สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กูย,ส่วย,ประวัติ,ความเป็นมา,วิถีชีวิต,การเลี้ยงช้าง,สุรินทร์
Author ชื่น ศรีสวัสดิ์
Title การเลี้ยงช้างของชาวไทย-กุย(ส่วย) ในจังหวัดสุรินทร์
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity กูย กุย กวย โกย โก็ย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 77 Year 2538
Source ไม่ปรากฏ
Abstract

ผลการศึกษาพบว่า ชาวไทย-กุย(ส่วย) เดิมอาศัยอยู่ที่ ทางตอนใต้ของประเทศลาว และทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอาณาจักรกัมพูชา ก่อนที่ลาวจะสถาปนาตนเองในช่วงศตวรรษที่ 18-20 พวกเขามีความผูกพันกับช้างมาก เมื่ออพยพเข้าที่ประเทศไทยมาอยู่ที่อิสานตอนใต้ก็ได้นำช้างเข้ามาด้วย โดยมีการเลี้ยงดูช้างในฐานะที่เป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ในสามลักษณะคือ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นทรัพย์สินที่มีค่า และเป็นสมาชิกในครอบครัว การประพฤติต่อช้างจึงต้องให้ความใส่ใจกับช้างมากเป็นพิเศษ การใช้ประโยชน์จากช้าง มีตั้งแต่ขายช้างทั้งตัว ขายงา ขายขนหาง ขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากช้าง อาทิ งา ขน น้ำมันช้าง นำช้างไปแสดงต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไปรับจ้างให้คนขี่ และจากการวิจัยพบว่าจำนวนประชากรช้างในจังหวัดสุรินทร์ได้ลดลงไปอย่างรวดเร็ว จาก 361 เชือก ในปี 2522 เหลือ 101 เชือก ในปี 2529 และการเลี้ยงช้างในปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนสถานที่เลี้ยงดู จึงทำให้ต้องขายช้างไปในพื้นที่ต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก แม้ช้างจะมีเหลือจำนวนไม่มากนักแต่ชาวไทย กุย พยายามสร้างคุณค่าให้กับช้าง โดยการฝึกให้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายประการ เช่น การแสดงในงานช้าง รับจ้างไปปรากฏตัวในงานต่าง ๆ ซึ่งบทบาทดังกล่าว ทำให้ช้างได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปมากขึ้น ความสำคัญของช้างก็กลับมาอีกครั้ง และในส่วนของจังหวัดได้ให้ความสำคัญมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงช้าง ตั้งแต่การเอาใจใส่เมื่อช้างเจ็บป่วย การจัดทะเบียนช้าง และการให้รางวัลช้างเกิดใหม่ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะว่าควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงช้างในหลายวิธีการ ได้แก่ 1) การจัดที่เลี้ยงดูถาวร เนื่องจากปัจจุบันควาญช้างทั้งหลายต่างประสบปัญหาเกี่ยวกับที่เลี้ยงช้าง เพราะที่ว่างเปล่าซึ่งเป็นทำเลี้ยงช้าง ได้ถูกบุกเบิกเป็นที่นาหมด ดังนั้นช้างจึงมักถูกล่ามไว้ตามหัวไร่ปลายนา ได้กินอาหารเพียงแค่ประทังชีวิตไปวัน ๆ โดยเฉพาะในช่วงทำนาจะลำบากมาก 2) ควรหาวิธีการตอนช้างพลาย เพื่อให้ลดความดุร้าย เพราะด้วยความดุร้ายของมันทำให้ชาวบ้านไม่นิยมเลี้ยง มันจะขายไปต่างถิ่นเพื่อใช้งาน หากทำให้ช้างเชื่องกว่าเดิม จะสามารถมาฝึกให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น (หน้า 67)

Focus

ศึกษาชาวไทยกุย(ส่วย) ในจังหวัดสุรินทร์ ในประเด็นเกี่ยวกับ ประวัติความเป็นมาการเลี้ยงช้างและวิถีชีวิตของกุย

Theoretical Issues

ไม่ปรากฎ

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มที่มีการศึกษาคือไทย-กุย หรือ กุยตำแร็ย (ส่วยจับช้างหรือส่วยช้าง) (หน้า 23)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาของประชากรในจังหวัดสุรินทร์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่พูดภาษาไทย-ลาว(ลาว) 2) กลุ่มที่พูดภาษาไทย-กุย(ส่วย) 3) กลุ่มที่พูดภาษาไทย-เขมร(เขมร) สำหรับการติดต่อระหว่างกลุ่มนั้นจะใช้ภาษาไทยกลาง โดยเฉพาะในการติดต่อราชการ และในบางพื้นที่ใช้ภาษาไทย ลาว และมีแนวโน้มว่าภาษาไทย ลาว จะเป็นที่ยอมรับกันในทุกกลุ่มมากขึ้น (หน้า 9) อย่างไรก็ตามการติดต่อภายในกลุ่มหรือในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ยังใช้ภาษาถิ่นเป็นพื้น (หน้า 17)

Study Period (Data Collection)

พ.ศ. 2528-2529

History of the Group and Community

กลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาไทย-กุย (ส่วย) มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ทางภาคตะวันออกฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศกัมพูชา เมื่อประมาณ 3,000 ปี ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองหลายครั้ง ทำให้พวกเขาอพยพย้ายถิ่นมาที่ทางอีสานตอนใต้ของไทยตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2200 โดยผ่านเข้ามาทางเมืองอัตขือ แสนปางในแคว้นจำปาศักดิ์ทางตอนใต้ของลาว แล้วข้ามแม่น้ำโขงมา อาศัยอยู่ในจังหวัด สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีและบางส่วนของจังหวัดมหาสารคาม (หน้า 1-2) ชาวกุย ได้ถูกคนไทยในสมัยอยุธยาตอนปลายเรียกว่า "เขมรป่าดง" ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (สมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) เรียกว่า "ส่วย" จนกระทั่งในปัจจุบัน เพราะกุยเป็นผู้หาของป่าส่งส่วยให้กับทางกรุงเทพแทนการเข้ามาอยู่เวรยาม รับราชการทหาร ซึ่งคำว่าส่วยนี้เป็นคำที่ไม่สุภาพในหมู่ชาวกุยเอง พวกเขาไม่นิยมคำนี้ จะใช้คำว่า "กุย"แทน แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นจึงใช้คำว่าส่วย เพื่อความสะดวกในการสื่อสาร (หน้า 20) ตามประวัติศาสตร์เชื่อว่าในอดีต จังหวัดสุรินทร์เคยเป็นอาณาจักรของขอมมาก่อน เมื่อขอมเสื่อมลงพื้นที่นี้จึงว่างเปล่า ต่อมาไทย-กุยได้อพยพมาจากลาวมาตั้งหลักแหล่งในบริเวณนี้ และมีกลุ่มไทย-เขมรเข้ามาร่วมด้วย(หน้า 10) จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีชาวไทย-กุย อาศัยอยู่หนาแน่นกว่าจังหวัดอื่น ๆ คือ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของพลเมืองในจังหวัด และไทย-กุย ทำให้คนรู้จักสุรินทร์ดีด้วยการนำช้างจำนวนเป็นร้อย ๆ เชือกมาจัดแสดงในงานช้างประจำจังหวัด ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา(หน้า 65)

Settlement Pattern

จากหลักฐานพบว่าชาติพันธุ์ชาวกุย (ส่วย ข่า ละว้า) มีถิ่นกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตอนใต้ของประเทศจีน และประเทศลาวและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา การตั้งถิ่นฐ่านของชาวกุยจะตั้งกระจายไปตามภูเขาสูงหรือตามป่าดง ทั้งนี้อาจจะเพราะกุย ไม่สามารถยอมรับวัฒนธรรมใหม่ของไทย-ลาว ที่อพยพเข้ามาอยู่ร่วมในสมัยหลังได้ หรืออาจจะเกิดจากการถูกรุกรานจากเผ่าที่เข้ามาใหม่ก็เป็นไปได้ จึงต้องอพยพเข้าไปในที่ปลอดภัย (หน้า 19) ปัจจุบันมีชาวไทย-กุยกระจายกันทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และบางส่วนของจังหวัดมหาสารคาม พวกเขาจะตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างแม่น้ำมูลกับเทือกเขาดงรัก เพราะมีป่า และน้ำอุดมสมบูรณ์ สะดวกต่อการเลี้ยงช้าง (หน้า 21)

Demography

ประชากรในจังหวัดสุรินทร์ตามสถิติปี 2527 มีจำนวน 1,1402,533 คน นับเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับที่ 7 ของภาคและที่ 10 ของประเทศ ประชากรของจังหวัดสุรินทร์ประกอบด้วยสามกลุ่มด้วยกัน คือ 1) กลุ่มที่พูดภาษาไทย-ลาว(ลาว) 2) กลุ่มที่พูดภาษาไทย-กุย(ส่วย) 3)กลุ่มที่พูดภาษาไทย-เขมร(เขมร) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดคือประมาณร้อยละ 70 ส่วนกลุ่มไทย-ลาว และไทย-กุย มีจำนวนร้อยละ 20 และ 10 ตามลำดับ (หน้า 9)

Economy

ประชากรในจังหวัดสุรินทร์ส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ปลูกข้าวเป็นหลัก รองลงมาคือการปลูกข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเขียว พืชผัก ปอแก้ว และมีการทอไหมเป็นอาชีพเสริม ส่วนการค้าขายนั้นตกอยู่ในมือคนจีนในตัวเมืองเท่านั้น เมื่อเทียบฐานะความเป็นอยู่ของชาวสุรินทร์นับว่าเป็นอันดับที่ 11 ของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หน้า 10) ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จังหวัดสุรินทร์ได้จัดให้มีการแสดงของช้างขึ้นเป็นประจำ ซึ่งนำรายได้มาสู่จังหวัดเป็นจำนวนมาก ปีละหลายล้านบาท(หน้า 2) และกิจกรรมเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับช้างก็มีหลากหลาย เช่น การซื้อขายช้าง เป็นเรื่องปกติของชาวไทย-กุย ราคาในปัจจุบัน(ปีที่ทำการวิจัย) ประมาณ 100,000-130-000 บาท ต่อเชือก มักจะเป็นขายให้กับควาญช้างที่มาจากจังหวัดชัยภูมิ เพชรบูรณ์ หล่มสัก ผ่านพ่อค้าคนกลางที่เรียกว่านายฮ้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี เมื่อช้างเป็นสินค้าที่สามารถทำรายได้มาสู่ครอบครัวอย่างมาก การมีช้างจึงหมายถึงการแสดงว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจดีด้วย การออกคล้องช้าง จับช้างป่าเป็นวิธีการหาเงินที่ใช้เวลาน้อยที่สุด ลากไม้หรือลากซุง : อาชีพรับจ้างลากซุงนี้ เป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้ดี และไม่ต้องเสี่ยงมาก แต่ก็มีความลำบากมาก ต้องเข้าไปอยู่ในป่าลึกเป็นแรมเดือน บางครั้งต้องผจญกับสัตว์ร้าย นอกจากคนจะลำบากแล้วช้างก็ลำบากเช่นกัน บางครั้งเท้าบวม ผอม ล้มตายไปก็มี การออกเดินทางแสวงโชค : ไทย-กุยจะนำช้างออกเดินทางไปแสวงโชคตามหมู่บ้านและชุมชน โดยเดินทางไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคอีสานเพื่อหารายได้ เช่น จ้างขี่ครั้งละ 1-2 บาท รับสะเดาะเคราะห์ลอดท้องช้าง และรับเข้าพิธีมงคลต่าง ๆ เช่น กฐินผ้าป่า บวช เป็นต้น ทำให้มีรายได้ประมาณปีละ 6,000-12,000 บาท แม้ว่าการออกเดินทางแบบนี้จะมีรายได้ไม่มากนัก แต่ทำให้ผู้เดินทางมีประสบการณ์ชีวิต เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เดินทางไปในท้องถิ่นอื่น ๆ ทำให้มีประสบการณ์สามารถพูดคุยในหมู่เพื่อน ๆ คนหนุ่ม ได้ หากคนใดไม่มีประสบการณ์ดังกล่าวจะเกิดปมด้อยเพราะไม่สามารถรู้เรื่องราวของโลกภายนอกได้ การขายผลิตภัณฑ์จากช้าง : สามารถทำรายได้ให้กับไทย-กุยค่อยข้างมาก ส่วนใหญ่จะขาย งาช้าง ขนหางช้าง น้ำมันช้าง จากรายได้จากช้างดังกล่าวจึงทำให้กุยที่มีช้างมีฐานะที่ดีกว่ากุยที่ไม่มีช้างเป็นอย่างมาก โดยไม่ต้องทำไร่นา หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ (หน้า 50-53) การคล้องช้างและการเลี้ยงช้าง จึงมีความสำคัญในวิถีชีวิตของไทย-กุยหรือกุยตำแร็ย การคล้องช้างหรือจับช้างป่า ในอดีตประมาณเดือน 11-12 หรือบางทีก็เป็นระหว่างเดือนยี่กับเดือนสามไทย-กุย มีประเพณีไปคล้องช้าง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ส่วนใหญ่ไปคล้องช้างแถบเมืองเสียมราฐ พระตะบอง และมีช้างมากกว่า และเสียค่าธรรมเนียมไม่มากนัก ในการไปแต่ละครั้งต้องเตรียมอุปกรณ์ไปให้ครบที่สำคัญ คือ เชือกคล้องที่เรียกว่าหนังปะกำ ซึ่งโดยปกติจะเก็บไว้ในศาลปะกำ และเชือกผูกคอช้างที่จับได้แล้วและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ที่จะล่ามช้างไม่ให้หลุดรอดกลับไปได้และต้องทำพิธีกรรมต่าง ๆ เพราะการจับช้างป่าเป็นงานเสี่ยงอันตราย นอกจากต้องอาศัยความชำนาญ ความกล้าหาญแล้วยังต้องการขวัญกำลังใจอีกด้วย และการออกไปจับช้างนี้ต้องออกไปเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งมีการแบ่งงานและสายบังคับบัญชางานเพื่อให้งานลุล่วงโดยไม่มีอันตราย ส่านช้างที่จะเป็นพาหนะไปจับช้างป่าก็จะได้รับการดูแลอย่างดีให้แข็งแรงพอที่ปะทะกับช้างป่าได้ (หน้า 33-58) การเลี้ยงช้าง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมาทางกัมพูชาไม่อนุญาตให้จับช้างในกัมพูชา และการไปคล้องช้างที่จังหวัดเลยก็ไม่สะดวก จึงเลิกคล้องช้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ไทย-กุยจึงต้องหันมาเลี้ยงช้างแทน ซึ่งก็ประสบปัญหาในการหาอาหารให้ช้าง (หน้า 61) และเมื่อหน้าที่ของช้างในการชักลากไม้ซุงได้หมดไป ช้างก็ถูกเลี้ยงและฝึกให้ทำหน้าที่อย่างอื่น ๆ เช่น การโชว์ความสามารถในงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานช้างสุรินทร์ งานแสดงในสวนสาธารณะญี่ปุ่น หาเสียงให้ผู้แทน เข้าขบวนแห่นาค หรือแสดงหนัง ช้างจึงมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของชาวไทย-กุย และการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดทำให้มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง แต่สถาพการณ์ก็มีเปลี่ยนแปลงไปเพราะบางกลุ่มเริ่มมองช้างในแง่มุมของเศรษฐกิจแต่อย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงนิสัยช้าง ทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้าพอใจ (หน้า 63)

Social Organization

ในงานนี้ไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตประจำวันของชุมชน แต่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มที่เดินทางไปคล้องช้างในอดีตว่ามีลำดับขั้นของการบังคับบัญชา คือ ครูบาใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดในการจับช้างป่า รองลงมาเป็นครูบา แล้วก็หมอสะดำ ซึ่งเป็นควานช้างเบื้องขวา แล้วก็หมอสะเดียง ทำหน้าที่ช่วยหมอสะดำ ต่ำสุดคือมะ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยและรับใช้ครูบาใหญ่ การจัดลำดับนี้สัมพันธ์กับประสบการณ์ในการจับช้าง ผู้ที่มีประสบการณ์มาก ๆ ก็จะอยู่ในสถานภาพที่สูง ๆ 1) มะหรือจา มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยควาญช้าง ถือเป็นคนรับใช้เป็นผู้ที่ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด มะหรือจา ต้องไม่สูบบุหรี่ และห้ามกินอวัยวะบางส่วนของสัตว์ป่า ต้องรับใช้ครูบาใหญ่ 2) หมอสะเดียง หรือสะเดียง เป็นผู้ควบคุมช้าง และมีประสบการณ์การจับช้างมาบ้างแล้ว รู้ภษาป่า หรือภาษาผีสะเดียง ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสะดำ สะเดียงไม่สามารถสูบบุหรี่ขณะขี่ช้าง 3) หมอสะดำ เป็นควาญช้าง มีฐานะสูงขึ้นมา บางทีเรียกว่า "หมอใหญ่" 4) ครูบา เป็นหมอช้างใหญ่ เป็นหั้วหน้าในกลุ่ม ครูบาอาจได้รับอนุญาติจากครูบาใหญ่ให้คล้องช้างตามลำพังได้ 5) ครูบาใหญ่ เป็นหมอช้างสูงสุด บางทีเรียก "ปทิยาย" "บัติยาย "หมอเฒ่า" เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทุกอย่าง (หน้า 37)

Political Organization

ไม่ปรากฎ

Belief System

ศาสนา : ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์นับถือศาสนาพุทธ แต่ความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องไสยศาสตร์ยังคงมีอิทธิพลต่อชาวบ้านมาก โดยเฉพาะเรื่องผีสาง เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การละเล่น : การละเล่นของชาวสุรินทร์มีความแตกต่างกับการละเล่นของคนในจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน การละเล่นส่วนใหญ่ได้แก่ กันตรึม เรื๊อมอันเร เรื๊อมอาไย เรื๊อมตรุษ กโน๊ปติงตอง เจรียงเมริน ลิเกพื้นบ้าน (หน้า 17) พิธีกรรมและความเชื่อ : ไทย - กุย หรือ กุยตำแร็ย (ส่วยจับช้างหรือส่วยช้าง) นับถือผีปะกำ เมื่อถือผีปะกำแล้วจะต้องเคารพและเคร่งครัดในหลักศีลธรรมสูง ไม่ลักทรัพย์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ไม่พูดปด ไม่มีความลับระหว่างชาวกุยด้วยกัน เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่ทะเลาะวิวาทกันเอง โดยเฉพาะเมื่อตอนเข้าปะกำเพื่อออกไปจับช้าง กุยเชื่อว่าการปฏิบัติดี จะทำให้เกิดผลดีหรือเป็นศิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติเอง และหากละเมิดจะเกิดผลร้ายนานประการ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานสำคัญในการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของสังคม แต่ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วยความเชื่อและค่านิยมสมัยใหม่ ที่ได้รับจากสังคมเมือง แต่ยังคงมี ชาวไทย-กุย บางส่วนยังคงรักษารูปแบบการดำรงชีวิตแบบเดิมไว้ แล้วปรับตัวมากขึ้น นอกนั้นมีบางกลุ่มมที่อพยพไปหากินในถิ่นห่างไกลมากขึ้น เช่น ตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา เพื่อหลีกหนีความทันสมัย (หน้า 23) พิธีกรรมในการคล้องช้าง : ในการคล้องช้างแต่ละครั้งจะมีพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย ที่ให้กำลังใจผู้คล้อง เนื่องจากกิจกรรมการคล้องช้างเป็นกิจกรรมที่อันตรายมาก และไทย-กุย เชื่อถือโชคลางและฤกษ์ยาม ก่อนจะออกไปคล้องช้างจึงต้องมีการทำพิธีทางไสยศาสตร์ เพื่อช่วยให้การคล้องช้างสำเร็จด้วยดี โดยจะไปขออนุญาติให้ถูกกฏหมายก่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของควาญช้าง แสร็จแล้วจึงไปหาฤกษ์ยาม และหลังจากนั้นจึงทำพิธีกับหมอช้าง พิธีกรรมเริ่มต้นที่ศาลปะกำ เพื่อแจ้งให้ผีปะกำและครูปะกำทราบว่าพวกตนเองจะออกเดินทางไปคล้องช้าง ขอให้ครูปะกำและผีปะกำคุ้มครอง ในพิธีมีหมอเฒ่าเป็นประธาน มีหมอสะดำอีก 3 คน ส่วนคนอื่น ๆ จะล้อมวงกัน มีเครื่องเซ่น ซึ่งได้แก่ หัวหมู ไก่ต้ม เหล้าขาว กรวยใบตอง เทียน หมาก บุหรี่ ข้าวสวย แกง ขมิ้นผง น้ำเปล่า ด้ายผูกแขน ในพิธีหมอช้างต้องนุ่งโสร่งสีเขียวลาวตองอ่อน ห้ามสวมเสื้อ ถือผ้าขาวม้าสองผืน ผืนหนึ่งคาดเอว อีกผืนพาดไหล่ ห้ามสวม ทองเงิน ห้ามมะหรือจาสูบบุหรี่ เมื่อเริ่มพิธี หมอเฒ่าและหมอสะเดาจะยกเครื่องถวายผีปะกำ จุดเทียนบูชา อธิฐาน เสี่ยงทาย โดยยกไก่ต้มแล้วทาย โดยดูจากไก่ หากหัวไก่เป็นสีช้ำเขียวหรือคางไก่งอแสดงว่าไม่ดี ห้ามออกไปคล้องช้าง พิธีกรรมนี้เรียกว่า "พิธีถอดกระดูกคางไก่" เมื่อพิธีเซ่นสรวงเสร็จ หมอเฒ่าจะยกหนังปะกำจากศาลลงมาวางบนหลังช้างต่อ ช้างต่อทุกเชือกจะต้องมีหมอช้างขี่คอมี "มะ" หรือ"จา" ขี่ท้าย กลางหลังช้างจะปูด้วยหนังรอง ม้วนหนังปะกำเป็นวง สองวง วางทับไว้บนหนังรองหลังช้าง ผูกไม้คันจามไว้ข้าง ๆ ริมหนังปะกำ ผูกไม้งกติดหนังปะกำ เตรียมเสบียง ยารักษาโรค ภาชนะต่าง ๆ เมื่อพร้อม ทุกคนจะลาญาติพี่น้องเข้าป่าตามฤกษ์ที่ตั้งไว้ ในขณะเดินทาง ได้มีการกำหนดข้อปฏิบัติไว้มากมาย และต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น หมอช้างห้ามแต่งกายสวยงาม ห้ามยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิง ห้ามใช้ผ้าขาวม้าโพกศีรษะ ต้องเชื่อฟังหมอช้าง ต้องพูดกันด้วยภาษาป่า เป็นต้น (หน้า 37-40) เมื่อถึงป่าแล้วก็ต้องทำ"พิธีเปิดป่า" ด้วย เป็นการขออนุญาตเจ้าป่าเข้าไปจับช้าง ต้องมีการเซ่นของสังเวยเจ้าป่า ด้วยความเชื่อที่ว่าที่ทางในป่าเป็นที่มีเจ้าของทุกอย่างมีเจ้าของ (หน้า 42)

Education and Socialization

หนุ่มชาวกุย ต่างได้รับการถ่ายทอดฝึกฝนการจับช้างมาจากครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อกันมาเปรียบเหมือนวิชาประจำตระกูล ไทย-กุยจะออกไปจับช้างเป็นประเพณีทุกปี ปีละครั้ง ส่วนใหญ่นิยมไปราวเดือน 11-12 หรือเดือนยี่ถึงเดือนสาม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน การออกไปจับช้างในแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 2-3 เดิอน และถือปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด เด็กหนุ่มชาวไทย กุยจะต้องผ่านการออกคล้องช้างมาก่อน จึงจะสามารถมีครอบครัวได้ สำหรับสถานที่คล้องช้างมีอยู่สองที่ที่นิยมคือ ประเทศกัมพูชา บริเวณเมืองเสียมราฐ พระตะบอง และนครจำปาศักดิ์ และที่จังหวัดเลย บริเวณอำเภอวังสะพุง เขตดงลาน (หน้า 34)

Health and Medicine

ในช่วงก่อนนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลในปี 2504 ประชาชนส่วนใหญ่ มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เก็บผัก หักฟืน ดื่มน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ อาศัยเวทมนต์คาถาและยาสมุนไพรกลางบ้านในการรักษาโรค แต่เมื่อเกิดการพัฒนา ทำให้การรักษาโรคพึ่งพาการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น (หน้า 59) การอนุรักษ์ส่งเสริมการเลี้ยงช้าง : จังหวัดสุรินทร์ ได้ตั้งคณะกรรมการ มีผู้ว่าจังหวัดเป็นประธาน คณะกรรมการทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงช้าง โดยจัดอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ และดูแลให้ความสะดวกเมื่อช้างเจ็บป่วย และให้รางวัลตอบแทนเมื่อมีลูกช้างเกิดขึ้นใหม่ เชือกละ 2,000 บาท รวมทั้งจัดทำทะเบียนช้าง (หน้า 64)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ในการออกไปคล้องช้างแต่ละครั้ง เครื่องมือในการคล้องช้างเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประกอบด้วย 1) หนังปะกำ หรือเชือกปะกำ(บ่วงมาศ ที่ทำด้วยหนังควายแห้ง) เชือกปะกำถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก กุยเชื่อว่าหนังปะกำเป็นที่สิงของดวงวิญญาณ บรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หนังปะกำถือว่าเป็นเครื่องมือจับช้างที่สำคัญที่สุดประจำตระกูล คนในตระกูลต้องให้ความเคารพนับถือ และเชื่อกันว่าผีปะกำจะนำมาซึ่งความโชคดีหรือโชคร้ายกได้ สิ่งที่ต้องระวังในการปฏิบัติต่อหนังปะกำคือ ห้ามเหยียบ หรือห้ามผู้หญิงที่มิใช่สายโลหิตแตะต้องหรือขึ้นไปในศาลปะกำ ถ้าละเมิดถือว่าผิดครู หรือผิดปะกำ ทำให้เกิดผลร้าย เช่น เป็นบ้า วิกลจริต เสียสติ เจ็บป่วย ได้ โดยปกติเชือกปะกำจะเก็บไว้บนศาลปะกำ ลักษณะคล้ายศาลปูตา มีเสา 4 ต้น ยกพื้นสูงประมาณสองเมตร แยกออกจากตัวบ้านต่างหาก ส่วนใหญ่ จะอยู่ทางหน้าบ้านมีฝาและหลังคากันแดดฝน ในศาลจะมีของเซ่น ที่ขาดไม่ได้คือเหล้า 2) ทามคอหรือทาม มีลักษณะเป็นเชือกหนังขนาดใหญ่ สำหรับใช้ผูกคอช้างที่คล้องได้แล้ว 3) สลกหรือชดก ใช้กับช้างต่อสำหรับการผูกปลายหนังปะกำอีกข้างหนึ่ง เพื่อป้องกันช้างหนี 4) ชนัก เป็นเหล็กเส้นคล้องกับเชือก เพื่อผูกบรรจบกันสวมคอช้างสำหรับให้หมอช้างาสอดหัวแม่เท้ายึดเป็นหลัก นอกจากนั้นก็มี 5) โยง 6) สนามมุก 7)ไม้ดันจาม 8)ไม้งก 9)กาหรั่น 10) สะแนงเกล ต่างใช้ร่วมกันเพื่อใช้ในการคล้องช้าง (หน้า 36)

Folklore

ทั้งไทย-กุย และไทย-ลาว ต่างเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่นำโชคลาภและศิริมงคลมาให้แก่ผู้คนได้ เห็นได้จากความเชื่อในรูปของนิทานพื้นบ้านในท้องถิ่นอีสานตอนบน ดังนี้ "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสามี-ภรรยาผู้ยากไร้คู่หนึ่ง ทำมาหากินโดยการเก็บของป่ามาแลกข้าวปะทังชีวิต แม้จะยากจนแต่พวกเขาก็เป็นคนดีมีศีลธรรม วันหนึ่งพวกเขาได้ขอไปพักอาศัยที่บ้านควาญช้าง และที่บ้านควาญช้างนี้ จะทะเลาะวิวาทภายในครอบครัวไม่เว้นแต่ละวันจนทำให้ขวัญหรือมิ่งขวัญ (สิ่งที่เป็นศิริมงคลในตัวช้าง) เกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากอยู่กับเจ้าของอีกต่อไป พอดีคืนนั้นขวัญช้างดังกล่าว เห็นสามี-ภรรยา ทั้งสองเข้าจึงเกิดความสงสารอยากให้เกิดโชคลาภกับผู้อื่นเขาบ้าง จึงออกจากตัวช้างมาส่องแสงอยู่ที่ที่นอนของสองสามีภรรยา ผู้เป็นภรรยาเห็นจึงเข้าใจทันทีว่าช้างจะมาให้โชคลาภ จึงรีบเอาผ้าห่อเก็บไว้ ต่อจากนั้นทั้งสามีภรรยา ก็เริ่มทำมาหากินได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นผู้ที่มีฐานะดีในที่สุด ส่วนครอบครัวของควาญช้างก็มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา" นิทานดังกล่าว เป็นการสอนให้ผู้คนเป็นคนดีและปฏิบัติดีต่อช้าง จึงมีความมั่งคั่ง ร่ำรวยไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะมีอันเป็นไปตามอย่างในนิทาน" (หน้า 57)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ชาติพันธุ์ไทย-กุย เป็นกลุ่มที่พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร มีเลือดผสมระหว่างเวดดิด (Viddid) กับ เมลาเนเชียน (Melanasian) มีรูปร่างหน้าตาใกล้ไปทางพวกเงาะหรือเซมัง คือ ผมหยิก ผิวคล้ำ จมูกบาน ริมฝีปากหนา และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกับพวกข่า และละว้า แต่ถูกชาติใกล้เคียงเรียกชื่อที่แตกต่างกันไปตามลักษณะการมองและสถานภาพของกลุ่มนั้นๆ เช่น กลุ่มไทย-ลาว ในประเทศลาว เรียกว่าข่า กลุ่มไทยเหนือเรียกว่าละว้า กลุ่มเขมรเรียกว่า กุย กวย หรือโกยและกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยเรียกว่า ส่วย แต่ที่จริงแล้วคือเผ่าพันธุ์เดียวกัน มีภาษาวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีตประเพณีที่ใกล้เคียงกัน (หน้า 18) แม้ว่ากลุ่มไทยกุย จะมีภาษาและวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเองที่แตกต่างไปจากชาติพันธุ์ในกลุ่มอื่น ๆ แต่ก็มีชาวไทยกุยบางส่วน ได้ผสมผสานทั้งทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมกับกลุ่มไทย-ลาว และไทย-เขมร จนกลายเป็นกลุ่มชนกลุ่มใหม่ขึ้น ชาวบ้านเรียกว่า "ส่วย-ลาวและส่วย-เขมร แต่อย่างไรก็ตามยังมีชาวไทยกุย อีกกลุ่มที่ยังคงยึดมั่นอยู่ในประเพณีและวัฒนธรรมของตนเองอย่างเคร่งครัด ที่เรียกกันว่ากลุ่ม "ส่วยช้าง" (หน้า 2)

Social Cultural and Identity Change

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 การคล้องช้างที่ประเทศกัมพูชาได้สิ้นสุดลง และควาญช้างได้หันมาคล้องที่จังหวัดเลย ประเทศไทยแทน แต่เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวกมากมายหลายประการ จึงยุติการคล้องช้างไปในปี 2504 ประชากรช้างจึงเกิดจากการตกลูกเท่านั้น ซึ่งแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานถึง 21-22 เดือน และห่างกัน 3-4 ปี จำนวนช้างจึงเพิ่มช้า ๆ ในขณะที่เกิดการล้มตายจากโรคร้ายไปบ้าง รวมทั้งบางส่วนถูกขายไป จำนวนประชากรช้างในจังหวัดสุรินทร์จึงน้อยลงไปทุก ๆ ปี และในช่วงที่มีการพัฒนาทำให้พื้นที่ป่าดงถูกบุกเบิกเป็นที่ไร่นา สร้างความลำบากให้กับควาญช้างมาก ปัจจุบันมีจำนวนช้างในจังหวัดสุรินทร์ คือ อำเภอชุมพลบุรี 14 เชือก อำเภอสังขะ 14 เชือก อำเภอเมือง 5เชือก อำเภอปราสาท 2 เชือกอำเภอท่าตูม 66 เชือก ทั้งนี้อยู่ที่บ้านตากลาง หรือหมู่บ้านช้าง 61 เชือก (หน้า 61) นับตั้งแต่จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดให้มีงานช้างสุรินทร์ ซึ่งจะจัดขึ้นทุก ๆ สัปดาห์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนของทุก ๆ ปี ทำให้จังหวัดมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมืองสุรินทร์มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งถนนหนทาง อาคารร้านอาหาร สถานที่ราชการ โรงแรม ที่พักผ่อน และโบราณสถานต่าง ๆ (หน้า 6) และจากการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย ที่เริ่มในปี 2504 เกิดความเจริญต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีแบบดั้งเดิม การคมนาคมโดยเกวียนและล้อลาก ด้วยวัวควายหรือช้างเป็นพาหนะอย่างในสมัยก่อนหมดสิ้นไป มีรถยนต์รถสองแถวเข้ามาแทน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนติดต่อกันสะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้ความเชื่อและวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนได้มีการเคลื่อนไหวถ่ายเท และผสมผสานกลมกลืนกัน ซึ่งกลุ่มชาวไทย-กุย กลุ่มคนเลี้ยงช้างในจังหวัด สุรินทร์ ได้รับอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย บางส่วนได้ละทิ้งความเชื่อและประเพณีดั้งเดิม บางส่วนยังคงรักษาไว้อยู่ ซึ่งผู้วิจัยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) กลุ่มดั้งเดิม หรือ กลุ่มไทย-กุยเก่า กลุ่มเหล่านี้ประกอบด้วยคนเฒ่าคนแก่ และชาวบ้านที่มีประสบการณ์ในต่างถิ่นน้อยและมีความสัมพันธ์กับศูนย์กลางอำนาจและศูนย์กลางการพัฒนาน้อยด้วย คนกลุ่มนี้มีความยึดมั่นกับความเชื่อและวัฒนธรรมเดิมอย่างเคร่งครัด ความเป็นอยู่ส่วนใหญ่จะอาศัยการพึ่งพาจากธรรมชาติ มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงโลกภายนอก เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์และวิญญาณ และมีฐานะยากจนกว่าอีกกลุ่ม 2) กลุ่มก้าวหน้าหรือกลุ่มไทย-กุยใหม่ : คนกลุ่มนี้มีโอกาสปะทะสัมพันธ์กับวัฒนธรรมภายนอกและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศูนย์กลางปกครองของรัฐ ในกลุ่มไทย-กุยนี้ มีความเชื่อและการปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับคนไทยทั่ว ๆ ไป เมื่อพิจารณาจากสภาพบ้านเรือน การดำรงชีวิตแล้วพบว่ามีฐานะที่ดีกว่ากลุ่มแรกมาก เมื่อเทียบจำนวนช้างที่มีในการครอบครองแล้วพบว่าเกินครึ่งหนึ่งเป็นของคนในกลุ่มนี้ และการนำช้างไปแสดงในถิ่นอื่น ๆ เช่น สามพราน ญี่ปุ่น ก็เป็นกลุ่มนี้พาไป(หน้า 59-60) ในด้านความผูกพันธ์กับช้าง พบว่ากลุ่มนี้มีความผูกพันธ์ต่อช้างน้อย มองช้างในฐานะสัตว์เศรษฐกิจ หรือทรัพย์สิน ดังนั้นการใช้ประโยชน์ของคนในกลุ่มนี้จึงพยายามทำทุกอย่างที่ลูกค้าจ้างให้ช้างทำ ถึงแม้ว่าไม่อยู่ในวิสัยของช้าง เช่น การเต้นรำ ไต่ถัง เตะฟุตบอล วิ่งเก็บของ (หน้า 63)

Map/Illustration

ผู้วิจัยใช้รูปหมู่บ้านช้าง ลักษณะความเป็นอยู่ การแสดงช้าง ประกอบงานวิจัย ในหน้า 69-77

Text Analyst กุลนิษฎ์ พิสิษฐ์สังฆการ Date of Report 24 ก.ย. 2555
TAG กูย, ส่วย, ประวัติ, ความเป็นมา, วิถีชีวิต, การเลี้ยงช้าง, สุรินทร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง