สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ภาษา, วัฒนธรรม, ภาษาศาสตร์, สังคมวิทยา, มานุษยวิทยา, วรรณคดีวิจารณ์, เงาะป่า, ซาไก, พัทลุง, สตูล, ยะลา, ภาคใต้, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Author เฉลิม มากนวล
Title ภาษาเงาะป่า: ศึกษาลักษณะวัฒนธรรมและภาษา
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text -
Ethnic Identity มานิ มานิค โอรังอัสลี อัสลี จาไฮ, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา Total Pages 126 Year 2547
Source วิทยานิพนธ์ การศึกษามหาบัณฑิต (ภาษาและวรรณคดีไทย) มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
Abstract

การศึกษาวิจัยนี้ มุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับเงาะป่า 3 ด้าน คือ ด้านภาษาวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ ด้านวัฒนธรรมวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สองประเด็นนี้ใช้แหล่งข้อมูลจากเงาะป่า ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง สตูล และยะลา เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ ส่วนด้านวรรณคดี วิเคราะห์โดยใช้แนวคิดวรรณคดีวิจารณ์ ใช้แหล่งข้อมูลจากวรรณคดีเรื่องเงาะป่า บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ผลการศึกษาพบว่า ด้านภาษา เงาะป่ามีแต่ภาษาพูดเท่านั้น หน่วยเสียงมี 2 ชนิด ประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะ 22 หน่วยเสียง และหน่วยเสียงสระ 20 เสียง คำในภาษาเงาะป่าส่วนมากเป็นคำประสม มีคำยืมจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษามลายู ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ และมีการปนภาษามาเป็นระยะเวลานาน (น.99)
ด้านวัฒนธรรม เงาะป่าดำรงชีวิตโดยการล่าสัตว์และเก็บอาหาร รู้จักการประดิษฐ์อาวุธ การใช้สมุนไพรสำหรับรักษาโรคและการคุมกำเนิด มีชีวิตเรียบง่าย สันโดษ ไม่รู้จักคุณค่าของเงิน มีการผสมผสานวัฒนธรรมกับชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม (น.98)
ด้านวรรณคดี ภาษาเงาะป่าในบทพระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่ตรงกับภาษาเงาะป่าปัจจุบัน อาจมีเปลี่ยนแปลงบ้างตามกาลสมัย (น.100)

Focus

          ศึกษาค้นคว้าลักษณะภาษาและวัฒนธรรมของเงาะป่า และภาษาเงาะป่าที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องเงาะป่า บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 วิเคราะห์ภาษาโดยใช้ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ วิเคราะห์วัฒนธรรมโดยใช้ทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และวิเคราะห์วรรณคดีโดยใช้ทฤษฎีวรรณคดีวิเคราะห์และวรรณคดีวิจารณ์ 

          ทั้งนี้ ผู้วิจัยเลือกใช้คำว่า “เงาะป่า” ทั้งในความหมายที่เกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรม (น. 2-3) เช่น เรียกภาษาของชาวมันนิ ว่า ภาษาเงาะป่า หรือเรียกเงาะป่า ที่เป็นตัวละครในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และความหมายที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ (น.3) เช่น ชาวเงาะป่าที่ผู้วิจัยสัมภาษณ์ เป็นต้น

          ผู้วิจัย เลือกใช้คำ “เงาะป่า” ตลอดทั้งงานวิจัย โดยที่ทราบคำอื่นที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้แล้ว เช่น ก็อย หรือ ซาไก (น.7)

Theoretical Issues

     การศึกษานี้ ต้องการศึกษาเปรียบเทียบภาษาและวัฒนธรรมที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องเงาะป่า โดยใช้ข้อมูลทางภาษาและวัฒนธรรม ที่ได้จากการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์มาเปรียบเทียบ เพื่อให้มีแนวทางการวิจัยชัดเจนยิ่งขึ้น จึงใช้ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ เช่น หน่วยเสียง หน่วยคำ และประโยค สำหรับเก็บข้อมูลภาษา และใช้ทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ส่วนวรรณคดีใช้ทฤษฎีทางวรรณคดีวิเคราะห์และวรรณคดีวิจารณ์ จากนั้นอภิปรายและสรุปผลโดยการพรรณนา (น.5)

Ethnic Group in the Focus

     กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ ปรากฏชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น ก็อย ซาแก เซมัง สินอย โอรังอัสลี ส่วนชาวเงาะป่า เรียกตนเองว่า มันนิ (น. 17 – 18) เป็นมนุษย์เผ่าหนึ่งในตระกูลเนกริโต (Negrito) เป็นกลุ่มย่อยของเชื้อชาติเนกรอยด์ (Negroids) เป็นกลุ่มที่ไม่มีที่อยู่อาศัยถาวร ดำรงชีวิตตามอัตภาพ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ (น.16)

Language and Linguistic Affiliations

          ภาษาเงาะป่า เป็นภาษานิกริโตโปรลิเนเซียน (NegritoPolynesian) กลุ่มภาษาปาปวน ซึ่งเป็นภาษาชาวเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค   ภาษาเงาะป่ามีภาษาย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม ตามเขตพื้นที่ของบริเวณเทือกเขาบรรทัด เรียกชื่อตามชื่อกลุ่มย่อยชาติพันธุ์ ได้แก่
1) ภาษาแต็นแอ็น อยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด ครอบคลุมจังหวัดพัทลุง สตูล และตรัง
2) ภาษาแตเดะ อยู่บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี เขตจังหวัดนราธิวาส
3) ภาษายะฮาย อยู่บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ครอบคลุมจังหวัดยะลาและนราธิวาส
4) ภาษากันซิว อยู่ในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ทั้งนี้ ผู้วิจัยกล่าวว่า กันซิว มี 2 กลุ่มย่อย คือ  กันซิวฮาต๊อก อยู่ในเขตประเทศมาเลเซีย และกันซิวมาแบ คือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา (น. 37 – 39)
         
          ทั้งนี้ ผู้วิจัยเลือกศึกษาภาษาเงาะป่าตามทิ่สืบค้นวิทยากรได้ มี 2 กลุ่ม คือ ภาษากันซิว จากอำเภอธารโต จังหวัดยะลา และภาษาแต็นแอ็น จากจังหวัดพัทลุงและสตูล

          ลักษณะสำคัญของภาษาเงาะป่า เป็นภาษาคำโดดผสมกับคำติดต่อ มีการยืมคำจากภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนการออกเสียงจะออกเสียงพยางค์ท้ายชัดเจน และพบคำควบกล้ำน้อยมาก การเรียงประโยคเป็นระบบ ประธาน กริยา กรรม เช่น นะจิ๊กาเบอะ หมายถึง แม่กินผลไม้ เป็นต้น (น. 64 – 66)

          ภาษาเงาะป่า มีระบบเสียงภาษาประกอบด้วยระบบเสียงพยัญชนะและเสียงสระ ประสมกันเป็นคำ สำหรับหน่วยเสียงพยัญชนะ เป็นหน่วยเสียงพยัญชนะต้น 22 หน่วยเสียง และหน่วยเสียงพยัญชนะท้าย 8 เสียง ส่วนหน่วยเสียงสระ เป็นหน่วยเสียงสระแท้ 18 หน่วยเสียง และหน่วยเสียงสระประสม 2 เสียง (น. 40 – 41)

รายการ จำนวน หน่วยเสียง
เสียงพยัญชนะต้น 22 /p/ /ph/ /t/ /th/ /k/ /kh/ /c/ /ch/ /ʔ/ /g/ /b/ /d/ /f/ /s/ /h/ /m/ /n/ /ŋ/ /l/ /r/ /y/ /w/
เสียงพยัญชนะท้าย 8
(2)
/-k/ /-t/ /-p/ /-ŋ/ /-n/ /-m/ /-y/ /-w/
/-s/* /-h/*
เสียงพยัญชนะควบ 2 /kr-/ /phl-/
เสียงสระแท้ 18 /i/ /i:/ /ɤ/ /ɤ:/ /u/ /u:/ /e/ /e:/ /ә/ /ә:/ /o/ /o:/ /ɛ/ /ɛ:/ /a/ /a:/ /ɔ/ /ɔ:/
เสียงสระประสม 2 /ia/ /ua/
 
(ผู้บันทึกข้อมูล ใช้สัทอักษรตามระบบ IPA)
          * ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า มีเสียงพยัญชนะดังกล่าวเติมท้ายพยางค์

ตัวอย่างคำภาษาเงาะป่า
อักษรไทยมาตรฐาน สัทอักษร ความหมาย ที่มา
ยะลา พัทลุง สตูล วรรณคดี คำยืม แหล่งอื่น  
ปันเกาะ /pankɔʔ/ คางคก P            
เพา /phaw/ รอ, คอย   P          
บาดอน* /ba:dɔ:n/ ผู้หญิง P P P        
ตาเอาะ /ta:ʔɔʔ/ เสือ P P          
แล็กกะเทาะ /lɛkkathɔʔ/ มดแดง   P       ตรัง**  
ปาดาว /pa:da:w/ ผึ้ง P            
ไกพ็อก /kayphɔk/ ชายพก       P      
มังคุด /maŋkhut/ มังคุด         มลายู-ไทย    
เฆา /gaw/ หมู   P          
อเวย์ /awe:y/ ต้นหวาย P   P P      
ฟาเลียก /fa:liak/ สีฟ้า   P          
ปะจัส /pacas/ ส้ม P P P        
กาฮุ /ka:huʔ/ เรือ P            
ฮังวิช /huŋwich/*** อร่อย P            
จะเวา /cawaw/ ปลวก   P P P      
ชันชิก /chanchik/ เหงือก   P P        
ทีวี /thi:wi:/ โทรทัศน์ P       อังกฤษ    
มานุก* /ma:nuk/ ไก่เถื่อน P P P P      
มานิ /ma:niʔ/ ผ้าเช็ดหน้า P P          
บะงึด /baŋɤt/ ร้องเพลง P            
ลาแบ /la:bɛ:/ ต้นไผ่ P P P        
ระเดาะ /radɔʔ/ รักแร้ P            
ราดะ /ra:daʔ/   P P        
เรดิโอ /re:dio:/ วิทยุ P       อังกฤษ    
กาเจะ* /ka:ceʔ/ พระจันทร์ P P          
ปะยง /payoŋ/     P P      
กรา /kra:/ ลิง       P      
ผลา /phla:/ ที่วางของบนเตาไฟ         ถิ่นใต้    
เดาฮ์ /dawh/ มา (ผู้วิจัยไม่ระบุที่มา)  
มิง /miŋ/ จอมปลวก P P P        
แกแย /kɛ:yɛ:/ รำ P P          
มันนึก /mannɤk/ กระบอกบรรจุลูกดอก P P P        
มานึ /ma:nɤʔ/       P      
กาเบอะ /ka:bәʔ/ ผลไม้ P P P P      
กูฮิว /ku:hiw/ จระเข้ P            
ฮาฮวด /ha:huat/ สีดำ P            
 
(ผู้บันทึกข้อมูล ใช้ชื่อจังหวัดยะลา แทนคำว่า ธารโต เพื่อให้ข้อมูลแหล่งที่มาเป็นชื่อจังหวัดสอดคล้องกัน)
 
* ผู้วิจัยสะกดว่า บาดอล, กาเจ๊ะ, มานุค
          ** จังหวัดตรัง ไม่อยู่ในขอบเขตงานวิจัย
          *** ผู้วิจัยไม่ได้ระบุ /-ch/ เป็นเสียงพยัญชนะท้าย
         
          ในระดับคำ ภาษาเงาะป่าเป็นภาษาสาขาชวา-มลายู ส่วนใหญ่เป็นคำตั้งแต่พยางค์เดียวจนถึงสามพยางค์  (น. 59) หากมีสองพยางค์จะเน้นหนักที่พยางค์ท้าย หากมีสามพยางค์อาจเน้นหนักได้ทั้งต้นและท้ายพยางค์ และหากเป็นคำหลายพยางค์ มักออกเสียงเน้นที่พยางค์ที่สองและสี่ (น. 60)

          คำที่มาจากภาษาเงาะป่า มาจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่
1) การเลียนเสียงธรรมชาติ (น. 62)  
อักษรไทยมาตรฐาน สัทอักษร ความหมาย
เมียว /miaw/ แมว
ปะตุง /patuŋ/ กลอง
 
 
2) เสียงเด็กสอนพูด (น. 62)
อักษรไทยมาตรฐาน สัทอักษร ความหมาย
นะ, มะ /naʔ/ /maʔ/ แม่
ปะ /paʔ/ ปู่
 
 
3) ที่มาจากภาษาต่างประเทศ (น. 63 – 64)
3.1) ภาษามลายู เช่น การนับเลข คำนามที่ใช้เรียกสัตว์ สิ่งของ หรือดวงดาว (น. 63)
ภาษามลายู สัทอักษร ความหมาย
ซาตู /sa:tu:/ หนึ่ง
ดูวอ /du:wɔ:/ สอง
ตาโกะ /ta:koʔ/ เสือ
ปีนัง /pi:naŋ/ หมาก
นาซิ /na:siʔ/ ข้าว
ปะยง /payoŋ/ พระจันทร์
 
 
3.2) ภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ เงาะป่า สัทอักษร ความหมาย
Cartoon กาตัน /ka:tan/ การ์ตูน
School สกูลาฮ์ /saku:lah/ โรงเรียน
Coffee กอพี /kɔ:pi:/ กาแฟ
Camera แคมเมอรา /khɛ:mmera:/ กล้องถ่ายรูป
Ticket ติกเกะ /tikkeʔ/ ตั๋ว
Telephone ตาลิโปน /ta:lipo:n/ โทรศัพท์
 
 
3.3) ภาษาไทยถิ่นใต้
ถิ่นใต้ เงาะป่า สัทอักษร ความหมาย
โตนด โตนด /tano:t/ ต้นตาลโตนด
แจ็ดหมูน แจ็ดหมูน /cɛtmu:n/ บอระเพ็ด
 
 
3.4) ภาษาจีน
ภาษาจีน เงาะป่า สัทอักษร ความหมาย
หมี่ หมี่ /mi:/ บะหมี่
กุลี กุลี /kuli:/ กรรมกร
 
         
โครงสร้างประโยค เป็นโครงสร้างแบบ SVO (ประธาน กริยา กรรม) เช่น
อักษรไทยมาตรฐาน สัทอักษร ความหมาย
นะ จิ กาเบอะ /naʔ ciʔka:bәʔ/ แม่ กิน ผลไม้
เอย์ ฮะลู บิลา /e:y halu: bila:/ พ่อ เป่า ลูกดอก
 
 

Study Period (Data Collection)

ระยะที่ 1 เวลา 3 วัน คือ
1) วันที่ 22 กรกฎาคม 2526 สำรวจสถานที่และวิทยากร จังหวัดยะลา และจังหวัดพัทลุง
2) วันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2526 เก็บข้อมูลจากการสัมมนาของชาวบ้านจากจังหวัดยะลา พัทลุงและสตูล

ระยะแรก พ.ศ. 2526  ผู้วิจัยแบ่งการวิจัยในระยะแรกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก สำรวจสถานที่และวิทยากร ในพื้นที่จังหวัดยะลา และจังหวัดพัทลุง ส่วนช่วงที่สอง ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากการสัมมนาของชาวบ้านที่มาจากจังหวัดยะลา พัทลุงและสตูล แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มวัฒนธรรมของเงาะป่า 2) กลุ่มภาษาเงาะป่าในปัจจุบัน และ 3) กลุ่มภาษาเงาะป่าในวรรณคดีเรื่องเงาะป่า (น.5-6)


ระยะที่ 2 เวลา 3 วัน คือ
1) วันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2545 เก็บข้อมูลเพิ่มเติม พื้นที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
 2) และ 27 ตุลาคม 2545 เก็บข้อมูลเพิ่มเติม พื้นที่อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง
รวมระยะเวลา 6 วัน ระยะเวลาจากวันสุดท้ายของระยะที่ 1 จนถึงวันแรกของระยะที่ 2 ห่างกันประมาณ 19 ปี (น.6 – 7)   

ระยะที่สอง พ.ศ. 2545
ผู้วิจัยแบ่งการวิจัยในระยะแรกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ผู้วิจัยเดินทางไปเก็บข้อมูลที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ส่วนช่วงที่สอง ผู้วิจัยเดินทางไปเก็บข้อมูลที่อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง (น.6)

History of the Group and Community

          ชาวเงาะป่า มีชีวิตอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายูมาตั้งแต่สมัยหินกลาง ปัจจุบันในภาคใต้ของไทยมีชาวเงาะป่าเหลือจำนวนน้อย กระจายถิ่นฐานอยู่ในป่าดิบชื้น บริเวณจังหวัดตรัง สตูล พัทลุง ยะลา นราธิวาส มีจำนวนประมาณ 200 (พ.ศ. 2521) แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามกลุ่มภาษา ได้แก่
          1) กลุ่มที่ใช้ภาษาแต็นแอ็น อยู่บริเวณจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล จำนวนประมาณ 70 คน
          2) กลุ่มที่ใช้ภาษาแตเดะ อยู่บริเวณอำเภอระแงะและอำเภอตันหยงมัส จังหวัดนราธิวาส จำนวนประมาณ 40 คน
          3) กลุ่มที่ใช้ภาษายะฮาย อยู่บริเวณอำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส จำนวนประมาณ             30 คน
          4) กลุ่มที่ใช้ภาษากันชิว อยู่ที่หมู่ 3 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา จำนวนประมาณ 60 คน (น.18)
         
          ใน 4 กลุ่มนี้ มีเพียงกลุ่มที่ใช้ภาษากันชิวที่มีที่อยู่อาศัยแน่นอน เนื่องจากทางราชการได้จัดสรรที่ดินทำกินบริเวณบ้านแหร เมื่อปี พ.ศ. 2506 แต่เงาะป่าอพยพกลับเข้าป่าเพราะทางราชการไม่ได้บังคับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ทางราชการจึงบังคับให้กลับเข้ามาอยู่ใหม่ จำนวนประมาณ 60 คน และประชากรมีแนวโน้มลดลง ในปี พ.ศ. 2538 มีจำนวน 52 คน และในปี พ.ศ. 2545 มีจำนวน 34 คน (น.19)

Settlement Pattern

          การตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย ชาวเงาะป่าจะเลือกบริเวณที่เป็นเนิน เป็นเขา มีแหล่งน้ำ เช่น ลำธารหรือน้ำตก อยู่ใกล้ ๆ เนื่องจากอาศัยน้ำจากแหล่งธรรมชาติ และต้องมีอาหารการกินสมบูรณ์ เช่น มีสัตว์ป่า มีเผือกหรือมันสำหรับประกอบอาหาร และมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ (น. 21)

          ลักษณะบ้านเรือน ชาวเงาะป่าเรียกว่า “เดิง” ลักษณะแบบเพิงหมาแหงน ใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก ใช้เถาวัลย์เป็นเชือก หลังคามุงด้วยใบไม้หรือสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น ใบตองหรือใบปุด เพราะมีขนาดใบกว้างและหาง่าย เป็นเพิงมีฝากั้นฝาเดียว อีกด้านหนึ่งจะก่อไฟไว้ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มความอบอุ่น และให้แสงสว่างในเวลากลางคืน อีกทั้งช่วยป้องกันผีเนื่องจากชาวเงาะป่ากลัวผีมาก และเชื่อว่าผีอยู่ในที่มืดทุกแห่ง

          ภายในเพิง มีแคร่ยกสูงจากพื้น กว้างประมาณหนึ่งศอก ถ้าไม่ยกพื้นอาจใช้ไม้ไผ่หรือต้นปุดเรียงบนพื้น สำหรับเป็นที่นอน เพิงหลังหนึ่งสำหรับอาศัยได้หนึ่งคน โดยจะแยกไปอยู่ตั้งแต่อายุประมาณ 12 – 15 ปี แต่จะปลูกเพิงใกล้พื้นที่ของพ่อแม่ หากเป็นเพิงของครอบครัวจะมีพื้นที่กว้างขึ้น และมีแคร่สองแคร่

          ต่อมา ชาวเงาะป่าได้สร้างบ้านขนาดเล็กเรียกว่า ซาโอะ เป็นบ้านยกพื้นมีเสาสี่เสา มีบันไดทำด้วยฟากไม้ทุบแล้วแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ ขัดแตะหลังคาด้วยมุงจาก ส่วนในระยะหลังมีบ้านลักษณะเดียวกับชาวบ้านทั่วไป ตามแบบที่ทางราชการจัดทำให้ (น.22)

Demography

          จำนวนประชากร เฉพาะในพื้นที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
          พ.ศ. 2516 จำนวนประมาณ 60 คน
          พ.ศ. 2538 จำนวน 52 คน 12 ครัวเรือน เป็นชาย 30 คน หญิง 22 คน
          พ.ศ. 2541 จำนวน 54 คน เป็นชาย 31 คน หญิง 23 คน
          พ.ศ. 2545 จำนวน 34 คน 6 ครัวเรือน เป็นชาย 18 คน หญิง 16 คน

          ประชากรเงาะป่าที่ตั้งถิ่นฐานมีเพียงที่อำเภอธารโตเท่านั้น ส่วนการสำมะโนประชากรเงาะป่าใน กลุ่มอื่น ๆ ทำได้ยาก เนื่องจากอาศัยอยู่ในป่า มีการเปลี่ยนถ่ายประชากรระหว่างกลุ่ม และมีการเกิดการตายจากการเดินทางไปมาระหว่างผืนป่าในเขตประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย (น. 18-19)

Economy

          ชาวเงาะป่าเดิมไม่มีอาชีพที่แน่นอน แต่เมื่อตั้งถิ่นฐานแล้ว จึงเริ่มอาชีพทำสวนยาง รับจ้างถางป่า ขายของป่า หรือขายยาสมุนไพร ชาวเงาะป่าไม่เห็นความสำคัญของเงิน จึงไม่มุ่งเน้นหรือแสวงหาการสะสมใด ๆ (น. 25)

Social Organization

          ครอบครัวของเงาะป่าเป็นครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) แต่มีบ้างที่ผู้ชายจะมีภรรยาหลายคน ส่วนสังคมของเงาะป่าประกอบขึ้นครอบครัวหลายครอบครัวรวมกันเพื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จำนวนตั้งแต่ 20 – 50 คน มีหัวหน้ากลุ่มดูแลความเป็นอยู่ การแต่งงาน และการรับสมาชิกใหม่ ไปจนถึงการอพยพถิ่นฐาน (น. 29)

Political Organization

          การปกครองของเงาะป่า เดิมเป็นการปกครองในกลุ่มตนเอง มีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ปกครอง (น.29) ต่อมามีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการดำรงชีวิตแบบไม่มีที่อยู่อาศัยถาวร ไปสู่การมีที่อยู่อาศัยถาวร โดยราชการสนับสนุนให้กลุ่มที่อาศัยในพื้นที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลามา ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่ทางราชการจัดเตรียมให้ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 (น.19) ทำให้เปลี่ยนกระบวนการปกครองมาขึ้นกับหน่วยงานรัฐบาล

Belief System

          ชาวเงาะป่ามีความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก สามารถจัดประเภทได้ดังต่อไปนี้
          1) ความเชื่อเรื่องโชคลาง (น. 32)
                   - หากเดินเข้าป่าแล้วเกิดอาการขนลุกใจสั่น แสดงว่ามีเจ้าที่แรง ห้ามทำร้ายสัตว์หรือตั้งบ้านเรือนบริเวณนั้น หากทำร้ายสัตว์ชนิดใดจะตายเพราะสัตว์ชนิดนั้น หรือผีเจ้าที่จะลงโทษถึงตาย
                   - ถ้าเข้าป่า ต้องการสัตว์แบบใดให้พูดขอว่าอยากได้สัตว์สิ่งนั้น จะสมปรารถนา
                   - ถ้าเข้าป่า ห้ามพูดถึงสัตว์ดุร้าย
                   - ถ้ามีคนมาขอลูก ถือว่าเป็นลางไม่ดี จะอพยพย้ายถิ่นทันที
          2) ความเชื่อเรื่องความฝัน (น. 33)
                   - ถ้าฝันเห็นดวงจันทร์หรืองู จะพบเนื้อคู่
                   - ถ้าฝันเห็นสัตว์ชนิดใดก่อนล่าสัตว์ จะได้สัตว์นั้น ๆ
          3) ความเชื่อเรื่องผี วิญญาณ (น. 33)
                   - เชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วมีวิญญาณเหลืออยู่ จะมาคอยหลอกหลอน เมื่อฝังศพแล้วจะย้ายที่อยู่ทันที
                   - เชื่อว่าในต้นไม้มีผีสิง เพราะเชื่อว่าเมื่อฝังศพหมอผีจะเชิญวิญญาณไปอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่
                   - เชื่อว่าสัตว์เดินดินทุกชนิดมีจิตอาฆาตรุนแรง เมื่อฆ่าแล้วต้องทำพิธีถอนรังควาน
          4) ความเชื่อเรื่องสุขภาพ (น. 33)
                   - หญิงมีครรภ์ ห้ามรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ลูกเนียง สะตอ กล้วยหิน  
          5) ความเชื่อเรื่องเวทย์มนตร์คาถา (น. 33)
                   - ใช้คาถาบรรเทาการเจ็บป่วย
                   - ใช้คาถาเสกลงบนครรภ์มารดาเพื่อให้คลอดง่าย
          6) ความเชื่อเรื่องสัญลักษณ์ (น. 34)
                   สัญลักษณ์ใช้เกี่ยวกับความรักระหว่างชายหญิง แต่ไม่ระบุว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นลักษณะใด (เช่น รอยสัก ภาพวาด หรืองานประดิษฐ์) ความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ใช้ตามที่พบเห็นในธรรมชาติ เช่น
                   - ดอกจำปูน หมายถึง ผู้ชาย ดอกฮาปอง หมายถึง ผู้หญิง
                   - เล็บเสือ หมายถึง ความดุร้าย
                   - ใบไก่เถื่อน หมายถึง การพาหนี
                   - ปักกำ หมายถึง เขตห้ามเข้า (เป็นพื้นที่มีเพศสัมพันธ์)
                   - หวีประดับผม หมายถึง สาวที่ยังไม่แต่งงาน ใช้เป็นเครื่องประดับ
          7) ความเชื่อเรื่องพรหมจรรย์ (น. 34)
                   - ต้องมีผัวเดียวเมียเดียว
                   - ห้ามหญิงชายล่วงเกินกันก่อนแต่งงาน
                   - ห้ามหญิงชายถูกเนื้อต้องตัวกัน
          8) ความเชื่อเรื่องการนอน (น. 34)
                   - เท้าสำคัญกว่าศีรษะ เวลานอนจะวางเท้าบนแคร่เข้าไปในทับ (บ้าน) แล้วหันศีรษะออก
                   - ไม่นอนหงาย จะนอนตะแคงเพื่อการระวังตัว

Education and Socialization

          การศึกษาของชาวเงาะป่าเป็นการศึกษาจากพ่อสู่ลูกชาย ทั้งนี้ ผู้วิจัยไม่ได้ระบุหน้าที่หรือการศึกษาของแม่สู่ลูกสาว ในสังคมชาวเงาะป่า ไม่มีระบบโรงเรียน เนื้อหาที่สอน เช่น การเดินป่า การล่าสัตว์ การทำอาวุธ การสะกดรอยเท้า การหลบหลีกอันตรายในป่า การสังเกตลักษณะพื้นที่ป่า ตลอดจนการปรับตัวและการดำรงชีพในป่า ภายหลังเมื่อตั้งถิ่นฐาน จึงเข้ารับการศึกษาตามระบบและมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี (น. 28)

Health and Medicine

          ชาวเงาะป่าให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยน้อย รักษาโดยใช้สมุนไพรเป็นหลัก ส่วนใหญ่เมื่อเจ็บป่วยมักเป็นโรคไม่รุนแรง เช่น ไข้ ไม่ปรากฏโรคร้ายแรง (น. 26)

          ชาวเงาะป่าจะมีหมอประจำกลุ่ม 1 – 2 คน คือ หมอผู้หญิงมีหน้าที่ทำคลอด เรียกว่า โต๊ะบิดัน ส่วนหมอผู้ชายมีหน้าที่รักษาโรคทั่วไป บางครั้งอาจมีคนเดียว จะเป็นเพศใดก็ได้

          ส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของผีและเชื้อโรค หมอจะรักษาด้วยคาถา เรียกวิธีนี้ว่า ซาโฮส  การทำซาโฮส จะใช้หมากพลู 4 คำ เคี้ยวแล้วพ่นตรงส่วนที่เจ็บป่วย โดยมีความหมายว่า
          คำที่ 1 คือ การเฮิบ แปลว่า ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งป่า
          คำที่ 2 คือ บาตุ๊ แปลว่า ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งก้อนหิน
          คำที่ 3 คือ อีฮุ แปลว่า ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งต้นไม้ใหญ่
          คำที่ 4 คือ กาเยอะติเอะ แปลว่า ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดิน
          หมากพลูทั้ง 4 คำ หมอจะเคี้ยวพร้อมกันจนแหลกแล้วพ่น 3 ครั้ง ก่อนพ่นจะเสกคาถาว่า “ปะลัก เอว อะเบ็ด” เมื่อทำซาโฮสแล้ว จึงจะจัดยารักษาต่อไป (น.27)

          เมื่อตั้งถิ่นฐานแล้ว พบโรคสมัยใหม่ในกลุ่ม เช่น โรคผิวหนัง โรคพิษสุราเรื้อรัง จนถึงเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งไม่เคยปรากฏในกลุ่มมาก่อน (น.27) ผู้บันทึกเห็นว่า อาจเกิดจากการเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตมาเป็นแบบมีที่อยู่อาศัยถาวร แต่การบริโภคและการรักษาสุขอนามัยยังคงเดิม ไม่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดโรคดังกล่าว
         
          ชาวเงาะป่ามียาสมุนไพรต่าง ๆ มีสรรพคุณหลายชนิด ได้แก่         
          ยาคุมกำเนิด เรียกว่า อัมม์ ผู้หญิงใช้แทะหรือรับประทานกับหมากก็ได้ สามารถหยุดรับประทานได้หากต้องการมีลูก แต่หากใช้ต่อเนื่องอาจทำให้เป็นหมัน
          ยาให้มีลูก มี 2 ขนานรับประทานควบคู่กัน คือ ขนานแรก เรียกว่า มักม็อก ใช้ต้ม ผู้หญิงดื่มยาหรือแทะก็ได้ เมื่อมีระดู เมื่อระดูหมดแล้วจึงรับประทานยาขนานที่ 2 คือ ยังอ็อน รับประทานทั้งสามีและภรรยา ยานี้ใช้ต้มน้ำรับประทาน
          ยาเสริมพลังเพศ เรียกว่า ตาง็อต ใช้แทะหรือดองกับสุรา
          ยาแก้ปวดเมื่อย เรียกว่า เลอะเคอะ ใช้ต้มน้ำนวดบริเวณที่ปวดเมื่อย เชื่อว่าใช้รักษาโรคอัมพาตได้
          ยาแก้เจ็บเส้น เรียบว่า ลีวู ใช้ต้มน้ำรับประทาน (น.26)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

          ชาวเงาะป่าสมัยก่อนนุ่งเปลือกไม้ ใบไม้ และตะใคร่น้ำ สำหรับตะใคร่น้ำใช้ผึ่งแดดให้แห้งแล้วถักเป็นเครื่องนุ่งห่ม ผู้หญิงจะนุ่งยาวประมาณหัวเข่าหรือครึ่งน่อง ใช้ผ้าคาดอกหรือเปลือยอก ผู้ชายนุ่งสั้นแค่เข่า หรือเปลือยท่อนบน ส่วนเด็กไม่สวมเสื้อผ้า

          ภายหลังเมื่อมีผ้าแบบสมัยใหม่ จะไม่นุ่งแบบชาวบ้าน แต่จะฉีกผ้าออกเป็นขนาดประมาณผ่ามือ ผู้ชายนุ่งผ้าคาบหว่างขาแล้วกระหวัดขึ้นมาพันไว้ที่เอว ส่วนผู้หญิงนุ่งแบบเดียวกับผู้ชาย แต่มีผ้าหรือใบไม้ทับรอบเอวยาวประมาณเข่าหรือครึ่งน่องอีกชั้นหนึ่ง แล้วมีผ้าคาดอกหรือเปลือยอกเช่นเดียวกับผู้ชาย (น. 22)

          ส่วนเงาะป่าปัจจุบันนี้ แต่งกายเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป (น. 23)

Folklore

ไม่มี

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          เงาะป่า เป็นมนุษย์กลุ่มหนึ่งในตระกูลเนกริโต (Negrito) เป็นกลุ่มย่อยของเชื้อชาติเนกรอยด์ (Negroids) สำหรับกลุ่มในประเทศไทย เงาะป่ามีวิถีชีวิตใกล้เคียงกัน (ยกเว้นที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา) เป็นสังคมล่าสัตว์และเก็บอาหาร รู้จักใช้ไฟในการประกอบอาหาร แต่ไม่รู้จักการเพาะปลูก ด้านงานหัตถกรรมมีเพียงการแกะสลักเป็นลายเส้นรูปทรงเรขาคณิตลงบนผิวไม้สำหรับทำเครื่องประดับ ส่วนภาษามีเพียงภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน นอกจากนี้ยังรู้จักการใช้อาวุธล่าสัตว์ เช่น ไม้ซางและลูกดอก รู้จักการใช้พิษ (น. 16 – 17)

Critic Issues

          ค่านิยมของชาวเงาะป่า ผู้วิจัยกล่าวถึงค่านิยมของเงาะป่า โดยแบ่งเป็นค่านิยมที่ควรยกย่องและค่านิยมที่ควรแก้ไข ดังนี้ (น. 35)
          ค่านิยมที่ควรยกย่อง
          1) มีวิถีชีวิตเรียบง่าย สันโดษ ดำรงชีพแบบพออยู่พอกินตามปัจจัยสี่
          2) ระบบครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว อยู่ครองคู่จนกว่าอีกฝ่ายจะเสียชีวิตก่อน
          3) ถือคติพรหมจรรย์ โดยเฉพาะระหว่างชายหญิงวัยรุ่น
          4) มีความกตัญญู
          ค่านิยมที่ควรแก้ไข
          1) มีวิถีชีวิตตามอัตภาพ ไม่นิยมการทำงาน หรือการออมทรัพย์
         2) ขาดความเข้าใจในการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น การใช้สุขา

Other Issues

          ภาษาเงาะป่าที่ปรากฏในบทพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า สอดคล้องกับภาษาเงาะป่าที่ใช้ในปัจจุบัน             อาจมีการออกเสียงแตกต่างบ้างตามระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

Text Analyst นิกร สังขศิริ Date of Report 15 ม.ค. 2564
TAG ภาษา, วัฒนธรรม, ภาษาศาสตร์, สังคมวิทยา, มานุษยวิทยา, วรรณคดีวิจารณ์, เงาะป่า, ซาไก, พัทลุง, สตูล, ยะลา, ภาคใต้, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง