สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject คะยัน,กะจ๊าง, แลเคอ, ปะด่อง, กะเหรี่ยงคอยาว, การท่องเที่ยว, ผู้อพยพ, แม่ฮ่องสอน
Author David Ranger Lawitts
Title Between two selves : politics of identity and negotiation of rights for Kayan refugees in Mae Hong Son Province, Thailand
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity กะยัน แลเคอ, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
Total Pages 171 Year 2551
Source David Ranger Lawitts. (2551). Between two selves : politics of identity and negotiation of rights for Kayan refugees in Mae Hong Son Province, Thailand. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการพัฒนาอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Abstract

          เน้นการศึกษาถึงความเป็นอยู่และมุมมองของชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่ได้ลี้ภัยเข้ามาอาศัยในประเทศไทย แต่กลับตกอยู่ในสถานะเครื่องมือเพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดและไม่ได้รับอิสระในการเคลื่อนย้าย ทำให้ชาวกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการใส่ห่วงทองเหลือง
 
          จากการศึกษาพบว่าชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยอยู่ในการควบคุมของนักธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ได้รับเงินเดือนจากการเปิดหมู่บ้านให้นักท่องเที่ยว ทำให้เกิดการส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ให้ใส่ห่วงทองเหลืองเพิ่มขึ้นจากเหตุผลหลายประการโดยเฉพาะเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่จะมองว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้หนีออกจากการถูกควบคุมของธุรกิจการท่องเที่ยวได้ และเปลี่ยนความคิดจากการมองว่าห่วงทองเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชนเผ่าเป็นว่าห่วงทองเหลืองเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมชาว Padaung และทำให้ตนเองไม่ได้รับสิทธิเท่ากับคนอื่น เช่นการขออพยพไปยังประเทศที่ 3 เป็นต้น ทำให้ในปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มีการถอดห่วงทองเหลืองเพิ่มขึ้น

Focus

          เน้นการศึกษาถึงกลุ่มกะเหรี่ยงคอยาวที่อาศัยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่อยู่ในสถานะที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน และถูกทำให้เป็นสินค้าในการท่องเที่ยวของจังหวัดเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และศึกษาถึงวิธีการต่อรองที่ชาวกะเหรี่ยงคอยาวใช้เพื่อให้ได้สิทธิของตนเอง โดยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ 

Theoretical Issues

          ใช้การศึกษาภายใต้ 3 หัวข้อหลักคือ Sovereignty, Objectification และ Negotiation ในการอธิบายชีวิต และสถานะของชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ผ่านการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ ประสบการณ์ตรงในการอาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่องเที่ยว และการอ่านเอกสารและข้อมูลทางสถิติ

Ethnic Group in the Focus

คะยัน (ปะด่อง กะเหรี่ยงคอยาว) จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

Language and Linguistic Affiliations

          ชาวไทใหญ่เรียกกะเหรี่ยงคอยาวว่า Yan Pa Daung ซึ่งแปลว่ากะเหรี่ยงที่ใส่ห่วง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำนี้ได้เหลือเพียงคำว่า Padaung แต่ชาวกะเหรี่ยงคอยาวไม่ชอบถูกเรียกด้วยคำนี้เนื่องจากว่าเป็นการเตือนให้พวกเขาระลึกถึงตอนที่ยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของ Sao Pha ของชาวไทใหญ่ ชาวบ้านจึงอยากเรียกว่าพวกตนว่ากะเหรี่ยงคอยาวมากกว่า (หน้า 44-45)

          กะเหรี่ยงคอยาวไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการดูถูกในการเรียกตนว่ากะเหรี่ยงคอยาว ในทางกลับกันกลับภูมิใจที่โลกภายนอกสังเกตเห็นถึงคอที่ยาวของตน ยกเว้นคำว่า giraffe women ซึ่งพวกเขาจะไม่ชอบเนื่องจากคอของตนนั้นยาวเหมือนมังกรไม่ใช่ยีราฟ (หน้า 45)

          ชาวบ้านในหมู่บ้านจะใช้ภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าในการพูดคุยกันในชนเผ่าเดียวกัน ใช้ภาษาพม่าเวลาพูดกับชนเผ่าอื่น และใช้ภาษาไทยในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและนักธุรกิจ แต่พวกเขามักจะพยายามพูดภาษาของตนในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ (หน้า 51)

          ผู้หญิงคะยันส่วนมากที่เปิดร้านขายของนั้นสามารถพูดทั้งภาษาไทยและอังกฤษ บางคนสามารถพูดภาษาอื่นได้อีกเช่น สเปน ญี่ปุ่น เยอรมันหรือฝรั่งเศส ในขณะที่ผู้ชายมีทักษะทางภาษาไทยและอังกฤษที่ต่ำกว่ามาก (หน้า 80)

History of the Group and Community

          ในช่วงปี  ค.ศ.1980ประเทศไทยได้รับความนิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวแบบชนเผ่า ทำให้มีนักธุรกิจชาวไทยในแม่ฮ่องสอน ฉวยโอกาสนี้ในการนำครอบครัวชาวคะยันและกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมาตั้งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวและเก็บค่าเข้าชม และเมื่อประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว “Amazing Thailand” ในปี 1987จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ได้นำหมู่บ้านท่องเที่ยวของชาวคะยันและกะเหรี่ยงคอยาวมาเป็นจุดขายของจังหวัด เมื่อประสบความสำเร็จมากเข้า จึงได้มีการขยายจำนวนหมู่บ้านจาก 1 ไปเป็น 3 หมู่บ้านในปี 1999 (หน้า 18-19)
 
          นักวิชาการเชื่อว่าบรรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงนั้นมาจากประเทศมองโกเลียในช่วง 1600 ปีก่อนคริสตศักราช และมีการอพยพลงมาเรื่อยๆ ทางลุ่มแม่น้ำอิระวดีจนถึงสถานที่อยู่ในปัจจุบัน สำหรับกะเหรี่ยงในประเทศไทยนั้นเพิ่งเริ่มมีขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาเนื่องจากความไม่สงบในประเทศพม่า (หน้า 44)
 
          ปี ค.ศ. 1983 ได้มีครอบครัวชาวคะยันอพยพมาจากหมู่บ้าน Lay Mileรัฐ กะเรนนี(Karenni) และได้เริ่มตั้งถิ่นฐานในค่าย Huay Pu Long ทางชายแดนฝั่งประเทศพม่า ตรงข้ามกับหมู่บ้านน้ำเพียงดินของไทย ทำให้มีไกด์ส่วนหนึ่งพานักท่องเที่ยวข้ามฝั่งไปเที่ยวที่หมู่บ้าน แต่เป็นไปแบบไม่เป็นทางการ คือไม่มีการเก็บค่าเข้า แต่เป็นการไปเพื่อถ่ายรูปและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นหลัก ต่อมาได้มีผู้ให้บริการทัวร์ทำการย้ายชาวคะยันให้เข้ามาใกล้กับประเทศไทยมากขึ้น
 
          ในปีค.ศ. 1984 จึงมีชาวคะยันกลุ่มแรกที่อพยพมายังแถบชายแดนใกล้กับแม่ฮ่องสอนเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ต่อมาได้มีการเจรจากับกลุ่ม KNPP เพื่อขอให้อพยพชาวคะยันข้ามมายังหมู่บ้านน้ำเพียงดินของไทย เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 
 
          ในปีค.ศ. 1986 ในตอนแรก เก็บค่าเข้าหมู่บ้านหัวละ 300 บาทสำหรับชาวต่างชาติ 50 บาทสำหรับคนไทยและมีทหาร KNPP เป็นผู้เฝ้าประตู
 
          ในช่วงปีค.ศ. 1988 ชาวคะยันได้มีการอพยพข้ามมายังฝั่งไทยเนื่องจากความรุนแรงทางการเมืองภายในประเทศพม่า ทำให้ทหารไทยมีมาตรการที่คุมเข้มการข้ามชายแดนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพิ่มขึ้น (หน้า 46-49)
 
          ชาวกะเหรี่ยงไม่มีความรู้เกี่ยวกับบ้านเกิดหรือประวัติศาสตร์ของตน เนื่องจากไม่มีการจดบันทึกประเพณีในรูปแบบลายลักษณ์อักษรทำให้มีการถ่ายทอดกันผ่านการบอกเล่าเท่านั้น รวมกับเหตุผลเรื่องเวลาว่างที่น้อยเพราะขยันทำการเกษตร ทำให้ต้นกำเนิดของวัฒนธรรมนี้ที่แท้จริงได้สูญหายไป (หน้า 84,92)

Settlement Pattern

          ห้วยปูแกง ตั้งอยู่ห่างจากชายแดน 4 กิโลเมตรเข้ามาทางฝั่งไทย โดยเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแห่งแรกของชาวกะเหรี่ยงคอยาว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปาย สามารถเข้าถึงหมู่บ้านด้วยทางเรือเท่านั้น การตั้งบ้านเรือนนั้นเป็นไปตามแบบดั้งเดิมเนื่องจากไม่มีทหารหรือนักธุรกิจไทยเข้ามาควบคุมตอนตั้งหมู่บ้าน บ้านของแต่ละชนกลุ่มน้อยก็จะกระจุกอยู่ใกล้ๆ กัน แต่มีการเข้าร่วมกิจกรรมของชนกลุ่มอื่นๆ ที่จัดขึ้นภายในหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้านมีโบสถ์ 2 หลัง บ้านแห่งจิตวิญญาณตามความเชื่อดั้งเดิม และศาลเจ้าแบบศาสนาพุทธ มีโรงเรียนซึ่งมีอาสาสมัครชาวต่างประเทศมาสอนอยู่เป็นจำนวนมาก (หน้า 49-51)
          เปรียบเทียบระหว่าง 3 หมู่บ้าน  ห้วยปูแกงมีอาณาเขตมากที่สุดทำให้เป็นสถานที่จัดการประชุมระหว่างชาวคะยัน 3 หมู่บ้านและกิจกรรมที่จัดขึ้นร่วมกัน และเนื่องจากการที่อยู่ห่างจากที่ตั้งของหมู่บ้านคนไทยและไทใหญ่ ทำให้ห้วยปูแกงเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเดียวที่ไม่มีการทับซ้อนและแข่งขันกันในเรื่องของทรัพยากรและที่ดิน (หน้า 52)
 
          บ้านในสอยตั้งอยู่ 13 กิโลเมตรทางทิศเหนือของบ้านน้ำเพียงดิน มีผู้อพยพมาอาศัยอยู่จำนวนมากแต่พบว่ามีการย้ายถิ่นฐานบ่อยเนื่องจากเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ต่อมาได้มีการตั้งค่ายผู้อพยพลงในพื้นที่ซึ่งค่าย 6 นั้นเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวคะยันและหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวในปัจจุบัน (หน้า 55)
 
          ถนนที่เข้าสู่บ้านในสอยนั้นในช่วง 300 เมตรสุดท้ายก่อนถึงตัวหมู่บ้าน ยังคงสภาพเป็นถนนลูกรังและเป็นหลุมบ่อ ก่อนทางเจ้ามีจุดตรวจและกระท่อมไม้ไผ่ ภายในหมู่บ้านมีร้านค้าขนาดเล็ก ป้ายต้อนรับ และป้อมประจำการของทหารอาสาสมัคร ตัวหมู่บ้านท่องเที่ยวนั้นตั้งอยู่ระหว่างค่ายผู้อพยพกับหน่วยงานทหาร (หน้า 60)
 
          ห้วยเสือเฒ่าเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองแม่ฮ่องสอน มีการจัดวางแผนผังหมู่บ้านเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเป็นหลักและง่ายต่อการจัดการของผู้ดูแลมากกว่าจะจัดตามแบบปฏิบัติดั้งเดิม โดยจัดเป็นวงกลมเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินตามและชมได้รอบบหมู่บ้าน (หน้า 65)

Demography

         ชาวคะยันส่วนใหญ่ในประเทศไทย เกิดในรัฐคะยา ประเทศพม่าและเพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีประชากรอาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 300 คนซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในประเทศพม่า (หน้า 2)

          ประชากรกะเหรี่ยงทั้งหมดมีประมาณ 3-4ล้านคน กระจัดกระจายอยู่ในภาคตะวันออกของพม่าและอีก 200,000 คนอาศัยอยู่ทางตะวันตกของประเทศไทย มีผู้ที่อยู่ในกลุ่มย่อยคะยันทั้งหมด 90,000 คนและภายในจำนวนนี้ ประมาณ 9,000 คนเป็นชาวกะเหรี่ยงคอยาว (หน้า 43)
 
         ในช่วงปีค.ศ. 1988 ได้มีการลุกฮือของนักศึกษาในย่างกุ้งเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าซึ่งต่อมาได้บานปลายไปทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลทหารพม่าเพิ่มความเข้มงวดในการปกครองชนเผ่าชายขอบมากขึ้น เช่นการใช้กำลังบุกเข้ามาในพื้นที่ กวาดต้อนผู้ชาย และข่มขืนทารุณผู้หญิง ชาวบ้านจึงหนีข้ามพรมแดนเข้ามายังฝั่งไทย เนื่องจากในช่วงนั้น ไม่มีการตรวจตราที่เข้มงวด ทำให้มีการอพยพข้ามมาเป็นจำนวนมาก ชาวคะยันส่วนใหญ่ที่อาศัยในหมู่บ้านท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและค่ายอพยพนั้นมาจาก 1 ใน 9 หมู่บ้านของเมือง Shadau รัฐ Karenni โดยเฉพาะหมู่บ้าน Rwan Khu และ Daw Kee ในช่วงที่มีการอพยพมานั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงที่ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกำลังเฟื่องฟู ดังนั้นเมื่อมีครอบครัวชาวคะยันอพยพเข้ามาจากหมู่บ้าน Lay Mile รัฐ Karenni ประเทศพม่าในปีค.ศ. 1983 และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณค่าย Huay Pu Long ทางฝั่งพม่า มัคคุเทศก์ชาวไทยจึงมีการพากลุ่มนักท่องเที่ยงทั้งไทยและต่างชาติข้ามพรมแดนไปเพื่อดูชาวคะยันในหมู่บ้าน แต่ก็ยังเป็นธุรกิจแบบไม่เป็นทางการ คือไม่มีการเก็บค่าเข้าหมู่บ้านและไม่มีการขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่า ต่อมาเนื่องจากระยะทางที่ค่อนข้างไกลในการเดินทางทำให้ผู้ให้บริการทัวร์ย้ายชาวคะยันให้เข้ามาใกล้ชายแดนทางฝั่งประเทศไทยมากขึ้น 
 
          ในปีค.ศ. 1984 จึงมีการนำครอบครัวชาวคะยัน 3 ครอบครัวจากหมู่บ้านในเมือง Demawso มายังเขตชายแดนใกล้แม่ฮ่องสอน โดยอยู่ในความดูแลของ KNPP และปีค.ศ. 1986มีการตกลงกับ KNPP เพื่อขอย้ายชาวคะยันข้ามพรมแดนมายังหมู่บ้านน้ำเพียงดิน ซึ่งมองว่าเป็นการอพยพมายังพื้นที่ปลอดภัยมากกว่าการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องข้ามพรมแดน KNPP ได้ให้สัญญากับชาวบ้านว่าเป็นการย้ายเพื่อรักษาวัฒนธรรมและประเพณี และจะมีการดูแลทั้งอาหาร ความปลอดภัยและการเดินทางให้ เมื่ออพยพมาแล้ว ก็มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมโดยเก็บค่าเข้า 300 บาทสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและ 50 บาทสำหรับคนไทย การท่องเที่ยวในลักษณะนี้เฟื่องฟูมากในปีค.ศ. 1987 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เลือกวัฒนธรรมและความหลากหลายของชนเผ่ามาเป็นจุดสนใจให้กับการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยเฉพาะชาวคะยัน ประกอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฝั่งพม่า ทำให้มีชาวคะยันอพยพมายังบ้านน้ำเพียงดินและหมู่บ้าน Nupa Ah จำนวนมาก ต่อมามีการอพยพของชาวพม่าเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แถบชายแดนค่อนข้างวุ่นวาย จึงมีผู้อพยพจำนวนหนึ่งเดิน ทางเข้ามาลึกขึ้น และตั้งหมู่บ้านขึ้นถาวรที่หมู่บ้าน ห้วยปูแก ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านแรกของกะเหรี่ยงคอยาวที่ใช้เพื่อการท่องเที่ยวในฝั่งประเทศไทย 

          ภายในห้วยปูแกงประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยย่อยๆ 5 กลุ่มคือคะยัน คะยอ กะเหรี่ยงแดง กะเหรี่ยงขาวและไทใหญ่ โดยชาวคะยันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้าน ห้วยปูแกงมีประชากรทั้งหมด 44 ครัวเรือน 202 คน ต่อมาประชากรผู้อพยพมีมากขึ้น จึงได้มีการตั้งค่ายผู้อพยพ บ้านในสอย และหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าขึ้นมาเพิ่มเติมตามลำดับ (หน้า 46-51)

         ชาวคะยันในยุคก่อนอาณานิคมและสมัยอาณานิคมในพม่านั้นไม่มีคนกลุ่มอื่นเข้ามาก้าวก่ายในเรื่องการปกครองของเผ่า และแทบจะไม่มีใครที่เดินทางออกนอกเผ่าเลย (หน้า 94)

Economy

          ชาวคะยันได้รับการสนับสนุนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบชนเผ่ามากกว่าชนกลุ่มน้อยใดๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย (หน้า 2)

          ชาวคะยันอาศัยช่องทางจากความต้องการผู้หญิงกะเหรี่ยงคอยาวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นส่วนในการยกระดับสิทธิของตน (หน้า 6)
 
          ผู้หญิงกะเหรี่ยงคอยาวบางคนใช้ความเป็นจุดสนใจของสาธารณะในการต่อรองเพื่อสิทธิและเสรีภาพที่มากขึ้นสำหรับตัวเอง ทั้งในแง่ของการตัดสินใจใส่ห่วง หรือการตัดสินใจถอดห่วงออก โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นยุคใหม่ที่มองว่าห่วงทองเหลืองเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะมองว่าเป็นเรื่องของศาสนาและความเชื่อ (หน้า 29)
 
          การใส่ห่วงทองเหลืองนั้นเป็นการเพิ่มเงินเดือนที่ได้รับ คือจะได้รับเพิ่มอีก 1,500 บาทต่อคน แต่คนอื่นซึ่งไม่ได้ใส่ห่วงทองเหลืองนั้นจะไม่ได้รับเงินเพิ่มเติมนี้ (หน้า 30)

          ชีวิตของคะยันในแม่ฮ่องสอนประกอบด้วยการนั่งและรอนักท่องเที่ยวที่จะมายังหมู่บ้าน พูดคุยและร้องเพลง ผู้ที่อาศัยในค่ายอพยพนั้นก็ต้องรอเช่นกันโดยไม่สามารถออกไปทำงานอย่างถูกกฎหมายได้ (หน้า 41)

          สำหรับห้วยปูแกงนั้นไม่มีการเก็บค่าเข้าหมู่บ้าน แต่ว่าในการเข้าถึงหมู่บ้านนั้นจำเป็นจะต้องนั่งเรือหางยาวเข้าไป ซึ่งเก็บค่าโดยสารครั้งละ 500 บาทจากหมู่บ้าน Huay Deua เงินที่ได้นี้จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายให้กับผู้หญิงกะเหรี่ยงคอยาวภายในหมู่บ้านละผู้ให้บริการเรือ แต่ส่วนใหญ่จะแบ่งกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น นักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องการนั่งเรือสามารถเดินทางด้วยรถยนต์เข้าไป 6 กิโลเมตรบนถนนลูกรัง และนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำ ซึ่งเก็บค่าบริการครั้งละ 10-20 บาท ภายในหมู่บ้านมีบ้านพักแบบบังกะโลให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างคืน ซึ่งมาจากนโยบายของผู้ปกครองชุดก่อนที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านใน ห้วยปูแกงให้พร้อมสำหรับการอพยพของชาวบ้านจากห้วยเสือเฒ่าและบ้านในสอย(หน้า 51,53)
 
          ในห้วยเสือเฒ่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่สวมห่วงทองเหลืองจะได้รับเงินเพิ่มเติมคนละ 1,500 บาทต่อเดือน แต่ละบ้านจะได้รับแจกข้าว 4 ถุง น้ำมัน 2 ขวดและน้ำปลา 2ขวดในแต่ละเดือน เงืนที่ได้จากการขายสินค้าที่ระลึกจะนำมารวมกับค่าเข้าหมู่บ้านมาซื้ออาหารและเงินเดือนเหล่านี้ ส่วนที่เหลือจะถูกแบ่งกันระหว่างหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าธุรกิจและนักลงทุน (หน้า 63-64)
 
          ในการที่จะทำให้นักท่องเที่ยวสนใจและเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านของตนนั้น ชาวกะเหรี่ยงคอยาวจะต้องอาศัยอยู่ในแบบดั้งเดิมและล้าหลัง มีการนำของใช้ที่ทันสมัยไปซ่อน เช่น โทรทัศน์ รถจักรยานยนต์ ตู้เย็นเป็นต้น ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้ไม่ได้มีแต่เพียงชาวบ้านที่เป็นผู้กำหนด แต่ยังรวมไปถึงหน่วยงานท้องถิ่น เช่นการปล่อยถนนให้อยู่ในสภาพยากลำบากต่อการเดินทาง และนักธุรกิจอีกด้วย (หน้า 70-71)

          ชาวคะยันในพม่านั้นมีอาชีพเป็นชาวนา มีการทำการเกษตรแบบสับเปลี่ยน โดยมีข้าวเป็นพืชหลัก ชาวบ้านทั้งชายและหญิงต่างก็มีส่วนในการหว่านไถและเก็บเกี่ยว ลงบนที่ดินที่ชนเผ่าอื่นไม่อยู่อาศัยแล้วหรือไม่สามารถเพาะปลูกได้ แต่เมื่ออพยพมายังประเทศไทย ผู้อพยพไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เพราะที่ตั้งของค่ายอพยพส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านอาจทำการเพาะปลูกได้เล็กน้อย เช่นการปลูกถั่วเขียว สับประรด เป็นต้น  เพื่อใช้รับประทานในครอบครัว นอกเหนือจากอาหารที่ได้รับแจกมา  แต่ไม่สามารถเพาะปลูกอย่างเดียวเพื่อให้พอต่อการดำรงชีวิตได้ ทำให้วัฒนธรรมการเพาะปลูกเป็นความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในการอพยพมาอาศัยในประเทศไทย (หน้า 72)

          ชาวคะยันในพม่ามีการใช้ผลผลิตจากป่าไม้ในการดำรงชีวิตอย่างมากในหลากหลายด้าน ทั้งด้านการสร้างบ้านเรือน การใช้เป็นยารักษาโรค และอาหาร ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้เป็นสมบัติของส่วนรวมและเนื่องจากการตั้งถิ่นฐานที่กระจัดกระจายทำให้ไม่ค่อยมีการซ้อนทับพื้นที่กัน เมื่ออพยพมายังประเทศไทย ชาวคะยันยังคงใช้ผลผลิตจากป่าในการดำเนินชีวิต เช่นการนำมาทำเป็นอาหาร โดยเฉพาะในบ้านในสอย(หน้า 73-74)

Social Organization

        ในหมู่บ้านท่องเที่ยว ผู้หญิงคะยันจะถูกให้เป็นเหมือนสินค้าโชว์ และจะต้องอยู่ในหมู่บ้านเกือบตลอดเวลาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชม พวกเขาใช้ชีวิตประจำวัน ขายสินค้าและอาศัยอยู่ภายในกระท่อมของตน มีการจำกัดการอกนอกพื้นที่และไม่มีสิทธิในการออกไปท่องเที่ยวเนื่องจากว่าถ้ามีการอพยพออกไป จะทำให้หมู่บ้านไม่มีสินค้าโชว์สำหรับนักท่องเที่ยว ยกเว้นพื้นที่ในเขตของค่ายผู้ลี้ภัยที่สามารถเดินทางหากันได้เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและที่อยู่อาศัย (หน้า 19)
 
          ชาวคะยันในหมู่บ้านท่องเที่ยวได้รับการส่งเสริมให้อาศัยอยู่ด้วยวิถีชีวิตแบบเดิม เพื่อรักษาความสวยงามและความเชื่อถือของนักท่องเที่ยว (หน้า 27)
 
          ก่อนหน้านี้ผู้ชายคะยันจะทำงานหนัก โดยเฉพาะหน้าที่ที่ต้องใช้แรงงาน เช่น การถางไร่ ล่าสัตว์ ตัดฟืนและทำฟาร์ม บางคนสามารถเป็นช่างตีเหล็กได้ มีการติดต่อค้าขายนอกทางไกลนอกหมู่บ้านในขณะที่ผู้หญิงจะมีหน้าที่ช่วยเหลือในฤดูเพาะปลูก และมีหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูก ทำอาหาร ให้อาหารสัตว์ ตักน้ำ และทำงานบ้านอื่นๆ ผู้ชายมีหน้าที่หาอาหารและให้ความปลอดภัยแก่ครอบครัวในขณะที่ผู้หญิงเป็นคนที่ให้ชีวิตภายในครอบครัวดำเนินไป และดูแลสมาชิกผู้ใหญ่ในบ้าน แต่ภายหลังจากที่ย้ายมาอาศัยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ชายได้สูญเสียหน้าที่ที่เคยทำทั้งหมด เพราะไม่สามารถทำการเพาะปลูก ล่าสัตว์และหางานทำอย่างถูกกฎหมายได้ ผู้หญิงกลายเป็นผู้มีบทบาทในการหาเลี้ยงครอบครัว เพราะเป็นผู้ที่ได้รับเงินเพิ่มเติมจากการใส่ห่วงทองเหลืองและสามารถถูกจ้างให้ขายสินค้าที่ระลึกภายในหมู่บ้านได้ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมหลังแต่งงานจากการที่ผู้หญิงย้ายเข้าบ้านผู้ชายเป็นผู้ชายย้ายเข้าสู่บ้านฝ่ายหญิง (หน้า 76-77)
 
         ผู้ชายคะยันในปัจจุบันมักจะเล่นไพ่ เล่นพนันหรือเล่นตะกร้อ มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่ติดแอลกอฮอล์ เพราะว่าไม่มีงานใดๆ ให้ผู้ชายคะยันมีส่วนร่วม ผู้ชายจึงมักจะหลบซ่อนจากนักท่องเที่ยว ผู้ชายบางคนหาช่องทางในการหาเงินโดยการแกะสลักไม้เป็นรูปตุ๊กตากะเหรี่ยงคอยาวให้ภรรยาขายในร้าน (หน้า 78)
 
          ผู้ชายชาวคะยันยังคงมีการติดต่อกับคนรู้จักทั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและในประเทศพม่า หลายคนมีญาติพี่น้องที่เป็นทหารของ KNPP ซึ่งผู้ชายคะยันในประเทศไทยมักจะทำการแบ่งอาหารที่ตนเองได้รับแจกให้กับทหารเหล่านี้ รวมถึงเป็นผู้นำไปให้ เพื่อคงความสัมพันธ์และติดตามข่าวสารระหว่างชายแดน (หน้า 79-80)

          คุณภาพชีวิตของผู้หญิงคะยันโดยรวมแล้วสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากว่าสามารถพูดคุยกับนักท่องเที่ยวได้ และสามารถขายสินค้าได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงคะยันก็ถูกมองในฐานะของวัตถุมากกว่าผู้ชาย ทำหน้าที่เหมือนตุ๊กตาให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชม (หน้า 80)
 
         คะยันสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มย่อยคือ 1. Kayan Ka Khaung (Crane Kayan) 2. Kayan Lahta (Giant Kayan) 3. Kayan Ka Ngan (Vulture Kayan) และ 4. Kayan Lahwi (Dragon Kayan) ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างเชื่อว่าตนนั้นสืบเชื้อสายมาจากเทพเข้าที่รูปร่างคล้ายนกหรือมังกร ดังนั้นจึงมีการแต่งตัวด้วยเครื่องประดับที่แสดงถึงสัตว์ที่พวกตนสืบทอด (หน้า 89)
 
          คะยันเป็นกลุ่มที่มักจะอยู่แยกออกห่างจากกลุ่มอื่น โดยมักอยู่อย่างเดี่ยวๆ บนภูเขาในรัฐ Karenni ทำให้การพัฒนารูปแบบของวัฒนธรรมได้รับผลกระทบจากภายนอกน้อยมาก (หน้า 84)

          ในอดีตผู้ชายชาวคะยันจะได้รับมรดกที่เป็นของที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ ในขณะที่ผู้หญิงจะได้รับเครื่องประดับที่เคลื่อนย้ายได้ (หน้า 91)

          ในประเทศพม่า การใส่ห่วงทองเหลืองที่ทำจากทองคำนั้นเป็นเรื่องในอุดมคติ แต่พวกเขามักจะสามารถจ่ายเงินได้แค่ห่วงที่ทำจากทองเหลืองเท่านั้น โดยการแลกเครื่องเงินอังกฤษกับพ่อค้าเร่ชาวไทใหญ่ ในปัจจุบันก็ยังคงมีการซื้อขายผ่านพ่อค้าไทใหญ่แต่ว่าใช้เงินบาทเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน (หน้า 91)
 
          เนื่องจากการที่ห่วงทองเหลืองเป็นเครื่องแสดงฐานะความมั่นคั่งของครอบครัว ทำให้ห่วงทองเหลืองกลายเป็นสิ่งซึ่งนำมาเป็นส่วนในการกำหนดค่าสินสอดเวลาจะมีการแต่งงาน (หน้า 96)

          ในประเทศไทย การใส่ห่วงทองเหลืองนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น แรงกดดันจากเพื่อนและคนรอบข้าง รวมถึงเงินเพิ่มเติมที่จะได้รับจากการใส่ห่วง (หน้า 96)
 
          เหตุผลในการใส่ห่วงทองเหลืองในปัจจุบันนั้นสวนทางกับเหตุผลที่ใส่ห่วงทองเหลืองในตอนแรก เพราะในอดีต มีการใส่ห่วงทองเหลืองเพื่อกันให้คนนอกเผ่าอยู่ห่างจากตน แต่ในปัจจุบันห่วงทองเหลืองกลับเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม แต่ไม่ว่าอย่างไร ผู้หญิงคะยันก็ยังคงใส่ห่วงทองเหลืองด้วยความภูมิใจและผู้ชายคะยันก็ยังชอบผู้หญิงที่ใส่ห่วงทองเหลืองมากกว่าคนที่ไม่ใส่ (หน้า 98)

Political Organization

          สถานะของชาวคะยันนั้นเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ลี้ภัยกับชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนของประเทศ เนื่องจากไม่ได้รับสัญชาติไทยแต่ได้รับการอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศนอกค่ายผู้ลี้ภัยอย่างถูกกฎหมาย (หน้า 2)
 
          ผู้ลี้ภัยที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่จะไม่ได้ข้ามพรมแดนตามจุดที่ถูกกฎหมาย และจะไม่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายที่จะทำให้สถานะอพยพนั้นถูกต้อง (หน้า 3)
 
          ชาวคะยันที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยนั้นถูกจำกัดขอบเขตในการเดินทางอย่างเข้มงวดมากกว่าผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านท่องเที่ยว (หน้า 5)
 
          ชาวคะยันในหมู่บ้านนักท่องเที่ยวได้รับการอนุญาตทางกฎหมายที่จะถูกจ้างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในขณะที่ผู้ที่อาศัยในค่ายอพยพนั้นสามารถทำงานได้แบบผิดกฎหมาย เช่น การเป็นคนรับใช้ด้วยค่าจ้างจำนวนเล็กน้อย ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายนั้นก็มีโอกาสมากกว่าในการได้รับสิทธิอพยพไปยังประเทศที่ 3 แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้นราวกับว่าต้องอาศัยอยู่ในฐานะของสิ่งของในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยตลอดไป (หน้า 5)
 
          ชาวคะยันไม่อยู่ในสถานะที่จะต่อรองเพื่อขอสิทธิ์ทางการเมืองและอื่นๆ ได้เนื่องจจากว่าตนเองเป็นผู้ขอลี้ภัยในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้เพื่อตั้งธุรกิจการท่องเที่ยว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวคะยันเริ่มเหนื่อยกับการอาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่องเที่ยว และต้องการสิทธิและความภูมิใจในการคงอยู่ของตน ประเทศไทยจึงต้องมีมาตรการในการรับมือเพื่อประคับประคองสถานการณ์ของหมู่บ้านท่องเที่ยว (หน้า 27)
 
          การต่อรองของชาวกะเหรี่ยงคอยาวนั้นทำโดยการเพิ่มหรือลดจำนวนห่วงทองเหลือง เพื่อประท้วงนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของภาครัฐ, รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและบทบาทหน้าที่ของ NGO และ UNHCR (หน้า 33)
 
          ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายที่ 3 ของค่ายผู้อพยพนั้นจะมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยและการเข้าถึงทรัพยากรในป่าได้มากกว่า เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากชายแดนพม่ามากกว่าค่ายอื่นๆ (หน้า 55)
 
          การที่บ้านในสอยนั้นเปลี่ยนจากค่ายผู้อพยพมาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวนั้นทำให้สถานะของทั้ง 3 หมู่บ้านคลุมเครือยิ่งขึ้น (หน้า 61)
 
          ภายในห้วยเสือเฒ่ามีหัวหน้าเป็นผู้ดูแล โดยเป็นผู้หญิงไทยที่ทำหน้าที่ในการเป็นหัวหน้าทางธุรกิจให้กับชาวบ้าน ดูแลการเก็บค่าเข้าหมู่บ้าน แจกจ่ายเงินเดือน และอาหาร ติดต่อกับโรงงานทำของที่ระลึกและการแบ่งขายภายในหมู่บ้าน จากการสังเกต พบว่าการจัดการ ภายในหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่านั้นเป็นในรูปแบบการจัดการบริษัทมากกว่า โดยมีชาวบ้านเป็นลูกจ้าง ที่ถึงแม้ว่าชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าจะถูกเอาเปรียบมากกว่าชาวบ้านในอีก 2 หมู่บ้าน แต่ชาวบ้านที่นี่ได้มีการการันตีว่าจะได้รับเงินค่าใส่ห่วงทองเหลืองทุกเดือน ไม่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากหรือน้อย ในขณะที่อีก 2 หมู่บ้านไม่แน่นอน การที่หมู่บ้านอยู่ในรูปแบบของธุรกิจมากกว่าหมู่บ้านทำให้นักข่าวและนักสิทธิมนุษยชนมองว่า บ้านห้วยเสือเฒ่าเปรียบเสมือนสวนสัตว์มนุษย์ที่เปิดให้เข้าชม แต่นักเคลื่อนไหวเหล่านี้มักมองข้ามสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นรายได้ที่แน่นอน ความปลอดภัยที่ได้รับ เป็นต้น ที่ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการปกครองด้วยตนเองภายในหมู่บ้านมาเป็นการจัดการแบบธุรกิจ (หน้า 66-67)
          ในประเทศไทย ชาวคะยันไม่มีสิทธิในการใช้ป่าโดยรอบที่พัก โดยชาวคะยันในค่ายอพยพนั้นถูกจำกัดสิทธิและเข้าถึงป่าไม้ได้น้อยมาก และชาวคะยันในหมู่บ้านท่องเที่ยวก็เปรียบเสมือนแขกที่อาศัยอยู่ในชุมชนของเจ้าบ้านทั้งไทยและไทใหญ่  ทำให้ต้องมีการแบ่งสรรทรัพยากรกัน ซึ่งเจ้าบ้านมักจะได้รับสิทธิมากกว่า (หน้า 76)

Belief System

          ชาวกะเหรี่ยงคอยาวส่วนมากก็ไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่นอนของประเพณีการใส่ห่วงทองเหลือง (หน้า 84) จากการศึกษาพบว่าเหตุผลหลักของการใส่ห่วงทองเหลืองคือ 1. การใส่ห่วงทองเหลืองเพื่อปกป้องจากวิญญาณชั่วร้ายภายนอกและ 2. การใส่ห่วงทองเหลืองเพื่อเป็นการแสดงฐานะและความมั่งคั่ง (หน้า 86)
การใส่ห่วงทองเหลืองจึงเป็นการส่งมอบอำนาจจากมังกรมาสู่ผู้หญิงคะยัน ให้สามารถปกครองเรื่องภายในครอบครัวได้ ในอดีตจะมีการถอดห่วงทองเหลืองออกเมื่อตนเองต้องการเกษียน และเมื่อถอดออกนั้นคอของผู้หญิงก็จะเปลี่ยนจากเหมือนมังกรเป็นเหมือนคอของเทพเจ้าที่มีรูปร่างเหมือนนก ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าคะยัน (หน้า 90)
          ชาวคะยันบูชามังกรเพศเมียในฐานะที่เป็นแหล่งที่มาของชีวิต ความมั่งคั่ง ความมั่นคงและความสวยงาม (หน้า 89)
          การใช้แรงงานหนักเพื่อเลี้ยงชีพทำให้ชาวคะยันไม่มีเทศกาลหรืองานเฉลิมฉลองมากนัก มีแต่เพียงงาน Kan Khwan ซึ่งเป็นเทศกาลการเก็บเกี่ยว (หน้า 92)
          เด็กหญิงชาวคะยันไม่มีพิธีหรือเหตุการณ์ใดเพื่อจดจำถึงการเริ่มใส่ห่วงทองเหลืองครั้งแรก ทำให้ไม่มีการระลึกถึงเหตุผลของการใส่ห่วงทองเหลือง (หน้า 93)
          ผู้ชายคะยันมีค่านิยมต่อผู้หญิงคะยันว่าผู้หญิงที่ไม่ใส่ห่วงทองเหลืองจะดูไม่น่าสนใจและแตกต่างจากเพื่อน (หน้า 94)
          ชาวคะยันส่วนมากยึดหลักปฏิบัติของการใส่ห่วงทองเหลืองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชนเผ่าที่ไม่สามารถละเลยหรือไม่ปฏิบัติได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการพลัดถิ่น ทำให้วัฒนธรรมนี้เป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของชนเผ่า (หน้า 95)

Education and Socialization

          ชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านท่องเที่ยวนั้นจะมีแต่กลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่นหูใหญ่ คอยาว ใส่ห่วงที่เข่าเป็นต้น (หน้า 30)
          ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ของหมู่บ้านท่องเที่ยวต่างก็เข้าถึงวัฒนธรรมและแนวความคิดของโลกภายนอกมากขึ้น ทำให้เด็กผู้หญิง ภายหลังจากการอยู่ในหมู่บ้านสักระยะหนึ่งก็ค้นพบว่าในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้ตัวเองมากขึ้น พวกเขาต้องถอดห่วงทองเหลืองซึ่งเคยเป็นเครื่องมือให้สามารถอยู่นอกประเทศของตนได้ และในการถอดห่วงทองเหลืองนั้นทำให้คนกลุ่มนี้ต้องอยู่ระหว่าง 2 สังคมคือสังคมใหม่ที่ต้องการจะออกไป กับสังคมเก่าของตนที่ผู้ใหญ่ในชุมชน มองว่าเป็นคนทำลายเกียรติของชาวคะยัน  ดังนั้นกลุ่มผู้หญิงที่ตัดสินใจถอดห่วงทองเหลืองเพื่อให้สามารถอพยพไปยังที่อื่นได้นั้น จะต้องมีการแยกตัวออกจากสังคมก่อน (หน้า 30)
          เนื่องจากผู้อพยพไม่ได้รับครูและอาจารย์จากกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีการจัดตั้งโรงเรียนของตนเองและมีชาวคะยันเป็นครูสอนภายในบ้านในสอย  ในขณะที่เด็กใน ห้วยเสือเฒ่าจะถูกส่งเข้าโรงเรียนของไทย แต่ถึงแม้ว่าผู้ปกครองจะไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนและสามารถไปโรงเรียนได้อย่างสะดวก  เด็กส่วนมากโดยเฉพาะเด็กหญิงที่สวมห่วงทองเหลืองรู้สึกไม่สามารถเข้ากับที่โรงเรียนได้ และมักจะลาออกเมื่อเรียนไปไม่กี่ปี และกลับมาช่วยพ่อแม่ขายของที่ระลึกแทน (หน้า 64)
          เด็กผู้ชายรุ่นใหม่มีการฝ่าฝืนข้อแนะนำที่จะให้อยู่ห่างจากนักท่องเที่ยว โดยเข้าไปพูดคุยกับนักท่องเที่ยวเพื่อจะฝึกภาษาอังกฤษ ในขณะที่ผู้ใหญ่จะทำหน้าที่เน้นไปทางการรักษาขนบธรรมเนียมของชนเผ่า โดยเฉพาะบางคนที่กลัวว่าการที่อพยพมายังประเทศไทยจะทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้สูญหายไป (หน้า 78)

Health and Medicine

          ภายในห้วยปูแกง ไม่มีคลินิกหรือสถานีอนามัย ทำให้การรักษาแบบท้องถิ่นนั้นจัดขึ้นในบ้านแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งมีอุปกรณ์ทำแผลเบื้องต้น (หน้า 51)
          ในการรักษาแบบท้องถิ่น จะต้องมีการผสมสมุนไพรเฉพาะเข้ากับพืชชนิดอื่นโดยหมอทางจิตวิญญาณ แต่เมื่ออพยพมายังประเทศไทย พบว่าการรักษาด้วยวิธีแบบดั้งเดิมลดลงเนื่องจากความแตกต่างทางชีวภาพที่ระหว่างพม่ากับแม่ฮ่องสอน การสูญหายของความรู้ระหว่างการอพยพ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสมัยใหม่ (หน้า 73)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

         ชาวคะยันที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยเฉพาะผู้หญิงจะถูกบังคับให้ใส่ชุดพื้นเมืองของตนเองตลอดเวลา (หน้า 5)
         ชาวคะยันได้เป็นส่วนหนึ่งของชุดการแสดงทางวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นในประเทศ (หน้า 26)
         ห่วงทองเหลืองนั้นเป็นสัญลักษณ์ในหลายแง่ คือในทางการท่องเที่ยว ห่วงจะแสดงถึงความแปลกของชนกลุ่มน้อย และสัญลักษณ์ของผู้หญิงคะยัน สำหรับผู้หญิงคะยันเองห่วงเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนตน และความหมายของการคงอยู่ของชาวบ้านคนอื่น องค์การปกครองส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ซึ่งทำให้ห่วงนี้กลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมหรือโน้มน้าวชาวคะยันให้เปลี่ยนแนวคิดจากแบบดั้งเดิม ทำให้อยู่ในความควบคุมและไม่สามารถเอาออกได้ง่ายทั้งในแง่ของทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเอกลักษณ์ของผู้หญิง (หน้า 28)
         ผู้หญิงกะเหรี่ยงคอยาวส่วนมากเชื่อว่าการใส่ห่วงทองเหลืองเป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่ไม่มีใครอธิบายถึงสาเหตุได้ว่าทำไมต้องใส่ ห่วงทองเหลืองจึงเหมือนสิ่งที่แยกผู้หญิงกะเหรี่ยงคอยาวออกจากชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ โดยเพาะเมื่ออาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่องเที่ยวนานขึ้นเรื่อยๆ ผู้หญิงบางคนมองห่วงทองเหลืองว่าเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ที่ต้องทำในการอาศัยอยู่นอกค่ายอพยพ เพราะเหตุผลดั้งเดิมนั้นกำลังค่อยๆ เลือนหายไปในสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านท่องเที่ยว (หน้า 28)
          บ้านของชาวกะเหรี่ยงจะสร้างขึ้นมากวัสดุที่หาได้ในป่า เช่น ท่อนไม้ ไม้ไผ่ หญ้ามุงหลังคาเป็นต้น โดยจะเป็นบ้านที่ยกพื้นสูงด้วยเสา 4 ต้น แต่ในประเทศไทย การสร้างบ้านแบบนี้นั้นผิดกฎหมายป่าไม้ เพราะมีการห้ามตัดต้นไม้ มีการอนุญาตให้ใช้ท่อนไม้ในการก่อสร้างได้น้อยลง แต่ยังสามารถเข้าป่าเพื่อเก็บฟืนมาใช้ในการประกอบอาหารได้ (หน้า 73)
          ชาวกะเหรี่ยงไม่ว่ากลุ่มย่อยใดๆ ต่างก็มีชื่อเสียงในการทอผ้า   โครงการตามแนวพระราชดำริจึงได้มีการให้ความสนับสนุนการรักษาและส่งเสริมสินค้าหัตถกรรมของชาวเขา ทำให้ผู้หญิงชาวคะยันมีการทอผ้าพันคอและผ้าห่มคุณภาพดีออกมาเป็นสินค้าวางขาย (หน้า 76)
          ผู้ชายชาวคะยันชอบเล่นดนตรีโดยเฉพาะกีตาร์ และมักจะได้ยินเสียงร้องเพลงอยู่เสมอ (หน้า 78) เด็กหญิงชาวคะยันจะเริ่มลองใส่ห่วงทองเหลืองครั้งแรกเมื่ออายุ 4-5 ปี ในช่วงแรกที่ใส่เด็กจะรู้สึกเจ็บและหนักจนอาจถึงขั้นนอนไม่หลับเวลากลางคืน ความยาวของห่วงจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่ออายุระหว่าง 5-10 ปีและจะมีการเพิ่มความยาวเรื่อยๆ จนถึง 16 นิ้ว และมีผู้หญิงบางคนที่สวมใส่ห่วงที่สูงกว่านั้น การเริ่มใส่ห่วงนั้นขึ้นกับความสะดวกของผู้ใส่และผู้ทำห่วง
ในพม่าจะมีการตกลงกันในตอนเช้าก่อนที่จะออกไปทำไร่ เพื่อจะได้กลับมาใส่ห่วงทองเหลืองในตอนเย็น มีข้อห้ามใส่หรือทำห่วงใหม่ในช่วงที่มีประจำเดือนเพราะถือว่าเป็นช่วงที่ไม่สะอาด โดยปกติแล้วแต่ละหมู่บ้านจะมีช่างทำห่วงทองเหลืองประมาณ 2 คนแต่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ทั้ง 3 หมู่บ้านมีผู้ทำห่วงทองเหลืองเพียงคนเดียวโดยอาศัยอยู่ในห้วยปูแกง(หน้า 82)
          ผู้หญิงที่ใส่ห่วงทองเหลืองนั้นจะใส่ห่วงทองเหลืองตลอดเวลาไม่ว่าจะทำงานหรือหน้าที่ใดๆ คนภายนอกมักมองว่าถ้ามีการถอดห่วงทองเหลืองแล้วผู้หญิงเหล่านี้อาจจะไม่สามารถตั้งคอได้ตรงเป็นปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงเหล่านี้มีการบริหารกล้ามเนื้อคออยู่ตลอดเวลาทำให้ไม่มีปัญหาในการตั้งคอแม้จะต้องถอดห่วงออก แต่การใส่ห่วงดังกล่าวจะทำให้เกิดรอยบริเวณคอ ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้จึงมีการนำผ้ามายัดไว้ตามช่องว่างของห่วงเพื่อลดการเสียดสีระหว่างห่วงและผิวหนัง และป้องกันความร้อนที่แผ่ออกมาจากโลหะในฤดูร้อน  (หน้า 82-83)
 

Folklore

          มีตำนานเล่าว่าห่วงทองเหลืองเกิดจากความต้องการที่จะปกป้องผู้หญิงคะยันจากผู้บุกรุกภายนอก มีเรื่องเล่าหนึ่งที่กล่าวว่าในสมัยก่อนผู้หญิงคะยันนั้นชอบหว่านเสน่ห์ใส่ชาวไทใหญ่ที่มายังหมู่บ้าน และหนีออกไปจากหมู่บ้านด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ หัวหน้าผู้บ้านจึงสั่งให้ใส่ห่วงทองเหลืองไว้รอบคอเพื่อที่ว่าเมื่อมีประจำเดือน ผู้หญิงเหล่านี้จะได้ไม่สามารถก้มมองได้ว่าประจำเดือนของตนหมดเมื่อไหร่ ทำให้ไม่ไปหว่านเสน่ห์ใส่คนอื่นอีก นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่สรุปใจความได้ว่ามีการใส่ห่วงทองเหลืองเพื่อป้องกันผู้หญิงจากการกดขี่ทางเพศและจากการบุกรุกของชนเผ่าอื่น ห่วงทองเหลืองจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อทำให้ผู้บุกรุกตกใจกลัวและมองว่าเป็นสิ่งแปลกประหลาดทำให้ผู้บุกรุกไม่กล้ายุ่งด้วย และยังเป็นเครื่องมือที่กระชับความสัมพันธ์ภายในชนเผ่าเอง (หน้า 86-89)
 
          มีเรื่องเล่าว่าในสมัยก่อนชาวคะยันไม่มีกฎและอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันของมีค่าหาย จึงได้มีการหลอมเอาเงินและทองมาเป็นสร้อยคอ และเครื่องประดับต่างๆ ให้ลูกสาวของตนใส่ ผู้หญิงคะยันในอดีตจึงเป็นเหมือนตู้เซฟเก็บของมีค่า และเนื่องจากว่าในอดีตห่วงเหล่านี้ทำมาจากทองคำจริง คะยันจึงเชื่อว่าผู้หญิงคอยิ่งยาวเท่าไหร่ก็จะร่ำรวยมากเท่านั้น (หน้า 90)

          ชาวคะยันในปัจจุบันรู้เรื่องตำนานการใส่ห่วงทองเหลืองผ่านเพลงและนิทานแต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากเพราะไม่มีความสำคัญในการดำรงชีวิต (หน้า 91)

          เด็กหญิงชาวคะยันจะเริ่มลองใส่ห่วงทองเหลืองครั้งแรกเมื่ออายุ 4-5 ปี ในช่วงแรกที่ใส่เด็กจะรู้สึกเจ็บและหนักจนอาจถึงขั้นนอนไม่หลับเวลากลางคืน ความยาวของห่วงจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่ออายุระหว่าง 5-10 ปีและจะมีการเพิ่มความยาวเรื่อยๆ จนถึง 16 นิ้ว และมีผู้หญิงบางคนที่สวมใส่ห่วงที่สูงกว่านั้น การเริ่มใส่ห่วงนั้นขึ้นกับความสะดวกของผู้ใส่และผู้ทำห่วง
          ในพม่าจะมีการตกลงกันในตอนเช้าก่อนที่จะออกไปทำไร่ เพื่อจะได้กลับมาใส่ห่วงทองเหลืองในตอนเย็น มีข้อห้ามใส่หรือทำห่วงใหม่ในช่วงที่มีประจำเดือนเพราะถือว่าเป็นช่วงที่ไม่สะอาด โดยปกติแล้วแต่ละหมู่บ้านจะมีช่างทำห่วงทองเหลืองประมาณ 2 คนแต่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ทั้ง 3 หมู่บ้านมีผู้ทำห่วงทองเหลืองเพียงคนเดียวโดยอาศัยอยู่ในห้วยปูแกง(หน้า 82)
 
          ผู้หญิงที่ใส่ห่วงทองเหลืองนั้นจะใส่ห่วงทองเหลืองตลอดเวลาไม่ว่าจะทำงานหรือหน้าที่ใดๆ คนภายนอกมักมองว่าถ้ามีการถอดห่วงทองเหลืองแล้วผู้หญิงเหล่านี้อาจจะไม่สามารถตั้งคอได้ตรงเป็นปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงเหล่านี้มีการบริหารกล้ามเนื้อคออยู่ตลอดเวลาทำให้ไม่มีปัญหาในการตั้งคอแม้จะต้องถอดห่วงออก แต่การใส่ห่วงดังกล่าวจะทำให้เกิดรอยบริเวณคอ ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้จึงมีการนำผ้ามายัดไว้ตามช่องว่างของห่วงเพื่อลดการเสียดสีระหว่างห่วงและผิวหนัง และป้องกันความร้อนที่แผ่ออกมาจากโลหะในฤดูร้อน  (หน้า 82-83)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          ภาพของกะเหรี่ยงคอยาวถูกนำไปใข้ในการโฆษณาสินค้าจำนวนมาก (หน้า 2) นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ทหารและนักการเมืองของไทยต่างใช้โอกาสที่ชาวกะเหรี่ยงคอยาวอพยพเข้ามาในประเทศ เปิดโอกาสให้กับธุรกิจหรือการพัฒนาทางการเมืองของตนเอง (หน้า 4) ค่ายผู้ลี้ภัยของไทยนั้นเหมือนแหล่งหลบภัยชั้นเยี่ยมสำหรับผู้ที่อพยพมาจากการต่อสู้ในประเทศพม่า (หน้า 16) การถอดห่วงทองเหลืองออกทำให้ผู้หญิงกะเหรี่ยงคอยาวไม่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมาย และไม่ถูกมองว่าแปลกจากคนทั่วไป (หน้า 30) ผู้อพยพชาวคะยันและผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้อพยพ หรือคนต่างด้าว และได้รับสิทธิน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ที่ถือสัญชาติไทย (หน้า 33)
          โดยปกติแล้วไกด์นำเที่ยวมักจะไม่อธิบายถึงสถานะที่ซับซ้อนของชาวกะเหรี่ยงคอยาวให้กับนักท่องเที่ยวฟัง (หน้า 58)
          ภายในหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่ามีกลุ่มชาว Karenni อาศัยอยู่ด้วย แต่มีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนจากกะเหรี่ยงคอยาวเนื่องจากชนเผ่า ภาษาที่แตกต่างกัน และการที่ Karenni ไม่ได้รับเงิน 1,500 บาทเพราะไม่ได้ใส่ห่วงทองเหลือง ทำให้มีรายได้ต่อครัวเรือนน้อย จึงมีชาว Karenni บางคนที่ลงทุนใส่ห่วงทองเหลือง แต่งงานกันชาวคะยันเพื่อเริ่มใส่ห่วงตามธรรมเนียมเพื่อให้ได้รับเงินก้อนนี้ (หน้า 65)

Social Cultural and Identity Change

          การถอดห่วงทองเหลืองออกของเด็กรุ่นใหม่นั้นเป็นการกระทำเพื่อต่อรองทางการเมือง (หน้า 30)
          การอพยพมายังประเทศไทยนั้นทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงผลผลิตจากป่า ชาวบ้านมีการอาศัยป่าไม้มากขึ้นโดยเฉพาะในค่ายอพยพ เพราะอาหารที่ได้รับแจกในแต่ละเดือนนั้นไม่แน่นอน การหาอาหารจากป่าจึงเป็นช่องทางหลักในการหาอาหารเลี้ยงครอบครัว ในขณะเดียวกัน การอพยพมายังประเทศไทยก็ทำให้ความรู้และการปฏิบัติการรักษาแบบดั้งเดิมและการนำไม้มาสร้างบ้านนั้นลดลง (หน้า 75)
 
          การที่ผู้ชายคะยันไม่สามารถทำงานได้เหมือนตอนที่อยู่พม่านั้นทำให้รู้สึกว่าคุณค่าและประโยชน์ของตัวเองลดลง (หน้า 77)
 
          ชาวคะยันในหมู่บ้านท่องเที่ยวเหล่านี้ส่วนมากอยู่มาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้หญิงเคยชินกับการพูดคุยกับแขกที่มาเข้าชมหมู่บ้านในขณะที่ผู้ชายก็เคยชินกับการอยู่ห่างๆ จากสายตาของนักท่องเที่ยวเช่นกัน (หน้า 80)
 
          มีความเปลี่ยนแปลงในทางด้านบทบาทของเพศและการแปลความหมายจากตำนานและเรื่องเล่าถึงที่มาของห่วงทองเหลือง (หน้า 81)
 
          มีคนหลายกลุ่มที่ต้องการให้มีการปรับปรุงความเชื่อดั้งเดิมของการใส่ห่วงทองเหลืองนี้เพื่อปรับให้เข้ากับสถานที่อยู่ใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวคะยันในประเทศไทยมีการนำวัฒนธรรมนี้กลับมาปฏิบัติอย่างเข้มงวดในขณะที่ในพม่ามีการปฏิบัติน้อยลงอย่างมาก (หน้า 95)

Other Issues

          ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่รองรับผู้อพยพจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็น 1 ในไม่กี่ประเทศที่ไม่ได้ลงนามใน 1951 United Nations Convention Relating to the Status of Refugees ทำให้ไม่อยู่ในสถานะให้การรับรองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยหรือให้ความดูแลผู้ลี้ภัยตามมาตรฐานของ UNHCR (หน้า 4)
 
          ข้อมูลเกี่ยวกับชาวคะยันนั้นมีอยู่น้อยมากในเอกสารทางวิชาการ ส่วนมากที่พบมักจะมาจากหนังสือที่จัดพิมพ์เอง หรือเอกสารที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ มีข้อมูลที่กล่าวถึงชาวคะยันทั้งในค่ายอพยพและหมู่บ้านน้อยมาก (หน้า 6)
 
          การที่มีการตั้งค่ายผู้ลี้ภัยนั้นเป็นการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้แม้จะผิดกฎหมาย (หน้า 17)
 
          การท่องเที่ยวแบบชนเผ่าโดยเฉพาะกะเหรี่ยงคอยาวนี้ถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้แม่ฮ่องสอนกลายเป็นจังหวัดที่อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้เมื่อจังหวัดอื่นเริ่มเปิดหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยมีชาวกะเหรี่ยงคอยาวเช่นกัน แม่ฮ่องสอนจึงได้รับผลกระทบและออกมาเรียกร้องว่ากะเหรี่ยงคอยาวถือเป็นตัวแทนของคนแม่ฮ่องสอน (หน้า 26)

Map/Illustration

1. รูปภาพแสดงโปสการ์ดที่มีรูปของกะเหรี่ยงคอยาว จังหวัดแม่ฮ่องสอน
2. แผนที่แสดงอาณาเขตของค่ายผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ
3. รูปภาพแสดงป้ายทางเข้า Huay Pu Kaeng
4. แผนที่แสดง Ban Nai Soi
5. รูปภาพแสดงป้ายบอกทางไปยังท่าเรือ Huay Deua
6. รูปภาพแสดงทางเข้าสำนักงานของโรงเรียน Ban Nai Soi
7. รูปภาพแสดงป้ายบอกทางมายังหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว
8. รูปภาพแสดงตุ๊กตากะเหรี่ยงคอยาวทำจากไม้เพื่อจำหน่าย
9. รูปภาพแสดงป้ายถ่ายรูปหน้าทางเข้า Huay Seau Tau
10. รูปภาพแสดงผู้หญิงคะยันในร้านขายของที่หมู่บ้านในจังหวัดชลบุรี
11. รูปภาพแสดงป้ายโฆษณาหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวในจังหวัดชลบุรี
12. รูปภาพแสดงเด็กหญิงกะเหรี่ยงคอยาว
13. แบบฟอร์มแสดงความจำยงในการเลือกสถานะ

Text Analyst กรกนก ศฤงคารีเศรษฐ์ Date of Report 08 มิ.ย 2562
TAG คะยัน, กะจ๊าง, แลเคอ, ปะด่อง, กะเหรี่ยงคอยาว, การท่องเที่ยว, ผู้อพยพ, แม่ฮ่องสอน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง