สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชอง,งานหัตถกรรมพื้นบ้าน,คุณประโยชน์,เอกลักษณ์,คุณค่า,การสืบทอด,แนวทางการอนุรักษ์,ตราด
Author กาญจนา จินตกานนท์ ศิริพร สมัครสโมสร
Title งานหัตถกรรมพื้นบ้านชาวชอง
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text -
Ethnic Identity ชอง ตัมเร็จ สำแร, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (สำเนารายงานการวิจัยมาจากห้องสมุดงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) Total Pages 166 Year 2543
Source สำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตการศึกษา 12 กรมวิชาการ
Abstract

จากการวิจัยงานหัตถกรรมพื้นบ้านชาวชองของชุมชนชองหมู่บ้านคลองแสง ทั้ง 8 ชนิด คือ สมุก เสื่อ กระบุง กะโล่ กระจาด ข้อง กระชอน และชนาง ผู้เขียนพบสาระสำคัญ 5 ประการ คือ 1) จุดมุ่งหมายหลักของการสร้างสรรค์งานจักสานของชาวชองที่สืบต่อกันมาในอดีตถึงปัจจุบัน คือ เพื่อเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องใช้ในการประกอบพิธีกรรม 2) เครื่องจักสานดังกล่าวถูกผลิตขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยเหมาะกับการใช้งานเป็นหลัก จึงทำให้มีวิธีและขั้นตอนการผลิตที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน รูปทรงมีเพียง เช่น ทรงกระบอก ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยม และลวดลายมีเพียงลายแม่บท 4 ลาย คือ ลายขัด ลายสอง ลายสาม ลายคุบ และลายพัฒนา 2 ลาย คือ ลายขัดตาจีน ลายผสม หรือลายประดิษฐ์ 3) สามารถสังเกตได้ว่าวัสดุหลักที่ชาวชองนำมาผลิตเครื่องจักสาน และได้กลายเป็นเอกลักษณ์เครื่องจักสานของชาวชอง ซึ่งต่างไปจากเครื่องจักสานของท้องถิ่นอื่น คือ ต้นคลุ้ม ซึ่งเป็นพืชในชุมชนที่มีคุณสมบัติพิเศษตามธรรมชาติ เมื่อนำมาจักตอกแล้วผิวมีสีแดงเรื่อสวยงาม นวล ลื่น นิ่ม เหนียว และเย็น 4) ถึงแม้ว่าเครื่องจักสานของชาวชองจะมีความเรียบง่ายไม่โดดเด่นทั้งรูปทรงและลวดลาย แต่ก็มีความงดงามเชิงศิลป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถเชิงศิลปของชาวชองในการกำหนดขนาด สัดส่วน รูปทรง การเลือกวัสดุของเครื่องจักสานให้เหมาะสม สะดวก มีความสวยงาม และประโยชน์ในการใช้งาน 5) ปัจจุบันชาวชองมีการสืบสานเครื่องจักสานด้วยการเรียนรู้อยู่ในกลุ่มชาวชองด้วยกันเอง เช่น จากบรรพบุรุษ ญาติ เพื่อนบ้าน และได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐอยู่บ้าง การสืบสานและอนุรักษ์เครื่องจักสานของชาวชองจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันทั้งชาวชองและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเครื่องจักสานของชาวชอง โดยการส่งเสริมการผลิต การพัฒนาอาชีพ การปลูกต้นคลุ้มทดแทน และการศึกษาวิจัยถ่ายทอดงานหัตถกรรมพื้นบ้านชาวชองในระบบการศึกษาในชุมชน (หน้า บทสรุป)

Focus

ศึกษางานหัตถกรรมประเภทจักสาน จำนวน 8 ชนิด คือ สมุก เสื่อ กระบุง กะโล่ กระจาด ข้อง กระชอน และชนางของชุมชนชาวชองหมู่บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด โดยมุ่งอธิบายถึงลักษณะการใช้ประโยชน์จากงานหัตถกรรมที่พบในการดำรงชีวิต การผลิต การสร้างสรรค์เชิงศิลปะ และเปรียบเทียบกับเครื่องจักสานของชาวชองกับของไทย พร้อมกับเสนอแนวทางอนุรักษ์งานหัตถกรรมประเภทจักสานของชาวชอง (หน้า 1-4)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มเป้าหมายหลักในการศึกษาคือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชอง บ้านคลองแสง จังหวัดตราด ในประเทศไทย ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตร-เอเชียติค (Austro-Asiatic) ตระกูลมอญ-เขมร (Mon-Khmer) (หน้า 4) และในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นคนไทย โดยมีเชื้อชาติและสัญชาติไทยได้ถูกต้องตามกฎหมาย (หน้า 6)

Language and Linguistic Affiliations

ชองไม่มีภาษาเขียน (หน้า 22) มีแต่ภาษาพูดซึ่งถูกจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic) ในกลุ่มภาษามอญ-เขมรตะวันออก (Eastern Mon-Khmer) (หน้า 6)

Study Period (Data Collection)

ไม่ได้ระบุ

History of the Group and Community

ผู้เขียนให้ภาพรวมของประวัติศาสตร์ชุมชนและสังคมของชองในประเทศไทยโดยสันนิษฐานว่าชองอาจอพยพมาจากเขมร (ประเทศกัมพูชา) ซึ่งสังเกตจากภาษาพูดของชาวชองที่มีภาษาเขมรร่วมอยู่ด้วย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการอพยพย้ายถิ่นที่แน่ชัด ชองเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณภาคตะวันออกของประเทศไทย (หน้า 5-6) บริเวณเขตเมืองจันทบุรีโบราณเป็นแห่งแรก ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 800-พ.ศ.1800 (หน้า 31) ปัจจุบันชุมชนพบชาวชองมากในจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และประเทศกัมพูชาบริเวณชายแดนเขตติดต่อกับประเทศไทย นอกจากนั้นในอดีตยังพบว่ามีชุมชนชาวชองอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นคนไทยเกือบหมดแล้ว (หน้า 4-5) สำหรับประวัติศาสตร์ชุมชนและสังคมของชาวชองบ้านคลองแสง ในจังหวัดตราด ผู้เขียนทราบจากการสัมภาษณ์ชาวชองในหมู่บ้านเพียงว่า ชุมชนที่อยู่อาศัยในปัจจุบันของพวกเขาได้รับการยืนยันจากบรรพบุรุษของพวกเขาเองว่าได้ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่มาเป็นเวลานาน (ไม่ได้ระบุว่าระยะเวลากี่ปี) (หน้า 6)

Settlement Pattern

ชาวชองมีรูปแบบการเลือกถิ่นฐาน และการสร้างบ้าน โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการพักอาศัยเลี้ยงชีพเป็นสำคัญ ในการเลือกถิ่นฐานชาวชองมักตั้งบ้านเรือนในเขตพื้นที่ป่าเขา ที่ราบระหว่างหุบเขา หรือเนินเขาที่อุดมสมบูรณ์ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อใช้เป็นแหล่งหาและสร้างอาหาร เช่น ล่าสัตว์ และทำไร่ ส่วนการสร้างบ้านของชองเดิมทีนิยมใช้ไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยใช้ต้นระกำ หรือหวายมาทำฝาบ้าน ใช้หวายโสมมาทำหลังคาบ้าน และใช้ลำต้นไม้ไผ่มาทุบให้แตกให้แผ่เป็นแผ่น เรียกว่า “ฟาก” นำมาใช้ทำเป็นตัวบ้าน (หน้า 19) แต่ปัจจุบันชองมีการนำวัสดุที่ใช้ในสร้างบ้านเช่นเดียวกับสังคมเมืองเข้ามาใช้แทนวัสดุจากธรรมชาติเนื่องจากง่ายและสะดวกกว่า (หน้า 22)

Demography

ผู้เขียนไม่ได้ระบุ

Economy

ในช่วงที่บรรพบุรุษของชุมชนชาวชองบ้านคลองแสงเริ่มตั้งถิ่นฐาน พื้นที่เต็มไปด้วยป่าลึก ได้มีการอาศัยป่าเป็นแหล่งทำมาหากิน (หน้า 6) ชาวชองมักประกอบอาชีพหาของป่า ล่าหรือจับสัตว์ และเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก เช่น น้ำมันยาง ขี้ผึ้ง ลูกกระวาน หวาย เร่ง ไม้หอม (ไม้กฤษณา) หนังสัตว์ เขาสัตว์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้าวของเครื่องใช้สิ่งของที่ตนเองต้องการ นอกจากนั้นชาวชองยังรู้จักการประดิษฐ์เครื่องมือล่าหรือจับสัตว์ขึ้นใช้เอง เช่น ด้วง หน้าไม้ แร้ว ทุบ และกับ และทำนาไร่ คือ ปลูกข้าวในที่ดอน เพื่อใช้บริโภคเท่านั้น (หน้า 20-21)

Social Organization

ในระดับกลุ่มทางสังคมของชองมักอยู่เป็นกลุ่มร่วมกัน กลุ่มละประมาณ 20-30 ครอบครัว โดยมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ เช่น การประกอบอาชีพ พิธีกรรม การเจ็บป่วย หรือการละเมิดบุกรุกพื้นที่ของคนนอกชุมชน ในกรณีนี้ชองมักย้ายหนีและไปหาที่ทำกินใหม่ ส่วนในระดับครอบครัว ผู้ชายมีหน้าที่ “ไปป่า” เป็นผู้นำหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลลูก ประกอบอาหาร และทำเครื่องจักสานขึ้นใช้ในครัวเรือน และประกอบอาชีพ เมื่อสมาชิกในครอบครัวแต่งงานมักแยกตัวออกไปตั้งครอบครัวของตนเองต่างหาก แต่ยังคงอยู่ใกล้กัน (หน้า 21-22)

Political Organization

ผู้เขียนไม่ได้ระบุ

Belief System

ปัจจุบันชองนับถือศาสนาพุทธ แต่วัฒนธรรมความเชื่อ และประเพณีบางอย่างมีลักษณะที่เป็นชองโดยเฉพาะ (หน้า 6) คือ ความเชื่อในการนับถือผีของชาวชองที่เชื่อว่าผีสามารถให้คุณหรือโทษกับพวกเขาได้ ซึ่งทำให้เกิดประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ และผีได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับทุกประเพณีและพิธีกรรมที่ยังคงปฏิบัติเป็นกฎระเบียบสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่น ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษ หรือผีอื่นๆ การถือเคล็ด เป็นต้น ส่วนประเพณีและพิธีกรรม เช่น การแต่งงาน (กาตั่ก) การเล่นหิ้งผี คือ การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษประกอบพิธีกรรมในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันเรียกว่า การเล่นผีโรง การไหว้ป่า การฟ้อนแม่มด เป็นต้น (หน้า 24-28)

Education and Socialization

ชองมีกระบวนการขัดเกลาทางสังคมให้กับคนในครอบครัวผ่านประเพณีและพิธีกรรม เช่น ประเพณีการเล่นหิ้งผี หรือการเล่นผีโรง ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องมารวมตัวกันเพื่อไหว้ผีบรรพบุรุษ โดยมีหมอผีทำหน้าที่เชิญวิญญาณบรรพบุรุษเข้าสู่ร่างทรง และให้คนในครอบครัวถามสารทุกข์สุกดิบกับวิญญาณ ถ้าร่างทรงร้องไห้แสดงว่าลูกหลานคนในครอบครัวประพฤติตัวไปในทางที่ไม่ดี เพราะผีบรรพบุรุษไม่มีความสุข พิธีกรรมดังกล่าวจึงมีเป้าหมายให้คนในครอบครัวทำความดีเพื่อให้ผีบรรพบุรุษมีความสุข (หน้า 27)

Health and Medicine

ชองมีเคล็ดความเชื่อและการปฏิบัติที่เป็นข้อห้ามเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เช่น ผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องห้ามอาบน้ำตอนกลางคืน เพราะจะทำให้คลอดยาก (หน้า 25)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

จากการวิจัยงานหัตถกรรมพื้นบ้านชอง ผู้วิจัยพบข้อมูลตามประเด็นต่างๆ 1. เครื่องจักสานกับการดำรงชีวิตของชอง ผู้วิจัยไม่พบหลักฐานข้อมูลเอกสารเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเริ่มต้นรู้จักการใช้เครื่องจักสานของชาวชอง จากการสัมภาษณ์ชุมชนชาวชองหมู่บ้านคลองแสงในปัจจุบันพบว่า ชองในชุมชนได้รับการสืบทอดการทำเครื่องจักสาน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดมาจากบรรพบุรุษของตนเอง แต่ในการวิจัยครั้งนี้ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเครื่องจักสานที่ชองที่ยังคงใช้อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันในปัจจุบัน 8 ชนิด คือ สมุก เสื่อ กระบุง กะโล่ กระจาด ข้อง กระชอน และชนาง (หน้า 31) แบ่งประเภทตามการใช้งาน 3 ลักษณะ คือ หนึ่ง เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ได้แก่ อาชีพจับสัตว์น้ำใช้ชนางจับกุ้งปลาบริเวณน้ำตื้น ข้องและสมุกใช้ใส่ปลา หรือผักที่หามาได้ อาชีพทำนา ใช้กระบุงโรยข้าว กะโล่ฝัดข้าว และสมุกใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร สอง เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การใช้เป็นเครื่องเก็บ บรรจุ ตากสิ่งของต่างๆ เช่น สมุกใช้เก็บสิ่งของ ข้องใช้ใส่ผักปลา กระจาดและกะโล่ใช้ตากสิ่งของ กระบุงใช้บรรจุสิ่งของต่างๆ การใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาหาร เช่น กระชอน มี 2 ประเภท คือ ใช้คั้นกะทิ และตักเส้นขนมจีน การใช้ปูพื้นสำหรับนั่งนอน เช่น เสื่อ และสาม เครื่องใช้ในการประกอบพิธีกรรม ได้แก่ สมุก (แบบมีฝาครอบ) ทุกบ้านใช้บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษ (ผีเรือน) กระบุง ใช้บรรจุสิ่งของประกอบพิธีกรรม การทำเครื่องจักสานชนิดต่างๆ ของชองมีวิธีการจักสาน 3 แบบ ประกอบด้วย การจัก คือ การนำวัสดุที่ใช้ทำเครื่องจักสานมาทำให้เป็นเส้น ริ้ว เมื่อเสร็จแล้วเรียกว่า “ตอก” มี 2 ประเภท ได้แก่ ตอกปื้น (ได้มาจากส่วนผิว) และตอกกลม (ตอกที่เหลาทั้งเส้นให้กลมเสมอกัน) การสาน คือ การนำตอกมาขัดกันให้เกิดลวดลาย และการถัก คือ การมัดขอบเครื่องจากสานเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายจูงนาง ลายสันปลาช่อน ลายแข้งสิงห์ โดยใช้ตอกที่ทำจากหวายให้ยึดติดกัน ส่วนอุปกรณ์มี 4 ชนิด ประกอบด้วย มีด มีทั้งมีดด้ามสั้น และใบมีดโค้งคล้ายวงพระจันทร์ด้ามยาว สำหรับใช้จักตอก เหล็กมาด คือ เหล็กปลายแหลมกลมมีด้ามยาว สำหรับใช้เจาะแยงนำเส้นตอกเข้าขอบเครื่องจักสานที่มีลายแน่น เช่น ขอบกระบุง กะโล่ คีมไม้ สำหรับใช้ช่วยหนีบขอบในขั้นตอนเข้าขอบเครื่องจักสานที่มีขอบแข็ง เลียด คือ แผ่นสังกะสี หรือฝาน้ำอัดลม นำมาเจาะรูให้เท่ากับขนาดของเส้นตอกที่ทำจากหวาย สำหรับใช้ขูดตอกหวายให้กลมและไม่คม เรียกว่าการ “ชักเลียด” และน้ำมันยาง ได้มาจากต้นยางชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ต้นยางเหียง” ใช้สำหรับทาเครื่องจักสานเมื่อเสร็จแล้ว เพื่อให้มีความเงาสวยงาม และกันปลวกมดทำลาย (หน้า 36-48) 2. เอกลักษณ์เครื่องจักสานของชอง ชองมีวิถีการดำรงวิถีชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก จึงส่งผลให้เครื่องจักสานของชองมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง 2 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ เอกลักษณ์จากวัสดุที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักสาน ด้วยการนำต้นคลุ้ม ซึ่งเป็นพืชที่เติบโตแตกเป็นกิ่ง มีอยู่มากบริเวณป่า พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และหาง่ายในชุมชนของตนเองเข้ามาเป็นวัสดุหลักในการผลิตผลงาน ส่วนใหญ่ใช้ต้นคลุ้ม อายุ 3-4 ปี เนื่องจากลำต้นไม่มีปล้องเหมือนไม้ไผ่ จึงทำให้สามารถสร้างจักตอกที่มีขนาดเล็กและยาว (3-4 เมตร) ทำให้ สานแล้วไม่มีรอยต่อ เร็วสะดวกกว่าไม้ไผ่ ผิวของลำต้นทั้งผิวชั้นนอก (ผิวตอก) และใน (ขี้ตอก) สามารถนำมาใช้จักตอกได้ทั้ง 2 ชั้น แต่ผิวตอกจะทนทาน ผิวสวยกว่าขี้ตอก เนื้อเส้นตอกไม่ขึ้นรา มอดไม่กิน อ่อน นิ่ม ลื่น น้ำหนักเบาง่ายต่อการจักสาน สีและผิวตอกนวลเนียนสีแดงเรื่อ เมื่อนำมาจักสานแล้วทำให้เครื่องจักสานนั้นสามารถแช่น้ำได้นาน เบา ผิวตอกเย็นลื่น สีสวยตามธรรมชาติ ต้นที่แก่จัด (อายุ 5-6 ปี) สามารถนำมาทำเครื่องจักสานที่รูปทรงคงตัวทนแข็งแรง แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ตอกจากต้นคลุ้มมีความอ่อนต้องใช้ไม้ไผ่ และหวายเข้ามาใช้ขึ้นโครงและขอบ และใช้ตอกต้นคลุ้มจำนวนมากเนื่องจากมีขนาดเล็ก รวมทั้งผลิตเครื่องจักสานจากต้นคลุ้มในช่วงฤดูร้อน ต้องใช้น้ำพรมตอกช่วยให้นิ่ม เพราะตอกจากคลุ้มแห้งกรอบสานยาก แต่ง่ายในฤดูฝน เพราะนิ่มสานง่าย (หน้า 49-55) สอง คือ การผลิตเครื่องจักสานขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เครื่องจักสานของชาวชองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการสร้างสรรค์รูปทรง และลวดลายต่างๆ ในด้านการสร้างสรรค์รูปทรงเครื่องจักสาน ชาวชองจะออกแบบเป็นรูปทรงเรขาคณิตให้เหมาะสมกับการใช้งานเป็นหลัก เช่น ทรงกระบอก คือ สมุก ข้อง ทรงกลมรี แบน คือ กะโล่ ทรงสามเหลี่ยม ปากกว้าง ก้นแคบ คือ ชนาง กระบุง และสี่เหลี่ยมผืนผ้า คือเสื่อ ส่วนการสร้างสรรค์ลวดลายต่างๆ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ลายแม่บท ลายพัฒนา และลายประดิษฐ์ อธิบายคือ ลายแม่บท หมายถึง ลายประจำตัวที่มีกฎเกณฑ์การสาน ประกอบด้วย ลายหนึ่ง หรือลายขัด คือ ลายพื้นฐานที่ต้องการให้เครื่องจักสานมีความทนทาน โดยใช้ตอกขวางขัดตอกยืนเส้นเว้นเส้นสลับกับไปให้แน่น ลายสอง คือ ลายทึบตอกที่ใช้เป็นแกนของลายจะเป็นเส้นคู่ ใช้สานบริเวณก้น หรือขอบปากของเครื่องจักสานให้แข็งแรง ลายสาม คือ ลายที่เพิ่มเส้นหลักของสายจากหนึ่งหรือสองเส้นเป็นสามเส้น ใช้กรณีต้องการให้พื้นเครื่องจักสานมีความแน่นมากๆ และลายคุบ คือ ลายแนวขวางที่เกิดจากการสานเส้นตอกแบบขวางตามส่วนยาวของเส้นตอก โดยวางเส้นตอกเป็นแนวทะแยงทั้งหมด ลายพัฒนา หมายถึง ลายแม่บทที่นำมาเพิ่มเติมให้มีลวดลายแปลกจากเดิม และตามการใช้งาน เช่น ลายขัดข้าวหลามตัด ลายสองเกวียน ลายสองยืน ลายตะแกรง ลายคุบ ลายไพลยักคิ้ว และลายขัดตาจีน และลายประดิษฐ์ หมายถึง การนำลายแม่บท และลายพัฒนามาประดิษฐ์ให้สวยงามขึ้นใหม่ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า มีชาวชองเพียงคนเดียวเท่านั้นที่คิดลายประดิษฐ์นี้ขึ้นมา คือ นางสวาท บึงบัว (บ้านเลขที่ 12 หมู่ 3 บ้านคลองแสง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร จังหวัดตราด) ดังเห็นได้จากการประดิษฐ์สมุกให้มีลายต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นอยู่ในสมุกใบเดียว (หน้า 60-71) วิธีการผลิตเครื่องจักสานของชาวชอง มี 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ การจักตอก และการสาน วิธีการจักตอกเริ่มต้นจากผ่าต้นคลุ้มเป็นสี่ส่วนเท่ากัน เหลาไส้ออกให้เหลือแต่ผิว แล้วผ่าต้นคลุ้มแต่ละส่วนออกเป็น 2 ชิ้น รวมแล้วจะได้ต้นคลุ้ม 8 ชิ้น เหลาไส้อีกครั้ง สุดท้ายคือนำคลุ้มมาลอกผิวตอกด้วยการใช้มีดคมจักเส้นตอกจากด้านโคนผ่าไปหาส่วนปลาย เพื่อให้ได้เป็นเส้นตอกที่มีความยาวขนาดต่างๆ ได้แก่ ตอกยาว 3-4 ศอก (150-200 ซม.) สำหรับเครื่องจักสานขนาดใหญ่ ส่วนขนาดเล็กใช้ตอกยาว 2 ศอก (100 ซม.) ส่วนวิธีการสาน และการใช้ลายต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของเครื่องจักสานแต่ละชนิด ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการสานขึ้นส่วนก้นแล้วค่อยทำมุม เช่น สมุก กระชอนใช้คั้นกะทิ ข้อง กระจาด กระบุง หรือตามการขึ้นรูปทรง เช่น กระชอนใช้ตักเส้นขนมจีน ชนาง กะโล่ หรือการสานขึ้นจากมุม เช่น เสื่อ หลังจากนั้นจึงสานขึ้นตัวเครื่องจักสานให้มีความถี่ หรือห่างให้มีช่องว่างตามการใช้งาน เก็บริมขอบ ขอบปากตามลำดับ แล้วค่อยทำส่วนฝาปิด ด้ามจับ สายหิ้ว หรือสะพายทำจากหวายให้เหมาะกับการใช้งานของเครื่องจักสานนั้นๆ สำหรับกระบุงเป็นเครื่องจักสานชนิดเดียวที่ชาวชองนิยมนำมาทาน้ำมันยางเมื่อสานเสร็จแล้ว (หน้า 75-109, 145) 3. งานจักสานของชาวชอง คุณค่าและการพัฒนางาน ด้านคุณค่า ผลการวิจัยพบว่า มีคุณค่า 2 ด้าน หนึ่ง คือ คุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถการสร้างสรรค์ และลักษณะนิสัยของชาวชอง คือ การชอบอยู่ร่วมกันเฉพาะกลุ่มชาวชอง ทำให้ความเป็นชาวชองในปัจจุบันไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักไปจากสมัยบรรพบุรุษ การคงสภาพของถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้ป่าเขา และแหล่งน้ำตามธรรมชาติไกลตัวเมืองของชาวชอง ทำให้อิทธิพลของเครื่องใช้ไม้สอยที่เกิดจากเทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปถึงชุมชนชองไม่มากนัก และการยึดมั่นคติความเชื่อสืบทอดประกอบพิธีกรรมของชาวชอง ดังที่กล่าวมานี้ทำให้เครื่องจักสานยังคงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตประจำวันของชาวของ สอง คือ คุณค่าด้านศิลป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถเชิงศิลปในงานจักสาน ดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อเอกลักษณ์เครื่องจักสานของชาวชอง ได้แก่ การเลือกใช้วัสดุตามคุณสมบัติตามธรรมชาติของต้นคลุ้ม โครงสร้าง รูปทรง และลวดลาย และการสร้างสรรค์เพื่อการนำไปใช้ให้เกิดความสวยงาม เหมาะสมสะดวกกับการใช้งาน (หน้า 110-113) ด้านการพัฒนางาน ผลการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ด้าน หนึ่ง คือ ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของชิ้นงานเครื่องจักสาน เช่น บรรพบุรุษชาวชองในอดีตมีการสานเสื่อขนาดใหญ่มากใช้ปูพื้นเพื่อนวดข้าว และมีการสร้างลวดลายรูปสัตว์ (เสือ ช้าง) ปัจจุบันชาวชองมีการสานเสื่อขนาดเล็กลงเพื่อใช้ปูนอนไม่เกิน 2 คน และสานด้วยลายสามทั้งผืนไม่มีลวดลาย เพราะขาดการถ่ายทอดวิธีการทำจากรุ่นสู่รุ่น และใช้เวลาสานนาน สอง คือ ผู้สืบสาน ผู้พัฒนางานจักสานพบว่าภายในชุมชนมีเพียง 10 ราย ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ และได้รับการยอมรับในฝีมือ คือ 1. นางเจียม เกตุถึก 2. นางเฉวียน เกตุถึก 3. นางพุ่มเอกนิกร 4. นางย้อน เกตุถึก 5. นางรำไพ เอกนิกร 6. นางสวาท บึงบัว 7. นางสาว สำลี 8. นางสุคนธ์ พรหมบาล และ10. นายโห บึงบัว ซึ่งต่างมีความชำนาญในการสร้างเครื่องจักสานที่แตกต่างกันออกไป สาม คือ การผลิตเครื่องจักสาน พบว่า ชองมีการนำวัสดุอื่นเข้ามาใช้ร่วมด้วย เช่น การซ่อมแซม หรือการมัดขอบเครื่องจักสานด้วยเชือกพลาสติก หรือไนล่อน เป็นต้น นอกจากนั้นหน่วยงานราชการได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเครื่องจักสาน คือ นายผไท วิจารณ์ปรีชา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตราด (1 ตุลาคม 2538 – 30 กันยายน 2541) และนายสุจินต์ จุฑาธิปไตย อดีตนายอำเภอบ่อไร่ (10 พฤศจิกายน 2540 – 30 ตุลาคม 2541) ผู้ริเริ่มนโยบายได้เข้ามาสนับสนุน และฟื้นฟูงานหัตถกรรมพื้นบ้านชาวชอง โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร เป็นผู้ดำเนินการตามนโยบาย เช่น การฝึกอบรมอาชีพจักสาน ส่งผลให้ชาวชองมีการผลิตเครื่องจักสานเพื่อการค้ามากขึ้นเป็นอาชีพเสริม เช่น ของที่ระลึก เครื่องประดับ และเป็นการอนุรักษ์เครื่องจักสานของชาวชองอีกทางหนึ่ง (หน้า 30-48) 4. วิเคราะห์เปรียบเทียบเครื่องจักสานของชาวชองกับเครื่องจักสานทั่วไปของไทย ผู้เขียนได้อธิบายสรุปให้เห็นถึงความต่างและความเหมือนที่เป็นเอกลักษณ์เครื่องจักสานของชาวชองเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องจักสานทั่วไปของไทย จากเอกลักษณ์เครื่องจักสานของชาวชองผู้เขียนพบว่า มีความแตกต่างไปจากเครื่องจักสานของไทย คือ เครื่องจักสานของชาวชองใช้คลุ้มเป็นวัสดุหลักในการผลิตเครื่องจักสาน เพราะมีข้อดีที่เป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติต่างจากไผ่ ดังที่กล่าวไปข้างต้น มีลายง่ายๆ ที่ใช้จักสานประจำเพียง 2 ลาย คือ ลายแม่บท และลายพัฒนา เครื่องจักสานบางชนิดมีการนำไม้ไผ่ หรือหวายเข้ามาใช้ในการถักลายขอบ การถักด้ามถือ การขึ้นโครงเพื่อบังคับรูปทรง การใช้น้ำมันยางทาเครื่องจักสานให้มีความคงทนแข็งแรง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรง แต่เปลี่ยนแปลงขนาดได้ตามการใช้งาน หรือผู้ใช้ ต่างไปจากเครื่องจักสานทั่วไปของไทยที่ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักในการจักสาน การขึ้นโครง ซึ่งคุณสมบัติต่างไปจากต้นคลุ้มโดยเฉพาะผิวไม้ไผ่ขึ้นรา แมลงกัดกินง่ายจึงต้องนำไปรมควันแล้วทาน้ำมันยางทับ มีข้อ แข็งจักสานยาก โตช้า และไม่สามารถผลิตเครื่องจักสานที่เน้นความละเอียดอ่อน นอกจากนั้นเครื่องจักสานของไทยมีการใช้ต้นกก กระจูด ใบเตย ใบตาล ใบลาน และมีลวดลายในการจักสานทั้งเป็นลายที่รับสืบทอดกันมา และลายประดิษฐ์ด้วยการสลับสี หรือรูปสัตว์หรือตัวอักษรมากกว่าของชาวชอง รวมทั้งมีหลายขนาด และรูปทรงขึ้นอยู่กับท้องถิ่นของแต่ละภาคในประเทศไทย ส่วนความเหมือนระหว่างเครื่องจักสานของชาวชองกับเครื่องจักสานทั่วไปของไทย พบว่า เครื่องจักสานของชาวชองบางชนิดมีลักษณะรูปร่างเหมือนกันกับเครื่องจักสานของไทย เช่น ชนางของชาวชองกับชนางของคนไทยในจังหวัดราชบุรี แต่ชนางของคนไทยจะมีไม้ไผ่ทำเป็นด้ามจับทั้ง 2 ด้านสำหรับช้อนหรือตักที่ปากของชนาง หรือชื่อที่เหมือนกันทั้งเครื่องจักสานของชาวชอง และคนไทย ได้แก่ ข้อง สมุก กระบุง เสื่อ กะโล่ กระจาด แต่สามารถแยกได้จากลักษณะรูปทรง และลวดลายการจักสานที่ต่างกัน (หน้า 141-149) 5. การสืบทอดและแนวทางการอนุรักษ์งานจักสานของชาวชอง จากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้สืบสาน และกลุ่มผู้ที่มีเชื้อสายชาวชองในการวิจัยครั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า ผู้เขียนมองการสืบทอดงานจักสานของชาวชองในเชิงอุปสรรค และปัญหา คือ การสืบทอดงานจักสานที่ผ่านมาชาวชองมีผ่านการเรียนรู้ภายในกลุ่มชาวชองด้วยกันเองจากบรรพบุรุษคนในครอบครัว ญาติ เพื่อนบ้าน และการฝึกฝนด้วยตนเอง โดยมักกระทำในเวลาว่างจากการประกอบอาชีพ มีผู้ว่าจ้าง เป็นเวลาที่ไม่แน่นอน ต้องมีเวลาในการฝึกฝนนาน รวมทั้งต้องเป็นผู้ที่สนใจ และมีฝีมือ จึงทำให้การสืบทอดงานจักสานของชาวชองในปัจจุบันไม่ได้รับการเอาใจใส่ จำนวนผู้สืบสานลดลง ผู้รู้ชำนาญงานจักสานส่วนมากอยู่ในวัยชรา ไม่สามารถคงต้นแบบ และวัตถุประสงค์การใช้งานเครื่องจักสานของชาวชองให้เหมือนเดิม เนื่องจากมีการรับอุปกรณ์ที่ทันสมัยผลิตขึ้นในสังคมเมืองเข้ามาใช้ในชุมชนของตนเอง และการส่งเสริมจากหน่วยงานราชการส่งผลให้ชาวชองผลิตเครื่องจักสานไปตามความต้องการของตลาด แต่ขาดการส่งเสริมการปลูกพืชคลุ้ม ไผ่ และหวายขึ้นทดแทน จึงทำให้เริ่มขาดแคลน ในการวิจัยครั้งนี้ได้เสนอแนวทางการอนุรักษ์งานจักสานของชาวชอง 2 วิธี คือ ควรหาแนวทางอนุรักษ์การคงต้นแบบที่เป็นเอกลักษณ์เครื่องจักสานของชาวชอง โดยมุ่งให้กลุ่มผู้สืบทอดงานจักสานซึ่งเป็นชองที่มีความสามารถในการผลิตงานจักสานเป็นผู้ถ่ายทอดฝึกฝนให้กับผู้ที่สนใจต้องการสืบทอด จัดความรู้ภูมิปัญญางานหัตถกรรมพื้นบ้านชาวชองเข้าไปอยู่ในหลักสูตรท้องถิ่นของสถาบันการศึกษาในชุมชน การส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาวิจัย การทำสื่อการเรียนรู้ในเชิงวิชาการ เช่น เอกสารผลการวิจัย ภาพถ่าย เทปบันทึกภาพ สุดท้ายควรให้หน่วยงานรัฐเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาอาชีพงานจักสานของชาวชอง ตลอดจนการวางแผน ประสานงาน และกำหนดนโยบายการอนุรักษ์งานจักสานของชาวชองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด และประเทศ และในแผนพัฒนาของจังหวัด (หน้า 155-160)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ผู้เขียนไม่ได้ระบุ

Social Cultural and Identity Change

ผู้วิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนชองบ้านคลองแสงปรากฏให้เห็นในลักษณะของสภาพที่อยู่อาศัย และเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวันโดยทั่วไป ซึ่งเกิดขึ้นจากการรับอิทธิพลจากสังคมเมืองภายนอก ได้แก่ การสร้างบ้านโดยใช้วัสดุสมัยใหม่แทนวัสดุธรรมชาติ เพราะง่ายและสะดวกแก่การใช้งาน (หน้า 22) เครื่องจักสานถูกลดบทบาทลง เครื่องจักสานบางอย่างชาวชองไม่ถึงกับเลิกใช้ หรือเลิกผลิต (หน้า 31) แต่สำหรับเสื่อ กระบุง ไม่ค่อยผลิตแล้ว เพราะเสื่อใช้เวลาขั้นตอนสานมาก ส่วนกระบุงใช้พลาสติกแทน การใช้ตะแกรงโลหะร่อนแร่ช้อนกุ้งปลาแทนชนาง (137-138) ใช้กระสอบปุ๋ยแทนสมุก มีการใช้อุปกรณ์ประเภทไนล่อน อะลูมิเนียม เข้ามาใช้ในวิถีชีวิตประจำวันมากขึ้น (หน้า 157)

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ผู้เขียนมีการใช้ภาพถ่าย แผนผัง แผนที่ และตาราง เพื่ออธิบายข้อมูลความเป็นมา และข้อมูลทั่วไปของชาวชองในจังหวัดตราด เช่น ภาพถ่ายรูปพรรณสัณฐานหญิงชายชาวชองในอดีต (หน้า 4-5) บ้านของชาวชองในอดีต และปัจจุบัน (หน้า 20, 23 ) ชาวชองกับเครื่องล่าสัตว์ (หน้า 21) พิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีแต่งงาน ประเพณีฟ้อนแม่มด (หน้า 27, 29) แผนผังตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติคของชาวชอง (หน้า 7) แผนที่ประเทศไทยบอกตำแหน่งของจังหวัด และอำเภอต่างๆ ในจังหวัดตราด แผนที่ที่ตั้งอำเภอต่างๆ ที่มีชาวชองตั้งถิ่นฐานในปัจจุบัน และตารางรายชื่ออำเภอในจังหวัดตราดที่มีชาวชองอาศัยอยู่ (หน้า 9-17) นอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายที่ได้จากการลงเก็บข้อมูลภาคสนาม อธิบายร่วมกับการเขียนบรรยายรายงานผลการวิจัยโดยละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ และเห็นภาพชัดเจน เช่น ภาพตัวอย่างเครื่องจักสานทั้ง 8 ชนิด (หน้า 32-36, 58-59, 118) ภาพการสาธิตการใช้เครื่องจักสานในวิถีชีวิตประจำวัน และการประกอบพิธีกรรม (หน้า 37, 41, 40, 56 ) ภาพตัวอย่างวัสดุ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการจักสานทั้ง 4 ชนิด รูปทรงต่างๆ พร้อมกับสาธิตวิธีการใช้ (หน้า 43-48, 50, 53, 74, 88-89, 114) ภาพตัวอย่างลายที่ใช้ในการจักสาน และขั้นตอนการผลิต (หน้า 61-71, 75,78, 80, 83-84, 93, 96-99, 101-103, 105, 108, 120,122-123) ภาพชาวชองที่มีความสามารถในการผลิตเครื่องจักสาน และชาวชองเจ้าของผลงานกับผลงานของตนเอง (หน้า 52, 72, 86) ภาพการเปรียบตัวอย่างเครื่องจักสานที่ทำจากวัสดุที่ต่างกัน และการเปรียบเทียบเครื่องจักสานชาวชองกับเครื่องจักสานทั่วไปของไทย (หน้า 54, 148-154) และภาพผู้สนับสนุนการสืบสานและอนุรักษ์เครื่องจักสานของชาวชองจากหน่วยงานรัฐ (หน้า 139) รวมทั้งการใช้ตารางเข้ามาอธิบายรายละเอียดข้อมูลที่ต้องการแสดงความแตกต่าง หรือการเปรียบเทียบ เพื่อกระชับข้อมูล และเข้าใจง่าย เช่น ลักษณะต้นคลุ้มที่เหมาะกับการนำมาจักสาน (หน้า 51) คุณสมบัติตามธรรมชาติของต้นคลุ้ม (หน้า 115) ความสามารถของชาวชองในการออกแบบรูปทรงให้เหมาะกับการใช้สอย (หน้า 123-127) การเปรียบเทียบเครื่องจักสานชาวชองกับเครื่องจักสานทั่วไปของไทย (หน้า 141-147)

Text Analyst นางสาวรัตนา หาญสวัสดิ์ Date of Report 05 มิ.ย 2564
TAG ชอง, งานหัตถกรรมพื้นบ้าน, คุณประโยชน์, เอกลักษณ์, คุณค่า, การสืบทอด, แนวทางการอนุรักษ์, ตราด, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง