สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่า ไตเอวลาย การธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ เชียงราย ประเทศไทย
Author จุไรรัตน์ วรรณศิริ และเลหล้า ตรีเอกานุกูล
Title การดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไตหย่าในประเทศไทย : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงราย
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไตหย่า ไทหย่า ไต, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 150 Year 2552
Source มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
Abstract

          งานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลภาคสนามโดยเลือกเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ(การสร้างแบบสอบถาม และนำมาวิเคราะห์ผ่านกระบวนการทางสถิติ) และเชิงคุณภาพ(ใช้วิธีการด้านชาติพันธุ์วรรณา การสัมภาษณ์) ผ่านกลุ่มตัวอย่างที่มีเชื้อสายไตหย่า 139 คน
          ภาพรวมของงานศึกษาวิจัย และผลการศึกษา พบว่าชาวไตหย่า หรือไตเอวลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อพยพมาจากบ้านหย่า ตำบลโมซาเจียง อำเภอซินผิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน สู่ประเทศไทยด้วยเหตุผลทางด้านการเมือง และความเชื่อเป็นหลัก ชาวไตหย่ามีภาษาพูดเป็นของกลุ่มตนเอง อยู่ในตระกูลภาษาไท แต่ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง มีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ชัดเจนซึ่งสะท้อนออกมาผ่านวัฒนธรรมด้านต่างๆ ทั้ง อาหาร ที่อยู่อาศัย การรักษาโรค การจักรสาน และการแต่งกาย นอกจากนี้จากข้อมูลเชิงปริมาณพบกว่าชาวไตหย่าส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดกระบวนการที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมไตหย่าไว้เพื่อลูกหลานมีความภาคภูมิใจในเชื้อสายไตหย่า กระทั่งเกิดชมรมไตหย่าขึ้นเพื่อสืบสานอัตลักษณ์ไตหย่าเอาไว้(หน้า 111-113)

Focus

ศึกษาลักษณะอัตลักษณ์ของชาวไตหย่า และการอนุรักษ์วัฒนธรรมไตหย่าเมื่อเกิดการผสมกลมกลืนของวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมไตหย่า และวัฒนธรรมไทยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย  (หน้า 3)

Theoretical Issues

          แนวคิดทางมานุษยวิทยาที่สามารถเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ในงานวิจัยได้อย่างชัดเจน คือแนวคิดเกี่ยวกับ การปรับตัวทางวัฒนธรรม และการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม รวมไปถึงแนวคิดเรื่องการรวมกลุ่ม
          สำหรับแนวคิดด้านการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการที่สิ่งแวดล้อมส่งผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ และเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดวัฒนธรรมมนุษย์ ซึ่งสามารถสะท้อนได้ผ่านปรากฏการณ์การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย ชาวไตหย่าจำเป็นต้องละทิ้งอัตลักษณ์ไตหย่าบางอย่างเมื่อออกมานอกบ้าน และมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยภาคเหนือ เช่น แต่งชุดทั่วไป พูดภาษาไทยพื้นถิ่น และไม่รับประทานสุนัข รวมไปถึงการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจน
          แนวคิดเรื่องการรวมกลุ่ม สะท้อนผ่านความสัมพันธ์เชิงเครือญาติของชาวไตหย่าที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยาย และกลายเป็นชุมชนซึ่งสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชาวไตหย่า
(หน้า 114-116)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่า ชาวจีนเรียกกลุ่มนี้ว่า ฮวาเย่าไต (Hvayaodai) แปลว่า ไตเอวลาย (Flowery Belted) (หน้า 2, 31) 

Language and Linguistic Affiliations

            ภาษาไตหย่า มีเพียงภาษาพูด และไม่มีภาษาเขียน จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาตระกูลไท คำในระบบภาษาส่วนใหญ่เป็นคำโดด หรือคำพยางค์เดียว (monosyllabic language) มีระบบเสียงทั้งหมด 41 หน่วยเสียง แบ่งเป็นเสียงพยัญชนะ 18 เสียง เสียงสระ 18 เสียง และเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง มีคำสรรพนามเพียง 7 คำ ได้แก่ เฮา เกา สำหรับบุรุษที่ 1 เมอ สู สำหรับบุรุษที่ 2 และ มัน เขา เปิ้น เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 และมักใช้คำเรียกเครือญาติแทนคำสรรพนาม (หน้า 33-34)
           ส่วนภาษาเขียน มีการใช้ตัวอักษรจีนเขียนตามภาษาพูดของชาวไตหย่าแทน (หน้า35)

Study Period (Data Collection)

งานชิ้นนี้ทำการวิจัยในช่วงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 – 30กันยายน 2552 รวม 10 เดือน โดยมีการออกภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่การวิจัย คือ มกราคม – เมษายน 2552 รวม 4 เดือน (หน้า 26, 28-29)

History of the Group and Community

           กลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศจีน ตำบลโมซาเจียง อำเภอซินผิง จังหวัดยี่ซี มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของแม่น้ำแดง ปัจจุบันมีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศจีน และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบสิบสองปันนา(ตอนใต้ของประเทศจีน) พม่า และไทย ชาวไตหย่าเริ่มอพยพเข้ามายังดินแดนประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2470 เพื่อติดตามมิชชันนารีที่จะเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย โดยใช้เส้นทางเดินเท้าจากเมืองหย่า ผ่านเมืองซือเหมา สิบสองปันนา ยอง และเข้าดินแดนประเทศไทยทางอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย เมื่อมาถึงประเทศไทยก็มีการตั้งครอบครัว และชุมชนผสมกลมกลืนกับคนไทยพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย และครั้งที่ 2 ในปี พ. ศ. 2476 ซึ่งเป็นการอพยพครั้งใหญ่ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ชาวไตหย่าต้องอพยพจากประเทศจีน มาสู่ประเทศอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาด้านความเชื่อ และศาสนา ในอดีตชาวไตหย่านับถือความเชื่อท้องถิ่น หรือการนับถือผีบรรพบุรุษ แต่เมื่อมีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้กับชาวไตหย่าคนส่วนใหญ่จึงหันไปนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งขัดกับความต้องการของรัฐบาลจีนขณะนั้นที่ต้องการรักษาความเป็นชาตินิยมในหมู่คนจีนไว้ จึงมีการกีดกัน และควบคุมการนับถือศาสนา นอกจากนี้ชาวไตหย่ายังถูกจำกัดเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ทำให้ชาวไตหย่าบางส่วนตัดสินใจที่จะอพยพย้ายถิ่นฐานตามมิชชันนารีมายังประเทศไทย เพราะได้ยินข่าวเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประเทศไทย (หน้า 2, 31-32)

Settlement Pattern

          ชาวไตหย่ามีรูปแบบการสร้างบ้านเรือนที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม และสามารถเป็นภาพแทนแสดงถึงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่าได้ คือการนำดินมาปั้นเป็นก้อนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 7x10 นิ้ว นำมาตากแห้งแล้วก่อเป็นโครงสร้างบ้านโดยไม่มีการเผา ใช้น้ำโคลน หรือดินเปียกเป็นตัวเชื่อมระหว่างก้อนดินให้ติดประสานกัน ลักษณะของบ้านเป็นบ้าน 2 ชั้น และแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นส่วนๆ ได้แก่ ชั้นล่างประกอบไปด้วยห้องครัว โถงรับประทานอาหาร หรือทำกิจกรรมต่างๆ ชั้นบนเป็นห้องนอน ส่วนหลังคาบ้านจะถูกปรับเป็นดาดฟ้าเรียบๆ เพื่อใช้ตากข้าว หรือพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ชาวไตหย่าไม่นิยมสร้างหน้าต่างบริเวณตัวบ้านจึงทำให้บ้านค่อนข้างมีความมืด และอับ โดยมีขนาดหน้าต่างประมาณ 30 เซนติเมตร และมีเพียง 1- 2บานเท่านั้น บริเวณรอบๆ บ้านอาจจะมีคอกสัตว์ซึ่งสร้างด้วยดินปั้นเช่นเดียวกับตัวบ้าน แต่เมื่อชาวไตหย่าอพยพเข้ามายังประเทศไทยการสร้างบ้านด้วยดินก็ค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลงเนื่องมาจากดินที่ประเทศไทย และที่ประเทศจีนมีความแตกต่างกันเนื่องมาจากดินที่ประเทศไทยเมื่อถูกน้ำฝนจะถูกชะออกมาได้ง่ายกว่าที่จีน รวมไปถึงในอดีตมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานบ่อยการสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่จึงได้รับความนิยมมากกว่า ในปัจจุบันชาวไตหย่าในเชียงนิยมสร้างบ้านที่ทันสมัย และคงทนถาวรมากขึ้น โดยตัวบ้านทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือก่ออิฐถือปูน มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเป็นหลัก
(หน้า 35,79-80)

Demography

         ประเทศไทยมีชาวไตหย่าประมาณ 1,000 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดเชียงราย ขณะที่ประเทศจีนมีประชากรชาวไตหย่าประมาณ 40,000 คน ชาวไตหย่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ประเทศจีน เริ่มอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศไทยครั้งแรกในปีพ.ศ. 2470 และพ.ศ. 2476 หลังจากนั้นเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็มีการอพยพย้ายเพื่อหาที่ดินทำกิน และทรัพยากร คือ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองกลม อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย (พ.ศ.2472) เป็นที่แรก ก่อนที่ชาวไตหย่าบางส่วนจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังอำเภอต่างๆ ของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ บ้านป่าสักขวาง อำเภอแม่จัน (พ.ศ.2475) บ้านน้ำบ่อขาว อำเภอแม่สาย (พ.ศ.2484) บ้านหนองปึ๋ง อำเภอเมือง (พ.ศ.2490) บ้านป่าม่วง อำเภอเมือง (พ.ศ.2491) บ้านฟักฟื้น และประตูเชียงใหม่ อำเภอเมือง (พ.ศ.2493) บ้านน้ำลัด อำเภอเมือง (พ.ศ.2506) บ้านวังดิน อำเภอเมือง (พ.ศ.2508) บ้านท่าทราย อำเภอเมือง (พ.ศ.2510) กระทั่งปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานถาวรของชาวไตหย่ากระจายอยู่ทั่วจังหวัดเชียงราย (หน้า 2, 54-63)

Economy

          ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานของชาวไตหย่าอยู่ในรูปแบบวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม เพื่อเลี้ยงชีพตัวเอง รายได้หลักมาจากงานหัตถกรรมเครื่องจักสาน และผลผลิตจากการเกษตร ใช้แรงงานคน และสัตว์เป็นตัวขับเคลื่อนระบบ ใช้ระบบแลกเปลี่ยนเงินตราตามปกติเพื่อใช้ซื้อของ โดยชาวไตหย่ามีการแบ่งทรัพย์สินเป็นส่วนรวม(ระบบกงสี) และส่วนตัว อาชีพที่ชาวไตหย่าประกอบส่วนใหญ่ คือ ชาวนา ชาวไร่ ทอเสื่อ และรับราชการ
          ลักษณะอาหารการกินของชาวไตหย่า มีอาหารหลักคือ ข้าวเหนียว และทานผักที่มีตามท้องถิ่น รวมถึงมีวัฒนธรรมในการถนอมอาหารด้วยการหมักดองโดยนำไปใส่ใน ต่อม หรืออ่อม มีลักษณะเหมือนไห แต่มีฝาปิด นอกจากนี้อาหารที่แสดงความเป็นชาวไตหย่าคือ การรับประทานเนื้อสุนัขผัดกับใบกุ้ยช่าย ซึ่งถือเป็นอาหารปกติสำหรับชาวไตหย่า และมีอาหารพิเศษที่จะปรุงขึ้นเฉพาะงานเท่านั้น คือ ข้าวแกงท่าง คือข้าวเหนียวต้มใส่น้ำอ้อย โดยนิยมปรุงเพื่อใช้ในงานศพ 
(หน้า 35,40,72-73) 

Social Organization

          ลักษณะความสัมพันธ์ทางเครือญาติของชาวไตหย่า มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย โดยจะอยู่รวมกันในบ้านเดียวกัน โดยลูกชายคนโตของครอบครัวจะต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และแต่งสะใภ้เข้าบ้าน โดยสะใภ้คนโตจะต้องทำงานทั้งในบ้าน(ปรนนิบัติครอบครัวสามี) และทำงานนอกบ้าน(เป็นเกษตรกร) การนับญาติของชาวไตหย่าจะแบ่งเป็น 2 ระบบคือ กลุ่มชั้นต้น หรือกลุ่มสายตรง คือคนภายในครอบครัวของตนเอง และกลุ่มสายรอง หรือสายอ้อม คือกลุ่มญาติ หรือครอบครัวของเขย หรือสะใภ้ซึ่งจะนับว่าเป็นญาติกันหมด มีการสืบสายตระกูลทางบิดา และมีระบบนับญาติระดับสูงจากตนเองขึ้นไป 5 รุ่น ได้แก่ รุ่นทวด รุ่นปู่ย่า–ตายาย รุ่นป้า น้า อา ลุง รุ่นพ่อ – แม่ รุ่นพี่ และญาติระดับต่ำกว่ามี 5 รุ่น คือ รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน รุ่นหล่อน(หน้า 37-38)
          สำหรับผู้นำในครอบครัวจะมีสามีเป็นผู้นำครอบครัว และลูกชายคนโตของบ้านก็ต้องสืบทอดตำแหน่งนี้ต่อ การตั้งชื่อของบุตรชาวไตหย่าจะมีชื่อที่เรียงลำดับจากลูกคนโตไปจนถึงลูกคนสุดท้ายโดยมีการแบ่งเป็นชื่อเพศหญิง อาทิ อาเย่ อาอี อาหย่าม และชื่อเพศชาย เช่น อาหย่าย อายี่ อาสาม โดยที่ชื่อของเด็กที่เกิดใหม่ห้ามซ้ำกับชื่อของญาติผู้ใหญ่ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ และแม่ หากซ้ำจะต้องตั้งชื่อใหม่  สำหรับสังคมในระดับหมู่บ้านจะให้ความสำคัญตามลำดับอาวุโส ทั้งด้วยวัย ฐานะเศรษฐกิจ และตามที่สมาชิกหมู่บ้านเห็นว่าเหมาะสม วางใจให้เป็นผู้นำชุมชน (หน้า39)
          ชาวไตหย่าในไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ มีการตั้งโบสถ์ และร่วมกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ที่จัดขึ้นทั้งในระดับเขต ภาค และประเทศ กับคนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาคริสต์ (หน้า 105)
มีการจัดตั้งชมรมไตหย่าขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2535 กลุ่มผู้นำไตหย่าประมาณ 35 คนได้หารือกันที่บ้านป่ าสักขวาง เรื่องการรวมกลุ่มกันฟื้นฟูวัฒนธรรม ริเริ่มตั้งเป็นกลุ่ม มีคณะกรรมการบริหารงานชั่วคราว ในงันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2536
มีการประชุมใหญ่ชาวไตหย่าครั้งแรกที่คริสตจักรนทีธรรม และมีมติให้ตั้งเป็นชมรม มีการเลือกกรรมการชมรม ที่มีประธาน เลขานุการ และเหรัญญิก เพื่อบริหารงานชมรม และนัดหมายวันประชุมใหญ่ปีละครั้ง โดยจะเปลี่ยนประธานและคณะกรรมการ ทุก ๆ 2 ปี เมื่อตั้งชมรมแล้วได้มีการจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนที่มีเชื้อสายไตหย่าเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในเชื้อสายตนเอง โดยจัดการเรียนการสอนภาษาไตหย่า และจัดค่ายไตหย่าเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวไตหย่า และกระชับความสัมพันธ์ การนำลูกหลานกลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองหย่า ประเทศจีน (หน้า 107) 

Political Organization

          ในช่วงแรกที่อพยพมาไทยชาวไตหย่าไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นมากนัก เนื่องจากชาวไตหย่ามีความแตกต่างกับคนไทยในภาคเหนืออย่างเด่นชัดทั้งด้านการแต่งกาย ภาษา และค่านิยม จึงถูกจำแนกว่าเป็นชาวเขา ถูกมองด้วยทัศนคติในทางลบว่าเป็นคนสกปรก เกียจคร้าน โง่และกินเนื้อสุนัข ดังนั้นในช่วงระยะเริ่มก่อตั้งชุมชน จึงได้รับการกีดกันจากสังคมของคนกลุ่มใหญ่ (หน้า 40) ทำให้ชาวไตหย่าเลือกที่จะปรับตัวเรื่องการใช้ชีวิตให้เข้ากับคนไทยพื้นถิ่น
          ชาวไตหย่าเมื่อเข้าสู่รัฐไทย ก็ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐไทย และมีผู้นำส่วนองค์กรท้องถิ่นตามระบบราชการของไทย นอกจากคณะกรรมการปกครองหมู่บ้าน ยังมีกลุ่มผู้นำทางศาสนา มีตำแหน่งเรียกว่า ผู้ปกครอง และ มัคนายก ที่สมาชิกชาวไตหย่าจะช่วยกันคัดเลือกตามความเหมาะสม ช่วยกันดูแลสมาชิกของโบสถ์ อีกทั้งมีการแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยอีก3 กลุ่ม คือ กลุ่มบุรุษ กลุ่มสตรี และกลุ่มอนุชน (หน้า 40)

Belief System

          แต่เดิมชาวไตหย่านั้นนับถือผีบรรพบุรุษ มีการเซ่นไหว้บูชาผีบรรพบุรุษ เพื่อให้ท่านคุ้มครองลูกหลาน ก่อนที่จะมีการเลี้ยงฉลองในประเพณีต่าง ๆ จะต้องมีการบอกและเลี้ยงผีบรรพบุรุษก่อน เพราะเชื่อว่าหากทำ ให้ผีบรรพบุรุษ ไม่พอใจ ผีจะลงโทษด้วยการบันดาลให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่ามีผีสิงสถิตอยู่กับสิ่งต่างๆ เช่น ผีนา ผีบ้าน ผีป่า ผีวัว ผีควาย ผีแดดไหม้ ผีฟ้า ผีน้า ผีภูเขา เป็นต้น และมีการบูชาเซ่นไหว้ผีเหล่านี้ด้วย
          ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 ชาวไตหย่าส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ตามการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารี ในปัจจุบันชาวไตหย่าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 89.7) ในเชียงรายนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งการนับถือผีนั้นขัดต่อหลักศาสนาคริสต์ที่ชาวไตหย่านับถืออยู่ จึงไม่มีการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติ ชาวไตหย่าที่เป็นคริสเตียนจึงถูกเรียกว่า คนหลั่งผี หรือคนไล่ผี เพราะเดินทางมาถึงไทยโดยไม่ได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าเลย (หน้า 105)
         นอกจากนี้ ยังมีไตหย่าบางส่วนไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านของชาวพุทธ แต่งงาน มีครอบครัวกับชาวพุทธ จึงได้เปลี่ยนการนับถือจากศาสนาคริสต์ไปเป็นศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 36.0และ ไตหย่าส่วนหนึ่งที่ไปอาศัยในชุมชนมุสลิมหรือแต่งงานกับชาวมุสลิม จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม คิดเป็นร้อยละ 22.1(หน้า 96) มีเพียงร้อยละ 14.7 ที่ยังนับถือผี/บรรพบุรุษอยู่ และยังคงมีพิธีเซ่นไหว้ผี โดยมีย่ามดหรือปู่มด เป็นคนทำพิธีให้ เช่นพิธีการไหว้ผีประจำปีของย่ามดที่เสื้อบ้าน เรียกว่า “กางหวาน” ซึ่งจะทำทุก 3 ปี (หน้า 37)
          ในอดีต ชาวไตหย่ามีประเพณีหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อยู่ 3 ประเพณี ได้แก่
         ประเพณีโกย่างเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไตหย่า ลูกหลานจะมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ จัดขึ้นใน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
         ประเพณีหวูเย่หรือประเพณีทานข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรเพื่อขอบคุณบรรพบุรุษที่คุ้มครองชีวิต และเรียกขวัญวัว ควาย ที่ช่วยกันทำการเกษตร จัดขึ้นช่วงหลังเก็บเกี่ยวในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5
         ประเพณีป๋าเย๋เป็นประเพณีวันไหว้พระจันทร์ เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษโดยจะมีการรวมกลุ่มกันของญาติพี่น้องเพื่อทำขนม และเล่นดนตรีกัน เป็นงานรื่นเริง โดยมีย่ามด หรือปู่มดเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม  (หน้า 36) 

Education and Socialization

          สำหรับชาวไตหย่าซึ่งส่วนใหญ่มีความให้ชิดกับครอบครัว เนื่องจากมีระบบสังคมอยู่กันแบบระบบเครือญาติ ผู้ที่ทำหน้าที่ขัดเกลา และทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับสำนึกทางชาติพันธุ์ส่วนใหญ่นั้นมาจากครอบครัว โดยผู้รู้ หรือผู้ที่ประกอบอาชีพต่างๆ ในชุมชนจะเป็นผู้อบรมสั่งสอนลูกหลานชาวไตหย่า โดยวิธีการสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่าง และเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติจริง ดังเช่นการจักสาน การทอเสื่อ จะสอนและให้ลูกฝึกหัด และช่วยทำ เช่น การเอากาบเสื่อออก การช่วยพับปลายเสื่อขณะทอ และฝึกทอ  จนสามารถทำเป็นอาชีพได้เมื่อเติบโตขึ้น (หน้า 41)
 
         นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งชมรมไตหย่าเพื่อถ่ายถอดความรู้ และอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ไตหย่าให้กับเยาวชนอีกด้วย (หน้า 107)

Health and Medicine

          ชาวไตหย่ามีภูมิปัญญาในเรื่องการดูแลสุขภาพเป็นของกลุ่มตนเอง โดยผู้ที่กระทำการรักษาโรคจะต้องเป็นบุคคลที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ภูมิปัญญาด้านการรักษาโรคของชาวไตหย่า ได้แก่
          การนวดท้องโดยจะต้องทำช่วงเวลาเช้าก่อนรับประทานอาหาร ผู้ที่จะรักษาจะนอนราบ และผู้ที่ทำการรักษาจะนวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ เพื่อช่วยในการขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
          โจ่แล้ง,ก่าแล้ง หรือการขูดหลังชาวไตหย่าเชื่อว่าการขูดหลังจะช่วยขับไล่ความเจ็บป่วยออกไปจากร่างกายได้ โดยจะนำน้ำมันหมู หรือน้ำมันพืช มาทาตัวบริเวณแผ่นหลัง แขน ขา และหน้าอก หลังจากนั้นใช้กระป๋องทรงกลมบริเวณก้นกระป๋องที่ไม่มีความคมขูดไล่จากบนบริเวณต้นคอ ลงมาด้านล่าง เมื่อขูดหลังเสร็จจะใช้ผ้าเช็ดคราบน้ำมันออก และงดอาบน้ำ 1 วัน ชาวไตหย่าเชื่อว่าหากเกิดรอยแดงช้ำจากการขูดหลังชัดเจนเท่าใด แสดงว่าอาการป่วยได้ถูกทำให้ปรากฏ และรักษาได้มากเท่านั้น
          การกอกหัวใช้รักษาอาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้เขาสัตว์ มี 2 วิธีในการรักษา คือการกอกแห้ง และการกอกเอาเลือด สำหรับการกอกแห้งมีวิธีการทำ คือ นำเขาสัตว์มาเจาะรูบริเวณด้านที่เป็นปลายแหลม เวลาทำการรักษาให้นำเขาสัตว์ไปครอบบริเวณที่ปวด แล้วใช้ปากดูดอากาศบริเวณที่เจาะรูเพื่อให้เกิดภาวะสูญญากาศบริเวณช่องว่างในเขาสัตว์ ทิ้งช่วงไว้ 3-5 นาที วิธีนี้เมื่อรักษาเสร็จจะทิ้งรอยแดงช้ำบริเวณที่ทำการรักษาไว้หลายวัน ขณะที่การกอกเอาเลือด คือการนำมีดมากรีดบริเวณผิวหนังที่จะทำการรักษาให้เป็นรอยเล็กๆ ก่อนที่จะนำเขาสัตว์มาครอบ และดูดอากาศออกวิธีนี้จะไม่ทิ้งรอยแดงช้ำไว้ที่ผิวหนัง แต่เลือดจะออกมาตามแรงดูดแทนซึ่งชาวไตหย่าเชื่อว่าเป็นการนำเลือดที่ไม่ดีออกจากร่างกาย ซึ่งปัจจุบันวิธีการกอกเอาเลือดไม่มีใครทำแล้ว เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงปัจจุบันมีการประดิษฐ์อุปกรณ์การกอกหัวที่ไม่ต้องใช้ปากดูดแทนการใช้เขาสัตว์เพื่อความถูกต้องตามสุขอนามัยที่ดี
          การสับเสือฮามเป็นการรักษาอาการปวดเมื่อเรื้อรั้ง จะต้องทำในช่วงเช้าระหว่างพระอาทิตย์กำลังขึ้นเท่านั้น เพราะเชื่อว่าผู้ที่ทำการรักษาจะมองเห็นร่องรอยที่ทำให้เกิดอาการปวด หลังจากนั้นจะในมีดกรีดผิวหนังเป็นแผลเล็กๆ ไปตามร่องรอยของอาการป่วยที่ผู้ทำการรักษามองเห็น เมื่อกรีดเสร็จจะใช้ขิงทุบ หรือเกลือป่นมาทาบริเวณแผลที่กรีดไว้ ผู้ที่มารับการรักษาจะงดอาบน้ำ 1 วัน
          การแตงป่างเป็นการรักษาอาการท้องอืด และจุกเสียด โดยใช้เข็มแทงลงไปบริเวณท้องแต่ไม่ลึกมากนัก และไม่มีเลือดออกทิ้งเพียงรอยแดงตามจุดที่ใช้เข็มแทง ปัจจุบันในจังหวัดเชียงรายเหลือเฉพาะการขูดหลัง ที่ยังคงได้รับความนิยมใช้ประกอบการรักษาอยู่ในทุกๆ ช่วงวัยของชาวไตหย่า
(หน้า 51-53 ,97-99)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

          ลักษณะสถาปัตยกรรมของชาวไตหย่า คือการสร้างบ้านจากดินดิบโดยนำมาสร้างเป็นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วเรียงซ้อนต่อกัน ซึ่งเป็นการแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มชาติพันธุ์นี้
          ลักษณะการแต่งกายของชาวไตหย่า ชุดแต่งกายของสตรีจะประกอบไปด้วย ผ้าซิ่น 2 ผืนซ้อนกันโดยใช้ผ้าผืนเป็นผ้าสีดำ ชายซิ่นประดับด้วยผ้าสีต่างๆ นำมาเย็บต่อกันเป็นแถบ เวลาสวมใส่จะปล่อยให้ชายผ้าซิ่นด้านขวายาวลงมาต่ำกว่าชายผ้าด้านซ้าย ตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการเย็บแผ่นเงินติดลงไปบนผ้า เสื้อของสตรีมี 2 ตัวเช่นเดียวกันโดยใส่ซ้อนกัน ใส่เสื้อน้อยไว้ข้างใน มีเสื้อที่ไม่มีแขน คอตั้งชายเสื้อยาวลงมาถึงเอว และเสื้อหลวง ใช้ใส่คลุมทับด้านนอก มีลักษณะคล้ายเสื้อกั๊ก แต่มีแขนยาว และเป็นเสื้อเอวลอย มีการใช้เครื่องเงิน และผ้าแพรสีต่างๆ ในการประดับตกแต่งเสื้อ ขณะที่ชุดแต่งกายของบุรุษ สวมกางเกงขายาวสีดำ หรือสีคราม ลักษณะของกางเกงคล้ายกับกางเกงสะดอ สวมเสื้อสีดำแขนยาว ลักษณะคอเสื้อเป็นแบบเสื้อคอจีน เรียกเสื้อฮี้
          ชาวไตหย่ามีรูปแบบการเต้นรำเป็นของกลุ่มตนเอง แต่ไม่ปรากฏความรู้เกี่ยวกับการเต้นรำที่เมืองไทย พบว่าชาวไตหย่าในขอบเขตพื้นที่ศึกษาเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมการเต้นรำจากแผ่นซีดีที่ญาติทางจีนส่งมาให้  
          ลักษณะทางศิลปกรรมของชาวไตหย่าได้สะท้อนออกมาในรูปแบบของการทำเครื่องจักสาน ได้แก่ ขอนกูล่าน เป็นภาชนะเอนกประสงค์ของชาวไตหย่า ในบรรจุสิ่งของ และสามารถหาบไปยังท้องนา เพื่อใส่อุปกรณ์ทางการเกษตรได้ นอกจากนี้ยังมีการทอเสื่อ โดยใช้ต้นกก การทอเสื่อเป็นอาชีพสำคัญของชาวไตหย่าในจังหวัดเชียงราย เรียกเสื่อที่ชาวไตหย่าเป็นผู้ทอว่า สาดไตหย่า มีการประดิษฐ์ฟืมลายสอง หรือแท่นที่เอาไว้ช่วยทอเสื่อ เพื่อที่จะสามารถสร้างเสื่อที่มีขนาดหลากหลายได้ตามความต้องการ
          ดนตรีของชาวไตหย่า ส่วนใหญ่บทเพลงของชาวไตหย่าจะใช้เพื่อเกี้ยวหญิงสาว หรือฮ่อนสาว มีเครื่องดนตรีประกอบ คือ ติ่งเซ มีลักษณะคล้ายซอด้วง และติ้งต่อง มีลักษณะคล้ายซึง แต่มีขนาดเล็กกว่า การร้องเพลงของชาวไตหย่าเรียนว่า ฮ้องกำ (หน้า35-36,41,49-51,94)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวไตหย่าเกิดขึ้น 2 ช่วง คือช่วงแรกที่อพยพมายังประเทศไทย และต้องปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตให้เข้ากับคนไทยพื้นถิ่น และช่วงที่สองคือการเปลี่ยนแปลงเพื่อดำรงอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ไตหย่าท่ามกลางพลวัตของโลกยุคปัจจุบัน
          ด้านศาสนา ชาวไตหย่าเปลี่ยนจากการนับถือธรรมชาติ มาสู่การนับถือศาสนาคริสต์ตั้งแต่อยู่ที่ประเทศจีน และการนับถือศาสนาคริสต์ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวไตหย่าอพยพมายังประเทศไทย
          ด้านอาหาร การรับประทานเนื้อสุนัขของชาวไตหย่าไม่ได้รับการยอมรับจากคนไทยในพื้นที่ ชาวไตหย่าจึงต้องปรับเปลี่ยนการกินอาหารแทน โดยจะทานเนื้อสุนัขก็ต่อเมื่ออยู่ภายในบ้านของตัวเองเท่านั้น รวมไปถึงอาหารบางอย่างที่ไม่มีในท้องถิ่นประเทศไทยก็สูญหายไปจากเมนูอาหารประจำบ้านของชาวไตหย่า เหลือเพียงคำบอกเล่าจากรุ่นปู่ ย่า และรุ่นพ่อ แม่ เท่านั้น
          ด้านภาษา เนื่องจากภาษาไตหย่ามีเพียงภาษาพูดเท่านั้น การอพยพย้ายถิ่นฐาน และการปรับตัวเข้าสู่สังคมเมืองแบบพื้นถิ่นภาคเหนือจึงส่งผลโดยตรงต่อ โดยชาวไตหย่าจะหลีกเลี่ยงการพูดภาษาถิ่นของตัวเองเพราะจะโดนดูถูก และเหมารวมว่าเป็นชาวเขา รวมไปถึงลูกๆ ของชาวไตหย่าเองก็จะถูกเพื่อนล้อเลียนเพราะไม่พูดภาษาเมือง จึงเลิกพูดภาษาไตหย่า และหันมาฝึกภาษาพื้นถิ่นภาคเหนือแทน รวมไปถึงการแต่งงานข้ามกลุ่มวัฒนธรรม(ชาวไตหย่าแต่งงานกับคนไทยภาคเหนือ) ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการกลืนกลายของภาษาไตหย่า ปัจจุบันกลุ่มคนที่ยังพูดภาษาไตหย่าอยู่คือ ผู้สูงอายุ ภายในชุมชน ส่วนเยาวชนรุ่นใหม่สามารถฟังได้ แต่ไม่สามารถพูดได้
          ด้านการรักษาโรค ในอดีตช่วงแรกของการย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การแพทย์พื้นบ้านแบบไตหย่ายังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเด็กรุ่นใหม่ได้รับการศึกษามากขึ้นก็ปฏิเสธที่จะรับการรักษาโรคแบบพื้นบ้าน แต่เชื่อถือการแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่า นอกจากนี้การรักษาโรคบางอย่างของชาวไตหย่าก็เสี่ยงในการติดเชื้อทั้งผู้รักษา และผู้ที่เข้ารับการรักษาเอง
          ด้านกายแต่งกาย เนื่องจากชุดประจำชาติพันธุ์ไตหย่ามีความยุ่งยากในการสวมใส่ และดูแลรักษา ประกอบกับไม่เหมาะต่อสภาพอากาศในประเทศไทย (อากาศร้อนกว่าประเทศจีน) และการดำรงชีวิตซึ่งต้องอาศัยความคล่องตัวในการทำการเกษตร ชาวไตหย่าจึงหันมาใส่เสื้อผ้าทั่วไปตามแบบคนพื้นถิ่นในภาคเหนือ เพื่อสะดวกต่อการทำงาน และการเข้าสังคม แต่ถ้าหากมีการรวมญาติกันชาวไตหย่าก็จะนำชุดประจำชาติพันธุ์มาใส่ (หน้า 64-
          หลังจากที่วัฒนธรรมของชาวไตหย่าเริ่มกลืนไปกับสังคมเมืองของไทยพื้นถิ่นในภาคเหนือก็มีการจัดตั้งชมรมไตหย่าขึ้นเพื่อรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไตหย่าเอาไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 บริษัทพาโนรามา ได้ติดต่อตัวแทนไตหย่าในหมู่บ้าน 2 คนเพื่อร่วมในการถ่ายทำสารคดีเรื่องโลกสีน้ำเงิน ตอนไตหย่า ทไการย้อนรอยจากไตหย่ารุ่นแรกที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยไปจนถึงเมืองหย่า ตำบลโมซาเจียง ประเทศจีน และฉายออกอากาศหลายครั้ง ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 ทำให้คนไทยได้รู้จักชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไตหย่าและชาวไตหย่าได้พบญาติของแต่ละคนมากขึ้น (หน้า 106) การกลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองหย่า ประเทศจีนนับเป็นปัจจัยหนึ่งในการกระตุ้นกระบวนการส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมไตหย่า โดยญาติทางประเทศจีนได้นำเครื่องแต่งกาย หรือ การละเล่นต่างๆ ที่สูญหายไปแล้วในประเทศไทยมาให้ชาวไตหย่าในไทยได้เรียนรู้มากขึ้น อาทิ บ้านดิน เครื่องแต่งกาย กูบ และการเต้นรำ จนปัจจุบัน ครอบครัวไตหย่าส่วนใหญ่จะมีชุดไตหย่า 1 ชุดไว้สวมใส่ในงานต่างๆ
          ปัจจุบัน ชมรมมีกิจกรรมสอนภาษาไตหย่าให้แก่เด็กรุ่นใหม่ ค่ายเยาวชนไตหย่า การนำลูกหลานกลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองหย่า ประเทศจีน เพื่อให้เด็ก ๆ เหล่านี้สืบสานวัฒนธรรมของชาวไตหย่าต่อไป (หน้า 107-108)และชมรมไตหย่าได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ 13 ชาติพันธุ์ ในเชียงราย ทำให้ชาวไตหย่าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น กลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่าเริ่มมีบทบาท และมีพื้นที่ในการแสดงตัวตนมากขึ้น เช่น งานพ่อขุนเม็งรายมหาราช งามมหกรรมชาติพันธุ์สัมพันธ์ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง
         ต่อมา สาวไตหย่าได้ไปประกวดธิดาดอย และชุดไตหย่าได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อีกทั้งในปี พ.ศ. 2549 ชมรมไตหย่าได้ส่งประกวดชุดแต่งกายชนเผ่าในงานดอกไม้งามที่เทศบาลจังหวัดเชียงรายจัด และได้รับรางวัลชนะเลิศเครื่องแต่งกายสวยงาม จึงทำให้ชาวไตหย่าทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนเกิดความภูมิใจในการสวมใส่ชุดไตหย่าและเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น (หน้า 108)

Social Cultural and Identity Change

          การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมโดยรวมของขอบเขตพื้นที่ในการศึกษาวิจัย พบว่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รกร้าง และเพิ่งได้รับการบุกเบิกใหม่ๆ ช่วงที่ชาวไตหย่าอพยพเข้ามายังประเทศไทย ในพื้นที่ประกอบไปด้วยชาวไทยพื้นถิ่น (คนเหนือ) และกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม และการปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งส่วนใหญ่นั้นวัฒนธรรมกระแสหลักบริเวณเขตพื้นที่การวิจัยจะเป็นวัฒนธรรมไทยท้องถิ่นของภาคเหนือ มีศาสนสถานเนื่องในศาสนาคริสต์ตั้งกระจายอยู่ เนื่องจากมีมิชชันนารีเข้าไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ (หน้า 54-62)

Other Issues

          ข้อเสนอแนะของงานวิจัยเรื่องนี้ ได้แก่ การสนับสนุนชมรมไตหย่าให้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับชาวไตหย่าให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันชมรมไตหย่าเปรียบเสมือนศูนย์กลางของการรวบรวมชาวไตหย่าในประเทศไทย การศึกษาเปรียบเทียบอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่าด้วยกันเอง แต่ศึกษาในพื้นที่ที่แตกต่างกันเพื่อนำมาพัฒนาถึงวิธีการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมดั้งเดิมแห่งชาติพันธ์ (หน้า 116-117)

Map/Illustration

ตารางที่2 การตั้งชื่อบุตรของชาวไตหย่า (หน้า 39)
ภาพที่1 และภาพที่2 ภาพอาหารของชาวไตหย่า และต่อม ที่ใช้ดองอาหาร (หน้า48)
ภาพที่3 เครื่องแต่งกายชาวไตหย่า (หน้า49)
ภาพที่6 ภาพการทอเสื่อ และฟืม (หน้า 51)
ภาพที่7 และภาพที่8 ภาพการรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาไตหย่า (หน้า52-53)
แผนภูมิที่2 แผนผังแสดงการย้ายถิ่นฐานของชาวไตหย่าในจังหวัดเชียงราย (หน้า63)
ภาพที่21 ภาพบ้านดินของชาวไตหย่า (หน้า79)

Text Analyst Date of Report 18 พ.ค. 2559
TAG กลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่า, ไตเอวลาย, การธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์, เชียงราย, ประเทศไทย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง