สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชาวเล, อูรักลาโว้ย, ชุมชน, การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม,ภูเก็ต
Author พชรวรรณ รุ่งแสงอโณทัย
Title ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวเล : กรณีศึกษากลุ่มอูรักลาโว้ย บริเวณแหลมตุ๊กแก ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity อูรักลาโว้ย อูรักลาโวยจ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเนเชี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 99 Year 2547
Source หลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาเอกภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
Abstract

การศึกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวเล กรณีศึกษากลุ่มอูรักลาโว้ย บริเวณแหลมตุ๊กแก ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาและคุณภาพ โดยกลุ่มตัวอย่างได้มาจากการสุ่มอย่างมีระบบ ใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล โดยจำแนกตามตัวแปรต้น คือ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่อยู่ในชุมชน รายได้รวมของครอบครัวต่อเดือน ตัวแปรตาม คือ วัฒนธรรมการสร้างบ้านเรือน วัฒนธรรมการแต่งกาย และวัฒนธรรมการบริโภคผลการศึกษาพบว่าปัจจัยภายในและภายนอกมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ย 

Focus

ศึกษาปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และเปรียบเทียบปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ตลอดจนจัดทำแผนที่ข้อมูลประชากรของชุมชนชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ย (หน้า 2)

Theoretical Issues

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวเล อูรักกลาโว้ยบริเวณแหลมตุ๊กแก ได้แก่
1.ประชากรเพศหญิงมีมากกว่าเพศชาย ซึ่งเพศหญิงมีบทบาทการตัดสินใจในครอบครัว จึงมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมมากกว่าเพศชาย
2.ชาวอูรักโว้ยส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาระดับประถม มีส่วนน้อยที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับประถม นำไปสู่การพัฒนาในด้านความคิด ทัศนคติ ค่านิยมและการปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตสมัยใหม่
3.การใช้ชีวิตในชุมชนจากเดิมมีวัฒนธรรมแบบเร่ร่อนอาศัยอยู่บนเรือลอยน้ำมาเป็นปลูกสร้างบ้านเรือนบนบก ทำให้มีระยะเวลาอยู่ในชุมชนมากขึ้น จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
4.มีการปรับเปลี่ยนอาชีพจากชาวประมงมาเป็นคนงานรับจ้างและพ่อค้ามากขึ้น ทำให้มีการบริโภคอาหาร เสื้อผ้าตามสมัยนิยมมากขึ้น
5.การติดต่อสื่อสารคมนาคมสะดวกมากกว่าเดิม จึงมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับภายนอกมากขึ้น
6.การรับรู้ข่าวสารจากสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ
7.ลักษณะกายภาพในการเข้าถึง เช่นจำนวนเส้นทางเข้าถึงชุมชน จำนวนเที่ยวรถโดยสารประจำทาง และยานพาหนะในครัวเรือน (หน้า 72 – 76)

Ethnic Group in the Focus

ต้นกำเนิดของชาวเลในประเทศไทยนั้นไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จากการค้นคว้าของนักวิชาการหลายท่าน ชี้ให้เห็นว่าชาวเลไม่ได้เป็นชนพื้นเมืองเดิมของเกาะต่างๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย แต่อพยพเร่ร่อนมาจากที่อื่น ที่อ้างตรงกันโดยมากมาจากทางแหลมมลายู เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการอพยพเร่ร่อน อาศัยไม่เป็นหลักแหล่งอยู่ในทะเลอาศัยตามเกาะ จึงถูกเรียกว่า “ยิปซีทะเล” (Sea Gypsy) (หน้า 8) ตามการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยา (Ethnography) เผ่าพันธุ์ชาวเลจัดเข้าอยู่ในกลุ่มชนพวก เมลานีเซียน (Melanesian) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่แถบหมู่เกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกหรือหมู่เกาะเมลานีเซีย (เกาะของคนผิวดำ) ต่อมาได้โยกย้ายถิ่นฐานกระจายไปในหมู่เกาะทะเลใต้ พวกนี้มีรูปร่างลักษณะตัวค่อนข้างเล็ก ผิวดำ ตาดำ ผมหยิกหยอยเป็นกระจุก และมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง จากหลักฐานด้านประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์วิทยา สรุปได้ว่า ชาวเลเป็นชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมืองของภาคใต้ซึ่งได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานมาแล้ว อาศัยอยู่บริเวณเกาะทางภาคใต้ ในเขตจังหวัด ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล วิถีการดำรงชีวิตแบบเร่ร่อน มีวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเองและมีรูปร่างหน้าตาคล้ายชาวมาเลย์หรอชาวมุสลิมภาคใต้ของไทย (หน้า 9) มีการแบ่งกลุ่มชาวเลเป็นหลายกลุ่มซึ่งมีชื่อเรียกกลุ่มแตกต่างกันไป แต่สำหรับกลุ่มที่ศึกษาในงานวิจัยนี้ ชื่อว่ากลุ่มอูรักลาโว้ย ซึ่งตรงกับการแบ่งกลุ่มตามแนวคติชนวิทยา โดยอาศัยการบอกเล่าของชาวเลเป็นกลัก คือ ชาวเลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. กลุ่มมอเก็น (Moken) ประกอบด้วย มอเก็นบูเลา (สิงห์ทะเล) และมอเก็น ตามับ (สิงห์บก) 2. ชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ย (หน้า 9) ชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ยในงานวิจัยนี้อพยพเร่ร่อนมาจากบริเวณหมู่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย และมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะสิเหร่ บริเวณแหลมตุ๊กแก จ.ภูเก็ต หน้า 12)

Language and Linguistic Affiliations

ชาวเลมีวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเอง แต่ยังขาดหลักฐานอ้างอิงที่แน่นอน ไม่มีภาษาเขียนในการสื่อความหมาย ทั้งนี้ ไม่มีการอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับด้านภาษาพูดของชาวเลอย่างชัดเจน แต่มีการกล่าวถึงเกี่ยวกับความหมายชื่อของเกาะที่อาศัยอยู่นี้ว่าเป็นภาษาชาวเล คือเกาะสิเหร่ ดังคำว่า “ปูเลาสิเหร่” เป็นภาษาชาวเลแปลว่า เกาะพลู กล่าวคือ เกาะสิเหร่ในอดีตมีต้นพลูขึ้นมากมาย (หน้า 9-11)

Study Period (Data Collection)

ระบุแต่เพียงว่าใช้เวลาในการเก็บแบบสอบถามเป็นเวลา 1 เดือน ไม่ได้เก็บตลอดทั้งปี และทำการกำหนดระยะเวลาในการเก็บข้อมูล ออกเป็น 7 ครั้ง ครั้งละ 9 ชุด และวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพรรณา จากการสำรวจและการสังเกต ประกอบกับข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ (หน้า 27 และ หน้า 77)

History of the Group and Community

เดิมทีบรรพบุรษของชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ย อพยพเร่ร่อนมาจากหมู่เกาะลังกาวีของประเทศมาเลเซีย ในอดีตเกาะสิเหร่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ย ได้เข้ามาพักพิงเป็นครั้งคราวเพื่อหลบพายุในทะเล หรือเพื่อมาเก็บหอยหรือพืชบางอย่าง ต่อมาได้พากันอพยพมาสร้างบ้านเรือนอยู่อย่างถาวร โดยขึ้นบกมาจับจองที่ดินบริเวณแหลมกลางของเกาะสิเหร่ก่อนเป็นแห่งแรก ต่อมาเกิดกรณีพิพาทเรื่องที่ดินบริเวณแหลมกลาง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2502 จึงย้ายมาอยู่ที่แหลมตุ๊กแกของเกาะสิเหร่จนถึงปัจจุบันนี้ รวมแล้วชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ยได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะสิเหร่เป็นเวลาประมาณ 150 ปีแต่ที่ดินบริเวณแหลมตุ๊กแกนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวจีนในจังหวัดภูเก็ตคนหนึ่ง (หน้า 11-12)

Settlement Pattern

เดิมทีชาวเลมีชีวิตที่เร่ร่อนไปตามเกาะต่างๆ ไม่มีบ้านเป็นหลักแหล่ง เรือจึงถูกใช้ทำกิจกรรมต่างๆ แทนบ้าน มีการแบ่งส่วนของเรือออกเพื่อทำหน้าที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของเจ้าของเรือ ดังนั้น บ้านลอยน้ำหรือเรือชาวเลมีลักษณะเป็นเรือสำปั้นขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 3-3.45 เมตร กลางลำกว้าง 1.8-2 เมตร ตรงกลางซึ่งเป็นส่วนที่กว้างทำเป็นหลังคาโค้ง ตามลำเรือใช้ใบเตยทะเลหรือใบปาหนัน บางลำใช้ใบพ้อผูกกับไม้ไผ่เรียงกันเป็นตับมุงหลังคากันแดดกันฝน ใช้ไม้กระดานวางพาดกาบเรือเป็นพื้นเต็มช่วงหน้าและส่วนที่มุงหลังคาด้านหน้าของเรือทำเป็นที่กินอาหาร ส่วนที่อยู่ในชายคาด้านนอกสุดเป็นครัว ถัดมาเป็นส่วนที่กว้างก็ใช้นั่งทำงานจักสาน เลี้ยงเด็ก และเป็นห้องนอนไปในตัว ตรงกลางเรือส่วนที่ต่อกับหลังคาทำเป็นชั้นวางของ ของบางอย่างก็เสียบไว้แนวชายคา ภายในมีกล่องสังกะสีขนาดเท่าปี๊บเพื่อใช้เป็นที่ใส่เสื้อผ้าและของมีค่าต่างๆ บริเวณท้องเรือจะเก็บเครื่องมือเครื่องใช้และถังใส่น้ำจืด ช่องว่างข้างเรือเสียบกระบอกไม้ไผ่ทำคบเพลิง เรือแต่ละลำจะอยู่เพียงครอบครัวเดียว ซึ่งมีตั้งแต่ 7-12 คน (หน้า 13-14) รูปแบบบ้านของชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ยในปัจจุบันมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า บ้านที่มีใต้ถุนจะสูงประมาณ 1 เมตร มีประตู 2 บาน อยู่บริเวณหน้าบ้านและหลังบ้าน บ้านที่มีใต้ถุนจะมีจำนวนขั้นบันไดเป็นเลขคี่ ภายในบ้านโล่งเป็นห้องเดียวไม่ค่อยกั้นห้องเป็นห้องต่างๆ สามารถนอนรวมกันได้ 5-8 คน ส่วนใต้ถุนบ้านใช้ทำกิจกรรม เช่น แกะหอย เล่นไพ่ เป็นต้น สำหรับห้องน้ำและห้องครัวไม่มี จัดได้ว่าเป็นบ้านแบบกึ่งถาวร (หน้า 14)

Demography

ปี พ.ศ. 2545 ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย บริเวณแหลมตุ๊กแก หมู่ 4 ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 249 ครัวเรือน จำนวนประชากรประมาณ 1,600 คน เพศชาย 638 คน เพศหญิง 952 คน ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 31-40 ปี (หน้า 10,66,72) ในการศึกษาใช้ผลการคำนวณได้ประชากรกลุ่มตัวอย่าง 63 ครัวเรือน

Economy

ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก อันสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษ มีความคุ้นเคยและมีความชำนาญพิเศษเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในทะเลและการจับสัตว์น้ำทุกชนิด เช่น กุ้งก้ามกลาม ปูทะเล โดยจับสัตว์น้ำขายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่เข้ามาซื้อสินค้าทะเลในหมู่บ้าน ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300-500 บาท และเนื่องจากชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ย ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของเจ้าของที่ดิน คือ ต้องขายสัตว์น้ำที่จับมาได้ทั้งหมดให้กับเจ้าของที่ดิน ตลอดจนจะต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านชำของเจ้าของที่ดิน (หน้า 12,73) อาชีพนอกเหนือจากอาชีพประมง ได้แก่ อาชีพรับจ้าง เช่น รับจ้างแกะหอย พ่อค้าคนกลางรับซื้อในราคา 50 บาท อาชีพรับจ้างในโรงงานปลากระป๋อง ส่วนมากเป้นชาวเลหนุ่มสาวที่อายุ น้อยกว่า 30 ปี ได้ค่าแรงวันละประมาณ 150-200 บาทต่อคน อาชีพค้าขายเป็นอาชีพของกลุ่มชาวเลที่มีฐานะดีที่สุดในหมู่บ้าน เป็นการนำของทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก มุก เปลือกหอย และปะการัง ไปขายให้กับโรงแรมและพ่อค้าในตลาด บางรายไปขายเองในตลาด มีรายได้ 9,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป (หน้า 74)

Social Organization

การแต่งงาน เมื่อหนุ่มสาวเกิดรักใคร่ชอบพอกันแล้ว ฝ่ายชายจะต้องบอกพ่อแม่ของตนให้ไปหาพ่อแม่ฝ่ายหญิง เพื่อทำการสู่ขอซึ่งจะกระทำกันถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกนั้นเป็นการให้คำตอบว่าขอคิดใคร่ครวญดูก่อน แล้วค่อยมาตกลงกันใหม่ การสู่ขอครั้งที่ 2 จะตอบว่าขอถามลูกสาวดูก่อน ค่อยกลับมาฟังข่าวใหม่ ส่วนครั้งที่ 3 จะเป็นการให้คำตอบว่าถ้าลูกสาวพอใจรักใคร่ก็ไม่ขัดข้อง ให้นำขันหมากมานัดวันแต่งงาน ก่อนแต่งงานจะมีพิธีหมั้นซึ่งจะเป็นแหวนอะไรก็ได้ ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญาจะต้องมีการคืนแหวนและเสียค่าปรับด้วย แต่ถ้าแต่งแล้วหรือในกรณีหย่าร้างฝ่ายไหนอยากเลิกก็ต้องเสียค่าปรับตามที่ได้ตกลกันไว้ต่อหน้าผู้ใหญ่ในคืนวันเข้าพิธี (หน้า 16) ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาวเลเมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายชายต้องย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิง ผู้ชายมีหน้าที่เพียงแต่ทำมาหาเงินมาเลี้ยงฝ่ายหญิงทั้งบ้าน ให้อำนาจการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิง วัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้เกิดการจากการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง โดยเพศหญิงผู้ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านจะเป็นผู้ส่งต่อวัฒนธรรมได้มากกว่าเพศชาย ระบบเครือญาติมีความสำคัญในกระบวนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก (หน้า 72) มีการตั้งนามสกุลในหมู่ของชาวเลขึ้นโดยทางราชการ เนื่องจากต้องมีความเกี่ยวข้องกับทางราชการมากขึ้น เช่น การเกณฑ์เด็กเข้าเรียนในโรงเรียน เป็นต้น นามสกุลที่ใช้มากในชุมชนชาวเลเกาะสิเหร่ คือ ประโมงกิจ และเมื่อมีการแต่งงานกับคนในท้องถิ่นก็มีนามสกุลเพิ่มขึ้น ชาวเลบางกลุ่มมีการตั้งนามสกุลใหม่ขึ้นมาใช้เองบ้าง เช่น หาญทะเล ช้างน้ำ และวารี เป็นต้น (หน้า 12)

Political Organization

ชาวเลนับถือบรรพบุรุษที่เรียกว่า “โต๊ะหมอ” ซึ่งเป็นทั้งผู้นำและประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในกรณีที่มีโต๊ะหมอหลายคนแต่ละคนจะได้รับการยอมรับในบทบาทอย่างเท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบันบทบาทของโต๊ะหมอเริ่มจะลดน้อยลงไป เพราะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสารวัตรกำนันมีบทบาทเด่นเข้ามาแทนที่ การใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ชาวเลส่วนใหญ่จะมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเหมือนคนไทยทั่วไป การพิจารณาเลือกผู้แทนของชาวเลนั้นแล้วแต่ว่าผู้นำของตนจะเลือกใคร พวกเขาจะเลือกคนนั้นตาม (หน้า 13)

Belief System

ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ยมีความเชื่อเกี่ยวกับผีสางอย่างเหนียวแน่น ตลอดจนความเชื่อเรื่องโชคลาง ไสยศาสตร์ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิต เช่น ในการเกิด การทำมาหากิน การแต่งงาน การรักษาโรค ตลอดจนการตาย ซึ่งพิธีกรรมต่างๆ จะสัมพันธ์กับทะเลตามแบบสภาพวิถีชีวิต อาทิเช่น พิธีลอยเรืออันเป็นพิธีที่มีความสำคัญและมีความหมายอย่างมากต่อชาวเล โดยทำกันปีละ 2 ครั้ง ทุกคนจะต้องเข้าร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง เกิดจากพื้นฐานความเชื่อในเรื่องอิทธิพลของสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติ หรือ “เจ้าเกาะ” ที่มีอิทธิฤทธิ์ที่สามารถที่จะดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆ พิธีจัดขึ้นเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากเกาะและขออำนาจให้เจ้าเกาะช่วยคุ้มครองพวกเขาให้รอดตลอดฤดูมรสุม ในด้านปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า เป็นต้น ชาวเลเชื่อว่าเป็นการลงโทษของผีสางและมีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณเช่นกัน ดาวตกหรือผีพุ่งใต้นั้นเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ของผี ซึ่งเรียกว่า ผีชิน ตามความเชื่อนั้นว่า ผีชินมีอยู่ 7 จำพวก บ้างก็ให้คุณบ้างก็ให้โทษ ในการออกทะเลให้พึงระวังเวลาเห็นแสงโชติช่วงพวกเขาไม่กล้าพูดทักทาย นอกจากนี้ชาวเลมีความเชื่อเกี่ยวกับ “โต๊ะหมอ” ซึ่งเป็นทั้งผู้นำและเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทำหน้าที่เป็นหมอเมื่อมีคนเจ็บป่วย เมื่อชาวเลเจ็บป่วยจะเชื่อว่านั้นคือผีกิน โต๊ะหมอจะทำการนั่งทางในและบริกรรมคาถาเพื่อให้น้ำมนต์ที่วางอยู่ด้านหน้าเกิดความขลัง พร้อมกับจุดเทียนออกชื่อผู้ป่วย และดูว่าไส้เทียนงอไปทิศใด โต๊ะหมอจะให้ผู้ป่วยสาบานว่าถ้าหายจากอาการแล้วจะต้องไปเซ่นบวงสรวงตามทิศที่ใส้เทียนงอไป (หน้า 15,16,17) ปัจจุบันเมื่อชาวเลมีการตั้งถิ่นฐานที่ถาวรขึ้นทำให้มีการรับเอาการเผยแพร่ของศาสนาต่างๆ มากขึ้น โดยมากชาวเลนับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการนับถือผีสางเทวดาและวิญญาณของบรรพบุรุษ ชาวเลจะเชื่อและเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาก จนได้มีคำกล่าวที่ให้ชาวเลนั้นให้มีการสร้างศาลและไปรับส่วนบุญที่วัดตอนเดือนสิบ ดังนั้นเมื่อถึงงานทำบุญเดือนสิบของชาวไทยพุทธ จะเห็นพวกชาวเลทั้งผู้หญิงและเด็กเตรียมตระกร้า กระป๋อง ไปนั่งเรียงรายในวัดเพื่อรอข้าวปลาอาหารและขนมสำหรับทำบุญเดือนสิบของชาวบ้านที่มาทำบุญตามวัดต่างๆ (หน้า 15)

Education and Socialization

เดิมทีชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ยเกือบร้อยเปอร์เซนต์ไม่รู้หนังสือ สภาพการดำเนินชีวิตมีวงจำกัดเฉพาะกลุ่มของตนเอง ชาวเลใช้วิธีการที่ไม่เป็นรูปแบบ อาจใช้วิธีบอกเล่า เลียนแบบ บางอย่างถ่ายทอดให้กันเฉพาะตัว การถ่ายทอดมักทำกันในวงแคบๆ ดังนั้นการศึกษาอบรมในหมู่ของชาวเลจึงเป็นลักษณะที่เรียนรู้จากครอบครัว โดยมีพ่อแม่หรือหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลังโดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่ประการใด ซึ่งโดยมากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เช่น การทำมาหากิน การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การรักษาผู้ป่วย ระเบียบประเพณีของกลุ่ม หน้าที่ของสามีภรรยาและครอบครัว ความประพฤตโดยทั่วไป ความเชื่อ ตลอดจนความมุ่งหมายของชีวิต (หน้า 13) ปัจจุบันชาวเลส่วนมากเกือบทุกครอบครัวเมื่อมีบุตรหลานถึงเกณฑ์เข้าเรียนก็จะส่งไปเรียนหนังสือ (หน้า 13)

Health and Medicine

ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามในด้านเกี่ยวกับสุขภาพ หรือการรักษานั้นยังใช้ตามลักษณะพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น การเสกน้ำมนต์แก้อาการป่วย หรือ การเสกน้ำให้เด็กแรกเกิดไว้ใช้ตบกระหม่อมทุกวัน เป็นต้น (หน้า 16)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของชาวเลแบบเดิมผู้ชายชอบนุ่งผ้าเตี่ยว ไม่สวมเสื้อ ส่วนผู้หญิงชอบนุ่งกระโจมอกคลุมถึงหัวเข่า ส่วนมากใช้ผ้าโสร่งหรือผ้าถุงไม่ค่อยสวมเสื้อเช่นกัน เพราะมีความเชื่อว่าการแตกเนื้อสาวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนหลังไม่น่าจะอายหรือปกปิดประการใด แต่ปัจจุบันการแต่งกายของชาวเลได้พัฒนาและเลียนแบบคนพื้นเมืองเป็นอันมาก คือ ส่วนมากผู้ชายจะนุ่งกางเกงจีนซึ่งประหยัด หาซื้อง่าย ราคาถูก แต่ไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อ รู้จักซักเสื้อผ้าแต่ไม่รู้จักใช้เครื่องสำอางส่วนมากจะใช้แป้งผัดหน้า ใช้ทองคำเป็นเครื่องประดับเป็นส่วนใหญ่ ไม่นิยมใช้เบี้ยหอยหรือพวกมุกต่างๆ เป็นเครื่องประดับเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าสำหรับชาวเล แต่กลายเป็นของมีค่าสำหรับนำไปขายให้กับคนพื้นเมือง (หน้า 14)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ยมีนิสัยรักความสงบไม่สนใจกับเรื่องราวบ้านเมืองภายนอก อีกทั้งไม่มีปฏิกิริยาด้านก่อความไม่สงบหรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ สังคมชาวเลจึงเต็มไปด้วยความสงบ (หน้า 12) ปัจจุบันชาวเลอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีเจ้าของกรรมสิทธิ์ทำให้ประสบปัญหาถูกผูกขาดในการค้าขาย ซึ่งต้องยอมเพื่อให้สามารถอาศัยอยู่บนพื้นที่นี้ต่อไปได้ (หน้า 12)

Social Cultural and Identity Change

จากเดิมที่สังคมของชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ย มีวิถีชีวิตแบบร่ร่อนไปตามทะเลและพักพิงชั่วคราว แต่ปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรบนบก ซึ่งสาเหตุนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพวิถีชีวิต ในการปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ของคนบนบก เช่น เรื่องการเสียภาษีอากร การเกณฑ์ทหาร การตั้งนามสกุล การส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระบบวัฒนธรรมการแต่งกาย (หน้า 8, 12, 13) จากการอภิปรายผลการศึกษาตามตัวแปรปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ได้แก่ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวเล อูรักลาโว้ยบริเวณแหลมตุ๊กแก ได้แก่
1.ประชากรเพศหญิงมีมากกว่าเพศชาย ซึ่งเพศหญิงมีบทบาทการตัดสินใจในครอบครัว จึงมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมมากกว่าเพศชาย
2.ชาวอูรักโว้ยส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาระดับประถม มีส่วนน้อยที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับประถม นำไปสู่การพัฒนาในด้านความคิด ทัศนคติ ค่านิยมและการปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตสมัยใหม่
3.การใช้ชีวิตในชุมชนจากเดิมมีวัฒนธรรมแบบเร่ร่อน อาศัยอยู่บนเรือลอยน้ำ มาเป็นปลูกสร้างบ้านเรือนบนบก ทำให้มีระยะเวลาอยู่ในชุมชนมากขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
4.รายได้มีการปรับเปลี่ยนอาชีพจากชาวประมงมาเป็นคนงานรับจ้างและพ่อค้ามากขึ้น ทำให้มีการบริโภคอาหาร เสื้อผ้าตามสมัยนิยมมากขึ้น
5.การติดต่อสื่อสารคมนาคมสะดวกมากกว่าเดิม จึงมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับภายนอกมากขึ้น
6.การรับรู้ข่าวสารจากสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ 7.ลักษณะกายภาพในการเข้าถึง เช่นจำนวนเส้นทางเข้าถึงชุมชน จำนวนเที่ยวรถโดยสารประจำทาง และยานพาหนะในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จะพบว่าทุกปัจจัยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมของชาวเล โดยเฉพาะในเรื่องระยะเวลาที่อยู่ในชุมชน มีระยะนานกว่า 40 ปี ที่ชาวเลได้ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งบริเวณเกาะสิเหร่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆ เมื่ออาศัยอยู่นานๆ ได้ยืมวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตในด้านการสร้างบ้านเรือน การแต่งกาย การบริโภค และวัฒนธรรมอื่นๆ เข้าไปใช้ในชุมชนชาวเล (หน้า73, 72-76)

Text Analyst ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช Date of Report 04 เม.ย 2565
TAG ชาวเล, อูรักลาโว้ย, ชุมชน, การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม, ภูเก็ต, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง