สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject การรักษา สุขภาพ ไทยลาว ไทยเขมร ภาคอีสาน
Author ทักษิณา ไกรราช
Title มิติทางวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสาน
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text -
Ethnic Identity ขแมร์ลือ คะแมร คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรถิ่นไทย, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  Total Pages 279 Year 2558
Source มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Abstract

งานเขียนกล่าวถึงการศึกษาแบบพื้นบ้าน ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว ที่หมู่บ้านรุ่งอรุณ อำเภอเมือง  จังหวัดมหาสารคาม และกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรที่บ้านเขื่อนดิน  ตำบลมีประชา  อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  ในการศึกษานั้นได้ศึกษาสามประเด็นสำคัญคือ ความรู้ที่ประกอบเป็นวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน อย่างที่สองคือพลวัตของนิยามความหมายสุขภาพกับความเจ็บป่วยนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางสังคมเศรษฐกิจ และการเข้ามาของระบบการแพทย์สมัยใหม่ และการดำรงอยู่ของการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านอยู่ภายใต้การดูแลสุขภาพที่มีความหลากหลาย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การดูแลสุขภาพของกลุ่มไทยลาว และกลุ่มไทยเขมรนั้น มีการผสมผสานทางความเชื่อระหว่างผี พราหมณ์และพุทธ นอกจากนี้ยังมีการดูแลสุขภาพอนามัยจากการกินอาหารในชีวิตประจำวัน และการถือขะลำหรือข้อห้ามต่างๆ   

Focus

            เพื่อศึกษาความรู้ที่ประกอบเป็นวัฒนธรรมในการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว และไทยเขมร และการถ่ายทอดความรู้ (หน้า 6)
            ศึกษาพลวัตของนิยามความหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน และภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคม และการเข้ามาของระบบการแพทย์วิชาชีพ และศึกษาการดำรงอยู่ของการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน ภายใต้ระบบดูแลสุขภาพที่หลากหลาย (หน้า 6)  

Theoretical Issues

แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษา
1. แนวคิดระบบการแพทย์    ที่ได้อธิบายถึงการศึกษาเรื่องระบบการแพทย์ โดยให้พิจารณาองค์ความรู้ของความเชื่อ เทคนิค วิธีการ ประเพณี ซึ่งมีความสัมพันธ์ ครอบคลุมทั้งในการปฏิบัติทางการแพทย์ และที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์ สถาบันในระบบและนอกระบบ รวมทั้งการปฏิบัติที่เกี่ยวกับสุขภาพ แนวคิดนี้เชื่อว่า ระบบการแพทย์เป็นผลผลิตหรือเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งระบบการแพทย์นั้นมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่  ความเชื่อเกี่ยวกับเหตุของความป่วยไข้ไม่สบาย, วิธีการดูแลรักษาพยาบาล, ผู้ให้บริการการรักษา, ผู้รับบริการด้านการรักษา  (หน้า 28)
2. แนวคิดการแพทย์พหุลักษณ์
คือ ในแต่ละสังคมมีการดูแลสุขภาพหลายระบบ แต่อย่างน้อยที่สุดก็มีระบบการดูแลสุขภาพที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบด้วยระบบย่อยที่ซ้อนทับกันสามระบบได้แก่ ระบบการดูแลสุขภาพแบบสามัญชน  ระบบการดูแลแบบพื้นบ้าน และระบบการดูแลสุขภาพแบบวิชาชีพ (หน้า 29)
             ในการศึกษา ผู้วิจัยได้นำแนวคิดทฤษฎีมาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการอธิบายกรอบแนวคิดในการวิจันดังนี้  ประเด็นแรก เป็นการอธิบายให้เห็นว่าการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านนั้นดำรงอยู่ได้เนื่องจากชาวบ้านมีความรู้ในการดูแลสุขภาพ และการถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้านมีความรู้ในการดูแลสุขภาพอย่างดีทั้งในเรื่องของการอธิบายสาเหตุของโรคภัย นิยามของสุขภาพและความเจ็บป่วย  วิธีการในการดูแลสุขภาพในเวลาปกติ รวมทั้งข้อห้ามทั้งหลาย วิธีการในการรักษาเมื่อป่วยไข้ไม่สบาย (หน้า 32) ประเด็นที่สองนั้น เป็นการวิเคราะห์ให้เห็นว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการเข้ามาของระบบการแพทย์วิชาชีพ  การดูแลสุขภาพของชาวบ้านทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว และกลุ่มชาติพันธุ์เขมรไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มีการพลวัต (หน้า 32) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเข้ามาของการแพทย์วิชาชีพ (หน้า 33) ประเด็นที่สาม ในการศึกษาการดำรงอยู่ของการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านภายใต้ระบบการดูแลสุขภาพที่หลากหลาย จำเป็นต้องวิเคราะห์ให้เห็นถึงช่องว่างที่ระบบการแพทย์ ไม่อาจผูกขาดการดูแลสุขภาพได้ทั้งหมด  ช่องว่างหรือข้อจำกัดดังกล่าวจึงทำให้เกิดการดูแลสุขภาพที่หลากหลาย (หน้า 33)

Ethnic Group in the Focus

ชาติพันธุ์ไทยลาว
            หมายถึงกลุ่มประชากรศึกษาชาติพันธุ์ไทยลาว ที่อยู่ หมู่บ้านรุ่งอรุณ อำเภอเมือง มหาสารคาม  (หน้า 34)
 
ชาติพันธุ์ไทยเขมร
           กลุ่มประชากรศึกษา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร บ้านเขื่อนดิน  ตำบลมีประชา  อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  (หน้า 77)

Language and Linguistic Affiliations

หมู่บ้านรุ่งอรุณที่อยู่ของชาติพันธุ์ไทยลาว  
             คนในหมู่บ้านรุ่งอรุณพูดคุยกันด้วยภาษาอีสานในชีวิตประจำวัน (หน้า 39)
 
 
หมู่บ้านเขื่อนดิน ที่อยู่ชาติพันธุ์ไทยเขมร
           บ้านเขื่อนดิน  ตำบลมีประชา  อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  คนในหมู่บ้านพูดคุยกันด้วยภาษาเขมร แต่ถ้าสนทนากับคนต่างถิ่นจะพูดภาษาไทยภาคกลาง ในพื้นที่ศึกษานั้นคนส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยภาคกลางได้เกือบทุกคน แต่ถ้าในกลุ่มคนสูงวัยอายุมากกว่า 70ปีจะพูดภาษาไทยภาคกลางไม่ค่อยได้ แต่ถ้าอายุมากกว่า 80ปีจะไม่สามารถพูดภาษาไทยภาคกลางได้เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้เรียนภาษาไทยในโรงเรียนนั่นเอง  (หน้า 81) 

Study Period (Data Collection)

ธันวาคม 2545-เมษายน 2546 (หน้า 7) 

History of the Group and Community

ประวัติหมู่บ้านรุ่งอรุณที่อยู่ของชาติพันธุ์ไทยลาว
              หมู่บ้านก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2376  โดยมีชาวบ้านจากจังหวัดร้อย (หน้า 34) กับชาวบ้านจากจังหวัดมหาสารคาม ย้ายมาตั้งบ้านเรือนที่นี่ เนื่องจากพิจารณาว่าเป็นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการเพาะปลูก (หน้า 35) 
 
 ประวัติหมู่บ้านเขื่อนดิน ที่อยู่ชาติพันธุ์ไทยเขมร
           บ้านเขื่อนดิน  ตำบลมีประชา  อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ชื่อของหมู่บ้านตั้งมาจากที่ที่ตั้งของหมู่บ้านมีเขื่อนขนาดย่อมๆ ความเป็นมาคือมีพระชื่อหลวงพ่อเสาร์ได้พาชาวบ้านมาช่วยกันสร้างเขื่อนเพื่อเก็บน้ำไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้พื้นที่หมู่บ้านยังมีความสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืช ดังนั้น เมื่อมีคนมาอยู่เป็นจำนวนมากจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านเขื่อนดิน” นั่นเอง (หน้า 77)

Settlement Pattern

บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร
            กล่าวถึงลักษณะการใช้สอยบริเวณบ้านของกลุ่มไทยเขมร ที่บ้านเขื่อนดินว่า ผู้หญิงสูงวัยมักนั่งทอผ้าที่บริเวณใต้ถุนบ้าน  โดยบ้านแต่ละหลังนั้นจะมีกี่กระตุก ตั้งอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านเกือบทุกหลังคาเรือน ส่วนบริเวณบ้านจะใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์โดยปลูกพืชผักสวนครัว ส่วนในกลุ่มผู้ชายจะใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านเป็นที่นั่งประดิษฐ์เครื่องจักสานเพื่อใช้สอยในครัวเรือน เช่นสานสุ่ม สาน ตะข้อง และอื่นๆ  (หน้า 81)

Demography

ประชากรของหมู่บ้านรุ่งอรุณที่อยู่ของชาติพันธุ์ไทยลาว
          ในหมู่บ้านรุ่งอรุณมีจำนวนหลังคาเรือน 193 หลังคาเรือน  (หน้า 35)
 
ประชากรหมู่บ้านเขื่อนดิน ที่อยู่ชาติพันธุ์ไทยเขมร
           บ้านเขื่อนดิน  ตำบลมีประชา  อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  มีจำนวน 300 หลังคาเรือน (หน้า 77)

Economy

หมู่บ้านรุ่งอรุณ อำเภอเมือง  จังหวัดมหาสารคาม
           อาชีพหลักของชาวบ้านรุ่งอรุณ คือการทำนา และเลี้ยงวัวควาย จำนวน 5-6ตัวต่อบ้านและเลี้ยงไก่บ้านเพื่อเอาไว้ประกอบอาหารในครัวเรือน  ในบ้านบางหลังหากมีพื้นที่ก็จะขุดบ่อเลี้ยงปลา นอกจากนี้ยังนิยมปลูกพืชผักสวนครัวไว้ที่บริเวณบ้าน หรือที่สวนหรือที่นา  ในช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีการทำนานั้น ในกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงหลายคนนั้นจะไปทำงานรับจ้างที่โรงงานทอผ้าแห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอแกดำ  ซึ่งเป็นโรงงานทอเสื้อยืดไหมพรม โรงงานแห่งนี้เป็นของชาวต่างชาติที่เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 (หน้า 39)
         กลุ่มผู้หญิงที่อยู่ที่บ้าน ก็จะทอผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า และอื่นๆ เพื่อจำหน่าย เช่นฝากขายที่กลุ่มแม่บ้านรุ่งอรุณ และตลาดอื่นๆ  ส่วนกลุ่มผู้ชายก็จะเข้าเมืองไปทำงานก่อสร้าง โดยเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับทางรถยนต์ โดยได้ค่าแรงประมาณ 110-120 บาทต่อวัน(ค่าแรงในขณะนั้น) ส่วนผู้สูงอายุจะอยู่ที่บ้านเพื่อทำเครื่องจักสาร เพื่อใช้ในครัวเรือน และส่งขายในตัวเมืองมหาสารคาม (หน้า 39)  ส่วนการแลกเปลี่ยนสินค้านั้น ภายในหมู่บ้านมีตลาดนัดที่เปิดขายที่บริเวณศาลากลางบ้าน ทุกวันเสาร์ อีกด้วย (หน้า 35)   
 
อาหาร
           ชาวบ้านรุ่งอรุณ ชอบกิน น้ำพริกป่นปลา และกินผักหลากหลายชนิด (หน้า 39) สำหรับอาหารสุกๆ ดิบๆ ได้แก่ ลาบเลือด ลาบหมู  ลาบปลา ก้อย และอื่นๆ การกินผักกับอาหารต่างๆ นั้นมีความแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของอาหาร ลาบปลาจะกินกับผักที่มีรสเปรี้ยว  ลาบเนื้อจะกินกับผักที่มีรสขม สำหรับลาบเป็ดชอบกินกับผักที่มีรสมัน นอกจากนี้ยังชอบกินผักที่มีรสชาติอันหลากหลายเช่น ผักที่มีกลิ่นหอมสดชื่น  กลิ่นฉุน  ผักที่กินแล้วมีความซ่าและเผ็ด ผักที่มีรสฝาด  ได้แก่  ผักแพว  ผักเม็ก  ผักติ้ว  ผักกะโดน สะระแหน่ และอื่นๆ สำหรับการกินผักต่างๆ กับอาหารสุกๆ ดิบๆ ก็เพื่อต้องการดับกลิ่นสาบของเนื้อที่นำมาปรุงอาหาร และสมุนไพรที่กินกับอาหารนั้นจะช่วยให้ไม่ท้องอืด เมื่อกินอาหารประเภทลาบก้อยที่เป็นอาหารสุกๆ ดิบๆ (หน้า 40)
 
เศรษฐกิจของหมู่บ้านเขื่อนดิน ที่อยู่ของกลุ่มไทยเขมร
            ประชากรในพื้นที่ศึกษามีอาชีพเพาะปลูก โดยจะปลูกข้าวนาปีในหน้าฝน ที่หมู่บ้านเขื่อนดินนั้นจะทำนาปรังปีละครั้งเท่านั้น ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงจะทำแต่ไม่มาก การทำนาปรังจะใช้น้ำจากคลองชลประทาน  (หน้า 83) คนในหมู่บ้านกินข้าวเจ้า หรือ “บายกะชาย” เป็นอาหารหลัก สำหรับการกินข้าวเหนียว หรือไทยเขมรเรียก     “บายตะน๊อบ” จะปลูกพอทำข้าวต้มมัดในการทำบุญเท่านั้น (หน้า 83)
            กลุ่มไทยเขมรชอบปลูกผักเป็นรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวเช่น ปลูกพืชน้ำใกล้กับคลองส่งน้ำ เช่นผักบุ่ง  ผักกระเฉด ผักอีแป๊ะ ผักแขยง และอื่นๆ นอกจากนี้ในหมู่ยังมีร้านรับซื้อผักไปขายที่ตลาดในเมืองอีกด้วย (หน้า 83)  นอกจากนี้ในหลายครอบครัวยังนิยมขุดบ่อเลี้ยงปลา เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก ไว้ขาย ส่วนสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น  เลี้ยงวัวไว้ขาย  (หน้า 83) ในยามนอกฤดูทำนา ในกลุ่มผู้ชายจะรับจ้างทั่วไป บางส่วนก็ไปทำงานในเมือง ส่วนผู้หญิงจะทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน บางส่วนจะขายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว (หน้า 84) 

Social Organization

  หมอพื้นบ้านของไทยลาวบ้านรุ่งอรุณ      
            คนในสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวนั้นมีความนับถือหมอพื้นบ้าน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความรู้ในการรักษาทุกโรค เป็นผู้ที่มีความรอบรู้หลายอย่าง ได้แก่คนที่เป็นหมอสมุนไพร ในอดีตเคยบวชเรียน มีความรู้ด้านเวทมนต์ คาถา และดูดวงเป็น  คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อายุ 60ปีขึ้นไป  เป็นหมอรักษาด้วยจิตวิญาณไม่เรียกร้องเงินทองสิ่งของเป็นสิ่งตอบแทน  ในพื้นที่ศึกษามีหมอพื้นบ้านที่คนให้ความศรัทธาเลื่อมใส เพราะเป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรม ไม่ต่างอะไรกับพระสงฆ์  ซึ่งในความคิดเห็นของพวกเขาเห็นว่า คนที่เป็นหมอพื้นบ้านนั้น บางคนมีความเคร่งครัดต้อศีลปฏิบัติต่างๆ มาก เพราะมีหมอสมุนไพรบางรายที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ส่วนพระสงฆ์ยังฉันเนื้อสัตว์ เป็นต้น  (หน้า 63)
 
สังคมของไทยเขมรหมู่บ้านเขื่อนดิน
           ในหมู่บ้านคนในชุมชนมีความเกี่ยวข้องกันทางเครือญาติสองแบบคือ  การเป็นญาติพี่น้องกันตามสายเลือด และการเป็นเครือญาติจากการแต่งงาน ดังนั้นสังคมภายในหมู่บ้านผู้คนจึงมีความสนิทสนมกัน มีการช่วยเหลือเจือจุนกัน การแต่งงานส่วนใหญ่นิยมแต่งงานกับคนในชุมชนมากกว่าแต่งงานกับคนภายนอกชุมชน ดังนั้นจึงพบว่า ภายในหมู่บ้านมีครอบครัวใหญ่ๆ ไม่กี่ตระกูลเท่านั้น (หน้า 94) ในชุมชนบ้านเขื่อนดินไม่ค่อยพบปัญหาการหย่าร้าง เนื่องจากคนในชุมชนไม่นิยมไปทำงานต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะนิยมไปทำงานในเมืองแบบเช้าไปเย็นกลับ จึงทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว (หน้า 86)

Political Organization

ไม่มี

Belief System

ความเชื่อและศาสนาของกลุ่มไทยลาวหมู่บ้านรุ่งอรุณ
             กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวนับถือศาสนาพุทธและมีความเชื่อเรื่องผี โดยบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านจะมีป่าดอนปู่ตามีพื้นที่ประมาณ 44ไร่  (หน้า 35)
 
ความเชื่อและศาสนาของกลุ่มไทยเขมรหมู่บ้านเขื่อนดิน
            กลุ่มไทยเขมรนับถือศาสนาพุทธและมีความเชื่อเรื่องผี(หน้า 81) ดังจะเห็นตัวอย่างของการรักษาของ มอมะม็วด ในกลุ่มไทยเขมรซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับการรำผีฟ้า ได้แก่พิธี “โจลมะม็วด” ซึ่งคำว่า “โจล” คือการเข้าทรง กับคำว่า “มะม็วด” หรือคนที่เป็นร่างทรง ส่วนคนในชุมชนเรียก “กรูมะม็วด” ส่วนคำว่า “กรู” คนในชุมชนใช้เรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีโจลมะม็วด จะประกอบพิธีเมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนพิธีไหว้ครูของ       มอมะม็วดนั้น จะจัดในเดือนสามกับเดือนหกของปี (หน้า 102)

Education and Socialization

   หมู่บ้านรุ่งอรุณที่อยู่ของชาติพันธุ์ไทยลาว
                 คนหนุ่มสาวที่อยู่ในหมู่บ้านรุ่งอรุณส่วนมากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6  บางส่วนก็จบระดับชั้น ปวช.กับระดับ ปวส. ส่วนใหญ่จะเรียนที่วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรจังหวัดมหาสารคาม กับวิทยาลัยอาชีวศึกษา ส่วนคนที่จบระดับปริญญาตรีนั้นไม่ค่อยมี  ส่วนวัยกลางคนส่วนมากเรียนจบระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนคนสูงอายุส่วนมากจะไม่ได้เรียนหนังสือ และมีเป็นส่วนน้อยที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4ในกลุ่มผู้ชายสูงอายุส่วนมากจะเคยบวชเรียน (หน้า 39)
 
หมู่บ้านเขื่อนดินที่อยู่ของชาติพันธุ์ไทยเขมร
            จากการศึกษาพบว่า คนในชุมชนบ้านเขื่อนดินนั้น ส่วนมากคนหนุ่มสาวได้เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6ประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. บางส่วนก็เรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. โดยเรียนในโรงเรียนในเขตอำเภอเมือง สำหรับคนที่สำเร็จระดับปริญญาตรียังมีน้อย ในกลุ่มวัยกลางคนส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6หรือ 7ในกลุ่มคนสูงวัยโดยมากไม่ได้เข้าโรงงเรียน มีเพียงจำนวนน้อยที่เรียนจบชั้น ป. 4ในกลุ่มผู้ชายเคยบวชเรียนที่วัดประจำหมู่บ้าน (หน้า 81)แต่ในช่วง 5ปีที่แล้วได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนเมื่อ โรงเรียนการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. ได้เข้ามาเปิดสอนในพื้นที่ตำบลมีประชา เปิดสอนทุกวันพฤหัสบดีที่องค์การบริหารส่วนตำบล โดยเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยไม่มีการกำหนดเรื่องอายุในการเข้าศึกษา ฉะนั้นจึงมีคนในชุมชนบางส่วนได้เรียนเพิ่มพูนความรู้   (หน้า 83)
 
ป่าโรงเรียน
            นักเรียนได้เรียนรู้ประโยชน์ของพืชสมุนไพร และประโยชน์จากต้นไม้เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในป่าดังนั้นครู จึงทำป้ายติดราชื่อของต้นไม้เพื่อให้นักเรียนได้รู้ประโยชน์ของสมุนไพรและคุณค่าด้านต่างๆของต้นไม้นั้น  จากการศึกษาพบว่าในป่าโรงเรียนมีพืชสมุนไพรหายากหลายชนิด และพบต้นสมอเลือดขนาดใหญ่ที่เหลือเพียงหนึ่งต้นในพื้นที่ตำบลที่เป็นพื้นที่ศึกษา (หน้า 88)

Health and Medicine

การรักษาแบบพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวในหมู่บ้านรุ่งอรุณ
               ในหมู่บ้านมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บสมุนไพรมาใช้เวลาเจ็บป่วย (หน้า 9) และมีหมอรักษาแบบพื้นบ้าน 13คน โดยมีพ่อครูหมอธรรมหรือที่ชาวบ้านรุ่งอรุณเรียกว่า “หลวงปู่”  เป็นหมอพื้นบ้านที่คนในหมู่บ้านให้ความศรัทธาเลื่อมใส และมารับการรักษาแบบพื้นบ้านเป็นจำนวนมาก  ส่วนหน้าที่อื่นๆนอกจากการรักษาแบบพื้นบ้านแล้ว หลวงปู่ยังเป็นผู้นำในการถือศีลห้า ฉะนั้นแล้วในวันพระคนที่เป็นลูกศิษย์จึงมาฟังเทศน์ฟังธรรมที่บ้านหมอธรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน (หน้า 35) นอกจากนี้ในพื้นที่หมู่บ้าน ยังมีสมุนไพรจากพื้นที่ของวัดป่า ประจำหมู่บ้านชื่อวัดป่าท่าควาย ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 30ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน  โดยที่วัดมีพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำคนในหมู่บ้านเพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพป่าและปลูกสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาเมื่อเป็นไข้ไม่สบาย (หน้า 35)
           นอกจากนี้คนในหมู่บ้านรุ่งอรุณยังเดินทางไปรับการรักษาแบบพื้นบ้านที่หมู่บ้านใกล้เคียง เช่น หมู่บ้านหมอนขิต  หมู่บ้านพฤกษา และหมู่บ้านเหลี่ยมงาม สำหรับหมู่บ้านหมอนขิตนั้น ชาวบ้านรุ่งอรุณเดินทางไปรักษาเมื่อเจ็บป่วยเช่น รักษาโรคปะดง  โรคไข้หมากไม้ โรคทำมะลา โดยรักษากับหมอสมุนไพรรายหนึ่งซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมไปรับการรักษา ซึ่งหมอพื้นบ้านรายนี้มีประสบการณ์การรักษากว่า 40ปี  (หน้า 35) นอกจากนี้ที่บ้านหมอนขิตยังมีชาวบ้านที่เป็นหมอธรรม โดยชาวบ้านที่เป็นลูกศิษย์จะมาสวดมนต์ไหว้พระที่บ้านหมอธรรมในวันพระ และพื้นที่หมู่บ้านยังอยู่ติดกับโรงพยาบาลภูมิพลัง ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นป่าใหญ่ที่เป็นที่ตั้งของศาลปู่ตา กระทั่งทางการได้มีนโยบายสร้างโรงพยาบาลเมื่อ พ.ศ. 2537(หน้า 35) หลังจากที่สร้างโรงพยาบาลเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านจึงสร้างศาลปู่ตาที่ทำด้วยปูนขึ้นมาแทนศาลเดิม  (หน้า 36)
            ส่วนการรักษาโรคกระดูก คนในหมู่บ้านรุ่งอรุณจะไปรับการรักษาที่หมู่บ้านพฤกษาซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ มีหมอรักษากระดูกที่มีความสามารถในการรักษา หมู่บ้านพฤกษาแม้เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีเพียง 30หลังคาเรือน แต่ก็มีความเก่าแก่เพราะตั้งหมู่บ้านมากว่า 150ปี และยังมีป่าชุมชนประจำหมู่บ้านชื่อป่าโคกอีเฒ่าที่มีเนื้อที่กว่า 85ไร่ ที่ประกอบด้วยพืชพื้นบ้านที่เป็นสมุนไพรและใช้เป็นอาหารจำนวนมาก นอกจากนี้ในผืนป่าประจำหมู่บ้านยังมีวัดป่าโคกอีเฒ่า ที่มีพระสงฆ์เป็นนักอนุรักษ์ป่าและหมอพระที่มีความสามารถในการรักษาด้วยพืชสมุนไพร ส่วนการรักษาสมัยใหม่นั้นหมู่บ้านพฤกษายังตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลภูมิพลังดังนั้น จึงมีความสะดวกสบายในการเดินทางไปรับการรักษา (หน้า 36)
            และอีกหมู่บ้านคือบ้านเหลี่ยมงาม ชาวบ้านรุ่งอรุณจะเดินทางไปให้หมอพระที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรทำการรักษา นอกจากนี้หมู่บ้านเหลี่ยมงามยังมีหมอที่มีความชำนาญด้านการนวดยามเมื่อยล้าร่างกายอีกด้วย (หน้า 36)  
 
หมอพื้นบ้าน      
         ในความคิดเห็นของชาวบ้านนั้นได้แบ่ง หมอพื้นบ้านเป็น  4ระดับ ได้แก่
หมอพื้นบ้านระดับที่ 1คือ “พ่อครู” “แม่ครู”หรือ “ครูบา” กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความรู้ในการรักษาทุกโรค เป็นผู้ที่มีความรอบรู้หลายอย่าง ได้แก่คนที่เป็นหมอสมุนไพร ในอดีตเคยบวชเรียน มีความรู้ด้านเวทมนต์ คาถา และดูดวงเป็น  คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อายุ 60ปีขึ้นไป  คนเหล่านี้ เป็นหมอรักษาด้วยจิตวิญาณไม่เรียกร้องเงินทองสิ่งของเป็นสิ่งตอบแทน  ในพื้นที่ศึกษามีหมอพื้นบ้านที่คนให้ความศรัทธาเลื่อมใส เพราะเป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรม ไม่ต่างอะไรกับพระสงฆ์ (หน้า 63) นอกจากจะเน้นที่การรักษาแล้วยังให้กำลังใจและแนะนำด้านการรักษากับคนป่วยและญาติพี่น้อง  (หน้า 64)
            หมอพื้นบ้านระดับที่ 2   เป็นหมอพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค เช่นโรคเกี่ยวกับกระดูก  โรคปะดง  โรคทำมะลา  โรคไข้หมากไม้  โรคผีทำ และอื่นๆ  (หน้า 64)
           หมอพื้นบ้านระดับที่ 3   คือหมอที่รักษาโรคที่ไม่ยากรักษาได้ง่าย ได้แก่หมอเป่าที่รักษาโรคต่างๆ  เช่น โรคงูสวัด  งูพิษ  แมลงสัตว์มีพิษกัด และอื่นๆ  (หน้า 64)
           หมอพื้นบ้านระดับที่ 4  ได้แก่คนที่มีความสนใจด้านสมุนไพรจึงได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองหรือเรียนจากครูที่มีความเชี่ยวชาญ จากนั้นก็นำพืชสมุนไพรมาขายทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านอื่นๆ (หน้า 64)
 
การรักษาแบบพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรในหมู่บ้านเขื่อนดิน
            จากการศึกษาพบว่า หมู่บ้านเขื่อนดินมีหมอพื้นบ้าน 18คน โดยแบ่งออกเป็น   7อย่าง ดังนี้  หมอสมุนไพร  หมอเป่า  หมอกระดูก หมอตำแย  หมอนวด  หมอมะม็วด หมอพราหมณ์ ในจำนวนหมอพื้นบ้านเหล่านี้สามารถแยกเป็นสองประเภท                  1)  หมอพื้นบ้านที่รักษาด้วยกายบำบัด เช่น หมอยาสมุนไพร หมอกระดูก  หมอตำแย  หมอนวด   2)  หมอพื้นบ้านที่รักษาด้วยจิตบำบัด หรือหมอที่มีความเก่งกาจด้านการประกอบพิธีกรรม อาทิ หมอมะม็วด  หมอเป่า  หมอพราหมณ์ และอื่นๆ  (หน้า 95)
             หมอพื้นบ้านที่มีมากที่สุดได้แก่ หมอสมุนไพร  อันดับสองคือ หมอเป่า อันดับสามคือ หมอนวด  หมอพราหมณ์  หมอมะน๊วด อันดับที่สี่คือ หมอตำแย  หมอกระดูก (หน้า 95) คนที่เป็นหมอพื้นบ้านนั้น โดยมากเป็นคนชรา  เรียนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4โดยมากมีประวัติด้านการรักษามาไม่น้อยกว่า 30ปี (หน้า 95)
(หน้า 78) 

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มี

Folklore

เรื่องผีปู่ตาของกลุ่มไทยลาว
            ว่ากันว่าชาวอีสานมักเลือกผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่ตั้งหมู่บ้าน และเป็นที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ นอกจากนี้ยังเป็นที่หาอยู่หากินของคนในหมู่บ้าน เป็นที่เก็บผักป่าและหาสมุนไพร ทำเลที่ตั้งของป่าดอนป่าตา มักเลือกผืนป่าทางด้านตะวันออก หรือทางด้านหน้าของหมู่บ้าน ซึ่งตามความเชื่อแล้วการตั้งศาลปู่ตาก็เพื่อเป็นที่อยู่ของผีบรรพบุรุษที่มีหน้าที่ ปกปักรักษาคนในหมู่บ้าน ส่วนข้อยกเว้นสำหรับการใช้ผืนป่าดอนปู่ตา คือไม่อนุญาตให้คนใดเข้าไปตัดต้นไม้หรือล่าสัตว์ทุกชนิด หากไม่เชื่อฟังย่อมได้รับความเดือดร้อน หรือเกิดเรื่องไม่ดีทั้งหลายกับคนในหมู่บ้าน (หน้า 42)
             เช่นครั้งหนึ่งมีคนเข้าไปลักลอบตัดต้นไม้ในดอนปู่ตา แล้วคนดังกล่าวก็ดิ้นแล้วตายอย่างทุกข์ทรมาน  ในขณะที่จ้ำ (ขะจ้ำ) กับหมอธรรม ได้พูดถึงบุคลิกของผีปู่ตา เหมือนกันว่า ปู่ตาได้มาปรากฏตัวในฝัน รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะล้านเลี่ยน นุ่งโจงกระเบนสีดำไม่สวมเสื้อ สักยันต์ที่หลังและที่แขน ดังนั้นด้วยความเกรงกลัวและนับถือในอำนาจบารมีของปู่ตา เมื่อถึงเดือนหกก่อนที่จะมีการทำนา จึงมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีปู่ตา (หน้า 42) ดอนปู่ตาเป็นแหล่งสมุนไพรที่สำคัญ หากคนในหมู่บ้านหาสมุนไพรที่แห่งอื่นไม่ได้ก็จะไปเสาะแสวงหาที่ป่าดอนปูตา บางครั้งก็เข้าไปขอสมุนไพร ไปปลูกในพื้นที่หมู่บ้าน โดยให้ขำจ้ำทำพิธีขอ (หน้า 43)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มี

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงในสังคมบ้านรุ่งอรุณ
           การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความทันสมัยและทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านรุ่งอรุณ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตนั้นเกิดจาก เมื่อมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2525และในช่วง 10ปีที่ผ่านมานั้น เมื่อมีรถโดยสารวิ่งรับส่งระหว่างอำเภอแกดำกับตัวเมืองมหาสารคามทั้งวัน นอกจากนี้ยังมีรถเร่ขายของ ซึ่งมีทั้งที่เป็นมอเตอร์ไซค์ และรถกะบะได้นำอาหารแห้ง อาหารสด กับข้าวต่างๆ มาขายในหมู่บ้านรุ่งอรุณกับพื้นที่ใกล้เคียง และยังมีตลาดนัดซื้อขายภายในหมู่บ้าน ในพ.ศ. 2540ระบบสาธารณูปโภคด้านอื่นๆได้มีการพัฒนามาตามลำดับ ได้แก่มีประปาใช้ในหมู่บ้าน  ส่วนการติดตั้งโทรศัพท์บ้านนั้นไม่เป็นที่นิยมเพราะชาวบ้านไม่อยากเสียเงินค่าบำรุง แต่นิยมใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่าเพราะมีความสะดวกสบายพกพาไปไหนก็ได้ (หน้า 40)
             ส่วนการไถนานั้นไม่นิยมใช้ความไถนาเหมือนเช่นอดีต แต่เปลี่ยนมาใช้รถไถนา มีทั้งที่ซื้อเองและไปจ้างคนอื่น  ดังนั้นจึงทำให้คนในหมู่บ้านลดความสำคัญของควายที่ในอดีตใช้เป็นแรงงานไถนา ถือว่าเป็นสัตว์ใช้แรงงานที่มีบุญคุณในการทำนา จากการศึกษาที่พบคือชาวบ้านมีการบริโภคเนื้อควายมากกว่าในอดีต ปรากฎการณ์ที่พบคือชาวบ้าน เริ่มมีหนี้สินจากการยืมเงินจาก ธกส. มาซื้อรถไถนาหรือสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน  ส่วนการเกี่ยวข้าวนิยมเกี่ยวข้าวด้วยมือ ซึ่งคนในหมู่บ้านจะเกี่ยวข้าวกันเองในครอบครัวเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว บางครั้งหากแรงงานไม่พอก็จะจ้างแรงงานในหมู่บ้าน (หน้า 40) บางครั้งก็ลงแขกเกี่ยวข้าวในกลุ่มเครือญาติโดยทำงานสับเปลี่ยนกันเว้นวัน โดยเลี้ยงข้าวปลาอาหารตอบแทนในช่วงกลางวัน (หน้า 41) ส่วนการจ้างงานเกี่ยวจะอยู่ที่ 140บาทต่อวัน หรือ 150บาทต่อวัน(ในช่วงที่ทำวิจัย) แต่ถ้าหากมีการแย่งแรงงานกันค่าแรงก็เพิ่มสูงขึ้น สำหรับการเกี่ยวข้าวด้วยมือนั้นทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้เมล็ดข้าวไม่มีความชื้นขายได้ราคาดีกว่าใช้รถเกี่ยวข้าว ที่ทำให้ข้าวมีความชื้นและขายได้ราคาไม่ดีเท่ากับข้าวที่เกี่ยวด้วยมือ (หน้า 41)
            สำหรับการเปลี่ยนแปลงในสังคมบ้านรุ่งอรุณอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในกลุ่มที่เดินทางไปทำงานต่างจังหวัดหรือทำงานต่างประเทศนั้น ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการหย่าร้างตามมา  งานเขียนระบุว่า ในกลุ่มวัยรุ่นที่เรียนจบในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6แล้ว ถ้าไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็จะไปทำงานในกรุงเทพฯ ในคนหนุ่มสาว ส่วนหนึ่งจะไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือไปทำงานต่างประเทศ สำหรับผู้ชายนิยมไปขายแรงงานที่ไต้หวัน  ในกลุ่มผู้หญิงจะเดินทางไปทำงานอาชีพแม่บ้านที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งการอพยพไปทำงานทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศนั้น จึงส่งผลให้ครอบครัวในหมู่บ้าน      รุ่งอรุณหลายคู่เกิดการหย่าร้าง ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา (หน้า 42)
 
การเปลี่ยนแปลงในสังคมบ้านเขื่อนดิน
            การเปลี่ยนแปลงต่างๆในหมู่บ้านเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านเขื่อนดิน เมื่อ พ.ศ. 2524ดังนั้นจึงนำไปสู่ความทันสมัย และเมื่อประมาณ 10กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีรถโดยสารประจำทาง วิ่งโดยสารจากหมู่บ้าน ไปตัวเมือง เช้ากับเย็น วันละสองรอบ   และมีรถเร่ขายอาหาร ทั้งที่เป็นรถกะบะและรถมอเตอร์ไซค์ วิ่งไปจำหน่ายสินค้าของกินของใช้ภายในหมู่บ้าน (หน้า 85)
           นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในการทำนาได้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542เมื่อมีรถเกี่ยวข้าวภายนอกชุมชนเข้ามารับจ้างเกี่ยวข้าว รถเหล่านี้มาจากตัวเมืองสุรินทร์ และจากจังหวัดอยุธยา สำหรับอัตราค่าจ้างเกี่ยวข้าวในเวลานั้นจะคิดราคาอยู่ที่ 420บาท การเกี่ยวข้าวด้วยรถได้รับความนิยมเนื่องจากมีความสะดวกสบาย แต่ทำให้เสียเวลาตรงที่ต้องมาตากข้าวให้แห้งโดยใช้เวลาประมาณ 4-5วัน  เมื่อขายข้าวได้แล้วรายได้บางส่วนก็นำไปชำระหนี้จากการกู้ยืมต่างๆ  (หน้า 85)
           และเมื่อ 3ปีที่แล้วองค์การโทรศัพท์ได้เข้ามาบริการ ขณะที่คนในชุมชนไม่ได้มีความกระตือรือร้นที่จะติดตั้งโทรศัพท์บ้านเพราะเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง นอกจากนี้กลุ่มไทยเขมรยังไม่ค่อยชอบใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะใช้โทรศัพท์ (หน้า 85) การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยนั้นทำให้กลุ่มคนไทยเขมรเป็นหนี้สินมากขึ้น เนื่องจากคนในชุมชนมีค่านิยมซึ่งเปลี่ยนไปจากอดีต เช่นกลุ่มลูกหลานชอบขับขี่มอเตอร์ไซค์ จึงเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองในการไปกู้หนี้ยืมสิน เพื่อซื้อหาสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ติดหนี้ธนาคารเป็นเงินจำนวนมาก  (หน้า 86) 

Other Issues

            จากการศึกษาพบว่า กลุ่มไทยลาว และกลุ่มไทยเขมรนั้นกินผักที่เหมือนกัน แต่เรียกชื่อไม่เหมือนกันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น
        ไทยกลาง                        ไทยลาว                    ไทยเขมร 
           ชะออม                             ผักขา                          สะอ็อม
           ตำลึก                               ตำนิน                          บาฮ
           (ไม่บอกชื่อ)                      ผักแพว                        กะสังตุมฮุม
           ผักกะเฉด                         ผักกะเฉด                     ผักกันเชดตึก
           ขี้เหล็ก                             ขี้เหล็ก                         อังกัญ
           มะรุมป่า                            มะรุมป่า                        มะรุม ปเร็ญ
           ฟัก                                   ฟัก                              ปร็อฮ 
           ดูตัวอย่าง (หน้า 92)

Map/Illustration

ตาราง
         ตัวอย่างพืชผักพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวนิยมรับประทานอาหารตามฤดูกาล กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว (หน้า 50) ข้อมูลทั่วไปของแต่ละหมู่บ้านพื้นที่วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว (หน้า 54) ข้อมูลทั่วไปของหมอพื้นบ้านพื้นที่วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว (หน้า 62) ข้อมูลทั่วไปพื้นที่วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร (หน้า 93) ข้อมูลทั่วไปของหมอพื้นบ้านพื้นที่วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร (หน้า 96) พืชสมุนไพรใช้รักษาโรคที่เกิดตามฤดูของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว (หน้า 137)
 
ภาพ
              แผนที่ ตั้งพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวในจังหวัดมหาสารคาม (หน้า 8) แผนที่ ตั้งพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรในจังหวัดสุรินทร์ (หน้า 10) แผนภูมิระบบสุขภาพการดูแลสุขภาพท้องถิ่น :โครงสร้างภายใน Kleinman (30) แผนที่พื้นที่วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว จังหวัดมหาสารคาม (หน้า 38) วิถีปฏิบัติในการบำบัดรักษาสี่ประเภท (หน้า 60) กองขันธ์ห้าที่บ้านหมอธรรม (หน้า 70) แผนภูมิทุนทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว (หน้า 76) พื้นที่วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร จังหวัดสุรินทร์ (หน้า 80) หญิงชรากำลังนั่งปั่นฝ้าย (หน้า 82) พิธีโจลมะม็วด (หน้า 104) มอมะม็วดทำพิธีเรียกขวัญ (หน้า 104) แผนภูมิทุนทางสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร (หน้า 107) ชาวบ้านฟังเทศน์ นั่งสมาธิที่บ้านหมอธรรม (หน้า 132) พิธีสะเดาะเคราะห์โดยหมอธรรม (หน้า 132) หญิงหลังคลอดขณะอยู่กรรม (หน้า 146) การนวดรักษามดลูก (หน้า 149)  พ่อครูหมอจับเส้น (หน้า 149)
               พิธีกัด ส็อก บังก๊อกจมอบ (หน้า 195) เด็กไว้ผมจุก แกละ โก๊ะ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร (หน้า 198) การสนทนากลุ่ม กลุ่มแม่บ้านเกี่ยวกับความรู้เรื่องพืชผักสมุนไพร (หน้า 211) ตาโทนกับยาสมุนไพรที่รับประทานเป็นยาประจำ     (หน้า 213) รถกะบะเร่ขายยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ (หน้า 215) พ่อครูหมอยาสมุนไพรกับยาฝน (หน้า 219) จมอบบุราณโกยมดลูกหญิงหลังคลอด (หน้า 221) จมอบบุราณยกมดลูกหญิงหลังคลอด (หน้า 221) นางเขมรรับการรักษากับนายสา พ่อครูหมอพื้นบ้าน (หน้า 224) หมอกระดูกเป่าคาถาบริเวณบาดเจ็บ (หน้า 227) การทำพิธี “เลียก” ใช้ไข่ไก่ดูดสิ่งชั่วร้ายออกจากร่างกาย (หน้า 231) พิธีโจลมะม็วด การเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่าง (หน้า 231) ผู้ป่วยโรคกระดูขอรับการใส่เฝือกไม้ไผ่กับหมอกระดูกพื้นบ้าน (หน้า 244) ไพลแปะกระหม่อมป้องกันและรักษาอาการหวัด (หน้า 244) 

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 05 ม.ค. 2566
TAG การรักษา, สุขภาพ, ไทยลาว, ไทยเขมร, ภาคอีสาน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง