สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject พวน ไทพวน ไทยพวน,วิถีชีวิต,สังคม,วัฒนธรรม,ประวัติศาสตร์,ชุมชนท้องถิ่น,อุดรธานี
Author ฤดีมน ปรีดีสนิท
Title วิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมประเพณีและประวัติศาสตร์ชุมชนกรณีไทย-พวน อำเภอบ้านผือ
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทยพวน ไทพวน คนพวน, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 71 Year 2539
Source ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุดรธานี
Abstract

ไทพวนบ้านผือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว ที่มีความสำนึกในเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตนสูง ทั้งสำนึกในความเป็นพวน สำนึกในประวัติศาสตร์ชนชาติ ตลอดจนสำนึกในภาษาพวน วิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมประเพณีของไทพวน อำเภอบ้านผือ มีฮีตคองเช่นเดียวกับชาติพันธุ์ไท-ลาวอื่น แต่มีข้อปฏิบัติและความเชื่อแตกต่างกันออกไป สังคมไทพวนบ้านผือเป็นสังคมที่นับถือผี มีพิธีกรรมความเชื่อที่ยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมา แม้ปัจจุบันไทพวนเหล่านี้จะนับถือพุทธศาสนาแล้วก็ตามแต่ยังเป็นการนับถือผีคู่ไปกับนับถือพระ งานศึกษานี้มุ่งเน้นด้านประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อและความสำนึกในชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งมีความสำคัญและควรตระหนักถึงการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่อย่างมั่นคงและแข็งแรงสืบไป (หน้า 71)

Focus

เน้นการศึกษาวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมประเพณี และประวัติศาสตร์ชุมชนไทพวน อำเภอบ้านผือ ที่มีสำนึกในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์สูง ภายใต้การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมของไทพวนกับชาติพันธุ์อื่น ๆ

Theoretical Issues

ชุมชนไทพวน อำเภอบ้านผือ มีสำนึกในเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตนสูง ไม่ว่าจะเป็นสำนึกในความเป็นพวน สำนึกในประวัติศาสตร์ชนชาติ ตลอดจนสำนึกในภาษาพวน ผู้วิจัยมองว่าการพบปะสังสรรค์ของไทพวนกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ในอำเภอบ้านผือ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (หน้า 20, 69) อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไทพวนบ้านผือ ด้วยเหตุนี้ คนรุ่นหลังจึงควรตระหนักถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตนก่อนที่จะสูญหายไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชุมชน (หน้า 1,71)

Ethnic Group in the Focus

พวนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว (หน้า 10) ที่อพยพมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยมาเป็นเวลานานกว่า 200 ปี (หน้า 7) อาศัยอยู่กระจัดกระจายในภาคอีสานบริเวณใกล้แม่น้ำโขง เช่น จังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู เป็นต้น (หน้า 17)

Language and Linguistic Affiliations

ในงานศึกษาระบุเพียงว่า ภาษาพวนเป็นภาษาหลักของบ้านผือ สามารถสื่อสารได้กับทุกกลุ่ม ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ จะปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมไทพวน (หน้า 20) ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ภาษาเริ่มเปลี่ยนแปลงปะทะสังสรรค์ระหว่างไท-ลาว ไทพวน ไทอีสาน ศัพท์ต่างๆ จะใช้ร่วมกัน เช่น คนพวนรุ่นเก่าใช้ว่า "จะไปกะเหลอมา" แต่คนรุ่นใหม่จะพูดว่า "ไปไสมา" แม้ว่าสำเนียงจะเป็นพวนอยู่แต่คำศัพท์เปลี่ยนไปใช้คำไท-ลาว กลาง หรือใช้ไทยอีสานมากขึ้น (ภาคผนวก คำศัพท์ภาษาพวน)

Study Period (Data Collection)

สัมภาษณ์ระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2538 ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในหมู่บ้านไทพวน 3 ตำบลจาก 6 ตำบล ในเขตอำเภอบ้านผือ (หน้า 2)

History of the Group and Community

พวนมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของตนเอง ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์และงานศึกษาหลายชิ้น (หน้า 3-7) "พวน" เป็นคำเรียกกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นเชียงขวางซึ่งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ชื่อว่า พวน เพราะเชียงขวางมีแม่น้ำสายสำคัญชื่อแม่น้ำพวนไหลผ่าน เชียงขวางเป็นแดนกั้นระหว่างลาวและญวนจึงเป็นดินแดนที่มีการทำสงครามของทั้งสองฝ่ายเสมอ ทำให้พวนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น (หน้า 10) พวนเชียงขวางอพยพเข้ามาอยู่ในไทยเมื่อ 200 ปีมาแล้ว ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อไทยยกทัพไปตีเวียงจันทน์ ได้กวาดต้อนผู้คนในเวียงจันทน์มากรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก ทั้งลาวเวียง ลาวพวน และผู้ไทลาวโซ่ง โดยให้ไปอยู่ตามหัวเมืองชั้นใน เช่น เมืองสระบุรี ลพบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ต่อมาปี พ.ศ.2325 เจ้าเมืองแถงเจ้าเมืองพวน ได้แข็งเมืองต่อเวียงจันทน์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ยกกองทัพไปตีเมืองและกวดเอาลาวทรงดำ (ผู้ไท) และลาวพวนลงมากรุงเทพฯ จำนวนมาก ในสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้ครัวลาวที่ถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานซึ่งเป็นลาวพวนทั้งสิ้น ตั้งบ้านเรือนที่บางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. 2370 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ก่อกบฏต่อกรุงเทพฯ กองทัพไทยส่งกำลังไปทำลายเวียงจันทน์และกวาดต้อนครัวลาวเวียงและลาวพวนลงมากรุงเทพฯ จำนวนมาก โดยรัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้อยู่บริเวณภาคกลาง เช่น สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ทางเหนือจะอยู่ที่กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร และทางภาคอีสาน อยุ่ที่เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู ต่อมาเกิดศึกฮ่อ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 พวนอพยพหนีฮ่อเข้าไปอยู่ในเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และอพยพมาอยู่ในไทย บ้างก็ไปอยู่กับพี่น้องที่อพยพเข้ามาอยู่ก่อนแล้ว (หน้า 12-16) ชุมชนไทพวนอำเภอบ้านผือ เป็นลาวพวนที่อพยพและถูกกวาดต้อนมาจากเชียงขวาง และหัวพันทั้งห้าทั้งหก ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอำเภอบ้านผือ โดยแบ่งตามช่วงเวลา ดังนี้ ไทพวนบ้านกลางใหญ่ เป็นลาวพวนที่เข้ามาอยู่ในอำเภอบ้านผือ ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งที่ไทยยกทัพไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2370 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้กวาดต้อนครัวลาวเวียงและลาวพวนลงไปกรุงเทพฯ แต่ลาวพวนจากบ้านหนองแก้ว หาดเดือย เชียงขวาง 11 ครัว ขออนุญาตกองทัพยั้งอยู่ที่กลางใหญ่ ซึ่งเป็นที่ราบเชิงเขาภูพานและได้ตั้งบ้านเรือนกระจายไปในละแวกใกล้เคียง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดศึกฮ่อราว พ.ศ. 2428-2436 พวกฮ่อได้ยกกำลังเข้ารุกรานปล้นสะดมลาวพวนที่เชียงขวางและหัวพันทั้งห้าทั้งหก ลาวพวนที่อพยพหนีศึกฮ่อจากทุ่งเชียงคำได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านผือ ส่วนลาวพวนจากเมืองแมด เมืองกาสี ที่อพยพหนีฮ่อมาในคราวเดียวกัน ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเมืองพาน บ้านกาลึม บ้านหนองกาลึม และบางส่วนอพยพลงไปภาคกลางเพื่อหาญาติพี่น้องที่ถูกกวาดต้อนลงไปตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศส ประกอบกับรัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาสและให้อิสระแก่ครัวลาวโยกย้ายถิ่นฐานได้แต่ไม่ให้ข้ามแม่น้ำโขงไป พวนจากบ้านหมี่ ลพบุรี และเสาไห้ จังหวัดสระบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จึงอพยพไปหาญาติพี่น้องและหาที่ทำกินใหม่ที่บ้านผือ อนึ่ง พวนกลุ่มนี้เป็นพวกที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่ภาคกลางเมื่อต้นรัตนโกสินทร์จากการแตกศึกฮ่อมา ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกกดขี่ ดูถูกเหยียดหยามจากคนไทยที่อยู่ล้อมรอบและละแวกใกล้เคียง (หน้า 11-17, 20)

Settlement Pattern

บ้านเรือนของไทพวนจะปลูกสร้างตามคติความเชื่อเป็นสำคัญ รูปแบบโครงสร้างเฮือนพวนแต่เดิมเป็นรูปสี่เหลี่ยมทำด้วยไม้ไผ่ ฝาทำด้วยฟากมีการสลักลิ่มแทนการตอกตะปู เป็นเฮือนเครื่องผูก หลังคามุงหญ้าคาหรือแป้นเกล็ด หน้าจั่ว หรือที่หน้าเฮือนนิยมสลักด้วยไม้เป็นรูปต่าง ๆ ประดับ เช่น สิงห์ นาค จระเข้ บัวเถา ตัวเฮือน ประกอบด้วย 2 ส่วนคือเฮือนกับชาน ตัวเฮือนแบ่งเป็น 3 ห้อง ได้แก่ ห้องเปิง เป็นห้องสำหรับพ่อแม่ อยู่ทางขวาของเฮือน ห้องกลาง เป็นห้องโถงอยู่กลางเฮือนสำหรับลูกเต้านอนรวมกัน และห้องกลอย เป็นห้องสำหรับลูกสาว อยู่ทางซ้ายของเฮือน ส่วนชานมี 2 ประเภทคือ ชานฝน ใช้นั่งพักผ่อนหรือรับประทานอาหาร และชานน้ำ ใช้เป็นห้องอาบน้ำหรือเตรียมประกอบอาหาร บริเวณบ้าน มีศาลหรือหอผี ตั้งไว้ทางทิศตะวันตกหรือท้ายบ้าน ใต้ถุนเฮือน นิยมทำใต้ถุนสูง ไว้ผูกสัตว์เลี้ยง วัวควาย และใช้ทอหูก เข็นฝ้าย ตลอดจนเป็นที่เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร ยุ้งข้าวหรือเล้าข้าว นิยมตั้งทางทิศตะวันออกของตัวเฮือน (หน้า 61-63) การปลูกเฮือนพวน คติความเชื่อของไทพวนจะปลูกสร้างบ้านเรือนต้องเลือกให้ได้ลักษณะที่ดีเป็นมงคล โดยมีผู้รู้ ผู้เฒ่าผู้แก่ดูที่ทางให้ มีพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกเฮือน (หน้า 60-63)

Demography

ไม่ได้ระบุไว้ ระบุเพียงว่าประชากรที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอำเภอบ้านผือมีหลายชาติพันธุ์ เช่น ลาวพวน ลาวเวียง ลาวภูคัง จีน ญวน และคนอีสาน แต่ลาวพวนเป็นประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดของอำเภอ (หน้า 19-20) จากข้อมูลเชิงปริมาณที่ผู้วิจัยแนบมาท้ายเล่ม พอจะประมาณได้ว่า จำนวนประชากรในบ้านผือมี 126 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 62 ครัวเรือน (ตารางที่ 2)

Economy

การผลิต : ไทพวนบ้านผือดำรงชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก มีความเชื่อและพิธีกรรมมากมายในการทำนา และยังคงใช้การขอแรงเพื่อนบ้านมาลงแขกเกี่ยวข้าว (หน้า 48-53) นอกจากทำนาแล้ว ก็มีการทำไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย เก็บของป่า ฯลฯ (หน้า 23) ปัจจุบันหนุ่มสาวออกไปทำงานก่อสร้างในเมือง ทำงานในโรงงานที่กรุงเทพฯ และขายแรงงานที่ต่างประเทศ (หน้า 24) การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ : ไทพวนมีความเชื่อเรื่องผีอย่างมาก มีศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน ผู้วิจัยระบุว่า การมีศาลปู่ตาเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ เพราะสัตว์ป่าที่อยู่บริเวณศาลปู่ตานั้นผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากปู่ตาก่อน การเข้าไปทำลายป่าล่าสัตว์ในบริเวณนั้นจึงเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้เป็นอันขาด เพราะจะก่อให้เกิดภัยอันตรายร้ายแรงต่อผู้กระทำและชุมชน (หน้า 66) นอกจากนี้ ผู้วิจัยระบุว่า การที่ลาวพวนเป็นผู้ควบคุมเศรษฐกิจของอำเภอบ้านผือไว้ได้ก็ด้วยการแต่งงานกับคนจีนหรือพวนด้วยกันเอง และเนื่องด้วยอุปนิสัยขยันหมั่นเพียร ประหยัด อดออม และรู้จักทำมาหากิน ค้าขาย การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานก่อน จึงเลือกจับจองที่ทำกินได้มาก และมีความยึดมั่นในวัฒนธรรม ภาษา และชาติพันธุ์ของตน จึงกลืนชนกลุ่มอื่นได้มาก (หน้า 20)

Social Organization

สังคมไทพวนบ้านผือเป็นสังคมระบบเครือญาติที่พึ่งพาอาศัยกัน ดังจะเห็นได้จากการสร้างบ้าน การลงแขกเกี่ยวข้าวนวดข้าว และการกระทำพิธีกรรมต่าง ๆ ในฮีตของชุมชน (หน้า 51, 65) นอกจากนี้ ไทพวนบ้านผือยังคงเคารพนับถือผี วิญญาณ เทวดา อย่างมั่นคง ผู้วิจัยระบุว่า ไทพวนสร้างภูมิคุ้มกันสังคมโดยใช้อำนาจผีเป็นเครื่องควบคุมพฤติกรรมทางสังคมไว้ได้ โดยเฉพาะการเลี้ยงปู่ตา เป็นการจัดระเบียบชุมชนอย่างชาญฉลาด ก่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความเสมอภาค การแก้ปัญหาของชุมชนเป็นปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วมแก้ไข และประเพณีต่าง ๆ ในวิถีชีวิตของไทพวนล้วนยอมรับว่าทุกคนเป็นเจ้าของพิธีกรรม (หน้า 66) การแต่งงาน : ไทพวนช่วงอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป จะแต่งงานในพวกเดียวกันมากกว่าแต่งงานกับชาติพันธุ์อื่น ปัจจุบันการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นมีมากขึ้น ไทพวนบ้านผือจะแต่งงานกับคนต่างเผ่า เช่น ไทลาว จีน ญวน และข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้น (หน้า 65) ประเพณีที่เกี่ยวกับการแต่งงานของไทพวน ได้แก่ ประเพณีการลงข่วง (หน้า 54-56) ประเพณีกินดองไทพวน (หน้า 56-59) ซึ่งควบคุมพฤติกรรมทางสังคมโดยใช้ความเชื่อและประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา เช่น ถ้ามีการทำผิดผี (การล่วงเกินฝ่ายหญิงโดยฝ่ายหญิงไม่ยินยอม หรือพ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่ยินยอม) ฝ่ายชายจะต้องเสียผี ทำการขอขมา จ่ายค่าเสียหายตามจะตกลงกัน ผู้วิจัยระบุว่า การเสียผีไทพวนในเรื่องชู้สาวนับเป็นความเฉลียวฉลาด เป็นภูมิปัญญาในการควบคุมพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศของสังคม ควบคุมพฤติกรรมทางเพศของสมาชิกให้อยู่ในกรอบและกฎเกณฑ์ด้วยการเสียผี อันเป็นการประกาศและประนามผู้ล่วงละเมิดกติกาของสังคมให้สังคมลงโทษ (หน้า 56) บทบาทหญิงชาย : ไทพวนให้ความยกย่องเพศชายว่า เป็นใหญ่กว่าเพศหญิง และเป็นผู้นำครอบครัว ดังนั้นสถานภาพของเพศชายจึงสูงกว่าเพศหญิง ดังจะเห็นได้จากประเพณีการแต่งงาน ฝ่ายหญิงต้องหมอบกราบฝ่ายชาย ก่อนนอนฝ่ายหญิงต้องกราบสามี การรับมรดกลูกคนเล็กหรือคนสุดท้องที่อยู่ปรนนิบัติพ่อแม่จะเป็นผู้ได้รับ การแต่งงานจะเอาลูกเขยเข้าไปอยู่ในบ้าน เป็นต้น (หน้า 66) การรวมกลุ่มทางสังคม ไทพวนบ้านผือรวมตัวกันตั้งชมรมไทพวนบ้านผือ และมีการประสานสัมพันธ์กับไทพวนกลุ่มอื่น ๆ ร่วมทำกิจกรรมและมีการสังสรรค์กันอย่างใกล้ชิด โดยเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพงานสังสรรค์ทุกปี (หน้า 70)

Political Organization

ไม่ได้ระบุถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองหรือความขัดแย้งไว้ชัดเจน เพียงกล่าวถึงผู้นำทางประเพณี โดยระบุว่า พ่อตู้ตัน พั่วแพง เป็นจ้ำประจำศาลปู่ตาของอำเภอบ้านผือและเป็นผู้นำกระทำพิธีเลี้ยงบ้าน (หน้า 38) พิธีเลี้ยงบ้านจะต้องมีจ้ำและนางเทียม จ้ำ คือผู้ที่มีหน้าที่ติดต่อกับเทพและผี เป็นผู้ดูแลรักษาหอบ้าน เป็นผู้ทำหน้าที่เซ่นไหว้ผี เชิญผีเข้าทรงนางเทียม ผู้ชายเท่านั้นที่เป็นจ้ำได้และมักเป็นผู้สูงอายุ มีศีลธรรม ประพฤติตนเป็นที่ยอมรับของหมู่บ้าน การเป็นจ้ำมักจะสืบสายพันธุ์จากพ่อไปลูก จากลูกไปหลาน ต่อ ๆ กันไป หากลูกไม่รับสายพันธุ์ก็จะมีการสรรหาจ้ำใหม่ โดยทดสอบให้เชิญแถนหรือผีมารักษาคนป่วย ถ้าติดต่อกับแถนกับผีได้ก็จะได้รับเลือกเป็นจ้ำ ส่วนนางเทียม คือ หญิงที่ทรงเจ้าหรือผีเข้า มักเป็นหญิงหม้ายวัยกลางคน เป็นเพศหญิงเท่านั้น และต้องเป็นผู้ที่ผีแถน ผีปู่ตาเลือกให้เป็นโดยออกปากผ่านนางเทียมคนอื่นหรือบอกเหตุให้รู้ เช่น ฝันหรือสัญญาณเครื่องหมายเป็นที่รู้ว่าผีแถนเลือกให้เป็น ถ้าไม่ยอมรับก็จะมีอันเป็นไป (หน้า 36)

Belief System

ความเชื่อดั้งเดิมของไทพวน เชื่อในเรื่องผี นับถือผี การไหว้ผี ลงผี เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวัน ไทพวนมีพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับผีมากและมั่นคง แม้ว่าปัจจุบันไทพวนบ้านผือจะได้รับการศึกษาสูงขึ้นและหันมานับถือพุทธศาสนา แต่ส่วนใหญ่ยังคงรับนับถือผี ทั้งผีบ้าน ผีบรรพบุรุษ ผีป่า ผีเขา เทพยดาอารักษ์ (หน้า 70) ความเชื่อ ขนบประเพณี และพิธีกรรมของไทพวน อยู่ในวิถีชีวิตตามฮีตคองของอีสาน คือ ฮีต 12 คอง 14 ไทพวนบ้านผือมีฮีตคองที่ปฏิบัติมาแต่บรรพบุรุษ โดยฮีต 12 ของไทพวนบ้านผือ มีพิธีกรรมต่าง ๆ ได้แก่ - บุญกำฟ้า เป็นบุญเดือนอ้ายของไทพวน โดยเชื่อว่าการทำบุญกำฟ้านั้นเป็นการป้องกันมิให้ฟ้าผ่าเมื่อเวลาออกไปไถนา (หน้า 27-28) - บุญเดือน 4 หรือบุญพระเวส เป็นประเพณีการเทศน์มหาชาติซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตชุมชนไทพวนอย่างยิ่ง โดยมีความเชื่อว่าการได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ 13 กัณฑ์ในวันเดียวถือเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่ เมื่อเสียชีวิตไปแล้วเกิดในชาติหน้าจะได้พบพระศรีอาริย์ (หน้า 29) - บุญเดือน 5 หรือบุญสงกรานต์ บุญสังขารของไทพวนจะเริ่มวันที่ 13-15 เมษายน มีการเชิญพระพุทธรูปลงสรงน้ำและฮดสรงพระภิกษุ ฮดน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ นอกจากนี้ ยังมีประเพณีแห่ดอกไม้ในบุญสงกรานต์ โดยแต่ละหมู่บ้านแห่ดอกไม้เยี่ยมเยือนกันเป็นการประสานสัมพันธ์กัน (หน้า 34) - บุญเลี้ยงบ้านหรือบุญเลี้ยงผีปู่ตา กระทำกันในเดือน 6 เป็นประเพณีสำคัญและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเชื่อว่าหากไม่เลี้ยงบ้านก่อนก็จะทำนาไม่ได้จะเกิดทุพภิกขภัยแก่บ้าน นาจะล่มจะแล้ง จะเป็นอัปมงคลต่างๆ และเกิดภัยพิบัติแก่หมู่บ้าน (หน้า 35, 37,40) ปัจจุบันไทพวนบ้านกลางใหญ่เลิกพิธีกรรมนี้แล้ว เพราะเลิกนับถือผี แต่ชุมชนไทพวนอื่นในอำเภอบ้านผือยังคงยึดมั่นในประเพณีและพิธีกรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษ (หน้า 38-43) - บุญเดือน 9 หรือบุญห่อข้าวของไทพวน เป็นความเชื่อตามฮีตคองที่ต้องทำบุญอุทิศผลแรก ได้แก่ เปรต อสุรกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ภูติผีเหล่านั้นมารบกวนทำร้าย กระทำในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า (หน้า 43) - บุญเดือน 10 หรือบุญข้าวสาก ไทพวนจะมีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว อันเป็นความเชื่อตามฮีตคองของตนว่า จะต้องทำบุญอุทิศผลแรก ได้แก่ บรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการกวนข้าวกระยาสารท หรือทำข้าวสากไปทำบุญแล้วอุทิศผลบุญถึงบุคคลเหล่านั้น การทำบุญข้าวสากในเดือนสิบ เพราะมีความเชื่อว่าในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ยมบาลปล่อยภูติผีปีศาจจากนรกขึ้นมาโลกมนุษย์ ภูติผีเหล่านี้หิวโหย เมื่อขึ้นมาแล้วไม่มีอาหารกินเพราะไม่มีญาติทำบุญอุทิศให้ ก็จะโกรธ สาปแช่งลูกหลานให้ได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ (หน้า 44-45) - บุญเดือน 11 หรือบุญปราสาทผึ้ง เป็นการทำบุญในเดือน 11 อันถือเป็นฮีตสำคัญฮีตหนึ่งของไทพวน บุญปราสาทผึ้งทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษา ชาวบ้านจะทำปราสาทผึ้งไปถวายวัด (หน้า 45) - บุญคูนลาน หรือการทำบุญกองข้าวใหญ่ของไทพวน ทำกันในเดือน 12 หรือเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และนวดข้าวจนได้กองข้าวก็จะทำบุญกองข้าวเป็นการสู่ขวัญข้าว (หน้า 53) ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนา ไทพวนบ้านผือจะเริ่มทำนาได้เมื่อทำพิธีเลี้ยงบ้านและทำบุญบั้งไฟแล้ว มีฝนฟ้าตกก็จะเริ่มทำนา ก่อนทำนาต้องทำพิธีเลี้ยงผีตาแฮกหรือผีนาก่อน เป็นการขออนุญาตผีนาทำนา ให้ผีนาปกปักรักษานา รักษาข้าว ให้ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ เมื่อเลี้ยงผีนาแล้วก็จะเริ่มไถนาและตกกล้า ก่อนจะนำไปปักดำ ต้องทำพิธีขออภัยผีนาหรือแม่ธรณี การไถนาจะดูเดือนที่ไถ แต่ละเดือนพญานาคผู้ให้น้ำจะนอนหันหัวไปยังทิศต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน การไถนาต้องไถตามเกล็ดพญานาค ไม่ไถย้อนเกล็ดเพราะจะทำให้พญานาคเจ็บปวด จะโกรธ มีวิธีการนับเดือนเพื่อหาทิศทางการไถนาคือ เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม หัวเหนือท้องแดด หมายถึงพญานาคจะนอนเอาหัวไปทางทิศเหนือ หางอยู่ทิศใต้ ดังนั้นจะไถจากเหนือไปใต้ เดือนสี่ ห้า หก หัวตกท้องแดด จะต้องไถจากทิศใต้เฉียงไปทางทิศตะวันตก เดือนเจ็ด แปด เก้า หัวเหนือท้องตก จะต้องไถจากทิศใต้เฉียงไปทางทิศเหนือ เมื่อปักดำครบทุกแปลงแล้วจะต้องเลี้ยงผีนาอีก เรียกว่า เลี้ยงปลงโดยทำในเดือน 9 หลังจากเลี้ยงปลงแล้วจะมีพิธีฮ้องขวัญควาย ขวัญคราด และขวัญไถ การฮ้องขวัญควายคือการขอขมาควายที่ได้ใช้แรงงานทำข้าวมานาน พอถึงเดือน 9 แรม 14 ค่ำ จะมีพิธีห่อข้าวประดับดิน อุทิศบุญแก่ผีเร่ร่อนไม่ให้ทำลายข้าว และเมื่อข้าวตั้งท้องเดือน 10 จะมีพิธีห่อข้าวสาก อุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ก่อนนวดข้าวจะมีพิธีปลงคาย คือสู่ขวัญข้าวหรือบุญคูนลาน เมื่อนวดข้าวเสร็จ ก่อนจะขนข้าวขึ้นเล้าจะมีพิธีปิดประตูเล้า เป็นการบอกกล่าวผีเล้า เมื่อข้าวขึ้นเล้าแล้วจะปิดประตูเล้าโดยเอากิ่งหนามพุทรามาปิดประตูเล้าเพื่อป้องกันภูติผีปีศาจเข้ามาทำลายข้าว หลังจากนั้นจะไม่เปิดประตูเล้าจนกว่าจะถึงเวลา หากเปิดก่อนเอาข้าวออกมากินเป็นขะลำจะเกิดอัปมงคลร้ายแรงเกิดภัยพิบัติทำนาไม่ได้ผล ไทพวนเคร่งครัดเรื่องนี้มาก (หน้า 48-53) ประเพณีการลงข่วง เป็นประเพณีที่ปฏิบัติมาแต่โบราณของไทพวน กระทำหลังการเก็บเกี่ยวข้าวจนหมดฤดูฝ้าย ปัจจุบันการลงข่วงไม่มีแล้ว การลงข่วงคือการที่ผู้หญิงที่เริ่มเป็นสาวจะลงมาที่ลานบ้าน (ข่วง) มาทำงานบ้าน เช่น ปั่นด้าย ทอผ้า หีบฝ้าย ในตอนค่ำคืนเพื่อทำเครื่องนุ่งห่มให้แก่สมาชิกในบ้าน อันเป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยวิสาสะกับชายหนุ่มที่มาพูดคุยเกี้ยวพาราสี เป็นการเลือกคู่ของหนุ่มสาว อันเป็นวิถีชีวิตก่อนไปสู่การแต่งงาน ถ้ามีการผิดผี ฝ่ายชายต้องเสียผีหรือทำการขอขมาผีบ้านฝ่ายหญิง จ่ายค่าเสียหายตามจะตกลงกัน ถ้าตกลงไม่ได้ ฝ่ายชายจะถูกประนามจากสังคมหมู่บ้าน (หน้า 54-56) ประเพณีกินดองไทพวน หรือประเพณีการแต่งงาน เมื่อหนุ่มสาวรักชอบกันแล้วให้พ่อแม่มาสู่ขอ มีการหาฤกษ์แต่งงานโดยพระผู้ใหญ่หรือจารย์ผู้รู้ฤกษ์ยามของหมู่บ้าน ในวันแต่งงานมีการแห่เจ้าบ่าวมาที่บ้านเจ้าสาว หมอพรจะทำการสูดขวัญ และมีการรับศีลรับพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ ในพิธีแต่งงานจะมีการไขว่ผี คือ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะสอบถามเรื่องผีบ้านเจ้าสาวว่าชอบให้เซ่นด้วยอะไร ฝ่ายเจ้าสาวก็จะทำเช่นเดีวกัน เมื่อแห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาว ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำการไหว้ผีบ้านเจ้าสาว (หน้า 56-59) ประเพณีการทำศพของไทพวน เมื่อมีการตายเกิดขึ้น จะมีการดอยศพ (ตราสังศพ) ตั้งศพมีผ้าปกโลง หลังจากเผาศพหรือฝังแล้ว ผ้าปกโลงจะนำไปถวายพระ ขณะที่ตั้งศพอยู่ที่บ้าน คนในบ้านจะไม่ทำงานบ้านใด ๆ เมื่อถึงเวลาเผาหรือฝัง การเอาศพลงจากบ้านไปป่าช้าจะหว่านข้าวตอกนำหน้าศพเพื่อป้องกันผีตายอดตายอยากไม่ให้ขึ้นไปหาศพ อันถือเป็นอัปมงคล นอกจากนี้ยังต้องพลิกบันไดบ้านกลับข้าง เมื่อศพลงพ้นก็พลิกกลับเป็นการกันไม่ให้ผีกลับบ้านได้ถูก การเลือกที่เผาหรือฝังต้องเสี่ยงไข่โดยโยนไข่ถามทางว่าผู้ตายชอบที่ตรงไหนก็เผาหรือฝังตรงนั้น หากเป็นการตายโหงหรือตายทั้งกลม จะนำศพไปฝังต่างหากไม่ร่วมป่าช้าและศพที่ตายโหงไม่มีการเผา (หน้า 63-64)

Education and Socialization

ไม่ได้ระบุไว้ ระบุเพียงว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังเปลี่ยนแปลง โดยถูกละเลยจนอาจสูญหายไปในไม่ช้า ส่วนหนึ่งเพราะการศึกษาที่มุ่งเน้นการแข่งขันและรวมศูนย์ โดยไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของท้องถิ่น การไม่ยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่ากับปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และการยอมรับซึ่งกันและกัน (หน้า 67)

Health and Medicine

สังคมไทพวนบ้านผือเป็นสังคมที่นับถือผี โดยต้องเซ่นไหว้เพื่อขอความคุ้มครองและรักษาการเจ็บไข้ จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคยังคงใช้การลงผีอยู่ (หน้า 70)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ศาลปู่ตาหรือหอบ้าน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สิงสถิตของผีปู่ตา ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของชุมชน หมู่บ้าน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกไปจากหมู่บ้านพอประมาณ หอบ้านมักนิยมตั้งอยู่ในที่สูงหรือที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง จึงเรียกว่า ดอนปู่ตา และมักตั้งอยู่บริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่น สร้างเป็นศาลขนาดย่อม สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร บางแห่งสร้างเป็นหอขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของหมู่บ้าน (หน้า 35)

Folklore

ตำนาน : จากพงศาวดารล้านช้างกล่าวไว้ว่า พวนได้อพยพมาแต่นาน้อย อ้อยหนู หรือเมืองแถงหรือแถน บ้านเมืองทุกข์ยากเพราะทำไร่ทำนาไม่ได้ และเจ้าเมืองไม่เอาใจใส่ทำนุบำรุงบ้านเมือง พญาแถนจึงส่งขุนบูลมมาครอง ขุนบูลมมีโอรส 7 คน เมื่อเติบใหญ่ขุนบูลมส่งโอรสไปครองดินแดนต่างๆ ขุนลอ ไปสร้างเมืองเซาหรือหลวงพระบาง ขุนยีผาลาน ไปสร้างเมืองหอแต หรือหนองแส ขุนสามจูสง ไปสร้างเมืองแกว ช่องบัว ขุนไสผง ไปสร้างเมืองยวนโยนก ขุนงั่วอิน ไปสร้างเมืองอโยธยา ขุนลกกลม ไปสร้างเมืองเชียงคม ขอม ขุนเจ็ดเจือง ไปสร้างเมืองพวน และขุนบูลมได้สาปแช่งไว้ว่า ถ้าหากพี่น้องทั้งเจ็ดแก่งแย่ง รบราชิงดินแดนกัน จงให้ผู้กระทำประสบความหายนะและวินาศ (หน้า 10-11) ตำนานเมืองพวน กล่าวไว้ว่า พระคำเกิดเจ้าเมืองคำเกิดคำม่วน ซึ่งเป็นดินแดนของขุนลกกลมให้เจ้าเมืองน้องเจ้าเมืองพวนเพื่อเป็นค่าปรับไหม อาณาเขตของพวนจึงกว้างใหญ่และขยายออกมาจรดเวียงจันทน์ตอนใต้ พวนกับผู้ไทจึงใกล้ชิดสนิทสนมกันแต่นั้นมา เพราะเมืองคำเกิดคำม่วนและมหาชัยเป็นเมืองของพวกผู้ไท (หน้า 11) เรื่องเล่า : จากคำบอกเล่าของพ่อตู้แสง เชื้อกลางใหญ่ บ้านนากลางใหญ่ เป็นชุมชนลาวพวนถูกกวาดต้อนมาจากบ้านหนองแก้ว หาดเดือย เมืองเชียงขวางในสมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ ต้นตระกูลของพ่อตู้แสงสองคนคือ จารย์อินผู้พี่และจารย์รินผู้น้อง เป็นผู้มีความรู้ได้บวชเรียนจนเป็นจารย์ พ่อแม่พาหนีสงครามไทย-ลาว ไทย-ญวน จากเชียงขวางมาอยู่เวียงจันทน์ จารย์อิน จารย์ริน และครัวพวน 11 ครัวถูกกองทัพไทยกวาดต้อนจากเวียงจันทน์จะให้ไปอยู่กรุงเทพฯ ต้องเดินทางข้ามแม่น้ำโขงจนมาถึงบ้านกลางใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านร้าง 3 หมู่บ้านคือ บ้านลา บ้านเทือน และบ้านไซ ที่ถูกกองทัพไทยกวาดไปอยู่กรุงเทพฯ เมื่อครั้งสงครามไทย-ลาว จารย์อิน จารย์รินไม่อยากไปกรุงเทพฯ กับกองทัพไทย จึงใช้ความรู้ ด้าน สมุนไพรเอามาผสมอาหารให้ครัวพวนกินจนเกิดโรคท้องร่วง กองทัพไทยคิดว่าเป็นโรคห่า จึงไม่กล้ากวาดครัวพวนลงไปกรุงเทพฯ จารย์อิน จารย์ริน ได้ติดสินบนพนักงานขอให้ครัวพวนได้อยู่ที่นั่น ตั้งแต่นั้นมาครัวพวนทั้ง 11 ครัวเรือนและจารย์อิน จารย์ริน จึงตั้งถิ่นฐานอยู่กลางใหญ่ และเรียกชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่ว่าบ้านกลางใหญ่ เพราะตั้งอยู่ท่ามกลาง 3 หมู่บ้านร้าง (หน้า 24-25) นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหอบ้านหรือศาลปู่ตา ของบ้านกาลึม ที่เรียกว่า ศาลญาครูเสือ ญาครูเสือผู้นี้ถูกเสือขบตายในป่า ชาวบ้านจึงตั้งศาลให้เรียกว่า ศาลญาครูเสือ ญาครูเสือเป็นผู้นำชุมชนลาวพวนที่อพยพมาและเป็นนักรบด้วย จึงได้รับยกย่องเป็นปู่ตาของบ้าน เป็นเจ้าแห่งผีทั้งปวงของหมู่บ้าน ญาครูเสือมีบริวารมากมาย (หน้า 40)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทพวนบ้านผือ ได้แก่ ความเชื่อดั้งเดิม, พิธีกรรม, ประเพณี, วัฒนธรรม, วิถีชีวิตที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวันของไทพวน โดยชี้ให้เห็นว่าเอกลักษณ์ที่สำคัญของไทพวนบ้านผือคือมีการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมจากกลุ่มที่อพยพมาต่างที่ต่างช่วงเวลากัน โดยระบุว่า พวนบ้านเมืองพานปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับพวกลาวที่อพยพมาจากอำเภอวังสะพุงและเชียงคาน ในขณะที่บ้านผือปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับพวกลาวเวียง ไทย-อีสาน จีนและญวน แต่ในส่วนของบ้านกลางใหญ่ปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับลาวภูคังจากเชียงคาน และลาวเวียงจากอำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอสังคม (หน้า 69) การพบปะสังสรรค์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทพวนกับชาติพันธุ์อื่นๆ ในบ้านผือ เช่น ลาวเวียง จีน ไทอีสาน ลาวภูคังจากเลย ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เช่น ศาลปู่ตาของไทพวน แต่เดิมยังคงเลี้ยงปู่ตาอยู่ได้กลายเป็นศาลหลักเมืองของบ้านผือ และเป็นศาลปู่ย่า (ศาลเจ้า) ของชาวจีนในบ้านผือด้วย พิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่ตาของไทพวนและการไหว้เจ้าของชาวจีนกระทำในสถานที่เดียวกันแต่แตกต่างกันในช่วงเวลา (หน้า 20)

Social Cultural and Identity Change

ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่เห็นชัดคือ วัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิมสูญหายไป ได้แก่ พิธีเลี้ยงบ้านซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญของไทพวน ปัจจุบันบ้านกลางใหญ่เลิกพิธีกรรมนี้มากว่า 20 ปีแล้ว เนื่องเพราะไทพวนกลางใหญ่เลิกนับถือผี หันมานับถือพุทธจึงเลิกทำพิธีกรรมเกี่ยวกับผี หอบ้านถูกรื้อและเผาทิ้ง ตั้งแต่นั้นมาไทพวนกลางใหญ่ก็เลิกพิธีเลี้ยงบ้าน อย่างไรก็ตาม ชุมชนไทพวนอื่นในอำเภอบ้านผือ แม้จะรับนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ยังยึดมั่นในประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษอยู่โดยเฉพาะที่บ้านผือ ตำบลบ้านผือ (หน้า 38) นอกจากนี้ประเพณีลงข่วง ปัจจุบันไม่มีแล้ว เหลืออยู่เพียงความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ไทพวน (หน้า 54) นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงในภาษาด้วย ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ตลอดจนคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันระหว่างไท-ลาว ไทพวน ไทยอีสาน แม้ว่าสำเนียงเป็นพวนแต่คำศัพท์เปลี่ยนไปใช้คำไท-ลาว กลาง หรือใช้ไทยอีสานมากขึ้น (ภาคผนวก คำศัพท์ภาษาพวน)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่: แผนที่ประเทศลาว ,แผนที่ประเทศลาวและภาคอีสาน, แผนที่แสดงถิ่นที่ลาวพวนเข้าไปอาศัยอยู่, แผนที่สังเขปอำเภอบ้านผือ , แผนที่อำเภอบ้านผือ ตาราง: ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหัวหน้าครัวเรือน, ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ, ด้านสังคมและวัฒนธรรม ภาคผนวก: คำศัพท์ภาษาพวน ,คำสูดขวัญน้อยก่อนแต่งงานของไทพวน, คำสูดขวัญขึ้นบ้านใหม่ไทพวน, ขะลำ ภาพประกอบ: วิถีชีวิต, บ้านเรือน, งานบุญ, ผ้าซิ่นไทพวน

Text Analyst วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ Date of Report 30 มี.ค 2561
TAG พวน ไทพวน ไทยพวน, วิถีชีวิต, สังคม, วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์, ชุมชนท้องถิ่น, อุดรธานี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง