สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กูย กวย,คะแมร์ลือ,ชอง,ไทเบิ้ง ไทยเดิ้ง,พวน ไทพวน, มอญ ,ลาวครั่ง, ลาวแง้ว, ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, ชาติพันธุ์,วิถีชีวิต
Author นิตยา กนกมงคล
Title ผลการศึกษารวบรวมข้อมูลด้านชาติพันธุ์วิทยาในประเทศ (เล่ม2)
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, ลาวแง้ว, ลาวครั่ง ลาวขี้คั่ง, มอญ รมัน รามัญ, ไทยพวน ไทพวน คนพวน, ไทเบิ้ง ไทเดิ้ง, ชอง ตัมเร็จ สำแร, ขแมร์ลือ คะแมร คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรถิ่นไทย, กูย กุย กวย โกย โก็ย, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) Total Pages 150 Year 2548
Source โครงการศึกษาเพื่อการออกแบบอาคารและปรับปรุงการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก เรื่อง “คนไทยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” งบประมาณปี 2548 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
Abstract

ผู้จัดทำได้รวบรวมความรู้เพื่อจัดทำแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก ในปีงบประมาณ 2548 ที่ได้ให้มีการจัดแสดงเนื้อหาด้านชาติพันธุ์วิทยาในประเทศไทย ในหัวข้อเรื่อง “คนไทยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 40 กลุ่มที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างกัน ดังนั้นการแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จึงใช้ภาษาเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง เนื่องจากภาษาเป็นเอกลักษณ์สำคัญ และด้วยสาเหตุที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเสมอมา ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีการกระจายไปอยู่
ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งในงานศึกษาสามารถจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละภูมิภาคได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม และกลุ่มที่อพยพเข้ามา

Focus

จุดมุ่งหมายในการนำเสนอรายงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในภูมิภาคต่างๆของไทย และกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่อพยพเข้ามามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งมีการมุ่งเน้นศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว (คำนำ) โดยในรายงานเล่มนี้จะกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในภาคกลาง

Theoretical Issues

ผู้จัดทำใช้ภาษาเพื่อแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากการศึกษาของนักมานุษยวิทยาเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีภาษาเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม ดังนั้นเกณฑ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือการแบ่งกลุ่มตระกูลภาษา และเนื่องจากพื้นที่ในประเทศไทยมีการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเพื่อตั้งถิ่นฐานอย่างมีพลวัต จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไม่มีถิ่นฐานจำเพาะอยู่ในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่มีการแยกกลุ่มออกไปอยู่ทุกๆภูมิภาค ดังนั้นในการเรียบเรียงเนื้อหาในรายงานเล่มนี้ จึงไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์แต่จะเน้นการจำแนกให้เห็นภาพรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในภูมิภาคนั้นๆ และกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่เป็นเวลานานจนมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม สำหรับกลุ่มที่อพยพมาไม่นานและมีถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคอื่นจะกล่าวให้ทราบเพียงแค่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของภูมิภาคใด (คำนำ)

Ethnic Group in the Focus

มอญ, ชอง, ไทยเขมร, กูย, ยวน,
พวน, ลาวโซ่ง, ลาวครั่ง
ไทยเขียว, ลาวแง้ว, ไทยเบิ้ง

Language and Linguistic Affiliations

กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคกลางมีภาษาที่ใช้ในการจัดแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มต่างๆดังนี้
(1.)กลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษามอญเขมร ได้แก่ มอญ, ซอง, เขมรถิ่นไทย, ละว้า, กะเหรี่ยง, ข่า, กูย, เบิ้ง เป็นต้น (หน้า 366)
(2.) กลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไทหรือไต ได้แก่  ไทยยวน, พวน, ไทยทรงดำ, ครั่ง, ไทยเวียง, ไทยแง้ว เป็นต้น (หน้า 366)
(3.) กลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาอื่น ได้แก่ จีน, จาม, มุสลิม, ฮินดู, ซิกส์ เป็นต้น (หน้า 366)
 
ภาษาในตระกูลมอญเขมรจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก แบ่งได้เป็น 4 สาขา คือ
(1.) สาขามุนดะ(Munda)
(2.) สาขานิโคบาริส(Nicoba)
(3.) สาขามะลักกา(Malacca)
(4.) สาขามอญเขมร(Monkhmer)
 
และยังสามารถจำแนกได้อีก7 กลุ่ม ได้แก่
(1.) กลุ่มภาษาบาห์นาร์(Bahnaric) 
(2.) กลุ่มภาษากะตู(Katuic)
(3.) กลุ่มภาษามอญ(Monic) ภาษาของกลุ่มมอญในเขมรในพม่าและไทย
(4.) กลุ่มภาษาเพียร์(Pearic) ภาษาของคนในกัมพูชาและชาวชองในไทย
(5.) กลุ่มภาษาปะหล่องว้า(Paluang Wa) ภาษาของกะเหรี่ยง, ละว้า
(6.) กลุ่มภาษาขมุ(Khmuic) ภาษาของกลุ่มข่าหรือขะมุ
(7.) กล่มภาษาเวียดเมือง (VietMuona) (หน้า 368)
 
ชาวไทยมอญจะสื่อสารด้วยภาษาในกลุ่มมอญเขมร(Monkmer) มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง(หน้า 373) ภาษาพูดจะมีน้ำเสียงจากสระ2ชุด คือ สระในภาษาปกติและสระที่ทำน้ำเสียงกังวานกว่าปกติซึ่งจะแตกต่างกันแต่ละหมู่บ้าน( หน้า 374)
 
ชาวไทยชองมีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียนจะสื่อสารด้วยภาษาสาขามอญเขมร(Monkhmer) (หน้า 395)
 
ชาวไทยเขมรเป็นกลุ่มคนในภาษาตระกูลมอญเขมร (หน้า 405) ส่วนมากใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารและเขียน ปัจจุบันไม่พูดและไม่เขียนภาษาเขมรแล้ว ภาษาจะแตกต่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่บ้าง และมักเรียกตนเองว่าเขมรลาวเดิม(หน้า 406)
 
ชาวไทยกูย ใช้ภาษาในตระกูลในการสื่อสารซึ่งเป็นภาษาของชาวไทยกูยโดยเฉพาะจัดอยู่ในตระกูลภาษามอญเขมร แต่ก็มีการใช้ภาษาเขมรอยู่บ้างในปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสาร ส่วนภาษากูยมักใช้ในพิธีกรรม หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงใช้อยู่(หน้า 410)
 
ชาวไทยวนใช้ภาษาในตระกูลภาษาไทหรือไตตะวันตกเฉียงใต้มีภาษาพูดที่มีสำเนียงภาคเหนือที่เรียกว่า “คำเมือง” นักภาษาศาสตร์ได้จัดให้ภาษาไทยวนให้อยู่ในภาษาไทขิ่น ที่มีการแยกเสียงวรรณยุกต์1234 และยังมีการศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยวนของภาคกลาง 4 จังหวัด คือ บ้านดอนเตาอิฐ ตำบล สระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี และจังหวัดลพบุรี พบว่ามีเสียงพยัญชนะ 20 เสียง เสียงสระ 21 เสียงแต่เสียง /o/พบที่ลพบุรีที่เดียวและทั้ง 4 จังหวัดพบว่ามีเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียง ที่มีความแต่ต่างกันเล็กน้อย
 
*เสียงพยัญชนะ 20 เสียงคือ อ, พผภ, ทธฒฑฐถ, คฆข, บ, ด, ม, น, ง, ฟฝ, ลฬ, ว, ยญ และมีพยัญชนะที่แตกต่างจากภาคกลาง คือ
เสียง ป แทนเสียง พ ในภาษากลาง
เสียง ต แทนเสียง ท ในภาษากลาง
เสียง จ แทนเสียง ช ในภาษากลาง
เสียง ก แทนเสียง ค ในภาษากลาง
เสียง ศ ษ ส ซ  แทนเสียง ส ฌ ในภาษากลาง
เสียง ห ฮ  แทนเสียง ร ในภาษากลาง
 
*เสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างจากภาคกลาง คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา และเสียงเบญจมา คือ เสียงที่มีระดับอยู่ระหว่างเสียงโทและเสียงตรี เช่น ไก้ (ใกล้)
 
ภาษาพูดจะไม่ออกเสียงควบกล้ำ ภาษาเขียนที่มีอักษรควบกล้ำ ร ล และคำภาษากลางบางคำจะออกเป็นเสียงจัตวา เช่น แว่นต๋า (แว่นตา) (หน้า 419)
 
*มีเสียงควบกล้ำ ว 11เสียง คือ กว/ ขว/ คว/งว/ ตว/ ถว/ ลว/ ซว/ ยว/ ยว เช่น ขวาย (สาย), ตวย (ด้วย) เป็นต้น
 
*จะออกเสียง ปร เป็น ผ เช่น โผด (โปรด)
*มีคำเฉพาะที่เป็นคำถาม เช่น ตี้ไหน(ที่ไหน), อะหยัง(อะไร) เป็นต้น
*มีคำเฉพาะที่ลงท้ายประโยคเพื่อแสดงความสุภาพต่างจากล้านนา คือ คำว่า “เหย” ซึ่งล้านนาใช้คำว่า “เจ๊า”
*มีคำเฉพาะใช้เรียกสิ่งต่างๆ เช่น ต๊กโต (ตุ๊กแก)
 
คนไทยวนจะเรียกชื่อเดือนทางจันทรคติที่มีมากกว่า 2 เดือน เช่น เดือนอ้าย ที่เป็นเดือนสาม เดือยเจี๋ยง เป็นต้น
 
ศัพท์แสลงของคนไทยวน เช่น เดิบเดอะเดิบเดิ้ง หมายถึง เดินแอ่นหน้าแอ่นหลัง สำหรับภาษาเขียนของไทยวนจะมีภาษาเฉพาะตนเรียกว่าภาษายวนที่ใช้ในการเขียนหนังสือผูกใบลานที่ใช้ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา (หน้า 420)
 
ชาวไทยพวนมีภาษาที่จัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลไทหรือไตภาษายวนเป็นหนึ่งใน 7กลุ่มภาษาใหญ่ๆ ที่สืบทอดภาษายูนานเชียงแสน ที่มีลักษณะพิเศษ คือ เสียงวรรณยุกต์จะใกล้เคียงกับภาษาไทยกลางมากกว่าภาษาไทยอีสาน เช่น คำว่า แม่ จะออกเสียงว่า “แม่” ไม่ใช่ “แหม่” เหมือนภาคอีสาน และจะออกเสียง ”ใ” เป็นเสียงสระ “เออ” เหมือนกับชาวไทยภูไทย และไทยย้อ เช่นคำว่า ”ใต้” ออกเสียงเป็น เต้อ (หน้า 446-447)
 
ภาษาชาวไทโซ่งหรือไทยทรงดำจะจัดอยู่ในภาษาไทหรือไต ภาษาตะวันตกเฉียงใต้ มีภาษาพูดและเขียนคล้ายคลึงกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทหรือไตกลุ่มอื่นๆที่อพยพเข้ามาอยู่ในภาคกลางมีเสียงพยัญชนะ 19 เสียง เป็นพยัญชนะต้นทั้งหมด พยัญชนะท้ายมี 7 เสียง พยัญชนะควบกล้ำ 3เสียง เหมือนกับสระมาตรฐานในภาษาไทย มีสระประสม 2 ประเภท คือ สระประสม 2 เสียง มี 15 เสียง และสระประสม 3 เสียง มี 3 เสียง นอกจากนี้ภาษาเขียนจะมีคำศัพท์เฉพาะบ้าง ได้แก่ ช้างว๋าด, ประจำเฮื่อ, กลางวันละเผ่น, กลางคืนกางกิ๋น เป็นต้น (หน้า 464-465)
 
ภาษาของชาวไทยครั่งหรือลาวครั่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทยหรือไตที่แพร่หลายในตะวันตกเฉียงใต้จะมีคำศัพท์เรียกสิ่งของที่ต่างจากภาษาไทยกลางและภาษาลาวทั่วไป เช่น บักขี้ดา (ฝรั่ง), บักกอ (มะละกอ), พัมอิด (เมื่อกี้นี้), มื้อจ้าว(มื้อเช้า), ฟ้าว(รีบ), บ่จั๊กกะเรอ(ไม่รู้), ขี้ตั๋ว(โกหก),  หยังก๊อ(อะไรล่ะ) สำหรับตัวอักษรจะใช้ตัวไทยน้อย, ตัวไทยอีสาน, บาลี และขอม
ที่มักปรากฏอยู่ในคัมภีร์ใบลาน, สมุดไทยขาว(หน้า 489)
 
ภาษาไทยเวียงหรือลาวเวียงจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทยหรือไตกลุ่มภาคตะวันตกเฉียงเหนือ มีพยัญชนะ 20 เสียง เสียงสระ 18 เสียง มีภาษาเขียนเดียวกันกับกลุ่มลาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(หน้า 509)
 
ภาษาไทยแง้วหรือลาวแง้ว จัดอยู่ในตระกูลภาษาไทยภาคตะวันตกเฉียงใต้ ในแต่ละหมู่บ้านจะมีภาษาพูดที่ต่างกัน บ้างที่ความยาวความสั้นของเสียงและต่างจากภาษาพูดของกลุ่มลาวอื่นๆเช่น คำว่า  “ไปอยู่ไส” จะพูดว่า “ไปอยู่ได๋” มักจะลงท้ายประโยคพูดว่า ”ตี้” มีเสียงวรรณยุกต์ที่อยู่ในกลุ่มลาวหลวงพระบาง (หน้า 520)
 
ภาษาไทยเบิ้งจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทยกลุ่มเดียวกับภาษาญ้อ ในจังหวัดสกลนคร ภาษาพูดจะมีเสียงสั้นเหน่อคล้ายภาษาไทยภาคกลางแถบสุพรรณบุรี, อ่างทอง มีคำเฉพาะหลายคำ
มักลงท้ายเสียงพูดว่าเปิ้ง, เดิ้ง, เหว่ย, ด๊อก เช่น เอาของให้เปิ้ง(เอาของให้หน่อย) อีกทั้งยังมักจะพูดคำสรรพนามแทนตัวเองว่า”เอ๊ง” เช่น ขอเอ๊งก่อน(ขอหนูก่อน) นอกจากนี้ชาวเบิ้งไม่มีภาษาเป็นของตนเองแต่จะใช้อักษรไทยและขอมในการเขียนบันทึกมักปรากฏในการเขียนคัมภีร์ใบลาน (หน้า524)

Study Period (Data Collection)

ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลทางชาติพันธุ์วิทยาในประเทศไทยในปีงบประมาณ2548 (คำนำ)

History of the Group and Community

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่ได้โยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในช่วงประวัติศาสตร์มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภาคกลางด้วยสาเหตุหลักๆดังนี้
 
1.หนีจากความความแห้งแล้งและภัยสงครามจากถิ่นฐานเดิมเข้ามาขอพึงพระบรมโพธิสมภารในการตั้งถิ่นฐานเนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าทำให้มีคนเข้ามาอาศัยอยู่ได้ด้วย
พระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ของพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมเป็นไพร่พลของกรุงศรีอยุธยาได้แก่ มอญ ที่หนีภัยสงครามจากการกดขี่ทางชาติพันธุ์จากภาคใต้ของพม่าโดยโปรดให้ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบ สามโคก ปากลัด จังหวัดกาญจนบุรี และชาวญวนที่หนีภัยสงครามจากการขัดแย้งทางศาสนาโดยโปรดฯให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพ, นครชัยศรี, จันทบุรี อีกทั้งยังมีชาวลาวนครพนม ได้โปรดเกล้าให้เป็นกองลาวอาสารักษาเมืองปากน้ำ และได้ขอย้ายไปที่เมืองพนัสนิคมนอกจากนี้แล้วยังมีชาวจีนที่หนีจากความแห้งแล้งเข้ามา
 
2.) ถูกเกลี้ยกล่อมและเกณฑ์ให้โยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่หลังสงครามเพื่อตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม ได้แก่ ไทยโซ่ง จากแคว้นสิบสองจุไท ช่วงรอยต่อลาวกับเวียดนาม ชาวพวน จากเมือง
เวียงจันทร์และชาวเขมร, กูย จากกัมพูชา เป็นต้น
 
(3.) โยกย้ายเข้ามาทำการค้าจากการสร้างสัมพันธ์ไมตรีและเข้ามาเป็นขุนนางทหารอาสา ได้แก่ ชาวตะวันตก เช่น มุสลิมจากเปอร์เชีย, อินเดีย ชวา, ชาวยุโรป มีทั้ง สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ อังกฤษ และชาวจีน ญี่ปุ่นแขก จาม ฯลฯ

Settlement Pattern

ชาวมอญมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางใต้ของอินเดียบริเวณแคว้นอัสสัม ต่อมาได้อพยพมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีแถบเมืองสะเทิม ทะวัน เททะละ และหงสาวดี (หน้า 369)
 
เส้นทางชาวไทยมอญอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย มี 3 เส้นทาง คือ ทางเหนือเข้ามาทางเมืองตาก เมืองระแหง ด่านแม่ละเมา ทางเหนือเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี และทางตะวันตก เข้ามาทางเมืองอุทัยธานี ช่วงแรกได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนในเขตเมืองชั้นในและชายแดนตะวันตก มี 7 เมืองในแถบชายแดนของจังหวัดกาญจนบุรี คือ เมืองไทรโยค,ท่าขนุน,ท่ากระดาน,ท่าตั่ว,สุ่มลุ่ม,สิงห์ และทองผาภูมิ
 
ต่อมาถูกเกณฑ์ไปอยู่ที่พระประแดง เพื่อเป็นกำลังหน้าด่านชายแดนอ่าวไทย มอญส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ 2 แห่งของภาคเหนือ คือ กลุ่มมอญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
และลุ่มแม่น้ำกลอง (หน้า 369-371)
 
ชาวชองมีข้อสันนิษฐานว่าถิ่นฐานเดิมของชาวชองอยู่ในป่าแถบจันทบุรี ระยอง ตราด และเมืองไพลิน เมืองกำปรด ประเทศกัมพูชา (หน้า 393) ปัจจุบันถิ่นฐานส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้ๆกับเขาสอยดาว เขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี อยู่หนาแน่นในตำบลตะเคียนทอง,ตำบลคลองพลู และมีเล็กน้อยที่ตำบลพลู ตำบลชากไทย และตำบลทับไทร (หน้า 393) ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะอยู่รวมกัน 20-30 ครัวเรือนบนภูเขาสูง ตามหุบเขา หลังคาบ้านมุงด้วยจาก เรียกว่า “ต็อง”(หน้า 394)
 
ชาวไทยเขมรในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตนครราชสีมา เมืองสังขะในภาคอีสาน (หน้า 405) การตั้งถิ่นฐานของชาวไทยเขมรในภาคกลางจะอยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม,อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดราชบุรี (หน้า 406)
 
ชาวกูยที่ตั้งถิ่นฐานในภาคกลางจะอยู่ที่บ้านหนองบัว,บ้านหนองแต้,บ้านสกุณปักษี ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่การอพยพเข้ามายังไม่มีความชัดเจน (หน้า 410)
 
ชาวไทยวนอพยพมาจากภาคเหนือ แถบเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เข้ามาอยู่ในภาคกลาง (หน้า 415) กระจายอยู่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ หมู่บ้านดอนเตาอิฐ ตำบลสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม,จังหวัดลพบุรี,อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์,จังหวัดสระบุรี รุ่นแรกอยู่บริเวณแม่น้ำป่าสัก และจังหวัดราชบุรี บ้านแรกคือบ้านไร่นทีริ่มฝั่งด้านขวาแม่น้ำแม่กลองแล้วขยายมายังชุมชนข้างเคียงคือ ตำบลคูบัว (หน้า 417)
 
ชาวไทยพวนมีถิ่นเดิมอยู่ในเขตเทือกเขา แขวงเมืองเชียงขวาง บนที่ราบสูงตรันนินท์ เขาภาคกลางของลาว ต่อได้อพยพเข้ามายังฝั่งไทยที่เป็นฝั่งซ้ายของลาว (หน้า 441-442) ในภาคกลางมีชาวไทยพวนจำนวนมากที่จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี อยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร (หน้า 443-444)
 
บ้านของชาวไทยพวนมีใต้ถุนสูง เพื่อใช้เป็นที่จักสาน ทอผ้า เก็บเครื่องมอเครื่องใช้ ตั้งคอกวัวควาย เล้าไก่ เป็นต้น ในหมู่พี่น้องมักสร้างบ้านอยู่ใกล้กัน (หน้า 445)
 
ชายไทยโซ่ง หรือไทยทรงดำ มีถิ่นเดิมอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำแดง,แม่น้ำดำ แคว้นสิบสองจุไท คลอบคลุมพื้นที่เขตมณฑลกวางสี,ยูนานของจีนตอนใต้,ภาคเหนือของลาว และภาคเหนือของเวียดนาม ต่อมาได้อพยพมาอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (หน้า 460-461) ครั้งแรกอพยพมาอยู่ที่เพชรบุรี ที่บ้านท่าแร้ว อำเภอท่าแหลม ต่อมาอพยพมาอยู่บริเวณสะพานยี่หน และเข้ามาอยู่เขตบ้านหนองปรงหรือหนองลาเดิม เป็นที่ราบสูง มีลำห้วย ป่าเขาหลายแห่ง และกระจายออกไปตั้งถิ่นฐานในหลายจังหวัด ปัจจุบันมีทั่วภาคกลางแถบตะวันตก (หน้า 462)
 
ชาวไทยเวียงอพยพและถูกเกณฑ์มาจากเมืองเวียงจันทน์ของลาว เพื่อเป็นกำลังเสริมตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี อาศัยอยู่ทั่วภาคกลาง (หน้า 507)
 
ชาวไทยครั่งอาศัยอยู่กระจัดกระจายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี, นครสวรรค์, กำแพงเพชร, พิษณุโลก, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, นครปฐม และกาญจนบุรี (หน้า 485)
 
ชาวไทยแง้วในภาคกลางจะตั้งถิ่นฐานอย่ใกล้หมู่บ้านของชาวไทยพวน มีชุมชนใหญ่อยู่ที่บ้านหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ เริ่มแรกได้อพยพเข้ามาอยู่ในตำบลโพงทางเสือ,บ้านสิง อำเภอบางระจัน แล้วอพยพมาตามลำน้ำเจ้าพระยามาอยู่ที่อำเภออินทร์บุรี และนครสวรรค์ (หน้า 518-519)
 
ชาวไทยเบิ้งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ลาว อพยพเข้ามาในไทยครั้งแรกมาอยู่ที่นครราชสีมา แล้วได้ออกไปตั้งบ้านเรือนใหม่ที่บ้านโคกสลุง,บ้านมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี (หน้า 523)

Demography

ชาวมอญ 7 กลุ่มแรกที่อพยพมาอยู่ในภาคกลาง มีประมาณ 1,000 ครัวเรือนและได้อพยพเข้ามาเพิ่มอีก 5,000 คน ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการขยายเมืองไปถึงปากน้ำ จึงนำกลุ่มมอญราว 300 คน แยกไปตั้งบ้านเรือน เพื่อสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ (หน้า 371)
 
เขมรที่นับถือศาสนาคริสต์ถูกพระยากลาโหม(ปก) เกณฑ์ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือวัดสมอราย (วัดราชาธิวาช) มีจำนวน 300 คน (หน้า 405)
 
 
กลุ่มชาติพันธุ์ในลาวมี 2 กลุ่มใหญ่ คือ ลาวและผู้ไท มีพลเมืองรวมทั้งหมด 60,000 คน (หน้า 422) โดยมีชาวลาวจากเวียงจันทน์ถูกเกณฑ์เข้ามาอยู่ในไทย เมื่อครั้งกบฏเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์ มีประมาณ 16,000 คน (หน้า 413)
 
ชาวไทยเวียงในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ มีประมาณ 1,730 ครัวเรือน

Economy

ชาวไทยมอญแต่ละภูมิภาคมีวิถีชีวิตต่างกัน  บางภูมิภาคจะมีการล่องเรือเพื่อนำสินค้าไปขายหรือเพื่อแลกข้าวเปลือกกับกลุ่มคนไทยที่ทำนา เช่น เกลือ หอม กระเทียม เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องจักสานต่างๆ เป็นต้น
 
นอกจากนี้คนไทยมอญบางกลุ่มจะรับซื้อต้นไม้ ผลไม้ ไม้ประดับจากเกาะเกร็ดมาขาย ในอดีตมีการทำนาเพื่อยังชีพ มีการลงแขกด้วยการระดมคนที่เป็นเครือญาติและเพื่อนบ้านที่สนิทสนมมาช่วย ส่วนในยามว่างจากฤดูทำนาผู้หญิงจะทอผ้า ทอเสื่อ ส่วนผู้ชายจะซ่อมเครื่องมือทางการเกษตร หาฟืน หาปลา เป็นต้น (หน้า 371-372)
 
ชาวไทยเขมรมีอาชีพเกษตรกรรม คนในกลุ่มมีความสัมพันธ์กันเหนียวแน่น ในอดีตไม่นิยมให้ลูกหลานแต่งงานกับคนนอกกลุ่ม แต่ในปัจจุบันไม่เคร่งครัดมากนัก ครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย สืบสายทั้งทางฝ่ายพ่อและแม่ การแบ่งหน้าที่ไม่มีความชัดเจน เนื่องจากทุกคนจะช่วยกันทำทุกหน้าที่ (หน้า 406)
 
ชาวไทยยวนดำรงชีวิตด้วยการทำไร่ทำนาเป็นหลัก เวลาว่างจะทำเกวียนเป็นพาหนะขนส่ง และเลี้ยงโค หน้าแล้งจะตีมีดพร้า กระเท้า ขวาน และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก ผู้หญิงจะทอผ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “ซิ่นก่าน”(หน้า 418)

ชาวไทยวนในอดีตนิยมกินหมาก กินจี้ ทั้งชายและหญิง ไม่เคี้ยวเมี่ยงหรือใบชาหมัก (หน้า 418)
 
ชาวไทยพวนดำรงชีพด้วยการทำนา ทำไร่เป็นหลัก เวลาว่างผู้ชายจะจักสานกระบุง ตระกร้า เครื่องมือหาปลา ผู้หญิงจะทอผ้ามัดหมี่ มีปลาร้าหรือปลาแดกน้ำพริกเป็นอาหารหลัก จะกินกับผักต่างๆ (หน้า 455)
 
ชาวไทยครั่งจะมีวิถีชีวิตที่รักความอิสระ มีความอดทนที่เป็นลักษณะนิสัยเฉพาะ เนื่องจากถิ่นฐานเดิมอยู่บนภูเขา นิยมสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือแยกไปอยู่อย่างสันโดด
ดำรงชีวิตด้วยการทำไร่ ล่าสัตว์ หาของป่า เมื่อชุมชนขยายใหญ่มากขึ้นก็อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในป่าเขาอื่นๆ (หน้า 484) มักตำพริกเกลือใส่กลัก และเสื้อผ้าใส่ห่อเตรียมไว้ เนื่องจากมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานอยู่เสมอ (หน้า 485)
 
ชาวไทยเวียงประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เป็นหลัก เลี้ยงวัวควายไว้ใช้งาน มีงานเสริมในยามว่าง คือ จักสานเครื่องใช้ ทำอุปกรณ์ทอผ้า ซิ่งเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะมีหน้าที่ทอผ้า (หน้า 508)
 
ลาวแง้วเป็นชาติพันธุ์ที่รักอิสระ ใจเย็น มีความเป็นมิตร มีความขยันหมั่นเพียร ทำนา ทำไร่เป็นอาชีพหลัก ในเวลาว่างผู้หญิงจะทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน ผู้ชายจะทำเครื่องจักสาน เช่น
เครื่องมือจับปลา กระบุง ตระกร้า (หน้า 519)
 
ชาวไทยเบิ้งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนานิยมเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร โดยเฉพาะหมูพันธุ์พื้นเมือง เช่น หมูแขม หรือหมูแม้ว ที่มีลักษณะตัวเล็กน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังทำประมง ทำหัตถกรรม เช่น ทำไต้จุดไฟ,ทำลาน เป็นต้น (หน้า 523)
 
ชาวชองในอดีตมีอาชีพตัดไม้ โดยเฉพาะไม้กันเกรา มาขายให้พ่อค้าโรงเลื่อยและชาวสวนพริกไทย การทำไม้จะใช้ควายลาก ควาย 20 ตัวต่อไม้ 1 ต้น แล้วล่องแพมาตามแม่น้ำจันทบุรี ผู้ชายจะเก็บของป่ามาขาย เพียงปีละ 1 ครั้ง ด้วยการล่องแพ ผู้หญิงจะทำนาและทำงานบ้าน การทำนามี 2 แบบ คือ นาไร่ หรือนาในที่สูง และนาในที่ลุ่ม นอกจากนี้ยังปลูกลูกกระวาน ผลิตน้ำมันยาง ไต้ ปัจจุบันชาวชองนิยมทำสวนผลไม้ (หน้า394)

ชาวชองมีข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก กับข้าวส่วนใหญ่ คือ น้ำพริก นำมาโขลกกับเกลือ มีรสเผ็ดจัด กินกับผักต่างๆ และมีอาหารที่ปรุงจากปลา มีกล้วย เผือก มัน กลอย (หน้า 394)

Social Organization

ครอบครัวของชาวไทยมอญเป็นครอบครัวแบบขยาย สืบสกุลทางฝ่ายชายโดยลูกชายคนโต ผู้หญิงเมื่อแต่งงานแล้วต้องแยกไปอยู่บ้านฝ่ายชายและนับถือผีของฝ่ายชาย (หน้า373) วิถีชีวิตของชาวไทยมอญตั้งแต่เกิดจนตายจะเกี่ยวข้องกับวัด วัดถือเป็นศูนย์กลางทางสังคมของชาวไทยมอญ (หน้า 373)
 
ชาวชองมีการสืบเชื้อสายทางฝ่ายแม่ การสร้างครอบครัวใหม่ของหนุ่มสาวชาวชอง ฝ่ายหญิงจะได้รับควาย 1 ตัว หรือ 1 คู่ จากพ่อแม่เป็นสมบัติในการดำรงชีวิต หลังแต่งงานฝ่ายชายต้องย้ายเข้ามาอยู่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการทำมาหากิน 2-3 ปี แล้วสามารถแยกเรือนออกไปอยู่กับฝ่ายหญิงต่างหากได้ แต่ก็มักอยู่บริเวณใกล้ๆกับเรือนของพ่อแม่ (หน้า 394)
 
ชาวไทยพวนเคร่งครัดในการยึกถือจารีตในการปฏิบัติตัวที่เรียกว่า ฮีตสอบสองคองสิบสี่ และเป็นกลุ่มคนที่รักสงบ มีความสามัคคี (หน้า 445) ชาวไทยพวนมีความผูกพันระหว่างเครือญาติทั้งจากสายตระกูลและจากการแต่งงาน เรียกว่า “ดองกัน”จึงมีการเรียกญาติผู้ใหญ่ของอีกฝ่ายว่า “พ่อดอง แม่ดอง ย่าดอง ยายดอง” เป็นต้น (หน้า 445)
 
สังคมของชาวไทยโซ่งจะใช้ระบบการจัดลำดับเครือญาติแบบฝ่ายเดียว โดยสืบสายตระกูลฝ่ายพ่อ (หน้า 463)

ลักษณะครอบครัวของชาวไทยครั่งไม่มีความแน่ชัดว่าเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือขยาย เนื่องจากการโยกย้ายถิ่นอยู่เสมอ แต่ก็ยังมีระบบเครือญาติ ที่มีการเคารพผู้อาวุโสในตระกูล (หน้า 485) ชาวไทยครั่งนิยมแต่งงานกันในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างจากสายโลหิตมากกว่าคนนอก โดยฝ่ายชายจะต้องย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อเป็นแรงงานให้ครอบครัวของฝ่ายหญิง (หน้า 485)

Political Organization

การปกครองของชาวชอง จะมีหัวหน้าหมู่บ้านที่เป็นผู้อาวุโสควบคุมดูแลคนในหมู่บ้าน (หน้า 394)
 
คนในสังคมของไทยโซ่งจะถูกแบ่งเป็น 2 ชนชั้น คือ ตระกูลผี เรียกว่า “ผู้ท้าว”เป็นตระกูลที่สืบสายมาจากเจ้า และตระกูลผู้น้อย ที่สืบสกุลมาจากผู้ที่อยู่ภายใต้ปกครองของเจ้า ก่อให้เกิด
ค่านิยมในสังคม เรื่องการห้ามแต่งงานระหว่างตระกูลที่อยู่ต่างชนชั้น (หน้า 462)
 
การปกครองของชาวไทยครั่งจะมีผู้นำกลุ่มเป็นผู้จัดระเบียบสังคมที่มีตำแหน่งตามระบบเรียกว่า “กองลาว” 

Belief System

ชาวไทยมอญมีความเชื่อเรื่องผีต่างๆ โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ และนับถือพุทธศาสนา พิธีกรรมต่างๆจึงดำเนินควบคู่ระหว่าง 2 ความเชื่อ โดยความเชื่อเรื่องผีของชาวไทยมอญเชื่อว่ามีทั้งผีดีและผีร้าย ซึ่งผีดีของมอญ เรียกว่า ผีโรง เป็นผีบรรพบุรุษ ถือเป็นผีประจำตระกูล
 
ความเชื่อเรื่องผีโรงจะมีการแสดงออกในลักษณะของสัตว์และสิ่งของ ตามความเชื่อของแต่ละตระกูลว่าจะนับถือสัตว์หรือสิ่งของชนิดใด เช่น ผู้สืบตระกูลคือลูกชายคนโตของบ้าน เรียกว่า ต้นผีผ้า ผีงู ผีเต่า ผีไก้ ผีปลาช่อน เป็นต้น (หน้า376) สำหรับการนับถือพุทธศาสนาของชาวไทยมอญ จะมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตมาก ผู้เฒ่าผู้แก่มักเชื่อเรื่องบาปบุญ และให้ความสำคัญต่อ
การบวชของผู้ชาย เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (หน้า 374-377)
 
ชาวไทยมอญแถบวัดม่วง มีพิธีกรรมรอบปีและพิธีกรรมบูชาผีในโอกาสต่างๆ ดังนี้
       1. ประเพณีการบวช 
       2. ประเพณีงานศพ คนมอญถือว่าการตายเป็นเรื่องมงคล คนตายจะได้ขึ้นสวรรค์ จึงมีพิธีไว้อาลัยและกิจกรรมบันเทิงแก่ผู้ตาย และไว้อาลัยผู้ตายด้วยการจัดพิธี “นางร้องไห้”
(ฮะเรอแยม) อีกทั้งยังมีหมอลำ (ปัวทะเปิ้น) ที่มีปี่พาทย์มอญ เพื่อส่งผู้ตายขึ้นสวรรค์
       3. ประเพณีสงกรานต์จะมีขึ้นในช่วงเดือน 5 ตั้งแต่วันที่ 13-18 ของทุกปี (หน้า 383)
       4. ประเพณีออกพรรษา ช่วงเช้าจะมีการตักบาตรเทโวโรหนะหรือการตักบาตรพระร้อย ช่วงเย็นจะมีการเฉลิมฉลอง มีการเล่นพลุไฟ (หน้า 386)
       5. ประเพณีทำบุญผีกระจาด จัดขึ้นในตระกูลที่นับถือผีกระจาด
       6. พิธีรำผีมอญ (เจี้ยละอะตาว) จัดขึ้นทุกปี เพื่อเซ่นไหว้ เมื่อมีการแบ่งผี เพื่อแก้ความทุกข์ของชาวบ้านและผู้ที่ผิดผี (หน้า 388)
 
ชาวชองนับถือศาสนาพุทธ และนับถือผี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ การดำเนินชีวิตต้องดำเนินตามอย่างบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด ในบ้านจะมีหิ้งผี ที่มีการเซ่นไหว้ทุกปี ประเพณี พิธีกรรม ของชาวชอง ได้แก่ พิธีแต่งงาน เรียกว่า กาตัก การเล่นผีหิ้ง ผีโรง ประเพณีการเกิด พิธีโกนผม พิธีโกนจุก ประเพณีงานศพ ประเพณีทำบุญสังคายนาที่บ้าน เรียกว่า ทำบุญรวมญาติ หรือทำบุญ
ผีหมู่ ประเพณีทำบุญคาถาคาพัน,ประเพณีทำบุญทรายนำไหล และประเพณีลงแขก (หน้า 394-400)
 
ชาวไทยเขมรนับถือพุทธศาสนา และนับถือผี มีประเพณีรอบปีเดียวกับกลุ่มคนไทยอื่นๆ สำหรับการนับถือผีจะปรากฏให้เห็นในพิธีเข้าทรงผี เรียกว่า “ทำผี” ผีในความเชื่อของชาวไทยเขมร มี 2 ฝ่าย คือ ผีดี ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ และผีไม่ดี ได้แก่ ผีไม่มีญาติ ผีตายโหง เป็นต้น (หน้า 406) การเซ่นไหว้ผีไม่ดี จะเรียกว่า “ทำบน” สำหรับคนป่วย เมื่ออาการทุเลาลงจะมีการทำพิธี
ที่เรียกว่า “เซ่นกบาล”(หน้า 407)
 
ชาวไทยกูยนับถือศาสนาพุทธ พราหมณ์ และนับถือผี โดยจะมีประเพณีไหว้พระจันทร์ เรียกว่า “พระแข”จะจัดช่วงวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี มีการเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของน้ำในฤดูทำนาครั้งต่อไปด้วยการเซ่นไหว้พระจันทร์ (พระแข) (หน้า 411)
 
ประเพณีพิธีกรรมของชาวไทยวน สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ได้แก่ ประเพณีการเกิด ประเพณีการบวช ประเพณีแต่งงาน ประเพณีปลูกสร้างบ้านเรือน และประเพณีตีกลองประจำวัด ส่วนประเพณีตามเทศกาล ได้แก่ ประเพณีทำบุญวันพระ ประเพณีทานธรรมคนเฒ่า ประเพณีทอดผ้าป่าคนเฒ่า ประเพณีตานขันข้าว(ทานขันขันข้าว) ประเพณีตรุษสงกรานต์ ประเพณีวันสารท ประเพณี กิ๋นเข้าสลาก (สลากภัตต์) ประเพณีถวาย ผาสารทเผิ้ง (ประสาทผึ้ง) ประเพณีกวนข้าวทิพย์ ประเพณีเทศน์มหาชาติ ประเพณีจุดใต้ตีนกา (ตามประทีป) และประเพณีสู่ขวัญ (หน้า 421-431)
 
ชาวไทยพวนจะนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผีโดยเฉพาะผีบรรพบุรุษและผีฟ้า ทุกปีจะมีพิธีบูชาผี ประเพณีพิธีกรรมที่ชาวไทยพวนบางส่วนเลิกปฏิบัติ แต่ก็ยังมีชาวไทยพวนบางส่วนที่ยังปฏิบัติเหมือนกันอยู่ คือ ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีที่ทำการเคารพสักการะฟ้าและประเพณีใส่กระจาดซึ่งจัดขึ้นในงานเทศน์มหาชาติอีกทั้งยังมีประเพณีลงข่วงเป็นประเพณีที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวพบปะกัน นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่ปฏิบัติในบางหมู่บ้านแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ได้แก่ ประเพณีการเกิด ประเพณีการแต่งงาน และประเพณีตามเทศกาลในรอบปี ได้แก่ ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ประเพณีทานข้าวเม่าบุญข้าวเม่า ประเพณีบุญข้าวหลาม ประเพณีบุญข้าวจี่ ประเพณีอาบน้ำก่อนกา ประเพณีสูตเสื้อผ้า ประเพณีแห่นางแมว ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตาหรือเก๊าผี ประเพณีส่งกระทง ทำบุญล้อมบ้าน ประเพณีไล่ผีย่าเจี้ยวหรือผีไม่มีญาติ ประเพณีสารทพวน ประเพณีทานข้าวเปลือก ประเพณีบุญมหาชาติ ประเพณีบุญลานหรือเฮียะขวัญข้าว และประเพณียาสารทผึ้ง (หน้า 449-454)
 
ชาวไทยโซ่งนับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผี บรรพบุรุษและผีต่างๆ คือ ผีแถน มีหลายองค์ ได้แก่ แถนหลวง  แถนชนา แถนแนน แถนบุญ แถนเคอ แถนเคาะ แถนสัดและแถนนุ่งขาวผีบ้านเป็นผีประจำหมู่บ้าน ผีป่า ผีบรรพบุรุษหรือผีเรือน นอกจากนี้ไทยโซ่งยังมีความเชื่อเรื่องขวัญ ในเรื่องประเพณีพิธีกรรมไทยโซ่งจะมีพิธีเรียกว่าเสนแบบต่างๆ ดังนี้ (1.)พิธีเสนเรือน (2.)พิธีเสนมด (3.)เสนปาดตง (4.)พิธีเสนโต๋ (5.)พิธีเสนฆ่าเกือด (6.)พิธีเสนเต็ง (7.)พิธีเสนกวั๊ดกว้าย (8.)พิธีเสนแก้าเคราะห์ (9.)พิธีแต่งงาน (10.)พิธีแปงขวัญ (หน้า 465-471)
 
 
ชาวไทยครั่งนับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผี มีความเชื่อเรื่องผีว่า ผีมี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเจ้านาย และฝ่ายเทวดา ในชุมชนจึงถูงแบ่งออกเป็น ฝ่ายที่นับถือผี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่นับถือผีเจ้านาย และฝ่ายที่นับถือผีเทวดา โดยฝ่ายที่นับถือผีเจ้านายจะมีการสร้างศาลประจำหมู่บ้านและอัญเชิญผีเจ้านายให้มาสถิตในศาล เรียกว่า “หอเจ้านาย” ความเชื่อเรื่องผีเจ้านายถูกนำมาใช้จัดระเบียบสังคมด้วยการมีข้อห้ามเรื่อง “ผิดผี” โดยเฉพาะเรื่องเพศ หากผิดผีจะต้องมีการเซ่นไหว้ขอขมาผี (หน้า 487) ส่วนฝ่ายที่นับถือผีเทวดา จะมีหิ้ง ที่เรียกว่า “หิ้งเทวดา”ตั้งอยู่ในบ้านของคนต้น เรียกว่า “นางบิน”หิ้งเป็นที่สถิตของเทวดา และมีข้อห้ามต่างๆ ซึ่งแผงเรื่องการประพฤติตนตามแบบจารีตไว้เช่นกัน (หน้า 488)
 
ประเพณีพิธีกรรมของชาวไทยครั่ง แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเพณีในรอบปี และประเพณีตามความเชื่อของกลุ่มคนที่นับถือผีเจ้านาย โดยประเพณีในรอบปี ได้แก่ งานแห่ธงสงกรานต์ พิธีกรรมในการสร้างบ้านใหม่ พิธีบวชนาค พิธีแฮกนา พิธีเลี้ยงมารข้าว พิธีทำขวัญข้าวหรือสู่ขวัญข้าว พิธีทำบุญสารทเดือนสิบ และพิธีปิดบ้านในเดือน 6 (พฤษภาคม) ส่วนประเพณีตามความเชื่อของกลุ่มคนที่นับถือผีเจ้านาย ได้แก่ พิธีเลี้ยงผีเจ้านาย พิธีบนบานศาลกล่าว พิธีแปลงผิด พิธีการเกิด พิธีบวช พิธีแต่งงาน และพิธีศพ (หน้า 489-496)
 
ชาวไทยเวียงนับถือศาสนาพุทธ พราหมณ์ และผี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษถือว่าเป็นผีขั้นสูงที่ให้ทั้งคุณและโทษขึ้นอยู่กับการประพฤติตามจารีตประเพณีที่ถูกต้อง ในชุมชนชาวไทยเวียงจะมีผีประจำหมู่บ้าน เรียกว่า เจ้าพ่อ และยังนับถือผีผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน เช่น ผีตาแฮก แม่โพสพ(หน้า 509) จากความเชื่อของชาวไทยเวียงก่อให้เกิดประเพณีพิธีกรรมตามเทศกาลที่ชาวไทยเวียงนิยมจัดขึ้น ได้แก่ พิธีขอพื้นที่ทำกินจากผีบรรพบุรุษหรือผีปู่ตา,พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ, พิธีเอาฝุ่นเข้านา พิธีแฮกนา พิธีแฮกดำ พิธีสู่ขวัญควาย พิธีทำขวัญแม่โพสพ พิธีปลงข้าว พิธีทำบุญคูนลานข้าว ประเพณีบุญข้าวหลาม ประเพณีบุญเดือนสิบ และพิธีแต่งงาน (หน้า 509-514)
 
ชาวไทยแง้วจะนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผี ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเรือน พระภูมิเจ้าที่ แม่โพสพ เป็นต้น โดยจะมีประเพณีพิธีกรรม ได้แก่ ประเพณีเพาะกระจาด ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา เช่น ที่บ้านหนองโดน จังหวัดสระบุรี จะนับถือศาลปู่ตา หรือปู่จุ้ย มีการเซ่นไหว้ในช่วงกลางเดือน 6 ของทุกปี ในวันพฤหัสบดี คนทรงเป็นผู้หญิง และจ้ำ(ผู้ปรนนิบัติ)เป็นผู้ชาย และ
ประเพณีบุญกลางบ้าน (หน้า 519-520)
 
ประเพณีของชาวไทยเบิ้ง ได้แก่ พิธีบวชพระ ทำขวัญข้าว ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ประเพณีรับท้องข้าว (หน้า 524-525)

Education and Socialization

ชาวไทยมอญสมัยก่อนจะบวชเรียนเพื่อศึกษาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เนื่องจากไม่มีโรงเรียน ชาวมอญจะได้รับการศึกษาในวัดผ่านบทสวดมนต์ และจากคัมภีร์ภาษมอญโบราณต่างๆ เช่น คัมภีร์ใบลานที่มีการบันทึกเรื่องเกี่ยวกับจารีตประเพณีสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะหลักการครองตนของพระสงฆ์ ตำรายา เป็นต้น ในปัจจุบันชาวไทยมอญหลายชุมชนสามารถอ่านและเขียนภาษมอญได้ (หน้า 373, 377)

Health and Medicine

ชาวไทยวนโบราณจะมีวิธีรักษาฟันให้แข็งแรงด้วยการกินจี้ ด้วยกานน้ำไม้ดู สับย่อยเป็นชิ้นๆ จุดไฟเผาให้มีควัน นำมาผานคันไถรับควันให้เขม่าจับที่ผาน แล้วเอานิ้วมาปาดเขม่านำไปถูฟัน (หน้า418)
 
การรักษาโรคของชาวไทยพวนในอดีต จะใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้านร่วมกับพิธีกรรมเกี่ยวกับผี (หน้า 445)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ชาวไทยมอญ มีเครื่องใช้ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เครื่องปั้นดินเผา เช่น เตาวง เป็นเตาดินเผาไม่เคลือบ มีทรงเป็นวงกลม หน้าตัดเป็นช่องใส่ฟืน มีนมเตา 3 เต้า ด้านในยื่นออกมาเพื่อรองรับภาชนะ ด้านข้างเตามีรู 3 รู เพื่อระบายอากาศ ใช้หุงต้มในครัวเรือน (หน้า 372)
 
ตุ่มดินเผาของชาวไทยมอญ ใช้ใส่น้ำดื่ม เรียกว่า “อี่เลิ้ง”เป็นรูปทรงกลมปากแคบ ขอบปากม้วนออกติดไหล่ ตรงกลางบวมป่อง ไหล่ผาย ฐานตัด เนื้อดินมีสีแดง หนา ไม่เคลือบ มีหลายขนาด น้ำหนักมาก ขนาดเล็กนิยมใส่ข้าวสารและน้ำล้างเท้า (หน้า 372)
 
อิฐมอญ คนมอญสามโคกนิยมผลิตมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลายรูปแบบ บนแผ่นอิฐจะเจาะรู 8 รู ทะลุทั้งสองด้าน นิยมนำมาปูเป็นทางเท้า กำแพง และผนัง (หน้า 372)
 
โลงศพของชาวไทยมอญ มี 2 แบบ คือ โลงศพชาวบ้านมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กลางคลอด ปากผายออก ฝาโลงตัดเรียบ ตัวโลงมีหน้าต่างจำลอง 3 บาน เป็นลักษณะปราสาท ฝาทำเป็นลักษณะยอดปราสาทราชมณเฑียร (หน้า 381) และโลงศพของพระสงฆ์ จะเป็นโลงทรง “ลุ้ง”ส่วนบนผายออกคล้ายดอกผักบุ้ง มีฝาครอบเป็นรูปที่สื่อความหมายถึงสวรรค์ (หน้า 380)
 
ชาวไทยมอญมีที่นังสำหรับพระสงฆ์ เรียกว่า “ธรรมาสน์” พบมากกลางชุมชนไทยมอญ จังหวัดปทุมธานี มีรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1. ธรรมาสน์ยอดโดม ยอดหลังคาเป็นรูปโดม ผังสี่เหลี่ยม ปูด้วยไม้โค้งมน 4 ด้าน 4 มุม คล้ายฝาชี เป็นรูปดดกบัวตูม เชิงชายประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกระจงรอบๆ มีการฉลุลายสวยงามที่ช่องลม ตรงกลางมีเสาสี่เหลี่ยม 4 ต้น รับโครงหลังคา ที่นังมีผนักกั้น 3 ด้าน ฐานเป็นกรอบแท่งสี่เหลี่ยมฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีลายประดับ 4 ด้าน (หน้า 389)

2. ธรรมาสน์ “บุษบก” เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผังหกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม และทรงกลม ยอดทำเป็นปราสาทลดหลั่นลงมา 45 ชั้น ตรงกลางมีทั้งย่อมุมไม้สิบสองและไม่ย่อมุม ประดับลวดลายประจำยาม กรอบซุ้มเรือนแก้ว แกะสลักลายสาหร่ายรวงผึ้ง ฐานสี่เหลี่ยมหรือย่อมุมไม้สิบสอง ลดหลั่น 34 ชั้น ประดับลวดลายประจำยาม ประกอบด้วยสายกระจัง ฐานสิงห์ สลักรูปครุฑ สิงห์ เทพพนมโดยรอบ ทางขึ้นเป็นบันไดนาค 35 ขั้น (หน้า 389)

3. ธรรมาสน์ยอดนางชี จะเรียบตรง ฐานและหลังคาตัดเรียบ ประดับลายหน้ากระดานดอกไม้ ใบไม้ ฉลุลาย 4 ด้าน มุมหลังคามีหัวเสาเป็นไม้กลึงโครงหลังคา ฝ้าเพดานมีกรอบไม้ย่อมุม ตรงกลางประดับดาว เพดานเป็นลายไม้ฉลุในวงกลม ในธรรมาสน์จะตั้งโต๊ะหมู่บูชาแบบหมู่ 9 แถวกลางตัวแรกเป็นทางขึ้นลง ตัวที่สองตรงกลางเป็นที่นั่งพระสงฆ์ มีพนักพิงด้านหลัง
ขอบโต๊ะจะแกะสลักลายบัวหงาย ขอบด้านข้าง 3 ด้าน ตกแต่งด้วยลาเครือเถา ดอกพุดตาน ขาเป็นขาหมูติดลง ปิดทองล่องชาด (หน้า 389)
 
ชาวไทยมอญมีการละเล่นที่ผสมความเชื่อเรื่องผี ได้แก่ การละเล่นผีกะลา ผีสุ่ม ผีลิง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ ให้คนนั่งยองๆเป็นวง คนเล่นอยู่ตรงกลาง มีการเชิญผีให้เข้าสิง แต่จะแตกต่างตรงบทร้องเชิญผี อุปกรณ์ในการเล่น และท่าทางหลังจากผีเข้าแล้ว (หน้า 384)
 
ชาวชองมีการละเล่นกีฬาพื้นบ้าน เช่น แข่งยิงกระสุนดิน เล่นลูกข่าง และเล่นสะบ้า การเล่นลูกข่างจะมีผู้เล่น 2 ฝ่าย ปั่นลูกข่างแข่งกัน โดยขีดเส้นเป็นวงกลม 3 วงซ้อนกัน ฝ่ายแรกจะปั่น
ลูกข่างลงในวงชั้นในสุด ให้อีกฝ่ายหนึ่งปั่นให้ลูกข่างฝ่ายตรงข้ามกระเด็นออกนอกวงมากที่สุด (หน้า 402)
 
โลงศพของชาวไทยวนมีลักษณะที่ปากผายออก ก้นสอบ มีฝาครอบทรงสูง ส่วนบนสอบเข้าคล้ายหลังคา มีไม้ไขว้บนหัวจั่ว เรียกว่า “กาแล”

ปัจจุบันบ้านจะเป็นแบบไทยภาคกลาง มี 3 ขนาด คือ เรือนถาวร มี 34 หลัง มีเรือนประธาน 1 หลัง และเรือนบริวารเรียงกัน มีทางเดินเชื่มต่อทุกหลัง เป็นเรือนไม้เนื้อแข็ง เป็นฝาเฟี้ยมหรือฝาปะกน มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง มีห้องครัวทางทิศใต้ ใต้ถุนสูง ทิศเหนือมียุ้งฉาง ส่วนเรือนขนาดกลาง เป็นเรือนไม้เนื้อแข็งใช้เสาไม้ทั้งเปลือกหรือทุบเปลือก ฝาเป็นไม้กระดานทั้งแผ่น หลังคามุงด้วยหญ้าคา สำหรับเรือนที่มีขนาดเล็กสุด ตือ ตูบหรือกระท่อม ใต้ถุนเตี้ย มีเพียงแคร่สำหรับนอนเท่านั้น (หน้า 433-434)
 
เครื่องแต่งกายของผู้ชายไทยวน จะนุ่งโสร่ง หรือกางเกงหูรูดผ้าฝ้ายย้อมสีดำด้วยมะเกลือ ไม่สวมเสื้อ แต่จะสวมเมื่อเข้าร่วมงานประเพณี จะสวมเสื้อม่อฮ่อม ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก นุ่งซิ่นสีแดง ที่เป็นผ้าซิ่นตาหมู่ หรือซิ่นซิ่ว เวลาไปวัดจะนุ่งโสร่ง หรือโจงกระเบน (หน้า 434)
 
ผ้าซิ่นตีนจกเป็นเอกลักษณ์ในเครื่องแต่งกายของชาวไทยวน โดยมีหัวซิ่นที่ทำจากผ้า 2 ผืนเย็บติดกัน ผืนบนเป็นผ้าดิบสีขาว ผืนล่างเป็นผ้าสีแดง จะกว้างกว่าหัวซิ่น แต่แคบกว่าตัวซิ่น มักทำเป็นลวดลายพิเศษสวยงาม ตัวซิ่นเรียกว่าซิ่นก่าน ที่มีการทอลายด้วยเทคนิคต่างๆ หัวซิ่นกับตัวซิ่นไม่มีการจกเรียกว่า กลาย และยังมีซิ่นเตา เป็นผ้าทอพื้นสีแดงสลับเขียวจกลายประกอบเป็นระยะ ซิ่นแล่ เป็นผ้าทอลายพื้นสีดำคาดแถบแดง (หน้า 434-435)
 
เรือนไทยพวนที่ลพบุรี นิยมฉลุลายไม้ให้เป็นช่องลม เรียกว่า “โปร่ง”
 
เรือนของชาวไทยพวนเป็นเรือนแฝด แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
1. เรือนแฝดจั่ว หลังคาสูง มีเหงาป้านลม ชายคายื่นออกมาจรดกันเป็นรางน้ำตรงกลาง มีเรือนครัวทางด้านหลังใต้จั่วแรกทางทิศตะวันออกเป็นหัวนอนและห้องพระ จั่วที่สองเป็นโถง
ชานเปียกและชานแดด ทิศเหนือป็นเรือนครัวและยุ้งข้าว
2.เรือยแบบโถงโปร่งเหมือนเรือนจั่วแฝดแต่หลังคาเป็นปั้นหยาแบบเรือนมะลิลา (หน้า 455-456)

เครื่องจักสานของชาวไทพวนที่ยังทำใช้ในครัวเรือนปัจจุบัน ได้แก่ กะเต่า หรือตระกร้า ซ้าแฮหรือกะซ้า กระบุง กระด้ง กะโล่ กระจาดหาบ สาแหรก เบ็งหมาก  กะพ้อม กระบวย กระทอ หรือกวย กะชุบ ข้อง ไซกบ เลิง สุ่มไก่ สุ่มปลา ลอบ ตะกร้าใส่ปลา ขอบข้าว ก่องข้าว มวยนึ่ง ข้าว อู่ หรือเปล กระชอน กวัก พาข้าว กะโช้ หรือชงโลง วีข้าว และตาแหลว (หน้า 465-458)
 
ชาวไทยโซ่งมีชุดที่เรียกว่า “ไทยทรงดำ” เป็นเอกลักษณ์ ผู้ชายจะใส่เสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีดำด้วยมะเกลือ เรียกว่า “เสื้อไท” ผ่าหน้าตลอด มีกระดุมเป็นเงินหัวเม็ดทรงมัณฑ์ 10-15 เม็ด คาดเอวด้วยผ้าขาวม้า ในงานสำคัญจะใส่ผ้าขาวม้าไหม นุ่งกางเกงขาสั้นสองส่วน ปลายขาแคบเรียวยาวปอดเข่า เอวกว้าง แบบเย็บต่อตะเข็บกางเกงจีน ผู้หญิงใส่เสื้อฝ้ายย้อมสีดำ สีครามแก่ เข้ารูป เอวสั้น แขนกระบอกรัดข้อมือ คอจีน ผ่าหน้า ติดกระดุมเงินหัวเม็ดมัณฑ์ 5-10 เม็ด  เรียกว่า “เสื้อก้อม” นุ่งซิ่นฝ้ายแกมไหมย้อมสีดำหรือครามแก่ มีลายริ้วแนวดิ่ง ตีนซิ่นทอขิดผสมจกเป็นลวดลายต่างๆ กว้าง 2-3 นิ้ว การนุ่งซิ่นจะจับผ้ามาชนตรงกลางแล้วขมวดเก็บไว้หน้าท้อง คล้ายการนุ่งกางเกงขาก๊วย  ส่วนชุดที่ใส่ในโอกาสพิเศษเรียกว่า “เสื้อฮี”(หน้า 472-473)
 
ผู้หญิงไทยโซ่งนิยมใส่เครื่องประดับที่สำคัญ ได้แก่ ต่างหูเงินรูปดอกไม้ ปิ่นเงินรูปตัวยู สร้อยพานหลา สร้อยคอเงิน กำไลข้อเท้าที่ทำจากเงิน ทอง นาค นอกจากนี้ยังมีทรงผมตามความยาวหลาก และตามอายุ หลายแบบ ได้แก่ เอื้อมไหล่ หรือเอื้อมไร คือ การปล่อยผมยาวปะบ่า คนผมยาวเลยไหล่ และสับปิ่น จุกผม สำหรับสาวอายุ 13-14 ปี ขอดกะตอก คือ การผูกปมเชือกเงื่อนตาย รวบไว้ด้านหลัง ปล่อยชายลงมาทางขวา และขอดซอย คือ ทรงผมยาว ผูกปมเชือกเงื่อนตาย ให้ชายผมอยู่ด้านซ้าย ด้านหน้าทำเป็นโบสองข้าง สำหรับสาวอายุ 16-17ปี (หน้า 474) นอกจากนี้ยังมีการทอผ้าแบบอื่น เช่น ผ้าซิ่นลายแตงโม ผ้าซิ่นตาหมี่ ผ้าเดปียว มู่หรือหมวก หลวมหรือกระเป๋าคาดเอว (หน้า 476-477)

ในเวลาว่าง ผู้หญิงไทยครั่งจะนิยมทอผ้า ผู้ชายจะทำเคื่องจักสานต่างๆ เวลาอยู่บ้านผู้หญิงจะนิยมนุ่งซิ่น ใส่เสื้อคอกระเช้า เวลาออกนอกบ้านจะใส่กางเกงขาก๊วยสีดำใส่เสื้อเชิ้ตสีดำ หรือสีน้ำเงินแขนยาว ส่วนผู้ชายจะใส่กางเกงขาก๊วยสั้น หรือขายาว (หน้า 485)
 
ชาวไทยครั่งมีผ้าทอเป็นเอกลักษณ์ คือ ใช้ครั่งย้อมสีแดง มักใช้สีโทนร้อนที่เป็นสีคู่ตรงข้ามที่ตัดกันรุนแรงในการย้อม ด้วยการสีสันและลวดลายไว้อย่างอิสระ ลวดลายจะมีลักษณะนูนหนา เนื่องจากการใช้วิธีทบเส้นใยฝ้ายหรือไหมแบบเส้นพุ่งพิเศษ มีเทคนิคในการทอผ้าแบบขิด จก และมัดหมี่ นิยมใช้มือจกลวดลาย ทอแบบคว่ำลาย คือ ทอให้ลายลงข้างล่าง แล้วกลับด้านหลังผ้าขึ้นเพื่อเก็บปมเส้นพุ่งพิเศษด้านบนจกด้วยการผูก และเพิ่มเทคนิคพิเศษด้วยการเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษผ่านเส้นด้ายเป็นช่วงๆ อย่างมีสีสันตลอดหน้ากว้างของผ้า
 
นอกจากนี้แล้วยังมีผ้าที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและวิถีชีวิต ได้แก่ ผ้าหน้ามุ้ง ผ้าห่มลาย ผ้าห่มขาว และผ้าขาว ถงหรือถุง ผาขาวม้าที่มีลวดลายต่างกัน ได้แก่ ผ้าขาวม้าตามะกอก(ตาหมากรุก) นิยมทำเป็นสีคู่สองสี,ผ้าขาวม้าตาเล็กๆ มีหลายสี ผ้าขาวม้าลายใส้ปลาไหล หรือตาสะแคง ผ้าจะแคบกว่าผ้าขามม้าทั่วไปทอลายเป็นริ้วตามทางยาวสลับสี ผ้าขาวม้าตาหมู่ ทอลวดลายผสมระหว่างลายไส้ปลาและลายตามะกอก สำหรับผ้าอื่นๆ ได้แก่ มุ้ง หมอน ผ้าห่ม ผ้ารองพานบวช ผ้าคลุมศีรษะนาค ผ้าห่มคลุมโรงศพ ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าปูอาสนหรือผ้ารองนั่งของพระสงฆ์ ผ้ากั้นหรือผ้าม่าน หมอนเท้า หมอนน้อย ธุงหรือธง ผ้าซิ่น ผ้าถุง ชุดแต่งงาน (หน้า 497-502)

ลายจกในผ้าซิ่นของชาวไทยครั่งมี 2 ลักษณะ คือ ลวดลายที่มีโครงสร้างรูปเลขาคณิต และลวดลายที่มีโครงสร้างเป็นรูปหยักฟันปลา โดยลายที่สืบทอดจนเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของไทยครั่ง ได้แก่ ลายกาบ ลายขอขื่อ ลายขอเก่า ลายขออีโง้ง ลายขอระฆัง ลายช่อ ลายดอกน้อย ลายดอกแก้ว ลายหงส์ ลายนาค ลายเต่า ลายนก ลายขาเปีย และลายประกอบ 1ลาย
ซึ่งลายต่างๆ จะมีที่มาและแฝงไปด้วยความเชื่อต่างๆ (หน้า 501)
 
ซิ่นของไทยครั่ง ตัวซิ่นจะทอด้วยผ้ามัดหมี่และจกหลากหลายแบบ เช่น ซิ่น หรือหมี่โลด ทอแบบต่อเนื่องไม่มีเทคนิคการทอแบบอื่น ซิ่นหมี่ตา ทอแบบขิดสลับกับทอแบบมัดหมี่ ซิ่นหมี่น้อย ทอให้เกิดลายริ้วเล็กๆ เป็นแถบขนานกับลำตัว ซิ่นก่าน ทอด้วยการจกด้วยฝ้ายหรือไหม ซิ่นดอกดาว มีพื้นสีดำ น้ำเงิน มีลายดอกไม้เล็กกระจายทั่วผืนผ้า ซิ่นดำย้อมมะเกลือ และซิ่นฝ้ายมัดมี่ย้อมคราม สำหรับผู้หญิงสูงอายุใช้ใส่ไปนา ซิ่นดำดาน ซิ่นฝ้ายย้อมสีดำด้วยมะเกลือหรือคราม ช่วงล่างซิ่นจะทอสลับสี มีสีเหลือง แดง เขียวและอื่นๆ ตามชอบสำหรับเด็กผู้หญิงใช้นุ่ง ซิ่นดอก ใช้ด้ายยืนสีแดงหรือดำ ทอขิดสลับกับจกทั้งผืนด้วยด้ายหรือไหมพุ่งสีต่างๆ จะทอตีนซิ่นก่อนด้วยการขิด จก แล้วทอต่อตัวซิ่นเป็นลายดอกไม้ ลายเรขาคณิต ในปัจจุบันไม่มีแล้ว ซิ่นมุก ซิ่นสิบซิ่ว เป็นซิ่นสองตะเข็บ จะทอตีนซิ่นด้วยการขิดสลับจกก่อน แล้วทอจนถึงตัวซิ่น ทอด้วยฝ้ายหรือไหมพื้นสีดำ ตัวซิ่นขิดด้วยด้ายหรือไหมสีเขียวลายต่างๆ สลับกับทอด้วยผ้าพื้นสีดำขวางตามลำตัวสิบแถว (หน้า 501-502)
 
ยุ้งฉางของชาวไทยเวียง ที่บ้านหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ มี 2 รูปแบบ คือ เป็นอาคารไม้รูปสี่เหลี่ยม กว้าง 2 เมตร สูงจากพื้น 1.5 เมตร ผนังใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะ ยาด้วยมูลวัวควายผสมดิน บางหลังใช้ไม้กระดานปิดทึบทั้ง 4 ด้าน ทำประตูด้านหนึ่งเพื่อขนข้าวเปลือก จะใช้ไม้พาดเป็นบันไดเมื่อมีการขนข้าว ไม่นิยมทำบันได ส่วนอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “กะพ้อม” จะสร้างด้วยไม้ไผ่สาน มีผังทรงกระบอกตรงกลางป่องเล็กน้อย ลายขัดทึบหลายขนาด สูง 13 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ยาด้วยมูลวัวควายผสมน้ำ จะวางไว้ในเพิงยกแคร่ติดกับ
ตัวเรือน (หน้า 515)
 
ในเวลาว่าง ผู้หญิงไทยครั่งจะนิยมทอผ้า ผู้ชายจะทำเคื่องจักสานต่างๆ เวลาอยู่บ้านผู้หญิงจะนิยมนุ่งซิ่น ใส่เสื้อคอกระเช้า เวลาออกนอกบ้านจะใส่กางเกงขาก๊วยสีดำใส่เสื้อเชิ้ตสีดำหรือสีน้ำเงินแขนยาว ส่วนผู้ชายจะใส่กางเกงขาก๊วยสั้น หรือขายาว (หน้า 485)
 
เครื่องแต่งกายของชาวไทยเวียง ผู้ชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำ เสื้อแขนยาว คาดผ้าขาวม้าที่พุง ผู้หญิงจะนุ่งซิ่น หรือผู้หญิงที่อายุ 40-50 จะนุ่งโจงกระเบน (หน้า 519)
 
 
ชาวไทยเบิ้งนิยมนุ่งผ้าฝ้าย คนเฒ่าคนแก่ผู้หญิงจะนุ่งโจงกระเบนสีเข้ม ใส่เสื้อคอกระโจม เสื้ออีแปะ นิยมใส่ต่างหู สะพายย่าม ยังมีการทอผ้าลายหมากรุก ผู้ชายนิยมสักตามร่างกาย เพื่อความอยู่ยงคงกระพัน และแสดงถึงการได้บวชเรียนมาแล้ว (หน้า 524)
 
บ้านของชาวไทยเบิ้งเป็นเรือนไทยใต้ถุนสูง ประตูหน้าต่างมีขนาดเล็ก นิยมกรุฝาเรือนด้วยฟาก เรียกว่า “ผาค้อ”(หน้า 525)
 
ผ้าขาวม้าของชาวไทยเบิ้งจะทอด้วยฝ้ายสีฉูดฉาด ทอเป็นลายสี่เหลี่ยม ทั้งตาคู่หรือลายตาสองลอน,ลายตาคู่แทรก,ลายตาราง
 
เครื่องจักสานของของไทยโซ่ง ได้แก่ กะเหล็บ กะแอบ ขมุก ปานหรือปานเสน ซ้าไก่ไถ่ ตาแหลวหรือเฉลว ไม้ถู่ และแหล่ (หน้า 478-479)
 
เรือนของชาวไทยโซ่ง เรียกว่า “เฮือนลาว”เป็นเรือนเครื่องผูก สร้างด้วยไม้ เสาเรือนใช้ลำต้นไม้ถากได้รูป คงง่ามไว้สำหรับวางคาน ฝ้าหลังคาเป็นไม้ไผ่ขัดแตะเป็นตาราง พื้นเรือนเป็นฟากไม้ไผ่ ฝาผนังเป็นไม้ไผ่ขัดแตะตั้งให้ช่วงบนผายออกไม่ชนหลังคา ไม่มีหน้าต่าง หลังคาสูงมุงด้วยหญ้าคา ชายคายาวลงมาปกถึงระดับพื้นเรือน ด้านหน้าเป็นชานลดระดับ เปิดโล่ง มีบันไดขึ้นพาดที่ชาน ไม่นิยมกั้นห้องนอน (หน้า 479)
 
ชาวไทยโซ่งมีการละเล่นที่เรียกว่า เซิ้งแคน ที่มีแคนเป็นเครื่องดนตรี มีการปรบมือ 3 จังหวะ และการละเล่นคอนหรือลุกข่าง เรียกว่า “อิ้นกอน”(หน้า 480-481)
 
ชาวไทยยวนมีการละเล่นที่เรียกว่า “จ๊อย”คือการอ่านคร่าว หรือกลอนเป็นทำนองคล้ายการละเล่นเพลงฉ่อย แต่จ๊อยจะร้องสดๆ ไม่มีดนตรี หรือการให้จังหวะใดๆ ผู้ขับจ๊อยจะมีสองคน ทั้งคู่หญิงชาย ชายชาย หรือหญิงหญิง จะขับประชันกันไปมา เนื้อหาที่เล่น เช่น การพบปะกันระหว่างวัน เรื่องในนิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน หรือจ๊อยสั่งสอน นิยมเล่นในวาระและเทศกาลต่างๆ เช่น ทอดกฐิน งานวัด งานศพ (หน้า 432)
 
ชาวไทยพวน มีการละเล่นที่เรียกว่า “ลำพวน”หรือ “หมอลำพวน”เป็นการละเล่นว่ากลอนโต้ตอบกันระหว่างชายหญิงด้วยภาษาไทยพวนมีแคนเป็นดนตรีประกอบ มี 2 ประเภท คือ ลำพื้นหรือลำเรื่อง และลำด้น (หน้า 454)
 
ชาวไทยเบิ้ง จะมีการร้องเพลงกล่อมเด็กนอน เนื้อหาในเพลงจะเป็นเรื่องราวที่แสดงถึงความสัมพันธ์กันทางสังคมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ใกล้เคียง (หน้า 525)

Folklore

ตำนานบรรพบุรุษของชาวชองเล่าว่า สมัยสงครามกรุงศรีอยุธยา  ชองถูกเขมร พม่า ญวนรุกรานกดขี่ ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยจนต้องหนีเข้าป่าไปรวมตัวกันเป็นหมู่ มีการกำหนดภาษาใหม่ให้มีเสียงตะกุกตะกัก เข้าใจยาก จึงไม่ถูกฆ่าเพราะไม่ได้พูดภาษาไทย จึงรวมตัวกันอาศัยอยู่ในป่าเขา และพูดภาษาใหม่มาจนปัจจุบัน (หน้า 393)
 
- เรื่องที่มาของประเพณีกิ๋นเข้าสลากของชาวไทยวน จะมีการเทศน์อานิสงส์ 1 กัณฑ์ เนื้อหามีอยู่ว่า มีพระราชาองค์หนึ่งทรงช้างไปเที่ยว แต่ช้างเผลอไปเหยียบต้นข้าวของบุรุษผู้หนึ่ง บุรุษผู้นั้นคิดว่าพระราชากลั่นแกล้งจึงโกรธมาก วิ่งไปถอนต้นตาลแบกมาเพื่อตีพระราชา พระราชาเห็นแล้วตกใตจึงรีบลงจากหลังช้างแล้วอุ้มช้างวิ่งหนี เรื่องนี้โจษจันในหมูบ้านมาก ชาวบ้านจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเหตุใดสองคนนี้มีเรี่ยวแรงมากนัก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะชาติปางก่อนสองคนนี้ทำบุญถวายสลากภัตต์ไว้ เกิดมาชาตินี้จึงมีเรี่ยวแรงมาก (หน้า 429)
 
ชาวไทยยวนได้บันทึกตำนานเรื่อง กาเผือกไว้ในคัมภีร์ เล่าว่า มีกาเผือกคู่หนึ่ง มีไข่ 5 ฟอง ถูกพายุพัดไป แล้วมีสัตว์ 5 ชนิด ได้แก่ แม่ไก่, นาค,เต่า,โค และราชสีห์ เก็บไข่ไปเลี้ยง แม่ไก่มาพบว่าไข่หายจึงร้องไห้จนขาดใจตายไปเกิดเป็นท้าวผกาพรหม พอไข่แตกออกเป็นคน 5คน ชื่อว่า กกุสันโธ โกนาคม กัสส์โป โคตโม และเมตไตยโย บุตรทั้งห้ามาพบกันจนรู้จักกันและอธิษฐานให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาตค ร้อนถึงหูท้าวผกาพรหม จึงเสด็จลงมาเล่าเรื่องให้ลูกๆทั้งห้าฟัง แล้วบอกว่าถ้าคิดถึงแม่ พอถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองให้เอาด้ายผูกเป็นรูปตีนกาจุดไฟลอยน้ำไป (หน้า 431)
 
มีพงศาวดารของล้านช้างกล่าวว่าเมืองพวนถูกสร้างโดย “ขุนเจ็ดเจือง”กษัตริย์ผู้เป็นโอรสของขุนบรม แห่งเมืองแถน หรือเมืองฟ้า ต้นกำเนิดอาณาจักรล้านช้าง (หน้า 441)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลักษณะของชาวไทยกูยจะคล้ายกับเขมร ผิวคล้ำ ผมหยิก คนไทยเรียก “กูย”ว่า “ส่วย”ชาวฝรั่งเศส เรียก “กูย”ว่า “กวย”(หน้า 410)
 
สมัยที่ลาวเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส คนไทยพวนถูกแบ่งออกเป็นชาติพันธุ์หนึ่ง เรียกตัวเองว่า “พวน” ไม่ใช่ลาว แต่คนไทยจะเรียกตามที่คนกลุ่มอื่น ว่า “ลาวพวน”(หน้า 442)
 
คำว่า “ยวน” เพี้ยนมาจากคำว่า “โยน” “โยนก” หรือ”เยาวนะ”ซึ่งโยนกเป็นเมืองหลวงของยวนมาก่อน ต่อมาล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานกว่า 200 ปี จึงเรียกตัวเองว่า “คนเมือง”เพื่อให้ต่างจากพม่ามาจนถึงปัจจุบัน (หน้า 416)
 
ชื่อของชาวไทยโซ่งหรือไทยทรงดำ เดิมถูกเรียกว่า “ลาวทรงดำ”จากการนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ คำว่า “ทรง” เพี้ยนมาจากคำว่า “ส้วง”แปลว่ากางเกง และถูกเรียกให้สั้นลงว่า
“ลาวทรง”ตามสำเนียงลาวเรียกว่า “ลาวโซ่ง”ต่อมาสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เรียกคนในประเทศว่า “ไทย”จึงถูกให้เรียกว่า ไทยโซ่ง หรือไทยทรงดำในที่สุด (หน้า 462)
 
ชาวไทยครั่งอพยพมาจากเมืองภูครัง และนิยมแต่งกายด้วยผ้าย้อมสีแดงจากครั่ง กลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า “คั่ง”อาจมาจากชื่อเมืองภูครัง ส่วน “ครั่ง” มาจากผ้าทอที่ย้อมสีแดง (หน้า 484) บางทีเรียกว่า “ลาวเต่าเหลือง” จากนิสัยที่อดทน ชอบอิสระ แยกตัวอยู่ตามป่าเขา เหมือนเต่าภูเขาที่มีกระดองสีเหลือง บางทีก็ถูกเรียกชื่อตามท้องถิ่นที่อยู่ เช่น ลาวด่าน คือกลุ่มที่อยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย และบางทีก็ถูกเรียกว่า “ลาวล่อก๊อ”ซึ่งเรียกตามสำเนียงพูดของชาวลาวครั่งที่มักลงลงท้ายประโยคว่า “ก๊ะล่ะ” (หน้า 485)

Social Cultural and Identity Change

ผู้หญิงไทยวนเรียนรู้วิธีทอผ้าจากแม่เพื่อใช้ในครัวเรือน และเพื่อไหว้พ่อแม่เจ้าบ่าวในพิธีแต่งงาน ความสามารถด้านทอผ้าจึงเป็นการวัดคุณค่าของผู้หญิงไทยวน แต่ในปัจจุบันได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากภายนอก ด้วยการรับเอาระบบโรงเรียนเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงไม่ต้องทอผ้า เมื่อแต่งงานก็หาซื้อผ้ามาแทน (หน้า 418)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

เครื่องมือเครื่องใช้และวิธีในการผลิต โดยเฉพาะเครื่องมือที่ใช้ผลิตเส้นใยที่ใช้สำหรับทอผ้าของชาวไทยยวนและชาวไทยเบิ้ง (หน้า 436, 525) รวมถึงหลักการในการทอผ้าของชาว
ไทยยวน (หน้า 437) นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามต่างๆ เช่นชาวไทยชองมีข้อห้ามสำหรับหญิงมีครรภ์ (หน้า 403) และข้อห้ามเรื่องการทอผ้าของชาวไทยครั่ง เป็นต้น

Map/Illustration

- ภาพกลุ่มชาติพันธุ์จากลาว ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลิตข้าวในหัวเมืองชั้นใน (ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ) (หน้า 367)
- กลุ่มชาติพันธุ์มอญเมื่อแรกอพยพเข้ามาในสยาม (ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ) (หน้า 368)
- เสาหงส์สัญลักษณ์ ในชุมชนชาวมอญในประเทศไทย (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 370)
- ชาวนาในภาคกลางนวดข้าว (ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ) (หน้า 372)
- (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 372)
- คัมภีร์ภาษามอญในชุมชนสามโคก (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 374)
- ศาลผีประจำหมู่บ้าน (ที่มา: อมวาสี ยิ้มอำนวย, 2533) (หน้า 375)
-  เสาผีในบ้านชาวไทยมอญ ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี (ที่มา: อมวาสี ยิ้มอำนวย, 2533) (หน้า 375)
-  เจดีย์รงมอญ วัดเมตารางค์ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 377)
- ศาลพระภูมิในบ้านชาวไทยมอญ ที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี (ที่มา: อมวาสี ยิ้มอำนวย, 2533) (หน้า 377)
- วงจรประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญในรอบ 12เดือน ที่มา: จวน เครือวิชยานนท์, 2548) (หน้า 377)
- โต้งผู้ทำพิธีจะนำนาคมาขอขมาลาบวชต่อผีบรรพบุรุษ (ที่มา: อมวาสี ยิ้มอำนวย, 2533) (หน้า 378)
- เรื่องพิธีกรรมทำศพของชาวมอญในอำเภอสามโคก (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 379)
- มอญรำในงานพิธีศพพระสงฆ์ บ้านบางขันหมาก จ.ลพบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 379)
- รูปงานศพพระสงฆ์มอญ (หน้า 380)
- (ที่มา:สนพ.สารคดี.ราชบุรี, 2541) (หน้า 381)
- (ที่มา: อมวาสี ยิ้มอำนวย, 2533) (หน้า 381)
- (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 381)
- (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 382)
- (ที่มา:สนพ.สารคดี.ราชบุรี, 2541) (หน้า 383)
- ขบวนการผู้เข้าร่วมงานสงกรานต์ (ที่มา: อมวาสี ยิ้มอำนวย, 2533) (หน้า 384)
-  การสรงน้ำพระวันสงกรานต์ (ที่มา: อมวาสี ยิ้มอำนวย, 2533) (หน้า 384)
- เสาธงตะขาบ วัดสองพี่น้อง อำเภอสามโคก (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 385)
- ธรรมาสน์ วัดแจ้ง จังหวัดปทุมธานี (หน้า 388)
- ธรรมาสน์ วัดมะขาม จังหวัดปทุมธานี (หน้า 389)
- การไถนาด้วยความของชาวชอง บ้านคลองตะเคียน จังหวัดจันทบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 393)
- เครื่องมือในการทำน้ำมันยาง ของชาวชอง บ้านคลองตะเคียน จังหวัดจันทบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 394)
- หิ้งผีในบ้านคลองตะเคียน จังหวัดจันทบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 395)
- กาตัก สัญลักษณ์ในพิธีแต่งงาน (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 396)
- (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 401)
- ลูกสะบ้าของชาวชอง (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 402)
- (ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ) (หน้า 414)
- ภาพสตรีไทยยวนนุ่งซิ่ก่านในจิตรกรรมฝาผนัง วัดสมุหประดิษฐ์ อ.เสาไห้ จ. สระบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 417)
- การแสดงความผูกพันกับพุทธศาสนาของชาวไทยวน จ.ราชบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 418)
- การจัดแสดงการอยู่ไฟของชาวไทยวน ในจิปาถะ พิพิธภัณฑสถานจังหวัดราชบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 421)
- ภาพจิตรกรรมวัดสมุหประดิษฐ์ ชุมชนไทยวน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี (หน้า 428)
- ราชวัตร ขอบเขตมณฑลพิธีเทศน์มหาชาติ (หน้า 431)
- เรือนชาวไท-ยวนจำลอง ที่จิปาถะภัณฑสถาน จ.ราชบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 433)
- เรือนชาวไทยยวน จิตรกรรมวัดสมุหประดิษฐ์ อ.เสาไห้ จ. สระบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 434)
- ซิ่นตีนจกไทยวน ในจิปาถะภัณฑสถาน จ.ราชบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 435)
- หูกทอผ้าของชาวไทยวน จิปาถะภัณฑสถาน จ.ราชบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 436)
- กวัก (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 436)
- แคร่เดินด้าย ในจิปาถะภัณฑสถาน จ.ราชบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 438)
- (ที่มา: นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี) (หน้า 441)
- ยุ้งข้าวชาวไทยพวน บ้านหมี่ จ. ลพบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 444)
- เรือนชาวไทยพวนบ้านหินปัก อ.บ้านหมี่ จ. ลพบุรี (หน้า 445)
- ภาพพิธีเลี้ยงผีปู่ตาชาวไทยพวน (ที่มา:ศ.ดร.อรศิริ ปาณินท์,2546) (หน้า 446)
- คัมภีร์ใบลานภาษาพวน อ.บ้านหมี่ จ. ลพบุรี (หน้า 447)
- ภาพพิธีเลี้ยงผีปู่ตาชาวไทยพวน (ที่มา:ศ.ดร.อรศิริ ปาณินท์,2546) (หน้า 451)
- ภาพพิธีทำบุญล้อมบ้านชาวไทยพวน (ที่มา:ศ.ดร.อรศิริ ปาณินท์,2546) (หน้า 452)
- ตาเหลวเครื่องรางในพิธีทำขวัญข้าว (หน้า 454)
- (ที่มา:ศ.ดร.อรศิริ ปาณินท์,2546) (หน้า 455)
- (ที่มา:ศ.ดร.อรศิริ ปาณินท์,2546) (หน้า 452)
- (ที่มา: กรมศิลปากร, นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี, 2546 และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) (หน้า 460)
- ชุดชาวไทโซ่ง พิพิธภัณฑ์บ้านปาถนอม จ.เพชรบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 463)
- ปาน ภาชนะในพิธีเซ่นไหว้ผี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 466)
- พิธีเสนเรือน ในห้องกะล้อห่องของชาวไทยทรงดำ จ.ราชบุรี (ที่มา:สนพ.สารคดี, ราชบุรี ,2541) (หน้า 467)
- เสื้อไทซ่วงก้อมของชาวไทยทรงดำ ในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดเขาย้อย (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 472)
- เสื้อก้อมของชาวไทยทรงดำ ในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดเขาย้อย (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 473)
- ซิ่นลายแตงโม ในพิพิธภัณฑ์ปานถนอม บ้านหนองปรง จ.เพชรบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 473)
- (ที่มา: นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี, 2546) (หน้า 475)
- กะเหล็บ จากพิพิธภัณฑ์บ้านปานถนอม (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 477)
- ปานเผือน ของชาวไทยทรงดำ บ้านหนองปรง จ.เพชรบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 478)
- เฮือนลาวจำลอง ในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดเขาย้อยวิทยา (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 479)
- ชาวไทยครั่ง บ้านผาทั่ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 484)
- เรือนคลอดบุตรของสตรีไทยครั่ง บ้านผาทั่ง บ้านไร่ จ.อุทัยธานี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 494)
- (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 497)
- ผ้าคลุมศีรษะนาค ของชาวไทยครั่ง จ.ชัยนาท (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 499)
- (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 499)
- หมอนเท้า บ้านผาทั่ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 500)
- (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 500)
- (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 502)
- ลายขาเปีย (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 503)
- หูกทอผ้าของชาวไทยครั่ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 503)
- (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 505)
- (ที่มา: นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี, 2546) (หน้า 507)
- ภาพเรือนชาวลาวเวียง ในจิตรกรรมฝาผนังวัดกำแพงใต้ ในชุมชนชาวลาวเวียง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี (ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก) (หน้า 508)
- ข้าวห่อที่ชาวไทยเวียงในจังหวัดราชบุรี นำมาวางอุทิศให้กับผีไม่มีญาติ (ที่มา: สนพ.สารคดี,ราชบุรี,2541) (หน้า 514)
- (ที่มา: วลัยลักษณ์ ทรงศิริและคณะ, 2548) (หน้า 519)
- ศาลปู่ตา (ที่มา: วลัยลักษณ์ ทรงศิริและคณะ, 2548) (หน้า 519)
- (ที่มา: วลัยลักษณ์ ทรงศิริและคณะ, 2548) (หน้า 521)
- ยังคงกินหมาก นุ่งโจงกระเบนเช่นครั้งอดีตแม่เฒ่าชาวเบิ้ง(ที่มา: สนพ.สารคดี,ลพบุรี,2542) (หน้า 523)
- ชาวไทยเบิ้งที่โคกสลุงจังหวัดลพบุรี ยังคงทอผ้าใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา (ที่มา: สนพ.สารคดี,ลพบุรี,2542) (หน้า 526)
- การแต่งกายของชาวเบิ้งในอดีต (ที่มา: สนพ.สารคดี,ลพบุรี,2542) (หน้า 526)

Text Analyst สุนิษา ฝึกฝน Date of Report 25 ก.ค. 2559
TAG กูย กวย, คะแมร์ลือ, ชอง, ไทเบิ้ง ไทยเดิ้ง, พวน ไทพวน, มอญ, ลาวครั่ง, ลาวแง้ว, ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, ชาติพันธุ์, วิถีชีวิต, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง