สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอญ,วัฒนธรรรม,ประเพณี,พิธีกรรม,ความเชื่อ,บางกระดี่,บางขุนเทียน
Author สุภาพร มากแจ้ง
Title การศึกษาวิถีชีวิตมอญบางขุนเทียน "มอญบางกระดี่"
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอญ รมัน รามัญ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 124 Year 2540
Source ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี (ศูนย์ศึกษาและปฏิบัติการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น)
Abstract

ความสัมพันธ์ภายในชุมชนมอญบางกระดี่เป็นความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ ในงานเทศกาลต่างๆ มักทำอาหารคาวหวานแบ่งปันเพื่อนบ้าน หรือนำไปทำบุญ ความสัมพันธ์ภายนอกชุมชนมีทั้งด้านการค้าขาย เพลงพื้นบ้าน นาฏศิลป์พื้นบ้าน และวงดนตรีพื้นบ้าน ชาวบางกระดี่ดำรงชีวิตตามขนบประเพณีมอญที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ โดยมีคัมภีร์โลกสิทธิ และโลกสมมุติเป็นระเบียบแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติ (หน้า 110) ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตคนมอญ เช่น การโกนผมไฟ การแต่งงาน และการตาย การจัดงานศพเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก มีข้อห้าม และข้อปฏิบัติมากมาย (หน้า 68-75) พิธีกรรมต่าง ๆ ที่มอญจัดขึ้นตามความเชื่อในชุมชน ได้แก่ พิธีรับผีประจำตระกูล พิธีรำผี พิธีทรงเจ้า พิธีเซ่นสังเวยผีเรือน และพิธีทำบุญในงานเทศกาลทางศาสนาพุทธ (หน้า 98) ปัจจุบันวิถีชีวิตมอญบางกระดี่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่เกษตรเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มีการอพยพย้ายถิ่น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยกันหมดไป มีการเปลี่ยนอาชีพจากการจับสัตว์น้ำ เย็บจาก ตัดฟืน ไปสู่อาชีพคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำงานตามเวลาที่กำหนด ผู้คนในชุมชนมีเวลาพบปะกันน้อยลง ประเพณีและวัฒนธรรมลดความสำคัญลง สภาพชุมชนเริ่มอ่อนแอ เพราะไม่สอดคล้องกับสังคมอุตสาหกรรม (หน้า 10-11)

Focus

ชุมชนมอญบ้านบางกระดี่เป็นชุมชนมอญที่รักษาวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้วิถีชีวิตมอญบ้านบางกระดี่เปลี่ยนแปลงไป (หน้า 116-117)

Theoretical Issues

ชุมชนมอญบ้านบางกระดี่เป็นชุมชนพึ่งพาตนเอง มีช่างปลูกเรือนไทย ช่างทำโลงศพมอญ ช่างทำอาหารคาวหวาน นักดนตรี นาฏศิลป์ และพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้าน อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่รักษาขนบประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรม และความเชื่อตามแบบมอญไว้อย่างเข้มแข็ง แต่ปัจจุบัน ชุมชนมอญบ้านบางกระดี่เริ่มมีลักษณะเป็นสังคมเมืองมากขึ้น พื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้วิถีชีวิตของมอญบ้านบางกระดี่เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมของชุมชนเริ่มอ่อนตัวลง ประเพณีบางอย่างถูกละเลยเนื่องจากไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ภาครัฐมีส่วนช่วยสนับสนุนประเพณีสำคัญ เช่น ประเพณีสงกรานต์ และประเพณีลอยกระทง เป็นต้น นอกจากนี้การรำมอญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่สำคัญของมอญบางกระดี่ก็เริ่มจะถูกลืมเลือน จึงมีการส่งคนไปต่อท่ารำจากปทุมธานี จึงทำให้นาฏศิลป์พื้นเมืองนี้ยังคงอยู่ (หน้า 110-117)

Ethnic Group in the Focus

มอญบางกระดี่ ที่หมู่บ้านบางกระดี่ หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 9 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร (หน้า 12)

Language and Linguistic Affiliations

มอญบางกระดี่ใช้ภาษามอญในการสื่อสารกันเอง แต่กระแสความเจริญจากสังคมเมือง ทำให้พ่อแม่สมัยใหม่นิยมส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงนอกชุมชน เด็กเริ่มห่างไกลจากภาษามอญยิ่งขึ้น เพราะไม่ค่อยได้ใช้ภาษาของตนเอง อีกทั้งคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ที่มักไปทำงานนอกชุมชนก็แต่งงานกับคนต่างถิ่น ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้จึงทำให้วัฒนธรรมทางภาษาของมอญบางกระดี่อ่อนแอลง (หน้า 116)

Study Period (Data Collection)

เมษายน 2539-มีนาคม 2540 (หน้า 12)

History of the Group and Community

พบว่ามีหลักฐานเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงบ้านบางกระดี่ในสมัยก่อน แต่สันนิษฐานได้ว่าบ้านบางกระดี่เดิม ตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างบ้านหัวกระบือ และบ้านโคกขาม จากหลักฐานพบว่ามีวรรณกรรม 3 ฉบับ ซึ่งกล่าวถึงหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตบางขุนเทียนปัจจุบัน คือ โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย (พุทธศักราช 2330) กล่าวถึง บางนางนอง ห้วยทราย หัวกระบือ และโคกขาม นิราศนรินทร์ (พุทธศักราช 2352) กล่าวถึง บางนางนอง บางขุนเทียน บางบอน บางกก หัวกระบือ และโคกขาม นิราศเมืองเพชร (พุทธศักราช 2356) กล่าวถึง บางขุนเทียน บางประทุน คลองขวาง บางระแนะ วัดไทร บางบอน วัดกก หัวกระบือ หัวละหาน แสมดำ และโคกขาม อีกทั้งยังสันนิษฐานได้ว่า บ้านบางกระดี่ไม่น่าจะก่อนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พุทธศักราช 2367-2394) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังสันนิษฐานได้ว่าบางกระดี่เดิมนั้นน่าจะมีสภาพเป็นป่าชายเลน มีคลองสนามชัยเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกับกรุงเทพมหานคร และมหาชัยได้ สมัยรัชกาลที่ 4 มีมอญจากมหาชัย และคลองสุนัขหอนอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน มีอาชีพเย็บจาก ตัดฟืน แล้วนำไปขายให้กรุงเทพและมอญปากเกร็ด ต่อมามอญบริเวณใกล้เคียง เช่น บางไส้ไก่ คลองบางหลวง และปากลัด อพยพมาอยู่ร่วมกันกลายเป็นชุมชนใหญ่ (หน้า 13-18)

Settlement Pattern

มอญบางกระดี่ตั้งบ้านเรือนหนาแน่นสองฟากคลองสนามชัย โดยมีวัดบางกระดี่เป็นศูนย์กลาง (หน้า 10) นิยมปลูกบ้านเป็นเรือนใต้ถุนสูง มีระเบียง เสาเอก และการทำบันไดยื่นออกมานอกตัวบ้าน เพื่อความสะดวกในการนำศพออกจากบ้านตามความเชื่อเรื่องไม่ให้นำศพลอดใต้ถุนบ้าน หากบ้านใดสร้างบันไดไว้ในตัวบ้าน การนำศพออกจากบ้านจะต้องรื้อฝาบ้านแล้วส่งศพออกมา (หน้า 76) ส่วนการปลูกเสานั้นจะต้องอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้าน ซึ่งมอญเชื่อกันว่า เสาเอก (เสาแรก) นี้คือเสาผีประจำบ้าน เมื่อมีการขยายขนาดของบ้านไปทางทิศตะวันออก เสาเอกจึงไม่ใช้เสาแรก กลายเป็นเสากลางบ้านด้านทิศตะวันออก เจ้าของบ้านจึงมักจะจัดบ้านบริเวณนี้เป็นห้องพระ หรือห้องสำหรับต้อนรับอาคันตุกะที่มาพักอาศัย (หน้า 25-26)

Demography

ชุมชนมอญบางกระดี่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านบางกระดี่ หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 9 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ของสำนักทะเบียนท้องถิ่น เขตบางขุนเทียน เดือนเมษายน 2540 รวมประชากรทั้งสิ้น 4,388 คน ดังนี้ ประชากรหมู่ที่ 2 รวม 2,258 คน เป็นชาย 1,130 คน หญิง 1,128 คน ประชากรหมู่ที่ 8 รวม 1,281 คน เป็นชาย 631 คน หญิง 650 คน และประชากรหมู่ที่ 9 รวม 849 คน เป็นชาย 428 คน และหญิง 421 คน

Economy

อาชีพดั้งเดิมของมอญบางกระดี่ ได้แก่ การเย็บจาก ตัดฟืน การจับสัตว์น้ำ และรับราชการเป็นพนักงานของกรุงเทพมหานคร ลักษณะชุมชนมอญบางกระดี่เป็นชุมชนพึ่งพาตนเอง ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวรับประทานเอง เช่น กระเจี๊ยบ อีกทั้งยังมีพืชท้องถิ่นแถบป่าชายเลน เช่น ผักปรัง และผักใบปรง ผักดังกล่าวนั้นมักนำมาทำเป็นแกงเลียงผักปรัง และแกงส้มใบปรง นอกจากนี้ยังมี ลูกมะตาด เป็นพืชที่ไม่ขึ้นในดินเค็ม มักมีพ่อค้าจากปากเกร็ดหรือราชบุรีนำมาขาย ชาวบ้านมักนำมาทำแกงส้มลูกมะตาด ในงานเทศกาลสำคัญ ขนมจีน น้ำพริก น้ำยา เป็นอาหารที่นิยมทำรับประทาน และทำบุญ แต่ปัจจุบันการคมนาคมสะดวก จึงมีแม่ค้าขายขนมจีนตามตลาด ชาวบ้านจึงไม่ค่อยทำขนมจีนเอง (หน้า 35-36) ส่วนเพลงพื้นบ้าน คือ วงทะแยมอญ คณะหงส์ฟ้ารามัญเป็นคณะที่มีชื่อเสียง รับแสดงตามชุมชนทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด สามารถทำรายได้ให้มอญบางกระดี่อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของหมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มอญบางกระดี่ส่วนใหญ่จึงมีฐานะดี มีรายได้จากการขายหรือให้เช่าที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และหมู่บ้านจัดสรร ทำให้วิถีชีวิตของมอญบางกระดี่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป (หน้า 48-49)

Social Organization

ชุมชนมอญบางกระดี่มีช่างปลูกเรือนไทย ช่างทำอาหารคาวหวาน นักดนตรี พ่อเพลงและแม่เพลงพื้นบ้าน ความสัมพันธ์ของชาวบ้านบางกระดี่เป็นความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ มีวัดและโรงเรียนวัดบางกระดี่เป็นศูนย์กลางชุมชน ต่อมาเมื่อกระแสความเจริญมาสู่ชุมชน เด็กในชุมชนได้รับการศึกษาสูงขึ้น ภาครัฐเข้าไปมีมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ระบบการจัดการชุมชน สนับสนุนการอนุรักษ์วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น เช่น ประเพณีลอยกระทง และประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น (หน้า 10-11) พิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ และพิธีทำบุญในงานเทศกาลทางศาสนาพุทธ ถือว่าเป็นพิธีที่มอญบางกระดี่ ยึดถือปฏิบัติตามที่ปรากฏในคัมภีร์โลกสิทธิ และโลกสมมุติ เมื่อมีงานมงคลที่บ้าน เช่น งานบวช งานแต่งงาน เจ้าของบ้านจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ผีเรือน (เสาผีเรือน) หรือเมื่อมีเทศกาลสำคัญทางศาสนาพุทธ มอญก็จะพร้อมใจกันร่วมจัดพิธีใหญ่โต มีการแข่งขันกันทำบุญมาก ๆ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า ผลานิสงส์จากการทำบุญจะช่วยให้มั่งคั่งร่ำรวย (หน้า 110-117)

Political Organization

บ้านบางกระดี่อยู่ในเขตการปกครองของเขตบางขุนเทียน เป็นชุมชนหมู่บ้านพัฒนา ประเภทชุมชนชานเมือง ประกอบด้วยหมู่ที่ 2 มีนายยัน ปันนาผล เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 มีนายเสน่ห์ เขยะดา เป็นผู้ใหญ่บ้าน และหมู่ที่ 9 มีนายสมนึก มอญดะ เป็นผู้ใหญ่บ้าน (หน้า 20)

Belief System

บ้านบางกระดี่ทุกบ้านจะต้องมีเสาผีประจำบ้าน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผีบรรพบุรุษ หรือผีประจำตระกูล จึงมีทั้งข้อห้าม และข้อปฏิบัติต่าง ๆ หากประพฤติผิดข้อห้ามผีเรือนก็จะบันดาลให้เดือดร้อน เจ็บป่วย จึงต้องทำพิธีรำผีเป็นการเสดาะเคราะห์ และขอขมา การจัดพิธีรำผีเท่ากับเป็นการแสดงให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองกระทำผิดข้อห้ามอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วน เมื่อในบ้านมีงานมงคล ก็จะต้องทำพิธีเซ่นสังเวยเสาผีด้วย นอกจากความเชื่อเรื่องเสาผีแล้ว ชาวบ้านยังเชื่อว่าเจ้าพ่อบางกระดี่เป็นวิญญาณที่คอยคุ้มครองชาวบางกระดี่ หากใครจะเดินทางออกไปจากหมู่บ้าน เช่น ไปเกณฑ์ทหาร ก็มักจะมาบอกกล่าวเจ้าพ่อหรือคนทรง เพื่อขอคำแนะนำสั่งสอนจากเจ้าพ่อ หากลาบวช ก็จะไปขอให้ท่านอนุโมทนาส่วนกุศล วันสงกรานต์ของทุกปีจะมีการเข้าทรงวิญญาณของเจ้าพ่อบางกระดี่ ชาวบ้านก็จะมาขอความเป็นสิริมงคลจากเจ้าพ่อ (หน้า 99-115) ข้อห้ามเกี่ยวกับการดำรงชีวิตมีมากมาย เช่น ห้ามเล่นตุ๊กตา เพราะเป็นเครื่องเสียกบาลสะเดาะเคราะห์ ผู้ใดนำมาเล่นจะเป็นอัปมงคลแก่ผู้นั้น ห้ามผัวเมียที่นับถือผีต่างตระกูลมาหลับนอนภายในเรือนของตน จะทำให้ผีเรือนไม่พอใจ บันดาลให้ผู้นั้นโชคร้าย เป็นต้น (หน้า 63) นอกจากนี้ มอญบางกระดี่ยังเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า การไปวัดเพื่อทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน การจองเป็นเจ้าภาพจัดงานบุญ และบริจาคทรัพย์จำนวนมาก เชื่อว่าอานิสงส์จากการทำบุญจะช่วยให้มั่งคั่งร่ำรวยในชาติหน้า (หน้า 114-115) ความเชื่อต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก่อให้เกิดเป็นประเพณีพื้นบ้านของมอญบางกระดี่อีกมากมาย เช่น ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ประเพณีการบวช เป็นต้น (หน้า 68 )

Education and Socialization

ชุมชนมอญบางกระดี่มีโรงเรียนวัดบางกระดี่ (โรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร) เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของชุมชน ต่อมากระแสความเจริญทำให้วิถีชีวิตและสังคมชาวบางกระดี่เปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่รุ่นใหม่นิยมส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงนอกชุมชน ทำให้เด็กได้รับการศึกษาสูงขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กห่างไกลจากภาษาและวัฒนธรรมมอญบางกระดี่มากขึ้นด้วย (หน้า 116-117)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของมอญบางกระดี่เมื่อมีงานพิธีหรือเทศกาล ชายจะนุ่งโสร่งสวมเสื้อกุยเฮง มีผ้าพาด ส่วนฝ่ายหญิงจะนุ่งซิ่นสวมเสื้อลูกไม้ตัดตามสมัยนิยม พาดผ้าสไบ ผู้สูงอายุอาจจะนุ่งซิ่นหรือโจงกระเบน สวมเสื้อผ่าอก พาดผ้าสไบเช่นกัน การพาดผ้าสไบถือเป็นเอกลักษณ์ของมอญ เป็นการแสดงถึงความสุภาพและเคารพต่อพระภิกษุ ทั้งยังใช้เป็นผ้ากราบเมื่อสวมเข้าวัดอีกด้วย ด้านทรงผม ชายมอญตัดทรงผมสั้นตามสมัยนิยม ส่วนหญิงไว้ผมยาวปักปิ่นเกล้าผมมวย ปิ่นมอญทำจากเงินหรือนาก (หน้า 30) อาหารมอญสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มคือ อาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน อาหารในงานเทศกาล และอาหารในพิธีกรรม 1. อาหารทั่วไป มอญบางกระดี่นิยมนำกระเจี๊ยบฝัก ลูกมะตาด และกระเจี๊ยบแดงมาปรุงอาหาร สำหรับขนมเคยนิยมรับประทาน ข้าวเหนียวแดกงา ปัจจุบันมีเพียงบ้านเดียวที่ทำขนมชนิดนี้อยู่ 2. อาหารในงานเทศกาล ได้แก่ ขนมจีนน้ำพริก ขนมจีนน้ำยา ข้าวแช่ และกะละแมซึ่งเป็นอาหารประจำเทศกาลสงกรานต์ กระยาสารท และข้าวเม่าทอด เป็นอาหารประจำเทศกาลออกพรรษา ในส่วนข้าวเม่าทอด มอญบางกระดี่จะร่วมกันทำเพื่อเลี้ยงผู้มาฟังเทศมหาชาติ ข้าวเหนียวแดง อาหารประจำเทศกาลตรุษ ข้าวเหนียวถั่วดำ ซึ่งมักใช้เลี้ยงในงานศพ 3. อาหารพิธีกรรม ได้แก่อาหารในการประกอบพิธีเซ่นไหว้ เช่น ไก่ต้ม หัวหมู ขนมต้นขาว ขนมต้มแดง ข้าวเหนียวแดกงา กล้วย อ้อย มะพร้าว เหล้า รวมไปถึง หมากพลู และบุหรี่ด้วย (หน้า 35 -39) ดนตรีและการละเล่น ได้แก่ - ปี่พาทย์มอญ ซึ่งใช้ในงานมงคลและอวมงคล - สะบ้า เป็นการละเล่นช่วงตรุษสงกรานต์ - ทะแย เป็นการขับลำนำร้องเพลงปฏิพากย์ระหว่างชายหญิง ทะแยเป็นมหรสพที่นิยมเล่นในงานมงคล และงานเทศกาลทั่วไป - มอญรำเป็นนาฏศิลป์มอญใช้รำในงานศพ ผู้แสดงเป็นหญิงล้วนนิยม (หน้า 43 - 50 )

Folklore

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งของมอญบางกระดี่สืบเนื่องมาจากตำนาน 2 เรื่อง ได้แก่ ตำนานพระปัจเจกโพธิ์ และตำนานพระสิวลี ทำให้ชาวบางกระดี่เชื่อในผลานิสงส์ของการถวายน้ำผึ้งแด่พระสงฆ์ ตำนานพระปัจเจกโพธิ์ กล่าวถึงพระปัจเจกอาพาธ ประสงค์น้ำผึ้งมาผสมโอสถ เพื่อบำบัดอาการอาพาธ มีชาวบ้านป่านำน้ำผึ้งมาถวาย ครั้นรินน้ำผึ้งลงในบาตรเกิดอัศจรรย์ขึ้น น้ำผึ้งพูนขึ้นจนล้นบาตร ขณะนั้นมีหญิงทอผ้าเห็นก็เกรงว่าน้ำผึ้งจะเปื้อนมือพระปัจเจกโพธิ์ จึงนำผ้าทอไปถวายเพื่อซับน้ำผึ้ง ครั้นคนทั้งสองถึงกาลมรณะชายผู้ถวายน้ำผึ้งไปเกิดเป็นพระราชาผู้มั่งคั่ง หญิงทอผ้าไปเกิดเป็นพระราชธิดาของพระราชาอีกเมืองหนึ่ง ส่วนตำนานพระสิวลี กล่าวถึง พระพุทธเจ้าในอดีตกาล ทรงพระนามว่า พระวิปัสสี ในครานั้นพระสิวลีถือกำเนิดเป็นชาวบ้าน วันหนึ่งขณะเดินทางเข้าเมือง ก็พบรวงผึ้งจึงนำไปถวายพระวิปัสสี เมื่อถึงกาลมรณะชายผู้นั้นก็ไปเกิดในเทวโลก เสวยสุขแล้วจึงไปจุติเป็นพระราชาในกรุงพาราณสี เมื่อสิ้นพระชนม์ได้อุบัติเป็นพระราชกุมารในศากยวงศ์ ทรงพระนามว่า สิวลีกุมาร ครั้นเมื่อจำเริญพระชนม์ทรงออกผนวชในสำนักพระสารีบุตร จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงยกย่องว่า "ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในเรื่องของผู้มีลาภ" (หน้า 94-95)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

มอญบางกระดี่มีการติดต่อกับกลุ่มสังคมอื่นในเรื่องของวัฒนธรรม เช่น วงปี่พาทย์มอญ ซึ่งมีความสำคัญในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อพื้นบ้านเมื่อมีงานมงคลหรืออวมงคล เจ้าภาพต้องไปว่าจ้างมาจากราชบุรีหรือสุพรรณบุรี เพราะมอญบางกระดี่ไม่มีวงปี่พาทย์ประจำหมู่บ้าน (หน้า 43) หรือในทางนาฏศิลป์ เช่น การรำมอญซึ่งเริ่มจะเลือนหายไปจากบางกะดี่ จึงมีการส่งคนไปต่อท่ารำจากปทุมธานี และนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจในหมู่บ้าน ด้านเพลงพื้นบ้าน เช่น ทะแยมอญ ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงร้องโต้ตอบกัน พร้อมกับร่ายรำ วงทะแยมอญที่มีชื่อเสียง คือ คณะหงส์ฟ้ารามัญ มักจะรับแสดงตามชุมชนมอญทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด (หน้า 49) ด้านการค้าขาย เช่น มะตาด พ่อค้าจากปากเกร็ด หรือราชบุรีมักนำมาขายให้มอญบางกระดี่ (หน้า 35) ส่วนการติดต่อสัมพันธ์กับคนไทยนั้น ภาครัฐเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดระบบสาธารณูปโภค ระบบการจัดการชุมชุน และการสนับสนุนประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น (หน้า 10-11)

Social Cultural and Identity Change

การที่ภาครัฐกำหนดให้เขตบางขุนเทียนเป็นเขตอุตสาหกรรม ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสังคมมอญบางกระดี่ เช่น การเปลี่ยนอาชีพจาก การจับสัตว์น้ำ เย็บจาก ตัดฟืน ไปเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม คนที่มีพื้นที่การเกษตรขาย หรือให้เช่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรม และบ้านจัดสรร การซื้อของแทนการลงมือทำเอง ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น การทำงานนอกชุมชนทำให้มีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม เป็นต้น (หน้า 10-11)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่แสดงพื้นที่เขตบางขุนเทียน (หน้า 8) ภาพบ้านมอญบางกระดี่ (หน้า 28) ภาพทะแยมอญ มอญรำ (หน้า 53) ภาพเครื่องดนตรีประกอบการเล่นทะแยมอญ (หน้า 54) เสาผี(หน้า 58) ภาพกระบุงผี มะพร้าวห้าวโพกผ้า กระบอกน้ำ ผ้าผี กล่องเครื่องประดับ (หน้า 59) ภาพศาลเจ้าพ่อบางกระดี่ ศาลเจ้าแม่หัวละหาน (หน้า 61) ภาพการทรงเจ้าพ่อในเทศกาลสงกรานต์และเครื่องสังเวย(หน้า 62) ภาพพิธีซ้อนขวัญ งานโกนจุก(หน้า 69) ภาพนาคมอญ และพิธีทรงเจ้าที่ เพื่อลาบวช(หน้า 71) ภาพการกั้นประตูขบวนขันหมาก และการหลั่งน้ำทาบมือ(หน้า 73) ภาพการผูกข้อมือหลังการหลั่งน้ำทาบมือ (หน้า 73) ภาพการทำโลงศพมอญ (หน้า 77) ภาพโลงศพผู้ใหญ่และโลงศพเด็ก (หน้า 78) ภาพเชิงตะกอนเผาศพเด็ก การเผาศพผู้อ่อนอาวุโสกว่า ผู้ร่วมงานจะต้องนำฟืนไปเผาด้วย (หน้า 79) ภาพการตั้งศพและการชักศพไปเผา (หน้า 80) ภาพปี่พาทย์มอญบรรเลงในงานศพ (หน้า 81) ภาพสงกรานต์ ส่งข้าวแข่ไปให้ผู้ใหญ่ที่นับถือ (หน้า 86) นำข้าวแช่ไปทำบุญที่วัด (หน้า 87) ภาพชายสรงน้ำพระ(หน้า 88) ภาพหญิงสรงน้ำพระตามรางไปสู่พระสงฆ์ในห้องน้ำ (หน้า 89) ภาพทรงเจ้าพ่อบางกระดี่ในเทศกาลสงกรานต์ (หน้า 90) ภาพบังสกุลอัฐิบรรพบุรุษในเทศกาลสงกรานต์ (หน้า 91) ภาพการตัดบาตรดอกไม้ในเทศกาลออกพรรษา (หน้า 97) ภาพการรำผี ปะรำพิธีและโต้ง (หน้า 104) ภาพเครื่องดนตรีประกอบการรำผี (หน้า 105) ภาพกระบะเครื่องแต่งกายและเครื่องสังเวย (หน้า 106) ภาพโต้งรำอาวุธ (หน้า 107) ภาพผู้ช่วยรำเชิญเครื่องสังเวย (หน้า 108)

Text Analyst อัจฉรี ทิพย์วิเศษ Date of Report 28 ก.ค. 2548
TAG มอญ, วัฒนธรรรม, ประเพณี, พิธีกรรม, ความเชื่อ, บางกระดี่, บางขุนเทียน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง