สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject เศรษฐกิจ,วัฒนธรรม,สังคม,ลาว,ลื้อ,ไทดำ,ยั้ง,ขมุ,ละเมด,สามต้าว,ลานแตน,ปะนะ,กุ่ย,เขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย ลาว จีน
Author ประชัน รักพงษ์
Title การศึกษาสภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชน ในเขตเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทยลาว จีน
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity กำมุ ตะมอย, ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 267 Year 2539
Source สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล และสถาบันนโยบายศึกษา
Abstract

เนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาสภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ เช่ น ไทดำ ลื้อ ขมุ ละเมด สามต้าว ยั้ง ลานแตน ปะนะ สีดา กุ่ย ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย-ลาว-จีนซึ่งอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศลาว พื้นที่ศึกษาในภาคสนามจะเน้นที่แขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา และพื้นที่ใกล้เคียง การศึกษาได้ศึกษาความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมของหลายชาติพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรมเพื่อให้ทราบข้อมูลที่จะส่งเสริมด้านเศรษฐกิจหรือที่จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ที่เป็นศูนย์กลางของเส้นทางกาคมนาคมระหว่าง ไทย ลาว จีน และเวียดนาม

Focus

ศึกษาสภาพเศรษฐกิจและสังคม วัฒนธรรมชุมชน ในเขตเส้นทางห้วยทราย หลวงน้ำทาบ่อเตน ของ สปป.ลาว และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในเขตเส้นทางสี่เหลี่ยมไทย ลาว จีน (หน้า 2,3,10)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ตามการจำแนกของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กลุ่มชาติพันธุ์ในลาวมี 68 เผ่าแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ 1. ลาวลุ่ม มีจำนวนประชากรคิดเป็น 2 ใน 3 หรือจำนวน 65% ของจำนวนประชากรในประเทศ ประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลาว ลื้อ ไทดำ ไทแดง ไทขาว ไทเหนือ พวน ยวน หรือกะหล่อม แสก ยั้ง (หน้า 20,131) 2. ลาวเทิง แบ่งออกเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ ขมุ ละเมด บิด สามต้าว ละเวน กะตู ยาเหิม อาฮัก ในกลุ่มนี้ขมุมีจำนวนประชากรมากที่สุด (หน้า 20,131) 3. ลาวสูง มีจำนวนประชากรเฉลี่ย 12 % ของจำนวนประชากรในประเทศ แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น ม้ง เย้า ลาน แตน ก้อ กุ่ย มูเซอ ปะนะ สีดา (หน้า 20, 131 ภาพหน้า 135, 136) ไทดำหรือผู้ไทดำ คือ กลุ่มที่เรียกตามเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ โดยจะนำต้นหอม หรือนิลมาย้อมเสื้อผ้าเป็นสีดำ บางครั้งจะเรียกว่า “ไททรงดำ“ (หน้า 137) ลื้อ แต่เดิมตั้งที่อยู่อยู่ในพื้นที่สิบสองพันนาในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กับภาคเหนือตอนบนของประเทศลาว บริเวณเมืองสิงในแขวงหลวงน้ำทา เมืองอูเหนือ อูใต้ งายเหนือ งายใต้ บุนเหนือ บุนใต้ของแขวงพงสาลี ฯลฯ (หน้า 146) ยั้ง แต่เดิมอยู่ทางตอนเหนือของจีน ภายหลังจึงย้ายมาอยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม กับลาว ในแขวงหลวงน้ำทาเผ่ายั้งสร้างบ้านเรือนอยู่พื้นที่เมืองพูคา มีจำนวน 89 ครอบครัว จากการสำรวจเมื่อปี 1995 มีจำนวนประชากร 417 คน ใช้ภาษายั้งเป็นภาษาประจำเผ่า ตัวเขียนใช้อักษรจีน (หน้า 163) ขมุ เป็นชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศลาว ภาษาขมุอยู่ตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ–เขมร สาขาย่อยเรียกว่า "ขมุอิ" ขมุเรียกตนเองว่า "กำหมุ" "กึมมุ" "กิมหมุ" หรือ "ตะมอย" แปลว่า "คน" ขมุจะเรียกชาติพันธุ์อื่นว่า "แยะ" เช่น "แยะลาว" หมายถึง คนลาว "แยะแกว" หมายถึง คนเวียดนาม (หน้า 23,167) ขมุแบ่งเป็น 2 สาขา คือ 1. ขมุเจือง มีสาขาย่อย เช่น ขมุอู ขมุแม ขมุแทน ขมุกะสัก อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของภาคเหนือ เช่น แขวงพงสาลี หัวพัน เชียงขวาง หลวงพระบาง เวียงจันทน์ บลิคำไซ 2. ขมุร็อก แบ่งเป็นสาขาย่อย เช่น ขมุร็อก ขมุแควน ขมุขรอง ขมุยวน ขมุลื้อ สร้างบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันตกของภาคเหนือ ได้แก่ แขวงอุดมไซ หลวงน้ำทา บ่อแก้ว ไชยะบุรี (หน้า 167) ละเมด คือชาติพันธุ์ในกลุ่มลาวเทิง ใช้ภาษาพูดในตระกูลภาษามอญ – เขมร ละเมดโดยมากจะอยู่ตามป่าเขา แต่เดิมอยู่หลวงพระบางภาคเหนือของประเทศลาว ภายหลังได้ย้ายที่อยู่มาที่พื้นที่เมืองเวียงพูคา แขวงหลวงน้ำทา เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ภาษาพูดใกล้เคียงกับชาติพันธุ์ขมุ ต่างกันที่สำเนียงพูดและคำศัพท์บางตัว ละเมดไม่มีตัวหนังสือเป็นของตัวเอง การสืบทอดประเพณีผ่านการบอกเล่าต่อกันมา (หน้า 23,186) บิด เป็นชาติพันธุ์ในตระกูลภาษามอญ เขมร เป็นกลุ่มลาวเทิง เรยกตนเองว่า "เปอซิง" หรือ ลาวบิด มีจำนวนประชากรไม่มาก สร้างบ้านเรือนอยู่ที่บ้านบุ่มเพียง กับบ้านห้วยหก ในเมืองหลวงน้ำทา แต่เดิมชาติพันธุ์อยู่ที่เขตน้ำอู แขวงพงสาลี แต่ได้ย้ายหลบหนีเมื่อเกิดสงครามไทแดง มาอยู่หลวงน้ำทาเป็นเวลา100 กว่าปี เลี้ยงชีพโดยทำไร่ตามป่าเขา (หน้า 24, 191) สามต้าว มีชื่อเรียกอื่น เช่น "ทูมก" หรือ "ไทดอย" พูดภาษาตระกูลมอญ–เขมร อยู่ในกลุ่มลาวเทิง นับถือศาสนาพุทธกับนับถือผี มีศิลปะการขับเหมือนกับไทลื้อ ดังนั้นจึงถูกเรียกว่า "สามต้าว เมื่อก่อนนี้ชาติพันธุ์สามต้าวชื่อว่า "ข้าใช้เจ้าฟ้า" เพราะในอดีตผู้นำของสาวต้าวเคยเป็นผู้รับใช้ของเจ้าฟ้าไทลื้อในสิบสองปันนา ในภายหลังจึงย้ายเข้ามาอยู่ในภาคเหนือของประเทศลาว ในพื้นที่เมืองสิง สบหลวย โบกบ่อ เมืองน้ำทา เมืองเวียงพูคา เมืองนาแล ในแขวงหลวงน้ำทา กับเขตเมืองห้วยทราย เมืองต้นผึ้ง กับเมืองเทิง ในแขวงบ่อแก้ว (หน้า 23,196) ลานแตน คือชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลจีน – ธิเบต ลานแตน หมายถึง สีคราม คือ สีที่ใช้ย้อมผ้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลานแตนจะย้อมผ้าและเย็บเสื้อผ้าเอง โดย จะใช้สี ที่หาได้ตามธรรมชาติ อาทิเช่น คราม หรือต้นหอม มักสร้างบ้านอยู่ตามลำห้วย ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ลาวห้วย“ ชาติพันธุ์ลานแตนจะใช้อักษรจีนโบราณเพื่อเขียนบันทึกเหตุการณ์และพิธีกรรมต่างๆ มีฝีมือในการประดิษฐ์เครื่องเงิน เช่น ต่างหู กำไล และอื่นๆ (หน้า 25, 200) ปะนะ เมื่อก่อนอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ จีน ภายหลังได้ย้ายมาอยู่บ้านบ่อเปียด แขวงหลวงน้ำทา ปะนะมีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน ฉะนั้นจึงใช้ตัวหนังสือของจีนเขียนเมื่อเวลาติดต่อหรือสื่อความหมาย เยาวชนรุ่นใหม่พูดเขียนภาษาลาวเนื่องจากได้เรียนหนังสือในโรงเรียน ปะนะ อยู่ในกลุ่มภาษา ธิเบต – พม่า (หน้า 26, 206) สีดา แต่เดิมอยู่เมืองยอดอู แขวงพงสลี เมื่อเกิดสงครามจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองหลวงน้ำทา ทุกวันนี้สร้างบ้านเรือนอยู่ในป่าเขาทางทิศตะวันออกของเมืองหลวงน้ำทา สีดามีสภาพความเป็นอยู่ไม่ค่อยเจริญเท่าชาติพันธุ์อื่นๆ (หน้า 26, 209) กุ่ย เรียกตนเองว่า “ลาฮูยา“ ย้ายที่อยู่มาจากพม่าเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเมิง แขวงบ่อแก้ว เชียงกก เมืองลอง เมืองสิง ที่แขวงน้ำทา อยู่ในกลุ่มลาวสูง พูดภาษาตระกูลธิเบต – พม่า กุ่ยมีความเป็นอยู่ที่ไม่เจริญเท่าชาติพันธุ์อื่นอยู่ในป่าเขาห่างไกลความเจริญ (หน้า 26, 211)

Language and Linguistic Affiliations

กลุ่มชาติพันธุ์ในลาว แบ่งออกตามลักษณะทางภาษาศาสตร์ เป็น 6 กลุ่มดังนี้ 1. กลุ่มภาษาไท-ลาว ประชากรที่พูดภาษานี้ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ชาติพันธุ์ที่พูดภาษานี้ ได้แก่ ลาว ลื้อ ยวน หรือ กะหล่อม เงี้ยว ไทเหนือ แสก ย้อ ผู้ไท ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของประเทศ ภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นภาษาที่ใช้อย่างเป็นทางการ 2. กลุ่มภาษามอญ-เขมร มีจำนวนเป็นที่สองจากกลุ่มที่พูดภาษาลาว–ไท กลุ่มที่พูดภาษานี้อาศัยอยู่ในภาคเหนือ เช่น ขมุ ละเมด สามต้าว บิด ถิ่น ในภาคกลาง เช่น กูย ปะโกะ ตะโอ้ย โซ่ กะตู ที่อยู่ในภาคใต้ เช่น ละเวน ยาเหิม ละแว แยะ กะเลียง ละวี อาฮัก โอย ส่วย (หน้า 21-22) ชนเผ่าลาวเทิง ในภาคเหนือ เช่น ขมุ ละเมด สาวต้าวบิด หรือ ข่าบิด, ถิ่น หรือ ไพร ชนเผ่าลาวเทิงในภาคกลาง เช่น กะตาง โซ่ ปะโกะ ตะโอ้ย ชนเผ่าลาวเทิงในภาคใต้ เช่น ละเวน ยาเหิม ละแว กะเลียง กะตู อาฮัก ส่วย 3. กลุ่มภาษาม้ง–เย้า อาศัยอยู่บริเวณภูเขาสูงในภาคเหนือของประเทศลาว ซึ่งแต่เดิมเคยอยู่ในจีน ได้แก่ ชาติพันธุ์ ม้ง เย้า ลานแตน 4. กลุ่มภาษาทิเบต–พม่า อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาว ซึ่งแต่ก่อนนี้ได้ย้ายมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่า ชาติพันธุ์ที่พูดภาษานี้ ได้แก่ ก้อ กุ่ย มูเซอ ผู้น้อย ปะนะ สีดา 5. กลุ่มภาษาเวียด-เมือง มีประชากรไม่มากอาศัยอยู่บริเวณชายแดนลาว–เวียดนาม ได้แก่ ชาติพันธุ์ ตุ่ม ง่วน ตริ สลาง อยู่ในแขวงคำม่วน ชาติพันธุ์เมือง อยู่แขวงหัวพัน 6. กลุ่มภาษาหาน หรือ ฮ่อ อยู่ในภาคเหนือ เช่น แขวงพงสาลี แขวงหัวพัน แขวงน้ำทา (หน้า 21-27)

Study Period (Data Collection)

ดำเนินการศึกษาและเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในชุมชนในภาคเหนือของ สปป.ลาว โดยมุ่งเน้นศึกษาข้อมูลในแขวงบ่อแก้ว – แขวงหลวงน้ำทา ในช่วง ปี 1994 -1996 (หน้า 9)

History of the Group and Community

การอพยพของไทดำ แต่เดิมไทดำอาศัยอยู่ในเขตสิบสองจุไท ในพื้นที่เมืองไลเจา กับเมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู ของประเทศเวียดนาม ภายหลังจึงอพยพมาอยู่หลวงน้ำทา ที่บ้านปุ่ง บ้านทุ่งดี บ้านท่งอ้ม บ้านน้ำแง้น บ้านทุ่งใจใต้ เมื่อปี 1895 เนื่องจากหัวหน้ากลุ่มไทดำหลายกลุ่มต่อสู้กันเพื่อแย่งอำนาจ และต่อมากลุ่มฮ่อซึ่งก่อกบฏได้ถูกทางการจีนปราบปราม กลุ่มฮ่อได้มาปล้นจนได้รับความเดือดร้อน จึงอพยพจากเมืองสะกบ เมืองวาแขวงไลเจา มาอยู่ที่บ้านปุ่ง บ้านนาลือ บ้านใหม่ เมื่อปี 1896 กระทั่งเกิดสงครามเดียนเบียนฟู ระหว่างปี 1953-1954 ไทดำจึงอพยพมาอยู่ที่บ้านน้ำแง้น เมืองหลวงน้ำทา กับบ้านหนองบัวคำ เมืองสิง (หน้า 137)

Settlement Pattern

บ้านขมุ มักสร้างบ้านเรือนตามที่ลาดเขา มีแหล่งน้ำที่ไหลมาจากห้วย แต่ละหมู่บ้านจะประกอบด้วยบ้านเรือนราว 20 ถึง 80 หลังคาเรือน บ้านมีใต้ถุนสูงราว 1.5 เมตร หลังคามุงด้วยใบหวาย ใบก้อ หรือแฝก ที่ทำด้วยไม้เฮียะซึ่งเป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่เอามาสับเป็นฟาก พื้นบ้านปูด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ บริเวณรอบบ้านจะปลูกผัก (หน้า 168) บ้านของขมุแบ่งออกเป็นบ้านแบบต่างๆ ดังนี้ 1. ตูบแดบ เป็นบ้านทรงเพิงหมาแหงน หรือทรงหลัง ขมุจะสร้างเอาไว้เป็นที่อยู่ชั่วคราวก่อนจะสร้างบ้าน บางครั้งก็จะสร้างไว้ที่ไร่เพื่อหลบแดดฝนในหน้าเพาะปลูก ตูบแดบจะไม่มีหอผีเรือน 2. ปะตะ คือ บ้านของจนที่มีฐานะยากจน มักสร้างยกพื้นสูงราว 1 เมตร อีกส่วนจะอยู่บนพื้นดิน การใช้สอยบ้านเรือนแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่เป็นดินจะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ปั้งน้ำ กระบุง ตะกร้า และอื่นๆ (ห้องผีเรือน ห้องนี้จะห้ามคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัวเข้าไปเพราะเชื่อว่าจะเป็นการผิดผีเรือน หากฝ่าฝืนจะต้องฆ่าสัตว์เซ่นไหว้ เช่น ฆ่าหมู หรือควาย (หน้า 178-179) อีกส่วนจะยกพื้นส่วนนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ห้องรับแขก กินข้าวและประกอบพิธีทั้งหลาย อีกส่วนจะทำเป็นห้องนอนของสมาชิกในบ้าน ได้แก่ ห้องนอนพ่อแม่ ลูกชายลูกสะใภ้ ห้องลูกสาว บริเวณเขตย่อยของทั้งสองส่วนนี้จะเป็นเตาไฟเพื่อทำอาหารและเป็นที่ผิงไฟกันหนาว 3. กางรวม เป็นบ้านแบบยกพื้น แบ่งเป็น 3 ส่วนในแต่ละส่วนจะแบ่งเป็น พื้นที่เตาไฟ 1 แห่ง นอกพื้นที่ห้องนอน จะใช้เก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นพื้นที่นั่งกินข้าวและทำกับข้าว และเตาอีกแห่งหนึ่งจะเป็นเตาเพื่อทำกับข้าว ในส่วนที่เป็นห้องนอนของพ่อแม่ ลูกชายลูกสะใภ้ กับลูกห้องลูกสาว จะทำเตาไฟเพื่อผิงไฟกันหนาว 1 แห่ง กับเขตหอผีเรือนจะอยู่ด้านในสุด และทำเตาไฟผีเรือนอีก 1 แห่ง เพื่อเอาไว้ทำอาหาร ต้มเหล้า โดยจะจัดสำรับเอาไว้ 1 ชุด เพื่อเลี้ยงผีเรือน ห้องนี้จะไม่ให้คนภายนอกเข้าไป 4. กางแตะหรือห้องเรือน คือ บ้านขนาดใหญ่มี 4 ห้อง และทำเตาไฟไว้ 4 แห่ง โดยแบ่งเป็น 3 เขตได้แก่ เขตนอกหรือห้องนอกเพื่อใช้เป็นที่ต้อนรับแขก ทำเตาไฟเพื่อทำกับข้าว 1 แห่ง ประตูอีก 2 บาน ประตูบานใหญ่อยู่ด้านหน้า กับประตูด้านข้างเพื่อออกชานบ้าน พื้นที่ด้านในแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ซึ่งเป็นที่นอนของสมาชิกในบ้าน โดยจะเป็นห้องโล่ง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ของพ่อแม่ลูก กางมุ้งเรียงตามระดับอายุ และมีเตาไฟเพื่อผิงกันหนาว 1 แห่ง ห้องผีเรือนที่เรียกว่า “ห้องโลก“ จะอยู่ด้านในสุด จะทำเตาไฟไว้ 1 แห่ง เพื่อเอาไว้ทำอาหารและต้มเหล้าเลี้ยงผี เรือน (หน้า 179) บริเวณนี้จะไม่ให้คนภายนอกเข้าไป ที่อยู่ของผีเรือนจะอยู่ติดกับเตาไฟ ซึ่งจะสร้างร้านติดฝาบ้านสูงกว่าหัวคน จากนั้นก็จะเอาไม้ไผ่ 2 ท่อน เสียบจากหลังคาเรือนมาที่ร้าน จากนั้นก็จะนำไม้อีกท่อน ขวางบริเวณตรงกลางเพื่อมัด “ตุ่ง“ ที่เป็นที่อยู่ของผีเรือน (หน้า180) บ้านกุ่ย กุ่ยชอบสร้างบ้านอยู่บริเวณไหล่เขา ที่มีห้วยไหลผ่านถึง รูปแบบบ้านเป็นเรือนร้านไม่ถาวร สร้างสูงจากพื้นดินราว 1 ถึง 1.5 เมตร เสาทำจากไม้จริงมีขนาดเล็ก ทำห้องนอนเอาไว้ 3 ถึง 4 ห้อง โดยแยกเป็นห้องต่างๆ ทำประตูเดินผ่านถึงกัน หลังคาบ้านมุงด้วยใบหวาย ใบก้อ หรือใบน้ำเฮียะ ซึ่งเป็นไม้ไผ่อย่างหนึ่ง สับเป็นฟากนำมามุงหลังคา พื้นบ้านกับฝากั้นด้วยฟาก บ้านมีประตู 1 บาน ครัวไฟจะอยู่ในบ้านเป็นที่เก็บอุปกรณ์สิ่งของต่างๆ ตรงบริเวณหัวนอนจะทำหิ้งผีเรือนเอาไว้ เพื่อเป็นที่อยู่ของญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว ห้องนี้จะไม่ให้คนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวเข้าอย่างเด็ดขาด ถ้าไม่เชื่อจะถูกปรับ ฆ่าสัตว์เพื่อเซ่นไหว้ผีเรือน (หน้า 211-212) บ้านลานแตน ส่วนใหญ่ชอบปลูกบ้านชั้นเดียวติดกับพื้นดิน มุงหลังคาด้วยใบหวายหรือใบต๋าว ฝาบ้านกั้นด้วยไม้ไผ่สับฟาก บ้านหนึ่งหลังจะอยู่รวมกันประมาณ 2 ถึง 3 ครอบครัว ซึ่งในแต่ละครอบครัวจะแยกกันอยู่ไม่ค่อยมีความผูกพันใกล้ชิดกันเท่าที่ควร สำหรับประตูบ้านที่เข้าอยู่พื้นที่รับแขกเรียก “ประตูชาย“ สำหรับประตูออกด้านหลังเรียก “ประตูหญิง“ ประตูที่ไปบริเวณที่ใช้หุงข้าวเรียกว่า “ประตูใหญ่“ ประตูด้านนี้จะอยู่ตรงข้ามกับหอบูชาผีเรือน ประตูมีความสำคัญเพราะว่าจะใช้เมื่อมีการทำพิธีเลี้ยงผีเรือน ห้องนอนจะสร้างขึ้นอยู่ว่าคนในบ้านมีสมาชิกจำนวนกี่คน หากบ้านไหนมีลูกสาวในช่วงเลือกคู่ ก็จะทำห้องนอนพิเศษให้โดยจะอยู่ติดกับประตูบ้าน เพื่อให้หนุ่มคนที่ลูกสาวรักมาหาในยามค่ำคืน (หน้า 201)

Demography

ประเทศ สปป.ลาว มีประชากรจากการสำรวจเมื่อ ค.ศ.1995 จำนวน 4.8 ล้านคน (หน้า 13, 19, 226) ความหนาแน่นประชากรจำนวน 18.4 คน ต่อตารางกิโลเมตร อัตราการเพิ่มของประชากรจำนวนร้อยละ 2.8 ต่อปี ประชากรอยู่ในแขวงสะหวันนะเขตมีมากที่สุดจำนวน 673,000 คน อันดับสองคือกำแพงนครเวียงจันทน์ราว 489,000 คน จำปาสัก จำนวน 477,000 คน ประชากรแบ่งออกเป็น 68 เผ่า โดยแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามภูมิประเทศได้แก่ ลาวลุ่ม ลาวเทิง ลาวเทิง ลาวสูง (หน้า 19-20) ประชากรชาติพันธุ์ต่างๆ ในลาว แบ่งเป็น 6 กลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มมีประชากรดังนี้ 1. กลุ่มภาษาไท-ลาว ได้แก่ ผู้ไท เช่น ไทดำ ไทแดง ไทขาว ไทแอด ไทเมีย ไทแอะ ไทซำ ไทท้อ ไทวัง มีจำนวนประชากร 450,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ที่แขวงหัวพัน เชียงขวาง หลวงน้ำทา บ่อแก้ว บลิคำไซ และสะหวันนะเขต ลื้อ มีจำนวนประชากร 150,000 คน อยู่ทางภาคเหนือ เช่น แขวงพงสาลี อยู่ในเมือง อูเหนือ หรือยอดอู เมืองอูใต้ เมืองงายเหนือ เมืองงายใต้ บุนเหนือ บุนใต้ แขวงหลวงน้ำทา (หน้า 21,146) 2. กลุ่มภาษามอญ - เขมร เช่น ขมุ มีจำนวนประชากร 400,000 คน อยู่แขวงทางภาคเหนือ ได้แก่ แขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา แขวงอุดมไซ แขวงพงสาลี แขวงหัวพัน แขวงไชยะบุรี แขวงเวียงจันทน์ แขวงเชียงขวาง และแขวงหลวงพระบาง กะตางมีจำนวนประชากร 75,000 คน อยู่ในแขวงสะหวันนะเขต (หน้า 22-24,167) 3. กลุ่มภาษาม้ง–เย้า ได้แก่ ม้ง มีจำนวนประชากร 240,000 คน โดยแบ่งออกเป็น ม้งขาว ม้งเขียว ม้งลาย ม้งดำ ส่วนใหญ่อยู่แขวงเชียงขวาง แขวงหลวงพระบาง แขวงหัวพัน เย้า หรือเมี่ยน หรือ ยิวเมี่ยน มีจำนวนประชากร 18,000 คน อยู่ทางภาคเหนือของลาว 4. กลุ่มภาษาทิเบต–พม่า ได้แก่ก้อ มีจำนวนประชากร 60,000 คน โดยมากอยู่เมืองลอง เมืองสิง แขวงบ่อแก้ว บางส่วนอยู่เมืองต้นผึ้ง เมืองเมิง ส่วนหนึ่งอยู่ที่แขวงพงสาลี ก้อแบ่งออกเป็นแขนงต่างๆ ได้แก่ ปูลี อูมา จีจ้อ ก้อเพีย เออปา ระลา เจอเปย ลูบรา พูซาง มูเตอ สะป้อ มูจี 5. กลุ่มภาษาเวียด–เมือง มีจำนวนไม่มากอาศัยอยู่แขวงทางภาคเหนือ เช่น แขวงพงสาลี แขวงหัวพัน แขวงหลวงน้ำทา 6. กลุ่มภาษาหาน หรือ ฮ่อ ไม่ระบุยอดจำนวนประชากร (หน้า 25-27) บ่อแก้ว มีจำนวนประชากร 111,784 คน จากการสำรวจเมื่อปี 1995 โดยมีความหนาแน่นต่อพื้นที่ 15 คน ต่อตารางกิโลเมตร อัตราการเกิดคิดเป็น ร้อยละ 2.5 คนต่อปี ประชากรประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ อาทิ ลาว ลื้อ ยวน พวน เงี้ยว ไทเหนือ ขมุ ละเมด สามต้าว ก้อ กุ่ย มูเซอดำ มูเซอขาว ม้ง เย้า ลานแตน ฯลฯ (หน้า 61-62)

Economy

เศรษฐกิจพื้นที่ศึกษา การศึกษาสภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชนเขตเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย – ลาว จีน ได้ทำการศึกษาสภาพเศรษฐกิจทางภาคเหนือของประเทศลาว พื้นที่ศึกษา ได้แก่ แขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทาและพื้นที่ ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ ที่ทำการศึกษา ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ศึกษาทำอาชีพเพาะปลูก อาชีพหลักได้แก่ ปลูกข้าว ทำนาในที่ราบหุบเขา ปลูกข้าวไร่ในที่สูง การปลูกข้าวไม่ค่อยพอกินเพราะการเกษตรยังไม่ค่อยเจริญ และเจอปัญหาจากภัยธรรมชาติ ในแต่ละปะขาดข้าวกิน ประมาณ 3-4 เดือน (บทคัดย่อ หน้า 2) เศรษฐกิจประเทศลาว ทำการเกษตรแบบยังชีพ ประชากร 80% ทำอาชีพเกษตรกรรม เช่น เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หาของป่า สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวจะปลูกในบริเวณที่ลุ่มแม่น้ำ สำหรับการปลูกข้าวไร่ จะปลูกบนพื้นที่สูงในพื้นที่ภูเขา มีพื้นที่ทำการเกษตร ราว 4,000,000 เฮกต้าร์ (1 เฮกตาร์ เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร หรือ 6.25 ไร่ หน้า 58) แต่มีการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เกษตรกรรมเพียง 20% เท่านั้น เกษตรกร 83% ปลูกข้าวไว้กินเอง โดยแบ่งออกเป็นทำนาในพื้นที่ลุ่ม 65 % และปลูกข้าวไร่บนที่สูง 35% การปลูกข้าวไม่พอสำหรับบริโภคเนื่องจาก การทำการเกษตรไม่เจริญก้าวหน้า และมีปัญหาด้านภัยธรรมชาติ ทั้งนี้มีประชากร 60 % ที่ข้าวไม่พอกินประมาณ 3 เดือนต่อปี (หน้า 32 ,44) สำหรับนโยบายของรัฐบาลลาว ได้ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนโดยรัฐมาเป็นระบบเศรษฐกิจตลาดเสรี และส่งเสริมการลงทุนกับต่างประเทศ ทั้งนี้สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของลาวมีความเป็นมาดังนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะที่ 1 (ค.ศ.1981 -1985) ได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม โดยรัฐเป็นผู้ดำเนินการและควบคุมกลไกทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐได้ดำเนินธุรกิจแบบรัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งไว้ราว 600 แห่ง (หน้า 32) แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะที่ 2 (ค.ศ.1986–1990) เปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจสูระบบตลาดเสรี ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม สนับสนุนการแปรรูปผลิตผลด้านการเกษตร (หน้า 34) แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะที่ 3 (ค.ศ. 1991–1995) สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแบบธรรมชาติไปสู่เศรษฐกิจแบบเสรี โดยรัฐข้าไปคุ้มครองธุรกิจของเอกชนกและในส่วนของเอกชนของประเทศลาว กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรัฐจะไม่เข้าไปยึดครองกิจการมาดำเนินการเอง (หน้า 34) แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะที่ 4 (ค.ศ. 1996–2000) กำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน 3 เขต ประกอบด้วย เขตภาคเหนือ ได้แก่ แขวงเชียงขวาง แขวงหลวงพระบาง ส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยว ปศุสัตว์ และการพลังงาน, ภาคกลาง เขตกำแพงนครเวียงจันทน์และแขวงคำมวน ส่งเสริมด้านการค้ากับการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ภาคใต้ ส่งเสริมแขวงสะหวันนะเขต กับแขวงจำปาสัก เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางเกษตรกรรม การค้าและท่องเที่ยว แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ค.ศ.1996 -2000) นโยบายคือพัฒนาเขตเกษตรกรรมและปศุสัตว์ เพื่อบริโภคในประเทศและส่งออกต่างประเทศ พัฒนาป่าไม้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาการไฟฟ้า ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติ (หน้า 34-35) เศรษฐกิจแขวงบ่อแก้ว แขวงบ่อแก้วมีศักยภาพทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ มีข้าวเป็นพืชหลักที่สำคัญ มีพื้นที่ทำนา 15,300 เฮกตาร์ พืชอื่นที่ปลูก เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ข้าวโพด งา ยาสูบ สัตว์เลี้ยง อาทิ วัว ควาย ม้า หมู เป็ด ไก่ (หน้า 61) อาชีพของลื้อ ปลูกข้าวและผัก เป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยง วัว ควาย เพื่อใช้แรงงานและขาย เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม (หน้า 147) อาชีพของขมุ อาชีพหลัก คือ ถางป่าทำไร่แบบหมุนเวียน โดยครอบครัวหนึ่งจะทำไร่ 3- 5 แห่ง โดยในแต่ละปีจะย้ายที่ปลูกข้าวเพื่อให้ที่ดินเดิมฟื้นตัว สำหรับพืชอื่นที่ปลูกเสริม ได้แก่ ข้าวโพด เผือก ถั่ว พริก มะเขือ สำหรับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ควาย วัว แพะ หมู ไก่ (หน้า 168) อาชีพละเมด อาชีพหลักถางป่าทำไร่และทำนาในป่าเขา หาของป่าและเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย เพื่อใช้แรงงานและเอาไว้ใช้เซ่นไหว้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ (หน้า 187-188) อาชีพของสามต้าว ทำไร่ถางป่าในบริเวณป่าเขา กับทำนาในที่ราบหุบเขา เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่ และอื่นๆ (หน้า 196) อาชีพของลานแตน ปลูกข้าวเจ้าและปลูกพืชจำพวกข้าวโพด แตง ถั่ว เผือก เลี้ยงสัตว์เช่น หมู เป็ด ไก่ เป็นอาชีพรอง โดยจะเลี้ยงหมูเพื่อใช้ในการประกอบพิธีเลี้ยงผี ซึ่งใช้หมูเลี้ยงผีเรือนถึง 6 ตัว การปลูกพืชอื่นเช่นปลูกฝิ่นจะปลูกไว้สูบเองและแลกเปลี่ยนข้าวของต่างๆ กับชาติพันธุ์อื่น อาทิกับ อาข่า ม้ง ฯลฯ (หน้า 200)

Social Organization

การแต่งงานของไทดำ หนุ่มสาวไทดำ จะเจอกันตอนลงข่วงปั่นฝ้ายช่วงกลางคืน เมื่อหนุ่มเจอสาวที่รักก็จะให้พ่อแม่ของตนไปสู่ขอ หรือเรียกว่า "ไปส่อง" การสู่ขอจะเรียกว่า กินดองน้อย โดยฝ่ายชายจะนำพาข้าว หรือขันหมากสู่ขอ ไปมอบให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง แล้วมอบตัวเป็นเขยกว้าน อยู่ที่บ้านเจ้าสาว 2 เดือน1 ปี (หน้า 139-140) พิธีแต่งดอง (กินดองใหญ่) คือพิธีแต่งงานโดยจะจัด 3 วัน ในวันแรกผู้ชายจะจัดพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนที่บ้านเจ้าสาว การเลี้ยงจะฆ่าหมู 1 ตัว ไก่ 8 ตัว ปลาปิ้ง 8 ห่อ หาด 8 ห่อ พลู 8 ห่อ เหล้าไห 2 ไห เงินสินเลี้ยง (ค่าน้ำนม) 5 หมัน 2 บี้ ในวันที่สองลูกสะใภ้จะไปเยี่ยมบ้านพ่อ แม่ สามี โดยจะนำผ้าเปียว ซึ่งเป็นผ้าคลุมหัวของผู้หญิงไทดำ ผ้าปูที่นอน ซิ่นไหม ฯลฯ ไปฝาก ส่วนฝ่ายพ่อกับแม่สามี จะให้เงินตอบแทน 5-10 หมัน วันที่สามจะเก็บของและทำอาหารเลี้ยงญาติ เมื่อก่อนนี้ลูกเขยจะอยู่บ้านพ่อตา แม่ยาย 12 ปี จึงจะกลับมาอยู่บ้านของพ่อ แม่ของตนได้ หรือสร้างบ้านใหม่ ทุกวันนี้ลดเหลือ 4 ปี เมื่อลงจากเรือนจะเสียค่าแต่งดองคืน ปีละ 5 หมัน ค่าน้ำนม 5 หมัน 2 บี้ หมู 1 ตัว (หน้า 140) การแต่งงานของลื้อ ก่อนสู่ขอจะทำพิธี "ไขว่" คือจะสืบประวัติ หากเป็นญาติก็จะไม่ให้แต่งงานกัน เมื่อตกลงกันได้แล้ว ก็จะกินดองน้อย หรือหมั้น ฝ่ายหญิงจะทำอาหารเลี้ยงฝ่ายชาย สำหรับฝ่ายชายจะมอบกำไลเงิน ที่เรียกว่า “ปลอกแขนขวัญ” น้ำหนักเงิน 2 หมัน 5 บี้ ให้กับคู่หมั้น เมื่อหมั้นแล้วผู้ชายจะเป็นเขยพาง จะอยู่ได้ทั้ง 2 บ้าน แต่ยังไม่หลับนอนด้วยกันโดยจะใช้เวลา 3 เดือน ถึง 1 ปี (หน้า 149-150) กินแขกแต่งดอง ส่วนใหญ่จะแต่งหลังออกพรรษา ในเดือนคู่ การจัดงานจะจัดที่บ้านผู้หญิง การกินดองจะจัด 2 วัน วันแรกเรียกว่า "อุ่นดอง" เป็นวันเตรียมอาหาร วันที่สองคือวัน "กินดอง" ฝ่ายชายจะแห่ขบวนไปที่บ้านฝ่ายหญิง ทำพิธีบายศรี หรือเรียกว่า "สู่ขวัญโอม" ต่อไปจะแห่สะใภ้มาที่บ้านเจ้าบ่าว ประกอบพิธีเซ่นไหว้ เทวดาเรือน เพื่อรับลูกเขยไปอยู่บ้าน ส่วนญาติฝ่ายชายก็จะทำพิธีรับขวัญลูกสะใภ้ (หน้า 150) ลูกเขยจะไปอยู่บ้านพ่อตา แม่ยาย 3 ปี จากนั้นก็จะแต่งงานกลับคืน เพื่อไปอยู่บ้านของตน 3 ปี ซึ่งเรียกว่า "สามปีไป สามปีป๊อก" การจัดพิธีแต่งดองกลับคืน จะฆ่าหมู 1 ตัว และไก่ทำพิธีสู่ขวัญ กับเงินสินสอด 15 หมัน เมื่อไปอยู่บ้านของพ่อ แม่ 3 ปี จึงจะออกมาสร้างบ้านหลังใหม่ (หน้า 150) การแต่งงานของยั้ง การกินดอง ฝ่ายชายจะประกอบพิธีไหว้ผีเรือนของฝ่ายผู้หญิง และจะฆ่าหมู 1 ตัว ไก่ 2 ตัว เหล้า 2 ขวด กับเงิน 5 หมัน เพื่อบูชาผีเรือน และเสียเงิน 5 หมันให้ญาติฝ่ายหญิง โดย มอบให้พี่ชายคนโต 2 หมัน และมอบให้พี่ น้อง ของผู้หญิงคนละ 6 บี้ และมอบให้ญาติผู้ใหญ่ของผู้หญิง 6 บี้ คนที่ได้รับเงินจะมอบของตอบแทนเมื่อแต่งงานแล้วจะอยู่บ้านฝ่ายหญิง 8 ปี แต่ถ้าออกเรือนก่อนครบ 8 ปี จะต้องเสียค่าลงเรือน ปีละ 3 หมัน (หน้า165) ขมุ จะอยู่รวมกันเป็นชุมชนตามตระกูลของตน มี "ละกูน" เป็นผู้นำด้านการปกครองและการประกอบพิธีกรรม ภายหลังเมื่อทางการได้เข้าไปจัดการด้านการปกครองหมู่บ้านการปกครองจะมีนายบ้าน ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการกับชุมชน แต่ละกูน ยังเป็นผู้นำด้านประเพณีเช่นเดิม (หน้า 169-170) การแต่งงาน มักแต่งงานในเดือนคู่ ในงานแต่งงานจะให้พ่อใช้ (ตะลาม) หรือพิธีกร 2 คน เป็นผู้ดำเนินงาน การจัดงานจะจัดตอนหัวค่ำ เจ้าบ่าวก็จะไหว้พ่อ แม่ และญาติฝ่ายเจ้าสาว แล้วพ่อใช้ก็จะมอบเงินค่าดองให้กับฝ่ายหญิง จนถึงสองยาม ก็จะมอบขันหมากให้ฝ่ายหญิงเพื่อจัดพิธีในช่วงเช้า การต้อนรับสะใภ้มาเรือนสามี โดยจะจัดพิธีสู่ขวัญบอกลาผีเรือน (หน้า 175) การแต่งงานของละเมด การจัดพิธีฝ่ายเจ้าบ่าวจะฆ่าหมูเซ่นผีเรือน และฆ่าหมูที่มีลูก 1 ตัว ไก่ 1 ตัวเหล้าเสียวหรือเหล้ากลั่น 10 ขวด เหล้าไห 1 ไห เงิน 5 บี้ ดาบ 1 เล่ม หมาก พลู แห่ขันหมากไปบ้านฝ่ายเจ้าสาว เมื่อแต่งงานกันแล้วลูกเขยจะอยู่บ้านพ่อตา แม่ยาย 5 ปี จากนั้นจึงจะไปสร้างบ้านใหม่และจะทำพิธีแต่งคืน ฆ่าหมู ไก่ อย่างละตัว และเงิน 13 หมัน เพื่อมอบให้กับพ่อตาแม่ยาย ส่วนพ่อตา แม่ยายก็จะมอบวัว ควาย หมู ไก่ ให้ไปตั้งตัว (หน้า 188) การแต่งงานของบิด การหาคู่ของบิด พ่อ แม่ จะเป็นคนเลือกคู่ครองให้กับลูก เมื่อพ่อกับแม่เห็นว่าลูกแต่งงานได้แล้ว ก็จะให้พ่อใช้เป็นตัวแทน 3 คน ไปสู่ขอ ถัดจากนั้น 2-3 วัน หากฝ่ายหญิงตกลงก็จะให้คนมาบอก ฝ่ายชายก็ต้องเอาไก่ 1 ตัว และเหล้า 2 ขวด ปลอกแขนเงิน 1 คู่ เงิน 3 หมัน นำมาหมั้น ถ้าฝ่ายชายไม่ทำตามสัญญา ฝ่ายหญิงจะริบของหมั้น ส่วนฝ่ายหญิงถ้าผิดสัญญา ต้องคืนของหมั้นกับถูกปรับอีก 2 เท่า การแต่งดอง (แต่งงาน) จะจัดเมื่อหมั้นได้ 3 เดือน ในพิธีจะฆ่าหมู ทำพิธีสู่ขวัญ 1 ตัว และเซ่นผีเรือน 1 ตัว และมอบไก่ให้กับพี่สาวกับพี่เขย สู่ขวัญกับเซ่นผีเรือนอย่างละ 1 ตัว ลูกเขยจะอยู่บ้านพ่อตา แม่ยาย 8 ปี (หน้า 191-192) หากอยู่ไม่ครบ 8 ปี หรือ พ่อ แม่ ฝ่ายชายไม่มีใครเลี้ยงดูก็จะนำไก่ 1 ตัว เหล้า 2 ขวด และเงิน 1 หมัน 5 บี้ไปมอบให้พ่อ แม่ ฝ่ายหญิง หากยินยอม ลูกเขยจะทำพิธีแต่งดองกลับคืน โดยจะเสียค่าสินเลี้ยง (ค่าน้ำนม) 7 หมัน 5 บี้ ค่าสินสอด 3 โป้ง 5 หมัน(รายงานระบุ 1 โป้ง เท่ากับ 14 หมัน 3 บี้) ให้พ่อตา แม่ยาย (หน้า 193) การแต่งงานของสามต้าว (ทูมก, ไทดอย) การแต่งดองพิธีจะจัดที่บ้านฝ่ายหญิง ในวันแรกเรียกว่ามื้ออุ่นดอง เป็นวันเตรียมอาหาร ในวันนี้ฝ่ายชายจะนำหมูไปให้ฝ่ายหญิง เพื่อฆ่าเซ่นไหว้บอกผีเรือน กับทำอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อ ในวันแต่งดอง ช่วงเช้า พ่อ แม่ฝ่ายหญิง จะไหว้ผีเรือนในช่วงเช้า ช่วงสายขบวนแห่ลูกเขยจะมาถึงบ้านพ่อตา แม่ยาย แล้วไหว้ผีเรือน และมอบเงิน 30 หมัน ประกอบพิธีสู่ขวัญ ลูกเขยจะอยู่ที่บ้านพ่อตา แม่ยาย 3-5 ปีจึงจะออกมาสร้างบ้านใหม่ (หน้า 198) การแต่งงานของลานแตน ผู้หญิงก่อนจะย้ายออกจากบ้านจะทำพิธีไหว้ผีเรือนกับผีเตาไฟลาออกจากการคุ้มครองของผีบรรพบุรุษ 5 โมงเย็น เจ้าบ่าวจะเอาหมูไปเชือดที่บ้านเจ้าสาว 1 ตัว เพื่อเซ่นไหว้ผีเรือน เวลา 1 ทุ่ม เจ้าบ่าว เจ้าสาวจะสวมชุดประจำเผ่าเข้าในพิธี ฝ่ายชายจะมอบเงินสินสอดให้ 3-6 กุ่ง จากนั้นจะเซ่นไหว้ผีเรือนและเชิญแขกรับประทานอาหาร ในวันต่อมาในช่วงเย็น เจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวไปบ้านของตนเอง แล้วจะฆ่าหมู ไก่ เซ่นไหว้ผีเรือนและรับขวัญสะใภ้ เมื่อแต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะอยู่ที่บ้านผู้ชายไปตลอด (หน้า 203) การแต่งงานของสีดา หากหนุ่มสาวรักกัน หนุ่มจะนัดสาวไปป่าเพื่อหาของป่า แล้วจะออกอุบายให้เพื่อไปขโมยผ้าคลุมหัวของผู้หญิง ให้เอามาไว้ที่บ้านของหนุ่มคนนั้น แล้วชายหนุ่มก็จะนำผ้าไปคืน หลังจาก 3 วันผ่านไป แล้วจากนั้นก็จะให้ญาติผู้ใหญ่ไปสู่ขอ การแต่งงาน วันที่เจ้าสาวออกจากบ้าน เจ้าบ่าวจะส่งคนไปรับ ขั้นต่อไปตัวแทนเจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวไปหาของป่า หรือหาปลาที่ลำน้ำ จนตะวันตกดิน เจ้าบ่าวก็จะฆ่าไก่ทำกับข้าวไปส่งแล้วรับเจ้าสาวมาเข้าพิธีแต่งงาน วันที่สอง ทั้งสองฝ่ายจะฆ่าหมูทำอาหาร ตอนเย็นฝ่ายชายจะให้ญาติไปสู่ขอที่บ้านเจ้าสาว เมื่อตกลงกันแล้วก็จะมอบเงินให้ 11 หมัน ค่าน้ำนม 5 บี้ ค่าบูชาผีเรือน 3 บี้ กับเงินปากผี 5 บี้ วันที่สาม ญาติของทั้งสองฝ่ายจะนัดพบกันแล้วรับประทานอาหาร (หน้า 210-211) การแต่งงานของกุ่ย หนุ่มสาวจะพบกันในเทศกาลกินดอง กินวอหลวง ต่อมาจะนัดเจอกันในช่วงกลางคืน หลังจากที่พ่อแม่หลับ หนุ่มจะไปหาสาวและหลับนอนด้วย เพราะกุ่ยถือว่าการมีเพศสัมพันธุ์ก่อนแต่งงานไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ในภายหลังฝ่ายชายก็จะให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอและกำหนดวันแต่งดอง ในวันพิธีแต่งดอง ลูกเขยจะหาฟืนยาว 3 เมตร 9 มัดไปให้พ่อ แม่ฝ่ายหญิงจ่ายค่าสินสอดและค่าจัดงาน เมื่อแต่งงานแล้วจะอยู่ที่บ้านพ่อตา แม่ยาย 8 ปี หากจะกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่จะต้องจ่ายค่าแต่งดอง เป็นเงิน 1 ขันหรือ 6 หมัน ไก่ 3 ตัว ข้าวเปลือก 3 ต่าง (ราว 60 กก.) ให้พ่อตา แม่ยาย (หน้า 214-215)

Political Organization

การแบ่งเขตการปกครองของประเทศลาว แบ่งได้ดังนี้ การปกครองมีทั้งหมด 16 แขวง 1 กำแพงนคร 1 เขตพิเศษ 126 เมือง 11,900 หมู่บ้าน ได้แก่ 1. แขวงพงสาลี 2. แขวงน้ำทา 3. แขวงบ่อแก้ว 4. แขวงอุดมไซ 5. แขวงหลวงพระบาง 6. แขวงไชยะบุรี 7. แขวงหัวพัน 8. แขวงเชียงขวาง 9. แขวงเวียงจันทน์ 10. แขวงบอลิคำไซ 11. แขวงคำมวน 12. แขวงสะหวันนะเขต 13. แขวงสาละวัน 14. แขวงจำปาสัก 15. แขวงเซกอง 16. แขวงอัตตะบือ 17. กำแพงนครเวียงจันทน์ 18. เขตพิเศษไซสมบูรณ์ (หน้า 13-14) การปกครองออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ 1. ภาคเหนือ มีทั้งหมด 8 แขวง ได้แก่ แขวงพงสาลี แขวงหลวงน้ำทา แขวงบ่อแก้ว แขวงอุดมไซ แขวงหลวงพระบาง แขวงไชยะบุรี แขวงเชียงขวาง แขวงหัวพัน เขตพิเศษไซสมบูรณ์ 2. ภาคกลาง ประกอบด้วย กำแพงนครเวียงจันทน์ แขวงเวียงจันทน์ แขวงบลิคำไซ แขวงคำมวน แขวงสะหวันนะเขต 3. ภาคใต้ ประกอบด้วย แขวงสาละวัน แขวงจำปาสัก แขวงเซกอง แขวงอัตตะบือ (หน้า 19) โครงสร้างการปกครอง ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม คศ.1975 การปกครองของรัฐ แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ อำนาจการปกครองศูนย์กลาง กับอำนาจการปกครองท้องถิ่น สำหรับอำนาจการปกครองศูนย์กลาง ประกอบด้วยสภาแห่งชาติสภารัฐมนตรี ศาลประชาชนสูงสุด สำหรับการปกครองเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ ในส่วนของการปกครองท้องถิ่นประกอบด้วย แขวง เมือง หมู่บ้าน (หน้า 27 แผนภูมิหน้า 30) การปกครองของปะนะ เมื่อก่อนนี้ปะนะ ปกครองระบบเจ้ากก เจ้าเหล่า ในการปกครองแบ่งเป็นตระกูลหรือสิง ทุกวันนี้เหลือ 3 สิง ได้แก่ สิงลี สิงเซา กับสิงฟ้ง การปกครองปัจจุบัน เป็นระบบที่รัฐจัดตั้ง มีนายบ้าน แนวโฮมบ้าน สหพันธ์แม่ญิงบ้านกับชาวหนุ่ม คือ อำนาจการปกครอง ของบ้านโยขึ้นกับเมืองและแขวง (หน้า 207)

Belief System

ศาสนาและความเชื่อ ชาติพันธุ์ที่อยู่ในภาคเหนือของประเทศลาว โดยมากจะนับถือผี เช่น กลุ่มลาวสง ลาวเทิง แต่สามต้าวจะนับถือศาสนาพุทธ สำหรับกลุ่มลาวลุ่มนั้นนับถือศาสนาพุทธ ยกเว้นไทดำ ไทแดง ไทขาว ซึ่งนับถือผี เช่นผีฟ้า หรือผีแถน ผีบ้าน ผีเรือน ผีป่า ผีเขา และมีความเชื่อเรื่องขวัญ (หน้า 134) กลุ่มลาวสูงจะนับถือผีบรรพบุรุษ คือวิญญาณของ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติที่เสียชีวิต โดยจะทำเป็นหิ้งเอาไว้บูชา ได้แก่ ม้ง เย้า และลานแตน สำหรับผีเรือนของม้ง แยกเป็น 6 ชนิด เช่นผีบรรพบุรุษ ผีเสาเอก ผีเตาไฟผีเตาต้มข้าวหมู ผีประตู ผีห้องนอน (หน้า 134) เย้ากับลานแตนนับถือผีบรรพบุรุษ ผสมกับลัทธิเต๋า ได้รับความเชื่อจากจีน และมีความเชื่อเรื่องขวัญ (หน้า 134, 204) ขมุนับถือผีบ้านเพราะเชื่อว่าช่วยคุ้มครองคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยง และเรือกสวนไร่นา (หน้า 134,185) ไทดำนับถือผีแถนเพราะเชื่อว่า เป็นผู้สร้างมนุษย์ นอกจากนี้ยังนับถือผีบ้าน ผีเรือน ผีป่า ผีเขา (หน้า 134) ประเพณีของไทดำ เสนเรือน พิธีไหว้ผีเเรือนของไทดำ คือ การไหว้ผีปู่ ย่า ตา ยาย ที่เสียชีวิตแล้ว ในแต่ละครอบครัวจะประกอบพิธีไหว้ 2-3 ปีต่อครั้ง หมอเสนจะเป็นคนทำพิธี ของที่ใช้ในการประกอบพิธี เช่น เหล้า เนื้อหมู อาหาร และ ขนม ผลไม้ น้ำ การประกอบพิธีในช่วงเช้า หมอเสนจะประกอบพิธีที่ห้องผีเรือน เจ้าของบ้านจะยกสำรับอาหารเครื่องเซ่น ถวายผีเรือน ขั้นต่อไป หมอเสนจะเชิญผีเรือนมารับเครื่องเซ่น โดยจะเรียกทีละชื่อ การทำพิธีหมอเสนจะใช้ตะเกียบคีบอาหารให้ผีกิน โยจะหย่อนลงช่องพื้นบ้าน จากนั้นก็หยอดน้ำ การเซ่นไหว้จะทำเช้ากับกลางวัน ขั้นต่อไปก็จะเซ่นด้วย เหล้า 1 ขวด (หน้า 144) ความเชื่อเรื่องผีของลื้อ ลื้อนับถือผี การจัดพิธีเกี่ยวกับผีจะทำตั้งแต่เกิดจนตาย ผีที่นับถือได้แก่ ผีเรือน ผีบ้าน ผีเมือง ซึ่งบ้านของลื้อจะทำหิ้งบูชาผีเรือนไว้ที่ห้องนอน เรียกว่า "เทวดาเรือน" เชื่อว่าจะช่วยปกปักรักษาคนในบ้าน สำหรับผีบ้าน (เทวดาบ้าน) ลื้อจะทำหอเสื้อบ้านประจำหมู่บ้าน เนื่องจากเชื่อว่า ผีบ้านจะช่วยคุ้มครองคนในหมู่บ้าน (หน้า 152) ความเชื่อของละเมด มีความเชื่อเรื่องผี สำหรับผีที่นับถือได้แก่ ผีฟ้า คือผี ทีกำหนดชะตาชีวิต ทำให้ฝนตกตามฤดูกาล ผีบ้านทำหน้าที่ทำให้คนในหมู๋บ้านอยู่เย็นเป็นสุข การเลี้ยงผีบ้านจะจัดปีละครั้ง ผีเรือนคือผีของปู่ ย่า ตา ยาย ที่เสียชีวิตไปแล้ว ละเมดจะทำหิ้งไว้ที่เสาของห้องนอนหัวหน้าครอบครัว พิธีเซ่นไหว้จะทำเมื่อมีคนในบ้านไม่สลายเป็นไข้ หรือช่วงหลังการเก็บเกี่ยว (หน้า 189,190) ความเชื่อของบิด นับถือผี สำหรับผีที่นับถือได้แก่ ผีบ้าน เชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองคนในหมู่บ้าน การเซ่นไหว้จะจัดพิธีประมาณเดือนมกราคม (หน้า 195) ความเชื่อของปะนะ นับถือผี สำหรับผีที่นับถือ ได้แก่ ผีบ้าน จะประกอบพิธีในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือนกันยายนที่ดงผีบ้าน ที่อยู่ป่ากรรมหรือป่าเขตหวงห้ามใกล้กับพื้นที่หมู่บ้าน และผีเรือนซึ่งเป็นผีของพ่อ แม่ ที่เสียชีวิต เจ้าของบ้านจะทำที่อยู่ให้กับผีเรือนในกล่องขนาดเล็ก เก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่ที่บริเวณหัวนอนของเจ้าของบ้าน (หน้า 208) ความเชื่อของกุ่ย นับถือผี เช่น ผีเรือนที่เป็นวิญญาณของพ่อ แม่ที่ล่วงลับไปแล้ว ผีบ้านคือผีอารักษ์ของหมู่บ้าน จะอยู่ที่ดงผีบ้าน ทำหน้าที่คุ้มครองคนในหมู่บ้าน สำหรับผีอื่นที่นับถือได้แก่ ผีต้นไม้ ผีบวก ผีหนอง (หน้า 213, 214)

Education and Socialization

ประชากรที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศลาว โดยมากจะไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากเป็นภูเขาสูง อยู่ไกลความเจริญ ประกอบกับประชากรค่อข้างยากจนกับมีการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นจำนวนมาก (บทคัดย่อหน้า,19)

Health and Medicine

การรักษาพยาบาลของไทดำ การรักษาด้วยหมอมด จะรักษาโดยการขับมดกับเสี่ยงทาย เพื่อให้รู้ว่าป่วยเพราะอะไร ถ้าเป็นเพราะผีทำก็จะทำพิธีเลี้ยงผี สำหรับการรักษาต้องเสียค่าคาย หรือค่าขึ้นครู 2 บี้ (ทุกวันนี้ใช้เงิน จำนวน 1,000 กีบ ) เทียน 8 คู่ ไข่ 2 ฟอง กระเทียม 2 หรือ 3 หัว ฝ้าย 1 มัด เกลือ 1 ห่อ ข้าวสาร กะละมัง ปอยผม 1 อัน เพื่อใช้ถวายผีมด เมื่อหมอมดเสียงทายแล้วรู้ว่าผีอะไรทำให้เจ็บป่วย ก็จะให้ญาติ เตรียมเหล้า และอาหารเพื่อเซ่น ผี (หน้า 145) การปลูกสมุนไพรของขมุ ขมุมักปลูกพืชที่กลิ่นฉุน หรือเผ็ด เพื่อนำมาปรุงอาหาร ป้อนผี และรักษาโรค เพราะเชื่อว่าคนไม่สบายเจ็บไข้ เองจากผีทำ ดังนั้นจึงปลูก ขมิ้น ขิง ข่า ไพร ใบกระเพรา ฯลฯ (หน้า 168) สุขภาพอนามัยของสีดา สีดามีสุขภาพไม่ค่อยดีเนื่องจากมีสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างไม่เจริญเท่าชาติพันธุ์อื่น ที่อยู่เป็นหุบเขาและมักนอนไม่กางมุ้งเพราะเชื่อว่าจะตะลำ ดังนั้นมีมีคนเป็นโรคมาลาเรียเป็นจำนวนมาก หมู่บ้านตั้งอยู่ในที่อับ อากาศถ่ายเทไม่ดีทำให้มีอัตราการตายค่อนข้างสูง (หน้า 209)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของไทดำ นุ่งเสื้อผ้าที่ย้อมมีดำด้วยต้นหอม หรือนิล ผู้ชาย สวมกางเกงกับเสื้อ เป็นผ้าฝ้ายทอมือสีดำ คาดหัวด้วยผ้าขันเฮี้ยว ยาวราว 4 วา ในโอกาสทั่วๆ ไปการแต่งตัวชอบนุ่งกางเกงยาวถึงหน้าแข้ง สวมเสื้อแขนกระบอก เสื้อผ่าหน้าอกติดกระดุม 10 ถึง 12 เม็ด ทำจากโลหะหรือเงิน เรียก "หมากแป่ม" การแต่งตัวเมื่อมีงานเทศกาลหรือโอกาสพิเศษ จะนุ่งกางเกงขายาว สวมเสื้อฮีแขนยาว ผ่าหน้าอกเสื้อ เสื้อยาวคลุมถึงสะโพก คอเสื้อกับแนวติดกระดุม เป็นแถบผ้าไหมสีแดง หรือสีขาว (หน้า 137,146) ผู้หญิง สวมซิ่นผ้าฝ้ายหรือซิ่นไหม เป็นลายดำสลับขาว โดยทำเป็นลายตั้ง ต่อเชิงลายจก ส่วนล่างยาวราว 3 นิ้ว สวมเสื้อแขนกระบอกสามส่วน สีดำหรือฟ้า เสื้อผ่าหน้าอกติดกระดุม 10-12 เม็ด เกล้าผมเอียงมาทางด้านข้าง หากเป็นสาวจะเกล้าผมไว้ทางด้านหลัง ถ้าเดินกลางแจ้งจะคลุมผมด้วยผ้าเปียวเพื่อกันแดด เมื่อมีงานสำคัญหรือเทศกาล ชอบนุ่งซิ่นไหมลายตั้งสีดำสลับสีขาว ต่อเชิงลายจก ส่วนด้านล่างเป็นผ้าไหมสีดำ เสื้อจะสวมเสื้อฮีคอกลม (หน้า146) การแต่งกายของลื้อ ผู้ชาย ในอดีตชอบไว้ผมยาวแล้วเกล้าผมไว้ สักหมึกที่แขน สักที่ขากระทั่งถึงเอว เจาะหู แล้วย้อมเขี้ยวเป็นสีดำ หากใช้ชีวิตประจำวัน สวมเกงเกงสะดอ สวมเสื้อย้อมจากต้นห้อม หรือน้ำนิลสีดำ โพกหัวด้วยผ้าขาว หากมีงานเทศกาลสำคัญ มักจะสวมเสื้อที่ปักด้วยด้ายสี (หน้า 163) ผู้หญิง สวมซิ่นทอเป็นลายขวางสีลับสีดำแดง ซึ่งเรียกว่า "ซิ่นแสง" ต่อหัวซิ่นกับตีนซิ่นเป็นแถบดำ สวมเสื้อรัดรูปเอวสั้นเรียกว่า "เสื้อปั๊ด" ติดกระดุมด้านข้าง หากมีงานเทศกาลก็จะสวมซิ่นที่ทอพิเศษ แล้วเกล้าผม ขมวดผมเป็นวงกลมตั้งบนผมที่เกล้า เรียกว่า "เกล้าผมว้อง" แล้วปักปิ่น โพกหัวด้วยผ้าขาว ชอบสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน เช่น ปลอกคอ กำไล ตุ้มหู และชอบย้อมเขี้ยวสีดำ (หน้า 163) การแต่งกายของยั้ง ผู้หญิง สวมซิ่นลายดอกเมื่อมีงานเทศกาลสำคัญ เสื้อผ้าประดับด้วยเงินบี้ เงินควาย เงินหมัน เกล้าผมปักปิ่นเงิน เสื้อผ้าจะปลูกฝ้ายและทอเสื้อผ้าใช้เอง ผู้ชาย สวมชุดดำตัดด้วยผ้าฮำ ย้อมด้วยครามหรือห้อม (หน้า 164) การแต่งกายของขมุ ชอบสวมเสื้อผ้าสีดำ หรือสีเข้ม ย้อมด้วยห้อมหรือเปลือกไม้ ผู้ชาย นุ่งกางเกงสะดอ สวมเสื้อหม้อห้อม ผู้หญิง สวมซิ่นลายขวางที่ทอเอง หรือซิ่นของลื้อ ที่ได้มาเพราะนำสิ่งของไปแลก สำหรับเสื้อจะสวมแบบเสื้อปั๊ดของลื้อ นอกจากนี้มักจะนำผ้าสีมาตกแต่งให้เสื้อเกิดความสวยงาม ประดับด้วยกำไลมือปลอกคอเงิน โพกหัวด้วยผ้าขาว (หน้า 168) การแต่งกายของลานแตน ผู้หญิง สวมกางเกงขายาวรัดรูปยาวถึงครึ่งน่อง จากนั้นก็จะสวมผ้าซิ่นทับอีกชั้น ชอบสวมปลวกคอ ต่างหูเงิน สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำและย้อมเอง ผู้ชาย สวมกางเกงหัวป้าย สวมเสื้อคอมนผ่าข้าง กระดุมทำจากไม้กลัดติดด้านข้างทางซ้ายมือ (หน้า 201) การแต่งกายของสีดา ชาติพันธุ์สีดาไม่มีเครื่องแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เพราะทอผ้าไม่เป็น ดังนั้นจึงนำสิ่งของไปแลกเปลี่ยนกับชาติพันธุ์อื่น อาทิ กะหล่อม ลื้อ ลานแตน ฉะนั้นเครื่องแต่งกายจึงมีความหลากหลาย ผู้หญิงสีดา ชอบนุ่งผ้าซิ่นของชาติพันธุ์ลื้อ ผู้ชายสีดา หากแลกเสื้อผ้ากับชาติพันธุ์อื่นมาได้ก็จะนำมาสวมใส่ (หน้า 209)

Folklore

ตำนานการดำน้ำงมพระพุทธรูปของไทดำ นานมาแล้ว ได้มีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งได้จมน้ำ กลุ่มชาติพันธุ์ไท – ลาว หลายกลุ่มได้ช่วยกันงมหาพระพุทธรูปแต่ทว่าประสบความล้มเหลว ภายหลังได้มีกลุ่มไทดำอาสาลงงมพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว และสามารถงมหาพระจนสำเร็จ ดังนั้นไทดำกลุ่มนี้จึงได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องกราบไหว้พระพุทธรูป ฉะนั้นไทดำจึงไม่นับถือศาสนาพุทธ ในเวลาไม่นาน เมื่อฝรั่งเศสได้เข้ามาปกครองประเทศเวียดนาม จึงได้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งรกรากอยู่ลุ่มแม่น้ำดำ ว่า "ไทดำ" (หน้า 137) นิยายเรื่อง "อมแปกอมแงน" ของขมุ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พี่กับน้องชายหญิงไปขุดอ้น (ตุ่น) เมื่อขุดเจออ้นก็ทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ดังนั้นอ้นตัวนั้นจึงบอกพาน้องทั้งสองไปเข้าไปอยู่ในกลอง เมื่อกลับมาที่บ้านพวกเขาจึงทำกลองใบใหญ่ จากนั้นก็เข้าไปอยู่ในนั้น เมื่อเกิดน้ำท่วมโลกคนก็เสียชีวิตจนหมด คงเหลือเฉพาะสองพี่น้องที่หลบอยู่ในกลอง เมื่อออกมาก็ทราบความจริงว่าคนได้เสียชีวิตจนหมดโลกทั้งสองไม่มีคู่ครอง ฉะนั้นทั้งสองคนจึงแต่งงานกัน (หน้า 169) เวลาผ่านไป 3 ปี ทั้งสองก็มีลูกโดยคลอดออกมาเป็นน้ำเต้า ดังนั้นจึงเอาน้ำเต้าไปวางไว้ข้างเตาไฟ เมื่อทั้งสองคนไปทำงานในไร่ ก็พลันได้ยินเสียงคนตะโกนอยู่ในน้ำเต้า ได้ยินเสียงร้องนั้นอยู่หลายครั้ง คนที่เป็นสามีจึงได้นำเหล็กแหลมเผาไฟแล้วเจาะลูกน้ำเต้า ก็เห็นคนอยู่ในนั้นอย่างแออัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงใช้สิ่วมาเจาะรู คนในนั้นจึงออกมาจากน้ำเต้า ดังนั้นคนที่ออกมาก่อนจึงมีผิวคล้ำ เพราะถูกเขม่าไฟ ภายหลังจึงมาเป็นบรรพบรุษของชาติพันธุ์ขมุ และเป็นพี่ของชาติพันธุ์อื่น สำหรับชาติพันธุ์ไท - ลาว และชาติพันธุ์อื่นๆ ถือว่าเป็นน้อง มีผิวขาว เพราะออกมาทางช่องที่เจาะด้วยสิ่ว (หน้า 169)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มี

Social Cultural and Identity Change

หลังการทำสงครามเพื่อปลดปล่อย เมื่อ ค.ศ.1975 ทำให้มีการถางป่ามากขึ้นเนื่องจากมีการอพยพเข้าไปอยู่ในเขตภาคเหนือของลาว เมื่อก่อนพื้นที่นี้เป็นเขตเศรษฐกิจแบบพึ่งพาธรรมชาติ เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบเสรีได้ขยายตัวเข้าไปในพื้นที่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยคนในพื้นที่ได้นำสินค้าที่เหลือจากการบริโภคมาจำหน่าย และมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้เงินคือ เมื่อก่อนนี้จะใช้เงินหมันกับเงินบี้ ที่เป็นเงินที่ฝรั่งเศสใช้ในระหว่างปกครองอินโดจีน ทุกวันนี้ใช้เงินกีบกับเงินบาท สำหรับเงินหมันจะใช้ในพื้นที่หุบเขาห่างไกล นอกจากนี้ด้านการผลิตเริ่มมีการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานจากสัตว์เลี้ยง (หน้า 216-220)

Map/Illustration

แผนที่ ถนนเชื่อมโยง ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม (หน้า 5) ประเทศลาว (หน้า12,43) แขวงบ่อแก้ว (หน้า 60) แผนภูมิ โครงสร้างการเมืองการปกครอง สปป.ลาว (หน้า 30) ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนต่างประเทศใน สปป.ลาว (หน้า 55) ระบบธนาคารของ สปป.ลาว (หน้า 107) ตาราง การคมนาคมขนส่งในแม่น้ำโขง (หน้า 39) ภาพ เส้นทางห้วยทราย – หลวงน้ำทา, หลวงน้ำทา - บ่อเตน (หน้า 77) บ่อเตน-บ่อหาน(หน้า 103) ชนเผ่าในลาวภาคเหนือ (หน้า 135) ชนเผ่าในแขวงบ่อแก้ว-แขวงหลวงน้ำทา (หน้า 136)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 09 เม.ย 2556
TAG เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, สังคม, ลาว, ลื้อ, ไทดำ, ยั้ง, ขมุ, ละเมด, สามต้าว, ลานแตน, ปะนะ, กุ่ย, เขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย ลาว จีน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง