สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง),โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง ),ความเชื่อ,ข้อห้าม
Author สมัย สุทธิธรรม
Title สารคดีชีวิตของชนกลุ่มน้อยบนดอยสูง : กะเหรี่ยง
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โพล่ง โผล่ง โผล่ว ซู กะเหรี่ยง, ปกาเกอะญอ, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 69 Year 2541
Source พิมพ์ที่ บริษัท เลิฟแอนลิพเพรส จำกัด
Abstract

หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงความเป็นมาของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่เป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่จัดอยู่ในตระกูลทิเบต-พม่า แหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในดินแดนทางตะวันออกของทิเบต และได้อพยพเข้ามาอยู่ในจีนประมาณสามพันกว่าปีมาแล้ว โดยตั้งเป็นอาณาจักรขึ้น ซึ่งชาวจีนเรียกพวกกะเหรี่ยงนี้ว่า พวกโจว ต่อมาได้ถูกชนชาติจีนรุกรานจนแตกกระจัดกระจายพ่ายหนีมาอยู่ลุ่มน้ำแยงซีเกียง แต่ก็ถูกขับไล่อีกจนต้องถอยร่นมาอยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขง และมีมากที่สุดตามลุ่มน้ำสาละวินในพม่า ชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแถบดอยสูงทางทิศตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอแม่แจ่ม ดอยอินทนนท์ เป็นกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอยู่เกินกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว พวกนี้เป็นพวกที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจจากลุ่มน้ำสาละวินในพม่า เมื่อครั้งอดีต ส่วนกะเหรี่ยงที่ตั้งรกรากอยู่แถบอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพวกที่อพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่ใหม่ในช่วง ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมานี้เอง (หน้า ๘-๑๓) การศึกษาพบว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงนั้น เป็นวิถีชีวิตที่เคารพธรรมชาติ และสามารถมีชีวิตที่สมถะไม่เบียดเบียนธรรมชาติได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบ้านเรือน การประกอบอาชีพ หรือแม้แต่ประเพณีความเชื่อ ก็เอื้อให้เกิดการเคารพซึ่งกันและกันในชุมชน ไม่นิยมใช้ความรุนแรง (หน้า ๒๑) เป็นชนเผ่าที่มีศิลปะอยู่ในวิถีชีวิตก็ว่าได้ สังเกตได้จากศิลปะการใช้สีสรรในการแต่งกาย และการทอผ้า และเป็นชนเผ่าที่นิยมชมชอบในการร้องรำทำเพลงอยู่เสมอ นอกจากนี้ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นถึงความเป็นผู้มีอารยะในการใช้ชีวิตคู่ของชาวกะเหรี่ยง นั่นคือ การยึดประเพณีผัวเดียวเมียเดียว

Focus

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ของชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กะเหรี่ยง

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในตระกูลทิเบต-พม่า แหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในดินแดนทางตะวันออกของทิเบต และได้อพยพเข้ามาอยู่ในจีนประมาณสามพันกว่าปีมาแล้ว โดยตั้งเป็นอาณาจักรขึ้น และชาวจีนจะเรียกพวกกะเหรี่ยงนี้ว่า พวกโจว ต่อมาได้ถูกชนชาติจีนรุกรานจนแตกกระจัดกระจายพ่ายหนีมาอยู่ลุ่มน้ำแยงซีเกียง แต่ก็ถูกขับไล่อีกจนต้องถอยร่นมาอยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขง และมีมากที่สุดตามลุ่มน้ำสาละวินในพม่า เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีผ่านมา สมัยพระเจ้าอลองพญาแห่งพม่าทำสงครามกับชาวมอญ กะเหรี่ยงซึ่งเป็นมิตรกับมอญก็ได้ให้การสนับสนุนมอญสู้รบกับพม่า แต่เมื่อพวกมอญพ่ายแพ้แก่พม่า จึงทำให้กะเหรี่ยงพากันหลบหนีภัยอพยพเข้ามาอยู่ตามแนวชายแดนเขตไทย ต่อมาในสมัยที่อังกฤษยึดพม่าเป็นเมืองขึ้นได้ กะเหรี่ยงที่ไม่ยอมอ่อนน้อมต่ออังกฤษ ก็ถูกปราบปรามจนต้องหลบหนีเข้ามาอยู่ในเขตดินแดนประเทศไทยอีกพวกหนึ่ง ทำให้จำนวนกะเหรี่ยงที่เข้ามาอยู่ในดินแดนไทยมีมาขึ้นนับแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่พอจะยืนยันได้ว่า ชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแถบดอยสูงทางทิศตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอแม่แจ่ม ดอยอินทนนท์ เป็นกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอยู่เกินกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว พวกนี้เป็นพวกที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากลุ่มน้ำสาละวินในพม่า เมื่อครั้งอดีต ส่วนกะเหรี่ยงที่ตั้งรกรากอยู่แถบอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพวกที่อพยพเคลื่อนย้ายมากอยู่ใหม่ในช่วง ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมานี้เอง (หน้า ๘-๑๓) กะเหรี่ยงหรือที่ชาวพม่าเรียกว่า กะยิ่น มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ เช่น กะเหรี่ยงหรือยาง เป็นกลุ่มชนชาวเขาที่จำนวนประชากรมากที่สุดในบรรดาชาวเขาด้วยกัน กะเหรี่ยงได้อพยพเคลื่อนย้ายลงมาทางตอนใต้ของประเทศจีน เข้ามาอาศัยอยู่ตามบริเวณชายแดนไทย-พม่า เช่น พวกกะเหรี่ยงแดงที่อยู่ในรัฐคะยา หรือกะเหรี่ยงขาว ซึ่งอยู่ในรัฐก่อตูเล และกระจัดกระจายอยู่ตามดอยสูง ในรัฐฉานของพม่าอีกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งประมาณว่ามีกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในตอนกลางและตอนใต้ของพม่าราว ๓ ล้านกว่าคน แต่ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้น เป็นกะเหรี่ยงสะกอ กะเหรี่ยงโปว์ กะเหรี่ยงตองสู หรือพะโอ และกะเหรี่ยงคะยา หรือยางแดง ซึ่งมีจำนวนมากถึง ๒ แสนกว่าคน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยกะเหรี่ยงจะแยกย้ายอาศัยอยู่ตามดอยสูงทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น และอยู่ตามชายแดนในภาคกลางอีกหลายจังหวัด เช่น เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมักจะถูกเรียกว่า กะหร่าง อีกจำนวนหนึ่งด้วย

Settlement Pattern

หมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงส่วนมากจะกระจายตั้งอยู่ตามไหล่เขาในแถบภาคเหนือของประเทศไทย แต่ละหมู่บ้านจะมีตั้งแต่ขนาดเล็ก ๓-๔ หลังคาเรือน ไปจนถึง ๓๐-๔๐ หลังคาเรือน แต่ละหมู่บ้านของกะเหรี่ยง แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็ก หรือหย่อมบ้าน ก็ถือว่าเป็นหมู่บ้านตามประเพณี และมีหัวหน้าหมู่บ้านอยู่ทุกหมู่บ้าน โดยทั่วไปกะเหรี่ยงเมื่อได้ตั้งหมู่บ้านแล้วก็มักจะไม่อพยพร่อนเร่ไปไหนอีกเหมือนกับชาวเขาเผ่าอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากกะเหรี่ยงยังชีพด้วยการทำนา ควบคู่กับการทำไร่ในระบบหมุนเวียน และถือได้ว่ากะเหรี่ยงเป็นชาวเขาเผ่าเดียวที่รู้จักอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร เพราะในหมู่บ้านจะถูกกำหนดเขตเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งเขตที่ตั้งบ้านเรือน และเขตพื้นที่ทำไร่ ทำนา บ้านของกะเหรี่ยง มีลักษณะเป็นบ้านยกพื้นสูงจากดินราวเมตรกว่า ๆ ส่วนใหญ่จะปลูกบ้านหลังเล็กๆ คล้ายกระท่อมหรือทับ พอดีสำหรับสมาชิกในครอบครัว เช่น พ่อ-แม่-ลูก ลักษณะของพื้นบ้านและฝาบ้านเป็นไม่ไผ่สับฟาก หลังคามุงด้วยใบตองตึงหรือหญ้าคา ภายในมีห้องโล่งเป็นห้องเดียว โดยมีเตาไฟอยู่กลางบ้าน สำหรับใช้หุงต้มอาหารและให้ความอบอุ่น มีลักษณะเป็นกระบะดินและก่อเตาไฟอยู่ตรงกลาง กะเหรี่ยงทุกคนในหมู่บ้านจะช่วยกันสร้างบ้านให้เสร็จภายในวันเดียว การปลูกสร้างบ้านชาวกะเหรี่ยงมักนิยมสร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง โดยมุงหลังคาคลุมตลอดทั้งบ้าน บางหลังอาจจะมีชานบ้านยื่นออกมาสำหรับเป็นบันไดพาดขึ้นไปบนบ้านได้ การปลูกสร้างบ้านลักษณะหลังคาคลุมเช่นนี้ จึงทำให้ห้องภายในบ้านดูทึบและมืด บ้านกะเหรี่ยงแต่ละหลังมักจะปลูกใกล้ชิดกัน และมียุ้งข้าวแยกออกจากตัวบ้านต่างหาก (หน้า ๑๗-๒๑)

Demography

ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ มีประชากรกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยประมาณ ๒ แสนกว่าคน (หน้า ๙) แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรกะเหรี่ยงที่อยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่สามารถยืนยันตัวเลขได้ชัดเจน (หน้า ๑๓)

Economy

สังคมกะเหรี่ยงเป็นสังคมเกษตรกรรมในลักษณะผลิตเพื่อเลี้ยงชีพ ปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน โดยทำนาดำแบบขั้นบันได และการทำไร่ข้าวแบบไร่หมุนเวียน การปลูกข้าวของกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเจ้าด้วยการทดน้ำจากลำห้วยลำธาร ซึ่งอยู่สูงกว่าพื้นที่นา โดยทำพื้นที่ตามหุบเขาเป็นแบบขั้นบันได การทำไร่ข้าวหรือปลูกพืชใดๆ ก็ตาม จะทำเพียงปีเดียว แล้วย้ายไปที่อื่น ตามแต่จะตกลงกันในหมู่บ้าน จากนั้น ก็เปิดโอกาสให้ป่าและต้นไม้ฟื้นตัวสัก ๔-๕ ปี จึงย้อนกลับมาทำไร่ในพื้นที่นั้นอีก เรียกว่า การทำไร่แบบหมุนเวียนโดยทั่วไปแล้วกะเหรี่ยงจะไม่ปลูกฝิ่น นอกเสียจากในบางท้องที่ เช่น หมู่บ้านที่อยู่ใกล้พวกม้ง ดอยอินทนนท์ เป็นต้น สัตว์เลี้ยงในสังคมกะเหรี่ยงมี วัว ควาย หมู และไก่ สัตว์เหล่านี้เลี้ยงเอาไว้ใช้งาน เช่น ควายเลี้ยงไว้ไถนา ไก่ และหมูใช้ฆ่าเลี้ยงผี หรือขายให้กับพ่อค้า แต่วัวเป็นสินทรัพย์ หากปีไหนข้าวไม่พอกิน ก็สามารถขายวัวนำเงินมาซื้อข้าวได้ กะเหรี่ยงบางหมู่บ้านมีวัว ควาย มากก็นำไปขายได้เงินมา เอาไปซื้อช้าง ซึ่งใช้ประโยชน์ได้สารพัด อย่างเช่น รับจ้างลากไม้ให้โรงเลื่อยหรือขนข้าว เป็นต้น ดังนั้นช้างจึงเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่กะเหรี่ยงซื้อไว้ใช้งานและบ่งบอกถึงความมีฐานะอีกด้วย ในปัจจุบัน กะเหรี่ยงในหลายพื้นที่ไปรับจ้างทำงานให้พวกม้ง กะเหรี่ยงกับม้งจึงพบกันคนละครึ่งทาง ไม่มีม้ง กะเหรี่ยงก็ไม่มีงานทำ ไม่มีข้าวกิน ไม่มีกะเหรี่ยง ม้งก็ไม่ได้งาน ไม่ได้ฝิ่น เป็นต้น (หน้า ๔๔-๔๖)

Social Organization

ระบบครอบครัวของกะเหรี่ยงเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว อยู่กันแค่พ่อแม่ลูกเท่านั้น หรือหากมีญาติพี่น้อง เช่น ตา ยาย ก็จะเป็นญาติทางฝ่ายมารดาเท่านั้น แต่ลักษณะครอบครัวผสมแบบนี้จะมีไม่มากนัก สังคมกะเหรี่ยงนับถือญาติฝ่ายมารดา โดยผู้หญิงจะเป็นใหญ่ในบ้าน เมื่อแต่งงานกันแล้ว ฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง นับถือพ่อแม่และญาติของฝ่ายหญิง เมื่ออยู่บ้านพ่อแม่ของฝ่ายหญิงได้ครบ ๑ ปี หรือมีการแต่งงานเกิดขึ้นในบ้านนี้ อีกกรณีที่มีลูกสาวหลายคน ลูกเชยและลูกสาวคนแรกก็จะต้องแยกบ้านไปสร้างที่อยู่ใหม่ บริเวณใกล้ๆ บ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิงนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นอาณาจักรของผู้หญิง ลูกสาวคนสุดท้องเท่านั้นจึงจะอยู่กับพ่อแม่ได้แม้จะแต่งงานแล้วก็ตาม และอาจจะอนุญาตให้ผู้ใดมาอยู่ร่วมด้วยก็ได้ การตัดสินใจเกี่ยวกับพิธีกรรมเป็นเรื่องของผู้หญิงเช่นกัน ผู้ชายเป็นหลักเป็นเรี่ยวแรงในการทำมาหากินและสร้างบ้าน แต่ผู้หญิงจะเป็นเจ้าของและมีอำนาจมากกว่า กะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้ว จะอยู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียวตลอดไป ไม่มีหย่าร้างหรือมีเมียน้อย โดยผู้หญิงจะเป็นใหญ่ในบ้าน แต่นอกบ้านแล้วผู้ชายจะเป็นใหญ่ ซึ่งเกิดลักษณะการประนีประนอมกันอย่างมากในครอบครัวกะเหรี่ยง (หน้า ๓๙-๔๑)

Political Organization

หมู่บ้านของกะเหรี่ยงแต่ละหมู่บ้านอยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าหมู่บ้านอยู่เพียงผู้เดียว โดยปกติแล้วกะเหรี่ยงไม่นิยมความรุนแรง การกระทำผิดใด ๆ ก็ตาม จะต้องมีการประชุมกันก่อนที่จะตัดสินลงโทษ ปรับไหม และขั้นรุนแรงที่สุด คือ ไล่ออกจากหมู่บ้าน โดยไม่มีการทำร้ายใด ๆ เลย (หน้า ๓๑)

Belief System

หมู่บ้านกะเหรี่ยงไม่มีสถานที่สำหรับบูชา ไม่มีลานบ้านหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่นชาวเขาเผ่าอื่น ๆ แม้กะเหรี่ยงส่วนมากจะนับถือผี นับถือศาสนาคริสต์ และนับถือศาสนาพุทธก็ตาม และมีความเชื่อว่าผีของกะเหรี่ยงจะมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในป่า ในไร่นา ในลำธารทั่วไป ดังนั้นผีและวิญญาณจึงเป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมและค่านิยมของชาวกะเหรี่ยงอยู่หลายประการ เช่น การลักขโมยเป็นความผิด แม้ไม่มีใครเห็นแต่ผีเห็นและวิญญาณย่อมลงโทษได้ การเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่เฒ่าด้วยความเชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษคือผีบ้านผีเรือนนั้น จะให้ความคุ้มครองให้บันดาลลูกหลานนั้นเย็นเป็นสุข หรือมีการอยู่แบบผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต และไม่ประพฤติผิดลูกเมียผู้อื่น ซึ่งเป็นผิดผีอย่างรุนแรง เป็นต้น (หน้า ๒๑) เนื่องจากความเชื่อและศาสนาของกะเหรี่ยงนั้นผูกพันอยู่กับผีและวิญญาณอย่างแน่นแฟ้น หากใครทำผิดประเพณีผีก็จะโกรธ และลงโทษด้วยการทำให้เจ็บได้ได้ป่วยหรือเกิดเหตุร้ายต่างๆ เช่น ฝนแล้ง สัตว์เลี้ยงตาย และเหตุอื่นๆ การขอโทษผีหรือขอให้ผียกโทษไม่โกรธเคือง ก็จะต้องประกอบพิธีกรรมตามประเพณี ด้วยการเลี้ยงผี ซึ่งประกอบด้วยเหล้าและอาหาร เช่น แกงไก่ หรือหมู นำมาบวงสรวง เซ่นไหว้ผีและวิญญาณ (หน้า ๔๓) ผีที่กะเหรี่ยงนับถือมีอยู่ ๒ อย่าง คือผีดีกับผีร้าย ผีดีคือผีบ้าน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาหมู่บ้าน หรือผีเจ้าที่นั่นเอง และผีเรือน คือผีบรรพบุรุษ เช่น ผีปู่ย่าตายาย ที่ตายไปแล้ว วิญญาณยังคงวนเวียนคุ้มครองลูกหลานอยู่ ชาวกะเหรี่ยงจะมีพิธีเซ่น บวงสรวงบูชาผีเรือนอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง เพื่อให้ปลอดภัยจากการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือรอดพ้นจากภัยทั้งปวง นอกจากการเลี้ยงผีบ้านผีเรือนแล้ว กะเหรี่ยงยังมีพิธีเลี้ยงผีไร่ผีนา ผีป่า ผีดอย อีกด้วย ทั้งนี้อาศัยหมอผีผู้มีความรู้ในเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเหล่านี้ ซึ่งอาจจะมีทั้งผีดีผีร้าย ที่อยู่ตามป่าเขาลำธารทั่วไป คอยลงโทษผู้ที่ผ่านไปให้ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น ความเชื่อถือในเรื่องผีและวิญญาณของกะเหรี่ยง จึงมีผลดีต่อสังคมกะเหรี่ยงเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดคุณธรรมขึ้น เพราะไม่มีใครกล้าทำความผิดแม้ต่อหน้าและลับหลัง เพราะแม้คนไม่เห็น แต่ผีย่อมเห็นเสมอ นอกจากนับถือผีแล้ว กะเหรี่ยงยังนับถือศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธอีกด้วย ซึ่งก่อให้เกิดประเพณีและวัฒนธรรมขึ้น เช่นประเพณีปีใหม่ ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีเกี้ยวสาว และแต่งงาน หรือแม้กระทั่งประเพณีงานศพ เป็นต้น

Education and Socialization

ไม่ระบุรายละเอียด

Health and Medicine

การรักษาโรคภัยต่าง ๆ ด้วยการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษ และจากตัวอย่าง เจ้าหน้าที่อนามัยหิวน้ำมาก จะก้าวขึ้นบ้านชาวบ้านเพื่อไปตักน้ำดื่ม เจ้าของบอกว่า ขึ้นไม่ได้ลูกชายป่วยกำลังมัดมือเลี้ยงผีอยู่ แต่หมอบอกว่าไม่เป็นไรจะฉีดยาให้ รับรองลูกพ่อเฒ่าหายป่วย แล้วก็เดินขึ้นไปบนบ้าน มีคนเฒ่าคนแก่กะเหรี่ยงมาบอกว่า เขาเสียค่าหมูเลี้ยงผีไป ๖๐๐ บาท จะต้องเลี้ยงใหม่เพราะหมอผิดผีจะต้องจ่ายเงินชดใช้ให้เขา (หน้า ๖๓)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

กะเหรี่ยงเป็นชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีลักษณะนิสัยชอบร้องเพลงและเต้นรำ ในงานรื่นเริงต่าง หรือในพิธีกรรมใด ๆ พวกเขาจะต้องมีการร้องรำทำเพลงอยู่เสมอ แม้กระทั่งงานศพ กะเหรี่ยงก็ยังร้องเพลงรำพึงรำพันอย่างโหยหวนแบบเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า "ทา" เครื่องดนตรีของชาวกะเหรี่ยง นอกจากจะมีฆ้อง กลอง และ ซึง แล้วยังมีดนตรีอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "กอย" ซึ่งทำจากเขาควาย การเต้นรำของกะเหรี่ยง มีความคล้ายคลึงกับพวกไทยใหญ่ โดยจะก้าวเท้าเป็นจังหวะเร็วและแกว่งมือไปมาด้วยลีลาที่น่าดู สังคมกะเหรี่ยงในปัจจุบันนิยมร้องเพลงแบบสมัยใหม่ เรียกว่า "ต่า-ซะ-หวิ" ซึ่งมีรากฐานมาจากเพลงสวดในคริสต์ศาสนา นั่นเอง (หน้า ๓๓-๓๕) การแต่งกาย กะเหรี่ยงผู้ชายนิยมใส่เสื้อแขนสั้น สีดำหรือแดง มีเชือกถักเป็นพู่รัดเอว สวมกางเกงสีดำยาวแบบจีน ซึ่งเรียกว่า "เตี่ยวสะดอ" หรือบางครั้งสวมโสร่งแบบพม่า ใช้ผ้าโพกศีรษะสีต่างๆ แต่ในปัจจุบัน กะเหรี่ยงผู้ชายหันมาสวมกางเกงขายาวแบบคนพื้นราบบ้างแล้ว สำหรับกะเหรี่ยงผู้หญิง ซึ่งมีกฎข้อห้ามอยู่มาก จึงมีการแต่งกายที่แยกออกไปอย่างชัดเจนระหว่างหญิงโสด และหญิงที่แต่งงานแล้ว และถือประเพณีการแต่งกายอย่างเคร่งครัด โดยหญิงสาวโสดกะเหรี่ยงมักจะสวมกระโปรงทรงกระสอบสีขาว ยาวลงถึงข้อเท้า เสื้อทรงกระบอกแขนสั้น คอเป็นรูปตัววี ถักด้ายสีแดงขลิบรอบคอเสื้อ ผ่าลงไปถึงช่วงล่าง ระหว่างเอวจะทอด้วยผ้าสีแดงคาดเอาไว้คล้ายเข็มขัด ส่วนใหญ่หญิงกะเหรี่ยงจะทอผ้าใช้เองด้วยเครื่องทอมือแบบง่าย ๆ ตามประเพณี หญิงกะเหรี่ยงจะนิยมไว้ผมยาวทำเป็นมวยพันด้วยผ้าสี หรือโพกผ้าเป็นสีเดียวกับเสื้อและกระโปรง ใส่ต่างหูเป็นรูปกลมมีพู่ห้อย นิยมพันคอด้วยเส้นด้ายและสร้อยลูกปัด หญิงกะเหรี่ยงบางกลุ่มจะแต่งกายด้วนสีแดงทั้งชุด จึงเรียกตัวเองว่า ยางแดง หญิงชาวกะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้ว จะไม่แต่งชุดขาว แต่จะสวมเสื้อคอวีสีดำสั้นแค่เอว ชายเสื้อด้านล่างเย็บด้ายสีประดับลูกเดือยหรือลูกปัดสีขาว เป็นรูปตารางหมากรุกหรือจุดสีขาวๆ สวมผ้าซิ่นสีแดงหรือลายอื่นๆยาวถึงข้อเท้า และโพกศีรษะเช่นเดียวกับหญิงโสดทั่วไป การแต่งกายของหญิงกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ มักจะแต่งกายตามประเพณีของเผ่าพันธุ์ โดยไม่เลือกเวลา หมายถึงหญิงสาวโสดของชาวกะเหรี่ยงหรือหญิงที่แต่งงานแล้ว ก็จะต้องแต่งกายตามประเพณีที่ระบุแยกเอาไว้ชัดเจนตลอดเวลา (หน้า ๒๕-๒๗)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

โดยปกติกะเหรี่ยงไม่ชอบมีความสัมพันธ์กับคนนอกเผ่าหรือสังคมภายนอก มีเพียงความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ชาวกะเหรี่ยงในหลายพื้นที่ไปรับจ้างทำงานให้พวกแม้ว กะเหรี่ยงกับแม้วจึงพบกันคนละครึ่งทาง ไม่มีแม้ว กะเหรี่ยงก็ไม่มีงานทำ ไม่มีข้าวกิน ไม่มีกะเหรี่ยง ม้งก็ไม่ได้งาน ไม่ได้ฝิ่น (หน้า ๔๔-๔๖)

Social Cultural and Identity Change

มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมการแต่งกายของชายกะเหรี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นคือ ปัจจุบัน กะเหรี่ยงผู้ชายหันมาสวมกางเกงขายาวแบบคนพื้นราบบ้างแล้ว แทนการสวมเตี่ยวสะดอ หรือโสร่งแบบพม่า

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

1. หน้า 14 ภาพบน "สาวน้อยกะเหรี่ยงโปทอผ้าซิ่นมัดหมี่" 2. หน้า 18 ภาพล่าง "แม่และเด็กชาวกะเหรี่ยงล้อมวงกินข้าว" 3. หน้า 19 "สภาพหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตอันสมถะ" 4. หน้า 20 "สภาพของบ้านชาวกะเหรี่ยงที่สมบูรณ์" 5. หน้า 28 ภาพบน "สาวชาวกะเหรี่ยงกับเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงความเป็นโสดคือชุดสีขาว" ภาพล่าง "การแต่งกายของหญิงชาวกะเหรี่ยงที่มีครอบครัวแล้ว" 6. หน้า 34 ภาพล่าง "หญิงกะเหรี่ยงตากข้าวเปลือก" 7. หน้า 35 "หญิงกะเหรี่ยงเลี้ยงหมู" 8. หน้า 40 "ลักษณะที่อับทึบของบ้านชาวกะเหรี่ยง" 9. หน้า 43 "พื้นที่ราบในหุบเขาใช้เป็นนาขั้นบันได" 10. หน้า 44 ภาพล่าง "กะเหรี่ยงเป็นเผ่าเดียวที่ใช้ช้าง" 11. หน้า 45 "ล้อมคอกควายไว้บูชายัน" 12. หน้า 48 ภาพบน "ผู้ใหญ่บ้านของชาวกะเหรี่ยง" ภาพล่าง "ทรงผมประเพณีของหนุ่มกะเหรี่ยงโปว์" 13. หน้า 62 "เมื่อไม่สบายพ่อแม่ก็จะต้องประกอบพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษให้" 14. หน้า 64 "ภายในบริเวณหน้าบ้านที่ลานอเนกประสงค์แต่ถ้ามีเฉลวปักอยู่ห้ามขึ้นบนบ้านเด็ดขาด" 15. หน้า 65 "บุรุษกะเหรี่ยง ประดับร่างด้วยรอยสัก" 16. หน้า 68 "งานทอผ้าของหญิงชาวกะเหรี่ยง" 17. หน้า 69 "งานเก็บผักหักฟืนก็เป็นของหญิงชาวกะเหรี่ยงเช่นกัน"

Text Analyst พิณทอง เล่ห์กันต์ Date of Report 10 ก.ย. 2555
TAG ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง), โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง), ความเชื่อ, ข้อห้าม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง