สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject อูรักลาโว้ย,ชาวเล,ระบบการแพทย์ท้องถิ่น,ระบบการแพทย์สากล,ระบบการแพทย์พหุลักษณ์, ภูมิปัญญาชาวบ้าน,อาชีพดำน้ำ,โรคเกิดจากความดันที่ลดลง,โรคน้ำบีบ
Author สมบูรณ์ อัยรักษ์
Title ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการแก้ปัญหาสาธารณสุข : กรณีศึกษาอาชีพการดำน้ำของชาวเลภูเก็ต
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity อูรักลาโว้ย อูรักลาโวยจ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเนเชี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 100 Year 2538
Source บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
Abstract

ผู้เขียนได้ทำการศึกษาถึงภูมิปัญญาชาวบ้านกับการแก้ปัญหาสาธารณสุข กรณีศึกษาการดำน้ำของชาวเลภูเก็ต เป็นการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ โดย เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลในทุกบริบทของการดำรงชีวิตของชาวเลภูเก็ต และได้ศึกษาเฉพาะเจาะลึกในส่วนของโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพดำน้ำคือ โรค Decompression Sickness (DCS) โดยปัจจัยที่มีผลกว่า โรคน้ำบีบ่เกิดจากการประกอบอาชีพดำน้ำเลภูเก็ตในทุกบริบทของชีวิต หรือที่ชาวเลเรียกว่า โรคน้ำบีบ ปัจจัยที่มีผลต่อ การเกิดโรค DCS โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มชาวเลที่เคยเกิดโรค กับกลุ่มชาวเลที่ไม่เคยเกิดโรค พบว่าปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อการเกิดโรค DCS อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ได้แก่ ระยะเวลาในการประกอบอาชีพ จำนวนพี่เลี้ยงที่คอยช่วยเหลือผู้ดำน้ำ ความลึกในการดำน้ำ มีเหตุการณ์ผิดปกติที่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ ด้วยความรวดเร็ว ระยะเวลาในการดำน้ำแต่ละครั้ง และระยะห่างระหว่างท่อไอเสีย เครื่องอัดอากาศ และท่อดูดอากาศ ชาวเลมีการใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหา ชาวเลตั้งแต่การใช้พิธีกรรมต่างๆ จนถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ที่ประสบเหตุจากโรคน้ำบีบ ชาวเลจะใช้วิธีการที่เรียกว่า “การปรับตัว” โดยเป็นการปรับความดันภายในร่างกายให้เข้าสู่ภาวะปกติ และใช้วิธีการบีบนวดจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว สำหรับการรักษาต่อเนื่อง จะใช้วิธีการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ด้วยการประคบ บีบนวด การใช้เหล้าขาว น้ำอุ่น และน้ำขิง คอยถูนวดให้แก่ผู้ป่วย โดยเชื่อว่าเลือดลม จะไหลเวียนดีขึ้น แต่ถ้าอาการหนักมากก็จะส่งไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันต่อไป

Focus

ภูมิปัญญาในการรักษาโรคที่เกิดจากอาชีพดำน้ำ รวมถึงปัจจัยและพฤติกรรมต่างๆ ที่มี ผลทำให้เกิดโรค Decompression Sickness ของชาวเลภูเก็ต (หน้า 54-89)

Theoretical Issues

ผู้เขียนใช้กรอบแนวคิดในการศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านของชาวเลภูเก็ต ภูมิปัญญาชาวบ้านจะมีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบอาชีพดำน้ำของชาวเล ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงและภูมิปัญญานี้จะมีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และในเรื่องของระบบการรักษาพยาบาลอันจะมีผลต่อภาวะการเจ็บป่วย ความพิการ และการเสียชีวิตของประชาชน (หน้า 5) ผู้เขียนยังใช้แนวคิดทางสถิติ มาวิเคราะห์ปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ อันจะทำให้เกิดโรคจากการประกอบอาชีพดำน้ำ โดยเป็นการคำนวณหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า Odds Ratio และค่าไคว์สแคว (Chi-square) หรือ Fisher Exact แล้วแต่กรณี เพื่อวิเคราะห์หาความแตกต่างที่มีค่าของความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในระดับความเชื่อมั่น 95% ของพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ (หน้า 28)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ซึ่งในการศึกษานี้ผู้ศึกษาได้เลือกกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลใน 2 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มอูรัก ลาโว้ย และกลุ่มสิงห์ (มอแกนและมอแกลน) (หน้า 33) ซึ่งกลุ่มที่เป็นกรณีศึกษาของชาวเลคือ กลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มหนุ่มสาว และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพดำน้ำ

Language and Linguistic Affiliations

สามารถแบ่งภาษาที่ใช้ในการติดต่อกันในชีวิตประจำวันออกได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ ลักษณะแรกเป็นการติดต่อภายในกลุ่ม การติดต่อกันภายในกลุ่มของชาวเลทั้งสองกลุ่มที่เป็นกรณีศึกษามีความแตกต่างกันในภาษาพูดอย่างสิ้นเชิงกล่าวคือ กลุ่มอูรัก ลาโว้ย มีภาษาพูดคล้ายกับภาษามลายูและอินโดนีเซีย ส่วนกลุ่มสิงห์จะมีภาษาที่แตกต่างออกไปจนไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ (หน้า 38-39) ลักษณะที่สองเป็นการติดต่อกับภายนอก จะใช้ภาษาไทยในการติดต่อโดยเป็นภาษาไทยสำเนียงภูเก็ต (หน้า 27)

Study Period (Data Collection)

เก็บข้อมูลภาคสนามทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม พ.ศ. 2537 (หน้า 29-30)

History of the Group and Community

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล และหมู่เกาะต่างๆ ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศพม่า จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ไปจนถึงประเทศมาเลเซีย (หน้า 8) ความเป็นมาของชาวเลตามประวัติศาสตร์ได้มีการกล่าวถึงที่มาของชนกลุ่มนี้กันอย่างกว้างขวาง เช่น การอพยพมาจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงมาทางตอนใต้มาจนถึงแหลมอินโดจีนแล้วกระจายตัวอยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ บ้างกล่าวว่า เดิมเป็นชนเผ่าอินโดนีเซียนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาสู่เกาะบอร์เนียว เริ่มใช้ชีวิตแบบชาวเกาะ จนเกิดเป็นเผ่าดยัคขึ้นมา (หน้า 9) กลุ่มชาวเลที่เป็นกรณีศึกษาซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านราไวย์และบ้านแหลมตุ๊กแก มีประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการอพยพโยกย้ายของกลุ่มตนเองกล่าวคือ กลุ่มชาวเลที่บ้านราไวย์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอูรัก ลาโว้ย เชื่อว่าบรรพบุรุษของตนอพยพมาจากหมู่เกาะในน่านน้ำประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย และเข้ามาอยู่ในบริเวณหาดราไวย์ประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมาแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มสิงห์ เป็นพวกที่เล่ากันว่าบรรพบุรุษดั้งเดิมอาศัยอยู่ในประเทศพม่า บริเวณเกาะสองและเกาะพรัต และได้อพยพมาอยู่ที่หาดราไวย์ประมาณ 40 ปีมาแล้ว โดยอพยพผ่านมาจากการศึกษาปากจก บ้านบางสัก ในเขตจังหวัดพังงา (หน้า 32) ส่วนชาวเลอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นกรณีศึกษาคือ บ้านแหลมตุ๊กแก ซึ่งกลุ่มนี้เชื่อว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศมาเลเซีย เช่นเดียวกับชาวเลชุมชนราไวย์ และอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายมาแล้ว (หน้า 33)

Settlement Pattern

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเลในกรณีศึกษาทั้งที่ชุมชนราไวย์และชุมชนแหลมตุ๊กแกนั้น กลุ่มชาวเลไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเองเนื่องจากกลุ่มชนเหล่านี้เป็นกลุ่มชนอพยพ ไม่มีการตั้งหลักแหล่งที่ถาวรจึงทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (หน้า 2, 34)

Demography

จำนวนประชากรของชาวเลในชุมชนราไวย์และชุมชนแหลมตุ๊กแก อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีจำนวนทั้งสิ้น 1,177 คน โดยมีเพศชายร้อยละ 52.17 และเพศหญิงร้อยละ 47.83 ซึ่งในชุมชนราไวย์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 620 คน แบ่งเป็นเพศชาย 323 คน เพศหญิง 297 คน ส่วนชุมชนแหลมตุ๊กแกมีประชากรรวมทั้งสิ้น 557 คน แบ่งเป็นเพศชาย 291 คน และเพศหญิง 266 คน (หน้า 40)

Economy

ชาวเลส่วนใหญ่มีฐานะที่ค่อนข้างยากจนอาจด้วยรูปแบบของการดำรงวิถีชีวิตสมัยก่อนที่มีการเร่ร่อนในท้องทะเลเกือบตลอดทั้งปีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บหอมรอมริบทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาแต่อย่างใด และอีกเหตุผลหนึ่งคือ การไม่กล้าไปฝากเงินที่ธนาคาร ด้วยความอายและกลัว เนื่องจากอ่านหนังสือไม่ได้ (หน้า 2, 62) แต่ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป มีการตั้งถิ่นฐานที่ถาวรมากขึ้น แต่ค่านิยมความเชื่อเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในชุมชนชาวเลทำให้ชาวเลมีฐานะยากจนเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนไทยอื่นๆ การประกอบอาชีพของชาวเลทุกครัวเรือนจะอาศัยการหาทรัพยากรสัตว์น้ำในการเลี้ยงชีพ เช่น การวางลอบ ดักไซ วางเบ็ด หรือดำน้ำลงไปหาสัตว์น้ำ (หน้า 2) ทำให้จำนวนรายได้ไม่มากพอ เพียงแต่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวของตนได้ รายได้ของชาวเลในชุมชนที่เป็นกรณีศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งมีรายได้ระหว่างเดือนละ 1,000-2,000 บาท มีบางส่วนที่มีรายได้ตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป แต่โดยภาพรวมแล้วส่วนใหญ่จะมีรายได้เฉลี่ยแต่ละครอบครัวประมาณเดือนละ 2,308 บาทต่อเดือน ด้านหนี้สิน โดยส่วนใหญ่ชาวเลจะเป็นหนี้สินซึ่งเกิดจากการกู้ยืมไปประกอบอาชีพ เช่น ซื้อเครื่องมือในการประกอบอาชีพ เป็นทุนในการออกทะเล เป็นต้น (หน้า 46) หนี้สินที่ชาวเลกู้ยืมกับนายทุนคนไทยทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ในด้านการแลกเปลี่ยนเชิงเศรษฐกิจ เมื่อชาวเลหาสัตว์น้ำมาได้ต้องนำมาส่งให้กับนายทุนที่ให้เงินทุนในการออกทะเลเพียงรายเดียวเท่านั้น เมื่อปลดหนี้ด้วยสัตว์ทะเลที่หามาได้จนหมด ส่วนที่เหลือก็ต้องขายให้กับนายทุนรายนั้นเพียงรายเดียวเช่นกัน ทำให้นายทุนกดขี่ราคา แต่ชาวเลก็ต้องยอมจำนนเนื่องจากการหวังพึ่งพิงในด้านต่างๆ ของการดำรงชีวิตในอนาคตเช่นกัน

Social Organization

ลักษณะของสังคมชาวเลโดยทั่วไปเป็นสังคมที่รักสงบ และสนุกสนาน ชาวเลกลุ่มต่างๆ มีการติดต่อสัมพันธ์กันและมีการแต่งงานระหว่างกลุ่มด้วย ชาวเลมีลักษณะเด่นที่เหมือนกันประการหนึ่งก็คือ “ไม่มีการรังเกียจและกีดกันซึ่งกันและกัน” ในช่วงเวลาที่มีพิธีกรรมหรือการเล่นสนุกสนานก็จะมาร่วมทำพิธีด้วยกัน โดยทั่วไปชาวเลไม่ค่อยมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน มีความสามัคคีกัน และมีความเคารพนับถือผู้อาวุโสอย่างเคร่งครัด (หน้า 33, 36) ที่อยู่อาศัยของชาวเล มักจะอาศัยอยู่บ้านขนาดเล็ก ยกพื้นสูง และบางคนอาศัยอยู่บนเรือที่ถูกยกขึ้นมาไว้บนบกตามความเคยชินดั้งเดิม ลักษณะครอบครัวจะเป็น “ครอบครัวเดี่ยว” โดยลูกที่แต่งงานแล้วจะแยกออกไปสร้างครอบครัวของตนเอง ยกเว้นในกรณีที่ไม่มีใครอยู่ดูแลพ่อแม่ จึงจะอาศัยอยู่รวมกับพ่อแม่ การแยกครอบครัว จะสร้างบ้านเรือนใกล้ๆ กับบ้านของพ่อแม่ (หน้า 34) การแบ่งหน้าที่การทำงานภายในครอบครัว โดยที่ผู้ชายจะออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ทำประมง ส่วนผู้หญิงจะทำหน้าที่แม่บ้าน ดูแลบ้าน และเลี้ยงลูก ผู้หญิงจะมีบทบาทที่สำคัญในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ภายในครอบครัว เช่น (หน้า 34, 54)

Political Organization

ในชุมชนชาวเลจะมีผู้นำใน 2 ลักษณะด้วยกันคือ ผู้นำที่เกิดจากการแต่งตั้งของทางภาครัฐ กับผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำที่เกิดจากการแต่งตั้งของทางภาครัฐ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน และสมาชิกอาสาสมัครต่างๆ เป็นต้น ผู้นำทางความเชื่อ ได้แก่ “โต๊ะ หรือโต๊ะหมอ” เป็นหมอน้ำมนต์ประจำชุมชน ซึ่งมีหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีบทบาทในด้านการรักษาพยาบาลด้วยการปัดเป่าด้วยคาถาและใช้น้ำมนต์เพื่อไล่ผี ซึ่งส่งผลในทางด้านจิตวิทยาของชาวเลเป็นอย่างมาก จึงทำให้ “โต๊ะหมอ” มีบทบาทมากและเด่นกว่ากลุ่มอื่นๆ ในชุมชน (หน้า 34) กลุ่มที่มีอิทธิพลอีกกลุ่มหนึ่งในชุมชนคือ กลุ่มนายทุน เจ้าของที่ดิน และพ่อค้า ในบริเวณชุมชนที่ชาวเลอาศัยอยู่ เนื่องจากชาวเลส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินที่ตนอาศัยอยู่ ชาวเลจะอาศัยทุนในการประกอบอาชีพ การทำมาค้าขายของที่หาได้ และซื้อสินค้าทั้งหมดจากพ่อค้า นายทุน และเจ้าของที่ดิน ดังนั้น ในหลายๆ กรณีชาวเลจึงดำรงชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขของเจ้าของที่ดิน (หน้า 34-35)

Belief System

ผู้เขียนได้กล่าวถึงระบบความเชื่อของชุมชนชาวเล ซึ่งโดยส่วนใหญ่ชุมชนชาวเลจังหวัดภูเก็ตนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ยังคงมีความเชื่อเรื่องผีสาง ชาวเลเชื่อว่าการเจ็บป่วย หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ “เกิดจากการกระทำของผีและวิญญาณ” ผีของชาวเลมี 2 ประเภทคือ ผีบรรพบุรุษ หรือ “ดะโต๊ะ” และผีจากธรรมชาติ หรือ “ผีชิน” ทุกชุมชนของชาวเลจะมี “ศาลประจำชุมชน” เป็นที่ประทับของเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเลเคารพนับถือ (หน้า 33) ระบบความเชื่อของชุมชนชาวเลจะปรากฏออกมาในลักษณะของพิธีกรรมต่างๆ เช่น ประเพณีการทำศพ ก่อนใส่โลงจะมีการอาบน้ำศพ ซึ่งคนที่อาบน้ำศพต้องเป็นเพศเดียวกันกับผู้ตาย โดยเชื่อว่าหากเป็นคนละเพศแล้ววิญญาณผู้ตายจะไม่ไปเกิด ประเพณีลอยเรือ เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งปวงให้พ้นไปจากชุมชน เป็นการเสี่ยงทายว่าการทำมาหากินในปีนั้นจะดีหรือไม่อย่างไร ถ้าลอยเรือแล้ว เรือลอยหายไป หมายความว่าในปีนั้นการจับปลา การทำมาหากินจะสะดวก แต่ถ้าลอยเรือแล้ว เรือไปไม่ไกล หรือคลื่นซัดกลับมาสู่ฝั่ง การทำมาหากินจะฝืดเคือง และลำบาก ประเพณีอาบน้ำมนต์ เป็นประเพณีอาบน้ำล้างมลทิน และสิ่งอัปมงคลทั้งปวงออก จากร่างกาย ผู้ทำพิธีคือ โต๊ะหมอ มีการสวดบริกรรมคาถา การเล่นดนตรีพื้นเมือง และการร่ายรำของผู้หญิง เพื่อบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีกินข้าวล่าง เป็นพิธีกรรมที่ความเชื่อว่าสามารถป้องกันโรคและสิ่งอัปมงคลได้ พิธีกรรมนี้จะกระทำก็ต่อเมื่อมีเหตุร้าย หรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาในชุมชน เช่น ดาโต๊ะ หรือหมอแผนโบราณประจำชุมชน ฝันว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงภายในชุมชน ซึ่งโดยทั่วไปมักจะฝันสอดคล้องกับการมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นมาก หรือล้มตายมากในชุมชน โดยเชื่อว่าการเกิดเหตุร้ายเกิดจากมีใครไปทำผิดผี จึงต้องทำพิธีขอโทษต่อผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อทำพิธีเสร็จจะมีการนำข้าวที่แต่ละบ้านเตรียมมาในพิธี มานั่งกินข้างล่างของตัวบ้านในพิธี และห้ามไม่ให้มีการเรียกให้ใครมาร่วมกินด้วย มิฉะนั้นอาจจะทำให้ผีร้ายหรือสิ่งชั่วร้ายเข้าบ้านได้ (หน้า 36-38) ความเชื่อในการประกอบอาชีพดำน้ำของชาวเล ก่อนที่จะลง ดำน้ำชาวเลจะมีการยกมือขึ้นไหว้ทะเลก่อนที่จะมีการลงทะเลเสมอ เพื่อเป็นการขอโทษ และขอให้ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขานับถือในทะเลให้คุ้มครองให้ปลอดภัย (หน้า 56, 59) ทางด้านอุบัติเหตุที่เกิดจากการดำน้ำ หรือที่เรียกว่า “โรคน้ำบีบ” นั้น ชาวเลบางรายยังมีความเชื่อว่า เกิดขึ้นมาจากการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์กระทำเอา (หน้า 57) ความเชื่อเหล่านี้ยังสื่อให้เห็นถึงนัยสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันในการดำรงวิถีชีวิต

Education and Socialization

ระดับการศึกษาของกลุ่มชาวเลที่เป็นกรณีศึกษา ปรากฏว่า โดยส่วนใหญ่ชาวเลจะได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา มีเพียงส่วนน้อยที่ศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่า และมีชาวเลอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษา (หน้า 35) ชาวเลมีการเคารพนับถือผู้อาวุโสในชุมชนทำให้มีการสืบทอดประเพณีปฏิบัติต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น การประกอบอาชีพดำน้ำ สำหรับชาวเลรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้จากชาวเลผู้ที่มีประสบการณ์ในการดำน้ำว่าควรมีการปฏิบัติตัวอย่างไรในการดำน้ำทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง รวมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อประสบอุบัติเหตุจากการดำน้ำ เป็นต้น (หน้า 59-60)

Health and Medicine

ผู้เขียนได้กล่าวถึงระบบการสุขาภิบาล และการสาธารณสุขของกลุ่มชาวเลในพื้นที่ศึกษาซึ่งมีความใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก เช่น การไม่มีส้วมใช้ที่ถูกสุขลักษณะ น้ำดื่มน้ำ ใช้ซึ่งนำมาจากบ่อที่ขุดขึ้นทั้งในส่วนที่เป็นสาธารณะ และส่วนตัว มีบางส่วนที่ซื้อจากรถขายน้ำ การปรับปรุงคุณภาพของน้ำจะใช้วิธีการต้มเป็นหลัก (หน้า 43-46) ด้านการสาธารณสุข โรคที่พบบ่อยคือ โรคทางเดินหายใจ และไข้หวัด และรับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันเป็นหลัก ซึ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจในการรับการรักษาพยาบาลคือ แม่บ้าน (หน้า 48-53) และผู้เขียนยังได้กล่าวถึงการประสบอุบัติเหตุจากการดำน้ำซึ่งเป็นงานศึกษาหลัก ของงานชิ้นนี้ โดยโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพดำน้ำคือ Decompression Sickness หรือที่ชาวเลเรียกว่า “โรคน้ำบีบ” ชาวเลมีการเตรียมสภาพร่างกาย เช่น การงดดื่มเหล้า และ สูบบุหรี่ การกำหนดระยะเวลาในการดำน้ำ ความลึกของการดำน้ำ ในการดำน้ำ การปฐมพยาบาล ชาวเลเรียกว่า “การปรับตัว” โดยให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากเหมือนกับจะลงดำน้ำ แล้วประคองคนที่เป็นโรคลงไปในน้ำในระดับความลึกประมาณ 4-5 วา หรือประมาณ 8-10 เมตร คนหนึ่งจะจับหน้ากากให้แนบสนิทกับใบหน้า อีกคนจะช่วยพยุงผู้ป่วยไว้ หลังจากนั้นจะช่วยบีบนวดผู้ป่วย จนผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว ฟื้นสติ หรือกระดิกตัวได้ ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น วิธีนี้เป็นการปรับระดับความดันในร่างกายให้กลับสู่สภาพเดิมให้มากที่สุดซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ชาวญี่ปุ่นนำมาสอนให้กับกลุ่มชาวเล สำหรับการรักษาพยาบาลในระยะต่อเนื่อง ชาวเลผู้ที่ประสบเหตุจะได้รับการดูแลรักษาจากแม่บ้านที่ใช้ภูมิปัญญาของชาวเลในการให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ถ้ามีอาการไม่มากนัก คือ การใช้น้ำอุ่นๆ ผสมเหล้าขาว หรือน้ำขิง เช็ดตามตัวหรือใส่ขวดประคบตามร่างกายจนกว่าอาการจะดีขึ้น ถ้ามีอาการมากจะส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาในระบบของแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การฉีดยา เป็นต้น (หน้า 54-65)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ผู้เขียนได้กล่าวถึงศิลปะการละเล่นของกลุ่มชาวเล เช่น โนรากาบง และร็องเง็ง ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงมิติของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการแสดงดังกล่าวทั้งในเรื่องของภาษาที่ใช้ในการแสดง และลักษณะของการแสดงที่แสดงถึงการรับเอามิติทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มใหญ่เข้ามาผสมผสานกับการละเล่นของตนจนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไป (หน้า 39)

Folklore

ไม่มี

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ความเป็นชาติพันธุ์ของชาวเลนั้นยังคงได้รับการตอกย้ำอยู่ในการติดต่อสัมพันธ์กับชน กลุ่มอื่นอย่างต่อเนื่องทั้งในมิติของการเรียกชื่อ หรือการเปรียบเทียบในสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ให้เหมือนดั่งชาวเล เป็นต้น ในการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลนั้นมีหลายชื่อทั้ง “ชาวน้ำ” “ชาวไทยใหม่” และ “ชาวสิงห์” ซึ่งคำว่าเรียกชื่อว่า “ชาวน้ำ” เป็นคำเรียกที่ชนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นคำที่เรียกพวกเขาอย่างดูถูกเหยียดหยาม เป็นคำที่ชาวเลรังเกียจมาก ส่วนคำว่า “ชาวไทยใหม่” เป็นคำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดให้เรียกชาวเลเสียใหม่ว่า “ไทยใหม่” ซึ่งทำให้ชาวเลดีใจเป็นอย่างยิ่ง และก็พอใจที่จะให้บุคคลทั่วไปเรียกพวกเขาว่า “ไทยใหม่” ตามนามพระราชทานด้วย (หน้า 2)

Social Cultural and Identity Change

เนื่องจากสังคมของชาวเลได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มคนไทยอย่างต่อเนื่องทำให้มีการแลกรับสังคมและวัฒนธรรมกันในหลายๆ ด้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น การเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ที่มีการตั้งชื่อเรียกใหม่ตามนามพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า “ไทยใหม่” ทำให้มิติความสัมพันธ์กับกลุ่มคนไทยมีการแปรเปลี่ยนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ที่เริ่มใช้ภาษาไทยสำเนียงภูเก็ตเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร การรับบริการทางการแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่าการพึ่งยาแผนโบราณ หรือการใช้ไสยศาสตร์และระบบความเชื่อในเรื่องต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับโรคน้ำบีบ เมื่อก่อนเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผี แต่ในปัจจุบันเริ่มเข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากสภาวะการปรับตัวของร่างกายเอง ไม่ได้เกิดจากการกระทำของอำนาจนอกเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด (หน้า 27, 51, 53, 58-59) การเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่เกิดขึ้นทำให้อัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีการแปรสภาพไปสู่การเป็นคนไทยมากขึ้น มีการต่อรองกับกลุ่มภายนอกและอำนาจที่จะเข้ามาครอบงำชุมชนได้มากขึ้น

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ข้อเสนอแนะ ชุมชนชาวเลเป็นชุมชนที่มีระบบทางสังคมวัฒนธรรมที่เรียบง่าย ระบบความเชื่อทางสังคมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าชุมชนจะได้รับการปะทะสังสรรค์กับสังคมภายนอกมากขึ้นทุกวันก็ตาม การประกอบอาชีพของชาวเลยังคงทำการประมงเป็นหลัก แต่ด้วยทรัพยากรทางทะเลที่นับวันยิ่งลดน้อยถอยลงไปทุกขณะจึงอาจส่งผลต่ออาชีพของชาวเลอย่างเลี่ยงไม่ได้ และปัญหาทางด้านการสาธารณสุขที่ต้องได้รับการพัฒนาทั้งการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานทั่วไป และการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคที่เกิดจากการดำน้ำ โดยการให้ความรู้ ในเรื่องการดำน้ำอย่างถูกต้องตามหลักสากล รวมทั้งการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และการตรวจเช็คอุปกรณ์ในการดำน้ำให้ได้มาตรฐานเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโรค DCS (หน้า 97-100)

Map/Illustration

ข้อมูลการอพยพและตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาวเล จำนวนประชากร ระดับการศึกษา รายได้-รายจ่าย ข้อมูลทางด้านสาธารณสุข เช่น โรคต่างๆ ในชุมชน การเข้ารับการรักษาพยาบาลของประชากรในชุมชน และตารางการวิเคราะห์ผลการศึกษาในเชิงปริมาณทั้งในด้านพฤติกรรมการประกอบอาชีพดำน้ำ พฤติกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรค DCS อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรค DCS เป็นต้น (หน้า 5, 10-11, 30, 35, 40-47, 49-52, 67, 69, 70, 73, 77, 81, 83, 86, 89)

Text Analyst ธีรศักดิ์ สุขสันติกมล Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG อูรักลาโว้ย, ชาวเล, ระบบการแพทย์ท้องถิ่น, ระบบการแพทย์สากล, ระบบการแพทย์พหุลักษณ์, ภูมิปัญญาชาวบ้าน, อาชีพดำน้ำ, โรคเกิดจากความดันที่ลดลง, โรคน้ำบีบ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง