สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,วัฒนธรรม,การผสมผสาน,การเปลี่ยนแปลง,การปรับตัว,เชียงราย
Author ราญ ฤนาท, ชุลีพร วิมุกตานนท์
Title การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของชาวไทลื้อ ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 62 Year 2530
Source มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่
Abstract

ไทลื้อบ้านไม้ลุงขน หมู่ที่ 10 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยจากสิบสองปันนาในสาธารณรัฐประชาชนจีน และเมืองยองชายแดนพม่าเมื่อ 50 ปีมาแล้ว ซึ่งในช่วงแรกไทลื้อได้รับสัญชาติไทย แต่ต่อมาได้ถูกถอนสัญชาติในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้ไทลื้อได้รับความลำบาก เช่น ไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดิน และไม่สามารถเข้ารับราชการได้ เหล่านี้ทำให้พวกเขาถูกกีดกันออกไปจากการดำรงชีวิตแบบไทย ไทลื้อในแม่สายจึงได้แสดงความต้องการที่จะเป็นพลเมืองไทยอย่างเต็มที่ด้วยการผสมผสานทางวัฒนธรรมในหลาย ๆ ด้าน เพื่อจะได้มีส่วนร่วมอย่างสมบูรณ์ในสังคมไทย

Focus

ศึกษาลักษณะการปรับตัวของไทลื้อในสภาพแวดล้อมของวัฒนธรรมท้องถิ่น และวัฒนธรรมส่วนกลาง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม และปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปรับตัวของไทลื้อ (หน้า 9)

Theoretical Issues

ผู้ศึกษาได้นำแนวคิดเรื่องการผสมผสานทางวัฒนธรรมของนักสังคมวิทยา ชื่อ มิลตัน กอร์ดอน ซึ่งได้จำแนกกระบวนการย่อย ๆ ในการผสมผสานทางวัฒนธรรมไว้ 7 ประการ คือ การผสมผสานทางวัฒนธรรม การผสมผสานทางด้านโครงสร้าง การผสมผสานด้วยการแต่งงาน การผสมผสานลักษณะให้เหมือนกัน การผสมผสานด้วยการยอมรับทางด้านพฤติกรรม การผสมผสานด้วยการยอมรับทางด้านทัศนคติ และการไม่มีความขัดแย้งกับเจ้าถิ่นเกี่ยวกับค่านิยมและอำนาจ โดยผู้ศึกษาได้ศึกษาชุมชนไทลื้อที่อำเภอแม่สาย และนำมาเทียบเคียงกับทฤษฎีการผสมผสานต่าง ๆ ซึ่งไทลื้อมีการผสมผสานเข้ากับสังคมไทยเป็นอย่างดี มีการนับถือพุทธศาสนานิกายหินยานเช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เข้าโรงเรียนไทย เรียนพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยภาคกลาง และเริ่มแต่งกายแบบไทยตามสมัยนิยมในแม่สาย สำหรับด้านความสัมพันธ์กับเจ้าของถิ่นในระดับที่เป็นทางการ ไทลื้อไม่อาจเข้าสู่การดำเนินชีวิตแบบไทยได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่ในระดับที่ไม่เป็นทางการไทลื้อปรารถนาอย่างมากที่จะเป็นคนไทยด้วยการแสดงออกในหลาย ๆ วิธี เช่น การรวมกลุ่มหน้าจอโทรทัศน์เพื่อเชียร์นักมวยไทย นอกจากนี้ในคนรุ่นใหม่ยังมีการแต่งงานระหว่างชาวไทยและไทลื้อ เพื่อที่จะได้รับสัญชาติไทย การยอมรับจากสังคมซึ่งไทลื้อไม่ได้เป็นพลเมืองไทย จึงถูกห้ามประกอบกิจกรรมหลายอย่างแบบคนไทย เช่น การซื้อขายที่ดิน การออกเสียงเลือกตั้ง แต่ในระดับไม่เป็นทางการไทลื้อได้รับการยอมรับจากคนไทย ซึ่งเห็นว่าไทลื้อขยันขันแข็งจึงไม่เกิดการดูถูก ไทลื้อมีความขัดแย้งทางการเมืองกับคนไทยน้อยมาก และยังรับเอาค่านิยมแบบคนไทยเอาไว้มาก เนื่องจากไทลื้อมีความต้องการเป็นประชาชนไทยจึงเข้ากับสังคมแม่สายเป็นอย่างดี (หน้า 1, 2, 48 - 51)

Ethnic Group in the Focus

ไทลื้อ

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาไทลื้อจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยภาษาถิ่นอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกัน จากที่ตั้งของสิบสองปันนาซึ่งใกล้กับจีนและพม่า ทำให้มีการยืมคำจากทั้งสองภาษามาใช้ และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้พยายามปรับปรุงภาษาเขียนใหม่ แต่ไม่เป็นที่นิยมจึงกลับมาเขียนแบบเดิม ปัจจุบันเด็กไทลื้อเรียนรู้ภาษาของตนเองในโรงเรียนจนถึงระดับชั้นที่ 3 ต่อจากนั้นต้องเรียนภาษาจีน เด็กรุ่นใหม่จึงพูดได้สองภาษา และมีการใช้ชื่อจีนด้วย (หน้า 19-20)

Study Period (Data Collection)

ในช่วงเวลา 1 ปี พ.ศ. 2538

History of the Group and Community

ไทลื้อได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านไม้ลุงขนในช่วงเวลาตั้งแต่ 1-50 ปี โดยอพยพจากเมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนา รวมกันตั้งหมู่บ้านโดยมีผู้นำชื่อ สามกาย ศรีวงศ์ เป็นไทลื้อมาจากเมืองกาย สาเหตุของการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านลุงขนนี้ เกิดจากความไม่สงบทางภาคใต้ของประเทศจีนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้ไทลื้อเดินทางสู่แม่สายมากขึ้น และปัจจัยอีกประการหนึ่งคือ แผนรวมไทยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทกลุ่มต่าง ๆ จึงทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนไทลื้อในอำเภอแม่สายมีเพิ่มมากขึ้น (หน้า 23, 25, 27)

Settlement Pattern

ลักษณะบ้านเรือนไทลื้อจะมีหลังคาลาด หน้าจั่วสูง มีชายคาปีกนกต่อกับผืนหลังคาเป็นสันจระเข้ หลังคาเป็นสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือดินขอ ชั้นที่สองจะมุงต่ำกว่าชั้นแรกลงมาประมาณครึ่งฝารอบตัวเรือน ไทลื้อเรียกลักษณะบ้านเรือนของตนว่า เฮือนเสาตั้ง ดินขอปก เนื่องจากตัวบ้านถูกรองรับด้วยเสาไม้จำนวนมาก ตั้งแต่ 60-100 ต้นขึ้นไป ตัวบ้านมีขนาดใหญ่ มีบันไดทะลุขึ้นมากลางเติ๋น ภายในเรือนเป็นห้องเดียวขนาดใหญ่ ใต้ถุนเรือนใช้ประโยชน์เป็นคอกสัตว์ เก็บข้าวและของใช้ (หน้า 17, 18)

Demography

ชาวบ้านในหมู่บ้านไม้ลุงขนมีประชากรทั้งหมด 4,645 คน ในจำนวน 874 หลังคาเรือน เป็นคนสัญชาติไทยจำนวน 734 ครัวเรือน เป็นเพศชาย 2,014 คน และหญิง 1,927 คน และเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าซึ่งเป็นไทลื้อจำนวน 140 ครัวเรือน เป็นเพศชาย 308 คน และหญิง 402 คน คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าในเขตอำเภอแม่สาย นอกจากนี้ยังมีชาวไทยใหญ่และชาวจีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเดินทางข้ามเขตแดนเข้ามาเช่นเดียวกับไทลื้อคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นคนเมืองมากที่สุด (หน้า 22)

Economy

ในอดีตไทลื้อจะทำการค้าขายตามแนวชายแดนไทย พม่า จีน โดยมีสัตว์เป็นพาหนะในการนำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ต่อมาได้ประสบปัญหาการถูกปล้นสดมภ์ระหว่างการเดินทาง ตลอดจนรัฐบาลของแต่ละประเทศเริ่มเข้มงวดในการเดินทางเข้าออกชายแดนมากขึ้น การค้าขายจึงต้องทำแบบเข้ามาตั้งถิ่นฐานชั่วคราวและถาวร ปัจจุบันไทลื้อในอำเภอแม่สายยังคงประกอบอาชีพค้าขายเป็นอาชีพหลัก เนื่องจาก ไม่สามารถถือครองหรือมีกรรมสิทธิในที่ดินได้ ไทลื้อบางครอบครัวได้เข้าไปเช่าที่ดินจากคนเมืองเพื่อทำสวนลิ้นจี่ อาชีพเย็บผ้า เสริมสวย และรับจ้างทั่วไป นำรายได้ที่ดีมาให้ไทลื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการลักลอบเข้าไปทำงานในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย (หน้า 30, 33, 35)

Social Organization

ไทลื้อจะแต่งงานกันหลังจากมีการตกลงกันระหว่างญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย และใช้หมูเป็นสินสอด หรืออาจมีแก้วแหวนเงินทองด้วย มีการผูกข้อมือและให้พรโดยผู้เฒ่าผู้แก่ ไทลื้อส่วนใหญ่มีรูปแบบการสมรสแบบเอกคู่ครอง อาศัยอยู่ร่วมกันในครัวเรือนใหญ่แบบครอบครัวขยาย ภายหลังการสมรสจะอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง มีการให้ความสำคัญกับญาติทั้งสองฝ่าย แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ชายจะได้รับความสำคัญเพราะถือว่าเป็นผู้นำครอบครัว แต่เดิมไทลื้อไม่มีแซ่หรือนามสกุล แต่ปัจจุบันเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับราชการจึงมีการใช้แซ่กันบ้าง ไทลื้อที่อพยพเข้ามาอยู่ในบ้านไม้ลุงขน ส่วนใหญ่จะแต่งงานและมีครอบครัวมาแล้ว มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีการสืบสายโลหิตทางพ่อ และพ่อเป็นใหญ่ในครอบครัว หากมีบุตรชายอำนาจในครอบครัวจะตกทอดไปถึงบุตรชายคนโตเมื่อพ่ออายุมากแล้ว ไทลื้อยังไม่สามารถหาลักษณะการตั้งถิ่นฐานหลังการสมรสได้ เพราะเป็นการตั้งครอบครัวใหม่รุ่นแรก ฐานะทางสังคมที่ต่างกันในกลุ่มไทลื้อไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต แต่ก่อให้เกิดความร่วมมือและช่วยเหลือกันในฐานะเพื่อนบ้านและเครือญาติที่มีความสำนึกร่วมกันในฐานะผู้พลัดถิ่นเช่นเดียวกัน สำหรับญาติพี่น้องในสิบสองปันนาก็ยังคงมีการเดินทางไปมาหาสู่กันอยู่เสมอทุกปีในช่วงฤดูแล้ง งานปีใหม่สงกรานต์ โดยใช้เส้นทางผ่านพม่าเข้าเขตแดนจีน (หน้า 18-19, 35, 37)

Political Organization

การปกครองในหมู่บ้านไม้ลุงขนนั้น ผู้ใหญ่บ้านถือได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิอำนาจมาก เป็นตัวกลางระหว่างราชการกับชาวบ้าน โดยชาวบ้านจะเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามที่ผู้ใหญ่บ้านแนะนำหรือบอกกล่าว ผู้ใหญ่บ้านจะได้รับการเลือกจากชาวบ้านซึ่งไม่รวมไทลื้อเพราะไม่มีสิทธิในการเลือก แต่หากผู้ใหญ่บ้านมีภรรยาเป็นไทลื้อและมีความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนก็จะได้รับการยอมรับจากไทลื้อด้วย แม้ว่าการคมนาคมจะสะดวกแต่ไทลื้อจะไม่มีการติดต่อกับราชการโดยไม่จำเป็น และทางราชการก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยว แต่ได้มอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รายงานความเป็นไปในหมู่บ้านให้ทางอำเภอทราบทุกสัปดาห์ ไทลื้อจะมีความรู้สึกร่วมกันในฐานะผู้พลัดถิ่น จึงมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อให้ความช่วยเหลือกัน มีการตั้งกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ขึ้นเพื่อเป็นการประกันชีวิตให้ตนเองและครอบครัว ลักษณะการรวมกลุ่มจึงเป็นผลดีต่อการให้ความร่วมมือในกิจกรรมกลุ่มที่ทางราชการจัดขึ้น ไทลื้อจะมีความกระตือรือร้นในการให้ความร่วมมืออย่างมาก เพราะต้องการอาศัยอยู่ในเมืองไทยและเป็นคนไทยอย่างถูกกฎหมาย (หน้า 38-39)

Belief System

ไทลื้อมีความศรัทธาและความเชื่อในพุทธศาสนา รวมทั้งความเชื่อเรื่องผีมานานนับตั้งแต่อยู่ในสิบสองปันนา วัดยังคงเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เป็นสาธารณประโยชน์และให้บริการทางสังคมแก่ชาวบ้านในรูปแบบต่าง ๆ วัดไม้ลุงขนจึงได้รับการทะนุบำรุงจากชาวบ้านด้วยการมาทำบุญและสร้างอาคารเพื่อประโยชน์ใช้สอยของวัด วัดและกิจกรรมทางศาสนาได้มีส่วนช่วยให้ชุมชนบ้านไม้ลุงขนมีพัฒนาการไปตามลำดับเวลาและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านและนโยบายของทางราชการ ซึ่งมีการนำโครงการบางอย่างผ่านวัดเข้าสู่ชาวบ้าน เช่น การอบรมเรื่องยาเสพติด และโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เป็นต้น ไทลื้อยังคงสืบทอดการทำบุญตามประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนาที่มีอยู่ตลอดปีเช่นเดียวกับประเพณีไทย นอกจากนี้ ยังมีการเซ่นไหว้เจ้าพ่อคำแดงในเดือนมีนาคม (เดือน 6 ของทางเหนือ) ซึ่งเป็นการส่งเคราะห์บ้าน และทำพิธีอีกครั้งหนึ่งในเดือน 8 เหนือ ขึ้น 8 ค่ำ วันพฤหัสบดี โดยชาวบ้านจะนำเงินมารวมกันเพื่อซื้อเครื่องใช้ในการประกอบพิธี มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และนิมนต์พระมาสวดในบริเวณพิธี ในตอนเย็นมีการฟ้อนรำโดยผู้ร่วมพิธี นอกจากเจ้าพ่อคำแดงและเทวดาแล้วไทลื้อยังนับถือผีขะกุ๋น ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษตามสายตระกูล ผีนางกวัก ผีหม้อนึ่ง รวมทั้งผีบ้านผีเรือน และยังมีความเชื่อในเรื่องฤกษ์ยามและโชคลางของขลังด้วย (หน้า 43-44, 47)

Education and Socialization

ในอดีต ไทลื้อบ้านไม้ลุงขนมีแบบแผนชีวิตที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้ระเบียบสังคม ที่สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งตั้งแต่ครั้งอยู่ที่สิบสองปันนา แต่ในปัจจุบันมีโรงเรียนที่เปิดสอนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 แห่ง จั ดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 เด็กไทลื้อที่เกิดในประเทศไทยจึงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และออกมาประกอบอาชีพตามแบบของครอบครัว โดยเห็นว่าเรียนต่อไปก็ไม่สามารถหางานอื่นทำได้ เพราะไม่มีบัตรประชาชนและไม่ได้สัญชาติไทย ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้ไทลื้อไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา การไปโรงเรียนจึงเพียงเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ สะดวกต่อการติดต่อค้าขายและมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยเท่านั้น (หน้า 42,43)

Health and Medicine

การรักษาโรคของไทลื้อบ้านลุงขน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ที่อพยพมาจากสิบสองปันนายังคงรักษาด้วยการถามผีผ่านคนทรง แม้ว่าความเจริญทางสาธารณสุขจะแพร่สู่สังคมแม่สาย แต่ก็ยังไม่อาจแทนที่การรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ได้ ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นต่อการรักษาด้วยวิธีการแผนใหม่และวิธีแบบเดิมควบคู่กันไป ชาวบ้านเห็นว่าการไปโรงพยาบาลเสียค่าใช้จ่ายมาก ส่วนใหญ่จึงมักซื้อยาจากร้านขายยาหรือซื้อยาพื้นบ้านมารักษาโรคอย่างไรก็ตาม การมีสาธารณสุขและโรงพยาบาลประจำอำเภอก็ได้ช่วยให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการพยายามเผยแพร่สาธารณสุขขั้นมูลฐาน และฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เพื่อเป็นสื่อกลางในการแนะนำชาวบ้านกับการอนามัยที่ถูกต้อง (หน้า 44, 42)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไทลื้อนิยมสักตามตัวและขา การสักถือเป็นการตกแต่งร่างกายให้สวยงามและแสดงถึงความเป็นผู้ชายด้วย ด้านหัตถกรรมไทลื้อจะนำวัสดุพื้นบ้าน เช่น หวาย ไม้ไผ่ และไม้เนื้อแข็งบางชนิดมาทำเครื่องจักสานและภาชนะใช้สอยในครัวเรือน มีการทำกระดาษจากต้นสา นำมาใช้ทำฉัตรและธงเพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และนำไปใช้ทำโคมขงเบ้งหรือโคมลอย ไทลื้อยังมีการทำเครื่องปั้นดินเผาครั้งแรกที่บ้านลื้อ อำเภอเชียงรุ่ง แล้วกระจายออกไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีการทอผ้าซึ่งถือเป็นหัตถกรรมเก่าแก่อีกอย่างหนึ่ง หญิงไทลื้อมีความสามารถในการทอผ้าใช้เองในครอบครัว ผ้าไหมยกดอกไตได้รับการกล่าวขวัญว่ามีลวดลายที่งดงามสะดุดตา แสดงถึงเอกลักษณ์ประจำเชื้อชาติ การฟ้อนรำของไทลื้อมีลักษณะคล้ายคลึงกับฟ้อนพม่าและไทยใหญ่ ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นระบำผสมบัลเล่ย์ที่สะท้อนชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน นอกจากการฟ้อนรำยังมีศิลปะเพื่อความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งคือ การขับ ซึ่งคล้ายกับการขับซอของล้านนา ลักษณะการแต่งกายของไทลื้อบ้านลุงขนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน จึงต้องหาซื้อเครื่องแต่งกายแบบคนเมือง สำหรับผู้สูงอายุยังคงแต่งกาย เกล้าผมแบบเดิมอยู่ด้วยความเคยชิน ประกอบกับไม่ได้ออกไปที่อื่นนอกจากไปวัด อย่างไรก็ตามไทลื้อยังเก็บรักษาเครื่องประดับที่เป็นของเดิมติตัวมาตั้งแต่สิบสองปันนา และนำมาประดับในงานเทศกาลต่าง ๆ (หน้า 17, 20-21, 37)

Folklore

ไทลื้อบ้านลุงขน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าพ่อคำแดงว่ามาจากเชียงรุ่ง มีถิ่นพำนักอยู่ที่ดอยเชียงดาว เห็นต้นไม้ลุงล้มก็ดันให้ตั้งขึ้นอยู่ในสภาพเดิม จึงได้เป็นเทวดาคุ้มครองรักษาชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ (หน้า 44)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไทลื้อบ้านลุงขนซึ่งเป็นประชากรส่วนน้อยในหมู่บ้าน ได้มีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและสังคมวัฒนธรรมตามคนเมือง ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน แม้วิถีชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปแต่สิ่งที่เป็นเครื่องแสดงถึงลักษณะเฉพาะกลุ่มไทลื้อ คือ ภาษาพูด ที่ยังคงอยู่ (หน้า 37)

Social Cultural and Identity Change

ไทลื้อบ้านลุงขนถือเป็นประชากรส่วนน้อยในหมู่บ้าน จึงได้มีการเปลี่ยนรูปแบบวัฒนธรรมในหลาย ๆ ด้านให้เข้ากับสังคมไทย เช่น ด้านศาสนาการแต่งกายของครูบาหลวงซึ่งเป็นพระอาวุโสไทลื้อในหมู่บ้านได้ห่มจีวรตามแบบพระไทย ด้านภาษากลุ่มคนหนุ่มสาวได้เข้าโรงเรียนไทยเพื่อเรียนพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยกลาง และเริ่มแต่งกายแบบไทยตามสมัยนิยมในแม่สาย มีการแต่งงานกับคนไทยเพื่อจะได้รับสัญชาติไทย การผสมผสานทางวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ ของไทลื้อ เป็นเพราะไทลื้อส่วนใหญ่ไม่ได้รับสัญชาติไทยและต้องการเป็นประชาชนไทย จึงได้รับเอาค่านิยมแบบคนไทยเอาไว้มาก (หน้า 48-51)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตารางจำนวนครัวเรือนไทลื้อที่อพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านไม้ลุงขน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 - 2530 (หน้า 24) ตารางอาชีพของไทลื้อในหมู่บ้านไม้ลุงขน (หน้า 32) ตารางการศึกษาของไทลื้อบ้านไม้ลุงขน (หน้า 41)

Text Analyst ปนัดดา ปิ่นแก้ว Date of Report 31 ต.ค. 2555
TAG ลื้อ, วัฒนธรรม, การผสมผสาน, การเปลี่ยนแปลง, การปรับตัว, เชียงราย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง