในงานของ Granham(2007: 57-65) ระบุถึงการปะทะของการประมงพื้นบ้านกับอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ ทักษะประมงลดลงเพราะคนท้องถิ่นหากินกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และข้อบังคับ ระเบียบ ที่กำกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ
อิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ความเปลี่ยนแปลงของอิทธิพลจากนักท่องเที่ยวปรากฏอย่างชัดเจนในศาลาด่าน รวมถึงจากสื่อโทรทัศน์ ค่านิยมในโลกสมัยใหม่เข้ามาในสังคมอูรักลาโว้ยมากยิ่งขึ้น ผู้คนต่างมีความเป็นปัจเจก
หลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย(น.42-48)
ค.ศ. 2004 เหตุการณ์ดังกล่าวนำความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ องค์กรให้การช่วยเหลือต่าง ๆ ตระหนักถึงชีวิตและวัฒนธรรมของอูรักลาโว้ยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นำโครงการพัฒนารูปแบบใหม่เข้ามายังพื้นที่ สิ่งอุปโภคและบริโภคหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วัฒนธรรมชาวเลที่สังกะอู้เป็นหนึ่งในผลผลิตที่เกิดขึ้นจากความช่วยเหลือหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย องค์กรศาสนาคริสต์นำเรือ บ้าน และงาน เข้ามาในพื้นที่ อย่างน้อยชาวอูรักลาโว้ยราว 50 ชีวิตที่เปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา
ผู้คนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนการนับถือศาสนา องค์กรช่วยเหลือของคริสต์เข้ามามากขึ้น ดังเช่น เวริล์ดวิชั่นมอบเรือและสร้างบ้านใหม่ในสังกาอู้ ผู้เขียนเยือนบ้านสังกาอู้ เดือนธันวาคม ค.ศ.2009 มีประชากรราว 11-13 % ที่เป็นคริสต์ศาสนิกชน แต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในชุมชนอุรักลาโว้ย บ้านศาลาด่าน อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดีมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับคริสต์ ผู้อาวุโสอย่างโต๊ะหมอบอเดนสะท้อนความวิตกกังวลในการนับถือคริสต์ศาสนา เพราะต้องให้คำมั่นกับผู้ประกอบพิธีศีลมหาสนิทที่จะไม่กลับไปดำรงวิถีดั้งเดิม ผู้ศึกษาเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของอูรักลาโว้ยที่เป็นคริสตชนในสังกาอู้ ที่ให้ความสำคัญทั้งกายและใจในการปฏิบัติ ตรงข้ามกับคริสตชนในศาลาด่าน ที่คงสืบทอดทั้งขนบความเชื่อดั้งเดิมและการนับถือคริสต์ “การเล่นสองหน้าเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะเมื่อตายไปแล้ว ชีวิตหลังความตายของอูรักลาโว้ยคนนั้นจะอยู่บนทางสองแพร่งที่ไม่อาจเลือกตามความเชื่อทางใดทางหนึ่ง” ความกังวลของผู้อาวุโสในชุมชน
ส่วนอูรักลาโว้ยที่เปลี่ยนแปลงมานับถือพุทธศาสนา ดังเช่นผู้ให้ข้อมูลที่เป็นลูกผสมของพ่อที่เป็นพุทธกับแม่ที่เป็นอูรักลาโว้ย คงปฏิบัติและเชื่อในทั้งสองทาง การเชิญโต๊ะหมอและพระภิกษุในการประกอบพิธีเกี่ยวกับความเชื่อในบรรพชนสามารถทดแทนกันได้ นอกจากนี้ ยังพบการสอนศาสนาของพระสงฆ์ในโรงเรียนบ้านสังกาอู้ และวัดที่กำลังก่อสร้าง เคียงคู่กับการปฏิบัติดั้งเดิม
สิ่งที่กังวลคือ ฤดูกาลการท่องเที่ยวที่ไม่มีนักท่องเที่ยวนัก จะส่งผลต่อรายได้และความเป็นอยู่ กับการสูญเสียทักษะในการใช้ภาษาอูรักลาโว้ยในการสื่อสาร พื้นที่ทางเหนือของเกาะเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจเงินตราอย่างเต็มรูปแบบ และสร้างความขัดแย้งภายใน ส่วนพื้นที่ทางใต้ คงรักษารูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของอูรักลาโว้ย แม้จะมีกฎระเบียบใหม่ การหาปลาได้น้อยลง และการเผยแผ่คริสต์ศาสนา (น.48-50)

Map/Illustration

ภาพถ่าย

  • น.8 “แพ” กับสถูปสำหรับเก็บอัฐิที่เขากวาง
  • น.14 โต๊ะหมอมาราสิและผู้ศึกษา ถ่ายโดย นราธร “นัส” ห้องทาง
  • น.16 ร่างบริเวณที่ตั้งศาลวิญญาณ ภาพถนนผ่านบ้านสังกะอู้
  • น.17 บ้านคลองดาว
  • น.22 โต๊ะหมอบอเดน, บ้านในไร่
  • น.27 เด็กชายเล่นฟุตบอโดยมีไม้รูปกากบาทที่เรียกว่า Gaiu Padak
  • น.29 ศาลเจ้าที่บ้านหัวแหลม, ศาลเจ้าดาโต๊ะขุนน้ำด่าน สังกาอู้, ศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว และศาลเจ้าหินสังกะอู้
  • น.31 สัญลักษณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และศาลพระภูมิ บ้านคลองดาว
  • น.33 สุสานแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย
  • น.35 ศาลวิญญาณในสังกะอู้และเครื่องเซ่น
  • น.36 รูปเคารพ เฒ่าดำ, โต๊ะบาหลิว, ดาราสิติบินา
  • น.42 สัญลักษณ์เส้นทางอพยพเมื่อเกิดเหตุธรณีพิบัติภัย
ภาพร่าง
  • น.58เกาะลันตาใหญ่ แสดงสถานที่ตั้งหมู่บ้านสำคัญของอูรักลาโว้ย

Text Analyst ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ Date of Report 17 ก.ย. 2563
TAG อูรักลาโว้ย, ชาวเล, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง