สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวครั่ง,ระบบการผลิต,การปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชเศรษฐกิจ,สุพรรณบุรี
Author วรณัย พงศาชลากร
Title พืชเศรษฐกิจกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในชุมชนลาวครั่ง : ศึกษากรณีบ้านโคก ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลาวครั่ง ลาวขี้คั่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 346 Year 2538
Source หลักสูตรปริญญาสังคมวิทยามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

เมื่อระบบการผลิตเศรษฐกิจดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปจากระบบการยังชีพมาเป็นระบบการค้า พืชเศรษฐกิจในฐานะที่มีบทบาทในส่วนของปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมิได้เกิดขึ้นกับเฉพาะระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมด้วย การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต ก่อให้เกิดการตัดสินใจเปลี่ยนพันธุ์พืชของชาวนา เศรษฐกิจข้าวที่เคยมีระบบการผลิตแต่เดิมเปลี่ยนแปลงเป็นเพื่อการค้า และชาวนาเลือกผลิตพันธุ์พืชเศรษฐกิจชนิดอื่นประกอบด้วย ซึ่งสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพืชเศรษฐกิจของชุมชนลาวครั่งบ้านโคก คือ เศรษฐกิจการค้าแบบทุนนิยม การรับนวัตกรรมทางวัตถุใหม่ ๆ จากตะวันตก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การเป็นเมืองของชุมชนใกล้เคียง อุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียง การพัฒนาโดยหน่วยงานรัฐและเอกชน การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมด้วยระบบชลประทาน สภาพแวดล้อมทางกายภาพของดิน สภาพแวดล้อมประเภทน้ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชของลาวครั่ง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในชุมชนลาวครั่งด้วยก็คือ การผสมผสานทางวัฒนธรรม การติดต่อทางวัฒนธรรม การเป็นชุมชนชาวนา การเพิ่มประชากร ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การเร่งรัดพัฒนาชนบท การเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ความทันสมัย การศึกษา สื่อสารมวลชน ปัจจัยสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุด ก็คือ การเปลี่ยนแปลงในช่วงของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยที่เด่นชัด คือ การสร้างสาธารณูปโภคในโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนา คือการเกิดขึ้นของถนนมาลัยแมนสายสุพรรณบุรี-อู่ทอง และอู่ทอง-นครปฐม รวมทั้ง การขยายตัวเป็นเมืองเนื่องจากความทันสมัยของบ้านท่าพระกลายเป็นตลาดอู่ทอง และการเปลี่ยนแปลงในระบบชลประทาน มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมของชุมชนลาวครั่งบ้านโคกและปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพืชเศรษฐกิจของบ้านโคกอีกด้วย

Focus

การเปลี่ยนแปลงพืชเศรษฐกิจในบริบทของการเปลี่ยนแปลงระบบผลิตจากแบบดั้งเดิมไปสู่แบบทันสมัยของลาวครั่งบ้านโคกตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

Theoretical Issues

ผู้เขียนระบุหลายแนวคิด เช่น แนวคิดการศึกษาสังคมชาวนา แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง แนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ แนวคิดนิเวศวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพของสังคม แต่แนวคิดหลักที่ใช้คือ แนวคิดการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย หมายถึง กระบวนการที่สังคมกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาเคลื่อนตัวเข้าสู่ทิศทางของการนำเอาระบบเทคโนโลยีและระบบวัฒนธรรมที่มีลักษณะของสังคมอุตสาหกรรมมาใช้ แนวคิดนี้ได้อธิบายให้เห็นว่า เมื่อชาวนาลาวครั่งที่บ้านโคก สุพรรณบุรี มีการติดต่อกับภายนอกก็มีการนำเอาสิ่ง ใหม่ ๆ ของใช้ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดความเคลื่อนไหวทางค่านิยม รสนิยม ความรู้สึกนึกคิดที่กว้างไกลออกไปจากสภาพความเป็นจริง เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมหรือทางเศรษฐกิจ เช่น การสร้างสาธารณูปโภคในโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนา นั่นคือการเกิดขึ้นของถนนมาลัยแมนสายสุพรรณบุรี-อู่ทอง และอู่ทอง-นครปฐม รวมทั้งการขยายตัวเป็นเมืองอันเนื่องมาจากความทันสมัยของบ้านท่าพระ กลายมาเป็นตลาดอู่ทอง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางกายภาพ คือ ระบบชลประทานที่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมของชุมชนลาวครั่ง บ้านโคก และเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพืชเศรษฐกิจของบ้านโคกอีกด้วย (หน้า 264-286) ในส่วนของแนวคิดการศึกษาสังคมชาวนานั้น เนื่องจากเป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิต เศรษฐกิจและสังคมในชนบทไทย ซึ่งเป็นสังคมชาวนาเช่นเดียวกับชุมชนลาวครั่ง แนวคิดนี้จึงจำเป็นที่จะใช้ในการศึกษาเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งสังคมชาวไร่ชาวนาในชนบท มีโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ซับซ้อน คือ ความสัมพันธ์ในระบบการผลิตและการทำมาหากิน ความสัมพันธ์ในระบบการอยู่ร่วมสัมพันธ์กันกับครอบครัว เครือญาติ ชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ระบบความเชื่อ คุณค่า ศาสนา และพิธีกรรม โครงสร้างดังกล่าวมีอิทธิพลและส่งผลซึ่งกันและกันโดยตลอด เมื่อเกิดมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของระบบใดก็จะส่งผลต่อระบบอื่น ๆ และโครงสร้างทางวัฒนธรรมโดยรวม และโครงสร้างทางวัฒนธรรมเหล่านี้เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่เสมอ การปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมอื่น ๆ ในระดับต่าง ๆ ก็จะทำให้เกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นแตกต่างกันไป (หน้า 17-21)

Ethnic Group in the Focus

ลาวครั่ง

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาพูดของกลุ่มลาวครั่งจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลไทหรือไต เป็นกลุ่มภาษาใหญ่ของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือที่เวียดนาม ลาว พม่า และไทย ตัวอย่างภาษาพูดของลาวครั่งกับภาษาไทยภาคกลาง เช่น คำเกี่ยวกับผลไม้ ภาษาไทยภาคกลางคือ น้อยหน่า ภาษาของลาวครั่งคือ "บักเขียบ" สำหรับภาษาเขียนของลาวครั่งนั้น มีปรากฏในหนังสือใบลานและสมุดไทยขาวที่ทำมาจากกระดาษสา เรื่องราวที่เขียนในหนังสือผูกหรือสมุดเหล่านี้ มีทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับตำนาน คาถา ยันต์ ตำรายา วิธีการรักษาโรค และการดูฤกษ์ยามและโชคชะตาและนิทานพื้นบ้าน อักษรที่ใช้ในการบันทึกของลาวครั่งนั้นมีทั้งตัวไทยน้อยที่มักใช้กันในภูมิภาคอีสาน นอกจากนี้แล้วยังมีอักษรธรรมบาลี อักษรขอมแทรกปะปนอยู่ ลักษณะการเขียนแบบเก่าโดยเขียนใต้เส้นบรรทัดโดยรวมแล้วลักษณะการเขียนและตัวอักษรที่พบ กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (หน้า 84-85)

Study Period (Data Collection)

ระหว่างปี พ.ศ.2536-2538 ซึ่งได้แบ่งการศึกษาชุมชนในภาคสนามเป็นระยะเวลา 2 ปี ดังนี้ 1. เก็บข้อมูลในระยะสั้น เฉพาะช่วงปรากฏการณ์ทางสังคม ประมาณ 3-5 วัน ในช่วงปี พ.ศ.2536-2538 2. เก็บข้อมูลในระยะยาว ศึกษาในทุก ๆ ส่วนของวัฒนธรรมชุมชน ใช้เวลา 5 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537- มกราคม 2538 (หน้า 9)

History of the Group and Community

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านโคกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งซึ่งเข้ามาในดินแดนไทย ดังนี้ 1. เป็นการอพยพเข้ามาลี้ภัยตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2. ถูกกวาดต้อนเข้ามา ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง ซึ่งสังคมของชนกลุ่มนี้อยู่ในระดับเผ่า เศรษฐกิจการทำมาหากินจะอยู่ในรูปแบบของการล่าสัตว์ หาของป่า และทำไร่เลื่อนลอย ชนกลุ่มนี้ได้ถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ มาอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น สระบุรี ลพบุรี พนัสนิคม นครชัยศรี สุพรรณบุรี (หน้า 83-84) เริ่มปรากฏการตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานถาวรของลาวครั่งในเขตอำเภอจรเข้สามพัน มาตั้งหลักแหล่งที่กลุ่มบ้านหนองตาสาม โดยปี 2440 นายกองแดง ได้นำกลุ่มญาติพี่น้องมาร่วมกันตั้งหลักแหล่งที่นี่ จนขยายเป็นหมู่บ้านที่เรียกว่าบ้านใหญ่ มีกลุ่มลาวครั่งบางส่วนได้ข้ามคลองหนองตาสามมาทางทิศตะวันตกที่เป็นโคกป่าละเมาะ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย โดยเฉพาะกระต่าย จึงนิยมเรียกโคกขี้กระต่าย นานวันเข้าหลาย ๆ ครัวเรือนก็เริ่มอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ที่โคกขี้กระต่ายนี้ กลายเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย กลายเป็นหมู่บ้านโคกขี้กระต่ายและกลายมาเป็นบ้านโคก (หน้า 90-91)

Settlement Pattern

ผังบ้านเรือนของชาวบ้านโคกจะปลูกติดต่อกัน ไม่มีรั้วรอบขอบชิดเป็นกระจุกตัวอยู่เนื่องจากว่าในสมัยก่อนมีการสร้างบ้านในเกาะบ้านของแต่ละครัวเรือน รูปแบบของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของลาวครั่งบ้านโคกมี 5 แบบ คือ 1. บ้านเก่าแก่ดูแลรักษาดี 2. บ้านเก่าแก่สภาพทรุดโทรม 3. บ้านเก่าซ่อมแซมหรือสร้างต่อเติมใต้ถุน 4. บ้านใหม่คอนกรีตชั้นเดียวขนาดเล็ก 5. บ้านใหม่ 2 ชั้นทันสมัย บ้านเก่าจะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งใต้ถุนสูงโปร่ง เนื่องจากสมัยก่อนมักจะมีน้ำท่วม บ้านเก่าที่รักษารูปแบบของลาวครั่ง คือ ที่เป็นเรือนไม้ไผ่ขัดสาน (ขัดแตะ) เป็นผนัง ซึ่งส่วนมากก็จะชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว และแบบเรือนไทยสมัยก่อนเป็นแบบที่มีมากที่สุดในบ้านโคก คือจะใช้ไม้เป็นวัสดุหลักมากกว่าไม้ไผ่ มีเสาไม้เนื้อแข็ง มีใต้ถุนบ้านที่ไม่สูงมากนัก (หน้า 72-74)

Demography

ประชากรส่วนใหญ่ของอำเภออู่ทอง เป็นคนไทย ลาวพวน ลาวเวียง ลาวโซ่งและลาวครั่ง ที่บ้านโคกจะเป็นที่อยู่ของลาวครั่งทั้งหมด จำนวนประชากรทั้งหมดของหมู่ 3 คือบ้านโคกและบ้านดงเย็น มี 2,144 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 374 ครัวเรือน สำหรับบ้านโคกมีครัวเรือนทั้งสิ้น 256 ครัวเรือน จำนวนประชากรแยกตามเพศและวัยนั้น รวมประชากรชาย 1,057 คน ประชากรหญิง 1,087 คน (ที่มา:ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน,แบบ กชช. 2 ค บ้านหมู่ 3 : พฤศจิกายน 2537) พบจำนวนประชากรที่มากที่สุดคือ ประชากรช่วงวัยแรงงาน อายุ 15-49 ปี จำนวน 1,170 คน คิดเป็น 54.57% ของจำนวนประชากรทั้งหมด อัตราการเกิดของจำนวนประชากรในบ้านโคก คิดเป็นปีละ 20 คน (เดือนตุลาคม 2536-กันยายน 2537) ในขณะที่อัตราการตายในรอบปีนี้เท่ากับ 7 คน ซึ่งชี้ให้เห็นการเพิ่มขึ้นของประชากรในบ้านโคกได้เป็นอย่างดี (หน้า 70-72)

Economy

ระบบการผลิตของบ้านโคกในอดีตจนถึงราวทศวรรษที่ 2500 มีลักษณะที่ชาวบ้านจะทำการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ลักษณะเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพอย่างชัดเจน ผลผลิตที่เหลือจากการผลิตนั้น ก็กลายมาเป็นสินค้าเพื่อการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนกับของที่ในชุมชนบ้านโคกไม่สามารถผลิตขึ้นมาเองได้ เช่น เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องเหล็ก เป็นต้น เทคโนโลยีการผลิตตามขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูปผลผลิตนั้น ก็มาจากแรงงานคนและสัตว์เป็นสำคัญ ข้าวที่ใช้ปลูกก็มักจะเป็นพันธุ์พื้นเมือง ประเภทพันธุ์ข้าวเบาที่ให้ผลผลิตภายใน 3 เดือน ได้แก่ หัวระแหง อีดำน้อย ศรีเมฆ เขาแจง เป็นต้น ส่วนพันธุ์ข้าวหนัก ได้แก่ เจ็ดรวง จุดทอง จุดมอญ เล็บมือนาง กอเดียว เป็นต้น การบริโภคของลาวครั่งนั้นนอกจากการปลูกข้าวและหาของป่าแล้วยังมีการเลี้ยงสัตว์เล็ก ๆ เช่น เป็ด ไก่ ไว้บริโภคเป็นอาหารภายในครัวเรือน อาหารประเภทโปรตีนที่สำคัญชองลาวครั่งคือ ปลา นอกจากนั้นแล้วชาวบ้านยังมีวิธีการถนอมอาหารในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง เช่น การทำปลาแห้ง ปลาร้า ปลาส้ม ปลาเค็ม กะปิ นอกจากข้าวและอาหารประเภทเนื้อแล้ว ก็จะมีผักนานาชนิดให้เก็บกินได้ทั้งในป่าและในทุ่ง ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบเศรษฐกิจการผลิตตลาดอู่ทองก็กลายมาเป็นตลาดหลักในการแลกเปลี่ยนซื้อขายของชุมชน (หน้า 156-160 และ 166-169)

Social Organization

ครอบครัวและเครือญาติเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญต่อชาวนาผู้เป็นสมาชิกของชุมชนลาวครั่ง เพราะนอกจากจะเป็นหน่วยทางสังคมแรกในการต้อนรับและการอบรมเบื้องต้นต่อสมาชิกใหม่แล้ว ยังเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน ลักษณะครอบครัวของลาวครั่งบ้านโคกมีทั้งระบบครอบครัวเดี่ยวแบบขยายและครอบครัวขยาย ชาวบ้านโคกให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับเครือญาติของตนอย่างแน่นแฟ้น เมื่อถึงเวลาในการประกอบกิจกรรมทางประเพณีพิธีกรรมในธรรมเนียมใดๆ ก็ตาม ก็จะพบว่าชาวบ้านโคกและเครือญาติต่างกลับมาชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันอย่างไม่ได้ขาด ด้วยความเป็นเครือญาติของชาวบ้านในชุมชนนั้นสืบเนื่องจากการเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษที่สืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลเดียวกันภายในกลุ่มชาติพันธุ์ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติก็จะมีหลายลักษณะ คือ เครือญาติโดยสายโลหิต เครือญาติโดยการแต่งงาน และเครือญาติร่วมชุมชนเดียวกัน ในการสืบทอดมรดกนั้นจะกระทำในครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อแม่ บุตรชาย บุตรสาวและบุตรบุญธรรม มรดกที่สำคัญของครัวเรือนคือ ที่ดิน บ้านเรือน สัตว์เลี้ยง เงินทอง และทรัพย์มีค่าอื่น ๆ การสืบทอดมรดกนั้นจะกระทำกันตั้งแต่ที่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่มากกว่า ในการจัดระเบียบทางสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมของลาวครั่ง ได้จัดบุคคลเป็นชั้นต่าง ๆ คือ เด็กน้อย บ่าว (หนุ่มสาว) ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ส่วนในเรื่องของการแบ่งชนชั้นทางสังคมในหมู่บ้านลาวครั่งนั้น ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานของความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติและความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันก็ตาม ความแตกต่างในเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ การถือครองที่ดิน การศึกษาและอาชีพล้วนแต่เป็นตัวแบ่งแยกชนชั้นทงสังคม (หน้า 96-131)

Political Organization

เดิมบ้านโคกมีการจัดการปกครองแบบการแบ่งคุ้มบ้านเป็นกลุ่มๆ โดยผู้ใหญ่เก่ามีหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำป้ายเลขที่บ้านติดไว้ทั้งบริเวณเส้นทางเข้าหมู่บ้านและตัวบ้านเอง โดยแต่ละกลุ่มมีหัวหน้ากลุ่มคอยดูแลอยู่ หน้าที่หลักของหัวหน้ากลุ่มบ้านนี้คือ การรับนโยบายและการพัฒนาลงสู่บ้านเรือนได้อย่างทั่วถึงและเป็นผู้ดูแลการส่งข้อมูลจากกลุ่มบ้านไปสู่ผู้ใหญ่บ้านเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ แต่หลังจากผู้ใหญ่บ้านใหม่เข้ามา การปกครองโดยการแบ่งกลุ่มก็เลิกไป แต่กลุ่ม หมู่เหนือ กลาง ใต้ ยังคงอยู่ในปัจจุบัน หมู่บ้านโคกและบ้านดงเย็นมีผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2527 มีคณะกรรมการบริหารตำบลที่เรียกว่าสภาตำบล ทำหน้าที่บริหารและผ่านนโยบายจากทางอำเภอ รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาในแต่ละหมู่บ้านในเขตตำบลตามที่หมู่บ้านได้จัดทำโครงการเสนอขึ้นมา ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งให้บริหารหมู่บ้าน มี 10 คน โดยมีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย 2 คน และกรรมการหมู่บ้าน 7 คน นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านผู้ใหญ่บ้านได้จัดระเบียบการควบคุมและข่ายการปกครอง โดยแบ่งกลุ่มบ้านภายในบ้านโคกออกเป็น 2 หมู่ โดยหมู่บ้านโคกนั้นแบ่งบ้านตามธรรมชาติและความรู้สึกของชาวบ้านเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านหมู่เหนือ บ้านหมู่กลาง บ้านหมู่ใต้ แต่ละกลุ่มบ้านก็จะมีหัวหน้ากลุ่มมาโดยตลอด ส่วนการควบคุมทางสังคมและการจัดระเบียบทางการเมืองนั้น ในบ้านโคกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ กลุ่มทางการ จัดการเมืองการปกครองตามระบอบของประเทศ ได้แก่ การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน และกลุ่มไม่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวกันเพื่อประโยชน์และจุดประสงค์ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่เพื่อจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจ มักจะเป็นนายทุนหรือผู้ให้กู้ภายในหมู่บ้าน (หน้า 92-95)

Belief System

ระบบความเชื่อของลาวครั่งบ้านโคกมี 2 แบบ คือ 1. ความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีวัดหนองตาสามเป็นวัดของชุมชนลาวครั่ง ชาวบ้านโคกจะมีความเชื่อความศรัทธาในลักษณะผสมกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ ภูติ ผี ปีศาจ 2. ความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ การนับถือผีของชาวบ้านโคกมีรูปลักษณะของการถือผีตามบรรพบุรุษ 2 ฝ่าย คือ ผีเจ้านายและผีเทวดา รวมทั้งความเชื่อในอำนาจลึกลับ ไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถา ความเชื่อในเรื่องร่างทรง ซึ่งบ้านโคกมีศาลร่างทรงของเจ้าพ่อเจ้าแม่จำนวน 2 ศาล คือศาลเจ้าแม่คานทองและศาลเจ้าพ่อทองแดง ลาวครั่งมีพิธีกรรมที่สำคัญ ๆ คือ พิธีเลี้ยงผีเจ้านายและผีเทวดา ที่เรียกว่า พิธีแปลงบ้านแปลงเรือน โดยจะมีตำแหน่งสำหรับผู้ประกอบพิธีกรรม ผู้ประกอบพิธีกรรมให้ผีเทวดาเรียกว่า คนต้น ผีเจ้านายเรียกว่า กวน ซึ่งงานเลี้ยงผีเจ้านายจะมีขึ้นในช่วงอาทิตย์ที่สองของเดือนมิถุนายน ซึ่งจะจัดก่อนงานเลี้ยงผีเทวดา ทางด้านประเพณีพิธีกรรมนั้นจะแบ่งเป็น 2 ประการ คือ 1. ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับวงจรชีวิต ประกอบด้วยประเพณีการเกิด การตาย การบวช การแต่งงาน 2. ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการทำมาหากิน เช่น เดือนเมษายน มีบุญตรุษสงกรานต์ เดือนมิถุนายน มีบุญเลี้ยงผีเจ้านาย ผีเทวดา (หน้า 132-151)

Education and Socialization

ไม่ระบุชัดเจน

Health and Medicine

ลาวครั่งบ้านโคกจะได้รับการดูแลจากสาธารณสุขระดับหมู่บ้าน โดยมีการตั้งกองทุนยาภายในหมู่บ้านและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และมีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน เพื่อการให้ความรู้และแนะนำในเรื่องสาธารณสุขแก่หมู่บ้าน ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องโรคแม่และเด็ก ยาเสพติด โรคเอดส์ ในเรื่องของการรักษาพยาบาลชาวบ้านนิยมออกมาหาหมอที่โรงพยาบาลเมืองอู่ทอง ในการรักษาโรคนี้ ลาวครั่งยังมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาโรคแบบพื้นบ้าน หรือที่เรียกว่า หมอยากลางบ้าน และการรักษาด้วยอำนาจเวทมนต์ รักษาแบบการพ่น ส่วนมากการรักษาแบบนี้จะมาหลังจากที่ชาวบ้านไปรักษาโรคที่อนามัยหรือโรงพยาบาลแล้วไม่หาย ก็จะมีการบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วจึงมารับการรักษาจากหมอพ่นหรือหมอยากลางบ้าน ตัวอย่างภูมิปัญญาของการรักษาสมัยโบราณของลาวครั่ง เช่น เมื่อถูกสุนัขกัดก็จะรักษาด้วยการเหยียบและท่องคาถา บางตำราให้นำก้านกล้วยลนไฟตีลงไปบนแผล อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ หมอตำแยจะเป็นบุคคลที่มีบทบาทในเรื่องการเกิดของชาวบ้านโคกเป็นอย่างมาก โดยหมอตำแยจะใช้ผิวไม้ไผ่ตัดคมตัดรกของเด็กออกจากตัวแม่ โดยมีหัวขมิ้นไพร ก้อนดินหรือถ่านหุงต้มเป็นเขียงรองรับ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการเกิดด้วย (หน้า 81, 135-139, 152)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ในการแสดงความรักและความทะนุถนอมต่อเด็กนั้น ในบ้านโคกจะมีเพลงกล่อมเด็กในทำนอง "ทิงนอย" ซ้ำไปมาเป็นจังหวะ นอกจากนั้นแล้ว ก็จะมีของเล่นที่เกี่ยวกับงานหัตถกรรม คือ ไม้หมุนหรือกระแตเวียน ไม้แคะหรือไอ้หึ่ม อีโผล๊ะ หรืออีโป๊ะ กังหันใบตาล ม้าก้านกล้วย โกกเกก จิ๊งหนอง หน้าไม้ ลูกดอก ดาบไม้ ของเล่นต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะทำมาจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ทางมะพร้าว กาบกล้วย ต้นโสน ต้นอ้อ ปอกระเจาและดินเหนียว (หน้า 137)

Folklore

ในหนังสือใบลานและสมุดไทยขาวที่ทำจากกระดาษสา ของลาวครั่งนั้น เรื่องราวที่เขียนในหนังสือผูกหรือสมุดเหล่านี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานและนิทานพื้นบ้านอยู่ด้วย เช่น จำปาสี่ต้น การะเกด นางแตงอ่อน ไก่แก้วและเซียงเมี่ยง (ศรีธนญชัย) ซึ่งระหว่างที่มีการจัดงานพิธีกรรมต่าง ๆ อันเนื่องด้วยชีวิต โดยเฉพาะงานศพผู้มีอายุก็จะนำนิทานเหล่านี้มาอ่านให้ฟังในเวลากลางคืนที่ต้องอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพ (หน้า 87)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลาวครั่งเป็นผู้สืบเชื้อสายของชาวลาวที่อาศัยอยู่แถบ "ภูคัง" ประเทศลาว ซึ่งถูกเรียกว่า "ลาวภูคัง" ต่อมาก็เพี้ยนไปตามภาษาถิ่นต่าง ๆ กลายเป็น ลาวขี้ครั่ง "ลาวครั่ง" หรือบางทีก็ถูกเรียกว่า ลาวเต่าเหลือง เพราะนิสัยชาวลาวพวกนี้ชอบอยู่อิสระตามป่าเขา เสมือนเต่าภูเขาที่มีกระดองสีเหลือง ซึ่งมีความอดทนต่อสภาพอากาศและภูมิประเทศเป็นอย่างมาก (หน้า 84) ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างบ้านโคกและชุมชนใกล้เคียงในท้องถิ่นเดียวกันได้แก่ ชุมชนลาวครั่งบ้านท่าม้า บ้านหนองตาสาม เป็นชุมชนบ้านพี่เมืองน้องที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนฉันเครือญาติกันอย่างเหนียวแน่น ผู้คนระหว่างชุมชนมักจะพบปะกันเป็นประจำในช่วงเทศกาลที่วัดหนองตาสาม จากวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นอันเดียวกันนี้ การเดินทางระหว่างชุมชนลาวครั่งนั้น ดูจะเป็นเส้นทางสำคัญก่อนการเดินทางไปชุมชนอื่น ๆ การแลกเปลี่ยนสินค้าก็กระทำในลักษณะของญาติพี่น้องเป็นสำคัญ ส่วนความสัมพันธ์ในพื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านที่มีการผลิตข้าวเช่นเดียวกัน ชาวบ้านในหมู่บ้านอื่น ๆ จะเป็นพวก "คนไทย" ในสายตาของชาวบ้านโคก การปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มนั้น ทำให้บ้านโคกมีลักษณะความสัมพันธ์กับกลุ่มบ้านอื่น ๆ ที่เป็นสังคมชาวไร่ชาวนาเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไปจนถึงตลาดบางลี่ที่เป็นตลาดค้าข้าวนั้นมีลักษณะที่เป็นอิสระ (หน้า 170)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในชุมชนลาวครั่งนี้ ก็คล้าย ๆ กับการจัดรูปแบบของความสัมพันธ์ที่มีต่อกันใหม่ให้เป็นไปตามบรรทัดฐานความเป็นอยู่ที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อลาวครั่งมีปฏิสัมพันธ์กันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ โดยรอบที่เข้ามาติดต่อกัน แต่ละฝ่ายอาจจะหยิบยืมลักษณะทางวัฒนธรรมของกันและกันมาปรับใช้เพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ จากสาเหตุของระบบเศรษฐกิจการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สังคมลาวครั่งบ้านโคกเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิตของชาวบ้านโคก มีการปรับเปลี่ยนพืชเศรษฐกิจ คือ ข้าวและการเปลี่ยนแปลงทางสัมพันธ์ในการผลิต ได้มีผลกระทบไปทุก ๆ ส่วนของวัฒนธรรมลาวครั่ง คือ เริ่มตั้งแต่พิธีกรรมต่าง ๆ ที่จำนวนและความถี่ของชาวบ้านที่เข้าร่วมเริ่มลดลง เกิดแรงงานในรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่ผลักดันให้แรงงานรุ่นใหม่ แยกออกจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะการเลียนรูปแบบวิถีชีวิตของคนเมืองเข้ามามากกว่าการกลายเป็นคนเมือง ซึ่งจะเด่นในรูปธรรม เห็นได้จากเทคโนโลยีเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งรูปแบบบ้าน นอกจากนั้นลาวครั่งยังได้หยิบยืมวัฒนธรรมทางด้านเศรษฐกิจ การทำมาหากิน การประกอบการค้าและอุดมการณ์ทุนนิยมมาจากคนจีน ส่วนคนไทยนั้น ชาวบ้านโคกจะรับขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ทั้งการบวช การแต่งงาน ค่านิยมเกี่ยวกับการสร้างวัดไปปฏิบัติ แม้ในทุกวันนี้ระดับการดำรงชีวิตของชาวบ้านโคกเริ่มที่จะเปลี่ยนไปแต่กระนั้นการปฏิบัติตามจิตสำนึก อุดมการณ์ คติ ความเชื่อ ค่านิยม และข้อห้ามต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัฏจักรชีวิต รวมทั้งแบบแผนการปฏิบัติในพิธีกรรมเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ยังคงสืบทอดในสังคมลาวครั่งต่อไปตราบเมื่อวัฒนธรรมนั้น ๆ ยังตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้คนในสังคมได้อยู่ (หน้า 268-282)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst จงเพียร พลเยี่ยม Date of Report 10 ก.ค. 2549
TAG ลาวครั่ง, ระบบการผลิต, การปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชเศรษฐกิจ, สุพรรณบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง