สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ไต (ไทใหญ่), ขึน ไทขึน ไทเขิน , ยอง, ไทมาว, รัฐฉาน, เมียนม่าร์
Author บุญยงค์ เกศเทศ
Title อรุณรุ่งฟ้า “ฉาน” เล่าตำนานคน “ไท”
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ยอง คนยอง ชาวยอง ไทยอง ขงเมืองยอง จาวยอง, ไทใหญ่ ไต คนไต, ไทขึน ไตขึน ขึน, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 262 หน้า Year 2548
Source บุญยงค์ เกศเทศ. อรุณรุ่งฟ้า “ฉาน” เล่าตำนานคน “ไท”.กรุงเทพมหานคร.บริษัทหลักพิมพ์ จำกัด. 2548.
Abstract

หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ บ้านช่อง เรือนชาน กลุ่มเครือญาติ สถานศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านต่างๆ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมไปถึงความเชื่อของชุมชนคนไทในหมู่บ้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเมืองตองยี เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก พุกาม มัณฑะเลย์ ตามลำน้ำอิระวดี สาละวิน และสายน้ำสาขา เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทในการที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจในมิติวิถีชีวิตที่มีความหลากหลายของคนไทในเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า

Focus

รวบรวมข้อมูลในด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ บ้านช่อง  เรือนชาน  ของชาว
ไทใหญ่ ไทเขิน ไทมาว ในหมู่บ้านต่างๆ  โดยเฉพาะในเมืองตองยี เชียงตุง  ท่าขี้เหล็ก รวมไปถึงพุกาม มัณฑะเลย์ ตามลำน้ำอิระวดี สาละวิน และสายน้ำสาขา

Theoretical Issues

ผู้เขียนได้บันทึกเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงที่ได้เดินทางเข้าไปสัมผัสเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวไท ได้พบปะพูดคุยเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้งในเมืองตองยี  เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก พุกาม  มัณฑะเลย์  โดยใช้วิธีการสืบค้นตามแนวทางมานุษยวิทยา

Ethnic Group in the Focus

ไทใหญ่  ไทเขิน  ไทยอง  ไทมาว  ไทคำตี่  ชาวปะโอ  ชาวอินตา ในเมืองตองยี เชียงตุง  ท่าขี้เหล็ก รวมไปถึงพุกาม มัณฑะเลย์ ตามลำน้ำอิระวดี สาละวิน และสายน้ำสาขา

Language and Linguistic Affiliations

ชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่ามีมากถึง 67 เชื้อชาติเผ่าพันธุ์  มีภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกันถึง 24 ภาษา แต่มีการยอมรับอยู่เพียง 7 เผ่าพันธุ์ ได้แก่ ฉาน
 (ไทใหญ่) มอญ กะยิน กะยา ชิน คะฉิ่น  และระไคน์  หรือยะไข่ (หน้า 195)
 
ชาวไทเขินเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในเชียงตุง ใช้ภาษาเขิน และมีตัวอักษรเขิน ใช้มาก่อนหน้านี้มานานแล้ว (หน้า 140)
 
ชาวไทลื้อ  ไทเขิน  ยอง เป็นคนละกลุ่มกับเงี้ยวหรือไทใหญ่ แต่มีภาษาวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีการดำรงชีพที่คล้ายคลึงกัน จึงไม่เกิดความขัดแย้งแต่ประการใด (หน้า 141 )
 
ชาวไทมาว มีภาษาไทมาวเป็นภาษาของตนเองและภาษาไทมาวมีความคล้ายคลึงกับภาษาคำตี่มาก (หน้า 237-238)
 
อย่างไรก็ดี  ชนเผ่าไทที่กระจัดกระจายอยู่ในสิบสองปันนาสามารถสื่อสารภาษาได้ ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีความคล้ายคลึงกับภาษาพื้นเมืองทางเหนือ เช่น  เชียงใหม่  เชียงราย  น่าน  เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถสื่อสารภาษาไทใหญ่  ภาษาไทลื้อ ได้อีกด้วย (หน้า 244)

Study Period (Data Collection)

ไม่พบข้อมูล

History of the Group and Community

ข้อมูลประวัติศาสตร์ค้นพบว่าชาวเมียนม่าร์ อพยพเข้ามาภายหลังพวกปยู หรือพยู ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองตะโก้งก่อน จนกระทั่งเมื่อเมืองตะโก้งตกเป็นของกลุ่มไทมาว (ไทมาว) จึงหันมาสร้างเมืองปะกาน หรือพุกาม ขึ้นแทน “พระเจ้าสมุทฤทธิ์พากลุ่มปยูมาสร้างเมืองพุกามเมื่อปี พ.ศ.651”  (หน้า 51-52)
 
“อาณาจักรไทมาวเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อราว ปี พ.ศ. 523 ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่น ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ทางทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของพุกาม หรือปะกาน นั้น กำลังมีอำนาจแผ่บารมียิ่งใหญ่ ทั้งทางการเมือง สังคม  เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม (หน้า 52)
 
กษัตริย์ชาวม่าน (เชื่อกันว่าพวกม่านและพิว  เป็นต้นตระกูลของชาวพม่า) หนีการรุกรานของจีนลงทางใต้มาตั้งรกรากอยู่  ณ  ริมฝั่งตรงช่วงกลางของแม่น้ำอิระวดี  ตั้งเมืองหลวงชื่อว่า “ศรีเกษตร” (หน้า 107)
 
ในขณะที่ ชาวไท “คำตี่” ตั้งภูมิสถานอยู่แถบบริเวณลุ่มน้ำชินดวินมากว่าพันปีแล้ว โดยพากันอพยพมาจากเมืองมาวหลวง หรือมาวโหลง (มักจะเรียกว่าไทมาวหรือมาว) เมืองกะเลวะ หรือ เมืองกาเล  แต่ละกลุ่มได้อพยพเป็นช่วงๆ ข้ามไปอยู่บริเวณต้นแม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำโลหิต แม่น้ำโนอาดิฮิง แม่น้ำติแอ่ง เป็นต้น  และก็ได้สร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา (หน้า  226)
 
ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่บางส่วน ได้อพยพเคลื่อนย้ายแยกออกไปสร้าง เมืองนุนสุนคำในอัสสัม  อาจกล่าวได้ว่าชนชาติไทใหญ่ในอาณาเขตปกครองของพม่า  ได้ตั้งรกรากมานานกว่าพันปีแล้วในหลายลุ่มน้ำ  ทั้งสาละวิน อิระวดี ชินดวิน  เป็นต้น  (หน้า 239 –240 )

Settlement Pattern

ลักษณะบ้านเรือนชาวไทใหญ่ที่เชียงตุง บ้านเรือนเป็นเสาไม้ ใต้ถุนสูงตั้งอยู่เป็นกลุ่ม ๆสองข้างทาง มีนอกชาน (หน้า 134 ) ส่วนบ้านเรือที่ตั้งริมถนนในเมืองเชียงตุง นิยมสร้างบ้านเรือนสองรูปแบบเป็นห้องแถวชั้นเดียวสำหรับในตัวเมือง เพื่อทำกิจกรรมค้าขายไปพร้อมๆกับที่อยู่อาศัย  และบ้านใต้ถุนสูงมีนอกชานสำหรับในชนบททั่วไป เพราะจะใช้บริเวณใต้ถุนบ้านทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ตั้งหูกทอผ้า เป็นคอกวัว ควาย  หมู  เป็ด  ไก่  เป็นต้น ส่วนฝาผนังบ้านทำได้หลายลักษณะ ทั้งเป็นไม้ไผ่ทุบขัดสาน ส่วนบางคนก็นิยมสร้างด้วยดิน  อิฐรูปทรงต่างๆกัน ส่วนหลังคานิยมมุงด้วยดินขอ (หน้า 142)
 
ส่วนบ้านเรือนของชาวไทใหญ่ในเขตชานเมืองจะ เป็นเรือนชั้นเดียว ทรงสูง  ฝาบ้านสานด้วยไม้ไผ่ฐานแคบ หลังคามุงด้วยไพหญ้าคา (หน้า 184)

Demography

บริเวณแผ่นดินพม่าในปัจจุบัน  ประกอบด้วยกลุ่มผู้คนราว  135 เผ่าพันธุ์  ประชากรประมาณ 45 ล้านคน แบ่งการปกครองออกเป็น 7 รัฐ และ 7 มณฑล  รวมจำนวน 14 เขตปกครอง 37 พื้นที่  ในแต่ละมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นใน เป็นทำเลทางการค้าพาณิชย์ มีชาวพม่า ชาวจีน และแขกอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น (หน้า 56)
 
ส่วนพื้นที่ชั้นนอกแบ่งเป็นรัฐนั้น จะเป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนเผ่าต่างๆกระจายกันอยู่โดยรอบ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบสูงและหุบเขาเชิงดอย(หน้า 56)
 
 

Economy

ชาวไทใหญ่และชาวไทเขินมีอาชีพทำนา (หน้า 134 ) ส่วนที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองเชียงตุงมีอาชีพค้าขาย  ส่วนชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชนบทนั้น จะใช้บริเวณใต้ถุนบ้านทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ตั้งหูกทอผ้า  เป็นคอกวัว ควาย  หมู เป็ด  ไก่ เป็นต้น  (หน้า 142)
 
ชาวไทเขิน  ไทใหญ่  ในหมู่บ้านปก นิยมใช้กาบไผ่ปกมาเย็บสานเป็นหมวกทรงกลม ขายเป็นสินค้าออกที่มีชื่อเสียงแพร่หลาย ในตลาดเมืองเชียงตุง พุกาม  มัณฑะเลย์  เป็นต้น (หน้า 154-155)
 
ชาวไทเขินบ้านบะยาง เมืองท่าขี้เหล็กขาย “จักจ่า” (ดอกไม้กระดาษ) และ “จ้อง” (ร่มกระดาษ) สำหรับทำบุญวันออกพรรษา (หน้า 189)
 
ชาวไทใหญ่ เมืองท่าขี้เหล็ก ขายโอเน่า (มะม่วงแผ่น)  (หน้า 189)
 
ชาว “ปะโอ”  หรือ “ตองสู” นิยมทำไร่ยาสูบกันมาก เรียกกันว่า “เซ็งลา” เป็นยาสูบที่ชาวพม่านิยมสูบกันทั่วไป  ลักษณะมวนโต ชาวปะโอและชาวอินตามีความชำนาญ และมีฝีมือดีในการจัดกระทำยาสูบ ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนไปถึงขั้นมวลสำเร็จรูป (หน้า 196)
 
ชาวปะโอที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบอินเล หลายหมู่บ้านมีอาชีพปลูกพืชผักอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพาะปลูกทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และผลไม้ “อะโวคา” ที่มีชื่อเสียง ส่งเป็นสินค้าทำรายได้ปีละไม่น้อย (หน้า 196-197)
 
ชนเผ่าอินทา หรือ อินตา มีอาชีพอยู่ด้วยการใช้ขาพายเรือหาปลา นับเป็นเสน่ห์ของชาวอินตาที่สืบสานมรดกจากบรรพชนไว้ได้ (หน้า 198)
 

Social Organization

กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่กระจายกันอยู่ทุกทิศทาง ด้วยแต่ละเมืองก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน สืบโยงเชื้อสาย  เป็นเสมือนพี่น้องสายเลือดเดียวกัน
 (หน้า 237) มีตำนานเล่าขานร่วมกันคือ ก่อนสมัยเสือข่านฟ้า โดยในยุคตำนานมีรัฐเจ้าฟ้าไทอยู่ถึง 19 เมือง ซึ่งทุกเมืองต่างนับถือขุนลู
ขุนไล ทั้งขุนลูและขุนไล ต่างมีวิธีการสืบทอดโดยให้เครือญาติสายโลหิตไปสร้างอาณาจักร (หน้า 232)
 
 
ชาวไทใหญ่มีหลวงปู่พระครูบาแสงหล้า  ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่เมืองท่าขี้เหล็ก เป็นหลักแห่งความนับถือศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของเหล่าพุทธศาสนิกชน
(หน้า 120 )
 
 
ด้านการแต่งงาน คนเผ่าไทมีวัฒนธรรมในการแต่งงาน คือ ลูกสาวจะมานั่งที่นอกชาน มานั่งสาวไหมกรอไหม ผู้ชายก็จะมาในเวลาค่ำคืนโดยเอาผ้าขาวม้าคลุมหัว วันแรกๆก็จะอยู่ห่างราว 7 เมตร จะส่งภาษากระจ๊อย (ภาคเหนือ) หรือผญา (ภาคอีสาน) ในเชิงเกี้ยวพาราสีกัน (หน้า 245)
 
ชาวไทเขินจะมีธรรมเนียมแต่งงานเมื่อ อายุครบ 20 ปี มีสามี – ภรรยา ได้
ค่าสินสอดสามหมื่นบาทและทองคำหนึ่งบาทถึงสองบาท บ้านอีกหนึ่งหลัง (หน้า 152-153)
 
ส่วนชาวไทมาวมีขนบธรรมเนียม ประเพณีการแต่งงาน (เอาโผ เอาเม) เพื่อให้ “อยู่ดีกินหวาน” เคารพยกย่องผู้เฒ่าผู้แก่  ไทมาวนับถือเป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณค่า จะต้องเป็นผู้ที่คอยอบรมสั่งสอนและเอ่ยคำศักดิ์สิทธิ์ประสาทพรให้คู่บ่าวสาวเมื่อนำข้าวของมาขอสมา (หน้า 260)

Political Organization

เมื่ออังกฤษได้พม่าเป็นอาณานิคม ได้จัดการแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็น “พม่าแท้” อยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่กรุงนิวเดลลี โดยใช้ระบบการปกครองเช่นเดียวกับการปกครองอินเดีย  ส่วนที่สองนั้นเป็นกลุ่ม “ชาวเขา” และ “กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ” มีอาณาบริเวณอยู่ตามชายแดนมีกลุ่มไทใหญ่ในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น รัฐชิน และรัฐอาระกัน โดยให้ขึ้นตรงต่อกระทรวงอาณานิคมของอังกฤษที่กรุงลอนดอน (หน้า 55)
 
-รัฐชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในแผ่นดินเมียนม่าร์ นิยมอยู่รวมกันเป็นสหพันธ์แห่งนครรัฐระหว่างเจ้าพี่เจ้าน้องถือเป็นธรรมเนียมของรูปแบบการจัดตั้งทางสังคม และวัฒนธรรมเป็นหลักฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดั้งเดิม อันเป็นลักษณะเดียวกันกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่น ที่อยู่ในอำนาจการปกครองของแต่ละประเทศมีทั้งจีน อินเดีย เวียดนาม  เป็นต้น (หน้า 224)
 
-กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ไม่ชอบอยู่ภายใต้การปกครองของคนอื่น แม้จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทด้วยกันก็ตาม จึงแยกตัวเป็นอิสระ สร้างเมืองเล็กเมืองน้อยเป็นเอกภาพแห่งตน ตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองนคร กระจายกันอยู่ทุกทิศทาง            (หน้า 237 )
 
-ชาวคำตี่หลวง มีเจ้าฟ้าเป็นผู้ปกครอง (หน้า 238)

Belief System

คนไทใหญ่จะเข้ามาพบปะพูดคุยกันเป็นประจำทุกวันพระ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา บำเพ็ญศีลภาวนาอย่างจริงจัง เคร่งครัด มีเทศน์มหาชาติ มีแห่เทียนประทีปโคมไฟไปถวายตามวัดเป็นประจำ (หน้า 120)
-คนไทใหญ่มีความเชื่อถือศรัทธาผีบรรพชนอย่างเคร่งครัดจริงจัง มีพิธีกรรมเลี้ยงเซ่นสรวงบูชาอยู่เป็นประจำทุกปี อีกทั้งคนไทใหญ่และไทเขินยังมีการสร้างศาลไว้ทุกหมู่บ้าน ถือเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน นอกจากนี้แต่ละหมู่บ้านก็ยังมีวัด มีพระเป็นศูนย์กลางแห่งการบำเพ็ญศาสนกิจอีกด้วย (หน้า 147)
 
คนไทเขินมีพิธีเลี้ยงผีปู่ตา มีเรือนผีปู่ย่า อยู่ในป่า ปีหนึ่งบูชา 24 ครั้ง จะบูชาในวันแปดค่ำและวันสิบห้าค่ำ (หน้า 153 )
 
คนเผ่าไทจะมีการทำกระทงแต่งแก้ให้เคราะห์ออกจากตัว ความเชื่อเรื่องการสะเดาะเคราะห์จะวางไว้ระหว่างทางสามแพร่ง นัยว่าให้หลงทางกลับมาหาตนไม่ถูก (หน้า 155 – 156 )
 
คนไทใหญ่ มีความเชื่อเรื่องผีบรรพชนผสมผสานความเชื่อระหว่างผีกับพุทธ สำหรับไว้เป็นที่พึ่งพา สร้างพลังใจให้เกิดขึ้น (หน้า 240)
 
ชาวไทมาว ในเมืองมัณฑะเลย์ ยังเคร่งครัดในประเพณี พิธีกรรม ของตนเอง เมื่อมีเด็กเกิดใหม่จะมีการทำพิธีตามแบบโบราณที่ไทมาวปฏิบัติสืบตกทอดมาถึงปัจจุบัน เด็กผู้ชายอายุได้ 9-10 ปี ทำพิธีกรรม “ข้ามส่าง” เตรียมการบรรพชาเป็นสามเณร ส่วนเด็กผู้หญิงก็ต้องเตรียม “หม่องฮู” (เจาะรูหู) ในช่วงวัยเดียวกันกับเด็กผู้ชาย (หน้า 257)
 
คนไทมาวจะไปทำบุญที่วัดเป็นประจำทุกวันพระ คนไทมาวเรียกว่า “มาบุญ มาทาน” (หน้า 259) 

Education and Socialization

เด็กเล็กๆชายหญิงบ้านยางลาไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน มีคุณครูผู้หญิงเป็นผู้สอนหนังสือให้แก่เด็กๆ และโรงเรียนจะหยุดในวันพระ (หน้า 144 -145)
 
มหาวิทยาลัยเชียงตุงจะไม่มีนักศึกษาไปเรียนกันเป็นปกติ เนื่องจากทางการเกรงกลัวนักศึกษาจะมารวมตัวกัน เพราะฉะนั้นนักศึกษาไปเรียน ไปสอบ สลับกันไปในแต่ละสาขาวิชา โดยที่ครูอาจารย์จะนัดไปเรียน ไปสอบถือเป็นความลับ ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีนักศึกษาประมาณ 40-50 คน (หน้า 162)

Health and Medicine

ตะนะคา 

ชาวพม่าเชื่อว่าตะนะคา  หากนำ  ราก  ใบ  ดอก  ผล  มาปรุงแต่งเป็นยาก็จะรักษาได้สารพัดโรค  หรือจะต้มอาบชำระร่างกายรักษาโรคผิวหนังก็ชุ่มชื่นเย็นสบาย ใช้รากต้มดื่มเป็นยาระบายท้อง ดมเปลือกบรรเทาอาการคลื่นเหียน แก้ลม  วิงเวียน โดยทั่วไปแล้วนิยมใช้ส่วนเปลือกลำต้น หรือกิ่งก้านตัดเป็นท่อนมาพร้อมเปลือก นำมาฝนกับแผ่นหิน ผสมน้ำทาผิว (หน้า 40 )
 
ตุมตัง
คุณสมบัติทางยาของตุมตัง หากบดเนื้อไม้และเปลือกให้ละเอียดจะได้ผงสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใช้ประเทืองผิว ทำให้ผิวนวลเนียนออกสีเหลือง ราก  เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ลมบ้าหมู  แก้ไข้  แก้กระษัย  แก้โรค ผอมแห้ง ขับเหงื่อ  ส่วน ใบ  แก้ลมบ้าหมู คุมกำเนิด  แก้ไข้ แก้กระษัย  แก้โรค ผอมแห้ง  แก้ปวดข้อ  ปวดกระดูก ผล  ใช้บำรุงร่างกาย  แก้ไข้  แก้กระษัย โรค ผอมแห้ง แก้ลมบ้าหมู  แก้ท้องอืดเฟ้อเนื่องจากอาหารไม่ย่อย  สำหรับ เปลือกลำต้นและเนื้อไม้แก้ไข้  ช่วยทำให้เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ ให้ชุ่มชื่นแจ่มใส ขับลมแก้พิษร้อน  ถอนพิษไข้ แก้โลหิตจางที่ทำให้เกิดอาการผอมแห้ง  เป็นต้น  (หน้า 45)
 
ไม้โกทา
มีคุณสมบัติแก้ไข้ทุกชนิด  แก้ร้อนในกระหายน้ำ รักษาอาการถ่ายท้อง  เป็นบิดส่วนกิ่งก้านใช้สีฟัน หรือรักษาฟัน (หน้า 45 )

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เด็กเล็ก สาวหนุ่ม ผู้เฒ่าผู้แก่ในเมืองตองยี สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์สดสวยหลากสีสัน ผู้หญิงสูงอายุนุ่งผ้าซิ่นเป็นพื้น ส่วนใหญ่เป็นสีดำ ต่างสวมเสื้อคอกลมแขนยาวบ้างก็เป็นผ้าลูกไม้ถัก  แต่ทุกรายห่มผ้าขาวพาดเป็นสไบเฉียงทับเสื้อ (หน้า 125 – 126)
 
เด็กสาวแรกรุ่นไปจนถึงแม่เฒ่าเกือบทุกรายนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อหลากสีคอกลม ผ่าอก แขนทรงกระบอก หลายคนโพกศีรษะคลุมผมด้วยผ้าสีขาวหรือหลากสี (หน้า 167)
 
เด็กสาวบ้าลมหลายคนตกแต่งแต้มสีระบายรูปปั้นนางฟ้าในวัดโมนมิน ซึ่งตั้งอยู่บนเนินขอบสระบัวขนาดย่อมที่ทำเป็นสวนหย่อมหน้าพระเจดีย์องค์ใหญ่กลางวัด (หน้า 184)

Folklore

ตำนานชื่อเรียก” ขืน”
เรื่องน้ำในหนองตุ๋ง : น้ำในหนองตุ๋งเคยไหลบ่าท่วมท้นบ้านเรือน ไร่นา จนผู้คนเดือดร้อนไปทุกหัวระแหง จนมีพระเอกขี่ม้าขาวชื่อ “ฤาษีจันทรสิกขตุงค์” หรือ “ตุงคฤาษี” ใช้อภินิหารไม้เท้าขีดเส้นทางบนผืนดิน เพื่อระบายน้ำออกจากหนองตุ๋งให้ไหลย้อนขึ้นไปทางเหนือ ก่อนที่จะบังคับให้วกไหลกลับลงมาทางใต้เส้นทางที่ไม้เท้าวิเศษขีดนั้นกลายเป็นแม่น้ำ “ขืน” และเรียกผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมแม่น้ำขืนนี้เป็น “ชาวขืน” และเรียกเพี้ยนเป็น “ขึน” หรือ “เขิน” ในช่วงเวลาต่อมา (หน้า 139)
 
ความเป็นมาของแม่น้ำสาละวินหรือแม่น้ำคง
โดยเชื่อถือกันว่าสายน้ำของ หรือแม่น้ำโขง มีงูเห่าเป็นผู้นำทาง ส่วนแม่น้ำคงหรือสาละวิน มีลิงลมเป็นผู้นำทาง ลิงลมนั้นไปได้เร็วเหมือนแรงลม เมื่อคราพายุโหมกระหน่ำ หากช่วงเวลาใดพายุสงบ ลิงลมก็จะอ่อนแรงไปด้วย ส่วนงูเห่านั้นเลื้อยได้ว่องไวปราดเปรียวนัก ดูเหมือนว่าจะไปได้เร็วกว่าลิงลม หากแต่ในระหว่างทางงูเห่าถูกมดลิ้นกัดเสียก่อน จนทำให้งูเห่าเจ็บปวดถึงตัวขดตัวงอไม่อาจเลื้อยได้เป็นปกติ ลิงลมจึงออกทะเลได้ก่อน (หน้า 221)
 
อีกสำนวนหนึ่ง “คง”  กับ  “โขง” เคยเป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่ครั้งอยู่ในทิเบต แต่ในวันหนึ่งอยากแข่งขันกันว่าใครจะไปถึงทะเลได้ก่อนกัน “โขง” นั้นไหลลดเลี้ยวเรื่อยๆ ไปตามซอกหินผา  แต่  “คง” เล่นไม่ซื่อกลับไหลลัดตัดภูเขาไปออกทะเลได้ก่อน “โขง”  จึงโกรธมากถึงกับลั่นวาจาว่าไม่ว่าชาติไหนก็จะไม่ขอพบเจอกับ “คง” อีก  หากต้องมาพบปะกันโดยบังเอิญก็อธิษฐานว่าต้องให้ไฟบรรลัยกัลป์เกิดขึ้น นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สายน้ำทั้งสองไม่มีโอกาสได้บรรจบกันเลย (หน้า 222)
 
เจ้าปกครองคำตี่หลวง : ปู่โถมถงม่าตุ๊ง เป็นผู้ปกครองคนแรกของเมืองคำตี่ เสือห่มฟ้าเคยได้ลักพาตัวลูกสาวของปู่โถมถงม่าตุ๊งไปโดยทำอุบายใช้ปู่โถมถงม่าตุ๊งไปธุระที่เมืองมะนุ่น อย่างไรก็ดีเสือห่มฟ้าได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองคำตี่  แต่ชาวเมืองคำตี่ไม่ได้ถือว่าปู่โถมถงม่าตุ๊ง เป็นบรรพชนของตนแต่อย่างใด ในคำบนบานศาลกล่าวก็ไม่มีชื่อปู่โถมถงม่าตุ๊ง แต่กลับออกชื่อเจ้าสามองค์  คือเจ้าสามหลวง เจ้าหัวแสง และเจ้าช้างใต้ สำหรับเจ้าสามหลวงนั้น ตามตำนานเล่าว่า  เป็นเจ้าฟ้าปกครองคำตี่หลวง มีบุญญาธิการมาก ถึงกับมีตำนานพิสดารแปลกแยกออกไปอีกว่า เมื่อร้องต่อฟ้า ขอให้ช่องเขาถล่มลงมาปิดทาง ไม่ให้พวกทิเบตเข้ามารุกราน ช่องเขานั้นก็ถล่มลงมาปิดสมดังคำอธิษฐาน (หน้า 238 )
 
ตำนานเมืองคำตี่ : เคยมีเจ้าชายทิเบตนำไพร่พลอพยพมาตั้งรกรากที่เมืองคำตี่ 500 คน และภาษาทิเบตก็อยู่ในตระกูลเดียวกับภาษาพม่า  มีไวยากรณ์คล้ายคลึงกัน เป็นอีกทางหนึ่งหรือไม่ ที่ส่งอิทธิพลให้ภาษาคำตี่มีส่วนคล้ายภาษาพม่า (หน้า 239)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

-ชาวไทใหญ่ เมืองตองยี
-ชาวไทใหญ่  หมู่บ้านเชียงแสน เมืองเชียงตุง
-ชาวไทเขิน หมู่บ้านหนองเงิน เมืองเชียงตุง
-ชาวไทใหญ่  หมู่บ้านหนองฮอง ชานเมืองเชียงตุง
-ชาวไทใหญ่ บ้านตองสี ชานเมืองเชียงตุง
-ชาวไทใหญ่ บ้านหนองก๋ม เมืองเชียงตุง
-ชาวไทเขิน บ้านซาย ชานเมืองเชียงตุง
-ชาวไทเขิน บ้านหมากขาม ชานเมืองเชียงตุง
-ชาวไทเขิน บ้านปก ชานเมืองเชียงตุง
ชาวไทเขิน บ้านยางเกี๋ยง ชานเมืองเชียงตุง
-ชาวไทเขิน บ้านกาดผ้า  อำเภอกาดผ้า จังหวัดเชียงตุง
-ชาวไทใหญ่ บ้านสามตอง เมืองเชียงตุง
-ชาวไทเขิน บ้านเชียงสาม เมืองเชียงตุง
-ชาวไทใหญ่  บ้านฮก เมืองท่าขี้เหล็ก
-ชาวไทใหญ่ บ้านหัวขัว เมืองท่าขี้เหล็ก
-ชาวไทใหญ่  บ้านห้วยไค้ เมืองท่าขี้เหล็ก
-ชาวไทใหญ่  บ้านลม  เมืองท่าขี้เหล็ก
-ชาวไทเขิน  บ้านบะยาง เมืองท่าขี้เหล็ก
-ชาวปะโอ บริเวณรอบทะเลสาบอินเล
-ชาวอินตา บริเวณรอบทะเลสาบอินเล
-ชาวไทใหญ่ ริมแม่น้ำปลายทะเลสาบอินเล
-ชาวไทคำตี่ บริเวณลุ่มน้ำชินดวิน
-ชาวไทใหญ่  อาณาจักรเมืองมาว
-ชาวไทใหญ่และชาวไทเขิน ในบ้านกางนา
-ชาวไทมาว ในเมืองมัณฑะเลย์
 
ระบบความคิดความเชื่อดั้งเดิมของคนไทใหญ่เป็นระบบคิดเช่นเดียวกันกับคนไทในภูมิภาคอื่นๆ กล่าวคือ เชื่อเรื่องผีบรรพชนผสมผสานความเชื่อระหว่างผีกับพุทธ สำหรับไว้เป็นที่พึ่งพาสร้างพลังใจให้เกิดขึ้น เพื่อการผนึกกำลังร่วมใจสามัคคีกันต่อสู้ผู้รุกรานอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะอ่อนแรงลงทุกขณะก็ตาม แต่ด้วยความเชื่อถือศรัทธาในบรรพชนผู้เก่งกล้า ความมีน้ำใจเอื้ออาทรโอบอ้อมอารี มีนิสัยอ่อนน้อม รักสงบ ชอบพบปะ ค้าขายแลกเปลี่ยน ถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดก็ตาม (หน้า240)
 
-คนไทใหญ่มีอัตลักษณ์เฉพาะ เป็นต้นว่า ใช้ถั่วเน่าประกอบอาหาร ตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้ลำน้ำบนพื้นที่ราบซึ่งเป็นทำเลเหมาะกับการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก นิยมอยู่รวมกันเป็นชุมชนเครือญาติ ปลูกสร้างบ้านเรือน ด้วยไม้ และไม้ไผ่ ยกพื้นสูงใช้ใต้ถุนบ้านเป็นสถานที่พักผ่อน ทอผ้า หรือทำกิจกรรมจักสาน เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เป็นต้น (หน้า 262 )

Social Cultural and Identity Change

กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ มีอาณาเขตแผ่ไพศาล ไม่ชอบอยู่ภายใต้การปกครองของคนอื่น แม้จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทด้วยกันก็ตาม จึงแยกตัวเป็นอิสระ สร้างเมืองเล็กเมืองน้อยเป็นเอกภาพของตนเอง ตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองนคร กระจายกันอยู่ทุกทิศทาง แต่ละเมืองก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน สืบโยงเชื้อสาย เป็นเสมือนพี่น้องสายเลือดเดียวกัน แม้ในบางคราวจะรบพุ่งกันเองเพื่อขยายอาณาเขตก็ตาม แต่ทุกเมืองกพูดภาษาเดียวกัน เข้าใจกันได้ดี ทั้งมีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน (หน้า 237)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มีข้อมูล

Map/Illustration

-ภาพมหาเจดีย์ชเวดากอง (หน้า 22-23)
-ภาพองค์เจดีย์น้อยใหญ่หลายรูปแบบที่รายล้อมบริเวณมหาเจดีย์ชเวดากองในกรุงร่างกุ้ง (หน้า 30-31)
-ภาพชาวพุทธมาทำบุญ ร่วมฟังเทศน์ที่วัดเป็นประจำในวันสำคัญทางศาสนา (หน้า 32)
-ภาพกลุ่มแม่ชี ณ บริเวณรอบองค์มหาเจดีย์ชเวดากอง (หน้า 33)
-ภาพพระภิกษุบริเวณรอบองค์มหาเจดีย์ชเวดากอง (หน้า 34)
-ภาพการบูชาด้วยดอกไม้ของหอม ชาวเมียนม่าร์ (หน้า 38)
-ภาพพุทธศาสนิกชนกำลังตักน้ำมนต์สรงน้ำเทวดาประจำวันเกิดตามความเชื่อและศรัทธา (หน้า 39)
-ภาพวิถีชีวิตผู้คน และสภาพเมืองย่างกุ้ง (หน้า 47)
-ภาพตึกรามอาคารและการจราจรกลางเมืองย่างกุ้ง (หน้า 49 )
-ภาพพระราชวังมัณฑะเลย์ของกษัตริย์มินดง พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยลัต (หน้า 70-71)
-ภาพพระราชวังมัณฑะเลย์ ศูนย์กลางของนครหลวงแห่งใหม่ที่พระเจ้ามินดงทรงสร้างขึ้นเมื่อปี 2400 (ภาพประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 25) (หน้า 79)
-ภาพอานันดาพญา หนึ่งพระมหาเจดีย์ในจำนวนนับพันกลางทุ่งเจดีย์ในเมืองพุกาม(หน้า 105)
-ภาพเจดีย์บนยอดเขากลางเมืองตองยี (หน้า 123)
-ภาพนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษา ชานเมืองเชียงตุง (หน้า 146)
-ภาพศาลเทวดา “ ศาลปู่ตา-ปู่ย่า  หรือย่ายาย ” ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านหมากขาม  ชานเมืองเชียงตุง (หน้า 154)
-ภาพวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่  (หน้า 168)
-ภาพเด็กสาวชาวบ้านลม เมืองท่าขี้เหล็ก โดยตกแต่ง แต้มสีสันรูปปั้นนางฟ้าภายในวัดโมนมิน (หน้า 186)
-ภาพชาวอินตาชำนาญที่จะใช้เท้าพายเรือ (หน้า 199)
-ภาพหนุ่มสาวชาวไทใหญ่ บริเวณปลายทะเลสาบอินเลกำลังต้อนรับผู้มาเยือน (หน้า 210)
-ภาพแม่น้ำสาละวิน สายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชาวไทใหญ่ไหลผ่ากลางหุบเขาที่ยืนขนาบอยู่สองข้าง (หน้า 218-219)

Text Analyst สุนิสา ฝึกฝน Date of Report 23 ก.พ. 2558
TAG ไต (ไทใหญ่), ขึน ไทขึน ไทเขิน, ยอง, ไทมาว, รัฐฉาน, เมียนม่าร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง