สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject คาเร็นนี,กะเหรี่ยง,ผู้ลี้ภัย,แม่ฮ่องสอน,พม่า,คะยา,ชาวคะยา,พลัดถิ่น,กะเรนนี,คะยาห์,กะเหรี่ยงแดง
Author บัณฑิต ไกรวิจิตร
Title ชีวิตพลัดถิ่น : คนคาเร็นนีที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity กะแย กะยา บเว, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางของประเทศไทย
[เอกสารฉบับเต็ม]
Total Pages 141 Year 2549
Source วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Abstract

คนคาเร็นลี้ภัยจากสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนพลัดถิ่นประเทศไทย อยู่อาศัยหลายปี ไม่สามารถกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดและต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อาศัยอยู่ท่ามกลางความรู้สึกแปลกแยก เนื่องจากการจากถิ่นมาอย่างยาวนาน และอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างคนต่างถิ่น มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้อื่นปและอยู่อย่างผู้อพยพ ทำให้พวกเขาเกิดความลักลั่น สับสนในการดำรงอยู่ ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันและไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของชาติคาเร็นที่สร้างขึ้นได้มาจนถึงปัจจุบัน

Focus

การศึกษาวิจัยต้องการทราบ และเข้าใจความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเข้าไปพักอาศัยในค่ายลี้ภัยของคนคาเร็นนี ว่าพวกเขามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนพลัดถิ่น ความขัดแย้ง และอิหลักอิเหลื่อ อย่างไร ภายใต้การอาศัยอยู่ท่ามกลางความแตกต่างนั้นที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกพวกเขา พวกเรา ชาวคาเร็นนีมีการสร้างเครื่องมือในการสร้างบ้านที่หมายถึงชาติในชุมชนพลัดถิ่นอย่างไรบ้าง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านในประวัติศาสตร์ หรือชาติคาเร็นนี และบ้านที่อาศัยอยู่จริง

Theoretical Issues

แนวคิดอัตลักษณ์ (Identity) พลัดถิ่น Hall ได้อธิบายถึงแนวคิดและการดำรงอยู่ของคนพลัดถิ่น โดยกล่าวถึงอัตลักษณ์ที่อยู่บนความแตกต่างจากคนในสังคม ถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบ (Marginalizaed) ไม่มีสิทธิ ความสำคัญ ณ พื้นที่อาศัยอยู่ (น.17) อัตลักษณ์ของคนพลัดถิ่นที่เกิดจากความไม่มั่นคง ท่ามกลางความแตกต่างและรู้สึกเป็นอื่น เรื่องอัตลักษณ์ของคนพลัดถิ่นจึงมีความซับซ้อน (น. 20) การอยู่อย่างกระจัดกระจายหรือรวมเป็นกลุ่มอย่างหลวมๆ มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า พื้นที่พลัดถิ่น และสร้างให้เกิด ชนกลุ่มน้อย/ชนกลุ่มใหญ่ บนความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งภายในคนหนึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งชนกลุ่มน้อยและชนกลุ่มใหญ่ในช่วงเวลาเดียวกัน (น. 20) ความสัมพันธ์ ณ ท้องถิ่นที่พวกเขาเข้าไปอยู่อาศัยเป็นความสัมพันธ์ในการสร้างอัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับชายแดน ถึงแม้พวกเขาได้ข้ามพรมแดนรัฐชาติ และพยายามกลืนเข้าไปสู่สังคมใหม่ ด้วยอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้นแล้ว แต่ความเป็นคนชายขอบ/ชายแดนที่ถูกฝังรากลึกอยู่กับผู้ย้ายข้ามไม่เคยหายไป (น. 21)
ขณะเดียวกันงานศึกษาวิจัยเล่มนี้ได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่า และกองกำลังต่อสู้เรียกอิสระคาเร็นนี ทำให้คนคาเร็นนีต้องกระจัดกระจาย ย้ายถิ่น ลี้ภัยออกไปยังที่อื่น หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย คนคาเร็นนีได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย เกิดเป็นชุมชนพลัดถิ่น และการดำรงอยู่ต้องมีกฎระเบียบควบคุมอย่างซับซ้อน คนเร็นนีต้องเรียนรู้ในการปรับตัวหลายอย่าง เช่น การต้องมีบัตรยืนยันตนตัว หรือ Identity Card เรียนรู้ว่าตนเองมีสิทธิทำอะไรได้บ้างภายใต้พื้นที่ที่อาศัยอยู่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับพวกเขา เนื่องจากเพิ่งจะเผชิญกับเหตุการณ์เจ็บปวด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง และสูญเสีย (น. 94)

Ethnic Group in the Focus

คาเร็นนี (Karenni) คือ กลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลย่อยกลุ่มเดียวกับกลุ่มผู้ใช้ภาษากะเหรี่ยง (Karen) โดยทั่วไปคนคาเร็นนี หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ภายใต้รัฐคาเร็นนี

Language and Linguistic Affiliations

ตระกูลภาษากะเหรี่ยง กลุ่ม Cino - Tibetan

History of the Group and Community

ศตวรรษที่ 1990 รัฐบาลพม่ามีโครงการวางแผนพัฒนาพื้นที่ชายแดน สนับสนุนให้มีการดูแล ควบคุมให้เกิดความเป็นหนึ่งของชาติ โดยการย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนของประชาชนในชนบทเพื่อการพัฒนา รัฐบาลพม่าพยายามดำรงอำนาจในการเป็นผู้ออกกฎหมาย โดยไม่มีคู่แข่งจากรัฐชาติพันธุ์อื่น และลดอำนาจของคู่แข่งโดยการตัดความช่วยเหลือ และลดกำลัง เช่น การบริหารรัฐ และการกระจายทรัพยากรต่าง ๆ พยายามสร้างอุดมการณ์รัฐชาติพันธุ์ธิปไตย ผ่านวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ครอบงำชาติพันธุ์ โดยการยัดเยียดอัตลักษณ์แห่งชาติ เป็นรูปแบบเดียวกัน แม้ว่าจะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ก็ตาม ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว เกิดการสู้รบ และทำให้ประชาชนเดือนร้อน มีการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศพม่าเข้ามาประเทศไทยที่ได้จัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเข้ามา (น. 54)
กลุ่มผู้ลี้ภัยมีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้น ในการสร้างความเป็นคาเร็นนีรวม (Pan – karenni) ใช้นโยบายภายในค่ายรวมกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเป็นคาเร็นนีเดียว สำหรับการย้ายถิ่นของคาเร็นนีนั้นเกิดจากความต้องการความปลอดภัย หากเลือกได้พวกเขาจะไม่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ควบคุมที่ทหารพม่าพยายามบังคับให้เข้าไป คนคาเร็นนีได้ย้ายที่อยู่อาศัย 4 รูปแบบหลัก ดังนี้

  1. ย้ายเข้าไปภูเขา หรือป่ารอบชุมชน เพื่อเลี่ยงการถูกจัดระบบโดยรัฐ หรือความรุนแรง
  2. ย้ายถิ่นไปยังที่อื่นที่มีความเป็นศัตรูน้อยกว่า
  3. ย้ายถิ่นเข้าประเทศไทย ที่ Refugee Camp หรือที่อื่น
  4. ย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ควบคุมของรัฐ (น. 55)
เมื่อคนคาเร็นนีเข้าพักอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขามีความแตกต่างกันหลายประการ มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยในกลุ่มผู้ใช้ภาษากะเหรี่ยง พวกเขาต้องพยายามอยู่รอดให้ได้ในสถานการณ์ความอดอยาก และความรู้สึกสูญเสียบ้าน และคนที่รัก รวมถึงความกังวลกับสิ่งใหม่ที่กำลังเผชิญ (น. 27)
อย่างไรก็ตาม ภายในค่ายลี้ภัยมีการจัดระเบียบ และสถาบันรองรับผู้ลี้ภัย มีกลุ่มอำนาจทางการเมือง วัฒนธรรม และการเป็นชนชั้นนำของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจกว่าชาติพันธุ์อื่น ได้แก่ คะยาห์ และกะเหรี่ยงสกอร์ ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อยู่รวมกัน (น. 28)

Settlement Pattern

ลักษณะของชุมชนพลัดถิ่นคล้ายคลึงกับชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ แต่เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่กลางป่าติดชายแดนไทย – พม่า มีรั้วของกองทัพกะเหรี่ยงแดง หรือคาเร็นนี กับกองทัพพม่าล้อม หลังคาบ้านจะติดกัน ตั้งอยู่ในพื้นที่คับแคบ แบ่งออกเป็นหมู่บ้าน เรียกกันว่า “ป๊อก” ทั้งหมดมี 15 ป๊อก การใช้สอยพื้นที่ตามความแนวลำห้วย บ้างก็ล้นขึ้นไปบนภูเขาสูง (น. 69)

Demography

ผู้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. 1989 จำนวนผู้ลี้ภัยในปี ค.ศ. 1996 ประมาณ 5,500 กระทั่งปี ค.ศ. 1997 มีประมาณ 11,000 และปี ค.ศ. มีประมาณ 16,500 คน (น. 59)

Economy

ในชุมชนพลัดถิ่นจะมีการแจกจ่ายข้าว ปริมาณการแจกข้าวจะคำนวณเป็นรายคนแบบหยาบ ๆ นั่นคือ ผู้ใหญ่และเด็กจะได้ข้าวไม่เท่ากัน ส่วนคนที่ออกไปทำงานรับจ้างนอกชุมชนจะไม่ได้รับข้าว คนในครอบครัวจะต้องแจ้งหัวหน้าชุมชนว่ามีใครบ้างที่ออกไปทำงานนอกชุมชน หากไม่มีการแจ้งจะถูกตัดข้าวทั้งครอบครัว นอกจากนี้ ข้าวยังสามารถเปลี่ยนมูลค่าของข้าวเป็นตัวเงิน และใช้แลกเปลี่ยนข้าว หรืออาหารชนิดอื่น ๆ ที่ได้รับบริจาค เช่น ไม้ไผ่ ถั่ว ซึ่งพวกเขาสามารถนำมาทำการค้า และนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย (น. 73)
สำหรับการค้าไม้ไผ่ ทุกปีจะมีการแจกไม้ไผ่ให้กับคนในชุมชน แต่อาจจะไม่ได้รับจำนวนเพียงพอสำหรับการสร้างบ้านใหม่ หรือซ่อมแซมตัวบ้าน ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องซื้อไม้ไผ่เพิ่ม หรือนำไม้ไผ่ไปขายต่อ อาจกล่าวได้ว่า ไม้ไผ่ที่ชาวบ้านนำไปขายให้กับ NGO ก็เป็นไม้ไผ่ที่ชาวบ้านได้รับแจกจาก NGO นั่นเอง (น. 75)
ในชุมชนจะมีร้านขายของชำเล็ก ๆ โดยผู้ขายไม่ต้องลงทุนซื้อของ เพราะมีร้านขาส่งใหญ่มาก ร้านขายของชำขนาดเล็กจะรับสินค้าจากร้านใหญ่ของหมู่บ้าน สินค้ามีทุกประเภท ตั้งแต่อาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค แอลกอฮอล์ บุหรี่ เครื่องใช้ในครัวเรือน เมื่อขายได้แล้วจะนำต้นทุนไปคืนไปคืนที่ร้านใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์เพื่อขาย เช่น หมู ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงเนื่องจากราคาดีที่สุด (น. 76)
นอกจากนี้ ยังมีการรับจ้างทำงานเกษตรในหมู่บ้านไทย เป็นการทำงานแบบเช้า – เย็นไปกลับ ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูกข้าว ดำนา ดายหญ้า เกี่ยวข้าว ฯลฯ พวกเขาจะได้รับค่าจ้างแรงงานค่อนข้างถูก เฉลี่ยวันละ 50 บาท สำหรับหญิง และเด็กอาจได้น้อยกว่านี้ เป็นค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของประเทศไทยถึงสองเท่าตัว หากเทียบกับค่าแรงงานฝั่งพม่าถือว่าไม่ถูก (น. 81)

Social Organization

ลักษณะการอยู่อาศัยของแต่ละหมู่บ้าน พบว่า เป็นการอยู่แบบคละกัน ไม่มีการจำแนกว่ามาจากชุมชนใด หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใดจากพม่า หากครอบครัวที่ต้องการแยก ขยายออก จะต้องย้ายไปอยู่หมู่บ้านอื่น เนื่องจากไม่สามารถปลูกบ้านเพิ่มเติมจากบ้านหลังเดิมได้ พ่อแม่ลูกจึงมักจะแยกกันอยู่กรณีที่มีการแต่งงานแยกครอบครัวออกไป บ่อยครั้งมักพบผู้สูงอายุ ตายายอยู่ด้วยกันตามลำพัง และขาดคนคอยดูแล (น. 69)
ความเป็นอยู่ของคนเร็นนีในชุมชนพลัดถิ่นค่อนข้างอดอยาก ผู้หญิงและเด็กมักจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกแย่งอาหารจากผู้ชาย หัวหน้าชุมชนให้เหตุผลว่า ผู้ชายจำนวนมากรู้สึกไร้ค่า เนื่องจากเคยมีบทบาทในกองทัพ แต่เมื่อต้องมาอยู่ในค่ายลี้ภัย ผู้หญิงกลับมีบทบาทมากกว่าในการนำครอบครัว การหาอาหาร จัดที่พัก และหาโอกาสอื่น ๆ ผู้ชายจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ปรับตัว หรือไม่สามารถปรับตัวได้ จึงเกิดความเครียด ดื่มเหล้า ทำร้ายผู้หญิง และภรรยา หลายรายมีการข่มขืนผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ผู้ชายในชุมชนพลัดถิ่นไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด บางคนยังมีการพยายามดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงดูครอบครัว (น. 71)
 

Political Organization

ชุมชนพลัดถิ่นค่อนข้างมีความแออัด ผู้คนอาศัยเกือบสองหมื่นคน แบ่งออกเป็น 20 หมู่บ้านย่อย ๆ ไม่มีระบบการจัดการชัดเจน หรือการจำแนกว่าใคร มาจากชุมชนไหน ศาสนาอะไร เป็นการอยู่แบบคละกัน การจัดการที่อยู่อาศัยภายในชุมชนนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับลักษณะทางชาติพันธุ์ หรือความแตกต่างของการนับถือศาสนา เช่น ไม่มีหลักเกณฑ์ใด ๆ ในการนำมาใช้บริหารจัดการให้เกิดความเป็นชุมชน ทั้งนี้มีหลักการจัดการง่าย ๆ คือ การหาที่ว่างสำหรับแทรกครอบครัวที่เข้ามาใหม่ให้เข้าไปอยู่อาศัย (น. 93)

Belief System

ชาตินิยมคาเร็นนีจะมีความเป็นคริสเตียนในการดำเนินชีวิต ทำให้คาเร็นนีมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความเคารพผู้หญิง และเรื่องเพศ มีการลดธรรมเนียมเก่าแก่ เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าของหญิงคาเร็นนี คนคาเร็นนีที่เข้ามาอาศัยในชุมชนพลัดถิ่นใหม่ ยังมีการแต่งกายรูปแบบประเพณีเดิม มีการประกอบพิธีกรรมดั้งเดิม ทำให้คนในชุมชนที่อยู่มานานแล้วรู้สึกว่าเป็นวัฒนธรรมป่าเถื่อน เช่น การสะเดาะเคราะห์ด้วยการฆ่าสุนัข เหล่านี้ ทำให้คาเร็นนีที่เข้ามาใหม่ ถูกเหยียดหยามจากกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่นานแล้ว ซึ่งคนเหล่านั้น มีการสร้างให้ตนเองเป็นคนมีอารยธรรม เปลี่ยนจากการนับถือศาสนาเดิมเป็นศาสนาคริสต์ แต่งงานโดยการประกอบพิธีกรรมในโบสถ์ (น. 102)

Education and Socialization

ระบบการศึกษาของคนคาเร็นนีพลัดถิ่นถูกครอบงำโดย NGOs จากต่างประเทศ มีนโยบายมุ่งให้นักเรียนมีความรู้ตามหลักสูตรใหม่ หลักสูตรเสริมชาตินิยม และต่อต้านพม่า โดยการมุ่งส่งเด็กนักเรียน บุตรหลานของคนพลัดถิ่นไปประเทศที่สาม เช่น ออสเตรเลีย อเมริกา และที่อื่น ๆ เช่น การสอนภาษาใหม่ และกีดกันภาษาท้องถิ่นเดิม เช่น ภาษาไทย เห็นได้ว่าคนในชุมชนพลัดถิ่นคาเร็นนีที่เข้ามาอยู่นานหลายสิบปี น้อยมากที่สามารถพูดภาษาไทยได้ เพราะไม่มีการสอน และไม่ได้รับการสนับสนุน (น. 128) 

Health and Medicine

เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยจะเข้ารับการรักษาจากคลินิกชุมชน มีแพทย์ดูแลโดยรวม 1 คน ซึ่งหมุนเวียนกันเข้ามา พยาบาล 2 คน นักเทคนิคการแพทย์ 1 คน และฝึกให้คนในชุมชนเป็นเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาล จำนวนหนึ่งเคยเป็นแพทย์สนามในสนามรบฝั่งพม่ามาก่อน บางครั้งพวกเขาจะแอบเดินลัดภูเขาเพื่อไปยังโรงพยาบาลในเมือง หากไม่หายป่วย (น. 79)
คลินิกชุมชนสร้างกระจายออกไปตามหมู่บ้าน แบ่งการบริหารออกเป็น 2 ส่วน คือ จาก NGOs องค์การระหว่างประเทศควบคุมดูแลงานของแพทย์ พยาบาล นักเทคนิค ฝ่ายฝึกอบรม รวมถึงการจัดซื้ออุปกรณ์ ส่วนใหญ่จะเป็นงานเกี่ยวข้องกับภายนอก อีกส่วนถูกควบคุมจากผู้บริหารชุมชน ในการดูแลรับคนเข้ามาทำงาน ซึ่ง NGOs ไม่สามารถเข้ามาก้าวก่าย นอกจากนี้พวกเขายังมีการช่วยเหลือกลุ่มที่เดือดร้อนจากฝั่งพม่า ผู้ป่วยที่ไม่ใช่คาเร็นนี อาศัยอยู่นอกชุมชน นำเข้ามารักษาในคลินิกชุมชนพลัดถิ่น ส่วนมากเป็นชาวไทใหญ่ซึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก NGOs และการให้ความช่วยเหลือนี้เป็นไปอย่างลับ ๆ (น. 80)
 

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การแต่งกายและการดำรงอยู่ของเสื้อผ้าตามวิถีคนคาเร็นนีภายในค่ายผู้ลี้ภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน การสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของคาเร็นนีในค่ายผู้ลี้ภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อเสริมการสร้างชาติคาเร็นนี ผู้หญิงจะมีส่วนในการค้ำจุนวัฒนธรรม ประเพณีมากกว่าผู้ชาย โดยพยายามรักษารูปแบบการใช้ชีวิตของคาเร็นนีผ่านเสื้อผ้าประเพณีต่าง ๆ ตามลักษณ์ชาติพันธุ์ ทั้งนี้ผู้นำค่ายผู้ลี้ภัยได้พยายามปรับปรุงการสวมเสื้อผ้าใหม่ให้ดูเรียบร้อย มิดชิดตามคติของชาวคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาของผู้นำค่ายนับถือ เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าแบบเดียวกันของผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย เพื่อแสดงออกถึงความเป็นคาเร็นนีรวม (น. 51)
          F. K. Lehman ได้จำแนกกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่รวมตัวกันภายใต้ รัฐคาเร็นนี หรือ รัฐคะยาห์ ได้ดังนี้
          THE KEKHU GREATER PADAUNG กลุ่มที่อาศัยเป็นแนวยาวในอาณาเขตตอนเหนือของเมืองไพประเทศพม่า กระจายอยู่ทางตอนเหนือของรัฐคะยาห์เรียกตัวเองว่า Kekhong duwมีชื่อที่เรียกทั่วไปคือ La khí
          LESSER PADAUNG (ปะด่องเล็ก หรือปะด่องน้อย) บางกลุ่มอาศัยอยู่ที่ Nammékon บางส่วนอยู่ที่ประเทศไทย มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Yinbaw พวกเขาเรียกตัวเองว่า Ke Phowหรือ Keku – Paduang
          KEKHU พบว่ามีในรัฐคะยาห์อยู่เล็กน้อย แต่อยู่เป็นจำนวนมากทางตอนเหนือของตองอู และตอนกลางของเมืองตองอู เรียกตัวเองว่า Kekhu
          BRE อยู่ทางตะวันออก และทางใต้ของ Tu Chaungและตะวันตกของหมู่บ้าน Naungpalé พวกเขาจะเรียกตัวเองว่า munu
          SOUTHERN BRE อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ Kyebogyi ของรัฐคะยาห์ ส่วนใหญ่ตั้งหมู่บ้านอยู่ตีนเขาด้านหน้าของรัฐคะยาห์ ภาษาพูดคล้าย BREเรียกตัวเองว่า Preหรือ Pre Katolo
          NORTHERN BRE หมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง Kyebogyiรัฐคะยาห์ มีชื่อเรียกอย่างอื่นว่าเบรตอนเหนือ หรือเบรตอนบน
          KAYAHมีชื่อเรียกอื่นคือ Kerenniแปลว่า Red Karenในภาษาพม่า พวกเขาจะเรียกตัวเองว่า Kaýa Liy phúw หมายถึง Red Karenหรือ Karenya
          YANGTALAI (YINTALE) กลุ่มนี้มีภาษาแตกต่างจากคะยาห์ ออกไปทางกะเหรี่ยง ตองอู และทางตอนใต้ของ Bawlakhe ซึ่งคำเรียก TALEIเพี้ยนมาจากคำว่า Talaing เป็นคำที่ใช้เรียกคนพม่าที่อาศัยอยู่ตอนล่าง
          GEBA อาศัยอยู่บนภูเขาเหนือตองอู ทำการค้า และงานกับคะยาห์ ใช้ภาษาใกล้เคียงกับคะยาห์ เรียกตัวเองว่า Ke Pa
          ZAYEIN OR SAWNG TUNG KAREN อาศัยอยู่หลากหลายพื้นที่ มีลักษณะการอยู่แบบบ้านรวม คนพม่าจะเรียกพวกเขาว่า Tharúw la khí
          PAKU เป็นคนกะเหรี่ยงที่ใช้ภาษา Sgaw อาศัยอยู่ที่ราบตอนใต้ของพม่า และเกือบทั้งหมดอยู่ตอนใต้ของรัฐคะยาห์ บางส่วนอยู่บนภูเขาทางทิศตะวันออกของตองอู พวกเขาจะเรียกตัวเองว่า Pakanyoและคนคะยาห์จะเรียกว่าPaku(น. 49)
 
อย่างไรก็ตาม การจำแนกกลุ่มคนคาเร็นนีโดยทั่วไปแล้ว คนคาเร็นนีไม่ได้สนใจว่าใครจะมีเชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์ใด ความเป็นจริง ชื่อเรียกคาเร็นนี หมายถึงกลุ่มคน “คะยาห์” แต่การใช้ชื่อคาเร็นนีจะทำให้ถูกเป็นที่ยอมรับว่า หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์คาเร็นนี หรือคะยาห์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจสูงสุดในระบบการปกครอง และเป็นผู้นำต่อสู้กับพม่า รวมถึงรวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยให้เป็นสมาชิก การเรียกตนเองของคนในจึงเป็นการเรียกในลักษณะโดยรวม  คือ เป็นคนคาเร็นนี (น. 50)

Critic Issues

การจัดการพื้นที่: กลยุทธ์ในการยัดเยียดความเป็นชาติคาเร็นนีบนตัวตนคนพลัดถิ่น
ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาอยู่รวมกันภายใต้ความเป็นคาเร็นนี พวกเขาต้องเรียนรู้การเป็นสมาชิกชุมชนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถอยู่รอด กล่าวคือ ผู้อพยพ ย้ายเข้าใหม่จะต้องปรับตัวให้เป็นคนในชุมชนที่มีแนวคิดชาติคาเร็นนี มีคนพลัดถิ่นจำนวนมากที่ไม่เข้าใจปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐคาเร็นนีและกองทัพพม่า หรือไม่รู้จักชาติคาเร็นนีเลย การเข้ามาอยู่ในชุมชนพลัดถิ่นของคาเร็นนี ต้องเป็นการอยู่ภายใต้กฎระเบียบควบคุมอย่างเคร่งครัด และซับซ้อน พวกเขาจะต้องมีการเรียนรู้หลากอย่างสำหรับการอาศัยอยู่ในชุมชนพลัดถิ่น เช่น การต้องมีบัตรยืนยันตัวตน หรือ Identity Cardเรียนรู้ว่าตนเอง สามารถทำอะไรได้บ้างในสถานภาพที่เป็นอยู่ และเรียนรู้การมีความสัมพันธ์กับคนในชุมชน การบริหารจัดการชุมชนพลัดถิ่นนั้น ไม่สนใจต่อความเจ็บปวดทางจิตใจ พวกเขาจึงมีความเป็นอยู่แบบกระจัดกระจาย ไม่มีการรวมกลุ่มอย่างแน่นหนา ท่ามกลางสถานที่ที่มีคนอยู่ร่วมกันในสถานที่คับแคบเกือบสองหมื่นคน (น. 94)

คนคาเร็นนีพลัดถิ่นมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษาพูด การศึกษา ศาสนา และประสบการณ์การย้ายถิ่น คนที่เข้ามาใหม่จะมีแนวคิด และรู้สึกถึงความเป็นคาเร็นนีที่ขัดแย้งกับกองทัพพม่าค่อนข้างน้อย ผู้หญิงคาเร็นนีจำนวนมากรู้สึกเครียด เนื่องจากไม่เคยเห็นหญิงคาเร็นนีไม่สวมใส่ชุดประเพณีมาก่อน หญิงคาเร็นนีที่เข้ามาอาศัยนานแล้วจะเปลี่ยนแปลงการแต่งกาย เช่น สวมใส่ผ้าถุง กางเกง และเสื้อยืด ขณะที่หญิงคาเร็นนีผู้ย้ายมาใหม่จะแต่งกายแบบประเพณีเดิม ซึ่งถูกมองจากกลุ่มที่อยู่มาก่อนแล้วว่าแต่งกายไม่เหมาะสม (น. 95)

การอยู่ภายใต้สถานการณ์ความแตกต่าง และแปลกแยกในชุมชนพลัดถิ่น พวกเขาไม่สามารถปลูกสร้างบ้านเป็นกลุ่ม หรือครอบครัว และรวมกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองได้ ตัวตนของพวกเขาจึงมีความเปราะบาง และถูกตรวจสอบท้าทายเสมอ คนคาเร็นนีไม่สามารถเป็นตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของตนเองกลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจ และถูกเหยียดหยาม อย่างไรก็ตาม พวกเขาเองก็พร้อมที่จะสร้างตัวตนใหม่ และประกอบสร้างจากแหล่งที่ตนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน พยายามเรียนรู้ทุกอย่างภายในชุมชนพลัดถิ่น ผู้นำชุมชนได้เสนอแนวทางให้อย่างการปลูกฝังชาติคาเร็นนีนิยมจากการสร้างความทรงจำทางสังคม ปัจเจก และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงถึงความสูญเสีย สู่การทวงคืน เพื่อสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชาติคาเร็นนีได้ ขณะเดียวกันก็เรียนรู้สังคมไทย หรือการเดินทางไปยังประเทศที่สามด้วยเช่นกัน (น. 96)

บ้านเกิด และความคุ้นเคยประหนึ่งเป็นบ้าน และชาติ: แต่ไม่เคย/ ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพลัดถิ่นได้
การเป็นคนพลัดถิ่น ดำรงอยู่ด้วยความคิดถึงบ้าน แต่ไม่สามารถกลับบ้านได้ มันจึงเต็มไปด้วยความเจ็บปวด การอยู่ในชุมชนพลัดถิ่นจนเกือบจะเป็นการอาศัยอยู่อย่างถาวรด้วยความรู้สึกเช่นนี้ พวกเขาต้องต่อรองกับความรู้สึกของการไม่สามารถกลับบ้านได้ ความไม่มั่นคงทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนตนเอง เช่น การลงหลักปักฐานตัวเองลงในสถานที่ที่ไม่รู้สึกอบอุ่น มีความแปลกแยก อีกทั้งยังต้องเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอด (น. 97)
คนคาเร็นนีจะต้องเรียนรู้ เข้าใจ และอยู่อย่างการเป็นผู้ลี้ภัย แต่ระยะเวลาอย่างยาวนานที่คนรุ่นแรกอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดครอบครัว และลูกหลาน จะเห็นได้ว่าคนคาเร็นนีพลัดถิ่นมีการสร้างตัวตนแตกต่างกัน เกี่ยวข้องกับสถานะของช่วงวัย การมีประสบการณ์แตกต่างกัน โดยคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาก็เป็นผู้ลี้ภัยเลยนั้น ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ถูกจัดสรรให้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในจินตนาการ แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ และตายาย ซึ่งการก่อตัวของคนรุ่นใหม่ทำให้พวกเขากลับเข้าไปสู่จุดเริ่มต้นได้ยากมากยิ่งขึ้น บ้านของคนคาเร็นนีกลายเป็นบ้านในจินตนาการ ไม่ใช่บ้านที่เคยอยู่จริงอีกต่อไป ปัจจุบันพวกเขายังต้องอาศัยอยู่ (น. 98)

การดำรงสถานะของคนคาเร็นนีในชุมชนพลัดถิ่นมีความเกี่ยวพันกับวาทกรรม “บ้าน” พวกเขามีความเจ็บปวดต่อความหวัง ความหลัง และอุดมการณ์เกี่ยวกับบ้าน ซึ่งบ้านสื่อถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การเป็นสมาชิก และอัตลักษณ์ที่มีการแข่งขันตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม แม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จกับการเป็นส่วนหนึ่งภายในสังคมที่พักอาศัยอยู่ เช่น การมีบัตรประชาชน แต่กลับไม่รู้สึกว่าตนเองสามารถลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง เนื่องจากการเป็นสมาชิกของพวกเขานั้นถูกอ้างอิงจากอัตลักษณ์ การแสดงออกทางชาติพันธุ์ การแต่งกาย สีผิว ลักษณะหน้าตา สำเนียงการพูด เหล่านี้ ทำให้พวกเขามีการตอกย้ำ และตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองไม่ใช่พลเมืองไทย รู้สึกตระหนกทุกครั้งเมื่อต้องพบตำรวจ แม้ว่าจะมีบัตรยืนยันตัวตนก็ตาม ความรู้สึกที่มีต่อบ้านถูกสะสมจากสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น บ้านที่พวกเขาต้องถือบัตรประชาชนในชุมชนพลัดถิ่น หรือบ้านที่เคยเติบโตมาจนเกิดเหตุการณ์ทำให้ต้องย้ายออก (น. 99)

จากกรณีดังกล่าว คนคาเร็นนีได้ครอบครองบ้านไว้มากกว่าสองสถานที่ คือ บ้านในอดีตจากมาตุภูมิบ้านในปัจจุบันที่พักอาศัยอยู่ และบ้านในฐานะที่เป็น “ชาติ” เป็นเบ้าหลอมรวม ความทรงจำทางสังคมทำให้พวกเขารวมตัวกัน ในชุมชนจินตนาการ ดังที่ Hallและ Brahได้กล่าวไว้ ความสัมพันธ์ของบ้านทั้งสามลักษณะ เป็นความสัมพันธ์ในความคิดที่ซับซ้อน และเหลื่อมล้ำกัน อาศัยการจินตนาการถึงชาติทำให้รู้สึกมีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยสามารถอยู่ในบ้านปัจจุบัน คือ ชุมชนพลัดถิ่น และต้องการกลับไปอยู่บ้านฝั่งพม่า (น. 102)

การลงหลักปักฐาน และความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยมีความแตกต่างกันระหว่างรุ่น สาเหตุในการย้ายเข้ามาในชุมชนพลัดถิ่น และคนรุ่นใหม่ที่เกิดในชุมชนพลัดถิ่น มีการผสมเชื้อชาติ หลายหลายภายในกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยคาเร็นนี เด็กรุ่นใหม่จึงแตกต่างไปจากคนรุ่นเก่า ไม่ใช่คนคาเร็นนีในความหมายเดิม มาจากความคิด ถูกบังคับยัดเยียดให้เป็น เรียนรู้ เติบโตที่จะเป็นคนพลัดถิ่น และเป็นความหวังของการต่อสู้ เพื่อกู้ชาติคาเร็นนี ทำให้เกิดการปะทะกับตัวตนแบบต่าง ๆ หลากหลาย ทั้งชุมชนภายใน และภายนอก จึงอาจกล่าวได้ว่า พวกเขาถูกจัดระบบใหม่ภายใต้โครงการของชุมชนคนพลัดถิ่น ถูกใช้เป็นสถานที่ในการสร้างชาติคาเร็นนี และเป็นกำลังสำหรับกลับไปคาเร็นนี (น. 107)

การประกอบสร้างตัวตนจากความแตกสลาย
ชุมชนพลัดถิ่นได้นำเอาการเป็นคนพลัดถิ่นของคนคาเร็นนีมาสร้างประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษาใหม่ โดยมีเป้าหมายทางการเมือง นั่นคือ การสร้างชาติคาเร็นนี โดยการนำประวัติศาสตร์ของตนเอง ประกอบกับอุดมการณ์ เพื่อกลับไปต่อสู้ทวงแผ่นดินคืนจากศัตรูที่รุกราน อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชนนานาชาติ และชุมชนพลัดถิ่นทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเกิดการเติบโต เป็นชุมชนในจินตนาการของคนคาเร็นนีพลัดถิ่นในสังคมไทย ดังนั้น ชุมชนพลัดถิ่น เปรียบเสมือนสถานที่สำหรับบ่มเพาะกำลังคนที่จะสร้างชาติ และนักรบรุ่นใหม่ของรัฐคาเร็นนี (น. 115)

สร้างชาตินิยมผ่านประเพณีประดิษฐ์
การประกอบสร้างความเป็นชาติคาเร็นนีเป็นการแข่งขันทางการเมืองของการสร้างตัวตน ชาติคาเร็นนีเกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ระหว่างการจัดประเภทตัวตนของตนเองท่ามกลางชาติพันธุ์อื่น มีการแบ่งช่วงชั้น มีการจัดกลุ่มชาติพันธุ์ให้กลายเป็นมาตรฐาน คือ คาเร็นนีเดียว ผ่านวัฒนธรรมที่แสดงออกมา เช่น เทศกาลงานดีกุ การแต่งกายเสื้อผ้าประเพณีที่ถูกออกแบบให้เหมือนกัน พิธีกรรม หรืองานเทศกาลที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาใหม่ ล้วนแล้วแต่เป็นการดึงคนพลัดถิ่นที่แตกกระจายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติคาเร็นนี (น. 119)

ตัวตน ชาติในแผ่นดินอื่น
ชุมชนพลัดถิ่นเป็นทั้งที่พักรบของทหารในกองทัพ และเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้เข้าไปเป็นทหารรุ่นใหม่ กฎระเบียบในชุมชนถูกพัฒนามาจากระเบียบของสหประชาชาติ และซ้อนด้วยระเบียบของชุมชนอีกชั้นหนึ่ง การบริหารชุมชนพลัดถิ่นทำให้ความแตกต่าง และหลากหลายถูกทำให้มีจุดร่วมเดียวกัน โดยชุดคำอธิบายจากสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องอพยพ กลายเป็นคนพลัดถิ่นในสังคมไทย ตัวตนที่แตกกระจายจึงได้กลับมารวมกันใหม่ภายใต้ “ชาติคาเร็นนี” ซึ่งชุมชนพลัดถิ่นได้ปลุกเร้า สร้างความหวังให้ทุกคนกลับไปสู้ กอบกู้ชาติคืน (น. 121)
กระบวนการเกิดสถานภาพของบุคคลเป็นกระบวนการที่เลื่อนไหล ไม่หยุดนิ่ง มีพัฒนาการตลอดเวลา คนคาเร็นนีเรียนรู้ที่จะได้รับสถานภาพ และเมื่อได้รับแล้วต้องปฏิบัติตนอย่างไร หรือได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง สภาพพลัดถิ่นจึงไม่ได้มีเพียงสถานภาพเดียว บางคนสวมหลายบทบาท หลายสถานภาพ เช่น การถือบัตรผู้ลี้ภัย บัตรประชาชน บัตรชาวเขาในขณะเดียวกัน เกิดสถานภาพเหลื่อมล้ำ เช่น บางคนมีสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัย แต่ยังต้องเป็นนักรบ เดินทางกลับไปรบบ้าง กลับมาอยู่กับครอบครัวบ้าง หรือเข้าไปทำงานในเมือง (น. 122)
อัตลักษณ์จากการแต่งกาย
ความเป็นคาเร็นนีถูกแสดงออกผ่านเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายของผู้หญิงที่ใช้สวมใส่เนื่องในโอกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับพิธีกรรม ศาสนา ชาติ และประเพณีต่าง ๆ ผู้ลี้ภัยในชุมชนพลัดถิ่นมีการประดิษฐ์ประเพณีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าของผู้หญิงเหมือนกันทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่กลุ่มชาติพันธุ์ใดก็ตาม เพื่อรวมความเป็นคาเร็นนี การสวมใส่เสื้อผ้าของผู้หญิงคาเร็นนีมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ไม่ให้ถูกลดทอนคุณค่าลง อาจกล่าวได้ว่า การสวมใส่เสื้อผ้ามีนัยทางการเมือง เป็นการย้ำความเป็นคาเร็นนี เพิ่มสำนึกความเป็นคาเร็นนีผ่านการสวมใส่เสื้อผ้า เป็นประเพณี และเป็นพื้นที่ของการลดความหลากหลายของประชากรคาเร็นนีให้น้อยลง เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว (น. 125)
กระบวนการสร้างชาติลี้ภัย หรือรัฐพลัดถิ่นด้วยภาษา
เด็กนักเรียนในชุมชนจะต้องเรียนภาษาหลัก 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ ภาษารองอีก 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาคาเร็นนี ไทใหญ่ และ ภาษาคะยาห์ เห็นได้ว่าชาติคาเร็นนีประกอบไปด้วยภาษาครอบงำประชาชนทั้งอดีตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และภาษาใหม่ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า และภาษาคาเร็นนี ซึ่งเป็นภาษาที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นการเรียนรู้ภาษาชาติ ภาษาคาเร็นนีจะไม่มีใช้ในชีวิตจริง ดังนั้น การสอนภาษาคาเร็นนีจึงเปรียบเสมือนการยัดเยียดภาษาใหม่ให้กับคนพลัดถิ่น ทั้งนี้ การเรียน และใช้ภาษาทำให้คนในชุมชนพลัดถิ่นรู้ภาษาของชาติ (น. 128)
การเดินทางของผู้ลี้ภัยชาวคาเร็นนีได้ผ่านประวัติศาสตร์ความเจ็บปวด จากสงครามความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ส่วนน้อยกับรัฐบาลพม่า พวกเขาไม่สามารถเดินทางกลับได้ ซึ่งรัฐบาลไทยได้รับรอง จัดพื้นที่พักพิงชั่วคราว หรือเรียกกันว่าชุมชนพลัดถิ่นให้ และเนื่องจากชาวคาเร็นนีไม่สามารถกลับบ้านของตนได้ การดำรงอยู่ของพวกเขาในศูนย์ลี้ภัยจึงเป็นแบบกึ่งถาวร และถูกเรียกว่าเป็นคนพลัดถิ่น ทำให้ก่อเกิดเป็นสำนึกคนพลัดถิ่นตามกรอบแนวคิดของ Hall และ Brahโดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
หนึ่ง เงื่อนไขที่ทำให้ชาวคาเร็นนีย้ายถิ่น คือ ปัญหาทางด้านการเมืองที่ยังคงดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น พวกเขาจึงไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้
สอง ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับคนพลัดถิ่นเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ คนพลัดถิ่นย้ายออกเพราะต้องการหนีสงคราม ประสบการณ์ความเจ็บปวด และระยะเวลาที่ยาวนานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการเรียนรู้ และเติบโตในชุมชนพลัดถิ่น คนคาเร็นนีไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ เนื่องจากความหวาดกลัวต่อความเจ็บปวด และความเกลียดชัง พวกเขาจึงเลือกอยู่อย่างคนพลัดถิ่นในประเทศไทย
สาม ตัวตนของคนคาเร็นนีพลัดถิ่น ถูกตรวจสอบท้าทาย และถูกครอบงำ อีกทั้งยังมีความต้องการของตนเองในการผสมกลมกลืน เพื่อความอยู่รอดในชุมชน พวกเขาพร้อมเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของตัวเองตลอดเวลา ไปพร้อมกับความคิดที่ว่าสักวันจะต้องได้กลับบ้าน คนคาเร็นนีพร้อมประกอบเรื่องราวชีวิตของตน นั่นคือ การสร้างชาติ และการต่อสู้กับรัฐบาลพม่าเพื่อการปกครองของตนเอง
สี่ คนพลัดถิ่นคาเร็นนีจินตนาการถึงบ้านเกิด เป็นบ้านที่ไม่มีอยู่จริง เพราะได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น บ้านในจินตนาการของคนพลัดถิ่นคาเร็นนี ถูกสร้างขึ้นจากมายาคติของแนวคิดสมัยใหม่ ทำให้คนต้องการมีชาติ รัฐชาติ และชุมชนพลัดถิ่นก็ได้ประกอบสร้างมันขึ้นมาในแผ่นดินอื่น

Other Issues

ภาพรวมของปัญหาชาติพันธุ์ในพม่า
ปัจจุบันพม่ามีประชากร 45 ล้านคนโดยประมาณ ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากมายหลายกลุ่ม มีภาษาประมาณ 111 ภาษา ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของพม่ามีมาอย่างต่อเนื่องจากอดีต ระหว่างสยาม และฉาน มีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยอยู่ในตำแหน่งเป็นกันชนระหว่างการแข่งขันเพื่ออำนาจทางการเมือง ความขัดแย้งของพม่าได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1820ชาวอเมริกันเข้ามาเผยแพร่ศาสนาให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ขณะเดียวกันอังกฤษก็เป็นศัตรูกับพม่า กะเหรี่ยงจึงได้รับการสนับสนุนให้มีอำนาจเหนือพม่าจากอังกฤษ และกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงช่วยสนับสนุนอังกฤษสู้รบกับพม่าในปี ค.ศ. 1852 – 1885อังกฤษได้บริหารอาณานิคมโดยการให้พม่ากลายเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดียในปี ค.ศ. 1886(น. 36)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครองพม่าและผลักให้อังกฤษออกไปจากการเป็นเจ้าอาณานิคม และพม่าได้จัดตั้งพรรคสันนิบาตเสรีชน เพื่อต่อต้านฟาสซิสต์ และชนกลุ่มน้อยได้ประกาศเป็นรัฐอิสระ และก่อตั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงขึ้น ส่วนไทใหญ่ได้จัดตั้งสภาเจ้าฟ้ารัฐฉาน (น.37)

เมื่อ ค.ศ. 1947 นายพลอองซานร่วมประชุมกับไทใหญ่ คะฉิ่น และชินเพื่อร่วมลงนามขอเอกราชจากอังกฤษ แต่ฝั่งกะเหรี่ยงต้องการตกลงกับอังกฤษโดยไม่ผ่านพม่า และต้องการแยกตัวออกปกครองตนเองโดยไม่ขึ้นกับพม่า ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ นายพลอองซานได้ถูกลอบยิงเสียชีวิต ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับชนกลุ่มน้อยเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากนโยบายของผู้นำคนใหม่ที่ไม่ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิตามสนธิสัญญาปางโหลง กล่าวคือ รัฐบาลพม่าไม่ยอมให้ไทใหญ่ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แยกตัวออกไป ทำให้เกิดสงครามระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยมาจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า สาเหตุหลักของความขัดแย้งมาจากการเมือง ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และพม่า ซึ่งในช่วงเวลาที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กะเหรี่ยงได้พลิกบทบาทจากการถูกกดขี่เป็นมีบทบาท อำนาจเหนือพม่าจากการสนับสนุนของอังกฤษ ภายหลังอาณานิคม พม่าได้กลับมาสถาปนาอำนาจอีกครั้ง ใช้ระยะเวลายาวนานถึงปัจจุบัน โดยผู้ศึกษาได้จัดลำดับ แบ่งช่วงเวลาของความขัดแย้งตามเหตุการสำคัญออกเป็นสามช่วง ดังนี้
          1) ความขัดแย้งก่อนช่วงเวลาอาณานิคมอังกฤษ
          2) ความขัดแย้งที่ครอบครองให้ช่วงเวลาที่พม่าตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ
          3) ความขัดแย้งช่วงหลังอาณานิคมอังกฤษถึงปัจจุบัน (น. 37)

ความขัดแย้งในรูปแบบ รัฐชาติพันธุ์ธิปไตย (Ethnocratic state)
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลพม่าเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ในช่วงทศวรรษที่ 1950 ระบบการปกครองของพม่าเป็นการปกครองแบบ รัฐชาติพันธุ์ธิปไตย กล่าวคือ รัฐเป็นตัวแทน หรือผู้ออกกฎหมาย จากการรวมตัวกันของชุมชนชาติพันธุ์ที่มีอำนาจรัฐครอบงำ การบริหาร และกระจายทรัพยากรมีเกี่ยวข้องกันอยู่สามประการ ดังนี้
          1) ผู้นำที่ขึ้นสู่อำนาจในฐานะผู้นำรัฐประเภทต่าง ๆ มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลัก กล่าวคือ ชาติพันธุ์พม่าทำให้เกิดการผสมกลมกลืนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สู่กลุ่มชาติพันธุ์หลักของประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
          2) การสร้างรัฐชาติธิปไตยมาจากคุณลักษณะของวัฒนธรรม และคุณค่าที่ครอบงำชาติพันธุ์ที่มีอำนาจภายใต้รัฐชาติธิปไตย ดังนั้น อัตลักษณ์แห่งชาติมาจึงมาจากการนิยาม และพรรณนาประวัติศาสตร์ของชาติ ถึงแม้ว่าแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะมีประวัติศาสตร์แตกต่างกัน แต่ได้ถูกทำให้เหมือนมีลักษณะชาติพันธุ์เดี่ยว แสดงออกผ่านเครื่องแต่งกาย ภาษา เป็นต้น
          3) สถาบันของรัฐชาติธิปไตย จัดวางระเบียบกฎหมาย โครงสร้างทางการเมืองสนับสนุนการรักษา บังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจเหนือปกครองตนเองลำพัง ดังนั้น การเข้าสู่การเมืองของรัฐชาติธิปไตย กลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์หลักจะต้องผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมเข้ากับวัฒนธรรมหลัก
          ดังกล่าวข้างต้น การก่อตัวของรัฐชาติพันธุ์พม่าหลังอาณานิคมได้สร้างชาติเชิงชาติพันธุ์ มีชนชาติพม่าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกลุ่มต่อต้าน และเรียกร้องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระได้ใช้ประเด็นชาติพันธุ์ส่วนน้อย รวบรวมกำลังคน และความชอบธรรมในการแบ่งแยกตนเองออกจากพม่าทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม ภาษา ทั้งนี้ แม้ว่าชนกลุ่มน้อยจะมีการรวมตัวกันในลักษณะกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ความสัมพันธ์ภายในนั้นไม่ราบรื่นมาก เนื่องจากมีความแตกต่างตามพื้นเพของประชาชนคาเร็นนี คือ
          1) ความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ และรูปแบบวิถีชีวิต เช่น กลุ่มที่อยู่อาศัยในที่ราบ ทำนาข้าวกับกลุ่มที่อยู่บนที่สูง ทำไร่แบบหมุนเวียน
          2) ความแตกต่างด้านการนับถือศาสนา เช่น กลุ่มคนที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธหรือคริสต์ กับกลุ่มที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนา และมีการนับถือผีเช่นเดิม
          3) ความแตกต่างจากการพัฒนาเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร คมนาคม กล่าวคือ ชุมชนที่อยู่ห่างไกล และอยู่บนที่สูง ไม่ได้ติดต่อกับคนอื่นมาก ไม่สามารถพูดภาษอื่นๆ ได้ ทำให้ชุมชนที่แตกต่างกันมีพัฒนาการ และการปรับตัวสู่สังคมสมัยใหม่ และอุดมการณ์รัฐสมัยใหม่แตกต่างกันไปด้วย (น. 44)

Text Analyst ดาริน จันดี Date of Report 01 ต.ค. 2564
TAG คาเร็นนี, กะเหรี่ยง, ผู้ลี้ภัย, แม่ฮ่องสอน, พม่า, คะยา, ชาวคะยา, พลัดถิ่น, กะเรนนี, คะยาห์, กะเหรี่ยงแดง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง