สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject วิถีชีวิต การเมือง สังคม อัตลักษณ์ คนไทยเชื้อสายเวียดนาม นครพนม
Author จตุพร ดอนโสม
Title การสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity เวียด เหวียตเกี่ยว ไทยใหม่, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่น Total Pages 200 Year 2551
Source มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Abstract

         งานเขียนศึกษาความเป็นมา การสร้างและการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จากการศึกษาพบว่า คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก อพยพมาจากจังหวัดฮาติง ภาคกลางของประเทศเวียดนาม เนื่องจากการปราบปรามของฝรั่งเศส และหนีความอดอยาก หมู่บ้านนาจอกตั้งขึ้นก่อน พ.ศ. 2441 โดยคนเวียดนามรุ่นเก่า ในหมู่บ้านมีศาลเจ้าด่ายเวือง โฮจิมินห์  เพลงประจำหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ในหมู่บ้าน นอกจากคนไทยเชื้อสายเวียดนามแล้วยังมีชาวผู้ไทอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน คนไทยเชื้อสายเวียดนามได้มีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์แล้วแต่สถานการณ์ทางการเมือง เช่นในยุคที่มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ คนไทยเชื้อสายเวียดนามจะไม่ค่อยแสดงตัวตนที่แท้จริง กระทั่งทางการไทยและเวียดนามได้ร่วมกันก่อตั้งหมู่บ้านมิตรภาพที่บ้านนอจอก คนไทยเชื้อสายเวียดนามจึงส่งเสริมอัตลักษณ์ของตนในด้านต่างๆ ให้คล้องจองกับสถานการณ์การเมือง และเศรษฐกิจให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน

Focus

         เพื่อศึกษาความเป็นมาทางชาติพันธุ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก การสร้าง และปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม  (หน้า 4)

Theoretical Issues

         ผู้วิจัยใช้แนวคิดอัตลักษณ์ที่ว่าอัตลักษณ์ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่สังคมได้สร้างขึ้น มักมีการเลื่อนไหล ผลิตซ้ำ เปลี่ยนแปลง หรือมีการตอบโต้ต่อรอง  บุคคลหรือกลุ่มคนหนึ่งๆ อาจจะนิยามตัวตน และเลือกที่จะแสดงตนแตกต่างออกไปได้ตามสถานการณ์และช่วงเวลา ดังนั้น  อัตลักษณ์จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการสร้างความเหมือนระหว่าง “พวกเรา” กับความต่างกับ “พวกเขา” หรือ “คนอื่น” อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไม่ใช่ผลผลิตของเชื้อชาติ ชนชาติ และวัฒนธรรม หากแต่ถูกสร้างขึ้นใหม่ขึ้นอยู่กับบริบทและสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา (หน้า 17) และ
 
แนวคิดการธำรงชาติพันธุ์
           จักรพันธุ์ ขัดชุ่มแสง, 2543:2  ระบุว่า การธำรงชาติพันธุ์เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ทุกวันนี้เราสามารถพบได้ทุกแห่งหน ทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน  โดยเฉพาะรัฐชาติประกอบไปด้วยประชากรซึ่งมีภูมิหลังทางด้านเชื้อชาติ ความเชื่อ ศาสนา ค่านิยม ตลอดจนแบบแผนในการดำรงชีวิตอันหลากหลาย มาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันภายใต้อำนาจการปกครองระบอบเดียวกัน การธำรงชาติพันธุ์มีบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้นในสังคมโลก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเรื่อยมา (หน้า 19)  ส่วน ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ ระบุว่า แนวทางการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์แบ่งเป็น สามสมัยได้แก่   1) สมัยก่อนมโนทัศน์ชาติพันธุ์ธำรง 2) สมัยนิยมศึกษาชาติพันธุ์ธำรง และ 3) สมัยหลังชาติพันธุ์ธำรง  (หน้า 19)
 
แนวคิดคนพลัดถิ่น
           คนพลัดถิ่น คือ กลุ่มคนหรือชุมชนที่อพยพออกนอกมาตุภูมิ และยังมีความสัมพันธ์กับมาตุภูมิไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร  การหวนรำลึกอดีต การบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมาตุภูมิจากรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง และสาเหตุที่อพยพออกนอกมาตุภูมิและกลายเป็นคนพลัดถิ่น หรือชาติพันธุ์นั้นอาจจะมาจากเหตุผลที่หลากหลาย  แนวคิดคนพลัดถิ่นชี้ให้เห็นถึงประเด็นความสัมพันธ์ของคนพลัดถิ่นกับมาตุภูมิที่แตกต่างไปจากกลุ่มคน หรือชาติพันธุ์ทั่วไป ซึ่งความสัมพันธ์กับมาตุภูมิดังกล่าวจะส่งผลต่อการสร้าง อัตลักษณ์ของคนพลัดถิ่นหรือกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ  (หน้า 30)
           ผู้เขียนใช้กรอบแนวคิดที่ระบุว่า การสร้างอัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามนั้นมีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ ทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสภูมิภาคนิยม นโยบายการพัฒนาประเทศทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองนั้น เพราะการนิยามตนเอง หรือคนอื่นนิยามหรือให้ความหมาย ตลอดจนการสร้างภาพแทน กระบวนการปรับเปลี่ยน การต่อสู้ต่อรองด้านวัฒนธรรม ค่านิยมต่างๆ สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แสดง การสร้างอัตลักษณ์ที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น ต่างก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเคยไม่หยุดนิ่ง ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์  (หน้า 39) 

Ethnic Group in the Focus

คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก            
          กลุ่มคนที่ศึกษาคือ ผู้ที่มีพ่อ แม่เป็นคนเวียดนาม หรือคนที่มีเฉพาะพ่อ หรือแม่ ที่มีเชื้อสายเวียดนามสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ  อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม  (หน้า 4) สำหรับคนเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ถูกเรียกในชื่อต่างๆ กันไป เช่นคำว่า คนญวน มีความหมายในเชิงดูถูกไม่ให้เกียรติกัน (หน้า 47) เหวียตเกี่ยว (Viet Kieu) คือ คนเวียตนามที่อาศัยอยู่นอกประเทศเวียดนาม หรือคนเวียดนามโพ้นทะเล ไม่ว่าจะออกนอกประเทศเพราะอะไรหรือยุคสมัยใด สำหรับคนเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย  เรียกว่า เหวียต เกี่ยว ในไทย (Viet KieuThai Lan) สำหรับคำว่าเหวียตเกี่ยวมีความหมายด้านบวกใช้เรียกคนเวียดนามและคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่อยู่ในและนอกประเทศเวียดนาม (หน้า 48) ส่วนคำว่า “แกว” นั้น คนไทยถือว่าเป็นคำเรียกที่ค่อนข้างหมิ่นแคลน(หน้า 149)
          คนอีสานเรียกคนเวียดนามว่า “แกว” มานานแล้ว ส่วนคนเวียดนามเรียกตนเองว่า “เหวียด” ตามตัวหนังสือภาษาจีนก่อนที่จะมาใช้ตัวหนังสือโรมัน จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ฮ้วด” ส่วนจีนฮกเกี้ยนออกเสียงว่า “หย้วน” สันนิษฐานคำว่า ญวน มาจากการที่คนไทยติดต่อกับคนเวียดนามใช้ล่ามเป็นจีนฮกเกี้ยน จึงเป็นที่มาของคนเวียดนามว่า “ญวน”  ส่วนลูกหลานเวียดนามที่เกิดในไทย ซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับ 2พ.ศ. 2535  เรียกตนเองว่า “ไทยใหม่”  (หน้า 48)  

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาเวียดนาม และภาษาอื่นๆ ในหมู่บ้านนาจอก           
          ความต่างระหว่างคนเวียดนามรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่อยู่หมู่บ้านนาจอกคือ คนเวียดนามรุ่นเก่าจะพูดภาษาเวียดนามกลาง ที่ใช้พูดในจังหวัดฮาติง ถิ่นที่อยู่เดิม  ส่วนเวียดนามรุ่นใหม่จะพูดภาษาเวียดนามแบบทางเหนือ เช่นภาษาที่พูดในเมืองฮานอยและผสมกับภาษาลาวเมืองท่าแขก  (หน้า 64)
          เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ดังนั้นจึงพูดและเขียนด้วยภาษาเวียดนาม ภายหลังเมื่อมีการติดต่อกับคนอีสานจึงเริ่มฝึกฝนภาษาอีสาน (หน้า 91) ในหมู่บ้านคนไทยเชื้อสายเวียดนามพูดสามภาษา ได้แก่ ภาษาเวียดนาม  ภาษาอีสาน  และภาษาไทยภาคกลาง  คนในหมู่บ้านบอกว่าภาษาเวียดนามที่พูดในบ้านนาจอกเหมือนกับภาษาอีสานของเวียดนาม ซึ่งไม่เหมือนกับภาษาเวียดนามภาคเหนือจากฮานอย หรือภาษาเวียดนามทางใต้จากเมืองโฮจิมินห์ (ไซ่ง่อน) นอกจากนี้ยังมีการผสมคำระหว่างภาษาเวียดนาม ภาษาอีสานและภาษาไทยภาคกลาง  แต่เมื่อติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นจะพูดภาษาไทยหรือภาษาอีสาน (หน้า 130, 151)

Study Period (Data Collection)

ใช้เวลา 12 เดือน ตุลาคม 2547- กันยายน 2548  เก็บข้อมูลเพิ่มเติม กันยายน 2548-ธันวาคม 2549 และ ตุลาคม 2550

History of the Group and Community

          ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีชุมชนหรือค่ายของชาวเวียดนามหรือเรียกว่า ญวน ในสมัยอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ โดยไม่ได้มีแต่หมู่บ้านชาวเวียดนามเท่านั้นแต่ยังมีหมู่บ้านของชนชาติอื่นด้วย ดังนั้นจึงมีคำว่า “ญวนเก่า”และ “ญวนใหม่” แต่คำว่า “ญวน” ค่อนข้างมีความหมายในเชิงเหน็บแนมเหยียดหยาม (หน้า 47) ส่วนคำว่า   “เหวียตเกี่ยว” (Viet  Kieu) เป็นคำที่สื่อความหมายในด้านบวก แปลว่าคนเวียดนามที่อยู่ต่างประเทศอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่เวียดนาม บางทีก็เรียกว่า คนเวียดนามโพ้นทะเล สำหรับคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่อยู่ในเมืองไทยเรียกว่า “เหวียต เกี่ยว ในไทย”(Viet Kieu Thai Lan)  (หน้า 48)การอพยพจากเวียดนามเข้ามาในประเทศไทย คนวียดนามจากจังหวัดเหง่อานห์ และฮาติง เดินทางด้วยเส้นทางหมายเลข 8 มาที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศลาว จากนั้นก็จะข้ามแม่น้ำโขงมาที่จังหวัดนครพนม ประเทศไทย ส่วนคนเวียดนามจากเมืองกว่างจิ เมืองกว่างบิ่งห์ เมืองเว้ จะใช้เส้นทางหมายเลข 12และหมายเลข 9เดินทางเข้ามาที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งในอดีตก็เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครพนม (หน้า 50)        

ความเป็นมาของหมู่บ้านนาจอก          
          ผู้เขียนไม่ทราบแน่ชัดว่าคนเวียดนามอพยพเข้ามาตั้งหมู่บ้านนาจอกตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะก่อน พ.ศ. 2441 เพราะมีการสร้างศาลเจ้าในปีนั้น (หน้า 55) ประวัติศาสตร์การอพยพของคนเวียดนามเข้ามาในประเทศไทยนั้นมีหลายระลอก  คนเวียดนามรุ่นแรกอพยพมาเมื่อ พ.ศ. 2420  ในสมัยรัชกาลที่ 5คนรุ่นนี้หนีการปกครองของฝรั่งเศสและความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นลำบากในเวียดนาม เวียดนามรุ่นแรกเป็นรุ่นก่อตั้งหมู่บ้าน มีนามสกุลไทย มีลูกหลานสืบสกุลและมีสัญชาติไทย  (หน้า 59)
          ส่วนคนเวียดนามรุ่นใหม่หรือรุ่นที่สอง เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย และไม่ค่อยมีบทบาทในด้านต่างๆในหมู่บ้านนาจอก กลุ่มรุ่นใหม่ได้อพยพเข้ามาในเมืองไทย เพราะหลบหนีการปราบปรามของฝรั่งเศสเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2489 ที่เมืองท่าแขก ประเทศลาว  หลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488(หน้า 62) ดังนั้นฝรั่งเศสจึงกลับมาปกครองอินโดจีนและปราบปรามคนเวียดนามที่อยู่ในประเทศลาว หรือที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่คนเวียดนามว่า วันท่าแขกแตก 21 มีนาคม 2489จึงทำให้ชาวเวียดนามที่เมืองท่าแขกข้ามมาอยู่ฝั่งประเทศไทยเป็นจำนวนมาก คนรุ่นนี้ถูกเรียกว่า เวียดนามรุ่นใหม่ เพราะอพยพเข้ามาหมู่บ้านในภายหลัง (หน้า 63)
          หมู่บ้านนาจอกมีความสำคัญคือในช่วงสงครามอินโดจีน ท่านโฮจิมินห์ อดีตประธานาธิบดีของเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้นำของขบวนการกู้ชาติเวียดมินห์ ได้เคยมาพำนักเพื่อเคลื่อนไหวกู้ชาติเวียดนาม(หน้า 2) และมีชาวเวียดนามอพยพมาอีกครั้งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือประมาณ พ.ศ. 2489 และเป็นหมู่บ้านคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมของตนเองเอาไว้ ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ตั้งให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านมิตรภาพไทย –เวียดนาม (หน้า 41) คนไทยเชื้อสายเวียดนามในหมู่บ้านนาจอก อพยพมาจากจังหวัดฮาติง และจังหวัดเหง่อานห์ ภาคกลางของประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านด้วย (หน้า 147)
          ความเป็นมาดั้งเดิมมี 2หมู่บ้าน ได้แก่บ้านต้นผึ้ง กับบ้านใหม่ แต่เดิมคนไทยเชื้อสายเวียดนามเรียกบ้านนาจอกว่า บ้าน “ หมี่ ฮวา” แปลว่า หมู่บ้านที่ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก สาเหตุที่คนไทยเชื้อสายเวียดนามตั้งชื่อหมู่บ้านเช่นนี้ก็เพื่อความเป็น ศิริมงคล และความสมัครสมานสามัคคี  ซึ่งแต่ก่อนที่คนไทยเชื้อสายเวียดนามจะมาตั้งหมู่บ้านนาจอกนั้น  เคยอยู่ที่บ้านคำเกิ้ม  ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของบ้านนาจอก 4กิโลเมตร  ต่อมาเกิดอุทกภัยขึ้น ชาวเวียดนามจึงอพยพโยกย้ายไปหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านโพนบก  บ้านนาราชควาย บ้านนาจอก บ้านดอนโมง และบ้านหนองแสง ที่ตั้งอยู่รอบเขตเทศบาลเมืองนครพนมในทุกวันนี้ (หน้า 148)
          ชาวเวียดนามมาตั้งหมู่บ้านใกล้บึงหนองญาติเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนชื่อบ้านนาจอก  มาจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นาประกอบกับมีหมาจิ้งจอกมากมาย จึงนำมาเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านว่าบ้านนาจอก แต่อีกส่วนเรียกบ้านต้นผึ้งก็เนื่องมาจากในหมู่บ้านมีผึ้งทำรังเป็นจำนวนมาก ในภายหลังทั้งสองหมู่บ้านได้มารวมกันมีชื่อว่า บ้านนาจอก (หน้า 148) ตาม พระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 ชื่อว่าบ้านนาจอก มีผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านถึงปัจจุบัน 13คน  (หน้า 148)  

Settlement Pattern

          คนเวียดนามจะหาแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ใกล้แหล่งน้ำเป็นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย (หน้า 55) บ้านของคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก ส่วนใหญ่สร้างเป็นแบบใต้ถุนสูง ด้านล่างปล่อยโล่งเพื่อใช้สำหรับผูกเปลญวนกับที่พักผ่อนดื่มน้ำชา บ้านมุงด้วยสังกะสี ชั้นบนของบ้านมีหนึ่งห้องเป็นห้องสำหรับทำพิธีไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว พื้นที่โล่งเวลานอนจะกั้นด้วยม่าน บ้านแบบนี้คนไทยเชื้อสายเวียดนามเรียกว่า บ้านทรงไทยอีสาน เพราะบ้านแบบเวียดนามเป็นบ้านชั้นเดียวติดดิน บ้านแบบใต้ถุนสูงสร้างแบบบ้านคนอีสานเมื่อมาอยู่เมืองไทย สำหรับบ้านแบบเวียดนามจะเป็นบ้านจำลองของโฮจิมินห์  ทางการไทยสร้างไว้ให้นักท่องเที่ยวชมทุกวันที่บ้านของนายเตียว เหงียนวัน  (หน้า 78) บ้านแต่ละหลังมีพื้นที่ 1-3ไร่ นิยมปลูกหมาก พลู พืชผักสวนครัวเพื่อกินในครัวเรือนและจำหน่าย (หน้า 78)
          ในหมู่บ้านมีบ้านร้างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเจ้าของบ้านไปทำงานที่ต่างจังหวัดและสร้างบ้านใหม่ที่นั่นและที่ไม่รื้อบ้านหลังเก่าเพราะเชื่อว่าเป็นที่ของบรรพบุรุษ โดยหวังใจไว้ว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะกลับมาอยู่ที่บ้านที่มีคนไทยเชื้อสายเวียดนามอยู่อีกครั้ง (หน้า 79) นอกจากนี้พบว่ามีบ้านของผู้ไทสร้างบ้านอยู่ในหมู่บ้านด้วย บริเวณนี้เรียกว่าคุ้มคนไทยหรือบ้านคนไทย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ไทซื้อที่ดินกับคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ช่วง พ.ศ.2503 เนื่องจากในปีนั้นสภากาชาดไทยกับเวียดนามได้ร่วมกันส่งคนเวียดนามกลับประเทศเวียดนาม  (หน้า 79) 

Demography

          บ้านนาจอกมีครัวเรือน 140ครัวเรือน (หน้า 148) ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มก่อตั้งหมู่บ้านนาจอก  ปะปนด้วยชาวผู้ไทย ที่เข้ามาซื้อที่ดินต่อจากชาวเวียดนามที่อพยพกลับประเทศเวียดนาม เมื่อหลายปีก่อน (หน้า 70)  

Economy

 อาหาร           
          คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก ชอบรับประทานอาหารต่างๆ ดังต่อไปนี้
          เฝอ หรือก๋วยเตี๋ยวเนื้อ  มักรับประทานเป็นอาหารเช้าหรือช่วงเที่ยง
          แกงจืด นิยมกินเป็นอาหารเย็น คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอกชอบกินข้าวจ้าวมากกว่าข้าวเหนียว ส่วนข้าวเหนียวจะนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารในช่วงประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็น ตรุษญวน พิธีโหย๋ งานศพ และอื่นๆ (หน้า 84)
          แกงยุดโมน ส่วนประกอบได้แก่ ก้านเผือกนำมาหั่นเป็นท่อน จากนั้นก็เอาไปตากแดด เมื่อท่อนเผือกเหี่ยวก็นำมาคั้นใส่น้ำซาวข้าวเอาไปใส่ขวดโหลเก็บไว้หนึ่งสัปดาห์เมื่อมีรสเปรี้ยวก็นำมาแกงกับปลาช่อน ใส่ใบแมงลัก น้ำปลา และพริก  (หน้า 84)
          มะเขือดอง และอาหารประเภทผัก เนื่องจากคนไทยเชื้อสายเวียดนามนิยมปลูกผักทุกหลังคาเรือน  การทำมะเขือดองจะเอามะเขือสีขาวมาตัดขั้วออก แต่ที่เวียดนามจะไม่ตัดเพราะใช้จับเวลาจิ้มกับน้ำพริก แล้วนำมะเขือไปตากแดด นำมาต้มกับน้ำเกลือเมื่อเย็นแล้วก็นำใส่ภาชนะดองไว้หนึ่งสัปดาห์  จากนั้นก็จะเอามะเขือดองมาจิ้มกินกับน้ำพริกกะปิ (หน้า 84)
          กากคองเหง่ ทำจากปลาเนื้ออ่อนต้มเค็มใส่ยอดขมิ้นแกงใส่น้ำปลากับเกลือ โดยจะตั้งน้ำจนเดือดเป็นสีเหลืองและใช้พอสมควรในการเคี่ยวเครื่องแกง แกงชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในทางตอนใต้ของเวียดนาม (หน้า 85) และอาหารอื่นๆ เช่น หมูยอ  ขนมปากหม้อ หรือ แบ๋งห์ ก๋วน  แบ๋ง จึง เส้นขนมจีน หรือบุ๋น ก๋วยจั๊บเวียดนาม (ออกเสียงว่าแหนมเนือง) แบ๋งห์ แส่ว หรือ ขนมเบื้องญวน เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีขั้นตอนการทำที่พิถีพิถันจึงไม่ค่อยรับประทานในชีวิตประจำวัน แต่นิยมทำเมื่อมีเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ (หน้า 85)
          เนื้อกมั้ม คือน้ำปลาเวียดนามใส่กับข้าว ใช้ปรุงรสอาหาร ทำด้วยปลาขนาดเล็กโดยหมักกับเกลือและรำข้าว ถนอมอาหารหมักนานเกือบหนึ่งปี ต่อมาก็จะตักส่วนที่เป็นน้ำใสๆ ใช้ปรุงแต่งรสอาหาร ทุกวันนี้ยังมีบางครอบครัวทำเนื๊อกมั้มเอาไว้ปรุงรสอาหารในครัวเรือน แต่เพราะการทำค่อนข้างใช้เวลา ดังนั้นทุกวันนี้น้ำปลาที่ขายตามร้านค้าจึงได้รับความนิยมมากกว่า (หน้า 85)
 
เศรษฐกิจ           
          โดยภาพรวมบทบาทของคนไทยเชื้อสายเวียดนามนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลไทยแต่ละรัฐบาลที่มีส่วนต่อการทำงานของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม แต่บทบาททางเศรษฐกิจของคนไทยเชื้อสายเวียดนามดีขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ที่เปลี่ยนนโยบายทางการเมืองกับประเทศอินโดจีน และคลายความเข้มงวดกับชาวเวียดนามอพยพ การทำอาชีพแบ่งเป็นสองอย่างคือ รับราชการ และไม่รับราชการ (หน้า 87) คนไทยเชื้อสายเวียดนามในภาคอีสานมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะมีความขยันหมั่นเพียร และมีไหวพริบในการทำการค้า (หน้า 88)
          เศรษฐกิจบ้านนาจอก แต่เดิมคนไทยเชื้อสายเวียดนามมาจับจองที่ดินใกล้กับบึงหนองญาติเพราะเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในครอบครัวใหญ่มีที่ดินไม่น้อยกว่า30ไร่ แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปที่ดินเริ่มลดจำนวนลงเพราะแบ่งให้ลูกหลาน ทุกวันนี้คนไทยเชื้อสายเวียดนามนิยมให้คนไทยอีสานมาทำนาแล้วแบ่งข้าวกันคนละครึ่ง เนื่องจากลูกหลานไปทำงานต่างจังหวัดที่บ้านจึงเหลือเฉพาะคนแก่ และเด็ก และอาชีพอีกอย่างที่เห็นชัดเจนคือการปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ ผักชี คะน้า  สลัด หมาก พลู  โดยจะส่งไปขายที่ตลาดเมืองนครพนม  (หน้า 89)   บางส่วนก็ไปทำงานต่างจังหวัด เปิดอู่ซ่อมรถยนต์ ไดนาโม  ซ่อมแอร์ ส่วนผู้หญิงก็เปิดร้านเสริมสวย (หน้า 90) คนไทยบ้านนาจอกมีความขยันหมั่นเพียร ประหยัดอดอออม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รู้จักใช้สอยที่ดินปลูกผักในครัวเรือนขายดังนั้นจึงไม่ขัดสนเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย (หน้า 91)

Social Organization

สังคม           
          โครงสร้างสังคมบ้านนาจอกมีสองระดับ ได้แก่โครงสร้างใหญ่ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ กับโครงสร้างย่อยระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ (หน้า 69) ในหมู่บ้านคนไทยเชื้อสายเวียดนามมีจำนวนมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่ตั้งหมู่บ้าน  การอยู่ในหมู่บ้านของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม และผู้ไทยเป็นไปอย่างถ้อยที ถ้อยอาศัยกัน ชาวผู้ไทนั้นมีความสนใจเรียนรู้และเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ ของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม เช่น พิธีกรรมที่ศาลเจ้า งานศพ งานแต่งงาน และเรียนรู้ภาษาเวียดนาม นอกจากนี้ชาวผู้ไทนั้นอยู่ในฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยในหมู่บ้าน แต่เมื่ออยู่ในสังคมใหญ่นอกหมู่บ้าน ชาวผู้ไทก็เปรียบเหมือนคนอีสานจำนวนมากที่ไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ หรือถูกควบคุมด้วยนโยบายหลายอย่างเหมือนกับคนไทยเชื้อสายเวียดนามรุ่นใหม่ที่ยังถือบัตรเวียดนามอพยพ ฉะนั้นชาวผู้ไทจึงมีการปรับเปลี่ยนการแสดงออกทางชาติพันธุ์ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ (หน้า 70)  
          ส่วนคนเวียดนามมีกลุ่มเวียดนามรุ่นเก่า และเวียดนามรุ่นใหม่ สำหรับคนเวียดนามรุ่นเก่านั้นมีจำนวนมากที่สุดและมีฐานะร่ำรวย มีที่ดินจำนวนมากและมีบทบาทในหมู่บ้านเช่น เป็นคณะกรรมการศาลเจ้า คณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข และอื่นๆ ส่วนคนเวียดนามรุ่นใหม่นั้น ไม่ค่อยมีบทบาทโดดเด่นในหมู่บ้าน เนื่องจากไม่อาจเดินทางออกนอกเขตควบคุม การเดินทางไปต่างจังหวัดทุกครั้งต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ (หน้า 70)
          คนไทยเชื้อสายเวียดนามต่างมีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในกลุ่มเครือญาติ และคนใกล้ชิด ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากคนไทยเชื้อสายเวียดนามส่วนใหญ่แต่งงานในกลุ่มคนเวียดนามด้วยกันจึงทำให้เกิดความแน่นแฟ้น (หน้า 82)งานแต่งงาน           

          คนไทยเชื้อสายเวียดนามนิยมแต่งงานในกลุ่มคนที่เป็นชาวเวียดนามด้วยกัน ที่แต่งกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นก็มีแต่เป็นส่วนน้อย (หน้า 82) ในอดีตพิธีค่อนข้างเรียบง่าย เน้นที่การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ สำหรับของเซ่นไหว้ได้แก่  อาหารคาวหวาน  ไก่ต้มหนึ่งตัว ธูป เทียน หมาก พลู เหล้า  เมื่อขบวนขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าวยกมาถึงบ้านเจ้าสาว แล้วจะให้ผู้อาวุโสที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่มาคล้องแขนเจ้าบ่าวเจ้าสาว โดยจะกล่าวอบรมการใช้ชีวิตและให้พรเพื่อสร้างฐานะความเป็นอยู่ ซื่อสัตย์ต่อกัน และฝ่ายเจ้าสาวก็จะเลี้ยงต้อนรับฝ่ายเจ้าบ่าว ต่อมาก็จะแห่กลับไปที่บ้านเจ้าบ่าว และเจ้าสาวจะมาอยู่ที่บ้านฝ่ายชายตามประเพณีของเวียดนาม (หน้า 83) 
          ส่วนใหญ่จัดในเดือนคู่ เว้นช่วงเข้าพรรษา แต่ถ้ามีญาติพี่น้องของฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงเสียชีวิตก็จะทำพิธีไว้ทุกข์โดยจะไม่จัดงานแต่งงานในช่วงระยะเวลาสองปีและห้ามคนที่เป็นหม้ายหรือล้มเหลวในชีวิตคู่มาร่วมงานเพราะเชื่อว่าไม่เป็นศิริมงคล แต่ทุกวันนี้ความเชื่อเช่นนี้ไม่ค่อยเคร่งครัดเหมือนในอดีต (หน้า 83) 
          ปัจจุบันงานแต่งงานของคนไทยเชื้อสายเวียดนามจัดเหมือนคนอีสาน มีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน ราคาโต๊ะละหนึ่งพัน ถึงสองพันบาทขึ้นอยู่กับกำลังเศรษฐกิจของเจ้าภาพ สำหรับการ์ดเชิญแขกนิยมเขียนเป็นภาษาเวียดนาม (หน้า 84) 
 
การจัดระเบียบทางสังคม           
          ในหมู่บ้านนาจอกมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในหมู่บ้าน กลุ่มทางสังคมที่สำคัญของหมู่บ้านนาจอกคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชน ที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2533 แต่เดิมเป็นกลุ่มกองทุนสัจจะ ครั้งแรกมีการฝากเงินคนละ 2 หุ้นๆ ละ 10 บาท (หน้า 98) เมื่อดำเนินการไปจำนวนเงินเพิ่มจำนวนขึ้น ต่อมาสหกรณ์จังหวัดนครพนมจึงเข้ามาอบรมเรื่องการดำเนินงานสหกรณ์ (หน้า 99)
           ทุกวันนี้สหกรณ์ออมทรัพย์บ้านนาจอกมีเงินหมุนเวียน 10 ล้านบาท สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ราคาหุ้นๆ ละ 100 บาท การกู้เงินขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 5 ต่อเดือน และอัตราเงินกู้ร้อยละ 7 ต่อเดือน มีกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง 9 คน ที่มาจากกลุ่ม ผู้สูงอายุ สตรี และเยาวชน นอกจากนนี้ยังมีลูกจ้างรายเดือน เพื่อจัดทำบัญชีและประสานงานอีก 3 คน โดยเปิดทำการในวันที่ 1-20 ของเดือน  ในเวลา 19.00 น. – 21.00 น. สาเหตุที่เปิดในช่วงกลางคืนเพราะพนักงานและสมาชิกต้องทำงานประจำในช่วงเวลากลางวัน  การบริหารงานต่างจากสหกรณ์ทั่วไป โดยชาวบ้านได้นำความเชื่อเรื่องศาลเจ้าเข้ามาใช้ ได้แก่การยึดถือสัจจะ ซื่อสัตย์ และตรงเวลา (หน้า 99)
 

Political Organization

การเมืองการปกครอง           
          การอพยพเข้ามาอยู่บ้านนาจอกทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้มีบัตรประจำตัวประชาชนและได้รับสัญชาติไทยดังนี้ กลุ่มคนเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่บ้านนาจอกแบ่งออกเป็น 2รุ่น ได้แก่ชาวเวียดนาม รุ่นที่ 1อพยพมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5และร่วมกันตั้งหมู่บ้าน โดยเข้ามาอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2420ทุกวันนี้กลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของหมู่บ้าน โดยสืบเชื้อสายมาถึงชั้นลูก ชั้นหลาน กลุ่มนี้ได้รับสัญชาติไทย และมีบัตรประจำตัวประชาชน   ทะเบียนบ้าน และเปลี่ยนจากนามสกุลเวียดนามมาเป็นนามสกุลไทยทุกคน สำหรับสาเหตุของการอพยพของคนกลุ่มนี้ มาจากการหลบหนีการปกครองของฝรั่งเศสและความยากจนข้นแค้นของบ้านเกิดเมืองนอน (หน้า 59) 
          เวียดนามรุ่นที่สองหรือเวียดนามรุ่นใหม่ กลุ่มนี้ถือบัตรเวียดนามอพยพ งานเขียนระบุว่า กลุ่มนี้หนีการปราบปรามของฝรั่งเศส เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 ที่เมืองท่าแขก ประเทศลาว หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488  (หน้า 62) ในเวลานั้นฝรั่งเศสได้กลับมายึดครองอินโดจีน และมีชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวจึงหนีการปราบปรามของฝรั่งเศสเข้ามาอยู่ในประเทศไทย (หน้า 63)
          เหตุการณ์สำคัญคือวันที่ฝรั่งเศสปราบปรามชาวเวียดนามรุนแรงที่สุด ที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน  ประเทศลาว เมื่อวันที่ 21มีนาคม พ.ศ. 2489  ซึ่งคนไทยเชื้อสายเวียดนามเรียกว่า “วันท่าแขกแตก” คนเวียดนามอพยพที่เข้ามาอยู่ในไทยตอนแรกค่อนข้างโชคดีที่ นายปรีดี  พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้อิสระและจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวเวียดนามอพยพ แต่นายปรีดี เป็นนายกรัฐมนตรี 2-3ปี  รัฐบาลสมัยต่อมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชาวเวียดนามอพยพ ต่างประสบความยากลำบาก เพราะถูกควบคุมเขตที่อยู่อาศัย  ถ้าออกนอกเขตอำเภอต้องขอใบอนุญาต กระทั่งถึงสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลได้จัดลงทะเบียนให้ชาวเวียดนามอพยพกับประเทศเวียดนามโดยสมัครใจ โดย 99% ยินดีกลับเวียดนามเหนือ  ค.ศ. 1959รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลง โดยผ่านสภากาชาดไทย และเริ่มกลับเมื่อ ค.ศ. 1960และคนเวียดนามได้ร่วมกันสร้างหอนาฬิกาที่ถนนสุนทรวิจิตรกลางเมืองนครพนม ไว้เป็นอนุสรณ์เมื่อเดินทางกลับเวียดนาม (หน้า 63)
 
คณะกรรมการศาลเจ้า
          ในหมู่บ้านมีคณะกรรมหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และคณะกรรมการหมู่บ้านในส่วนอื่นๆ  แต่คณะกรรมการเหล่านี้ก็มีหน้าที่เพียงติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของทางราชการไทย แต่ในหมู่บ้านยังมีคณะกรรมการศาลเจ้า ที่ถูกคัดเลือกมาเพื่อปกครองบ้านนาจอก และประธานศาลเจ้าคือผู้ที่มีอำนาจและบทบาทมากที่สุดในหมู่บ้าน (หน้า 71)
          คณะกรรมการศาลเจ้ามีบทบาทสำคัญในส่วนพิธีกรรมที่ศาลเจ้า วันตรุษญวน  วันเข้าพรรษา   งานศพ   งานแต่งงาน   งานครบรอบวันตายของบรรพบุรุษ บทบาทของคณะกรรมการศาลเจ้ามีบทบาทเช่น หากคนในหมู่บ้านเสียชีวิต สมาชิกในครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องไปแจ้งประธานศาลเจ้าเป็นบุคคลแรก หลังจากนั้นคณะกรรมการศาลเจ้าจะเข้ามาดูแลการจัดงานศพเกือบทุกขั้นตอน ส่วนเรื่องอื่นๆ คณะกรรมการหมู่บ้านจะมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยกรณีคนในหมู่บ้านมีเรื่องขัดแย้งหรือทะเลาะวิวาท โดยจะนำคู่กรณีมาตกลงกันที่ศาลเจ้า ผู้ที่ทำความผิดจะถูกลงโทษตามข้อกำหนดของหมู่บ้าน ถ้าไม่รุนแรงจะว่ากล่าวตักเตือนแต่ถ้าเป็นโทษร้ายแรงก็จะลงโทษตามกระบวนการต่อไป (หน้า 71) 

Belief System

ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง
          คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอกนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ได้รับอิทธิพลความเชื่อจากจีนเนื่องจากในอดีตตกอยู่ใต้การปกครองมาเป็นเวลานาน ความเชื่อที่ได้รับจากจีนประกอบด้วย 3ลัทธิ ได้แก่ ขงจื้อ  พุทธมหายาน เต๋า ศาสนาพุทธมหายานอยู่ในความเชื่อเรื่องความกตัญญูต่อพ่อ แม่ สำหรับความเชื่อที่มาจากลัทธิขงจื้อได้แก่ การทำแท่นบูชาบรรพบุรุษไว้ที่บ้าน และตั้งศาลเจ้า หรือ เด่น (Den) ประจำหมู่บ้านเพื่อประกอบพิธีกรรมทั้งหลาย  ในตำบลหนองญาติมีศาลเจ้าอยู่สองแห่ง ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อด่าย เวือง ที่บ้านนาจอก  และศาลเจ้าแถงห์ หว่าง (Thanh  Hoang) ที่บ้านดอนโมง (หน้า 103)
          ศาลเจ้าพ่อด่าย เวือง (Dai Vuong) ที่บ้านนาจอก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2441  บูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ. 2536ความเป็นมา คำว่า ด่ายเวือง แปลว่า พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งเวียดนาม ศาลแห่งนี้กำนันลาย ประชากูล และชาวบ้านร่วมกันสร้างตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน แต่เดิมศาลเจ้าทำด้วยไม้  แต่ต่อมาเมื่อคนในบ้านนาจอกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น(หน้า 103) ชาวบ้านจึงช่วยกันบูรณะซ่อมแซม สำหรับศาลหลังใหม่ทำจากปูนซีเมนต์ ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าพ่อด่าย เวือง ได้รับการบอกเล่าและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้านเพราะเชื่อว่าการเคารพบูชาบรรพบุรุษนั้น จะช่วยหนุนนำให้การทำงานและชีวิตครอบครัวร่มเย็นเป็นสุขและเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรมของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม (หน้า 104)
          คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอกมีความเชื่อและนับถือ เจ้า เจิ่น ฮึง ด่าว (Tran Hung Dao) ซึ่งแต่เดิมเป็นเจ้าที่ปกครองประเทศเวียดนามเมื่อในอดีต โดยคนไทยเชื้อสายเวียดนามได้ร่วมกันสร้างรูปปั้นถือดาบไม้ไว้เป็นตัวแทน (หน้า 104) โดยมีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าใกล้เพราะเชื่อว่าจะทำให้เสื่อม แต่ให้ไหว้ได้ในบริเวณรอบนอก สำหรับความเป็นมาของ เจ้า เจิ่น ฮึง ด่าว คือนักรบเวียดนามผู้นำทัพทำสงครามชนะจีนหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์เจิ่น (Tran) เจ้า เจิ่น ฮึง ด่าว ได้รับความเคารพนับถือจากคนเวียดนามทั้งใน และนอกประเทศ ถือว่าเป็นเทพแห่งทหาร ปรัชญา สังคม (หน้า 105)
 
งานพิธีกรรมที่ศาลเจ้าพ่อด่าย เวือง ได้แก่  
          พิธีตรุษหรือ เต๊ด (Tet) วันปีใหม่ของชาวเวียดนาม โดยจะประกอบพิธีปีละครั้ง ในระหว่างเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ของทุกปี (หน้า 106) ตรงกับวันตรุษจีน วันไหว้ที่ไหว้บรรพบุรุษที่บ้านกับที่ศาลเจ้า สำหรับของเซ่นไหว้มี  เหล้า ไก่นึ่งเป็นตัว หัวหมู  ขนมแบ๋งห์ จึง พิธีที่ศาล ผู้นำการทำพิธีต้องแต่งกายด้วยชุดอ๋าว หย่าย โดยคณะกรรมการศาลเจ้าจะทำการคัดเลือกผู้นำการทำพิธีในแต่ละครั้งที่จัดงาน  (หน้า 107)
          ในวันนี้คนไทยเชื้อสายเวียดนามที่ไปทำงานต่างจังหวัดจะกลับบ้าน โดยจะร่วมกันทำความสะอาดบ้าน หิ้งบูชาบรรพบุรุษ และตกแต่งบ้านเรือน วันนี้ถือว่าเป็นวันมงคล คนไทยเชื้อสายเวียดนามจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่เอี่ยม ในแต่ละบ้านจะทำพิธีไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ด้วยอาหารหวาน คาว ผลไม้ เหล้า น้ำชา และจะร่วมกันดื่มกินอาหารฉลองในครอบครัว ผู้ใหญ่จะอวยพรให้ลูกหลานมีความสุข ร่างกายแข็งแรง  และแจกซองใส่ธนบัตรหรือเหรียญเงินใหม่เอี่ยมใส่ซองสีแดง เรียกว่าการให้ “หมึ่ง ต่วย (Mung  Tuoi) เหมือนกับซองแต๊ะเอียในวันตรุษจีน (หน้า 107)
 
          ประเพณีวันไหว้ อยู่ในเดือนหก ระหว่างวันเข้าพรรษา ในวันปกติก็จะไหว้ในวันพระของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม (หน้า 106) พิธีไหว้จะจัดเจ้าด่าย เวืองที่บ้านนาจอก กับที่ศาลเจ้าแถ็งห์ หว่าง ที่บ้านดอนโมง พิธีมีสองวันได้แก่ วันเข้ากับวันออก ในวันเข้าจะทำพิธีโดยกรรมการไหว้ตอนกลางคืน และวันออกจะไหว้ในเวลาเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น คนไหว้เป็นผู้อาวุโส เจ็ดคน ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการศาลเจ้า คนไหว้จะสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี สำหรับชายทั้งเจ็ดคน ขณะทำพิธีจะสวมชุดอ๋าวหย่าย ของผู้ชาย เสื้อสีดำยาว กางเกงสีขาว  โพกศีรษะด้วยผ้าสีดำ สำหรับของเซ่นไหว้ประกอบด้วย ไก่ต้มสุกหนึ่งตัว เหล้าหนึ่งกั๊ก หมาก พลู ทุกวันนี้คนไทยเชื้อสายเวียดนามบริจาคเงินแทนการซื้อเหล้า เพราะเชื่อว่าเหล้าที่ขายในร้านค้าถูกเปิดขวดแล้วจึงไม่ซื้อมาเซ่นไหว้  (หน้า 107)
 
พิธีกรรมบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษ หรือ พิธีโหย๋
           พิธีนี้ทำเพื่อแสดงความกตัญญูและเคารพบรรพบุรุษที่ล่วงลับ (หน้า 109) การประกอบพิธีจะทำเมื่อถึงวันครบรอบวันตายของบรรพบุรุษ สำหรับของเซ่นไหว้ประกอบด้วย  ไก่ต้ม  เหล้า  เบียร์ น้ำอัดลม ขนม เสื้อผ้า กระดาษเงิน กระดาษทอง ส่วนผู้ทำพิธีสวดเชิญวิญญาณเรียกว่า “ไทกรุ๋ง” เมื่อจัดของไหว้เรียบร้อยแล้ว ไทกรุ๋งจะเริ่มทำพิธีเสี่ยงทายว่าวิญญาณบรรพบุรุษนั้นมารับของไว้แล้วหรือไม่  ไทกรุ๋งจะโยนเหรียญโบราณของเวียดนามสองเหรียญ ลักษณะเหรียญมี4รู ทรงหกเหลี่ยม ไทกรุ๋งจะทาแป้งทั้งสองเหรียญ เหรียญละหนึ่งด้าน หากผลเสี่ยงทายเป็นคว่ำกับหงาย แปลว่าวิญญาณบรรพบุรุษมารับของเซ่นไหว้เรียบร้อยแล้ว  (เรื่องและภาพหน้า 110)
           แต่ถ้าเหรียญผลไม่ออกมาแบบคว่ำกับหงาย ก็จะตรวจตราของเซ่นไหว้ว่าหลงลืมอะไรหรือไม่ เช่นยังไม่เปิดขวดเหล้าก็ต้องเปิดให้พร้อมเพรียงแล้วกล่าวคำขอโทษ จากนั้นก็เสี่ยงทายใหม่อีกครั้ง ส่วนบทสวดมนต์มีความหมายดังนี้   (หน้า 111)
          ไทกรุ๋งจะทำการสวดเชิญวิญญาณบรรพบุรุษทั้งหลายให้มารับของเซ่นไหว้ที่ลูกหลานได้จัดเตรียมมานี้ ต่อมาไทกรุ๋ง จะบอกให้ลูกชายคนโตหรือหัวหน้าครอบครัว เอากระดาษเงินกระดาษทางไปเผา ส่วนไทกรุ๋งก็จะบอกดวงวิญญาณว่าจะเผากระดาษเงิน กระดาษทองและเสื้อผ้าไปให้โปรดมารับไว้ และสิ่งของทั้งหมดที่มาเซ่นไหว้นี้ ดวงวิญญาณเป็นเจ้าของทั้งหมด แต่ถ้าหากมีผู้ใดมาขอส่วนแบ่งก็แบ่งปันให้เขาได้ ทุกสิ่งโปรดอย่าได้ลำบาก หากมีมิตรสหายก็เชิญด้วย ต่อมาของเซ่นไหว้จะยกมาแจกญาติๆ ที่มาร่วมพิธีให้เอาไปกินที่บ้าน (หน้า 111)
          เมื่อก่อนนี้ไทกรุ๋งของหมู่บ้านมีหนึ่งคน ในทุกวันนี้หัวหน้าครอบครัวมักทำหน้าที่เป็นไทกรุ๋ง เพราะสามารถสวดด้วยภาษาเวียดนาม สาเหตุที่หัวหน้าครอบครัวต้องเป็นไทกรุ๋ง เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วเพราะทุกวันนี้ในหมู่บ้านนาจอกมีหนังสือบทสวด เนื่องจากมีครูในหมู่บ้านได้ทำหนังสือบทสวดเป็นเล่ม โดยถ่ายเอกสารลายมือภาษาเวียดนามชื่อว่าหนังสือใบกรุ๋ง (Bai cung) แจกญาติพี่น้องในหมู่บ้านนาจอก  ในอดีตพิธีนี้จะจัดแบบใหญ่โต ปัจจุบันจะจัดแบบเรียบง่ายเชิญเฉพาะญาติพี่น้องใกล้ชิด ส่วนการตั้งแท่นบรรพบุรุษ ถ้าคนใดเสียชีวิตที่บ้านหลังใดก็จะตั้งแท่นบูชาและรูปไว้บ้านหลังนั้น บรรพบุรุษที่ล่วงลับจะตั้งรูปไว้ตามความอาวุโส พ่อหรือหัวหน้าครอบครัวจะตั้งรูปไว้สูงกว่าสมาชิกทุกคน (หน้า 111)
 
พิธีศพ(DAM MA)
          เมื่อมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจะไปบอกกับประธานศาลเจ้าเตรียมสิ่งของที่ใช้แจ้งข่าวการเสียชีวิต ประกอบด้วย หมากพลู 1สำรับ คือหมาก 5คำ พลู 5คำ เหล้าขาว 1ขวด เพื่อมาครอบ ซึ่ง “การครอบ” หมายถึงการบอกผู้อาวุโส หรือประธนศาลเจ้า  ต่อมาประธานศาลเจ้าก็จะไปบอกกับผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ตีกลองบอกคนในหมู่บ้านให้ทราบข่าวร้ายโดยทั่วถึงกัน  ซึ่งการตีกลองข่าวคนเสียชีวิตนั้นจะแตกต่างจากสัญญาณแบบอื่น โดยในระยะแรกจะตีปกติ แต่เมื่อจบลงต้องตีเป็นจังหวะอีก 9ครั้ง ส่วนสัญญาณกลองบอกว่ามีวัวควายถูกขโมยหรืออัคคีภัย จะตีรัวๆ เร็วๆ  เมื่อชาวบ้านได้ยินก็จะรู้ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นในหมู่บ้าน (หน้า 112)
          จากนั้นชาวบ้านก็จะมาช่วยงานศพ ซึ่งมีคณะกรรมการศาลเจ้าเป็นผู้นำการทำพิธี และจัดหาคนหนุ่มจำนวน 7คนมาช่วยงานศพและผู้หญิงก็จะมาช่วยกันทำอาหารเลี้ยงแขกที่ร่วมร่วมไว้อาลัย  ส่วนการตั้งศพจะหันหัวผู้ตายไปทางทิศตะวันตก และวางศพในแนวยาวของตัวบ้าน  ส่วนศพนอนวางมือซ้ายทับมือขวาวางบริเวณหน้าท้องโดยให้เท้าโผล่ออกนอกผ้าที่ห่ม หันเท้าออกนอกบ้าน และตั้งกระถางธูปไว้บริเวณเท้า คนที่มางานจะกราบที่เท้าผู้เสียชีวิต ในกระถางธูปจะจุดธูปดอกใหญ่ไว้หนึ่งดอกกลางกระถางธูป โยมีเทียน 2เล่มวางไว้ด้านหน้า  และมีโต๊ะขนาดเล็ก ซึ่งเรียกว่า “เกือบอุบ” บนนั้นจะมีตะเกียบ 1คู่ น้ำหนึ่งแก้ว ตะเกียงน้ำมันก๊าดที่จุดไว้ไม่ให้ดับหนึ่งดวงด้วยเชื่อว่าจะเป็นแสงสว่างให้ผู้เสียชีวิตที่มากินข้าว ส่วนข้าวหมายถึงความอยู่ดีกินดี ไข่หมายถึง อาหาร ส่วนงานศพผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงจะตัดเย็บชุดสีแดงให้กับศพดังกล่าว กับมีข้าวจำนวนเก้าเม็ด เงินบาทหนึ่งเหรียญ กับทองคำจำนวนหนึ่งเพื่อมอบให้กับศพ เพราะเชื่อว่า ข้าว เงิน ทอง เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ในโลกหน้า (หน้า 112)
          เมื่อถึงคืนท้ายสุดที่จะเคลื่อนย้ายศพไปที่สุสานจะทำพิธีเจี่ยนกิ่ว เพื่อบอกผู้ตาย โดยจะยกโลงหันหัวผู้ตายออกนอกบ้าน โดยเดินรอบโลงศพ สามรอบ  โดยแต่ละรอบจะมีชายหนุ่มเคาะไม้เป็นจังหวะสลับการตีฆ้อง (หน้า 112)
          และเมื่อตีฆ้องญาติๆ จะร้องไห้สะอึกสะอื้นดังๆ เพื่อแสดงความเสียใจกับการจากไปของผู้เสียชีวิต งานศพทุกวันนี้คนไทยเชื้อสายเวียดนามมักจัดแบบโต๊ะจีน แขกที่มาร่วมงานในช่วงกลางคืน อาหารที่นำมาเลี้ยงต้อนรับประกอบด้วย เมล็ดแตงโม (หรือ โหดเยือ) ส้มตำ ข้าวเกรียบ (แบ๋งห์ ดา) กับข้าวต้ม (จ๋าว กว่าง) และขนมบัวลอยเวียดนาม ส่วนแขกที่มาร่วมงานจะแต่งกายชุดสีดำส่วนญาติพี่น้องที่ยังเคร่งต่อประเพณี หากเป็นลูกสาวของผู้เสียชีวิตจะสวมชุดขาว ได้แก่ เสื้อสีขาว ผ้าถุงสีขาว สวมผ้าคล้ายหมวกคลุมถึงไหล่ ส่วนลูกชายและหลานๆ สวมชุดสีขาวและโพกหัวด้วยผ้าสีขาว (หน้า 113)
          วันเคลื่อนศพไปฝังที่สุสานจะเริ่มเวลา 13.00 นาฬิกา ในอดีตจะเคลื่อนศพโดยการหามแต่ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นรถเลื่อน ในช่วงที่เคลื่อนศพไปสุสานผู้ที่เป็นลูกชายคนโตจะเดินนำหน้ารถเคลื่อนศพแบบเดินถอยหลังไม่สวมรองเท้า (หน้า 113) แต่ทุกวันนี้คนไทยเชื้อสายเวียดนามไม่ค่อยเคร่งครัดและกระทำพิธีที่กล่าวมากันแล้ว ช่วงที่แห่ขบวนก็จะตีกลอง ตีฆ้องเป็นช่วงๆ โดยจะมีคนโปรยกระดาษเงินกระดาษทองเป็นช่วงๆ  ขณะเดินทางก็จะมีการหยุดพัก ภาษาเวียดนามเรียกว่า “ดีดาง” เหมือนกับการทำบังสกุลของคนไทย  โดยญาติของผู้ตายจะบริจาคเงินตามศรัทธาเพื่อนำเงินไปทำนุบำรุงศาลเจ้า (หน้า 114)
          เมื่อมาถึงศาลาในสุสาน ต่อมาผู้ทำพิธีจะอ่านประวัติผู้ตาย โดยจะกล่าวเป็นภาษาเวียดนามและแปลเป็นภาษาไทยเนื่องจากมีคนนอกหมู่บ้านมาร่วมพิธีด้วย จากนั้นก็จะสงบนิ่งไว้อาลัยกับผู้ตายหนึ่งนาที ส่วนหลุมฝังศพถ้าไม่ได้ขุดไว้ก่อน ก็จะจ้างคนมาขุดเตรียมไว้ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คือเด็กและคนวัยกลางคน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุโดยมากจะทำฮวงซุ้ยไว้ล่วงหน้าแล้วและทำไว้กันทั้งครอบครัว คนเวียดนามเชื่อว่าถ้าตระกูล(หรือฮ่อในภาษาเวียดนาม)ใดฝังศพไว้ร่วมกัน ชาติหน้าจะได้เกิดมาในตระกูลเดียวกันอีก     (หน้า 114)
          เมื่อพิธีที่ศาลาพักศพเสร็จสิ้น ช่วงที่เคลื่อนโลงไปหลุมฝังศพจะโปรยกระดาษเงิน กระดาษทอง ก่อนฝังศพ คนที่เป็นไทกรุ๋ง (ผู้ทำพิธีติดต่อดวงวิญญาณ ดูที่หน้า 110)    จะเริ่มอ่านใบเบิกทางของผู้ตาย เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติ ภูมิลำเนา บุคคลผู้ให้กำเนิดของผู้ตาย เมื่ออ่านแล้วจะนำใบเบิกทางสีแดงติดไว้ที่หน้าโลง ในช่วงนี้ก็จะหว่านเงิน ส่วนคนที่มาร่วมพิธีก็จะวิ่งเก็บเงิน บางคนเก็บเงินได้ก็จะโยนลงหลุมฝังศพ ต่อมาในกลุ่มที่ยังไม่สร้างฮวงซุ้ยช่างจะฉาบปูนหลุมฝังศพเพื่อสร้างเป็นฮวงซุ้ยในอนาคต แต่คนที่มีฮวยซุ้ยแล้วจะขุดทางด้านหน้าแล้วก็นำโลงศพเข้าไป เป็นอันจบพิธี (หน้า 114)
          สุสานบ้านนาจอก อยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านทางวัดภูเขาทอง ไกลจากหมู่บ้าน 500 เมตร สุสานอยู่ใกล้กับสุสานด่ายเหียวซึ่งเป็นสุสานของคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่อยู่ในเมือง สำหรับสุสานนั้นคนไทยเชื้อสายเวียดนามและแต่ละถิ่นที่อยู่ จะแบ่งกันชัดเจนว่าเป็นสุสานของหมู่บ้านใดหรือชุมชนใด และผู้ใดจึงจะมีสิทธิ์นำศพมาฝังลูกหลานที่เสียชีวิตแม้ไปทำงานที่อื่นไกลๆ ก็จะนำกลับมาฝังที่สุสาน กรณีที่มีใครทำผิดกฏหมู่บ้านเกินสามครั้ง และไม่เคยช่วยบำรุงซ่อมแซมศาลเจ้าของหมู่บ้าน หรือขาดการติดต่อกับญาติหมู่บ้านเป็นเวลายาวนาน ถ้าหากคนๆ นั้นตาย คณะกรรมการศาลเจ้าก็มีอำนาจที่จะปฏิเสธการฝังศพบุคคลนั้นๆ ที่สุสานหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญกับความเชื่อและการเคารพต่อศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน (หน้า 109) 

Education and Socialization

การเรียนการสอน
          ระบบการศึกษาที่บ้านนาจอกแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ ในระบบโรงเรียน ที่โรงเรียนบ้านนาจอก (แรงงานประชาชน) ก่อตั้งเมื่อ พ .ศ. 2475ปัจจุบันได้ยกเลิกการเรียนการสอน เมื่อ พ.ศ. 2543 เพราะจำนวนนักเรียนค่อนข้างน้อย หลักสูตรการเรียนการสอนเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาของไทย (หน้า 92) และโรงเรียนนอกระบบคือการเรียนการสอนตามบ้าน สอนโดยคนไทยเชื้อสายเวียดนามในหมู่บ้านที่สำเร็จการศึกษาในระดับสูงที่สอนภาษาเวียดนามและวัฒนธรรมประเพณีของเวียดนามให้แก่เด็กๆ ในหมู่บ้าน (หน้า 97) โดยเปิดสอนในช่วงเย็นตามบ้านหลังจากเลิกเรียนที่โรงเรียน (หน้า 98)

Health and Medicine

อาหารและสุขภาพ
          คนไทยเชื้อสายเวียดนามนิยมรับประทานเนื้อสุนัขปีละครั้ง โดยเฉพาะในหน้าหนาว เพราะเชื้อว่าสามารถป้องกันปอบ ในกลุ่มเด็กที่อายุหนึ่งถึงสองปีที่เริ่มกินข้าว พ่อกับแม่จะทำพะโล้เนื้อสุนัขตุ๋นยาจีนให้เด็กกิน  เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง (หน้า 86) อาหารที่ทำด้วยเนื้อสุนัขเรียกว่า “ไก” ส่วนใหญ่ทำด้วยเนื้อหมาสีดำ การฆ่าสุนัขจะนำกระสอบคลุมศีรษะสุนัขแล้วทุบจนสุนัขสิ้นใจแล้วนำน้ำร้อนมาราดตัวสุนัขแล้วขูดขนจนเกลี้ยงเกลาแล้วย่างไฟจากนั้นจึงชำแหละเนื้อเพื่อนำไปประกอบอาหาร ในอดีตนิยมรับประทานทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะในหน้าหนาว แต่ทุกวันนี้มีแต่เพียงคนหนุ่มๆเท่านั้นที่ยังชอบกินเนื้อสุนัข หรือกินแกล้มเหล้า สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะในตำบลหนองญาติมีร้านขายเนื้อสุนัขที่ง่ายต่อการซื้อหามาประกอบอาหาร (หน้า 87)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย
          ในเวลาปกติเมื่ออยู่ที่บ้านคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก วัยกลางคนทั้งชายและหญิงชอบนุ่งกางเกงขาสามส่วน แตกต่างจากชาวอีสานที่ผู้หญิงวัยกลางคนชอบนุ่งผ้าถุงและผู้ชายชาวอีสานชอบสวมโสร่ง ส่วนกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้านนั้นชอบแต่งตัวตามสมัยนิยม ( หน้า 132)
          ชุดอ๋าวหย่าย เป็นชุดประจำชาติของเวียดนาม แต่เมื่ออยู่ในไทยคนไทยเชื้อสายเวียดนามมักใส่ในช่วงประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองไม่ดีคนไทยเชื้อสายเวียดนามก็จะไม่สวมชุดอ๋าวหย่ายเลยเพราะอาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนกับคนในชุมชนของตน  การแต่งตัวด้วยชุดอ๋าวหย่ายจะสวมเมื่อทำพิธีกรรมไหว้ศาลเจ้า
          ผู้ชายที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมจะสวมชุดอ๋าวหย่ายสีดำ กางเกงขายาวสีดำ กับเสื้อชายยาวสีดำ ซึ่งเป็นชุดแต่งกายที่ได้รับการมอบต่อๆ กันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย  (เรื่องและภาพ หน้า 132)
          ผู้หญิง สวมชุดอ๋าวหย่ายที่ตัดเย็บใหม่ ไม่ใช่การได้รับตกทอดกันมาเหมือนเสื้อผ้าผู้ชาย เนื่องจากไม่ต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรมที่ศาลเจ้าเช่นผู้ชาย แต่เป็นการสวมใส่เพื่อความสวยงาม นับตั้งแต่เปิดหมู่บ้านมิตรภาพไทย เวียดนามผู้หญิงในหมู่บ้านจึงนิยมตัดชุดอ๋าวหย่ายสวมใส่มากขึ้นตามลำดับ และสวมใส่ในพิธีสำคัญเช่น งานวันฉลองครบรอบวันเกิดของท่านโฮจิมินห์ในแต่ละปี งานแต่งงาน และงานพิธีกรรมที่ศาลเจ้า ปัจจุบันคนไทยเชื้อสายเวียดนามได้ตัดชุดอ๋าวหย่ายจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย (หน้า 133,152)
 
บทเพลงประจำหมู่บ้านนาจอก(Ban Mai gue toi)
          เป็นเพลงประจำหมู่บ้านของบ้านนาจอก ออกเสียงว่า บ้านใหม่ เกว โตย เพลงนี้แต่งคำร้องโดยนายปัญญา  พัฒนะประสิทธ์ชัย อดีตผู้ใหญ่บ้าน แต่งเมื่อ พ.ศ. 2525ใช้ทำนองเพลงปลุกใจของเวียดนาม เพลงนี้จะถูกร้องในงานพิธีกรรมของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม (หน้า 133) ผู้แต่งเข้ามาอยู่ที่หมู่บ้านนาจอก ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ภรรยาของผู้เขียนเพลงบอกว่าผู้แต่งต้องการ ลูกหลานรักถิ่นฐานและทราบความเป็นทางทางชาติพันธุ์ สมัครสมานสามัคคี เพลงนี้ร้องด้วยภาษาเวียดนามจึงเป็นเพลงที่คนไทยเชื้อสายเวียดนามเท่านั้นที่ร้องได้ มีความหมายว่า 
                     “ บ้านใหม่มีสวนชาเขียวขจี มีถนนในหมู่บ้านทอดยาว คดเคี้ยว
เป็นมาแบบนี้หลายชั่วอายุคน   พ่อกับอาร่วมกันต่อสู้เพื่อลูกหลาน
คนรุ่นใหม่จะต้องเดินตามรอยพ่อและอาบรรพบุรุษ  ร่วมกันสร้างวัฒนธรรม
มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุขแบบนี้ตลอดไป ร่วมกันรักษาให้คงอยู่ มีความสามัคคี และอยู่ร่วมกันอย่างสนุกสนาน
                    ผู้ใดผ่านมาจะได้เห็นทุ่งนา กว้างขวางยาวไกล พื้นที่อันกว้างใหญ่ สุดลูกหูลูกตา
ข้าวสุกเหลืองอร่าม รวงข้าวที่งาม และหนักไปด้วยเม็ดข้าว
ทุกอย่างเราอาศัยบุญคุณของพ่อแม่และบรรพบุรุษ เราจึงมีความสุขมาจนวันนี้
ถึงแม้บางตอนที่บ้านเมืองมีอุปสรรค แต่เราจะมีเพลงกล่อม
ทั้งหนุ่มสาวชายหญิงห้อมล้อมในหมู่บ้าน ทุกคนไม่ทิ้งถิ่นฐาน  ล้วนรำพึงถึงบุญคุณ
                    และหมู่บ้านของเราจะคิดถึง รัก และเคารพลุงโฮ คิดถึงบุญคุณฝังลึกลงในจิตใจ
ท่านเปรียบเสมือนพ่อของคนเวียดนามทั่วทั้งแผ่นดิน”  (แปลเป็นโดยผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน  หน้า 134)
          เพลงประจำหมู่บ้านนี้นิยมร้องเมื่อมีงานพิธีกรรม หรืองานสังสรรค์ เช่น วันตรุษญวน ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับคนนอกชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์อื่นและหน่วยงานชองทางราชการ ดังนั้นจึงมีเพียงคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่เข้าใจเนื้อหาของบทเพลงได้อย่างถ่องแท้ (หน้า 135,153)

Folklore

ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าพ่อด่าย เวือง
          มีเรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวกับศาลเจ้าประจำหมู่บ้านบ้านนาจอก ดังต่อไปนี้
          เรื่องแรก มีชายคนหนึ่ง ในช่วงที่มีการประกอบพิธีกรรมที่ศาลเจ้า เขาได้เผลอหยิบมีดกลับบ้านด้วย เมื่อไปถึงบ้านก็เกิดคลุ้มคลั่งเอาหัวตัวเองฟาดฝาบ้านจนหัวโน ดังนั้นคนเฒ่าคนแก่จึงพาไปขอขมาที่ศาลเจ้าและนำมีดกลับมาไว้ที่เดิม (หน้า 106)
          เรื่องที่สอง  เกิดขึ้นเมื่อผู้รับเหมาศาลเจ้าได้ขึ้นไปขี่สิงโตไม้สองตัวที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลเจ้า เมื่อกลับไปถึงบ้านก็เสียชีวิตโดยไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ (หน้า 106)
          เรื่องที่สาม มีครูไทยชาวอีสานที่มาสอนที่โรงเรียนบ้านนาจอก วันหนึ่งมาร่วมพิธีกรรมที่ศาลเจ้า ได้ปวดปัสสาวะและที่ศาลเจ้าก็ไม่มีห้องน้ำ ครูคนนั้นได้ไปแอบปัสสาวะบริเวณหลังศาลเจ้าโดยไม่ได้บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เมื่อกลับไปถึงบ้านก็มีอาการท้องบวม จึงต้องกลับมาทำพิธีขอขมาถวายหัวหมู ต่อมาครูคนนี้ได้ลาออก และไม่มีใครได้รับข่าวคราวอีกเลย (หน้า 106)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชนกับภายนอกชุมชน
          การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงกับคนไทยเชื้อสายเวียดนามเป็นไปอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการแลกเปลี่ยนและผสมผสานวัฒนธรรม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจากในอดีตคนไทยเชื้อสายเวียดนามถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์  (หน้า 100) ก็ทำให้เกิดการขาดการติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียงเพราะคนอีสานมีความหวาดระแวงต่อกลุ่มคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนอจอก แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น การติดต่อกับคนหมู่บ้านใกล้เคียงของคนบ้านนาจอกก็มากขึ้นตามลำดับ (หน้า 101) และการที่รัฐบาลตั้งหมู่บ้านนาจอกเป็นหมู่บ้านมิตรภาพไทย เวียดนาม ก็ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเกิดความผ่อนคลาย มีคนจากประเทศเวียดนามมาเยี่ยมชมหมู่บ้านและร่วมงานพิธีกรรมในหมู่บ้านนาจอกหลายครั้งด้วยกัน (หน้า 102)
 
คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอกและผู้ไท
          ในหมู่บ้านความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยเชื้อสายเวียดนาม และผู้ไทเป็นไปอย่างถ้อยที ถ้อยอาศัย ชาวผู้ไทอยู่ในฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยในหมู่บ้าน แต่เมื่ออยู่ในสังคมใหญ่นอกหมู่บ้าน ชาวผู้ไทก็เปรียบเหมือนคนอีสานจำนวนมากที่ไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ (หน้า 70)  
          คนไทยเชื้อสายเวียดนามถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน คนไทยเชื้อสายเวียดนามกับผู้ไทยก็อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันเช่น ในช่วง พ.ศ. 2503- 2514หมู่บ้านนาจอกช่วงนั้นมีผู้ใหญ่บ้านเป็นชาวผู้ไท  เนื่องจากรัฐบาลไทในสมัยนั้นมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ จากความหวาดระแวงต่อกลุ่มคนไทยเชื้อสายเวียดนามจึงให้ทหารเข้ามาควบคุมหมู่บ้าน ประกาศเป็นพื้นที่สีแดง  ในเวลานั้นผู้ใหญ่บ้านที่เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนามถูกจับ ดังนั้นคนไทยเชื้อสายเวียดนามในหมู่บ้านจึงเลือกให้กลุ่มผู้ไทที่อยู่ในหมู่บ้านให้เป็นผู้ใหญ่บ้านเพื่อง่ายต่อการติดต่อกับทางการไทย (หน้า 72) 

Social Cultural and Identity Change

การปรับเปลี่ยน และการสร้างอัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม
          งานเขียนระบุว่า เมื่อคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอกได้รับสัญชาติไทยแล้วก็มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับถิ่นที่อยู่ เปลี่ยนนามสกุลเวียดนามเป็นนามสกุลไทย ภาษาเวียดนามที่ใช้ในหมู่บ้านมีการผสมภาษาไทยและภาษาอีสานในการพูด (หน้า 155) รวมทั้งวัฒนธรรมการบริโภค บ้านเรือนก็ปรับเปลี่ยนและแลกเปลี่ยนกับคนในหมู่บ้านใกล้เคียงที่เป็นคนไทยอีสานและให้สอดคล้องประสานกับวัฒนธรรมไทย (หน้า 156)  

Other Issues

วาทกรรม “โฮจิมินห์”ของหมู่บ้านนาจอก
          นับตั้งแต่รัฐบาลไทยและเวียดนามมีการร่วมจัดตั้งหมู่บ้านมิตรภาพไทยเวียดนาม มีการกล่าวถึงประธานาธิบดีโฮจิมินห์ในฐานะผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเวียดนาม  (หน้า 114) แต่หลักฐานเกี่ยวกับโฮจิมินห์เกี่ยวกับบ้านนาจอกยังไม่มีความชัดเจน เพราะมีเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับท่านมากมาย (หน้า 115) กระทั่งความหมายและเรื่องราวของโฮจิมินห์ หรือลุงโฮ ได้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางเมื่อมีการสร้างบ้านจำลองของโฮจิมินห์ที่สร้างขึ้นที่บ้านนาจอกเมื่อ พ.ศ. 2542โดยเชื่อว่าที่ดินบริเวณนั้นเป็นบ้านที่โฮจิมินห์สร้างไว้เพื่อทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งทุกวันนี้เป็นที่ดินของนายเตียว เหงียนวัน  (หน้า 116)
          โฮจิมินห์ เดิมมีชื่อว่า เหงียน วัน กูง ชื่อที่ใช้เข้าโรงเรียนคือ เหงียน ทัต ธันห์ ส่วนต่อมาใช้หลายชื่อ เช่น เหงียนไอ่กว๊อก  โฮจิมินห์ และอื่นๆ เนื่องจากอยู่ในช่วงหาหนทางกู้ชาติ  โฮจิมินห์เกิดที่หมู่บ้านกิมเลียน ตำบลนัมดาน  มณฑลเหง่อัน  ประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 19พฤษภาคม พ.ศ. 2433  พ่อของโฮจิมินห์ชื่อเหงียนซินห์หุย หรือเหงียนทัตซัค โฮจิมินห์เป็นลูกคนสุดท้อง มีพี่ชายหนึ่งคน กับพี่สาว 1คน ทั้งพี่ชายและพี่สาวต่างมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบนักปฏิวัติ  (หน้า 116)
          การเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดนครพนม โฮจิมินห์ได้พักอยู่ที่บ้านนาจอกหรือบ้านใหม่ บ้านต้นผึ้ง และบ้านดอนโมง ส่วนกิจกรรมที่บ้านนาจอก โฮจิมินห์ได้สอนเด็กๆ เกี่ยวกับความรู้ทางการเมือง ลัทธิมาร์กซ – เลนิน จริยธรรม ความรักชาติและฝึกอาวุธให้กับนักเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศส เมื่ออยู่ที่บ้านนาจอกโฮจิมินห์ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทำสวน ปลูกผัก ส่งเสริมให้ชาวเวียดนามเรียนภาษาไทยและเรียนรู้วัฒนธรรมไทยเพื่อเกิดความผสมกลมกลืนกับคนไทย  (หน้า 119)

Map/Illustration

         กรอบแนวคิดในการวิจัย (หน้า 40)  แผนที่แสดงประเทศเวียดนาม และแสดงเส้นทางจากฮาติง ท่าแขกและนครพนม (หน้า 50) หอนาฬิกาอนุสรณ์ของชาวเวียดนาม(หน้า 53) แสดงบัตรคนต่างด้าวและการชำระภาษีประจำปี (หน้า 61) แผนที่เส้นทางเข้าหมู่บ้านนาจอก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม (หน้า 77) แผนที่ตั้งบ้านเรือนบ้านนาจอก (หน้า 81) วัฒนธรรมการบริโภคของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม (หน้า 86) แสดงสมุดหมายเหตุรายวัน พ.ศ. 2475ของโรงเรียนบ้านนาจอก (หน้า 94) ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2441บูรณะเมื่อ พ.ศ. 2536(หน้า 104) แสดงการไหว้ในวันครบรอบวันตายของบรรพบุรุษคนไทยเชื้อสายเวียดนาม (หน้า 110) การเคลื่อนศพและพิธีการฝังศพ (หน้า 113) ภาพถ่ายของโฮจิมินห์ (หน้า 115) หมู่บ้านมิตรภาพไทยเวียดนาม (หน้า 125) การแต่งกายด้วยชุดอ๋าวหย่ายของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม (หน้า 132)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 07 ต.ค. 2563
TAG วิถีชีวิต, การเมือง, สังคม, อัตลักษณ์, คนไทยเชื้อสายเวียดนาม, นครพนม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง