สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง)คะยาห์ กะเรนนี บเว(กะเหรี่ยง),ศาสนา,อัตลักษณ์,พม่า,ไทย
Author ขวัญชีวัน บัวแดง
Title ศาสนาและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ศึกษากรณีกลุ่มชนกะเหรี่ยง ในประเทศไทย และประเทศพม่า
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ปกาเกอะญอ, กะแย กะยา บเว, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 152 Year 2546
Source สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

เนื้อหากล่าวถึงการนับถือศาสนาและอัตลักษณ์ของกะเหรี่ยง ทั้งที่อยู่ในประเทศพม่าและในประเทศไทย โดยได้ระบุถึงการที่กะเหรี่ยงในพม่าเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แทนศาสนาดั้งเดิม ในช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองพม่า ยุคล่าอาณานิคม รวมทั้งการพัฒนาความเป็นชาติของกะเหรี่ยง ตลอดจนการอพยพของกะเหรี่ยงตั้งแต่ในอดีตจนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพม่า กระทั่งสู้รบกับพม่าเนื่องจากปัญหาทางการเมือง จนต้องอพยพเข้ามาอยู่ในไทย อาศัยอยู่ในศูนย์อพยพในหลายจังหวัด นอกจากนี้รายงานชิ้นนี้ยังระบุถึงการนับถือศาสนา เช่น พุทธ คริสต์ และผีเรือน(ออแฆ) ของกะเหรี่ยงในประเทศไทย โดยทำการศึกษาในบริเวณชายแดนไทย-พม่า เขต อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

Focus

ศึกษาเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในพม่าและไทย กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ที่เชื่อมโยงกับตำนานความเชื่อและพิธีกรรม (หน้า 10) การเผยแพร่ศาสนาพุทธและคริสต์ และความขัดแย้งระหว่างอัตลักษณ์ทางศาสนาและทางชาติพันธุ์ ที่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จและล้มเหลวของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของการต่อสู้ระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง ผลกระทบของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่มีต่อกะเหรี่ยง และแนวทางของการอยู่รอดระหว่างความขัดแย้งดังกล่าว (หน้า 10,11)

Ethnic Group in the Focus

กะเหรี่ยงเป็นชื่อที่คนไทยและมอญเรียก คนพม่าเรียกว่า "คะหยิ่น" (Kayin) มาจากคำว่า "yine" หมายถึง ป่าเถื่อน กับคำว่า yin/yen หมายถึง คนแรกหรืออยู่ก่อน สำหรับกลุ่มคนเมืองและกลุ่มคนไทย หลายกลุ่มในภาคเหนือของไทย เรียกว่า "ยาง" มาจากคำในภาษาพม่าโบราณ ว่า "Karyan" ไทยออกเสียงว่า "กะเหรี่ยง" ส่วนคำว่า "ยาง" มาจากคำที่ตัดเหลือเฉพาะคำว่า "yan" สันนิษฐานว่า คำว่า "Karyan" มาจากคำที่กะเหรี่ยงสะกอ เรียกตนเองว่า "เกอะญอ" หรือหากว่าคำนี้อยู่ในภาษากะเหรี่ยงโปจะอ่านว่า "เกอะญา" แต่ปัจจุบันไม่มีภาษากะเหรี่ยงโปแล้ว จากข้อสันนิษฐาน คำว่ากะเหรี่ยงที่คนไทยและมอญใช้เรียกอาจจะมีรากฐานจากคำที่เขาเรียกตัวเอง (หน้า บทคัดย่อ, 4, 5)

Language and Linguistic Affiliations

มิชชันนารีพัฒนาภาษาเขียนของกะเหรี่ยง ในปี ค.ศ. 1830 โดยได้ประดิษฐ์มาจากอักษรของพม่า (หน้า 18)

Study Period (Data Collection)

ไปทำการศึกษาที่พม่า ระหว่างวันที่ 20-27 ตุลาคม 2545 (ภาคผนวก หน้า 125)

History of the Group and Community

ประวัติการย้ายที่อยู่ของกะเหรี่ยง การย้ายที่อยู่ของกะเหรี่ยงตั้งแต่อดีตมีดังนี้ กะเหรี่ยงย้ายมาจากบาบีโลน เมื่อปี 2234 ก่อนคริสตศักราช จากนั้นได้เดินทางมายังอาณาจักรมองโกเลีย ในปี 2197 ก่อน คริสตศักราช กระทั่งปี 2017 ก่อนคริสตศักราช ได้อพยพมายังเตอร์กิสถานตะวันออก ปี 1866 ก่อนคริสตศักราช อพยพไปยังธิเบต เดินทางถึงธิเบตในปี 1864 ก่อนคริสตศักราช จากนั้นในปี 1388 ก่อนคริสตศักราช ออกจากธิเบต เดินทางถึงอาณาจักรยูนนาน ในปี 1385 กระทั่งปี 1128 ก่อนคริสตศักราช (หน้า 21) กะเหรี่ยงกลุ่มแรกเดินทางถึงประเทศพม่า ในปี 1125 ก่อนคริสตศักราช และรุ่นที่สองเดินทางมาจากยูนาน เมื่อปี 741 ก่อนคริสตศักราช เดินทางถึงพม่าเมื่อปี 739 ก่อนคริสตศักราช และอยู่มาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลาสองพันกว่าปี (หน้า 21) ประวัติกอทูเล " ดินแดนแห่งดอกไม้ " รายงานระบุว่า กะเหรี่ยงได้เข้ามายังแผ่นดินอันเป็นที่อยู่ของพม่าในปัจจุบัน ก่อนที่ชนชาติพม่าจะเข้ามาอยู่ กะเหรี่ยงได้สร้างประเทศมีชื่อว่า "กอทูเล" แปลว่า "ดินแดนแห่งดอกไม้" หรือ "ดินแดนสีเขียว" พื้นที่ที่กะเหรี่ยงตั้งประเทศมีความสมบูรณ์และอยู่อย่างเป็นสุข แต่ต่อมาพม่าได้เข้ายึดครอง (หน้า 21) ความเป็นชาติพันธุ์ของกะเหรี่ยงในพม่า พัฒนาการการสร้างอัตลักษณ์ของกะเหรี่ยงในพม่า แบ่งเป็น 4 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 ยุคของความเป็นคนป่า คือช่วงก่อนการเข้ามาของอาณานิคมอังกฤษ หรือก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่กะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายขอบของรัฐ ทำให้กะเหรี่ยงถูกมองว่าเป็น "คนป่า" และมีชุมชนที่อยู่กระจัดกระจายไม่เป็นรัฐ ยุคที่ 2 การสร้างอัตลักษณ์ ท่ามกลางความขัดแย้งชาติพันธุ์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 - กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเข้ามายึดครองพม่า และมีมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ กับกะเหรี่ยง ส่งเสริมให้มีตัวอักษรเขียน มีการศึกษา และการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ร่วม เช่น ตำนานการกำเนิดกะเหรี่ยง ทำให้มีการพัฒนาการในเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยง และจิตสำนึก เชิงชนชาติ อัตลักษณ์ ยุคที่ 3 การต่อสู้เพื่อรัฐชาติและกะเหรี่ยง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่าพยายามจะปลดแอกอาณานิคม และเมื่อประสบความสำเร็จ กะเหรี่ยงซึ่งถูกมองว่าได้ยืนข้างอังกฤษในสมัยอาณานิคมก็ถูกปราบปราม กะเหรี่ยงต้องต่อสู้เพื่อการมีรัฐกะเหรี่ยง ทำให้เกิดองค์กรต่างๆ เช่น KNU (Karen National Union) ความเป็นกะเหรี่ยงจึงถูกปลูกฝังให้ตรงข้ามกับความเป็นพม่า และต้องมีความอิสระในการปกครอง ยุคที่ 4 อัตลักษณ์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกัลป์ปบความขัดแย้ง ปรากฎว่าในระหว่างที่ "ความเป็นกะเหรี่ยงได้พัฒนาไปสู่ความต้องการเป็นชนชาติ แต่มีกะเหรี่ยงจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงโปได้ปรับตัวและวิถีชีวิตแบบพม่าไปแล้ว โดยเฉพาะสามารถใช้ภาษาพม่าได้ และนับถือพุทธศาสนาเหมือนพม่า ทำให้ความเป็นกะเหรี่ยงไม่มีเอกภาพและแม้แต่กะเหรี่ยงที่นับถือพุทธ ใน KNU ก็เริ่มแยกตัวไป จึงเกิดภาวะ "กะเหรี่ยงคริสต์" และ "กะเหรี่ยงพุทธ" ขึ้น (หน้า 13-31) ความเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทย มีพัฒนาการจำแนกได้ 3 ยุค คือ ยุคที่ 1 การพัฒนาโดยอิสระจากรัฐ กะเหรี่ยงในไทยส่วนใหญ่กระจัดกระจายตามป่าเขาและมีการปกครองเบ็ดเสร็จในหมู่บ้าน แต่มีสายสัมพันธ์กับกษัตริย์ไทย ในบางท้องถิ่นและกะเหรี่ยงอาจจะรวมตัวกันในระดับที่กว้างกว่าหมู่บ้าน ผ่านความเชื่อและพิธีกรรม "ลัทธิฤาษี" ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมเป็นกลไกในการรวมกะเหรี่ยงอย่างหลวมๆ ในบางท้องถิ่น แต่ไม่ชัดเจนว่ามีการรวมกลุ่ม และสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ชัดเจน (หน้า 37) ยุคที่ 2 ความเป็นชาวเขา ในทศวรรษของ 2500 รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสนใจกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บนพื้นที่สูงและรวมเรียกว่า "ชาวเขา" กะเหรี่ยงก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกว่า "ชาวเขา" และถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ "การปลูกฝิ่น" และ "การทำไร่เลื่อนลอย" เป็นภัยต่อความมั่นคงทางการเมือง และเศรษฐกิจในรัฐ (หน้า 41) ยุคที่ 3 ความเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในทศวรรษของ 2530 ภาพลักษณ์กะเหรี่ยงเปลี่ยนไป (หน้า 43) เริ่มถูกมองว่าแตกต่างจากกลุ่มอื่น ในแง่ที่ว่ายอมรับนับถือพุทธศาสนา และกะเหรี่ยง เองก็สร้างตัวตนให้เด่นชัด ในเรื่องการทำไร่หมุนเวียน และการอนุรักษ์ป่า (หน้า 44) เผยแพร่โดยผู้นำกะเหรี่ยง และสื่อมวลชนมากขึ้น

Settlement Pattern

บ้านพักของผู้พลัดถิ่นในศูนย์อพยพ จะสร้างเป็นกระท่อมไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยใบตอง สร้างแบบอยู่ชั่วคราวไม่ถาวร (หน้า 97, หน้า 96)

Demography

ประชากรกะเหรี่ยงในพม่า กะเหรี่ยงอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เมืองพะโค บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี กับพื้นที่ภูเขาด้านตะวันออก ที่ทอดยาวตั้งแต่รัฐฉาน ภาคเหนือ ถึงทวาย กับมะริด ภาคใต้ จำนวนประชากรกะเหรี่ยงที่สำรวจเมื่อ ค.ศ.1911 มีจำนวน 1,102,000 คน โดยในเวลานั้นพม่ามีประชากรจำนวน 8,000,000 คน (หน้า 7) สำหรับการสำรวจของสถาบันเอเซียศึกษา เมื่อ พ.ศ.2535 ระบุว่า ประเทศพม่ามีประชากรจำนวน 41.3 ล้านคน เป็นชาติพันธุ์พม่า 72% ไทยใหญ่ 6% คะฉิ่น 2% คนจีน 21% ฉิ่น 2% อินเดีย 3% และอื่นๆ 6% สำหรับจำนวนประชากรกะเหรี่ยงประมาณว่ามีจำนวน 3 ถึง 4 ล้าน คน ส่วนสหภาพแห่งชาติพม่าประเมินว่า ประชากรกะเหรี่ยงมี 7 ล้านคน (หน้า 7) ประชากรกะเหรี่ยงในไทย ระหว่าง พ.ศ. 2544-2545 กะเหรี่ยงมีประชากรจำนวน 438,450 คน ตั้งบ้านเรือนอยู่ใน 1,925 หมู่บ้าน โดยอยู่ในภาคเหนือ เช่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และจังหวัดในภาคกลางติดชายแดนทิศตะวันตก เช่น อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธุ์ (หน้า 7) มีจำนวนหลังคาเรือน 87,793 หลังคาเรือน (ตารางหน้า 8) ทั้งนี้ผู้เขียนระบุว่ากะเหรี่ยงในประเทศไทย มีจำนวนประชากรจำนวน 10% ของประชากรกะเหรี่ยงที่อยู่ในพม่า ซึ่งมีจำนวน 4,500,000 คน (หน้า 107) กะเหรี่ยงจากพม่าที่ศูนย์อพยพในประเทศไทย พ.ศ. 2538 ประชากรกะเหรี่ยงใน 18 ศูนย์ มีจำนวนประชากร ที่จดทะเบียนจำนวน 71,980 คน กระทั่ง พ.ศ. 2541 มีกะเหรี่ยงที่ศูนย์อพยพลดเหลือจำนวน 7 ศูนย์ ประกอบด้วยศูนย์แม่กองคา ลามาหลวง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่หละ อุ้มเปี้ยมใหม่ นุโพ ในพื้นที่ จ.ตาก บ้านดอนยาง จ.กาญจนบุรี และบ้านถ้ำหิน จ.ราชบุรี มีจำนวนประชากร 104,355 คน (หน้า 97) ประชากรศูนย์แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กระทรวงมหาดไทยขึ้นทะเบียนไว้เมื่อ วันที่ 10 สิงหาคม 2544 มี 6,841 ครอบครัว ประชากร 37,718 คน แต่สันนิษฐานว่าจะมีคนที่ไม่ลงทะเบียนมากกว่าหนึ่งหมื่นคน เป็นกลุ่มที่มาอยู่กับญาติในภายหลัง (หน้า 97)

Economy

เศรษฐกิจของกลุ่ม KNU กล่าวถึงการค้าขายและรายได้ของกลุ่ม KNU กับนักธุรกิจต่างชาติ ในช่วงปี 1960-1970 มีดังนี้ กลุ่ม KNUมีรายได้เป็นจำนวนมากจากการเก็บภาษี จากไทยข้ามไปพม่า นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการสัมปทานป่าไม้ รายงานระบุว่าเครื่องอุปโภคบริโภคกว่า 80% ข้ามมาจากฝั่งไทย โดยกลุ่ม KNU จะเก็บภาษี 5% ของราคาสินค้า ในปี ค.ศ. 1988 ธนาคารโลกได้ประเมินว่า พม่ามีเศรษฐกิจนอกระบบมีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ (หน้า 28) ค.ศ.1984 กลุ่ม KNU ได้ให้สัมปทานโรงเลื่อยกับนักธุรกิจจากประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย จำนวน 65 แห่ง โดยในระหว่างปี ค.ศ.1989-1993 กลุ่ม KNU ให้สัมปทานป่ามีเนื้อที่กว่า 18,800 ตารางกิโลเมตร (หน้า 28)

Social Organization

ไม่มี

Political Organization

หลักการแบ่งแยกแล้วปกครองในพม่า กล่าวถึงการปกครองของอาณานิคมอังกฤษ ในประเทศพม่า ที่เข้ามายึดพม่า เมื่อ พ.ศ. 2369 กระทั่งพม่าประกาศเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2491 รายงานระบุว่าเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างชาติกะเหรี่ยง เช่น กะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นราบเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ คนกะเหรี่ยงได้เรียนในโรงเรียน วิทยาลัย และย้ายเข้ามาอยู่ใกล้เมืองมากขึ้น รวมทั้งได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ (หน้า 105) ขณะนั้นอังกฤษได้ปกครองพม่า แบบแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) แล้วแบ่งพื้นที่ปกครองออกเป็น 2 เขต คือ เขตพม่าแท้ (Proper Burma) ให้พม่าปกครองกันเอง กับเขต พรมแดน (Frontiers) อังกฤษปกครอง ดังนั้นจึงทำให้ทั้งสองกลุ่มไม่ค่อยได้พบกัน กลุ่มที่อยู่ในเขตพรมแดน มีความรู้สึกว่ามีฐานะเท่ากับกระทั่งเหนือกว่าผู้นำที่อยู่ในเขตพม่า กระทั่งไม่ยอมอยู่ในการปกครองของพม่า เมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษ (หน้า 105) KNU สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union หรือ KNU)ได้เกิดความแตกแยก เนื่องจากกะเหรี่ยงที่เป็นชาวพุทธ ขัดแย้งกับผู้นำที่นับถือศาสนาคริสต์ เช่น เรื่องผู้นำท้องถิ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ เกณฑ์แรงงานทหารเด็ก หรือการใช้แรงงาน จึงทำให้กะเหรี่ยงที่นับถือพุทธขุ่นเคืองใจ ดังนั้นทหารจึงแยกตัวไปตั้งกองทัพใหม่ชื่อว่า กองทัพกระเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army หรือ DKBA) มีผู้นำคือพระทุสนะ ในปี ค.ศ. 1994 (หน้า 29) กระทั่งต้นปี ค.ศ. 1995 กองทัพพม่ากับ DKBA ได้ร่วมกันยึดที่มั่นใหญ่ มาเนอร์ปลอร์ และที่อื่นๆ ด้านทิศเหนือ ดังนั้นกองกำลัง KNU จึงเข้ามาในเขตชายแดนไทย(หน้า 29) กะเหรี่ยงในไทย การปกครองในระดับหมู่บ้าน จะมี "ฮีโข่" หมายถึง หัวบ้าน หรือ "กอโข่" หมายถึง หัวแผ่นดินเป็นผู้นำทางพิธีกรรมและการปกครอง (หน้า 34, 55) การปกครองในศูนย์อพยพ ในศูนย์กะเหรี่ยงอพยพ ที่กล่าวถึงในงานเขียนมีการปกครองดังนี้ ศูนย์อพยพแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อำเภอแม่หละได้มอบให้ปลัดอำเภอเป็นหัวหน้าดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ กับองค์กรต่างๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือ กะเหรี่ยงในศูนย์ สำหรับในศูนย์ก็จะมีประธานกับรองประธาน ทำหน้าที่ดูแลศูนย์ สำหรับคณะกรรมการการทำงานในศูนย์ คนในศูนย์อพยพจะเป็นผู้เลือกตั้ง (หน้า 98)

Belief System

การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในพม่า เมื่ออังกฤษ ได้ยึดครองพม่า กลุ่มมิชชันนารีก็เริ่มเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ไปด้วยพร้อมกัน โดยมิชชันนารีนิกายโปรแตสเตนท์ เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในพม่า เมื่อ ค.ศ.1807 ขณะมิชชันนารีแบ็บติสท์อเมริกันเข้ามาเมื่อ ค.ศ.1826 และมิชชันนารีโรมันคาทอลิค เข้ามาพม่าเมื่อ ค.ศ.1845 ทั้งนี้คณะมิชชันนารีได้เข้ามาในพม่าก่อนที่อังกฤษจะล้มล้างราชวงศ์คองบอง และกษัตริย์พม่าองค์สุดท้าย เมื่อปี ค.ศ.1865 (หน้า 17) ทั้งนี้ได้มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมากแบ็บติสท์อเมริกันที่อยู่ในพม่า ระบุเมื่อ ค.ศ.1962 ว่า มีกะเหรี่ยง คะฉิ่นและฉิ่น นับถือศาสนาคริสต์จำนวน 180,000 คน พม่า 5,341 คน ไทยใหญ่และปะโอ 3,500 คน และมอญ 1,000 คน (หน้า 18) กะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์ในไทย งานเขียนได้บอกว่า พ.ศ.2531 มีกะเหรี่ยงนับถือนิกายโปรเตสแตนท์ ในภาคเหนือของไทย จำนวน 11,500 คน ปี พ.ศ 2529 มีกะเหรี่ยงนับถือนิกายคาทอลิค 9,630 คน โดยคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมดของกะเหรี่ยง ส่วนสถาบันวิจัยชาวเขา ระบุ เมื่อ พ.ศ 2532 ว่า มีกะเหรี่ยงนับถือศาสนาคริสต์ จำนวน 47,490 คน (หน้า 53) หรือ 17.23% ของจำนวนกะเหรี่ยงในไทย (หน้า 54) ส่วนผู้เขียนระบุว่า พ.ศ.2540 มีกะเหรี่ยงที่นับถือนิกายคาทอลิค จำนวน 32,135 คน และนับถือนิกายโปรเตสแตน์ จำนวน 16,735 คน รวมกันได้ 50,000 หรือจำนวน 14% ของประชากรกะเหรี่ยง (หน้า 54) ศาสนสถานในศูนย์กะเหรี่ยงอพยพ แม่หละ ศูนย์อพยพ แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ประกอบด้วยวัดศาสนาพุทธ จำนวน 3 แห่ง โบสถ์คริสต์จำนวน 22 แห่ง ศาสนาอิสลามมีสุเหล่า 4 แห่ง (หน้า 99) การนับถือศาสนาในหมู่บ้านกรณีศึกษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านกะเหรี่ยงกรณีศึกษาใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ (หน้า 54,55) พ.ศ.2541 ในจำนวน 5 หย่อมบ้าน 112 ครัวเรือน 35 หลังคาเรือน นับถือศาสนาคริสต์ นับถือศาสนาพุทธ 73 ครัวเรือน และนับถือ "ออแฆ" หรือ ผีเรือน 4 ครัวเรือน (หน้า 58, 62) การนับถือศาสนาในหมู่บ้านกรณีศึกษา อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ผู้เขียนได้ทำการสุ่มตัวอย่างในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตากแต่ก่อนนับถือศาสนาเดิม หรือ "ออแฆ" ภายหลังได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ ตัดผีด้วยวิธีซาสี่ หมายถึง การสักโยวิธีการใช้ยา เพื่อตัดผีเรือน (หน้า 61,123) หรือศาสนาคริสต์ มีจำนวนดังต่อไปนี้ ศาสนาเดิม "ออแฆ" จำนวน 45 ครัวเรือน, พุทธ 34 ครัวเรือน, แซตาสี่ 4 ครัวเรือน, คริสต์ 10 ครัวเรือน และไม่ตอบอีกจำนวน 7 ครัวเรือน (หน้า 123)

Education and Socialization

ผู้เขียนได้สุ่มตัวอย่างแบบไม่เป็นระบบหมู่บ้านหนึ่ง ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พบจำนวนผู้ที่อ่านออกเขียนได้โดยแยกเป็น สามีกับภรรยาเพื่อเปรียบเทียบอัตราการอ่านออกเขียนได้ มีดังนี้ อ่านภาษากะเหรี่ยงได้ สามี 35 คน ภรรยา 15 คน, พูดภาษาไทยได้ สามี 23 คน ภรรยา 12 คน พูดภาษาพม่าได้ สามี 24 คน ภรรยา 10 คน (ภาคผนวก หน้า123, 124) โรงเรียนในศูนย์กะเหรี่ยงอพยพ แม่หละ ศูนย์กะเหรี่ยงอพยพ แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีโรงเรียนอนุบาลจำนวน 22 แห่ง โรงเรียนระดับประถมศึกษา 17 แห่ง โรงเรียนระดับมัธยมอีก 4 แห่ง โรงเรียนสอนวิชาชีพเกษตร 1 แห่ง โรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ 4 แห่ง ทั้งนี้โรงเรียนชั้นประถมและมัธยม นักเรียนมีสิทธิ์เลือกว่าจะเรียนตัวหนังสือกะเหรี่ยงตัวแบบไหน เพราะมีตัวอักษรเขียนหลายอย่าง (หน้า 99)

Health and Medicine

กล่าวถึงมิชชันนารีที่เข้า มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ให้แก่กะเหรี่ยงที่นับถือนับที่อยู่ในพม่า โดยมิชชันนารีได้ให้ความช่วยเหลือ ด้านการรักษาพยาบาลด้วย สำหรับคนที่ป่วยเพราะเชื่อว่าผีเรือนทำ ก็กลับไปรักษาด้วยการเซ่นไหว้ผีเรือน เมื่อหายแล้วกลับมานับถือศาสนาคริสต์ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากซาบซึ้งในบุญคุณที่มิชชันนารี เคยช่วยเหลือหลายๆ อย่างในอดีต (หน้า 60)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย เสื้อเป็นทรงกระสอบมีแขนอยู่กับตัวเสื้อ ตอนสวมจะสวมทางด้านหัว (หน้า 8) ภาพการแต่งกายกะเหรี่ยงในพม่า (หน้า 32) ละครจ่า คือ การรำ ประกอบการร้องเพลงภาษาพม่าและเล่นดนตรี เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองวง ฆ้องวง ปี่ ฉิ่ง ฉาบ ไม้ไผ่ผ่าครึ่ง ในระหว่างการเล่นนั้นจะมีละครสั้นเล่นสลับไปด้วย การแสดงเริ่มจากการร้องเพลงไหว้ครู รำเดี่ยวชาย ลำเดี่ยวหญิง และรำหมู่ การแสดงตลก และละครที่เป็นนิทานพื้นบ้าน และชาดกเรื่องต่างๆ (หน้า 90, 139, 140, 146, 147) "จ่า" เป็นคำทับศัพท์มาจากภาษาพม่า คือคำว่า "Zat " สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากคำว่า ชาติ หรือชาดก ดังตัวอย่างคำว่า Wey- than-daya zat ตรงกับคำว่า Vessantara Jataka หรือเวสสันดรชาดก (หน้า 140) สำหรับการแสดงละครจ่า ที่ผู้เขียนได้ไปชมในชุมชนกะเหรี่ยง อ.สองยาง จ.ตาก โดยมากคณะละครจ่าจะไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ เริ่มจากช่วงออกพรรษา กระทั่งถึงต้นหน้าเพาะปลูก (หน้า 139) การเล่นดนตรี และการรำละครจ่าปรับปรุงมาจากการฟ้อนผี ฟ้อนโดยผู้ที่เป็นร่างทรง เพื่อเป็นการบูชาเทพนัท (nat) ทั้ง37 องค์ โดยเทพแต่ละองค์ จะมีเพลงและการแต่งตัวเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง (หน้า 141)

Folklore

ตำนานเทาะแมป่า ( พ่อเขี้ยวหมู ) เทาะแมป่า เป็นบรรพบุรุษของกะเหรี่ยง ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ภูเขา "ทอทีปฬอก่อ" หมายถึง "ภูเขาสูงน้ำจับแผ่นดิน" วันหนึ่งได้ฆ่าหมูป่า ที่เข้ามารบกวนภายในหมู่บ้าน แต่หมู่ตัวใหญ่จึงขนตัวหมูกลับไม่ได้ ดังนั้นจึงกลับมาหมู่บ้าน เพื่อบอกลูกหลานให้ไปช่วยกันขนเนื้อกลับหมู่บ้าน ครั้นกลับที่บริเวณเดิมก็ไม่เจอร่างหมูป่า เหลือให้เห็นเพียงเขี้ยวตันข้างหนึ่ง เทาะแมป่า ได้นำเขี้ยวตันมาทำหวี เมื่อเทาะแมป่ากับเมียหวีผมก็ทำให้กลับมาเป็นหนุ่ม สาว อยู่ตลอดเวลา และมีลูกหลานเพิ่มเป็นจำนวนมาก (หน้า 20) ฉะนั้นเมื่อคนมากขึ้น จึงทำให้ที่ทำกินไม่พอเพราะมีประชากรมาก เขาจึงอพยพจากบ้านเพื่อไปหาที่อยู่ใหม่ และได้หลังทางกับลูกเมื่อเดินทางข้าม "แม่น้ำทรายไหล" บริเวณนี้ รายงานระบุว่าน่าจะเป็น "ทะเลทรายโกบี" ส่วนในบันทึกของจีน เรียก "แม่น้ำทราย" เมื่อข้ามทะเลทรายก็มาถึงพม่า ดังนั้นลูกหลานของเทาะแมป่า ซึ่งเป็นคนกะเหรี่ยง (หน้า 20) ก็ตั้งที่อยู่ที่นี่ และตั้งตารอ เทาะแมป่าเดินทางกลับมาหา (หน้า 21) ตำนานหนังสือทอง เนื้อเรื่องมีว่า Ywa ซึ่งเป็นพระเจ้าที่สร้างมนุษย์ ได้เดินทางมาเยี่ยมลูกบนโลก ครั้นจะเดินทางกลับจึงนัดหมายพี่น้อง อันเป็นบรรพบุรุษของชาติพันธุ์ต่างๆ มาหาเพื่อจะให้ "หนังสือทอง" อันเป็นหนังสือรวบรวมความรู้ที่จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ในจำนวนนี้กะเหรี่ยงเป็นพี่คนโตกับน้องคนสุดท้องเป็นคนผิวขาว เวลานั้นกะเหรี่ยงกำลังทำไร่ พระเจ้าจึงฝากหนังสือทองมากับน้อง กะเหรี่ยงจึงบอกให้วางหนังสือไว้ที่ตอไม้ ที่บริเวณท้ายไร่ (หน้า 21) และเขาก็ลืมปล่อยให้วางไว้อย่างนั้น เมื่อเผาไร่หนังสือนั้นก็เลยไหม้ บางครั้งตำนานอื่นก็ว่า ฝนตกจนตัวหนังสือเลือนจนอ่านไม่ออก จากนั้นไก่ก็มาคุ้ยเขี่ยและจิกขี้เถ้าหนังสือทอง ไก่จึงได้ความรู้จากหนังสือนั้น จึงเป็นที่มาของการเสี่ยงทายกะดูกไก่ของกะเหรี่ยง สำหรับน้องคนสุดท้อง ก็ได้ความรู้จากหนังสือทองไปพัฒนาเมืองของตนจนเจริญรุ่งเรือง อย่างไรก็ดีกะเหรี่ยงก็ยังคาดหวังว่าน้องคนสุดท้องที่เป็นคนผิวขาว จะนำหนังสือมาให้นั่นเอง( หน้า 21)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

กล่าวถึงความแตกแยกระหว่างกะเหรี่ยงคริสต์กับกะเหรี่ยงพุทธที่ทะเลาะกันคือ กะเหรี่ยงคริสต์เตะของที่กะเหรี่ยงที่นับถือพุทธนับถือ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งงมงาย ดังนั้นกะเหรี่ยงพุทธจึงไปเข้ากับฝ่ายทหารพม่า ทุกวันนี้พระของกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ หรือ DKBA ก็ได้นำกะเหรี่ยงพุทธมาอยู่รวมกัน สร้างวัดและเจดีย์ เป็นต้น (หน้า 85)

Social Cultural and Identity Change

กล่าวถึงกะเหรี่ยงที่อยู่ใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่เปลี่ยนจากนับถือผีมานับถือศาสนาคริสต์ (หน้า 54, 55) ว่าสาเหตุที่ กะเหรี่ยงที่เปลี่ยนจากนับถือผีบรรพบุรุษหรือผีเรือน กะเหรี่ยงเรียกว่า "ออแฆ" (หน้า 58) การเลิกนับถือศาสนาเดิมเนื่องจากว่ามีพิธีกรรมมาก และถ้าทำผิดไม่ถูกประเพณีก็จะทำให้ผีเรือนโกรธ ผู้เป็นเจ้าของบ้านก็จะเจ็บไข้ไม่สบาย ดังนั้นกะเหรี่ยงจึงหันมานับถือศาสนาคริสต์ และทำพิธีตัดผีเรือน (หน้า 59, 60)

Other Issues

รายงานการไปศึกษาพม่าของผู้เขียน ระหว่างวันที่ 20-27 ตุลาคม 2545 เขียนถึง การเดินทางไปพม่า กิจกรรมต่างๆ ระหว่างเดินทางที่ผู้เขียนกล่าวถึงมีดังนี้ 20 ตุลาคม 2545 ออกเดินทางจากเชียงใหม่ ไปย่างกุ้ง ไปไหว้เจดีย์ชเวดากอง 21 ตุลาคม ไปพะอัน เมืองหลวงรัฐกะเหรี่ยง ร่วมงานทอดกฐินของชาวปะโอ 22 ตุลาคม เดินทางไปเมาะละแหม่ง รัฐมอญ 23 ตุลาคม ดูตลาด ชมวัดที่เมาะละแหม่ง ข้ามฝั่งไปเมืองเมาะตะมะ เดินทางกลับย่างกุ้ง 24 ตุลาคม ไหว้พระธาตุเจดีย์อินแขวน ไหว้มหาเจดีย์ที่พะโค 25 ตุลาคม ไปที่ห้องสมุด มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ 26 ตุลาคม ชมหมู่บ้านปั้นหม้อ บริเวณชานเมืองย่างกุ้ง ซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือ 27 ตุลาคม 2545 เดินทางกลับเชียงใหม่ ประเทศไทย (ภาคผนวก 3 หน้า 125-138)

Map/Illustration

ตาราง ประชากรกะเหรี่ยงในไทย ปี 2544 - 2545 (หน้า 8) จำนวนกะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์ (หน้า 55) ตารางลำกับเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกะเหรี่ยงในประเทศพม่า และประเทศไทย (ภาคผนวกที่ 1 หน้า 118-121) ลำดับเหตุการณ์ด้านนโยบายและโครงการของรัฐที่เกี่ยวกับชาวเขาในประเทศไทย (หน้า 122) ภาพ กะเหรี่ยงพื้นราบวิดน้ำเข้านา (หน้า 31) ภาษากะเหรี่ยงที่เขียนด้วยอักษร "ลิกวา" (หน้า 31) ภาพวาดการแต่งกายของกะเหรี่ยงในพม่า (หน้า 32) กะเหรี่ยงสะกอรำในงานทอดกฐิน รัฐกะเหรี่ยง (หน้า 70) แม่น้ำเมย บริเวณ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก (หน้า 73) งานปีใหม่กะเหรี่ยง ปี 2546 ชายแดนฝั่งพม่า เวทีละครจ่าในงานปีใหม่ (หน้า 88, 89) ศูนย์อพยพกะเหรี่ยง (หน้า 96) แผนที่ ชายแดนไทย - พม่า (หน้า 79) ชายแดนไทย-พม่าส่วนที่สัมปทานป่าไม้ (หน้า 79) ศูนย์อพยพและค่ายทหารกะเหรี่ยง (หน้า 95)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 05 ก.ย. 2555
TAG ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง)คะยาห์ กะเรนนี บเว(กะเหรี่ยง), ศาสนา, อัตลักษณ์, พม่า, ไทย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง