สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject คนอีสาน ลาวอีสาน,ไทเบิ้ง ไทยเดิ้ง,ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย โย่ย,แสก,ผู้ไท,กะเลิง,ลักษณะครอบครัว,คำศัพท์ทางเครือญาติ,ภาคอีสาน
Author พระมหาณัฐพล โพไพ
Title วิเคราะห์คำศัพท์เครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในภาคอีสาน
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity แสก แทรก (ถะ-แหรก), ไทโย้ย โย่ย โย้ย ไทยโย้ย ไทย้อย ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย, ผู้ไท ภูไท, ไทเบิ้ง ไทเดิ้ง, กะเลิง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 108 Year 2543
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยคดีศึกษา (กลุ่มมนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
Abstract

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ได้ศึกษาลักษณะของครอบครัว เครือญาติและคำศัพท์เครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในภาคอีสาน 7 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทยอีสาน ไทยโคราช ไทยญ้อ ไทยโย้ย ไทยแสก ผู้ไทย และไทยกะเลิง คำศัพท์เรียกชั้นเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในภาคอีสานทั้ง 7 กลุ่ม มีทั้งหมด 665 คำศัพท์ แบ่งเป็น คำศัพท์เครือญาติร่วมตระกูล คำศัพท์เครือญาติร่วมกลุ่ม คำศัพท์เครือญาติข้ามกลุ่ม และคำศัพท์เครือญาติเฉพาะกลุ่ม คำศัพท์เครือญาติเป็นสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดหรือสืบทอดจากบรรพบุรุษแบบมุขปาฐะด้วยการเลียนเสียงหรือสำเนียงพูดให้เหมือนกับ "ภาษาแม่" มากที่สุด แม้ว่าปัจจุบันจะได้รับอิทธิพลทางภาษาจากหลายรูปแบบ เช่น ทางสื่อสาร ทางการศึกษา ทางประสบการณ์ แต่ภาษาที่จัดเป็นภาษาแม่ หรือภาษาบรรพบุรุษ หรือภาษาหลักนั้นยังคงมีอิทธิพลมากในระดับท้องถิ่น และยังคงใช้สื่อในวิถีชีวิตอย่างต่อเนื่องตลอดมา (หน้า 2, 7, 37, 69)

Focus

ศึกษาลักษณะของครอบครัว เครือญาติและคำศัพท์เครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในภาคอีสาน (บทคัดย่อ)

Theoretical Issues

ผู้ศึกษาได้นำกรอบแนวคิดจากเกธติ้ง (Gething) ,เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์, ศิราพร ฐิตะฐาน, นิยพรรณ (ผลวัฒนะ) วรรณศิริ และประสิทธิ์ สวาสดิ์ญาติ มาปรับปรุงผสมผสานในการวิเคราะห์คำศัพท์เครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสาน ได้แก่ กรอบแนวคิดที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะครอบครัวและเครือญาติที่เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกันโดยสายเลือดและการแต่งงาน เป็นสิ่งที่ได้รับการจัดระบบกฎเกณฑ์เป็นเรื่องของวัฒนธรรม คือไม่ได้เกิดขึ้นโดยอิสระแต่ถูกกำหนดด้วยปัจจัย เช่น สถานภาพ และบทบาทหน้าที่ที่สังคมยอมรับและคาดหวัง จากการศึกษาสามารถให้เห็นถึงลักษณะครอบครัว ลักษณะการนับเครือญาติ ลักษณะโครงสร้างเครือญาติ และปัจจัยกำหนดถึงความเป็นญาติ กรอบแนวคิดเกี่ยวกับคำศัพท์เครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสาน ซึ่งมีทั้งความเหมือน ใกล้เคียงและแตกต่างกันตามภาษากลุ่มย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงได้นำกรอบแนวคิดจากนักภาษาศาสตร์ที่ได้จัดแบ่งตระกูลภาษาออกเป็นกลุ่มย่อยตามท้องถิ่นนั้น ๆ ภาษานั้นได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษด้วยมุขปาฐะ เพื่อสื่อความเข้าใจระหว่างกลุ่มตนในวิถีชีวิตประจำวัน กรอบแนวคิดนี้สามารถวิเคราะห์ภาษาในด้านคำศัพท์เครือญาติร่วมตระกูล (หมายถึง ภาษาที่ใช้อยู่ในพื้นถิ่นหนึ่งอาจมีใช้อยู่ในอีกพื้นถิ่นหนึ่ง แต่มีองค์ประกอบทางโครงสร้างร่วมกัน) คำศัพท์เครือญาติร่วมกลุ่ม (หมายถึง ภาษาที่ใช้สื่อจำเพาะกลุ่มย่อยแต่ก็ปรากฏลักษณะร่วมกับกลุ่มอื่น) คำศัพท์เครือญาติข้ามกลุ่ม (หมายถึง ข้ามกลุ่มภาษา เป็นภาษาที่ใช้สื่อความหมายในกลุ่มหนึ่ง แต่ภาษาดังกล่าวก็ปรากฏใช้อยู่ในอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน) และคำศัพท์เครือญาติเฉพาะกลุ่ม (หมายถึง ภาษาเฉพาะกลุ่มนั้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน ร่วมกลุ่มกันหรือข้ามกลุ่ม แต่สามารถสื่อความหมายได้จำเพาะกลุ่ม) (หน้า 7-10)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสาน 7 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทยอีสาน ไทยโคราช ไทยญ้อ ไทยโย้ย ไทยแสก ผู้ไทย และไทยกะเลิง (หน้า 2)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาถิ่นตระกูลไทย (หน้า 2) โดยแบ่งเป็นภาษากลุ่มย่อยตามท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. ชาวบ้านแก่งสนาม จังหวัดมหาสารคาม ใช้ภาษาไทยอีสานหรือภาษาลาวเป็นภาษาหลักในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ภาษาอื่นที่ใช้รองลงมาได้แก่ ภาษาไทยกลางและภาษาไทยอีสาน (หน้า 25) 2. ชาวบ้านดงพลอง จังหวัดนครราชสีมา ใช้ภาษาไทยโคราช หรือชาวบ้านเรียกว่า ภาษาโคราช เป็นภาษาหลักในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ภาษาอื่นที่ใช้รองลงมาได้แก่ ภาษาไทยกลางและภาษาไทยอีสาน (หน้า 26) 3. ชาวบ้านคูสนาม จังหวัดสกลนคร ใช้ภาษาไทยญ้อ หรือ ภาษาญ้อ เป็นภาษาหลักที่ใช้พูดในชีวิตประจำวัน ภาษาที่ใช้รองลงมา คือ ภาษาไทยกลางและภาษาไทยอีสาน (หน้า 28) 4. ชาวบ้านดอนแดง จังหวัดสกลนคร ใช้ภาษาโย้ยหรือภาษาไทยโย้ย เป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ภาษาที่ใช้รองลงมา คือ ภาษาไทยกลางและภาษาไทยอีสาน (หน้า 29) 5. ชาวบ้านดอนสมอ จังหวัดนครพนม ใช้ภาษาแสก เป็นภาษาหลักในการสื่อสารกับบุคคลในกลุ่มตน ภาษาที่ใช้รองลงมา คือภาษาไทยกลางและภาษาไทยอีสาน (หน้า 30) 6. ชาวบ้านโคกหินแฮ่ จังหวัดนครพนม ใช้ภาษาผู้ไทย เป็นภาษาหลักใช้พูดในชีวิตประจำวัน ภาษาที่ใช้รองลงมาคือ ภาษาไทยกลางและภาษาไทยอีสาน (หน้า 32) 7. ชาวบ้านดงมะไฟ จังหวัดสกลนคร ใช้ภาษากะเลิงเป็นภาษาหลักที่ใช้ในระดับหมู่บ้าน ภาษาที่ใช้รองลงมาคือ ภาษาไทยกลางและภาษาไทยอีสาน (หน้า 34)

Study Period (Data Collection)

ปี พ.ศ. 2543

History of the Group and Community

ประวัติการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในภาคอีสานของกลุ่มต่าง ๆ มีดังนี้ คือ 1. บ้านแก่งสนาม ตั้งหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ.2480 ก่อนตั้งหมู่บ้านบริเวณนี้เป็นเนินป่า ระหว่างเนินมีเส้นทางใช้สัญจร ต่อมาชาวบ้านในละแวกนั้นได้จัดเนินให้เป็นสนามแข่งม้าหรือแข่งขันวิ่งเร็ว ต่อมามีผู้อพยพเข้ามา ซึ่งเป็นชาวบ้านมาจากบ้านดอนก่อซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ตั้งถิ่นฐาน และอยู่ห่างกันเพีบง 500 เมตรเท่านั้น ในระยะแรกเรียกว่า "คุ้มน้อย" หรือ "บ้านน้อย" และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "คุ้มสนาม" หรือ "บ้านสนาม" เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านดอนก่อ จน พ.ศ.2516 จึงได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นหมู่บ้านจากทางราชการ และตั้งชื่อบ้านว่า "บ้านแก่งสนาม" (หน้า 24) 2. ไทยโคราชบ้านดงพลอง ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้เล่าให้ฟังว่าบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านนั้นเดิมมีสภาพเป็นป่าใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นต้นพลองขึ้นอย่างหนาแน่น เมื่อมีผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ป่าแห่งนี้จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านดงพลอง โดยมีหัวหน้าหมู่บ้านคนแรกชื่อ ขุนเดช พาคนอพยพมาจากจังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ที่ขุนเดชได้นำคนมาตั้งถิ่นฐาน จนปัจจุบัน อายุของหมู่บ้านนี้ตั้งมาเป็นเวลาประมาณ 150 ปีขึ้นไป (หน้า 26) 3. ไทยญ้อบ้านคูสนาม ชาวบ้านคูสนามอพยพมาจากบ้านคูวานากะแด้ง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองสกลนคร แล้วมาหาถิ่นฐานที่เหมาะสมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสกลนคร มาพบพื้นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งบริเวณนั้นมีคันคูเป็นแนวยาวยกตัวสูงขึ้นกว่าพื้นที่ปกติ ชาวบ้านสันนิษฐานว่าคันคูนี้สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีทหารญี่ปุ่นมาตั้งกองทัพอยู่บริเวณนี้ประกอบด้วยคันคูทั้งหมด 4 คันคู เมื่อมาพบที่แห่งนี้ ได้ปลูกบ้านบนแนวสันคูขวาง (เป็นคันคูที่มีลักษณะแนวขวางตะวัน คือ ทอดยาวจากทิศเหนือลงทางทิศใต้) เมื่อตั้งหมู่บ้านจึงตั้งชื่อบ้านว่า "บ้านคูสนาม" เมื่อพ.ศ.2483 ได้เกิดโรคระบาดขึ้น จึงย้ายหมู่บ้านมาอยู่ทางด้านทิศเหนือ และยังคงใช้ชื่อหมู่บ้านเดิม (หน้า 27-28) 4. ไทยโย้ยบ้านดอนแดง บรรพบุรุษได้อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ นำโดยปู่ธรรมปิติกาและน้องชายชื่อคำวงศ์ษา ได้มาตั้งหมู่บ้านที่บ้านดอนแดง ซึ่งในครั้งนั้นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเป็นป่าไม้แดงขึ้นอย่างหนาแน่น มีการอพยพเข้ามาอีกครั้งในปี พ.ศ.2280 เป็นชาวบ้านจากบ้านบัว บ้านอากาศ และเมืองพานจากประเทศลาว (หน้า 28) 5. ไทยแสกบ้านดอนเสมอ ชาวบ้านดอนเสมอได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ประมาณ 63 ปี บรรพบุรุษได้อพยพมาจาก "เมืองรอง เมืองวินห์" ซึ่งขึ้นอยู่กับกรุงเว้ตอนกลางของประเทศเวียดนามและประเทศจีน อพยพมาประเทศลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานทางด้านทิศเหนือของเมืองนครพนม อีกกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังอำเภอศรีสงคราม และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดอนสมอจนถึงปัจจุบัน และอีกกลุ่มหนึ่งไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านบะหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ครั้งแรกตั้งชื่อบ้านว่า "บ้านดงสามหมอ" ชื่อนี้มาจาก เมื่อครั้งหนึ่งเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ต้องหาหมอมารักษาถึง 3 คน อีกสาเหตุหนึ่ง ที่ตั้งหมู่บ้านเป็นดงไม้สมอ คำว่า ดง กับ ดอน มีลักษณะเหมือนกัน จึงสามารถเรียกชื่อบ้านว่า ดงสามหมอ หรือ ดอนสมอ ได้เหมือนกัน แต่ชื่อที่เป็นทางการปัจจุบันว่า บ้านดอนสมอ ในปี พ.ศ.2536 ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนสมอ หมู่ที่ 1 และบ้านดอนสมอ หมู่ที่ 7 (หน้า 30) 6. ผู้ไทยบ้านโคกหินแฮ่ บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองวัง ประเทศลาว เข้ามาอยู่ที่ดงหวาย ปัจจุบัน คือ อำเภอเรณูนคร ชาวบ้านโคกหินแฮ่ได้ย้ายมาจากเมืองเรณูนคร เพื่อหาที่ทำกิน เนินดินที่มาตั้งที่อยู่นั้นมีก้อนหินเล็ก ๆ ผสมอยู่กับดินเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเรียกหินนั้นตามภาษาประจำกลุ่มว่า หินแฮ่ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านโคกหินแฮ่" ต่อมาบ้านโคกหินแฮ่แยกเป็น 4 หมู่ ได้แก่ บ้านโคกหินแฮ่ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 9 บ้านโคกอนามัย หมู่ที่ 11 และบ้านโคกพัฒนา หมู่ที่ 12 (หน้า 31) 7. ไทยกะเลิงบ้านดงมะไฟ บรรพบุรุษมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่บ้านกะซ้อบ้านกะจาม ในประเทศลาว อพยพมาอยู่ใกล้เมืองสกลนคร ต่อมาเกิดโรคห่า จึงย้ายมาอยู่ที่ดงหมากไฟ ซึ่งมีต้นหมากไฟอยู่ในดงแห่งนี้มีสรรพคุณรักษาโรคได้ ชาวบ้านตั้งชื่อบ้านว่า "บ้านดงหมากไฟ" และกลายเสียงมาเป็น "ดงมะไฟ" ในปี พ.ศ. 2536 ได้แบ่งบ้านดงมะไฟเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านดงมะไฟ หมู่ที่ 1 และบ้านดงมะไฟประชาพัฒนา หมู่ที่ 11 (หน้า 33,34)

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ประชากรของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในภาคอีสานทั้ง 7 กลุ่ม มีจำนวนดังนี้ คือ 1. กลุ่มไทยอีสานบ้านแก่งสนามมีทั้งหมด 445 คน เป็นชายจำนวน 210 คน หญิงจำนวน 235 คน จำนวนหลังคาเรือน 95 หลังคาเรือน แยกเป็นครอบครัวได้ 115 ครอบครัว (หน้า 25) 2. กลุ่มไทยโคราชบ้านดงพลองได้แยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน เมื่อปีพ.ศ.2540 โดยแยกเป็นหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 16 หมู่ที่ 7 ประชากรทั้งหมด 1,331 คน แยกเป็นเพศชาย 617 คน เพศหญิง 714 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 240 หลังคาเรือน 306 ครอบครัว หมู่ที่ 16 ประชากรทั้งหมด 387 คน แยกเป็นเพศชาย 192 คน เพศหญิง 195 คน จำนวนหลังคาเรือน 62 หลังคาเรือน 89 ครอบครัว (หน้า 26) 3. กลุ่มไทยญ้อบ้านคูสนาม มีทั้งหมด 49 หลังคาเรือน 67 ครอบครัว ประชากรทั้งหมด 211 คน แยกเป็นเพศชาย 95 คน เพศหญิง 116 คน (หน้า 28) 4. กลุ่มไทยโย้ยบ้านดอนแดงมีทั้งหมด 744 คน แยกเป็นเพศชาย 385 คน เพศหญิง 359 คน มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 152 หลังคาเรือน 206 ครอบครัว (หน้า 29) 5. กลุ่มไทยแสกบ้านดอนสมอ หมู่ที่ 1 มีประชากรทั้งหมด 926 คน แยกเป็นเพศชาย 446 คน เพศหญิง 480 คน 160 หลังคาเรือน เป็นครอบครัว 205 ครอบครัว (หน้า 30) 6. กลุ่มผู้ไทยบ้านโคกหินแฮ่ มีประชากรทั้ง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโคกหินแฮ่ หมู่ที่ 1 มีประชากรทั้งหมด 474 คน แยกเป็นชาย 235 คน เพศหญิง 239 คน 86 หลังคาเรือน 124 ครอบครัว บ้านโคกหินแฮ่ หมู่ที่ 9 มีประชากรทั้งหมด 612 คน เป็นชาย 304 คน หญิง 308 คน 108 หลังคาเรือน 152 ครอบครัว บ้านโคกอนามัย หมู่ที่ 11 มีประชากรทั้งหมด 445 คน ชาย 217 คน หญิง 228 คน 80 หลังคาเรือน 103 ครอบครัว บ้านโคกพัฒนา หมู่ที่ 12 มีประชากรทั้งหมด 345 คน เป็นชาย 191 คน หญิง 154 คน 66 หลังคาเรือน 95 ครอบครัว (หน้า 32) 7. กลุ่มไทยกะเลิงบ้านดงมะไฟ มี 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 มีประชากรทั้งหมด 850 คน แยกเป็นเพศชาย 403 คน เพศหญิง 447 คน มี 170 หลังคาเรือน 217 ครอบครัว หมู่ที่ 11 มีประชากรทั้งหมด 1,094 คน เป็นชาย 579 คน หญิง 515 คน มี 237 หลังคาเรือน 271 ครอบครัว (หน้า 34)

Economy

รายได้ของทั้ง 7 หมู่บ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวต่อปี ดังนี้ 1. บ้านแก่งสนาม ชาวบ้านมีอาชีพหลัก คือ กสิกรรม รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวต่อปี 25,000 บาท (หน้า 25) 2. บ้านดงพลอง ชาวบ้านมีอาชีพหลัก คือ กสิกรรม รายได้เฉลี่ยต่อหลังคาเรือนต่อปี 30,000 คน (หน้า 26) 3. บ้านคูสนาม ชาวบ้านมีอาชีพหลัก คือ กสิกรรม รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวต่อปี 25,000 บาท (หน้า 28) 4. บ้านดงแดง ชาวบ้านมีอาชีพหลัก คือ กสิกรรม รายได้เฉลี่ยต่อหลังคาเรือนต่อปี 30,000 คน (หน้า 29) 5. บ้านดอนสมอ ชาวบ้านมีอาชีพหลัก คือ กสิกรรม รายได้เฉลี่ยต่อหลังคาเรือนต่อปี 35,000 คน (หน้า 30) 6. บ้านโคกหินแฮ่ ชาวบ้านมีอาชีพหลัก คือ กสิกรรม รายได้เฉลี่ยต่อหลังคาเรือนต่อปี 30,000 คน (หน้า 32) 7. บ้านดงมะไฟ ชาวบ้านมีอาชีพหลัก คือ กสิกรรม รายได้เฉลี่ยต่อหลังคาเรือนต่อปี 35,000 คน (หน้า 34)

Social Organization

ครอบครัว เริ่มต้นจากการแต่งงานระหว่างชายหญิง ที่มีการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวทุกกลุ่มที่ศึกษา หากชายหรือหญิงใดมีมากผัวมากเมียจะถูกมองว่าผิดวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติมา ลักษณะครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสานทั้ง 7 กลุ่มมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ร้อยละ 20 มีจำนวนสมาชิกตั้งแต่ 3 รุ่นขึ้นไป มีรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย รุ่นสามีภรรยา และรุ่นลูก ๆ และครอบครัวเดี่ยว ร้อยละ 80 มีสมาชิกเพียง 2 รุ่น คือ รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูก ๆ การแต่งงานมีทั้งที่ฝ่ายหญิงไปอยู่กับฝ่ายชาย ลูกชายจะเลี้ยงดูพ่อแม่ ในกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทย และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เมื่อแต่งงานฝ่ายชายต้องไปอยู่กับฝ่ายหญิง เพราะผู้หญิงเป็นผู้เลี้ยงดูพ่อแม่ ลักษณะครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย เพราะจะมีการขยายจำนวนครัวเรือนออกจากบ้านพ่อแม่เมื่อแต่งงานและมีบุตร โดยสร้างเรือนใหม่ในที่ใกล้เคียงกัน ครอบครัวในอดีตจะมีบุตรสืบทอดตั้งแต่ 4-15 คน ปัจจุบัน 1 ครอบครัวมีบุตรเพียง 1-3 คน (หน้า 40-41,44-45) มีการนับสายเครือญาติทั้งจากสายโลหิต และการแต่งงาน (หน้า 46) นับญาติทั้งจากญาติฝ่ายพ่อ ญาติฝ่ายแม่ และญาติจากการแต่งงาน (หน้า 48) ในครอบครัวหนึ่ง ๆ ของแต่ละกลุ่มยังคงมีการเคารพผู้มีอายุมากในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ รวมถึงปู่ ย่า ตา ยาย ความเคารพนับถือเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นญาติระหว่างสมาชิกในครอบครัว และยังมีขอบข่ายกว้างไปถึงผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องที่อาศัยอยู่เรือนอื่นด้วย ความสัมพันธ์นี้ยังกำหนดบทบาท หน้าที่ และสถานภาพที่มีต่อกัน (หน้า 38) สิ่งสำคัญ คือ การแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การเลี้ยงดูผู้มีพระคุณของกลุ่มชาติพันธุ์จะมอบหมายให้กันตามประเพณี โดยให้ลูกคนสุดท้องอยู่เลี้ยงดูพ่อแม่ หรือลูกที่เห็นว่าสมควรจากจำนวนลูกทั้งหมด (หน้า 41) การแสดงออกถึงความเป็นญาติของแต่ละกลุ่มนั้น ได้กำหนดตามจารีต ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อและศาสนา เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ญาติได้แสดงออกต่อกันและเพื่อให้รู้ถึงความเป็นญาติกัน ในการแต่งงาน ญาติแต่ละฝ่ายจะได้รับการแนะนำให้รู้จักกัน และพิธีกรรมก็เป็นส่วนสำคัญที่แสดงถึงสถานภาพที่เปลี่ยนไป แสดงถึงความเกี่ยวดองเป็นญาติกัน ส่วนการตาย เมื่อมีญาติฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ก็ต้องส่งข่าวให้ญาติพี่น้องได้รับรู้ การทำบุญในประเพณีพิธีกรรมก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นญาติ เช่น ประเพณีช่วงเดือน 10 เรียกว่า "ประเพณีบุญข้าวสาก" จะมีการนำอาหารคาวหวานมาทำบุญอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว การมีข้อขะลำ คือ การละเว้นจากสิ่งไม่เหมาะสมที่แสดงออกต่อญาติ เช่น การลบหลู่ การลืมบุญคุณ ก็จะถูกสังคมลงโทษ อาจด้วยการนินทา หรือไม่คบค้าสมาคมด้วย การมอบทรัพย์มรดก คือ ความเป็นญาติที่มีความไว้วางใจที่จะสืบทอดหรือครอบครองมรดก (หน้า 57,58) คำศัพท์เรียกชั้นเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในภาคอีสานทั้ง 7 กลุ่ม มีทั้งหมด 665 คำศัพท์ บางกลุ่มใช้เหมือนกัน บางกลุ่มใช้ใกล้เคียงกัน และบางกลุ่มมีใช้เฉพาะกลุ่มของตน การเรียกชื่อโดยการใช้คำสรรพนามนำหน้าชื่อของบุคคล เป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่แสดงถึงความอ่อนน้อม ความรู้กาละเทศะ ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยใกล้ชิดและโดยห่าง รวมถึงการบ่งบอกเพศ อายุ และให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ทางชั้นเครือญาติที่สูงกว่าผู้สนทนา เช่น ลูกเรียกพ่อแม่ หลานหรือเหลนเรียกลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น (หน้า 69)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ไม่มีข้อมูล

Education and Socialization

สมาชิกในครอบครัวจะต้องเรียนรู้การจัดระเบียบของครอบครัวและเครือญาติอย่างเป็นรูปแบบซึ่งมีการเรียนรู้จากการบอกเล่า หรือถูกอบรมสั่งสอนมา หรือจากการถ่ายทอดด้วยการปฏิบัติตามผู้ใกล้ชิด เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย รวมถึงเครือญาติอื่น ๆ การถ่ายทอดหรือสืบทอดคำศัพท์เครือญาติจากบรรพบุรุษนั้น ถ่ายทอดแบบมุขปาฐะด้วยการเลียนเสียง หรือสำเนียงพูดให้เหมือนกับ "ภาษาแม่" มากที่สุด (หน้า 69)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

สิ่งสำคัญที่ทำให้มีการดำรงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คือแสดงออกถึงความเป็นญาติของแต่ละกลุ่ม โดยกำหนดตามจารีต ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อและศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ญาติได้แสดงออกต่อกันและเพื่อให้รู้ถึงความเป็นญาติกัน (หน้า 57) ความสัมพันธ์นี้ยังกำหนดบทบาท หน้าที่ และสถานภาพที่มีต่อกัน (หน้า 38) ภาษาหลักที่ใช้ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ยังคงได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันจะได้รับอิทธิพลทางภาษาจากหลายรูปแบบ เช่น ทางสื่อสาร ทางการศึกษา ทางประสบการณ์ แต่ภาษาที่จัดเป็นภาษาแม่ หรือภาษาบรรพบุรุษ หรือภาษาหลักนั้นยังคงมีอิทธิพลมากในระดับท้องถิ่น และยังคงใช้สื่อในวิถีชีวิตอย่างต่อเนื่องตลอดมา (หน้า 37)

Social Cultural and Identity Change

มีการเปลี่ยนแปลงทางภาษาซึ่งได้รับอิทธิพลจากการศึกษา จากการสื่อสารด้วยสื่อต่าง ๆ จากการไปมาหาสู่หรือมีความสัมพันธ์กับต่างกลุ่ม จากประสบการณ์ที่เป็นอาชีพ รวมถึงเทคโนโลยีที่กระจายสู่ท้องถิ่นอย่างไร้ขีดจำกัด เป็นผลให้เกิดการกลมกลืนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานซึ่งมีจำนวนมาก และมีการใช้ภาษาไทยกลางในวิถีชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่คำศัพท์ภาษาไทยกลางจะสื่อด้วยเสียงหรือสำเนียงท้องถิ่น (หน้า 107)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

คำศัพท์เรียกเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยภาคอีสานทั้ง 7 กลุ่ม มีทั้งหมด 665 คำศัพท์ สามารถวิเคราะห์แยกตามความเหมือน ความคล้าย และแตกต่างได้ 4 กลุ่ม คือ คำศัพท์ร่วมตระกูล จำนวน 385 ศัพท์ ซึ่งเป็นคำที่อาจมี สระ พยัญชนะ หรือวรรณยุกต์ ที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน คำศัพท์ร่วมกลุ่ม โดยใช้ความเหมือนกันหรือคล้ายกันของคำศัพท์ทางเครือญาติ เป็นเกณฑ์ สามารถจัดเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มไทยอีสาน ไทยโคราช และไทยญ้อ 2. กลุ่มไทยโย้ย ผู้ไทย และไทยกะเลิง 3.กลุ่มไทยแสก คำศัพท์ข้ามกลุ่ม เป็นคำศัพท์ที่ปรากฏในกลุ่มหนึ่ง และยังปรากฏใช้ข้ามกลุ่มอีกด้วย โดยคำศัพท์ที่ใช้ข้ามกลุ่มมากที่สุด เช่น ผัว เมีย ลุง ป้า น้า อา ลูก หลาน เป็นต้น และคำศัพท์เฉพาะกลุ่ม กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน มี 15 ศัพท์ กลุ่มไทยโคราช มี 11 ศัพท์ กลุ่มไทยญ้อ มี 7 ศัพท์ กลุ่มไทยโย้ย มี 10 ศัพท์ กลุ่มไทยแสก มี 34 ศัพท์ กลุ่มผู้ไทย มี 16 ศัพท์ และกลุ่มไทยกะเลิง 2 ศัพท์ การเรียกชื่อโดยการใช้สรรพนามชื่อบุคคลนั้น เป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่แสดงความอ่อนน้อม ความรู้กาละเทศะ ความสัมพันธ์โดยใกล้ชิดหรือห่าง รวมถึงการบ่งบอกเพศ อายุ บทบาทและหน้าที่ทางชั้นเครือญาติที่สูงกว่าผู้สนทนาด้วย เช่น น้องเรียกพี่ ลูกเรียกพ่อแม่ เป็นต้น (หน้า 63-100)

Text Analyst ขนิษฐา อลังกรณ์ Date of Report 05 ม.ค. 2566
TAG คนอีสาน ลาวอีสาน, ไทเบิ้ง ไทยเดิ้ง, ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย โย่ย, แสก, ผู้ไท, กะเลิง, ลักษณะครอบครัว, คำศัพท์ทางเครือญาติ, ภาคอีสาน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง