สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ญ้อ ย้อ ญ่อ โย้,วิถีชีวิต,กันทรวิชัย,มหาสารคาม
Author ทวี ถาวโร และ จำนง กิติสกล
Title ไทย้อกันทรวิชัย
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ญ้อ ไทญ้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 78 Year 2542
Source รายงานวิจัย สนับสนุนงบประมาณการวิจัยโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2541
Abstract

ผลการวิจัยพบว่า ในอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคาม มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทย้อที่ยังใช้ชีวิตตามวัฒนธรรมไทยย้อ อยู่ 7 ชุมชน คือ บ้านท่าขอนยางและบ้านวังหว้า ตำบลท่าขอนยาง บ้านหนองขอน บ้านส้มปล่อยและบ้านโนน ตำบลคันธารราษฎร์ บ้านน้ำใส ตำบลขามเฒ่าพัฒนาและบ้านดอนก้านตง ตำบลนาสีนวน ทั้ง 7 ชุมชน มีจำนวนครัวเรือนรวม 1,029 ครัวเรือน มีประชากรรวม 4,709 คน ปัจจัยสี่ในการครองชีพของไทย้อ เดิมทีมีเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหารการกินและการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ แต่ได้ปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา สถานการณ์และภาวะแวดล้อมผสมกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมอีสานและวัฒนธรรมไทยสากล บริบทของชีวิตของไทยย้อ เป็นไปอย่างเรียบง่ายตามแบบสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริม ได้แก่ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และรับจ้าง อาชีพรับราชการและค้าขายมีน้อยมาก ฐานะความเป็นอยู่พอมีพอกิน แต่ถ้าพิจารณารายได้ที่เป็นตัวเงินจัดว่าส่วนใหญ่ค่อนข้างยากจน ไทย้อมีหนี้สินแทบทุกครอบครัว ขนบประเพณีของไทย้อสอดคล้องกับฮีตสิบสองคลองสิบสี่ของสังคมอีสาน แม้รายละเอียดในการปฏิบัติก็แตกต่างกันไม่มาก พิธีกรรมส่วนมากผูกพันกับความเชื่อเรื่องผี ไทย้อนับถือผีหลายประเภทและเคร่งครัดต่อผีปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษมาก ในรอบปีมีประเพณีเลี้ยงผีหลายครั้ง แต่ไทย้อก็เลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง งานเทศกาลหรืองานประเพณีต่าง ๆ ผูกพันกับวัดและพระสงฆ์อย่างแนบแน่น ตั้งตนอยู่ในศีลธรรมอันดี วันสำคัญทางพุทธศาสนาไทย้อต่างรู้สึกแจ่มใสที่ได้เข้าวัดทำบุญ ครอบครัวของไทย้อเป็นครอบครัวระบบผัวเดียวเมียเดียว และเป็นครอบครัวขยาย นับถือความอาวุโส ผู้สูงอายุเป็นปูชนียบุคคลของลูกหลานและชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของไทย้อมีทั้งด้านกายภาพและคุณภาพ มีพัฒนาการเกี่ยวกับเรื่องปัจจัยในการครองชีพ การสาธารณสุขมูลฐาน การศึกษาและการรับรู้ข่าวสารบ้านเมือง เป็นการพัฒนาในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าสังคมไทยย้อส่วนใหญ่เป็นสังคมชนบท แต่ไทย้อรุ่นใหม่มีค่านิยมตามอย่างสังคมเมือง โดยเฉพาะด้านวัตถุนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นิยมใช้เครื่องบริภัณฑ์สมัยใหม่ในครัวเรือนกันเป็นอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว ทำให้เกิดหนี้สินตามมา เรื่องที่น่าภาคภูมิใจสำหรับไทย้อนอกจากขนบประเพณีต่าง ๆ แล้วก็คือการมีภาษาของตนเอง ภาษาย้อเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย้อ

Focus

เป็นการศึกษาวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ อาทิ อาชีพ ที่อยู่อาศัย อาหารการกินและการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ การศึกษา รวมทั้งความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม และการปรับเปลี่ยน/เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของไทย้อกันทรวิชัย ใน 7 ชุมชน โดยอาศัยข้อมูลทั้งจากเอกสาร วรรณคดี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและภาคสนามรวมกัน

Theoretical Issues

ไม่ได้ระบุแนวทฤษฎีที่ชัดเจน แต่ผู้เขียนได้พยายามอธิบายจากการศึกษาเอกสาร ถึงด้านประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต สภาพปัญหาและการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยที่เป็นไปตามกระแสของยุคสมัย

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ไทย้อที่ยังใช้ชีวิตตามวัฒนธรรมไทย้ออยู่ ซึ่งมี 7 ชุมชน ในอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคาม

Language and Linguistic Affiliations

ไทย้อไม่มีภาษาเขียน ไม่มีตัวอักษรของตนเอง ในอดีตเคยใช้อักษรธรรมหรืออักษรไทรน้อยเช่นเดียวกับชาวอีสานปัจจุบันใช้อักษรไทยทั้งสิ้นไทย้อบ้านท่าขอนยาง บ้านน้ำใส บ้านดอนก้านตงและบ้านแซงบาดาลยังใช้ภาษาไทย้อเป็นปกติในชีวิตประจำวันเฉพาะในกลุ่มของตน แต่จะใช้ภาษาอีสานหรือภาษาไทยกับบุคคลภายนอก ส่วนไทย้อที่อื่นๆ พูดภาษาไทย้อกันอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น คนรุ่นใหม่พูดภาษาอีสานหรือภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าต่อไปภาษาไทย้ออาจไม่มีที่ใช้ก็ได้ ภาษาพูดของไทย้อมีสำเนียงต่างจากภาษาอีสานและมีถ้อยคำ (Words) ต่างจากภาษาอีสานในบางส่วน การจัดรูปประโยค วลี มีการเรียงคำเช่นเดียวกับภาษาไทย อาทิ ภาษาไทย (มาจากไหน) ภาษาอีสาน (มาแต่ใส) ภาษาไทย้อ (มาแต่กะเล่อ) เป็นต้น (หน้า 73)

Study Period (Data Collection)

ไม่ได้ระบุแน่ชัดแต่จากแผนที่ที่แนบมาคาดว่าจะประมาณ พ.ศ.2541-2542

History of the Group and Community

ผู้เขียนมีการรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกลุ่มไทย้อจากแหล่งต่าง ๆ โดยสรุปพบว่า กลุ่มไทย้อส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณเมือง ไชยบุรี เมืองท่าอุเทน เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเวียงจันทน์ ประเทศลาว ต่อมาจึงอพยพย้ายมาอยู่ที่เมืองท่าขอนยาง เมืองบุรีรัมย์ฯ บางท่านก็กล่าวถึงสาเหตุของการย้ายว่า เจ้าเมืองที่ตั้งใหม่ได้แต่งคนไปเกลี้ยกล่อมและกวาดต้อนให้มาอยู่เมืองตน แต่บางท่านก็เล่าว่า อพยพมาตามความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เนื่องจากกลุ่มไทย้อประกอบอาชีพทำนา (หน้า 8-9) กระทั่งถึง พ.ศ.2381 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไทย้อกลุ่มนี้มาอยู่ที่บ้านท่าขอนยาง เพื่อแก้ปัญหาความแออัดและที่ทำกินไม่พอเพียง และในปี พ.ศ.2388 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ยกบ้านท่าขอนยางขึ้นเป็นเมืองท่าขอนยาง ทรงแต่งตั้งพระคำดวนหรือคำก้อนหัวหน้าไทย้อกลุ่มนี้ เป็นพระสุวรรณภักดีเป็นเจ้าครองเมืองท่าขอนยาง เมืองท่าขอนยางเปลี่ยนสภาพมาเป็นตำบลเมื่อ พ.ศ.2499 (หน้า 10-11) นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้จากเอกสารอ้างอิงแล้ว ผู้ศึกษายังได้มีการรวบรวมประวัติของหมู่บ้านที่ทำการศึกษา 7 หมู่บ้าน ดังนี้ - ประวัติบ้านท่าขอนยาง บ้านท่าขอนยาง เดิมชาวเมืองตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองคำเกิด มีการกวาดต้อนและเกลี้ยกล่อมให้กลุ่มไทย้อมาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้และในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ยกบ้านท่าขอนยางขึ้นเป็นเมืองท่าขอนยาง บ้านท่าขอนยางมีความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ปีที่ไทย้อกลุ่มนี้เข้ามาอยู่เมื่อ พ.ศ.2379 ถึงปัจจุบัน พ.ศ.2542 เป็นเวลาถึง 163 ปี เริ่มแรกเป็นบ้านท่าขอนยางอยู่ 9 ปี ระยะที่ 2 เป็นเมืองท่าขอนยางโดยมีเจ้าเมืองปกครองอยู่เป็นเวลา 39 ปี ระยะที่ 3 เป็นเมืองที่ว่างเจ้าเมืองอยู่เป็นเวลา 72 ปี สุดท้ายเปลี่ยนฐานะจากเมืองเป็นตำบลตั้งแต่ พ.ศ.2499 ถึงปัจจุบัน พ.ศ.2542 เป็นเวลา 43 ปี ชุมชนเมืองท่าขอนยางแปรสภาพเป็นชุมชนบ้านท่าขอนยาง รวม 5 หมู่บ้าน อยู่ในเขตปกครองตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม (หน้า 17-19) ประวัติบ้านวังหว้า ยังไม่เคยมีการจัดทำประวัติบ้านวังหว้าเป็นเอกสารเอาไว้แต่อย่างใด การสืบค้นข้อมูลจึงต้องอาศัยข้อมูลเชิงมุขปาฐะจากผู้สูงอายุและผู้นำชุมชน นำมาเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์และเวลาขึ้นเป็นครั้งแรก เท่าที่สืบค้นได้มีเพียงสั้น ๆ ดังนี้ เมื่อเมืองท่าขอนยางตั้งมาได้ประมาณ 50 ปี หรือในช่วงระหว่าง พ.ศ.2442-2452 ชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งประสงค์จะออกไปอยู่นอกเมืองใกล้ ๆ กับที่ทำนาทำไร่ ทางด้านทิศใต้ของเมืองท่าขอนยาง เพื่อไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปมา ออกมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านร้างริมแม่น้ำชีบริเวณกุดชีหลง อยู่มาได้ประมาณ 3-4 ปี ประมาณปี พ.ศ.2446 ได้เกิดอาเพศเหตุร้ายขึ้นในกลุ่มครัวเรือนที่ตั้งใหม่นี้ ทำให้ผู้คนล้มตายไปประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือพากันย้ายกลับเข้าไปอยู่ในเมืองท่าขอนยางดังเดิม และหลังจากนั้นประมาณปีเศษคาดว่า อาเพศเหตุร้ายหายไปแล้วก็พากันออกจากเมืองมาอีก ครั้งหลังนี้เป็นครอบครัวชุดเดิมบ้างเป็นครอบครัวที่สมัครใจออกมาใหม่บ้าง แต่มิได้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านร้างบริเวณกุดชีหลงดังครั้งก่อน ได้ย้ายมาตั้ง ณ บริเวณที่เป็นชุมชนบ้านวังหว้าในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าบ้านวังหว้าตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2448 นับถึงปัจจุบัน พ.ศ.2542 เป็นเวลา 94 ปี (หน้า 27) - ประวัติบ้านโนน ประวัติบ้านส้มปล่อย และประวัติบ้านหนองขอน บ้านโนน บ้านส้มปล่อย และบ้านหนองขอน มีประวัติผูกพันกันมายาวนาน และเกี่ยวข้องกับประวัติอำเภอกันทรวิชัย ซึ่งมีการเปลี่ยนชื่ออำเภอหลายครั้ง พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ซึ่งหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) แต่งขึ้นเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลอีสาน กล่าวว่าเมืองคันธาธิราช (ปัจจุบันคืออำเภอกันทรวิชัย) ตั้งขึ้นเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 147 (พ.ศ.1328) เมืองนี้ตั้งอยู่นานเป็นพันปี มีเจ้าครองเมืองผลัดเปลี่ยนกันมาหลายยุคหลายสมัย จนถึงสมัยท้าวลินจงเป็นผู้ครองเมืองก็เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้น คือ ท้าวลินทองลูกชายของท้าวลินจงต้องการขึ้นครองเมืองเป็นใหญ่แทนบิดา จึงกักขังทรมานท้าวลินจงผู้เป็นบิดาจนถึงแก่ความตาย ผลกรรมดังกล่าวทำให้เมืองคันธาธิราชพินาศวอดวายกลายเป็นเมืองร้าง กาลเวลาผ่านไปนับพันปี จนถึงจุลศักราช 1236 ปี จอ ฉศก (พ.ศ. 2417) พระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ทราบว่า ท้าวคำมูลชาวเมืองมหาสารคาม ได้อพยพคน จำนวนประมาณ 2,700 คน มาตั้งอยู่ ณ เมืองร้างดังกล่าว ท้าวคำมูลเป็นเจ้าเมือง (ชาวบ้านเรียกเมืองคันธาร์บ้าง กันทาบ้าง กันทางบ้าง) และตั้งเพี้ยเวียงแก เพี้ยเวียงทอ เพี้ยไชสุริยา และเพี้ยนามวิเศษ ดำรงตำแหน่งอุปฮาดราชวงศ์ ราชบุตร ผู้ช่วย เต็มอัตรา จึงถวายรายงานไปกรุงเทพฯ ให้ทรงทราบ และขอตั้งเมืองกันทางร้างเป็นเมืองขึ้นมาใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองกันทางร้างเป็นเมือง "กันทะวิชัย" และทรงแต่งตั้งท้าวคำมูลเป็นพระปทุมวิเศษ เจ้าเมือง ให้เพี้ยเวียงทองเป็นราชวงศ์ ให้เพี้ยไชสุริยาเป็นราชบุตร ให้เพี้ยนามวิเศษเป็นหลวงจำนงภักดี ช่วยกันทำราชการขึ้นต่อเมืองกาฬสินธุ์ ทุกคนเว้นแต่เพี้ยเวียงแกจึงลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ รับพระราชทานสารตราตั้ง ครั้นถึงจุลศักราช 1244 (พ.ศ.2425) พระปทุมวิเศษ เจ้าเมืองและราชวงศ์ (เพี้ยเวียงทอ) เกิดขัดแย้งกับเพี้ยเวียงกลาง เมืองมหาสารคาม มีรับสั่งให้ไปชำระคดีที่กรุงเทพฯ พระปทุมวิเศษและราชวงศ์ (เพี้ยเวียงทอ) ได้ถึงแก่กรรมในระหว่างการชำระคดีที่กรุงเทพฯ อุปฮาด (เพี้ยเวียงแก) และราชบุตร (เพี้ยไชสุริยา) จึงต้องทำราชการแทน แต่คนทั้งสองเห็นว่าตนอยู่ในวัยสูงอายุมากแล้ว ควรสละตำแหน่งให้คนวัยหนุ่มมาทำราชการแทน จึงถวายหนังสือขอให้ทรงแต่งตั้งท้าวทองคำ ซึ่งเป็นหลานเจ้าเมืองร้อยเอ็ดมาเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดมาเป็นเจ้าเมือง หลวงศรีสงครามมาเป็นราชวงค์ ท้าวสีทะมาเป็นหลวงจำนงภักดี ไ ด้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่ขอ โดยให้ท้าวทองคำเป็นพระปทุมวิเศษ เจ้าเมืองกันทะวิชัย ที่ตั้งตัวเมืองกันทะวิชัย คือ บ้านคันธาร์ในปัจจุบัน มีคูรอบเมืองเป็นอาณาเขต ครอบคลุมบริเวณถึงบ้านโนน บ้านโนนในสมัยก่อนเป็นส่วนหนึ่งของเมืองกันทะวิชัย พระปทุมวิเศษว่าราชการเมืองกันทะวิชัยมาจนถึง พ.ศ.2443 เมืองกันทะวิชัยถูกเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นอำเภอ ชื่อว่า "อำเภอกันทรวิชัย" ตั้งอยู่ที่เดิมจนถึง พ.ศ.2456 กระทรวงมหาดไทยได้โอนอำเภอกันทรวิชัยมาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม ครั้นถึงสมัยหลวงชาญรัฐกิจ (เชย) เป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ตำบลโคกพระ เมื่อ พ.ศ. 2458 เปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอโคกพระ" ใน พ.ศ.2460 และเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น "อำเภอกันทรวิชัย" ดังเดิมในปี พ.ศ.2482 และเนื่องจากตัวอาคารที่ว่าการอำเภอเป็นอาคารไม้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในปี พ.ศ.2541 ได้รับงบประมาณให้สร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น โดยย้ายสถานที่ไปทางทิศใต้ของที่เดิมประมาณ 200 เมตร ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ตอนปลายยุคของเมืองกันทะวิชัยประมาณ 200 ปี พื้นที่ในตัวเมือง (ปัจจุบันคือ บ้านคันธาร์และบ้านโนน) มีครัวเรือนและประชากรหนาแน่น ที่ทำนาทำไร่ไม่พอเพียง ราษฎรจึงขยับขยายออกจากตัวเมืองไปหักร้างถางพงตั้งหลักแหล่งขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่พากันออกมาทางทิศใต้ของตัวเมืองกันทะวิชัย จนเกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันที่แห่งนี้คือ บ้านหนองขอนและบ้านส้มปล่อย - บ้านหนองขอนและบ้านส้มปล่อย บรรพบุรุษของชาวบ้านหนองขอนและบ้านส้มปล่อยประมาณ 3-4 ชั่วอายุคน ได้โยกย้ายมาจากบ้านโนน ในเขตตัวเมืองกันทะวิชัยสมัยนั้น (ประมาณ พ.ศ.2340-2350) จำนวนหลายสิบครัวเรือนเพื่อให้ได้อยู่ใกล้ที่ทำนา โดยตั้งบ้านเรือนกระจายกันอยู่ ทั้งที่บ้านหนองขอนและบ้านส้มปล่อย เนื่องจากทั้ง 2 แห่ง มีแหล่งน้ำธรรมชาติสมบูรณ์เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค บ้านหนองขอนมีหนองน้ำขอนใหญ่ มีขอนไม้ขนาดใหญ่ทอดจมอยู่ในหนอง ชาวบ้านจึงเรียกว่าหนองขอนและเรียกชื่อชุมชนว่า บ้านหนองขอนตามไปด้วย แต่ในปัจจุบันหนองขอนตื้นเขินใช้การไม่ได้ บ้านส้มปล่อยมีสระตายูเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เช่นกัน ปัจจุบันสระตายูมีน้ำใช้การได้ปีละประมาณ 8-9 เดือน ในบริเวณดังกล่าว มีต้นส้มปล่อยขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าบ้านส้มป่อย ภายหลังเพี้ยนมาเป็นบ้านส้มปล่อย นายประดิษฐ์ ไชยศิลป์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 (บ้านหนองขอน) และนายกำชัย นามเชียงใต้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 (บ้านส้มปล่อย) ตำบลคันธาราษฎร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บ้านหนองขอนและบ้านส้มปล่อยเป็นหมู่บ้านเดียวกันมาตั้งแต่อดีต จนถึง พ.ศ.2531 ทางราชการได้จัดแบ่งเขตการปกครองใหม่ ให้เขตบ้านหนองขอนเป็นหมู่ที่ 3 เขตบ้านส้มปล่อย เป็นหมู่ที่ 4 และเขตบ้านโนน เป็นหมู่ที่ 5 ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย้อในชุมชนบ้านหนองขอน บ้านส้มปล่อยและบ้านโนน ไม่พบในเอกสารใด ๆ ข้อมูลเชิงมุขปาฐะมีเป็น 2 กระแส กระแสหนึ่งจากผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองขอน บ้านส้มปล่อยและบ้านโนน ร่วมกันให้ข้อมูลว่า บรรพบุรุษได้อพยพมาจากเวียงจันทน์ ส่วนอีกกระแสหนึ่งเห็นว่า ไทย้อบ้านหนองขอน บ้านส้มปล่อยและบ้านโนน เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากไทย้อเมืองท่าขอนยาง ในสมัยที่เมืองท่าขอนยางว่างเจ้าเมืองปกครอง เมื่อพิจารณาความน่าจะเป็น ก็มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 กระแส ผู้วิจัยได้หารือ ท่านกิแก้ว สุวรรณภูมิ อัครราชทูตและหัวหน้ากงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จังหวัดขอนแก่น ท่านกิแก้ว สุวรรณภูมิ ยืนยันว่าในแขวงเวียงจันทน์ ทั้งอดีตและปัจจุบันไม่มีชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทย้อ ที่ผู้สูงอายุให้ข้อมูลว่า ไทย้อ 3 กลุ่มนี้อพยพจากเวียงจันทน์ คงหมายความว่า อพยพมาจากประเทศลาว ทำนองเดียวกับคนต่างประเทศพูดว่ามากรุงเทพฯ ก็คือมาประเทศไทย และพบในเอกสาร ประวัติบ้านน้ำใสว่า ในแขวงคำม่วนทางฝั่งลาว มีหมู่บ้านชื่อ "บ้านผ้าขาวลาวเวียงจันทน์" เป็นชุมชนย้อ ชาวบ้านโนน บ้านส้มปล่อยและบ้านหนองขอนอาจอพยพมาจากบ้านผ้าขาวลาวเวียงจันทน์นี้ก็ได้ สำหรับกรณีการแยกตัวมาจากเมืองท่าขอนยาง สอดคล้องกับพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน (ภาค 4) ที่ว่า เมืองคันธาธิราชร้างอยู่เป็นเวลา 1,089 ปี จนถึงปี พ.ศ.2417 ท้าวคำมูลได้อพยพคนมาจากเมืองมหาสารคาม รวม 2,700 คนมาตั้งอยู่และตั้งตนเป็นเจ้าเมือง ตามประวัติเมืองมหาสารคามมีว่า สมัยนั้นเมืองมหาสารคามมีคนน้อยประมาณ 1,000 คน จนพระเจริญราชเดชเจ้าเมืองส่งคนไปเกลี้ยกล่อมคนเมืองอื่นๆ ให้มาอยู่ด้วย ในปีพ.ศ.2419 เกิดศึกฮ่อ พระเจริญราชได้รับพระบัญชาให้ยกทัพไปปราบฮ่อทางชายแดนเมืองหนองคาย แต่กำลังคนไม่พอ จึงให้ไปสมทบกับกองทัพเมืองอุบลราชธานี กองทัพเมืองกาฬสินธุ์ และกองทัพเมืองร้อยเอ็ด การที่ท้าวคำมูลจะได้คนมาจากเมืองมหาสารคามถึง 2,700 คน จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้าคนเมืองท่าขอนยาง เป็นไปได้มากกว่า ทั้งอยู่ใกล้และไม่ต้องลุยแม่น้ำชีอีกด้วย แต่ที่ว่าอพยพมาในสมัยที่เมืองท่าขอนยางว่างเจ้าเมืองนั้น มีความคลาดเคลื่อนอยู่ เนื่องจากพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และประวัติเมืองขึ้นยุคเก่ากล่าวว่า พระสุวรรณภักดี (พรหม) เจ้าเมืองท่าขอนยาง (คนสุดท้าย) ไม่พอใจจะทำราชการขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ จึงอพยพครอบครัวไปทำราชการขึ้นกับเมืองท่าอุเทน เมื่อ พ.ศ. 2427 เมืองท่าขอนยางจึงว่างเจ้าเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2427 เวลาคลาดเคลื่อนกันอยู่ 10 ปี หากสะสางเรื่อง พ.ศ.2417 ที่ท้าวคำมูลอพยพคนมาตั้งเมืองใหม่กับ พ.ศ.2427 ที่เมืองท่าขอนยางเริ่มว่างเจ้าเมืองได้ ก็หมดปัญหา สามารถสรุปได้ว่ากลุ่มไทย้อบ้านหนองขอนบ้านส้มปล่อยและบ้านโนนเป็นกลุ่มที่แยกไปจากไทย้อบ้านท่าขอนยาง (หน้า 40-42) - ประวัติบ้านน้ำใส ในสมัยโบราณ มีไทย้อกลุ่มหนึ่ง ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ "บ้านผ้าขาวลาวเวียงจันทน์" แขวงเมืองคำม่วน ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (สมัยนั้นไม่มีการแข่งเขตประเทศ) ไทย้อกลุ่มนี้นับถือผีและเคร่งครัดในพิธีกรรมเกี่ยวกับผี ทำให้ทุกคนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลความเชื่อเรื่องผี ไม่มีใครกล้าฝืนกระแสสังคม ประเพณีการบูชาผีของไทย้อกลุ่มนี้ คือ ต้องฆ่าคนและสัตว์สังเวยผีปีละครั้งทุกปีสืบต่อกันมาไม่เคยขาด จนกระทั่งถึงปีที่พ่อตาเสนาและหลานถูกกำหนดเป็นคนที่จะต้องถูกฆ่าสังเวยผี ตาและหลานทั้งสองรู้ล่วงหน้าเป็นเวลา 3 วัน จึงพาครอบครัวและพรรคพวกหนีไปจากชุมชนบ้านผ้าขาวลาวเวียงจันทน์ หนีข้ามมาทางฝั่งขวาของ แม่น้ำโขง อาศัยหลบซ่อนและย้ายที่อยู่ไปเรื่อยเป็นเวลานาน กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ฯ กองทัพไทยยกไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ ทางฝั่งซ้ายได้หลายเมือง กวาดต้อนผู้คนอพยพมาไว้ในอาณาเขตประเทศไทย พ่อตาเสนาและพรรคพวกก็เข้าสมทบกับผู้คนที่อพยพมาใหม่ ทำให้มีพวกมากขึ้น พากันไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณแม่น้ำชี เป็นเวลาประมาณ 4-5 ปี ต้องประสบความยากลำบากในการดำรงชีพ จึงพากันอพยพขึ้นมาทางทิศเหนือเมื่อประมาณ พ.ศ.2330-2331 ระหว่างการอพยพนั้น บ้างก็หยุดตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านโนนก็มี ที่บ้านยางก็มี เหลือตามพ่อตาเสนามาเพียง 2 ครอบครัว รวมเป็น 3 ครอบครัว อพยพต่อไปอีกจนถึงเนินแห่งหนึ่ง มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีหนองน้ำใสสะอาดขนาดใหญ่ จึงได้ตั้งหลักแหล่งเป็นการถาวรมาตั้งแต่บัดนั้น ภายหลังมีไทย้อกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยจากที่ต่าง ๆ ได้ย้ายเข้ามาร่วมอยู่อาศัยด้วย เกิดเป็นชุมชนที่มั่นคงขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2335 ชาวบ้านเรียกบ้านตามชื่อหนองน้ำใสว่า "บ้านน้ำใส" (ปัจจุบันป้ายบอกชื่อบ้านบางแห่งเขียนเป็นบ้านกุดน้ำใส เนื่องจากตามกุดต่าง ๆ มีน้ำใสเช่นกัน แต่ชื่อที่ถูกต้องของทางราชการคือ บ้านน้ำใส) ไทย้อกลุ่มบ้านน้ำใสนี้แม้ว่าเดิมอยู่ภายใต้อิทธิพลความเชื่อเรื่องผีแต่เมื่อข้ามมาอยู่ฝั่งไทยแล้ว ความเชื่อก็เสื่อมคลายลง ประกอบกับพ่อตาเสนาให้ความสำคัญในพระพุทธศาสนามากกว่า จึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้น ในปีพ.ศ.2358 และเพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อตาเสนาผู้นำของกลุ่ม ชาวบ้านจึงตั้งชื่อวัดว่า "วัดเสนานิคม" ใช้ประกอบศาสนกิจของสงฆ์ และไทย้อบ้านน้ำใสได้ช่วยกันอุปถัมภ์ค้ำจุนจนวัดเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (หน้า 47-48) - ประวัติชุมชนดอนก้านตง ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2487 เนื่องจากบ้านหนองขอนสมัยนั้น ผู้คนหนาแน่น ที่ไร่นามีจำกัดไม่อาจขยายออกไปได้ ในอนาคตผู้คนจะยิ่งมากขึ้น เป็นปัญหาในการทำมาหากินควรจะได้หาที่แห่งใหม่รองรับการเพิ่มจำนวนของลูกหลานไว้เสียแต่ต้น และพบว่า ที่บ้านดอนก้านตงเป็นทุ่งกว้าง เหมาะแก่การทำนา สมัยนั้นน้ำจากห้วยหนองต่าง ๆ ก็มีเพียงพอในการทำนา จึงชวนกันมาซื้อที่และตั้งบ้านเรือนกันขึ้นในพ.ศ.2487 นั่นเอง ปีต่อๆ มาได้มีชาวหนองขอนโยกย้ายตามออกมาอีกหลายครอบครัว รวมทั้งมีการแต่งงานและตั้งครอบครัวขึ้นใหม่เรื่อย ๆ จึงเกิดเป็นชุมชนดังที่ปรากฏในปัจจุบัน และเนื่องจากที่ตั้งชุมชนเป็นที่ดอนแต่เดิมมีต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า "ก้านตง" ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงพากันเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า "บ้านดอนก้านตง" ใน พ.ศ.2542 นี้ บ้านดอนก้านตงมีอายุได้ 55 ปี (หน้า 53)

Settlement Pattern

การตั้งถิ่นฐานมีลักษณะการอยู่อาศัยเป็นหย่อม ๆ หรือเป็นกลุ่มบ้าน (ตามรูปในแผนที่หมู่บ้านหน้า 20-24, 28, 39, 49-50, 54,32) ส่วนลักษณะการตั้งบ้านเรือน ตัวเรือนของไทย้อ แต่เดิมมีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นเรือนชุด มี 3 หลัง หลังหนึ่งสำหรับพักอยู่อาศัย เรียก "เฮือนนอน" หลังหนึ่งใช้ทำครัวเรียก "เฮือนไฟ" และอีกหลังหนึ่งใช้เก็บข้าวเปลือกเรียก "เล้าข้าว" ทุกครอบครัวต้องมีเรือน 3 หลังนี้จึงจะครบถ้วนสมบูรณ์ ลักษณะของบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เป็นบ้านไม้ใต้ถุนยกสูง กั้นเป็นห้อง ๆ บันไดสามารถยกขึ้นลงได้ หากเจ้าของบ้านอยู่ก็จะยกลง หากเจ้าของบ้านไม่อยู่บันไดก็จะเก็บขึ้นข้างบน ส่วนวัสดุที่ใช้สร้างถ้าหากเจ้าของบ้านเป็นผู้ที่มีฐานะการเงินดีมั่นคงก็จะใช้ไม้จริง แต่ถ้าหากเจ้าของบ้านมีฐานะไม่ดีก็จะใช้พื้นเป็นไม้ฝาขัดแตะแทน และการดูฐานะว่าบ้านไหนมีฐานะดีไม่ดี ก็จะดูที่เล้าข้าว หากบ้านไหนมีเล้าข้าวมากกว่า 1 เล้าถือว่ามีฐานะดี เป็นที่ยอมรับนับถือของเพื่อนบ้าน แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันลักษณะบ้านเรือนของไทย้อได้มีการเปลี่ยนไปตามยุคสมัย บ้านของไทย้อส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามลักษณะและรูปแบบนิยมโดยทั่วไป คือ เป็นบ้านก่ออิฐถือปูนมากขึ้น เรือนแบบดั้งเดิมแทบจะไม่มีหลงเหลือให้ได้เห็นอีกแล้ว (หน้า 55-56, ดูภาพประกอบ หน้า 57)

Demography

จำนวนประชากรที่ทำการศึกษา (หน้า 74) คือ 1. บ้านท่าขอนยาง ประชากร 568 ครัวเรือน 2,716 คน 2. บ้านวังหว้า ประชากร 53 ครัวเรือน 224 คน 3. บ้านหนองขอน ประชากร 95 ครัวเรือน 420 คน 4. บ้านส้มปล่อย ประชากร 52 ครัวเรือน 270 คน 5. บ้านโนน ประชากร 81 ครัวเรือน 307 คน 6. บ้านน้ำใส ประชากร 153 ครัวเรือน 650 คน 7. บ้านดอนก้านตง ประชากร 27 ครัวเรือน 122 คน

Economy

ไทย้อกันทรวิชัยทำนาปลูกข้าวเหนียวเป็นอาชีพหลัก พืชผักอย่างอื่นปลูกเป็นอาชีพเสริมตามความเหมาะสมของพื้นที่และแหล่งน้ำ มีปลูกยาสูบ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชสวนมีมะม่วง ขนุน น้อยหน่า ยางพารา กล้วย เป็นต้น แต่ละชนิดปลูกกันเพียงเล็กน้อย ส่วนการเลี้ยงสัตว์มีวัว ควาย หมู เป็ด ไก่และมีเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาบ้าง อาชีพรับราชการมีน้อย อาชีพรับจ้างค่อนข้างมาก มีฐานะพออยู่พอกิน แม้มีรายได้ไม่มากก็ไม่สู้จะเดือดร้อนเพราะรายจ่ายก็ไม่มากเช่นกัน แต่ถ้าพิจารณาด้านการเงินนับได้ว่า ยากจนเป็นส่วนใหญ่ และมีหนี้สินเกือบทุกครัวเรือน (หน้า 76) ไทย้อมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความขยันในการประกอบอาชีพ แต่โดยที่ขีดความสามารถในด้านการจัดการมีน้อยและขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือองค์กรอื่นที่มีศักยภาพพอ หลังฤดูการทำนาจึงพากันละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นที่มีงานรองรับ ประกอบกับเกิดค่านิยมใหม่ คือ ต้องการใช้ชีวิตในสังคมเมือง และทำงานรับค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน เมื่อมีงานเทศกาลหรืองานประเพณีสำคัญ ๆ จึงจะกลับมาสู่มาตุภูมิ แท้จริงไทย้อมีฝีมือดีมากในงานทอผ้า สามารถทำได้ครบวงจร แต่ไม่สามารถจัดการด้านการตลาดได้ การทำเครื่องจักสานต่าง ๆ ก็ทำนองเดียวกัน การปลูกพืชอายุสั้นนอกฤดูการทำนา โดยเฉพาะการปลูกยาสูบทำได้ดีมีรายได้ครอบครัวละหลายหมื่นบาท/ฤดู แต่ทำกันอยู่ที่บ้านน้ำใสเท่านั้น เพราะมีหัวหน้ากลุ่มติดต่อประสานงานกับบริษัทผู้ให้การสนับสนุน ส่วนบ้านอื่น ๆ ไม่มีคนจัดการ จึงมีการว่างงานแอบแฝงอยู่ไม่น้อยในทุก ๆ ชุมชน (หน้า 77) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของไทย้อกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สังคมไทย้อเห็นคุณค่าของการศึกษา มีคนไม่รู้หนังสือไม่เกินร้อยละ 0.5 ส่งลูกหลานศึกษาเล่าเรียนสูงกว่าภาคบังคับมากขึ้นเป็นลำดับ จบการศึกษาระดับปริญญาก็มีมาก มีการรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองและสังคมอย่างกว้างขวาง ค่านิยมตามอย่างสังคมเมืองแพร่กระจายเข้าสู่ชุมชนไทย้ออย่างต่อเนื่อง มีการใช้เครื่องบริภัณฑ์ต่าง ๆ ทำนองเดียวกับชุมชนเมือง เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ วิทยุ โทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น เครื่องหุงต้มไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น บ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็กำลังพัฒนาเช่นกัน แต่พัฒนาการด้านการเกษตรมีไม่มากนัก เครื่องมือเกษตรสมัยใหม่มีน้อย การเรียนรู้ด้านวิชาการก็มีน้อย การใช้ยาปราบศัตรูพืชและใช้ปุ๋ยเคมียังมีอัตราเสี่ยงสูง (หน้า 76)

Social Organization

ไทย้อกันทรวิชัย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาจากหลากหลายพื้นที่ ดังนั้น ในแต่ละหมู่บ้านจึงมีความเป็นเครือญาติกันค่อนข้างมาก นอกเหนือจากกลุ่มผู้นำชุมชนซึ่งได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ ผู้อาวุโส แล้ว ได้มีการรวมกลุ่มกันแบบหลวมๆ ตามอาชีพ ได้แก่ กลุ่มทอผ้า กลุ่มเลี้ยงสัตว์ กลุ่มศิลปิน (คณะมโหรี) กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มฌาปนกิจศพสงเคราะห์ กลุ่มผู้ใช้น้ำจากโครงการผู้สูบน้ำด้วยไฟฟ้า กลุ่มผู้ปลูกยาสูบ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นต้น

Political Organization

สำหรับโครงสร้างทางการเมือง ไทย้อกันทรวิชัย ทั้ง 7 พื้นที่ มีประวัติความเป็นมาของตนเอง ในอดีตมีการปกครองโดยผู้ปกครองของบ้านเมือง จนกระทั่งปัจจุบันมีการปกครองตามระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น

Belief System

วิถีชีวิตไทย้อกันทรวิชัย ตั้งแต่เกิดจนตายผูกพันอยู่กับความเชื่อและพิธีกรรมเรื่องผี เรื่องพราหมณ์และพุทธศาสนามากมาย ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีและวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ในวัฒนธรรมไทย้อจึงค่อนข้างหลากหลาย จารีตประเพณีที่สำคัญ และส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่เป็นเทคนิควิธีหรือภูมิปัญญาหรืออุบายที่ชาญฉลาดที่สามารถควบคุมคนในชุมชนให้ตั้งอยู่ในทางที่ถูกที่ควร ตามความเหมาะสม ได้แก่ เรื่องของความเชื่อเรื่องผี, ประเพณีการคลอดลูก, พิธีปลงศพและงานบุญ งานประเพณีที่ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาดังนี้ "ผี" ในความหมายของไทย้อและคนอีสาน หมายถึงวิญญาณบรรพบุรุษและทวยเทพ เทวดาซึ่งมีคุณูปการสูงส่งต่อการดำรงชีพของมวลมนุษย์ ผู้คนที่เป็นเชื้อสายเผ่าพันธุ์ต้องปฏิบัติตอบสนองด้วยจิตสำนึกแห่งความกตัญญู มิเช่นนั้นแล้ว จักเกิดอาเพศเหตุร้ายทำให้ไม่สามารถดำรงชีพอยู่อย่างเป็นสุขได้ "ประเพณีการคลอดลูก" ปัจจุบัน ไทย้อเลิกการทำคลอดโดยหมอตำแยโดยสิ้นเชิง ส่วนใหญ่เป็นการฝากครรภ์และคลอดที่โรงพยาบาลใกล้หมู่บ้าน แต่เมื่อมารดาและบุตรกลับมาบ้านเรือนของตนจะมีพิธีสู่ขวัญโดยหมอสูตรหรือหมอพราหมณ์ การสู่ขวัญมารดาเรียกว่า "สู่ขวัญแม่ลูกอ่อน" การสู่ขวัญบุตรเรียก "สู่ขวัญเด็กน้อย" วัตถุประสงค์ของการสู่ขวัญก็เพื่อบอกกล่าวให้ผีเรือนรับรู้ว่า มีหญิงเป็นแม่และทารกเกิดใหม่ขึ้นในครัวเรือน ขอให้ช่วยอภิบาลคุ้มครองให้อยู่ดีมีสุขด้วย และให้คนทั้งสองมีขวัญดี มีสติมั่นคง ไม่ขวัญอ่อน ขวัญหาย ขี้กลัว ขี้ตกใจ ในพิธีกรรมนี้มีการ "ป่าวคำเลิด" โดยมีความเชื่อว่า คนเรามีการเวียนว่ายตายเกิด การป่าวคำเลิดก็เพื่อมิให้ผีที่เคยเป็นแม่เด็กในชาติก่อนเอาเด็กไป หากเด็กถูกผีเอาไปก็ตาย การทำพิธีสู่ขวัญพร้อมกันทั้งแม่และลูกหรือแยกกันทำก็ได้ "พิธีปลงศพ" ไทย้อแบ่งศพเป็น 2 ประเภท คือ ศพตายโหงและศพตายปกติ ศพตายโหงจะไม่มีการบำเพ็ญกุศล ไม่เอาเข้าวัด ไม่เอาเข้าบ้านเพราะเชื่อว่าเป็นศพที่ตายร้ายจะนำความเดือดร้อนมาสู่สถานที่นั้น ๆ โดยจะนำศพที่ตายโหงไปฝังในวันนั้นเลย ปัจจุบันการฝังศพผีตายโหงตามความเชื่อดังกล่าว ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นเวลาประมาณ 30 ปีมาแล้ว ไม่ค่อยมีการฝังศพ มักจะนำมาบำเพ็ญบุญกุศลที่บ้านเพียง 1 คืน แล้วนำไปเผาที่วัด เป็นการให้เกียรติผู้ตายอย่างหนึ่ง และเป็นการส่งผู้ตายไปสู่ที่ชอบอีกอย่างหนึ่ง ประกอบกับการใช้ป่าช้าเป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่อย่างมาก ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเลิกการฝังศพโดยสิ้นเชิง นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของผู้นำชุมชนไทย้อ พ.ศ.2542 นี้ ที่ยกเลิกประเพณีการฝังศพผีตายโหง ศพตายปกติ เช่น ป่วยตาย หรือตายเฒ่า ตายแก่ มีการบำเพ็ญบุญกุศล สวดอภิธรรมศพ โดยทั่วไปเก็บศพไว้ 3 คืน แต่ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ จะเก็บศพไว้นานเท่าใดก็ได้ แต่เดิมนั้นผู้เป็นเขยทุกคนของผู้ตายจะต้องออกมาเต้นสากตอนกลางคืน หลังจากพระสวดศพแล้ว ปัจจุบันประเพณีการเต้นสากในงานศพนี้ ยังคงมีอยู่เป็นปกติในกลุ่มไทย้อบ้านแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ไทย้อกันทรวิชัยเลิกราไปนานแล้ว จนคนรุ่นใหม่ไม่ทราบว่าเคยมีประเพณีดังกล่าวในวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ตน การวางศพหรือโลงศพของไทย้อมีข้อแตกต่างจากประเพณีพื้นบ้านอีสาน คือ ชาวอีสานวางศพหรือโลงศพให้หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเป็นนัยบอกว่า ชีวิตได้ตกอับดับสูญแล้ว แต่ไทย้อวางศพหรือโลงศพให้ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออกโดยเชื่อว่า ทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งการเริ่มต้นของแสงสว่าง ผู้ตายจะได้ไปพบกับความสว่างไสว มีชีวิตที่รุ่งโรจน์ในภพใหม่ การเผาศพ ไทย้อไม่เผาในวันพุธ นอกนั้นเผาได้ทุกวัน ตามประเพณีเผาในเวลาประมาณ 13.00 น. เมื่อเผาแล้วมีการสวดส่งอีก 3 วัน ในวันที่สี่หลังการเผามีการทำบุญ ถวายสังฆทาน เป็นอันเสร็จสิ้นการปลงศพในระยะแรก ระยะที่ 2 ทำหลังจากวันเผาศพ 3 ปี เรียกว่า "ทำบุญกองบวช" มีการถวายภัตตาหารและเครื่องสังฆทานแด่พระสงฆ์ กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย หากบุตรหลานผู้ตายเป็นผู้ชายที่ยังไม่มีครอบครัวก็จะบวชทุกคน เพื่ออุทิศผลบุญครั้งใหญ่แก่ผู้ตาย เป็นการจบสิ้นพิธีปลงศพ โดยสิ้นเชิง การวางศพหรือโลงศพของไทย้อมีข้อแตกต่างจากประเพณีพื้นบ้านอีสาน คือ ชาวอีสานวางศพหรือโลงศพให้หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเป็นนัยบอกว่า ชีวิตได้ตกอับดับสูญแล้ว แต่ไทย้อวางศพหรือโลงศพให้ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออกโดยเชื่อว่า ทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งการเริ่มต้นของแสงสว่าง ผู้ตายจะได้ไปพบกับความสว่างไสว มีชีวิตที่รุ่งโรจน์ในภพใหม่ คู่สามีภรรยาไทย้อ หากคนหนึ่งคนใดตายไป คนที่มีชีวิตอยู่ตกเป็นม่าย ตามประเพณีไทย้อจะต้องอยู่เป็นม่ายไปจนตาย หากฝืนประเพณี คือ มีคู่ครองใหม่ ถือว่าผิดผีไม่นับถือบรรพบุรุษ เป็นเรื่องสังคมไม่ยอมรับและพากันประณามหยามเหยียด มีไทย้อเป็นม่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บ้านท่าขอนยาง เนื่องจากใช้สารเคมีในการเกษตร โดยไม่ใช้วิธีป้องกันที่ปลอดภัยเพียงพอ เกษตรกรอายุระหว่าง 40-50 ปี ตายมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ นอกจากความเชื่อเรื่องพิธีการในการเกิดและการตายแล้ว ไทย้อ ยังมีความเชื่อเรื่องการทำบุญ ได้มีประเพณีการทำบุญอีกหลายอย่าง อาทิ บุญข้าวจี่, บุญผะเหวด, ประเพณีสงกรานต์, บุญบั้งไฟ,บุญเบิกบ้าน, บุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสาก,บุญเข้าพรรษา-ออกพรรษา, ไหลเรือไฟ, การสู่ขวัญ, การเลี้ยงมเหศักดิ์, ซึ่งงานบุญทั้งหมดนี้ทำเพื่อความเป็นสิริมงคลสำหรับผู้ที่ยังอยู่และเป็นการระลึกถึงผู้มีพระคุณทั้งหลายอีกด้วย (หน้า 61-73)

Education and Socialization

ไทย้อ ทั้ง 7 ชุมชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาจนจบภาคบังคับ มีเพียง 1 คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ สำหรับสถานที่ศึกษาบางชุมชนมีสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยม และมีหลายโรงเรียน แต่บางชุมชนไม่มีโรงเรียนเลยแต่สามารถไปเรียนชุมชนใกล้เคียงได้อย่างสะดวก ดังนั้น จึงทำให้ไทย้อ ทั้ง 7 ชุมชนของอำเภอกันทราช สามารถเรียนจนจบภาคบังคับทุกคน และด้วยการให้ความสำคัญกับการศึกษาของคนในชุมชน ทำให้เด็กในปัจจุบันมีการศึกษาในระดับที่สูงกว่าภาคบังคับ จนถึงระดับอุดมศึกษา

Health and Medicine

การบำบัดโรคภัยไข้เจ็บของชุมชนไทย้อในเขตอำเภอกันทรวิชัย ในอดีตรักษาพยาบาล แบบโบราณ หรือหมอพื้นบ้าน หรือหมอกลางบ้าน ซึ่งมีหลายประเภท นำความเชื่อเรื่องผีมาเกี่ยวข้องด้วยเป็นส่วนมาก ชาวบ้านเรียกว่า "หมอยาฮาดไม่" ปัจจุบันไทย้อในทุกชุมชนในอำเภอกันทรวิชัย ต่างรักษาพยาบาลแผนปัจจุบันทั้งสิ้น เป็นเวลาประมาณ 10 ปีมาแล้ว สืบเนื่องจากการคมนาคมที่สะดวกขึ้น อีกทั้งพืชสมุนไพรหายากมากขึ้น ส่วนตำรายาพื้นบ้านเป็นตำราที่อยู่ในความทรงจำของผู้อาวุโสในชุมชนเท่านั้น มีบางครอบครัวที่ยังปรุงยาใช้เองภายในบ้าน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องผี ก็ยังมีอิทธิพลอยู่ การนับถือผี การปฏิบัติต่อผี เพื่อรอดพ้นจากเหตุเภทภัยธรรมชาติและการป่วยไข้และเพื่อการอยู่ดีกินดีของตนเอง ครอบครัวและชุมชน ก็ยังคงกระทำเป็นปกติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (หน้า 61)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

วัฒนธรรมการแต่งกายและใช้เครื่องประดับของไทย้อได้เปลี่ยนตามสังคมมาประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าเรื่องที่อยู่อาศัยมาก ปัจจุบันนี้หากเข้าไปในชุมชนไทย้อที่ใดก็ตาม จะไม่ได้เห็นการแต่งกายแบบไทย้อแท้ ๆ เลย แม้ในงานเทศกาลหรืองานประเพณีต่าง ๆ ก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าไม่ทันสมัยจึงขาดการอนุรักษ์สืบสานกันไว้ ทำให้วัฒนธรรมการแต่งกายแบบดั้งเดิมของไทย้อสูญหายไปจากสังคม แต่อาจฟื้นฟูได้อีก ผู้สูงอายุที่ยังพึงพอใจกับอดีตก็หวนกลับไปแต่งกายแบบเดิมได้ เครื่องแต่งกายดั้งเดิมที่พอมีกันอยู่บ้างไม่ครบถ้วนและเสื่อมสภาพ การทำขึ้นใหม่เป็นการประยุกต์ตามความคิดของช่างตัดเสื้อผ้ารุ่นใหม่ ไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้ ลักษณะกระเดียดไปทางภาคกลาง เลียนแบบสังคมเมืองภาคกลาง ผู้สูงอายุทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ยังคงจดจำลักษณะเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับต่าง ๆ ในอดีตได้เป็นอย่างดี เอกลักษณ์การแต่งกายของไทย้อเป็นดังนี้ ในแบบดั้งเดิมนั้น ผู้ชายนุ่งโสร่งตาหมากรุกจุดเด่นอยู่ที่ขนาดของตาผ้าและสีในตาผ้านุ่งขมวดเป็นพก ในพกสามารถใส่สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เช่น หมาก ยาสูบ เป็นต้น โสร่งมีทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย คล้ายกับโสร่งผู้ชายพื้นบ้านอีสานสมัยนี้ เสื้อมีลักษณะเหมือนเสื้อม่อฮ่อมของทางภาคเหนือ เป็นผ้าฝ้ายมีแต่สีน้ำเงินเข้มกับสีดำ 2 สีเท่านั้น ด้านหน้าติดกระดุมหรือผูกปมก็ได้ มีกระเป๋าที่ชายเสื้อด้านหน้าข้างละใบ เป็นเสื้อที่เย็บด้วยมือ เมื่อมีจักรเย็บผ้าก็เย็บด้วยจักร ถ้าออกนอกบ้านมีผ้าขาวม้า (เป็นผ้าไหม) คาดเอว ไม่มีรองเท้า เมื่อเริ่มรู้จักใช้รองเท้าก็ทำรองเท้าด้วยหนังควายแห้งใช้ เพิ่งเปลี่ยนมาใช้รองเท้าจากโรงงานในเวลา 50-60 ปีมานี้ ทรงผมผู้ชายเป็นทรงมหาดไทยทั้งสิ้น ผู้หญิงเดิมไว้ผมยาว เกล้าผมมวย ทั้งหญิงโสดและหญิงแต่งงานแล้วเกล้ามวยไม่แตกต่างกัน เกล้าไว้บนศีรษะหรือไว้ที่ท้ายทอยก็ได้ หญิงสาวจะปล่อยผมไม่เกล้ามวยก็ได้ แต่หญิงที่มีสามีแล้ว ต้องเกล้ามวยทั้งสิ้น สมัยก่อนสระผมด้วย "น้ำมวก" หรือ "น้ำข้าวม่า" ทำจากน้ำซาวข้าว มีสรรพคุณทำให้ผมดกดำเป็นเงาและหงอกขึ้นช้ากว่าวัย ปัจจุบันผู้สูงอายุบางคนก็ยังใช้กันอยู่ เสื้อผู้หญิงเป็นเสื้อคอตั้ง ไม่มีปก ผ่าอกตลอดติดกระดุม 5 เม็ด มีกระเป๋าด้านหน้า อยู่ระดับสะเอวข้างละใบ แขนทรงกระบอกยาวปิดข้อศอก สีทึบเช่นเดียวกับเสื้อผู้ชาย หากไปงานบุญ งานวัด หรืองานพิธีต่าง ๆ จะมีผ้าพาดเฉียงเป็นผ้าไหมชั้นดีที่ทอประณีตมาก ผ้าพาดเฉียงนี้มักจะโอ้อวดและชื่นชมกันในกลุ่มผู้หญิงย้อสมัยก่อน ผ้านุ่งเป็นผ้าซิ่นไหม ซึ่งไทย้อผลิตเองแบบครบวงจรเริ่มตั้งแต่ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนกระทั่งออกมาเป็นผ้าตามต้องการ เดิมผู้หญิงย้อนิยมเครื่องประดับเงินรูปพรรณ (ไม่ใช้ทองคำ) มีตุ้มหู เรียก "กะจอน" มีกำไลแขน เรียก "ก้องแขน" และมีแหวนทองเหลืองไม่นิยมใช้สร้อยคอ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและประยุกต์เครื่องนุ่งห่มต่างๆ ตามพัฒนาการของสิ่งแวดล้อม การแต่งกายชายและหญิงไทย้อทั้งในชีวิตประจำวันและในงานพิธีหรืองานเทศกาลต่างๆ นิยมตามอย่างภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ (หน้า 58)

Folklore

สำหรับการละเล่นของไทย้อ พบว่า มีการเต้นสากซึ่งเป็นการเต้นในช่วงพิธีศพของผู้อาวุโส ไทย้อนำมาใช้ในงานศพก็เพื่อผ่อนคลายความโศกเศร้าให้แก่บรรดาญาติมิตรของผู้ตาย โดยเขยของครอบครัวจะเป็นผู้เต้น และถ้าหากเขยไม่เต้นก็ต้องจ้างคนอื่นมาเต้นแทน ค่าจ้างอาจจะเป็นเงินหรือเหล้าก็ได้ การเต้นสากมีลักษณะท่าทางการเต้นทำนองเดียวกับการเต้นลาวกระทบไม้ เขยทุกคนต้องออกมาเต้นใน 3 คืนแรก และตอนยกศพไปเผา การเต้นสากเป็นศิลปะการบันเทิงอย่างหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคอีสาน เผ่าพันธุ์ไท-ลาวเรียกลาวกระทบไม้ เขมรเรียก "เรือนอันเร" โส้เรียก "ทั่งบั้ง" ไทดำเรียก "เต้นบั้งบู่" มีแต่เครื่องทำจังหวะหรือมีดนตรีอื่นบรรเลงทำนองด้วยก็ได้ ปัจจุบันประเพณีการเต้นสากในงานศพนี้ยังคงมีอยู่เป็นปกติในกลุ่มไทย้อบ้านแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ไทย้อกันทรวิชัยเลิกราไปนานแล้ว จนคนรุ่นใหม่ไม่ทราบว่าเคยมีประเพณีดังกล่าวในวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ตน

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ย่อ ย้อ เหยอะ ไทย้อ โย้ ญ่อ

Social Cultural and Identity Change

ชุมชนไทย้อในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเองในแทบทุกด้าน อาทิ ด้านที่อยู่อาศัย รูปแบบและลักษณะการอยู่อาศัย, การบำบัดรักษาโรค, อาหารการกิน, การแต่งกาย, แต่ที่ยังคงมีอยู่คือ ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี พิธีกรรมและประเพณี งานบุญต่าง ๆ

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

- รูปในแผนที่หมู่บ้าน หน้า 20-24, 28, 39, 49-50, 54,32 - ภาพเรือนอยู่อาศัย หน้า 57

Text Analyst กรชนก สนิทวงค์ Date of Report 31 ต.ค. 2555
TAG ญ้อ ย้อ ญ่อ โย้, วิถีชีวิต, กันทรวิชัย, มหาสารคาม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง