สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง ลาวพวน ผู้ไท ลาวโซ่ง กะเหรี่ยง ชาวเล มายาคติ
Author ประสิทธิ์ ลีปรีชา, อรรถ นันทจักร์, ขวัญชีวัน บัวแดง, นฤมล อรุโณทัย
Title ชาติพันธุ์และมายาคติ
Document Type บทความ Original Language of Text -
Ethnic Identity อูรักลาโว้ย อูรักลาโวยจ, ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, มอแกลน, มอแกน บะซิง มาซิง, ม้ง, ไทยพวน ไทพวน คนพวน, ผู้ไท ภูไท, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), มหาวิทยาลัยขอนแก่น Total Pages 214 Year 2547
Source มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Abstract

งานเขียนกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ม้ง ผู้ไท ลาวโซ่ง ชาวเล ที่ตกอยู่ในมายาคติของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ที่มองพวกเขาในด้านลบ เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ม้งถูกมองว่า เป็นกลุ่มที่ทำลายต้นน้ำ หรือเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาก็มีการตอบโต้โดยเปลี่ยนบทบาทเป็นนักอนุรักษ์หรือร่วมกันดูแลป้องกันไฟป่า มายาคติ เป็นการมองผ่านกลุ่มชาติพันธุ์ที่มองด้วยสายตาคนนอก ที่ก่อให้เกิดอคติ กับกลุ่มชาติพันธุ์หรือถูกเบียดขับให้เป็นคนชายขอบตกเป็นเบี้ยล่างของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งกว่า  บทความต่างๆ ที่ได้รวบรวมขึ้นได้มาจากการสัมมนาวิชาการอันจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิจัยและการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์เพื่อร่วมกันขจัดมายาคติ ที่เกิดจากอคติและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ   

Focus

เพื่อวิเคราะห์สังเคราะห์ให้เห็นว่า อคติที่มีอยู่โดยเฉพาะมายาคติทางชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในเมืองไทยในการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายวัฒนธรรมมีอยู่อย่างไรบ้าง โดยได้เจาะจงเอากรณีศึกษาที่มีการวิจัย 4 เรื่อง ได้แก่  (หน้า 2) ประสิทธิ์ ลีปรีชา เรื่องความรู้และมายาคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง (หน้า 2) อรรถ นันทจักร์ เรื่อง ความรู้และมายาคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ลาวพวน  ผู้ไท  ลาวโซ่ง (หน้า 2) ขวัญชีวัน บัวแดง เรื่อง อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงศาสนา : ศึกษากรณีกลุ่มชนกะเหรี่ยงในประเทศไทยและประเทศพม่า (หน้า 2) นฤมล  อรุโณทัย (หิญชีระนันท์) เรื่อง เพื่อความเข้าใจในมอแกนความรู้และมายาคติ เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  (หน้า 2) เพื่อชูประเด็นมายาคติ และสร้างความรู้และความเข้าใจใหม่ ที่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์ หรือให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของการพัฒนาประวัติศาสตร์ ระบบนิเวศน์ ระบบความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา  (หน้า 2)

Ethnic Group in the Focus

          กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยระหว่างเขตแดนของประเทศจีน  เวียดนาม  พม่า  ลาว  และไทย  ม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ย้ายเข้ามาอยู่ภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อประมาณ 200ปีที่แล้ว (หน้า 26) ในประเทศจีนจัดให้ม้งเป็นกลุ่มย่อยหนึ่งของชนชาติเหมียว ดังนั้นแล้วจึงมีการเรียก “ม้ง” กับ “เหมียว”สลับกันอยู่บ่อยครั้ง เพราะเข้าใจว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์เดียวกัน  (หน้า 26)
          ส่วนคำว่า “เหมียว” พบในบันทึกของจีนเมื่อศตวรรษที่ 27ก่อน คริสตศักราช  หลังจากตั้งที่อยู่อาศัยที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง ต่อมาจึงโยกย้ายที่อยู่ลงทางใต้เนื่องจากมีปัญหาความขัดแย้งกับคนจีน (หน้า 26) คำว่า “เหมียว” เป็นคำรวมที่คนจีนใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึง ม้ง เมี่ยน (หรือเย้า) ลาว และจ้วง ในบางยุคสมัยหมายถึงเฉพาะกลุ่มม้งเท่านั้น สำหรับการจัดแบ่งชนชาติในประเทศจีน ได้ทำขึ้นหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาปกครองจีนเมื่อ ค.ศ. 1949  ขณะนั้นมีกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 400กว่ากลุ่มมาขึ้นทะเบียน แต่ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1960รัฐบาลจีนได้ประกาศยอมรับเพียง  55กลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เหลือได้ถูกรวมไว้ในกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ (เชิงอรรถหน้า 26)
          ม้งเรียกตนเองว่า “ม้ง” แต่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นเรียกม้งว่า “แม้ว” หรือ “เหมียว” ซึ่งสันนิษฐานว่า เรียกตามคนจีนที่เรียกมาแต่อดีต หลังจากที่โยกย้ายที่อยู่ลงมาทางใต้ คนที่อยู่ในเวียดนาม ลาว และไทย จึงเรียก แม้ว หรือ เหมียว เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ม้งได้พยายามให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นเรียกกลุ่มตนว่า “ม้ง”  โดยเริ่มจากในประเทศลาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ม้งมีอำนาจทางการทหารและการเมืองช่วงสงครามเวียดนาม หลังจากที่ม้งได้เข้ามาอยู่ในค่ายอพยพในประเทศไทยแล้วเดินทางไปประเทศที่สามจึงได้พยายามให้  (หน้า 28) คนไทยและหน่วยงานราชการใช้คำว่า “ม้ง” แทนคำว่า “แม้ว” ที่ม้งไม่ค่อยชื่นชมมาตั้งแต่อดีต (หน้า 29)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ไท มีชื่อเรียกว่า “ไต” (Tay) หรือ “ไท” (Thay/ Thai) ส่วนชื่อเรียกอื่นๆ เช่น “ไตแทง” (Tay  Thanh)  “ม่านแทง” (Man  Thanh)  “ไตเมื่อย” (Tay Muoi)  “ไตเมือง” (Tay Muong)  “ไตย้อ” (Tay  Nho) “โธ” (Tho) (หน้า 67) กลุ่มท้องถิ่น ประกอบด้วย กลุ่มไทดำ และกลุ่มไทขาว (หน้า 67)
 
กลุ่มชาติพันธุ์ไต (Tay  Ethnic Group)           
          มีชื่อเรียกว่า “ไต” (Tay) ส่วนชื่อเรียกอื่นคือ “โธ” (Tho) สำหรับกลุ่มท้องถิ่นประกอบด้วย “โธ”(tho) “หยาน” (Nhan) “เฟญ” (Phen) “ทู ลาว” (Thu Lao) “ปา ญี” (Pa Di) (หน้า 67)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์เกอ ลาว (Co Lao Ethnic Group) ชื่อเรียกว่า “เกอลาว” ชื่อเรียกอื่นๆ เช่น “ตือ ดุ” (Tu Du) “ฮ่อ คี” (Ho Ki) “วอ เด” (Voa De) (หน้า 67) ในกลุ่มท้องถิ่นประกอบด้วย “เกอ ลาวเชียว” (Co Lao Xanh) “เกอ ลาวขาว (Co Lao Trang) “เกอ ลาแดง” (Co Lao Do) (หน้า 68)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ไสย (Giay  Ethnic Group) ชื่อเรียก “ไสย” ชื่อเรียกอื่นๆ “ญัง” (Nhang) “เจียง” (Giang) (หน้า 68)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ลาซี (La Chi Ethnic Group) มีชื่อเรียกว่า “กู เต” (Cu Te) ส่วนชื่อเรียกอื่นๆ เช่น “โธ แดน” (Tho Den) “ม่าน” (Man) “ซา” (Xa)  (หน้า 68)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ลาฮา(La Ha Ethnic Group) มีชื่อเรียกว่า “ลา ฮา” (La Ha) “คลาปาว”  (Kla Phlao)   ส่วนชื่อเรียกอื่นๆ เช่น “ซาจา” (Xa Cha) “ซา บุง” (Xa Bung) “ซา ขาว” (Xa Khao) “ซา ตา ญ่า” (Xa Tau Nha) “ซา ปอง” (Xa Poong) “ซา โอง”   (Xa Uong)  “บู ฮา” (Bu Ha) “ปัว” (Pua) กลุ่มท้องถิ่นประกอบด้วย “ลา ฮา กาน” (La Ha Can)หรือ Khla  Phlao, “ลา ฮา น้ำ” (La Ha Nuoc) หรือ La Ha Cung(หน้า 69)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ลาว (Lao  Ethnic  Group) มีชื่อเรียกว่า “ไท” (Thay) “ไทยวน” (Thay  Duon)  “ไท ญวน” (Thay  Nhuon) ส่วนชื่อเรียกอื่นๆ เช่น “ผูไท” (Phu Thay)   “ผูลาว” (Phu  Lao)  กลุ่มท้องถิ่นประกอบด้วย “ลาวบก” (Lao Boc) หรือ “ลาวกาน” (Lao Can) “ลาวน้อย” (Lao  Noi) หรือ “ลาวญ้อ” (Lao Nho)   (หน้า 69)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ลื้อ (Lu  Ethnic  Group) มีชื่อเรียกว่า “ลื้อ” (Lu) “ไทลื้อ”  (Thay Lu) ส่วนชื่อเรียกอื่นๆ เช่น “ผูลื้อ” (Phu Lu) “ยวน” (Duon) “ญวน” (Nhuon)  กลุ่มท้องถิ่น ประกอบด้วย “ลื้อดำ” (Lu Den) ที่บ้านฮอน (Hon) เมืองฟองโธ (Phong Tho) ซิน โฮ (Sin Ho) ไลโจ (Lai Chau)  (หน้า 71) “ลื้อขาว” (Lu  Trang) อยู่ที่สิบสองปันนา  มณฑลยูนนาน ประเทศจีน (หน้า 71)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์นุง (Nung  Ethnic Group) มีชื่อเรียกว่า “นุง” (Nung)  ส่วนกลุ่มท้องถิ่นประกอบด้วย Nung Giang, Nung Xuong, Nung An, Nung Inh, Nung Loi, Nung  Choa, Nung Phan Slinh, Nung Qua Rin, Nung Din(หน้า 71)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ปูแปว (Pu Peo Ethnic  Group) มีชื่อเรียกว่า “กะแปว” (Ka Peo) ส่วนชื่อเรียกอื่นๆได้แก่ “ลากัว” (La Qua) “เพน ตี” (Pen Ti) “โล โล” (Lo Lo)  (หน้า 72)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์สานจาย (San Chay  Ethnic  Group) มีชื่อเรียกว่า “สานจาย”  (San Chay) ส่วนชื่อเรียกอื่นๆได้แก่ “เฮินบาน” (Hon Ban) “จุงจาย” (Chung Trai) ส่วนกลุ่มท้องถิ่นประกอบด้วย “กาวลาน” (Cao Lan) “สานจี” (San Chi)   (หน้า 72)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์โบอี (Bo Y  Ethnic  Group) มีชื่อเรียกว่า “โบ จี” ส่วนชื่ออื่นๆ เช่น “จุงจ่า ซาจอง” (Chung  Cha, Trong  Gia) และกลุ่มท้องถิ่นได้แก่ “โบอี” (Bo Y) และ “ตู ยี” (Tu Di) (หน้า 72)
 
          ชาวเล ในประเทศไทยแบ่งชาวเลออกเป็นสามกลุ่มดังนี้  กลุ่มมอแกน, กลุ่มมอแกลน,กลุ่มอูรักลาโว้ย (หน้า 105) คำว่า “ชาวเล”มาจากภาษาปักษ์ใต้ที่ย่อมาจากคำว่า    “ชาวทะเล” แปลว่า คนที่อยู่อาศัยสร้างบ้านเรือนอยู่ริมทะเล เลี้ยงชีพเกี่ยวกับทะเล    และการทำประมง  กลุ่มนี้พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน (หน้า 105) กลุ่ม “ชาวเล” จะอยู่บริเวณฝั่งทะเลอันดามัน  ไม่พบบริเวณฝั่งทะเลอ่าวไทย  แต่ในบางครั้งก็จะเดินทางไปทำงานรับจ้างแถบทะเลฝั่งตะวันออกเช่น จันทบุรี และตราด เมื่อทำงานเรียบร้อยแล้วก็จะเดินทางกลับถิ่นที่อยู่เก่า (หน้า 106) นอกจากนี้คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นยังเรียกชาวเลว่า “ชาวน้ำ” แต่คำนี้ชาวเลจะไม่ค่อยชอบเพราะถือว่าเป็นคำดูถูกเหยียดหยาม เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่า คนทุกคนเกิดมาจากน้ำ (หมายถึง น้ำอสุจิ) หากคนกลุ่มอื่นเรียกชาวเลว่า “ชาวน้ำ” พวกเขาจะไม่พอใจอย่างมากเพราะถือว่าเป็นการดูถูก (เชิงอรรถหน้า 106)
          ส่วนความหมายอื่นที่กล่าวถึงคือ คำว่า “ชาวเล” ยังเป็นคำพูดในเชิงลบที่ชาวปักษ์ใต้ใช้เรียกคนที่ไม่ดูแลร่างกายทำตัวสกปรก ไม่สนใจเรียนหนังสือหนังหา หรือใช้จ่ายสุรุยสุร่ายไม่รู้จักเก็บออม  (หน้า 107)   ชาวเลได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า แต่เดิมหากชาวเลไปอำเภอ เจ้าหน้าที่ก็จะให้นั่งพื้น ไม่ให้นั่งเก้าอี้ หากไปบ้านคนไทยถ้ากลับบ้านคนไทยก็จะอาผ้ามาเช็ดถูพื้นทำความสะอาด (หน้า 107)

Language and Linguistic Affiliations

          กลุ่มชาติพันธุ์เกอ ลาว  เสียงพูดนั้นจะอยู่ในกลุ่มภาษาตะกูลไท-กะได  เหมือนกับเสียงพูดของกลุ่มลา ฮา (La Ha) ลาชี (La Chi) ปูแปว (Pu Peo) ทุกวันนี้กลุ่มเกอ ลาว จะพูดภาษาของตนเองแทบไม่ได้ โดยมากจะใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการติดต่อในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ภาษานุง(Nung) ปู แปว (Pu Peo) และม้ง (Hmong) (หน้า 68)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ไสย(Giay Ethnic Group ) ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ “ไสย” และมีชื่อเรียกอื่นเช่น “ญัง” (Nhang) “เจียง”(Giang) ภาษาอยู่ในตระกูลไท-กะได แต่จะมีการผสมผสานกับภาษาหาญเป็นจำนวนมากในทุกวันนี้ (หน้า 68)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ลาซี ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มกะได อยู่ในกลุ่มตระกูลไท-กะได ใกล้เคียงกับภาษาพูดของกลุ่มลา  ฮา (La Ha) เกอ ลาว (Co Lao) ปู แปว (Pu Peo) (หน้า 68)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ลาฮา   ภาษาที่ใช้อยู่ในกลุ่มกะได ในตระกูลภาษาไท-กะได (หน้า 69)
          กลุ่มชาติพันธุ์ลาว  ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มไต-ไท อยู่ในกลุ่มภาษาไท –กะได (หน้า 69)
          ชาติพันธุ์ลื้อ  ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มภาษาไต-ไท ในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได  (หน้า 71)
          กลุ่มชาติพันธุ์นุง  ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มนุงอยู่ในตระกูลไท-กะได (หน้า 71)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์ปูแปว ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มภาษาไท –กะได  ส่วนความสามารถทางภาษา คนปูแปวยังพูดภาษาม้ง และภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย (หน้า 72)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์สานจาย ภาษาพูดของกลุ่มท้องถิ่น กาว ลาน เป็นภาษาไต-ไท อยู่ในกลุ่มภาษาไท-กะได สำหรับภาษาสานจาย ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มภาษาหาญ ตระกูลหาญตัง (Han Tang) (หน้า 72)
 
          กลุ่มชาติพันธุ์โบอี กลุ่มนี้ใช้ภาษาไต-ไท  กลุ่มตระกูลไท-กะได  ส่วนกลุ่มตูยี ซึ่งเป็นกลุ่มท้องถิ่นใช้ภาษาฮั่น หรือ หาญ ในกลุ่มภาษาหาญตัง (Han Tang)  (หน้า 72)

History of the Group and Community

ประวัติการอพยพของกะเหรี่ยง
          กล่าวถึงการอพยพของกะเหรี่ยงว่าเข้ามาอยู่ดินแดนที่เคยเป็นประเทศพม่า ต่อมาพม่าจึงมายึดครองดินแดน สำหรับการอพยพมาจากดินแดนต่างๆ มีดังต่อไปนี้
          กะเหรี่ยงอพยพจากบาบิโลน เมื่อปี 2234 ก่อนคริสต์ศักราช แล้วเดินทางไปถึงมองโกเลียปี 2197 ก่อนคริสต์ศักราช  เมื่อปี 2017ก่อนคริสต์ศักราชเดินทางถึงเตอร์กิสถานตะวันออก เมื่อปี 1866 ก่อนคริสต์ศักราชเดินทางไปธิเบต ถึงธิเบตเมื่อปี 1864  ก่อนคริสต์ศักราช แล้วโยกย้ายที่อยู่จากธิเบต ปี 1388ก่อนคริสต์ศักราช  ไปถึงยูนนาน ปี 1385 (หน้า 84)
          ในปี 1128ก่อนคริสต์ศักราช กะเหรี่ยงรุ่นแรกเดินทางถึงพม่า ปี 1125ก่อน คริสต์ศักราช รุ่นที่สองจากยูนนาน ปี 741ก่อนคริสต์ศักราช ไปถึงพม่าปี 739ก่อนคริสต์ศักราช  ผู้เขียนระบุว่ารวมเวลาที่กะเหรี่ยงอยู่ในพม่าทั้งหมด 739ปี รวม 2000 ปี เป็น2739ปี  (หน้า 85)  ส่วนประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงที่เขียนโดยกองกำลัง KNU (Karen National Union)ที่ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้เดินทางมาถึงประเทศพม่าก่อนชนชาติพม่า และได้ตั้งประเทศชื่อ “กอทูเล” หมายถึง “ดินแดนแห่งดอกไม้” หรือ “ดินแดนสีเขียว” มีความสุขและร่มเย็น  แต่ในภายหลังพม่าได้เข้ามาแย่งชิงประเทศของกะเหรี่ยง ปกครองกะเหรี่ยงอย่าทารุณโหดร้าย จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20ความเป็นอยู่ของกะเหรี่ยงก็ดีขึ้นตามลำดับ เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แต่สภาพความเป็นอยู่ของกะเหรี่ยงก็ตกที่นั่งลำบากอีกครั้งเมื่ออังกฤษคืนเอกราชแก่พม่า ฉะนั้นกะเหรี่ยงจึงสู้รบกับพม่าเพื่อปลดปล่อยดินแดนของตน (หน้า 85)  

Settlement Pattern

บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ไท
          โครงสร้างบ้านเรือนของชาวไท ลักษณะรูปแบบจะไม่ค่อนกั้นฝาผนังด้านในตัวบ้าน ดังมีคำพูดในอดีตที่ว่าคนไทอยู่เฮือนฮ้าน แต่ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนมาอยู่บ้านดินที่ไม่มีเสาบ้าน  (หน้า 63) 

Demography

ประชากรม้ง
          ในประเทศไทยม้งมีประชากร 126,300 คน  โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ใน 13จังหวัดได้แก่ เชียงราย  เชียงใหม่  แม่ฮ่องสอน  พะเยา  น่าน  แพร่  ลำปาง  สุโขทัย  กำแพงเพชร  ตาก  เพชรบูรณ์  พิษณุโลก เลย  ม้งในประเทศไทยประกอบด้วยสองกลุ่มได้แก่ ม๊งเดอะ (ม้งขาว Hmoob  Dawb)  กับม้งเหล่ง หรือม้งนจั๊วะ (ม้งดำ, ม้งน้ำเงิน,  ม้งเขียว, ม้งลาย Moob Leeg, Moob  Ntsuab) ทั้งสองกลุ่มถึงจะแต่งกายไม่เหมือนกัน แต่ในส่วนของภาษาพูดในชีวิตประจำวันและประเพณีวัฒนธรรมก็มีความใกล้เคียงกัน (หน้า 27) ส่วนม้งที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศเนื่องมาจาก พรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อ พ.ศ. 2518กลุ่มม้งที่ช่วยสหรัฐอเมริกา รบกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาอยู่ในค่ายผู้อพยพในประเทศไทย ก่อนที่จะเดินทางไปตั้งรกรากที่ประเทศที่สาม ซึ่งประชากรม้งที่อยู่อาศัยในประเทศต่างๆ มีดังนี้ (ตารางหน้า 27)
                    จีน                      7,398,035 คน
                    เวียดนาม             787,604 คน
                    ลาว                     315,465  คน
                    สหรัฐอเมริกา        160,000 คน
                    ไทย                     126,300 คน
                    พม่า                     25,000 คน  (ตารางหน้า 27)  
                    ฝรั่งเศส                 10,000 คน
                    ออสเตรเลีย            1,600 คน
                    กิอาน่า (ฝรั่งเศส)     1,400 คน
                    แคนาดา                  600 คน
                    อาร์เจนตินา             500 คน
                    เยอรมัน                   150 คน (ตารางหน้า 27)
 
                    กลุ่มชาติพันธุ์ไท               จำนวนประชากร 1,040,549 คน (หน้า 67)
                    กลุ่มชาติพันธุ์ไต                มีประชากร 1,190,342 คน  (หน้า 67)
                    กลุ่มชาติพันธุ์เกอ ลาว        มีจำนวน 1,473คน (หน้า 68)
                    กลุ่มชาติพันธุ์ไสย              มีจำนวน 37,964คน  (หน้า 68)
                    กลุ่มชาติพันธุ์ลาซี              มีจำนวน 9,614คน  (หน้า 69)
                    กลุ่มชาติพันธุ์ลาฮา            มีจำนวนประชากร 1400คน (หน้า 69)
                    กลุ่มชาติพันธุ์ลาว              มีจำนวน 9,614คน  (หน้า 69) 
                    กลุ่มชาติพันธุ์ลื้อ               มีประชากร 3,684คน  (หน้า 71)
                    กลุ่มชาติพันธุ์นุง               ประชากร 705,709 คน (หน้า 71)
                    กลุ่มชาติพันธุ์ปูแปว           มีจำนวนทั้งสิ้น 382คน (หน้า 72)
                    กลุ่มชาติพันธุ์สานจาย       มีจำนวนประชากร 114,012คน (หน้า 72)
                    กลุ่มชาติพันธุ์โบอี             มีประชากรทั้งหมด 1,420คน (หน้า 72)

Economy

อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ไท
          ในอดีตคนไทกินข้าวเหนียวแต่ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนมากินข้าวเจ้า เพื่อเน้นความประหยัด  (หน้า 65)  
 
เศรษฐกิจของกะเหรี่ยงสมัยกองทัพ KNUเรืองอำนาจ
           ในช่วงที่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU เรืองอำนาจ และต่อสู้กับกองกำลังทหารพม่ามาเป็นเวลานานกว่า 50ปี และถึงความเสื่อมถอยอำนาจช่วงก่อน ค.ศ. 1990  (หน้า 90) รายได้ ของKNU ได้มาจากการค้าไม้ให้ต่างชาติ และเก็บภาษาข้ามแดน ในบริเวณชายแดนไทย พม่า  (หน้า 91)

Social Organization

สังคมชาวเล
          แม้ชาวเลจะถูกมองว่าเป็นคนไม่เอาไหน แต่ชาวเลก็มีความซื่อสัตย์เช่นการเปิดร้านขายของจะใช้ระบบเชื่อถือและไว้ใจ ถ้าชาวเลมาหยิบสินค้าก็จะนำเงินใส่กระปุก โดยไม่ต้องมีพ่อค้า  แม่ค้าดูแล  หากหยิบของไปก็จะนำเงินมาคืน  ตามจำนวนราคาสินค้า การซื้อสินค้าแบบนี้จนทำให้เกิดคความไว้เนื้อเชื่อใจกันว่าจะได้รับเงินคืนอย่างแน่นอน (หน้า 107)

Political Organization

การเมืองในพม่า
          สภาพการเมืองในพม่าได้สะท้อนผ่ายบทเพลงของกะเหรี่ยง ที่สื่อให้เห็นว่ากะเหรี่ยงนั้นรักสงบ กล้าหาญ และเสียสละ เพื่อสร้างความตื้นตันใจขึ้นในชาติ ส่วนคนพม่าจะถูกสร้างให้ดูเหี้ยมโหด เพื่อสะท้อนการเมืองของพม่าที่กระทำต่อกะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อย (หน้า 87)

Belief System

ความเชื่อและศาสนาของกะเหรี่ยง
          จากความเชื่อของกะเหรี่ยงเชื่อว่า Ywa(พระเจ้าที่สร้างโลก) ดังนั้นจึงมีมิชชันนารีบางส่วนสันนิษฐานว่า กะเหรี่ยงคือกลุ่มชาติพันธุ์อิสลาเอลที่หายไปหนึ่งกลุ่มในจำนวนสิบกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือพระยะโฮวา (ออกเสียงใกล้เคียงกับ Ywa) ความเชื่อนี้เพิ่มมากขึ้น จากจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับคนพม่า ซึ่งจากรายงานเมื่อ ค.ศ. 1834อันเป็นเวลากว่า 30ที่มิชชันนารีคนแรก ที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศพม่า และในช่วงเวลาเพียง แปดปีที่มิชชันนารีได้ทำงานร่วมกับกลุ่มกะเหรี่ยง  พบว่า จำนวนคนพม่า ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์มีจำนวนน้อยกว่า 125คน  ในขณะที่คนกะเหรี่ยงนับถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมากมีประมาณ 500-600คน  (หน้า 85)

Folklore

ตำนานถ่อมีป่า (กะเหรี่ยง)
          ถ่อมีป่า แปลว่า “พ่อเขี้ยวหมู” เรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ถ่อมีป่าซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกะเหรี่ยง หลังจากที่เขาล่าหมูป่าก็นำเขี้ยวหมูป่ามาทำหวี หลังจากที่หวีผมก็ทำให้เขายังคงความเป็นหนุ่มไว้ไม่มีวันแก่ชรา เมื่อเขามีลูกเป็นจำนวนมากจึงต้องเดินทางไปเสาะหาที่อยู่และที่ทำกินแห่งใหม่ ต่อมาระหว่างเดินทางเขาได้หลงทางกับลูกขณะข้าม “แม่น้ำทรายไหล” ซึ่งสันนิษฐานว่าคือ“ทะเลทรายโกบี” ส่วนลูกหลานของถ่อมีป่าได้เดินทางข้าม “แม่น้ำทรายไหล” มาที่แผ่นดินซึ่งเป็นประเทศพม่าในทุกวันนี้  (หน้า 84) 

ตำนานหนังสือทอง (กะเหรี่ยง)
          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว Ywa หรือพระเจ้า เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งบนโลก วันหนึ่ง  พระเจ้าได้เดินทางมาที่โลกมนุษย์เพื่อเยี่ยมเยียนบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆบนโลกและมอบหนังสือทอง ที่เป็นแหล่งความรู้ความเจริญรุ่งเรืองต่างๆ ในจำนวนนี้กะเหรี่ยงเป็นพี่คนโตกำลังมัวแต่ทำงานตากเหงื่ออยู่ในไร่ เมื่อกะเหรี่ยงไม่ไปรับหนังสือทอง พระเจ้าจึงให้น้องๆ เอาหนังสือทองไปให้กะเหรี่ยงที่กำลังขะมักเขม้นทำงาน  แต่กะเหรี่ยงไม่สนใจและบอกว่าให้วางหนังสือทองไว้ที่ตอไม้ แต่ได้ลืมเมื่อเผาไร่หนังสือทองจึงไหม้ไฟทั้งหมด ส่วนเรื่องเล่าอื่นๆบ้างก็ว่าฝนตกชะหนังสือจนไม่สามารถอ่านได้    (หน้า 86) ต่อมาไก่ได้มาจิกขี้เถ้าหนังสือทองที่ไหม้นั้น  ดังนั้นไก่จึงได้รับความรู้ที่อยู่ในหนังสือทองเล่มดังกล่าว จึงเป็นที่มาของพิธีกรรมการทำนานด้วยกระดูกไก่ของกะเหรี่ยง ในขณะที่คนผิวขาวน้องคนสุดท้อง ได้รับความรู้จากหนังสือทองมาพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นจึงมีคำพูดว่าน้องคนเล็กจะนำหนังสือทองมาให้  (หน้า 86)
          แม้ว่าตำนานของแต่ละท้องถิ่นจะไม่เหมือนกัน  แต่เนื้อหาหลักได้ถูกนำมาถ่ายทอดโดยมิชชันนารี ที่เล่าถึงความทุกข์ยากของกะเหรี่ยงที่ถูกพม่ากดขี่บังคับ ดังเช่นเนื้อร้องที่อยู่ในซอของกะเหรี่ยงมีดังนี้ (หน้า 86)
              เมื่อพระเจ้าจากไป
            กะเหรี่ยงตกเป็นข้าทาสของพม่า
            กลายเป็นลูกของป่า และลูกหลานของงความทุกข์ยาก
            พเนจรไปทุกที่  (หน้า 86)
            ชาวพม่าใช้แรงงานพวกเขาอย่างหนักหน่วง
            จนพวกเขาสิ้นใจในพงไพร
            หรือไม่ก็มัดแขนพวกเขา แล้วก็ลงมือใช้แส้เฆี่ยนตีพวกเขาอย่างโหดเหี้ยม     
              (หน้า 87)

นิทานของอูรักลาโว้ย
          นิทานของอูรักลาโว้ย มีอยู่หลายเรื่อง แต่เรื่องราวต่างๆ ในนิทานก็เหมือนกับการถูกสาปแช่ง ให้อยู่กับความยากลำบากไม่สุขสบาย เช่น นานมาแล้วมีผัวเมีย อูรักลาโว้ย  (หน้า 116) ขณะที่พายเรือไปหาปลานั้น ก็มองเห็นพระพุทธเจ้ากำลังยืนอยู่ที่หัวแหลม และได้เรียกให้อูรักลาโว้ยสองผัวเมียเอาเรือไปรับ  ในขณะที่ทั้งสองไม่ยอมไปรับเพราะหาปลายังไม่ได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ตาเหมือนนกออก ลงน้ำลึกเจ็ดศอก หาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้า” นิทานเรื่องนี้กล่าวเพียงเท่านี้ เมื่อได้อ่านแล้วได้ทำให้รู้สึกว่า ชาวอูรักลาโว้ยต้องอยู่กับความยากลำบากกับการหาอยู่หากินทุกค่ำเช้า (หน้า 117) 

โต๊ะอาดั๊บบรรพบุรุษคนแรกของอูรักลาโว้ย
          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ได้มีชายคนหนึ่งชื่อ โต๊ะอาดั๊บ ซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษคนแรกของอูรักลาโว้ย เขาเป็นคนไม่เอาไหน ไม่สนใจทำงานการใดๆ วันๆ เอาแต่เที่ยวสนุกสนานหาความเพลิดเพลินใส่ตัว  หากินไปวันๆไม่เป็นหลักเป็นฐาน  กระทั่งถึงช่วงที่มีการเผยแพร่ศาสนาในภูมิภาคนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้รับความเชื่อทางศาสนา ในขณะที่โต๊ะอาดั๊บไม่ได้เข้านับถือศาสนาไม่ว่าศาสนาใด ด้วยความที่มีพฤติกรรมไม่ใส่ใจเรื่องราวใดๆ จึงสืบทอดมายังลูกหลาน (หน้า 117)
          ส่วนนิทานอีกเรื่องหนึ่งได้กล่าวว่าเมื่อครั้งที่พระเจ้าได้สร้างมนุษย์ชายหญิงคู่หนึ่ง ได้แก่ โต๊ะอาดั๊บ กับโต๊ะสิตีกาว่า ทั้งสองให้มีลูกทั้งหมดซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวนเจ็ดคน โดยมีชาวเลเป็นลูกชายคนโต แต่ด้วยความที่ไม่มีความกระตือรือร้นไม่ขยันทำงานการใดๆ จึงถูกสาปแช่งให้อยู่กับความยากจนเรื่อยมา จนถึงทุกวันนี้  (หน้า 117)

 นิทานทำไมมอแกนไม่เจริญเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น          
          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ที่ได้กล่าวว่าเหตุใดมอแกนถึงต้องอยู่กับความยากจนว่า ขณะนั้น มีพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน อันประกอบด้วย มอแกน  ไทย  จีน  พม่า  แขก ฝรั่ง  ญี่ปุ่น  โดยมีมอแกนเป็นพี่คนหัวปี จึงต้องดูแลน้องๆ ทำงาน ดำปลิง  งมหอย หาปลา เก็บรังนก เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน  เสียสละเลี้ยงดูน้องๆ อย่างไม่หวั่นเกรงความยากลำบาก จวบจนน้องๆกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้เจริญในหน้าที่การงานก็ทอดทิ้งให้มอแกนพี่ใหญ่ ลำบากยากจนไม่เคยได้รับความสะดวกสบาย (หน้า 117)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ผ้าไท 
          การแต่งกายของหญิงไทจะสวมผ้าถุง แล้วสวมเสื้อแขนสั้นหรือเสื้อแขนยาว บริเวณหน้าอกเสื้อจะผ่าออกแล้วเย็บเหลือบทั้งองข้างติดกระดุมทั้งสองด้าน ส่วนกระดุมจะเป็นเครื่องเงิน ทำเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ  เสื้อของคนไทมีสามแบบดังนี้ (หน้า 64)

  1. เสื้อโบราณซึ่งเรียกว่า “เสื้อลอดหัว” เสื้อแบบนี้ไม่มีแขนและไม่ผ่าหน้าอกเหมือนทุกวันนี้ เมื่อจะสวมก็จะสวมเข้าแขนหรือเข้าหัว เสื้อแบบนี้จะใช้ในพิธีที่สำคัญ เสื้อนี้คนไทในเขตแทงเง่ เรียกว่าเสื้อไตหรือเสื้อคนไท สำหรับเสื้อที่มีแขนจะเรียกว่า “เสื้อลอ” หมายถึงเสื้อสิงลอ (หน้า 64)
  2. เสื้อเปิดหน้าอก ทุกวันนี้ คนไทส่วนมากจะสวมเสื้อเปิดอก คนไทที่อยู่ภาคเหนือของเวียดนาม แถบไลโจ เซิลลา  ชอบทำกระดุมตกแต่งเพื่อความสวยงาม ส่วนคนไทที่จังหวัดเงห์อานกับแทงฮัวไม่ชอบเสื้อที่มีกระดุมเหมือน คนไทที่อยู่ภาคเหนือ (หน้า 64)
  3. เสื้อเปิดด้านข้าง เสื้อแบบนี้คนไทได้รับรูปแบบมาจากคนจีนและเวียดนาม ตัวอย่างเช่น เสื้อผู้หญิงชาวญัง หรือ “ไสย”ที่เป็นคนไทกลุ่มหนึ่งที่อยู่ภาคเหนือชายแดนเวียดนามกับจีน (หน้า 64)
เสื่อชาวน้ำ
           ชาวเลมีความสามารถในการทำเสื่อ เช่นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ต้นพุทธศตวรรษที่ 25ชาวน้ำมีการส่งเครื่องบรรณาการให้กับทางการที่มีการระบุถึง “เสื่อชาวน้ำ” ที่ว่ามีความงดงามและละเอียดปราณีตในการประดิษฐ์  ทุกวันนี้ชาวเลไม่ได้ทอเสื่อใช้กันแล้ว แต่มาซื้อเสื่อพลาสติกใช้เพราะมีราคาถูก ทนทานซื้อได้ง่าย นอกจากนี้เตยปาหนัน กับเตยหนาม วัสดุที่นำมาทำเสื่อ ก็หาได้อย่างยากลำบาก (หน้า 108)

Map/Illustration

ภาพ
          ศาสตราจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง (หน้า 1)  ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ (หน้า 5) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี (หน้า 17) มายาคติที่สอง ม้งเป็นผู้ปลูกฝิ่นและตัวการตัดไม้ทำลายป่า (หน้า 35) มายาคติที่สามม้งในภาพลักษณ์ของผู้ทำลายต้นน้ำและใช้สารเคมีบนพื้นที่สูง (หน้า 39) บวชป่าดงเซ้ง การนิยามความหมายใหม่เพื่อสร้างป่าชุมชน (หน้า 44)  การจัดตั้งองค์กรม้ง (หน้า 49)
          คนไทพวนเชียงขวาง ประเทศลาว (หน้า 70)  บ้านของชาวไทพวน (หน้า 70) เส้นทางการเดินทางจากเชียงขวางสู่เวียงจันทน์และประเทศไทย (หน้า 73) ต้นน้ำงึม (หน้า 73)
          เด็กชาวปะโอ ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า กำลังตั้งแถว เตรียมขบวนทอดกฐิน ภาพโดย วิธร บัวแดง (หน้า 90)
          เพื่อความเข้าใจในมอแกน ความรู้และมายาคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ “ชาวเล” (หน้า 103) หมู่บ้านมอแกน มีลักษณะเป็นเพิงพักชั่วคราว เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องเดินทางอพยพโยกย้ายบ่อยครั้ง ภาพโดยนางสาวอรุณ แถวจัตุรัส(หน้า 106)  แม้ว่ามอแกนจะรู้จักเครื่องมือประมง เช่นแห อวนลอบ แต่เครื่องมือที่ใช้บ่อยและเชี่ยวชาญคือ ฉมวกแทงปลา ภาพโดยนางสาวอรุณ แถวจัตุรัส (หน้า 116) ผู้หญิงมอแกนมีความสามารถในการทำเครื่องจักสานด้วยใบเตยหนาม ในภาพเอบูมกอยังกำลังสาน “ขี่กุม” หรือกล่องสานมีฝาขัด ภาพโดย ดร.นฤมล อรุโณทัย (หน้า 119)  วิถีชีวิตชาวมอแกน (หน้า 131)  ในก่าบางมีครัว มีเตาไฟซึ่งแต่เดิมเป็นเตาสามเส้าใช้ฟืน ปัจจุบันเป็นเตาถ่าน มอแกนใช้เสื่อที่สานด้วยใบเตยหนามเป็นที่รองนั่งและรองนอน นอกจากนี้ยังมีกระปุก หรือกล่องที่สานด้วยใบเตย ใช้เก็บเสื้อผ้า ข้าวของต่างๆ ก่าบางเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวเดี่ยวมีพ่อ แม่ ลูกๆ หรือบางครั้งมีญาติพี่น้องร่วมอาศัยอยู่ด้วย (หน้า 132)  ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มอแกนสร้างเพิงพักหรือกระท่อมตามอ่าวต่างๆ เพื่อหลบคลื่นลม แม้ในปัจจุบันมอแกนจะตั้งหลักแหล่งมากขึ้น แต่กระท่อมของชาวมอแกน ยังเป็นที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะชั่วคราว ต้องซ่อมแซมอยู่บ่อยครั้ง (หน้า 132) 
          มอแกนหลายครอบครัวยังดำรงชีวิตเร่ร่อนอยู่ เมื่อถึงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มอแกนจะย้ายจากกระท่อมลงไปอยู่อาศัยในก่าบาง และเดินทางไปตามเกาะต่างๆ กระท่อม      มอแกนหลังนี้ถูกทิ้งร้าง และกลายเป็นที่เล่นของเด็กๆ ในที่สุด (หน้า 133) เครื่องมือเครื่องใช้ของมอแกนเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่เรียบง่าย เช่น มีดพร้าเหล็กตอก และแกะเปลือกหอย ขวาน เบ็ดมือที่มีเพียงสายเบ็ด ฉมวก เหล็กเกี่ยว และตะกร้าสานที่ทำด้วยไม้ไผ่ที่ไว้ใส่หอย ปู และเพรียงทราย (หน้า 133) ผู้ชายมอแกนขะมักเขม้นทำเรือขุดขนาดเล็กที่เรียกว่า “ฉ่าปัน” โดยการเข้าไปตัดไม้ในป่า ลากซุงลงมาบริเวณชายหาด ลงมือสับไม้เป็นร่องและถากเป็นรูปทรงของเรือหลังจากนั้นจึงค่อยๆ เบิกกราบเรือและเสริมกราบด้วยไม้กระดาน เครื่องมือหลักคือขวานและสิ่วเท่านั้น ไม่มีเครื่องไฟฟ้า เรือฉ่าปันลำหนึ่งใช้เวลาทำประมาณหกเดือน ถึงหนึ่งปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์   (หน้า 134)
          มอแกนเชี่ยวชาญการว่ายน้ำและดำน้ำ ผู้ชายและผู้หญิงดำน้ำได้ทั้งลึกและทน มอแกนดำน้ำเพื่อแทงปลา งมหอย ปลิงทะเล และสัตว์ทะเลอื่นๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำน้ำก็มีเพียงแว่นดำน้ำ คู่มือเล็กๆ ฉมวกและถุงตาข่ายที่ใช้ใส่สัตว์ทะเลที่จับได้ (หน้า 135)   แม้ว่าผู้หญิงผู้หญิงมอแกนจะว่ายน้ำและดำน้ำได้ดี แต่งานของผู้หญิงมักจะเป็นการเก็บหาอาหารริมชายฝั่ง เช่นตามชายหาด แนวปะการัง หรือโขดหิน ในภาพผู้หญิงมอแกนกำลังหาเม่นทะเลที่อยู่ตามแนวปะการัง เมื่อพบแล้วก็ใช้เหล็กเกี่ยวตอกเปลือกของเม่นทะเลออกและนำส่วนที่กินได้ใส่ถุงที่เหน็บไว้ที่เอว  (หน้า 135)  แม่เฒ่ามอแกน แม้ว่าจะมีอายุมากแล้ว แต่ก็ขยันขันแข็งออกเก็บหาอาหารตามชายหาด และแนวปะการัง และเมื่อมีเวลาว่างก็เข้าป่าไปเพื่อตัดใบเตยหนามนำใบมากรีด เป็นเส้นตอก นำมามัดแช่น้ำเพื่อให้นุ่ม ตากแดดจัดๆ เพื่อให้เส้นตอกแห้งและมีสีขาวนวลนำมานวดให้อ่อนนุ่ม และสานเป็นเสื่อไว้ใช้รองนั่งในบ้านหรือบนพื้นทราย (หน้า 136)
          ข้ออภิปรายต่อการนำเสนอผลงานของ ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถ นันทจักร  อาจารย์ชูพินิจ  เกษมณี ผู้ดำเนินรายการ (หน้า 139) ศาสตราจารย์ ดร.อมรา  พงศาพิชญ์ (หน้า 140) ดร.ชยันต์  วรรธนะภูติ (หน้า 146) ดร.ปริตตา  เฉลิมเผ่า  กออนันตกูล (หน้า 152) ดร.ขวัญชีวัน  บัวแดง (หน้า 159) 
            ข้อเสนออภิปรายต่อการนำเสนอผลงานของ ดร.ขวัญชีวัน  บัวแดง และดร.นฤมล อรุโณทัย (หิญชีระนันท์)  อาจารย์ชูพินิจ เกษมณี  ผู้ดำเนินรายการ     (หน้า 167) รองศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว (หน้า 189)  ดร.พิเชฏฐ์ กาลามเกษตร์ (หน้า 196) บทสรุป  ดร.อานันท์  กาญจนพันธุ์ (หน้า 203 )
           ประวัติผู้เสนอบทความ   ดร.ขวัญชีวัน  บัวแดง (หน้า 211)  ดร.นฤมล  อรุโณทัย (หน้า 211)  ดร.ประสิทธิ์  ลีปรีชา (หน้า 212)  ดร.อรรถ นันทจักร (หน้า 212)     
 
ตาราง       
          ประชากรม้งในประเทศต่างๆ (หน้า 27) การกระจายตัวของประชากรม้งในประเทศไทย (หน้า 28) ชื่อทั่วไปและชื่อเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล (หน้า 113)
 
แผนผัง  
          ชาวเล  มอแกน  มอแกลน  อูรักลาโว้ย  และกลุ่มย่อย (หน้า 114) 

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 07 มิ.ย 2562
TAG ม้ง, ลาวพวน, ผู้ไท, ลาวโซ่ง, กะเหรี่ยง, ชาวเล, มายาคติ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง