สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ผู้ไท,โส้,ความเชื่อ,สังคม,ประเพณี,สกลนคร
Author สุรัตน์ วรางค์รัตน์
Title การศึกษาเชิงเปรียบเทียบประเพณีวัฒนธรรมของชาวผู้ไทย-ชาวโซ่ (ศึกษาเฉพาะกรณี อำเภอพรรณานิคมและอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร)
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โส้ โทรฺ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) Total Pages 113 Year 2524
Source คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูสกลนคร
Abstract

งานเขียนกล่าวถึงประวัติความเป็นมา ประเพณี และสังคมของผู้ไทยที่อยู่ในอำเภอพรรณานิคมและโซ่ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้เคยมีบรรพบุรุษอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาก่อนที่จะอพยพมาอยู่ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร จากความเป็นมาพบว่าทั้งสองกลุ่มมีประวัติร่วมกันตลอดเช่นเรื่องราวการช่วงชิงที่ดินทำกินเมื่อในอดีต ซึ่งจากหลักฐานหลายอย่างได้แสดงว่าผู้ไทยนั้นค่อนข้างมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าโซ่ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบ้านเมืองและด้านอื่นๆ นอกจากนี้ทั้งสองกลุ่มยังมีความแตกต่างกันเรื่องภาษาพูดและวัฒนธรรมความเชื่อ และที่เด่นชัดก็คือโซ่อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กุสุมาลย์ ก่อนผู้ไทยที่ย้ายมาอยู่พรรณานิคมซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองมีเจ้าเมืองปกครองโดยขึ้นกับเมืองสกลนคร เมื่อ พ.ศ.2387

Focus

ศึกษาเปรียบทียบวัฒนธรรมของผู้ไทยในอำเภอพรรณานิคม และโซ่ ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร และประวัติความเป็นมา ประเพณีที่สะท้อนความเชื่อในพิธีกรรมและโครงสร้างของสังคมจากความเชื่อและพิธีกรรมของผู้ไทยและโซ่ และศึกษาเพื่อต้องการทราบว่าเมื่อผู้ไทยและโซ่กับกระทบกับวัฒนธรรมสมัยใหม่แล้วโครงสร้างของผู้ไทยและโซ่เปลี่ยนไปอย่างไร (หน้า 4)

Theoretical Issues

ไม่มีข้อมูล

Ethnic Group in the Focus

ผู้ไทยที่อยู่ในพื้นที่อำเภอพรรณานิคม (หน้า 7) และโซ่ ที่อยู่ในเขต อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร (หน้า 21) ซึ่งแต่เดิมบรรพบุรุษได้อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (หน้า 3) หลังจากที่เข้ามาก็ได้ตั้งชุมชนจนกลายเป็นเมืองและมีเจ้าเมืองปกครองโดยขึ้นกับสกลนคร เมื่อ พ.ศ.2347 (หน้า 4)ลักษณะชาติพันธุ์ของผู้ไทยกับโซ่มีดังนี้ ผู้ไทย อยู่ในกลุ่มมองโกลอยด์ (Mongoloid) พูดภาษาไทยกะได(Tai Kadai) ผู้ไทยทั้งชายและหญิง (หน้า 7) สูง 140-160 ซ.ม. ผิวขาว เหลือง ผู้ชายค่อนข้างผอม ส่วนผู้หญิงรูปร่างอ้วน ใบหน้ารูปไข่ จมูกเล็ก ริมฝีปากคล้ำ ริมฝีปากล่างหนากว่าริมฝีปากบน ผู้ชายชอบไว้ผมสั้น ส่วนผู้หญิงไว้ผมยาว (หน้า 8) โซ่ อยู่ในกลุ่มมองโกลอยด์ ตระกูลออสโตรเอเชียติค มอญ-เขมร รูปร่างสูงประมาณ 140 -160 เซนติเมตร ใบหน้ารูปไข่ แบน จมูกเล็ก ในอดีตผู้ชายชอบสักขาลายจากเหนือหัวเข่าถึงต้นขา ส่วนผู้หญิงชอบสักที่ท้องหรือเอวเป็นลายดอกไม้หรือรวงข้าว แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครสักขาลายหรือท้องเช่นในอดีตอีกแล้ว (หน้า 21)

Language and Linguistic Affiliations

ผู้ไทย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พูดภาษาไทยกะได (Tai Kadai) (หน้า 7) โซ่ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติค (หน้า 27)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุระยะเวลาที่ชัดเจน

History of the Group and Community

ผู้ไทยกับโซ่ เมื่อก่อนนี้มีบรรพบุรุษตั้งรกรากอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งคาดกันว่าอยู่บริเวณเมืองมหาชัยกองแก้วและเมืองวัง ทั้งสองกลุ่มนี้มีความใกล้ชิดต่อกันมาแต่เดิมเช่นในความเชื่อเรื่องกันแก่งแย่งพื้นที่เพาะปลูกในเมืองวังด้วยการพนันยิงหน้าไม้ซึ่งผู้ไทยเป็นฝ่ายมีชัยเหนือโซ่ ผู้ไทยและโซ่มีความต่างกันหลายอย่างเช่น ภาษาพูด นอกจากนี้ในการอพยพนั้นโซ่อพยพมาตั้งที่อยู่อาศัยที่กุสุมาลย์ ก่อนผู้ไทยซึ่งย้ายมาตั้งรกรากที่พรรณานิคม ภายหลังได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมืองและมีเจ้าเมืองโดยขึ้นกับเมืองสกลนคร เมื่อ พ.ศ.2387 (หน้า 27)

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ผู้ที่ให้สัมภาษณ์มี 6 คน อยู่ในอำเภอพรรณานิคม และอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร (หน้า 5) สำหรับจำนวนประชากรของทั้งสองอำเภอพบว่าจากการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2523 อำเภอพรรณานิคมมีประชากร 59,240 คน และอำเภอกุสุมาลย์มีประชากร 30,637 คน (หน้า 39)

Economy

ผู้ไทย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ผู้ไทยทำอาชีพเพาะปลูก พื้นที่อำเภอพรรณานิคมมีความอุดมสมบูรณ์เพราะอยู่ในพื้นที่คลองส่งน้ำเขื่อนอูน ผู้ไทยจึงสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีเงินซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น วิทยุ โทรทัศน์ มีเงินส่งลูกเรียนจนจบการศึกษามีงานทำ (หน้า 53) โซ่ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร -ไม่มีข้อมูล

Social Organization

ผู้ไทย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร การแต่งงาน ในอดีตชายหญิงผู้ไทยจะมีโอกาสได้รู้จักกันใน งานบุญหรืองานเทศกาลสำคัญ ชายหนุ่มก็จะถือโอกาสเกี้ยวพาราสีผู้หญิงที่หมายปอง (หน้า 49) เมื่อก่อนนี้หนุ่มผู้ไทยจะจีบสาวด้วยคำ ”ผะหยา” ซึ่งเป็นคำร้องโต้ตอบกันของชายหญิง โดยฝ่ายชายก็จะร้องผะหยาเพื่อขอความรักจากฝ่ายหญิง ส่วนผู้หญิงถ้าจะชอบหรือไม่ชอบก็จะร้องตอบผ่านคำผะหยาเช่นกัน แต่ถ้าผู้หญิงตอบรับคำขอความรักแล้ว ฝ่ายชายก็ต้องหมั่นมาหาสาวคนรัก ก่อนที่จะให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอ (หน้า 51) หรือ ”ไปโอม” โดยจะเตรียม หมากพลู (เรียกว่า พลูไขปากหมากไขคอ) พร้อมเงินจำนวนหนึ่งหรือ “ เงินไขคำปาก “ ไปมอบให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง (หน้า 54) การจัดพิธีแต่งงานชอบจัดพิธีในเดือนคู่ได้แก่ เดือน 2 เดือน 4 เดือน 6 และไม่ค่อยจัดพิธีในช่วงเข้าพรรษา (หน้า 57) การจัดงานในวันก่อนวันแต่งงานญาติพี่น้องของเจ้าบ่าวเจ้าสาว จะจัดเตรียมอาหาร ทำพานบายศรีสู่ขวัญและด้ายผูกแขนและอื่นๆ เมื่อถึงวันแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะยกขบวนขันหมากไปบ้านเจ้าสาว เมื่อไปถึงฝ่ายหญิงจะส่งตัวแทนมารับเจ้าบ่าวที่บันไดบ้าน ก่อนขึ้นไปเจ้าบ่าวจะล้างเท้าซึ่งจะให้เด็กหญิงตักน้ำให้ขณะที่เจ้าบ่าว เหยียบใบตองที่คลุมก้อนหินหรือหินลับมีด (หน้า 59) เมื่อขึ้นบนบ้านแล้วก็จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าบ่าว เจ้าสาว ส่วนญาติๆ ก็จะผูกข้อไม้ข้อมืออวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวมีแต่ความสุขเจริญก้าวหน้าในชีวิต (หน้า 60) เมื่อประกอบพิธีเรียบร้อยแล้วก็จะเลี้ยงอาหารแขกเหรี่อที่มาร่วมงาน (หน้า 61) โซ่ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร การแต่งงาน ก่อนวันแต่งงานโซ่จะช่วยกันจัดเตรียมอาหาร ในวันจัดงานก็จะให้ผู้สูงอายุคนหนึ่งเป็นล่ามหรือหมอสื่อ เป็นผู้ประกอบพิธีผูกข้อมืออวยพรให้เจ้าบ่าว เจ้าสาวมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต จากนั้นญาติๆ ก็จะมาอวยพรและผูกข้อมือคู่บ่าวสาวจากนั้นก็จะร่วมรับประทานอาหาร ส่วนตอนกลางคืนก็จะทำพิธีลักพาเจ้าสาวหนี ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของโซ่ ขั้นตอนก็คือเจ้าบ่าวจะพาเพื่อนมาหลบซ่อนที่บริเวณบ้านเจ้าสาว แล้วก็จะให้เจ้าบ่าวย่องขึ้นไปบนบ้านเจ้าสาวเมื่อไปถึงก็จะวางดาบหรือง้าวที่พกมาด้วย โดยจะหันปลายง้าวหรือปลายดาบ เข้าหาตัวเอง ส่วนด้ามดาบจะหันไปทางเสาเอกหรือเสาแก้วของบ้าน กรณีที่เจ้าบ่าววางดาบไม่ถูกขั้นตอน ญาติพี่น้องที่อยู่บนบ้านก็จะลงโทษให้เจ้าบ่าวดื่มเหล้าและปรับเงิน เมื่อเจ้าบ่าวจูงมือเจ้าสาวลงจากบ้านแล้ว ก็จะยกขันห้า (หน้า 61) พร้อมด้วยไก่ต้มลงมาจากบ้านด้วย เมื่อลงจากบ้านแล้วก็จะไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่รออยู่บริเวณบ้าน เมื่อเดินพ้นจากเขตบ้านเจ้าสาวทุกคนก็จะร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานกระทั่งถึงบ้านเจ้าบ่าว (หน้า 62) พอเจ้าบ่าวพาเจ้าสาวหนีไปแล้ว แม่ของเจ้าสาวก็จะทำพิธีบอกผีเรือนเพื่อไม่ให้เกิดความห่วงใยต่อลูกหลานหรือไปแย่งตัวกลับมาบ้านเช่นเดิม ขั้นตอนต่อไปฝ่ายชายก็จะกลับมาที่บ้านเจ้าสาวและบอกความจริงว่าได้ลักพาตัวเจ้าสาวไปและนัดวันทำพิธีสู่ขวัญแล้ว พ่อแม่เจ้าสาวก็จะถามเจ้าบ่าวเจ้าสาวว่ารักกันจริงหรือไม่ ถ้าทั้งสองตอบว่ารักกันจริงก็จะรับคำขอขมาของเจ้าบ่าวและจัดเตรียมอาหารมาเลี้ยงในโอกาสต่อไปแล้วแต่ความพร้อมและความเหมาะสม (หน้า 62) อย่างไรก็ดีสำหรับประเพณีลักพาตัวเจ้าสาวนี้ ในความคิดของโซ่เป็นการถือประเพณีตามตำนานสินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) ตอนที่นางสุมณฑาน้องสาวท้าวกุศราชยักษ์ได้ลักพาตัวไป สังข์ศิลป์ชัยจึงไปนำตัวกลับมา เพราะโซ่ถือว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจาก “อ้ายก๊ก” ซึ่งเป็นคนแรกที่ออกมาจากน้ำเต้าปุงจึงถือว่า เรื่องสินไซเป็นของตนเองดังนั้นจึงปฏิบัติตามประเพณีเหมือนในเนื้อเรื่องวรรณกรรมสินไซ นั่นเอง (หน้า 62) บ้าน เมื่อหนุ่มสาวแต่งงานแล้ว เจ้าบ่าวจะไปอยู่บ้านเจ้าสาว คนที่เป็นพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็จะแบ่งพื้นที่ของบ้านส่วนหนึ่งเพื่อให้เป็นเรือนหอ ซึ่งผู้ไทยเรียกว่า “ส้วม” หรือ “ส่วม” โดยจะกั้นฝาจากห้องโถงของบ้านให้มีความเป็นส่วนตัวสำหรับคู่สมรสที่เข้ามาอยู่ใหม่ เมื่ออยู่ที่บ้านพ่อแม่หลายปีก็จะแยกไปสร้างบ้านของตนต่อไป (หน้า 56)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ผู้ไทย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร นับถือศาสนาพุทธและนับถือผี (หน้า 92) เช่น บูชาผีมเหสักข์ หรือผีบ้านผีเมือง ซึ่งผู้ไทยพรรณานิคมชอบเรียกว่า “เจ้าปู่” บางครั้ง ก็เรียกว่าเจ้าหาญแดง การประกอบพิธีเซ่นไหว้ที่ศาลมเหสักข์หรือธาดาหรือถลา จะจัดทุกปีในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 สำหรับอาหารที่นำมาเซ่นไหว้ประกอบด้วยอาหารคาวหวานและเหล้า (หน้า 37) ผีนา ทำหน้าที่คุ้มครองไร่นาดูแลข้าวที่ปลูกให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก (หน้า 40) ผีเรือน คือบรรพบุรุษที่ล่วงลับทำหน้าที่ให้ความดูแลคนในครอบครัวให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ฯลฯ (หน้า 46) งานศพของผู้ไทย กรณีมีคนเสียชีวิตผู้ไทยจะอาบน้ำให้ศพด้วยน้ำใบส้มป่อย(ความหมายคือ การปล่อยไปหรือลาจาก) แล้วแต่งตัวให้ศพโดยกลับข้างเสื้อผ้าให้แตกต่างจากคนที่ยังมีชีวิต ต่อมาก็จะยกศพลงโลง แล้วตั้งโลงศพไว้ที่บ้านไม่เกิน 3 วันเพื่อให้พระสวดมนตร์ทำพิธีทางศาสนา ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะอ่านวรรณกรรมจากหนังสือผูก เช่นเรื่องสังข์ศิลป์ไชย การเกด แตงอ่อนและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลต่อบ้านเจ้าภาพส่วนคนหนุ่มสาวก็จะเล่นเกมพื้นบ้านเช่นเกมหมากถอด (หน้า98) เกมหมากเก็บ เกมหมากเสียดพลูและอื่นๆ (หน้า 99) เมื่อจะยกศพไปเผาที่ป่าช้า ก็จะประกอบพิธีตัดญาติโดยจะเอาก้านกล้วยวางไว้ที่โลงแล้วให้ญาติทางปลายก้านกล้วย แล้วหันหลังให้ผู้ตาย ต่อมาญาติก็ขอขมาผู้ตาย แล้วก็ทำพิธีสวดมนตร์แล้วตัดก้านกล้วยจนขาดเพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าคนตายกับคนที่มีชีวิตได้แยกขาดจากกันแล้ว ระหว่างเคลื่อนโลงศพไปป่าช้าก็จะโปรยข้าวตอก ซึ่งเชื่อว่าข้าวตอกเป็นเครื่องหมายที่คนตายจะไม่กลับมาเกิดอีกครั้งเหมือนข้าวเปลือกที่เปลี่ยนมาเป็นข้าวตอก เมื่อไปถึงป่าช้าก็จะเสี่ยงทายหาที่ตั้งศพ ถ้าไข่แตกบริเวณใดก็จะทำพิธีเผาศพบริเวณนั้น (หน้า 99) โซ่ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร (หน้า 21) นับถือศาสนาพุทธและนับถือผี โดยมีความเชื่อว่า ”วิญญาณ” หรือที่โซ่ เรียกว่า ”เยียง” อยู่ในทุกๆ ที่เช่นตามป่าเขา ลำน้ำ และอื่นๆ(หน้า 91) สำหรับผีที่นับถือได้แก่ ผีมเหสักข์ (หน้า 35,75) เชื่อว่ามีหน้าที่ดูแลให้โซ่อยู่อย่างมีความสุข สำหรับการบูชาผีมเหสักข์ จะจัดทุกปีในวันปีใหม่โบราณ ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ในวันนี้โซ่จะประกอบพิธีเซ่นไหว้ ทำพิธีผูกข้อมือด้วยด้ายขาวที่เรียกว่า “เจาะอตี” โดยมีพิธีกรหรือ”จ้ำ”(โซ่เรียก”เนือยเยียง”) ผู้ดูแลศาลมเหสักข์ เป็นผู้ทำพิธี เซ่นไหว้เพื่อขอให้ผีมเหศักดิ์คุ้มครองดูแลโซ่ ให้มีชีวิตก้าวหน้าสืบไป (หน้า 36) สำหรับการเรียกชื่อโซ่ไม่ชอบเรียกว่าผีมเหสักข์แบบตรงๆ แต่จะเรียกชื่อตามสถานที่แห่งนั้น และชื่ออื่นๆ (หน้า 38) ผีนา เชื่อว่าถ้าประกอบพิธีอย่างเหมาะสมและทำการบอกกล่าว ผีนาก็จะช่วยดูแลต้นข้าวให้ได้ผลิตผลอุดมสมบูรณ์ (หน้า 40) ในการทำพิธีเลี้ยงผีนาหรือผีตาแฮก เจ่าของนาจะนำอาหาร ดอกไม้ธูปเทียนใส่กระทงมาเซ่นไหว้ที่ศาลขนาดเล็กที่ทำไว้บนคันนาช่วงเริ่มฤดูฝน (หน้า 41) และเมื่อข้าวออกรวงแล้วก็จะประกอบพิธีเซ่นไหว้แม่โพสพเพราะถือว่าช่วงนี้ข้าวกำลังตั้งท้องหรือท้องมาน สิ่งของที่นำมาเซ่นไหว้จะเป็นเหมือนอาหารที่เตรียมไว้สำหรับคนมีครรภ์เช่นอาหารรสเปรี้ยว และผลไม้เช่นส้มและอื่นๆ โดยจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ที่ศาลในนา (หน้า 42) ผีตระกูล(ผีวงศ์) โซ่จะถือฝ่ายแม่ คือในพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวจะแต่งขันห้าซึ่งได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน 5 ชุดพร้อมด้วยสิ่งของและเงินมอบให้พ่อแม่ของเจ้าสาวนำไปไหว้ผีเรือนอันเป็นส่วนหนึ่งของผีวงศ์ แลภายหลังการแต่งงานเจ้าบ่าวจะต้องเป็นสมาชิกผีตระกูลฝ่ายเจ้าสาว ศึ่งความผูกพันของผีวงศ์ของโซ่นั้นจะเห็นได้ในความสัมพันของเครือญาติ(หน้า 45) ซึ่งเรียก “จุ้มผี” เช่นในตำบลกุสุมาลย์มีจุ้มผีหลายแห่งได้แก่ จุ้มผีเฒ่าโก๊ะ จุ้มผีพ่อแก่น จุ้มผีพ่อวิน เป็นต้น ในแต่ละจุ้มผีจะมีผู้สูงอายุซึ่งเรียกว่า “เบียะเจ้าดำ” เป็นหัวหน้าในกลุ่มเครือญาติ เมื่อมีการเซ่นไหว้ผีวงศ์ (หน้า 46) ผีเรือน ตือบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำหน้าที่ดูแลลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ในบ้านมีแต่ความสงบสุขไม่มีภยันอันตรายมากร้ำกราย (หน้า 46) สำหรับข้อห้ามเกี่ยวกับผีเรือน ได้แก่ ห้ามไม่ให้คนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวเข้าไปในห้องนอนเพราะมุมห้องเป็นมุมของผีเรือน หากไม่เชื่อฟังคนในบ้านอาจเดือดร้อนเป็นไข้ไม่สบาย (หน้า 47) งานศพของโซ่ หากมีคนเสียชีวิต ญาติพี่น้องโซ่จะมาช่วยจัดงานศพคนที่จะบอกเป็นคนแรกคือ น้าบ่าวหรือน้องชายของแม่ เมื่อไปบอกก็จะนำดอกไม้ ธูป เทียนไปให้น้าบ่าวด้วยเพื่อนำมาเคารพผู้ตาย เมื่อน้าบ่าวมาถึงก็จะแต่งตัวให้ศพและต่อโลงเพื่อตั้งโลงไว้ที่บ้านเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา (หน้า 94) เมื่อยกศพจากบ้านไปทำพิธีเผาก็จะประกอบพิธี “ซางกมูท” ซึ่งคำว่า “ซาง” แปลว่า “สาง” หรือ ”จัดให้เป็นระเบียบ ” ส่วน “กมูท” หมายถึง”ผี” ความหมายโดยรวมก็คือการประกอบพิธีให้คนตายเป็นระเบียบจึงยกศพไปเผา หากเป็นพิธีศาสนาพุทธ ก็เป็นการสวดอภิธรรม เป็นต้น (หน้า 95) ในช่วงยกโลงศพไปป่าช้า จะนำไม้ไผ่มาทำเป็นแคร่แล้วนิมนต์พระมานั่งบนแคร่หน้าโลงศพคนก็จะช่วยกันยกผลัดกันจนถึงป่าช้าระหว่างนี้ก็จะโปรยข้าวตอกไปตามทาง (หน้า 96) เมื่อมาถึงป่าช้าก็จะตั้งโลงไว้บนกองฟืนแล้วทำพิธีทางศาสนา เมื่อเผาศพเรียบร้อยแล้วญาติพี่น้องก็จะมาเก็บอัฐิผู้ตายไปเก็บไว้ที่กำแพงวัด จากนั้นลูกหลานก็จะทำพิธีเรียกวิญญาณผู้ตายให้กลับมาอยู่ที่บ้านหรือเรียกว่าผีเรือน ซึ่งจะมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน (หน้า 97)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

การรักษาพยาบาล ประเภทของผีที่ทำให้เจ็บป่วยของโซ่ ผีดิบ คือผีที่เมื่อเสียชีวิตแล้วเผาแต่ไม่ได้ทำพิธี “ซางกมูท” (มาจากคำว่า “ซาง” แปลว่า “สางหรือจัดให้เป็นระเบียบ” ส่วน “กมูท” หมายถึง”ผี” สำหรับความหมายโดยรวมก็คือการประกอบพิธีให้คนตายเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้วจึงยกศพไปเผา พิธีนี้ถ้าเป็นพิธีของศาสนาพุทธ ก็จะเป็นการสวดอภิธรรม การชักบังสกุลให้ผู้เสียชีวิต - ดูคำอธิบายที่หน้า 95) เมื่อผีมาหลอกก็อาจทำให้เป็นไข้ไม่สบาย (หน้า 75) ผีสุก คือผี ที่คนเสียชีวิตแล้วได้ทำพิธีซางกมูทแล้วเผา หลังจากเผาแล้วก็ทำพิธีเชิญวิญญาญของผู้ที่ล่วงลับให้มาอยู่ที่บ้าน ผีมูล(ผีตระกูล) คือผีบรรพบุรุษจะอาศัยอยู่ที่เสาบ้าน (หน้า 75) ผีต้อง คือผีที่มารบกวนทำให้เป็นไข้ไม่สบาย ผีมนตร์(ผีเวทมนตร์) คือผีที่ผู้ที่เสียชีวิตแล้วมีเวทมนตร์ ผีมนตร์ชอบไปหลอกหลอนผู้คนและไม่ค่อยจะอยู่บ้านเรือน (หน้า 75) ผีน้ำหรือผีฟ้า คือผีที่ลอยมาตามสายน้ำหรือล่องลอยมาจากที่อื่น ผีสามารถทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย (หน้า 76) ผีคุณ หมายถึงผีที่มาจากอำนาจคุณไสยจากน้ำมือของหมอไสยศาสตร์ ส่งให้มารบกวนจึงทำให้ป่วยกระเสาะกระแสะ ปอบ คือผีที่เป็นทั้งผีและเป็นคนจริงๆ ที่มีลมหายใจ การเป็นปอบมาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น การสืบทายาท การสืบมรดกสิ่งของจากปอบ หรือการเรียนเวทมนตร์ แต่ไม่ทำตามข้อห้ามของครูบาอาจารย์จึงกลายเป็นปอบในที่สุด (หน้า 76) สำหรับการรักษาที่เกิดจากการกระทำของผีเหล่านี้ หมอผีจะรักษาด้วยไสยศาสตร์เพื่อให้รู้ว่าผีชนิดใดทำให้เจ็บป่วย ผีอยากได้อะไร และจะรักษาอาการป่วยอย่างไร (หน้า 76) หมอพื้นบ้าน ที่โซ่นิยมรักษาเมื่อเจ็บป่วย เช่น หมอปล่อง(คำว่า“ปล่อง”แปลว่า”เป่า” ) รักษาผู้ป่วยด้วยเวทมนตร์และวิธีอื่นๆ เช่นรดน้ำมนต์ (หน้า 77) หมอเยา คือหมอที่รักษาผู้ป่วย โดยมีคนดีดพิณ เป่าแคน ประกอบขณะที่หมอทำพิธีรักษา ฯลฯ (หน้า 77)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ผู้ไทย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร “คำผะหยา” เป็นคำร้องโต้ตอบกันของชายหญิง โดยฝ่ายชายก็จะร้องขอความรักจากฝ่ายหญิง ส่วนผู้หญิงถ้าจะรับรักหรือปฏิเสธหากไม่ชอบ ก็จะร้องตอบด้วยคำผะหยา(หน้า 50) การเอ่ยคำผะหยาทุกวันนี้ไม่มีแล้วเพราะเสื่อมความนิยมตามยุคสมัย (หน้า 53) สำหรับตัวอย่างมีดังนี้ คำผะหยาที่ผู้หญิงเอ่ยกับผู้ชาย เช่น หย่าหยับเข้ามาใกล้ เดี๋ยวกีดพวงหลา เจ้าหย่าหยับเข้ามาใกล้ ข้อยยั่นหมาเจ้าเห่า เจ้าหย่าหยับเข้ามาใกล้ ย่านซูเก่าเจ้าฮ้าย (ดูตัวอย่างหน้า 51) คือผู้หญิงบอกผู้ชายเป็นความนัยว่า อย่าเข้ามาใกล้เดี๋ยวแขนจะถูกหลาปั่นฝ้ายหรือไม่เช่นนั้นคนรักเก่าของฝ่ายชายจะมาต่อว่าหรือโกรธฝ่ายหญิง เมื่อผ็ชายได้ฟังก็จะแสดงปฏิภานต่อเป็นคำผะหยา แต่ถ้าหากผู้ชายแสดงความจริงใจมาหาฝ่ายหญิงอยู่ประจำ ผู้หญิงก็จะให้กำลังใจด้วยคำผะหยา เช่น เมื่อฮอดฮั่น เจ้าอย่าต้องตอดุดไม้เหลืองเดอ เจ้าอย่าต้องต่อเพียงคนเกี้ยว เจ้าอย่าเที่ยวไปเว้า ขวัญข้อยโท้เมือง (จากตัวอย่างหน้า 51) ให้เจ้าเมอจีบผ้า ผืนโหลงโฮ้มซ่าง ให้เจ้าเมอจีบผ้า ผืนกว้างห้องเฮือน (หน้า52) หมายถึง กลับไปแล้วขอให้ผู้ชายอย่าสะดุดตอไม้หรือไปหลงรักสาวอื่น นอกจากนี้ก็อย่านินทาว่าร้ายให้ฝ่ายหญิงเสียหาย เมื่อกลับไปก็ให้ไปเตรียมเรือนหอและผ้าห่มไว้รอฝ่ายหญิงด้วย เป็นต้น (หน้า 52) โซ่ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร คำผะหยาของโซ่ที่กล่าวไว้ในงานเขียนเช่นตอนไปสู่ขอทั้งญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็จะร้องคำผะหยาโต้ตอบกันเพื่อให้เกิดความเบิกบานใจ ตัวอย่างเช่น (หน้า 55) ลุงตา (ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง) ค่อนปากคำ ดำปากผี เฮ็ดแนวใด น้าบ่าว(ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย) ไม้ตายกะยังตอ พ่อตายกะยังลูก ลุงตา ฮีตนี้ยังบ่แล้ว น้าบ่าว เข้าสวนผัก ล้กสวนแตง ฮ้อยหนึ่งสองฮ้อยให้เจ้า เสียก่อน กรายนี้จัง ลุงตาพาเข้า เลือดตกยางออก คำโต้ตอบก็จะพูดทีเล่นทีจริงว่า ลุงตา (ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง) เมื่อหนุ่มสาวเขารักกันจะให้ทำยังไง น้าบ่าว(ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย) ต้นไม้ตายยังเหลือตอ หากพ่อแม่ตายไปแล้วก็ ควรมีลูกหลานไว้สืบสกุล ลุงตา ข้าวของที่เอามายังไม่ครบตามประเพณีเลย น้าบ่าว มีเงินสองร้อยก็รับไว้เถอะน่า อย่าให้ต้องใช้กำลัง เลือดตกยางออกกันเลย (ดูตัวอย่างหน้า 55)

Folklore

ผู้ไทย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ตำนานความเป็นมาของผู้ไทย ผู้ไทยเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนเกิดมาจากน้ำเต้า ซึ่งในจดหมายเหตุของผู้ไทยเมืองแถงระบุว่า นานมาแล้วขณะนั้นเมืองยังเป็นพื้นที่ป่าเขาและท้องทุ่งกว้างยังไม่มีคนมาสร้างบ้านเมือง ตอนนั้นมีเทวดาพี่น้อง 5 องค์ ได้ปรึกษากันว่าจะไปจุติที่โลกมนุษย์ เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงเดินทางลงจากสวรรค์มาพร้อมกับนางฟ้า 5 องค์ โดยเดินทางมาโลกด้วยผลน้ำเต้าปุง เมื่อมาถึงโลกน้ำเต้าก็ตกลงที่บริเวณภูเขาทางทิศตะวันออกของเมืองแถง (หน้า 8) เมื่อมาถึงเทวดาและนางฟ้าเหล่านั้นก็กลายเป็นคนชาติพันธุ์ต่างๆ คือ คนที่ออกมาคนแรกเป็นข่าแจะ ผู้ไทยนำออกมาเป็นที่ 2 ลาวพุงขาวออกมาที่ 3 ฮ่อออกมาเป็นที่ 4 และคนที่ 5 เป็นแกว รวมทั้งหมดชายหญิงมี 10 คน จำนวน 5 แซ่ เมื่อออกมาแล้วก็แยกย้ายไปสร้างบ้านเมืองของตน (หน้า 9) การละเล่นของผู้ไทย จะเล่นระหว่างจัดพิธีศพซึ่งประกอบด้วยเกมต่างๆ ดังนี้ “ เกมหมากถอด“ มีลักษณะใกล้เคียงกับเกมจับไม้สั้นไม้ยาวแต่จะเปลี่ยนวิธีเล่นโดยจะให้ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงไปจับไม้จากมือผู้เล่นอีกฝ่าย ส่วนวิธีทำโทษผู้แพ้จะถูกไล่ตี (หน้า 98) ซึ่งผู้ชายก็มักฉวยโอกาสสัมผัสเนื้อตัวของผู้หญิง (หน้า 99) “ เกมหมากเก็บหรือหมากหอย 5 ก้อน“ การเล่นจะใช้ก้อนหินที่ก้อนเท่าๆ กันผู้เล่นจะเล่นโดยเก็บก้อนหินหนึ่งก้อนแล้วจะโยนหนึ่งก้อนเล่นจนเก็บครบ 5 ก้อน หากเก็บไม่ครบก็จะแพ้ (หน้า 99) “เกมหมากเสียดพลูยา” คือเกมทดสอบไหวพริบ การเล่นจะเตรียมสิ่งต่างๆสมมุติว่าเป็นของ 4 อย่างได้แก่ หมาก เสียดหรือสีเสียด พลูและยา การเล่นจะบอกสิ่งของอย่างหนึ่งแต่จะชี้ไปที่ชิ้นอื่น หากผู้ถูกทดสอบหลงชี้ตามคำที่บอกก็จะถือว่าแพ้และจะถูกตีเป็นการลงโทษ ส่วนการละเล่นอื่นๆ ที่กล่าวถึงในงานศพได้แก่การนำสีหรือเขม่าไฟที่ติดหม้อข้าวมาทาที่หน้าหรืออวัยวะส่วนอื่นของคนที่หลับเพื่อความสนุกสนานนอกจากนี้ยังมีการเล่นพนัน เป็นต้น (หน้า 99) โซ่ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร นิทานสาเหตุที่โซ่ไม่มีภาษาเขียน นานมาแล้ว กษัตริย์อ้ายก๊ก (โซ่ถือว่าพวกตนสืบเชื้อสายมาจาก”อ้ายก๊ก” ซึ่งออกมาจากน้ำเต้าปุงเป็นคนแรก-หน้า 62) ได้ประดิษฐ์ตัวอักษรสำหรับสอนประชาชนในเมืองให้อ่านออกเขียนได้ ขณะนั้นได้เกิดสงครามกษัตริย์อ้ายก๊กได้สิ้นพระชนม์ระหว่างทำศึกสงครามและที่โชคไม่เข้าข้างก็คือ สุนัขได้เข้าไปยังพระราชวังของพระองค์แล้วคาบหนังควายที่เขียนตัวหนังสือเหล่านั้นไปกินจนหมดสิ้น ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมาโซ่จึงไม่มีตัวอักษรสำหรับเขียนหนังสือ คงเหลือเพียงภาษาพูดจนถึงทุกวันนี้ (หน้า 22) การละเล่นชองโซ่ “เกมจับไม้สั้นไม้ยาว” เป็นเกมที่เล่นในงานศพ การเล่นก็คือ กรรมกรรมจะซ่อนไม้เอาไว้เท่ากับจำนวนของผู้เล่นทั้งทีมหญิงและทีมชาย ในจำนวนไม้ทั้งหมดจะมีไม้สั้น 1 อันถ้าหากฝ่ายใดจับได้ไม้สั้นก็จะเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายแพ้ก็จะถูกลงโทษเช่นถูกเขกหัวเข่า(หน้า 94) หรือถูกตี ส่วนการละเล่นอื่นเช่น การทาหน้าคนที่นอนหลับในงานศพด้วยดินหม้อหรือสีดำ เพื่อสร้างความสนุกสนานและเชื่อว่าผีคนตายจะจำหน้าไม่ได้อีกด้วย (หน้า 95)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

สาเหตุที่หนุ่มสาวผู้ไทยอำเภอพรรณานิคม และโซ่ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ไม่เอ่ยคำผะหยาในการเกี้ยวพาราสีต่อกันเช่นในอดีต ก็เพราะว่าทุกวันนี้คนหนุ่มสาวหันมาชื่นชอบเพลงไทยสากล และเพลงลูกทุ่ง จึงทำให้การเอ่ยคำผะหยาไม่ได้รับความนิยมจนไม่มีใครร้องคำผะหยาในปัจจุบันอีกแล้ว (หน้า 52) นอกจากนี้เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นผู้ไทยจึงมีเงินซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกเช่น วิทยุ โทรทัศน์ จึงทำให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสฟังเพลงสมัยใหม่ และการพบปะส่วนใหญ่จะพบกันในงานบุญบางครั้งก็มีหนังเร่มาฉายในหมู่บ้านดังนั้นจึงไม่มีใครสนใจเอ่ยคำผะหยา (หน้า 53)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ผู้เขียนได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามจากคำบอกเล่าของผู้ไทย ที่อยู่ในอำเภอพรรณานิคม และโซ่ ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร และหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารต่างๆ (หน้า 4)

Map/Illustration

ภาพ หอกลาหรือหอธาดา (หน้า 102) การแต่งกายของหญิงชาวโซ่ (หน้า 103) วันเลี้ยงผี (หน้า 104) หมอเยาผู้ไทยกับคนไข้ (หน้า 105) หมอเยา(จ้ำ)ชาวโซ่ (หน้า 106) การเล่นทั่งบั้ง (หน้า 107) แผนที่ จังหวัดสกลนคร (หน้า ค)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 25 ก.ค. 2559
TAG ผู้ไท, โส้, ความเชื่อ, สังคม, ประเพณี, สกลนคร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง