สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject จีน , คำนิยามความเป็นจีน , เมืองพิษณุโลก , จีนพิษณุโลก , ผู้มีเชื้อสายจีน , จีนในไทย , จีนสยาม , อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
Author เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์
Title ความเป็นจีนตามนิยามของผู้มีเชื้อสายจีนในอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity จีน จีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนไหหลำ ไหหนำ จีนกวางตุ้ง จีนแคะ, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
(เอกสารฉบับเต็ม) Total Pages 192 Year 2545
Source บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

          งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการนิยามความเป็นจีน ของผู้มีเชื้อสายจีนในอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยการศึกษาผ่านประวัติศาสตร์ทางการเมืองและเงื่อนไขของเวลาที่ค่อยๆสร้างกระบวนการปรับตัวและการสร้างความหมายให้กับตนเองในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ในการศึกษาจะเริ่มตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงสมัยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์  ซึ่งการแสดงออกถึงความเป็นจีนของแต่ละกลุ่มที่อ้างอิงตนเองจากด้านต่างๆของสังคมที่ต่างกันออกไปนั้น ทำให้ความเข้มข้นของสำนึกในความเป็นจีนของพวกเขามีความยืดหยุ่นและเลื่อนไหลไปตามการรับรู้ความเป็นจริงภายนอกในช่วงเวลาขณะนั้น สำนึกต่อความเป็นจีนของชาวจีนพิษณุโลกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อยู่ในสถานะตัวแปรทางเศรษฐกิจที่ดีในฐานะแรงงาน โดยชาวจีนได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชนชั้นศักดินาไทย มีการแสดงออกถึงความเป็นจีนโดยปกติทั่วไป และรับเอาความเป็นไทยในด้านการอ้างอิงตำแหน่งทางศักดินา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 6 เริ่มตั้งแต่มีระบบมณฑลเทศาภิบาลเข้ามาในพิษณุโลกนั้น ทำให้ผู้ที่ประสงค์จะเป็นไทย ต้องเข้ารับราชการและเรียนหนังสือไทย ซึ่งพบคำอธิบายสำนึกความเป็นจีนของตนเอง ไปสัมพันธ์อ้างอิงกับตระกูลในยุคที่ได้เป็นตัวแทนหรือรับราชการจากอำนาจรัฐ ส่วนในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ก็ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์การปฏิวัติประชาชาติจีนในปี พ.ศ.2454 ที่ทำให้ชาวจีนกลับมามีสำนึกระลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนมากขึ้น เช่น การก่อตั้งโรงเรียนจีน เป็นต้น เมื่อมาถึงยุคสมัยของจอมพลป. พิบูลสงคราม ความเป็นจีนด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ทำให้ยากต่อการติดต่อกับทางราชการ จึงทำให้พวกเขาลดบทบาทของความเป็นจีนลง ด้วยการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายแบบไทย การเปลี่ยนชื่อ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสร้างชาตินิยมให้กับรัฐไทย และเมื่อมาถึงยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ความเป็นจีนถูกหวาดระแวงด้วยความเป็นคอมมิวนิสต์ ประกอบกับการนิยามตนเองเพียงเพื่อตอบรับระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ทำให้บทบาทของความเป็นจีนบางประการในด้านอื่นลดลง แต่ในขณะเดียวกันนี้เองที่มีความไม่เท่าเทียมในกลุ่มชาวจีนด้วยกันเองเกิดขึ้น จึงเริ่มเกิดการให้คำนิยามเพื่อตอบโต้ความไม่เท่าเทียมนี้ด้วยการกล่าวถึงภูมิหลังความยากลำบาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของกลุ่ม อีกทั้งมีบางกลุ่มที่พยายามผนวกตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความเป็นจีนด้วยบริบททางการเมือง และนอกเหนือจากการนิยามในระดับต่างๆของกลุ่มผู้มีเชื้อสายจีนกลุ่มสำคัญที่ต่างกันแล้วไปตามกาลเวลาแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆในระดับปัจเจกบุคคลที่สร้างความแตกต่างออกไปด้วย

Focus

          ศึกษาการให้คำนิยามความเป็นจีนของผู้มีเชื้อสายจีนในอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มองที่ประเด็นการอธิบายและยืนยันสถานะของตนเองที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว ซึ่งมีการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงการนิยามตนเองและการปรับตัวในยุคสมัยที่มีรอยต่อเรื่องราวอุดมการณ์ชาตินิยมกับความเป็นไทยจากรัฐ โดยมีการเน้นการศึกษาลงไปในยุคการปกครองของจอมพลแปลก  พิบูลสงคราม (พ.ศ.2480-2488 และ พ.ศ.2491-2500) และยุคการปกครองของจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ (พ.ศ.2501-2506) (บทคัดย่อ, หน้า จ)กล่าวคือ ศึกษาภายใต้บริบทในท้องถิ่น และบริบทของรัฐ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ถือว่าตนเองเป็นผู้มีเชื้อสายจีนในพิษณุโลกกับการนิยามความเป็นจีนที่มีการปรับตัว ดัดแปลง หรือสร้างใหม่ ท่ามกลางบริบททางการเมืองและสังคมที่ต่างกันออกไป 

Theoretical Issues

          งานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้กรอบแนวคิดเรื่องความเป็นชาติไทยมาวิเคราะห์ถึงการปรับตัวของนิยามความเป็นจีนในช่วงประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง(หน้า11) โดยอ้างอิงงาน Imagined Community ของ Benedict Anderson มีใจความว่า ชาติเป็นจิตนาการที่ก่อให้เกิดการแบ่งเป็นพวกเขา-พวกเรา สอดคล้องกับบริบทชาตินิยมจากทางราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่6 เป็นต้นมา โดยเฉพาะยุคสมัยของจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่นำความเป็นรัฐไทยเข้ารุกรานพื้นที่ตัวตนของชาวจีนในประเทศไทย และมีการพิจารณาถึงกรอบแนวคิดความหมายที่มีต่อตัวตนและเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ โดยผู้วิจัยได้เลือกใช้ประโยชน์จากงานของ Nicholas Tapp เป็นสำคัญ ด้วยเรื่องที่กล่าวถึงกลไกทางความคิดในการปรับตัวเพื่อต่อสู่กับวิกฤติทางวัฒนธรรม ที่ศึกษาการผลิตซ้ำซึ่งจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ในความหมายที่มองว่าประวัติศาสตร์ที่แท้จริงไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่คือสิ่งที่เป็นจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์หรือสิ่งที่เป็นระบบคิดในการแสดงตัวว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร ซึ่งผู้วิจัยนำมาปรับใช้ในการวิเคราะห์ระบบคิดของชาวจีนในไทยได้ โดยมองถึงจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากสภาวะความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง และมีการจัดประเภทตนเองให้เป็นลักษณะต่างๆ เพื่ออธิบายว่าตนเองนั้นแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ซึ่งต้องตีความหานัยยะที่ไม่ได้มาจากแค่ลักษณะภายนอกของความเป็นจีนเท่านั้น สอดคล้องกับงานเขียนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ในความหมายของนักมานุษยวิทยา ที่ให้ความสำคัญกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น ในงานของกลุ่ม Postmodernism ที่มองว่าความเป็นตัวตนเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งตายตัว การนิยามตัวตนและกลุ่มของตนเป็นกระบวนการที่ไม่สิ้นสุด   

Ethnic Group in the Focus

จีน

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan)

Study Period (Data Collection)

มีข้อมูลการสัมภาษณ์ตั้งแต่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2542 ถึง 20 ธันวาคม พ.ศ.2544 (หน้า 182-183)

History of the Group and Community

          พื้นที่ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการศึกษา คือ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยผู้วิจัยได้เน้นศึกษาประวัติศาสตร์ของชาวจีนพิษณุโลกตามช่วงเวลาทางการปกครองในยุคสมัยต่างๆ โดยเริ่มในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรื่อยมาจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามนั้น รัฐไทยไม่ได้กีดกันคนจีนออกจากการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้กับรัฐได้เป็นอย่างดี  อีกทั้งชาวจีนยังรู้สึกมีคุณค่าชีวิตในมาตรฐานเดียวกับคนไทยชั้นสูง มาถึงในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม และระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐได้ใช้สื่อของรัฐสร้างสถานะการเป็นคนอื่นให้กับชาวจีนด้วยสำนึกในเรื่องชาตินิยม ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดและเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวจีน แต่ถึงจะได้รับความลำบาก แต่ก็ยังคงมีคนจำนวนมากรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมแบบจีนไว้ และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนก็ได้แสดงออกและฟื้นฟูความเป็นจีนมากขึ้นผ่านการสร้างสมาคม โรงเรียน เป็นต้น ส่วนในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์  เป็นยุคที่เศรษฐกิจเงินตรามีพลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ชาวจีนพิษณุโลกเองก็ต้องเผชิญกับทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ เป็นการสร้างโอกาสให้แก่คนจีนที่จะได้มาซึ่งพื้นที่ทางสังคมด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ (หน้า 167-168) 

Settlement Pattern

          เนื่องด้วยเมืองพิษณุโลกมีพรมแดนที่ติดกับดินแดนต่างวัฒนธรรมจำนวนมาก ทั้งล้านนา ล้านช้าง และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของชุมชนต่างวัฒนธรรมขึ้นที่นี่ ก่อนการสร้างสะพานนเรศวรในพ.ศ.2473 ผู้คนอยู่ในบ้านริมน้ำ เรือ บ้านแพ คมนาคมโดยใช้เรือแจวข้ามไปมาระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำน่าน (หน้า 55) ส่วนชาวจีนในพิษณุโลกมีข้อสันนิษฐานว่าอพยพมาตามลำน้ำ โดยย้อนขึ้นมาจากเจ้าพระยา มาสู่ปากน้ำโพ และทวนลำน้ำน่านขึ้นมา ตั้งแต่สมัยอยุธยามีการตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองเก่าด้านตะวันออกของเมืองพิษณุโลก หรือที่เรียกว่าประตูจีน เป็นทางออกไปสู่บ้านเตาไหหรือหมู่บ้านชีปะขาวหายในปัจจุบัน (หน้า 34-35) โดยส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในแพและเช่าหรือปลูกห้องแถวอยู่ริมน้ำ 
          ในปี พ.ศ.2484 รัฐได้ประกาศพระราชกำหนดเขตหวงห้ามคนต่างด้าวไม่ให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รัฐกำหนด  คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ชาวจีนจำนวนมากจึงอพยพลงมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดพิษณุโลก ส่วนชาวจีนในพิษณุโลกที่อยู่แต่เดิมก็ได้ร่วมกันจัดตั้งโรงครัวทำอาหารแจกผู้ที่อพยพมาใหม่ และสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวตามสถานีรถไฟ (หน้า 81)

Demography

          หลักฐานจากทางราชการในราวพ.ศ.2377 (จดหมายเหตุรัชกาลที่3, จ.ศ.1197) แสดงประชากรชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพิษณุโลก 1,112 คน (หน้า 1) และผู้วิจัยได้อ้างงานศึกษาของ Skinner, G. William ว่าพิษณุโลกมีการหลั่งไหลของชาวจีนไหหลำเข้ามาเป็นกลุ่มแรก แล้วค่อยๆมีกลุ่มจีนกวางตุ้งและแต้จิ๋วเพิ่มขึ้นตามมา (หน้า 22) แต่หลังจากที่การค้าในนครสวรรค์และลานนารุ่งเรืองขึ้น ชาวจีนที่เคยมีมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ค่อยๆลดลง ในปีพ.ศ.2438 เมืองพิษณุโลกมีคนจีน 554 คน ซึ่งในที่นี้ก็เป็นการยากที่จะสำรวจ คนที่ถูกสำรวจอาจนับรวมเป็นคนไทยแล้วหรือคนที่มีเชื้อชาติจีนบางคนก็ไม่นับตนเป็นชาวจีนแล้ว
          ผู้วิจัยได้กล่าวถึงผู้ให้ข้อมูลว่าชาวจีนมีทั้งผู้ที่ยังถือสัญชาติต่างด้าว และถือสัญชาติไทยแล้ว โดยข้อมูลจากแผนกต่างด้าว สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีผู้ที่ยังถือสัญชาติต่างด้าวมีจำนวน 849 คน ชาย 582 คน หญิง 267 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เริ่มนับจากผู้ที่จดทะเบียนครั้งแรกในพ.ศ.2480 และผู้ที่จดทะเบียนครั้งสุดท้ายในพ.ศ.2505(หน้า 23) 

Economy

          นับตั้งแต่สมัยการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่1เป็นต้นมากลไกทางเศรษฐกิจถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูสยามหลังจากอยุธยาล่ม โดยรายได้หลักในขณะนั้นมาจากการส่งออกสินค้าไปสู่ประเทศจีน โดยการส่งออกระยะแรกจะเป็นของป่าแต่งสำเภาในระบบการค้าแบบราชบรรณาการออกไป และหลังๆตามมาด้วยสินค้าที่ต้องผ่านกระบวนการผลิตอย่างสินค้าหัตถอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรเชิงพาณิชย์ (หน้า 26) โดยเมืองพิษณุโลกและดินแดนแถบใกล้เคียงนั้น มีทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ ของป่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ป่า สินแร่ และผลิตผลจากการเกษตรกรรม สินค้าที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ น้ำรัก ซึ่งในบรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด มีการตั้งกองส่วนที่เมืองพิษณุโลกเพียงแห่งเดียว (หน้า 27)    
          ผู้วิจัยมีการตั้งข้อสังเกตว่าเมืองพิษณุโลกไม่ได้มีความโดดเด่นในเรื่องทรัพยากรหรือการผลิตมากเท่าการเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าจำพวกของป่าที่สำคัญ เนื่องจากดินแดนรอบๆเมืองสามารถสรรหาและผลิตสินค้าได้อย่างหลากหลาย (หน้า 30) โดยเฉพาะชาวจีนที่สามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวกที่สุด เพราะไม่ได้ถูกผูกติดอยู่กับระบบไพร่ ประกอบกับเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองที่สามารถเข้าถึงได้หลายเส้นทางด้วยการคมนาคมจากทั้งทางบกและทางน้ำ ได้แก่ เส้นทางล่องเรือลำน้ำน่าน เส้นทางล่องเรือลำน้ำยม เส้นทางบกจากพิษณุโลกไปนครไทย แยกไปหล่มสัก และทางแยกไปด่านซ้าย (ทางหลักสำหรับลำเลียงสินค้าจากลาว) เส้นทางบกจากพิษณุโลกผ่านพิไชย ทุ่งเชลียง สวรรคโลก ตาก ไปจนสิ้นสุดที่เถิน และเส้นทางเดินเท้าไปสู่นครสวรรค์ (สำหรับขนสินค้าระวางหนัก) (หน้า 31) ทำให้เมืองพิษณุโลกกลายเป็นแหล่งค้าขายที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และเมื่อระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราแพร่หลายเข้ามา ก็ยิ่งทำให้เริ่มมีการสรรหาและจัดซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก
          ภาคเหนือตอนล่างเป็นดินแดนที่มีการแลกปลี่ยนสินค้าขึ้นลงไปมา โดยมีพ่อค้าชาวจีนจากกรุงเทพฯนำสินค้าเข้ามาขาย โดยเริ่มจากขายชาวจีนด้วยกันก่อนและค่อยๆขยายไปขายสินค้าจำเป็นให้แก่ชาวพื้นเมืองชาติพันธุ์ต่างๆที่ทำงานในกองส่วนสมัยปลายรัชกาลที่3 ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการผลิตในสินค้าจำพวกที่ต้องผ่านการผลิตมากขึ้น และมีการขยายการเก็บภาษีอากรไปเรื่อยๆ สำหรับในเมืองพิษณุโลกเริ่มมีการจัดเก็บในสมัยรัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 2คือ อากรสีผึ้งและอากรสุรา (หน้า 37) ซึ่งชาวจีนที่เป็นนายอากรจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้านและมีอิทธิพลในท้องถิ่นพอสมควร  นับตั้งแต่หลังสนธิสัญญาบาวริ่งสยามก็ยิ่งเปิดประเทศ ติดต่อกับบ้านเมืองอื่นๆมากขึ้น ผันตัวมาค้าสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน ต้องใช้ทักษะ ปรับรูปแบบสินค้าตามความต้องการของตลาดภายนอก และยกเลิกผูกขาดสินค้าจำนวนมากหลายชนิด
          ในยุคสมัยของจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ ในพ.ศ.2484 โดยสงวนอาชีพบางชนิดให้แก่คนไทยและห้ามคนจีนทำบางอาชีพ เมืองพิษณุโลกที่ถือว่ามีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพที่สุดจึงพร้อมจะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐอย่างยิ่ง ด้วยการสอดส่องหาลู่ทางในการค้าขายให้กับคนไทย ซึ่งการจะทำการค้าขายได้นั้น ต้องมีทุน และต้องเป็นทุนที่รัฐเห็นว่าข้าราชการพอจะมีไปแข่งได้ คือ เบี้ยหวัดและเบี้ยบำนาญ ทันทีที่คำสั่งนี้ลงไปถึงเมืองพิษณุโลก เหล่าข้าราชการต่างก็รู้สึกร่วมไปกับนโยบายด้วย เพื่อเป็นการต่อสู้เศรษฐกิจกับชาวจีนในพิษณุโลกได้ (หน้า 81) ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นยุคที่พิษณุโลกมีความเจริญทางเศรษฐกิจขึ้นมาก ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา ระบบสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคมทางบก การสร้างสะพานเดชาติวงศ์จากจังหวัดนครสวรรค์มาสู่พิษณุโลก การค้าทางน้ำและรถไฟจึงมีบทบาทลดลง รวมถึงการเปิดการค้าแบบเสรีของประเทศนั้น ยังทำให้มีสินค้านำเข้าจากที่อื่นเข้ามาในพิษณุโลกมากขึ้น เช่น ยาจากต่างประเทศ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งในยุคนี้จะมีสินค้าฟุ่มเฟือยที่ต้องอาศัยความรู้ของผู้ขายอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงพลังของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กำลังรุ่งเรืองในยุคนี้ อีกทั้งมีการรวมตัวของผู้ประกอบการ อย่างชมรมค้าผ้า กลุ่มผู้ค้าทอง กลุ่มผู้ขายยา ที่รวมตัวกันขึ้นเหมือนกับสมาคมหนึ่งๆ และมีธนาคารเป็นฐานกระจายตัวของเงินทุน (หน้า 119)

Social Organization

          โครงสร้างทางสังคมของเมืองพิษณุโลกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นเมืองที่มีระบบมูลนาย เห็นได้จากกองส่วยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นระบบของแรงงานที่ผูกติดกับนายกอง อันไม่อาจจะไถ่ตนเองให้เป็นอิสระได้แม้นายกองเดิมจะตายไปแล้ว แต่ต้องโอนย้ายไปสังกัดกองอื่นต่อไปอีกเรื่อยๆ (หน้า 32) เหล่าผู้ปกครองของเมืองพิษณุโลกมีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมพอสมควร โดยในเมืองปกครองผู้คนด้วยระบบเกณฑ์แรงงาน ไพร่ ทาส ทุกคนมีหน้าที่ในการเสียภาษีหรือเป็นแรงงานให้กับรัฐ (หน้า 34) ชาวจีนในเมืองพิษณุโลกมีตั้งแต่ระดับล่างสุดของสังคมไปจนถึงสูงสุด คือ เป็นเลกส่วยไปจนถึงเจ้าภาษีนายอากรที่มีชื่อเสียง รวมทั้งเป็นพ่อค้าหลากหลายรูปแบบ และถึงแม้ชาวจีนจะปรับตัวกับเศรษฐกิจแบบเงินตราได้ดี แต่ก็ต้องเสียค่าผูกปี้แทนการใช้แรงงานแลก (หน้า 36)

Political Organization

         ในยุคสมัยสุโขทัยและอยุธยานั้น เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองที่มีสถานภาพทางการเมืองที่แปรเปลี่ยนไปตามเมืองอันเป็นศูนย์กลางอำนาจในช่วงนั้นๆ ว่ามีอำนาจและอิทธิพลของเมืองใดสามารถแผ่ขยายมาถึง ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย อยุธยา หรือพม่า ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เมืองพิษณุโลกก็ได้ลดความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ลง แต่ก็ยังเป็นเมืองที่มีเชื้อชาติต่างๆมาอยู่ร่วมกันจากการหนีภัยสงคราม เช่น ลาวโซ่ง ลาวล้านช้าง ญวณ มอญ จีน อเมริกัน อินเดีย และปากีสถาน (หน้า 20) โดยเมืองพิษณุโลกได้อยู่ในกลุ่มดินแดนหัวเมืองฝ่ายเหนือและมีเมืองขึ้น 15 หัวเมือง
          ในสมัยอยุธยาพบว่า อยุธยามีความพยายามที่จะเข้าครองพิษณุโลก และกันอำนาจของรัฐสุโขทัย เพื่อที่จะคุมวัตถุดิบ แร่เหล็ก อันเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตอาวุธและยุทธปัจจัยอื่นๆ (หน้า 28) แต่แล้วในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้ยุติบทบาททางยุทธศาสตร์ของเมืองพิษณุโลกลง เพราะไม่อาจต้านทัพสงครามไว้ได้จนต้องถ่ายเทกำลังพลทั้งหมดกลับไปยังส่วนกลาง
         จนถึงในสมัยรัชกาลที่5 เริ่มมีการปกครองแบบระบบเทศาภิบาล เรียกหน่วยการปกครองว่า มณฑล เป็นการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางและให้ท้องถิ่นขึ้นตรงต่อเจ้านายจากเมืองหลวง ทำให้เมืองพิษณุโลกมีความผูกพันกับการปกครองจากส่วนกลางมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างชาติของรัฐไทย และจากที่เมืองพิษณุโลกได้ตั้งขึ้นเป็นมณฑลแล้ว ผู้ปกครองอันเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐก็ได้ปรากฏอำนาจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งสั่นคลอนความมั่งคั่งของกลุ่มชนชั้นปกครองท้องถิ่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้เป็นข้าราชการเงินเดือน คือ มีการนำเงินของท้องถิ่นไปผ่านกระบวนการให้กลายเป็นเงินหลวง และค่อยนำกลับมาสู่ท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง และจัดโครงสร้างการปกครองในเมืองพิษณุโลกเป็น เจ้าเมือง ปลัด รองปลัด ศาล คลัง โยธา ไปรษณีย์ การศึกษา และเสมียน (หน้า 48)
ซึ่งการปฏิรูปเช่นนี้ยังเป็นการขจัดปัญหาที่เหล่าขุนนางท้องถิ่นมักเบียดบังแรงงานไพร่ไปทำงานส่วนของตนอีกด้วย ดังนั้นผลของการตั้งมณฑลในช่วง พ.ศ.2437 ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองราชการ อีกทั้งได้รับการชมเชยว่าเป็นมณฑลที่มีการจัดการได้เรียบร้อยด้วย
          ชาวจีนที่สร้างปัญหาให้กับรัฐมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5ก่อนจัดตั้งมณฑลพิษณุโลก คือ อั้งยี่ มีอำนาจที่จะไม่ปฏิบัติตนตามกฎหมายด้วยการมอบทุนทรัพย์ให้แก่อำนาจปกครองท้องถิ่นแบบเก่า หรือ การวิวาทกันของเจ้าภาษีนายอากรชาวจีนกับชาวบ้านในการบังคับให้จ่ายอากร อีกทั้งมีกรณีจีนในบังคับของกงสุลฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยกงสุลในฝรั่งเศสคุ้มครองให้ชาวจีนสามารถขายสุราให้กับชาวบ้านในแถบพิษณุโลกได้ เป็นการท้าทายอำนาจรัฐให้ต้องเข้าใช้ทหารปราบปราม แต่ตลอดสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่พบการกบฏของจีนพิษณุโลก
การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ยุคสมัยของจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่มีนโยบายชาตินิยมเป็นหัวใจสำคัญนั้น ทำให้ชาวจีนต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความจำยอมที่จะกลายเป็นไทย โดยจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้กดดันให้ชาวจีนในสมัยนั้นต้องแปลงชาติด้วยกระบวนการแปลงชาติหรือโอนสัญชาติ โดยมีหลักเกณฑ์คือ ต้องสละความภักดีต่อจีนและหันมาภักดีต่อไทยแทน (หน้า 86) ต่อมาในยุคสงครามเย็นที่โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่อย่าง ค่ายเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและค่ายสังคมนิยมที่นำโดยจีนและรัสเซีย ส่วนรัฐบาลของเจียงไคเช็คที่อยู่ในไต้หวันได้รับการรับรองจากค่ายประชาธิไตยว่าตนไม่ใช่พวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งในสมัยนั้นไทยต้องเชื่อฟังต่อสหรัฐอเมริกา ควบคุมการเกิดคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น โดยรัฐมีคำสั่งให้ทุกจังหวัดเพิ่มการดูแลสอดส่องชาวจีนอย่างเข้มงวดตลอดเวลา

Belief System

          ชาวจีนที่ได้รับตำแหน่งในระบบศักดินาจะมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวไทย โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ซึ่งพวกเขาจะมีทัศนะต่อคุณค่าของชีวิตที่คล้ายคลึงกับชนชั้นสูงในไทย คือ การมองว่าการทำบุญหรือการบริจาคทานต่างเป็นการปฏิบัติดีตามครรลองของชีวิตที่มีคุณค่าตามหลักศาสนาพุทธและการบรรลุนิพพานอันเป็นจุดสูงสุดของชีวิต (หน้า 151) หรือ มีการอธิบายต้นตระกูลของตนเองเพื่อให้ดูเป็นคนพิเศษเฉกเช่นศักดินาไทย ด้วยการเล่าเหตุการณ์พิเศษที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของตนเอง ตัวอย่างเช่น เคยมีซินแสที่ชอบใจในลักษณะของนายฮงมาทำนายว่า ในอนาคตจะได้เป็นเจ้าสัว มีร้านค้าใหญ่โต จะเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูง มีแต่คนนับหน้าถือตา หรือ แม่ของนางน้อยในขณะที่ท้องตนอยู่นั้น เช้าวันหนึ่งได้ยินเสียงเป็ดร้องดังจนผิดสังเกต เมื่อขุดพื้นดินบริเวณที่เป็ดอยู่ ทำให้ได้พบกับไหที่ภายในบรรจุด้วยเงินอยู่เต็ม จึงเชื่อว่าเด็กที่กำลังจะคลอดมานั้นมีบุญมาก เป็นต้น (หน้า 71)

Education and Socialization

          นอกเหนือจากการสร้างสำนึกตามที่รัฐต้องการแล้ว การจัดการศึกษาของรัฐยังมีเพื่อตอบสนองต่อการคัดเลือกคนเข้ารับราชการด้วย ในปี พ.ศ.2475 ที่พิษณุโลกได้กลายเป็นจังหวัด โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้กลายมาเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดพิษณุโลก คือ พิษณุโลกพิทยาคม ซึ่งในยุคแรกๆจะเป็นที่คาดหวังว่าจบมาแล้วจะได้เข้าสู่ระบบราชการ ในท้องถิ่นและได้กระจายตัวไปสู่การทำงานระดับปกครอง และมีโรงเรียนเอกชนที่มีผู้ร่วมบุกเบิกการสร้างเป็นชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน โรงเรียนผดุงราษฎร์ (พ.ศ.2441) เปิดสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากผู้มีฐานะดี พ่อค้า และสามัญชนทั่วไป (หน้า 52-53)
          การรวมกลุ่มของชาวจีนพิษณุโลกที่ไม่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอำนาจราชการ คือ การเริ่มบุกเบิกสถาบันการศึกษาภาษาจีนเป็นของตนเอง โดยส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่มีบรรดาศักดิ์สูงกับคหบดีชาวจีน อย่างโรงเรียนแชหมิน ที่เปิดสอนด้วยภาษาแต้จิ๋วและปรับมาเป็นสอนแบบภาษาจีนกลาง แต่ต่อมาก็ได้เปิดสอนภาษาไทยด้วย ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนในตลาดด้วยดีมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2465 และปิดตัวลงชั่วคราวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนแชหมินไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบสนองพื้นฐานในด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายในเชิงโครงสร้างทางความคิดด้วย คำว่าแชหมิน หมายถึง The Awake People หรือ ประชาชนที่ตื่นแล้ว สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชาติจีนใน พ.ศ.2454 ทำให้เกิดแนวคิดชาตินิยมและการรวมชาติต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ชาวจีนในพิษณุโลกหันกลับมามีสำนึกผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง (หน้า 74)  ภายหลังโรงเรียนแชหมินก็ต้องหยุดสอนภาษาจีนลงตามความต้องการของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามความรู้เกี่ยวกับความเป็นจีนนั้น ก็ยังคงได้รับการสืบทอดอยู่อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ต้องหลบๆซ่อนๆแบบเรียนกันตามเรือกสวนไร่นาหรือในป่า จนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้ทำรัฐประหารหลังการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์อันดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่มีการให้สัญญากับประชาชนว่าจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเครื่องมือสำคัญคือ การปลูกฝังไปในระบบการศึกษา ด้วยการถ่ายทอดความรู้ผ่านสื่อการเรียนการศึกษา อย่างแบบเรียนที่ใช้เรียนหนังสือสำหรับเด็กๆ มีการปลูกฝังผ่านกระบวนการสื่อของรัฐ ให้เห็นความสำคัญของสถาบันการปกครอง และสถาบันพระมหากษัตริย์ (หน้า 112)

Health and Medicine

          แต่เดิมร้านขายยาสหเภภัณฑ์เภสัช ในพิษณุโลกนั้น เป็นร้านยาจีนแผนโบราณมีชื่อว่าร้านตงฮัวตึ๊ง ขายยาจีนแผนโบราณโดยเจียดยาตามเทียบมาตลอด จนกระทั่งหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทางร้านก็ได้เปลี่ยนชื่อร้านเป็นแบบไทย ปรับเปลี่ยนนำยาแผนปัจจุบันมาขาย และเลิกขายยาแผนโบราณ อีกทั้งยังส่งลูกหลานของตนไปเรียนคณะเภสัชศาสตร์ รวมถึงมีการพัฒนาการขายยาให้มีมาตรฐานสากลมากขึ้น ด้วยการให้ความสำคัญต่อวิธีการขาย ซึ่งมีหลักการในการดำเนินงานสำคัญสามประการ ได้แก่ 1.ไม่ทำยาปลอม 2.ขายยาต้องมีจิตเมตตาคน บางครั้งก็ไม่คิดมูลค่าของยา 3.ต้องยึดหลักความซื่อสัตย์เป็นสำคัญ (หน้า 119-120)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

          ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้ใช้วิธีการนิยามความเป็นไทย โดยมุ่งเน้นส่งผลต่อคนในชาติทั้งทางด้านความคิดและรูปแบบภายนอกให้มีความเหมือนกันผ่านเครื่อมือต่างๆ เช่น บทละคร บทเพลง วรรณกรรม เครื่องแต่งกาย อนุสาวรีย์ วัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้น (หน้า 79)หากเป็นชาวจีนที่ได้รับบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุนแล้ว เมื่อไปติดต่อราชการก็จะแต่งกายแบบไทย คือ “นุ่งผ้าม่วง ใส่เสื้อนอก ติดกระดุมลงทองลงยาพระนาม”  แต่เมื่ออยู่บ้านจะแต่งกายแบบจีน คือ “นุ่งกางเกงปั๊งลิ้น สวมเสื้อกุยเฮง” (หน้า 68)
          ส่วนผู้หญิงจีนในขณะที่อยู่ในยุคสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม จำเป็นต้องแต่งกายแบบไทยตลอด แต่หลังสงครามโลกครั้งที่2 ก็ได้มีโอกาสกลับมาใส่กางเกงและชุดกี่เพ้าอีกครั้ง (หน้า 100)

Folklore

          การรับเอาระบบศักดินาเข้ามาทำให้ระลึกถึงความเป็นมาของตนที่พิเศษกว่าคนธรรมดา มีตำนานเรื่องเล่า เช่น เมื่อครั้งนายฉื่อฮ้วงเดินเรือสำเภามาสยามเป็นครั้งแรกนั้นมีงูตัวใหญ่เลื้อยขึ้นมาจากทะเล ขดตัวอยู่บนหมอนหนุนนอนแน่นิ่งจนถึงเช้าก็เลื้อยหายไป หรือ อีกบันทึกหนึ่งว่า ระหว่างการเดินทางมาสยามนั้น นายฉื่อฮ้วงเปิดประตูห้องเห็นงูขนาดใหญ่นอนขดอยู่บนเตียง เมื่อวิ่งมาบอกลูกเรือให้ไปดูก็พบว่าไม่มีอะไรทุกครั้ง เป็นจำนวน 3 ครั้ง เหมือนกับว่าผู้อื่นไม่อาจมองเห็นสิ่งที่ฉื่อฮ้วงมีบุญเห็นได้คนเดียว (หน้า 70) 

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          กลุ่มชาติพันธุ์สำคัญที่เข้ามาอาศัยในเมืองพิษณุโลกในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ลาวเวียงและลาวพวน ที่ถูกกวาดต้อนในฐานะเชลยหลังเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์และปัญหาภายในหัวเมืองลาว ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปรากฏจำนวนเชลยเป็นหลักร้อยที่มีอยู่ในสังกัดพระยาพิษณุโลก อีกทั้งมีชาวลาวโซ่งจากจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี ชาวมอญจากจังหวัดตาก และชาวญวณ ชาวเขมรที่จำต้องอพยพมาด้วยเงื่อนไขของสงคราม (หน้า 31-32) และมีชาวพื้นเมืองในเมืองพิษณุโลก เช่น ขมุ ตองสู่ เป็นต้น (หน้า 54)
          ในสมัยรัตนโกสินทร์รัฐไทยเรียกชาวจีนด้วยคำว่าจีนนำหน้า เพื่อจะได้ทราบว่าใครเป็นจีนเป็นไทย เช่น จีนติว จีนหอย จีนอี๊ด จีนมาก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามท่าทีของของรัฐที่มีต่อชาวจีน ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงการเป็นคนอื่นมากนัก เพราะชาวจีนที่เป็นเจ้าภาษีอากรกองเกวียนสามารถทำรายได้ให้กับรัฐ ชาวจีนจะมีความหมายในสายตารัฐต่อเมื่อมีบทบาททางการค้าหรือศักดินา ซึ่งรัฐก็จะมองพวกเขาทั้งหมดในฐานะแรงงาน (หน้า 40) ส่วนความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนที่มีศักดินา มีบทบาททางเศรษฐกิจในด้านหนึ่งด้านใดนั้น ก็มีความภาคภูมิใจต่อตนเองในระดับหนึ่งในฐานะที่พวกเขาเป็นหนึ่งในกลไกของรัฐและระบบศักดินาไทย แต่การแสดงออกของเหล่าศักดินาเชื้อสายจีนก็ยังคงมีอยู่ เช่น การใช้ชื่อจีนกำกับตำแหน่งทางศักดินาไทย การพูดภาษาจีนในบ้าน การส่งลูกชายไปเรียนโรงเรียนจีน การทำตรุษจีน เป็นต้น  
          ความพยายามของรัฐที่จะทำให้ชาวจีนถูกมองในสภาพความเป็นอื่นนั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยชาวจีนถูกเรียกว่าเป็นยิวแห่งบูรพทิศ ที่อ้างถึงเศรษฐกิจไทยที่ถูกครอบครองโดยชาวจีนและทำให้คนไทยต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ  และเมื่อมาถึงยุคสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ในระยะแรกได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าชาวจีนเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจไทย  จึงมีการเปิดช่องให้รวมเอาคนจีนเข้ามาเป็น “ไทยใหม่” เพื่อหวังให้ชาวจีนสำนึกบุญคุณและสร้างประโยชน์แก่ประเทศไทย จนมาในพ.ศ.2480 มีการเปิดแสดงละครหวังสร้างสัมพันธ์พี่น้องไทย-จีน แต่การแสดงครั้งนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากเหล่าพ่อค้าจีนในกรุงเทพฯ นโยบายการผลักดันชาวจีนให้ออกไปเป็นคนอื่นจึงถูกนำกลับมาเน้นย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะกลับมามีพื้นที่แสดงความเป็นจีนได้อย่างอิสระหลังทศวรรษ 2510 อีกครั้ง (หน้า 156) แต่ในปีพ.ศ.2490 การจัดตั้งอาคารสมาคมจีนในพิษณุโลกก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ด้วยเงินบริจาคของคณะกรรมการดำเนินงาน พ่อค้าชาวจีนในตลาด และชุมชนชาวจีน การก่อตั้งสมาคมเช่นนี้ทำให้มีชาวจีนหลายกลุ่มหลายสำเนียงภาษามารวมตัวกัน เป็นการพบปะสังสรรค์ระหว่างกลุ่ม และยังเป็นความพยายามในการช่วยเหลือค่อชาวจีนที่มีสถานะด้อยกว่าบางกลุ่ม เช่น การจัดเลี้ยงอาหารแก่กรรมกรแบกหามและการยกเว้นค่าบำรุงสมาคม เป็นต้น (หน้า 102) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มภาษาไหหลำในพิษณุโลกกับเครือข่ายจังหวัดใกล้เคียงได้รวมตัวกันภายใต้สำนึกถึงความเป็นจีนที่ผูกพันกับภาษาถิ่นนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงสำนึกต่อความเป็นจีนที่มีมุมมองในแบบต่างๆที่มากขึ้น
          ส่วนในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการดำเนินนโยบายทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจตามสหรัฐอเมริกา โดยประเทศไทยเองต้องดำเนินการกวาดล้างคอมมิวนิสต์อย่างเบ็ดเสร็จ จึงไปกระทบกับชาวจีนในไทยที่ต้องระวังความเป็นจีนของพวกเขาไม่ให้สัมพันธ์กับความเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย (หน้า 162)

Social Cultural and Identity Change

          เดิมวิธีการการเดินทางสู่เมืองพิษณุโลกหลักๆ คือ ม้า เกวียน เดินเท้า และเรือ แต่ภายหลังเมื่อมีการสร้างรถไฟสายเหนือ รถไฟก็ได้นำพาความเจริญต่างๆเข้ามาสู่ดินแดนทางตอนเหนือของประเทศ ทำให้สามารถขนส่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆได้ในปริมาณมาก ทั้งข้าว ยาสูบ และฝ้าย กล่าวคือ ทางรถไฟถึงสถานีพิษณุโลกในปีพ.ศ.2450 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ประการสำคัญ ได้แก่ 1.ความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้า 2.การผลิตและการค้าข้าว 3.จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้คนต่างหลั่งไหลขึ้นไปหาประโยชน์ในดินแดนตอนบนมากขึ้น (หน้า 57) อีกทั้งการสร้างทางรถไฟยังนำแรงงานกุลีจีนจำนวนมากขึ้นมาสู่พิษณุโลก โดยย้ายจากที่เคยเป็นกรรมกรไร่ฝ้ายมาเป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟแทน เกิดการอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่นโดยเฉพาะคนจีนแสวงโชค  และเกิดแหล่งชุมนุมแหล่งใหม่ของเมืองบริเวณสถานีรถไฟอย่างคึกคัก 
          ในยุคสมัยที่จอมพลป. พิบูลสงคราม กำลังพยายามสร้างรัฐชาติและความเป็นไทยอยู่นั้น ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมหลายประการ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงเรื่องการแต่งกาย ให้มีความเป็นระเบียบแบบแผน มีความสุภาพเรียบร้อย การบังคับให้ใส่รองเท้า ให้สวมหมวก การควบคุมในการรับประทานอาหาร การยกเลิกการกินหมาก และการยกเลิกยศถาบรรดาศักดิ์  ที่ภายหลังจะกลับมามีการใช้ยศตามเดิมใน พ.ศ.2487 ก็ตาม (หน้า 83) และแน่นอนว่านโยบายของจอมพลป. พิบูลสงครามนั้น  สิ่งใดก็ตามที่แสดงถึงความเป็นจีนเป็นความน่ารังเกียจ หนึ่งในวิธีที่จะปรับตัวเพื่อรับต่อการเปลี่ยนแปลง คือ การเปลี่ยนชื่อ โดยชาวจีนพิษณุโลกมีการเปลี่ยนชื่ออยู่สองแบบ คือ 1.ลูกหลานเชื้อสายจีนที่เกิดมาใหม่ ให้ใช้ชื่อไทยทันที เช่น วินัย สมชาย วิโรจน์ เป็นต้น 2.เปลี่ยนชื่อจีนของเดิมมาเป็นแบบไทย เช่น หวังอุ่ยหมิง เป็น อมร หรือ กิมเหล็ง เป็น เกษม เป็นต้น (หน้า 88) 

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มีข้อมูล

Map/Illustration

          ตารางแสดงข้อมูลประกอบคำอธิบายเกี่ยวกับการปกครองของเมืองพิษณุโลกได้แก่ ตารางแสดงลำดับเมืองที่อยู่ในเขตการปกครองมณฑลพิษณุโลก ตั้งแต่ พ.ศ. 2437-2476 (หน้า 47) การแบ่งเขตอำเภอเมืองต่างๆในพิษณุโลกตามปีพ.ศ. (หน้า 50) และบัญชีรายนามผู้บริจาคเงินบำรุงกองทัพไทยของอำเภอเมืองพิษณุโลก (หน้า 89) อีกทั้งมีภาพประกอบในส่วนของความเป็นจีนใต้ร่มเงารัฐนิยมของจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้แก่ ภาพขบวนแห่การบริจาคปืนกลของหลวงวิจารณ์กัยกิจ ณ บริเวณสะพานพระนเรศวร (หน้า 93) และภาพคณะละครจีนที่แสดงเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (หน้า 101) ภาพประกอบในยุคสมัยที่ก้าวเข้าสู่สมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  ได้แก่ ภาพโฆษณาสินค้าในพ.ศ.2504 (หน้า 117-118) ภาพประกอบในส่วนของการนิยามความเป็นจีนจากปักเจกบุคคลที่หลากหลาย ได้แก่ ภาพนายเตียก้ำชอ(ขุนกิตติกรพานิช)ถ่ายรูปร่วมกันกับเจียงไคเช็ค (หน้า 142) ภาพนางจอน  จันทร์ประเสริฐทำบุญและสร้างวัด (หน้า 145) และภาพนางจอน  จันทร์ประเสริฐ ร่วมพัฒนากับชาวบ้าน (หน้า 146) และในส่วนของภาคผนวกประกอบด้วย รายนามข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก (หน้า 185) ทำเนียบนายอำเภอเมืองพิษณุโลก (หน้า 186) ทำเนียบนายกเทศมนตรี (หน้า 187) ตารางแสดงลำดับนายกสมาคมจีนพิษณุโลก (หน้า 188-189) และรายนามคณะผู้ร่วมดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนแชหมินในปีพ.ศ.2464 (หน้า 190-191)

Text Analyst บงกช เจริญรัตน์ Date of Report 29 มิ.ย 2560
TAG จีน, คำนิยามความเป็นจีน, เมืองพิษณุโลก, จีนพิษณุโลก, ผู้มีเชื้อสายจีน, จีนในไทย, จีนสยาม, อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง