สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาหู่,มูเซอแดง,การศึกษานอกระบบ,การเปลี่ยนแปลง,วัฒนธรรม,แม่ฮ่องสอน
Author เรวัฒน์ อรัญภูมิ
Title ผลกระทบของการศึกษานอกระบบโรงเรียนต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอแดง : ศึกษาเปรียบเทียบกรณี บ้านป่ายางกับบ้านปางตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 145 Year 2542
Source บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Abstract

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของมูเซอแดง ระหว่างบ้านป่ายางและบ้านปางตองนั้นเป็นผลกระทบของการศึกษานอกระบบโรงเรียนที่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนให้การส่งเสริมด้วยการอบรมให้ความรู้ การประชุมชี้แจง การพาไปศึกษานอกสถานที่ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มผู้นำดั้งเดิมของหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มผู้นำดั้งเดิมนับเป็นสถาบันแรกเริ่มที่มีการยอมรับและถ่ายทอดวัฒนธรรมใหม่ การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การเลิกปลูกฝิ่น ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดอาชีพใหม่ เช่น ค้าขาย รับจ้าง และปลูกพืชทดแทนฝิ่นที่ต้องใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ของมูเซอแดงบ้านป่ายาง ส่งผลถึงอุดมคติและพิธีกรรมที่เปลี่ยนไป และเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกลุ่มที่นับถือศาสนาดั้งเดิมและศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ เช่น การยอมรับผู้นำทางราชการ การรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ การติดต่อกับคนภายนอกหมู่บ้านมากขึ้น รับวัฒนธรรมใหม่ ๆ เข้ามา รวมทั้งวัฒนธรรมทางวัตถุในเรื่องของเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในด้านของการเปลี่ยนแปลง ผู้ศึกษาชี้ให้เห็นถึงการวางแผนร่วมกันระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชน ในส่วนของหมู่บ้านปางตองมีการวางแผนร่วมกันทำให้ระบบสังคมและวัฒนธรรมของหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ และเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนหมู่บ้านป่ายางนั้นไม่มีการวางแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ทำให้ระบบสังคมและวัฒนธรรมของหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดความขัดแย้งขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะสถาบันทางศาสนาและสถาบันการปกครอง (บทคัดย่อ, 73, 98, 143)

Focus

ศึกษาการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ อันเนื่องมาจากการศึกษานอกระบบโรงเรียน โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างมูเซอแดงบ้านป่ายาง อำเภอปาย กับบ้านปางตอง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (หน้า 4)

Theoretical Issues

ใช้แนวคิดของ Barnett ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงโดยมีการวางแผน ในกรณีของทั้งสองหมู่บ้านได้รับการศึกษานอกระบบ คือ การอบรมให้ความรู้ การประชุมชี้แจง การพาไปศึกษานอกสถานที่ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มผู้นำดั้งเดิมของหมู่บ้าน กลุ่มผู้นำดั้งเดิมนับเป็นสถาบันแรกเริ่มที่มีการยอมรับและถ่ายทอดวัฒนธรรมใหม่ และเป็นไปตามทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ เมื่อสถาบันใดสถาบันหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ส่งผลกระทบต่อสถาบันอื่น ๆ เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากการได้รับความรู้ แนวคิด แนวทางปฏิบัติ โดยใช้กระบวนการของการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นสื่อในการถ่ายทอดและเกิดกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ส่งผลถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (หน้า 143) และดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน socio-cultural change และ Abstract

Ethnic Group in the Focus

มูเซอแดง

Language and Linguistic Affiliations

ภาษามูเซอ จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาธิเบต-พม่า ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลภาษาจีน-ธิเบต เป็นภาษาที่ไม่มีตัวอักษร แต่ปัจจุบันพบว่ามีการเรียนภาษามูเซอในรูปแบบที่ใช้อักษรโรมันแทนเสียงพูด แพร่หลายอยู่เฉพาะกลุ่มมูเซอที่นับถือคริสต์ ซึ่งเนื้อหาที่เรียนเป็นการแปลคัมภีร์ไบเบิลมาเป็นภาษามูเซอ (หน้า 39-40)

Study Period (Data Collection)

ระหว่างเดือนมีนาคม 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 (หน้า 5)

History of the Group and Community

คนไทยภูเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ส่วนมากอาศัยกระจัดกระจายอยู่ตามเขตพื้นที่ภูเขาในภาคเหนือของประเทศไทย ไทยมูเซอเป็นชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา โดยอาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และตาก ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มูเซออพยพเข้ามาอยู่เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา โดยอพยพมาจากพม่าและจังหวัดเชียงราย (หน้า 1-2) สำหรับหมู่บ้านป่ายาง ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2518 เหตุที่ชื่อป่ายางเพราะบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นยางป่าขึ้นอยู่หนาแน่น หมู่บ้านป่ายางเกิดจากการรวมตัวของหย่อมบ้าน ได้แก่ หย่อมบ้านหลุกตอง หย่อมบ้านแม่ยะ หย่อมบ้านแม่ยาน และหย่อมบ้านหัวแม่เย็น ภายหลังจากตั้งหมู่บ้านได้มีมูเซอแดงจากละแวกใกล้เคียงเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก (หน้า 60) ส่วนการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านปางตอง เริ่มจากการได้อพยพมาจากหมู่บ้านอาโจ้ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมห้วยปางตอง ต่อมาต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าเมืองประจำหมู่บ้านเกิดแห้งตาย ถือเป็นลางร้าย จึงย้ายหมู่บ้านขึ้นไปอยู่บนสันเขา เมื่อประชากรมากขึ้นจึงย้ายหมู่บ้านไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นที่กว้างขวาง และมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ (หน้า 77-78)

Settlement Pattern

ครอบครัวมูเซอบ้านป่ายางส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก ที่เป็นครอบครัวขยายจะเป็นผู้ที่มีฐานะการเงินดี และยังคงนับถือเทพเจ้าอือซาอย่างเหนียวแน่น จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กัน ไม่มีรั้วที่แน่นอน กลางหมู่บ้านจะมีลานกว้างใช้สำหรับเป็นสถานที่ประกอบพิธีในวันขึ้นปีใหม่ 7 วัน และใช้เป็นที่วิ่งเล่นของเด็ก ใกล้กับลานเป็นที่ตั้งของศาลาเอนกประสงค์และหอกระจายข่าว ลักษณะการตั้งบ้านเรือนมีด้วยกัน 3 แบบ โดยดูจากลักษณะของบ้าน คือ บ้านแบบถาวร บ้านกึ่งถาวร เป็นบ้านสำหรับผู้มีฐานะปานกลาง และบ้านแบบชั่วคราว ซึ่งใช้วัสดุในท้องถิ่นและใช้เวลาสร้างเพียงวันเดียว (หน้า 62) ลักษณะครอบครัวของชาวบ้านปางตองส่วนมากเป็นครอบครัวเดี่ยว ลักษณะการตั้งบ้านเรือน มีการตั้งเรียงรายกันตามสันเขา มีถนนผ่ากลางหมู่บ้าน มีการวางผังบ้านเรือนอย่างเป็นระเบียบมีรั้วหรืออาณาเขตแน่นอน มีส้วมแยกจากตัวบ้าน หลังบ้านเป็นคอกสัตว์ บางครอบครัวมีครกกระเดื่องตำข้าวอยู่ใต้ถุนบ้าน (หน้า 80)

Demography

จากการสำรวจประชากรชาวไทยภูเขาในปี พ.ศ.2538 มีชาวไทยภูเขาทั้งสิ้น 745,910 คน เป็นชาย 377,940 คน หญิง 367,970 คน แยกเป็น กะเหรี่ยง 353,110 คน ม้ง 111,677 คน มูเซอ 82,158 คน อีก้อ 49,903 คน เย้า 41,697 คน ลีซอ 31,463 คน ลัวะ 17,346 คน ขมุ 10,198 คน ตองซุ 276 คน และผีตองเหลืองหรือมาลบรี 57 คน มูเซอในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาศัยอยู่พื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง เป็นมูเซอเฌอเล 2 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 202 คน อำเภอปาย เป็นมูเซอแดง และมูเซอดำ 11 หมู่บ้าน ประชากร 1,909 คน และอำเภอปางมะผ้าเป็นมูเซอแดงและมูเซอเฌเล 20 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 4,427 คน รวมทุกกลุ่มแล้วมูเซอแดงมีมากที่สุด (หน้า 1-2) - หมู่บ้านป่ายาง มีประชากรชาย จำนวน 205 คน หญิง จำนวน 224 คน รวมจำนวน 429 คน จำนวนหลังคาเรือน 70 หลังคาเรือน (หน้า 60) - หมู่บ้านปางตอง มีประชากรชาย จำนวน 168 คน ประชากรหญิง จำนวน 136 คน รวมทั้งสิ้น 304 คน หลังคาเรือน 60 หลัง (หน้า 77)

Economy

ชาวป่ายางประกอบอาชีพการเกษตรเป็นส่วนใหญ่และรับจ้างในช่วงฤดูแล้ง โดยทำนาปีละครั้งตามที่ราบริมลำห้วย และทำไร่ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้าน ตามที่ลาดเอียงตามไหล่เขา การทำไร่มี 2 แบบคือการทำไร่ในฤดูฝน อาศัยน้ำฝน พืชที่ปลูกได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่งเหลือง งา ขิง ถั่วแขก และการทำไร่ฤดูหนาว อาศัยน้ำค้าง พืชที่ปลูก ได้แก่ ฝิ่น ผักกาด ผักชี การทำสวนเป็นอาชีพที่เกิดพร้อมกับการทำนา เมื่อ ปี พ.ศ.2521 จากการส่งเสริมจากเจ้าหน้าที่เกษตรของหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา พืชสวนส่วนใหญ่เป็นลิ้นจี่และปลูกแซมด้วยกระเทียม การเลี้ยงสัตว์ มีทั้งเลี้ยงในหมู่บ้าน ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ และบริเวณบ้านแม่ยาน ห่างจากหมู่บ้านไป 8 กิโลเมตร สัตว์ที่เลี้ยงเป็น วัว ควาย ม้า หมู และไก่ เป็ด จำนวนหนึ่ง อาชีพรับจ้าง ได้แก่ ถางไร่ ปลูกกระเทียม แกะกระเทียม เผาไร่ หาของป่าและล่าสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการจักสาน และค้าขาย ร้านค้าจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวน 3 ร้าน มีมูเซอ จีนฮ่อ และคนไทยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มาสมรสกับหญิงมูเซอ (หน้า 61 ,70-72) ชาวบ้านปางตองประกอบอาชีพด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ การทำนา โดยที่นาจะอยู่ริมฝั่งลำห้วย ซึ่งมีที่ราบสำหรับทำนาไม่มากนัก การทำไร่ เป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้าน ทำกันทุกครอบครัว พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ขิง งา เผือก ถั่วต่าง ๆ แครอท โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทำไร่ทุกปีและพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน การทำสวนผลไม้ จะทำในที่ดินที่เคยเป็นไร่ฝิ่นเก่า โดยการแนะนำของเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาที่สูงไทย - เยอรมัน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา พืชที่ปลูก ได้แก่ มะม่วง บ๊วย ท้อ ลิ้นจี่ ลำไย ขนุน และกาแฟพันธุ์อาราบีก้า และการเลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญ ได้แก่ วัว ควาย ม้า หมู และไก่ อาชีพนอกจากนี้มีการทำไม้กวาดดอกหญ้า สานตะกร้าหวาย รับจ้างถากเปลือกไม้ก่อและไม้ไก๋ ค้าขายของเบ็ดเตล็ด และหาของป่า เช่น น้ำผึ้ง สัตว์ป่าต่าง ๆ (หน้า 89-92)

Social Organization

ภายในหมู่บ้านของมูเซอแดงประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายเนื่องจากการแต่งงานที่ฝ่ายชายต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิงในปีแรกของการแต่งงาน หลังจากนั้นจึงพาภรรยามาอยู่กับครอบครัวฝ่ายชายอีกหนึ่งปี ก่อนที่จะแยกออกไปสร้างบ้านอยู่อิสระแยกจากครอบครัวพ่อแม่ รูปแบบของการแต่งงานนั้นสัมพันธ์กับการแลกเปลี่ยนแรงงานทางเกษตรกรรม ทั้งฝ่ายชายและหญิงจะแต่งงานกันได้เมื่ออายุ 14-15 ปี โดยพ่อแม่จะไม่เข้มงวดในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน แต่จะห้ามไม่ให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับคนที่แต่งงานแล้ว บทบาทหน้าที่ของชายและหญิงภายในครอบครัวอิงอยู่กับเพศสภาพ ผู้ชายมีกำลังมากกว่ารับผิดชอบในเรื่องเกี่ยวกับการใช้แรงงาน หรืองานเสี่ยงภัย เช่น การปลูกสร้างบ้าน การตีเหล็ก ส่วนผู้หญิงรับผิดชอบในงานที่เบากว่าและงานที่ต้องอาศัยฝีมือความประณีต ได้แก่ การตัดเย็บเสื้อผ้า การเลี้ยงดูทารก และดูแลบ้านเรือน ส่วนงานอื่น ๆ ที่สามารถช่วยเหลือและทำร่วมกัน เช่น การปรับพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูก ถากถางวัชพืชและการเก็บเกี่ยวผลผลิต ในด้านการอบรมเลี้ยงดู จะให้ความสำคัญแก่ผู้อาวุโสและพ่อแม่จะช่วยกันดูแลสั่งสอนลูกของตนให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว และสอนลูกไม่ให้ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของสังคม ความสัมพันธ์ภายในหมู่บ้าน สมาชิกแต่ละคนจะถูกควบคุมด้วยกลไกทางสังคมของหมู่บ้าน คือ โครงสร้างของผู้นำหมู่บ้านซึ่งมีอยู่ 3 ฝ่าย ที่สำคัญ ได้แก่ ผู้นำทางศาสนา คือ ปู่จอง โดยมีหมอผีเป็นผู้ช่วย มีผู้นำฝ่ายปกครอง คือ อาดอ และช่างตีเหล็ก คือ จ่าลี้ และผู้อาวุโสอื่น ๆ ทำหน้าที่เป็นผู้รักษากลไกทางสังคมของหมู่บ้าน (หน้า 43-45)

Political Organization

แกนนำของหมู่บ้านป่ายางประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ปู่จองหรือผู้นำทางศาสนา ปู่เหล็กหรือคนทำเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร และหมอผีประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำเดิม ซึ่งนับถือองค์อือซา (เทพเจ้าที่มีอำนาจสูงสุดของมูเซอ) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์และมีผู้นำที่นับถือศาสนาคริสต์ เนื่องจากความเชื่อที่แตกต่าง ส่งผลถึงความขัดแย้งภายในหมู่บ้าน เพราะการไม่ยอมรับนับถือผู้นำระหว่างกลุ่มมูเซอที่นับถือองค์อือซา กับกลุ่มมูเซอที่นับถือศาสนาคริสต์ (หน้า 60, 70) ส่วนหมู่บ้านปางตอง มีโครงสร้างของผู้นำหมู่บ้านคล้ายกัน คือ มีผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการ และกลุ่มผู้นำดั้งเดิมของมูเซอ เป็นผู้สูงอายุและเป็นผู้นำตั้งแต่เริ่มตั้งหมู่บ้าน ได้แก่ ปู่จอง และปู่เหล็ก มีบทบาททางด้านประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ตามแบบดั้งเดิมของมูเซอ (หน้า 78, 88)

Belief System

มูเซอแดงนับถือเทพเจ้า "อือซา" เป็นเทพเจ้าผู้มีอำนาจสูงสุด เป็นใหญ่เหนือภูตผีและสิ่งทั้งปวงในจักรวาล ผู้ที่สามารถติดต่อสื่อสารกับ "อือซา" ได้คือ "ปู่จอง" เป็นผู้นำทางศาสนาสามารถส่งข้อความถึง "อือซา" ให้ช่วยสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามและความสุขสมบูรณ์ให้แก่พวกเขา ส่วนมูเซอแดงบ้านป่ายางนั้นนับถือเทพเจ้า "อือซา" โดยมีสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีการประกอบพิธีในวันขึ้น 15 ค่ำและวันแรม 14 หรือ 15 ค่ำ (หน้า 60) ผู้ที่ยังคงนับถือเทพเจ้าอือซาอย่างเหนียวแน่น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ที่มีฐานะดี (หน้า 62) นอกจากนี้ยังมีโบสถ์สำหรับชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายแบ๊บติส (หน้า 61) ความแตกต่างทางด้านความเชื่อของชาวบ้านป่ายาง แบ่งออกได้เป็นผู้ที่เชื่อศาสนาดั้งเดิมจะเชื่อภูตผี และผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติต่อพระเจ้าและองค์เยซูคริสต์ ทำให้เกิดการปฏิบัติที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้นับถือศาสนาดั้งเดิมจะงดเนื้อสัตว์ทุกชนิดและหยุดทำงานใน วันศีล (วันขึ้น 15 ค่ำและแรม 14 หรือ 15 ค่ำ) ส่วนผู้นับถือศาสนาคริสต์ หยุดทำงานในวันอาทิตย์บริโภคเนื้อสัตว์ได้ ในวันฉลองปีใหม่ กลุ่มผู้นับถือศาสนาดั้งเดิม จะทำหลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ที่ซุ้มฉลองปีใหม่กลางลานเต้นรำแขวนหัวหมู แต่กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ จะฉลองปีใหม่ในวันที่ 25 ธันวาคมไม่มีลานเต็มรำและไม่แขวนหัวหมู เครื่องดนตรีประกอบในพิธีของผู้นับถือศาสนาดั้งเดิม คือ กลองยาว ฉาบ โหม่ง และแคนน้ำเต้า ส่วนผู้นับถือศาสนาคริสต์ใช้กีต้าร์ แตร (หน้า 97-98) สำหรับบ้านปางตอง ยังคงนับถือเทพเจ้า "อือซา" โดยมีสถานที่ประกอบพิธีอยู่ในตัวบ้านของปู่จอง จัดพิธีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ หรือแรม 14 ค่ำ ในตอนเช้ามีพิธีสวดอ้อนวอนอือซาให้ช่วยปัดเป่าเภทภัยและนำความอุดมสมบูรณ์มาให้ และมีการเต้นรำของชาวบ้านในตอนเย็น (หน้า 78) นอกจากนี้ ยังมีพิธีอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ พิธีให้ข้าวโพด ซึ่งเป็นพิธีที่ประกอบขึ้นเมื่อข้าวโพดออกฝักสามารถเก็บมากินได้ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เมื่อเก็บข้าวโพดมาจากไร่ไปไว้ที่หิ้งบูชาทั้งในบ้านตน บ้านเพื่อนบ้านและที่หอศาสนาประจำหมู่บ้านพร้อมเทียนขี้ผึ้ง โดยใช้ข้าวโพด 2 ฝัก เทียนขี้ผึ้ง 2 เล่ม ด้วยเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของคู่กันไม่มีอะไรอยู่เดี่ยว ๆ พิธีนี้ไม่มีการฆ่าสัตว์ เพราะถือเป็นวันศีลใหญ่ วันพิธีให้แตง จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาของไทย มูเซอแดงจะหาแตงมาเตรียมไว้นำไปสักการะในหอศาสนากลางหมู่บ้าน แล้วนำไปแจกโดยวางไว้ที่หิ้งบูชาของเพื่อนบ้าน โดยบ้านหลังแรกที่นำไปวาง คือ บ้านของช่างตีเหล็ก เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยตีเหล็กเป็นอุปกรณืการเกษตรให้ ตอนกลางวันจะมีการรดน้ำอวยพร ส่วนกลางคืนมีการเต้นรำ ไม่มีการฆ่าสัตว์หรือกินเนื้อสัตว์ เพราะถือเป็นวันศีลใหญ่อีกวันหนึ่ง (หน้า 49-50)

Education and Socialization

ภายในหมู่บ้านป่ายางมีโรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่ง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน เป็นโรงเรียนจำนวน 6 ห้องเรียน มีครู 4 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (หน้า 61) หมู่บ้านปางตอง มีศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" 1 แห่ง ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน (หน้า 78)

Health and Medicine

มูเซอบ้านป่ายางเมื่อเจ็บป่วยจะไปใช้บริการสถานีอนามัยบ้านม่วงสร้อย หรือเจ็บป่วยหนักก็ไปโรงพยาบาลปาย ถ้าไม่ใช้บริการดังกล่าวก็จะซื้อยาจากร้านค้าในหมู่บ้าน และในทุก ๆ ปีมีแพทย์จากสภาคริสต์จักรมาทำการรักษาและตรวจสุขภาพชาวบ้านพร้อมจ่ายยาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยความเชื่อ ได้แก่ พิธีส่งผี และพิธีฮ้องขวัญเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ (หน้า 65) หมู่บ้านปางตอง มีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) จำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน รักษาอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง ถ้าเจ็บป่วยมากจะไปใช้บริการที่โรงพยาบาลปางมะผ้า ชาวบ้านยังคงรักษาแบบดั้งเดิมด้วยหมอผี ควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน (หน้า 84)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

สถานที่ประกอบพิธีของเทพเจ้าอือซา มีลักษณะเป็นอาคารหลังใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร โครงสร้างเป็นไม้แปรรูป ปูพื้นด้วยฟากไม้ไผ่หลังคามุงด้วยใบตองตึง (ใบพลวง) ฝาผนังทำด้วยไม้ไผ่ ข้างในเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับใช้เป็นที่นั่งของผู้เข้าร่วมพิธี กั้นห้องเล็กไว้ 1 ห้อง สำหรับเก็บเครื่องเซ่นไหว้บูชา (หน้า 60 ) ลักษณะบ้านของมูเซอแดงบ้านป่ายางและบ้านปางตอง มี 3 ลักษณะ บ้านแบบถาวร เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงสร้างด้วยไม้สัก หรือไม้ชนิดอื่นแปรรูป หลังคามุงกระเบื้องหรือสังกะสี มี 1 ห้องนอน ต่อชานจากตัวบ้านที่ชานบ้านมีบันไดขึ้น-ลง และเป็นที่ตั้งภาชนะเก็บน้ำดื่มน้ำใช้ ต่อจากชานบ้านด้านตรงข้ามตัวบ้านเป็นห้องครัวและยุ้งฉางเก็บข้าวและเมล็ดพันธุ์พืช ห้องครัวสร้างด้วยไม้ไผ่และมุงหลังคาด้วยใบตองตึง บ้านแบบกึ่งถาวร เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงมีโครงสร้าง คือ เสา ไม้ตง ไม้แป เป็นไม้แปรรูป มุงหลังคาด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง ส่วนพื้นบ้านและฝาบ้านเป็นไม้ไผ่ ลักษณะห้องต่าง ๆ เหมือนบ้านถาวร บ้านแบบนี้จะพัฒนาเป็นบ้านแบบถาวรเมื่อเจ้าของบ้านมีเงินพอที่จะต่อเติม บ้านแบบชั่วคราว เป็นบ้านที่สร้างแบบดั้งเดิม ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ใช้เวลาสร้างเพียงวันเดียว มุงหลังคาด้วยใบตองตึง โครงสร้างประกอบด้วยไม้เสา ไม้ตง ไม้แป การแต่งกาย ทั้งชาวบ้านป่ายางและบ้านปางตองมีลักษณะเช่นเดียวกัน ผู้ชายนุ่งกางเกงขายาวผ้าฝ้ายหรือผ้าป่าน ส่วนวัยรุ่นชายนุ่งกางเกงยีนส์ เด็กชายนุ่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืด มีเพียงผู้สูงอายุ 2-3 คนยังคงแต่งกายแบบเดิมด้วยเสื้อผ้าที่ตัดเย็บเอง ส่วนผู้หญิงและเด็กหญิงนุ่งผ้าถุงกับเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืด (หน้า 65) มูเซอจะมีชุดประจำเผ่าเก็บไว้ใส่ในวันสำคัญ คือ วันศีลซึ่ง 1 ปี มีเพียง 24 วัน (หน้า 83)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การศึกษาวิถีชีวิตมูเซอแดงทั้งหมู่บ้านป่ายางและปางตอง ล้วนเกิดความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการยอมรับวัฒนธรรมจากภายนอกทั้งจากการติดต่อกับชาวพื้นราบและการได้รับการศึกษานอกระบบจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน แต่สิ่งที่ยังคงเห็นได้ชัดในเรื่องของการธำรงกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ความเชื่อและพิธีกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของมูเซอแดง ความเชื่อในเทพเจ้า "อือซา" ซึ่งเป็นผู้คอยปกป้องและคุ้มครองหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข จะเห็นได้ว่าเมื่อมีพิธีกรรม เช่น งานขึ้นปีใหม่ พิธีวันศีล พิธีวันกินข้าวใหม่ ฯลฯ ก็จะมีการขอพรจาก "อือซา" อือซาจึงเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของมูเซอแดง โดยมีโครงสร้างผู้นำแบบดั้งเดิมเป็นผู้สืบทอดพิธีกรรม และเป็นกลไกหนึ่งในการควบคุมสังคม การธำรงกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านทางพิธีกรรม ความเชื่อและผู้นำนี้ยังคงเห็นได้ชัดในหมู่บ้านปางตอง เพราะการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไม่มีผลต่อมูเซอแดงหมู่บ้านปางตอง แตกต่างจากมูเซอแดงในหมู่บ้านป่ายางที่ได้ยอมรับนับถือศาสนาคริสต์เพราะการขาดผู้นำทางพิธีกรรม คือ ปู่จอง ที่สามารถติดต่อกับอือซาได้ แต่การนับถือศาสนาดั้งเดิมก็ไม่ได้หมดไปจากหมู่บ้านยังคงมีกลุ่มที่นับถือเทพเจ้าอือซา ยังคงมีการประกอบพิธีกรรมตามวัฒนธรรมเดิม ในขณะที่ผู้นับถือศาสนาคริสต์ก็ยังประกอบพิธีกรรมเดียวกับผู้นับถือศาสนาเดิม แต่เปลี่ยนจากเทพเจ้าอือซา มาเป็นเทพเจ้าในศาสนาคริสต์ และมีรายละเอียดในกิจกรรมที่แตกต่างออกไปจากเดิม (หน้า 98 - 106)

Social Cultural and Identity Change

ความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านป่ายาง เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เมื่อหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาได้เข้าไปตั้งหน่วยในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมจากบุคคลภายนอกและคนพื้นราบมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทางการแต่งกายและภาษาพูด มีการแข่งขันทางวัตถุ ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เมื่อไม่สามารถปลูกฝิ่นที่เป็นรายได้หลัก ทำให้เกิดอาชีพใหม่ เช่น ค้าขาย รับจ้าง และปลูกพืชทดแทนฝิ่น และเปลี่ยนจากการเสพและขายฝิ่นไปเสพและขายเฮโรอินและยาบ้า (หน้า 73) ในด้านของพิธีกรรม มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การห้ามไม่ให้ปลูกฝิ่น ทำให้เปลี่ยนจากการสูบฝิ่นไปดื่มสุราและเล่นการพนันเหมือนคนพื้นราบ การเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในงานพิธีกรรมน้อยลง และการเข้าไปมีส่วนรวมของคนพื้นราบและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพิธีบางอย่างเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะงานพิธีขึ้นปีใหม่ (หน้า 101-102) และจากการได้รับการศึกษาทั้งด้านการเกษตร การอ่านเขียน การสาธารณสุข กฎหมายและการปกครอง รวมทั้งผู้นำทางศาสนาเดิม คือ ปู่จองเสียชีวิตลง ส่งผลถึงความเสื่อมศรัทธาในศาสนาเดิม บางกลุ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ถ้าเปลี่ยนศาสนาไม่ได้ก็จะต่อต้านด้วยการไม่เข้าร่วมกิจกรรมและไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของศาสนาเดิม (หน้า 105) ความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านปางตองเกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านสามารถติดต่อกับชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น ได้รับความรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมใหม่ ด้วยการตั้งบ้านเรือนอย่างถาวร ไม่สามารถเคลื่อนย้ายและบุกเบิกพื้นที่ใหม่ได้ ต้องปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทนฝิ่นซึ่งห้ามปลูก ทำให้ต้นทุนในการปลูกสูงขึ้น มีค่านิยมในการใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ อิทธิพลจากโทรทัศน์และจากบุคคลภายนอกที่เข้ามาค้าขาย ได้ทำให้ค่านิยมต่าง ๆ เปลี่ยนไป เช่น การแต่งกาย และการตั้งชื่อให้เป็นแบบไทย (หน้า 94-95) ส่วนในด้านศาสนาและพิธีกรรมนั้นยังคงเชื่อในศาสนาดั้งเดิมนับถือเทพเจ้าอือซา ไม่มีการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์อย่างหมู่บ้านป่ายาง ทำให้ยังคงรักษาระเบียบปฏิบัติและมีการเข้าร่วมในพิธีกรรมอย่างเคร่งครัด แต่มีกิจกรรมในงานพิธีที่เกิดขึ้นใหม่เหมือนกันทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ การดื่มสุราเพื่อทดแทนการสูบฝิ่น ซึ่งในอดีตฝิ่นเป็นสิ่งสำคัญเมื่อมีงานพิธี (หน้า 111, 124)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst ขนิษฐา อลังกรณ์ Date of Report 08 ต.ค. 2555
TAG ลาหู่, มูเซอแดง, การศึกษานอกระบบ, การเปลี่ยนแปลง, วัฒนธรรม, แม่ฮ่องสอน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง