สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject โส้ โซร ซี,ประเพณีเจี๊ยะสล่า,มุกดาหาร
Author ศุภลักษณ์ นิลทะราช
Title ประเพณีเจี๊ยะสล่าของชาวกะโซ่บ้านพังแดง ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โส้ โทรฺ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 165 Year 2537
Source มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม
Abstract

ประเพณีเจี๊ยะสล่า เป็นชื่อเรียกพิธีการแต่งงานของกะโซ่ที่บ้านพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งผู้ศึกษาได้วิเคราะห์องค์ประกอบและขั้นตอนของงานเจี๊ยะสล่าซึ่งมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต สำหรับงานเจี๊ยะสล่าในปัจจุบันได้รับเอาวัฒนธรรมและประเพณีของสังคมใกล้เคียงดัดแปลงให้เหมาะสม มีขั้นตอน ได้แก่ การทาบทามโดยหมอสื่อ จัดหาหมอใช้เป็นตัวแทนเรียกค่าสินสอด จากนั้นเป็นการสู่ขอ ดูฤกษ์ยาม แล้วแต่ละฝ่ายจัดเตรียมงาน ในวันงาน มีการแห่ขันหมาก ปูที่นอน มีการมอบพาขวัญ นำคู่บ่าวสาวมาสู่พาขวัญ จากนั้นมอบค่าดอง หรือสินสอด มีการผูกแขนหมอสูตร เพื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาว จากนั้นหมอสูตรทำการสูตรขวัญบ่าวสาว ผูกแขนบ่าวสาว จ้ำขวัญหรือเสี่ยงทายบ่าวสาวด้วยกระดูกคางไก่ สั่งสอนคู่บ่าวสาว สมมาญาติฝ่ายชาย ล้างเท้าสะใภ้ และส่งตัวบ่าวสาว ขั้นตอนและองค์ประกอบในงานเจี๊ยะสล่า สะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อทั้งในวัตถุสิ่งของ บุคคล เวลา สถานที่ และความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ (หน้า 154-162)

Focus

ศึกษาองค์ประกอบและขั้นตอนของงานเจี๊ยะสล่า คติความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมของงานเจี๊ยะสล่า และความสัมพันธ์ของงานเจี๊ยะสล่ากับวิถีชีวิตของกะโซ่บ้านพังแดง (บทคัดย่อ)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กะโซ่ (หน้า 2)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาในตระกูลมอญ-เขมร คล้ายกับกูยแต่มีบางคำที่เพี้ยนไป (หน้า 2)

Study Period (Data Collection)

ระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 - ตุลาคม พ.ศ. 2537

History of the Group and Community

บรรพบุรุษของกะโซ่ตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองมหาชัย แขวงเมืองคำม่วน ประเทศลาว อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร มีการบันทึกไว้ว่า กะโซ่ได้อพยพเข้ามาในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ ส่วนใหญ่มาจากเมืองวัง-อ่างคำ เมืองตะโปน กลุ่มหนึ่งมาตั้งรกรากบริเวณหนองน้ำและดงยางใหญ่ มีอาหารและพืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ อีกกลุ่มหนึ่ง ไปพบหนองน้ำที่เรียกว่า "หนองผัก" หรือ "หนองฮะ" ปัจจุบันเป็นชลประทานหนองหนาว ตั้งบ้านตั้งเมือง โดยถือเอานามป่าใหญ่เป็นชื่อชุมชนแห่งนั้นว่า บ้านดงหลวง ปัจจุบันกะโซ่ที่บ้านดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ที่เป็นผู้สืบเชื้อสายกะโซ่ยังคงใช้นามสกุลว่า วงศ์กะโส้ เป็นสัญลักษณ์ ที่บ้านพังแดงเป็นหมู่บ้านกะโซ่ที่อพยพมาพร้อมกับกะโซ่บ้านดงหลวง (หน้า 26) ประวัติหมู่บ้านพังแดง จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เล่าบ้านพังแดงได้ก่อตั้งมาเป็นเวลานาน โดยอพยพมาจากหนองหาน มาอยู่ที่นาพังนาจาน ประเทศลาว จากนั้นเคลื่อนย้ายมาอยู่บ้านเหล่าหลุบเลา อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร จากบ้านเหล่าหลุบเลาไปอยู่บ้านหัวขัว อำเภอคำชะอี อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร แล้วอพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านนาหลัก จากบ้านนาหลักก็อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านพังแดงในปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งบ้านเรือนครั้งแรกได้เลือกเอาชัยภูมิที่มีต้นไม้ ป่าไม้และแม่น้ำลำคลอง โดยตั้งอยู่ริมห้วยบังทราย ภายหลังดินริมห้วยถูกน้ำกัดเซาะ เห็นดินทรายเป็นสีแดง จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านฝั่งแดง และเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านพังแดงในปัจจุบัน (หน้า 51)

Settlement Pattern

กะโซ่รวมตัวกันอาศัยเป็นกลุ่มประมาณ 5-20 ครอบครัว การตั้งบ้านเรือน มีทั้งการตั้งบ้านเรือนแบบกระจายเรียงรายไปตามแนว และตั้งบ้านเรือนแบบกระจุก บ้านเรือนส่วนใหญ่มักจะปล่อยโล่งไปมาหากันได้สะดวก มีน้อยหลังที่มีรั้วรอบขอบชิด บ้านเป็นหลังเล็ก ๆ ชั้นเดียว ยกใต้ถุนสูง ทำด้วยฟากไม้ไผ่ ที่ดินได้รับจากมรดกในการถือครองที่ดินที่พ่อแม่แบ่งให้ (หน้า 54, 56, 132)

Demography

บ้านพังแดง มีจำนวนครอบครัวทั้งหมด 149 ครอบครัว มีประชากร 972 คน เป็นชาย 413 คน หญิง 559 คน (ข้อมูล ปี 2536) เป็นกะโซ่ร้อยละ 97 เป็นคนไทยลาวร้อยละ 3 (หน้า 2, 58)

Economy

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักในการทำนาโดยอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ บางครอบครัวทำไร่สำปะหลัง ไร่อ้อย เป็นอาชีพรอง รายได้เฉลี่ยประมาณ 4,500-5,000 บาทต่อปีต่อครอบครัว ชาวบ้านมีฐานะระดับปานกลางค่อนข้างยากจน นอกจากนี้ยังมีอาชีพค้าขาย อุตสาหกรรมในครอบครัว และหัตถกรรมที่ทำเพื่อประโยชน์ใช้สอยและนำไปจำหน่ายด้วยตนเอง เช่น ผ้าทอ และเครื่องจักรสาน ซึ่งใช้เวลาว่างหลังฤดูทำนา ในกลุ่มของคนหนุ่มสาวหลังฤดูการเก็บเกี่ยวจะไปขายแรงงานที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ เช่น เป็นพนักงานโรงงานต่างๆ ขับรถแท็กซี่ ทำงานบ้าน เย็บผ้า ทำงานก่อสร้าง ลูกเรือประมง คนสวน ยาม ฯลฯ เป็นรายได้มาสู่ครอบครัว เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ก็จะเดินทางมาเยี่ยมบ้าน และมีการรวมกลุ่มกันจัดผ้าป่ามาทอดถวายวัด บำรุงโรงเรียน หรืออื่น ๆ เพื่อเป็นการพัฒนาหมู่บ้านของตน (หน้า 58) ชาวบ้านมีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันตามแบบสังคมเกษตรกรรม อาหารสามารถหาได้จากธรรมชาติ มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคในครัวเรือน อาหารตามฤดูกาลที่มีมาก ได้แก่ หน่อไม้ เห็ด กิ้งก่า ไข่มดแดง แมลงกินได้ ปลาน้ำจืด ฯลฯ ในฤดูฝนถ้ามีฝนตกตามฤดูกาลจะมีปลาให้จับเป็นจำนวนมาก จะถนอมอาหารด้วยการทำปลาร้า ปลาจ่อม ปลาแห้ง เก็บไว้บริโภคทุกครัวเรือนในโอกาสพิเศษ งานเทศกาลงานบุญประจำปี งานแต่งงานจะชำแหละหมู่เพื่อประกอบอาหารจำพวกลาบ ก้อย ย่าง หมูเป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ในงานแต่งงานและใช้ในพิธีเจี๊ยะสล่า (หน้า 56-58)

Social Organization

ชาวบ้านพังแดงและหมู่บ้านใกล้เคียงล้วนแต่เป็นญาติพี่น้องกัน เกี่ยวพันกันในด้านการแต่งงานหรืองานเจี๊ยะสล่า โดยใช้นามสกุลว่า เชื้อคำฮด เป็นส่วนมาก ประมาณร้อยละ 90 (หน้า 54) งานเจี๊ยะสล่าของกะโซ่ คือ งานที่ทำขึ้นเพื่อให้ชายหญิงอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา โดยมีญาติของทั้งสองฝ่ายเป็นสักขีพยาน งานนี้เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหนุ่มสาวมีความเต็มใจอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา พ่อแม่ของหนุ่มสาวกะโซ่จะให้อิสระเสรีแก่หนุ่มสาวในการเลือกคู่ครอง การจัดงานเจี๊ยะสล่ามีหลายลักษณะ ในอดีตมีทั้งที่ฝ่ายชายไปอยู่กับฝ่ายหญิง และ ฝ่ายหญิงไปอยู่กับฝ่ายชาย งานเจี๊ยะสล่ามีอีก 2 ลักษณะ ได้แก่ งาน "เจี๊ยะตะนาน" (ผีถามกิน) จะจัดก็ต่อเมื่อญาติฝ่ายเจ้าสาว หรือเจ้าสาวเองเจ็บป่วยซึ่งรักษาแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย โดยการกินหมูเพิ่มจาก 1 ตัว เป็น 2 ตัว งาน "เจี๊ยะดอง" จะทำขึ้นเมื่อพ่อแม่ของฝ่ายหญิงตายไปแล้วแต่ยังไม่เคยจัดงานแต่งงาน แต่ได้สัญญาไว้ว่าจะแต่งงานกัน โดยจะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายด้วย โดยการสังเวยควายให้กับวิญญาณของผู้ตาย ปัจจุบันฝ่ายชายจะมีหมอสื่อไปสู่ขอสาว ดูฤกษ์ยามสำหรับวันแต่งงาน ซึ่งนิยมแต่งงานในเดือนคู่ คือ เดือน 2, 4 ,6 ,8 ,12 ไม่นิยมแต่งในช่วงเข้าพรรษา วันที่เป็นมงคลในการแต่งงาน คือ วันจันทร์ ที่ไม่ตรงกับวันพระ ฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมเครื่องสมมาให้แก่ญาติพี่น้องฝ่ายชาย จัดเตรียมห้องหอ เตรียมหมอสูตรขวัญ เตรียมหมอใช้ โดยเลือกจากเขยของตระกูลฝ่ายหญิง เป็นผู้รับใช้ ให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ในการจัดงาน ฝ่ายหญิงยังต้องจัดเตรียมพาขวัญ (คล้ายกับบายศรี) ฝ้ายผูกแขน และเตรียมข้าวปลาอาหารสำหรับเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงาน สำหรับฝ่ายชาย จัดเตรียมสินสอดและสิ่งของตามฮีตคลอง เตรียมข้าวปลาอาหาร เตรียมหาหมอสื่อ และบอกเชิญญาติมิตรให้มาร่วมงาน (หน้า 77-91) ชาวบ้านพังแดงล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน ต่างพึ่งพาอาศัยกัน ศูนย์รวมของชาวบ้านอยู่ที่วัดประจำหมู่บ้านซึ่งไม่มีพระสงฆ์อยู่ ชาวบ้านนับถือนางเทียมเป็นผู้นุ่งขาวห่มขาวเข้าไปทำพิธีในวัด มีการฟ้อนประกอบเครื่องดนตรีแคน ในวันขึ้น 15 ค่ำ ทุก ๆ เดือน นางเทียมมีจำนวนประมาณ 10-15 คน ปัจจุบันมีพระสงฆ์ 3 รูป ตั้งวัดอยู่บนเขาห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1.5 กิโลเมตร ในตอนเช้าพระสงฆ์จะมาบิณฑบาตที่หมู่บ้านเป็นประจำ ชาวบ้านเริ่มนับถือและมีจิตศรัทธาไปร่วมทำบุญที่วัดเป็นประจำ (หน้า 58,60)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

กะโซ่มีความเชื่อในเรื่องผี ในประเพณีจะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผี เช่น ประเพณีซางกะมูจ ซางกระมูจ หมายถึงการกระทำให้ผีสุก เพื่อเป็นมงคลก่อนจะนำไปฝังหรือเผา หากไม่กระทำผี (ผี หมายถึง ซากศพ) นั้นก็ยังเป็นผีดิบอยู่ซึ่งไม่เป็นมงคล เช่น มีการเตรียมเหล้าให้ผี มีพิธีขอขมา พิธีตัดเวรตัดกรรม ให้กับผู้ตาย ประเพณีการเหยา มีทั้งการเหยาแก้บนและการเหยาเสี่ยงทาย ซึ่งกระทำผ่านหมอเหยา เชื่อว่า ผู้ที่ป่วยจะมีวิญญาณมาสิงอยู่ หมอเหยาจะต้องทำให้วิญญาณพอใจ จะทำให้หายป่วยเร็ว นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่ทำพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับเรื่องของผีและวิญญาณ ได้แก่ - หมอผี คือ หมอปราบผี ที่เรียนไสยศาสตร์และเวทมนตร์คาถาเพื่อปราบผีโดยเฉพาะ - "ล่าม" คือ ผู้มีความสำคัญและความชำนาญในการถามเอาความจากหมอเหยา วิญญาณส่วนใหญ่ถ้าไม่มีผู้ใดถามจะไม่บอกต้องอาศัยล่ามเป็นสื่อกลาง - นางเทียม คือ คนที่หายจากอาการป่วยเพราะวิญญาณ วิญญาณต้องการอยู่ด้วยถึงขวบปี จะมีการเลี้ยงผี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือน 3-4 และในเดือน 5-6 จึงมีฤดูการเลี้ยงนางเทียม นางเทียม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ลูกแก้ว" นางเทียมเรียกหมอเหยาว่า "พ่อแก้ว" - เจ้าจ้ำ คือ บุคคลที่ถูกสมมติให้เป็นตัวแทนของหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้บอกกล่าว เป็นผู้สนทนากับวิญญาณประจำหมู่บ้านแทนชาวบ้าน - เบี๊ยะเจ้าดำ ทับศัพท์จากภาษาโซ่ ใช้เรียกหัวหน้าชุมนุมวิญญาณ ในหมู่บ้านหนึ่งจะมีหัวหน้าชุมนุมวิญญาณอย่างน้อย 1 ชุมวิญญาณ (จุ้มผี) ซึ่งมีผีที่เกี่ยวข้องกับการเหยา คือ ผีหมอมนต์ ผีฟ้า ผีน้ำ ผีคุณ ผีมูลหรือผีตระกูล (หน้า 72-76) ในงานเจี๊ยะสล่ายังมีคติความเชื่อในองค์ประกอบและขั้นตอนต่าง ๆ - คติความเชื่อเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ ได้แก่ ใบกล้วยซึ่งนำมาพับและเย็บเป็นพาขวัญ เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่ของหนุ่มสาวมีแต่สิ่งที่ดีงาม มีความเข้มแข็งและอ่อนหวาน ทำให้ชีวิตคู่มีแต่ความสุข ใบยอ ใบคูณ จะทำให้คนอื่นยกย่องสรรเสริญ หน่อกล้วยจะทำให้มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง หน่ออ้อย จะทำให้ชีวิตมีความสดชื่อนหอมหวาน กาบกล้วย เชื่อว่าจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข น้ำอบ น้ำหอม ใช้ประพรมคู่บ่าวสาว ให้กระทำแต่ความดีมีคนยกย่องสรรเสริญ เปรียบเสมือนของหอมหรือน้ำหอมมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ว น้ำหอมยังใช้ในพิธีล้างเท้าสะใภ้ เพื่อล้างสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ฝ้ายผูกแขนจะไล่สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายออกจากตัวและรับเอาสิ่งที่ดีงามเข้ามาไว้ในตัวคู่บ่าวสาว ข้าวสารเป็นข้อเตือนใจฝ่ายชายว่าไม่ควรที่จะไปคิดรักใครชอบใครอีก ให้มีความขยันขันแข็ง ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงครอบครัวอย่าให้ข้าวสารขาดหม้อ ที่นอน หมอน มุ้ง เป็นเครื่องใช้ประจำตัวของคู่บ่าวสาว ย่าม เพื่อนเจ้าบ่าวจะต้องสะพายย่ามให้เจ้าบ่าว ภายในย่ามมีง้าวหรือดาบ ตะปู ฆ้อนตีตะปูไปบ้านเจ้าสาว ซึ่งเป็นของใช้ที่เหมาะสมกับชายกะโซ่ใช้เวลาเดินทางไปต่างเมืองหรือไปค้าขาย ไข่ไก่ เชื่อว่าสามารถซึมซับเอาสิ่งไม่ดีออกจากตัวของเจ้าบ่าวเจ้าสาว และยังใช้ในการเสี่ยงทาย ง้าวหรือดาบ เป็นอาวุธประจำตัว ซึ่งแสดงถึงความมีอำนาจ มีบารมี พาขวัญเป็นศูนย์รวมของขวัญ เรียกขวัญของคู่บ่าวสาวให้อยู่รวมกัน - คติความเชื่อเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หมอโหรหรือหมอดู มีความสำคัญในเรื่องฤกษ์ยาม หมอสูตรขวัญ เป็นผู้มีความรู้ในการประกอบพิธีการสู่ขวัญ ดำเนินการสวด หรือ กล่าวบทสู่ขวัญในพิธีกรรมการสู่ขวัญในโอกาสต่าง ๆ หมอสื่อ ต้องเป็นคนดี เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาและนับถือของชาวบ้าน เป็นตัวแทนในการสู่ขอเจ้าสาว หมอใช้ ต้องเป็นลูกเขยของตระกูลนั้น เป็นผู้รับใช้ของพ่อตาแม่ยาย เป็นผู้ดำเนินงานจัดเตรียมสถานที่และสิ่งของในงาน และเจ้าบ่าวเจ้าสาวซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในงานเจี๊ยะสล่า - คติความเชื่อเกี่ยวกับเวลา ต้องกำหนดฤกษ์ยามที่เป็นสิริมงคล แต่งงานในเดือน 2, 4, 8,12 ไม่ทำในวันเข้าพรรษา ในช่วงการทำนา การปักดำ และการเก็บเกี่ยว เพราะชาวบ้านไม่สะดวกที่จะมาร่วมงาน ในแต่ละขั้นตอนในการแต่งงาน ก็จะมีสัมพันธ์กับช่วงเวลา - คติความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่ ซึ่งจะจัดงานที่บ้านของเจ้าสาว และคติความเชื่อในการสร้างเรือนหอ - คติความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่าตายาย ในการจัดงานเจี๊ยะสล่าจะต้องมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษและบอกกล่าวให้ทราบว่าลูกหลานจะแต่งงาน (หน้า 113-131)

Education and Socialization

สำหรับลูกสาวจะต้องฝึกทอผ้า ทำหมอน ที่นอน เมื่อแต่งงานฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้เพื่อใช้เป็นเครื่องสมมาบิดามารดาและเจ้าโคตรของฝ่ายชาย (หน้า 58) ด้านการศึกษา บ้านพังแดงมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาจำนวน 1 แห่ง เปิดสอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ในวันเสาร์มีการเรียนการสอนการศึกษาผู้ใหญ่ มีชาวบ้านอายุประมาณ 18-50 ปี เข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาให้สามารถอ่านออกเขียนได้ ปัญหาความยากจนเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของเด็กอย่างมาก เมื่อจบการศึกษาระดับประถมศึกษาจึงไม่ได้ศึกษาต่อ (หน้า 60)

Health and Medicine

ชาวบ้านพังแดงมีวิธีรักษาโรคในปัจจุบันทั้งแบบวิทยาการสมัยใหม่และการรักษาแผนโบราณ ชาวบ้านนิยมไปใช้บริการที่สถานีอนามัยซึ่งมีหนึ่งแห่ง ในการรักษาโรคไม่ร้ายแรง ตลอดจนฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ส่วนการรักษาแผนโบราณ รักษาโดยใช้คาถาอาคมและใช้ยาสมุนไพร รวมทั้งการบวงสรวงเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีไร่ผีนา ให้มาช่วยขจัดปัดเป่าให้โรคร้ายหายไป ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาจะเป็นผู้มีความรู้ในด้านคาถาอาคม การรักษาวิธีใดขึ้นอยู่กับอาการของโรคหรืออาการของผู้ป่วย บางครั้งเมื่อรักษาแผนปัจจุบันไม่หายก็หันมารักษาแผนโบราณและทางไสยศาสตร์ (หน้า 62-63)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

งานหัตถกรรมที่ชาวบ้านทำขึ้นใช้สอย และนำไปจำหน่ายด้วยตนเอง ได้แก่ การทอผ้า ซึ่งมีผ้าลายขิด ลายมัดหมี่ และผ้าสีคราม ผ้าที่ทอทำด้วยผ้าห่มนวม ทอผ้าไหมไว้ใส่ในงานประเพณีสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักสาน ได้แก่ ตะกร้า สุ่มขังสัตว์ สุ่มปลา กระด้ง เป็นต้น (หน้า 56,132) การแต่งกายของชาวบ้านพังแดง ผู้หญิงที่มีอายุมากแล้วมักใส่เสื้อผ้าที่ทอเอง ผ้าถุงทอด้วยฝ้ายเป็นผ้ามัดหมี่ สวมเสื้อคอกระเช้า ส่วนผู้ชายแต่งตัวด้วยชุดธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวัน นอกจากมีงานบุญประเพณีต่าง ๆ จึงนุ่งกางเกงขายาว ใส่เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืด เสื้อคอกลม ส่วนหนุ่มสาวในปัจจุบันแต่งกายตามสมัยนิยม (หน้า 62) ส่วนชายกะโซ่ สวมเสื้อสีดำคอกลมตั้งเล็กน้อยที่ปกข้างหน้าผ่าอกตลอดแหวกชายเสื้อด้านข้าง นุ่งกางเกงขาก๊วย บางครั้งนุ่งผ้าดำสอดเตี่ยวสูง กางเกงชั้นในสีขาวตัดผมทรงกระบอก ใส่อ้ม (ใบไม้ชนิดหนึ่ง) และเนียม (เป็นเครื่องหอม) เวลามีงานเทศกาลใช้ผ้าเก็บพันศีรษะและรัดเอว รองเท้าทำด้วยหนังควาย ชายที่มีการเรียนวิชาอาคมทางไสยศาสตร์จะใส่ลูกประคำทำด้วยแก้ว หรือลูกมะกล่ำคล้องคอเป็นสัญลักษณ์ หญิงกะโซ่ สวมเสื้อดำแขนกระบอกแขนสามส่วน ผ่าอกขลิบแดง เลยชายลงไปเล็กน้อยทั้งสองข้าง ติดกระดุมทำด้วยเงิน หรือเหรียญอื่น ๆ แหกชายเสื้อด้วยสีแดงข้างละ 2-3 เส้น ไม่มีกระเป๋า ส่วนเสื้อที่ผ่าอกไม่ทำรังดุม แต่ใช้สีแดงฟั่นแล้วเย็บเป็นรังดุม ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสีแดงทำขลิบ แต่จะนุ่งผ้าถุงที่ใช้มัดหมี่ต่อหัวต่อเชิง ชั้นในใช้ผ้าขาว ทรงผมเกล้าสูง ถ้าแต่งในพิธีสำคัญจะใส่กำไลข้อมือ ข้อเท้า สร้อยเงิน ต่างหูทำด้วยเงิน ไม่สวมรองเท้า เวลามีงานประเพณีสำคัญจะห่มผ้าสไบหรือผ้าขิด (หน้า 71-72) กะโซ่จะทำเครื่องสำอางใช้เอง แต่เดิมชายกะโซ่ใช้หมึกที่ทำจากยางต้นเหียง ขี้ผึ้งแท้ น้ำมันหมู ขมิ้น ใบอ้ม มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน เรียกว่า หมึกใช้ใส่ผม ส่วนหญิงกะโซ่ ใส่เนียมซึ่งทำมาจากใบอ้ม ขมิ้น ใบกระแจะ รากนมยาน (กำยาน) นำสิ่งเหล่านี้ตากแห้งแล้วบดให้ละเอียดคลุกเคล้าให้เข้ากัน กะโซ่จะเรียกว่า เนียม เป็นเครื่องหอมที่ใช้ใส่ผมประพรมตามตัว หวีทำด้วยเขาควายและไม้หนามแท่ง ยาสีฟันใช้ถ่านบดให้ละเอียดแล้วใช้สีฟัน ปัจจุบันใช้เครื่องสำอางที่ผลิตจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป (หน้า 72)

Folklore

ตำนานของกะโซ่ กล่าวว่า กะโซ่มีบรรพบุรุษที่กล้าหาญเรื่องการสู้รบและการเดินป่า บรรพบุรุษของกะโซ่มีอยู่สามคน คือ ปู่ลางเชิง ขุนเค็ก ขุนคาน ซึ่งเคยอาศัยอยู่ที่เมืองแถน (ฟ้า) แต่ต้องกลับมาอยู่เมืองมนุษย์ เพราะไม่มีความสะดวกสบาย ลงมาอยู่ที่บริเวณนาน้อยอ้อยหนู ทำมาหากินเลี้ยงชีพจนได้เกิดมวลมนุษย์จากผลไม้ที่เรียกว่า "น้ำเต้าปุ้ง" ได้กำเนิดมนุษย์เป็น ไทยลอ ไทยเลิง และไทยกวาง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนไทย คนลาว ผู้ไทย และคนญวนในเวลาต่อมา ปัจจุบันกะโซ่มีความเชื่อว่า บรรพบุรุษของเขาเกิดจากน้ำเต้าปุ้งและนับถือว่ากะโซ่เป็นพี่คนโต ย้อเป็นพี่รอง ผู้ไทยและไทยลาวเป็นน้องคนสุดท้อง (หน้า 22-23) ตำนานเกี่ยวกับการอพยพของกะโซ่เข้าสู่จังหวัดมุกดาหาร ตามตำนานกล่าวว่า เป็นคำสั่งของแถน โดยผู้ทรงผีของกะโซ่เป็นผู้ประกาศว่า อีกไม่ช้าจะเกิดกลียุค บริเวณเมืองตะโปน จึงขอให้ลูกหลานที่รักอิสระและความสงบให้อพยพข้ามแม่น้ำโขงไปอยู่ยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่บรรพบุรุษเดิมซึ่งอยู่บริเวณเทือกเขาภูพาน บริเวณที่มีหนองน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่บริเวณนั้นด้วย ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ จะทำให้กะโซ่มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไปอนาคต ผู้ที่เชื่อตามคำทำนายจึงได้เดินทางมาตามคำบอกนั้น (หน้า 25)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การดำรงชีวิตของกะโซ่บ้านพังแดงยังคงผูกพันอยู่กับความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมอยู่มาก ถึงแม้ในปัจจุบันบ้านพังแดงเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาจากทางราชการ และสามารถเดินทางติดต่อกับชุมชนอื่นได้ แต่ในด้านการประกอบพิธีกรรมและประเพณีเจี๊ยะสล่าของกะโซ่ยังคงได้รับการปฏิบัติอย่างครบทุกขั้นตอนที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ (หน้า 3-4,132)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของกะโซ่ก็คล้ายกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในสังคมไทยทั่วไป คือ มีการรับการศึกษา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง กะโซ่จะส่งเสริมให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดี และผู้ที่สำเร็จการศึกษาก็กลายเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ มาสู่ชุมชน กะโซ่ยังเลือกรับวัฒนธรรมจากท้องถิ่นหรือสังคมอื่นมาใช้ในสังคมตนเองอย่างกลมกลืน เลือกในสิ่งที่ดีและสร้างความเจริญให้แก่หมู่บ้านของตน ในขณะที่มีการรับวัฒนธรรมอื่น แต่ก็ยังคงยึดถือวัฒนธรรมและประเพณีเก่า ๆ ของบรรพบุรุษให้คงอยู่ เพียงแต่ปรับปรุงดัดแปลงปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น (หน้า 148) เช่น งานเจี๊ยะสล่า แปลว่า กินดองและทำบุญให้ผู้ตายด้วย แต่ปัจจุบันได้มีการแยกงานมงคลและงานอัปมงคล งานเจี๊ยะสล่าจึงหมายถึง การแต่งงานหรือพิธีมงคลสมรสเพียงอย่างเดียว ในด้านของภาษา ได้มีการรับภาษากลางมาใช้เป็นภาษาพูดผสมกลมกลืนกับภาษาพื้นเมืองดั้งเดิม (หน้า 153)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst ขนิษฐา อลังกรณ์ Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG โส้ โซร ซี, ประเพณีเจี๊ยะสล่า, มุกดาหาร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง