สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลเวือะ, ลวะ ลัวะ,ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์,โครงสร้างสังคม,ระบบตระกูล
Author Cholthira Satyawadhna
Title The Dispossessed : An Anthropological Reconstruction of Lawa Ethnohistory in the Light of their Relationship with the Tai
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ลัวะ (มัล ปรัย) ลัวะมัล ไปร ลัวะปรัย, ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, ละว้า ลัวะ ว้า, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 367 Year 2534
Source Submitted for the degree of Doctor of Philosophy of the Australian National University
Abstract

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกแสดงลักษณะสังคมลัวะในจังหวัดน่าน ว่าเป็นสังคมระบบตระกูลที่สืบสายและนับผีบรรพบุรุษข้างแม่ ส่วนที่สองเป็นการเปรียบเทียบสังคมลัวะในจังหวัดน่านกับสังคมละว้าในภาคเหนือของไทยและว้าในยูนนาน โดยแสดงให้เห็นว่า ละว้าทั้งสองแห่งเป็นสังคมที่สืบสายตระกูลข้างพ่อ พร้อมทั้งเชื่อมโยงความขัดแย้งกับการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของละว้าในภูมิภาคอื่นของชายขอบไทย-ยูนนาน และส่วนที่สามเป็นการสืบสร้างรัฐละว้าในอดีต ซึ่งผู้หญิงไม่ได้มีอำนาจและสิทธิเหนือดินแดนที่ดินและการปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ปกครองและเป็นศูนย์รวมประเพณีความเชื่อด้วย ผู้ศึกษาเสนอว่า ละว้ามีรูปแบบการปกครองแบบนครรัฐมาตั้งแต่ต้นพุทธศักราชแล้ว ลักษณะสังคมมีทั้งแบบสืบสายตระกูลข้างพ่อและข้างแม่ ต่อมาการขยายอำนาจของรัฐไทในล้านนามีผลกระทบต่อระบบและโครงสร้างสังคมลัวะ หลังจากความสัมพันธ์ละว้า-ไทผ่านไป 500 ปี ราชวงศ์ละว้าได้ยอมรับอำนาจของไทยวน ผู้ชายเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ปกครองลำดับแรก การสืบอำนาจการปกครองข้างพ่อก็ปฏิบัติเข้มขึ้น อย่างไรก็ตาม ลัวะซึ่งมีระบบและโครงสร้างสังคมที่ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง ก็ไม่ได้รับรูปแบบการแต่งงานระหว่างพี่ชาย-น้องสาวซึ่งเป็นประเพณีในราชสำนักไทยวน ในทางตรงกันข้าม ผู้ศึกษาเห็นว่า วัฒนธรรมการไหว้ผีข้างแม่และผู้หญิงเป็นฝ่ายควบคุมสังคมและผู้ปกครองของคนไทยภาคเหนือนั้นมาจากละว้า ในแง่นี้ผู้ศึกษามองว่า อัตลักษณ์ร่วมของละว้ายังคงดำรงอยู่โดยปราศจากตราประทับ “ความเป็นละว้า” และ”ความเป็นไทย”ได้ผสมผสานกันทั้งเชิงวัฒนธรรมและสังคม จนยากที่จะแยกอัตลักษณ์ละว้าออกมา (น.v-vi)

Focus

สนใจการสืบสร้างประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของละว้า(Lawa ethnohistory)จากการศึกษาระบบตระกูลของกลุ่มชาติพันธุ์ละว้า 3 กลุ่มในประเทศไทยและประเทศจีน ซึ่งเป็นสังคมที่สืบสายตระกูลข้างมารดา(matrilineal) ผู้หญิงมีอำนาจ(matriarch)กลุ่มหนึ่ง และอีกสองกลุ่มเป็นสังคมที่สืบสายตระกูลข้างบิดา(patrilineal) ผู้ชายมีอำนาจปกครอง(patriarch)

Theoretical Issues

ผู้ศึกษามีสมมุติฐานว่า สังคมละว้า(Lawa)เปลี่ยนแปลงจากสืบสายตระกูลข้างมารดาไปสู่การสืบสายตระกูลข้างบิดา (น.207) และในอดีตละว้าเคยเป็นรัฐ(state)มาก่อน ผู้ศึกษานี้ได้เสนอแนวความคิด the traditional Asiatic confederation ซึ่งเป็นระบบรัฐสมาพันธ์แบบหลวม(a loosely-knit system of confederation state)ในการอธิบายการก่อรูปรัฐของละว้าดั้งเดิม โดยมีระบบความเชื่อการสืบสายตระกูลข้างมารดาเป็นศูนย์กลาง(matri-centred belief system) (น.266-267) ในการศึกษา ผู้ศึกษาใช้การวิจัยแบบ synchronic research และวิธีการศึกษาแบบ diachronical approach ผสมกัน ด้วยการศึกษาสังคมละว้าหน่วยเล็ก(ระดับจุลภาค)ในกรอบกว้างของระบบท้องถิ่นขนาดใหญ่โดยเน้นที่ประวัติศาสตร์และการปกครอง(น.266)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธ์ที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรในประเทศไทยและในยูนนาน ประเทศจีน ได้แก่ ลัวะในจังหวัดน่านที่บริเวณชายแดนไทย-ลาวในเขตอำเภอทุ่งช้างและอำเภอปัว จำนวน 12 หมู่บ้าน ลเวือะ(Laveue)ในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน และว้าลานชาง(Wa of Lanchang)ในยูนนาน ประเทศจีน

Language and Linguistic Affiliations

ผู้ศึกษาเห็นว่า ภาษาพูดของลัวะจังหวัดน่าน ลเวือะในภาคเหนือของไทย และว้าในยูนนานอยู่ในตระกูลย่อยตระกูลเดียวกันคือ กลุ่มย่อยปะหล่อง-ขมุ(Palaungic-Khmuic sub-group)ของกลุ่มตระกูลมอญ-เขมร( Mon-Khmer Language family) โดยภาษาพูดของลัวะอยู่ในสาขาภาษามัลหรือขมุ(Mai languages or Khmuic) ส่วนภาษาของลเวือะและว้าอยู่ในสาขาภาษาว้า(Wa languages or Paluangic) (น.17)

Study Period (Data Collection)

ผู้ศึกษาดำเนินการเก็บข้อมูลภาคสนามหลายระยะ ดังนี้ ระหว่าง ค.ศ.1977-1982 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ศึกษาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านลัวะ จังหวัดน่าน ค.ศ. 1986 และ ค.ศ.1988 เก็บข้อมูลลัวะ ที่ทุ่งช้าง-ปัว จังหวัดน่าน ค.ศ.1988 เก็บข้อมูลว้ายูนนาน(the Wa of Yunnan)ที่ Lanchang District กับปะหล่องเมืองไฮ(the Palaung of Muang Hai) ในประเทศจีน และลเวือะ(Laveue)ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กับลัวะที่ถูก”กลืน” ในอำเภอแม่ริมและอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ (น.19-22)

History of the Group and Community

ประวัติชุมชนลัวะจังหวัดน่าน ลัวะส่วนมากอาศัยอยู่ในบริเวณเขต “อ่อนไหว”(the so-called ‘sensitive’ area) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพภาคที่ 3 แต่ก็มีหมู่บ้านลัวะจำนวนน้อยที่ถูกผลักดันให้เคลื่อนย้ายลงมาตั้งชุมชนใหม่ในพื้นราบที่ป่ากลาง(Paa Klang) ลัวะเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ลัวะส่วนมากได้รับอิทธิพลจากปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้น หากในทางราชการมีหมู่บ้านลัวะเพียง 12 หมู่เท่านั้นที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารระบุว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ลัวะกลุ่มนี้เข้าร่วมกับพรรคคอมิวนิสต์ต่อต้านรัฐบาลระหว่าง ค.ศ.1965- ค.ศ.1982 ตั้งเขตอิสระปลดปล่อยตนเองภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ระหว่าง ค.ศ.1980- ค.ศ.1982 เขตพื้นที่ของพวกเขาทั้งทางเหนือและทางใต้ของจังหวัดน่านได้ถูกโจมตีหนักทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศ(น.49) สำหรับหมู่บ้านที่ศึกษานี้ อยู่ในอำเภอทุ่งช้างและปัว เป็นเขตพื้นที่อิสระปลดปล่อยตนเองเขตที่ 4 ในช่วงที่ผู้ศึกษาเข้าไปครั้งแรกนั้นมีหมู่บ้าน 12 หมู่ แต่ในปี ค.ศ.1986 กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้งใหม่(re-settle)เป็นหมู่บ้าน”ทหาร”(military ‘registered’ villages) 6 หมู่ (น.51)

Settlement Pattern

ลักษณะบ้านเรือนลัวะ เรือนของลัวะที่ทุ่งช้าง-ปัวมีทั้งเรือนสั้นที่มีครอบครัวอาศัยอยู่ไม่กี่ครอบครัวและเรือนยาว(long-house)ที่มีครอบครัวหลายครอบครัวของตระกูลอยู่ร่วมกัน จากการเก็บข้อมูลผู้ศึกษาพบว่า ในพื้นที่ทุ่งช้าง-ปัวใกล้ชายแดนลาว มีหมู่บ้าน 3 แห่งที่สร้างเรือนยาว ได้แก่ บ้านห้วยทูน(Huay Thoon) บ้านป่ากาน(Paa Kan) และบ้านน้ำแค(Nam Khae) (น.78) หมู่บ้านห้วยทูน(Huay Thoon)มีกลุ่มบ้าน 2 กลุ่ม (hamlet) เป็นเรือนยาว 11 หลัง มีครอบครัวอาศัยในเรือนเหล่านั้น 79 ครอบครัว จำนวนประชากรทั้งหมด 346 คน(น.79) เรือนของหัวหน้ากลุ่มตระกูลตั้งอยู่ที่ลาดเขาด้านหน้าหมู่บ้าน ตัวเรือนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บนหลังคาทั้งสองด้านมี “กาแล”(“kaalae”)ทำจากไม้แกะสลัก ใต้ถุนเรือนมีกองฟืนอยู่ใต้ห้องนอนของครอบครัวแต่ละครอบครัว และเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ หมูและควาย(น.80-81) พื้นที่บนเรือนประกอบด้วยโถงกลางบ้าน มีเตาไฟที่ใช้หุงข้าวสำหรับสมาชิกทุกครอบครัวในเรือน โถงกลางบ้านใช้เป็นที่รับแขกและสำหรับหญิงสาวในเรือนพูดคุยกับชายหนุ่มที่มาเยือน รวมทั้งใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีเกี่ยวกับการเพาะปลูกและพิธีการฉลองปีใหม่ (น.81) ถัดจากห้องโถง พื้นที่ซ้าย-ขวาของเรือนจะเป็นห้องนอนของครอบครัวแต่ละครอบครัว ระหว่างแถวห้องนอนซ้าย-ขวาเป็นทางเดิน สุดทางเป็นห้องนอนของหัวหน้าตระกูล ซึ่งเป็นห้องนอนที่ใหญ่สุด ภายในมีเตาผีสำหรับทำพิธีที่เกี่ยวกับผีบรรพบุรุษและมีไหเหล้าที่เป็นสัญลักษณ์ตระกูล(pyut kao or a clan liquor jar) สำหรับในห้องนอนของแต่ละครอบครัวมีเตาไฟทำอาหารสำหรับครอบครัวแต่ละครัว ไม่ร่วมเตากันเช่นการหุงข้าว ห้องนอนทุกห้องจะมีแต่ประตูเข้าห้อง ไม่มีหน้าต่าง ทางขึ้นเรือนมีเฉพาะบันไดที่หน้าเรือนเท่านั้น ลัวะไม่อนุญาตให้คนนอกผีตระกูลค้างคืนในบ้าน เฉพาะคนในผีตระกูลเดียวกันเท่านั้นที่ค้างคืนได้ คนนอกต้องไปพักค้างคืนในกระท่อมเล็กที่อยู่ใกล้เรือนหรือเขตหมู่บ้าน (น.83)

Demography

ประชากรลัวะจังหวัดน่าน จากรายงานปี ค.ศ.1988 ของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย จังหวัดน่านมีหมู่บ้านถิ่น(Thin) ซึ่งผู้ศึกษาเรียกว่าลัวะ(Lua) 146 หมู่ จำนวนประชากร 28,516 คน กระจายอยู่ใน 7 อำเภอ (น.49) ทั้งนี้มีลัวะอยู่ในอำเภอปัวมากที่สุด 109 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 20,079 คน (น.90) ส่วนหมู่บ้านเป้าหมายในการศึกษานี้ 12 หมู่ในเขตอำเภอทุ่งช้างและปัว จากการเก็บข้อมูลของผู้ศึกษาปี ค.ศ.1986 มีจำนวนประชากรประมาณ 2,000 คน (น.49) ประชากรว้า จำนวนประชากรว้าในยูนนาน ประเทศจีนมี 318,000 คน (น.202) พูดภาษาถิ่น 4 ภาษาได้แก่ Burao, Awa, Awara และ Wa (น.203) Ankhang Xiang ซึ่งประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน มีครัวเรือนทั้งหมด 2,199 ครัวเรือน ประชากร 11,604 คน ซึ่งในจำนวนประชากรทั้งหมดนี้ ว้าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดมีจำนวน 9,132 คน และจากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดนี้ มี 200 ครัวเรือนที่นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนที่เหลือนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่ส่วนมากแล้วเป็นลักษณะนับถือผี(animist)มากกว่า (น.203,249)

Economy

การเพาะปลูกของลัวะ เป็นการเพาะปลูกแบบไม่ทดน้ำ(dry-field farming) ซึ่งลัวะเรียกว่า ?aeng shae โดยถางเผาที่ดินสำหรับปลูกข้าวบนที่สูง/ข้าวไร่(upland rice crop) ลัวะใช้ที่ดินแบบหมุนเวียน หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว จะพักฟื้นที่ดินโดยทิ้งร้างไว้ระยะหนึ่ง อาจจะ 2-5 ปี หรือ 7-12 ปี ระหว่างนั้นจะใช้ที่ดินผืนอื่น เมื่อครบกำหนดแล้วจึงกลับมาใช้ที่ดินผืนเดิม ซึ่งผู้ศึกษากล่าวว่า แบบแผนการเพาะปลูกเช่นนี้ลัวะปฏิบัติมาหลายร้อยปีแล้ว (น.54-55) อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพบว่า ลัวะที่จังหวัดน่านปลูกข้าวทั้งแบบไม่ทดน้ำ(dry farming)และแบบทดน้ำ(wet farming) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน ลัวะที่อยู่เชิงเขาใกล้ที่ราบจะปลูกข้าวทดน้ำ ลัวะที่อยู่สูงขึ้นมาจะปลูกทั้งข้าวไร่และข้าวทดน้ำ แต่เนื่องส่วนใหญ่ลัวะอยู่บนที่สูง จึงปลูกข้าวไร่มากกว่าข้าวทดน้ำ (น.65) ผลผลิตข้าวของลัวะเพียงพอแค่ยังชีพเท่านั้น ถ้าครัวเรือนใดมีข้าวเพียงพอก็จะขายให้หมู่บ้านใกล้เคียงที่ผลผลิตไม่พอบริโภค (น.66) ลัวะที่อยู่บนภูเขาในจังหวัดน่านส่วนใหญ่ปลูกข้าวได้ผลผลิตไม่เพียงพอ บางปีเกิดภัยธรรมชาติ พวกเขาต้องหาขุดหัวมันป่ามากิน หรือนำข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงหมูหรือเมล็ดข้าวโพดที่เก็บเป็นเมล็ดพันธุ์มากินแทน (น.67) การเพาะปลูกของลเวือะ ละเวือที่แม่แจ่มเพาะปลูกแบบถางเผา(swidden cultivation) ใช้ที่ดินแบบหมุนเวียน(rotation of land-use)ร่วมกันในหมู่สมาชิกของตระกูล(น.195)

Social Organization

ระบบสังคมของลัวะ สังคมลัวะเป็นสังคมที่สืบสายตระกูลและนับถือผีบรรพบุรุษข้างมารดา มีหัวหน้ากลุ่มตระกูล(chieftain)เรียกว่า เจ้ากก(Cao Kok) ซึ่งสืบทอดกันในสายตระกูลและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เมื่อเจ้ากกอายุมากจะตั้งลูกหลานผู้หญิงในสายตระกูลข้างแม่เป็นเจ้ากกคนใหม่ดูแลคนในตระกูล ปกติเป็นลูกสาวคนโต ถ้าไม่มีลูกหลานผู้หญิงสายตรงก็อาจจะตั้งผู้ชายก็ได้ สัญลักษณ์การเป็นหัวหน้ากลุ่มตระกูลคือ ไหเหล้า(matrineal liquor jar) ซึ่งส่งมอบต่อกันมาตามรุ่นผู่นำ (น.76-77) ในกรณีที่หัวหน้ากลุ่มตระกูลเป็นผู้ชาย แล้วแต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นหัวหน้ากลุ่มตระกูลในหมู่บ้านอื่น การเป็นหัวหน้ากลุ่มตระกูลของผู้ชายจะสิ้นสุดลง ผู้หญิงที่เป็นทายาทแต่งตั้งจะเข้ามาควบคุมผีของหัวหน้ากลุ่มตระกูล ตามกฎการสืบทอดนี้ ทรัพย์สินทั้งหมดและสิทธิพิเศษของผู้ชายที่เป็นหัวหน้ากลุ่มตระกูลจะตกเป็นของผู้หญิงโดยปริยาย (น.77) ตระกูลต่างๆที่อยู่ในชุมชนมีฐานะไม่เท่าเทียมกัน แต่ละตระกูลมีสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่เท่ากัน สังคมลัวะแบ่งลำดับชั้นของตระกูลออกเป็น 3 ระดับ(น.71) คือ 1. ตระกูลใหญ่(the big clan) ปกติเป็นครอบครัวขยาย ที่มีเป็นเจ้าของที่นามากกว่าหนึ่งแห่งและเป็นเจ้าของน้ำเต้า(gourd)มากกว่าสิบใบ ตระกูลใหญ่นี้ใช้แหล่งน้ำและจับปลาได้ แต่ยังต้องถูกเกณฑ์แรงงานทำงานในไร่นาของหัวหน้ากลุ่มตระกูลของพวกเขา 2. ตระกูลของผู้นำทางพิธีกรรม(the ritual leader’s clan) มีสิทธิพิเศษเหนือแหล่งน้ำและปลา 3. ตระกูลใหญ่สุด(the super clan) เป็นตระกูลของหัวหน้ากลุ่ม(chieftain) มีอภิสิทธิ์ที่สุดในการเลือกใช้ที่ดิน แหล่งน้ำและปลา รวมทั้งการเกณฑ์แรงงานจากสมาชิกวัยผู้ใหญ่ของทุกตระกูลที่อยู่ในชุมชน ลัวะบ้านห้วยทูนเรียกหัวหน้าชุมชนเรือนยาวว่า Mae Kao (เป็นคำไทยหมายถึง “source mother”) หรือ Maroong (เป็นคำลัวะหมายถึง the “clan mother of highest authority”) หรือ Mae Cong (เป็นคำลัวะหมายถึง “grand mother”)ซึ่งเป็นตำแหน่งทางสังคมที่สูงที่สุด (น.80) ระบบสังคมของลเวือะ สังคมลเวือะเป็นสังคมที่สืบสายตระกูลข้างบิดา ผู้ชายเป็นหัวหน้าตระกูลและหัวหน้าครอบครัว ผู้ศึกษาพบว่า กลุ่มหมู่บ้านลเวือะที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนแบ่งย่อยออกเป็นตระกูลต่างๆ ซึ่งคนลเวือะเรียกว่า mo ?e/mu ?ae หมายถึง การเป็นกลุ่มพวกเรา หรือการอยู่ในตระกูลเดียวกัน (น.189) นอกจากนั้นผู้ศึกษายังพบว่า กลุ่มบ้านลเวือะ 3 กลุ่ม(hamlets)ที่แม่แจ่มเหนือ และหมู่บ้านหนึ่งแห่งที่แม่แจ่มใต้ มีวิธีต่างกันหลายวิธีในการเรียกขานกลุ่ม(addressing Laveue groups) ที่แม่แจ่มเหนือ Samang จะอยู่ที่กลุ่มบ้านขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งผู้ศึกษาเห็นว่าอาจจะเป็นศูนย์รวมของชุมชนลเวือะในอดีต ในกลุ่มบ้านนี้มีลเวือะ 3 ตระกูล กะเหรี่ยงหนึ่งตระกูลอาศัยอยู่ ลเวือะทั้งหมดนี้เป็นพวกที่มีฐานะทางสังคมสูงของสมาชิกในตระกูล Samang ส่วนกลุ่มบ้านอีกสองกลุ่มซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ไม่มี Samang และคำนำหน้าตำแหน่งของตระกูลก็ต่างจากกลุ่มบ้านกลุ่มแรก ซึ่งเรียก Samang และลูกหลานของเขาว่า ”cheue khun” หมายถึง เชื้อสายของผู้ปกครอง ที่กลุ่มบ้านขนาดเล็กนี้ใช้คำ “tdjeung” ซึ่งลัวะจังหวัดน่านหมายถึง บ้าน แทนคำว่า “mo/muu”นำหน้าตระกูล (น.190) ผู้ศึกษาเปรียบเทียบกับลเวือะกลุ่มย่อยที่แม่แจ่มใต้พบว่า ตำแหน่ง mo/muu และ tdjeung ใช้เรียกนำหน้าเพื่อแยกกลุ่ม/ประเภททั้งในแง่ขนาดของเขตแดนหมู่บ้านและจำนวนประชากร การจัดลำดับชั้นตระกูลเช่นนี้เป็นลักษณะเด่นของสังคมลเวือะ ผู้ศึกษากล่าวว่า Obayashi(1964) ซึ่งศึกษาลเวือะที่บ้านละอูบ(Ban La Up) ภาคเหนือของไทย ได้พบการแบ่งชั้นทางสังคมว่ามี 3 ระดับ ได้แก่ (น.191) 1. Samang เป็นกลุ่มที่สืบสายตระกูลมาจากกษัตริย์ละว้าในตำนาน และเป็นผู้ทำพิธีกรรมระดับสูง(highest priest) 2. Lam เป็นกลุ่มผู้ทำพิธีกรรมระดับต่ำ(low priest) 3. Lua เป็นประชาชนธรรมดาทั่วไป samang เป็นตำแหน่งสูงสุดและมีสิทธิเหนือคนอื่น โดยเฉพาะ the big samang จะเป็นคนแรกที่เริ่มต้นการเพาะปลูกทุกขั้นตอน สิ่งสำคัญแรกสุดคือ เลือกที่ดินที่ดีที่สุด นอกจากนั้นเขายังได้รับการยกย่องให้เกียรติจากการปฏิบัติด้วย เช่น ได้ที่นั่งในตำแหน่งที่มีเกียรติ ได้รับเหล้าก่อนคนอื่น ได้รับขาสัตว์หนึ่งขาจากชาวบ้านที่ล่าสัตว์ได้หรือจากการเซ่นไหว้ ได้รับหัวควาย ขาหมูหรือไก่หนึ่งตัวที่ฆ่าในพิธีเซ่นไหว้หมู่บ้าน(น.192-193) ผู้ศึกษาเห็นว่า โครงสร้างสังคมแบบสืบสายตระกูลข้างพ่อของลเวือะในภาคเหนือของไทยแตกต่างจากสังคมลัวะจังหวัดน่านชัดเจน แม้ว่าพวกเขาจะมีวัฒนธรรมร่วมกันก็ตาม ลัวะจังหวัดน่านไม่มีหอกลองหรือหอผี ผู้ชายลัวะไม่มีอำนาจเมื่อเปรียบเทียบกับ Samang ของลเวือะ ขณะที่ตำแหน่ง Samang ของลเวือะก็มีอำนาจทั้งในหมู่บ้าน และเป็นศูนย์รวมประชากรในหมู่บ้านทั้งหมดด้วย (น.197-198) Samang ใช้อำนาจทั้งในอาณาเขตวิญญาณและอาณาเขตการปกครอง((the spiritual and political domain) มีอำนาจในทุกกิจกรรมและปกครองทุกตระกูลในหมู่บ้าน ส่วน Maeroong หรือ Mae Kao ของลัวะเมืองน่าน ใช้อำนาจในอาณาเขตวิญญาณและภายในครัวเรือนเท่านั้น (น.193) ระบบตระกูลของว้ายูนนาน ปัจจุบันว้ามี 25 ตระกูล ซึ่งแตกออกมาจากตระกูลใหญ่(super-clan) 5 ตระกูลในอดีต ได้แก่ Ta Wa, Ta Soe, Ta Gam, Ta Grong และ Tha Nang ตระกูลใหญ่ เมื่อก่อนนั้นสามตระกูลแรกได้ปกครองเชียงตุง(Chiang Tung) ส่วนตระกูล Ta Grong ปกครองเมือง Angwa และตระกูล Tha Nang ปกครองเมือง Xi-meng กับเมืองว้าอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในยูนนาน(น.205) ในตระกูลใหญ่ทั้งห้าตระกูล มีเพียงตระกูล Tha Nang เท่านั้นที่สืบสายตระกูลข้างมารดา นอกนั้นสืบสายตระกูลข้างบิดา ในตระกูล Tha Nang ผู้หญิงที่สำคัญที่สุด คือ Yie Phaa ซึ่งปกครองดินแดนของ “เสาหินเสาผา - Sao Hin Sao Phaa” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดซึ่งในอดีตเป็นศูนย์กลางของซีเมงว้า(Xi-meng Wa) ปัจจุบันอยู่ในพรมแดนพม่า ตามความเชื่อว้า “เสาหินเสาผา” เป็นสถานที่กำเนิดบรรพบุรุษว้า เรียกว่า Sikang Lih หมายถึง ถ้ำที่มนุษย์เกิด (น.206) แม้ปัจจุบันจะไม่สามารถเชื่อมโยงคนว้าในยูนนานกับตระกูลใหญ่ต้นกำเนิดได้ แต่ก็พบร่องรอยตระกูลที่สืบสายเลือดข้างบิดา 7 ตระกูลใหญ่(major clan)ในเมือง Ankhang ได้แก่ Sne, Yong Gwung, Sa Soe, Kon kweul, Kon Kweul-aet, Yong Kang และ Sa Gul (น.206-207) ว้ายูนนานไม่มีตระกูลผู้นำเหมือนลเวือะในภาคเหนือของไทย แต่ก็มีแบบแผนการจัดลำดับชั้นเหมือนกัน ในหมู่ตระกูลว้าทั้งหมดในยูนนาน Sne เป็นตระกูลที่ปกครองท้องถิ่นว้าทุกแห่งเช่นเดียวกับ ตระกูล Samang ของลเวือะในตะวันตกเฉียงเหนือของไทย ผู้ศึกษาเห็นว่า ลักษณะแบบแผนนี้บ่งชี้ถึงระบบการปกครองที่รวมศูนย์ชุมชนว้าทั้งหมดในบริเวณ A-Wa San ยิ่งไปกว่านั้น การจัดลำดับชั้นในหมู่ตระกูลว้าซับซ้อนและแบ่งแยกลำดับชั้นมากกว่าลเวือะ ถ้าเปรียบเทียบกับลัวะเมืองน่านจะเห็นว่า ตระกูลลัวะที่สืบสายเลือดข้างมารดาไม่มีตระกูลผู้ปกครองโดยเฉพาะ ตระกูลผู้นำในชุมชนลัวะมีชื่อตระกูลต่างกัน และการแบ่งแยกชั้นทางสังคมของลัวะเมืองน่านก็ซับซ้อนน้อยกว่าลเวือะและว้า(น.207) ชนชั้นทางสังคมของว้า ผู้ศึกษาพบว่า แม้ว่าคนว้าในเขตลานชาง(Lanchang District)จะเป็นเกษตรกรทั้งหมด แต่พวกเขาก็รับรู้ถึงลำดับชนชั้นในสังคมของตน ซึ่งมีทั้งหมด 4 ลำดับ ดังนี้ (น.253-254) 1.Cu mii เป็นพวกที่มีฐานะดีมีทรัพย์สินส่วนตัวจำนวนมาก เช่น ที่ดิน ฝูงวัว และเงินให้กู้ยืม ปกติชนชั้นนี้จะมีเด็กที่รับเลี้ยงดู(fostered children)และมีทาส ในอดีตสมาชิกของ Cu mii ทั้งหมดไม่ได้อยู่ในตระกูล Sane แต่คนในตระกูล Sane ทั้งหมดเป็นคนในชนชั้นนี้ 2. Khuu phuu mii มีสถานภาพปานกลาง เป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนตัวจำนวนหนึ่ง รวมทั้งที่ดิน ฝูงวัว ทาส ส่วนเงินให้กู้ยืมมีเป็นบางราย คนชนชั้นนี้มีความชำนาญพิเศษบางอย่าง ได้แก่ ผู้ทำพิธีกรรม ช่างเหล็ก ช่างเงิน และช่างปั้นหม้อ 3. Phuu chaa เป็นกลุ่มที่มีสถานภาพต่ำ เป็นคนจน ไม่มีทรัพย์สินที่ค่าสูงเป็นของตนเอง ไม่มีทาสในครอบครอง และบางก็กลายเป็นทาสเอง โดยการขายตัวเองหรือถูกพ่อแม่ขาย 4. Luuk liang/Kuan liang เป็นกลุ่มที่มีฐานะต่ำสุด ไม่มีสิทธิในตัวเอง พวกเขาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของกลุ่มชนชั้นสูงกว่า พวกเขาเป็นสมาชิกของตระกูลที่เป็นเจ้าของตัวเขาโดยผ่าพิธีกรรม ผู้ศึกษาเห็นว่ากลุ่มทางสังคมทั้ง 4 กลุ่มมีความสัมพันธ์กับสังคมว้าที่ถูกเรียกว่า”ดั้งเดิม”(the so-called primitive Wa society) และเชื่อว่า กลุ่มทางสังคมและความสัมพันธ์ทางสังคมนี้ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่ที่เครือญาติหรือตระกูล แต่เป็นผลของความสัมพันธ์ในการผลิตที่ก้าวไปไกลกว่าสังคม”ดั้งเดิม(the stage 0f “primitive” society) และการก่อรูปชนชั้นระยะแรก (น.254) การแต่งงานในสังคมลัวะ ผู้หญิงเป็นฝ่ายเริ่มต้นความสัมพันธ์แสดงความพอใจ โดยมอบดอกไม้สีแดงหรือของขวัญเล็กๆแก่ผู้ชายเพื่อนัดพบ รวมทั้งเป็นฝ่ายบอกแต่งงานกับผู้ชาย เมื่อหญิงชายตกลงใจเป็นสามีภรรยากัน พวกเขาจะบอกให้พ่อแม่ของตน ถ้าพ่อแม่เห็นด้วย พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะขอให้คนที่เป็นที่นับถือของหมู่บ้านเป็นตัวแทนไปพูดจากับพ่อแม่ฝ่ายชายซึ่งลัวะเรียกว่า “khoe ngo” หมายถึง ขอลูกเขย พิธีจะจัดที่บ้านเจ้าสาว ในวันแต่งงานก่อนจะเข้าพิธีที่บ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องทำพิธี”ตัดผี”ที่บ้านของตนก่อน โดยไหว้ผีบรรพบุรุษข้างแม่เพื่อขออนุญาตเปลี่ยนมาเข้าผีบรรพบุรุษของเจ้าสาว พิธีสำคัญที่สุดในงานแต่งคือ การไหว้ผีบรรพบุรุษของเจ้าสาวเพื่อขออนุญาตให้เจ้าบ่าวเข้ามาอยู่ในตระกูลเจ้าสาว หลังการแต่งงานสามีต้องมาอยู่กับบ้านภรรยา การแต่งงานในสังคมลัวะไม่มีสินสอดสำหรับเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะนำเหล้าและไก่มาไหว้ผีบรรพบุรุษของเจ้าสาว ส่วนครอบครัวเจ้าสาวนำหมู ถ้าฐานะดีก็ใช้ควาย ไหว้ผีบรรพบุรุษ หลังจากไหว้แล้ว ก็นำหมูหรือควายนั้นมาทำอาหารและแจกให้แก่ญาติเจ้าสาวและคนที่มาร่วมงาน (น.74-75) ลัวะมีข้อห้ามมิให้คนในผีตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน ถ้าฝ่าฝืนทั้งสองคนจะถูกตำหนิและถูกขับออกจากหมู่บ้าน และถ้ามีการหย่าร้างกัน ลูกจะอยู่กับแม่ (น.76) การแต่งงานในสังคมลเวือะ เจ้าสาวต้องมาจากต่างตระกูล เมื่อแต่งงานผู้หญิงจะออกจากตระกูลพ่อของตนมาสู่ตระกูลของสามี ผู้หญิงจะอยู่ภายใต้อำนาจตระกูลของสามีโดยเด็ดขาด และถูกตัดขาดจากตระกูลเดิมโดยสิ้นเชิง ผู้หญิงไม่มีตำแหน่ง/สถานะใดๆในพิธีกรรมหรือความเป็นผู้นำทางสังคม เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถปฏิบัติพิธีกรรม ในตระกูลมีผู้นำทางพิธีกรรมเป็นผู้ปฏิบัติพิธี ผู้หญิงเป็นเพียงผู้ช่วย อย่างไรก็ดี ผู้หญิงสูงอายุจะได้รับความเคารพอย่างสูงในสังคม หลังการแต่งงานคู่แต่งงานจะตั้งถิ่นฐานอยู่ข้างบิดาของฝ่ายชาย(patrilocal residence) การอาศัยอยู่ข้างแม่ของฝ่ายหญิง(matrilocal/uxorilocal residence)จะเกิดขึ้นในกรณีที่เจ้าสาวเป็นลูกคนเดียวหรือพ่อแม่ของเธอไม่มีลูกชาย เด็กที่เกิดในครัวเรือนเป็นของตระกูลข้างพ่อ สำหรับกรณีเด็กกำพร้าจะเป็นสมาชิกในเรือนได้ต้องอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเรือนนั้น การเป็นผู้นำในตระกูลจะสืบทอดจากพ่อไปสู่ลูกชาย ถ้าไม่มีลูกชาย น้องชายของพ่อหรือลูกชายคนโตของน้องชายพ่อจะสืบทอดตำแหน่งแทน(น.195)

Political Organization

กบถผีบุญ (Phii Bun Revolt) เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวของลัวะเมืองน่าน เกิดขึ้นเมื่อปลายปี ค.ศ.1964 และต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1965 ซึ่งผู้ศึกษาเห็นว่าแสดงถึงจิตสำนึกร่วมของการเป็นกลุ่มในระบบสังคมลัวะที่มีมานานแล้ว กระบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือรับอิทธิพลความคิดลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีการจัดระบบกองกำลังเป็นระเบียบ มีตำแหน่ง “นายสิบ”สำหรับคุมกำลังพลสิบคน “นายซาว”คุมกำลังยี่สิบคน และ”นายร้อย”คุมกำลังหนึ่งร้อยคน ทั้งยังมีรหัสและสัญญาณเฉพาะใช้ด้วย (น.152-153) หมู่บ้านแต่ละหมู่มีนักสวด(preacher)หนึ่งคนได้รับแต่งตั้งให้ประสานการประชุมเพื่อพูดคุยและทำพิธีกรรม นักสวดทุกคนต้องไปกองบัญชาการใหญ่ที่ห้วยขี้มิน(Huay Khii Min)เป็นประจำเพื่อรับคำสั่งจากผู้นำสูงสูด คือ ปู่วง(Puu Wong) ซึ่งมาจากลาว แต่ได้แต่งงานกับหญิงลัวะที่หมู่บ้านนี้ กระบวนการเคลื่อนไหวนี้สิ้นสุด เมื่อปู่วงและผู้ติดตามรวมทั้งลูกชายและลูกเขยถูกจับในข้อหา “คอมมิวนิสต์” ปู่วงตายในเรือนจำน่าน ส่วนลูกชายและลูกเขยถูกปล่อยในเวลาต่อมา ส่วนภรรยาปู่วง คือ Mae Phoeng รวมทั้งลูกสาวและลูกสะใภ้ หลังจากสามีถูกจับ ก็ได้เข้าร่วมกับกองกำลังคอมมิวนิสต์และใช้ชีวิตในฐานปฏิบัติการน่านตั้งแต่ ค.ศ.1966-1982 และเมื่อฐานกำลังที่น่านถูกทำลายลง Mae Phoeng ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในฐานกำลังได้เป็นผู้ตัดสินใจและลงนามสัญญาสันติภาพกับกองทัพภาคที่ 3 (น.154-155) ว้ายูนนาน ก่อนสมัยเสรี(liberation) ใน Meng Lwa Ankhang แต่ละหมู่บ้านมีผู้นำ 5 คนทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน แต่ละคนมีตำแหน่งและหน้าที่ต่างกันดังนี้ 1. Cao Kyo/ Kroh/ Kyok (the master of drum) เป็นผู้นำการสู้รบ มีอำนาจสูงสุดในหมู่บ้านและในคณะกรรมการในการตัดสินใจประกาศสงครามกับศัตรู มีหน้าที่ทางพิธีกรรม 3 อย่าง คือ หนึ่ง นำของไปเซ่นไหว้ผีหมู่บ้าน(muj) ซึ่งหน้าที่นี้ทำให้เขาถูกเรียกว่า Cao Muj ในบางครั้ง สอง เสี่ยงทายกระดูกไก่ว่าจะทำวงครามหรือไม่ และสาม ตีกลองเรียกคนเข้าร่วมรบ ตำแหน่งนี้สืบทอดจากพ่อไปยังลูกชายคนโต(น.256-257) 2. Cao Pyong/ Prong (The Ritual Leader) เป็นผู้นำทางพิธีกรรม เป็นคนในตระกูลผู้นำ มีสถานภาพสูงสุดในบรรดาผู้ทำพิธีกรรม มีความสำคัญมากในพิธีไหว้ผีหมู่บ้าน ผู้นำการสู้รบไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางพิธีกรรมได้ ถ้าไม่มี Cao Pyong หลังจากผู้นำทางพิธีกรรมทำพิธีไหว้ผีหู่บ้านสำหรับตระกูลผู้นำแล้ว ผู้ทำพิธีกรรมคนอื่นๆจึงสามารถประกอบพิธีสำหรับตระกูลอื่นได้ ผู้นำทางพิธีกรรมไม่ได้มีอำนาจในทางพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องทางโลกด้วย เป็นผู้ตัดสินกรณีความขัดแย้งในหมู่บ้าน ปกติ Cao Pyong เป็นผู้อาวุโสสุดในหมู่บ้าน จึงเรียกเขาว่า Taa Pyong เมื่อเขาเสียชีวิต ลูกชายคนโตจะสืบทอดตำแหน่งแทน (น.257) 3. Cao Pii/ Phii (the Ritual Practitioner) เป็นผู้ปฏิบัติพิธีกรรม ในหมู่บ้านมีได้หลายคน มีฐานะต่ำกว่าผู้นำทางพิธีกรรม และอาจไม่ได้เป็นคนในตระกูลผู้นำ แต่ก็มีฐานะสูงกว่าธรรมดาทั่วไป ได้รับการเคารพจากคนทั่วไปในฐานะผู้รู้ของสังคมที่มีความชำนาญและความรู้ที่คนทั่วไปไม่มี นอกจากพิธีไหว้ผีหมู่บ้านแล้ว ยังทำพิธีกรรมครัวเรือนในชีวิตประจำวันให้คนทั่วไป ตำแหน่งนี้ไม่ได้สืบทอดตามสายตระกูล แต่ได้รับตำแหน่งโดยการยอมรับของประชาชน (น.257-258) 4. Cao Cen/ Taa Guit (the Treasurer or Public Financial Officer) เป็นผู้รับผิดชอบในการนำชาวบ้านประกอบพิธีไหว้ผีหมู่บ้าน หน้าที่ทางพิธีกรรมนี้ทำให้เขามีสิทธิเริ่มเพาะปลูกก่อนคนอื่น สามารถใช้แรงงานสมาชิกหมู่บ้านเพาะปลูกในที่ดินของเขา อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความต้องการเงินบริจาค เขาต้องจัดหาเงินให้ก่อนคนอื่น ปกติเขามีหน้าที่เก็บรวบรวมอาหาร เก็บตุนข้าวและเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับส่วนรวม รวมทั้งรวบรวมเงินสำหรับการใช้จ่ายทั่วไปของหมู่บ้าน ภาพลักษณ์ของ Cao Cen เป็นคนมีเงิน พูดจาไพเราะและประนีประนอม ตำแหน่งนี้สืบทอดตามสายตระกูล (น.2548) 5. Pan Pao the Herald) ตำแหน่งนี้สืบทอดตามสายตระกูลเช่นกัน มีหน้าที่ป่าวประกาศเรื่องสำคัญแก่ชุมชน เป็นโฆษกของคณะกรรมการ และเป็นผู้ช่วยผู้นำทางพิธีกรรมในการตัดสินโดยการแจ้งการลงโทษ (น.258)

Belief System

พิธีกรรมความเชื่อของลัวะเมืองน่าน ลัวะเชื่อว่า สิ่งของสำคัญทุกอย่างในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมี”พลังวิญญาณ”(soul force) นอกจากผีแห่งป่าและผีแห่งทุ่งนาแล้ว พวกเขายังนับถือผีบรรพบุรุษ เรียกว่า pyong/prong tdieung หมายถึง ผีบ้าน(spirits of the house) (น.50,90) อย่างไรก็ดี จากพิธีกรรมในกระบวนการผีบุญของลัวะ ผู้ศึกษาเห็นว่า แสดงถึงความคิดอุดมคติทางศาสนาของลัวะที่ต่างจากความคิดเรื่องขบวนการพระศรีอารย์ในทางพุทธศาสนา(Buddhist millenarianism) และอาจบ่งชี้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวดั้งเดิมที่มีระบบความเชื่อท้องถิ่นลัวะเป็นพื้นฐาน ในช่วง 7 เดือนที่มีกระบวนการผีบุญ ลัวะทำพิธืเซ่นไหว้ผี “p’?aeng prons” และทำพิธีสู่ขวัญเพิ่มพลังวิญญาณให้ร่างกาย ขณะเดียวกันก็ทำพิธี initiation ceremony ให้คนใหม่ที่เข้าร่วมกระบวนการผีบุญ จะฆ่าไก่เซ่นไหว้และผูกด้ายสีแดงที่ข้อมือของพวกเขาอันเป็นการประกาศว่าจะมีความสุข 7 ปี (น.153) ผู้ศึกษาเห็นว่า ลัวะใช้พิธีไหว้ผีและการสู่ขวัญเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของลัวะ(น.154) การไหว้ผีบรรพบุรุษของลเวือะ ลเวือะเรียกผีบรรพบุรุษของตระกูลว่า phi sapaign แต่ละตระกูลในหมู่บ้าน มีหอกลอง(the drum-house)ของตระกูลตั้งอยู่ที่ทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งสมาชิกของตระกูลมาปฏิบัติพิธีกรรมร่วมกันปีละหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้น หอกลองนี้เป็น”หอผีบรรพบุรุษ”(‘ancestral spirit-house’) ซึ่งเรียกว่า ”tuup phi sapaign “ ใช้ในพิธีฉลองหมู่บ้าน ที่หอผีนี้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่เข้าไปทำกิจกรรมได้ ครัวเรือนที่อยู่ตระกูลเดียวกันทุกครัวเรือนจะนำไก่หนึ่งตัวมาไหว้ที่หอผีหรือหอกลองทุกปี และทุก 2 ปีจะนำสุนัขมาเซ่นไหว้ และทุก 3 ปีจะนำควายมาเซ่นไหว้โดยสมาชิกทุกครัวเรือนในตระกูลจะร่วมกันจ่ายเงินสำหรับทำพิธี ในการประกอบพิธีจะมีผู้นำทางพิธีกรรมของตระกูลซึ่งเรียกว่า “lama” เป็นผู้ทำพิธี ทั้งนี้ Samang จะเริ่มก่อน แล้วจึงตามด้วยตระกูลอื่นที่มีลำดับชั้นรองลงมา ได้แก่ ตระกูลที่มีตำแหน่ง Mo/Muu และ Tdjeung ตามลำดับ ซึ่งผู้ศึกษากล่าวว่า แบบแผนการปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกับว้าในยูนนาน (น.193-194) ความเชื่อของว้ายูนนาน ว้าที่ลานชางยังคงปฏิบัติตามประเพณีความเชื่อและพิธีกรรมดั้งเดิม เรียกผีเรือนว่า phi miang เรียกผีหมู่บ้านว่า phi moj/ muj/ mut เรียกผีป่าว่า phi khao เรียกคนทรงว่า cao phi (น.203) ผู้ศึกษาแบ่งผีในระบบความเชื่อของว้าออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับเรือน ได้แก่ ผีเรือน – miang/ meng ซึ่งเชื่อว่า เป็นบรรพบุรุษของสมาชิกในตระกูลเดียวกัน ผีเรือนจะอยู่ที่เสาเอกของเรือน มีหิ้งผีอยู่ด้านซ้ายของเสา การไหว้ผีเรือนทำปีละครั้งในวันตรุษจีน (น.254-255) 2. ระดับหมู่บ้าน ได้แก่ ผีหมู่บ้าน – muj/ mot เป็นผีที่ก่อตั้งหมู่บ้าน ซึ่งอาจจะไม่รู้ว่าตระกูลใดเป็นผู้ก่อตั้ง ในพิธีไหว้ผีหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านเป็นให้ของผู้เซ่นไหว้ และผู้นำทางพิธีกรรมเป็นผู้ประกอบพิธี

Education and Socialization

ไม่มี

Health and Medicine

ไม่มี

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มี

Folklore

เรื่องเล่าศึกม่าน (Suek Maan) เป็นเรื่องเล่าของลัวะ ผู้ศึกษาเห็นว่าเรื่องเล่าศึกม่านนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อนานมาแล้ว และต้องเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ลัวะ พวกเขาจึงยังคงจดจำเล่าต่อๆกันมา เนื้อเรื่องมีว่า ม่านยกทัพข้ามภูเขาเข้ามาดินแดนที่อยู่ของลัวะ ลัวะเฝ้าดูด้วยความกลัว ไม่มีอาวุธดีๆสำหรับต่อสู้ พวกเขามีเพียงธนู หอกและมีดสั้น จึงพากันหลบหนีแอบซ่อน ทหารม่านโจมตีลัวะอย่างโหดร้าย แม้แต่หญิงชราและเด็กก็ถูกฆ่า ความโหดร้ายของทหารม่านสร้างความโกรธแค้นเกลียดชังให้กับญาติพี่น้องของลัวะที่ถูกฆ่าอย่างมาก ชายหนุ่มลัวะจึงรวมกำลังกันต่อสู้ทหารม่าน พวกเขาได้ส่งตัวแทนไปท่าวังผาเพื่อทำดาบและอาวุธ และยังได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจที่นั่นด้วย ลัวะต่อสู้กับทหารม่านอย่างกล้าหาญ สามารถทำลายค่ายและขับไล้ทหารม่านออกไปได้ ในการต่อสู้ครั้งนี้ แม้แต่ผู้หญิงลัวะก็ออกรบด้วยความกล้าหาญเช่นกัน เมื่อลัวะมีชัยชนะเด็ดขาด ม่านได้ส่งตัวแทนมาเจรจาโดยตกลงถอยกองทัพม่านออกไปจากดินแดนลัวะ ในการทำศึกม่านครั้งนี้ ลัวะที่เป็นผู้นำการต่อสู้ได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงสุด และได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษเรียกว่า Aaw Wa ส่วนภรรยาของเขาที่ร่วมต่อสู้ด้วยเรียกว่า Mae Wa ทั้ง Aaw Wa และลูกหลานของเขาได้เป็นบรรพบุรุษของผู้ปกครองลัวะต่อมาหลายรุ่น (น.112-113)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร จากการเปรียบเทียบภาษาพูดตามแนวทางภาษาศาสตร์ ผู้ศึกษาสรุปว่า ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรในภาคเหนือของไทยสองกลุ่มใหญ่คือ Lua หรือ Lwa มีความแตกต่างกันบางประการ ประชาชนแต่ละกลุ่มไม่รู้จักกันเพราะการติดต่อระหว่างพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัยทำได้ยาก พวกเขามีประวัติการอพยพต่างกัน ชื่อของพวกเขาที่เจ้าหน้าที่และนักวิชาการตั้งให้ก็ต่างกัน แม้ชื่อชาติพันธุ์ที่พวกเขาเรียกก็ออกเสียงต่างกัน ถึงจะดูเหมือนว่าพวกเขามีที่มาจากแหล่งเดียวกัน หากผู้ศึกษาก็แยกพวกเขาออกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์สองกลุ่ม คือ ลัวะ(Lua) กับลเวือะ(Laveue)(น.181) เกี่ยวกับคำเรียกชื่อกลุ่ม ผู้ศึกษาเห็นว่า คำ”ลัวะ/ละว้า”(Lua/Lawa) เป็นคำดั้งเดิมของคนกลุ่มนี้ที่เรียกตนเอง ไม่เพียงในดินแดนภาคเหนือของไทยเท่านั้น แต่ยังใช้เรียกในดินแดนชายขอบไทย-ยูนนานด้วย คำ “ลัวะ/ละว้า”เป็นคำดั้งเดิม ในตระกูลภาษามอญ-เขมร ดังจะเห็นได้จากการใช้คำนี้เรียกตนเองอย่างกว้างขวางของกลุ่มคนปัจจุบันที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร โดยออกเสียงต่างกันในสถานที่และเวลาต่างกัน ได้แก่ Lawaa/Laawa/Lawa/Lua ในตอนต้นประวัติศาสตร์ล้านนา และออกเสียง Waa/Wa/Laa/La/Lo/Laveue/Aveue ในดินแดนชายขอบไทย-ยูนนานด้านตะวันตก และ Lwa/Lua/Lo veu/Leu/Lavae/Mlua ในชายขอบด้านตะวันออก (น.60) 1. ลัวะ(Lua) เป็นชื่อชาติพันธุ์ที่กลุ่มคนบนภูเขาในบริเวณชายแดนไทย-ลาวในอำเภอทุ่งช้างและปัว จังหวัดน่าน ใช้ระบุตนเองว่าต่างจากคนผู้ยวน(Phuu Yuan) คนลื้อ(Lue) คนขมุ(Khnu) และคนมลาบรี(Mlabri)(น.181) ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเรียกพวกเขาว่า “ถิ่น”(Thin) และกระทรวงกลาโหมเรียกพวกเขาว่า “ลัวะ”(Lua) (น.46) ผู้ศึกษาเห็นว่า”ถิ่น” กับ “ลัวะ” ในจังหวัดน่านเป็นคนกลุ่มเดียวกัน และเชื่อว่า “ลัวะ”เป็นชื่อชาติพันธุ์ที่พวกเขาเรียกตนเองมานานหลายร้อยปีแล้ว ส่วน”ถิ่น”เป็นคำไทยที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรในจังหวัดน่านเมื่อไม่นานมานี้ คำ”ถิ่น”ไม่มีความหมายในภาษาลัวะ แต่ในภาษาไทยหมายถึง คนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน (น.58-59) อย่างไรก็ดี “ถิ่น”บางกลุ่มก็เรียกตนเองว่า “Mal”และ”Prai” ไม่เรียกว่า “ลัวะ” ซึ่งผู้ศึกษาเห็นว่า คำว่า “Mal”และ”Prai” อาจจะเป็นชื่อตระกูลใหญ่ของพวกเขา(super clan) หรือเป็นชื่อกลุ่มเชิงพิธีกรรมที่แยกจากกันนานมาแล้ว (น.61-62) 2. ลเวือะ(Laveue) เป็นชื่อชาติพันธุ์ที่กลุ่มคนบนภูเขาใช้บ่งบอกตนเองว่าต่างจากคนยวน(Yuan)และคนกะเหรี่ยง(Karen) คนกลุ่มนี้อาศัยอยู่บนภูเขาแถบตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ 3. ว้า(Wa) เป็นชื่อชาติพันธุ์ที่กลุ่มคนบนภูเขาใช้บ่งบอกตนเองว่าต่างจากคะฉิ่น(Kachin) ล่าหู่(Lahu) ชาน(Shan) และลื้อ(Lue) พวกเขาตั้งถิ่นฐานระหว่างชายแดนจีน-พม่า ส่วนมากอยู่ในรัฐว้าของพม่า(Wa States of Burma) และเขตปกครองตนเองใน Ximens, Shangyuan, Lanchang of Yunnan (น.181) ว้าในประเทศจีนแบ่งกลุ่มของตนเองออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ Siao Wa กับ Ta Wa ว้าใน Ankhang เชื่อว่าพวกตนเป็นว้าที่เจริญแล้ว(civilized) และเรียกตนเองว่า Ta Wa พวกเขามองว่า ลัวะ – Lua เป็นพวกที่ยังไม่เจริญ(uncivilized) ซึ่งได้แก่ ว้าซีเมง(the Wa of Xi-meng)ในบริเวณใจกลางของ A-Wa San (น.204) ส่วนว้าลานชาง(the Wa of Lanchang)ก็ระบุตนว่าเป็น Siao Wa หรือว้าที่เจริญแล้ว (น.249)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนจาก matriarchy มาเป็น patriarchy ของว้า ผู้ศึกษากล่าวว่า คนว้า ผู้เชี่ยวชาญชาวว้าและชาวจีน เห็นร่วมกันว่า Sikang Lih ซึ่งเป็นตำนานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เป็นหลักฐานแสดงการสืบสายตระกูลข้างแม่และการตั้งถิ่นฐานข้างแม่ของสังคมว้าในอดีต สังคมว้าเพิ่งจะเปลี่ยนมาสืบสายตระกูลข้างพ่อในช่วงอายุคน 20 รุ่นสุดท้าย เชื่อกันว่า ว้าลางชาง(the Wa of Lanchang)ในอดีต ผู้หญิงมีเหตุผลมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนผู้ชายและเป็นคนแรกที่ทำงานเพาะปลูก และจากหลักฐานการตั้งชื่อของว้า ซึ่งแต่ละชื่อจะประกอบด้วย ชื่อตระกูล ลำดับการเกิด วันเกิด และชื่อบิดาเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อตรวจดูชื่อว้าย้อนกลับ 20 -30 รุ่นอายุของการสืบสายตระกูลข้างพ่อ ไม่ปรากฏชื่อของบิดาก่อนหน้านี้ (น.208) ผู้ศึกษาเห็นว่า การเปลี่ยนจากการตั้งถิ่นข้างแม่มาเป็นการตั้งถิ่นฐานข้างพ่อเป็นผลมาจากการนักรบของผู้ชายและสภาวะสงครามที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในสังคมว้า ขณะที่ผู้หญิงว้ายังคงอยู่กับการผลิตในเศรษฐกิจแบบยังชีพ ผู้ชายว้าก็ค่อยๆเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำสงครามกับคนนอกและรัฐในที่ราบ ซึ่งการสืบสายตระกูลข้างพ่ออาจจะถูกสถาปนาผ่านกระบวนการนี้ ดังนั้นการสืบสายเลือดข้างพ่อโดยเฉพาะการตั้งถิ่นฐานข้างพ่อจึงอาจจะได้รับอิทธิพลจากภายนอกโดยเฉพาะจากการสืบสายตระกูลและการตั้งถิ่นฐานข้างพ่อของฮั่น (น.211-212)

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ 1 ประเทศไทย : พรมแดนประเทศและภูมิภาค (Thailand: Regional and National Boundaries) หน้า 39 แผนที่ 2 ลัวะ-ละเวอ-ว้า : บริเวณภาคสนามในชายขอบไทย-ยูนนาน (Lua-Laveue-Wa : Three Comparative field Areas in the Thai-Yunnan Periphery) หน้า 40 แผนที่ 3 สภาพการณ์ทางทหารในประเทศลาว ค.ศ.1945 (Military situation in Laos 1945) หน้า 41 แผนที่ 4 แผนที่ภาษาศาสตร์ของคนถิ่นในประเทศไทยและลาว (Linguistic Map of the T’in in Thailand and Laos(Filbeck 1978)) หน้า 42 แผนที่ 5 พื้นที่ปฏิบัติการทหารไทย(1977) (Thai Insurgency (1977)) หน้า 43 แผนที่ 6 พื้นที่การต่อสู้ของ Kha Tdjae(1864-1884) (The Expansion of the Kha Tdjae(1864-1884) หน้า 44 แผนที่ 7 ปฏิบัติการว้า (The Wa Insurection) หน้า 184 แผนที่ 8 บริเวณการตั้งถิ่นฐานคนไทยภาคเหนือ (Northern Thai Settlement Areas) หน้า 185 แผนที่ 9 แผนที่ทหาร : หมู่บ้านละเวอ ในตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย (Army Map : Lua’(Laveue) Villages of Northwestern Thailand) หน้า 186 แผนที่ 10 รัฐในล้านนาตอนต้น (Hypothetical Reconstruction of Early States in Lanna) หน้า 269

Text Analyst อธิตา สุนทโรทก Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ลเวือะ, ลวะ ลัวะ, ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์, โครงสร้างสังคม, ระบบตระกูล, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง