สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ดาระอั้ง ปะหล่อง การแต่งกาย การตั้งถิ่นฐาน การจัดการทางสังคม การเมืองการปกครอง กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ศาสนา คติความเชื่อ บ้านนอแล ปางแดงนอก ปางแดงใน เชียงดาว การปรับตัว ปัญหา
Author Michael C. Howard and Wattana Wattanapun
Title The Palaung in Northern Thailand
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ดาราอาง ดาระอางแดง รูไม ปะเล รูจิง ตะอาง, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
Total Pages 114 Year 2544
Source C. Howard Michael and Wattana Wattanapun. The Palaung in Northern Thailand. Chiang Mai: Silkworm Books, 2001.
Abstract

          งานชิ้นนี้ศึกษาสถานภาพ วิถีชีวิต การปรับตัว ปัญหาที่ประสบ ของกลุ่มปะหล่องเงิน ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะที่บ้านนอแล ปางแดงใน ปางแดงนอก และอื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่
          กลุ่มปะหล่องที่อพยพเข้ามานี้ คือ ปะหล่องเงิน เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่รัฐฉานประเทศเมียนมาร์ แต่เนื่องด้วยความไม่มั่นคงทางการเมืองและภัยสงคราม จึงข้ามชายแดนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมพารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้บริเวณที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกคือ บ้านนอแล ก่อนอพยพโยกย้ายไปยังพื้นที่อื่นๆ อาทิ แถบอำเภอฝาง สวนชา และแม่ริม รวมทั้งหมู่บ้านในอำเภอเชียงดาว เช่น ปางแดงใน ห้วยปง  ปางแดงนอก แม่จอน เพราะประสบปัญหาและข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำกิน ชาวปะหล่องเหล่านี้ยังคงสร้างบ้านเรือนตามแบบดั้งเดิม แต่ไม่ปรากฏเรือนยาวเช่นในเมียนมาร์ และยังคงดำรงชีพด้วยการเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว ข้าวโพด แม้จะไม่สามารถปลูกชาซึ่งเป็นอาชีพหลักแต่เดิม นอกจากนี้ พวกเขายังมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดโดยการหันมาทำงานรับจ้างทั่วไป ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว ทำบ้านพักนักท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดังที่ทราบกันดีว่า กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า จึงทำให้มีปัญหากับทางภาครัฐและมีการดำเนินคดีทางกฎหมาย ในข้อหาปลุกรุกแผ้วถางป่าหลายครั้ง และอีกปัญหาสำคัญที่ประสบคือเรื่องสิทธิและสัญชาติ

Focus

          งานชิ้นนี้ศึกษาผู้ลี้ภัยชาวปะหล่องเงินในเขตภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะที่หมู่บ้านปางแดงใน และบ้านนอแล อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจน ศึกษาภูมิหลัง อันได้แก่ วิถีชีวิต การเมืองการปกครอง สังคมและวัฒนธรรมของชาวปะหล่องเมื่อครั้งอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์  ตลอดจนปัญหาที่ประสบ การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ หลังเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย 

Theoretical Issues

          ผู้เขียนใช้ประสบการณ์จากการเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ชุมชนชาวปะหล่องเงิน ในจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะที่หมู่บ้านนอแลและปางแดงใน รวมทั้งหมู่บ้านอื่นๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ การปรับตัว และปัญหาที่ประสบ ของชาวปะหล่อง หลังอพยพลี้ภัยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือของไทย
          ตลอดจน รวบรวมข้อมูลต่างๆ จากหนังสือพิมพ์หรือแหล่งอื่นๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาระหว่างชาวปะหล่องกับเจ้าหน้าที่รัฐของไทย (หน้า 15)

Ethnic Group in the Focus

          ชาติพันธุ์ที่ศึกษาในงานวิจัยนี้ คือ “ปะหล่อง”  โดยเฉพาะที่บ้านนอแล ปางแดงใน ปางแดงนอก และห้วยปง  อันเป็นกลุ่ม “ปะหล่องเงิน” ทั้งนี้ ปะหล่อง สามารถออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
          1) ชเว หรือ ปะหล่องทอง ซึ่งเรียกว่า Ta-ang
          2) รูไม  หรือปะหล่องเงิน ซึ่งเรียกว่า Di-ang
          3) ปาเล  นอกจากนี้ ชาวปะหล่องยังเรียกตัวเองว่า Ta-ang และ Di-ang  (หน้า 1)
          โดยรวมแล้วปะหล่องที่มาจากเชียงตุง เรียกตัวเองว่า Dara-ang แปลว่า “อยู่ใกล้ภูเขา” (หน้า 74) 

Language and Linguistic Affiliations

          ภาษาพูดของปะหล่อง จัดอยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic)  สาขา Northern Mon-Khmerในกลุ่มภาษาปะหล่องยังแบ่งย่อยออกเป็น กลุ่มตะวันออก และตะวันตก กลุ่มปะหล่องตะวันตก ประกอบด้วย ภาษากลุ่มว้า (Waic) และ ภาษา Angkuic กลุ่มปะหล่องตะวันออก ประกอบด้วย ปาเล (Pale) รูไม(Rumai) ชเว(Shwe) เหรี่ยง(Riang) บางครั้งถูกเรียกว่า “กระเหรี่ยงดำ” ยินเชีย (Yinchia) บางครั้งรู้จักในชื่อ Striped Karen หรือ เหรี่ยงดำ และ ดานัว (Danau) ทั้งนี้ ผู้พูดภาษาชเวยังเป็นที่รู้จักในชื่อ ทะอั้ง หรือปะหล่องทองด้วย (หน้า 17,19,20) 

Study Period (Data Collection)

          คณะนักวิจัยเก็บข้อมูลภาคสนาม ณ บ้านนอแล ดอยอ่างขาง ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1998 และ Michael Howard เก็บข้อมูลภาคสนาม ณ หมู่บ้านปะหล่อง 2แห่ง ใกล้กับ คาเลา ประเทศเมียนมาร์ ช่วงต้นปี 1999 (หน้า 15)   

History of the Group and Community

          ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าปะหล่องอาศัยอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบัน คือ ประเทศเมียนมาร์มาตั้งแต่เมื่อใด อย่างไรก็ตามมีตำนานกล่าวว่า พวกเขามีการตั้งรกรากครั้งแรกไม่ห่างจากเมืองน้ำคำ ในเขตเมียนมาร์ใกล้กับชายแดนจีน เพียงข้ามเมืองรุ่ยลี่ ครั้นต่อมาเมื่อจีนเข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว ชาวปะหล่องจึงอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่แถบรอบๆ เมืองน้ำคำ และสีป่อตอนเหนือ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นศูนย์กลางของชุมชนปะหล่อง แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี ดังนั้นจึงมีประวัติศาสตร์บอกเล่าเกิดขึ้นหลายชุด อาทิ กล่าวว่าปะหล่องแพร่กระจายจากน้ำคำและแถบใกล้เคียงสู่ทั่วบริเวณของรัฐฉาน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปะหล่องกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะรูไม อพยพลงใต้มาจากชายแดนจีน-เมียนมาร์ อีกระลอกเมื่อไม่นานมานี้ด้วย (หน้า 20)
          ในเมียนมาร์สามารถพบทั้งปะหล่องเงิน ปะหล่องทอง และรูไม ทั้งนี้ รูปแบบการอพยพและการตั้งถิ่นฐานของปะหล่องเงินทุกแห่งในแถบตะวันออกและตอนใต้ของรัฐฉาน เริ่มจากการตั้งหมู่บ้านเดี่ยวบริเวณเชิงเขา จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายออกไปเป็นชุมชนอื่นๆ ซึ่งตั้งขึ้นไม่ห่างจากกัน ตามประวัติศาสตร์บอกเล่าของปะหล่องเงินกล่าวว่า ต้นกำเนิดของพวกเขาอยู่ที่แถบน้ำสาน (Namhsan) ราว 200 ปีก่อน (ไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่แน่นอน) ปะหล่องเงินจำนวนหนึ่งได้โยกย้ายมายังเชียงตุง เรื่องนี้เป็นที่เล่าขานในหมู่ปะหล่องเงินปัจจุบันว่า ผู้ปกครองน้ำสาน ณ เวลานั้น ต้องการเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อเป็นค่าเช่าที่ แต่บรรพบุรุษของปะหล่องเงินเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่พวกเขาต้องสูญเสียเงินแลกกับพื้นที่ดังกล่าว จึงมีการอพยพหลบลี้ไปยังเชียงตุง แทนการเสียภาษีจำนวนมากดังกล่าว หลังจากนั้น พวกเขาเหล่านี้จึงอพยพมาอาศัยอยู่ทางตอนใต้และตะวันตกของเชียงตุง มีกลุ่มหนึ่งตั้งถิ่นฐานบริเวณรอบๆ Loi Lae ในปี 1930 และปะหล่องที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยก็เป็นกลุ่มที่มาจากกลุ่มนี้ นอกจากนี้ ปะหล่องเงินที่อาศัยอยู่แถบกะลอว์ (Kalaw) ก็มีการโยกย้ายมายังพื้นที่นี้เช่นกัน ในช่วงระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กับต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปู่ของผู้ให้ข้อมูลรายหนึ่ง ซึ่งเกิดที่หมู่บ้าน Nyaung Gone (ใกล้กะลอว์) ในปี1933 เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหมู่บ้านแห่งแรกในบริเวณนี้ (หน้า 20-21)
          ส่วนในประเทศจีนมีปะหล่องจำนวนไม่มากนักและถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ภาครัฐเรียกว่า De’ang อาศัยอยู่ในเขตเต๋อหง ตะวันตกของยูนนาน ใกล้กับน้ำคำของเมียนมาร์ ทั้งนี้พบว่าการอพยพของปะหล่องในจีนสู่เมียนมาร์ในเขตปกครองของอังกฤษในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ด้วยเช่นกัน เนื่องจากความไม่มั่นคงในยูนนานซึ่งตรงกันข้ามกับเขตการปกครองของอังกฤษที่มีความมั่นคงมากกว่า Milne บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งที่เขามีโอกาสไปเยือนยูนนานได้พบชาวปะหล่องรูไมจำนวนมาก ที่กล่าวกับเขาว่า พวกเขากำลังคิดเรื่องการอพยพไปอยู่ในเขตปกครองของอังกฤษ ซึ่งเหตุนี้อาจเป็นที่มาของการเพิ่มจำนวนของปะหล่องในรัฐฉาน (หน้า 21)
          นอกจากนี้ Milneยังกล่าวถึงตำนานของปะหล่อง คือ “ ตำนานน้ำสาน”ของผู้ปกครอง Tawngpeng และ Kangwantok Palêซึ่งให้เค้าโครงถึงต้นกำเนิดของปะหล่องว่าอยู่บริเวณ ภูเขา รอบๆ เมือง Selen ของรัฐฉาน ใกล้กับน้ำคำ  และเมื่อเมือง Selenนี้ตกอยู่ใต้อำนาจจีน จึงส่งผลให้ปะหล่องต้องอพยพลงใต้ Milne สันนิษฐานว่า Selenอาจเคยเป็นเมืองหลวงของรัฐที่ชาวฉานอาศัยอยู่ในที่ราบหุบเขา ขณะที่ปะหล่องตั้งถิ่นฐานบนภูเขา แต่ต้องพึงระวังว่าตำนานดังกล่าวอาจยืมมาจากพวกฉาน (หน้า 38)
          หลังSelenเสื่อม ปะหล่องก็แร่ร่อนไปในเขตของพวกว้า  Milneวิจารณ์ว่า บันทึกการอพยพเหล่านี้คล้ายกับการเล่าเรื่องชีวิตและการพเนจรของชาวอิสราเอล  ในตำนานน้ำสาน
ปะหล่องมักตั้งถิ่นฐานที่ Tawgpeng หลังผู้นำปะหล่องพบน้ำออกมาจากลำไผ่ใต้ดิน ณ ที่นั้น  Tawgpeng กลายมาเป็นรัฐหนึ่งในแบบฉาน แต่ปกครองโดยชาวปะหล่อง นอกจากนี้ ปะหล่องยังอาศัยอยู่ในรัฐฉานซึ่งปกครองโดยชาวฉาน ปะหล่องเงินโดยมากอาศัยอยู่ในสามเมืองทางตอนใต้ ไล่จากตะวันตกไปยังตะวันออก ได้แก่ Yawng Hwe (Yawnghwe), เมิงใน (เมืองใน) เก็งตุ๋ง (เชียงตุง)   (หน้า 38)
          ปะหล่องเงินที่เข้ามาอาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ประเทศเมียนมาร์ กล่าวคือ เป็นกลุ่มที่มาจาก 6หมู่บ้าน ( Nalang, Makuntok, Huay Tum,Huay Tum Long, Nam Hu Song Ta และ Pang Yong) บริเวณดอยแล (Loi Laeหรือ Lae Mountain) ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเตง (Nam Taeng)  (หน้า 73) พวกเขาข้ามตะเข็บชายแดนจากฝั่งเมียนมาร์เข้ามาในไทย เพื่อลี้ภัย ใน ค.ศ. 1984 บริเวณแรกที่ตั้งถิ่นฐาน คือ “บ้านนอแล” และต่อมามีการอพยพโยกย้ายตั้งหมู่บ้านบริเวณอื่นๆ แถบอำเภอฝาง สวนชา และแม่ริม รวมทั้งอำเภอเชียงดาว อันประกอบด้วยปางแดงใน ห้วยปง  ปางแดงนอก แม่จอน (หน้า 80)
          ทั้งนี้ ใน ค.ศ. 1984 ชาวปะหล่องจำนวนประมาณ 120 คน ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ป่าไม้และตำรวจทำการจับกุมได้ 34 คน เนื่องจากลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและลักลอบตัดไม้เพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัย คนชราและผู้หญิงนั้นได้รับการปล่อยตัว มีเพียงชายฉกรรจ์จำนวน 29 คน ที่ต้องจำคุก  เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่ง (หน้า 80)
          ใน ปี ค.ศ. 1994 ชาวปะหล่องที่อพยพเข้ามาใหม่ ย้ายจากบ้านนอแลไปตั้งถิ่นฐานใหม่ใกล้ๆ ปางแดงใน เรียกว่า ปางแดงนอก เนื่องจาก ไม่มีงานและที่ทำกิน (หน้า 95-97) แต่พื้นที่ดังกล่าวมีชาวลีซอครอบครองอยู่ก่อนแล้ว หากพวกเขาต้องการเข้าไปอยู่อาศัยจะต้องเปลี่ยนศาสนาจากพุทธเป็นคริสต์ ทั้งนี้ ใน ปี 1998 ชาวปะหล่องทั้งหมด ที่บ้านปางแดงในถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และจำคุกเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 30 มิถุนายน (หน้า 97) เมื่อพ้นจากโทษต้องประสบกับปัญหาไม่มีที่ทำกิน เนื่องจาก กรมป่าไม้ได้เข้ายึดพื้นที่เดิมที่พวกเขาเคยใช้เพาะปลูก

Settlement Pattern

          เรือนปะหล่องแบบดั้งเดิมเป็นแบบยกพื้นความสูงประมาณ 1-4 เมตร ตามแต่ระดับความลาดชันของพื้นที่ ตัวเรือนมีความยาวตั้งแต่ 10-20 เมตร หรืออาจยาวกว่านั้น พื้นเรือนนิยมสร้างจากไม้ไผ่ หลังคามุงเกือบจรดพื้น มีนอกชานสำหรับเป็นทางเข้าและประกอบอาหาร ในหนึ่งเรือนยาวอาจมีหลายครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่ เตาไฟ รวมทั้งระเบียงหรือนอกชานของตน เตาไฟจะตั้งในบริเวณใกล้เสาหลักแยกจากพื้นที่ส่วนกลาง ด้านหลังของเรือนมีหิ้งพระ (yang phra) ส่วนอีกด้านของเรือนมักมีผนังกั้นทำเป็นห้องนอนสำหรับสมาชิกในครัวเรือน ซึ่งที่เมียนมาร์เวลานอนนิยมหันหัวไปทางแหล่งน้ำและหันเท้าไปทางภูเขา แต่ในกรณีของบ้านปางแดงในคงเป็นไปไม่ได้ (หน้า 85) นอกจากนี้ ที่กลางหมู่บ้านมักเป็นที่ตั้งของใจบ้าน ซึ่งจะมีระฆังที่ใช้ตีเรียกให้ทุกคนในหมู่บ้านมารวมตัวกันเมื่อต้องการ และตลาด ในหมู่บ้านยังอาจมีศาลอารักษ์ (da mu muang) หนึ่งแห่งหรือมากกว่า ประหล่องเงินมักมีศาลอารักษ์ตั้งอยู่นอกหมู่บ้าน เรียกว่า เจ้าเมือง และศาลที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของหมู่บ้าน คือ huja rawl (ใจบ้าน) ส่วนสุสานจะอยู่บริเวณด้านหลังหมู่บ้าน (หน้า 23-26, 37)
          ณ บ้านนอแล ชาวปะหล่องยังคงสร้างเรือนตามแบบดั้งเดิม แต่ไม่ปรากฏเรือนยาวเช่นในเมียนมาร์ และไม่มีศาสนสถานถาวร  อย่างไรก็ตาม คงมีศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป และศาลแถบรอบนอกของหมู่บ้าน เรียกว่า “da mu muang” ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองทุกสองปี มี “huja rawl” หรือ “ใจบ้าน”  ตั้งอยู่ริมถนนซึ่งผ่านกลางหมู่บ้าน รวมทั้งมีป่าช้า (หน้า 83-84)
          ทั้งนี้  ณ ปางแดงใน เรือนปะหล่องยังคงรักษาลักษณะดั้งเดิมเช่นกัน และไม่มีเรือนยาว
ตัวเรือนสร้างจากไม้และไม้ไผ่ ยกพื้นสูงตั้งแต่ 1-3 เมตร หลังคามุงจาก มี “ใจบ้าน”  ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน มี “da mu muang”บริเวณป่าเหนือหมู่บ้าน แต่ไม่มีวัด (หน้า 84-87)
          ที่ห้วยปง อำเภอเชียงดาว สภาพโดยรวมของหมู่บ้านดูไม่มั่นคงเท่าใด แต่บ้านเรือนยังคงรูปแบบดั้งเดิมของปะหล่อง มี“ใจบ้าน”  แต่ขนาดเล็กกว่าบ้านปางแดงใน มีศาลหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณด้านนอกหมู่บ้านเพื่อเป็นที่บูชาผีเจ้าเมือง ผีป่า และไม่มีวัดเช่นเดียวกับหมู่บ้านปางแดงใน
          ที่ปางแดงนอก เนื่องจากชาวปะหล่องเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา จึงทำให้ในหมู่บ้านไม่มีศาลหมู่บ้าน  และในปี ค.ศ. 1997 มีการสร้างโบสถ์คริสต์ขนาดเล็ก 

Demography

          ถิ่นฐานเดิมของปะหล่องอยู่ในประเทศเมียนมาร์ แถบเทือกเขาในเขตรัฐฉานและตอนใต้ของรัฐคะฉิ่น ปัจจุบัน จำนวนประชากรปะหล่องที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์มีประมาณ 600,000 คน ประกอบด้วย ปะหล่องเงินประมาณ 200,000 - 300,000 คน ปะหล่องทองประมาณ 150,000 คน และปะหล่องรูไมประมาณ 135,000 คน  ในประเทศจีนพบไม่มากมีจำนวนประมาณ 16,000  คน อาศัยอยู่แถบตะวันตกของยูนนาน นอกจากนี้ ยังพบปะหล่องเงินประมาณ 1,000 คน อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยจากความรุนแรงในเขตเมียนมาร์ (หน้า 1, 20, 21)
          Shila ทำการสำรวจใน ปี 1993 พบว่า มีหมู่บ้านปะหล่องจำนวน 6 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ประกอบด้วย หมู่บ้านนอแล  150 ครัวเรือน สวนชา 100ครัวเรือน แม่แรม 30 ครัวเรือน ฝาง ปางแดง (ปัจจุบัน คือ ปางแดงใน) 12 ครัวเรือน ห้วยบงและเชียงดาว 12 ครัวเรือน (หน้า 84)
          ชาวปะหล่องเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ ปางแดงใน เมื่อปี 1985และขยายตัวขึ้นตามลำดับ กระทั่ง ปี 1997 พบว่า มีครัวเรือนอาศัยอยู่ราว 40ครัวเรือน มีประชากร 210คน บนพื้นที่ 10 ไร่ (หน้า 84)
          ในปี 1998 พบว่า หมู่บ้านนอแล มีชาวปะหล่องตั้งถิ่นฐานอยู่ราว 92 ครัวเรือน 110 ครอบครัว ซึ่งมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 486 คน (ชาย 244 คน หญิง 242คน) (หน้า 83)
          ในปี 1997 พบว่า หมู่บ้านปะหล่องห้วยบง อำเภอเชียงดาว มีชาวปะหล่องตั้งถิ่นฐานอยู่ราว 22 ครัวเรือน (หน้า 95)
          ในช่วงต้นปี 1998 มีชาวปะหล่อง อาศัยอยู่ที่ปางแดงนอก ประมาณ 16 ครอบครัว ซึ่งมีจำนวนประชากรราว 100 คน (หน้า 97)

Economy

          เมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่ Loi Lae ประเทศเมียนมาร์ ปะหล่องเงินดำรงชีพด้วยการปลูกชา และถั่ว เพื่อจำหน่าย ตลอดจน ปลูกข้าว และพืชผลอื่นๆ เพื่อยังชีพ รวมทั้ง มีการปลูกฝิ่นเพื่อจ่ายเป็นส่วยให้กับรัฐ (หน้า 74)
          ครั้นอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย กรมป่าไม้จัดสรรให้ชาวปะหล่องกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่บ้านนอแล ใกล้กับโครงการหลวงที่ดอยอ่างขาง สามารถใช้พื้นที่ราว 250 ไร่ ใกล้ๆ หมู่บ้านประกอบเกษตรกรรม อาทิ ปลูกข้าวโพด ข้าว เผือก ถั่ว แต่ต่อมามีชาวปะหล่องอพยพเข้ามาภายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่ทำกินดังกล่าวไม่เพียงพอ  กลุ่มปะหล่องที่เข้ามาภายหลังจึงต้องทำงานรับจ้างทั่วไปให้กับคนไทย ไทใหญ่และฮ่อ เช่น รับจ้างปลูกข้าวโพด ข้าว หรือฝิ่น เป็นต้น (หน้า 81)
          ทั้งนี้ ใน ปี 1989 เจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงประจำดอยอ่างขาง ได้เข้ามาเยี่ยมเยือน หมู่บ้านปะหล่องแห่งนี้ และแนะนำให้ชาวบ้านปลูกไม้ผล อาทิ ลูกพีช ลูกพลับ และบ๊วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้มากกว่าการทำการเกษตรแบบเดิม และในปี 1994 เริ่มมีการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวและสตรอเบอรี่ ส่งให้โครงการหลวงจำหน่าย แม้สภาพเศรษฐกิจของปะหล่องจะดีขึ้น แต่พวกเขายังคงประสบการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปะหล่องจำนวนมากจึงได้ทำการอพยพแสวงหาที่ทำกินใหม่ ในปี 1998(หน้า 83)
          ณ หมู่บ้านปางแดงใน ชาวปะหล่องมีการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ เช่น ข้าว ถั่ว และข้าวโพด ทั้งนี้ หากมีผลผลิตส่วนต่างจะจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางเป็นหลัก ไม่ได้นำไปจำหน่ายโดยตรงที่เชียงดาว  อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่ประสบ คือ การขาดแคลนน้ำ เช่นกัน (หน้า 89) นอกจากการประกอบเกษตรกรรม พวกเขายังมีอาชีพรับจ้าง ในช่วงที่วิจัย ผู้หญิงได้ค่าแรงวันละ 80 และผู้ชายได้วันละ 90 บาท รวมทั้ง จำหน่ายสินค้าต่างๆ เช่น เครื่องดื่ม งานหัตถกรรม ให้แก่นักท่องเที่ยว ทำบ้านพัก และมีการแสดงพื้นเมือง แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเมื่อเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น (หน้า 89-93) เช่นเดียวกับชาวปะหล่องที่ห้วยปง ที่นอกจากการทำเกษตรกรรม พวกเขาจะทำที่พักรองรับนักท่องเที่ยวและจำหน่ายเครื่องดื่ม เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เป็นจุดสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวขี่ช้างมาลง (หน้า 95)
          ชาวปะหล่องมักบริโภคพืชผัก เป็นมังสวิรัติ อาหารของพวกเขาประกอบด้วยข้าวและตุ๋นหรือแกงทำทำจากพืชผักที่ปลูกหรือที่ได้จากป่าเป็นหลัก ส่วนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อื่นๆ นั้นจะบริโภคเฉพาะในโอกาสพิเศษโดยผู้ชายเป็นหลัก Milne บันทึกว่า  ชาวปะหล่องมีการกินสุนัขและแมวด้วย แต่จะไม่กินกบ มีแต่ชาวฉานเท่านั้นที่กิน เมื่อใดที่ปะหล่องรู้สึกโกรธชาวฉานก็จะเรียกพวกเขาว่า พวกกินกบ เป็นเครื่องแสดงถึงความดูถูก แม้ปะหล่องจะมีการเลี้ยงสัตว์ แต่ก็ไม่ได้เลี้ยงเพื่อการบริโภค หากเพื่อใช้เป็นพาหนะ หรือจำหน่ายให้กับคนอื่น Cameron กล่าวถึงเพียงสุกร แต่ยังมีสัตว์อื่นๆ ได้แก่ แกะ แพะ เป็ด ไก่ ไก่ตัวผู้ วัวควาย และม้า โดยมากปะหล่องมักเอาคนขายเนื้อชาวจีนหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างจิ่งโป ลาหู่ ลีซอ ซึ่งมักฆ่าสัตว์เพื่อใช้ในพิธีกรรม ส่วนปลาร้าบางครั้งก็เอามาจากชาวเมียนมาร์ ทั้งนี้ ชาวปะหล่องก็บริโภคสัตว์ที่ได้จากการล่าเช่นกัน แต่พวกเขามักไม่บริโภคไข่หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม (หน้า 31)

Social Organization

          ครอบครัวปะหล่องเป็นครอบครัวขยาย ไม่ว่าก่อนหรือหลังแต่งงานสามารถอาศัยอยู่ในเรือนที่ประกอบด้วยหลายครอบครัว โดยทั่วไปเรือนยาวหนึ่งหลังมักมีครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกันได้ราว 6 หรืออาจมากถึง 12 ครอบครัว (หน้า 36-37)
          ทั้งนี้ ในการแต่งงาน ชาวปะหล่องมักเริ่มเกี้ยวพาราสีกันเมื่อเด็กสาวมีอายุราว 14 ปี และเด็กหนุ่มมีอายุราว 15-16ปี แต่ส่วนใหญ่จะไม่แต่งงานก่อนมีอายุครบ 16-18 ปี บางครั้ง จนกระทั่งอายุ 25 ปี โดยฝ่ายหญิงนิยมแต่งงานกับชายที่มีอายุมากกว่า และบิดามารดาจะไม่ก้าวก่ายในเรื่องดังกล่าว ชาวปะหล่องสามารถตกลงแต่งงานกันโดยไม่ต้องแจ้งหรือได้รับอนุญาตจากบิดามารดา (หน้า 35-36) ในการจัดงานแต่งมีรูปแบบแตกต่างกันไป มีการเรียกสินสอดและของหมั้น ในเมียนมาร์ให้เป็นเงินสด (หรือ เรียกเป็นทอง หรือ เงิน) ที่บ้านปางแดงในให้เป็นเงินบาท โดยปกติประมาณ 4,000บาท และเจ้าสาวก็ได้รับการคาดหวังว่าจะต้องมอบชุดใหม่ให้กับแม่ของเจ้าบ่าว และตัดชุดแต่งงานให้กับตัวเอง อย่างไรก็ตามในบางครั้งมีการหนีตามกันเช่นกัน หากพ่อแม่ไม่เห็นชอบ เมื่อพวกเขากลับมาจะมีการลงโทษและเสียค่าปรับ ทั้งนี้ หลังการแต่งงาน คู่แต่งงานใหม่ชาวปะหล่องจะต้องอาศัยอยู่ที่บ้านของฝ่ายชาย เมื่อได้เวลาอันควร จึงสามารถย้ายออกไปสร้างเรือนของตนซึ่งต้องอยู่ไม่ห่างจากบ้านของพ่อฝ่ายชาย (หน้า 93-94)
          นอกจากนี้ ในการเตรียมการแต่งงานนั้นจะมีผู้อาวุโส เรียกว่า “pak-ke dang” หรือ pak-ke ใหญ่ (great pak-ke) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทั้งฝ่ายชายและหญิง ซึ่งได้รับคัดเลือกมาจากการปรึกษาหารือกันระหว่างหัวหน้ากับคนอื่นๆ จำนวนมาก ที่น้ำสานก็มี pak-keเช่นกัน รู้จักกันในชื่อ “pak-ke taw’ หรือ “pak-ke” ทำหน้าที่คัดเลือกเด็กหนุ่มสาวที่ที่ยังไม่ได้แต่งงาน อายุระหว่าง 17-25 ปี เพื่อมาสอนสั่งเรื่องการเกี้ยวพาราสี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรียนรู้การพูดจาอย่างสุภาพไพเราะและบทกวี นอกจากนี้ pak-keยังดูแลการจัดพิธี ที่เรียกว่า “prüh” เพื่อเป็นการฝึกฝนและสั่งสอนเด็กๆ ในพิธีดังกล่าว จะมีจับสลากเพื่อจับคู่ชายหญิง และมักคาดหวังว่าฝ่ายชายจะไปเยี่ยมบ้านฝ่ายหญิงในอีกสองถึงสามเดือนถัดไป สัญลักษณ์ที่สำคัญแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านของเด็กหญิงเป็นหญิงสาว คือ การใส่กระโปรงแทนกางเกง ส่วนเด็กหนุ่ม คือ การสัก ถ้าคนไหนไม่สักจะถูกล้อว่าเป็นผู้หญิง เรียบเหมือนฟักทอง หรือเป็นคนจีน เพราะชาวจีนไม่นิยมสัก (หน้า 35)
          สำหรับการหาคู่นั้น ขนาดของชุมชนปางแดงในมักทำให้ประสบปัญหา และรสนิยมในการเลือกคู่โดยรวมมักนิยมผู้ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่บ้านปางแดงในประกอบด้วย 5 สกุล และผู้ที่ร่วมสกุลเดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ ในอดีตการแต่งงานระหว่างหญิงชายภายในสกุลเป็นสิ่งที่เคร่งครัดอย่างยิ่งของชุมชน แต่ก็ปฏิบัติกันโดยทั่วไปได้ไม่นานเท่าใด นอกจากนี้ เมื่อตระหนักแล้วว่าไม่สามารถหาคู่แต่งงานจากภายในหมู่บ้านเดียวกันได้ หนุ่มสาวชาวปะหล่องก็จะเริ่มมองหาคู่จากหมู่บ้านปะหล่องอื่นๆ ในประเทศไทย ดังนั้น ชาวปางแดงในจำนวนมากจึงแต่งงานกับปะหล่องบ้านนอแล แต่ไม่พบในเมียนมาร์ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ในการแต่งงานกับคนที่ไม่ได้เป็นปะหล่อง ความเป็นอยู่ในอดีตนั้นต่างจากปัจจุบัน การแต่งงานนอกกลุ่มชาติพันธุ์มักเป็นกรณีหญิงปะหล่องแต่งงานกับชายจากเผ่าอื่น แต่ชายปะหล่องจะไม่แต่งงานกับหญิงจากเผ่าอื่น หากหญิงปะหล่องคนใดแต่งงานกับชายที่ไม่ใช่ปะหล่อง เธอจะต้องออกจากบ้านปางแดงในไปอยู่อาศัยกับสามีที่ชุมชนของเขา เมื่อเป็นดังนั้นหญิงคนดังกล่าวจำเป็นต้องเลิกการแต่งกายแบบปะหล่อง กล่าวคือ ถ้าหญิงปะหล่องแต่งงานกับชาวลาหู่เธอจะต้องย้ายไปอยู่ที่ชุมชนลาหู่และแต่งกายแบบลาหู่ (หน้า 93)
          เมื่อครั้งที่ Milne เข้าไปศึกษา ชาวปะหล่องยังไม่มีการใช้นามสกุล ต่อมาเมื่อมีการใช้นามสกุลเกิดขึ้น ชายและหญิงปะหล่องต่างใช้นามสกุลตามบิดาของตน กระทั่ง เมื่อหญิง
ปะหล่องแต่งงานจึงเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของสามี และในกรณีของหญิงหม้ายที่ถือศีลและอาศัยอยู่ที่วัดจะใช้ชื่อทางศาสนา (หน้า 35)
          นอกจากนี้ กลุ่มเครือญาติของปะหล่องในระดับครอบครัวมักอ้างถึงสายตระกูล แต่สายตระกูลในที่นี้อาจมีความหมายที่ต่างจากความเข้าใจตามหลักมานุษยวิทยาทั่วไป ในนิยามของ
ปะหล่อง สายตระกูลสัมพันธ์กับสำเนียงภาษา ประเพณีวัฒนธรรม เช่น การแต่งงาน และเครื่องแต่งกายของผู้หญิง ในประเทศเมียนมาร์มีมากถึง 15 สายตระกูลหรือกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาย่อย (หน้า 37)                                                                                                                                                         
          Scott และ Handiman ได้กล่าวถึงสายตระกูลหนึ่ง คือ พาโตรู (Pato Ru) ซึ่งเป็น
ปะหล่องรูไม อาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านตองมา (Tawng Ma) ตอนใต้ของน้ำสาน (Namhsan) อ้างว่าเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุดของรัฐ สายตระกูลนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครือญาติของเจ้าผู้ครองรัฐตองเป็ง และจะแต่งกันเฉพาะภายในกลุ่มตน ในอดีต สิทธิพิเศษของสายตระกูลนี้ คือ ผู้ชายสามารถใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันได้ ต่างจากกลุ่มอื่นที่สวมใส่เฉพาะสีดำหรือขาวเท่านั้น ซึ่งต่อมากฎเกณฑ์ต่างๆถูกยกเลิกไป (หน้า 37)

Political Organization

          ปะหล่องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐฉานซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐเจ้าครองนครศักดินา เรียกว่า “เมือง” หรือ ที่ Edmund Leach เรียกระบบการเมืองแบบนี้ว่า การปกครองแบบกุมซา มี “เจ้าฟ้า” หรือ “สอ-บวา” ปกครอง (หน้า 38) ทั้งนี้ เมื่อเมียนมาร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษ
          ปะหล่องเงินอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าฟ้าเมืองใน (หน้า 74) ตำแหน่งรองจาก “เจ้าฟ้า”คือ kem-muang ซึ่งจะเป็นรัชทายาทสืบทอดบัลลังก์ต่อไป ทั้งนี้ “เมือง”ยังสามารถแบ่งเป็นแขวง เรียกว่า  “เมียวซา”(Myoza) และมักมีพระเชษฐาหรือพระโอรสของเจ้าฟ้า เรียกว่า “เจ้าขุนเมือง” ปกครอง นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งย่อยลงมาเป็นระดับหมู่บ้านกลุ่มใหญ่ หมู่บ้านกลุ่มย่อย และหมู่บ้านเดี่ยว มี “ท้าวเมือง” เป็นผู้นำ ทว่าภาคส่วนที่สัมพันธ์กับชาวปะหล่องเป็นหลัก คือ เจ้าหน้าที่แขวงย่อย  เช่น พ่อเมือง ปู่เมือง และปู่แก่ (หน้า 38, 41)
          Cameron อธิบายถึงปะหล่องและรูไม ที่เมืองมีดว่า  หัวหน้าสายตระกูลมีตำแหน่งเป็นดั่งพ่อเมือง รองลงมาจะมีหัวหน้ากลุ่มหมู่บ้านที่ขนาดเล็กลงมา และหัวหน้าหมู่บ้านตามลำดับ ทั้งนี้หากหัวหน้าสายตระกูลเสียชีวิต ผู้ที่สามารถสืบทอดตำแหน่ง คือ สมาชิกของสายตระกูลผู้อาวุโสที่สุด ส่วนตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านนั้นชาวบ้านจะเป็นผู้เลือก หน้าที่ของหัวหน้าหมู่บ้าน นอกจากการดูแลเรื่องต่างๆ ในหมู่บ้านแล้ว ยังต้องรวบรวมบรรณาการจากชาวบ้านเพื่อถวายแด่เจ้าฟ้า (หน้า 41)        
          ก่อนที่เมียนมาร์จะได้เอกราชจากอังกฤษ ปะหล่องเงินมีความสัมพันธ์กับภายนอกอย่างจำกัด แทบจะไม่มีคนภายนอกเดินทางมายังหมู่บ้านเนื่องจากตั้งอยู่ห่างไกลและหายาก ปะหล่องติดต่อกับภายนอกโดยการนำสินค้าไปขายที่ตลาดใกล้ๆ หรือส่งให้พ่อค้าเร่ แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่รัฐฉาน แต่ไม่มีผลกระทบต่อปะหล่องเงินเท่าใดนัก เนื่องจากอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉานห่างจากเขตที่ได้รับผลกระทบ แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อกองกำลังก๊กมินตั๋ง (KMT) นำโดยนายพล Li Mi เข้าควบคุมเก็งตุ๋ง หรือ เชียงตุง (Keng tung) ราว ค.ศ. 1950และบังคับให้บรรดาชาวเขาเพิ่มอัตราการจ่ายส่วย คือ ฝิ่น ซึ่งกลายเป็นภาระหนักของปะหล่องเงินอย่างยิ่ง มีการลุกฮือต่อต้านของกระเหรี่ยงปะโอหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ดอยแลคงเป็นเขตที่ปลอดภัยและห่างจากความรุนแรง จนกระทั่ง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 1960ภายหลังรัฐประหารนายพลเนวิน เหตุการณ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในรัฐฉาน และส่งผลกระทบต่อปะหล่อง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (หน้า 74-75)
          ทั้งนี้ ระหว่างช่วงปี1970 ถึง 1980 ปะหล่องเงินพบว่าพวกเขาตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกองทหารพม่าและกลุ่มผู้ก่อกบฏปะหล่องทอง นำโดย Kyaw Hla ได้จัดตั้งกลุ่มกบฏชื่อพรรคปลดปล่อยรัฐปะหล่อง(PSLP) Smith คาดคะเนว่าน่าจะมีกองกำลังประมาณ 500 คน ในปี 1989  พรรค PSLP ได้เข้าร่วมกับกองกำลังพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ขึ้น ประกอบด้วย แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (จัดตั้งขึ้นในปี 1976) และเข้าควบคลุมเขตอิสระ Smith เปรียบเทียบสถานการณ์ในเมียนมาร์กับไอร์แลนด์เหนือและให้ข้อคิดเห็นว่า “การวิพากษ์วิจารณ์ที่แล้วมาโดยเฉพาะในย่างกุ้งเกี่ยวกับกองกำลังชาติพันธุ์ขนาดเล็กเป็นในเชิงตำหนิและดูหมิ่น อย่างไรก็ตามกองกำลังเหล่านี้ อันได้แก่ พรรคปลดปล่อยรัฐปะหล่อง (PSLP) พรรค KNPP และ(มุสลิม) แนวร่วมรักชาติโรฮิงญา ก็ได้สร้างความปรวนแปรในชุมชนของพวกเขาเกินกว่าสองถึงสามทศวรรษเช่นกัน…” เห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีน้ำสานซึ่งเกิดข้อขัดแย้งระหว่าง พรรค PSLP กับกองกำลังทหารพม่าที่สร้างความอลหม่านในความเป็นอยู่ให้กับชาวปะหล่องส่วนมากที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นชะตากรรมของปะหล่องที่ LoiLae (หน้า 76)
          เหตุการณ์ตึงเครียดแรกเริ่มจากพรรคคอมมิวนิสต์เมียนมาร์ซึ่งตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองในและบริเวณแม่น้ำ Nam Taengได้เรียกร้องเสบียงอาหารและที่พัก อีกทั้งต้องการเกณฑ์เด็กหนุ่มในหมู่บ้านไปเป็นกองกำลังสนับสนุนการต่อสู้ เด็กหนุ่มสี่คนได้ถูกส่งตัวให้กับพรรคคอมมิวนิสต์และในปีถัดมาอีกสี่คนก็ถูกส่งไปแทนที่สี่คนก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ชาวบ้านยังถูกบังคับให้ไปขนอาวุธและสิ่งของอื่นๆ ที่เกินกำลัง สร้างค่ายพักแรม และคอยส่งข่าว บางคนที่ถูกกดดันให้เข้าร่วมต่อสู่กับพรรคหรือทำงานให้กับพรรคก็ถูกสังหารหรือเสียชีวิตจากความรุนแรงและกองทัพพม่ายังทำลายบ้านเรือน ตลอดจนพืชผล อีกทั้งขืนใจหญิงปะหล่องเป็นการตอบโต้ที่ชาวปะหล่องช่วยเหลือพวกคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ดำเนินต่อไปและเลวร้ายลงเรื่อยๆ Kam-hiengในฐานะหัวหน้าหน้าหมู่บ้านจึงเรียกประชุมเพื่อหารือจนมีมติว่าต้องอพยพลี้ภัยเพื่อหาที่ปลอดภัย พวกเขาย้ายไปยังเมืองต่วน (Muang Ton) ซึ่งพ้นจากเขตคอมมิวนิสต์ แต่เป็นเขตปกครองของ Shan United Army และขุนส่าซึ่งยังมีการสู้รบกับกองทัพพม่าอยู่ กระทั่งปี 1984 ชาวปะหล่องจากดอยแล (Loi Lae) จำนวน 168 คน จึงเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย และตั้งถิ่นฐานครั้งแรก ที่บ้านนอแล และมีอีกหลายกลุ่มกระจายไปที่อำเภอฝางและเชียงดาว (หน้า 76-79)
          ครั้นเมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือของไทย ปะหล่องก็ยังเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างกองกำลังขุนส่าและว้าที่แย่งชิงตลาดเฮโรอีน ขณะที่ปะหล่องพยายามอยู่ห่างจากเรื่องนี้ แต่การเข้าข้างใดข้างหนึ่งของปะหล่องปรากฏเมื่อแหล่งข้อมูลผู้หนึ่งให้ข้อมูลว่าเย็นวันหนึ่งพวกว้ามาหาพวกเขาและถามถึงที่ตั้งกองกำลังของขุนส่า พวกเขาจึงบอกที่ตั้งดังกล่าวกับพวกว้า จนในที่สุดพวกว้าสามารถเข้าโจมตีกองกองทัพของขุนส่าได้ แต่ในระยะเวลาไม่นานกองทัพพม่าก็โจมตีพวกว้า (หน้า81-83)
          ตั้งแต่ปี 1984 ปะหล่องอีกกลุ่มหนึ่งได้ข้ามชายแดนจากเมียนมาร์เพื่อลี้ภัย และสื่อได้ให้ความสนใจพวกเขาในปี 1989หลังกลุ่มปะหล่องราว 200 คน ได้ข้ามมายังฝั่งไทย และมี
ปะหล่องจำนวน 34 คน ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้และตำรวจที่อำเภอเชียงดาว เนื่องจากหลบหนีเข้าเมืองและลักลอบตัดต้นไม้เพื่อนำไปสร้างที่อยู่อาศัย ผู้หญิง เด็กและคนแก่ยังคงเป็นอิสระ แต่ชายปะหล่องจำนวน 29 คน ถูกควบคุมตัวขังคุกและถูกปรับ พวกเขาได้รับโทษจำคุกถึง 11ปี 5 เดือน แต่ได้รับการลดหย่อนเหลือ 5 ปี 9 เดือน ในปี 1991 บทความในหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ว่าชาวปะหล่องที่ไม่ถูกจับคุมต่างรู้สึกเศร้าเสียใจที่ชายชาวปะหล่องยังคงติดคุก (หน้า 79)  ส่วน Kam-hieng ซึ่งนำชาวบ้านอพยพมาไปบวช 8 ปี และต่อมาได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านปางแดงใน ระหว่างที่เราเข้าไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านปางแดงใน Kam-hieng เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านโดยธรรม คอยปกป้องหมู่บ้านและดูแลความสงบเรียบร้อยภายใน เขาทำงานอย่างจริงจังเพื่อให้หมู่บ้านดีที่สุดในสิ่งแวดล้อมใหม่ ดังนั้น เขาจึงสนับสนุนให้ชาวบ้านทุกคนทำงานหนัก รักษาหมู่บ้านให้สะอาด ปราศจากสิ่งเสพติด และมีการวางแผนครอบครัว ดังเห็นได้ต่อมาว่าที่ดินมีจำนวนจำกัด จำนวนประชากรจึงต้องสอดคล้องกับการรองรับของพื้นที่ จึงมีการห้ามบุคคลภายนอกย้ายเข้ามาในหมู่บ้านและมีการวางแผนครอบครัว (หน้า 88-89)
          ต่อมา นับตั้งแต่ปี 1994 กลุ่มผู้อพยพใหม่โยกย้ายจากบ้านนอแลไปตั้งถิ่นฐานใหม่ใกล้ปางแดงใน ข้างถนนสายหลักที่มุ่งไปยังอำเภอเชียงดาว และเรียกว่า ปางแดงนอก ผู้อพยพกลุ่มนี้ละทิ้งอำเภอฝางโดยอ้างว่าไม่มีที่ทำกินและไม่มีงานสำหรับพวกเขา ช่วงต้นปี 1998 พบว่ามีปะหล่องจำนวน 16 ครอบครัว หรือราว 100 คน อาศัยอยู่ที่ปางแดงนอก ทั้งนี้ ช่วงต้นปี 1998 ดังกล่าวนั้นชายปะหล่องทั้งหมดของหมู่บ้านถูกจับกุมในข้อหาบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนด้วย ก่อนได้รับการพิจารณาพ้นโทษ ในวันที่ 22 มิถุนายน หลังจากจำคุกเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเวลานั้นพวกเขาไม่มีพืชผลที่เพาะปลูกและที่ดินซึ่งเคยใช้ประกอบการเกษตรก็ถูกปิดโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทั้งหมู่บ้านจึงต้องอาศัยการดูแลบริหารจัดการเรื่องอาหารจากโบสถ์คริสต์ อำเภอฝาง และเผชิญกับอนาคตอันสิ้นหวัง (หน้า 95-97)
          ทั้งนี้ ปัญหาที่ชาวปะหล่องประสบ แบ่งได้ 2 ประเด็นหลัก  ดังนี้
          1. สิทธิในการได้รับสัญชาติไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาโดยตลอดของกลุ่ม
ชาติพันธุ์ ปัจจุบัน มีผู้ถือบัตรสีฟ้าแสดงการได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยเฉพาะบางเขตพื้นที่ ในภาคเหนือ ราว 200,000-300,000คน อย่างไรก็ตาม ชาวเขาอีกจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวและอยู่ในสภาวะไร้สถานภาพ (หน้า 99)
          2.สิทธิในการบริหารจัดการที่ดิน การเข้าถึงทรัพยากร และใช้ประโยชน์จากป่า  ชาวเขาจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งเรียกว่า “ป่าชุมชน”ในฐานะผู้รักษาและปกป้องป่ามากกว่าผู้ทำลาย อย่างไรก็ตาม คงมีนักอนุรักษ์สุดโต่งจำนวนหนึ่งออกมาต่อต้านและต้องการให้กลุ่มชาวเขาย้ายออกจากพื้นที่ ในกรณี ปะหล่อง ที่อำเภอเชียงดาว หลังจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เนวิน ชิดชอบ เข้าไปตรวจสอบเรื่องไฟป่า ในเขตภาคเหนือ เมื่อ ปี 1998 และมีคำสั่งให้ลงโทษชาวเขาที่บุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าเป็นที่ทำกิน ทำให้ชาวปะหล่อง ลาหู่ และลีซูหมู่บ้านปางแดงในและชุมชนใกล้เคียงถูกจับกุมในข้อหาลักลอบตัดไม้ จำนวน 56 คน  ตลอดจน หมู่บ้านปางแดงนอกและปางแดงในก็ได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับเมื่อปี 1989ที่ชายปะหล่องจำนวน 29 คน ได้รับโทษจำคุกและปรับในข้อหาลักลอบเข้าเมืองและตัดไม้เพื่อนำไปสร้างที่อยู่อาศัย
          ทั้งนี้ ได้มีกลุ่ม NGO และหน่วยงานอื่นๆ เช่น เครือข่ายชาติพันธุ์ศึกษา (ETHNET) เข้าไปให้ความช่วยเหลือ จนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 22 มิถุนายน แต่มีชายปะหล่องจำนวน 2 คน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะไม่มีบัตรสีฟ้า (หน้า 100-101) ในช่วงเวลาดังกล่าวภาครัฐมีท่าทีอ่อนลงและประนีประนอมยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการสำรวจว่าพื้นที่ใดที่ชาวปะหล่องเคยใช้เป็นพื้นที่ทำกินและประกอบการเกษตรในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา เพื่ออนุญาตให้พวกเขายังสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวบางส่วนในการทำการเพาะปลูกได้ต่อไป แต่ที่ดินเหล่านั้นก็ไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกข้าว ในกรณีของปางแดงนอกสถานการณ์ยิ่งเป็นที่น่าวิตกเนื่องจากพวกเขาเพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพียงช่วงเวลาอันสั้นจึงไม่สามารถอ้างสิทธิ์ได้ว่าใช้พื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลายาวนานเพียงพอ จึงต้องสูญเสียที่ทำกินทั้งหมด ทั้งนี้ ในกลางปี 1999 ชายปะหล่องทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว
          การถูกจับกุมและสูญเสียที่ทำกินบ่อยครั้ง กดดันให้พวกเขาต้องคิดหาหนทางเลี้ยงดูตนเองซึ่งโดยมากคือ การออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน และรณรงค์เรียกร้องสิทธิ์ของชาวเขา ดังนั้น เมื่ออธิบดีกรมป่าไม้เชิญชวนให้ชาวปะหล่อง บ้านปางแดงใน ไปทำการแสดงทางวัฒนธรรม ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงดาว ระหว่างที่มาตรวจเยี่ยม ในระหว่างวันที่ 28-29 ธันวาคม 1998 นักเคลื่อนไหว NGO และชาว
          ปะหล่องจึงใช้โอกาสนี้นำเสนอปัญหาที่พวกเขาประสบ โดยเฉพาะเรื่องบัตรประจำตัว นอกจากนี้ ชาวปะหล่อง อำเภอเชียงดาวยังได้รับเชิญเข้าร่วมการประท้วงครั้งใหญ่ที่หน้าศาลากลาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 1999 และดำเนินต่อไปกว่าหลายสัปดาห์ มีผู้เข้าร่วมกว่าหนึ่งพันคนจาก 300 หมู่บ้าน ใน 8 จังหวัดภาคเหนือของไทย แต่ชาวปะหล่องที่เข้าร่วมมีจำนวนไม่มากนัก ทั้งที่ประเด็นที่ประท้วงนั้นเกี่ยวข้องกับสถานภาพและความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของพวกเขาโดยตรง เพราะกลุ่มผู้ปะท้วงต้องการ พ.ร.บ. ป่าชุมชน การได้รับสัญชาติไทย และพยายามลดข้อขัดแย้งระหว่างตัวแทนภาครัฐและชนกลุ่มน้อย สำหรับเรื่องที่ดิน ผู้ประท้วงรู้สึกว่ากฎหมายการป่าไม้ทั้ง 4 มาตรา และข้อตัดสินของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องป่าไม้ควรมีการปฏิรูปเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งให้สิทธิบุคคลเข้าร่วมในการบริหารจัดการและปกป้องทรัพยากร ตลอดจนให้ชุมชนมีบทบาทในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในที่สุดรัฐบาลได้ส่งตัวแทนมาทำการเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้ประท้วงในวันที่ 9 พฤษภาคม 1999 จำนวน 3 คน คือ เนวิน ชิดชอบ  ปลอดประสพ สุรัสวดี และ อำนวย ปะติเส จนสรุปได้ข้อตกลงว่าชาวเขาทุกคนต้องไปลงทะเบียนที่อำเภอเพื่อจัดประเภทว่าต้องถือบัตรประชาชน บัตรบุคคลบนที่สูง หรือเป็นกลุ่มที่อยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ พวกเขาต้องยืนยันพื้นที่ป่าซึ่งเคยใช้เป็นที่ทำกินต่อคณะกรรมการเพื่ออ้างสิทธิ์เหนือที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายและออกโฉนด ไม่เช่นนั้นกรมป่าไม้จะเรียกคืนที่ดินดังกล่าว แต่ระหว่างที่กระบวนยังไม่แล้วเสร็จจะไม่มีการจับกุมและอนุญาตให้มีการทำการเกษตรบนที่ดินได้ ท้ายที่สุดมีข้อยุติว่ารัฐบาลจะดำเนินการทำประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนและอนุมัติร่างดังกล่าวโดยเร็ว แต่ความผิดหวังของผู้ประท้วงปรากฏเมื่อข้อตกลงซึ่งตั้งอยู่บนการเจรจาต่อรองโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ละเว้นการจับกุมเฉพาะผู้ที่เป็นพลเมืองไทย (ดังนั้นจึงไม่นับรวมปะหล่อง) กลุ่มผู้นำการประท้วงจึงดำเนินการประท้วงที่หน้าศาลากลาง จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป ทั้งนี้ต่อมามีผลการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการออกมาเคลื่อนสู่การคลี่คลายสถานการณ์หลัก ผู้ประท้วงจึงยุติการประท้วงในวันที่ 19 พฤษภาคม 1999 (หน้า 102-104)
          อย่างไรก็ตาม ปัญหาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และภาครัฐเรื่องสัญชาติและที่ทำกินคงเป็นปัญหาที่ยังไม่สิ้นสุดและคงมีการต่อสู้เรียกร้อง เช่น การปะท้วง แม้ปะหล่องจะไม่ใช่กลุ่มแกนนำสำคัญ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไรยอมส่งผลต่อปะหล่องในประเทศไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ (หน้า 106)

Belief System

          ปะหล่องนับถือพุทธศาสนาที่รับมาจากฉานร่วมกับการนับถือผีต่างๆ (หรือที่พม่า เรียก นัต) การนับถือพุทธศาสนาของชาวปะหล่องมี 2 สำนัก คือ ปะหล่องทางตอนเหนือนับถือพุทธแบบพม่า ในขณะที่ปะหล่องอื่นๆ รวมทั้งปะหล่องเงินนับถือพุทธแบบYun (ฉาน) ความแตกต่างระหว่างสองสำนักนี้ คือ สำนักYun จะมีการแบ่งระดับพระซึ่งไม่ปรากฏในพุทธแบบพม่า การผ่านไปในแต่ละขั้นจะมีพิธีกรรมที่ซับซ้อน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำพิธีรับผิดชอบโดยญาติและโยมอุปฐากของพระรูปนั้น (หน้า 42)
          Milne ได้อธิบายถึงความเชื่อเรื่องการนับถือผีของปะหล่องไว้อย่างละเอียดว่า  ปะหล่องทองเชื่อในผีที่หลากหลาย เช่น ผีที่อยู่ในธรรมชาติ (ต้นไม้ใหญ่ ภูเขา ก้อนหิน) ผีบ้าน ผีเรือน ผีหมู่บ้าน ผีถนน รวมทั้ง ผีในพืชผลสำคัญ เช่น ชา และข้าว นอกจากนี้ แต่ละบุคคลยังประกอบด้วยวิญญาณ 2 แบบ คือ“กาบู”(kar-bu) ซึ่งมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งมวล และ vin-yin  อันเป็นส่วนแห่งสติปัญญา และความเป็นอมตะของมนุษย์ ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าหลังจากเสียชีวิต วิญญาณของมนุษย์และสัตว์จะล่องลอยราวหนึ่งสัปดาห์เพื่อหาร่างใหม่ในการกลับมาเกิดอีกครั้ง แต่ “กาบู”ของผู้ที่เสียชีวิตจากการตายโหงจะกลายเป็น “กะหน้ำ”  คือ ผีที่มุ่งร้าย ให้โทษ ส่วน “กาบู”อื่นๆ จะกลายเป็น pe-aet คือ ผีที่สามารถทะลุผ่านวัตถุต่างๆ ได้ (หน้า 42) ทั้งนี้ ปะหล่องในประเทศไทยก็มีความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ เช่นเดียวกับปะหล่องในเมียนมาร์ (หน้า 43)
          นอกจาก พระสงฆ์ ผู้ประกอบพิธีในพุทธศาสนา ปะหล่องยังมีผู้ที่มีทักษะพิเศษในการเชื่อมต่อกับสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติอื่นๆ อาทิ  “has-ra” คือ หมอผี และหมอยา ที่บางครั้งอาจเป็นช่างสักด้วย has-raมีหน้าที่ตั้งชื่อให้ทารกแรกเกิด และเลือกทำเลในการสร้างเรือน ส่วน“bre” หรือ ผีมด คือ ผู้ที่ถูกวิญญาณสิงร่าง และความสามารถดังกล่าวจะส่งผ่านจากมารดาสู่บุตรสาว ทั้งนี้ ผีมดมักอาศัยอยู่ในบริเวณที่แยกเฉพาะของหมู่บ้าน นอกจากนี้ ศาลที่ Tawngpeng ยังมีนักบวชที่สืบทอดทางสายเลือด รู้จักกันในนาม tapleng (ปู่หรือผู้เฒ่าแห่งฟ้า) เป็นผู้คอยเป็นสื่อกลางเชื่อมกับวิญญาณ (หน้า 43)
          อีกทั้ง ปะหล่องยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เกี่ยวกับการนับถือผี เช่น ศาล “กะหน้ำ” จำนวนมากภายในป่า Milne บรรยายว่า ศาลเหล่านี้มีลักษณะเหมือนบ้านตุ๊กตา สูงราว 2-3 ฟุต ตั้งอยู่ใต้โค่นต้นไม้ใหญ่ มีรั้วล้อมรอบ (หน้า 43)
          ด้านพิธีกรรมปะหล่องจะพาทารกเกิดใหม่ไปที่วัดวางหน้าพระพุทธรูปและมอบให้พระสงฆ์โดยไม่มีพิธีกรรมอื่นๆ และทารกจะได้รับการตั้งชื่อตามวันที่เกิดในสัปดาห์ เช่น Nan Yon หมายถึงวันพุธ ทารกที่เกิดวันนี้จึงชื่อYon (หน้า 33) นอกจากนี้ ยังมีพิธีผูกข้อมือให้กับทารกวัย 3เดือน เช่นเดียวกับชาติพันธุ์ไทอื่นๆ และกลุ่มเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ปะหล่องแต่ละกลุ่มต่างมีรายละเอียดวิธีการในการปฏิบัติแตกต่างกัน อาทิ บริเวณที่ผูก (ข้อมือ คอ เอว ข้อเท้า) รวมทั้งสีของด้าย (ขาวและแดง คือสีที่นิยม หรืออาจใช้เงินแทนด้าย) (หน้า 35)
          ส่วนการประกอบพิธีศพขึ้นอยู่กับลักษณะการเสียชีวิตและสถานภาพของผู้ตาย หากเป็นการเสียชีวิตในลักษณะที่ไม่ปรกติ เช่น ฟ้าผ่า หรือ คลอดลูกตาย จะนำศพไปฝังโดยไม่ใส่โลงอย่างรวดเร็วในบริเวณที่ห่างไกล หากพระสงฆ์หรือชนชั้นสูงในสังคมเสียชีวิตจะทำการฌาปนกิจศพ (เผา) ตามธรรมเนียมพุทธศาสนาแบบเมียนมาร์ ขณะที่บุคคลทั่วไปเมื่อเสียชีวิตแบบปรกติ จะนำใส่โลงฝังในสุสานของหมู่บ้าน ทั้งนี้ชาวปะหล่องเงินมีพิธีกรรมชำระล่างและแต่งกายให้ผู้ตายก่อนนำใส่โลงอีกด้วย โดยปรกติการฝังศพจะทำในวันเดียวกับที่ผู้ตายเสียชีวิต แต่ถ้าเสียชีวิตในเวลาค่ำจะฝังในรุ่งเช้าของวันถัดไป นอกจากนี้ในวันที่ประกอบพิธีฝังและหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ชายอาวุโสในหมู่บ้านจะมารวมตัวกัน ณ บ้านของผู้เสียชีวิต เพื่อสวดและนำอาหารถวายหน้าพระพุทธรูป รวมทั้งนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัด  (หน้า 36) 

Education and Socialization

          นักเรียนจากหมู่บ้านปางแดงในจะเดินทางไปศึกษาที่โรงเรียนประถม ห่างจากหมู่บ้านราว  1 กิโลเมตร ซึ่งการเข้าศึกษาในโรงเรียนดังกล่าว ทำให้เยาวชนปะหล่องได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย และพูดภาษาไทยได้ ทั้งนี้ พวกเขายังถูกจัดให้เรียนร่วมกับนักเรียนจากเผ่าอื่นๆ ซึ่งส่วนมาก คือ ลาหู่ และกระเหรี่ยง (หน้า 94-95) 

Health and Medicine

          ณ บ้านปางแดงใน เมื่อเจ็บป่วย ชาวปะหล่องจะรักษากับพ่อหมอ (dayan) ของหมู่บ้านและถวายเครื่องบูชาแก่ศาลประจำหมู่บ้านเพื่อให้หายจากอาการป่วยไข้  (หน้า 87)  ครั้งหนึ่งมีมาลาเรียระบาดที่หมู่บ้านปางแดงใน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเชื้อโรคดังกล่าวอาจมาพร้อมกับพ่อค้าที่ข้ามมาจากฝั่งเมียนมาร์เพื่อทำการค้าขาย หลังจากนั้นจึงมีข้อห้ามไม่ให้พวกเขาเข้ามาอีก ครั้งหนึ่งมาลาเรียเคยเป็นปัญหาของชาวปะหล่อง เมื่อสมัยย้ายมายังหมู่บ้านปางแดงในครั้งแรก แต่หลังได้รับการตรวจรักษาและรับยา จากสาธารณสุข โรคดังกล่าวจึงหมดไป (หน้า 91) 

Art and Crafts (including Clothing Costume)

          การแต่งกายของปะหล่อง ผู้ชายจะนุ่งกางเกง ต่างจากเผ่าอื่นซึ่งนิยมนุ่งผ้าเตี่ยว ทั้งนี้ Scott และ Hardiman กล่าวว่าชายปะหล่องล้วนรับอิทธิพลการแต่งกายตามแบบฉาน ที่แตกต่างเห็นจะเป็นการแต่งกายของผู้หญิง คือ ปรกติจะใส่เสื้อผ่าหน้า ซิ่นและกางเกงข้างในสีกรมท่า แต่เมื่อแต่งแบบพิธีการจะสวมใส่สีที่สว่างขึ้น มีผ้าคลุมศรีษะชี้ไปด้านหลังยาวจรดบ่า นุ่งซิ่นทอจากฝ้ายหลากหลายสี สวมสายคาดเอวลงรัก บางครั้งประดับด้วยหอยเบี้ยและเมล็ดพืช (แต่บางคนก็ไม่ใส่เนื่องจากความไม่สะดวก หรือ แสดงถึงสายตระกูล) (หน้า 51)  มีสนับแข้งสีคราม (หน้า 55) นอกจากนี้ ผู้หญิงปะหล่องมักไว้ผมสั้น หากไว้ยาวจะปล่อยผม ไม่รวบหรือมัดแต่อย่างใด (หน้า 57)   อย่างไรก็ตาม การแต่งกายของปะหล่องก็มีลักษณะย่อยที่แตกต่างกันตามสายตระกูล (หน้า 62)
          Scott และ Hardiman ยังอธิบายถึงการแต่งกายของผู้หญิงปะหล่องปาเลที่พบจากการลงพื้นที่  ณ ประเทศไทยและคาเลา ประเทศเมียนมาร์ว่า มักใส่ผ้าคลุมศรีษะสีขาวล้วน เสื้อคลุมตัวสั้นสีกรมท่า นุ่งซิ่นลายขวางสีแดงหรือน้ำเงิน  ทั้งนี้ Milne อธิบายเพิ่มเติมว่า ปะหล่องทองไม่นิยมสวมหวายคาดเอวเช่นปะหล่องเงิน หรือ ปาเล (หน้า 65) อย่างไรก็ตาม  หวายคาดเอวนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และเกี่ยวข้องกับตำนานการกำเนิดของชาวปะหล่อง สามารถแบ่งได้ 3 แบบ คือ 1) nong von 2) nong rein 3) nong doan นอกจากนี้ พวกเขายังนิยมคาดเข็มขัดโลหะ ซึ่งในอดีตมักทำจากเงิน แต่ปัจจุบันทำจากอะลูมิเนียมหรือโลหะชนิดอื่นที่มีสีใกล้เคียงกัน และพันผ้าฝ้ายสีขาวเรียบรอบเอวด้วย (หน้า 70) แต่ผู้หญิงปะหล่องในไทยจะไม่ใส่กางเกงไว้ด้านในซิ่นเช่นที่เมียนมาร์ (หน้า 69) และไม่ได้ใช้ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ แต่ยังทอผ้าเพื่อใช้เอง (หน้า 67)              
         หญิงปะหล่องเงินสวมผ้าถุงทอมือ เรียกว่า glahng เย็บจากผ้าสามชิ้นไม่มีขอบและแถบคาดเอว ผ้าทุกชิ้นจะเย็บติดกันด้วยด้ายสีขาว ในขณะที่ปะหล่องบางกลุ่มย่อยมีการตกแต่งผ้าถุงโดยเพิ่มแถบเย็บลงไปด้วย ปะหล่องเงินมีข้อจำกัดในความหลากหลายของความกว้างและสีของแถบที่ตกแต่ง กล่าวคือ ผ้าถุงมักมีพื้นสีแดงเป็นหลักคาดด้วยเส้นขวางขนาดเล็กสีต่างๆ (ฟ้า เขียว เหลือง) ทั่วทั้งผืน ตรงชายผ้ามีแถบคาดซึ่งโดยมากเป็นสีเหลืองเรียบหรือลายเส้นเล็กๆ หลากสี สำหรับในไทย หญิงปะหล่องเงินที่แต่งงานแล้วมักนิยมแบบที่เป็นแถบสีเหลือง ส่วนหญิงสาวแรกรุ่นจะนิยมแบบลายเส้นเล็กๆ แต่ก็ไม่ได้มีกฎเคร่งครัดในเรื่องนี้ จากตัวอย่างผ้าถุงของ
ปะหล่องเงินในประเทศไทย เชียงตุง และกะลอ (kalaw) พบว่าแต่ละที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะประจำท้องถิ่น ขนาดความกว้างอยู่ที่ 60-68 เซนติเมตร และความยาว คือ 101-110 เซนติเมตร (หน้า 69)
         นอกจากนี้ Milne ยังกล่าวถึงหญิงปะหล่องทองว่า มีการสวมผ้าโพกศีรษะ เรียกว่า hmok ซึ่งตกแต่งด้วยเส้นเงินขดเป็นวง(hma-e) ที่ชายผ้า ปะหล่องเงินที่เชียงตุง และกะลอก็สวมผ้าโพกศีรษะดังกล่าวด้วยเช่นกัน แต่จะโพกเฉพาะในกลุ่มหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน อย่างไรก็ตามการโพกผ้าคลุมศีรษะเช่นนี้ไม่พบในประเทศไทย ส่วนหญิงปะหล่องเงินที่แต่งงานแล้วทางตะวันออกและตอนใต้ของรัฐฉานจะสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า  kamai หรือ kamaigop ซึ่งพบไม่มากนักในเมียนมาร์และไม่พบเลยในไทย ผ้าโพกศีรษะแบบ kamaiนี้ตรงกลางมักทำจากผ้าฝ้ายสีขาวหรือดำเรียบยาวประมาณ 1.5 เมตร ตรงปลายของแต่ละด้านตกแต่งด้วยผ้ายาวอีกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ในอดีตมักทำมาจากผ้าถุงแต่ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยผ้าสำเร็จสีพื้น (ฟ้า เขียว และอื่นๆ ) หรืออาจมีลวดลาย การพันผ้าจะพันหนึ่งหรือสองทบขึ้นอยู่กับความกว้างของผ้า เมื่อพันแล้วอาจกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร นอกจากนี้จะมีการนำเครื่องประดับทรงกลมไปติดที่ด้านหนึ่งของผ้าเพื่อประดับตกแต่งด้วย และที่ปลายผ้าแต่ละด้านจะมีเชือกสีเหลืองและสีแดง (บางครั้งสีเขียว) พันกับลูกเดือยห้อยเป็นพู่ เชือกดังกล่าวนั้นจะถักเป็นตาข่ายแต่บางครั้งก็ปล่อยไว้ พู่เหล่านี้ยาวประมาณ 140-180 เซนติเมตร ผู้ให้ข้อมูลที่กะลอกล่าวว่า ในอดีตผู้หญิงมักสวมผ้าโพกศีรษะซึ่งยาวมาก ประมาณ 10 เมตร แต่ต่อมานิยมแบบที่สั้นลง ทั้งนี้ หญิงชราหรือหญิงหม้ายที่เข้าวัดปฏิบัติธรรมจะไม่สวม kamaiแต่จะโพกศีรษะด้วยผ้าสีดำเรียบแทน ซึ่งยังคงพบในภาคเหนือของไทย นอกจากนี้ kamai  ยังมีการพันด้วยสิ่งที่เรียกว่า suk รอบๆ ด้วย ทำจากผ้าฝ้ายชิ้นเล็กๆ (ส่วนมากเป็นสีดำ) พันด้วยเส้นเงินหรือนิเกิล และหญิงประหล่องยังนิยมสวมใส่เครื่องประดับอัญมณีด้วย (หน้า 71) ยิ่งไปกว่านั้น ปะหล่องทั้งชายและหญิงยังนิยมสะพายย่ามทำจากผ้าฝ้ายทอมือ เรียกว่า “who” ซึ่งมักมีพื้นสีแดง ลายเส้นแนวตั้งสีเขียวหรือขาวตัดขอบสีดำหรือเหลือง (หน้า 72) 

Folklore

          ชาหมักเป็นของที่มีชื่อเสียงของชาวปะหล่อง ดังนั้น ปะหล่องจึงมีตำนานเกี่ยวกับเรื่องชาว่า เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 พระเจ้า Yamadi-kyè-thuได้เสด็จมายังดอย “Loi-seng” หรือ “Lawi-seng) ใกล้กับเมืองตองเป็ง ช้างเผือกที่พระองค์ทรงประทับได้คุกเข่าลงคารวะพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อหน้าดอยดังกล่าว ดอยนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และพระองค์ทรงมอบเมล็ดพันธุ์ที่ทรงพบจากนกที่ตายให้กับนายพรานกระเหรี่ยงโปว์สองคนเพื่อนำไปปลูก หากนายพรานกลับยืนมือมารับเพียงข้างเดียว โดยขาดซึ่งมรรยาทและการแสดงความเคารพดังที่ควรเป็น พระองค์จึงทรงตรัสกับพรานทั้งสองว่า พวกท่านควรที่จะร่ำรวยแต่ด้วยการกระทำที่ดูหมิ่นจึงต้องจนอยู่เช่นนี้ต่อไป ตามตำนานเล่าว่า เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นต้นกำเนิดของชาในแถบนี้และเป็นสิ่งที่ชาวปะหล่องเคารพบูชา (หน้า 27-28)
          นอกจากนี้ การนิยมสวมหวายคาดเอวอันเป็นสัญลักษณ์ของหญิงปะหล่องเงิน ยังมีตำนานสัมพันธ์กับต้นกำเนิดของพวกเขาว่า สืบเชื้อสายมาจากนางฟ้าชื่อ "หรอยเงิน" ผู้ลงมายังโลกมนุษย์ และติดกับดักสัตว์ของพวกลีซอดังนั้น การสวมหวายคาดเอวจึงเป็นสัญญาลักษณ์ของเครื่องดักสัตว์และทำให้รำลึกถึงตำนานดังกล่าว ทั้งนี้ ชาวปะหล่องยังเชื่อว่า การสวมหวายคาดเอวจะช่วยคุ้มครองผู้สวมใส่จากอันตรายต่างๆ และนำความโชคดีมาให้ (หน้า 70)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          ชาวปะหล่องทั้งในเมียนมาร์และไทยมีการรักษาอัตลักษณ์ของตนโดยการแต่งกายที่แตกต่างจากเผ่าอื่นๆ (หน้า 45) การปลูกเรือนตามแบบปะหล่องดั้งเดิมแม้จะอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศไทย และการตั้งใจบ้านกลางหมู่บ้าน พร้อมทั้งมีประเพณีปิด-เปิดประตูเมือง และพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา 

Social Cultural and Identity Change

          ในการปรับตัวทางเศรษฐกิจ ปะหล่องที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยต้องทอผ้าตลอดทั้งปี ต่างจากเมื่อครั้งอาศัยอยู่ ณ ประเทศเมียนมาร์ที่จะทอเฉพาะบางช่วงฤดูกาล เพื่อใช้สอยภายในครัวเรือน ไม่ได้มุ่งผลิตเพื่อจำหน่าย  แต่เนื่องด้วย ความจำกัดของโอกาสในการทำการเกษตร เช่น ปลูกชา หรือเก็บเกี่ยวใบชา ปะหล่องในไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยหันมาทอผ้าเพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว (หน้า 67)    

Map/Illustration

1.  แผนผัง :  1.1)  ความสัมพันธ์เชิงภาษาศาสตร์ของภาษาปะหล่อง หน้า 18
2.  แผนที่ :  2.1) แผนที่รัฐฉาน และภาคเหนือของไทย  หน้า 6 
3.  ภาพ :  3.1) คำแหง หัวหน้าหมู่บ้านปางแดงใน  หน้า 2  3.2) ภาพชาวปะหล่อง  หน้า 8, 10,  3.3) 3.3) ภาพเรือนปะหล่อง หน้า 24 3.4) ภาพหมู่บ้านปะหล่องเงิน ที่คาเลา ประเทศเมียนมาร์ 3.5) เรือนปะหล่อง ณ บ้านปางแดงใน 3.6) ภาพการแต่งกายของผู้หญิงปะหล่อง 3.7) ภาพผู้หญิงปะหล่องเงิน ที่ ปางแดงใน 3.8) ภาพศูนย์รวมใจของหมู่บ้าน หรือ huja rawl ที่ปางแดงใน 

Text Analyst ชลธิชา ขุนทอง Date of Report 08 มิ.ย 2562
TAG ดาระอั้ง, ปะหล่อง, การแต่งกาย, การตั้งถิ่นฐาน, การจัดการทางสังคม, การเมืองการปกครอง, กิจกรรมทางเศรษฐกิจ, ศาสนา, คติความเชื่อ, บ้านนอแล, ปางแดงนอก, ปางแดงใน, เชียงดาว, การปรับตัว, ปัญหา, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง