สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject จีนมุสลิม จีนยูนนาน(จีนฮ่อ),ความเป็นมา,การตั้งถิ่นฐาน,ชีวิตความเป็นอยู่,ภาคเหนือ,ไทย
Author Seiji Imanaga
Title The Research of the Chinese Muslim Society in the Northern Thailand
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text -
Ethnic Identity จีนยูนนาน จีนฮ่อ มุสลิมยูนนาน, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 241 Year 2533
Source The Research of the Chinese Muslim Society in the Northern Thailand. Hiroshima University. Hiroshima
Abstract

งานวิจัยนี้ศึกษารูปแบบและพัฒนาการรวมถึงสภาพปัจจุบันของสังคมมุสลิมฮ่อในภาคเหนือ โดยมีลักษณะสังคมมุสลิมในภาคกลางและภาคใต้มาใช้เปรียบเทียบ คำว่า “ฮ่อ” เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกคนจีนมุสลิมที่อพยพมาจากยูนนานเข้ามาทางภาคเหนือของไทยผ่านประเทศพม่า แต่ในปัจจุบัน “ฮ่อ” มีความหมายกว้างขึ้นถึงคนจีนทั่วไปที่อพยพจากยูนนานเข้ามาภาคเหนือของไทยด้วยเส้นทางบก แต่กระนั้น ตามหลักฐานการตั้งชุมชนฮ่อช่วงแรก “ฮ่อ” ส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาจะเป็นมุสลิม แม้จะมีคนฮ่ออพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในภาคเหนือมาก่อน แต่ชุมชนมุสลิมแห่งแรกในภาคเหนือคือ ชุมชนบ้านฮ่อ ซึ่งก่อตั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยสาเหตุสำคัญทางการค้า ต่อมาชุมชนจีนมุสลิมอื่น ๆ ได้ก่อตั้งขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปฏิวัติในจีน ทำให้รัฐบาลไทยจัดสรรพื้นที่ให้ผู้อพยพตั้งถิ่นฐาน ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของมุสลิมฮ่อจะมีศูนย์กลางของชุมชนคือ มัสยิดซึ่งเป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนาและโรงเรียน มุสลิมฮ่อจะนับถือนิกายฮานาฟีและได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซียในการดำเนินงานในมัสยิดและสังคมมุสลิม อย่างไรก็ตาม แม้มุสลิมฮ่อในแต่ละชุมชนมีสภาพปัจจุบันและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน แต่พวกเขาได้ถูกกลืนกลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในระดับหนึ่งจากการแต่งงาน, การใช้คำไทย และการแต่งกายแบบไทย

Focus

เพื่อสำรวจและศึกษาการก่อรูปแบบและพัฒนาการตลอดจนสภาพการณ์ปัจจุบันของสังคมจีนมุสลิมในภาคเหนือของไทย

Theoretical Issues

ไม่ปรากฏข้อมูล

Ethnic Group in the Focus

จีนมุสลิมในภาคเหนือของไทยจะถูกเรียกว่า “ชาวฮ่อ” หรือ “ชาวฮ่ออิสลาม” ซึ่งคำว่า “ฮ่อ” (Ho หรือ Hor) นั้นเป็นคำในภาษาไทยที่ใช้เรียกชาวจีนมุสลิมที่อพยพมาจากมณฑลยูนนานเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทยผ่านทางประเทศพม่า แต่ในปัจจุบันมีความหมายกว้าง ๆ ถึงชาวจีนทั่ว ๆ ไปที่อพยพจากมณฑลยูนนานเข้าสู่ภาคเหนือของไทยโดยใช้การเดินทางทางบก (หน้า i) อย่างไรก็ตาม จีนมุสลิมจากยูนนานไม่ได้เรียกตนเองว่า “ฮ่อ” (หน้า 132) นอกจากคำว่า “ฮ่อ” แล้ว ตามบันทึกของอังกฤษได้เรียกกบฏอิสลามในยูนนานว่า “Panthay Rebellion” ซึ่งคำว่า “ Panthay” หมายถึงจีนมุสลิม และมุสลิมที่เดินทางจากยูนนานจะถูกเรียกว่า “Pante” ในภาษาพม่า (หน้า 44) ส่วนชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางทะเลจะเรียกว่า “เจ๊ก” (Chek) (หน้า 19) คำว่า “ฮ่อ” นั้นมีปรากฏขึ้นครั้งแรกในเอกสารบันทึกเหตุการณ์ของราชวงศ์ถัง ซึ่งคำว่า “ฮ่อ” เป็นคำจีนยูนนานหมายถึง “แม่น้ำ” ต่อมาได้มีความหมายถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบทะเลสาบเตี้ยนฉี้ (Dain Chi) กลุ่มชาติพันธุ์ไทโบราณ เช่น ยวน ลื้อ ลาว จะเรียกอาณาจักรน่านเจ้าและต้าลี่ว่า “ฮ่อ” ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ช่วงสมัยน่านเจ้า กลุ่มไทโบราณเกี่ยวข้อกับคนฮ่อ เมื่อพวกเขาพูดถึง “ฮ่อ” จึงหมายถึง ยูนนานและคนยูนนาน (หน้า 184-185) สมัยราชวงศ์หยวน คำว่า “ฮ่อ” ของชาวไทนั้นมีความหมายถึงชาวจีน ซึ่งในทุกวันนี้ ชาวไทลื้อก็ได้เรียกชาวจีนทางตอนเหนือว่า “ฮ่อหลวง” (Haw Luang) เรียกผู้คนที่อาศัยในกวางสูและกวางสีว่า “เหลียงกวงฮ่อ” (Liang Guang Haw)และเรียกชาวจีนโพ้นทะเลว่า “จิ๊กฮ่อ” (Jik Haw) (หน้า 184-185) ส่วนมุสลิมที่ถูกเรียกว่า “ฮ่อ” สืบเชื้อสายมาจากชาวเปอร์เซียที่ได้ถูกจ้างมาต่อสู้กับกองทัพของกุบไลข่าน และบางส่วนได้ตั้งถิ่นฐานในจีน ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า คำว่า “ฮ่อ” ในปัจจุบันนี้หมายความถึงชาวจีนยูนนานโดยรวม ส่วนชาวฮ่อที่อาศัยอยู่ที่ทะเลสาบเตี้ยนฉี๋นั้นจะเรียกว่า “ชาวฮ่อต้าหลี่ฟู่” (Dali Fu) และในภาษาไทโบราณนั้น “ฮ่อ” หมายความถึงแค่เพียงชาวจีน (หน้า 185)

Language and Linguistic Affiliations

แม้ว่าจีนมุสลิม (ฮ่อ) จะยังใช้ภาษาจีนบ้างซึ่งเห็นได้จากการตั้งชื่อคน ๆ หนึ่งที่ตั้งเป็นสามภาษาคือ ภาษาไทย, ภาษาอาหรับ และภาษาจีน แต่ก็ได้รับเอาภาษาไทยมาใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและในทางศาสนาจนเป็นส่วนหนึ่งของการกลืนกลายทางสังคมวัฒนธรรมของพวกเขา นอกจากภาษาไทยแล้ว ภาษาอาหรับก็เป็นหนึ่งในภาษาที่ชาวจีนฮ่อมุสลิมใช้ ทั้งในการตั้งชื่อและใช้ในการศึกษาศาสนา (หน้า iv)

Study Period (Data Collection)

เวลาที่ใช้ในการเก็บข้อมูลภาคสนามประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคมถึงวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1988 (หน้า 29)

History of the Group and Community

ก่อนที่ฮ่อทางภาคเหนือของไทยก่อตั้งชุมชนบ้านฮ่อในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่เวียงพิงค์ จ.เชียงใหม่ หรือบริเวณบ้านฮ่อในปัจจุบัน ได้มีชาวจีนมุสลิมอพยพที่อาศัยอยู่ทางเหนือของประตูเมืองช้างเผือกมาก่อนแล้ว แต่เดิมประกอบอาชีพทำการค้าขายกับลำปางและมีจำนวนหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับบริการส่งไปรษณีย์ของประเทศไทย จึงมีการย้ายถิ่นฐานมายังเวียงพิงค์ เพื่อความสะดวกต่อการทำงาน ต่อมาชุมชนได้มีการขยายตัวและมีรูปปั้นเจียง ซุน ลิงเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันในลักษณะที่สัมพันธ์กับการค้าขาย (หน้า ii) กลุ่มชาวจีนมุสลิมอื่น ๆ นอกจากกลุ่มในชุมชนบ้านฮ่อ ได้อพยพหนีเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยในช่วงการปฏิวัติจีนและในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างคอมมิวนิสต์กับกลุ่มก๊กมินตั๋ง รัฐบาลไทยก็ได้จัดที่อยู่ให้กับคนกลุ่มนี้ให้อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กับเชียงราย แต่ชาวจีนที่อพยพมานี้บางกลุ่มมีชาวมุสลิมเป็นส่วนน้อยหรือไม่ก็ปะปนกันหลายศาสนา (หน้า ii-iii) ผู้เขียนได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชนชาวจีนมุสลิมตั้ง 13 กลุ่มดังนี้ 1. ชุมชนบ้านฮ่อ แต่เดิมมีชาวมุสลิมยูนนานที่เป็นกลุ่มพ่อค้ากองคาราวานระหว่างยูนนานกับไทย อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเวียงพิงค์และตั้งชุมชนหมู่บ้านฮ่อขึ้น เพื่อดำเนินการค้ากับชุมชนต่าง ๆ รายรอบจังหวัดลำพูน ขณะเดียวกันก็ทำการค้ากับอยุธยาผ่านทางแม่น้ำปิงด้วย (หน้า 1) แต่ก่อนหน้าที่จะมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเวียงพิงค์ ก็มีชาวยูนนานอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ประตูช้างเผือกซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองเชียงใหม่เก่ามาก่อนแล้ว โดยมีนายเจิ้น จ้ง หลิน (Cheng Chung-lin) เป็นหัวหน้ากลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นี้และใช้บ้านและสุเหร่าของเขาเป็นสาขาสถานีการค้า เมื่อประชากรในชุมชนขยายตัวมากขึ้น เขาก็ได้สร้างมัสยิดบ้านฮ่อ ชิง เจิน ซื่อในปีค.ศ. 1916 (หน้า 2) นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทเป็นผู้นำของกลุ่มชาวจีนในเชียงใหม่ ให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเชียงใหม่-กรุงเทพฯ และยังบริจาคที่ดินจำนวนมากสำหรับก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานราชทินนาม “คุณ” แก่เขา (หน้า 2) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกลุ่มคอมมิวนิสต์มีชัยชนะเหนือกลุ่มก๊กมินตั๋งในสงครามกลางเมืองและตั้งประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีค.ศ. 1949 ผู้อพยพหนีความขัดแย้งวุ่นวายในจีน มีทั้งทหารและพลเรือน (หน้า 36) โดยเฉพาะมุสลิม ก็เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านฮ่อมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมุสลิมบางส่วนไปตั้งถิ่นฐานที่สันปาข่อยซึ่งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำปิง ชุมชนบ้านฮ่อนับได้ว่าเป็นชุมชนชาวจีนมุสลิมในภาคเหนือของไทยที่เก่าแก่ที่สุด (หน้า 3) 2. ชุมชนสันปาข่อย ได้ก่อตั้งขึ้นเพราะประชากรชาวมุสลิมในชุมชนบ้านฮ่อเพิ่มขึ้นมากเกินกว่าชุมชนจะรองรับได้ ผู้คนจำนวนหนึ่งจึงได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณสันปาข่อย โดมมีนายฮู หลาน เม่า (Hu Jan-mao) เป็นผู้นำชุมชนและสร้างมัสยิดในค.ศ. 1969 อีกทั้งเขากับชาวบ้านคนอื่น ๆ ยังได้ร่วมกันสร้างโรงเรียนอัตตัควา (Attaqwa School) ขึ้นเพื่อสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนศาสนาอิสลามทางภาคเหนือของไทย (หน้า 51) 3. ชุมชนช้างคลาน ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยมุสลิมที่อพยพมาจากภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะบังกลาเทศ อาจจะนับได้ว่า เป็นชุมชนมุสลิมแห่งแรกในเชียงใหม่ มุสลิมส่วนใหญ่ที่อพยพมานี้เป็นพ่อค้าและได้มีการแต่งงานกับชาวไทยและได้กลืนกลายอยู่ในสังคมไทย แม้คนรุ่นก่อนจะยังคงสถานภาพสัญชาติบังกลาเทศเอาไว้ แต่คนจำนวนมากและคนรุ่นใหม่ต่างเปลี่ยนสัญชาติหรือได้รับสัญชาติไทยโดยกำเนิด นอกจากชาวบังกลาเทศแล้ว ปัจจุบันนี้ยังมีมุสลิมอื่น ๆ มาตั้งถิ่นฐานในชุมชนนี้ด้วย เช่น มุสลิมมาเลย์, มุสลิมอินโดนีเซีย, จีนมุสลิม และมุสลิมอินเดีย เป็นต้น รวมทั้งชาวมุสลิมที่อพยพมาจากอยุธยาด้วย (หน้า 86-87) 4. ชุมชนช้างเผือก มีประวัติอ้างอิงจากตำนานว่า มุสลิมสองคนตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เป็นชุมชนช้างเผือกในปัจจุบัน และได้สร้างมัสยิดไม้ขึ้น ต่อมาได้มีมุสลิมจากบังกลาเทศเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น แต่คนในชุมชนไม่สามารถดำเนินการสวดมนต์ในวันศุกร์หรือนามาซ (Namaz) ได้ เพราะมัสยิดไม้เดิมได้พังทลายลงไป ทำให้ชุมชนนี้จะดำเนินงานพิธีกรรมหรือประเพณีทางศาสนาที่ชุมชนช้างคลานแทน จนเมื่อประมาณปีค.ศ. 1884 ชาวจีนมุสลิมชื่อ เล่า นัค (Lao Nak) ได้อพยพจากยูนนานเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนช้างเผือก เขาก็ได้สร้างมัสยิดใหม่ขึ้นในชุมชนและเป็นอิหม่ามคนแรกของชุมชนนี้ ภายหลังเล่า นัคเสียชีวิต ก็มีชาวบังกลาเทศชื่อโมวี กาชิม (Mowi Gashim) เข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนและเป็นอิหม่ามคนที่สอง เขาก็ได้บูรณะมัสยิดและชักชวนให้มุสลิมตั้งถิ่นฐานถาวรในชุมชนช้างเผือก (หน้า 93-94) 5. ชุมชนบ้านใหม่หัวฝาย ชุมชนนี้ก่อตั้งโดยชาวจีนที่อพยพหนีการปฏิวัติจีนจากยูนนานเข้ามาในภาคเหนือของไทย กลุ่มอพยพกลุ่มแรกจำนวนประมาณ 300 คนเดินทางมาตั้งถิ่นฐานในปีค.ศ. 1954 ซึ่งพื้นที่ของชุนชนนี้รัฐบาลไทยเป็นผู้จัดสรรไว้ ต่อมาก็ได้มีการอพยพครั้งที่สองหลังจากปีค.ศ. 1961 ปัจจุบัน ชุมชนมีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก และในจำนวนนี้มีชาวจีนมุสลิมอาศัยอยู่ด้วย (หน้า 102) 6. ชุมชนท่าตอน ชุมชนนี้ได้ตั้งขึ้นในทศวรรษที่ 1920 โดยชาวจีนยูนนานที่อพยพเข้ามาในภาคเหนือของไทย ต่อมาหลังจากปีค.ศ. 1949 ก็มีชาวจีนยูนนานอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนเพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันนี้ชุมชนมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งมีชาวพุทธและชาวมุสลิมทั้งไทยและจีนปะปนกัน (หน้า 115) 7. ชุมชนฝาง ชุมชนนี้ได้ตั้งขึ้นในช่วงประมาณปีค.ศ. 1947 เมื่อเกิดการปฏิวัติในจีนและมุสลิมยูนนานที่เดินทางค้าขายคาราวานระหว่างยูนนานกับเมืองฝางไม่สามารถเดินทางกลับประเทศจีนได้ (หน้า 133) 8. ชุมชนบ้านยาง แต่เดิมมีชาวจีนมุสลิมจำนวนหนึ่งเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณดอยอ่างขาง แต่รัฐบาลไทยได้เข้ามาจัดสรรพื้นที่บริเวณบ้านยางให้และบังคับให้ตั้งถิ่นฐานถาวรที่นี่ ปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชนจำนวนมากขึ้น และไม่เพียงแต่มีมุสลิมเท่านั้น ยังมีผู้ที่นับถือศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ร่วมในชุมชนด้วย (หน้า 138) 9. ชุมชนแม่สาย เป็นชุมชนชาวจีนยูนนานที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงเกิดการความวุ่นวายจากการปฏิวัติจีนและการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (หน้า 153) 10. ชุมชนแม่สลองหรือชุมชนสันติคีรี ชุมชนนี้ได้รับการจัดตั้งโดยรัฐบาลไทย เพื่อเป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานของชาวจีนที่เป็นทหารในกองทัพของก๊กมินตั๋งหน่วยที่ 93 ของกองพลที่ 5 ซึ่งพ่ายแพ้หลบหนีกองทัพคอมมิวนิสต์จีนในช่วงสงครามกลางเมือง (หน้า 192) เนื่องจากกลุ่มชาวจีนนี้ได้เข้าต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ไทย รัฐบาลจึงยอมรับชาวจีนกลุ่มนี้ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือของประเทศไทย โดยจัดสรรพื้นที่ดอยแม่สลองให้, ให้สัญชาติไทย และทำการปลดอาวุธของชาวจีนเหล่านั้น (หน้า 192, 203) 11. ชุมชนชาวจีนมุสลิมในเชียงราย ชุมชนนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1920 จากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของจีนมุสลิมยูนนานและมุสลิมปากีสถาน เพื่อทำการค้าขาย (หน้า 207) 12. ชุมชนมุสลิมปากีสถานในเชียงรายหรือชุมชนบ้านฮายัค ชุมชนนี้ได้ก่อตั้งขึ้นช่วงทศวรรษที่ 1920 จากการตั้งถิ่นฐานของอิหม่ามของมัสยิดนารุล อิสลาม ปากีสถาน (หน้า 218) 13. ชุมชนบ้านต๋ำ ชุมชนนี้ก่อตั้งขึ้นจากค่ายผู้อพยพลี้ภัยเดิมที่อยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจตระเวนชายแดน ปัจจุบัน ชุมชนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (หน้า 222)

Settlement Pattern

ผู้เขียนได้ระบุถึงลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนมุสลิมในแต่ละชุมชนดังนี้ 1. ชุมชนบ้านฮ่อ ตัวชุมชนจะมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางและบริเวณรอบ ๆ มัสยิดจะเป็นที่อยู่อาศัย (หน้า 37) ปัจจุบันนี้ มีมุสลิมจากปากีสถานและบังกลาเทศเข้ามาอาศัยอยู่โดยรอบมัสยิดมากกว่าชาวจีนมุสลิม (หน้า 41) พื้นที่ตั้งของมัสยิดจะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักคือ ตัวมัสยิดเองและอาคารเรียนของโรงเรียนสอนศาสนาขั้นประถมที่ตั้งอยู่ข้างมัสยิด พื้นที่ของมัสยิดจะเป็นที่ละหมาดของผู้ชายเท่านั้น ส่วนผู้หญิงต้องไปละหมาดที่ชั้นสองของโรงเรียนสอนศาสนา ต่อมาได้มีการสร้างอาคารสำหรับทำการละหมาดของผู้หญิงขึ้นในปีค.ศ. 1986 ระฆังของมัสยิดที่ใช้เรียกผู้คนมารวมกลุ่มกันได้รับแบบมาจากระฆังพม่าที่ใช้ในวัดของพุทธศาสนา (หน้า 4) 2. ชุมชนสันปาข่อย ไม่ปรากฏข้อมูล 3. ชุมชนช้างคลาน ไม่ปรากฏข้อมูล 4. ชุมชนช้างเผือก ในปัจจุบันนี้ มัสยิดได้มีการบูรณะใหม่เป็นมัสยิดชั้นเดียว สร้างด้วยคอนกรีต หลังคาเป็นแบบปากีสถานและติดดวงไฟมากมาย แต่มัสยิดนี้จะไม่มีห้องเรียนหรือพื้นที่ทำการเรียนการสอนใด ๆ (หน้า 100) 5. ชุมชนบ้านใหม่หัวฝาย ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลไทย เพื่อรองรับผู้อพยพหนีภัยการปฏิวัติจีนจากยูนนานเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองของชุมชน (หน้า 102) ชุมชนนี้มีมัสยิดแบบสุหนี่หลังหนึ่งชื่อ มัสยิดเสดา (Saeda) แต่เดิมสร้างด้วยไม้และมุงหลังคาด้วยใบไม้ ต่อมาจึงได้รับการพัฒนาให้มั่นคงถาวรขึ้นและใช้สังกะสีมุงหลังคา มีระฆังประจำมัสยิดเป็นระฆังแบบพม่าที่ใช้ในวัดของพุทธศาสนา (หน้า 109) 6. ชุมชนท่าตอน ไม่ปรากฏข้อมูล 7. ชุมชนฝาง ไม่ปรากฏข้อมูล 8. ชุมชนบ้านยาง ไม่ปรากฏข้อมูล 9. ชุมชนแม่สาย ไม่ปรากฏข้อมูล 10. ชุมชนแม่สลองหรือชุมชนสันติคีรี ไม่ปรากฏข้อมูล 11. ชุมชนชาวจีนมุสลิมในเชียงราย ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานโดยกลุ่มพ่อค้าชาวมุสลิมทั้งชาวจีนยูนนานและชาวปากีสถาน (หน้า 207) มัสยิดของชุมชนที่สร้างโดยชาวจีนมุสลิมยูนนานนั้นแต่เดิมสร้างด้วยไม้ทั้งหมด ต่อมาในปีค.ศ. 1967 ก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ (หน้า 208) 12. ชุมชนชาวมุสลิมปากีสถานในเชียงรายหรือชุมชนบ้านฮายัค ไม่ปรากฏข้อมูล 13. ชุมชนบ้านต๋ พื้นที่ตั้งชุมชนแต่เดิมเป็นป่าทึบ เมื่อผู้อพยพชาวจีนเดินทางมาถึงก็ได้ตัดถางต้นไม้ไปแล้วตั้งถิ่นฐาน ณ ที่แห่งนี้ จนเมื่อรัฐบาลไทยประกาศอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ของชุมชน ทำให้คนจีนเหล่านั้นต้องไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย (หน้า 222)

Demography

ผู้เขียนได้ระบุข้อมูลประชากรของชาวจีนมุสลิมที่ทำการศึกษาจำแนกออกตามชุมชนดังนี้ 1. ชุมชนบ้านฮ่อ ในปีค.ศ. 1989 มีชาวมุสลิม 152 ครอบครัว จำนวน 866 คน เป็นชาย 414 คน หญิง 452 คน จำนวนมุสลิมทั้งหมดในเชียงใหม่ปีค.ศ. 1985 คิดเป็นร้อยละ 0.36 ของประชากรในเชียงใหม่ทั้งหมด แม้สถิติของรัฐบาลจะระบุเช่นนั้น แต่ในกลุ่มมุสลิมเองให้ข้อมูลว่ามีจำนวนมุสลิมที่อาศัยในเชียงใหม่มากถึง 12,000 คน ซึ่งโดยทั่วไป อิหม่ามเป็นผู้ที่บันทึกจำนวนประชากรในชุมชนในรูปของ “สัปปะบุรุษ” (Sapaburoot) (หน้า 3) จากการสัมภาษณ์นายหม่า ว่าน จาง (Ma Wan-chang) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการมัสยิดและรองประธานชุมชนมุสลิมภาคเหนือของไทย ผู้เขียนได้ทราบว่า จำนวนประชากรชาวจีนมุสลิมในเชียงใหม่มีประมาณ 10,000 คน จากจำนวนชาวมุสลิมทั้งหมดประมาณ 25,000 คน (หน้า 13) 2. ชุมชนสันปาข่อย จากข้อมูลการสัมภาษณ์ ผู้เขียนได้ทราบว่า ชุมชนนี้มีชาวมุสลิมทั้งหมดประมาณ 500 คน (ประมาณ 60 ครอบครัว) ซึ่งในจำนวนทั้งหมดนี้มีชาวจีนมุสลิมประมาณ 300 คน นอกจากมุสลิมแล้ว ยังมีผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ปะปนอยู่ด้วย (หน้า 57) 3. ชุมชนช้างคลาน มีจำนวนประชากรมุสลิมทั้งหมดประมาณ 600 คน (ประมาณ 120 ครอบครัว) (หน้า 87) 4. ชุมชนช้างเผือก ผู้เขียนไม่สามารถทราบจำนวนประชากรในชุมชนได้ 5. ชุมชนบ้านใหม่หัวฝาย จากการสัมภาษณ์อิหม่ามในชุมชน ในชุมชนมีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 110 ครอบครัว จำนวนประมาณ 700 คน (หน้า 102) มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 23 ครอบครัว เป็นจำนวนทั้งหมดประมาณ 200 คน (หน้า 106) 6. ชุมชนท่าตอน ปัจจุบันนี้มีประชากรอาศัยอยู่ 23 ครอบครัว จำนวนประมาณ 100 คนซึ่งมีทั้งคนไทยและคนจีนอาศัยอยู่ร่วมกัน (หน้า 116) 7. ชุมชนฝาง จากการสัมภาษณ์ ในชุมชนมีประชากรชาวจีนมุสลิมยูนนานอยู่ 14-15 ครอบครัว จำนวนประมาณ 80 คน และไม่สามารถเทียบเคียงกับข้อมูลสำมะโนประชากรได้ (หน้า 134) 8. ชุมชนบ้านยาง ไม่สามารถระบุได้แน่นอน ประมาณ 700 คน เป็นมุสลิมประมาณ 80 ครอบครัว จำนวนประมาณ 300 คน, ชาวจีนพุทธจำนวนประมาณ 100 คนและชาวจีนที่นับถือคริสต์และลัทธิเต๋ารวมกันจำนวนประมาณ 120 คน แต่ก็มีครอบครัวที่ย้ายออกจากชุมชนไปไม่นานมานี้จำนวน 50-60 ครอบครัวด้วย (หน้า 138-139) 9. ชุมชนแม่สาย จำนวนประชากรมุสลิมในตัวเมืองแม่สายมีอยู่ประมาณ 400 คน มีจีนมุสลิม 6 ครอบครัวกับชาวปากีสถาน 10 ครอบครัวอาศัยอยู่รอบ ๆ มัสยิดของชุมชน นอกจากนี้มีชาวมุสลิมพม่าอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนเมื่อไม่นานมากนี้ด้วย (หน้า 153) 10. ชุมชนแม่สลองหรือชุมชนสันติคีรี มีประชากรทั้งหมดในชุมชนประมาณ 4,000 คน เป็นครอบครัวชาวมุสลิมจำนวนประมาณ 25 ครอบครัว จำนวนประมาณ 200 คน (หน้า 197) 11. ชุมชนชาวจีนมุสลิมในเชียงราย มีชาวจีนมุสลิมยูนนาน จำนวนประมาณ 35 ครอบครัว ประมาณ 150 คน (หน้า 207) 12. ชุมชนชาวมุสลิมปากีสถานในเชียงรายหรือชุมชนบ้านฮายัค มีครอบครัวมุสลิมปากีสถานประมาณ 200 ครอบครัว ประมาณ 1,000 คน (หน้า 218) 13. ชุมชนบ้านต๋ำ ปัจจุบันในชุมชนมีชาวจีนอาศัยอยู่ประมาณ 200 ครอบครัว มีชาวไทยจำนวนเล็กน้อย ในจำนวนชาวจีนทั้งหมด มีจีนมุสลิมอยู่เพียง 11 ครอบครัว ประมาณ 50 คน มีชาวจีนคริสต์ประมาณ 20 ครอบครัว ประมาณ 100 คน และมีชาวจีนพุทธจำนวนประมาณ 170 ครอบครัว ประมาณ 2,850 คน (หน้า 228)

Economy

ในช่วงแรก ๆ ของการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ชุมชนจีนฮ่อได้ประกอบอาชีพทำไร่ฝิ่นตามอย่างชนกลุ่มน้อยตามชายแดนทางภาคเหนือ (หน้า 47) ผู้เขียนได้แยกการประกอบอาชีพของแต่ละชุมชนไว้ดังนี้ 1. ชุมชนบ้านฮ่อ ผู้คนในชุมชนจะประกอบอาชีพค้าขาย, ร้านอาหาร, การโรงแรม, ครู และแพทย์กับพยาบาล (หน้า 4) แต่อาชีพการค้าขายเป็นอาชีพของฮ่อมาตั้งแต่โบราณอย่างน้อยที่สุดประมาณปีพ.ศ. 2100 (หรือค.ศ. 1557) โดยใช้เส้นทางทางบกในการเดินทางไปค้าขาย ซึ่งเส้นทางหลักจะเป็นเส้นทางผ่านคุนหมิงและสิบสองปันนาก่อนจะเข้าไปในพม่า จนกระทั่งถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวฮ่อได้เปลี่ยนวิธีการทำการค้าขายแบบกองคาราวานแต่เดินเป็นวิธีการตั้งร้านค้าที่ในชุมชนบ้านฮ่อแทน (หน้า 43) 2. ชุมชนสันปาข่อย จากคำสัมภาษณ์ของฮู๋ จัน เหมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนจะประกอบอาชีพค้าขายต่าง ๆ เช่น ร้านขายยา, ร้านขายเครื่องแต่งกาย และร้านขายของชำ เป็นต้น หรือไม่ก็เลี้ยงเป็ดหรือไก่ (หน้า 57) 3. ชุมชนช้างคลาน จากการสัมภาษณ์ ประมาณร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดประกอบอาชีพเลี้ยงโคเนื้อและแล่เนื้อ, ร้อยละ 15 ประกอบอาชีพค้าขาย, ร้อยละ 10 ประกอบอาชีพครูและข้าราชการ และร้อยละ 5 ประกอบอาชีพกรรมกร (หน้า 87) 4. ชุมชนช้างเผือก ผู้เขียนไม่ทราบรายละเอียดการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน แต่ก็ได้ระบุว่า ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพพ่อค้าและข้าราชการ จากการสัมภาษณ์ ผู้เขียนก็ได้ทราบว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพพ่อค้าในชุมชนนี้มักจะดำเนินการค้าเร่ขายระหว่างเชียงใหม่กับบังกลาเทศโดยเดินทางผ่านพม่า มีจำนวนน้อยที่จะตั้งร้านค้าถาวร (หน้า 94) 5. ชุมชนบ้านใหม่หัวฝาย ปัจจุบันผู้คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม (หน้า 103) ซึ่งพืชผลที่ปลูกส่วนใหญ่คือ กระเทียม, หัวหอม และไม้ผลต่าง ๆ (หน้า 109) แม้ว่าชุมชนชาวจีนฮ่อจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลูกและค้าขายฝิ่น แต่ชุมชนนี้มีการประกาศห้ามคนในชุมชนและคนภายนอกค้าขายสิ่งเสพติดภายในชุมชน, ห้ามครอบครัวใดรับผู้เสพยาเสพติดเข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน และห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาเสพสิ่งเสพติดภายในชุมชน (หน้า 105-106) 6. ชุมชนท่าตอน ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีไร่นาอยู่ตามเชิงเขา ซึ่งพืชที่ปลูกจะเป็นข้าว, ถั่ว, ข้าวโพด, พริก และกระเทียม พืชผลเหล่านี้จะขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มาจากแม่อายและฝาง รายได้เฉลี่ยต่อปีของแต่ละครอบครัวจะอยู่ประมาณ 30,000 บาท (หน้า 116) 7. ชุมชนฝาง ก่อนการตั้งถิ่นฐานถาวรบนพื้นที่ของชุมชนในปัจจุบัน มุสลิมยูนนานได้ทำการค้าขายแบบกองคาราวานไปกลับระหว่างยูนนานกับเมืองฝาง โดยมีสินค้าซื้อขายสำคัญคือ อุปกรณ์แต่งกายจากยูนนานแลกเปลี่ยนกับสีย้อมเคมีจากไทยซึ่งนำเข้าจากเยอรมนีหรือสวิซเซอร์แลนด์ ต่อมาเมื่อมีการตั้งชุมชนฝางขึ้น ชาวจีนมุสลิมกลุ่มแรกเริ่มตั้งถิ่นฐานก็ยังคงประกอบอาชีพค้าขายแต่เปลี่ยนจากการค้าขายแบบกองคาราวานไปเป็นการตั้งร้านค้าถาวร เช่น ร้านขายของชำและภัตตาคาร เป็นต้น ส่วนกลุ่มชาวจีนมุสลิมยูนนานที่อพยพมาใหม่ได้ทำไร่ชาเป็นอาชีพใหม่ในชุมชนจนถึงปัจจุบัน และมีการส่งออกชาไปยังไต้หวันและญี่ปุ่นด้วย (หน้า 133-134) 8. ชุมชนบ้านยาง ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนมีอาชีพเกษตรกรรม แต่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ของชุมชน จึงปลูกไม้ผลและไม้ดอกแทน ต่อมามีโรงงานผลิตผลไม้กระป๋องที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย เข้ามาตั้งในบริเวณใกล้เคียงชุมชน จึงมีชาวบ้านจากชุมชนเข้าไปทำงานในโรงงานนั้นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีร้านตัดผมกับภัตตาคารตั้งอยู่บริเวณกลางชุมชนด้วย (หน้า 139) 9. ชุมชมแม่สาย ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่า ในอดีต ผู้คนในชุมชนอาจจะเคยค้าขายฝิ่นมาก่อน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปขายอัญมณี, เครื่องนุ่งห่ม, ชา, ผลไม้ และอาหาร รวมทั้งมีการค้าขายกับต่างชาติด้วย (หน้า 153) นอกจากนี้ก็มีชาวจีนจำนวนมากออกไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและไต้หวัน แล้วส่งเงินกลับมาเลี้ยงดูครอบครัวในประเทศไทยด้วย (หน้า 174) 10. ชุมชนแม่สลองหรือชุมชนสันติคีรี เศรษฐกิจของผู้คนในชุมชนขึ้นอยู่กับการเกษตร โดยเฉพาะกะหล่ำปลีและมะเขือเทศควบคู่ไปกับข้าวและข้าวโพดแม้จะมีการกล่าวว่า จีนในแม่สลองมักนิยมปลูกฝิ่นก็ตาม อีกทั้งชาของแม่สลองนั้นก็เป็นสินค้าสำคัญที่เป็นที่ต้องการในประเทศและส่งออกไปยังไต้หวันด้วย (หน้า 197) 11. ชุมชนจีนมุสลิมในเชียงราย จีนมุสลิมยูนนานส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพพ่อค้าและมีจำนวนหนึ่งที่รับราชการ (หน้า 208) อาชีพพ่อค้าของจีนมุสลิมยูนนานจะใช้การค้าแบบกองคาราวาน นำเอาสินค้าจากยูนนานไปขายยังเชียงราย สินค้าสำคัญที่นำมาจากยูนนานคือ ชา, ยารักษาโรค และไม้ ขณะที่พ่อค้าเหลานี้ก็ซื้อเสื้อไม้ไผ่จากเชียงรายไป เมื่อสงครามกลางเมืองปะทุขึ้น การค้าแบบกองคาราวานก็ได้รับผลกระทบและต้องเปลี่ยนมาเป็นการค้าแบบตั้งร้านแทน เพราะพ่อค้าไม่สามารถเดินทางเข้าไปยังประเทศจีนได้อีกและเส้นทางการค้าได้ถูกตัดขาดไปด้วย (หน้า 214) 12. ชุมชนมุสลิมปากีสถานในเชียงรายหรือชุมชนบ้านฮายัค จะดำเนินธุรกิจและเกษตรกรรมซึ่งพืชที่ปลูกคือ ข้าวและพืชผัก (หน้า 219) 13. ชุมชนบ้านต๋ำ คนจีนในชุมชนประกอบอาชีพค้าขาย, เกษตรกรรม และเลี้ยงไก่กับเลี้ยงสุกร มีรายได้ต่อเดือนแบ่งเป็นสองระดับคือ ระดับสูง 2,000-3,000 บาท ส่วนระดับต่ำได้เพียง 300-500 บาท (หน้า 229) ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะปลูกหัวหอมกับขิง (หน้า 238)

Social Organization

ชุมชนจีนมุสลิมจะมีคณะกรรมการศาสนาอิสลามเป็นหน่วยงานบริหารดูแลในแต่ละชุมชน โดยมีอาฮุนด์ (Ahund) หรือนักวิชาการอิสลามเป็นผู้ดำเนินงาน ซึ่งคำนี้เป็นคำในภาษาเปอร์เซียว่า “อัคฮุนด์” (Akhund) หรือ “อัคห์วานด์” (Akhwand) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเปอร์เซียที่ส่งผลมายังสังคมจีนฮ่อมุสลิม การเป็นอาฮุนด์นั้นจะต้องมีความรู้ในทางศาสนาอิสลามและกฎหมายอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเป็นอิหม่าม (หน้า 151) นอกจากคณะกรรมการนี้มีหน้าที่ในการบริหารดูแลชุมชนแล้ว ยังมีหน้าที่บริหารจัดการมัสยิดอีกด้วย เช่น การเลือกผู้ที่จะทำหน้าที่อิหม่าม เป็นต้น (หน้า iii-iv) ผู้เขียนได้ระบุการบริหารจัดการในสังคมของแต่ละชุมชนนอกเหนือจากการบริหารจัดการจากคณะกรรมการอิสลามประจำเชียงใหม่ไว้ดังนี้ 1. ชุมชนบ้านฮ่อ มีสมาคมยูนนาน (Yunnan Association) ดูแลเกี่ยวกับสวัสดิการ, การให้การอุปถัมภ์ และการดูแลผู้คนที่อพยพมาจากยูนนาน ชาวยูนนานที่อพยพมายังประเทศไทยจะได้เป็นสมาชิกของสมาคมในทันที สมาคมนี้จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ แก่ชาวยูนนานด้วยกัน เช่น การให้ยืมเงินเป็นค่ารักษาทางการแพทย์, การให้ยืมเงินเป็นค่าเล่าเรียน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในพิธีแต่งงานและพิธีเผาศพด้วย สมาชิกทุกคนต้องค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกซึ่งไม่ได้กำหนดแน่นอน นอกจากค่าธรรมเนียมสมาชิกแล้ว งบประมาณสำหรับสมาคมยังได้รับจากการบริจาคจากสมาชิกแต่ละคนด้วย (หน้า 25) 2. ชุมชนสันปาข่อย ไม่ปรากฏข้อมูล 3. ชุมชนช้างคลาน ในอดีตเคยมีสมาคมชาวอิสลามเชียงใหม่ตั้งอยู่ภายในมัสยิดของชุมชน แต่ต่อมาก็ได้ย้ายออกไป (หน้า 91) 4. ชุมชนช้างเผือก ไม่ปรากฏข้อมูล 5. ชุมชนบ้านใหม่หัวฝาย มีการปกครองดูแลภายในกันเอง แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกองดูแลผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทยและต้องทำงานอยู่ภายในชุมชนเท่านั้น (หน้า 103) 6. ชุมชนท่าตอน ไม่ปรากฏข้อมูล 7. ชุมชนฝาง ไม่ปรากฏข้อมูล 8. ชุมชนบ้านยาง ไม่ปรากฏข้อมูล 9. ชุมชนแม่สาย มีสมาคมยูนนานสาขาเชียงรายให้ก็จัดการดูแลเรื่องการติดต่อกับคนจีนในประเทศจีน (หน้า 173) ส่วนคณะกรรมการอิสลามของแม่สายนั้นมีนายหมิง เฉา คุน (Ming Shao-kun) เป็นประธานในปัจจุบัน (หน้า 189) 10. ชุมชนแม่สลองหรือชุมชนสันติคีรี แม้ว่ารัฐบาลไทยจะสั่งปลดอาวุธของกองทัพก๊กมินตั๋งที่ตั้งถิ่นฐานในชุมชนนี้ แต่โครงสร้างการบริหารของกองทัพก๊กมินตั๋งยังคงอยู่ในชุนชนจนถึงปัจจุบัน ผู้บัญชาการกองทัพในขณะนั้นคือ นาย เหล่ หยู่ เที๋ยน (Lei Yu-tien) (หน้า 192) 11. ชุมชนจีนมุสลิมในเชียงราย ชุมชนกำลังจะมีคณะกรรมการอิสลามประจำเชียงรายและคณะกรรมการมัสยิดเพื่อจัดการดูแลปัญหาทางกฎหมายอิสลามและมัสยิด แต่ขณะนั้นคณะกรรมการนี้ยังคงไม่มีผู้เข้าทำหน้าที่ คณะกรรมการนี้จึงอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการอิสลามส่วนกลางที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ หน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามคือ การดูแลแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายอิสลามและรายงานข้อมูลข่าวสารรวมทั้งการขอความช่วยเหลือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (หน้า 216) 12. ชุมชนมุสลิมปากีสถานในเชียงรายหรือชุมชนบ้านฮายัค ไม่ปรากฏข้อมูล 13. ชุมชนบ้านต๋ำ ชุมชนนี้มีการปกครองดูแลกันเอง โดยคณะผู้ดูแลปกครองชุมชนที่มาจากการเลือกตั้ง (หน้า 222, 237) และก็มีกรรมการดูแลชุมชนเป็นผู้จัดการเรื่องกฎระเบียบภายในชุมชน (หน้า 238) เนื่องจากชุมชนนี้เป็นชุมชนขนาดเล็ก จึงไม่มีคณะกรรมการอิสลามดูแลชุมชน (หน้า 232)

Political Organization

รัฐบาลไทยได้จัดพื้นที่บริเวณชายแดนประเทศในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเป็นพื้นที่ให้จีนฮ่อตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่ก็ได้จำกัดการเข้าออกของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นั้นรุ่นแรกด้วย เนื่องจากจีนฮ่อผู้ที่อพยพเข้าประเทศจำนวนหนึ่งเคยสังกัดกองทหารของกองทัพจีนคณะชาติหรือก๊กมินตั๋ง แม้จะมีอดีตทหารบางคนที่ไม่เต็มใจยอมรับการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลไทยและพยายามใช้ชีวิตแบบพรรคก๊กมินตั๋งในบริเวณดอยแม่สลอง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะยอมรับอำนาจของรัฐบาลไทยและยอมรับสถานภาพของตนในฐานะผู้อพยพ (หน้า 186) การเดินทางออกจากชุมชนของจีนฮ่อที่อพยพเข้ามารุ่นแรกจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ (หน้า 47) นอกจากการควบคุมดูแลแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังดำเนินการปราบปรามชาวจีนในเชียงใหม่และแม่สายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและค้าสิ่งเสพติดจากฝิ่นด้วย ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกองกำลังคนจีนติดอาวุธหลายครั้ง (หน้า 111) ผู้เขียนได้ระบุการปกครองดูแลผู้คนในแต่ละชุมชนไว้ดังนี้ 1. ชุมชนบ้านฮ่อ ไม่ปรากฏข้อมูล 2. ชุมชนสันปาข่อย ไม่ปรากฏข้อมูล 3. ชุมชนช้างคลาน ไม่ปรากฏข้อมูล 4. ชุมชนช้างเผือก ไม่ปรากฏข้อมูล 5. ชุมชนบ้านใหม่หัวฝาย ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่รัฐบาลไทยจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับผู้อพยพจากยูนนาน โดยเฉพาะคนจีน แม้ว่าชุมชนปกครองดูแลภายในกันเอง แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกองดูแลผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทย รวมทั้งต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่อำเภอฝางก่อนออกจากพื้นที่ชุมชน เนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้คนในชุมชนนี้มีสถานภาพเป็นผู้อพยพลี้ภัย (หน้า 103) 6. ชุมชมท่าตอน ไม่ปรากฏข้อมูล 7. ชุมชนฝาง ไม่ปรากฏข้อมูล 8. ชุมชนบ้านยาง รัฐบาลไทยได้จัดสรรพื้นที่บริเวณบ้านยางให้คนจีนอพยพกลุ่มแรกของชุมชนซึ่งก่อนหน้านี้ได้อาศัยอยู่บนดอยอ่างขางตั้งถิ่นฐานถาวร ณ ที่แห่งนี้ (หน้า 138) 9. ชุมชนแม่สาย ไม่ปรากฏข้อมูล 10. ชุมชนแม่สลองหรือชุมชนสันติคีรี ไม่ปรากฏข้อมูล 11. ชุมชนจีนมุสลิมในเชียงราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามส่วนกลางดำเนินงานเชิงนโยบายชี้แนะแนวทางแก่คณะกรรมการอิสลามในการดำเนินงานภาคปฏิบัติ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งในเรื่องมัสยิดและข้อกฎหมายอิสลาม (หน้า 216-217) 12. ชุมชนมุสลิมปากีสถานในเชียงรายหรือชุมชนบ้านฮายัค ไม่ปรากฏข้อมูล 13. ชุมชนบ้านต๋ำ รัฐบาลไทยจัดสรรพื้นที่บริเวณชุมชนให้ตั้งถิ่นฐานลี้ภัยและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแลจากแต่เดิมเป็นหน้าที่ของตำรวจตระเวนชายแดน (หน้า 222) คนในชุมชนสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ของชุมชนชาวจีนมุสลิมในแม่สายได้ แต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ และมีชาวบ้านจำนวนน้อยที่ได้รับสัญชาติไทยโดยอัตโนมัติแม้แต่ลูกหลานที่เกิดในประเทศไทย การได้รับสัญชาติไทยของคนในชุมชนนี้จะต้องพิสูจน์ตนเองว่าเกิดในประเทศไทยต่อเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ (หน้า 240)

Belief System

ผู้เขียนได้ทราบว่า ในชุมชนฮ่อแต่ละแห่งมีการนับถือศาสนาสามศาสนาหลัก ๆ ได้แก่ ศาสนาอิสลาม, ศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ (หน้า 36) แต่ศาสนาอิสลามมักเป็นศาสนาหลักของชุมชน ศาสนาอิสลามที่นับถือนี้เป็นนิกายฮานาฟีซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของนิกายสุหนี่ และค่อนข้างยืดหยุ่นเข้ากับสังคมจีนมุสลิมได้ดี (หน้า iii) มัสยิดของจีนมุสลิมจะมีอิหม่าม, โคทิบ และบิลลานเป็นผู้ดำเนินงานด้านศาสนา (หน้า iv) ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามในนิกายสุหนี่หรือสาขาของนิกายสุหนี่ เช่น ฮานาฟี, ฮันบาล และมาลิค เป็นต้น ซึ่งยืดหยุ่นการปฏิบัติของศาสนิกชนในเรื่องการอนุญาตให้ศาสนิกสูบบุหรี่ได้แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ (หน้า 95) อย่างไรก็ตาม คนมุสลิมในภาคเหนือก็เริ่มเผชิญกับปัญหาศาสนิกเข้าใจในหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามอย่างแท้จริงลดน้อยลง (หน้า 176) ผู้เขียนได้จำแนกการนับถือศาสนาของแต่ละชุมชนไว้ดังนี้ 1. ชุมชนบ้านฮ่อ มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก โดยมีมัสยิดบ้านฮ่อหรือมัสยิดฮิดายะดุ อิสลามเป็นมัสยิดหลักที่ใช้เป็นทั้งสถานที่ทำการละหมาดและเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามชั้นประถม ในมัสยิดมีคณะกรรมการดูแลจำนวน 15 คนและมีบุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนาสามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามและโคทิบในขณะนั้นคือ นายหยาง ลี่ ซันและนายปิติ ฮัซซัน ตามลำดับ ส่วนบิลลานนั้นสามารถเป็นคนใดก็ได้ในคณะกรรมการดูแลมัสยิดแล้วแต่โอกาส (หน้า 5) กิจกรรมปฏิบัติทางศาสนาของชุมชนนี้ก็ไม่แตกต่างจากในชุมชนอื่น ๆ เท่าใดนัก เช่น มีการละหมาด, การสวดมนต์, การถือศีลอด, การฉลองหลังจากการถือศีลอด (Id al-Fitr) และเทศกาลวันอิด อัล อัดดาห์ (Id al-Adha) เป็นต้น นอกจากนี้ในมัสยิดก็มีคัมภีร์กุรอาน “เป่า มิ่ง เจิน จิง” (Pao Ming Cheng Ching) ฉบับที่ 29 จากทั้งหมด 30 ฉบับที่สูญหายไป ซึ่งคัมภีร์นี้แต่เดิมเป็นของเจิ้น จ้ง หลิน (หน้า 9) จากการสัมภาษณ์ ทำให้ผู้เขียนทราบว่า ในอดีต ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่ผ่านพ่อค้ามุสลิม แต่ในปัจจุบันนี้ จะเผยแผ่ผ่านทางการเรียนการสอนในโรงเรียนสอนศาสนาและมิชชันนารีมุสลิมจากตะวันออกกลาง รวมทั้งผ่านวิธีการแต่งงาน (หน้า 14-15) 2. ชุมชนสันปาข่อย ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนนับถือศาสนาอิสลาม มีบางส่วนที่นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ (หน้า 56-57) มีมัสยิดอัตตัควาเป็นศาสนสถานประจำชุมชน บุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนามีสามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามในขณะนั้นคือ นายฮู หลาน เม่า (หน้า 57) แม้ชาวมุสลิมจำนวนมากในชุมชนสันปาข่อยจะนับถือศาสนาอิสลามนิกายฮานาฟี (Hanafi) (หน้า 85) แต่ก็มีประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาของชุมชนก็ดำเนินตามอย่างชุมชนบ้านฮ่อและชุมชนมุสลิมอื่น ๆ เช่น การถือศีลอดรอมอดอนและการจัดงานฉลองหลังจากการถือศีลอด เป็นต้น นอกจากนี้คัมภีร์กุรอาน “เป่า มิ่ง เจิน จิง” ฉบับที่ 4 และ 6 ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนอิสลาม จิ้ง เจิน เสวิ๋ย เสี้ยว (Islam Ching Cheng Hsueh Hsiao) (หน้า 81) 3. ชุมชนช้างคลาน มีมัสยิดช้างคลานเป็นมัสยิดหลักของชุมชนและเป็นมัสยิดนิกายสุหนี่ สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1880 ข้างแม่น้ำปิง เพราะกองคาราวานของคนมุสลิมที่อพยพจากพม่ามาตั้งถิ่นฐานตามเส้นทางของแม่น้ำปิง แต่ต่อมาเกิดน้ำท่วมจึงย้ายมาสร้าง ณ ที่ปัจจุบัน มีบุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนาสามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามและโคทิบในขณะนั้นคือ นายสุครี ฮานาฟีและนายซัมซุดดิน อาลีตามลำดับ (หน้า 88) ประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาของชุมชนก็ดำเนินตามอย่างชุมชนมุสลิมอื่น ๆ (หน้า 89) ชุมชนนี้เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมประเพณีและดำเนินพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาอิสลามของชาวมุสลิมในเชียงใหม่ เนื่องจากชุมชนนี้เป็นที่ตั้งของสมาคมชาวมุสลิมประจำจังหวัดเชียงใหม่และมีศูนย์การเรียนการสอนทางศาสนา (หน้า 89) เดิมทีสมาคมตั้งอยู่ในชุมชนบ้านฮ่อ แต่ต่อมาได้ย้ายมายังชุมชนช้างคลานเมื่อ 12 ปีก่อน (หน้า 91) 4. ชุมชนช้างเผือก มีมัสยิดช้างเผือกเป็นมัสยิดหลักประจำชุมชนและเป็นมัสยิดของนิกายสุหนี่ แต่เดิมมัสยิดนี้เป็นไม้สร้างโดยชนชั้นสูงคนจีนมุสลิมยูนนานชื่อ เล่า นัค ต่อมามัสยิดนี้ได้พังลง เมื่ออิหม่ามรุ่นที่สองเข้าทำหน้าที่ ก็ได้บูรณะมัสยิดใหม่ให้มีความคงทนมากขึ้น มัสยิดช้างเผือกได้รับการบูรณะใหม่อีกครั้งเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน (หน้า 95) กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนนี้ก็เหมือนกับชุมชนอิสลามอื่น ๆ เช่น การสวดละหมาดและการถือศีลอด เป็นต้น (หน้า 96) แม้ข้อปฏิบัติของนิกายฮานาฟีที่ชาวบ้านในชุมชนนับถือจะอนุญาตให้สูบบุหรี่ได้ แต่ศาสนิกในชุมชนต่างก็ไม่สูบบุหรี่และพยายามปฏิบัติเคร่งครัดตามหลักคำสอน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางศาสนามีอยู่สามตำแหน่งเช่นเดียวกับมัสยิดอื่น ๆ คือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามในขณะนั้นคือ นายมุสตาฟา ฮุซซัน (หน้า 95) 5. ชุมชนบ้านใหม่หัวฝาย นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่สายนิกายฮานาฟีเหมือนกับชาวจีนมุสลิมอื่น ๆ มีบุคคลทำหน้าที่ทางศาสนาสามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามในขณะนั้นคือ นายหม่า เจิง ซัน (Ma Cheng-san) ส่วนโคทิบในขณะนั้นคือ นายหม่า ตัง เสวี๋ย (Ma Tung-hsiao) (หน้า 109-110) กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนเป็นเหมือนกับชุมชนชาวมุสลิมอื่น ๆ เช่น การละหมาด, การสวดมนต์วันศุกร์หรือนามาซ และการถือศีลอดรอมมอดอน เป็นต้น ซึ่งในช่วงกิจกรรมทางศาสนา บางครั้งจะมีการบริจาคของผู้ศรัทธาด้วย (หน้า 111) 6. ชุมชนท่าตอน คนในชุมชนมีทั้งนับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม (หน้า 115) มัสยิดประจำชุมชนคือ มัสยิดท่าตอน ชิง เจิน ซื่อ (Tha Ton Ching Cheng Ssu) หรือชื่อทางศาสนาอิสลามว่า มัสยิด อัล ฮัมบา มัสยิดหลังเก่าตั้งอยู่บนที่ดินของนายทับ วิมภูลฟาน (Tap Vimpulphan) ในปีค.ศ. 1975 ชาวมุสลิมจำนวนมากได้บริจาคเงินซื้อที่ดินและสร้างมัสยิดหลังปัจจุบันขึ้น ทั้งนี้เงินบริจาคนั้นไม่เพียงมาจากชาวมุสลิมในชุมชน แต่ยังมาจากชาวมุสลิมในพื้นที่อื่นนอกชุมชน เช่น เชียงใหม่, เชียงราย และกรุงเทพฯ เป็นต้น (หน้า 116) บุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนามีสามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามในขณะนั้นคือ นายจาง จื่อ ฟู่ (Chang Tsu-fu) (หน้า127) กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนก็เหมือนกับชุมชนมุสลิมอื่น ๆ เช่น การละหมาด, การสวดมนต์วันศุกร์ และการถือศีลอด เป็นต้น ในช่วงที่ผู้เขียนสำรวจ พบว่า คนมุสลิมทั้งผู้ชายกับผู้หญิงในชุมชนดำเนินกิจกรรมทางศาสนาในพื้นที่ของมัสยิด มีเพียงผ้าม่านขาวกั้นระหว่างกันเท่านั้น (หน้า 128) นอกจากนี้ ในชุมชนยังไม่มีธรรมเนียมการบริจาคพื้นที่ให้แก่มัสยิดด้วย รายจ่ายตามธรรมเนียมทางศาสนาของชาวมุสลิมมีเพียงซะกาตร้อยละ 2.5 ของพืชผลของแต่ละครอบครัวเท่านั้น (หน้า 129) 7. ชุมชนฝาง มีมัสยิดฝาง เซี่ยง ชิง เจิน เจี้ยว ถาง (Fang Hsien Ching Cheng Chiao Tang) หรือชื่อทางศาสนาอิสลามว่า มัสยิด อัล อีมานี เป็นมัสยิดประจำชุมชนเป็นมัสยิดใหม่ที่สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1975 แทนหลังเก่าที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่นางหม่า หยาง จิน หยวน (Ma Yang chin yuan) บุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนามีอยู่สามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามในขณะนั้นคือ นายน่า เจี๋ย หลาน (Na Hao-jan) (หน้า 134-135) กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนเป็นมีลักษณะเช่นเดียวกับชุมชนมุสลิมอื่น ๆ เช่น การละหมาด, การสวดมนต์วันศุกร์ และการถือศีลอด เป็นต้น (หน้า 136) 8. ชุมชนบ้านยาง คนส่วนใหญ่ในชุมชนนี้นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่สายนิกายฮานาฟี บางส่วนนับถือศาสนาอื่น เช่น ศาสนาพุทธ, ลัทธิเต๋า และศาสนาคริสต์ เป็นต้น (หน้า 139) มัสยิดประจำชุมชนคือ มัสยิดบ้านยาง เหม่ เต๋อ ชิง เจิน ซื่อ (Mei Te Ching Cheng Ssu) หรือชื่อทางศาสนาอิสลามว่า มัสยิดอัล อีซาน ซึ่งก่อสร้างเสร็จสิ้นในปีค.ศ. 1976 ด้วยเงินบริจาคของคนมุสลิมจากกรุงเทพฯ, เชียงใหม่ และเชียงราย ปัจจุบันนี้มีสุเหร่าตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย ระฆังของมัสยิดเป็นระฆังแบบเดียวกับที่ใช้ในวัดของพุทธศาสนา (หน้า 139-140) บุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนามีเพียงอิหม่ามคนเดียว ซึ่งในขณะนั้นคือ นายหลี่ โช้ว หยู่ (Li Shou-you) กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนก็เป็นเช่นเดียวกับชุมชนมุสลิมนิกายสุหนี่อื่น ๆ (หน้า 149) 9. ชุมชนแม่สาย ในชุมชนมีทั้งคนจีน, คนปากีสถาน และคนพม่าต่างนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่สายนิกายฮานาฟี มีมัสยิดประจำชุมชนคือ มัสยิดเชียงราย แม่สาย ชิง เจิน เจี้ยว ถาง (Chiang Rai Maesai Ching Cheng Chiao Tang) หรือชื่อทางศาสนาอิสลามว่า มัสยิดอันนูล ก่อสร้างในปีค.ศ. 1955 โดยบุคคลสำคัญของชุมชน เช่น นายน่า ไฉ่ ขุย (Na Tsai-kuei) กับนายหม่า หลี่ ซือ (Ma Chi-ssu) และเงินบริจาคของชาวมุสลิมที่อื่น ๆ ต่อมาได้มีการบูรณะครั้งหนึ่งในปีค.ศ. 1971 (หน้า 154) บุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนามีสามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามในขณะนั้นคือ นายกุ้ย เหยา ฉุน (Kuei Hai-tsum) (หน้า 167) กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนก็เป็นเช่นเดียวกับชุมชนมุสลิมที่อื่น ๆ (หน้า 168) ในระหว่างการดำเนินงานสำรวจ ผู้เขียนก็ได้เห็นพิธีกรรมเคอร์บัน (Kurban) หรือพิธีกรรมสังเวยสัตว์ในวันที่อิมบราฮิมศรัทธาต่อพระอัลเลาะห์ พิธีกรรมนี้จะมีการสังเวยสัตว์เป็นเครื่องอุทิศให้แก่พระอัลเลาะห์ เพื่อแสดงถึงความศรัทธาที่มีต่อพระองค์ การประกาศเลือกสัตว์ที่จะสังเวยเป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้จาริกแสวงบุญมาแล้ว ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธี ผู้นำหรือคนร่ำรวยในชุมชนจะบริจาคเนื้อสัตว์ที่สังเวยให้แก่คนยากจน (หน้า 168-169) 10. ชุมชนแม่สลองหรือชุมชนสันติคีรี คนในชุมชนมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม (หน้า 192) มัสยิดประจำชุมชนคือ มัสยิดแม่สลอง ชิง เจิน ซื่อ (Maesalong Ching Cheng Ssu) หรือชื่อทางศาสนาอิสลามว่า มัสยิดดานูล อิสลาม ซึ่งเป็นมัสยิดหลังใหม่ที่สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1988 โดยนายหม่า จี่ ซือ (Ma Chi-ssu) กับนายหม่า ฉู่ สู (Ma Tsu-hsu) ทุนในการก่อสร้างเป็นเงินบริจาคของคนมุสลิมจากเชียงใหม่, เชียงราย และกรุงเทพฯ รวมทั้งเงินบริจาคจากกษัตริย์ประเทศซาอุดิอาระเบีย (หน้า 198, 203) ส่วนหลังเดิมนั้นไม่สามารถระบุช่วงเวลาการก่อสร้างได้ (หน้า 198) บุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนามีสามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามในขณะนั้นคือ นายมู่ เหวิน ชิ่ง (Mu Wen-chien) แต่ตำแหน่งโคทิบยังไม่มีใครทำหน้าที่ (หน้า 198-199) กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนก็เป็นเช่นเดียวกับชุมชนมุสลิมอื่น ๆ (หน้า 200) แต่จะมีความเข้มงวดในการปฏิบัติกิจกรรม แม้ว่าบางครอบครัวนับถืออิสลามแต่ใช้วิถีชีวิตแบบจีน หากก็ปฏิบัติตามกิจกรรมทางศาสนา (หน้า 205) 11. ชุมชนคนจีนมุสลิมในเชียงราย มีทั้งคนจีนและคนปากีสถานต่างนับถือศาสนาอิสลาม แต่เดิมมัสยิดประจำชุมชนจะมีเพียงหลังเดียวคือ มัสยิดเชียงราย ชิง เจิน ซื่อ (Chiang Rai Ching Cheng Ssu) หรือชื่อทางศาสนาอิสลามว่า มัสยิดดารุล อามาน ซึ่งสร้างโดยชาวจีนมุสลิมในปีค.ศ. 1922 และทั้งคนจีนมุสลิมและคนมุสลิมปากีสถานต่างก็ประกอบพิธีทางศาสนาร่วมกัน แต่ต่อมาเนื่องจากระยะทางระหว่างพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของคนมุสลิมปากีสถานกับมัสยิดอยู่ห่างไกลกัน อีกทั้งเยาวชนของคนปากีสถานประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปมัสยิดบ่อยครั้ง จึงมีการสร้างมัสยิดอีกหลังหนึ่งขึ้นในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของคนปากีสถาน (หน้า 207, 208) ทั้งนี้คนไทยมักจะเรียกมัสยิดหลักแรกว่า “วัดฮ่อ” บุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนามีสามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามในขณะนั้นคือ นายหม่า ฉู่ สู (Ma Tsu-hsu) (หน้า 208) ในอนาคต ชุมชนมีแผนการสร้างมัสยิดใหม่ด้วย กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนก็เป็นเช่นเดียวกับชุนชนมุสลิมอื่น ๆ (หน้า 209) 12. ชุมชนมุสลิมปากีสถานในเชียงรายหรือชุมชนบ้านฮายัค นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก (หน้า 218) มีมัสยิดประจำชุมชนคือ มัสยิดนารุล อิสลาม ปากีสถาน ซึ่งสร้างในปีค.ศ. 1987 แต่เดิมนั้นชุมชนจะใช้มัสยิดเชียงราย ชิง เจิน ซื่อเป็นสถานที่สวดมนต์ทุกวันศุกร์ แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุในการสัญจรบ่อยครั้ง จึงมีการสร้างมัสยิดใหม่ขึ้นในชุมชนนี้ โดยได้รับเงินบริจาคจากคนมุสลิมปากีสถานในกรุงเทพฯ (หน้า 219) บุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนามีสามตำแหน่งคือ อิหม่าม, โคทิบ และบิลลาน ซึ่งอิหม่ามในขณะนั้นคือ นายอับดุล คาฮาม อาลี (หน้า 219) กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนก็เหมือนกับชุมชนมุสลิมอื่น ๆ (หน้า 220) 13. ชุมชนบ้านต๋ำ มีทั้งคนที่นับถือศาสนาพุทธ, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม (หน้า 222) ศาสนาอิสลามที่คนจีนมุสลิมนับถือเป็นศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่สายฮานาฟี มัสยิดประจำชุมชนคือ มัสยิดบ้านต๋ำ ชิง เจิน เสี้ยว ถัง (Ban Tam Ching Cheng Chiao Tang) หรือชื่อในศาสนาอิสลามว่า มัสยิดอัล อันวาร์ ซึ่งเป็นมัสยิดใหม่ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ 32 ปีก่อน งบประมาณในการก่อสร้างมาจากเงินบริจาคของคนมุสลิมในชุมชนกับในประเทศ เช่น เชียงใหม่, เชียงราย และแม่สาย เป็นต้น และจากซาอุดิอาระเบีย (หน้า 229) บุคคลที่ทำหน้าที่ทางศาสนามีเพียงอิหม่ามคนเดียว ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ในขณะนั้นคือ นายหม่า จี้ ฉู่ (Ma Chih-chou) (หน้า 229) กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนก็เป็นเช่นเดียวกับชุมชนมุสลิมอื่น ๆ (หน้า 230) ผู้คนในชุมชนมีการแต่งงานระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธ โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างยังคงนับถือศาสนาของตนได้ (หน้า 236) ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของนิกายฮานาฟีที่คนจีนมุสลิมส่วนใหญ่นับถือคือ เมื่อทำการละหมาด นิ้วโป้งของผู้ทำละหมาดจะติดกับติ่งหู และมีการกล่าวว่า ชาวมุสลิมนิกายนี้จะไม่กินเนื้อที่ไม่มีเลือด เช่น กุ้งและปู เป็นต้น (หน้า 230)

Education and Socialization

ผู้เขียนได้จำแนกการศึกษาของคนในชุมชนแต่ละแห่งไว้ดังนี้ 1. ชุมชนบ้านฮ่อ มีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามระดับประถมซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของมัสยิดฮิดายะดุ อิสลาม มีการสอนอยู่ 4 ระดับชั้น มีนักเรียนจำนวนประมาณ 70 คนซึ่งอายุอยู่ระหว่าง 4 ถึง 15 ปี มีเวลาเรียนเฉพาะในวันเสาร์กับอาทิตย์ วิชาที่สอนในโรงเรียนแห่งนี้ได้แก่ ภาษาอาหรับ, กุรอาน และหลักปฏิบัติทางศาสนาอิสลาม แต่ก่อนใช้ภาษาจีนในการอธิบายคำสอนของศาสนา ปัจจุบันนี้ใช้ภาษาไทยแทน หากมีผู้สนใจศึกษาศาสนาอิสลามต่อ ก็ไปศึกษาได้ที่โรงเรียนอิสลาม ชิง เจิน เสวิ๋ย เสี้ยว (หน้า 5-6) ครูสอนศาสนาในโรงเรียนได้รับการศึกษาจากอียิปต์และมีการใช้เนื้อหาการสอนจากไต้หวันด้วย (หน้า 14) 2. ชุมชนสันปาข่อย มีโรงเรียนสอนศาสนา อิสลาม ชิง เจิน เสวิ๋ย เสี้ยว เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนทางศาสนาในภาคเหนือของไทย ก่อนก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ ฮู๋ จัน เหมาจะส่งลูกหลานมุสลิมในเชียงใหม่ลงไปศึกษาโรงเรียนสอนศาสนาที่อยุธยาหรือที่ฉะเชิงเทรา โรงเรียนอิสลาม ชิง เจิน เสวิ๋ย เสี้ยวนี้จะส่งนักเรียนแลกเปลี่ยนไปยังต่างประเทศ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น ลีเบีย, อินเดีย, คูเวต และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น การสนับสนุนที่ได้รับมานี้มีทั้งเงินบริจาคและการส่งเจ้าหน้าที่มาพัฒนาโรงเรียน อีกทั้งครูในโรงเรียนก็จบการศึกษาทางศาสนาจากต่างประเทศด้วย (หน้า 59-62) โรงเรียนแห่งนี้จะเปิดสอน 2 ระดับคือ ระดับประถมใช้เวลาเรียน 4 ปี และระดับขั้นสูงใช้เวลาเรียน 3 ปี วิชาหลักคือ วิชาศาสนาและภาษาอาหรับ แต่ก็สอนวิชาชีพด้วย เช่น การเกษตร, เทคโนโลยี และการจัดแต่งทรงผม เป็นต้น (หน้า 84) ผู้ที่สำเร็จการศึกษามักจะไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเมดินาของซาอุดิอาระเบียกับมหาวิทยาลัยอัซฮาร์ของอียิปต์ (หน้า 176) 3. ชุมชนช้างคลาน มีโรงเรียนสอนศาสนาระดับประถมแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในมัสยิด สอนศาสนาอิสลาม, การปฏิบัติตามหลักศาสนา, การอ่านคัมภีร์กุรอาน และภาษาอาหรับ มีครูในโรงเรียนจำนวน 6 คนซึ่งรวมตัวอิหม่ามเองด้วย นอกจากนี้ในชุมชนยังมีศูนย์การเรียนการสอนศาสนาอิสลามประจำเชียงใหม่ แต่ในช่วงเวลาที่ผู้เขียนทำการศึกษายังเป็นเพียงในนามเท่านั้นและไม่ได้ดำเนินกิจกรรมใด ๆ (หน้า 88-89) 4. ชุมชนช้างเผือก แม้ว่าในชุมชนจะมีมัสยิดช้างเผือก แต่มัสยิดนี้ไม่ได้มีการเรียนการสอนทางศาสนาใด ๆ (หน้า 100) 5. ชุมชนหัวฝาย ในชุมชนมีโรงเรียนประถม เปียน จิ่ง ชือ ปา เสวิ๋ย เสี้ยว (Pien Ching Shik Pa Hsiao Hsueh) และโรงเรียนสอนภาษาจีน จง เจิ้ง (Chung Cheng Hsiao Hsueh) แต่โรงเรียนสอนภาษาจีนได้ยกเลิกการเรียนการสอน ไป ต่อมาในปีค.ศ. 1956 มีโรงเรียนของรัฐบาลไทยเข้ามาแทนที่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวก็ได้สอนตามหลักสูตรของรัฐบาลและใช้ภาษาไทยในการสอน (หน้า 103) นอกจากนี้ชุมชนยังมีโรงเรียนสอนศาสนาระดับประถมตั้งอยู่ข้างมัสยิดอีกด้วย ซึ่งสอนหลักคำสอนทางศาสนา, หลักการปฏิบัติตนตามศาสนา และภาษาอาหรับ แต่ไม่มีคนสอน คนที่ทำหน้าที่ทางศาสนาจึงมักต้องทำหน้าที่สอนนักเรียนด้วย (หน้า 110) 6. ชุมชนท่าตอน ในชุมชนมีโรงเรียนสอนศาสนา ชิง เจิน เสวิ๋ย เสี้ยว (Ching Cheng Hsiao Hsueh) ตั้งอยู่ข้างมัสยิด สอนคำสอนทางศาสนา, กุรอาน และภาษาอาหรับ ช่วงเวลาเย็นในวันเสาร์-อาทิตย์ ครูในโรงเรียนคือ นายอาห์หมัด (Ahmad) ซึ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ชิง เจิน เสวิ๋ย เสี้ยวที่เชียงใหม่ เขามักใช้ภาษาไทยในการสอน เพื่ออธิบายคำสอนทางศาสนาและกุรอานให้นักเรียนเข้าใจได้ง่าย (หน้า 128) 7. ชุมชนฝาง ในชุมชนมีโรงเรียนสอนศาสนาระดับประถมตั้งอยู่ติดกับมัสยิด มีนายหม่า หง กวง (Ma Hung-kuang) เป็นครูสอนศาสนาประจำโรงเรียน ซึ่งสอนคำสอนทางศาสนาอิสลาม, กุรอาน และภาษาอาหรับ (หน้า 135-136) 8. ชุมชนบ้านยาง มีโรงเรียนสอนศาสนาระดับประถมตั้งอยู่ข้างมัสยิด ซึ่งอิหม่ามหลี่ โช้ว หยู่จะเป็นผู้สอน เขาได้รับการศึกษาทางศาสนาจากมหาวิทยาลัยอาหรับในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า และสามารถพูดได้ถึง 7 ภาษา วิชาที่สอนได้แก่ ภาษาอาหรับ, กุรอาน, คำสอนทางศาสนาอิสลาม และภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีการสอนภาษาจีนในช่วงเช้าของการเรียนด้วย โรงเรียนแห่งนี้มีการติดต่อกับโรงเรียนสอนศาสนา อิสลาม ชิง เจิน เสวิ๋ย เสี้ยว ในเชียงใหม่ด้วย (หน้า 148) 9. ชุมชนแม่สาย มีโรงเรียนสอนศาสนา ชิง เจิน เสวิ๋ย เสี้ยว ( Ching Cheng Hsueh Hsiao) ตั้งอยู่ติดกับมัสยิด มีสี่ระดับชั้น เปิดสอนตอนเย็นทุกวันยกเว้นวันศุกร์กับวันเสาร์ วิชาที่สอนได้แก่ การปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลาม, การอ่านกุรอาน และภาษาอาหรับ (หน้า 168) ตอนเช้าเด็กนักเรียนมุสลิมจะเรียนในโรงเรียนของรัฐบาลไทย แล้วตอนเย็นจึงเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนา (หน้า 172) 10. ชุมชนแม่สลองหรือชุมชนสันติคีรี ในขณะนั้น ชุมชนกำลังก่อสร้างโรงเรียนสอนศาสนาติดกับตัวมัสยิดหลังใหม่และจะเชิญครูสอนศาสนามาสอนวิชาคำสอนของศาสนาอิสลาม, ภาษาอาหรับ และการอ่านกุรอาน (หน้า 198,199) นอกจากนี้ ชุมชนยังมีโรงเรียนของรัฐบาลตั้งอยู่ด้วย โดยมีคณะกรรมการโรงเรียนเป็นผู้ดูแล ในอดีต ชุมชนเคยมีโรงเรียนชาวจีนชื่อ จุง หัว เสวิ๋ย เสี้ยว (Chung Hua Hsueh Hsiao) เปิดสอนวิชาภาษาจีน, ประวัติศาสตร์จีน และวัฒนธรรมจีน แต่ถูกปิดไปในปีค.ศ. 1985 (หน้า 205) 11. ชุมชนจีนมุสลิมในเชียงราย ที่มัสยิด มีห้องเรียนสำหรับสอนศาสนา ได้แก่ การอ่านกุรอาน, คำสอนทางศาสนาอิสลาม และภาษาอาหรับ ในอนาคต ชุมชนมีแผนสร้างโรงเรียนสอนศาสนาแห่งใหม่ขึ้นควบคู่กับมัสยิดใหม่ (หน้า 209) 12. ชุมชนมุสลิมปากีสถานในเชียงรายหรือชุมชนบ้านฮายัค ใช้พื้นที่ภายในมัสยิดสอนศาสนา โดยอิหม่าม, โคทิบ และบิลลานจะเป็นผู้สอน วิชาที่เปิดสอนได้แก่ คำสอนทางศาสนาอิสลามและการอ่านกุรอาน (หน้า 220) 13. ชุมชนบ้านต๋ำ ไม่มีโรงเรียนสอนศาสนาโดยเฉพาะ แต่อิหม่ามจะใช้พื้นที่ภายในมัสยิดสอนได้แก่ ภาษาอาหรับ, การอ่านกุรอาน และข้อปฏิบัติทางศาสนาอิสลาม (หน้า 230) ชุมชนนี้เคยมีโรงเรียนจีนชื่อ บ้านต๊ำ น่าน ต๋อง เสวิ๋ย เสี้ยว (Ban Tam Nan Tung Hsueh Hsiao) ตั้งอยู่ในชุมชน แต่ก็ได้ปิดไปตั้งแต่ปีค.ศ. 1985 (หน้า 239)

Health and Medicine

ไม่ปรากฏข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ผู้เขียนกล่าวแต่เพียงว่า ที่ชุมชนบ้านฮ่อ ผู้หญิงมุสลิมต้องใช้ผ้าคลุมศีรษะและใส่เสื้อแขนยาว (หน้า 15) ส่วนชุมชนอื่นไม่ได้กล่าวถึง

Folklore

ไม่ปรากฏข้อมูล ผู้เขียนกล่าวถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับการนับถือศาสนาอิสลามในชุมชนบ้านฮ่อเล็กน้อยว่า ศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ในยูนนาน โดยนักรบจากอาระเบียที่ได้รับการจ้างมาปราบปรามพวกกลุ่มกบฏในทิเบต เมื่อกบฏได้ถูกปราบปรามลง ก็มีนักรบจากอาระเบียที่หลงเหลืออยู่ตั้งถิ่นฐานในยูนนานและได้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม (หน้า 17)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ข้อมูลไม่ชัดเจน

Social Cultural and Identity Change

จีนฮ่อมุสลิมได้ถูกกลืนกลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในระดับหนึ่ง โดยวิธีการแต่งงาน, การยืมคำภาษาไทยมาใช้ในการอธิบายนิยามและวาทะทางศาสนา, การใช้ภาษาไทยสื่อสารในชีวิตประจำวัน และการแต่งกายแบบไทย แต่ยังคงรักษาวิถีปฏิบัติทางศาสนาอิสลามนิกายฮานาฟีอย่างเคร่งครัด และยังมีธรรมเนียมปฏิบัติแบบชาวจีนมุสลิมหลงเหลืออยู่ในสังคม (หน้า iv) นอกจากสังคมไทยแล้ว สังคมพม่าก็เป็นอีกสังคมหนึ่งที่ได้กลืนกลายชาวจีนมุสลิมยูนนานในช่วงการอพยพครั้งแรก ๆ (หน้า 182) ผู้เขียนได้ระบุการเปลี่ยนแปลงจากสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนดังนี้ 1. ชุมชนบ้านฮ่อ ไม่ปรากฏข้อมูล 2. ชุมชนสันปาข่อย ไม่ปรากฏข้อมูล 3. ชุมชนช้างคลาน ชาวมุสลิมเอเชียใต้ในชุมชนต่างมีการแต่งงานกับชาวไทยและกลืนกลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย รวมทั้งลูกหลานที่เกิดในประเทศไทยก็จะได้รับสัญชาติไทยด้วย (หน้า 86-87) 4. ชุมชนช้างเผือก ผู้คนในชุมชนนี้มีการแต่งงานและกลืนกลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย (หน้า 94) 5. ชุมชนหัวฝาย แม้ว่าผู้คนในชุมชนจะยังคงรักษาสัญชาติจีนเอาไว้ แต่ลูกหลานของพวกเขาที่เกิดในประเทศไทยจะได้รับสัญชาติไทยและมีคนในชุมชนจำนวนหนึ่งพยายามที่จะได้สัญชาติไทยโดยการขอเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวคนไทยหรือการแต่งงานกับคนไทย (หน้า 103) 6. ชุมชนท่าตอน มีการเปลี่ยนทางการใช้ภาษาในการเรียนการสอนหลักคำสอนทางศาสนาเป็นภาษาไทยมากกว่าจะใช้ภาษาจีนหรือภาษาอาหรับแม้จะมีการสอนภาษาอาหรับก็ตาม (หน้า 128) 7. ชุมชนฝาง ไม่ปรากฏข้อมูล 8. ชุมชนบ้านยาง ผู้คนในชุมชนยังคงรักษาการใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวันไว้ได้ (หน้า 151) 9. ชุมชนแม่สาย ผู้คนในชุมชนมีการใช้ภาษาจีนน้อยลง ขณะที่ภาษาไทยได้เข้ามาแทนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ (หน้า 176) 10. ชุมชนแม่สลองหรือชุมชนสันติคีรี ในชุมชนทุกวันนี้มีคนจีนมุสลิมที่พูดภาษาจีนหรือเข้าใจภาษาอาหรับน้อยลงกว่าเมื่อ 15 ปีก่อน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงเรียนสอนศาสนา (หน้า 205) 11. ชุมชนชาวจีนในเชียงราย ไม่ปรากฏข้อมูล 12. ชุมชนชาวมุสลิมปากีสถานในเชียงรายหรือชุมชนบ้านฮายัค ไม่ปรากฏข้อมูล 13. ชุมชนบ้านต๊ำ วัฒนธรรมและสังคมไทยได้กลืนกลายคนรุ่นใหม่ในชุมชนผ่านทางการศึกษาของรัฐบาลไทย (หน้า 236) และการแต่งงานกับชาวไทย (หน้า 238)

Other Issues

ผู้เขียนได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนมุสลิมในกรุงเทพฯกับอยุธยา และชาวมุสลิมภาคใต้ไว้ว่า ชุมชนมุสลิมในธนบุรีนั้นเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อพยพติดตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมาจากอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งมีทั้งคนมุสลิมในคาบสมุทรมาเลย์ที่ถูกกวาดต้อนมายังอยุธยา และคนมุสลิมจากเปอร์เซียและอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา ส่วนมุสลิมทางภาคใต้นั้นจะเป็นคนมุสลิมที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐสุลต่านปัตตานีมากกว่า (หน้า 31-32)

Map/Illustration

ผู้เขียนใช้ตาราง Muslims and mosques in Thailand, 1985 เปรียบเทียบจำนวนประชากรชาวมุสลิมกับชาวพุทธและชาวคริสต์ในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยด้วย (หน้า 51-52) และใช้แผนที่ของแต่ละชุมชนอธิบายรูปแบบการตั้งถิ่นฐานดังนี้ 1. แผนที่ระบุที่ตั้งมัสยิดในเมืองเชียงใหม่ (หน้า 11) 2. แผนที่ชุมชนบ้านฮ่อ (หน้า 12) 3. แผนที่ชุมชนสันปาข่อย (หน้า 83) 4. แผนที่ชุมชนช้างคลาน (หน้า 90) 5. แผนที่ชุมชนช้างเผือก (หน้า 101) 6. แผนที่ชุมชนหัวฝาย (หน้า 114) 7. แผนที่ชุมชนท่าตอนและที่ตั้งมัสยิดบ้านท่าตอน (หน้า 130) 8. แผนที่ชุมชนฝางและที่ตั้งมัสยิดอัล-อิมานี (หน้า 137) 9. แผนที่ชุมชนบ้านยาง (หน้า 150) 10. แผนที่ชุมชนแม่สาย (หน้า 171) 11. แผนที่ชุมชนสันติคิรีและที่ตั้งมัสยิดในชุมชน (หน้า 201) 12. แผนที่ระบุที่ตั้งมัสยิดในจังหวัดเชียงราย (หน้า 210) 13. แผนที่ชุมชนมุสลิมรอบมัสยิดดารุล อามาน (หน้า 211) 14. แผนที่ชุมชนฮายัคและที่ตั้งมัสยิดนารุล อิสลาม ปากีสถาน (หน้า 221) 15. แผนที่ชุมชนบ้านต๋ำ (หน้า 232)

Text Analyst คเณศ กังวานสุรไกร Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG จีนมุสลิม จีนยูนนาน(จีนฮ่อ), ความเป็นมา, การตั้งถิ่นฐาน, ชีวิตความเป็นอยู่, ภาคเหนือ, ไทย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง