สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง),การจัดการที่ดิน,เชียงใหม่
Author เจษฎา โชติกิจภิวาทย์
Title การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาการจัดการไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอญอในจังหวัดเชียงใหม่
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ปกาเกอะญอ, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 152 Year 2542
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

การศึกษาเรื่องการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาการจัดการไร่หมุนเวียนของปกาเกอะญอในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าภายใต้ความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรระหว่างรัฐกับชุมชน ชุมชนได้มีการปรับตัวเพื่อสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร 3 รูปแบบคือ 1) การทำไร่หมุนเวียนแบบพึ่งพาและไม่ยั่งยืน 2) การทำไร่แบบเปลี่ยนผ่านและไม่ยั่งยืน และ 3) การทำไร่หมุนเวียนแบบทางเลือกและยั่งยืน และการรวมตัวในระดับชุมชนและเครือข่าย เพื่อนำเสนอทางออกในระดับนโยบาย

Focus

ศึกษาผลกระทบของนโยบายอนุรักษ์ป่าของรัฐ ต่อการจัดการไร่หมุนเวียนของชุมชนปกาเกอะญอ ตลอดจนเงื่อนไขและลักษณะของ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อันนำไปสู่พลวัตและการปรับตัวของปกาเกอญอในการจัดการไร่หมุนเวียน

Theoretical Issues

ผู้เขียนใช้แนวความคิดว่าด้วย "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยใช้แนวความคิดของ Chambers, Redclift, และ Barbier เป็นกรอบคิดการวิจัย ซึ่งได้อธิบายการจัดการของมุนษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงบนเงื่อนไข 3 ประเด็น คือ 1) สิทธิ ความมั่นคงในการเข้าถึงทรัพยากร ความมั่นคงในสิทธิ์ของที่ดิน และการผลิตอาหาร 2) การแก้ไขปัญหาความจำเป็นขั้นพื้นฐาน และ 3) ความมั่นคงของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สามารถดำรงอยู่ได้ แนวคิดต่อมาคือแนวความคิดว่าด้วย "ความซับซ้อนของระบบกรรมสิทธิ์" คือระบบการจัดการทรัพยากรบนเงื่อนไขของการเข้าถึง 3 ลักษณะ คือ ระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ, กรรมสิทธิ์เอกชน และ กรรมสิทธิ์ร่วม แนวคิดสุดท้ายคือ แนวคิดว่าด้วย "พลวัตของระบบการจัดการไร่หมุนเวียน หมายถึงระบบการจัดการที่ดินที่มีลักษณะหมุนเวียนและมีพลวัต พร้อมกับความสามารถในการปรับตัวกับเงื่อนไขต่าง ๆ (หน้า 16-17) จากการใช้แนววิเคราะห์ดังกล่าว ผู้วิจัยพบว่า ระบบไร่หมุนเวียนดั้งเดิมของปกาเกอญอ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบหนึ่งที่มีการจัดการผสมผสานระหว่างสิทธิชุมชน สิทธิการใช้ และการแสดงความเป็นเจ้าของที่สามารถให้หลักประกันความมั่นคงในการยังชีพของปกาเกอญอได้ระยะเวลาอันยาวนาน เพราะเป็นทั้งระบบการผลิตข้าวเสริมจากที่ได้จากนา และระบบการสะสมพันธุกรรมรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่การทำลายป่า (หน้า 124) การกดดันของรัฐและตลาดที่อาจทำให้ปกาเกอญอต้องผลิตแบบพึ่งพาแต่ยังไม่มีผลต่อการทำลายป่า เพราะชาวบ้านปรับตัวในระดับครัวเรือน โดยการทำไร่ 3 แบบคือ ไร่หมุนเวียนแบบพึ่งพาไม่ยั่งยืน ไร่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน และไร่หมุนเวียนทางเลือกและยั่งยืน (หน้า 124-125) และมีการจัดการในระดับชุมชนที่เพิ่มพื้นที่ส่วนรวมให้ทั้งชุมชน และระบบการผลิตการเกษตรที่ควรเช่นวนเกษตร แทนการทำไร่เชิงพาณิชย์ (หน้า 125)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอจัดอยู่ในตระกูลหลัก จีน-ธิเบต (sino-Tibatan)กระจายอยู่ตามภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นชาวเขาที่มีประชากรมากที่สุด 353,110 คน จากจำนวน 853,274 คน จำนวนหมู่บ้าน 3,446 หมู่บ้าน จำนวนหลังคาเรือน 100,516 หลังคาเรือน มีจำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ซึ่งกระจายตัวอยู่ที่จังหวัดต่าง ๆ คือ ลำพูน แพร่ เชียงราย ลำปาง ตาก กำแพงเพชร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสุโขทัย (หน้า 21)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาพูดจัดอยู่ในตระกูลภาษาธิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) หรือกลุ่มภาษาย่อย Karnic คนต่างเผ่าเรียกว่ายาง ยางกะเลอ หรือกะเหรี่ยง (Karen) สามารถแยกเป็น 4 กลุ่มย่อยคือ โปว์ (Pwo) สะกอ (Skaw) บเว (B'ghew) หรือคะเร็นญี หรือคะยา และตองสู (Taung Tsu) (หน้า 21)

Study Period (Data Collection)

ในการศึกษาวิจัยภาคสนาม ผู้ศึกษาได้เข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านระหว่างเดือนมกราคม ถึงธันวาคมปี พ.ศ. 2539 ช่วงระยะเวลาการศึกษาเริ่มจากการตั้งถิ่นฐาน ที่มีหลักฐานปรากฏ คือปี พ.ศ. 2447 และมีการอพยพย้ายถิ่นมาตลอด จนช่วงการเข้ามาของรัฐ ในช่วงพ.ศ. 2500 และการใช้นโยบายอนุรักษ์ป่า เช่นโครงการประกาศเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ โครงการปลูกป่า และการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 และร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน

History of the Group and Community

ในบริเวณนี้เชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของลัวะมาก่อน เนื่องจากพบเคยพบสร้อยคอ อุปกรณ์หุงหาอาหาร และกล้องยาสูบของลัวะ ยังพบว่าสถานที่หลายแห่งคาดว่าจะเป็นวัดและที่ตั้งหมู่บ้าน ในอดีตปกาเกอะญอจะไม่ตั้งถิ่นฐานถาวรดังเช่นปัจจุบัน จะย้ายไปตามการทำไร่ หรือตามความเชื่อ มีการโยกย้ายถิ่นในบริเวณริมห้วยแถบนี้หลายชั่วอายุคน โดยปรากฏจากหลักฐานแดลอ (ร่องรอบหรือซากหมู่บ้าน) คนกลุ่มแรกที่เข้ามาสร้างบ้านอยู่ในเขตชุมชนบ้านใหม่พัฒนา เป็นเครือญาติเดียวกัน ประกอบด้วย 3 ครอบครัว มีการโยกย้ายกลับไปมาหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีการอพยพย้ายเข้าออกของบางกลุ่มบางครอบครัว จนถึงประมาณปี 2529 จึงรวมกันมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน เนื่องจากทางราชการให้ย้ายมาอยู่รวมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง ปัจจุบันชุมชนมีทั้งหมด 37 หลังคาเรือน เคยอยู่ในการปกครองของอำเภอแม่ริม โดยมีนายพะโพเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และเมื่อมีการแยกการปกครองจากอำเภอแม่ริม และตั้งอำเภอสะเมิงขึ้น บ้านใหม่พัฒนาเปลี่ยนมาขึ้นกับเขตการปกครองของอำเภอสะเมิงถึงปัจจุบัน ชุมชนได้รับผลกระทบจากนโยบายอนุรักษ์ป่า ทำให้มีโครงการและการควบคุมการทำไร่ของชาวบ้าน จึงมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองสำหรับการผลิตเพื่อความมั่นคงในชีวิต รวมถึงการรวมตัวเพื่อตั้งข้อกำหนดการจัดการทรัพยากรของชุมชน และการรวมตัวเรียกร้องเชิงนโยบายในระดับเครือข่าย

Settlement Pattern

ปกาเกอะญอจะตั้งถิ่นฐานและโยกย้ายตามการทำไร่ ซึ่งจะไม่ทำซ้ำที่เก่า จึงมีการเปลี่ยนพื้นที่ทำไร่ทุกปี แต่ละปีจะยิ่งห่างไกลจากชุมชน ทำให้การเดินทางขนย้ายผลผลิตเป็นเรื่องยากลำบาก จึงย้ายตามไปอยู่ในไร่ หรือหาทำเลที่ใกล้กับไร่ บางครั้งการย้ายถิ่นฐานมาจากความเชื่อที่ว่าหากมีคนในบ้านเจ็บป่วยล้มตาย จะต้องย้ายชุมชน หรือหากมีสัตว์ป่าเข้ามาในหมู่บ้าน เช่น เสือ งู จะต้องย้ายชุมชนไปอยู่แห่งใหม่ หรือเมื่อชุมชนมีสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้นหรือประชากรหนาแน่น อาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย จึงต้องย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับผี หากมีเหตุการณ์ไม่ดีเช่นคนเจ็บป่วยหรือตาย หรือมีสัตว์ป่าเข้ามาในหมู่บ้าน ถือว่าผีเจ้าที่เจ้าทางไม่ยอมให้อาศัยอยู่ อีกสาเหตุหนึ่งคือเกิดความขัดแย้งในชุมชน รวมไปถึงความประพฤติปฏิบัติไม่ดี ไม่เป็นไปตามกฎจารีตประเพณี ก็จะต้องย้ายถิ่นแม้ไม่ได้พบเห็นมาก (หน้า 25-27)

Demography

บ้านใหม่พัฒนามีจำนวน 37 ครัวเรือน มีประชากร 187 คน ผู้ชาย 72 คน ผู้หญิง 58 คน คนเฒ่าคนแก่ 20 คน และเด็ก 37 คน (หน้า 22)

Economy

การประกอบอาชีพมีทั้งด้านการเกษตร ได้แก่ การเพาะปลูกข้าวนาขั้นบันได ข้าวไร่ ทำสวนเมี่ยง สวนมะแขว่น สวนมะม่วง ทั้งหมดนี้เป็นการเลี้ยงชีพยกเว้นมะแขว่นซึ่งเป็นรายได้ของครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีอาหารจากธรรมชาติ พวกเห็ด หน่อไม้ และสมุนไพร หากคิดเป็นตัวเงินประมาณครัวเรือนละ 5,000-10,000 บาทต่อปี การจัดการแรงงานใช้รูปแบบแลกเปลี่ยนแรงงาน มีการเลี้ยงสัตว์ วัวควาย ไก่ การจักรสานกระบุงตะกร้าไว้ใช้สอย และนอกชุมชนเช่นการรับจ้างในตัวอำเภอและตัวเมืองเชียงใหม่ (หน้า 24) การทำไร่หมุนเวียนในอดีตของปกาเกอญอจะมีพื้นที่รองรับการทำไร่ประมาณ 8-10 แปลง โดยหมุนเวียนทำปีละแปลง ทำให้แต่ละแปลงจะถูกพักดินไว้ประมาณถึง 7 ปี การทำไร่จะเริ่มตั้งแต่ตัดฟันไร่ และไม้ใหญ่จะถูกฟันให้เหลือระดับเอว เพื่อให้ไม้ใญ่มีโอกาสเติบโตต่อไปได้ แล้วเผา เพื่อทำลายเศษไม้และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน จากนั้น จึงปลูกผัก ปลูกข้าว ถอนวัชพืช จนเก็บเกี่ยวเสร็จ ปีหน้าจึงย้ายไปทำในแปลงต่อไปจนครบทุกแปลง จึงเป็นการพักหน้าดินให้ฟื้นตัว ไม่ใช้ประโยชน์จากดินหนักเกินไป (หน้า 49) จากการกดดันของรัฐ ทำให้ปกาเกอญอต้องลดพื้นที่เพาะปลูก และลดจำนวนรอบของไร่หมุนเวียน ทำให้ปกาเกอะญอปรับตัวจากการทำไร่หมุนเวียนแบบเดิมมาเป็นรูปแบบใหม่ ซึ่งแบ่งได้ 3 รูปแบบคือ 1) การทำไร่หมุนเวียนแบบพึ่งพาและไม่ยั่งยืน มีการทำไร่หมุนเวียนเพียง 1-2 แปลง มีผลผลิตต่ำ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงมาก ไม่สามารถเลี้ยงชีพครัวเรือนได้ ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเป็นหลัก 2) การทำไร่หมุนเวียนแบบเปลี่ยนผ่านและไม่ยั่งยืน มีการทำไร่หมุนเวียนแบบเดิมผสมกับการเกษตรแบบถาวรเชิงพาณิชย์ และทำเกษตรแบบสวนผลไม้ ซึ่งจำนวนรอบหมุนเวียนมีน้อย ทำให้ชาวบ้านเข้าไปพึ่งพาระบบตลาดมากขึ้น เพียงเพื่อสามารถซื้อข้าวบริโภคได้ตลอดปี 3) การทำไร่แบบทางเลือกและยั่งยืน มีการจัดการไร่แบบผสมผสานได้อย่างมีพลวัต ทั้งการทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมกับการทำสวนผลไม้รักษาไม้ยืนต้นในไร่หมุนเวียน คล้ายกับแบบที่ 2 แต่แบบนี้มีพื้นที่ไร่มากพอสำหรับรองรับการหมุนเวียนได้ (หน้า 26-88)

Social Organization

ปกาเกอญอ มีความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ หรือผีปู่ย่าประจำตระกูลฝ่ายมารดา ซึ่งคอยปกป้องคุ้มครองครอบครัว และคอยดลบันดาลให้ลูกหลานประสบความสำเร็จ ปกาเกอญอจึงแสดงความซื่อสัตย์ต่อบรรพบุรุษ ด้วยการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงบรรพบุรุษ ทั้งนี้ผู้หญิงที่มีอาวุโสมากที่สุดในตระกูลจะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมติดต่อบรรพบุรุษ หากผู้หญิงที่เป็นต้นตระกูลเสียชีวิตลง บ้านจะถูกรื้อทำลาย สัตว์เลี้ยงที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะถูกฆ่าเพื่อมาทำพิธี เพราะเชื่อว่า คนในตระกูลที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่มีใครแล้วที่จะสามารถติดต่อกับผีบรรพบุรุษโดยผ่านหมูและไก่ ซึ่งต่อมาลูกหลานที่เป็นผู้หญิงคนโตในตระกูลก็ยังสามารถสืบทอดพิธีกรรมนี้ต่อไปได้ ซึ่งนอกจากเป็นการควบคุมความประพฤติของคนในสายตระกูลแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการแรงงานของตระกูลและชุมชนด้วย (หน้า 31) กลุ่มสังคมระดับเครือญาติจะมีบทบาทในการควบคุมแบ่งปันปัจจัยพื้นฐานทางการผลิต และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หัวหน้าตระกูลทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะมีบทบาทสำคัญ ควยควบคุมดูแล ให้การช่วยเหลือสมาชิกตระกูล เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในตระกูลไว้ด้วยกัน ในกรณีครัวเรือนที่แต่งงานใหม่กลุ่มตระกูลอาจให้ความช่วยเหลือในด้านปัจจัยการผลิตเช่นที่นาหรือสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมทางสังคมในระดับชุมชน ในเรื่องการจัดการทรัพยากรของชุมชน คือคณะกรรมการป่าชุมชนทำหน้าที่รักษาข้อบังคับและกฎเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวของปกาเกอญอเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐ (หน้า 107-110)

Political Organization

ฮีโข่ หรือผู้นำทางวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชน เป็นผู้นำที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่เป็นฮีโข่ ที่ตั้งหมู่บ้านนั้นคนแรก เป็นตำแหน่งที่สืบทอดตามสายเลือด และมีตำแหน่งผู้ช่วย ฮีข่อ ซึ่งจะถูกเลือกโดยตรงจากฮีโข่ โดยมีข้อกำหนดคือเป็นคนที่มีความรู้ด้านพิธีกรรมต่าง ๆ คนในชุมชนยอมรับ ฮีโข่ยังทำหน้าที่ตัดสินกรณีพิพาทต่าง ๆ โดยมีสภาผู้อาวุโส หรือ "สุเก๊ะส้าปะ" ที่ได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มตระกูลแต่ละกลุ่มคอยให้คำปรึกษา จึงทำให้การตัดสินคดีความมีความเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน หากเกิดกรณีไม่ยอมรับคำตัดสินจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มตระกูล บางกรณีอาจแยกไปตั้งหมู่บ้านใหม่ (หน้า 32-33) ในช่วงปี พ.ศ.2470 รัฐได้ให้สัมปทานป่าไม้กับบริษัทต่างชาติ จึงเกิดการทำลายป่าไม้อย่างมโหฬารตั้งแต่นั้นมา เริ่มมีองค์กรรัฐเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับชุมชนตั้งแต่ปี 2500 เช่นกรมการปกครองเข้ามาตั้งผู้ใหญ่บ้าน จดทะเบียนบ้าน ออกบัตรประจำตัวประชาชน และเก็บภาษีปี พ.ศ.2513 มีการตัดถนนเชื่อมกับตัวอำเภอสะเมิง ต่อมีก็มีการจัดตั้งโรงเรียนและสถานีอนามัยตามลำดับ และการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ปี พ.ศ. 2538 ทับชุมชนและที่ทำกินของชุมชน การที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับชุมชนมากขึ้นทำให้ชุมชนสูญเสียอำนาจการจัดการทรัพยากรของตนเองลงไป (หน้า 36-44)

Belief System

ระบบความเชื่อที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างปกาเกอญอกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่าธรรมชาติ ทั้งป่า ดิน น้ำ ล้วนมีเจ้าของ หากจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ ต้องขออนุญาตจากเจ้าของธรรมชาติเสียก่อน โดยมี ฮีโข่ เป็นผู้มีหน้าที่ทำพิธีกรรมต่าง ๆ ปกาเกอะญอเชื่อว่า "ก่อโข่" มาสร้างสรรพสิ่งบนโลก ก่อนไปได้มอบหมายให้เทพชื่อ "หมื่อคาเขล่อ" ทำหน้าที่คุ้มครองสรรพสิ่ง ในความเข้าใจของปกาเกอญอ เทพเหล่านี้คือ ผีของบรรพบุรุษที่ให้กำเนิดชีวิตแก่มนุษย์ ซึ่งได้แก่ "เส่เก่อจ่า" (เจ้าป่า) "เก่อเจ่อเก่อจ่า" (เจ้าเขา) "ทีเก่อจ่า" (เจ้าน้ำ) และ "ห่อโข่เก่อจ่า" (เจ้าดิน) (หน้า 31)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ปกาเกอะญอมีวิถีการผลิตแบบไร่หมุนเวียน และมีการเคลื่อนย้ายไปตามพื้นที่ทำไร่ แต่เมื่อมีรัฐจากส่วนกลางเข้ามาควบคุม จากนโยบายอนุรักษ์ ในรูปของโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการปลูกป่า การเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขานทับที่ทำกินของชาวบ้าน การสร้างแรงกดดันต่อการทำไร่หมุนเวียนซึ่งรัฐมองว่าเป็นสาเหตุของการทำลายป่า ตลอดจนระบบตลาดที่เข้ามาสู่ชุมชน ทำให้การผลิตแบบเดิมทำได้ยากมากขึ้น พื้นที่ไร่หมุนเวียนลดน้อยลง ปกาเกอญอจึงต้องปรับตัวแสวงหาทางเลือกใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยสามารถแบ่งรูปแบบการปรับตัวได้ 3 แบบ คือ 1) การทำไร่หมุนเวียนแบบพึ่งพาและไม่ยั่งยืน จำนวนไร่หมุนเวียนจำนวนน้อยมาก ผลผลิตไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น โดยทั้งการใช้การผลิตสมัยใหม่เข้าช่วย และการแบ่งพื้นที่ไร่ใหม่ให้เล็กลง แต่ก็ยังประสบปัญหาความไม่ยั่งยืนของการทำไร่ มีการพึ่งพาตลาดมากขึ้นด้วย (หน้า 59) 2) การทำไร่แบบเปลี่ยนผ่านและไม่ยั่งยืน มีการปรับตัวแสวงหาทางเลือกในการจัดการไร่แบบใหม่หลายอย่าง เช่นการเปลี่ยนไร่เก่าเป็นสวนไม้ผลแบบเกษตรถาวร ทำให้มีการพึ่งพาตลาดมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความมั่นคงในการยังชีพ (หน้า 78) 3) การทำไร่หมุนเวียนแบบทางเลือกและยั่งยืน แสดงให้เห็นศักยภาพและพลวัตในการปรับตัวจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยใช้ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม และการใช้ที่ดินอย่างผสมผสาน ทำให้สามารถดำรงรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์ รวมทั้งการถือครองที่ดินตามสิทธิการใช้ของประเพณีท้องถิ่น และมีการพึ่งพาตลาดภายนอกน้อย (หน้า 78) การเปลี่ยนไร่เป็นนาขั้นบันไดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ชุมชนเลือกใช้ หากแต่มีข้อจำกัดในเรื่องลักษณะภูมิประเทศ นอกจากการปรับตัวในระดับครัวเรือน ยังมีการปรับตัวในระดับชุมชน และสร้างเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำและระหว่างลุ่มน้ำป่าชุมชนโดยร่วมกับอีก 4 หย่อมบ้าน สร้างข้อกำหนดแบ่งเขตการจัดการป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเข้าร่วมกับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือเพื่อต่อสู้ในระดับนโยบาย (หน้า 94)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตารางการใช้ที่ดินในชุมชนบ้านใหม่พัฒนา (34) ตารางปฏิทินการผลิตของระบบการทำไร่หมุนเวียนในอดีตของชุมชน (52) ตารางลักษณะของการกระจายการถือครองที่ดินประเภทต่างๆ ของครัวเรือน(55) ตารางปฏิทินการทำไร่หมุนเวียนของนายแก้ว ปี พ.ศ. 2532-2536 (61) ตารางปฏิทินการทำไร่หมุนเวียนของพะตี่พะคี่ ปี พ.ศ. 2539 (64) ตารางปฏิทินการทำไร่หมุนเวียนของนายแควา ปี พ.ศ. 2539 (70) ตารางการใช้ที่ดินในการทำไร่หมุนเวียนของนายภิญ ปี พ.ศ. 2536-2539 (76) ตารางการใช้ที่ดินในการทำไร่หมุนเวียนของนายสุนทร ปี พ.ศ. 2536-2539 (80) ตารางการใช้ที่ดินในการทำไร่หมุนเวียนของนายสุนทร ปี พ.ศ. 2536 (82) ตารางการใช้ที่ดินในการทำไร่หมุนเวียนของนายแซะ ปี พ.ศ. 2536-2539 (85) ตารางรายได้จากมะแขว่นของแต่ละครัวเรือน (122) แผนที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ (23) แผนที่รูปแบบการใช้พื้นที่ในหมู่บ้านของชาวบ้านและรัฐ (35) แผนที่ที่ตั้งไร่หมุนเวียนของกรณีศึกษาต่างๆ (60) รูปลักษณะการหมุนของไร่หมุนเวียน (49) รูปภาพจำลองรูปแบบระบบไร่หมุนเวียนของกลุ่มครัวเรือนที่มีพื้นที่หมุนเวียนน้อยไม่เต็มรูปแบบ (จอะชงี่) (54) รูปการปรับตัวโดยการปรับแปลงใหม่มีระยะหมุนเวียนยาวแต่ขนาดพื้นที่เล็กลง (65) รูปการปรับปรุงพื้นที่จากไร่หมุนเวียนไปเป็นสวนผลไม้และสวนมะแขว่น (73) รูปการแบ่งพื้นที่ไร่หมุนเวียนแปลงที่ 4 ปลูกดอกดาวเรือง (81) รูปการจัดการไร่นาป่าบนพื้นฐานของความรู้ท้องถิ่น (103) รูปการปรับปรุงพื้นที่จากไร่หมุนเวียนเป็นนาขั้นบันไดและป่าต้นน้ำ (119) รูปการปรับปรุงพื้นที่จากไร่หมุนเวียนเป็นป่ามะแขว่นและป่าอนุรักษ์ (121) รูปแสดงพลวัตของการจัดการพื้นที่ไร่หมุนเวียนเชิงซ้อนในช่วงเวลาที่ต่างกัน (127)

Text Analyst ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง), การจัดการที่ดิน, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง