สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ,ลื้อ,ยวน คนเมือง,ความเชื่อผี,พุทธศาสนา,พัฒนาการทางการเมือง,ลาว,จีน,ไทย
Author รัตนาพร เศรษฐกุล
Title อิทธิพลของคติความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมต่อพัฒนาการของรัฐไท : กรณีศึกษาไทดำ ลื้อ และยวน
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทยวน ยวน ยวนสีคิ้ว คนเมือง, ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 145 Year 2542
Source โครงการวิจัยวัฒนธรรมชนชาติไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
Abstract

ศึกษาพัฒนาการของรัฐไทโดยเฉพาะกรณียวนในภาคเหนือของประเทศไทย ลื้อในสิบสองปันนา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และไทดำในแขวงหลวงน้ำทา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในดินแดนล้านนา สิบสองปันนาและสิบสองจุไท จากชุมชนหมู่บ้านที่มีพื้นฐานจากกลุ่มตระกูลและความเชื่อถือผี เมื่อพัฒนาขึ้นเป็นเมืองมีการนำพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสานกับคติความเชื่อดั้งเดิม ทั้งความเชื่อถือผีและพุทธศาสนา ได้รับรองอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองในฐานะตัวกลางระหว่างผีกับประชาชน และควบคุมกำลังคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบ้านและเมือง ส่วนพุทธศาสนาก็ช่วยเสริมอำนาจและควบคุมพฤติกรรมของผู้ปกครอง และเป็นโครงสร้างที่ช่วยควบคุมสังคมจากการปกครองของผู้อาวุโสใน "ขะกุ๋น" หรือ ตระกูล ได้เข้าสู่ระบบศักดินาไท ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองและเจ้าแผ่นดิน ล้านนาได้พัฒนารูปแบบของรัฐไปถึงระดับอาณาจักรภายใต้กษัตริย์ที่มีอำนาจเด็ดขาด ในขณะที่ สิบสองจุไทและสิบสองปันนาปกครองแบบสมาพันธ์ที่ผู้ปกครองได้รับการยอมรับจากบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ โดยที่เมืองต่าง ๆ ยังมีอำนาจการปกครองตนเอง เป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจ (หน้า 2, 113, 131, 137, 144)

Focus

ศึกษาเปรียบเทียบความเชื่อผีและพุทธในคนไทดำ ลื้อและยวน ที่มีผลต่อพัฒนาการทางการเมืองของรัฐไท (บทนำ)

Theoretical Issues

ไม่ได้ระบุถึงทฤษฎีที่ใช้ เป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ที่ทำให้เห็นพัฒนาการทางการเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากคติความเชื่อและศาสนาของรัฐไท ทั้งสิบสองจุไท สิบสองปันนาและล้านนา การศึกษาส่วนใหญ่จึงใช้ข้อมูลเอกสารที่เป็นตำนาน พงศาวดาร เอกสารและงานศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีเพื่ออธิบายความเป็นมา พัฒนาการของรัฐไทโดยเน้นไปที่วิถีชีวิต ความเชื่อ การเมืองการปกครองของยวน ลื้อ และไทดำทั้งในอดีตและปัจจุบัน

Ethnic Group in the Focus

ศึกษายวนในภาคเหนือของประเทศไทย ลื้อในสิบสองปันนา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และไทดำในแขวงหลวงน้ำทา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (หน้า 2) แต่ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับไทดำมากกว่ากลุ่มอื่นๆ หรือบางครั้งกล่าวรวมไปด้วยกัน

Language and Linguistic Affiliations

สันนิษฐานตามลักษณะภาษาถิ่นว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่เรียกว่า Proto-Tai ซึ่งมีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมบนที่ราบบริเวณพรมแดนจีนเวียดนามด้านตะวันตก ได้แก่ แคว้นตังเกี๋ยและชายฝั่งของมณฑลกวางสี ก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายจากตะวันออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบนมาทางตะวันตก (หน้า 60)

Study Period (Data Collection)

กันยายน พ.ศ. 2540 - ธันวาคม พ.ศ. 2542

History of the Group and Community

เรื่องเล่าและตำนานเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของคนไท ศาสตราจารย์หวง ฮุย คุน นักวิชาการจีนได้ศึกษาการก่อตัวของวัฒนธรรมไทโดยอาศัยหลักฐานจีน ได้เสนอว่า ช่วงเวลา 300 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ.1300 เป็นช่วงเวลาของการก่อตั้งบ้านเมืองและรัฐไท ในยุคต้นกำเนิดไท ช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล ค.ศ. 200 ในสมัยจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้กล่าวถึงคนไทหรือกลุ่มไป๋เยว์ทางใต้ของจีน จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นพวกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้วตั้งแต่ยุคหินใหม่ นอกจากคนไททางใต้ของจีน ยังมีคนไททางตอนเหนือของเวียดนาม พม่า ไทย ลาวมีการศึกษาในเรื่องของกลุ่มคนไทต่าง ๆ จากนักวิชาการหลายท่าน เห็นได้ว่ามีการอพยพย้ายถิ่น ทั้งจากเหนือลงใต้ หรือตะวันออกสู่ตะวันตก และเป็นการเคลื่อนที่ทั้งแนวตั้งและแนวนอน (หน้า 62-65) ตำนานการตั้งถิ่นฐานของคนไทดำ ระบุว่า ปู่ลานเจือง ผู้นำทางวัฒนธรรมของไทดำได้เดินทางพร้อมผู้คนไปหาที่ตั้งเมืองเป็นระยะทางไกล จนมาถึงเมืองแถง ปู่ลานเจืองเลือกเมืองนี้เพราะเป็นบริเวณหุบเขาโค้งเหมือนเขาควาย มีทุ่งนาทั้งสองด้าน ยังมีตำนานหลายฉบับกล่าวถึงพัฒนาเทคนิคการปลูกข้าวนาดำ ซึ่งเรียกว่า "เฮ็ดนาบวกควาย" หรือ "เฮ็ดนาเมืองลุ่ม" ซึ่งเป็นพัฒนาการทางสังคมที่สำคัญของคนไท ทำให้คนไทสามารถเพาะปลูกและผลิตอาหารเพียงพอเลี้ยงชุมชนคนไท ทำให้เกิดความแน่นอนและความมั่นคงในการดำรงชีวิต สามารถตอบสนองความต้องการทางชีวภาพทำให้คนสามารถปลีกเวลาไปประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ เสื้อผ้า บ้านเรือน ไปจนถึงการประดิษฐ์ตัวอักษร เป็นการตอบสนองความต้องการทางสังคมซึ่งต่อมาพัฒนาไปเป็นวัฒนธรรมไท (หน้า 62) พ่อเฒ่าไทดำคนหนึ่งเล่าเกี่ยวกับขั้นตอนและพิธีกรรมในการตั้งถิ่นฐาน (ในการวิจัยของภัททิยา ยิมเรวัต) ว่าหัวหน้าของ "จัวเฮือน" ได้เสาะหาที่ตั้งหมู่บ้าน ได้ฟันต้นไม้ทำเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน และต้องฟันต้นไม้อีกต้นมาปักลงในดินแล้วเอาเสื้อของตนเองมาพันลงที่เสานี้ เป็นการรวมขวัญ (เสื้อ)ของหัวหน้าจัวเฮือนลงกับบริเวณที่ดินนั้น ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบกันมา ในการตั้งถิ่นฐานจะต้องมีฮีต "เตาะหลักปักเสื้อ" (ตอกหลักปักเสื้อ) ซึ่งเมื่อชุมชนใหญ่ขึ้นก็กลายเป็นหลักเมืองหรือเสาหลักเมือง การทำพิธีนี้มีความหมายว่า ต่อไปนี้บริเวณที่ดินแห่งนี้ ขวัญของหัวหน้ากลุ่มได้รวมเข้ากับขวัญของดินและน้ำแห่งนี้แล้ว โดยทำพิธีบูชาดินและน้ำเป็นการบอกกล่าวผีดินและผีน้ำ หัวหน้าจะทำพิธีเสี่ยงทาย ถ้าผีดินและผีน้ำอนุญาตจึงเข้ามาสร้างบ้านทำนาในบริเวณนั้น แล้วปักตะแหลว (ไม้ไผ่สานมีรูปร่างคล้ายดาว) เพื่อกำหนดเขตพื้นที่ของกลุ่มตน และเรียกสมาชิกทั้งหมดเข้ามารวมกันอยู่ในอาณาเขตนั้น ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกจะเข้ามาอยู่ในเขตนี้ไม่ได้ ต้องอยู่นอกเขต (หน้า 7,18) พัฒนาการของรัฐไทเริ่มจากชุมชนเล็กซึ่งมีลักษณะเป็นชนเผ่าที่รวมกันโดยสายเลือดและแต่งงานเป็น จั้วเฮือนจัวด้ำของไทดำ และขะกุ๋นของยวนและลื้อ ซึ่งต่อมามีการพัฒนาไปเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน เมือง และรัฐในที่สุด (หน้า 62-65)

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ไม่มีข้อมูล

Economy

วิถีชีวิตของคนไทอาศัยธรรมชาติอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำและป่า คนไทในหลาย ๆ เขตโดยเฉพาะในชนบทยังคงเก็บของป่า ล่าสัตว์ และจับปลาเพื่อยังชีพ ชุมชนไทตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำและป่าดงซึ่งเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่สำคัญ การมีแหล่งอาหารธรรมชาติและที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชน มีการตั้งถิ่นฐานถาวร การผลิตจึงเปลี่ยนจากการเก็บหาของป่าไปเป็นการเพาะปลูก การทำนาเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของคนไท เพราะต้องผลิตข้าวให้พอเลี้ยงดูผู้คน การทำนาจึงกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมไท รูปแบบสังคมที่สืบเนื่องมาจากการผลิตแบบ "เฮ็ดนาเมืองลุ่ม" ทำให้เรียกว่าวัฒนธรรมไทนั้นเป็นวัฒนธรรมข้าว การปลูกข้าวทำให้เกิดการสร้างเทคนิควิธีการต่าง ๆ ต้องมีการจัดระบบการชลประทาน เกิดระบบเหมืองฝาย การจักสานประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเพาะปลูกทั้งจากไม้และเหล็ก เทคนิคการผลิตพัฒนาขึ้นต้องอาศัยกำลังคน ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือแรงงานซึ่งกันและกัน (หน้า 25-27)

Social Organization

ลื้อและยวนนั้นเมื่อแต่งงาน ผู้ชายจะไม่กลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ของตน นอกจากครอบครัวของฝ่ายชายไม่มีลูกสาวดูแลพ่อแม่ ในขณะที่ครอบครัวของฝ่ายหญิงมีลูกสาวหลายคน ส่วนมากครอบครัวใหม่จะอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงย้ายออกไปตั้งครอบครัวของตนเอง โดยพ่อตาแม่ยายจะให้ที่ดินหรือทรัพย์สินไปตั้งตัว แต่หากครอบครัวของฝ่ายหญิงไม่มีลูกสาวคนอื่นอีกก็จะอยู่กับพ่อตาแม่ยายตลอดไป โดยจะได้รับมรดกทรัพย์สินต่าง ๆ (หน้า 14) ความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความผูกพันหรือความสัมพันธ์ใกล้ชิดในกลุ่มคนที่นับถือผีเดียวกัน เกิดการรวมกลุ่มญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่มีบทบาททางการผลิตร่วมกัน (หน้า 9) ในการแต่งงานคนที่อยู่ในตระกูลเดียวกันจะแต่งงานกันไม่ได้ จะต้องแต่งงานกับคนต่างด้ำ ต่างขะกุน (ต่างตระกูล) เท่านั้น (หน้า 15) จากคติความเชื่อของคนไทลื้อและยวนแสดงให้เห็นความสำคัญของผู้หญิงอย่างชัดเจน ในการเซ่นไหว้หรือสืบทอดธรรมเนียมการถือผี เรียกว่า "เก๊าผี" จะเป็นหน้าที่ของสตรีอาวุโสในตระกูลนั้น ๆ การแยกครอบครัวออกไปผู้หญิงจะนำเอาดอกไม้บูชาผีปู่ย่าไปบ้านเรือนของตนด้วย (หน้า 14) ความสำคัญของผู้หญิงในสังคมไทนั้นเกิดขึ้นจากบทบาทในการผลิตของผู้หญิงตามจารีตเดิม คือ ขวัญข้าวสัมพันธ์กับผู้หญิง อาจเป็นเพราะผู้หญิงมีหน้าที่เก็บข้าวมาตั้งแต่โบราณ ผู้หญิงไททำงานร่วมกับผู้ชายในท้องนา ผู้ชายไถนา นวดข้าวและงานที่ต้องใช้แรงงานหรือมีความเสี่ยงสูง เช่น การปลูกเรือน ตัดต้นไม้ และงานช่างฝีมือ เช่น ช่างเหล็กช่างเงิน ส่วนผู้หญิงปลูกนา เกี่ยวข้าว ดูแลงานบ้าน ค้าขายในตลาด เป็นต้น สำหรับลื้อและยวน ส่วนไทดำแม้จะให้ความสำคัญกับผู้หญิงแต่การถือผียังเป็นการถือผีสายพ่อ ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในบ้านเรือนเป็นผู้ธำรงรักษาฮีตกองความเชื่อถือผี ในขณะที่ผู้ชายมีบทบาทในกิจกรรมของพุทธศาสนามากกว่า (หน้า 15)

Political Organization

ความเข้มแข็งทางการเมือง มีพื้นฐานมาจากคติความเชื่อถือผีซึ่งได้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ชุมชนในระดับต่าง ๆ และรักษาสิทธิอำนาจของชุมชน คติความเชื่อถือผีกลายเป็นกลไกที่เพิ่มประสิทธิภาพของอำนาจทางสถาบันทางการเมือง (หน้า 7,8) พิธีเลี้ยงผีเมืองเป็นพิธีสำคัญที่เน้นย้ำถึงบทบาทฐานะของเจ้าเมืองหรือกษัตริย์ ซึ่งทำหน้าที่จัดการประกอบพิธี มีพ่อหมอหรือหมอเมืองเป็นผู้ติดต่อระหว่างผีกับชาวเมือง สนับสนุนอำนาจของชนชั้นปกครอง ในขณะที่พิธีเลี้ยงผีบ้านเป็นพิธีที่ยืนยันสิทธิอำนาจของชุมชนท้องถิ่น (หน้า 24) นอกจากความเชื่อถือผีที่มีผลต่อการเมืองแล้วพุทธศาสนายังมีความผูกพันกับอำนาจทางการเมืองอย่างมาก เจ้าแผ่นดินและเจ้าเมืองมีหน้าที่ต้องทะนุบำรุงศาสนา เจ้าแผ่นดินแต่งตั้ง "ครูบา" ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงของพระสงฆ์ที่สำคัญ คือ ครูบามักจะเป็นคนในตระกูลของเจ้าแผ่นดินและเจ้าเมือง มีการกำหนดฮีตกองที่คุ้มครองศาสนา (หน้า 50) พัฒนาการของรัฐไทต่าง ๆ เกิดจากการเติบโตของชุมชนที่พัฒนาโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นระบบและเข้มแข็ง มีการพัฒนาระบบศักดินาไทขึ้นเพื่อควบคุมกำลังคน ไว้ภายใต้กลุ่มผู้นำหรือสถาบันกษัตริย์ที่อ้างอำนาจเหนือประชาชน ไม่เพียงแต่การให้กำลังอำนาจเพียงอย่างเดียว หากได้รับการสนับสนุนจากคติความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมที่ได้พัฒนาในช่วงเวลาอันยาวนาน (หน้า 50) การปกครองขั้นพื้นฐานที่สุด คือ การปกครองในครอบครัวและตระกูล ไทดำมีจัวเฮือนจัวด้ำ จัวเฮือนประกอบด้วย 22 ครอบครัวอยู่รวมกันในหมู่บ้าน มีหัวหน้าปกครองเรียก "เจืองกก" ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่สุดในจัวเฮือนจัวด้ำนั้น มีบทบาทหน้าที่หลักในการทำให้สมาชิกทุกคนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง เป็นผู้มีความยุติธรรมและทำให้สมาชิกทุกคนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นเดียวกับการปกครองตระกูลหรือขะกุ๋นของลื้อและยวนที่เป็นหน้าที่ของผู้อาวุโส จากการปกครองของผู้อาวุโสใน "ขะกุ๋น" หรือ ตระกูล ได้เข้าสู่ระบบศักดินาไท ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองและเจ้าแผ่นดิน โดยการสร้างบ้านแปงเมืองซึ่งแสดงให้เห็นบทบาทของผู้นำทางวัฒนธรรม ที่ได้เริ่มพัฒนาวัฒนธรรมเมืองขึ้นมา มีการตั้งหลักแหล่งถาวร กำหนดพิธีกรรมความเชื่อและฮีตฮอยของชุมชนเมืองนั้น พัฒนาระบบการผลิต มีการจัดแบ่งพื้นที่ทำนา และจัดระบบการชลประทาน เกิดรูปแบบการปกครองที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม รัฐไทสามารถสถาปนาเป็นรัฐหรืออาณาจักรที่เข้มแข็งได้ เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับชนพื้นเมืองโดยผู้นำทางการเมืองเข้าไปครอบงำชาวพื้นเมืองในช่วงที่ไทขยายตัวเข้าปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชนชั้นปกครองจะอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด เป็นลักษณะของระบบศักดินา เพื่อเรียกเก็บส่วยในรูปของแรงงานและผลผลิตอย่างชอบธรรม แต่ในทางปฏิบัติชุมชนมีอำนาจในการจัดการกับที่ดินและทรัพยากรของตนอย่างเสรี (หน้า 68,71,72,73,84) ระบบการเมืองของไทดำและลื้อยังคงมีรูปแบบการปกครองพื้นฐานของรัฐไท คือ แบบสมาพันธรัฐ บนพื้นฐานการปกครองแบบกระจายอำนาจซึ่งผูกพันกันโดยระบบเครือญาติของชนชั้นปกครอง ผู้ปกครองยังไม่สามารถมีอำนาจเด็ดขาดเนื่องจากไม่สามารถควบคุมอำนาจการปกครองท้องถิ่นได้ แตกต่างจากยวนล้านนาที่สามารถก่อตั้งอาณาจักรที่มีอำนาจแบบรวมศูนย์ภายใต้อำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ (หน้า 96) พัฒนาการทางการเมืองทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจนระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ต่างฝ่ายต่างมีบทบาทหน้าที่ของตนเองและมักนิยมแต่งงานในกลุ่มชนตนเองเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของสายเลือดและสิทธิในชนชั้นตน (หน้า 76)

Belief System

คติความเชื่อของคนไทเป็นคติความเชื่อพื้นเมืองที่ได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ คติความเชื่อต่าง ๆ จะพัฒนาไปเป็น "ฮีตกอง" หรือขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มคน ฮีตกองเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนและกำหนดพฤติกรรมของคน คนไทยึดถือฮีตกองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นปกครองถือเป็นผู้ดูแลรักษาฮีตกอง (หน้า 5) คติความเชื่อผีเป็นความเชื่อที่ยังคงฝังรากลึกในสังคมไท ชาวบ้านเชื่อว่าผีมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง มีการแยกประเภทของผีตามสถานที่อยู่และบทบาทหน้าที่ (หน้า 7) ชาวบ้านจะเลือกสรรผีที่ทำหน้าที่คุ้มครองตนเอง โดยเน้นผีที่ตนเองเคารพนับถือ เช่น บรรพบุรุษหรือผู้ปกครองและผีที่เชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์แรงมีอำนาจสูง ผีกลุ่มสำคัญที่คนไทนับถือ คือ ผีอารักษ์ แต่ก็ไม่ละเลยผีเล็กผีน้อย มีการอัญเชิญผีทุกประเภทมารับเครื่องเซ่นร่วมกัน (หน้า 8-9) ความเชื่อถือผีของคนไทแบ่งได้เป็น ความเชื่อถือผีในครัวเรือน ความเชื่อถือผีในชุมชน และความเชื่อถือผีในการผลิต ความเชื่อถือผีในครัวเรือน มีการนับถือผีบรรพบุรุษหรือคนไทบางกลุ่มเรียกว่าผีเรือน มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ สำหรับไทดำ เรียกว่า พิธีเสนเฮือน ที่มีขึ้นเป็นประจำทุกปี (หน้า 9) - ผีบรรพบุรุษของไทยดำ เรียกว่า "ผีด้ำ" ซึ่งสถิตอยู่ที่เสาเรือน - ผีบรรพบุรุษของลื้อ เรียกว่า "ผีเฮิน" หรือ "เตวดาเฮิน" ในแต่ละครัวเรือนจะมีหิ้งอยู่ในห้องนอนของเจ้าของเรือน - ส่วนผีบรรพบุรุษของยวนล้านนา เรียกว่า "ผีปู่ย่า" เป็นผีประจำตระกูล ยวนจะปลูกหอผีปู่ย่าไว้ทางด้านหัวนอนในตัวเรือน หรือปลูกเป็นเรือนเล็ก ๆ ที่เรียกว่า หอผี การไหว้ผีบรรพบุรุษจะมีการเซ่นไหว้ประจำปี หรือกระทำเมื่อมีการแต่งงานและงานมงคลต่าง ๆ หรือเมื่อมีสมาชิกในตระกูลหายจากการเจ็บป่วย (หน้า 12-13) คติความเชื่อถือผีในชุมชน ภายในหมู่บ้านและเมืองจะนับถือผีบ้านผีเมือง ซึ่งมีความสำคัญเท่ากับนายบ้านและเจ้าเมือง มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลชาวบ้านชาวเมืองและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งดูแลความเรียบร้อยในอาณาเขตของหมู่บ้านและเมือง ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สายน้ำ และสัตว์ป่า ชาวบ้านจะทำพิธีเซ่นไหว้เป็นประจำ ทุกครั้งที่มีงานสำคัญของชาวบ้านจะต้องมีการเลี้ยงผีบ้านทุกครั้ง ในระดับเมืองต้องเลี้ยงผีเมืองทุกปี ผีเมืองของล้านนา คือ ผีปู่แสะย่าแสะ ส่วนผีเมืองสิบสองปันนา คือ อาระวะกะโสดา นอกจากผีแล้วชุมชนไทดำมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ได้แก่ หลักเสื้อ ส่วนลื้อและยวนมีใจบ้าน และอินทขีล ซึ่งมีอำนาจคุ้มครองและให้ความร่มเย็นแก่ชุมชน จะต้องทำพิธี "เลี้ยง" ทุกปีเพื่อความเป็นสิริมงคลหรือทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ไม่เป็นมงคลกับหมู่บ้าน (หน้า 17,19,21) การที่วิถีชีวิตของคนไทอาศัยผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก จึงได้มีพิธีกรรมเพื่อให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ เช่น พิธีแฮกนาก่อนการปลูกข้าว การเลี้ยงผีเหมืองผีฝาย บางแห่งเรียกผีขุนน้ำ (หน้า 27,29) นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องแถนจะชัดเจนในคนไทดำ และกลุ่มยวนจะมีพิธีส่งแถน ปู่แถนย่าแถนเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของคน ว่าจะเจ็บป่วยหรือตายเมื่อใด "ขวัญ" เป็นอีกหนึ่งความเชื่อของคนไท ขวัญเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวมีชีวิต เมื่อใดก็ตามที่เกิดความผิดปกติขึ้นกับขวัญ จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือไม่เป็นปกติ จะต้องทำพิธีสู่ขวัญหรือเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ในแต่ละช่วงชีวิตของคนทุกคนจะต้องผ่านพิธีทำขวัญรับขวัญ คนไทเชื่อว่าขวัญนั้นมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งหมด จะต้องดูแลขวัญทั้งคน สัตว์และพืชซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เพื่อความมั่งคงปลอดภัยและความสุขของทุกชีวิต เช่น มีพิธีสู่ขวัญข้าว พิธีสู่ขวัญควาย (หน้า 32,33,37) นอกจากการถือผีแล้ว ยวนในล้านนา และลื้อในสิบสองปันนา เป็นกลุ่มไทที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดและถือเป็นคติความเชื่อที่สำคัญทางการเมืองและสังคมต่างจากไทดำที่ยังคงถือผีตามคติความเชื่อดั้งเดิม ความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในล้านนาได้ดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่รัชสมัยพญามังรายมาจนถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของล้านนา มีการสร้างพระพุทธรูป ปฏิสังขรณ์และสร้างวัดสำคัญจำนวนมาก ความผูกพันทางพุทธศาสนาของลื้อในสิบสองปันนามีลักษณะเช่นเดียวกับล้านนา มีการสร้างวัดวาอาราม และการปฏิบัติธรรมที่เคร่งครัด (หน้า 42) มีการปรับพุทธศาสนาให้เข้ากับความเชื่อถือผีอย่างกลมกลืน โดยพุทธศาสนาจะให้ความสนใจกับชีวิตหน้า ทำบุญเพื่อผลในภายภาคหน้า ส่วนความเชื่อผีและการเซ่นไหว้ผีนั้นหวังผลในปัจจุบัน (หน้า 50)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การทำนาเป็นกิจกรรมหลักของคนไท การจักสานประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มักจะเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกทั้งจากไม้และเหล็ก ใช้หลุกวิดน้ำเข้านา จอบหรือจกที่ใช้ขุดดิน ผานไถสำหรับไถนาเตรียมดิน สานกระบุงตะกร้าเพื่อบรรจุข้าว ตำข้าวด้วยครกกระเดื่องหรือตำข้าวด้วยพลังน้ำ (หน้า 27)

Folklore

: ตำนานปู่แสะย่าแสะของล้านนาซึ่งคล้ายกับอาระวะกะโสดาของสิบสองปันนา ปู่แสะย่าแสะมีลูกสามสิบสองคน แต่ละคนเป็นผีอารักษ์คุ้มครองเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ถือเป็นผีเมืองที่สำคัญ ในพิธีเลี้ยงผีจะมีการจัดลำดับความสำคัญของผีบ้านผีเมืองที่ถูกเชิญมารับเครื่องเซ่นและมีการกล่าวนามของผีทุกองค์ ทั้งปู่แสะย่าแสะและอาระวะกะโสดาเป็นยักษ์กินคนที่ได้พบกับพระพุทธเจ้าและได้ยอมรับคำสอนของพระองค์ แต่เนื่องจากปู่แสะย่าแสะเป็นยักษ์เมื่อไม่สามารถกินคนจึงขอกินควายที่คนนำมาเซ่นสังเวยแทน และทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ( หน้า 21,24) : ตำนานไทดำที่กล่าวถึงแถน เดิมแผ่นดินเมืองมนุษย์กับเมืองฟ้าเชื่อมโยงกัน มีลักษณะคล้ายดอกเห็ด มนุษย์อยู่เบื้องล่าง เบื้องบนเป็นที่อยู่ของแถน แถนนั้นสามารถเป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย แถนโกรธจนบันดาลให้เกิดความแห้งแล้งจนมนุษย์และสัตว์ตาย และทำให้เกิดน้ำท่วม แต่ด้วยความสงสารแถนได้ช่วยเอาคนและสัตว์ใส่ในน้ำเต้าปุง พอน้ำลดจึงให้ท้าวสวง และท้าวเงินนำมาโลกมนุษย์เพื่อให้ดำรงเผ่าพันธุ์สืบมา สำหรับไทดำ แถน หมายถึง เทพเจ้าหรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผีฟ้า แถนมีหลายองค์และมีหน้าที่ต่าง ๆ กันไป มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวิถีการดำรงชีวิตมนุษย์ (หน้า 30-31) : ตำนานย่าขวัญข้าว ตำนานลื้อกล่าวถึงเมล็ดข้าว ตอนแรกมีขนาดเจ็ดกำมือหรือเท่าผลแตงโม งอกเองและบินไปเข้ายุ้งฉางเอง สามารถกินได้โดยไม่ต้องหุงหรือนึ่ง แต่เมื่อยายเฒ่าคนหนึ่งเอาไม้ทุบตีเมล็ดข้าวที่บินมาเข้ายุ้งของนาง เนื่องจากนางยังสร้างยุ้งไม่เสร็จ ขวัญข้าวจึงหนีไปอยู่ที่อื่นทำให้เกิดความอดอยากขึ้นในโลกนับเวลาได้เป็นแสนปี จนกระทั่งมีชายผู้หนึ่งไปจับปลาในห้วยได้ปลาไนคำ ปลากั้งมาขอร้องให้ปล่อยปลาไนคำโดยแลกเปลี่ยนกับเมล็ดข้าว ชายหนุ่มจึงนำเมล็ดข้าวมา "ใส่เป็นเข้าไร่เอามาใส่เป็นเข้านาแดง" ข้าวจึงกลายเป็นเมล็ดเล็ก ๆ ดังปัจจุบัน และลื้อก็มีธรรมเนียมการสานปลาแขวนไว้กับตาแหลวในตอนปลูกนาเพื่อระลึกถึงปลาไนและปลากั้งที่นำขวัญข้าวกลับคืนมา ก่อนการนำข้าวขึ้นยุ้งฉางจะต้องมีการทำพิธี "สู่ขวัญข้าว" เพื่อความเป็นสิริมงคล (หน้า 36) : ตำนานที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างพุทธศาสนาและความเชื่อถือผี ได้กล่าวในตำนานว่าด้วยคำโคลงไต เขียนถึงใน ค.ศ.1615 ยืนยันว่าพระอินทร์เป็นพระเจ้าสูงสุด เป็นผู้สร้างสวรรค์และโลกมนุษย์ ส่งปู่สังกะสีและย่าสังกะไส้มาสร้างสิ่งมีชีวิตในโลก พระอินทร์จึงสูงกว่าพระพุทธเจ้า เรื่องที่สองกำเนิดผีบ้านผีเมือง เขียนใน ค.ศ.1542 กล่าวถึงพญาสมมติซึ่งเป็นผู้นำเอาอารยธรรมความเจริญมาให้ลื้อ สอนให้รู้จักเพาะปลูก ล่าสัตว์ สร้างบ้านเรือนและอยู่รวมกันเป็นชุมชน จึงเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพระพุทธเจ้า ตำนานสรุปว่าผีบ้านผีเมืองนั้นสามารถปกปักษ์รักษาวิญญาณบรรพบุรุษ ให้ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงปลอดภัยแก่หมู่บ้าน และในที่สุดชาวบ้านก็ยอมรับนับถือพุทธศาสนา ตำนานว่าด้วยพญาสมมุติได้ต่อสู้กับพระพุทธเจ้าแต่พ่ายแพ้ พญาสมมุติมีบริวารคือ พญามาร ซึ่งจมน้ำตายเนื่องจากนางธรณีมาช่วยป้องกันพระพุทธเจ้า ทำให้ในวัดของสิบสองปันนามีรูปวาดหรือรูปไม้แกะสลักของนางธรณีไว้ประจำอยู่เสมอ อีกตำนาน คือ เรื่องของย่าขวัญข้าว ย่าขวัญข้าวไม่พอใจที่ชาวบ้านเคารพนับถือพระพุทธเจ้า จึงหนีไปซ่อนอยู่ใต้บาดาล ทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีข้าวกิน พระพุทธเจ้าต้องไปตามหาเอาตัวกลับคืนมา และยอมรับว่าการที่พระองค์ตรัสรู้ก็เพราะข้าวซึ่งเป็นอาหารประทังชีวิต (หน้า 48-49) : ตำนานเกี่ยวกับประเพณีอินทขีล ประเพณีอินทขีลของล้านนามีความเป็นมาที่ยาวนาน สืบทอดมาจากความเชื่อดั้งเดิมของลัวะซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ตำนานกล่าวว่าลัวะกับไตได้ตั้งบ้านเมืองอยู่ด้วยกันเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เมื่อกษัตริย์เมืองอื่นได้ข่าวจึงยกกองทัพมารุกรานเพื่อแย่ง "บ่อแก้ว บ่อเงิน บ่อคำ" ชาวเมืองจึงขอให้ฤาษีช่วย ฤาษีขอให้พระอินทร์ช่วย พระอินทร์จึงส่งกุมภกัณฑ์สองตนนำเสาอินทขีลอันศักดิ์สิทธิ์มาให้ชาวเมือง ได้กราบไหว้บูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ เสาอินทขีลได้คุ้มครองชาวเมืองทำให้ข้าศึกศัตรูกลายเป็นพ่อค้าวานิช ต่อมาชาวเมืองไม่เอาใจใส่เสาอินทขีล กุมภกัณฑ์ไม่พอใจจึงนำเอาเสาอินทขีลกลับไปบนสวรรค์ ลัวะเฒ่าผู้เฒ่าผู้หนึ่งนำสิ่งของมาบูชาเสาอินทขีลแต่ไม่พบจึงบวชเป็นชีปะขาว มหาเถรผู้หนึ่งได้ทราบด้วยญาณว่าบ้านเมืองนพบุรีกำลังจะล่มและเกิดศึกสงครามจึงมาแจ้งข่าวต่อชีปะขาว ชีปะขาวและชาวเมืองได้ร้องขอให้พระมหาเถรได้ช่วยให้พ้นภัย พระมหาเถรได้ขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์เพื่อขอให้ช่วย พระอินทร์ไม่สามารถจะให้เสาอินทขีลได้จึงให้ชาวเมืองได้สร้างเสาอินทขีลไว้บูชาเอง (หน้า 57)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

พิธีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะต้องมาร่วมพิธี ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในตระกูล (หน้า 13) คติความเชื่อพื้นเมืองโดยเฉพาะไทดำนั้นได้คงความเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทไว้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในเรื่องแถนและขวัญ ซึ่งในกลุ่มคนไทอื่น ๆ นั้นเลือนหายไปมากแล้ว คติความเชื่อพื้นเมืองของไทได้สอดคล้องกับรูปแบบการดำรงชีวิตของคนไทมาตลอด แสดงให้เห็นการก่อตัวของชุมชนและสังคมในระดับต่าง ๆ สร้างความมั่นคงและควบคุมพฤติกรรมของคนทั้งส่วนตัวและในชุมชน คติความเชื่อเหล่านี้นำมาซึ่งพิธีกรรมและแบบแผนการปฏิบัติในครอบครัวและในชุมชนที่สืบทอดกันมา (หน้า 39) คติความเชื่อถือผีและพุทธศาสนามีส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชนไทให้เป็นบ้านเมืองได้โดยการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน รับรองอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองในฐานะตัวกลางระหว่างผีกับประชาชน และควบคุมกำลังคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบ้านและเมือง ช่วยเสริมอำนาจและควบคุมพฤติกรรมของผู้ปกครอง และเป็นโครงสร้างที่ช่วยควบคุมสังคม เมื่อมีการพัฒนาขึ้นเป็นเมืองได้เกิดปรากฏการณ์ในด้านวัฒนธรรมระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ผู้นำไทครอบงำวัฒนธรรมท้องถิ่นและผู้นำไทรับวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตน พัฒนาการทางการเมืองทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจนระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ต่างฝ่ายต่างมีบทบาทหน้าที่ของตนเองและมักนิยมแต่งงานในกลุ่มชนตนเองเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของสายเลือดและสิทธิในชนชั้นตน (หน้า 76, 113, 131, 137)

Social Cultural and Identity Change

ในเขตแดนที่คนไทอาศัยอยู่แต่เดิมนั้นมีคติความเชื่อพื้นเมืองโดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผีเป็นหลัก เมื่อมีการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับคนกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ระบบความเชื่อทางศาสนาของคนไทได้ผสมผสานความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเน้นการเวียนว่ายตายเกิดและกฎแห่งกรรม ความเชื่อพุทธศาสนาและความเชื่อถือผีซึ่งเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยยวนในล้านนาและลื้อในสิบสองปันนาเป็นกลุ่มไทที่รับนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดและถือเป็นคติความเชื่อที่สำคัญทางการเมืองและสังคม ต่างจากไทดำและไทหลาย ๆ กลุ่มในจีนและในเวียดนามที่ถือผีตามคติความเชื่อดั้งเดิม (หน้า 40, 42) ในระยะแรกได้มีความขัดแย้งระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องผี ซึ่งปรากฏอยู่ในตำนานหลายฉบับทั้งของล้านนาและสิบสองปันนา แต่พุทธศาสนาก็ได้ปรับตัวให้เข้ากับความเชื่อพื้นเมืองเพื่อที่จะสวมเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างกลมกลืน โดยไม่ปฏิเสธความเชื่อถือผี (หน้า 48, 50) ในด้านของการปกครองที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นรัฐ ได้เกิดกระบวนการขยายวัฒนธรรม 2 แนวทาง คือ ผู้นำไทครอบงำวัฒนธรรมท้องถิ่นและผู้นำไทรับวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตน จะเห็นได้ว่ามีคติความเชื่อที่คล้ายคลึงกับลัวะซึ่งเป็นกลุ่มมอญ-เขมรที่เป็นชนพื้นเมืองเดิมหลายอย่างโดยเฉพาะความเชื่อถือผีและธรรมเนียมการให้ความสำคัญกับผู้หญิงและญาติสายแม่ (หน้า 74)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst ขนิษฐา อลังกรณ์ Date of Report 31 ต.ค. 2555
TAG ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, ลื้อ, ยวน คนเมือง, ความเชื่อผี, พุทธศาสนา, พัฒนาการทางการเมือง, ลาว, จีน, ไทย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง