สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ไต,ไทยใหญ่,ประวัติศาสตร์,วิถีชีวิตประเพณี,พม่า,เมียนมาร์
Author บุญช่วย ศรีสวัสดิ์
Title คนไทยในพม่า
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทใหญ่ ไต คนไต, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 615 Year 2503
Source พระนคร: โรงพิมพ์รามินท์
Abstract

กลุ่มชนชาติไตเป็นกลุ่มชนชาติที่เข้ามาอาศัยและตั้งอาณาจักรอยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลานาน ต่อมาเกิดการแก่งแย่งอำนาจภายในและการรุกรานจากภายนอก ทำให้ชาวไตต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาวพม่าและกระจัดกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งมีคนไทยที่อพยพไปอาศัยและที่ถูกกวาดต้อนไปรวมอยู่ด้วย แม้ว่าหลังจากที่พม่าได้เอกราชจากอังกฤษแล้ว ชาวไตก็ยังไม่มีการปกครองตนเองตามที่รัฐบาลพม่าสัญญาไว้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะถูกภายใต้การปกครองของพม่า แต่รัฐบาลต้องคอยเอาใจและชาวไตก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของตนไว้ได้ ทั้งที่มีชาวพม่าเข้าไปปกครองและค้าขาย รวมถึงแต่งงานด้วย แต่การดำรงอัตลักษณ์นี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความห่างไกลจากชาวพม่าเช่นกัน

Focus

ชนชาติไตหรือไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า

Theoretical Issues

ไม่ระบุ

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า ซึ่งผู้เขียนใช้คำว่า “ไต” เมื่อกล่าวถึงกลุ่มคนดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวได้เรียกตนเองว่า “ไต” (หน้า 8) และเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนนี้มาก่อนเกิดคำว่า “ไทย” (หน้า 98-99) ไตในพม่านั้นมีหลายกลุ่ม เช่น ไตโหลง ไตคำที่ ลูกไต เป็นต้น นอกจากไตแล้ว ผู้เขียนยังได้ศึกษากลุ่มคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ในพม่าอีก เช่น ชินและกะเหรี่ยง เป็นต้น รวมทั้งชาวพม่าด้วย

Language and Linguistic Affiliations

ผู้เขียนกล่าวว่า ภาษาที่ประชาชนใช้ในพม่ามีภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ แต่เนื่องจากที่พม่ามีชนกลุ่มต่าง ๆ อาศัยอยู่มากมาย ทำให้มีภาษาท้องถิ่นอื่น ๆ ที่ใช้ในพม่า เช่น ไต, ชิน, กะเหรี่ยง, ขิ่น, ต่องโย่, ตะนุ, ต่องสู่, อินต่า ฯลฯ เป็นต้น ภาษาท้องถิ่นเหล่านี้บางภาษาก็ยังแยกย่อยเป็นสาขาต่าง ๆ ได้อีก เช่น ภาษากะเหรี่ยงระหว่างพวกกะเหรี่ยงชาวเขากับพวกกะเหรี่ยงพื้นที่ราบ (หน้า 154) และภาษาไตระหว่างคนไตตามท้องที่ต่าง ๆ เป็นต้น ผู้เขียนได้เน้นความสำคัญที่ความแตกต่างของภาษาไตตามท้องถิ่นต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 5 จำพวกตามการออกเสียง ได้แก่ ไตตอนเหนือ, ไตตอนใต้, ภาษาไตน้ำคำและบริเวณลุ่มแม่น้ำมาว, ภาษาไตขึน และไตลื่อ (หน้า 601-602) นอกจากภาษาที่มีอยู่แต่เดิมในพม่าแล้ว ยังมีภาษาอื่น ๆ ที่ใช้ในพม่าอีก เช่น ภาษาจีน ภาษาอินเดีย และภาษาทางยุโรป เป็นต้น ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในกลุ่มคนที่เข้ามาภายหลัง โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (หน้า 8-9)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ผู้เขียนกล่าวถึงประวัติที่มาของชาวไตแบ่งเป็นท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง เดิมเป็นพวกไตโหลงในอาณาจักรเวิ้งน้ำมาว แต่เกิดการแก่งแย่งอำนาจของผู้นำ ทำให้ชาวไตจำนวนหนึ่งอพยพข้ามแม่น้ำเอราวดีไปทางตะวันตกมาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำอุยุและสร้างเมืองจำนวนมากตามริมแม่น้ำอุยุและแม่น้ำชินตะวินตอนบน (หน้า 99-100) ต่อมาก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและอังกฤษตามลำดับ โดยให้มีเจ้าฟ้าปกครองเช่นเดิม แต่มีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้ามาควบคุมอีกทอดหนึ่งและเสียภาษีให้รัฐบาลกลาง จากนั้นก็มีการเกิดกบฏขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ถูกรัฐบาลอังกฤษปราบปรามและได้แบ่งดินแดนชินตะวินออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ขึ้นอยู่ภายใต้บังคับบัญชาอังกฤษกับส่วนที่ไม่ขึ้นอยู่ภายใต้การปกครอง แต่ให้มีเจ้าฟ้าปกครองและเสียภาษีให้อังกฤษ เหตุการณ์จึงสงบลง (หน้า 119-120) 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น รัฐกะฉิ่นเดิมเป็นของชาวไตโหลงหรือไตมาว ต่อมาก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและอังกฤษในเวลาต่อมา จากนั้นก็เกิดกบฏขัดแย้งระหว่างเจ้าฟ้าไตด้วยกัน โดยมีชาวกะฉิ่นเป็นกำลังรบสำคัญ แต่ก็ชาวกะฉิ่นเองก็ก่อกบฏต่อเจ้าฟ้าไต เมื่ออังกฤษยึดพม่าเหนือ ก็ได้เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยระหว่างพวกกะฉิ่นกับชาวไต เมื่อแสนหวีเหนือตกอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ ทางอังกฤษก็ได้จัดการแยกถิ่นอาศัยของชาวกะฉิ่นกับชาวไตออกจากกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของอังกฤษเก็บภาษีแทน นับแต่นั้นมาชาวกะฉิ่นจึงสงบลงและชาวกะฉิ่นบริเวณชายแดนจีนและธิเบตก็ได้อพยพเข้ามาจำนวนมากขึ้นและกลายเป็นเจ้าของรัฐแทนชาวไต (หน้า 178-181) พวกไตจีนหรือไตแข่มีที่มาจากการอาศัยอยู่ในเมืองที่เคยเป็นของจีน เช่น เมืองมาว เมืองเจ้ฟ๋าง และเมืองขอน เป็นต้น แต่ภายหลังก็ตกไปเป็นเมืองขึ้นของจีน (หน้า 199) ส่วนชาวไตคำที่โหลงมีตำนานว่า พวกเขาได้อาศัยอยู่บริเวณทางตอนเหนือสุดของรัฐกะฉิ่นมาเป็นเวลานาน ต่อมาถูกกองทัพธิเบตรุกราน แต่ก็พ่ายแพ้ไป จากนั้นก็ตกอยู่ใต้การปกครองของพวกไตมาว โดยเป็นเมืองขึ้นเมืองก๋อง แล้วก็ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า จนถึงสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครองพม่า อังกฤษก็ได้จัดการปกครองให้หัวเมืองไตภาคเหนืออยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวง แต่ก็ให้มีเจ้าฟ้าปกครองกันเองอีกทอดหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2459 จึงได้มีการส่งข้าราชการอังกฤษเข้าไปปกครองในฐานะจังหวัดคำที่โหลง ก่อนที่จะถูกยุบรวมกับจังหวัดมยิตจีนาใน พ.ศ. 2471 (หน้า 205-209) 3.ชาวไตในรัฐชาน มีการตั้งอาณาจักรครั้งแรกที่เมืองมาว ติดแม่น้ำมาว ต่อมาได้แบ่งแยกดินแดนออกจำนวนมากมาย จากนั้นอาณาจักรไตก็ถูกพม่ายึดครองเป็นเมืองขึ้น ระหว่างนี้ก็ได้เกิดความขัดแย้งปะทะกันระหว่างไตกับไตด้วยกันและไตกับกะฉิ่น จนกระทั่งอังกฤษได้เข้ามาควบคุมจัดการแบ่งแยกหัวเมืองปกครองชาวไตออกเป็นส่วน ๆ มีข้าหลวงบังคับบัญชา แต่เจ้าฟ้าแต่ละเมืองยังคงมีอำนาจในการปกครองท้องถิ่น เพียงเสียภาษีให้กับอังกฤษเท่านั้น (หน้า 220-228) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษก็ได้ให้เอกราชแก่พม่า นายพลอูอองซานก็ได้ชักชวนให้บรรดาเจ้าฟ้าต่าง ๆ ของฝ่ายไตเข้าประชุมร่วมกันอยู่ในสหภาพพม่าเป็นเวลา 10 ปี จากนั้นรัฐไตต้องการแยกตัวก็แยกออกได้ แต่ท้ายสุดเมื่อครบเวลา 10 ปี ทางรัฐบาลพม่าไม่ต้องการให้รัฐชานแยกตัวด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้มีชาวไตบางกลุ่มที่ต้องการให้รัฐชานมีการปกครองตนเองเข้าต่อสู้กับรัฐบาลพม่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา (หน้า 248-256) 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย ตามตำนานของชาวไต เมืองนายเป็นเมืองของเชื้อพระวงศ์ชนชั้นสูงของชาวไตที่ดูแลเมืองต่าง ๆ ในหัวเมืองไตตอนใต้ ขึ้นกับอาณาจักรของขุนสามโหลงฟ้า ในสมัยที่พม่ามีอำนาจ กษัตริย์ของพม่าก็ใช้เมืองนายเป็นหัวเมืองในการควบคุมหัวเมืองไตตอนใต้เช่นกัน (หน้า 333-335) ต่อมาเมืองนายกับเมืองอื่นอีก 10 เมืองก็ต่างก่อกบฏต่อพม่า แต่ก็พ่ายแพ้จนต้องอพยพหนีมายังเชียงตุง เมื่ออังกฤษสามารถเข้ายึดครองมันทเลได้ ซวยลิ่นบิ่น เชื้อพระวงศ์คนหนึ่งของพม่า ก็มาขอความช่วยเหลือจากเจ้าฟ้าไตที่เมืองเชียงตุงในการกอบกู้พม่า เจ้าฟ้าที่เชียงตุงก็ได้ชักชวนเจ้าฟ้าคนอื่น ๆ เข้าร่วมรบกับอังกฤษ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมืองนายเป็นหนึ่งในเมืองแรก ๆ ที่ยอมแพ้ต่ออังกฤษ ก่อนที่เจ้าฟ้าเมืองอื่น ๆ จะยอมแพ้ต่ออังกฤษในเวลาต่อมา (หน้า 341-348) 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง มีความเป็นมาเป็นตำนานของชายคนหนึ่งได้สัญญากับฝูงกาให้ตนได้เป็นเจ้าเมืองสักเมือง เมื่อได้เป็นเจ้าเมืองประจันตะคามก็ได้ผิดสัญญาทำให้ถูกฝูงมาเอาไปทิ้งไว้ยังเกาะกลางมหาสมุทรและสาปแช่งให้เมืองประจันตะคามมีน้ำท่วมจมหายไป ต่อมาก็ได้มีฤๅษี โอรสของเมืองว้องมาระบายน้ำออกจากเมือง แต่ก็มีเพียงบริเวณรอบ ๆ ที่อาศัยได้และเป็นที่อยู่ของพวกละว้า เมื่อพระยามังรายได้มาถึงหนองตุงแห่งนี้ ก็ต้องการเอาไว้อยู่ในเขตปกครอง จึงใช้อุบายเอาชนะพวกละว้าได้และให้พวกละว้าสร้างเมืองที่หนองตุง มีผู้ปกครองผัดเปลี่ยนหลายคน และก็ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่าใน พ.ศ. 2356 ต่อมาได้มีสงครามกับกองทัพไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กองทัพไทยไม่สามารถเอาชนะได้และถอยร่นไป จากนั้นเมื่อพระเจ้ามินตงสวรรคต เจ้าฟ้าเมืองไตรวมกับ 10 หัวเมืองก่อกบฏต่อพม่า แต่ไม่สามารถสู้ได้ก็ถอยร่นมาพึ่งพิงเมืองเชียงตุง กองทัพเชียงตุงก็ได้เข้าต่อสู้กับพม่าจนอังกฤษสามารถยึดมันตะเลไว้ได้ ใน พ.ศ. 2434 อังกฤษก็ได้เข้ามาจัดการปกครองในรัฐเชียงตุง จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพไทยก็ได้ขึ้นมายึดเมืองเชียงตุงไว้ 1 ปี ก่อนที่จะคืนให้แก่อังกฤษ และสุดท้ายก็คืนอำนาจการปกครองให้กับพม่าใน พ.ศ. 2502 หลังจากอังกฤษประกาศเอกราชให้พม่า (หน้า 365-380) 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี เดิมรัฐแสนหวีใต้กับรัฐแสนหวีเหนือรวมกันเป็นอาณาจักรแสนหวี ต่อมาขุนส่างต้นฮุ้งได้นำชาวไตกับชาวกะฉิ่นก่อจราจลตั้งตัวเป็นใหญ่ จนเจ้าฟ้าเมิงโอรสต้องหนีไปยังเมืองนาย จนอังกฤษเข้ามาช่วยเหลือให้ไปปกครองรัฐแสนหวีใต้ ส่วนรัฐแสนหวีเหนือ อังกฤษก็เกลี้ยกล่อมให้ขุนส่างต้นฮุ้งยอมสวามิภักดิ์ และได้แต่งตั้งเป็นเจ้าฟ้าปกครองแสนหวีเหนือ

Settlement Pattern

ผู้เขียนกล่าวถึงรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชาวไตในท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง จะตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำชินตะวินและสาขาของแม่น้ำ ซึ่งขึ้นกับจังหวัดชินตะวินเหนือกับจังหวัดภูเขานากะ (หน้า 98, 102) เมืองที่มีชาวลูกไตจำนวนมากได้แก่ กินตั๊ด, กะบอ, ปานส่า, จิตตอง, พวงปิ่น, สองสบ, โฮ่มมาลิน, กอยา เลงาใบ, กอง, มองคำ, ตะม่านสี, เพ่ลิน, ฉิ่งกะลิ่งคำที่, อุยุ, หนองปู่อ่อง, ฮ่องปา และบ่อแสงเขียว (หน้า 108-109) 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น ชาวไตโหลงจะตั้งถิ่นฐานกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณเมืองก๋อง เมืองยาง และบริเวณรอบ ๆ เมืองยาง เช่น เมืองโหป่าง, น้ำก๋อง, น้ำหยุม, หม่านว่วย และเมืองปุด เป็นต้น (หน้า 188) บริเวณชายแดนของรัฐกะฉิ่นจะเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไตแข่ มีบางส่วนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองหม่านหม่อ (หน้า 191-192) บ้านเรือนของชาวไตบริเวณที่ราบ โดยเฉพาะที่ราบหูกอง จะสร้างไม่แน่หนาถาวรและใช้ฝาสานไม้ไผ่ (หน้า 197) ส่วนชาวไตคำที่โหลงจะอาศัยอยู่ตอนเหนือของรัฐกะฉิ่น (หน้า 202) มีบางส่วนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในมณฑลอัสสัมของอินเดีย (หน้า 204-205) บ้านเรือนจะมีการยกพื้นใต้ถุนสูง มีชานระเบียงรับแขกและที่วางหม้อน้ำ (หน้า 211-212) 3.ชาวไตในรัฐชาน โดยทั่วไปมักจะสร้างบ้านหลังใหญ่อยู่รวมกันหลายครอบครัว (หน้า 239) ส่วนชาวไตบริเวณเมืองตองกี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐชาน มีตึกบ้านเรือนแบบทันสมัยอยู่สองฟากถนน (หน้า 281) 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย ผู้เขียนไม่ระบุ 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง พลเมืองชาวไตแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ชาวไตที่เป็นคนไทยจะตั้งถิ่นฐานบริเวณทางตะวันตกของแม่น้ำสาลวิน ชาวลื่อจะตั้งถิ่นฐานบริเวณทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐเชียงตุง แต่ชาวไตขึน ผู้เขียนไม่ได้ระบุ 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี ผู้เขียนกล่าวถึงแต่เพียงส่วนของแสนหวีเหนือว่า ชาวไตเหนออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหัวเมืองชายแดนของรัฐแสนหวี บ้านเรือนของชาวไตมีทั้งที่เป็นแบบเก่าก่อสร้างด้วยอิฐและแบบตึกทันสมัย (หน้า 440-441)

Demography

พลเมืองที่ทางราชการอังกฤษสำรวจในปี พ.ศ. 2474 (หน้า 6-9) มีจำนวน 14,647,497 คน ประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ มากมายหลายภาษา มีชาวพม่า 8,841,760 คน, ชาวกะเหรี่ยง 1,341,066 คน, ชาวไต 1,021,917 คน, ชาวยะไข่และคนอื่น ๆ ในท้องถิ่นยะไข่ 844,407 คน, ชาวกูกี-ชิน 343,854 คน, ชาวมอญ 305,294 คน, ชาวปะหล่องวะ 176,024 คน, ชาวนากะหรือนาคะ 153,896 คน, ชาวตะนุ ชาวอินต่า และอื่น ๆ 140,735 คน, ชาวโลโล-มูเซอ 93,052 คน, ชาวอะซี ละซี มารู และอื่น ๆ 35,792 คน, ชาวแสก 35,237 คน, ชาวมะโร 14,094 คน, ชาวมลายู 6,368 คน, ชาวมาน (แม้ว, เยา) 947 คน และชาวจีน 13,536,961 คน นอกจากนี้ยังมีชนชาติที่พูดภาษาอื่นที่เข้ามาอยู่ภายหลัง โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ ชาวอินเดีย ชาวยุโรป และอื่น ๆ รวมกันมีจำนวน 1,110,536 คน และมีชนชาติที่ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เช่น ชาวมิสมีและชาวกะสี ผู้เขียนยังกล่าวอีกว่า จำนวนชาวไต 1,021,917 คนนั้น ก็ไม่แน่นอน เนื่องจากมีชาวไตในถิ่นอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งนับรวมกันได้จำนวนถึง 3,600,000 คนเศษ จากจำนวนพลเมืองชาวไต 1,021,917 คน ผู้เขียนระบุจำนวนพลเมืองชาวไตตามท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง ตามการสำรวจของราชการอังกฤษใน พ.ศ. 2434 มีจำนวนประมาณ 45,000 คน 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น ผู้เขียนประมาณการณ์ว่า มีชาวไตไม่ต่ำกว่า 300,000 คน (หน้า 176) ชาวไตคำที่โหลงมีการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2464 เฉพาะผู้ใหญ่ในพื้นที่ราบ 200 ตารางไมล์ มีจำนวน 7,623 คน (หน้า 209-210) ส่วนจำนวนชาวไตแข่ ผู้เขียนไม่ระบุ 3.ชาวไตในรัฐชาน ผู้เขียนประมาณการณ์ว่า มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน (หน้า 232) 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย ผู้เขียนระบุจำนวนพลเมืองชาวไตในเมืองนาย 5,161 หลังคาเรือน (หน้า 337) แต่จำนวนพลเมืองชาวไตในเมืองเชียงคำกับเชียงตองผู้เขียนได้กล่าวรวมกับชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวไตด้วย รวมแล้วเป็นจำนวน 25,000 คน 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง มีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของพลเมืองทั้งหมด 267,836 คน (หน้า 356) 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี ผู้เขียนระบุจำนวนพลเมืองชาวไตในรัฐแสนหวีเหนือไว้จำนวน 43,140 คนจากการสำรวจเมื่อง พ.ศ. 2441 (หน้า 435) แต่รัฐแสนหวีใต้ระบุรวม ๆ กับชนชาติอื่นรวมแล้ว 11,370 หลังคาเรือน แต่ชาวไตเป็นคนส่วนใหญ่ของรัฐนี้ (หน้า 429-430)

Economy

อาชีพต่าง ๆ ของชาวไตสามารถแบ่งตามท้องถิ่นได้ดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง ส่วนใหญ่จะทำอาชีพเกษตรกรรม พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าว, ข้าวฟ่าง, ข้าวสาลี, ข้าวโพด, ถั่ว, ชา, ยาสูบ, ฝ้าย และงา โดยเฉพาะชา มีการปลูกชามากที่เมืองมองคำ, กอยา, ของคำ, ตะม่านสี, ตะจุ่ง และฉิ่งกะลิ่งคำที่ จนสามารถส่งออกไปขายยังมณีปุระและอัสสัม และต่างประเทศด้วย มีการหาของป่า การทำป่าไม้ การร่อนทอง และการหาอัญมณีมีค่า เช่น ทับทิมและนิลสีคราม อุตสาหกรรมท้องถิ่นจะเป็นการผลิตเกลือและทอผ้า นอกจากนี้มีการทำการค้ากับพ่อค้าที่เดินทางเข้ามาและออกไปทำการค้ากับท้องถิ่นใกล้เคียง โดยล่องเรือไปตามแม่น้ำชินตะวินและแม่น้ำอุยุ (หน้า 115-116) 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น โดยทั่วไปจะมีอาชีพทำนาตามที่ราบริมน้ำและระหว่างเขาและทำเครื่องปั้นดินเผาบริเวณหม่านหม่อ (หน้า 187-188) มีการทำการค้ากับพ่อค้าพม่าที่เข้ามาค้าขายและชาวเขา (หน้า 181, 197) ชาวไตแข่นอกจากจะทำการเกษตรแล้วยังร่อนทองและรับจ้างทำงานในเมืองช่วงฤดูร้อน (หน้า 191) ส่วนชาวไตคำที่โหลงจะมีอาชีพทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า และเป็นพ่อค้าคนกลางในการแลกสินค้าของตน เช่น เกลือ ผ้าห่มนอน เครื่องประดับ และสินค้าอื่น ๆ กับของป่าจากพวกชาวเขา แล้วเอามาขายให้กับพ่อค้าชาวอินเดียและชาวพม่าที่รับซื้อต่อในเมือง (หน้า 213) 3.ชาวไตในรัฐชาน แม้รัฐชานจะมีทรัพยากรธรรมชาติมาก แต่ชาวไตแทบไม่มีอำนาจในการนำเอาทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากกฎหมายของสหภาพพม่า (หน้า 234) ชาวไตในรัฐชานจึงมีอาชีพทำการเกษตร ปลูกข้าว, ยาสูบ, ใบตองหมัน, ฝ้าย, ไหม, ชา ฯลฯ งานอุตสาหกรรมก็เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ทำเครื่องเขินที่เมืองล่ายข้า ถ้วยชามแกะสลักหินสีขาวและภาชนะดินเผาที่เมืองหมอกใหม่ ถุงย่ามจากเมืองน้ำคำ ทำหมวกไม้ไผ่ที่เมืองหนอง มีการทอผ้าใช้เองทุกครัวเรือน ส่วนผ้าที่ใช้ในการค้าขายจะเป็นผ้าไหมแถบทะเลสาบอินเล (หน้า 237) ในตองกีจะมีตลาดนัด 5 วันมีครั้งหนึ่ง ชาวไตจึงทำการค้ากับพวกชาวเขาด้วย (หน้า 282) 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย โดยทั่วไปจะมีอาชีพปลูกข้าว, ยาสูบ ,อ้อย ,หอม และส้มจุกหรือส้มเขียวหวาน ทำกระดาษ และค้าขายด้วยกันเองและค้าขายกับหัวเมืองใกล้เคียงจนถึงเมืองที่อยู่ห่างไกล เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และต่องอู่ (หน้า 337-338) ชาวไตในเมืองเชียงตองและเชียงคำจะมีการทำป่าไม้เพิ่มเข้ามาด้วย เนื่องจากที่บริเวณริมแม่น้ำสาลวินมีป่าไม้จำนวนมาก เช่น ไม้สัก ไม้โอ๊ค และไม้สน (หน้า 339-340) 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง มีอาชีพหลักเป็นการทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าว, ยาสูบ, อ้อย, ส้มจุก, ฝ้าย, ชา, ถั่วเหลือง, เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ มีอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ทำตุ๊กตาชาวเขา, รองเท้าแบบไต, อานม้า, เครื่องเขิน, และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น มีการร่อนทองและทำเหมืองแร่กำมะถันและอัญมณี มีสินค้าสำคัญคือ ฝิ่น (หน้า 359-360) 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี มีอาชีพทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าออกสำคัญ, ผัก และผลไม้ มีการปลูกยาสูบตามที่ลุ่มริมแม่น้ำจ๋างและฝิ่นตามเนินเขาชายแดน มีการทำงานหัตถกรรมบ้างเล็กน้อย เช่น รองเท้าหนังกระบือและหมวกสานไม้ไผ่ เป็นต้น การทอผ้ามีอยู่ตามชนบททุกหนแห่ง มีตลาดนัดทำการค้ามากมาย (หน้า 431)

Social Organization

ไม่ระบุ

Political Organization

ผู้เขียนกล่าวถึงการจัดการปกครองทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกลางกับชาวไตดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง เดิมมีเจ้าฟ้าปกครองจนถึงช่วงที่อยู่ใต้การปกครองของพม่าระยะหนึ่ง โดยให้เจ้าฟ้าปกครองท้องถิ่นต่อ ต่อมาให้ชาวพม่าเข้าไปปกครองเป็นเจ้าเมืองแทนในบางเมือง (หน้า 99-100, 108) เมื่อตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ อังกฤษก็ให้เจ้าฟ้ามีอำนาจในการปกครองท้องถิ่นเช่นเดิม ก่อนที่อังกฤษจะประกาศคืนเอกราชให้พม่า ทำให้เจ้าฟ้าต้องคืนอำนาจของตนให้รัฐบาลกลาง ปัจจุบันจะมีข้าราชการชาวพม่าปกครองและแบ่งแต่ละเมืองเป็นอำเภอและตำบล อำเภอหนึ่งมีผู้ปกครองที่เรียกว่า “ป้อโม้ง” หรือ ”ปู่เห็ง” ตำบลมีก้าง (กำนัน) และปู่แก่ (ผู้ใหญ่บ้าน) (หน้า 113) 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น เดิมมีเจ้าฟ้าปกครอง ต่อมาเมื่อตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า พม่าก็ได้ส่งชาวพม่าเข้าปกครองจนกระทั่งพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (หน้า 179) อังกฤษได้จัดการปกครองรวมไปกับรัฐไตภาคเหนือภายใต้การบังคับบัญชาของข้าหลวง ช่วงแรกยังคงให้เจ้าฟ้ามีการปกครองท้องถิ่นเช่นเดิม จนถึงปี พ.ศ. 2459 อังกฤษจึงส่งเจ้าหน้าที่ของตนเข้าไปปกครองเอง (หน้า 208-209) จนกระทั่งอังกฤษประกาศคืนเอกราชให้พม่า มีการร่างรัฐธรรมนูญการปกครองสหภาพพม่าระบุให้ จังหวัดมยิตจีนาและจังหวัดหม่านหม่อรวมกันอยู่ในสหภาพพม่าในนาม “รัฐกะฉิ่น” (หน้า 181-182) 3.ชาวไตในรัฐชาน เดิมมีเจ้าฟ้าปกครองในเมืองใหญ่ 9 เมือง เมื่อตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า พม่าก็ยังคงให้เจ้าฟ้ามีการปกครองต่อไปจนกระทั่งอังกฤษเข้ามาปกครอง (หน้า 250-251) อังกฤษได้แบ่งรัฐชานออกเป็นส่วน ๆ โดยส่วนใหญ่ให้มีการปกครองร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กับเจ้าฟ้า มีเพียงหัวเมืองภาคกลางและหัวเมืองภาคเหนือที่ข้าหลวงอังกฤษปกครองโดยตรง (หน้า 221-228) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐชานก็ได้รวมกันอยู่ในสหภาพพม่า แม้ว่าจะมีผู้ไม่พอใจและเข้าต่อสู้กับรัฐบาลพม่าจำนวนมากก็ตาม (หน้า 255-256) 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย เดิมมีเจ้าฟ้าปกครองและเป็นเมืองใหญ่ที่ควบคุมหัวเมืองไตตอนใต้ เมื่อพม่าเข้ามาปกครอง ก็ได้แต่งตั้งขุนนางพม่าเข้าไปปกครอง มีอำนาจเหนือเจ้าฟ้าอีกทอดหนึ่ง (หน้า 334-335) ต่อมาเมื่ออังกฤษเข้าปกครอง ก็จัดรัฐเมืองนายเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองรัฐชานใต้ มีข้าหลวงอังกฤษปกครองร่วมกับเจ้าฟ้าจนกระทั่งอังกฤษประกาศคืนเอกราชให้พม่า 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง เดิมมีเจ้าฟ้าปกครอง เมื่อพม่าเข้าปกครอง ก็ให้รัฐเชียงตุงเป็นประเทศราช ให้มีเจ้าฟ้าปกครองเช่นเดิม ต่อมาใน พ.ศ. 2434 หลังจากอังกฤษยึดพม่าไว้ได้ ก็ได้เข้ามาจัดการปกครองรัฐเชียงตุง (หน้า 379) ให้อยู่ในส่วนการปกครองรัฐชานใต้ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น กองทัพไทยก็ได้เข้ายึดครองเชียงตุงไว้ได้ 1 ปี จากนั้นก็คืนให้แก่อังกฤษ เจ้าฟ้าก็ได้ปกครองอยู่ระยะหนึ่ง เมื่ออังกฤษประกาศคืนเอกราชให้พม่า เจ้าฟ้าก็ต้องคืนอำนาจให้รัฐบาลพม่าใน พ.ศ. 2502 (หน้า 379-380) 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี เดิมมีเจ้าฟ้าขึ้นปกครอง ไม่ได้ระบุว่า เคยตกอยู่ใต้การปกครองของพม่าหรือไม่ เมื่ออังกฤษเข้ามา ก็ได้ให้มีเจ้าฟ้าปกครองต่อไป ปัจจุบันยังคงมีเจ้าฟ้าปกครองอยู่ (หน้า 427-429)

Belief System

ผู้เขียนกล่าวถึงระบบความเชื่อของชาวไตในท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง จะนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัดและมักไปทำบุญกันเป็นหมู่คณะ แต่ยังคงมีการนับถือไสยศาสตร์และนับถือผีอยู่ ซึ่งผีของชาวลูกไตคือ เทพารักษ์รักษาหมู่บ้าน โดยมีการตั้งศาลพระภูมิ 1 แห่งในหมู่บ้านนั้น (หน้า 126) 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น ชาวไตคำที่โหลงนอกจากจะนับถือศาสนาพุทธแล้วยังนับถือเสือว่า เป็นต้นตระกูลของพวกเขา และจะไม่ทำร้ายเสือหากไม่มีความจำเป็นด้วย (หน้า 212) นอกจากนี้ยังถือตนว่า เป็นลูกหลานของพระยานาค ดังจะเห็นได้จากการแต่งกายที่ใช้สีแดงกับสีเขียว โดยเชื่อว่า เป็นสีที่พระยานาคชอบ (หน้า 213) 3.ชาวไตในรัฐชาน ไม่ระบุ 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย ไม่ระบุ 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง จะนับถือพุทธศาสนาแบบยนมากกว่าพม่า (หน้า 362) 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี ไม่ระบุ

Education and Socialization

ผู้เขียนกล่าวถึงการศึกษาและการสืบทอดภูมิปัญญาของชาวไตท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง จะบวชเรียนศึกษาหนังสือพม่าตั้งแต่อายุยังน้อย ต่อมาจึงได้ศึกษาในโรงเรียนประถมและมัธยม แต่โรงเรียนทั้งสองระดับก็มีจำนวนน้อย การเรียนวิชาฟันดาบถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชายชาวลูกไตทุกคนที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ (หน้า125-126) 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น ไม่ระบุ 3.ชาวไตในรัฐชาน จะบวชเรียนตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง ก็ได้มีการศึกษาโดยโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์และชาวอังกฤษได้เปิดโรงเรียนสอนหนังสือให้กับเชื้อพระวงศ์ที่ตองกี บางพระองค์ที่สำเร็จการศึกษาก็ไปเล่าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งหรือไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษ ในปัจจุบันได้มีโรงเรียนเกิดขึ้นมากมายหลายระดับ แต่มหาวิทยาลัยยังมีเพียงมันตะเลกับย่างกุ้งเท่านั้น (หน้า 242-243) 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย ไม่ระบุ 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง ชาวไตในเมืองใหญ่จะเรียนหนังสือในโรงเรียนของรัฐบาล โรงเรียนคริสเตียน โรงเรียนของชาวยุโรป โรงเรียนของชาวอเมริกัน หรือโรงเรียนจีน ส่วนตามเมืองเล็ก ๆ หรือหมู่บ้าน จะบวชเรียนตั้งแต่เด็ก ใช้หนังสือภาษาขิ่นมากกว่าภาษาพม่า มีบางคนเรียนหนังสือภาษาไต (หน้า 362) 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี ไม่ระบุ

Health and Medicine

ผู้เขียนกล่าวถึงการรักษาโรคของชาวไตในท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง ตามเมืองจะมีการรักษาพยาบาลตามสถานนีพยาบาลและโรงพยาบาลคริสเตียน ส่วนตามหมู่บ้านจะมีหมอยาแผนโบราณใช้สมุนไพร รวมทั้งมีอาจารย์เวทมนตร์ใช้คาถาอาคมปลุกเสก (หน้า 124) 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น ไม่ระบุ 3.ชาวไตในรัฐชาน ไม่ระบุ 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย ไม่ระบุ 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง ไม่ระบุ 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี ไม่ระบุ

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ผู้เขียนกล่าวถึงศิลปะและการแต่งกายพื้นบ้านไว้ดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง ผู้ชายจะนุ่งโสร่งเหมือนชาวพม่า สวมหมวกกุ๊บ และถือดาบสะพาย มีการสักหมึกเพียงตามขา ผู้หญิงจะแต่งกายแบบหญิงพม่า ขนบประเพณีบางอย่างใช้แบบพม่า แต่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีลูกไตไว้หลายอย่าง (หน้า 121-122) 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น ผู้หญิงชาวไตแข่จะแต่งกายด้วยผ้าสีดำหรือสีน้ำเงินดำ และสวมหมวกผ้าสูง (หน้า 191) ต่างจากหญิงชาวไตที่สวมหมวกใบใหญ่ ส่วนชาวไตคำที่โหลง ผู้ชายจะการแต่งกายตามแบบพม่า คือ นุ่งโสร่ง มีบางส่วนที่ยังใช้กางเกงขายาวแบบจีนอยู่ โพกศีรษะด้วยผ้า มีชายห้อยลงมา ผู้หญิงจะนุ่งผ้าพื้นดำมีแซงเส้นสีแดงลงไปคล้ายพวกลาวโซ้ง เสื้อเป็นสีดำมากกว่าสีขาว มีสีอื่นประดับเพื่อความสวยงามบ้าง การแต่งกายที่ใช้สีแดงกับสีเขียว โดยเชื่อว่า เป็นสีที่พระยานาคชอบ (หน้า 213) 3.ชาวไตในรัฐชาน ไม่ระบุ 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย ไม่ระบุ 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง ไม่ระบุ 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี ไม่ระบุ

Folklore

ผู้เขียนกล่าวถึงเรื่องเล่าของชาวไตท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1.ชาวลูกไตในภาคจะแกง ไม่ระบุ 2.ชาวไตในรัฐกะฉิ่น ชาวไตคำที่โหลงจะมีตำนานเกี่ยวกับพื้นที่ที่ตนอาศัยว่า เจ้าสามโหลงได้ประกาศสัตย์อธิษฐานให้ช่องเขาหลอยคอม้าถล่มมาปิดทาง แล้วก็เป็นตามนั้น ทำให้พื้นที่อาศัยของชาวไตคำที่โหลงมีภูเขากั้นธิเบตไว้ (หน้า 205-206) 3.ชาวไตในรัฐชาน ไม่ระบุ 4.ชาวไตในรัฐเมืองนาย ไม่ระบุ 5.ชาวไตในรัฐเชียงตุง มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุจ๋อมหลอยว่า คู่สามีภรรยาชาวว้าได้สร้างไว้และสาปแช่งให้เจ้าฟ้าที่จะปกครองเชียงตุงประสบภัยต่าง ๆ (หน้า 363-364) นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับการก่อตั้งเมืองเชียงตุงไว้ว่า ชายคนหนึ่งได้ให้สัญญากับฝูงกาว่า เมื่อตนได้เป็นเจ้าเมืองเมืองหนึ่งจะให้เนื้อโคแก่ฝูงกาวันละ 1 ตัว แต่ต่อมาเมื่อชายผู้นั้นได้เป็นเจ้าเมืองประจันตะคาม ก็ทำผิดสัญญา จึงถูกฝูงกาพาไปทิ้งยังเกาะกลางทะเลและสาปแช่งให้เมืองประจันตะคามทั้งเมืองถูกน้ำท่วมจมหายไป (หน้า 365-368) 6.ชาวไตในรัฐแสนหวี ไม่ระบุ

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ชาวไตมีการติดต่อกับชนชาติอื่น ๆ ผ่านทางการคบค้าสมาคม โดยเฉพาะชาวพม่า ซึ่งเป็นทั้งผู้ที่เข้าไปค้าขายและปกครองชาวไต (หน้า 118) รวมทั้งชาวไตเองก็มีการแต่งงานกับชาวพม่าด้วย (หน้า 199-200) ส่งผลให้ประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างของชาวไตเปลี่ยนไปเป็นอย่างชาวพม่า

Social Cultural and Identity Change

ชาวไตรุ่นใหม่ในหลายแห่งที่ใกล้กับเมืองได้เปลี่ยนแปลงขนบประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างไปเป็นอย่างชาวพม่ามากขึ้น เนื่องจากการได้เรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาพม่าเป็นส่วนใหญ่และใกล้ชิดกับชาวพม่าจากการอยู่ภายใต้การปกครองและการคบค้าสมาคม (หน้า 181) ดังจะเห็นได้ในภาษาไต ซึ่งมีภาษาพม่าเข้ามาปะปนอยู่จำนวนมากนอกเหนือจากการนับเลข ซึ่งรับเอาแบบไทยไป (หน้า 603) การแต่งกายของชาวไตบางท้องที่ก็นิยมตามอย่างพม่าด้วย (หน้า 199-200, 212) แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงรักษาประเพณีของตนไว้หลายอย่าง เช่น การนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด ภาษาไตที่ยังคงใช้เป็นภาษาท้องถิ่น และการแต่งกายของชาวไตในหลายแห่งที่ยังคงเอกลักษณ์ของตนไว้อยู่ (หน้า 562-565, 567)

Other Issues

ประวัติสหภาพพม่า ในดินแดนของสหภาพพม่า มีชนชาติอาศัยอยู่หลากหลายชนชาติมาก่อน แต่ชาวพม่าได้อพยพจากดินแดนธิเบตมาตั้งถิ่นฐานตอนกลาง มอญเป็นชนชาติแรกที่ได้มีการสร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ เมื่อพม่าสามารถก่อตั้งอาณาจักรขนาดใหญ่ได้ที่พุกาม ก็ได้ขยายอาณาจักรให้กว้างขวางขึ้นเรื่อย ต่อมาได้ถูกกองทัพมองโกลของกุบไลข่านเข้าโจมตีจนอ่อนแอ ชาวไตได้ฉวยโอกาสเข้าโจมตีอาณาจักรพุกามจนสามารถขึ้นมามีอำนาจปกครองพม่าได้ แต่จากนั้นไม่นานก็เกิดความขัดแย้งชิงอำนาจกันระหว่างชาวไตด้วยกัน ทำให้พวกพม่าที่อาณาจักรต่องอู่ยกกำลังเข้าปราบปรามพวกไตได้สำเร็จและขึ้นมามีอำนาจในดินแดนพม่า ต่อมาก็ได้เกิดกบฏชาวมอญโค่นล้มอำนาจกษัตริย์พม่า แต่เพียงช่วงระยะหนึ่งชาวพม่าก็ได้เข้ามาโจมตีเอาชนะพวกมอญได้และขึ้นปกครองพม่าจนกระทั่งพม่าทำสงครามกับอังกฤษ 3 ครั้งและพ่ายแพ้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ญี่ปุ่นก็ได้ยกทัพเข้ายึดพม่าขับไล่อังกฤษออกไปได้ แต่หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง อังกฤษก็ได้กลับเข้ามาปกครองพม่าเช่นเดิม แต่กระนั้นก็ได้เกิดการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ จนกระทั่งวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 พม่าก็ได้เอกราชจากอังกฤษและมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (หน้า 23-62)

Map/Illustration

ผู้เขียนใช้แผนที่ในการอธิบายพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของพม่าที่มีชาวไตอาศัยอยู่ และใช้รูปภาพในการอธิบายเครื่องแต่งกายระหว่างของชาวไตกับชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ , สถานที่สำคัญต่าง ๆ และขนบประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างของทั้งชาวไตและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ (หน้าก่อนคำนำ – คำนำ, 7, 193, 207, 229)

Text Analyst คเณศ กังวานสุรไกร Date of Report 07 พ.ค. 2556
TAG ไต, ไทยใหญ่, ประวัติศาสตร์, วิถีชีวิตประเพณี, พม่า, เมียนมาร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง