สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง),พิธีกรรม,มานุษยวิทยาการดนตรี,กาญจนบุรี
Author โกวิท แก้วสุวรรณ
Title 'ดูทุหล่า' ในพิธีเรียกวีหล่าของชาวกะเหรี่ยงโป : กรณีศึกษากะเหรี่ยงโป บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โพล่ง โผล่ง โผล่ว ซู กะเหรี่ยง, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 195 Year 2542
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
Abstract

ศึกษาความเชื่อเรื่องวีหล่าและบทบาทของพิธีกรรมเรียกวีหล่าที่มีต่อวีถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโป ดูบทบาทของดูทุหล่าในพิธีกรรมเรียกวีหล่าในมุมมองทางมานุษยวิทยาการดนตรี

Focus

การศึกษาพิธีกรรมเกี่ยวกับวีหล่าซึ่งเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตของกะเหรี่ยง โดยเป็นการวิเคราะห์การใช้เสียงในพิธี "ดูทุหล่า" (หน้า 18)

Theoretical Issues

ผู้เขียนได้เน้นการวิเคราะห์พิธีกรรมวีหล่าของกะเหรี่ยงโปที่บ้านเกาะสะเดิ่ง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพราะเป็นพิธีกรรมสำคัญมีจุดมุ่งหมายในการเยียวยาความไม่ปกติทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตของกะเหรี่ยง โดยให้ความสนใจกับขั้นตอนสำคัญที่เรียกว่า "ดูทุหล่า" ซึ่งเป็นการเรียก "วีหล่า" (ความหมายคล้าย "ขวัญ") ให้กลับคืนมา ทั้งนี้ได้พิจารณาจากมุมมองของมานุษยวิทยาการดนตรี คือ เน้นที่การวิเคราะห์ "การใช้เสียง" ซึ่งมี 2 ลักษณะประกอบกัน ลักษณะแรกเป็นการใช้สื่อสร้างภวังค์โดยการเคาะแบบสม่ำเสมอและลักษณะหลังเป็นการปลุกให้ตื่นจากภวังค์โดยการใช้เสียงเคาะถี่เร็วและดังเพื่อเป็นการสื่อสารกันระหว่างผู้ร่วมพิธีและกับ "วีหล่า" หากพิจารณาการใช้เสียงเคาะตามแนวคิดของ Boethris แล้วก็นับว่าเป็นเสียงดนตรีที่ถูกจัดให้มีความพอดีระหว่างการเคาะและการสอด ทำให้เกิดความงดงามและศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจและร่างกายของกะเหรี่ยงที่ร่วมพิธี เกิดการเรียนรู้ทางดนตรี สำหรับผู้ป่วยซึ่งดนตรีในร่างกายไม่ปกติ เมื่อได้ฟัง "ดูทุหล่า" ซึ่งในตอนแรกมีการใช้เสียงที่สม่ำเสมอเป็นปกติก็จะคืนเข้าสู่ภาวะปกติ (หน้า 150-185)

Ethnic Group in the Focus

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงโป กลุ่มด้ายขาว บ้านเกาะสะเดิ่ง (หน้า 19-22)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาที่ชาวกะเหรี่ยงโปใช้พูดจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลทิเบต-กะเหรี่ยง (Tibeto-Karen) ยังแยกย่อยเป็นกลุ่มทิเบต-พม่า (Tibeto-Burmese) และกลุ่มกะเหรี่ยง(Karen) ในกลุ่มกะเหรี่ยงแบ่งออกเป็นสะกอ(S'Kaw) โป(Pwo) บะเว(Bwe) ตองตู(Pao) ซึ่งเป็นกลุ่มสาขาย่อยของกลุ่มจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan) ภาษาพูดชาวบ้านเกาะสะเดิ่งใช้ภาษากะเหรี่ยงโปในการสื่อสารระหว่างกะเหรี่ยงด้วยกันและใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารกับบุคคลภายนอก ส่วนภาษาเขียนจะใช้อักษรและไวยากรณ์ของชนชาติมอญเป็นภาษาเขียนสำหรับการสื่อสารกับกะเหรี่ยงโปด้วยกันและใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกับทางราชการและบุคคลภายนอก ชาวบ้านเกาะสะเดิ่งหลายคนยังมีความสามารถสื่อสารด้วยภาษาอื่นๆ ได้อีก เช่น ภาษากะเหรี่ยงสะกอ ภาษามอญ ภาษาพม่า บางรายสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้เช่นกัน (หน้า 24,39-40)

Study Period (Data Collection)

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 (หน้า 22)

History of the Group and Community

ตามตำนานที่บอกเล่าในกลุ่มของชาวกะเหรี่ยงกล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมว่าบรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่ในดินแดนทางตอนเหนือของทิเบตเรียกว่า "ที่ฉิมีหยั่ว" ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ 3 สาย คือแม่น้ำแยงซี แม่น้ำโขงและแม่น้ำคง(สาละวิน) เริ่มอพยพลงมาทางตอนใต้ตามแม่น้ำทั้งสามสาย แยกย้ายไปตามพื้นที่ต่างๆ ราว 1972 ปีก่อนพุทธกาลและตั้งถิ่นฐานแถวยูนนาน ประเทศจีน ราว 842 ปีก่อนพุทธกาล แล้วเริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 585 ปีก่อนพุทธกาล คนไทยเรียกกะเหรี่ยงโปว่า "ยางโป" หมายถึง กะเหรี่ยงมอญ (Mon Karen) เพราะมีชุมชนปะปนกับชนชาติมอญและยังได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้วย เช่น พุทธศาสนาและภาษาเขียนซึ่งใช้ภาษามอญไม่เหมือนกลุ่มอื่นที่ใช้ภาษาเขียนตามแบบของพม่า ชาวกะเหรี่ยงโปในพื้นที่ อ.สังขละบุรี เดิมอาศัยอยู่ที่บ้านเมกะวะ เขตมะละแหม่ง ประเทศพม่า ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ได้ส่งตัวแทนเข้าไปติดต่อกับเจ้าเมืองกาญจนบุรีเพื่อขอเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณชายแดนไทยพม่า อยู่ใกล้กับด่านเจดีย์สามองค์ กระจายอยู่ตามลำห้วยลำธารต่างๆ ในบริเวณที่เรียกว่า "บี่เหล่อวโหว่" หมายถึง ห้วยดินแดง อยู่มาไม่นาน เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตปะปนกับคนในที่ราบ ชาวกะเหรี่ยงจึงได้ส่งตัวแทนไปกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าแผ่นดินไทยเพื่อขออนุญาตย้ายออกไปอยู่ตามป่าเขานอกเมืองทางด้านตะวันตกของสยามประเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นมา (หน้า 24-33)

Settlement Pattern

ทำเลของหมู่บ้านตั้งอยู่ริมห้วยโรคี่เป็นที่ราบหุบเขา ในบริเวณที่ราบหุบเขาโก่เถอะเดิ่งซึ่งมีต้นโก่เถอะเดิ่งอยู่มากมาย ชาวกะเหรี่ยงมักตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ ตามชื่อพรรณไม้ที่มีมากในบริเวณนั้นๆ เช่น ที่ราบหุบเขาที่มีต้นระกำ (คุ่ง)อยู่มากเรียกว่า "คุ่งหว่อง(หุบเขาระกำ)" เป็นต้น ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของกะเหรี่ยงที่เกาะสะเดิ่ง ต.ไล่โว่ เป็นแบบแนวยาวตามห้วยโรคี่ซึ่งไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ มีทางเดินกลางหมู่บ้าน ขนานกับลำห้วยเป็นแนวยาวตลอดด้านที่ขึ้นไปเป็นต้นน้ำหัวบ้าน(เต่อว่องคูทอง) ด้านที่ลงไปทางปลายน้ำเป็นท้ายบ้าน(เต่อว่องไข้หล่อง) ด้านหัวบ้านและท้ายบ้านมีทางเดินไปไร่หรือไปหมู่บ้านอื่น ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีศาลประจำหมู่บ้าน เรียกว่า "ผู้ผะดู" อยู่บนเนินเดียวกันกับวัด ด้านทิศตะวันออกเป็นอาคารห้องเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านกองม่องทะ เมื่อข้ามห้วยโรคี่ไปทางทิศตะวันตกมีถนนดินเชื่อมต่อไปหมู่บ้านอื่นซึ่งตัดเลาะเลียบไปกับลำน้ำตัดจากถนนเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาเป็นที่นาสำหรับชาวนาใกล้ๆ กับที่นาเป็นเนินเขาป่าช้าของหมู่บ้าน (หน้า 34-35)

Demography

ส่วนที่เกาะสะเดิ่งใน ต.ไล่โว่ มีประชากรกะเหรี่ยง 1830 คน (328 หลังคาเรือน) ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงโปจำนวน 32 หลังคาเรือน ประชากรจำนวน 171 คน (ผู้ชาย 60 คน ผู้หญิง 53 คน เด็ก 58 คน) มีทั้งชาวกะเหรี่ยงที่ถือสัญชาติไทย(151 คน คิดเป็นร้อยละ 85.5)และที่ยังไม่ได้สัญชาติถูกจัดประเภทเป็นชาวเขา(จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 14.5) (หน้า 36)

Economy

มีระบบการผลิตแบบเกษตรยังชีพและหาของป่า โดยปลูกแบบไร่หมุนเวียน(Land Rotation) เป็นการทำไร่แบบที่ใช้ประโยชน์จากพื้นดินในระยะเวลาที่สั้นแล้วทิ้งให้ป่าฟื้นตัวในระยะเวลายาวนาน ใช้วิธีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม คือ ใช้วิธีการตัดฟันและเผา (slash and Burn) อุปกรณ์ที่ใช้ คือ มีดและเสียม ไม่มีการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวโพด ฝ้าย พริก เป็นต้น การทำลายวัชพืชในไร่ก็ใช้วิธีการถางตัด มิได้ถอนทิ้งทำลายอันเป็นวิธีการที่คงพรรณไม้ดั้งเดิมในพื้นที่ไร่นั้นไม่ให้สูญหายไปเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคเมื่อเหลือจึงขาย การบริโภคของคนในชุมชนจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เช่น การนิยมบริโภคผักกูด(ไก่กูดุ) ที่แตกยอดอ่อนในช่วงหน้าหนาวถึงหน้าร้อน เห็ดโคน(เข่อทุไขว่ย) และหน่อไม้(บอง)ที่มีมากในฤดูฝน (หน้า 50-60,85)

Social Organization

มีการแบ่งบทบาทและหน้าที่ของคนในชุมชนออกเป็นด้านต่างๆ ตามองค์ความรู้ของปัจเจกบุคคล หลักการของกะเหรี่ยงให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของปัจเจกบุคคลกับพื้นที่ที่เป็นขอบเขตทางวัฒนธรรมในความดูแลของแต่ละคน โดยที่องค์ความรู้นั้นจะฝังอยู่กับระบบความเชื่อ ปัจเจกบุคคลใดมีความรู้จนได้รับการยกย่องเป็นผู้ที่มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับความเชื่อด้านใดก็ได้รับการยอมรับเป็นผู้นำในองค์ความรู้ด้านนั้นยกเว้นการเป็นผู้นำในสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมเฉพาะของผู้หญิงเท่านั้น ผู้หญิงเป็นผู้นำในการไหว้ผีบรรพบุรุษและสืบสายตระกูลนับถือเครือญาติทางสายแม่เป็นหลัก เมื่อมีการแต่งงาน ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายเข้าไปอยู่ในครอบครัวของผู้หญิงและต้องไหว้ผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง โดยไม่กลับไปไหว้ผีบรรพบุรุษในสายตระกูลของตนเองอีก แต่ยังคงนับถือเครือญาติทางฝ่ายพ่ออยู่เช่นเดียวกับฝ่ายแม่ การสืบเชื้อสายตระกูลถือตามอาวุโสเป็นหลัก คือ ให้ผู้หญิงลำดับต้นของครอบครัวก่อน ในการเรียกเครือญาตินั้นไม่แยกสายตระกูล แต่เรียกตามลำดับการเกิดก่อนหลังและเพศในแต่ละระดับชั้น (หน้า 40-47)

Political Organization

กะเหรี่ยงกลุ่มลู้งอว่า(ด้ายขาว)บ้านเกาะสะเดิ่งจะมีอยู่ 2 ลักษณะคืออองเหฆ่ เป็นกะเหรี่ยงกลุ่มดั้งเดิมที่ยังไม่นับถือพุทธศาสนาหรือคริสตศาสนา แต่นับถือผีบรรพบุรุษ โดยยึดเอาต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งที่บรรพบุรุษเลือกไว้เป็นต้นไม้ประจำตระกูลเพื่อให้ผีบรรพบุรุษอาศัยอยู่ เมื่อประกอบพิธีกรรมเรียกวี หล่าผูกมือด้วยด้ายขาว บ่าไจ่ยหรือบ่าเกียะ(ไหว้พระ)เดิมเป็นกลุ่มกะเหรี่ยงที่นับถืออองเหฆ่ ต่อมาปรับเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา แต่ยังคงการนับถือผีอยู่เมื่อประกอบพิธีกรรมเรียกวีหล่าผูกมือด้วยด้ายขาว กะเหรี่ยงกลุ่มลู้งบ่อง(ด้ายเหลือง)มีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มย่อย คือ "ลู้งบ่องกลุ่ง(ด้ายเหลืองเจดีย์)" "ลู้งบ่องกะเดิ่ง(ด้ายเหลืองฉัตร)" และ "ลู้งบ่องไจ่ย(ด้ายเหลืองพระ)" กลุ่มลู้งบ่องกลุ่งและลู้งบ่องกะเดิ่งเป็นกะเหรี่ยงที่ยังไม่นำความเชื่อทางพุทธศาสนามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม ส่วนลู้งบ่องไจ่ยเป็นกลุ่มลู้งบ่องที่ปรับเปลี่ยนความเชื่อทางพุทธศาสนามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม เมื่อประกอบพิธีกรรมเรียกวีหล่าผูกมือด้วยด้ายเหลือง ผู้นำบ้านเกาะสะเดิ่งเป็นผู้นำบ้านที่สืบทอดมาจากการเป็นผู้บุกเบิกในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ ต.ไล่โว่ มีลักษณะเป็นกลุ่มบ้านกลุ่มเล็กๆ กระจัดกระจายไปตามการหมุนเวียนทำไร่ของพื้นที่ต่างๆ บรรพบุรุษของผู้นำบ้านได้เข้ามาบุกเบิกที่ทำกินและตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะสะเดิ่งเป็นกลุ่มแรก ต่อมาค่อยๆ มีผู้ตามมาตั้งครอบครัวมากขึ้นจึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้นำบ้านต้องเสาะหาองค์ความรู้หลักการของกะเหรี่ยงเพิ่มมากขึ้นเพื่อพัฒนาบทบาทและหน้าที่ของผู้นำบ้านให้เหมาะสมกับความซับซ้อนของชุมชน (หน้า 37-38,42)

Belief System

ความเชื่อของกะเหรี่ยงโปเป็นระบบความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อทางพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องกรรม การทำบุญเป็นการสร้างสมบารมีให้มีชีวิตที่ดีกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องผีหรือความเชื่อลัทธิฤาษีที่ให้ความสำคัญในจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ โดยเชื่อว่าสรรพสิ่งนั้นมีจิตวิญญาณและมีเจ้าของคอยดูแลสรรพสิ่งอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น มนุษย์ต้องขออนุญาตในการใช้สถานที่ เช่น การสร้างบ้านต้องทำพิธีเสี่ยงทาย(เก่อ) การหาพื้นที่ทำไร่ต้องทำพิธีตีป่า(ดุเหม่ยละ) เป็นต้น ชาวกะเหรี่ยงเชื่อในผีธรรมชาติหรือผีป่าทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าและผู้อาศัยอยู่ในป่าทั้งหมด เจ้าแห่งดินจะนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องให้ความเคารพในฐานะที่มนุษย์และสัตว์ต่างก็อาศัยพื้นดินเป็นที่อยู่ที่กิน ยาวข้าวคอยดูแลไร่และต้นข้าวและศาลยายตาหรือศาลต้นไม้ใหญ่(ผู้ผะดูหรือเสตผะดู)แสดงความเป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงและเป็นสิ่งที่แสดงการได้รับอนุญาตการใช้สอยพื้นที่จากธรรมชาติเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนความเชื่อในเรื่องวีหล่าวิธีที่ให้วีหล่าอยู่คู่กับร่างกายเจ้าของวีหล่า คือ การผูกมือมัดวีหล่าให้ติดอยู่กับร่างกายไว้ตลอดเวลา โดยใช้ด้ายผูกติดกับข้อมือซึ่งจะมีสีต่างๆตามเชื้อสายของต้นตระกูลและวีหล่าข้าวเป็นจิตวิญญาณที่อยู่ในข้าว พิธีกรรมเรียกวีหล่าแบ่งตามโอกาสที่เกิดขึ้นมี 3 ประเภท คือ 1. พิธีเรียกวีหล่าในช่วงสำคัญของชีวิตเป็นพิธีที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพ การผ่านขั้นตอนของชีวิต(Rite de passage) มี 2 ครั้ง คือ พิธีเรียกวีหล่าในการตั้งชื่อ(พลุเอเหม่ย)นิยมจัดขึ้นเมื่อทารกคลอดออกมากได้ราว 7 วัน กับพิธีเรียกวีหล่าในการแต่งงาน(เฉ่อไม้ยะ)มีจุดมุ่งหมาย คือ เรียกวีหล่าของคู่บ่าวสาวมาอยู่ร่วมกันและแสดงสถานภาพใหม่ 2. พิธีเรียกวีหล่าในช่วงสำคัญของปี เช่น งานบุญข้าวใหม่(โบวบือล้องคุ)เป็นการเรียกวีหล่าของยายข้าวให้มาอยู่กับคนกะเหรี่ยงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำไร่ในปีใหม่ การผูกมือหล่าเขาะวุเป็นการเรียกวีหล่าของคนให้กลับมาอยู่กับเจ้าของวีหล่า 3. พิธีเรียกวีหล่าในโอกาสอื่นๆ เช่น เจ็บป่วย สมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต เกิดเหตุการณ์ผิดปกติอื่นๆ (หน้า 61-115)

Education and Socialization

การศึกษาในบ้านเกาะสะเดิ่งมีอยู่ทั้ง 2 แบบ คือ การศึกษาในระบบ (Formal education) การศึกษานอกระบบ (Non-Formal education) การศึกษาในระบบโรงเรียนใน ต.ไล่โว่มีอยู่ 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านกองม่องทะ โรงเรียนสุนทรเวช โรงเรียนบ้านหินตั้ง การศึกษานอกระบบมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1.การศึกษานอกระบบที่จัดโดยรัฐมีการจัดการ 2 รูปแบบ คือ การศึกษานอกโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการและการศึกษานอกโรงเรียนของหน่วยประสานงานจิตวิทยาชุมชน 2.การศึกษานอกระบบที่จัดโดยชุมชนมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การศึกษาที่วัดและการศึกษาที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนของหมู่บ้าน (หน้า 48-50)

Health and Medicine

เมื่อชาวกะเหรี่ยงบ้านเกาะสะเดิ่งเจ็บป่วยโดยสาเหตุใดก็ตามมักนิยมใช้วิธี การรักษาด้วยตนเองเป็นอันดับแรกมีความสามารถในการเยียวยา การใช้สมุนไพร ถ้าอาการป่วยไม่หายจะไปปรึกษาผู้มีความรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณในชุมชน โดยใช้วิธีการเสี่ยงทายแบบต่างๆ ถ้าสาเหตุมาจากผีร้ายหรือถูกสิ่งอื่นลงโทษต้องทำพิธีแต่แก้เสียผีด้วยการขอขมา พิธีกรรมดูทุหล่าเรียกวีหล่าให้กลับมา ชาวบ้านเกาะสะเดิ่งถือว่าเป็นวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอาการป่วยที่เรียกว่าหล่ากง (หน้า 102-109)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

สถาปัตยกรรม : การสร้างบ้านของคนกะเหรี่ยงให้ความสำคัญกับบันไดและข่าไฟมาก ข้อกำหนดในการสร้างบ้าน ส่วนบันไดและข่าไฟใช้วัสดุจากไม้ไผ่เท่านั้น ด้านบนของ "ต้นบันได้(ฆ่องเธอว) ต้องตัดให้ปล้องบนเป็นรูอยู่เสมอมีต้นบันได ต้นพ่อ ต้นแม่และลูกๆ ซึ่งเป็นขั้นบันได สะท้อนความเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมออกมาในลักษณะของต้นบันไดทั้งสองด้านที่มีความยาวไม่เท่ากัน เครื่องมือเครื่องใช้ : ไม้พายทำจากไม้ไผ่ กะบะ ด้านการดนตรีมีคำกลางเรียกเครื่องดนตรีว่า "เฉ่อภุเฉ่ออู" หมายถึง เครื่องตีเครื่องเป่าที่ใช้ก็จะมีไม้พาย ต้นบันได ข่าไฟ ภาชนะใส่อุปกรณ์ผูกมือ (หน้า 120, 123, 157, 160)

Folklore

มีตำนานเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของป่าเป็นหุบเขาสูงล้อมรอบพื้นที่ป่าทั้งหมด ชาวกะเหรี่ยงเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า "คุยนี้คุยหว่อง" ซึ่งมีจิตวิญญาณแห่งป่าเขาดูแลอยู่ต้องยึดถือจารีตประเพณีที่บรรพบุรุษได้กำหนดไว้ หากผู้ใดละเมิดผิดจารีตทำให้จิตวิญญาณแห่งป่าเขาลงโทษให้มีอันเป็นไป มีนิทานเล่าเกี่ยวกับต้นข้าวว่าเป็นเทพธิดาปรารถนาที่จะช่วยมนุษย์จึงอธิษฐานให้ตนเองเกิดบนโลกมนุษย์เป็นผู้หญิงและร่างกายมีกลิ่นหอมอาศัยอยู่ในป่า ในขณะนั้นมีฤาษีตนหนึ่งชื่อ "มีมิ(ตาไฟ)" นั่งบำเพ็ญเพียรอยู่มาวันหนึ่งเทพธิดาได้เดินเข้าไปใกล้ฤาษี ฤาษีมีมิได้กลิ่นหอมจึงลืมตาดู ร่างของเทพธิดาก็ถูกไฟไหม้เป็นเถ้าถ่าน ฤาษีตกใจมากจึงได้อธิษฐานว่าถ้าผู้ที่กลายเป็นเถ้าถ่านนี้มีจิตใจบริสุทธิ์ก็ขอให้เถ้าถ่านกลับฟื้นขึ้นดังเดิมแล้วนำไม้ที่ เรียกว่า โคนตายปลายเป็นชี้ไปก็กลายเป็นเทพธิดาขึ้นมา เมื่อซักถามจนเข้าใจในความปรารถนาแล้ว ฤาษีจึงเสกให้กลายเป็นเถ้าถ่านอีกครั้งเอาน้ำศักดิ์สิทธิ์พรมไปจนครบ 7 วันมีต้นข้าวงอกออกมา เมื่อสูงขึ้นก็ออกลูกเป็นผลข้าวผลเดียว ทานได้เลยโดยไม่ต้องตำ เมื่อผ่านไป 7 วัน ผลข้าวนั้นก็สุก ฤาษีก็ไปปลิดมาแล้วนั่งสมาธิเอาไม้โคนตายปลายเป็นตีลงไปที่ผลข้าวผลข้าวนั้นแตกกระจายไป 8 ทิศกลายเป็นพันธุ์ข้าวอาหารแก่มนุษย์และสัตว์โลกตั้งแต่บัดนั้น (หน้า 32, 65-66)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ตามประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงโปมีชุมชนปะปนอยู่กับชนชาติมอญ ปัจจุบันจะมีความสัมพันธ์กับกะเหรี่ยงชาวเขาที่โยกย้ายมาจากประเทศพม่าเข้ามาอาศัยและช่วยทำงานไร่กับญาติหรือคนรู้จัก (หน้า 2, 36)

Social Cultural and Identity Change

ในอดีตการแสดงความขอบคุณและการขอขมาแก่จิตวิญญาณของยายข้าว กระทำด้วยการกินข้าวหัวยุ้ง คือ การนำเอาเถาลิเภามาผูกวีหล่าของจิตวิญญาณนั้นให้อยู่ติดกับเครื่องมือทำมาหากินต่างๆ ต่อมาภายหลังได้มีการเรียกวีหล่าของยายข้าวเช่นเดียวกับมนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิต คือ การนำด้ายมาผูกมือของแต่ละคนและเรียกวีหล่ายายข้าวให้มาอยู่กับมนุษย์ ในอดีตพิธีตีป่าเป็นพิธีกรรมสำคัญมากเกี่ยวกับการทำมาหากินเข้าป่าไปหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำไร่เป็นพิธีกรรมที่สร้างขวัญและกำลังใจและย้ำความถูกต้องในการกระทำแก่ชาวบ้านเกาะสะเดิ่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายนอกอย่างการประกาศพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การถูกหน่วยงานของรัฐกำหนดการใช้ทรัพยากรส่งผลกระทบต่อการทำไร่ พื้นที่สำหรับเลือกทำไร่เริ่มน้อยลง ปัญหาในการทำมาหากินมีมากขึ้นกว่าเดิม ความมั่นคงในชีวิตน้อยลง พิธีกรรมที่เคยช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดกลายเป็นตัวแปรที่สร้างความตึงเครียดให้แก่ชีวิต ตลอดจนการได้รับประกาศเป็นเขตมรดกโลก ในปี พ.ศ. 2534 ทำให้มีการจัดการผืนป่าที่เชื่อมโยงกับองค์กรระหว่างประเทศกำหนดพื้นที่ใช้สอยที่เข้มงวดจนเกิดประเด็นการอพยพชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่อนุรักษ์ การใช้สอยวัสดุได้ใช้ไม้ไผ่เป็นหลัก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวัสดุอื่นที่ไม่มีในระบบนิเวศ เช่น เสื้อผ้าชนิดที่สามารถตัดเย็บได้เอง เริ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นเสื้อผ้าที่ซึ้อจากภายนอกหรือภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ที่ผลิตขึ้นใช้เองก็เริ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นภาชนะจากวัสดุอื่นไม่ว่าจะเป็นโลหะหรือพลาสติก ในขณะเดียวกันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่เห็นได้ชัด คือ ภูมิปัญญาในการพึ่งพาตนเองด้วยการสร้างเครื่องใช้ต่างๆจากวัสดุที่มีอยู่ในระบบนิเวศเริ่มสูญหายไปเพราะมีทางเลือกอื่น โดยไม่เป็นต้องพยายามเรียนรู้ภูมิปัญญาการสานทอเครื่องใช้ทำให้ศักยภาพของชุมชนในการพึ่งพาตนเองลดน้อยลง (หน้า 69, 86-87, 178-179)

Map/Illustration

ภาพที่ 6 บันได (ฆ่อง) ภาพที่ 7 ข่าไฟ ภาพที่ 9 อุปกรณ์ผูกมือในพิธีผูกมือยายข้าว ภาพที่ 10 ผู้ประกอบพิธีกรรมเรียกวีหล่า ภาพที่ 13 ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมเรียกวีหล่า ยายข้าวในงานบุญข้าวใหม่ ภาพที่ 14 ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมพิธีผูกมือหล่าเขาะว (เป็นทางการ) ภาพที่ 18 การดูทุหล่าในพิธีผูกมือหล่าเขาะว (เป็นทางการ) ภาพที่ 19 ขณะดูทุหล่าเจ้าของวีหล่าต้องจับภาชนะอุปกรณ์ผูกมือ พิธีผูกมือเขาะว (เป็นทางการ) ภาพที่ 24 ผู้นำพิธีกรรม (โบวค) ผูกมือให้ผู้ประกอบพิธีกรรม ในพิธีผูกมือหล่าเขาะว (เป็นทางการ)

Text Analyst จารุวรรณ เจนวณิชย์วิบูลย์ Date of Report 22 ก.ย. 2555
TAG โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง), พิธีกรรม, มานุษยวิทยาการดนตรี, กาญจนบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง