สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject จีนยูนนาน จีนมุสลิม,คะฉิ่น(Kachin),จิงโป(Jingpo),การเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรม,การปรับตัว,จีน
Author
Title The Jingpo : Kachin of the Yunnan Plateau
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity จีนยูนนาน จีนฮ่อ มุสลิมยูนนาน, Language and Linguistic Affiliations ไม่ระบุ
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 265 Year 2540
Source USA: the Program for Southeast Asian Studies, Arizona State University
Abstract

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมใหม่ๆของกลุ่มชาติพันธุ์จิงโปหรือคะฉิ่นที่อยู่ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน พรมแดนจีน-พม่า ผู้เขียนเห็นว่า สังคมจิงโปมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดตั้งแต่อพยพเข้ามาในประเทศจีนโดยการติดต่อกับคนไตและคนจีนฮั่น พร้อมทั้งแบ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมจิงโปออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก การเปลี่ยนแปลงก่อน ค.ศ. 1949 ซึ่งเริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และระยะที่สอง เริ่มในตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้ระหว่างช่วงระยะทั้งสองมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญครั้งใหญ่คือ การรับวัฒนธรรมการปลูกข้าวแบบทดน้ำ และนั่นทำให้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สังคมจิงโปมีการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ได้แก่ การปลูกข้าวแบบทดน้ำ(wet-rice cultivation) การแยกลำดับชนชั้นประชาชนในรูปของการทำนาทดน้ำ การเปลี่ยนแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ-ประชาชน(chief-commoner) และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมจิงโปกับสังคมภายนอก

Focus

สนใจการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์จิงโปภายใต้บริบทสังคมการเมืองจีน

Theoretical Issues

ผู้เขียนเห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมจิงโปเป็นปฏิกิริยาและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ทางสังคม ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าจะเข้าใจได้ก็โดยการใช้กรอบความคิดของขั้นตอนวิวัฒนาการอธิบาย ทั้งนี้ขั้นตอนวิวัฒนาการที่สำคัญของจิงโป คือ การรับแบบแผนการปลูกข้าวทดน้ำแบบขั้นบันได โดยรับเทคโนโลยีการเพาะปลูกมาจากคนไตและคนจีนฮั่น นวัตกรรมทางเทคโนโลยีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนการพัฒนาของสังคมจิงโป (น.35-36)

Ethnic Group in the Focus

จิงโป(Jingpo)หรือคะฉิ่น(Kachin)ในจานซีเจียง(Zhanxi Xiang) เขตหยิงเจียง(Yingjiang County) และในเต้อหงโจว(Dehong Zhou) มณฑลยูนนาน ประเทศจีน(น.7) คำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนใช้คำ 3 คำ ได้แก่ “Jingpo” “Jinghpaw” และ Kachin” ซึ่งแต่ละคำมีความหมายแตกต่างกัน ดังนี้ “Jingpo” –จิงโป เป็นคำที่ใช้เรียกประชากรคะฉิ่นทั้งหมดในประเทศจีน (น.7) และการสะกดคำโดยใช้อักษรโรมันตามที่ทางการจีนกำหนด นอกจากนั้นก็ยังมีการสะกดแบบอื่นอีก ได้แก่ “Jinghpo” และ “Jinghpaw” แต่ปรากฏในงานเขียนที่อื่นๆ (น.305) “Jinghpaw” –จิงปอว์ .ใช้เรียกประชากรที่พูดภาษา Jinghpaw ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของ Jingpo (น.7) ส่วน “Kachin “ คะฉิ่น ใช้เมื่อกล่าวถึงประชากรคะฉิ่นทั้งหมดที่อยู่นอกชายแดนจีน ไม่ว่าจะอยู่ในสาขากลุ่มใด (น.7 ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนกล่าวถึงความกำกวมทางเนื้อหาและความหมายของคำ“Kachin”ด้วย จากหลักฐานทางชาติพันธุ์วรรณนาและภาษาศาสตร์ “Kachin” เป็นการออกเสียงคำจิงปอว์(Jinghpaw word)ในภาษาอังกฤษแบบสำเนียงพม่า คือ คำ “Ga-khyen” ซึ่งหมายถึง Red Earth –ดินแดนในหุบเขาของแม่น้ำในลุ่มน้ำแม่น้ำอิระวดี 2 สายคือ แม่น้ำ N’mai และแม่น้ำ Mali (น.4) เมื่ออังกฤษนำคำนี้ไปใช้ในปี ค.ศ. 1837 คำนี้ก็ถูกใช้ในความหมายทั่วไปที่หมายถึงชนเผ่าภูเขา(hill tribesmen) ทั้งนี้ยกเว้นกลุ่มชาติพันธุ์ปะหล่อง(Palaung)ที่อยู่ในตำบลพาโม(the Bhamo district)และในรัฐแสนหวีทางเหนือ ประชากรชนเผ่าภูเขานี้ได้แก่ กลุ่มคนที่พูดภาษาถิ่นต่างๆซึ่งรู้จักกันในนาม Jinghpaw, Gauri, Maru, Atsi, Lashi และ Lisu จากลักษณะเช่นนี้ ลีช(Leach)จึงถือว่า คำ”Kachin” เป็นการจำแนกกลุ่มทางวัฒนธรรม ไม่ใช่การจำแนกกลุ่มทางภาษาศาสตร์(น.4-5) ต่อมาประมาณกลางทศวรรษ 1880 ชาวตะวันตกก็ใช้คำนี้แทนคำอื่นๆ เช่น Ka-Cheen, Ka-khyen และ Kakhyen แล้วตั้งแต่นั้นมาคำนี้ก็มีความหมายแฝงมากขึ้น เช่น หมายถึงกลุ่มทางวัฒนธรรมที่มีวัฒนธรรมทั่วไปเหมือนกันในหมู่คนภูเขาเผ่าต่างๆ หมายถึงกลุ่มทางภูมิศาสตร์ที่อ้างอิงภูเขาคะฉิ่น(the Kachin Hill) รวมทั้งความหมายในทางภาษาศาสตร์ “Kachin” หมายถึง ภาษา 7 กลุ่ม ได้แก่ Rawang, Jinghpaw, Atzi, Maru, Lashi และ Lisu ซึ่งในภาษาทั้ง 7 กลุ่มนี้ Rawang กับ Jinghpaw เป็นสาขาที่แยกจากกลุ่มอื่นในตระกูลทิเบต-พม่า(Tibeto-Burman family) และตั้งแต่ทศวรรษ 1960 กลุ่มคะฉิ่นก็ยอมรับคำนี้ตามการยอมรับของนานาประเทศ แต่ทว่าพวกเขาจะเรียกตนเองว่า คะฉิ่น” ก็เฉพาะเมื่อพูดภาษาพม่าและอังกฤษเท่านั้น พวกเขายังคงใช้คำ “Jinghpaw” หรือ “Jinghpaw wunpawng amyu-ni” (Jingpo and associated people) ในยามที่กล่าวถึงตนเองเมื่อพูดภาษาของพวกเขา (น.5)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาและภาษาถิ่นจิงโปในจีน ภาษาพูดของประชากรจิงโปแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ จิงปอว์(Jinghpaw) ไซวา(Zaiwa) ลาจี(Lachi) และลางโว(Langwo) นอกจากนี้ก็ยังมีภาษาถิ่นย่อยเล็กๆอีกหลายภาษา เช่น โบโล(Bolo) ลาจิง(Lajing) แต่ในจำนวนทั้งหมดนี้ ภาษาจิงปอว์และไซวาเป็นภาษาหลักของประชากรจิงโปในเต้อหง(น.44) และในทางราชการ ภาษาถิ่นทั้งสองมีสถานภาพเท่ากัน แต่ทว่าผู้พูดภาษาไซวารู้สึกว่า ภาษาของพวกเขาไม่เท่าเทียมกับจิงปอว์ โดยเฉพาะคนที่นับถือคริสตศาสนา ที่บ่นว่าไม่มีคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาไซวา ขณะที่มีคัมภีร์ไบเบิลภาษาลีซูและจิงปอว์ (น.47) และในพม่าประชากรคะฉิ่นส่วนใหญ่พูดภาษาจิงปอว์ และในทางตอนเหนือของพม่าภาษาจิงปอว์ยังเป็นภาษากลางในการติดต่อด้วย(the lingua franca) (น.5-6) อย่างไรก็ตาม ในการจัดกลุ่มตระกูลภาษา ผู้เชี่ยวชาญจิงโปจีนส่วนมากถือว่า ภาษาจิงปอว์และภาษาไซวาเป็นภาษาถิ่น 2 สาขาใหญ่ โดยจัดภาษาถิ่นทั้งสองไว้ในสาขาภาษาจิงโปของตระกูลทิเบต-พม่า(the Tibeto-Burman family) แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ภาษาทั้งสองจะไม่มีลักษณะร่วมกันก็ตาม (น.46)

Study Period (Data Collection)

ผู้ศึกษาเริ่มสำรวจข้อมูลภาคสนามตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 (น.2) โดยเข้าไปอยู่ในชุมชนเป็นระยะๆ ดังนี้ ระหว่างเมษายน - กรกฎาคม ค.ศ. 1985 ระหว่างมิถุนายน ค.ศ. 1988-มิถุนายน ค.ศ. 1989 (น.8)

History of the Group and Community

ประวัติการอพยพของจิงโป นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ชาวจีนเชื่อกันว่า กำเนิดของบรรพบุรุษจิงโปอยู่ ณ ที่ราบชิงไห่-ซีซางหรือที่ราบทิเบต(the Qinghai-Xizang or Tibetan Plateau)ในบริเวณต้นแม่น้ำอิระวดี แม่น้ำนู(Nu) แม่น้ำลานจาง(Lancang) และแม่น้ำแยงซี(Yangtze) ราวๆคริสต์ศตวรรษที่ 5 พวกเขาได้เคลื่อนย้ายไปยังบริเวณที่เป็นดินแดนสามเหลี่ยมระหว่างแม่น้ำ N’mai Hka กับแม่น้ำ Mali Hka ที่กล่าวกันว่าเป็น the “ Red Earth” region (น.48) บรรพบุรุษจิงโปอพยพจากที่ราบทิเบตลงมาทางใต้มี 2 เส้นทาง คือ ทางตะวันตกกับทางตะวันออก ตามเส้นทางตะวันตกพวกเขาเดินทางมาตามแม่น้ำ N’mai Hka และแม่น้ำนู(ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำลานจาง)สู่ดินแดนสามเหลี่ยม(the Triangle) พวกเขาส่วนหนึ่งได้เดินทางต่อไปทางตะวันตกเฉียงเหนือสู่ปู้เตา(Potao)หรือคำตี่โหลง(Khamti Long)และอัสสัมในอินเดีย ขณะที่บางส่วนของพวกเขาก็เดินทางต่อไปทางตะวันตกสู่หุบเขาหูกวาง(the Hukawng Valley) แล้วลงไปทางใต้สู่ดินแดนเหมืองหยก(the Jade Mines area) บางส่วนก็อพยพลงใต้ตามลำน้ำอิระวดีเข้าสู่ภาคเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า ผู้อพยพกลุ่มนี้เองที่เป็นบรรพบุรุษของจิงโปในเต้อหงปัจจุบัน พวกเขาเข้าไปในเต้อหงตอนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 (น.54-55) สำหรับเส้นทางตะวันออก พวกเขาไปตามแม่น้ำจินชา(Jinsha)และแม่น้ำยาหลง(Yalong) (อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำลานจาง)สู่ลางชู่ตี่เก่า(the old Langshudi) ต่อมาพวกที่อยู่ด้านตะวันออกได้อพยพไปทางตะวันตกในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง(A.D. 1644-1911) แล้วข้ามแม่น้ำลานจางกับแม่น้ำนู และข้ามภูเขานูกับภูเขาเกาลี่กง (น.54-55) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 จิงโปก็อยู่ในเตียนถานกวาน(Diantanguan)ของเขตเถิงชง(Tengchong County)แล้ว และปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 จิงโปก็เข้าไปอยู่ในเต้อหงและเถิงชงจำนวนมาก ทั้งนี้มีประวัติครอบครัวจิงโปที่รวบรวมไว้ในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นหลักฐานยืนยันว่าจิงโปเข้ามาอยู่ที่นี่นานแล้ว บางตระกูลอยู่มา 14-15 รุ่น ได้แก่ ตระกูลลาไป(the Lahpai clan) บางตระกูลอยู่มาแล้ว 12 รุ่น เช่น ตระกูลปู้กวาน(the Puguan clan) ตระกูลเจิงเปา(the Jenghpao clan) ตระกูลจงลุย(the Chonglui clan) บางตระกูลอยู่มา 11 รุ่น และบางตระกูลอยู่มา 8 รุ่น (น.57-58) จิงโปเดินทางเข้าสู่เต้อหง 4 เส้นทางด้วยกัน เส้นทางแรก จากบริเวณแม่น้ำเสี่ยวเจียง(the Xiaojiang River)ข้ามภูเขาของ Jiangao และ Langya เส้นทางที่สอง จากบริเวณแม่เสี่ยวเจียงลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ตามแม่น้ำ N’mai Hka และแม่น้ำ Sadon แล้วไปทางตะวันออกเฉียงใต้สู่จานซี และสู่เลียนชาน(Lianshan)ใน Yingjian และ หลุงฉ้วน(Lungchuan) รุยลีและลู่ซี กลุ่มที่ใช้เส้นทางที่หนึ่งและที่สองนี้ได้หยุดครั้งแรกที่จานซี และส่วนมากกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานในหยิงเจียง(Yingjiang) เส้นที่สาม จากซาตอน(Sadon) เคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้สู่พาโม(Bhamo) แล้วไปยังทิศตะวันออกสู่ หลุงฉ้วน รุยลี และลู่ซี เส้นที่สี่ จากดินแดนสามเหลี่ยมข้ามแม่น้ำ N’mai Hka สู่เลียนชาน(Lianshan) แล้วต่อไปยังรุยลีและลู่ซี (น.58) บ้านต้าไจ้ ก่อตั้งโดยสายตระกูลพูกวน(the Puguan clan)ซึ่งเป็นสายตระกูลผู้นำ(the chief lineage) โดยซื้อที่แห่งนี้จากลีซู แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “ลี่เจียชาย” – “Lijiashan” หมายถึงภูเขาของลี่ ทั้งนี้คำ “ลี่” –“Li” เป็นชื่อภาษาจีนของตระกูลพูกวนที่คนจีนใช้ ต่อมาเมื่อหู้บ้านเติบโตขยายใหญ่ขึ้นจึงได้แตกตัวออกเป็นหมู่บ้าน 3 แห่ง เป็นบ้านพูกวนเดิมหนึ่งแห่ง บ้านบุมตง(Bumdong)หนึ่งแห่ง และบ้านพาซา(Pasa)อีกหนึ่งแห่ง ทั้งนี้บ้านพูกวนมีขนาดใหญ่สุด (น.93) หัวหน้าคนสุดท้ายของตระกูลพูกวนได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อปี ค.ศ. 1960 ปัจจุบัน ไม่มีคนในตระกูลผู้นำคนใดอ้างการเป็นหัวหน้าอีก แต่ตระกูลพูกวนก็ยังมีอิทธิพลในหมู่บ้านอยู่ (น.94)

Settlement Pattern

แบบแผนการตั้งบ้านเรือน หมู่บ้านหันหน้าลงสู่หุบเขาซึ่งเป็นที่ราบหุบเขาเรียกว่า “ตีนบ้าน” - the “village’s foot” ด้านหลังเป็นภูเขาเรียกว่า “หัวบ้าน” - the “village’s head” ที่”ตีนบ้าน”มีต้นไม้สองต้นอยู่สองข้างถนนเป็นเครื่องหมายกำหนดเขตหมู่บ้าน ส่วนที่”หัวบ้าน” มีหินก้อนใหญ่หรือต้นไม้ เป็นเครื่องหมายกำหนดเขต คนแปลกหน้าจะเข้า-ออกหมู่บ้านได้โดยผ่านถนนตีนบ้านที่มีเสาสองข้าง ไม่เดินตัดผ่านหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นการคุกคามผีบ้านและเป็นสาเหตุทำให้เกิดการต่อสู้ ภายในหมู่บ้าน จะตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายบนไหล่เขาลดหลั่นกันเป็นระดับ มีสันเขาเป็นถนนหลัก และมีถนนเล็กๆเชื่อมต่อเข้าบ้าน(น.110) ลักษณะบ้านเรือนของจิงโปมีรูปแบบผสมกันระหว่างลักษณะฮั่นกับจิงโป ตัวบ้านเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูงจากพื้นดิน 1-3 ฟุต ภายในตัวเรือนแบ่งเป็นห้องเล็ก แต่ละห้องมีเตาตั้งอยู่ตรงกลาง นอกจากห้องของพ่อแม่ที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนแล้ว ยังมีห้องอื่นอีก ได้แก่ - ห้องลูกชายที่แต่งงานแล้วและลูกๆ แต่ส่วนมากลูกชายที่แต่งงานแล้วมักจะปลูกเรือนแยกออกมา โดยยังคงอยู่ในบริเวณใกล้เรือนพ่อแม่ - ห้องผี ภายในห้องมีหิ้งที่ฝาผนังสำหรับวางกระบอกไม้ไผ่เป็นสัญลักษณ์แทนผีพ่อแม่หรือผีปู่ย่า ผีตระกูลและผีสายตระกูล และห้ามผู้หญิงกับคนแปลกหน้าเข้าห้อง - ห้องครัวอยู่ถัดจากห้องโถง ส่วนมากครอบครัวที่ร่ำรวยมักจะปลูกเรือนครัวแยกออกมาต่างหาก - ห้องโถง เป็นห้องเล็กๆ ที่ทางเข้าเรือนห้องเล็กๆ ใช้เก็บกระบอกน้ำไม้ไผ่และสิ่งของเครื่องใช้ประจำวัน ในครอบครัวที่ร่ำรวยจะตกแต่งประตูเรือนติดกระดาษสีแดงและทำหน้าต่างไม้ระแนงแบบจีนฮั่นตรงข้างประตูทั้งสองด้าน (น.112-113) ภายในบริเวณบ้าน นอกจากเรือนอาศัยแล้วยังมีโรงเรือนสำหรับควาย ซึ่งโดยมากมักมี 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่อยู่ของลูกชายวัยรุ่น ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของควาย ส่วนสัตว์เลี้ยงอื่น เช่น หมูและวัว ไม่มีคอกให้อยู่ จะปล่อยให้เดินหากินอิสระ (น.113)

Demography

การกระจายตัวของประชากร ประชากรจิงโปในประเทศจีนเกือบทั้งหมดอยู่ในเต้อหง และจากข้อมูลสถิติของราชการจีนในปี ค.ศ. 1987 ประชากรจิงโปมีจำนวน 103,228 คน นับเป็นลำดับที่สามในจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่มที่อยู่ในเต้อหงโจว(the Dehong Zhou) (น.39) บนภูเขาจิงโป(the Jingpo Mountains)แบ่งบริเวณที่จิงโปอาศัยออกเป็น 3 เขต ดังนี้ 1. บนภูเขาจิงโปในเขตหยิงเจียง(the Yingjiang Jingpo Mountains) ได้แก่ ทางตอนเหนือของเต้อหง ซึ่งอยู่ในเขตหยิงเจียง จิงโปในเขตนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด จากสถิติของเขตหยิงเจียงในปี ค.ศ. 1984 มีจำนวนประชากรทั้งหมด 30,245 คน ซึ่งเป็นจำนวนเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรจิงโปของจังหวัด(the prefecture) 96,236 คน (น.43) 2. บนภูเขาจิงโปในบริเวณหลงฉ้วน-รุยลี(the Longchuan-Ruili Jingpo Mountains) ได้แก่ เต้อหงตอนกลาง ซึ่งอยู่ในเขตหลงฉ้วน(Longchuan County) และเขตรุยลี่(Ruili County) 3. บนภูเขาจิงโปบริเวณลูซี(the Luxi Jinpo Mountains) ได้แก่ เต้อหงตอนใต้ในเขตลู่ซี(Luxi County) (น.43) จำนวนประชากร บนภูเขาจิงโปนอกจากคนจิงโปแล้วยังมีคนฮั่นและคนลีซูด้วย ในปี ค.ศ. 1981 จากสถิติรัฐบาลท้องถิ่น จานซีเซียง(Zhanxi Xiang) ประกอบด้วยหมู่บ้าน 8 แห่ง มีจำนวนประชากร 19,520 คน 3,036 ครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นหมู่บ้านบนภูเขา 5 หมู่ มีจำนวนประชากร 8,688 คน 1,381 ครัวเรือน โดยเป็นหมู่บ้านจิงโป 3 หมู่ มีประชากร 4,839 คน 791 ครัวเรือน ส่วนอีกสองหมู่บ้านเป็นคนจีนฮั่น (น.92-93) สำหรับหมู่บ้านต้าไจ้ ในปี คศ.1988 มีประชากร 250 คน 42 ครัวเรือน ประกอบด้วยตระกูลต่างๆ 7 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลปูกวน(Puguan) เป็นตระกูลใหญ่สุดมี 34 ครอบครัว 208 คน รองลงมาเป็นตระกูลชงลุย(Chonglui) ตระกูลหลงโต(Longdo) ตระกูลลาไป๋(Lahpai) ตระกูลกาเล่า(Galao) ตระกูลต้วน(Duan) และตระกูลจาง(Zhang) ทั้งนี้สองตระกูลสุดท้ายเป็นชื่อครอบครัวจีนฮั่น (น.94)

Economy

การเปลี่ยนแปลงระบบเพาะปลูก แต่เดิมจิงโปดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกแบบยังชีพบนภูเขา ปลูกข้าวไร่ ปลูกผัก ฝ้าย เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์และหาของป่า ในการปลูกข้าวไร่(dry-rice cultivation)ใช้วิธีเพาะปลูกแบบถางเผา(slash-and-burn)และใช้เครื่องมือเพาะปลูกง่าย เช่น มีด เสียมและเคียว ในเวลานั้นมีพื้นที่ป่าเหมาะสมต่อการเพาะปลูกจำนวนมาก ดินอุดมสมบูรณ์ ให้ผลผลิตดีมาก ใช้ที่ดินเพาะปลูก 1-2 ปีก็ปล่อยดินให้พักฟื้นนาน 15-20 ปี จิงโปไม่ปลูกข้าวแบบทดน้ำ(paddy field)เพราะการปลูกข้าวทดน้ำต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการเปิดหน้าดิน ผลผลิตที่ได้ก็ไม่ได้มีจำนวนสูงกว่าการปลูกแบบถางเผามากนัก ยิ่งกว่านั้น เทคโนโลยีการปลูกข้าวทดน้ำก็ซับซ้อนมากในการดูแล(น.65-66) แต่ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จิงโปได้หันมาปลูกข้าวแบบทดน้ำ โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่ป่าไม้ลดลง หน้าดินพังทลายรวดเร็วและวัชพืชเพิ่มขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลูกข้าวไร่ได้ผลผลิตลดลงกว่าเมื่อก่อน อีกทั้งช่วงเวลาการพักฟื้นดินก็มีระยะสั้นลงจึงขาดแคลนป่าไม้ที่มีดินเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ในสภาวะเช่นนี้ การปลูกข้าวแบบทดน้ำจึงจูงใจและจำเป็นต่อจิงโป และการปลูกข้าวทดน้ำก็มีผลต่อวิถีชีวิตจิงโป เนื่องจากที่นาทดน้ำสามารถใช้ซ้ำได้ปีแล้วปีเล่าโดยไม่ต้องมีช่วงการพักฟื้นดิน การครอบครองที่ดินกลายเป็นสิ่งจำเป็น (น.70) อย่างไรก็ดี การเกษตรยังคงเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจของต้าไจ้อยู่ ชาวบ้านปลูกข้าวทั้งแบบทดน้ำและแบบถางและเผา เลี้ยงสัตว์และเก็บของป่าล่าสัตว์ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีรายได้เป็นเงินสดจากการแลกเปลี่ยนและการผลิตสินค้าเพิ่มด้วย(น.167-168) ปัจจุบัน ระบบการเพาะปลูกของจิงโปซับซ้อนขึ้น นอกจากจะแบ่งออกเป็นการเพาะปลูกแบบขั้นบันไดบนที่ดินผืนเดิมกับการเพาะปลูกแบบหมุนเวียนการใช้ที่ดิน(shifting cultivation)ที่ปลูกข้าวเป็นพืชหลักแล้ว(น.131) ในการเพาะปลูกแบบหมุนเวียนการใช้ที่ดินยังแบ่งย่อยออกเป็นการหมุนเวียนการใช้ที่ดินในป่าและการหมุนเวียนการใช้ที่ดินในทุ่งหญ้าตามชนิดของดินด้วย(น.132) ฝิ่น ภูเขาจิงโปในเต้อหงเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นที่สำคัญแห่งหนึ่งเนื่องจากสภาพแวดล้อมเหมาะสม ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 20 การปลูกฝิ่นได้แพร่หลายไปทั่วบริเวณภูเขาจิงโป ผลผลิตที่ได้มีปริมาณสูงมากจนกระทั่งรัฐบาลยูนนานส่งกองกำลังเข้ามาในพื้นที่เพื่อ”ห้ามการค้าฝิ่นเอกชน” และควบคุมดูแลธุรกิจการค้าฝิ่น ฝิ่นทั้งหมดที่ปลูกจะต้องขายให้รัฐโดยผ่านสำนักงานตู๋ซี(the tusi office) ในอดีต จิงโปจะแลกเปลี่ยนฝิ่นกับวัว ผ้า เสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นอื่นๆกับพ่อค้าชาวฮั่นที่นำไปขายให้คนจีนและคนพม่า คนท้องถิ่นเก็บฝิ่นไว้สำหรับแลกเปลี่ยนค้าขายแทนเงินตรา ส่งส่วย(tributes)ให้ตู๋ซี จ่ายเป็นภาษีให้รัฐ รวมทั้งเป็นของขวัญแลกเปลี่ยน (น.76-77) การเปลี่ยนแบบแผนการใช้ที่ดิน จิงโปถือว่า ที่ดินถือเป็นทรัพย์สินร่วมของชุมชน แต่ละครัวเรือนในชุมชนมีสิทธิใช้ที่ดินและเป็นเจ้าของพืชผลที่ตนเพาะปลูก (น.66) ต่อมาในคริสตศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพาะปลูก กล่าวคือ บนภูเขาจิงโปมีที่ดิน 3 แบบสำหรับปลูกข้าว ได้แก่ ที่ดินดอน(dry fields)ซึ่งเป็นไร่ถางเผา ที่ดินทดน้ำ(paddy fields)ซึ่งเป็นส่วนมากทำเป็นนาขั้นบันไดตามเชิงเขาและหุบเขา และที่ดินทำสวนผัก(yard fields)ซึ่งอยู่รอบๆบ้าน ในจำนวนที่ดินทั้งสามประเภทนี้ สวนผักเป็นที่ดินประเภทแรกที่กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัว(น.69) ต่อมา หลังจากที่จิงโปเริ่มปลูกข้าวทดน้ำ ที่ดินประเภทนี้ก็เริ่มกลายมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวในลำดับต่อมา แต่อย่างไรก็ตาม การถือครองที่ดินก็มีเงื่อนไขและข้อกำหนดแน่นอนตามแบบแผนประเพณี ที่ดินทั้งหมดภายในอาณาเขตหนึ่งๆเป็นทรัพย์สินร่วม อยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าหรือผู้นำ หัวหน้ามีสิทธิเข้าควบคุมที่นาทดน้ำที่ถูกละทิ้งโดยครอบครัวที่ไม่มีบุตร และกระจายที่นาให้แก่ครัวเรือนที่เข้ามาใหม่ ต่อมาที่นาทดน้ำก็กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่ให้เช่าได้ทั้งภายในและภายนอกชุมชน จากนั้นการซื้อขายโดยคนภายนอกก็เป็นสิ่งที่ยอมรับกัน หากทว่าการขายที่นาทดน้ำนอกชุมชนก็มีข้อกำหนดเคร่งครัด เกิดขึ้นเฉพาะกรณียกเว้นไม่กี่กรณีเท่านั้น ส่วนที่ดินดอนซึ่งใช้ปลูกฝิ่นกลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวลำดับสุดท้าย โดยกลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวเนื่องจากมีการใช้ที่ดินต่อเนื่อง (น.69) ที่นาทดน้ำมีบทบาทสำคัญต่อการครอบครองที่ดินโดยถูกกฎหมายเช่นเดียวกับมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และประมาณ ค.ศ. 1949 จิงโปทั่วไปก็ยอมรับการปลูกข้าวทดน้ำ ส่วนที่นาทดน้ำก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตบนภูเขาจิงโป (น.69-70) ระบบการถือครองที่ดินในต้าไจ้ การจำกัดการเป็นเจ้าของที่นาปลูกข้าวทดน้ำมีมาก่อน ค.ศ. 1950 แล้ว การขาย ซื้อ ให้เช่าหรือจำนองที่นาทำได้ แต่ไม่สามารถขายออกนอกชุมชน ที่ดินที่เป็นป่าไม่ถือเป็นทรัพสินส่วนตัว ทุกคนในชุมชนมีสิทธิใช้ที่ดินนี้ ส่วนที่ดินดอนปลูกข้าวบุคคลถือครองได้ตราบเท่าที่ยังใช้ประโยชน์(usufruct right) แต่หลังจากใช้ไป 2-3 ปี ดินหมดความอุดมสมบูรณ์ ที่ดินนี้จะกลับคืนเป็นทรัพย์สินส่วนรวม(น.126) ต่อมาในปี ค.ศ. 1956 รัฐบาลเริ่มกระบวนปฏิรูปประชาธิปไตยในต้าไจ การเป็นเจ้าของที่ดินจึงเปลี่ยนไป ในปี ค.ศ. 1957 ที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มสหกรณ์การเกษตร ต่อมาปี ค.ศ. 1958 ความเป็นเจ้าของก็เปลี่ยนไปสู่กลุ่มการผลิต และในปี ค.ศ. 1982 มีการปฏิรูปที่เดินอีกเป็นครั้งที่สอง ใช้ระบบ”สัญญาให้ครัวเรือนรับผิดชอบ” ซึ่งรัฐคืนกรรมสิทธิ์ที่นาและสัตว์เลี้ยงที่ชาวบ้านเคยเป็นเจ้าของมาก่อนปี ค.ศ.1957 แต่ระบบการทำนารวมแบบสังคมนิยมซึ่งกลุ่มหรือชุมชนเป็นเจ้าของยังคงมีอยู่ต่อไปด้วย ในแง่ที่ที่นาทดน้ำถูกจัดสรรให้แต่ละครัวเรือนตามจำนวนสมาชิกในครอบครัวและคุณภาพของที่นา ขณะที่ the co-op หรือกลุ่มสหกรณ์การเกษตรเป็นเจ้าของที่ดินแต่เพียงในนาม ภายใต้ระบบใหม่นี้ ครัวเรือนแต่ละครัวเรือนต้องจ่ายภาษีการเกษตรและขายข้าวตามโควตาในราคาที่รัฐกำหนด (น.126-127)

Social Organization

ระบบการแต่งงานและเครือญาติ แบบแผนการแต่งงานของจิงโปเป็นการแต่งงานนอกสายตระกูลกับลูกพี่ลูกน้องข้างแม่โดยผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน ในบางกรณีเป็นการแต่งงานกับภรรยาม่ายของพี่ชาย แต่หลังจากการปฏิรูปในปี ค.ศ. 1949 ระบบการแต่งงานและเครือญาติได้เปลี่ยนไป เช่น การแต่งงานภายในกลุ่มหายไป การมีภรรยาหลายคนถูกยกเลิก การแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้อง และการสืบทอดตำแหน่งโดยลูกชายคนสุดท้องมีแนวโน้มลดลง แต่การแต่งงานนอกสายสายตระกูลยังคงยึดถือปฏิบัติเคร่งครัด กฎระเบียบการแต่งงานยังคงเป็นพื้นฐานของสังคมจิงโป หากผู้ใดละเมิดจะถูกลงโทษ(น.99) ข้อกำหนดการแต่งงาน จิงโปห้ามคนที่อยู่สายตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน แม้ว่าจะเป็นจิงโปต่างกลุ่มย่อยกัน แต่ถ้านามสกุลหรือสายตระกูลเดียวกัน ก็ถือว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน และเป็นพี่น้องกัน ขณะที่การแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องข้างแม่ก็ยังคงเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันบนภูเขาจิงโป ผู้ชายต้องแต่งงานกับลูกสาวของพี่ชายน้องชายแม่ ถ้าพี่ชายน้องแม่มีลูกสาว ส่วนผู้หญิงต้องแต่งงานกับลูกชายของพี่สาวน้องสาวพ่อ ทั้งนี้เพราะจิงโปถือว่าลูกของพี่สาวน้องสาวแม่และลูกของพี่ชายน้องชายพ่อเป็นพี่น้องกัน ส่วนลูกของพี่ชายน้องชายแม่และลูกของพี่สาวน้องสาวพ่อไม่ใช่พี่น้องกัน (น.99) นอกจากนั้น จิงโปยังกำหนดลำดับสิทธิการแต่งงานด้วย ในกรณีที่ครอบครัวมีลูกสาวมากกว่าหนึ่งคน ลูกสาวคนโตต้องแต่งงานก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงตามด้วยลูกสาวคนถัดไปตามลำดับ ถ้าน้องสาวแต่งงานก่อนพี่สาว ครอบครัวฝ่ายชายต้องจ่ายค่าปรับให้แก่ครอบครัวฝ่ายหญิงและแก่พี่สาวของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นค่าชดเชยและขออนุญาตแต่งงาน (น.100) ความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายญาติที่เกี่ยวดองกันโดยการแต่งงาน ความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นเมื่อมีการแต่งงานกัน พ่อแม่และญาติๆของภรรยาจะกลายเป็น mayu ของผู้ชายที่เป็นสามี และพ่อแม่และญาติๆของสามีจะเป็น dama ของผู้หญิงที่เป็นภรรยา ความสัมพันธ์ระหว่าง mayu-dama เป็นระเบียบพื้นฐานทางสังคมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ครอบครัวในหมู่บ้านส่วนมากต่างก็เป็น mayu-dama กันและกัน ทุกคนคาดหวังและถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตามกฏระเบียบที่กำหนด (น.260) เครือญาติทั้งสองฝ่ายถูกกำหนดหน้าที่และสิทธิเชิงพิธีกรรมให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนของขวัญในโอกาสต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ การสร้างบ้านใหม่ การกินข้าวใหม่ การไหว้ผี ครอบครัวของทั้งสองฝ่ายมีพันธะในการเข้าร่วมพิธีของแต่ละฝ่าย พร้อมทั้งนำของขวัญไปแลกเปลี่ยน ของขวัญที่นำไปแลกเปลี่ยนแสดงถึงสถานภาพญาติที่เกี่ยวดองกัน นั่นคือ หอกเหล็กหรือดาบสำหรับสายตระกูลที่ให้ภรรยา ฆ้องทองเหลืองสำหรับตระกูลที่รับภรรยา (น.155-156) ในการแลกเปลี่ยนของขวัญนี้ การแลกเปลี่ยนของขวัญในการแต่งงานถือว่าใหญ่ที่สุด ทั้งจำนวนของขวัญและจำนวนเครือญาติที่ร่วมพิธี ซึ่งสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้ ของขวัญที่จะมอบให้ญาติๆฝ่ายเจ้าสาวเรียกว่า hpaozo หมายถึง ของผู้รับภรรยา(the wife-taker’s gift) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่งเป็นควาย วัวหรือม้า กลุ่มที่สองเป็นฆ้อง และกลุ่มที่สามเป็นผ้าพันคอไหมหรือไนล่อนเรียกว่า palajing จำนวนและชนิดของของขวัญที่จะมอบถูกกำหนดตามฐานะของบุคคลและจำนวนญาติที่มีสิทธิ “กิน” หรือ “รับ”ของขวัญ (hpaozo เป็นคำภาษาไซวา pao หมายถึง ของขวัญแต่งงาน zo หมายถึง กินหรือรับ –น.323) ซึ่งแบ่งได้ 3 กลุ่ม เช่นกัน กลุ่มแรกเป็น ผู้กิน/รับควาย กลุ่มที่สองเป็นผู้กิน/รับฆ้อง และกลุ่มที่สามเป็นผู้กิน/รับผ้าพันคอ แต่ละกลุ่มประกอบด้วยญาติๆที่มีสถานภาพต่างกัน ซึ่งในต้าไจ้และจานซี แต่ละกลุ่มประกอบด้วยเครือญาติ ดังนี้ กลุ่มแรก ประกอบด้วย พ่อแม่ของแม่เจ้าสาว (ซึ่งเป็น mayu ของพ่อเจ้าสาว) จะกิน/รับควาย ม้า หรือวัวตัวใหญ่ที่สุด พ่อแม่เจ้าสาว (ซึ่งเป็น mayu ของเจ้าบ่าว)กิน/รับควาย ม้า หรือวัวตัวใหญ่ ลุงและป้าของเจ้าสาว แต่ละครอบครัวได้รับควาย ม้า หรือวัว และพี่ชายที่แต่งงานแล้วของเจ้าสาว(แยกเรือนจากพ่อแม่แล้ว)และพี่สาวของเจ้าสาวที่แต่งงานแล้ว แต่ละครอบครัวได้รับวัวหนึ่งตัว กลุ่มที่สอง ประกอบด้วย ครอบครัวลุงและป้าของเจ้าสาวที่ไม่รวมอยู๋ในกลุ่มแรก และครอบครัวลูกพี่ลูกน้องของเจ้าสาว กลุ่มที่สาม ประกอบด้วยลูกพี่ลูกน้องทั้งข้างพ่อข้างแม่ของเจ้าสาวทั้งหญิงและชายรวมเขยสะใภ้(the bride’s maternal and paternal cousins of both sexes plus all remaining in-law) (น.156-157) ในการจัดเตรียมของขวัญปกติพ่อแม่เจ้าบ่าวจะรับภาระจัดเตรียม ควาย ม้า และวัว ส่วนของขวัญอื่นๆ จะมาจากลุงและป้าของเจ้าบ่าว พี่ชายและพี่สาวของเจ้าบ่าว ซึ่งใช้เวลาจัดเตรียมหลายปี (น.157) ในขณะเดียวกัน ผู้กิน/รับของขวัญก็ต้องมอบของขวัญตอบแทนด้วยซึ่งเรียกว่า moshao (คำนี้เป็นภาษาไซวา mo หมายถึง ลูกเขย และ shao หมายถึง มอบให้ น.324) ทั้งนี้มีกฏว่า ของขวัญสำหรับผู้ที่กิน/รับควาย ม้า หรือวัวประกอบด้วย ผ้าซิ่น(a tubular skirt) ผ้านวม(a quilt) ผ้าปูนอน(a sheet) กระเป๋าเดินทาง(a suitcase) กระติกน้ำร้อน 1-2 ใบ อ่างซักล้างหนึ่งใบ และของชิ้นเล็กอื่นๆ ราคาของ moshao มีค่าครึ่งหนึ่งของ hpaozo (น.158) การแลกเปลี่ยนของขวัญระหว่าง mayu-dama จะหยุดหลังจาก 3 รุ่นอายุ ถ้าไม่มีการแต่งงานระครอบครัวที่เกี่ยวดองกัน(น.323)

Political Organization

ลักษณะการปกครองของสังคมจิงโปก่อน ค.ศ. 1949 จิงโปมีระบบการปกครองแบบหัวหน้า(chiefdom) มีองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ 3 ประการคือ เขตอำนาจ(domain) หัวหน้า(chiefs)และคนธรรมดา(commoners) หัวหน้า(chief) เป็นตำแหน่งที่ได้รับโดยการสืบสายเลือดในตระกูลชนชั้นผู้นำ(a certain noble man) ซึ่งส่วนมากครอบครัวของเขาจะเป็นผู้บุกเบิกที่ดินของหมู่บ้าน เฉพาะหัวหน้าที่เป็นผู้นำเท่านั้นที่สามารถติดต่อกับผีชั้นสูงสุดที่เป็นเจ้าของที่ดินและนำที่ดินนั้นมาให้คนทั่วไปได้ใช้ กระนั้นหัวหน้าก็มีสิทธิพิเศษในทรัพยากรธรรมชาติเพียงเล็กน้อย เขาไม่จำเป็นต้องร่ำรวย เขาและครอบครัวต้องรักษาตนเองภายในพันธะหน้าที่ของหลักความเชื่อจิงโปและจารีตประเพณี (น.67) ตำแหน่งหัวหน้าสืบทอดต่อกันโดยลูกชายคนสุดท้องของตระกูลชนชั้นผู้นำ 5 ตระกูล ที่อ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากลูกชายของ Wahkyet-wa ผู้สืบสกุลของ Ningawn-wa ลูกชายคนโตของผีฟ้า(the chief sky spirit) – Manai nat อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติ ลูกชายคนอื่นที่ไม่ใช่คนสุดท้องของตระกูลผู้นำก็สามารถดำรงตำแหน่งหัวหน้าได้ ทั้งนี้มีวิธีหลายวิธี เช่น การละทิ้งจากบ้านไปค้นหาแหล่งใหม่และตั้งตนเองเป็น a gumyu chief ซึ่งเขตปกครอง(domain)ใหม่นี้จะเป็นอิสระและไม่ได้อยู่ใต้เขตปกครองเดิม แต่ก็ผูกพันกันเพราะเป็นพี่น้องจากสายตระกูลเดียวกัน บางกรณีก็ได้ตำแหน่งหัวหน้าโดยการเลือกของกลุ่มคนที่ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ และในกลุ่มคนเหล่านั้นไม่มีคนที่สืบสายมาจากตระกูลผู้นำ พวกเขาจึงจำเป็นต้องหาผู้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าที่มีความชอบธรรม(a ‘legitimate’ chief) เพราะประเพณีของจิงโปนั้น หัวหน้าจะต้องมาจากสายตระกูลผู้นำของพวกเขาเท่านั้น และแม้ว่าคนนั้นจะไม่ได้เป็นลูกชายคนสุดท้อง ก็ยังมีความชอบธรรมมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป (น.81-82) ในเขตปกครองที่มีหมู่บ้านมากกว่าหนึ่งแห่ง หัวหน้าจะมี suwen และ guan เป็นผู้ช่วย ตำแหน่ง suwen ไม่ได้มาจากการสืบสายเลือด หัวหน้าเป็นคนแต่งตั้ง โดยเลือกคนจากสายตระกูลของตระกูลหัวหน้าและตระกูลอื่นในอาณาจักร ปกติครอบครัวของ suwen จะอยู่ในชุมชนมาตั้งแต่แรกตั้ง suwen ทำหน้าที่จัดการประชุม เมื่อมีเรื่องสำคัญให้หัวหน้าตัดสินใจ และทำหน้าที่เก็บรวบรวมส่วยอากรจากชาวบ้านให้หัวหน้ารวมทั้งดูแลเกณฑ์แรงงานชาวนา ทั้งนี้ suwen บางคนอาจจะได้รับที่นาทดน้ำเป็นการตอบแทน สำหรับตำแหน่ง guan เป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่ได้รับแต่งตั้งในพิธีทางการจากหัวหน้า เป็นตำแหน่งที่สืบทอดตามสายเลือด มีอำนาจมากกว่า suwen บางแห่งถือเป็นหัวหน้าคนที่สอง(a second-class chief) ใช้อำนาจเช่นเดียวกับหัวหน้า แต่ guan ก็ไม่ใช่หัวหน้า ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องต่างชาติและการสงครามได้ (น.82-83) คนธรรมดา(commoners) เป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในตระกูลผู้นำ อยู่ในอาณาเขตอำนาจของหัวหน้า ปฏิบัติหน้าที่ต่อหัวหน้าและผีชุมชน มีสิทธิใช้ที่ดินในชุมชนเพื่อเพาะปลูก กฎระเบียบนี้เป็นการประกันการสูญเสียความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ คนธรรมดาสามารถย้ายออกจากชุมชนได้ตามต้องการ หัวหน้าไม่มีสิทธิยับยั้ง (น.83) ในปี ค.ศ. 1955 เมื่อการปฏิรูปประชาธิปไตยเริ่มเข้ามาสู่จานซี ระบบการปกครองแบบหัวหน้า(chiefdomship)ของจิงโปค่อยๆถูกลดบทบาทและอำนาจลง จนกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับคนธรรมดา(chief-commoners)ไม่ได้เป็นระเบียบโครงสร้างในสังคมจิงโปอีกต่อไป (น.243-248) ปัจจุบัน รูปแบบการปกครองของหมู่บ้านจิงโปมีลักษณะเป็นองค์กรบริหารปกครองหมู่บ้านที่ประกอบด้วยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ 4 คน ทำหน้าที่สื่อสารนโยบายและคำสั่งพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลระดับสูงกับหมู่บ้าน พวกเขาจะต้องทำให้ชาวบ้านปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่ง รายงานสถานการณ์ท้องถิ่นและปฏิกิริยาของประชาชน และเป็นตัวกลางเจรจาความขัดแย้งในชุมชน (น.103-104)

Belief System

ศาสนาความเชื่อ จิงโปในต้าไจ้มีครัวเรือนที่นับถือศาสนาคริสต์ 3 ใน 4 ของครัวเรือนทั้งหมด ในปี ค.ศ. 1989 มีครัวเรือนที่นับถือคริสต์ 29 ครัวเรือน จำนวน 173 คน นับถือผี 13 ครัวเรือน จำนวน 77 คน แม้จะหันไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่ทว่าการเซ่นไหว้ก็ยังมีความสำคัญต่อจิตใจของพวกเขาอยู่ มีคนที่นับถือคริสต์เพียง 2-3 คนที่รับว่าไม่เชื่อผี หากก็กลัวที่จะพูดเรื่องการเจ็บป่วยของผี ชาวบ้านหันมานับถือศาสนาคริสต์ตั้งแต่มีการเผยแพร่ศาสนาในปี ค.ศ. 1926 แล้ว จิงโปส่วนมากที่ไปโบสถ์วันอาทิตย์ไม่ได้ละทิ้งผี พวกเขายังกลัวผีทำร้ายและยังต้องการให้ dumsa ช่วยเหลือ จิงโปคริสเตียนเข้าโบสถ์เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและ/หรือต้องการการปกป้องสองชั้น ในแง่เศรษฐกิจ จิงโปทุกคนเห็นเหมือนกันว่า การเป็นคริสเตียนประหยัดเงินมากกว่าการไหว้ผี ในปี ค.ศ. 1988 ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือนรวม 2,884 หยวน 71.4% ใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผี 28.6% เกี่ยวกับพิธีกรรมในโบสถ์ เหตุผลทางเศรษฐกิจจึงเป็นแรงจูงใจหลักของโบสถ์ (น.178-180) ความเชื่อเรื่องขวัญ จิงโปเชื่อว่า ผู้ชายและผู้หญิงมีขวัญจำนวนไม่เท่ากัน ผู้ชายมี 6 ขวัญ ผู้หญิงมี 7 ขวัญ แต่มีเพียง 3 ขวัญเท่านั้นที่อยู่ “ใกล้” หรือ “จริง” (‘near’ or ‘real’) ส่วนขวัญที่เหลืออยู่ “ไกล”หรือ “ไม่จริง”(‘far’ or ‘false’) ถ้าขวัญทั้งสามหายไปจากร่างกาย โดยถูกผีทำร้ายหรือหนีหายไปเอง จะทำให้ตายได้ แต่ถ้าหายไปเพียงหนึ่งหรือสองขวัญ ก็จะเจ็บป่วย ต้องทำค้นหาและเรียกขวัญให้กลับมา (น.171) ความเชื่อเรื่องผี จิงโปเรียกว่า “nat” ผีในความเชื่อของจิงโปมีจำนวนมาก หลายชนิด สามารถจัดกลุ่มได้หลายแบบด้วยเกณฑ์ต่างกัน ได้แก่ - ถ้าใช้สถานที่อยู่ของผีเป็นเกณฑ์จะแบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ ผีที่อยู่ในท้องฟ้า(celeatial or sky spirits) ผีที่อยู่บนพื้นโลก(earth spirits) และผีบรรพบุรุษ(ancestral spirits) หรือแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ ผีป่า(wild spirits) กับผีบ้าน(domestic spirits) ผีป่าจะเกี่ยวข้องกับโชคร้าย ความทุกข์และการเจ็บป่วย ส่วนผีบ้านจะทำร้าย ถ้าถูกบุกรุกหรือถูกทอดทิ้ง - ถ้าใช้สถานที่ทำพิธีเซ่นไหว้เป็นเกณฑ์ จะแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ ผีภายใน(indoors)กับผีภายนอก(outdoors) ผีภายในเป็นผีที่เซ่นไหว้ในบ้าน เช่น ผีฟ้า(mu nat) ผีลม(npung nat) ผีดิน(ga nat) ผีบรรพบุรุษ เป็นต้น ส่วนผีภายนอกเป็นผีที่ทำพิธีเซ่นไหว้นอกบ้าน เช่น ผีน้ำ(hka nat) ผีดูแลข้าว(ji nat) ขวัญข้าว(mamla law) เป็นต้น จิงโปเชื่อว่า ผีมีกำเนิด พลังอำนาจต่างกัน ผีบางกลุ่มมาจากมนุษย์ ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีหมู่บ้าน ผีไฟ ผีแม่มด(hpyi) บางกลุ่มมีกำเนิดจากธรรมชาติ เช่น ผีฟ้า ผีลม ผีฟ้าผ่า ผีภูเขา ฯลฯ และบางกลุ่มก็มาจากพืชพันธุ์ เช่น ขวัญข้าว ขวัญเผือก(nai num la) (น.172-173) ผู้ทำพิธีกรรม จิงโปเรียกว่า dumsa มีหลายระดับ มีความสามารถในการประกอบพิธีต่างกัน ดังนี้ 1. jaiwa เป็นผู้มีความสามารถทำพิธีกรรมระดับสูงสุด(grand dumsa) เฉพาะระดับนี้ประกอบพิธีกรรมสำคัญในโอกาสพิเศษได้ เช่น the great manao zunggo festival (น.176) ซึ่งเป็นการเซ่นไหว้ madai nat - ผีแห่งความร่ำรวยและผู้ปกป้องที่ยิ่งใหญ่ (น.184) 2. dumsa เป็นระดับรองลงมา ภายในระดับเดียวกันนี้ยังแบ่งย่อยลงไปอีก ทำพิธีกรรมได้ต่างกัน ได้แก่ ga dumsa ทำพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีดินและผีฟ้า tru dumsa ทำพิธีเซ่นไหว้ที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษ the normal dumsa ทำพิธีปกติทั่วไป และ shichao เป็นผู้ที่มีความชำนสญในการปลดปล่อยและส่งวิญญาณคนตายกลับ”บ้านเก่า” (the old homeland) มีความคุ้นเคยกับเส้นทางไป”บ้านเก่า” มิฉะนั้นเขาจะส่งวิญญาณคนตายไม่ได้ หรือไม่ตัวเขาเองก็อาจจะหลงทางได้ (น.176) 3. hkinjawng เป็นผู้ช่วย jaiwa หรือ dumsa ในการประกอบพิธี(น.176) 4. mythoi เป็นผู้ที่ติดต่อกับผี(a medium)หรือมองเห็นผี(nat prophet) เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ อาจจะเป็น dumsa หรือไม่ก็ได้ เป็นผู้ที่สัมผัสกับผีได้ และรู้เจตนาของผี เมื่อเข้าภวังค์(น.176) 5. ningwawt เป็นหมอดู(a diviner) บางคนก็เป็น dumsa ด้วย (น.176) ผู้ประกอบพิธีกรรมได้รับค่าตอบแทนต่างกันดังนี้ jaiwa ได้รับวัวและฆ้อง dumsa ได้รับชิ้นส่วนด้านหลังของสัตว์ที่ใช้ในพิธีไหว้ส่วนหนึ่ง hkinjawng ได้ชิ้นส่วนคอของสัตว์ที่ใช้เซ่นไหว้หนึ่งส่วน รวมทั้งได้เป็นแขกในงานเลี้ยงพิธีกรรมด้วย และตั้งชาวบ้านจิงโปมีเศรษฐกิจแบบเงินสด(cash economy) หลังการปฏิรูปคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะช่วงปฏิรูปวัฒนธรรม สถานภาพของ dumsa ตกต่ำและยากลำบาก แต่ในปัจจุบัน นโยบายใหม่ของรัฐบาลรวมทั้งการขาดแคลนผู้ประกอบพิธีกรรม พวกเขากลับมาได้รับการยกย่องอีกครั้งหนึ่ง และไม่เพียงความสามารถในการรักษาและทำพิธีกรรมเท่านั้น คนจิงโปยังมองพวกเขาในฐานะเป็นแหล่งความรู้ทางวัฒนธรรมจิงโปด้วย (น.175-177) พิธีกรรมเกี่ยวกับการเพาะปลูก จิงโปมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก 2 ระดับ คือ ระดับชุมชนกับระดับครัวเรือน พิธีกรรมเพาะปลูกระดับชุมชน เป็น the numshang sacrifice ในหนึ่งปีมีจัด 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคมก่อนปลูกข้าวไร่ครั้งหนึ่งและเดือนกันยายนก่อนการเก็บเกี่ยวอีกครั้งหนึ่ง การทำพิธีทำที่ทางเข้าหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งศาลผีหมู่บ้าน ในอดีตหัวหน้า(a chief)เป็นผู้นำในพิธีและมีหัวหน้าครัวเรือนในชุมชนเข้าร่วม แต่ปัจจุบัน dumsa เป็นผู้นำพิธี ของเซ่นไหว้มาจากความร่วมมือของชาวบ้าน ผีที่เซ่นไหว้ในพิธีจะต่างกันไปในแต่ละหมู่บ้าน แต่ผีที่ไหว้โดยทั่วไป ได้แก่ ผีบรรพบุรุษของสายตระกูลที่ก่อตั้งหมู่บ้าน ผีที่ปกป้องหมู่บ้าน และผีที่ดุร้ายน่ากลัวที่สุด ผีเหล่านี้จะมีแท่นบูชาที่ถาวร ในต้าไจ้ผีหลักๆเหล่านี้ ได้แก่ Puguan hkunsian – ผีผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน Puguan yongwn – ผีพ่อของผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน meiho ahpi –ผีภรรยาของผู้ก่อตั้งหมู๋บ้าน ผีแห่งเขามงปิว(the spirit of Momgbiu) ผีลำห้วย(sin mali) และผีชั่วร้าย(ji suan) การเซ่นไหว้เดือนมีนาคม หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ยังมีพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่ง คือ “การสร้างกระท่อมในนาข้าว” (the “public paddy-hut building”) ชาวบ้านจะมายังแปลงนาที่เลือกไว้เพื่อสร้างกระท่อมและปลูกข้าว โดยครอบครัวที่เป็นเจ้าของแปลงนาจะนำเหล้า ข้าวและไก่มาเลี้ยงดู หลังจากเสร็จพิธี ชาวบ้านจะหยุดทำงาน 3 วันทั้งงานในไร่นา การตัดไม้และการสีข้าว เพราะเกรงว่าจะรบกวนผี จากนั้นจึงเริ่มการเพาะปลูก สำหรับการเซ่นไหว้ numshang ในเดือนกันยายนจะจัดใหญ่กว่าเดือนมีนาคม ใช้วัวหรือควาย หมูและไก่เซ่นไหว้ จัดขึ้นเพื่อขอให้ฤดูเก็บเกี่ยวที่กำลังมาถึงนี้ปลอดภัย อย่างไรก็ดี แม้พิธีนี้จะมีความสำคัญต่อการเพาะปลูกมาก แต่ก็ไม่ได้จัดทุกปี พวกเขาจะจัดเมื่อประสบกับสิ่งไม่ดี (น.181-184) นอกจากพิธีเซ่นไหว้ numshang แล้ว ยังพิธีระดับชุมชนอีกพิธีหนึ่ง คือ พิธี manao zunggo เป็นการเฉลิมฉลองเชิงพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดของจิงโป จัดเป็นพิเศษให้กับ madai nat – ผีแห่งความร่ำรวยและผู้รักษาดูแลที่ยิ่งใหญ่ พิธีนี้ไม่ได้จัดเป็นประจำเพราะมีค่าใช้จ่ายมาก ต้องใช้วัว 7-9 ตัว หมู 10 ตัว เป็ดไก่หลายร้อยตัวเป็นของเซ่นไหว้ คนที่จัดพิธีนี้ได้มีเฉพาะครอบครัวผู้ดูแลรักษา madai nat เท่านั้น เป็นครอบครัวที่มาจากสายตระกูลหัวหน้า และเฉพาะผู้ทำพิธีระดับ jaiwa เท่านั้นที่ประกอบพิธีกรรมนี้ได้ ซึ่งในต้าไจมีสองครอบครัวที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดูแล madai nat คือ ครอบครัว Puguan Lah กับ ครอบครัว Puguan Zalung พวกเขาจัดพิธีนี้ได้เพียงหนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้นในชีวิต (น.184-185) พิธีกรรมเพาะปลูกระดับครัวเรือน ในปีหนึ่งๆ แต่ละครัวเรือนทำพิธีเซ่นไหว้ 6 ครั้งตามลำดับ ดังนี้ การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อขอให้โชคดีในปีที่มาใหม่ การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษในเดือนเมษายน ก่อนหว่านเมล็ดข้าวเพื่อขอให้กล้าข้าวงอกงามดี การไหว้ผีลำห้วยในเดือนพฤษภาคม ในวันที่ปักชำ(transplanting)กล้าข้าวเสร็จ โดยทำพิธีใกล้ลำห้วยที่ไหลผ่านนาของตน พิธีฉลองการกินข้าวใหม่(the new-rice-eating festival)ในเดือนตุลาคม เพื่อขอบคุณผีที่ให้พรและปกป้องในการเก็บเกี่ยว พิธีนี้เป็นการรวมญาติ ถ้าคนใดไม่มา จะได้รับข้าวกับขิงห่อในใบตองส่งไปให้ พิธีเรียกขวัญข้าวในเดือนพฤศจิกายน ทำแห่งคือ ที่ลานนวดข้าวกับที่ยุ้งข้าว ทั้งนี้จิงโปเชื่อว่า ขณะที่นวดข้าว ขวัญตกใจกลัวหนีไป ถ้าขวัญข้าวไม่กลับมา ครอบครัวจะมีข้าวไม่พอเพียง การเรียกขวัญข้าวต้องทำทันที่ที่นวดข้าวเสร็จ และพิธีสุดท้ายคือ การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษในเดือนธันวาคม พิธีนี้ไม่จำเป็น แต่สำหรับคนที่”อ่อนแอ”หรือทำสิ่งที่ทำให้ผีไม่มีความสุขจำเป็นต้องเซ่นไหว้ (น.185-188) พิธีแต่งงาน หลังจากเจรจาสู่ขอและตกลงการแลกเปลี่ยนของขวัญ(hpaozo) วันแต่งงานจึงถูกกำหนด โดยจัดพิธีที่บ้านผู้ชาย มี dumsa เป็นผู้ประกอบพิธี พิธีสำคัญที่สุดของงานคือ พิธีข้ามสะพาน(the bridge-go-through ceremony) ซึ่งกระทำที่หน้าบ้านหรือข้างบ้านผู้ชาย สะพานทำจากไม้กระดานตัดใหม่ วางบนพื้นดิน มีเสาต้นไม้ 4 ต้นอยู่ข้างสะพาน ที่ข้างซ้าย 3 ต้น ข้างขวา 1 ต้น แต่ละต้นแทนผีหนึ่งตัว ต้นไม้ที่นำมาใช้ในพิธี ชื่อ hpungbang หรือ hpunmobang เป็นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว เป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตใหม่ ไก่และหมูหลายตัวถูกนำมาเซ่นไหว้ที่หน้าเสาเหล่านี้ พ่อไก่แม่ไก่หนึ่งคู่มาจากครอบครัวเจ้าสาว พ่อไก่สำหรับไหว้ผีที่คอยทำร้าย ส่วนแม่ไก่จะถูกปล่อยเมื่อเจ้าสาวเข้าบ้านใหม่ การทำพิธีข้ามสะพานเริ่มต้นโดย dumsa สองคนหรือมากกว่านั้นสวดขอพรจากผีบรรพบุรุษ จากนั้น dumsa หรือ hkinjawng จะฆ่าสัตว์ที่นำมาไหว้ แล้วนำเลือดไปป้ายเสา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ dumsa อีกคนเซ่นไหว้ผีป่าที่ริมหมู่บ้านเพื่อกันผีเหล่านั้นให้อยู่ห่างจากพิธี จากนั้น dumsa ที่เป็นผู้ทำพิธีหลักก็ทำพิธีข้ามสะพานให้เจ้าสาว อันเป็นเครื่องหมายแสดงว่า เจ้าสาวกลายเป็ฯสมาชิกใหม่ของครอบครัวเจ้าบ่าวแล้ว พี่ชายน้องชายเจ้าบ่าวจะนำเจ้าสาวเดินข้ามสะพาน และมีญาติๆเจ้าบ่าวเป็นเพื่อนเดิน เมื่อเจ้าสาวขึ้นบันไดและเข้าบ้าน แม่เจ้าบ่าวจะสวมสร้อยคอปะการังให้เจ้าสาวแล้วพาไปยังเตา ในบ้าน และขณะที่เจ้าสาวเดินเข้าบ้าน dumsa จะโยนแม่ไก่ขึ้นไปยังทิศที่เจ้าสาวเดิน ถ้าแม่ไก่บินและวิ่งเข้าบ้านแสดงว่าเจ้าสาวจะอยู่ที่บ้านใหม่ตลอดไปและมีความสุข ตัดความผูกพันจากบ้านเก่า (น.188-190) พิธี Hpaonohtao เป็นการทำพิธีตัดขาดผีบรรพบุรุษ ซึ่งกระทำหลังพิธีแต่งงาน หลังจากพิธีนี้แล้ว จึงถือว่าภรรยาของเขาได้หย่าขาดจากสายตระกูลเดิมของเธอและเป็นสมาชิกของครอบครัวสามีสมบูรณ์ dumsa เป็นผู้ทำพิธีและสวดให้ผีบรรพบุรุษ ญาติทุกคนของภรรยาและเพื่อนบ้านในหมู่บ้านจะมาร่วมงานเลี้ยงฉลองหลังทำพิธีแล้ว พิธีนี้ต้องทำ 3 ครั้ง ครั้งแรกจัดหลังพิธีแต่งงาน ของที่ใช้ในพิธีมี หมูหนึ่งตัว เป็ดไก่และเหล้า การไหว้ครั้งที่สอง ทำเมื่อภรรยาตั้งครรภ์ ของที่ใช้ไหว้มี วัวหนึ่งตัว หมูหนึ่งตัว และเป็ดไก่ และครั้งที่สาม ไม่กำหนดเวลาแน่นอน ปกติมักทำเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ของที่ใช้ไหว้เป็นควายหนึ่งตัว พิธีนี้ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะเกี่ยวข้องกับหลักความสัมพันธ์ mayu –dama พันธะหน้าที่นี้ต้องทำให้สมบูรณ์แม้ว่าภรรยาจะเสียชีวิตแล้ว ถ้าไม่ทำวิญญาณของภรรยาจะยังไม่เป็นของครอบครัวสามี สิ่งนี้มีความสำคัญต่อทั้งสองฝ่าย dama จึงไม่อาจจะละทิ้งพิธีนี้ได้ แม้จะเปลี่ยนไปเป็นคริสเตียนแล้วก็ตาม ขณะที่ mayu ก็ไม่สามารถยกเว้นการทำพิธีให้แก่ dama ได้แม้ว่า dama จะไม่ใช่คนจิงโป (น.196-197) ความตายและพิธีกรรม ความตาย จิงโปมีความเชื่อว่า การตายดีคือ ตายตามธรรมชาติเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนการตายไม่ดี ได้แก่ การตายโดยอุบัติเหตุนอกหมู่บ้าน เช่น ถูกยิง ถูกสัตว์ฆ่า ถูกฟ้าผ่า หรือจมน้ำตาย จิงโปเห็นว่าการตายโดยอุบัติเหตุเช่นนี้เป็นการกระทำของผีที่คอยฆ่าคนด้วยมีด – sawa nat (knife-killing spirits) หรือผีร้ายอื่นๆ จิงโปไม่จัดพิธีศพให้กับคนที่ตายโดยอุบัติเหตุ และห้ามนำศพคนตายเหล่านี้เข้าหมู่บ้าน แต่จะนำไปฝังในป่าเพื่อว่าผีร้ายและหายนะจะไม่ถูกพาเข้าหมู่บ้าน คนตายที่อายุยังน้อยหรือเด็กที่คลอดออกมาตายก็ไม่มีการจัดพิธีศพให้เช่นกัน พิธีศพจะจัดให้กับคนที่ตายปกติเท่านั้น (น.190-191) พิธีศพ มี 2 พิธี คือ พิธีฝังกับพิธีส่งวิญญาณกลับบ้านเก่า – songtie (the ‘sending-spirit-to- old-home’ ritual) (น.191) ทั้งนี้เพราะจิงโปเชื่อว่า ทุกคนเมื่อตายจะกลายเป็นผี และควรจะส่งวิญญาณคนตายกลับ “บ้านเก่า” (the ‘old homeland’) ผีที่กลับมาจากบ้านเก่าหรือไม่ไปบ้านเก่าจะสร้างความยุ่งยากให้สมาชิกในครอบครัวที่ยังมีชีวิต รวมทั้งญาติๆและเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงต้องทำพิธีให้วิญญาณจากไป (น.174) พิธีส่งวิญญาณกลับบ้านเก่าจึงมีความสำคัญมาก วิญญาณที่ออกจากร่างคนตายจะยังคงอยู่ที่บ้านในห้องผีจนกว่าจะถูกส่งกลับดินแดนบรรพบุรุษของสายตระกูล ระยะเวลาการจัดงานศพอาจจะใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์ หนึ่งเดือน หรือหนึ่งปีขึ้นอยู่กับความสามารถของครอบครัวว่าจะจัดได้ในทันทีหรือไม่ การนำศพไปฝัง มีข้อกำหนดว่า ญาติที่เป็น mayu จะห้ามด้านหัวโลง ส่วน dama จะหามด้านท้ายโลง มีญาติๆและเพื่อนบ้านเดินตามหลัง ในพิธีฝังไม่มี dumsa ร่วมพิธี หลังจากฝังศพแล้ว จึงทำพิธีส่งวิญญาณผู้ตายกลับบ้านเก่า โดย dumsa – shichao เป็นผู้ทำพิธีนำทาง บางครั้งใช้เวลาทำพิธีตลอดทั้งคืน และหลังจากจบพิธีแล้ว shichao จะเอาน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่ แล้วพรมตามห้องต่างๆในบ้านเพื่อไล่สิ่งไม่ดี พิธีศพจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อ shichao ตัดกระบอกไม้ไผ่แล้วโยนทิ้ง (น.191-193)

Education and Socialization

การศึกษาในชุมชน ต้าไจ้มีโรงเรียนแห่งแรกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1943 แล้ว และก่อนการปฏิรูปในปี ค.ศ. 1949 การอ่านออกเขียนได้ในต้าไจ้ก็มีมากกว่าชุมชนอื่นในเขตจานซี ในปี ค.ศ. 1988 จากจำนวนชาวบ้าน 213 คนที่อายุมากกว่า 7 ปี มีคนที่เรียนหรือจบการศึกษาระดับประถมศึกษา 91 คน เรียนหรือจบระดับมัธยมต้น 25 คน และจบมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 1 คน ปัจจุบันในต้าไจ้มีคนอ่านออกเขียนได้ 85.2% (น.131)

Health and Medicine

ไม่มี

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย ปัจจุบันมีผู้ชายจิงโปจำนวนน้อยที่สวมเสื้อคลุมยาว(long gown)และมีผ้าโพกศีรษะ ผู้ชายวัยผู้ใหญ่ส่วนมากสวมเสื้อทูนิคสีดำหรือสีคล้ำ รูปทรงแบบจีน กางเกงขายาว รองเท้าแตะพลาสติก ส่วนผู้ชายที่อายุน้อยจะใส่เสื้อสีสว่างกว่า ชอบสวมเครื่องแบบและหมวกแก้ปของทหาร เสื้อเชิ้ตสีขาวหรือสีสว่าง กางเกงยีนส์สีน้ำเงิน รองเท้าผ้าใบยาง เมื่อเดินทางผู้ชายวัยผู้ชายเกือบทุกคนจะสะพายย่ามและพกมีดติดตัวไปด้วย (น.116-117) ผู้หญิงใส่เสื้อแจ็กเก็ตสักหลาดสีดำแขนยาว ผ้าซิ่นเนื้อฝ้ายหรือขนสัตว์ เสื้อสีดำหรือน้ำเงินเข้ม ทุกคนใส่สร้อยคอลูกปัดปะการังสีแดง(manaozhu)จากพม่า ในโอกาสพิเศา เช่น วันหยุด งานแต่งงาน พิธีกรรมสำคัญ และงานเฉลิมฉลองต่างๆ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่นิยม คือ เสื้อคลุมที่มีพู่และแผ่นเงินกลมๆประดับ ผ้าซิ่นขนสัตว์ทอมือออกแบบตกแต่งงดงาม กำไลข้อมือเงินหนึ่งคู่ สร้อยคอหลายเส้น และตั้งแต่ทศวรรษ 1980 คนที่อายุน้อยมักนิยมสวมใส่เสื้อผ้าสมัยใหม่ การแต่งกายของเด็ก เด็กผู้ชายโดยปกติใส่กางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ตสีขาว รองเท้าสีดำมัน ส่วนเด็กผู้หญิง นุ่งผ้าซิ่นแบบคนไตหรือจิงโปมีสีสัน เสื้อเชิ้ตเนื้อไนล่อนหรือโพลีเอสเทอร์ มีเสื้อแจ็กเก็ตหรือสเว็ตเตอร์สวมทับ เด็กผู้หญิงที่มีฐานะและทันสมัยจะสวมนาฬิกาแทนกำไลข้อมือ และใส่ถุงเท้ายาวเนื้อไนล่อน รองเท้าส้นสูง (น.117-118)

Folklore

ไม่มี

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

กลุ่มชาติพันธุ์ย่อย ในอดีตคนจีนฮั่นเรียกชนกลุ่มน้อยนี้ว่า ชานโตวเร็น(the Shantou ren) ซึ่งหมายถึง คนที่อาศัยอยู่บนยอดเขา ต่อมาในช่วงสาธารณรัฐ(the Republican times)พวกเขาถูกเรียกว่า อี้เร็น(Yiren) หมายถึง คนป่า แต่เมื่อจีนตั้งเขตปกครองตนเองจิงโปและไตเต้อหง(the Dehong Dai and Jingpo Autonomous Zhou)ขึ้นมาในปี ค.ศ.1953 คำ “จิงโป”(Jingpo) ก็ได้รับการยอมรับจากกลุ่มชาติพันธุ์นี้ในฐานะชื่อทางการของตน (น44) จิงโปแบ่งออกกลุ่มย่อยใหญ่ๆได้ 4 กลุ่มตามภาษาถิ่น ได้แก่ 1. กลุ่มจิงปอว์(Jinghpaw) อาศัยอยู่ในพม่ามากที่สุด แต่ในประเทศจีนเป็นมีจำนวนประชากรรองจากกลุ่มไซวา อยู่รวมกันเป็นในบริเวณคะฉาง(Kachang) และถงปี่กวน(Tongbiguan)ของเขตหยิงเจียง(น.44,47) 2. กลุ่มไซวา(Zaiwa) จำนวนประชากรกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศจีนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อาศัยอยู่ตอนกลางภูเขาจิงโปของเขตหลงฉ้วนและเขตลู่ซี(น.44,47) 3. กลุ่มลาจี(Lachi) จะอยู่ในบริเวณจานซี(Zhanxi)ของเขตหยิงเจียง และในบริเวณจงชานกับตงชานของเขตลู่ซี(น.47) 4. กลุ่มลางโว(Langwo) จะอยู่กระจายทั่วไปบนภูเขาจิงโปในเขตลู่ซี เขตเลียงเหอ(Lianghe County) เขตรุยลี และเขตหยิงเจียง (น.47) ปัจจุบันประชากรจิงโปส่วนใหญ่ในจานซีเป็นกลุ่มลาจี(Lachi)และลางโว(Langwo) ส่วนประชากรไซวา(Zaiwa)ในหลุงฉ้วนมาจากจานซีหรือไม่ก็พาโม(Bhamo) ส่วนกลุ่มจิงปอว์(Jinghpaw)ในเต้อหงมาจากดินแดนสามเหลี่ยมและ Hkahku และตั้งถิ่นฐานในคะฉาง( Kachang) ถงปี่กวน(Tongbiguan) ซีมา(Xima) หรือจูชีกวน(Jushiguan)ในหยิงเจียง (น.58) อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์ย่อยเหล่านี้ แม้จะใช้ภาษาถิ่นต่างกัน แต่ทั้งหมดต่างคิดว่าพวกตนมีบรรพบุรุษเดียวกัน มีระบบการแต่งงานเหมือนกัน มีจารีตประเพณีเดียวกัน มีระบบควบคุมสังคมเหมือนกัน และใช้ภาษา Jinghpaw เท่านั้นในพิธีกรรม (น.5-7 )

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เศรษฐกิจและสังคม สังคมจิงโปค่อยๆเปลี่ยนมาตั้งแต่พวกเขาอพยพเข้ามาในเต้อหงและติดต่อกับเพื่อนบ้านคนไตและฮั่น ระหว่าง ค.ศ. 1900-1949 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เต้อหงมีลักษณะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม 2 แบบในเวลาเดียวกัน นั่นคือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมแบบเก่า ได้แก่ ความเป็นเจ้าของที่ดินชุมชนร่วมกัน และความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันระหว่างหัวหน้ากับคนธรรมดา/ชาวบ้าน ซึ่งยังมีอยู่ในบางชุมชน ชุมชนแบบนี้หัวหน้ายังคงเป็นผู้นำและผู้ปกป้องคุ้มครองดูแลชุมชน ชุมชนแบบนี้จะพบได้ในท้องถิ่นที่มีคนจิงโปอยู่กันเป็นจำนวนมาก หมู่บ้านของพวกเขาผูกพันรวมกันและอยู่ห่างไกลจากเส้นทางการค้าหลัก ชุมชนเหล่านี้ตั้งอยู่บนภูเขาจิงโปตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะที่ลุยลง(Luilong)ในเขตรุยลี(Ruili)และที่ปางวา(Bangwa)ในเขตหลงฉ้วน(Longchuan) ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ ในชุมชมบางแห่ง ที่ดิน – โดยเฉพาะที่นาทดน้ำ- อยู่ในมือของหัวหน้าที่ร่ำรวย ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวยังชีพในที่นาทดน้ำแปลงเล็กๆที่ตนเป็นเจ้าของ ในชุมชนแบบนี้ หัวหน้าจะเปลี่ยนไปใน 2 ลักษณะ ขึ้นอยู่กับความสามารถ ความเข้มแข็งของสายตระกูลและโอกาสทางสังคมของเขา กล่าวคือ หัวหน้าจะกลายเป็นคนร่ำรวยและมีอำนาจมากขึ้น ในกรณีที่เปลี่ยนตนเองไปเป็นเจ้าที่ดิน(feudal landlords) หรือไม่หัวหน้าก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองน้อยลง และสูญเสียความภาคภูมิใจศักดิ์ศรี(privileges)และอำนาจให้แก่คนรวยใหม่ กลายเป็นชาวนาเจ้าของที่ดินขนาดเล็ก ชุมชนแบบนี้จะอยู่ใกล้กับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ-การเมือง และเส้นทางการค้าหลัก จิงโปในชุมชนแบบนี้มีการติดต่อกับคนจีนฮั่นและคนไตมากกว่าชุมชนแบบแรก มักจะอยู่ตามชายขอบรอบนอกของภูเขาจิงโปตอนกลางและตอนเหนือ (น.78-79)

Other Issues

ประวัติเขตปกครองจานซี แต่เดิมจานซี(Zhanxi )อยู่ในการควบคุมของลู่ฉ้วนตู๋ซี(the Luchuan tusi) แต่หลังจากอาณาจักรลู่ฉ้วนของไตพ่ายแพ้ในปี ค.ศ. 1442 จานซีก็เข้ามาอยู่ใต้การปกครองของหนานเตียนตู๋ซี(Nandian tusi) ต่อมาเมื่อมีการสร้างฐานที่มั่นสองแห่งทางตะวันตกและทางเหนือของจานซีในปี ค.ศ.1595 คนจีนฮั่นจึงเข้ามายังดินแดนบริเวณนี้ เนื่องจากเป็นจุดหยุดพักสำคัญของเส้นทางการค้าสายโบราณระหว่าง Tengchong กับ Myitkyira และตั้งแต่นั้นมา ผู้ปกครองคนไตท้องถิ่น(the local Dai tusi)กับเจ้าหน้ารัฐบาลฮั่นก็แข่งกันมีอำนาจเหนือจานซี ในปี ค.ศ.1911 ผู้ปกครองจานซี(Zhankxi tumu)ก็ควบคุมหมู่บ้านไต 6 แห่ง ส่วนผู้ปกครองหนานเตียน(Nandian tusi)ควบคุมหมู่บ้าน 4 แห่ง โดยที่ยังคงอยู่ในการดูแลของอำนาจศาลเถิงฉง(Tengchong jurisdiction) ในปี ค.ศ. 1932 จานซีได้ถูกตั้งเป็นเขตปกครองที่เรียกว่า “a xiang” ของเขตเถิงฉง(Tengchong County) และเป็นอำเภอที่สิบของเถิงฉง และเป็นอำเภอพิเศษ(special district)ซึ่งเทียบเท่ากับเขต(a county)ในเวลาต่อมา แต่ในปี ค.ศ.1956 ก็ถูกลดฐานะเป็นอำเภอเหมือนเดิม และย้ายไปอยู่ในการปกครองของเขตหยิงเจียง(Yingjiang County) (น.91-92) ปัจจุบัน จานซีมีฐานะเป็นเขตการปกครอง คือ จานซีเซียง(Zhanxi Xiang) ประกอบด้วยกลุ่มหมู่บ้าน 8 หมู่ (น.89) (“เซียง – xiang” เป็นเขตปกครองระดับต่ำสุดของรัฐ ระดับที่สูงกว่า”เซียง” ได้แก่ “โจว –zhou” “state” และ “จังหวัด – province” ตามลำดับ ซึ่งทั้งสามระดับนี้ต่างจากท้องถิ่นปกครองตนเอง(autonomous region) และเทศบาล(municipality)ซึ่งมีฐานะเทียบเท่า “province” นั้น ขึ้นตรงกับรัฐบาลโดยตรง – น.305)

Map/Illustration

แผนที่ 1 แสดงพื้นที่หมู่บ้านต้าไจ้และพื้นที่รอบๆ (Map of Dazhai Village and Surrounding Area) น. xxi แผนที่ 2 แสดงพื้นที่บนภูเขาคะฉิ่นที่แบ่งตามสภาพภูมิอากาศ(The Kachin Hills Area Subdivided On a Climatic Basic) น.xxii

Text Analyst อธิตา สุนทโรทก Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG จีนยูนนาน จีนมุสลิม, คะฉิ่น(Kachin), จิงโป(Jingpo), การเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรม, การปรับตัว, จีน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง