สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กะเหรี่ยง,ขมุ,ลาหู่,ม้ง,เมี่ยน,ลีซู,ลัวะ,วัฒนธรรม,ข้อห้าม
Author สมภพ ลาชโรจน์ และคณะ
Title ชาวเขา ความเข้าใจกับชนเผ่าต่างวัฒนธรรมชาวเขา
Document Type เอกสารวิชาการ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, ลัวะ (มัล ปรัย) ลัวะมัล ไปร ลัวะปรัย, ลีซู, ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, ม้ง, ปกาเกอะญอ, กำมุ ตะมอย, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 171 Year 2541
Source สถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
Abstract

หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคตินิยมประเพณีและความเชื่อของชนเผ่าต่างๆ 11 เผ่า จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชาวเขาโดยตรงของคณะผู้เขียน ทั้งในเรื่องบุคคลสำคัญในชุมชน กลุ่มเครือญาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้าน มารยาทต่างๆ ข้อห้ามสำคัญ ตลอดจนข้อนิยม เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ทำงานเกี่ยวกับชาวเขาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจในชีวิตที่มีความหลากหลายของของชนเผ่าต่างๆที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

Focus

รวบรวมความรู้ในด้านวัฒนธรรมประเพณีจากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่หมู่บ้านชาวเขา เพื่อเป็นคู่มือในการปฏิบัติงานในชุมชนชาวเขา (คำนำ)

Theoretical Issues

คณะผู้เขียนใช้ประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่ชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ 11 เผ่า ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับคตินิยมประเพณีและความเชื่อ

Ethnic Group in the Focus

กะเหรี่ยงโป กะเหรี่ยงสะกอ ขมุ ถิ่น มูเซอเฌเล มูเซอแดง แม้ว เย้า ลีซอ ลัวะ อีก้อ

Language and Linguistic Affiliations

มูเซอเฌเลมีภาษาของตนเอง สามารถสื่อสารกับกลุ่มย่อยๆได้ ผู้ชายส่วนใหญ่พูดภาษาไทยได้แต่อาจมีปัญหาเรื่องการเรียบเรียงประโยค (หน้า 87)

Study Period (Data Collection)

ไม่พบข้อมูล

History of the Group and Community

แม้วมีถิ่นฐานเดิมในประเทศจีน มีหลายสาเหตุที่อพยพมาไทย ประการหนึ่งที่สำคัญคือ การหลบหนีชนชั้นปกครองของจีนในสมัยนั้นซึ่งมีการสู้รบระหว่างแม้วกับรัฐบาลจีนอย่างยาวนาน อีกทั้งแม้วได้เป็นเชลยของจีนในหลายครั้ง (หน้า 109) เย้าแต่เดิมอาศัยอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศจีนเมื่อประมาณสองพันกว่าปี โดยเย้ากลุ่มแรกอพยพมาประเทศไทยเมื่อประมาณ 145 ปีมาแล้ว (หน้า 121)

Settlement Pattern

การตั้งบ้านเรือนของกะเหรี่ยงโปภาคกลางจะตั้งบ้านเรือนตามความสัมพันธ์ของเครือญาติและความเชื่อ กล่าวคือ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องจะไม่ตั้งบ้านเรือนในลักษณะที่ข่มผู้ที่มีศักดิ์เป็นพี่ และกลุ่มความเชื่อต่างกันจะไม่ตั้งบ้านเรือนในลักษณะหนีบกัน (หน้า 19)

Demography

ข้อมูลการสำรวจประชากรชาวเขาโดยศูนย์พัฒนาชาวเขาประจำจังหวัดพบว่ามีกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนบนจนถึงภาคกลาง รวมทั้งสิ้น 15 จังหวัด พบว่ามี หมู่บ้าน 2,120 หมู่บ้าน ประชากร 292,814 คน (หน้า 32)

Economy

กะเหรี่ยงทำการเกษตรเพื่อยังชีพ โดยการปลูกข้าวทั้งข้าวนาและข้าวไร่เป็นหัวใจสำคัญของการเกษตร การปลูกพริกเป็นที่นิยมด้วยเนื่องจากพริกและเกลือเป็นเครื่องปรุงหลักในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีการปลูกผักต่างๆในไร่ข้าว เช่น ผักกาด ผักชี ข้าวโพด ถั่ว งา และแตงกวากะเหรี่ยง เป็นต้น ในส่วนของพืชเศรษฐกิจนั้นชาวกะเหรี่ยงไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร (หน้า 11) กะเหรี่ยงโปภาคกลางมีการทำไร่แบบหมุนเวียนใช้เพาะปลูกเพียงฤดูกาลเดียว แล้วปล่อยให้พักฟื้นเป็นป่าทุติยภูมิ โดยมีข้าวไร่และพริกเป็นพืชหลัก ในอดีตมีการถือครองที่ดินเป็นส่วนรวมแต่ในปัจจุบันระบบการปกครองที่ดินเริ่มเปลี่ยนแปลงไป (หน้า25-26) กะเหรี่ยงสะกอปลูกข้าวและพืชสวนครัวปนอยู่กับข้าวซึ่งให้ผลผลิตไม่พร้อมกันได้แก่ ข้าวโพด ถั่วชนิดต่างๆ แตง ฟักเขียว ฟักทอง เผือก มันชนิดต่างๆพริกและงา เป็นต้น (หน้า 45) ขมุจะให้ความสำคัญกับการปลูกพืชเพื่อบริโภคเป็นอันดับแรก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดและผักสวนครัว หากมีแรงงานเหลือ จะปลูกพืชเศรษฐกิจได้แก่ ข้าวโพดและฝ้าย (หน้า 60) ถิ่นทำไร่เป็นหลักโดยเฉพาะไร่ข้าว นอกจากนี้ยังมีการปลูกข้าวโพดเหลืองไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดขาวไว้บริโภค มีการปลูกพืชผักควบคู่ไปกับการปลูกข้าวไร่โดยผสมเมล็ดพันธุ์พืชผักต่างๆลงในเมล็ดพันธุ์ข้าว แต่ในบางกลุ่มจะปลูกพืชผักแยกออกมาไว้ริมไร่ข้าวไม่ปลูกผสมไปกับข้าว นอกจากนี้ในปัจจุบันชาวถิ่นนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้นเช่น ฝ้าย ข้าวโพด ขิง กาแฟ เป็นต้น แต่ในการปลูกพืชเหล่านี้ทำให้เป็นหนี้สินมากขึ้นจากการกู้ยืมเงินมาลงทุน การเลี้ยงสัตว์นั้นโดยทั่วไปจะเลี้ยงไก่ หมู เพื่อบริโภคและประกอบพิธีกรรมต่างๆ ส่วนวัวและควายเลี้ยงไว้เพื่อขายโดยมีผู้นำวัวและควายมาให้ชาวถิ่นเลี้ยงโดยแบ่งลูกที่เกิดมาครึ่งหนึ่งแก่ชาวถิ่น การเก็บของป่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างรายได้ให้ชาวถิ่น เช่น การเก็บหญ้าคามามุงหลังคา เก็บใบเมี่ยงป่ามาหมัก เป็นต้น (หน้า 78-79) เย้ามีการปลูกพืชต่างๆได้แก่ ข้าวโพด ข้าว แตงกวา มะเขือ ฟักทอง บวบในไร่ และปลูกพืชสวนครัวไว้บริเวณบ้าน นอกจากนี้ยังมีการปลูกไม้ผลยืนต้นเพื่อขายด้วย สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เย้ามีการเลี้ยงหมูและไก่เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม อีกทั้งมีการเลี้ยง ม้า วัวและควาย (หน้า 127) ลัวะทำการเกษตรเพื่อยังชีพโดยการทำไร่เลื่อนลอย ข้าวไร่เป็นอาหารหลัก สำหรับการทำไร่ข้าวแบบดั้งเดิมนั้นจะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ย (หน้า 158)

Social Organization

กลุ่มสังคมในกะเหรี่ยงโปจะนับถือผีฝ่ายสกุลมารดา โดยมีหญิง ชราเป็นหัวหน้าสายสกุลผีฝ่ายมารดา แม่เรือนซึ่งเป็นเจ้าของบ้านจะมีอำนาจในการตัดสินใจต่างๆภายในบ้าน ดังนั้นกลุ่มสตรีแม่บ้านจึงมีอิทธิพลเป็นอย่างยิ่ง (หน้า 2-3) นอกจากนี้กลุ่มผู้นำทางศาสนามีบทบาทต่อชุมชนเช่นกัน โดยกะเหรี่ยงโปสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธและกลุ่มนับถือผี กลุ่มกะเหรี่ยงโปที่นับถือพระพุทธศาสนา จะนับถือบุคคลสำคัญคือ พระสงฆ์ซึ่งถือเป็นผู้ให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ชาวบ้าน นับถือผู้นำพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนฤาษีและเจ้าวัดหรือผู้นำพิธีกรรมทางด้านความเชื่อ ส่วนกลุ่มโปที่นับถือผี จะเคารพนับถือหมอผี หรือ เซี่ย เก็ง คู ซึ่งเป็นผู้ชายที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต สุขภาพ และการลงโทษความผิดต่างๆของคนในชุมชน นอกจากนี้กะเหรี่ยงโปทั้งสองกลุ่มได้นับถือกลุ่มอาวุโสซึ่งเป็นคนอายุมากในหมู่บ้าน โดยกลุ่มอาวุโสจะเป็นผู้กำหนด วินิจฉัยและตัดสินในบางเรื่องของการประชุม (หน้า1-2) กะเหรี่ยงภาคกลางมีกลุ่มตระกูลต่างๆซึ่งนามสกุลเป็นสิ่งใหม่ที่รับเข้ามาจึงไม่สามารถแบ่งแยกเครือญาติได้โดยใช้นามสกุล มีการนับญาติทั้งฝ่ายบิดาและมารดา ซึ่งห้ามแต่งงานกันในหมู่เครือญาติ (หน้า 19) กะเหรี่ยงสะกอนับถือผีฝ่ายแม่ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปนับถือศาสนาพุทธและคริสต์แล้วก็ตาม แต่กลุ่มเครือญาติยังคงมีความสัมพันธ์อยู่ในลักษณะเดิม มีการนับลำดับเครือญาติอันมีผลต่อการเลือกคู่ครอง (หน้า 39) -ถิ่นมีการแบ่งตระกูลตามผีบรรพบุรุษ (หน้า 67) เกิดกลุ่มเครือญาติหรือสายตระกูลซึ่งเป็นกลุ่มพื้นฐานของสังคมซึ่งช่วยกันประกอบกิจกรรมต่างๆ และเนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้สืบทอดตระกูล ดังนั้นสตรีจึงมีบทบาทมากในสังคมชาวถิ่น ผู้ชายเมื่อแต่งงานแล้วจะต้องปฏิบัติตามจารีตประเพณีของตระกูลฝ่ายหญิง (หน้า 68) ในพิธีแต่งงานนั้นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้จัดเตรียมอาหารและสุราสำหรับต้อนรับแขก โดยแขกสามารถช่วยเหลือเจ้าภาพได้โดยการช่วยออกเงิน (หน้า74) มูเซอเฌเลนอกจากการนับญาติฝ่ายบิดามารดาแล้ว ยังมีการนับญาติกับเขยและสะใภ้ ด้วย ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในกลุ่มเครือญาติ (หน้า 88-89) มูเซอแดง แบ่งกลุ่มในชุมชนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้นำ มีฐานะทางสังคมดี มีกลุ่มเครือญาติที่เข้มแข็ง มีเครือญาติมากทั้งฝ่ายบิดามารดา กลุ่มผู้มีฐานะปานกลาง มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมปานกลาง มักตามผู้นำ มีเครือญาติไม่มาก และกลุ่มรับจ้าง เป็นกลุ่มยากจน รับจ้างทำงานให้กลุ่มคนสองกลุ่มแรก มีเครือญาติน้อยทั้งฝ่ายบิดาและมารดา (หน้า 103) แม้วมีระบบเครือญาติสืบทอดแซ่สกุลทางฝ่ายบิดา ความสัมพันธ์ทางเครือญาติอธิบายโดยอาศัยคำศัพท์ 3 คำ ได้แก่ คนแซ่เดียวกัน หรือ ตั้วลู้เซ่ง หมายถึงคนที่มีแซ่เดียวกัน อาจไม่ได้เป็นญาติกันโดยตรง มีข้อกำหนดว่าคนแซ่เดียวกันจะแต่งงานกันไม่ได้ ลูกพี่ลูกน้องหรือกื๋อตี้ เป็นคนกลุ่มแซ่เดียวกันและเป็นญาติพี่น้องกัน ความสัมพันธ์ใกล้ชิดขึ้น สามารถปรึกษากันได้ แต่บางกลุ่มในระดับนี้อาจทำพิธีกรรมบางอย่างร่วมกันไม่ได้ เพราะนับถือผีบรรพบุรุษไม่เหมือนกัน นับถือผีเดียวกันหรือ ตั้วตู่กลั๊ง เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากที่สุด ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเต็มที่และจริงใจ (หน้า 110-111) เย้านับถือเครือญาติตามสายแซ่สกุล ในแต่ละกลุ่มแซ่จะมีการแบ่งแซ่ย่อยโดยกลุ่มแซ่ย่อยนี้ถือเป็นญาติสายตรง ส่วนญาติที่สนิทกันเท่านั้นที่จะนับถือผีบรรพบุรุษร่วมกัน (หน้า 122) ลีซอมีแซ่สกุลประมาณ 30 แซ่สกุล ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากจีนแท้ๆเพียง 5 สกุล ส่วนแซ่สกุลเพิ่มเติมนี้มาจากหญิงลีซอแต่งงานกับเผ่าอื่นๆและยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านลีซอ หญิงชายที่มีแซ่สกุลเดียวกัน นับถือผีตัวเดียวกันจะแต่งงานหรือเกี้ยวพาราสีกันไม่ได้ (หน้า 134-136) ลัวะ แบ่งกลุ่มเครือญาติออกเป็น 2 ระดับ คือ เครือญาติระดับใหญ่ หรือเจอหรือยวง มีความหมายเทียบเท่าแซ่ของม้ง โดยแต่ละยวงจะมีหัวหน้ายวงเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรม และเอียปุก เป็นกลุ่มเครือญาติที่มีความใกล้ชิดกัน ประกอบด้วยเครือญาติ 4 ชั่วรุ่น (หน้า 148-149) อีก้อประกอบด้วยกลุ่มเครือญาติตั้งแต่ 5-10 สกุล (หน้า 164)

Political Organization

ผู้นำทางด้านการปกครองของกะเหรี่ยงโปภาคกลางคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งชาวบ้านให้การยอมรับในอำนาจการปกครอง (หน้า 15) กะเหรี่ยงสะกอส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนที่ถูกต้องตามกฎหมายจึงมีผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้ใหญ่บ้านต้องเป็นผู้ที่สามารถฟังและพูดภาษาไทยได้ อย่างไรก็ตามผู้นำประเพณียังคงมีอิทธิพลมากกว่าผู้นำอย่างเป็นทางการ (หน้า 36-37) ขมุแต่เดิมนั้นมีกลุ่มผู้อาวุโสในแต่ละตระกูลเป็นผู้มีอำนาจดูชุมชน ในปัจจุบันเมื่อการปกครองจากส่วนกลางเข้าถึง ผู้ใหญ่บ้านจึงเป็นผู้มีบทบาทในการปกครอง (หน้า 53) มูเซอเฌเล มีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน โดยบุคคลเหล่านี้ทำหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายปกครองโดยอิงผู้นำตามจารีตและกลุ่มผู้นำเครือญาติ (หน้า 88) หัวหน้าหรือผู้ใหญ่บ้านมูเซอ มีอำนาจในการปกครองที่เกี่ยวกับตำบล อำเภอ ตลอดจนองค์กรจากภายนอก ขณะที่พ่อเฒ่าและแม่เฒ่ามีอำนาจชี้นำกิจกรรมตามจารีตประเพณีภายในหมู่บ้าน (หน้า 102) แม้วมีผู้นำทางการเมือง คือ หัวหน้าหมู่บ้าน ผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้าน คณะกรรมการประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกในชุมชน และได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่ดูแลชุมชนให้เป็นไปตามกฎของรัฐ (หน้า 109) เย้าจะมีหัวหน้าบ้านในทุกๆหมู่บ้าน โดยทั่วไปมักเป็นคนจากกลุ่มแซ่สกุลที่ใหญ่ที่สุด เน้นบุคคลที่อ่านออกและเขียนภาษาไทยได้ ซึ่งหัวหน้าบ้านนี้อาจได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการหรือไม่ได้รับการแต่งตั้ง แต่ทำหน้าที่ในการปกครอง ติดต่อประสานงาน ตลอดจนจัดกิจกรรมพิธีกรรมต่างๆของหมู่บ้าน (หน้า 121) ลีซอมีผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งได้แก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน หรือสารวัตรกำนัน (หน้า 130-131) ลัวะ มีผู้นำทางการที่ได้รับการแต่งตั้งได้แก่ กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน (หน้า 145) อีก้อ มีหัวหน้าหมู่บ้าน ในหมู่บ้านที่ไม่มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการ หัวหน้าหมู่บ้านจะรับหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านไปด้วย แต่ถึงอย่างไรหากหมู่บ้านนั้นมีผู้ใหญ่บ้านจากการแต่งตั้งหัวหน้าหมู่บ้านก็ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ (หน้า 164)

Belief System

ศาสนาและความเชื่อแบ่งกะเหรี่ยงโปออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนับถือศาสนาพุทธและนับถือผี โดยกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาอาศัยอยู่ในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เคร่งครัดและเคารพศรัทธาในพระสงฆ์และผู้เป็นประธานในพิธีทางศาสนา ตลอดจนฤาษีผู้ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผู้นำชาวบ้านที่รักษาศีลพบกับพระศรีอาริยเมตไตร และเจ้าวัดซึ่งเป็นผู้นำพิธีกรรมความเชื่อ ส่วนกลุ่มโปที่นับถือผีอาศัยอยู่ภาคเหนือและบนภูเขา(หน้า 1-2) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านได้แก่ วัด ศาลผีประจำหมู่บ้าน และสถานที่อื่นๆที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของเทวดา นอกจากนี้บ้านของหัวหน้าผีฝ่ายมารดาจะมีการเลี้ยงผีหรือผีใหญ่ ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆจะมีการทำเครื่องหมายตะเล หรือตะเหลว เพื่อกำหนดเขตหวงห้าม เพื่อกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพิธี ส่วนภายในบ้านนั้นมีการกำหนดบริเวณมุมบ้านซึ่งเป็นที่นอนของพ่อแม่ เป็นบริเวณทำพิธีเลี้ยงไซบัง-ไซมึง หรือผีบ้านผีเรือน และบริเวณเตาไฟที่กลุ่มโปให้ความเคารพเจ้าแม่เตาไฟ (หน้า 3-4) ในพิธีศพในป่าช้าจะมีเพียงชายเท่านั้นที่เข้าร่วม เพราะเชื่อว่าหากหญิงเข้าร่วมอาจถูกผีเข้าทำร้ายและสิงทำให้เจ็บป่วยและขวัญเสียได้ พิธีกรรมบางอย่างเช่นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษนั้นจะอนุญาตให้ผู้ที่นับถือผีสกุลมารดาเดียวกันเท่านั้นเข้าร่วมพิธี สำหรับกะเหรี่ยงโปบางพื้นที่ในพิธีกรรมบางอย่างอาจมีการเชิญเจ้าหน้าที่เข้าร่วมขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหัวหน้าครอบครัว หมอผี และอื่นๆ (หน้า7) นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในด้านอื่นๆ เช่น ความเชื่อเรื่องชู้สาวว่าเป็นเรื่องที่จะนำมาซึ่งความหายนะของหมู่บ้าน (หน้า 8) กะเหรี่ยงโปภาคกลางได้ผสมผสานศาสนาพุทธร่วมกับการนับถือผี โดยได้แบบอย่างการนับถือศาสนาพุทธจากมอญตั้งแต่ครั้งอยู่ในพม่า มีการนับถือผีประจำสายตระกูล และทำพิธีเซ่นไหว้ที่สืบทอดกันมาอย่างเคร่งครัด โดยมีการคัดเลือกต้นไม้ใหญ่บริเวณใกล้ๆหมู่บ้านเป็นสถานที่เซ่นไหว้ผีประจำตระกูล และเนื่องจากประเพณีที่เคร่งครัดของการนับถือผีประจำสายตระกูล ทำให้เกิดกลุ่มนับถือลัทธิเจ้าวัดวีม่อง ซึ่งน้ำต้มสุกเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีข้อห้ามกินของดิบทุกชนิด มีเจ้าวัดหรือ โบงคู๊ เป็นปูชนียบุคคลที่รักษาศีล 5ในพระพุทธศาสนานำประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่นทำบุญใหญ่ปีละ 1 ครั้งที่ศาลาบริเวณหมู่บ้าน (หน้า16-17,20) นอกจากนี้ยังมีลัทธิเจ้าวัดด้ายเหลือง ซึ่งเป็นลัทธิใหม่ ยึดเอาพระแม่ธรณีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมี โกร่ง หรือมูลดินที่ก่อเป็นรูปเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ ยึดถือประเพณีตามแบบแผนที่กำหนดขึ้นมา ร่วมกับ ศีลห้าในศาสนาพุทธ มีการทำบุญใหญ่ประจำปีเป็นการไหว้เจดีย์ เรียกว่า มาโบงเคิ้งสะร่อง ซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น คู่บ่าวสาวไหว้เจดีย์หลังแต่งงาน หรือพ่อแม่มาไหว้ให้ลูกที่เกิดใหม่แข็งแรง (หน้า 18,20) พิธีกรรมด้านการเกษตรประกอบด้วย พิธีตั้งขวัญไร่ข้าวหรือ ซี่ลองสะเดิ่งเขาะกราพอง ดลบันดาลให้ข้าวงามและเป็นการปกปักรักษาข้าวในไร่ มักก่อนปลูกข้าว พิธีทำบุญแม่โพสพ เป็นพิธีรับขวัญข้าวที่เก็บเกี่ยวได้เข้ายุ้งฉาง พิธีตัดเวรตัดกรรมหรือ ไซ่เว เป็นการทำบุญให้แก่สัตว์ต่างๆที่ต้องตายในระหว่างฟันไร่ และพิธีมัดมือควายหรือ คายปะนาจุ๊ง เป็นพิธีรำลึกถึงบุญคุณของแรงงานวัวควายในการผลิตข้าวแก่มนุษย์(หน้า 26) นอกจากพิธีกรรมด้านการเกษตรแล้วยังมีพิธีสาบาน หรือ แช่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีต่อหน้าโกร่ง มีเจ้าวัดของกลุ่มด้ายเหลืองเป็นผู้ประกอบพิธี กระทำใน 2 ลักษณะคือ การสาบานโดยมีคู่กรณี และการสาบานโดยไม่มีคู่กรณี ลักษณะที่มีคู่กรณีเป็นการสาบานของบุคคล 2 ฝ่ายในเรื่องเดียวกันแต่มีความเห็นต่างกัน หรือโจทย์กับจำเลย ส่วนลักษณะไม่มีคู่กรณีเป็นการสาบานเพื่อยืนยันเจตจำนงของตนในเรื่องต่างๆ (หน้า 30-31) กะเหรี่ยงสะกอนับถือผีเจ้าที่เจ้าทางและวิญญาณบรรพบุรุษ มี ฮีโข่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเจ้าที่เจ้าทางหรือฮีกจ่า ปีละ 2 ครั้ง โดยฮีโข่จะประกอบพิธีเลี้ยงผีเป็นหลังคาเรือนแรก ตามความเชื่อหากฮีโข่ตายลูกชายจะเป็นผู้รับตำแหน่งสืบทอดต่อและต้องมีการย้ายหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันจะทำการรื้อครัวแล้วสร้างใหม่เป็นการถือเคล็ดเท่านั้น (หน้า 34-35) สำหรับวิญญาณบรรพบุรุษนั้นมียายหรือยายทวดซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าหญิงแม่เรือน มีหน้าที่เลี้ยงผีหรือทำบุญแก่บรรพบุรุษเพื่อให้คุ้มครองคนในครอบครัว (หน้า 35-36) ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนจากการนับถือวิญญาณไปนับถือศาสนาพุทธและคริสต์ (หน้า 37) ชาวกะเหรี่ยงสะกอเชื่อเรื่องบาปบุญ โดยผู้ที่กระทำความดีจะมีเจ้าของหมู่บ้านและวิญญาณบรรพบุรุษคุ้มครอง สำหรับเรื่องบาปนั้นหากมีผู้ใดกระทำความผิด สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะลงโทษใครก็ได้หรืออาจลงโทษที่สัตว์เลี้ยงจึงต้องมีพิธีขอขมา (หน้า 40-41) ชุมชนชาวขมุมีหมอผีอยู่หลายประเภทได้แก่ ขะจ้ำ ซึ่งมักเป็นผู้อาวุโสในแต่ละตระกูล มีความสำคัญที่สุด ประกอบพิธีที่สำคัญของชุมชน เช่น พิธีเซ่นไหว้ผีหลวง ผีตระกูล และพิธีปีใหม่ เป็นต้น หมอเซาะเมื่อเป็นหมอผีเสี่ยงทายทั้งเสี่ยงทายตั้งชื่อเด็ก เสี่ยงทายเลือกพื้นที่สร้างบ้าน เสี่ยงทายเลือกพื้นที่ทำไร่ ตลอดจนการเสี่ยงทายหาสาเหตุการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต โดยพิธีเสี่ยงทายใช้ ขันตั้งซึ่งเป็นภาชนะจักรสาน ภายในบรรจุข้าวสาร ดอกไม้และเทียน หมอขวัญทำหน้าที่รักษาขวัญและเรียกขวัญแก่ผู้เจ็บป่วยตลอดจนขวัญข้าว ขวัญยุ้งข้าว ขวัญสัตว์เลี้ยง หมอผีเป็นผู้สื่อสารผี เช่น ผีไร่ ผีเจ้าที่ ผีป่า ผีโป่ง มีการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีโดยใช้สุนัข ไก่ และหมูเป็นของเซ่นไหว้ และหมอคาถาเป็นหมอผีที่ใช้คาถาอาคมในการแก้คุณไสย ต่อกระดูก แก้พิษแมลงและงู ตลอดจนช่วยให้คลอดบุตรง่าย (หน้า 53-55) ศาลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านได้แก่ ศาลผีหลวง มีความสำคัญสูงสุด ตั้งใกล้ชายป่า และห้ามเข้าไปในบริเวณศาลยกเว้นมีการประกอบพิธีกรรม ศาลผีประจำหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าช่วยป้องกันผีป่าและความชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน และศาลผีประจำตระกูลตั้งอยู่บริเวณบ้านผู้อาวุโสประจำตระกูล (หน้า 55-56) ในการประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีหลวงนั้นจะกระทำหลังจากทุกครัวเรือนในหมู่บ้านเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ โดยทั่วไปจะประกอบพิธีในเดือนมกราคม การเซ่นไหว้ผีหลวงนี้เป็นการขอบคุณผีหลวงที่ปกปักรักษาคนในหมู่บ้านและทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเจริญงอกงามดี นอกจากนี้การเซ่นไหว้ผีหลวงจะกระทำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นเช่น การจัดงานรื่นเริงในหมู่บ้าน การสร้างศาลา สะพาน และการที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเป็นเวลานาน ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ผิดไปจากชีวิตประจำวัน (หน้า 57-58) พิธีเซ่นไหว้ผีประจำตระกูล เป็นพิธีที่สำคัญของชาวขมุ โดยผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องเป็นสมาชิกในตระกูลเท่านั้น โดยมักประกอบพิธีนี้ในช่วงปีใหม่ซึ่งตรงกับตรุษสงกรานต์ของไทย การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษนี้เพื่อให้คุ้มครองคนในตระกูล และเป็นการบอกกล่าวผีบรรพบุรุษเมื่อมีเด็กเกิดใหม่หรือมีคนป่วย (หน้า 58) ในช่วงปีใหม่จะมีงานรื่นเริงและพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีส่งเคราะห์หมู่บ้าน เพื่อส่งเคราะห์ร้ายและสิ่งอัปมงคลออกไปนอกหมู่บ้าน การประกอบพิธีจะใช้ สะตวง ซึ่งเป็นกระบะสี่เหลี่ยม โดยทุกครัวเรือนจะปั้นดินเหนียวเป็นรูปคนและสัตว์เลี้ยงตามจำนวนคนและสัตว์ในครัวเรือนแล้วใส่ลงไปในกระบะพร้อมดอกไม้เทียนขาวและกล้วย จากนั้นขะจ้ำจะนำสะตวงวางไว้กลางหมู่บ้าน ชาวบ้านในหมู่บ้านจะล้อมวงรอบสะตวง และกล่าวคาถาไล่ความอัปมงคลเคราะห์ร้าย จากนั้นจะหามสะตวงไปทิ้งนอกหมู่บ้าน พิธีเซ่นไหว้ผีไร่ จะทำในไร่ข้าว แต่จะไม่ทำในพืชเศรษฐกิจเช่น ข้าวโพด ฝ้าย หรือสวนผลไม้ โดยพิธีกรรมจะทำ 4 ครั้ง ครั้งแรกทำในช่วงก่อนถางป่า เพื่อเป็นการขออนุญาตและมีการเสี่ยงทายว่าพื้นที่นั้นสามารถปลูกพืชได้หรือไม่ ครั้งที่สองจะกระทำก่อนการปลูกข้าวเพื่อให้ข้าวที่ปลูกเจริญงอกงาม ครั้งที่สามเมื่อข้าวออกรวงเพื่อให้ข้าวเต็มรวงและไม่ลีบและครั้งสุดท้ายกระทำเมื่อข้าวสุกเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้เมล็ดจ้าวที่ดี ไม่สูญหายไป(หน้า 58-59) ในการประกอบพิธีเซ่นไหว้นั้นส่วนใหญ่ใช้บายศรีใส่ข้าวน้ำ ธูป สุรา เทียน และดอกไม้ ใช้ไก่ที่มีชีวิตมาฆ่าระหว่างประกอบพิธีกรรมและนำเลือดไก่ทาที่ศาลผีหรือหิ้งผี ส่วนเนื้อไก่นำไปปรุงประกอบอาหารและใส่รวมกับเครื่องเซ่นอื่นในบายศรี เมื่อประกอบพิธีเสร็จแล้วจะนำอาหารและสุราที่เซ่นไหว้มาแบ่งกันกิน (หน้า 61) ถิ่นมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์และผี หมอผีในสังคมถิ่นมี 2 ประเภทคือ หมอทำขวัญหรือหมอขวัญ เป็นผู้ประกอบพิธีเพื่อหาสาเหตุและรักษาการเจ็บป่วย รวมไปถึงการทำพิธีเลี้ยงผีและการทำขวัญแก่ผู้ป่วย และหมอผีไร่หรือหมอแซ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในไร่ ทั้งในการเลือกไร่ การเลี้ยงผีไร่ และการทำนายการเกิดภัยพิบัติต่างๆ (หน้า 67-68) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านได้แก่ หิ้งผีหมู่บ้านหรือปรองงวล ซึ่งชาวถิ่นเชื่อว่า เป็นศูนย์รวมผีของหมู่บ้าน ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ชาวถิ่นจะมาใช้ปรองงวลเพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยหิ้งผีหมู่บ้านนี้จะอยู่ที่บ้านเรือนเก๊าหรือผู้ถือผีหมู่บ้าน หิ้งผีเรือนหรือปรองเจิงเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษของแต่ละตระกูล หากมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยจะมีการเลี้ยงผีเรือน ขณะเดียวกันหากมีการเลี้ยงผีไร่ เมื่อกลับมาจะมาเลี้ยงผีเรือนเพื่อให้ผีเรือนรับทราบด้วยทุกครั้ง และหากจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานนอกหมู่บ้าน การเลี้ยงผีเรือนชาวถิ่นเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย ศาลผีเจ้าที่หรือปรองเจ้าตี้ ซึ่งมีการสร้างศาลผีเจ้าที่ก่อนการสร้างบ้าน และห้ามเข้าไปยุ่งบริเวณนี้นอกจากการประกอบพิธีกรรมซึ่งมีความเชื่อว่าจะช่วยให้ผลผลิตดี โดยจะมีการออกเงินเพื่อบนผีเจ้าที่ก่อนการเริ่มทำเกษตรกรรม และหลังจากเก็บเกี่ยวจะมีการแก้บน (หน้า 68-69) นอกจากนี้ยังมีพิธีสำคัญอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เช่น พิธีเลิกดอกแดงหรือเลิกกล๊อง กระทำหลังจากที่ทุกครัวเรือนขนข้าวกลับเข้าบ้านหมดแล้ว เพื่อเป็นการแสดงว่ากิจกรรมในไร่ได้สิ้นสุดลง (หน้า 71-72) พิธีมัดขวัญหรือแองท้อง เป็นพิธีเลี้ยงผีเรือนเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น เมื่อหมอผีเลี้ยงผีเรือนเสร็จแล้ว หมอผีจะประกอบพิธีสู่ขวัญโดยใช้สะตวงใส่ดอกไม้ด้ายสีขาวและไก่ 1 ตัว ท่องคาถาไล่ผี (หน้า 72) มูเซอเฌเล มีผู้นำทางศาสนาเรียกว่า ปู่จาร หรือ แก้ลู้ ซึ่งเชื่อว่าสามารถติอดต่อกับเทพเจ้ากื่อซา มูเซอเฌเลถือว่าเทียยนเป็นสื่อใช้ติดต่อกับเทพเจ้ากื่อซา โดยมีแปตูป่าหรือผู้จุดเทียนบูชาเป็นที่ปรึกษาพิธีกรรมให้กับชาวบ้าน หมอผีหรือหนี่ตีซอ ทำหน้าที่ขับไล่วิญญาณและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ (หน้า 87-88) สถานที่ศักดิ์ในชุมชนได้แก่ ลานจะคึ ซึ่งเป็นลานศักดิ์สิทธิ์ใช้เต้นรำบูชาเทพเจ้ากื่อซา มีแทปูหรือเนินดินอยู่ตรงกลางไว้วางเครื่องบูชา ศาลผีประจำหมู่บ้านหรือแชมื่อ เป็นที่สิงสถิตของผีที่คุ้มครองหมู่บ้าน ห้องผีเป็นบ่อปาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในครัวเรือน ตั้งอยู่บริเวณมุมด้านในสุดของตัวบ้าน เป็นที่อยู่ของผีบ้านผีเรือนเป็นบริเวณต้องห้ามของบุคคลภายนอก ในบ้านของผู้นำศาสนาจะมีแคน หน่อกูมา ใช้เป่าติดต่อกับเทพเจ้ากื่อซา (หน้า 89) นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรม เช่น การฟันไร่ การเผาไร่ และการปลูกข้าว จะมีวันที่นิยมตามความเชื่อของมูเซอเฌเล (หน้า 97) มูเซอประมาณสองในสามของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย นับถือศาสนาดั้งเดิมหรือศาสนามูเซอ ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ กลุ่มมูเซอที่นับถือศาสนามูเซอเรียกตนเองว่า แป๊ตู๊ป่า ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์เรียกตนเองว่า บูย๊า โดยกลุ่มแป๊ตู๊ป่าเรียกกลุ่มนี้ว่า เย่ชู กลุ่มแป๊ตู๊ป่าถือวันกรรมหรือวันศีลตรงกับข้างแรม 14-15 ค่ำ ข้างขึ้น 15 ค่ำ ไม่ทำงานนอกหมู่บ้าน พักผ่อนและงดเว้นกิเนื้อสัตว์ กลุ่มบูย๊าถือวันอาทิตย์เป็นวันเข้าโบสถ์และพักผ่อนในหมู่บ้าน โดยบ่ายวันเสาร์บูย๊าจะออกไปล่าสัตว์ป่าและปลาสะสมไว้ในสำหรับกินในวันอาทิตย์ ศาสนาคริสต์แรกเริ่มมีเพียงนิกายโปรเตสแตน์ต่อมามีนิกายอื่นๆเผยแผ่เข้ามาทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทเนืองๆ (หน้า 101-102) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้าน ได้แก่ หิ้งผีในห้องนอน ซึ่งเป็นที่สิงสถิตผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษ จอกไม้ไผ่บรรจุน้ำ วางทางด้านเหนือของเตาไฟถือเป็นน้ำทิพย์ที่ได้จากเทวราชหงื่อซา ตะเหลวเหนือประตูภายในบ้านใช้ป้องกันผีร้ายเข้ามาภายในบ้าน หอเย่เป็นที่ประกอบพิธีกรรมโดยการเต้นรำขอคำอวยพรจากเทวราชหงื่อซา ห้ามตั้งบ้านเรือนเหนืออาศรมนี้ และเป็นสถานที่กินเจจึงห้ามนำเนื้อสัตว์เข้าไป รางน้ำในหมู่บ้านมูเซอแดงเป็นรางไม้ไผ่รางเดียวใช้รวมทั้งหมู่บ้าน เพราะมีความเชื่อว่าจะเกิดการทะเลาะหากใช้น้ำหลายราง อีกทั้งรางน้ำยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และในทุกปีจะมีการบวงสรวงผีน้ำที่รางน้ำด้วย (หน้า 103-104) ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น หากมีดินถล่มหรือฟ้าผ่ากลางไร่ เจ้าของต้องละทิ้งไร่แม้ว่าจะมีธัญพืชขึ้นอยู่เต็ม เพราะจะทำให้มีเคราะห์ร้าย ในช่วงข้าวกำลังออกรวง การเป่าขลุ่ย แล้ลู จะทำให้ข้าวมีเมล็กมาก แก่เร็วและนกป่าไม่รบกวน ส่วนขณะกำลังเก็บเกี่ยวห้ามเป่า แลโต๊ะโก่ เพราะจะเป็นการเรียกงู หรือทำให้ฝนตก(หน้า 106) -แม้วจะมีพื้นที่สำคัญภายในบ้าน 5 แห่ง คือ หิ้งผีกลิ้ง มีลักษณะเป็นแผ่นกระดาษขาวหรือเป็นหิ้งไม้บริเวณฝาบ้านตรงข้ามประตูเข้าออกบ้าน รับความเชื่อมาจากจีนเชื่อว่าทำให้ค้าขายร่ำรวย เสากลางบ้านเป็นเสาทรงเหลี่ยมหรือกลม อยู่บริเวณหน้าห้องนอนของผู้อาวุโสในบ้าน ผีจะอยู่ที่เสานี้ ประตูหน้าบ้านจะมีผีสถิตอยู่ที่บานด้านซ้ายมือที่อยู่แนวเดียวกับเสากลางบ้าน เตาไฟเล็กมีผีสถิตอยู่บริเวณพื้นดินที่ตั้งเตาไฟ เตาไฟจะใช้ประกอบอาหารทั่วไป เชื่อว่าหากลูกสะใภ้เจ็บตาแสดงว่ากระทำผิดต่อผีเตาไฟเล็ก เตาไฟใหญ่ใช้ประกอบอาหารเลี้ยงหมูเป็นหลัก ดังนั้น ผีเตาไฟใหญ่จึงเชื่อว่าช่วยดูแลสัตว์เลี้ยง ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณหมู่บ้านแม้วนั้นมักจะเป็นหินขนาดใหญ่ หน้าผาสูง หรือต้นไม้ใหญ่เพียงอย่างเดียวในแต่ละหมู่บ้าน โดยเชื่อว่ามีเทพสิงสถิตอยู่และจะมีการเซ่นไหว้สถานที่นั้นๆ (หน้า 112-114) -เย้ามีความเชื่อเรื่องผีว่ามีทั้งผีดีและผีร้าย ผีดีจะช่วยปกป้องคุ้มครอง ส่วนผีร้ายจะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ การติดต่อกับผีจะช่วยให้ปกป้องคุ้มครองและควบคุมผีร้ายได้ โดยหมอผีประจำหมู่บ้านหรือ เจี้ยเจียว รับหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ (หน้า 121-122) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านเย้า ได้แก่ ศาลผี หรือ เจีย ตอง มักเป็นภูเขาทางทิศเหนือของหมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงผีท้องถิ่นเพื่อให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข และทำการเกษตรได้ผลดี ผู้หญิงห้ามเข้าในบริเวณศาลผีเด็ดขาด ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้านเย้าได้แก่ หิ้งผี อยู่ติดกับห้องนอนด้านตรงข้ามประตู ถือเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษ ประตูผีหรือ ต้ม แก้ง ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น นำเจ้าสาวเข้าและออกบ้าน นำภาพผีใหญ่เข้าบ้าน ขับสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน เป็นต้น และด้านหลังบ้านซึ่งเย้าถือเป็นที่อยู่ของผีมังกรผู้ใช้น้ำ เย้าจึงไม่นิยมปลูกพืชหรือสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆบริเวณหลังบ้าน (หน้า 122-123) ลีซอที่นับถือผีจะมีหมอเมือง ดูแลศาลผีและประกอบพิธีกรรมต่างๆตามจารีตประเพณี หนี่ผ่าหรือหมอผี เป็นบุคคลผีต้องการจะเข้าสิง บุคคลนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้พิธีกรรม บทสวดและการให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในกรณีต่างๆ อีกทั้งหมอผีจะไม่รับประทานหัวหอมและกระเทียม เพราะผีไม่ชอบ ตลอดจนไม่รับประทานสัตว์ป่าบางชนิด เช่น เสือ หมี ลิง ค่าง ชะนี เป็นต้น (หน้า 132-133,142) สำหรับศาลผีประจำหมู่บ้านหรือ อาปาหมุฮีนั้นเป็นเพิงแหงน หันหน้าไปทางหมู่บ้าน มีหิ้งบูชาผีอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้บริเวณข้างๆศาลผีอาปาหมุฮีมีเสาหรือต้นไม้ติดแผ่นกระดานเป็นที่ตั้งของอิ๊ดะมา และขั่วสะฉือ ซึ่งเป็นพี่และน้องของอาปาหมุฮีตามลำดับ ซึ่งคอยดูแลคนในหมู่บ้านตลอดจนสัตว์เลี้ยงให้ปราศจากอันตราย นอกจากศาลผี 3 ตัวแล้วยังมีศาลผีที่สำคัญๆในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ศาลผีภูเขา เป็นต้น (หน้า 138-139) เนื่องจากลีซอนับถือผี ดังนั้นภายในบ้านจึงมีหิ้งบูชาผี ซึ่งมีถ้วยจีนที่มีชื่อเรียกผีบรรพบุรุษตั้งอยู่ โดยในวันศีลจะมีการเปลี่ยนน้ำในถ้วยถือเป็นการเซ่นไหว้บูชาผีในบ้านเพื่อให้ปกป้องรักษาสมาชิกในบ้าน (หน้า 137) นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงผีดินตามคำแนะนำของหมอผี โดยในขณะทำพิธีห้ามเข้าไปในบ้านเด็ดขาด (หน้า 141) ลัวะหลายหมู่บ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนับถือศาสนาคริสต์ (หน้า 150) ภายในบ้านลัวะมีบริเวณศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เสาของผีชู เสาผีซะมา ซึ่งเป็นผีคู่กันต้องเลี้ยงในวันเดียวกัน มักจะเลี้ยงในกรณีที่มีสมาชิกใหม่ เช่น เด็กเกิดใหม่ แต่งสะใภ้เข้าบ้าน ตลอดจนเมื่อสมาชิกในครัวเรือนเจ็บป่วย ผีตะเลอมัง เป็นผีบรรพบุรุษ มีการเลี้ยงทุกๆปี ช่วยปกป้องคนในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีผีไกย์บงหรือผีบันได ผีเรอชุกหรือผีป้องกันผีร้าย ผีซอาวปหรือผีตายโหงของตระกูล (หน้า 151) นอกจากนี้ยังมีความเชื่อต่างๆในด้านการเกษตร เช่น พิธีเลี้ยงผีเจ้าที่ไร่ เพื่อให้ผีเจ้าที่ไร่ไล่ผีไร่ออกจากบริเวณทำไร่ข้าว และขอให้ช่วยดูแลข้าวไร่ให้เจริญงอกงาม และพิธีเรียกขวัญข้าว (หน้า 159-160) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านอีก้อ ได้แก่ ประตูหมู่บ้านหรือลกข่อ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ทั้งคนนอกเผ่าและคนในเผ่าห้ามแตะต้องยกเว้นวันที่สร้างประตูหมู่บ้านซึ่งทำเพิ่มขึ้นใหม่ในทุกๆปี ศาลผีหรือหมิซา ลอเอ๊อะ ตั้งอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้าน เป็นที่พักอาศัยของผีป่า เป็นการป้องกันผีป่าเข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน ชิงช้าหรือหละซา ตั้งอยู่ใกล้ๆประตูหมู่บ้าน สร้างเพื่อบูชาเทพเจ้าให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ มีการโล้ชิงช้าเพื่อบวงสรวงเทพเจ้าในทุกๆปีช่วง สิงหาคมถึงกันยายน บ่อน้ำประจำหมู่บ้านหรือหละดู่ เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการทำพิธีเลี้ยงผีบ่อน้ำในทุกๆ ปีก่อนลงมือทำไร่ ไม้ไล่ผีหรือหนะซิ หนะจะ ช่อดู เป็นไม้ไผ่ผูกติดกับเสาไม้ไผ่อยู่นอกหมู่บ้าน เชื่อว่าป้องกันผีป่าไม่ให้เข้าหมู่บ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้านได้แก่ ศาลขวัญข้าว สร้างเพื่อเก็บพันธุ์ข้าวที่จะนำไปใช้เข้าพิธีบ่อน้ำ หิ้งผีบรรพบุรุษอยู่เหนือระหว่างห้องผู้หญิงและห้องผู้ชาย ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดภายในบ้าน (หน้า 164-165)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

กะเหรี่ยงโปทางภาคใต้เชื่อถือยา และการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนกะเหรี่ยงทางภาคเหนือจะเชื่อเรื่องผี จึงมีการเซ่นไหว้ผี ฆ่าไก่ ฆ่าหมู เมื่อมีคนเจ็บป่วย ซึ่งหากไม่หายหลังจาก 3 วัน 3 คืนจึงเข้ารับการรักษาแผนปัจจุบัน (หน้า 12) กะเหรี่ยงโปภาคกลางจะแบ่งแยกการรักษาโดยพิจารณาจากสาเหตุ คือ การเจ็บป่วยตามธรรมชาติ รักษาโดยใช้ยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร แต่อาจมีกลุ่มด้ายแดงบางคนดื่มน้ำต้มสุกที่ปลุกเสกน้ำมนต์ในการรักษาโรคบางโรค และ การเจ็บป่วยจากอำนาจเหนือธรรมชาติ แก้ไขโดยการเซ่นไหว้ผีที่ผิดสัญญา (หน้า 26-27) กะเหรี่ยงสะกอใช้สมุนไพรในการรักษาและบำรุงสุขภาพ เช่น สมุนไพรแก้ปวดท้อง ท้องร่วง แก้ไข้แก้ไอ และบำรุงกำลังแก่คนสูงวัยและหญิงตั้งครรภ์ สำหรับการเจ็บป่วยจะมีการฆ่าหมูหรือไก่ เพื่อเซ่นไหว้และเป็นอาหารแก่ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว มีการปักเฉลวเพื่อให้ผู้ป่วยได้พักผ่อน 3 วัน ตลอดจนการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (หน้า 46) ขมุให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบันควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาลแบบประเพณีดั้งเดิม นั่นคือหากทราบว่าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากเชื้อโรคต่างๆจะทำการรักษาพยาบาลโดยยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพร แต่หากไม่แน่ใจจะให้หมอเมื่อทำการเสี่ยงทายสาเหตุของการเจ็บป่วยและเซ่นไหว้ผีเพื่อแลกขวัญของผู้เจ็บป่วยคืนมา (หน้า 60-61) เนื่องจากชาวถิ่นเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากผีเรือนไม่คุ้มครอง ดังนั้นในการเจ็บป่วยเบื้องต้นจะทำพิธีเลี้ยงผีเรือนและผูกข้อมือมัดขวัญเพราะผู้ป่วยขวัญจะไม่อยู่กับตัว แต่หากหมอผีเสี่ยงทายพบว่าผีตนใดทำให้เจ็บป่วยจะทำพิธีเลี้ยงผีตนนั้นควบคู่ไปด้วย หายการรักษาแบบดั้งเดิมไม่หายจะส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ซึ่งในปัจจุบันนี้ชาวถิ่นบางพื้นที่จะพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อนแล้วค่อยกลับมาทำพิธีเลี้ยงผีเรือนและมัดขวัญ (หน้า 79-80) เมื่อเจ็บป่วย มูเซอเฌเลทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ฮาคูเลอ เพื่อให้สิ่งชั่วร้ายออกไป แล้วทำพิธีเรียกขวัญ จู่เจือเลอ เพื่อเรียกขวัญกลับมา และมีการเต้นรำบวงสรวงเทพเจ้ากื่อซาด้วย หากไม่หายจึงจะส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลของรัฐหรือซื้อยามารับประทานเอง (หน้า 97) การรักษาพยาบาลนั้น มูเซอแดงนิยมทำพิธีเรียกขวัญ ผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์และส่งโรงพยาบาล (หน้า 106) เย้ามีการรักษาพยาบาลทั้งตามจารีตประเพณี ได้แก่ การเลี้ยงผี การรักษาด้วยสมุนไพรแก้อาการปวดหลัง เมื่อยเอว ไข้หวัด เบื่ออาหาร และใช้ในสตรีมีน้ำนมน้อย การบีบเส้นเลือดและเจาะเลือดเพื่อลดการปวดเมื่อย การต้มยาสมุนไพรใช้อาบทั้งก่อนและหลังคลอดบุตร และการรักษาพยาบาลสมัยใหม่ที่ใช้ควบคู่กันเมื่ออาการเรื้อรังและไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งเย้านิยมไปรักษาพยาบาลสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น (หน้า 127-128) แต่เดิมเมื่อมีคนเจ็บป่วย ลัวะจะเชิญหมอผีมาทำพิธีเสี่ยงทายหาสาเหตุการเจ็บป่วยว่ามาจากผีตนใด มีการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาพยาบาล แต่ในปัจจุบันลัวะนิยมรักษาด้วยาแผนปัจจุบัน (หน้า 160)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

กะเหรี่ยงโปมีการเต้นเข้าจังหวะและการฟ้อนรำที่คล้ายกับมอญและพม่าเรียกว่ารำตง มีเครื่องดนตรีวงใหญ่เช่น กลอง ระนาด ปี่ ฉิ่งและฉาบ ส่วนกลุ่มที่อยู่บนภูเขาจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปคือ ไม่มีการรำ ส่วนเครื่องดนตรีจะมีเฉพาะ กลองยาวใหญ่ ฉิ่ง และฉาบ แต่ไม่มีระนาดและปี่ สำหรับการร้องเพลงโต้ตอบระหว่างหนุ่ม-สาว ในเชิงเกี้ยวพาราสีนั้น กะเหรี่ยงโปนิยมร้องทั้งในงานรื่นเริง ต่างตรงที่ทางเหนือจะมีการร้องลักษณะนี้ในงานศพด้วย (หน้า 5-6) กะเหรี่ยงสะกอ มีพิณหรือซึง เป็นเครื่องดนตรีถ่ายทอดบทเพลงรัก และเพลงสอนคุณธรรมวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งหาคนเล่นได้ยากแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากมีกีต้าร์เข้ามาในชุมชนกะเหรี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ตามชาวกะเหรี่ยงสะกอไม่มีงานรื่นเริงเป็นกิจวัตร แต่สามารถมีงานรื่นเริงได้เมื่อมีแขกมาเยี่ยมโดยงานรื่นเริงนั้นต้องไม่รบกวนผู้อื่น(หน้า 44) มูเซอเฌเล จะแต่งกายด้วยผ้าสีดำทั้งหญิงและชาย โดยผู้หญิงสวมชุดสีดำยาวตกแต่งด้วยแถบผ้าสีขาวบริเวณแขน สาบ และชายเสื้อด้านหลัง นิยมโกนผมบริเวณหน้าผาก เหมือนยูนนานสวมกางเกงสีดำ (หน้า 87) มูเซอกับตัวอักษรและวิทยาการ: ครั้งหนึ่งเทพเจ้าหงื่อซาได้เรียกชาเผ่าต่างๆขึ้นไปรับพรเกี่ยวกับตัวอักษรและวิทยาการ มูเซอขึ้นไปเป็นชนเผ่าสุดท้าย กระดาษสาที่เทวราชใช้เขียนอักษรและวิทยาการต่างๆหมด ดังนั้นเทวราชจึงได้เขียนลงบนข้าวปุก(ข้าวเหนียวตำใส่งา) ในขณะเดินทางกลับมูเซอรู้สึกหิวจึงเผลอกินข้าวปุกจนหมด จากนิยายเรื่องนี้จึงทำให้มูเซออ้างว่าตัวอักษรและวิทยาการต่างๆนั้นตนไม่ต้องเรียน เพราะความรู้อยู่ในท้องของพวกตนอยู่แล้ว (หน้า 101) มูเซอแดง: เพลงแคนท่าเต้นรำ ผู้ชายเต้นตามจังหวะถางไร่ข้าว เจาะหลุมปลุกข้าว และท่าใช้ไม้ตีข้าว ผู้หญิงเต้นตามจังหวะหยอดเมล็ดข้าวปลูก เกี่ยวข้าว ตีข้าว ฟัดข้าว แบกถุงใส่ข้าว ตำข้าว ตักข้าวสารจากครกกระเดื่อง ฝัดข้าวและจุดขี้ผึ้งเทียนไขบูชาเทวราชหงื่อซาในวันข้างแรมและข้างขึ้นซึ่งถือเป็นวันศีลที่ทุกคนต้องหยุดงาน (หน้า 106-107) เพลงของเย้ามีทั้งเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวทั่วไป การทักทายโต้ตอบ รำพันถึงความทุกข์ยาก งานรื่นเริงของเย้าจะมีเฉพาะงานแต่งงานเท่านั้น ซึ่งมีการดื่มอวยพรและร้องเพลงโต้ตอบระหว่างชายหญิง (หน้า 125)

Folklore

กำเนิดมูเซอ: กาลครั้งหนึ่งหลังจากเทวราชหงื่อซาสร้างโลกแล้ว พระองค์ได้สร้างมูเซอชายและมูเซอหญิงสองคนไว้ในน้ำเต้า มนุษย์ทั้งสองรู้สึกเบื่อหน่ายกับการอยู่ในน้ำเต้าจึงขอให้หนูและนกหัวขวานช่วยแทะและเจาะน้ำเต้าโดยให้สัญญาจะแบ่งข้าวและเมล็ดพืชที่เพาะปลูกได้ให้กินเป็นอาหาร หลังจากออกมาได้แล้วเมล็ดพืชส่วนหนึ่งที่ได้จากการเพาะปลูกจะเป็นอาหารแก่หนู ส่วนนกหัวขวานไม่รับสิ่งตอบแทนใดๆ (หน้า 99) มูเซอกับขวาน: ครั้งหนึ่งเทวราชหงื่อซาได้เรียกชนชาติต่างๆขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อมอบเครื่องทำมาหากิน แต่มูเซอและคนเมืองไม่รู้เวลาจึงไปช้ากว่าชาติอื่นๆซึ่งได้เครื่องมือทำมาหากินดีๆไปหมดแล้ว เหลือเพียงคันไถกับขวานเพียงสองอย่างเท่านั้น เทวราชโปรดปรานมูเซอเป็นพิเศษจึงให้มูเซอเลือกก่อน มูเซอพิจารณาเห็นว่าขวานมีรูปร่างงดงามและเหมาะกับการใช้ขวานตัดฟืนทำไร่จึงเลือกขวาน และเหลือคันไถให้แก่คนเมือง (หน้า100) การย้ายที่ทำไร่: ครั้งหนึ่งเทวราชหงื่อซาเรียกบรรดาชนเผ่าต่างๆเข้าเฝ้าเพื่อรับพร ในระหว่างที่เทวราชให้พรนั้นมูเซอใช้ตะกร้าตาห่างๆรับพร ขณะที่คนเมืองใช้กระบุงรับพร ดังนั้นช่วงที่เดินทางกลับ พรในตะกร้ามูเซอตกหล่นระหว่างทาง ที่ใดพรตกมากที่นั่นจะอุดมสมบูรณ์ ที่ใดพรตกน้อยที่นั่นพืชผลจะเก็บเกี่ยวได้น้อย จึงเป็นเหตุผลในการอธิบายเรื่องการย้ายที่อยู่และพื้นที่ทำไร่ (หน้า 100) มูเซอกับเทวราชแปลงกาย: กาลครั้งหนึ่งในฤดูฝน ขณะที่ชนเผ่าต่างๆกำลังสาละวนกับการทำไร่ทำนา เทวราชได้แปลงกายเป็นคนจนลงมาและชักชวนให้มูเซอออกเดินทางไปด้วยกัน แต่มูเซอปฏิเสธโดยอ้างว่าตนกำลังมีงานที่ต้องทำในไร่ ลีซอ กะเหรี่ยง และคนเมืองก็ปฏิเสธคนจนด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน แต่คนจีนและจีนฮ่อได้ร่วมเดินทางไปกับคนจน เทวราชรู้สึกพึงพอใจคนจีนและจีนฮ่อจึงอำนวยพรให้ไม่ต้องทำงานในไร่และอยู่ดีกินดี ขณะที่มูเซอและกลุ่มอื่นๆที่ปฏิเสธยังคงต้องทำงานหนักและยากจนต่อไป (หน้า 100-101)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่พบข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ไม่พบข้อมูล

Critic Issues

ไม่พบข้อมูล

Other Issues

มารยาทและข้อห้ามสำคัญต่างๆของชาวเขาแต่ละชนเผ่า

Map/Illustration

ไม่พบข้อมูล

Text Analyst อภิรัตน์ ศุภธนาทรัพย์ Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG กะเหรี่ยง, ขมุ, ลาหู่, ม้ง, เมี่ยน, ลีซู, ลัวะ, วัฒนธรรม, ข้อห้าม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง