สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject เยอ,วัฒนธรรม,ความเชื่อ,พิธีกรรม,ศรีสะเกษ
Author เทอดชาย เอี่ยมลำนำ
Title ความทันสมัยและพิธีกรรมทางศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ : กรณีศึกษาหมู่บ้านสำโรงเฒ่า จังหวัดศรีษะเกษ
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity เยอ กูยเยอ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 257 Year 2542
Source หลักสูตรปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามนุษยวิทยา ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

เนื้อหากล่าวถึงความทันสมัยที่มีผลกระทบต่อพิธีกรรมทางศาสนาและด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนกล่าวถึงด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา ถิ่นกำเนิดของกลุ่มชาติพันธุ์และสาเหตุของการย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ บ้านสำโรงโคเฒ่า ต. พรหมสวัสดิ์ อ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย กลุ่มนักวิชาการระบุว่าได้ทำการอพยพมาจากประเทศจีน ก่อนที่จะเข้ามาในลาว กัมพูชาและประเทศไทย

Focus

ศึกษาถึงความทันสมัยที่มีผลกระทบต่อพิธีกรรมทางศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ ใน 2 แห่ง ของหมู่บ้านสำโรง หมู่ 3 และหมู่บ้าน โคเฒ่า หมู่ 4 ตำบลพรหมสวัสดิ์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ (หน้า ง, 5) โดยคาดว่าจะทำให้ทราบและเข้าใจถึงความทันสมัย ความเชื่อทางศาสนา พิธีกรรมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ ในจังหวัดศรีสะเกษ (หน้า 5)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์เยอ พบในอีสานใต้และอีสานเหนือ และพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (หน้า 1) จัดเป็นกลุ่มหนึ่งของกวย หรือกุย หรือเรียกว่า กวยเยอ หรือ เยอ ตั้งบ้านเรือนอยู่ใน จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ เยอ เป็นชนชาติหนึ่งของกวย (ข่า) ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2224-2225 เพราะเกิดความขัดแย้งในเวียงจันทน์ จึงได้โยกย้ายมาตามทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขง กระทั่ง พ.ศ. 2320 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกกองทัพไปตีจำปาศักดิ์ เยอจึงย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทย (หน้า 2) เยอเป็นกลุ่มย่อยในกลุ่มชาติพันธุ์กวย ที่มีอยู่ 4 กลุ่ม คือ กวยใหม่ (Kui Mai) หรือ มไอ อยู่ทางทิศตะวันตกของ จ.อุบลราชธานี กวยมโล ( Kui Mlo) หรือ มลัว อยู่ จ.อุบลราชธานี และ ศรีสะเกษ กวยโย (Kui Yo) หรือ กวยเยอ อยู่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ กวยมเลา (Kui Mlao)หรือ มลอ อยู่ จ.ศรีสะเกษ และสุรินทร์ (หน้า 2,57,69) ส่วนกลุ่มย่อยอื่นๆ เช่น ฮอท (Hot) กันเดรา (Kandrau) เปียร์ หรือ เปอร์ (Pear) และ ไบย (Bai) (หน้า 57) ลักษณะหน้าตา แบ่งเป็น 4 แบบ คือ เนกริโต (Negrito) หรือ เมลานีเซียน (Melanesian) รูปร่างหน้าตาเหมือน เซมังหรือเงาะ ลักษณะผมดกหยิกหยอง จมูกบาน ริมฝีปากหนา ผิวดำ อารยัน (Arayan) ลักษณะ จมูกโด่ง หน้าผากสูง ปากเล็ก เวดดิด - อินโดนีเซียน (Weddid - Indonesian ) ลักษณะ ผิวขาว หัวยาว, ออสโตรเอเชีย (Austro-Asia) ได้แก่ กลุ่มที่พูดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) กลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุด (หน้า 70)

Language and Linguistic Affiliations

กวยโยหรือกวยเยอ ทุกวันนี้ลืมภาษาของตนแล้ว นับได้เพียงเลข 1-10 (หน้า 2) ภาษาที่พูดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร (Mon-Khmer) สาขากะตุ เป็นภาษาที่พูดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี คล้ายกับภาษา Munda เป็นภาษาพูดของกลุ่มชน "มุณฑ์" ที่อยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย (หน้า 59,70,74) มีเฉพาะภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน ส่วนมากคนที่พูดภาษานี้จะย้ายที่อยู่มาจากทางเหนือของหลวงพระบาง ในประเทศลาว ภาษาเยอ มีหน่วยเสียงพยัญชนะ 17 หน่วยเสียง และมีหน่วยเสียงที่ยืมจากภาษาไทย ได้แก่ หน่วยเสียง / f / (หน้า 74) (ตารางหน้าตัวอย่างภาษาเยอ หน้า 75 -79)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ประวัติความเป็นมาของเยอในไทย เยอมีชื่อเรียกไม่ต่ำกว่า 4 ชื่อ นักวิชาการระบุว่า เยอเป็นชาติพันธุ์ย่อยของกวย โดยตั้งหลักแหล่งอยู่ในอินโดจีน เช่น ริมฝั่งแม่น้ำมูลในภาคอีสานของไทย และเมืองอัตปือ สารวัน แสนปาง ในลาว และทางตอนเหนือของกัมพูชา และในเวียดนาม (หน้า 57,58) สำหรับแนวคิดเรื่องถิ่นกำเนิด มี 3 แนวคิดคือ 1. ถิ่นกำเนิดคือ แคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ต่อมาย้ายมาอยู่ตอนใต้ของพม่า และเข้ามาอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานของไทย เมื่อ 3,000 ปีก่อน บางแนวคิดระบุว่ากวยเป็นเผ่าพันธุ์เขมรดั้งเดิม เรียกว่า "เชื้อชาติมุณฑ์" โดยอพยพมาจากอินเดียมาอยู่บริเวณลุ่มน้ำคง หรือ สาละวิน ต่อมากลายเป็นบรรพบุรุษของมอญ และตอนบนแม่น้ำของหรือโขง โดยย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ราบสูงเทือกเขาพนมดงเร็ก หรือ ดงรัก บางส่วนย้ายไปอยู่ตันเลสาบหรือทะเลสาบเขมร และชายทะเล ต่อมากลายเป็นบรรพบุรุษของเขมร สำหรับกลุ่มที่อยู่ตามป่า ได้แก่ ลัวะ ข่า ขมุ ส่วย กวย หรือ กูย เป็นต้น อาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคอีสานของไทย กับทางตอนใต้ของจีนและลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในประเทศกัมพูชา (หน้า 58) 2. ถิ่นกำเนิดคือ มณฑลไกวเจา ประเทศจีน ผู้เขียนระบุว่า "กุย" หรือ "โกย" เป็นคำที่กลุ่มเขมรป่าดงเรียกกลุ่มที่ย้ายเข้ามาอยู่พื้นที่เขตหัวเมืองเขมรป่าดง ส่วนชาวสุรินทร์ระบุว่า คำว่า "กุย" หรือ "โกย" หมายถึง คน ส่วนที่มาของคำว่า "กุย" หมายถึง เมืองกุยจิ๋ว มณฑลไกวเจา ประเทศจีนซึ่งเป็นเมืองที่กุยอพยพมา เดิมที กุย รวมกันอยู่กับชนชาติอื่น เช่น แม้ว เย้า ข่า กลา กะเหรี่ยง ละว้า อยู่ในมณฑลกุยจิ๋ว กวางสี ฮูนหนำ หรือยูนนาน ต่อมาครั้นชนชาติไทยในอดีต ได้อพยพลงมาทางใต้ ชาติข่าจึงยอมอยู่ภายใต้การปกครอง เมื่อชนชาติไทยได้ตั้งเมืองหลวงที่นครเงี้ยวก็ได้ปกครองชาติพันธุ์ที่อ่อนแอกว่าชนชาติของตน กระทั่ง พ.ศ. 328 กองทัพของพระเจ้าจิ๋นซีจึงยกกองกำลังมารุกรานนครเงี้ยว และยึดรวมเข้ากับอาณาจักรจีน (หน้า 61) ชนชาติไทยส่วนหนึ่งซึ่งนำโดยขุนเจือง ซึ่งเป็นผู้นำอาณาจักรโยนกเชียงแสนหิรัญนครเงินยาง เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการใช้ช้าง จึงได้ทำการอพยพผู้คนลงทางใต้และขณะนั้นได้มีกลุ่ม "ข่ากุ้ย" หรือ "ข่ากุย" ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า "กุย" อันแปลว่า คน เดินทางร่วมมาด้วย (หน้า 62) 3. ถิ่นกำเนิดคือบริเวณที่อยู่ปัจจุบันโดยระบุว่า กวยส่วนมากตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนที่อยู่ทุกวันนี้ได้แก่ ภาคอีสานของไทย พื้นที่ทางตอนใต้ของลาว บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ และทางตอนเหนือของกัมพูชา เช่น ในบางส่วนของจังหวัดเมลูบไพร และจังหวัดกำปงธม มานับตั้งแต่ พ.ศ. 2122 โดยมีข้อสันนิษฐานว่า ครั้งแรกกวยตั้งที่อยู่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเสียมราฐ กำปงธม ในเวลาต่อมา กวยจึงย้ายมาอยู่ในเขต จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด จนไปถึงภาคเหนือของกัมพูชา และบริเวณเมืองอัตปือ-แสนปาง ของลาว (หน้า 63) ประวัติ จ. ศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ เมื่อก่อนนี้มีชื่อว่า "เมืองขุขันธ์" คาดว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยขอม ในสมัยนั้นมีชื่อเรียกว่า " ศรีนครลำดวน" อยู่บริเวณบ้านปราสาทสี่เหลี่ยม ดงลำดวน ต.ดวนใหญ่ อ.วังหิน เมื่อ พ.ศ. 2302 สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการยกขึ้นเป็นเมือง เจ้าเมืองขณะนั้นคือหลวงแก้ว ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรภักดี ทำหน้าที่เป็นเจ้าเมืองคนแรก กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายเมืองขุขันธ์มาอยู่ที่บ้านเมืองเก่า ต.เมืองเหนือ อ.เมืองศรีสะเกษ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น จ.ศรีสะเกษ เมื่อ พ.ศ 2481 (หน้า 87 แผนที่หน้า 88) ประวัติหมู่บ้านสำโรง ที่มาของชื่อหมู่บ้านได้มาจาก เมื่อก่อนนี้มีต้นสำโรงขนาดใหญ่อยู่ในเขตหมู่บ้าน ต้นไม้นี้ได้ตายมากว่า 80 ปี ทุกวันนี้ เหลือแต่ส่วนตอเท่านั้น (หน้า 108) ประวัติหมู่บ้านโคเฒ่า หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2430 โดยมีคนในกลุ่มชาติพันธุ์เยอชื่อ "ยายยุ" ได้ย้ายบ้านจากบ้านปราสาท แล้วย้ายมาอยู่หมู่บ้านที่มีต้นสำโรงขึ้นในเขตหมู่บ้าน จน พ.ศ. 2493 ไฟไหม้ในหมู่บ้าน ยายยุและลูกหลานจึงได้เดินทางไปดูพื้นที่ที่จะตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่ ในระหว่างที่ตรวจตราพื้นที่อยู่นั้น ก็เห็นโคเฒ่า จึงได้ฆ่าโคตัวนั้นเพื่อนำเนื้อมาทำอาหาร ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านโคเฒ่า นับแต่นั้นเป็นต้นมา (หน้า 140)

Settlement Pattern

บ้านเรือนมี 2 แบบ คือ บ้านแบบบ้านชั้นเดียว ใต้ถุนสูง บริเวณใต้ถุน จะใช้เก็บอุปกรณ์การเกษตร และเก็บข้าวเปลือก เสาบ้านจะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หรือคอนกรีต มุงหลังคาด้วย สังกะสี ฝาบ้านกั้นด้วยไม้ สำหรับยุ้งข้าว เล้าสัตว์ คอกวัว คอกหมู จะสร้างอยู่ในเขตบริเวณบ้าน รั้วบ้านทำด้วยไม้ไผ่สูงประมาณ 100 เซนติเมตร บ้านสมัยใหม่ จะสร้าง 2 ชั้น ชั้นล่างสร้างด้วยปูน ชั้นบนเป็นไม้ หน้าต่าง ประตู สร้างด้วยแบบสมัยใหม่ สำหรับบ้านที่ค้าขายจะสร้างเป็นบ้านชั้นเดียวติดพื้นดิน บริเวณหน้าบ้านจะเปิดร้านขายของ (หน้า 109 ภาพหน้า 110)

Demography

จ.ศรีสะเกษ มีประชากรจำนวน 1,406,112 คน เพศชาย จำนวน 696,456 คน เพศหญิงจำนวน 709,656 คน (สำรวจ 1 ส.ค.2540) (หน้า 91) อ.พยุห์ มีประชากร 39,610 คน เป็นเพศชายจำนวน 19,104 คน และหญิง จำนวน 20,506 คน (หน้า 96) ต.พรหมสวัสดิ์ มีประชากรจำนวน 10,037 คน เพศชาย 4,952 คน และหญิง 5,076 คน (หน้า 103) หมู่บ้านสำโรง มีจำนวนครัวเรือน 152 ครัวเรือน มีประชากร 502 คน ชาย 248 คน และหญิง 254 คน (หน้า 111) หมู่บ้าน โคเฒ่า มีครัวเรือน 55 ครัวเรือน มีจำนวนประชากร 236 คน เป็นชาย 109 คน และหญิง 127 คน (หน้า 140)

Economy

อาชีพหลัก ชาวบ้านหมู่บ้านสำโรง ทำอาชีเกษตรเป็นอาชีพหลัก ส่วนอาชีพอื่นที่ทำ เช่น ค้าขาย รับจ้าง รับราชการ สำหรับการทำนาจะทำปีละ 1 ครั้ง (หน้า 116) ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่จะปลูกข้าวหอมมะลิ สำหรับข้าวเหนียวจะปลูกไว้ไม่มาก โดยจะปลูกเอาไว้ทำ ข้าวจี่ ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวเปียก เวลาประกอบพิธีต่างๆ (หน้า 117) ค้าขาย ในหมู่บ้านสำโรง มีร้านขายของชำจำนวน 9 แห่ง ของที่จำหน่ายเช่นเหล้า เบียร์ บุหรี่ ยาแก้ไข้ อาหาร ผัก และผลไม้ ฯลฯ ส่วนร้านค้าที่เปิดใหม่จะสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้นในร้านมีตู้แช่น้ำอัดลม บางร้านจะจำหน่ายน้ำมันและอะไหล่รถจักรยานยนต์ (หน้า 117,118) รับจ้าง ส่วนใหญ่จะทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ เช่น งานโรงงานและงานก่อสร้าง แต่เมื่อถึงหน้าทำนาก็จะกลับมาทำนาที่บ้าน (หน้า 118) รับราชการ เช่น เป็น ตำรวจ ทหาร ครู ภารโรง ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ในหน่วยงานราการ อาชีพนี้ในหมู่บ้านจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาซึ่งมีจำนวนน้อยในหมู่บ้าน (หน้า 118) การสืบทอดมรดก (Descent) การรับมรดก เช่น เงินทอง ที่ดิน บ้าน สัตว์เลี้ยง จะมีสิทธิ์รับทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ การแบ่งมรดกจะทำตอนที่พอแม่ มีชีวิต เมื่อเห็นว่าลูกมีครอบครัวแล้วมีความรับผิดชอบเพียงพอก็จะแบ่งมรดกให้ สำหรับบ้านที่พ่อ แม่อยู่จะมอบให้ลูกสาวคนเล็ก ที่ทำหน้าที่ดูแลเลี้ยงดู (หน้า 115)

Social Organization

ลักษณะครอบครัว ครอบครัวเยอบ้านสำโรง มีทั้งแบบครอบครัวเดี่ยวแบบชั่วคราวกับครอบครัวขยายที่ไม่ต่อเนื่อง คือในครั้งแรกครอบครัวจะประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก เมื่อลูกแต่งงานก็จะนำคู่สมรสเข้ามาอยู่ในบ้าน ครอบครัวก็จะประกอบด้วย ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูกหลาน เมื่อ ปู่ ย่า ตา ยาย ตายลงลักษณะครอบครัวก็จะเปลี่ยนเหลือเฉพาะ พ่อ แม่ ลูก แบบครอบครัวเดี่ยว และ ครอบครัวขยายเป็นไปตามวงจรชีวิตครอบครัว (หน้า 113, 114) การแต่งงาน ส่วนใหญ่จะแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านมากกว่าคนในหมู่บ้าน เนื่องจากมีคนไปทำงานนอกหมู่บ้าน เป็นจำนวนมาก จึงได้แต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านมากกว่าการแต่งานในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกคู่ครองในหมู่บ้าน สำหรับการแต่งงานจะเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว แต่คนที่ร่ำรวยที่มีอิทธิพลในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมีเมียหลายคน (หน้า 114) สำหรับการแต่งงานนั้นเมื่อแต่งงานแล้วผู้ชายจะเข้ามาอยู่บ้านผู้หญิง หลังจากที่อยู่ 2-3 ปีเมื่อมีฐานะมั่นคงแล้วก็จะแยกไปสร้างบ้านของตัวเอง อยู่ในบริเวณใกล้กับบ้าน พ่อ แม่ (หน้า 114) พิธีแต่งงานส่วนใหญ่จะชอบแต่งในเดือน 2,6,8,12 สำหรับในเดือน 6 นั้นคนจะชอบจัดพิธีแต่งงานมากเป็นพิเศษ ส่วนเดือนที่ไม่ชอบจัดคือในเดือนคี่ และวันอังคารเพราะถือว่าเป็นวันแข็ง และช่วงเข้าพรรษาก็จะไม่นิยมจัดงานแต่งงานเพราะเป็นหน้าทำนา (หน้า 154) พิธีแต่งงาน เมื่อญาติทั้งสองฝ่ายตกลงวันเวลาแต่งงาน ค่าสินสอดทองหมั้น โดยส่วนใหญ่จะแต่งคิดเป็นเงินตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป ทองหนักประมาณ 1-3 บาท หลังจากที่ตกลงกันแล้ว การแต่งงานจะจัดที่บ้านเจ้าสาว ตอนเย็นก่อนจะถึงวันแต่งจริงก็จะนิมนต์พระมาเทศน์ บ้าน และในวันรุ่งขึ้นก็จะทำบุญเลี้ยงพระและรดน้ำสังข์เจ้าบ่าวเจ้าสาว เมื่อเสร็จพิธีเจ้าบ่าวก็จะกลับบ้านแล้วยกขบวนขันหมากมาทำพิธีสู่ขวัญ (หน้า 154) เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบันไดบ้านเจ้าสาว ญาติฝ่ายเจ้าสาวก็จะมากั้นทางเอาไว้ ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะเตรียมเงินให้เป็นค่าผ่านด่านที่กั้นนั้น เมื่อขึ้นบนบ้านญาติผู้ใหญ่ก็จะนับเงินสินสอดที่ฝ่ายเจ้าบ่าวนำมาเมื่อนับเรียบร้อย จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อมือเจ้าบ่าวเจ้าสาว จากนั้นก็จะจัดเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ช่วงเวลา 19.00 - 20.00 น. ขบวนเจ้าบ่าวก็จะแห่มาส่งเจ้าบ่าวที่บ้านเจ้าสาวอีกครั้งเพื่อมอบเจ้าบ่าวให้เจ้าสาว เพื่อให้อยู่เป็นคู่สามีภรรยากัน (หน้า 155)

Political Organization

บ้านสำโรง อยู่ในการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลพรหมสวัสดิ์ มีหน้าที่พัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การรักษาความสะอาด การป้องกันโรค สนับสนุนด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (หน้า 120) อาคารที่ทำการองค์การส่วนบริหารตำบล ตั้งอยู่บ้านโคเฒ่า หมู่ 4 ใน องค์การบริหารส่วนตำบลมีจำนวนหมู่บ้าน 19 หมู่บ้าน (หน้า 144) บ้านสำโรง มีกำนัน 1 คน ผู้ช่วยกำนัน 2 คน ในหมู่บ้านแบ่งการปกครองเป็น 12 คุ้ม แต่ละคุ้มจะมีบ้านเรือน 8 ถึง 10 หลัง คนที่มาเป็นหัวหน้าคุ้มชาวบ้านจะช่วยกันเลือก และจะทำหน้าที่นี้ไปตลอดชีวิต (หน้า 121) บ้านโคเฒ่า ปกครองโดยผู้ใหญ่บ้าน โดยจะทำหน้าที่ปกครองหมู่บ้าน ดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้านและติดต่อกับหน่วยงานราชการ ในหมู่บ้านมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ในหมู่บ้านแบ่งเป็น 4 คุ้ม ในแต่ละคุ้มจะมีบ้านเรือน 8 ถึง 10 หลังคาเรือน โดยมีหัวหน้าคุ้มที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นหัวหน้าคุ้มดำรงตำแหน่งไปตลอดชีวิต (หน้า 145) การปกครองแบ่งเป็น 2 หมู่บ้าน แต่ทั้งสองหมู่บ้านโดยมากจะเป็นเครือญาติกัน และมีความใกล้ชิดกันการใช้สถานที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน จะใช้ชื่อร่วมกัน เช่น วัดสำโรงโคเฒ่า โรงเรียนบ้านสำโรงโคเฒ่า (หน้า 218)

Belief System

ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ของเยอ ประเพณีวัฒนธรรมส่วนใหญ่ จะเหมือนกับประเพณี วัฒนธรรมของชาวอีสาน เช่น ประเพณี "ฮีตสิบสอง" ที่ทำในแต่ละเดือน อาทิ บุญข้าวจี่ บุญบ้องไฟ บุญข้าวสาก บุญข้าวประดับดิน นอกจากนี้ยังมีงานบุญที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ เช่น บุญพระเวศ สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา บุญกฐิน นอกจากนี้ก็มีงานที่เกี่ยวกับความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ อาทิ งานขึ้นบ้านใหม่ สำหรับความเชื่อเรื่องผีจะนับถือผีปู่ตา ผีตาแฮก (หน้า 3, ตารางพิธีของเดือนต่างๆ หน้า 4) การนับถือศาสนา ในพื้นที่ อ.พยุห์ มีคนนับถือศาสนาพุทธ จำนวน 37,190 คน นับถือศาสนาอื่น 2 คน ศาสนสถาน มีวัดกับที่พักพระสงฆ์ ทั้งหมด 32 แห่ง (หน้า 100) บ้านสำโรงโคเฒ่า นับถือศาสนาพุทธ และนับถือผี มีวัดประจำหมู่บ้านชื่อวัด สำโรงโคเฒ่า มีเนื้อที่วัด 8 ไร่ (หน้า 126) วัดจะเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมต่างๆ ของคนในหมู่บ้าน เช่นจัดงานประจำปีงานบุญต่างๆนอกจากนี้ชาวบ้านก็จะมาหยิบยืมถ้วยชามจากวัด เมื่อต้องจัดงานที่บ้าน เช่น แต่งงาน งานศพ (หน้า 128, รูปวัด, เจ้าอาวาส หน้า 129, 130) ศาลปู่ตา เยอจะให้ความเคารพเพราะเชื่อว่า เป็นผีบรรพบุรุษ ที่ทำหน้าที่ช่วยรักษาพืชที่เพาะปลูก ศาลปู่ตาบ้านสำโรง มี 2 แห่ง ได้แก่ "ศาลเจ้าพ่ออรุณ" ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านใกล้ต้นสำโรง ในศาลจะมีท่อนไม้คูณ เชื่อว่าจะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์และทำให้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข กับท่อนไม้ยอซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีชีวิตเจริญก้าวหน้า สำหรับอาหารที่นำมาเซ่นไหว้จะเป็น ขนม ผลไม้ต่างๆ หมาก พลู กับบุหรี่ แต่จะไม่บูชาด้วยเหล้า และอาหารคาว (หน้า 131 ภาพหน้า 132) ส่วนอีกแห่งหนึ่งเป็นศาลไม่มีชื่อตั้งอยู่กลางนาที่ป่าไผ่ เชื่อว่าจะช่วยทำหน้าที่คุ้มครองพืชที่ปลูกในไร่นา ด้านในศาลจะมีไม้สลักรูป มีด ไม้ ปืนโดยเชื่อว่าเป็นเหมือนอาวุธช่วยป้องกันอันตรายต่างๆ ที่จะมาทำร้ายคนในหมู่บ้านและปลักขิก สัญลักษณ์ทางเพศ เป็นเครื่องหมายเรื่องความสมบูรณ์ของพืชผลที่เพาะปลูก สำหรับอาหารที่นำมาเซ่นไหว้ศาลจะใช้ทั้งของหวานและของคาว เช่นไก่ต้ม เหล้า หมาก พลู (หน้า 131 ภาพหน้า 133) ศาลปู่ตาบ้านโคเฒ่า มีศาลเดียว ตั้งอยู่ใต้ต้นโพธิ์เส้นทางที่จะไปนา เป็นศาลที่สร้างใหม่บริเวณที่ตั้งของศาลหลังเก่า ศาลใหม่สร้างในปี พ.ศ. 2540 ตัวศาลทำด้วยอิฐบล็อก มุงด้วยสังกะสี ด้านในจะเก็บไม้สลักรูปไม้ มีดและปืนกับปลักขิกอีกหลายอันการเซ่นไหว้จะทำเหมือนพิธีที่ประกอบที่ศาลปู่ตาบ้านสำโรง (ภาพหน้า 148) เข้าจ้ำ คือคนที่มีหน้าที่ทำพิธีแก่คนที่ทำผิดผีปู่ตา โดยจะทำหน้าที่เซ่นไหว้ปู่ตา ซึ่งจะทำพิธีในเดือน หก (หน้า 133) นักธรรมหรือหมอธรรม คือ คนที่ทำหน้าที่ดูดวง สะเดาะเคราะห์ ไล่ผี รักษาผู้เจ็บป่วย กำหนดวันทำพิธีรำผีฟ้า (หน้า 133,134) และเป็นคนดูว่าคนป่วยคนไหน ถูกผีฟ้าทำให้ไม่สบายเกิดการเจ็บป่วย (หน้า 173) การบวช ส่วนมากจะบวชเมื่อมีอายุครบ 20 ปีเพราะเชื่อว่าการบวชจะเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อกับแม่ (หน้า 152) สำหรับพ่อกับแม่ หากมีลูกชายก็จะเชื่อว่า หากลูกได้บวชถ้าตนเองตายไปก็จะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ และมีความเชื่ออีกว่าหากคนที่บวชยังเป็นโสด ถ้าบวชก็จะได้บุญมากกว่าคนที่แต่งงนแล้วมาบวช การบวชส่วนมากจะบวชช่วงเข้าพรรษา การบวชเมื่อกำหนดวันบวชแล้วคนที่จะบวชก็จะเตรียมตัวท่องบทขานนาค (หน้า 153) การทำพิธีบวชจะทำ 2 วัน วันแรกจะเป็นวันเตรียมงานรวมทั้งหาอาหารเพื่อเลี้ยงคนที่มาร่วมงาน ในตอนเย็นก็จะรดน้ำมนต์ ในวันต่อมาจะประกอบพิธีทำขวัญนาค เพื่อให้นาคสำนึกถึงบุญคุณของพ่อ แม่ หลังจากนั้นก็จะนำด้ายมาผูกข้อมือนาค สำหรับการบวชในทุกวันนี้จะขึ้นอยู่กับความสะดวกของนาค ว่าจะบวชกี่วันการบวชจะไม่กำหนดวันที่แน่นอนขึ้นอยู่กับความสมัครใจของ ผู้บวชจะบวชนานเท่าไร (หน้า 153) งานศพ หากมีคนในหมู่บ้านตาย ในอดีตจะจุดพลุเป็นสัญญาณ เพื่อให้คนที่ทำงานในไร่นารู้ว่ามีคนในหมู่บ้านตาย จะกลับมาช่วยงานบ้านที่มีญาติพี่น้องเสียชีวิต คนที่มาช่วยก็จะได้ทราบเพราะหากมีคนตาย ถ้าขนฟืนเข้าหมู่บ้านจะถือว่าไม่เป็นมงคล จะทำให้คนในครอบครัวตาย ดังนั้นถ้าขนฟืนมาช่วย ก่อนที่จะเข้าหมู่บ้านก็จะโยนท่อนฟืนทิ้ง 1 ท่อน เพื่อแก้เคล็ดว่าได้ช่วยเผาคนที่ล่วงลับไปแล้ว (หน้า 156) โลง มีข้อห้ามคือจะไม่ให้คนโสดทำโลงเพราะเชื่อว่า จะทำให้ไม่ได้แต่งงาน และอุปกรณ์ เครื่องใช้ เช่น เลื่อย มีด ค้อน หากทำมาต่อโลงถ้าการเผาศพยังไม่เสร็จสิ้น ก็ห้ามนำไปใช้ทำอย่างอื่น การเตรียมศพจะอาบน้ำศพและพรมด้วยน้ำหอม หรือน้ำขมิ้นเพื่อดับกลิ่น แต่ทุกวันนี้บางบ้านหากมีคนตายก็จะใช้ยาฉีดศพเพื่อป้องกันศพเน่า (หน้า 156) การแต่งศพ จะนำผ้าขาวมาสวมให้คนตายสองชั้น ได้แก่ ผ้าผืนแรกจะให้ชายผ้าไว้ทางด้านหลัง อันเป็นเครื่องหมายว่า นุ่งผ้าให้คนที่ตายไปแล้วกับนุ่งโดยให้ชายพกอยู่ด้านหน้า หมายถึง การนุ่งผ้าให้คนเป็น คือเป็นการตายแล้วเกิดใหม่ อันดับต่อไปก็จะสวมเสื้อ นุ่งกางเกงหรือผ้าถุงแก่ผู้ตาย การแต่งตัวจะใส่เสื้อสลับข้างโดยจะนำเสื้อด้านหน้าหันไปทางด้านหลัง เพื่อไม่ให้เหมือนกับคนที่ยังมีชีวิตและไม่ให้คนที่ตายจำได้ การหวีผมจะแบ่งครึ่งตรงกลางศีรษะ ผมด้านหน้าจะหวีมาทางด้านหน้า และอีกด้านจะหวีกลับทางด้านหลัง (หน้า 156,157) มัดตราสัง ขั้นตอนคือจะนำด้ายมามัดมือผู้ตายในลักษณะพนมมือ แล้วจะนำดอกไม้ ธูป เทียน ชนิดละ 1 คู่ กับขี้ผึ้งและเงินจำนวนหนึ่ง สำหรับการมัดจะมัด 3 จุดคือ คอ มือ เท้า อันเป็นความเชื่อที่เตือนให้ละจากกิเลส 3 ประเภท ได้แก่ โลภ โกรธ หลง (หน้า 157) การตั้งศพ โดยมากจะตั้งร่างผู้ตายไว้กลางบ้าน หันหัวผู้ตายไปด้านทิศตะวันตก จากนั้นก็จะวางดอกไม้ไว้ใกล้กับหัวผู้ตาย มัดสายสิญจน์ที่เสาบ้านแล้วโยงมามัดเสาที่ตั้งเหนือศีรษะคนที่ตาย แล้วโยงไปที่เท้าของผู้ตาย มัดสายสิญจน์กับเสา ทำพิธีขอขมาผู้ตายก่อนนำศพลงโลง (หน้า 157 ภาพหน้า 158) ในเวลากลางคืนจะนิมนต์พระมาสวดจำนวน 4 รูป การสวดจะสวด 3 วัน หรือ 7 วันโดยจะสวดวันละ 4 รอบ (หน้า 158) เมื่อกำหนดวันเผา ก็จะทำบุญเลี้ยงพระและอ่านประวัติผู้ตายแล้วเคลื่อนศพไปยังเชิงตะกอน ในอดีตจะไม่ย้ายศพรอดขื่อ โดยจะแกะฝาบ้านนำศพออกจากตัวบ้าน แล้วคว่ำบันไดเพื่อหลอกผีให้จำทางไม่ได้ การหามศพจะใช้ไม้ไผ่ 2 ลำ นำโลงขึ้นตั้งนั้น แล้วนำตอกมามัด การหามจะหาม 4 คน เวลาหามไม่ให้บอกว่าหนักหรือเปลี่ยนไหล่แต่สามารถเปลี่ยนคนหาม และไม่ให้หยุดพักขณะหามโลง สำหรับการย้ายศพผู้ตายทุกวันนี้จะไม่มีขึ้นตอนมาเพราะจะย้ายศพโดยนำโลงขึ้นรถ (หน้า 159) บนรถจะมีพระสวดมนต์บนกะบะรถจำนวน 4 รูป ด้านหน้ารถพระ เณร ที่บวชหน้าไปเดินนำขบวน (หน้า 160) เมื่อถึงเชิงตะกอนพระก็จะทำพิธีล้างหน้าศพ โดยจะใช้น้ำขมิ้นว่านหอมและน้ำมะพร้าว จากนั้นนำดอกไม้จันทร์มาวางที่ศพ คว่ำศพให้หน้าค่ำลงทางพื้นเพื่อไม่ให้ศพจำทางกลับบ้านได้ เมื่อจุดไฟญาติผู้ตายจะนำเสื้อผ้าของผู้ตายโยนข้ามกองไฟ 3 ครั้ง และจะต้องให้ผ้าหล่นลงพื้นทุกครั้งจึงจะโยนครั้งต่อไป หลังจากนั้นก็จะนำผ้าถวายพระ (หน้า 161) เมื่อเผาเรียบร้อยแล้วอีก 3 วัน ก็จะมาเก็บกระดูกผู้ตาย โดยญาติจะปั้นขี้เถ้าเป็นรูปคน นำเหรียญมาวาง 32 จุดแทนตำแหน่งอวัยวะด้วยเชื่อว่า หากผู้ตายไปเกิดใหม่ร่างกายจะได้มีอวัยวะครบ 32 ประการ ต่อไปก็นำใบตองคลุมทับด้วยผ้าสีขาวนำเสื้อผ้ามาวางบนสุด พระก็จะสวดบังสกุลตาย เมื่อสวดเสร็จก็จะหันหัวของหุ่นขี้เถ้าไปทางทิศตะวันออก พระสวดบังสกุลเป็นเพื่อส่งวิญญาณคนตายให้ไปเกิดใหม่ (หน้า 162) พระจะนำกระดูกล้างด้วยน้ำขมิ้นว่านหอมและน้ำมะพร้าว ญาติจะนำกระดูกใส่ในโกฏิ อีกส่วนหนึ่งจะนำใส่หม้อดินปิดด้วยผ้าสีขาว เจาะรูแล้วนำหญ้าคามาปักเพราะเชื่อว่า ไม่ให้ติดคาสิ่งใดเมื่อไปเกิด หลังจากนั้นก็จะนำหม้อกับขี้เถ้าไปฝัง ให้หญ้าคาโผล่พ้นดิน นำสายสิญจน์โยงกับหญ้าคา เมื่อพระสงฆ์สวดบรรจุอัฐิ ก็จะย้ายธรณี ขุดดิน 4 ก้อนมาวางที่เชิงตะกอน 4 ด้าน แล้วทำพิธีบูชาแม่ธรณี โดยนำหมากพลู บุหรี่มาไหว้ เมื่อพระสวดก็เสร็จพิธี เช้าอีกวันญาติก็จะทำบุญ ถวายบังสกุล ก็จบพิธี (หน้า 163) ประเพณีในรอบ1 ปี ปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัด (หน้า 165 ภาพหน้า166) บุญข้าวจี่ ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ชาวบ้านจะทำข้าวจี่ครอบครัวละ 3 ลูก ซึ่งหมายถึง พระรัตนตรัย อันประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปทำบุญถวายพระที่วัด (หน้า 167-170 ภาพหน้า 169) วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 วันเดียวกับบุญข้าวจี่ แต่ถ้าหากปีใดตรงกับปีอธิกมาสมีเดือน 8 สองครั้ง ก็จะไปทำบุญช่วงกลางเดือน 4 ตอนเช้าชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัด ตอนกลางคืนก็จะเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ (หน้า 170, 171 ภาพ หน้า 172) รำผีฟ้า เพื่อแสดงความเคารพต่อ ผีฟ้าผีแถน หรือ พญาแถนซึ่งหมายถึงเจ้าแห่งผีที่เป็นผู้สร้างโลก และทุกอย่างบนผืนโลกผีฟ้าจะมีอำนาจมากกว่าผีทุกชนิด สำหรับ "แถน" ที่สำคัญที่สุดคือ "แถนหลวง" เชื่อว่าคือ "พระอินทร์" ในความเชื่อเรื่องผีฟ้า หรือ ผีแถน นั้นได้กล่าวถึงผีชนิดต่างๆ เช่น ผีหลวง ผีไท้ ผีไทเทิง ผีแถน แถนหลวง แถนแนน แถนเคอ แถนคาย แถนเคาะ แถนชั่ง แถนเถือก แถนชี แถนสิ่ว แถนแม่นาง เทวดาฟ้าแถน เป็นต้น (หน้า 172) ความสำคัญอย่างผีแต่ละอย่างนั้นมีหน้าที่แตกต่างกัน อาทิ แถนแน ทำหน้าที่กำหนดชะตาและส่งคนให้เกิดในโลก, แถนเคาะ ทำหน้าที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ทำให้เกิดโชคร้าย แถนแม่นาง ทำให้คนเติบโต ทำให้มีน้ำนมเลี้ยงลูก (หน้า 172) พิธีรำผีฟ้ามีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ห้างผีฟ้า จำนวน 3 ชั้น เสาทำจากต้นกล้วย 4 ต้น ในแต่ละชั้นจะบรรจุสิ่งต่างๆ เช่น ไม้แกะสลักเป็นรูป ช้าง ม้า เรือ ปืน ธนู และขันหมากเบ็งที่ใส่ กำไลเงิน ต่างหู แหวน ดอกไม้ ธูป เทียน ข้าวสาร 1 ถ้วย ไข่ไก่ 1 ฟอง เงินค่ายกครู กรวยใบตอง เหล้าขาว 1 ขวด กล้วย 1 หวี ข้าวต้มมัด หมาก พลู และบุหรี่ เป็นต้น ตัวห้างจะประดับด้วยพวงดอกจำปา ใบมะพร้าวสานเป็นรูปปลาตะเพียน นก และดอกไม้ (หน้า 173 ภาพหน้า 174, 176, 177) บุญพระเวศ บุญพระเวศสันดร หรือเทศน์มหาชาติ เป็นบุญที่เกี่ยวกับประวัติของพระเวศสันดร งานจะจัดในช่วงออกพรรษา ส่วนใหญ่จะทำบุญในเดือน 4 (หน้า 178) ที่บ้านสำโรงโคเฒ่า จัดในเดือน 5 ในวันที่ 1 และ 2 พฤษภาคม การจัดงานในวันแรกเรียกว่า วันโฮม หรือ มื้อโฮม ชาวบ้านจะมาช่วยกันขึงผ้าพระเวศ รอบๆ บริเวณด้านในรับชายคา โดยจะแขวนตอนบนใต้หลังคา บริเวณด้านหน้าตรงข้ามอาศนสงฆ์ งานในวันแรกจะนิมนต์พระอุปคุต และแห่พระเวศ (หน้า 182) ในวันที่ 2 ชาวบ้านจะแห่ข้าว 1 พันก้อน เพื่อบูชาพระเวศสันดร สิ่งของและอาหารที่ใช้ในพิธีประกอบด้วย ข้าวตอก ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียว ข้าวสาร ธูป เทียน ดอกไม้ จากนั้นจะนำข้าวไปบูชาที่หออุปคุต แล้วอาราธนาพระเวศ อาราธนาธรรม ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนิมนต์พระเทศน์ "สังกาด" หมายถึง การบอกเล่าพุทธประวัติ พุทธทำนาย จากนั้นพระจะเทศคาถาพันและเทศน์มหาชาติไปจนค่ำ เมื่อพระรูปใดเทศน์จบชาวบ้านจะถวายปัจจัย พระรูปนั้นก็จะเดินทางกลับ (หน้า 184) ส่วนชาวบ้านก็จะเดินรอบหมู่บ้านเพื่อเรี่ยไรเงินมาถวายพระ เรียกว่า "กัณฑ์หลง " หากว่าการแห่กัณฑ์หลงมาถึงวัดขณะพระยังเทศน์ ยังไม่จบ พระรูปนั้นก็จะเป็นผู้ที่ได้รับกัณฑ์หลงนั้น เมื่อพระเทศน์มหาชาติจบแล้ว กล่าวคำพระรัตนตรัย เรียบร้อยแล้ว ก็จบพิธี (หน้า 184 ภาพหน้า 185) พิธีแบ่งฤดู ปี เดือน พิธีจะจัดในเดือน 5 เพราะอากาศร้อนอบอ้าว ดังนั้นจึงทำพิธีเพื่อดับความร้อน หลังจากพระฉันเพลเรียบร้อยแล้ว จะตั้งโอ่งนำมนต์จำนวน 9 ใบ ชาวบ้านนำ "เทียนคางหัว คางคีง" ซึ่งเป็นเทียนที่มีความยาววัดจากไหล่แล้ววนรอบหัวของคนในบ้าน นำมาจุดสะเดาะเคราะห์ เมื่อพระท่องคาถาแล้วก็จะรดน้ำมนต์แก่ชาวบ้านที่เข้าร่วมทำพิธี จากนั้นชาวบ้านก็จะรดน้ำแก่กันอย่างเบิกบาน จากนั้นก็จะสงฆ์น้ำพระพุทธรูปที่ลานวัด สำหรับในวันต่อมา ช่วงเช้าก็จะเดินทางไปสรงน้ำขมิ้นแก่ปู่ตา ที่บริเวณศาลปู่ตาของหมู่บ้าน เมื่อสรงน้ำเรียบร้อยก็จบพิธี (หน้า 187 ภาพหน้า 188) วันสงกรานต์ จัดพิธีในวันที่ 13 เรียก "วันสังขารล่อง", 14 เรียก "วันเนา" และ 15 เรียก "วันสังขารขึ้น" เดือนเมษายน ในวันที่ 13 ช่วงเช้าจะไปทำบุญที่วัดจากนั้นจะสรงน้ำพระพุทธรูปและรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ตอนเย็นจะไปเก็บดอกไม้มาแห่เพื่อบูชาพระพุทธรูป การเก็บดอกไม้พระสงฆ์จะเดินทางไปพร้อมกับชาวบ้าน หากพระไปกี่รูปก็จะเก็บดอกไม้ตามจำนวนของพระ (หน้า 189) พิธียกพระก่อเจดีย์ทราย ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 6 ชาวบ้านจะช่วยกันขนทรายเข้าวัดก่อเป็นเจดีย์ทราย โดยมีความเชื่อว่าจะได้บุญมากตามจำนวนเม็ดทราย การก่อเจดีย์จะก่อเป็นเจดีย์ 3 กอง ตอนเย็นจะเวียนเทียน จากนั้นจะนำดอกไม้ ธูปเทียนมาปักที่เจดีย์ทราย หรือเรียกว่าการบวชเจดีย์ทราย และฟังพระเทศน์ (หน้า 189 ภาพหน้า 190, 191) พิธีเลี้ยงปู่ตา จะจัดในเดือน 6 เพราะเชื่อว่าถ้าไม่เลี้ยงผีปู่ตาก็จะเกิดเคราะห์ร้าย ปลูกข้าวได้ผลไม่ดี เกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นในหมู่บ้าน (หน้า 191) "จ้ำ" ของหมู่บ้านจะเป็นคนกำหนดวันและเป็นผู้ติดต่อระหว่างปู่ตากับคนในหมู่บ้าน (หน้า 192) บุญบั้งไฟ ส่วนใหญ่จะทำในเดือน 6 กับเดือน 7 เมื่อเข้าสู่หน้าทำนา จากความเชื่อที่ว่า "แถน" ที่อยู่บนสวรรค์ คือเทวดาที่ทำให้ฝนตก ดังนั้นการจุดบั้งไฟก็เป็นการทำบุญที่ทำให้แถนพอใจ เพราะหากทำให้แถนพึงพอใจ คนก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ (หน้า 192, 221 ภาพหน้า 195) สำหรับบุญบั้งไฟแล้ว หมายถึงการทำบุญเพื่อขอฝนกับแถน สำหรับงานบุญบั้งไฟบ้านสำโรงโคเฒ่า จะจัด 2 วัน ในวันแรกเรียกว่า " วันโฮม " คนในหมู่บ้านจะไปทำบุญที่วัดแล้วถวายบั้งไฟ และพระจะพรมน้ำมนต์กับบั้งไฟ จากนั้นชาวบ้านจะแห่และประกวดบั้งไฟ สำหรับวันต่อมาจะแข่งบั้งไฟและมอบรางวัล (หน้า 193) พิธีเลี้ยงผีตาแฮก คือการเลี้ยง "ผีตาแฮก" หรือ "แฮกนา" หมายถึงผีนาที่ทำหน้าที่รักษานา พิธีจะจัดช่วงเดือน 6 โดยจะจัดก่อนจะปลูกข้าวเพราะเชื่อว่าถ้าไม่เลี้ยงผีตาแฮกจะผิดผีนาทำให้ ข้าวให้ผลผลิตไม่ดี คนในบ้านไม่สบาย สำหรับของที่ใช้ไหว้ ประกอบด้วย ข้าวสาร ไข่ต้ม ดอกไม้และน้ำ คนที่ทำพิธีจะบอกกล่าวกับผีตาแฮก เพื่อให้รักษาข้าวและให้ข้าวได้ผลดี จากนั้นจะปอกไข่ต้มเพื่อเสี่ยงทาย ดูจากไข่แดงถ้าสมบูรณ์ดี เชื่อว่าจะปลูกข้าวได้ผลผลิตจำนวนมาก จากนั้นจะไถนาล้อมโพนตาแฮกจึงจะเริ่มไถนาแปลงอื่น (หน้า 196 ภาพหน้า 197,216) เข้าพรรษา ในช่วงนี้จะอยู่หน้าฝน พระจะไม่ไปค้างแรมที่อื่น เข้าพรรษาจะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง 15 ค่ำ เดือน 11 แต่ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถเลื่อนไปได้อีก 1 เดือน คือวันเข้าพรรษาหลัง โดยจะเริ่มวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 ไปถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 การทำบุญในช่วงเช้าชาวบ้านจะไปทำบุญ ตักบาตรที่วัด ในช่วงเย็นก็จะไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัดประจำหมู่บ้าน (หน้า 198) บุญข้าวสาก บางครั้งเรียกว่า ฉลาก คือการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ และอุทิศให้กับเปรตที่ไม่ใช่ญาติ โดยจะทำพิธีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ในวันนี้ญาติจะทำกับข้าวและของใช้ต่างๆ ทำบุญให้กับญาติที่ตายไปแล้ว โดยจะมีสาก หรือ ฉลาก โดยจะเขียนชื่อคนทำบุญว่าจะทำบุญให้ใคร (หน้า 199, 216) การจัดในวันที่ 14 ค่ำ จะเป็นวันเตรียมงาน โดยจะนำกระบุงข้าวสากไปถวายพระในนั้นจะใส่ กล้าว 1 หวี อ้อย 3 ท่อน ข้าวสุก ข้าวเหนียว ข้าวต้มมัด ปลาย่าง ไก่ย่าง แก่นคูณ หมาก พลู ปูน ยาสูบ ขนม ผลไม้ หมอน ผ้าขาวม้า ผ้าถุง และในวันขึ้น 15 ค่ำ จะเป็นวันงาน (หน้า 200) แต่ละหลังจะทำ 2 กระบุง กระบุงแรก เรียก "ห่อข้าวใหญ่ "หรือ "ฉลากคน" ทำบุญให้กับญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว กับผีที่ไม่มีญาติพี่น้อง ในนั้นจะใส่ ข้าวเหนียว ปลาย่าง ไก่ย่าง เนื้อย่าง อีกกระบุงชื่อ "ห่อข้าวน้อย " หรือ "ฉลากมหิงสา" ทำบุญให้กับวัว ควายที่ช่วยไถนา ของที่ใส่ได้แก่ ข้าวสุก ข้าวต้มมัด กล้วย หมากพลู บุหรี่ โดยจะนำไปห่อไปตอง ร้อยเป็นพวง ในวันบุญจะนำห่อข้าวใหญ่ถวายพระ สำหรับห่อข้าวน้อยจะนำไปผูกกับกิ่งไม้ตามบริเวณวัด แล้วรอให้ผีที่ยมบาลปล่อยมากินอาหารเหล่านั้น ครั้นได้เวลาพอสมควร คนที่มาทำบุญก็จะแย่งห่อข้าวสากตามต้นไม้ เพื่อเอาไปใส่นา ถวายแม่โพสพ (หน้า 200) ออกพรรษา จะจัดวันขึ้น 14-15 ค่ำ กับ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 เวลา 3 วัน การทำบุญวันแรกจะห่อข้าวต้มมัด วันที่สองจะทำ "ต้นดอกเพิ่ง " ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของญาติที่เสียไปแล้ว โดยจะนำไปถวายวัดตอนเย็น เพื่อให้ญาติที่ตายไปแล้วมารับ ตอนบ่ายจะไปประกอบพิธี "ชักดูก" หรือ ทำบุญอัฐิ โดยพระจะชักดูกให้บ้านแต่ละบ้าน จากนั้นก็จะจุดประทัดเป็นสัญญาณให้ผีมารับส่วนบุญ วันที่3 จะไปวัดทำบุญ (หน้า 201) บุญกฐิน จะทำบุญตอนหลังออกพรรษา ตังแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันเพ็ญเดือน 12 การทำบุญจะถวายผ้าไตรกับเครื่องอัฏฐบริขารแก่พระ ทั้งนี้คำว่า "กฐิน" เป็นภาษาบาลี หมายถึง "ไม้สะดึง " ที่เป็นไม้ขึงผ้าให้ตึงในช่วงเย็บจีวร เนื่องจากในอดีตต้องใช้ผ้าหลายชิ้นเวลาเย็บจีวร (หน้า 201) ลอยกระทง จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยมีความเชื่อว่าการลอยกระทงจะเป็นการชะล้างสิ่งไม่ดีที่ทำมาตลอดปี (หน้า 203) พิธีบายศรีสู่ขวัญ หรือ "บาศรีสูตรขวัญ" ซึ่งเป็นพิธีที่ทำเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับสถานที่ สัตว์ สิ่งของ และคน เพื่อให้เกิดกำลังใจ และขับไล่สิ่งไม่ดี เช่น ตอนแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ได้เลื่อนยศ เวลาเจ็บไข้ไม่สบาย (หน้า 203-205 ภาพหน้า 205) พิธีการสะเดาะเคราะห์ มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น งานแต่งเคราะห์บ้าน แต่งเสียเคราะห์ แต่งเคราะห์ แต่งแก้ แต่งบูชาโชค การทำพิธีจะทำปีละครั้งเป็นประจำทุกปี โดยเชื่อว่าจะทำให้โชคดีและไล่สิ่งอัปมงคลต่างๆ (หน้า 205) อุปกรณ์ในการทำพิธีได้แก่ กระทงหัวหมู คือกระทงกาบกล้วยทรงสามเหลี่ยม หากเคราะห์ร้ายมากๆ ก็จะทำกระทง 8 ทิศ แต่ถ้าเคราะห์ร้ายไม่มากก็จะทำ 4 ทิศ และศาลเพียงตา โดยจะนำไม้ไผ่ 4 ต้น นำต้นอ้อย และใบกล้วย มาผูกที่เสานำไม้ไผ่มาทำเป็นชั้น 3 ชั้น ชั้นที่หนึ่งจะวางกระทง 9 ห้องโดยทำจากกาบกล้วย โดยจะใส่ ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวตอก หมาก พลู ใส่ตามห้องกระทง (หน้า 207) ในห้องกลางจะใส่ตุ๊กตากาบกล้วยห่อด้วยผ้าตัวแทนชาย กับหญิง ห้องกลางด้านหน้าจะสมมุติเป็นทางเข้าของเทวดา แต่ละห้องจะมีไม้ขนาดเล็กปักตรงปลายจะติด "หลอกหลีก" หรือรังหม่อน ชั้นที่ 2 จะใส่หัวปลี 2 หัว น้ำเต้า กระบวยตักน้ำ ชั้นบนจะติดเพียงร่มอย่างเดียว สำหรับด้านล่างของศาลเพียงตา จะวางมะพร้าว 1 ทลาย ลูกตาล 1 ทลาย ไก่อีก 2 ตัว และหวดนึ่งข้าว (หน้า 207) เมื่อถวายสังฆทานแล้วจะนำกระทงหัวหมูทั้ง 8 ทิศที่นำไปไว้รอบบ้านนำมาวางไว้ใต้ศาลเพียงตา นำสายสิญจน์ที่พันรอบบ้าน 3 รอบ มาพันที่ศาลเพียงตา จากนั้นก็โยงสายสิญจน์กับ "คายครูสะเดาะเคราะห์" หรือ "ยกครู" บางครั้งเรียก ขันธ์ 5 ขันธ์ 8 แล้วจะให้พระสวดสะเดาะเคราะห์ โดยนำเบี้ย 108 ที่ทำจากหอยที่ได้รับการปลุกเสก ใส่ลงภาชนะ จากนั้นจะนำถาดมาใส่ ข้าวสาร ข้าวตอก กรวยดอกไม้ 4 กรวยธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม ผ้าสีขาว กับเครื่องประดับของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น แหวน กำไล ต่างหู (หน้า 208) สมาชิกในบ้านจะมานั่งอยู่ในวงสายสิญจน์ เมื่อทำพิธีเสร็จพระจะพรมน้ำมนต์ ที่ศาลเพียงตา และกระทงหัวหมู นำเทียนที่จุดไปตัดสายสิญจน์ ที่พันศาลเพียงตาแล้วนำกระทงหัวหมู 8 อัน ไปวางทั้ง 8 ทิศ สำหรับกระทง 9 ห้องจะเอาไปวางไว้นอกบริเวณบ้าน ขั้นตอนต่อไปเจ้าของบ้านจะถวายบังสกุลเพื่อทำบุญให้ญาติพี่น้องที่เสียไปแล้ว เมื่อพระสวดบังสกุลเรียบร้อยแล้วก็จะพรมน้ำมนต์ให้คนที่เข้าร่วมในพิธี จากนั้นเจ้าของบ้านจะให้พระประพรมน้ำมนต์แก่สิ่งของ หรือพาหนะในบ้าน เช่น รถยนต์ (หน้า 208, 217 ภาพกระทงหน้า 207, 208, 209, 210, 211) ผีแม่หม้าย เกิดจากความเชื่อเรื่องใหลตาย โดยเฉพาะคนหนุ่มจะทำปลักขิกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเพศชาย เพื่อเอาไว้ป้องกันผีแม่หม้าย (หน้า 211 ภาพหน้า 212, 213)

Education and Socialization

โรงเรียนบ้านสำโรงโคเฒ่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2482 สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ชั้น ป.6 (หน้า 221) มีจำนวน 8 ชั้นเรียน ได้แก่ ชั้นอนุบาล 1 อนุบาล 2 และ ชั้น ป.1 - ป.6 ชั้น ละ 1 ห้อง มีนักเรียนห้องละ 15 คน รวมนักเรียนทั้งหมด จำนวน 112 คน เป็นนักเรียนชาย 58 คน และหญิง 54 คน แบ่งเป็นชาติพันธุ์เยอ จำนวน 98% เชื้อสายจีน จำนวนอีก 2% (หน้า 123 ภาพหน้า 124) โรงเรียนมีเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 1 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 2 ชั้น 1 อาคาร ชั้นล่างเป็นห้องเรียนของนักเรียนชั้นอนุบาล 1 และอนุบาล 2 เรียนห้องเดียวกัน กับห้องนักเรียนชั้น ป.1 กับ ป.2 ชั้นบนเป็นห้องชั้น ป.3 กับชั้น ป.4 และห้องธุรการกับห้องพัสดุ และโรงฝึกงานสร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 ที่ตรงนี้ยังเป็นห้องเรียนของนักเรียนของชั้น ป.5 กับชั้น ป.6 นอกจากนี้โรงเรียนยังมีสนามฟุตบอลอีก 1 แห่ง นักเรียนที่มาเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน พ่อแม่มีอาชีพ ทำนา (หน้า 123) สำหรับการศึกษาของชาวบ้านสำโรงโคเฒ่า แยกได้ดังนี้ คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือมีจำนวน 18 คน เด็กก่อนวัยเรียน 40 คน เรียนระดับ ป.1 - ป.4 จำนวน 313 คน เรียนระดับ ม.1 - ม.3 จำนวน 66 คน เรียนระดับ ม.4 - ม.6 จำนวน 40 คน เรียนโรงเรียนอาชีวะ จำนวน 18 คน เรียนระดับมหาวิทยาลัย จำนวน 7 คน (หน้า 125)

Health and Medicine

บ้านสำโรงโคเฒ่า มีสถานีอนามัย 1 แห่ง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2519 มีเจ้าหน้าที่ทำงานประจำ จำนวน 4 คน ทำหน้าที่รักษาคนในหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียง (หน้า 134) ชาวบ้านที่มารักษาที่สถานีอนามัย เฉลี่ย 10-20 คนต่อวันการรักษาจะใช้บัตรประกันสุขภาพ โดยใช้ได้ 5 คนต่อครอบครัว สำหรับคนไม่มีบัตรประกันสุขภาพ จะใช้บัตร สปร. หรือบัตรสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย (หน้า 135) นอกจากนี้แล้วชาวบ้านยังรักษาด้วยการแพทย์แผนโบราณ เช่นยาสมันไพร การรักษาด้วยไสยศาสตร์ (หน้า 136) การตั้งครรภ์ หญิงที่ตั้งครรภ์จะไม่ชอบกินอาหารที่มีไขมันเพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอดลูกลำบาก ขณะตั้งครรภ์ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มักชอบกินอาหารแตกต่างจากที่เคยกินเป็นประจำ เช่นต้องการกินดินโป่ง ลาบวัวดิบ ส่วนข้อห้ามจะไม่ให้เดินผ่านพื้นที่ที่ย้อมไหม เพราะจะทำให้ย้อมสีไม่ติด วิธีแก้ไขคือ ถ้าหยิงตั้งครรภ์เดินผ่านก็ให้จุ่มน้ำย้อมมาแตะที่ลิ้นเท่านี้ก็จะย้อมผ้าติดสี สำหรับความเชื่ออื่นเช่น ไม่ให้สามีของหญิงที่มีครรภ์หามโลงศพ เพราะเชื่อว่าลูกในท้องภรรยาอาจเสียชีวิต (หน้า 151) ในสมัยก่อนขณะคลอดลูกจะให้"หมอเป่า"มาเสกคาถาและหว่านข้าวสารไล่ผีไม่ให้ปอบมาทำร้ายเนื่องจากเชื่อว่าปอบชอบกินของคาว การตัดรกจะนำหินลับมีดมารองก่อนแล้วใช้มีดตัด คนที่ตัดจะเป็นหมอตำแย เนื่องจากเชื่อว่าถ้าเด็กโตเป็นผู้ใหญ่จะเป็นคนใจคอหนักแน่น หลังจากตัดรก จะนำไปฝังที่บริเวณใต้บันไดแล้วก่อไฟที่ด้านบน เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้เด็กโตขึ้นมาเป็นคนรักบ้านเกิด ไม่ทอดทิ้งที่อยู่อาศัย (หน้า 151) เมื่อคลอดลูกแล้วจะอยู่ไฟ 7-20 วัน ตอนที่อยู่ไฟจะอยู่กับที่และกินข้าวกับเกลือ และน้ำร้อน เพราะถ้ากินอาหารอย่างอื่นเชื่อว่าจะทำให้เจ็บป่วย อย่างไรก็ดีความเชื่อแบบนี้ทุกวันนี้ไม่ถือกันแล้วจะกินอะไรก็ไม่ได้ห้ามเหมือนสมัยก่อน (หน้า 152) การรักษาด้วยผีฟ้า การรำผีฟ้าเป็นการรักษาโรค เพราะเชื่อว่าคนป่วยเนื่องจากฝีมือของผีฟ้า เนื่องจากผีฟ้าเป็นผู้ชายต้องการที่จะได้คนป่วยเป็นภรรยา เมื่อผีฟ้าต้องการมีคู่ครองจึงทำให้ผู้หญิงป่วย การรักษาต้องทำพิธีรับผีฟ้ามาอยู่ด้วย อาการป่วยจึงจะหายไปและหากไม่ทำพิธีก็จะทำให้คนป่วยคนนั้นเสียชีวิต เมื่อรักษาแล้วผีฟ้าจะทำหน้าที่คุ้มครองผู้ป่วยคนนั้นไปทั้งชีวิต และคนป่วยก็จะเป็นผีฟ้าคนใหม่ เมื่อมีคนป่วยอันเนื่องมาจากผีฟ้า คนที่เป็นผีฟ้าในหมู่บ้านก็มาร่วมพิธีรับผีฟ้า (หน้า 173)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ปราสาทเยอ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 ช่วง พ.ศ. 1550-1650 (หน้า 70) สภาพปัจจุบันเห็นเพียงซากปรักหักพังเท่านั้น เป็นเพียงเนินดินและซากอิฐ ประตูทางเข้าเป็นช่องขนาดแคบๆ หันหน้าไปด้านทิศตะวันออก จำนวน 2 ประตู ส่วนกรอบประตู กับศิลาทับหลัง เป็นหินทรายสลักรูปพระอินทร์ขี่ช้างเอราวัณ และสลักรูปเทวดาอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข (หน้า 71) เอกสารของกรมศิลปากร ระบุเมื่อ พ.ศ. 2478 ว่า ปราสาทแห่งนี้ สร้างด้วยหินสี่เหลี่ยม กว้าง 6 ศอก สูง 9 ศอก คาดว่าน่าจะสร้างเป็นปรางค์เดี่ยวขนาดใหญ่ วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นอิฐ หินศิลาแลง เนื้อที่ปราสาททิศเหนือกับทิศใต้ ยาว 1 เส้น 6 วา ทิศตะวันออกกับตะวันตก ยาว 1 เส้น 1 วา มีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา (หน้า 71) การแต่งกาย ทั้งผู้ชายและผู้หญิงชอบสวมใส่เสื้อผ้าไหมเหยียบสีดำ ลายผ้าเป็นลายขิดดอกขนาดเล็ก นำมะเกลือมาย้อมสีดำ (หน้า 80) การแต่งกายของผู้หญิง เป็นเสื้อแขนกระบอก ผ่าตรงกลางติดกระดุม สำหรับคนที่ร่ำรวยกระดุมเสื้อจะทำด้วยเงินพดด้วง ผ้าถุงหรือซิ่น มี 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นส่วนที่เป็นตัวผ้าซิ่น ส่วนที่สองเป็นเชิงผ้าลายมัดหมี่ สำหรับส่วนล่าง เรียก "เสลิก" ลายเก็บขิด ผู้หญิงชอบใช้สไบหรือผ้าเบี่ยง หากทำงานจะสวมเสื้อไหมเหยียบกับผ้าซิ่นฝ้าย แต่ถ้าหากไปทำบุญจะสวมเสื้อไหม กับสวมผ้าซิ่นหมี่ ทุกวันนี้การแต่งตัวแบบเดิม มีเฉพาะในกลุ่มหญิงสูงอายุ แต่เวลาแต่งตัวจะไม่ชอบใส่สไบ หรือผ้าเบี่ยง (หน้า 80, 168, 174 ภาพหน้า 81, 82) การแต่งกายของผู้ชาย ชอบนุ่งโสร่งไหม การแต่งตัวทุกวันนี้จะแต่งตัวตามสมัยนิยม (หน้า 80) สไน เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ทำด้วยเขาควาย ส่วนใหญ่จะชอบใช้เขาควายสีดำ ตรงบริเวณโคนเขาเป็นรู ส่วนกลางเจาะเป็นรู ส่วนปลายแกะสลักเป็นลวดลาย การเกิดเสียงจะใส่ลิ้นไม้ไผ่ การปรับระดับเสียง จะทำโดยพันด้ายที่ลิ้นไม้ไผ่ จากนั้นก็ยาด้วยขี้สูด เมื่อมีการละเล่นหรือที่เรียกว่า "เซิ้งสไน" จะมีเครื่องดนตรีประกอบดังนี้ สไน 2 ตัว กลองทอม 1 คู่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง การเป่าสไนตัวแรกจะเป่าเป็นทำนองดนตรี ส่วนตัวที่สองจะเป่าเพื่อให้จังหวะ (หน้า 84 ภาพ 85, 86) บั้งไฟ ตัวบั้งไฟทำด้วยท่อพีวีซีซึ่งเป็นส่วนที่ใช้บรรจุดินประสิว ซึ่งแต่เดิมในส่วนนี้จะใช้ไม้ไผ่ ส่วนที่เป็นหางจะทำด้วยไม้ไผ่ เพื่อบังคับทิศทางของบั้งไฟ หากทำหางที่มีน้ำหนักเหมาะกับตัวบั้งไฟจะช่วยให้บั้งไฟบั้งนั้นขึ้นได้สูง ในส่วนที่จุดชะนวนจะอยู่ตรงปลายของท่อพีวีซี ทำจากขดลวด เวลาจุดชะนวน จะจุดจากแบตเตอรี่ 6 โวลต์ เมื่อนำมาสปาร์คกับขดลวดก็จะเกิดการจุดระเบิด เมื่อจะจุดบั้งไฟขึ้นฟ้า (หน้า 194 ภาพ 195) ธรรมมาส เป็นหอทรงสี่เหลี่ยมทำด้วยไม้แกะสลักลงสี เป็นลวดลายต่างๆ ในหอจะทำเป็นเนื้อที่ให้พระนั่งเทศน์ได้ 1 รูป ในงานบุญพระเวศที่จัดช่วงหลังออกพรรษา ด้านบนสุดของธรรมมาสจะเป็นร่ม มุมของธรรมมาสจะตกแต่งด้วยพืชต่างๆ เช่น เครือกล้วย มะพร้าว ต้นอ้อย ส่วนด้านล่างของธรรมมาสที่เรียกว่า ลกไก่หรือเล้าไก่ นั้นจะส่วนด้วยไม้ไผ่ ข้างในลกไก่ จะใส่ หม้อ โอ่ง ภายในนั้นจะใส่ จอก แหน สาหร่าย บัวหลวง ปลา หอย (หน้า 179 ภาพหน้า 180)

Folklore

ตำนานการย้ายถิ่นของกวย จากตำนานระบุว่า เมื่อก่อนนี้กวยอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว จึงย้ายไปทางทิศเหนือในแคว้นจำปาศักดิ์ ของลาวแต่ในพื้นที่ที่ย้ายไปนั้นเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงย้ายมาอยู่บริเวณที่ราบสูงโคราช ภาคอีสานของไทย (หน้า 63) อีกตำนานระบุว่า กลุ่มกวยโย ที่อยู่ราษีไศล ก่อนหน้านี้อยู่ในพม่า แต่ถูกพม่าข่มเหงรังแก ดังนั้น ค.ศ.1810 พระยาตักศิลา จึงได้ย้ายผู้คนกว่า 500 คน ไปอยู่ที่เวียงจันทน์ (หน้า 2) แต่ก็ถูกข่มเหงเช่นเดิมจึงย้ายมาตามลำน้ำโขงมาที่เมืองคง เมืองจำปาศักดิ์ ภายหลังจึงย้ายที่อยู่มาที่ อ.ขุขันธ์ อยู่มาจนถึงปัจจุบัน (หน้า 3, 66, 67) นิทานการไปรับพระพุทธเจ้าของเยอ นานมาแล้วขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบิณฑบาต กระทั่งมาถึงแม่น้ำแต่น้ำล้นฝั่งเพราะฝนตกอย่างหนัก ที่ฝั่งตรงข้าวนั้นมีเยอ กับคนจีน ไปคอยรับพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าเรียกเยอให้นำเรือไปรับพระองค์ แต่เยอหาเรือไปรับไม่ได้ แต่คนจีนสามารถหาเรือไปรับได้ก่อน ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงมอบความรู้ให้คนจีน ดังนั้นคนจีนจึงเป็นคนฉลาดเฉลียว สำหรับเยอได้ถูกสาปให้ลำบากต้องหาเลี้ยงชีพโดยเอาแรงงานเข้าแลก (หน้า 83) ความเป็นมาของอ.พยุห์ อ.พยุห์ เมื่อก่อนนี้เป็นหมู่บ้านเก่าแก่เปลี่ยนชื่อมาหลายชื่อกระทั่งมาใช้ชื่อเป็น "พยุห์" เช่นในทุกวันนี้ รายงานระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2250 ได้มีคนลาว จากเวียงจันทน์ ส่วย และเยอ จากบ้านดวนใหญ่ อ.วังหิน บ้านกล้วยกว้าง อ.ห้วยทับทัน บ้านลำดวน อ.เดชอุดม ได้อพยพมาตั้งหมู่บ้านโดยใช้ชื่อว่า "บ้านสระเกษ" เพราะด้านตะวันออกของหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของสระขนาดใหญ่และริมตลิ่ง ต้นเกษ (ใบเหมือนใบเตยมีหนามแหลม ดอกเป็นปลี) ได้ขึ้นเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก (หน้า 92) กระทั่งเย็นวันหนึ่งได้เกิดพายุใหญ่ถล่มหมู่บ้านจนถึงเที่ยงคืน ตอนเช้าชาวบ้านที่ไปจับปลาทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ได้เห็นกอไผ่ตกอยู่กลางสระน้ำชาวบ้านจึงเรียกว่า "หนองพายุ" ภายหลังชาวบ้านได้ลงมติเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น "บ้านพายุ" ต่อมาได้เพี้ยนเสียงเป็น "บ้านพยุห์" คาดว่าที่มาของชื่อนี้มาจากที่ ร.3 ได้ทรงมาหยุดกองทัพเมื่อครั้งยกทัพไปสู้กับเขมร ทั้งนี้คำว่า "พยุห์" หมายความว่า การจัดขบวนทัพ การเคลื่อนทัพ (หน้า 92) ตำนานบุญข้าวจี่ เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปบิณฑบาตที่บ้านเศรษฐีปุณณ ตอนนั้นนางปุณณทาสี คนใช้ของเศรษฐีกำลังย่างข้าวเหนียว เมื่อพระพุทธเจ้ามาถึงเธอจึงได้นำข้าวเหนียวย่างใส่บาตร แต่เธอกลัวว่าพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงเสวยเพราะข้าวเหนียวย่างเป็นอาหารของคนทุกข์ย่าง แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของเธอ จึงบอกพระอานนท์ให้ปูอาสนะให้ศีลและฉันข้าวจี่ที่นางถวายตรงนั้น จากนั้นพระองค์ได้ทรงเทศน์แสดงธรรมแก่นางปุณณทาสี จนกระทั่งเธอบรรลุโสดาปัตติผล ครั้นเสียชีวิตไปแล้วก็ได้ขึ้นสววรค์ ฉะนั้นคนอีสานจึงเชื่อว่าถ้าทำบุญข้าวจี่ จะได้บุญอย่างมาก (หน้า 167) พระอุปคุต รายงานระบุว่า เมื่อสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้รวบรวมพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า โดยได้รวมเอาไว้ที่สถูปที่สร้างใหม่ เมื่อจะจัดงานฉลองพระองค์กังวลว่ามารที่เป็นศัตรูของพระพุทธเจ้าจะมาก่อความวุ่นวาย ดังนนัน้นจึงนิมนต์พระอุปคุตมาในงาน เมื่อมารรู้จึงได้มาก่อกวน พระอุปคตจึงเนรมิตเป็นหมาเน่าแขวนคอมาร ก็ไม่สามารถทำอะไรได้แม้กระทั่งพระอินทร์ก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ เมื่อมารสารภาพผิด พระอุปคตจึงแก้ไขเหตุการณ์แล้วขังมารไว้บนยอดเขา (หน้า 183) เมื่องานฉลองผ่านพ้นจึงปล่อยมาร ดังนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชและประชาชนที่มาในงานจึงปลอดภัย ดังนั้นเมื่อมีงานบุญทางศาสนาพุทธ จึงมีการนิมนต์พระอุปคุตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (หน้า 183) บุญข้าวสาก ครั้งสมัยพุทธกาล เมื่อพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ได้ออกแสดงธรรมโปรดสัตว์ ขณะนั้นมีลูกชายกฎุมพีคนหนึ่งกำพร้าพ่อ เมื่อลูกชายโตแม่จึงหาคู่ครองให้ลูก แต่ผู้หญิงที่แม่หาให้นั้นมีลูกไม่ได้ ดังนั้นแม่จึงหาผู้หญิงคนใหม่ให้ลูกชาย เมื่อเมียใหม่มีครรภ์ เมียหลวงเกิดความอิจฉาจึงลงมือฆ่าเมียน้อย ก่อนสิ้นใจเธอได้อาฆาตเมียหลวงโดยกล่าวเอาไว่ว่า ขอให้ตนเองเกิดเป็นแมวและให้เมียหลวงเกิดเป็นไก่ แมวจึงจับไก่มากิน (หน้า 199) ก่อนตายไก่ขอให้เกิดเป็นเสือ แมวเมื่อตายไปก็เกิดเป็นเนื้อดังนั้นเสือจึงจับกิน เนื้อจึงอาฆาตจึงได้เกิดเป็นยักษ์ ส่วนเสือได้เกิดอีกครั้งเป็นลูกสาวของเจ้าเมือง เมื่อแต่งงานแล้วมีลูก ในวันหนึ่งได้ออกไปเดินเล่นพร้อมสามีกับลูก เมื่อไปถึงสระเธอจึงลงอาบน้ำในสระ เมื่อนางยักษ์มาเห็นจึงจะเข้าไปจับกินเป็นอาหาร ดังนั้นทั้งสามคนจึงวิ่งไปบริเวณที่พระพุทธเจ้ากำลังเทศนา พระองค์จึงบอกพระอานนท์ให้ไปห้ามนางยักษ์และบอกให้ลูกสาวเจ้าเมืองให้นำนางยักษ์ไปเลี้ยง และไม่ให้อาฆาตพยาบาทต่อกัน (หน้า 199) เมื่อลูกสาวเจ้าเมืองนำนางยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่ใต้ถุนบ้าน นางยักษ์จึงแค้นเคือง ลูกสาวเจ้าเมืองจึงไปอยู่ที่หัวนา หรือ " ตาแฮก " ตามคำเรียกของคนอีสาน นางยักษ์จึงสำนึกบุญคุณ จึงบอกลูกสาวเจ้าเมืองเรื่องการพยากรณ์ฝนฟ้าอากาศว่า ปีไหนฝนจะชุก หรือจะฝนแล้ง (หน้า 199) เมื่อชาวนาทำนาได้ข้าวมากจึงเอาข้าวไปให้ยักษ์ ดังนั้นยักษ์จึงนำข้าวมาทำข้าวสากไปถวายพระพุทธเจ้า ประเพณีข้าวสากจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (หน้า 200)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มี

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ 1) การเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) งานเขียนได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านคือเมื่อก่อนนี้เป็นสังคมเกษตรกรรม ความคิดความเชื่อยังมีความผูกพันกับไสยศาสตร์ แต่ต่อมาเมื่อเจริญขึ้นความเชื่อทางไสยศาสตร์ก็ลดบทบาทลง อาทิ พิธีเลี้ยงผีตาแฮก เมื่อก่อนนี้เชื่อว่าถ้าไม่ทำพิธีเลี้ยงผีตาแฮก ก็จะทำให้ปลูกข้าวได้ข้าวไม่มาก ประเพณีงานบุญข้าวสาก ซึ่งเป็นการทำบุญให้ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้วกับวัวควายที่ช่วยไถไร่นา แต่ทุกวันนี้เมื่อหันมาใช้เครื่องจักร ไม่ค่อยได้ใช้วัวควายเหมือนแต่ก่อน ก็จะทำบุญให้เฉพาะญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงประเพณีอื่น เช่น งานบวช ตอนแห่นาคจะนั่งรถยนต์แทนการแห่โยการขี่คอเมื่อแต่ก่อน (หน้า 125-217) 2) การเป็นเมือง (Urbanization) เมื่อก่อนนี้คนในหมู่บ้านมีความใกล้ชิดต่อกัน แม้ว่าจะเป็นคนละหมู่บ้านแต่คนทั้งสองหมู่บ้านก็เป็นญาติพี่น้องกัน สถานที่หรือสิ่งก่อสร้างจะใช้ชื่อร่วมกันว่า "สำโรงโคเฒ่า" แต่ในภายหลังทางการได้แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน จึงทำให้คนในหมู่บ้านมีความรู้สึกว่า อยู่คนละหมู่บ้านกัน ดังนั้นเวลาจัดงานประเพณีต่างๆ ต่างก็แยกกันทำหมู่บ้านใครหมู่บ้านมัน เช่นการเลี้ยงปู่ตาซึ่งเป็นบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับของคนในหมู่บ้าน ก็แยกกันจัดคนละหมู่บ้าน นอกจากนี้การทำบุญบั้งไฟก็แยกกันจัดไม่จัดวันเดียวกัน นอกจากนี้การลงแขกช่วยกันทำงานในไร่นาก็ยกเลิก โดยเปลี่ยนเป็นการจ้าง เช่น จ้างเกี่ยวข้าว (หน้า 218-220) 3) ระบบราชการ (Bureaucrazy) จากการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคของทางการ จึงทำให้หมู่บ้านและสังคมบ้านสำโรงโคเฒ่า เปลี่ยนแปลงไปเช่นการตัดถนนเชื่อกับหมู่บ้านอื่นและเมือง ก็ทำให้สังคมเปลี่ยน เช่น แต่ก่อนจะอยู่กันอย่างง่ายๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อซื้อขาย นอกจากนี้ด้านการศึกษาเมื่อคนในหมู่บ้านได้รับการศึกษามากขึ้น ก็ทำให้มีความเชื่อด้านไสยศาสตร์ลดน้อยลง ด้านสาธารณสุข เมื่อสร้างสถานีอนามัยในหมู่บ้าน ก็ทำให้พิธีกรรมด้านการเกิดได้ถูกยกเลิกไม่มีผู้สืบต่ออีกเช่นพิธีร่อนกระด้ง พิธีฝังรก พิธีการอยู่ไฟ และอื่นๆ (หน้า 220 - 222)

Other Issues

ระเบียบวิธีวิจัย (หน้า 53-55) การพิสูจน์สมมติฐาน (หน้า 223-232) สรุปผลการวิจัยปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการวิจัย และข้อเสนอแนะ (หน้า 233-237)

Map/Illustration

แผนภูมิ ประชากรบ้านสำโรงแยกตามเพศ (หน้า 111) โครงสร้างอายุของประชากรบ้านสำโรง (หน้า 113) อาชีพ, การศึกษาของประชากรบ้านสำโรง (หน้า 119,125) ประชากรบ้านโคเฒ่า (หน้า 141) โครงสร้างอายุ, อาชีพ, ระดับการศึกษาประชากรบ้านโคเฒ่า (หน้า 143, 144) ตาราง พิธีกรรมและงานบุญในแต่ละเดือนที่ปฏิบัติในหมู่บ้าน (หน้า 4) ปัญหาพื้นฐานของมนุษย์และส่วนต่างๆของวัฒนธรรม (หน้า 7) กลุ่มชาวกวยในไทย (หน้า 57) ภาษาเยอ (หน้า 75) ประชากร อ.พยุห์ แยกตามตำบล (หน้า 96) อัตราการเปลี่ยนแปลงประชากร อ.พยุห์ (หน้า 96) พื้นที่การเกษตร (หน้า 97) จำนวนสัตว์ (หน้า 98) โรงงานอุตสาหกรรม ใน อ.พยุห์ (หน้า 98) การศึกษา (หน้า 99) สถิติอาชญากรรม (หน้า 100) ประชากรใน ต.พรหมสวัสดิ์แยกตามหมู่บ้าน (หน้า 103) พื้นที่ ต.พรหมสวัสดิ์ (หน้า 104) ประชากรบ้านสำโรง (หน้า 111) อายุประชากรบ้านสำโรง (หน้า 112) อาชีพ,การศึกษาของประชากรบ้านสำโรง (หน้า 118) ประชากร,อายุ ประชากรบ้านโคเฒ่าแยกตามเพศ (หน้า 141,142) การประกอบอาชีพ,การศึกษา (หน้า144,147) พิธีกรรมและงานบุญของชาวเยอบ้านขมิ้น (หน้า164) ผลการพิสูจน์สมติฐานที่ตั้งไว้ (หน้า 232) ภาพ บึงคงโคก ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ, เรือส่วง (หน้า 68) ศาลเจ้าพ่อพญากตะศิลา (หน้า 69) ซุ้มประตูเข้าวัดปราสาทเยอเหนือ (หน้า 72) ซากปรักหักพังของปราสาทเยอ (หน้า 73) ทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (หน้า 74) ผ้าซิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ (หน้า 80) เครื่องแต่งกายและการแต่งกายของหญิงชาวเยอ (หน้า 81, 82) สไน เครื่องดนตรีของชาวเยอ (หน้า 85) การเซิ้งสไน (หน้า 86) บ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง (หน้า 110) บ้านแบบสมัยใหม่ (หน้า 110) ระบบเครือญาติของชาวบ้านสำโรงโคเฒ่า (หน้า 116) ร้านค้าในหมู่บ้านสำโรงเฒ่า (หน้า 119,120) โรงเรียน,วัด,เจ้าอาวาสวัดบ้านสำโรงโคเฒ่า (หน้า 124,129,130) ศาลเจ้าพ่ออรุณ (หน้า 132) ศาลปู่ตา, อนามัยบ้านสำโรง (หน้า 133,135) ผู้ใหญ่บ้านโคเฒ่า (หน้า 146) ศาลปู่ตาบ้านโคเฒ่า (หน้า 148) การตั้งศพ (หน้า 158) การสวดอภิธรรม (หน้า 159) การทำบุญตักบาตรถวายเพลพระ (หน้า 160) การจูงศพ (หน้า 161) การตั้งศพที่เชิงตะกอน (หน้า 162, 252) การเก็บกระดูก (หน้า 163) งานบุญปีใหม่ (หน้า 166) ข้าวจี่, บุญข้าวจี่ (หน้า 169) การเวียนเทียนวันมาฆบูชา (หน้า 172) ห้างผีฟ้า (หน้า 174) การรำผีฟ้า (หน้า 176) หิ้งแถน (หน้า 177) การผูกข้อมือ (หน้า 177) ธรรมมาส (หน้า 180) การยกธงอาจ (หน้า 183) การเทศน์เชิญพระเวศสันดร (หน้า 185) พิธีแบ่งฤดูปีเดือน (หน้า 188) เจดีย์ทราย (หน้า 190) พิธียกพระก่อเจดีย์ทราย (หน้า 191) บั้งไฟ (หน้า 195) การเลี้ยงผีตาแฮก (หน้า 197) การไถแฮกนา (หน้า 197) พิธีบายศรีสู่ขวัญ (หน้า 205) กระทงหัวหมู (หน้า 207) กระทง 9 ห้อง (หน้า 208) พระสงฆ์หลั่งน้ำมนต์ลงที่ศาลเพียงตา (หน้า 209) พระสงฆ์สวดสะเดาะเคราะห์ (หน้า 210) พระสงฆ์พรมน้ำมนต์รถ 6 ล้อ (หน้า 211) หุ่นจำลองเพศชายป้องกันผีแม่หม้าย (หน้า 212, หน้า 213) ถนนคอนกรีตในบ้านสำโรงโคเฒ่า (หน้า 249) อุโบสถ, ศาลาการเปรียญ, กุฏิ วัดสำโรงโคเฒ่า (หน้า 250) ที่ทำการ ต.พรหมสวัสดิ์ (หน้า 253) บ้านเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี (หน้า 254) บ้านชั้นเดียวใต้ถุนต่ำ (หน้า 254) ร้านค้าชุมชนบ้านสำโรงโคเฒ่า (หน้า 255) ร้านขายน้ำมัน (หน้า 255) ทุ่งนาบ้านสำโรงโคเฒ่า (หน้า 256) โรงสี (หน้า 256) แผนที่ จังหวัดศรีสะเกษ (หน้า 88) อ.พยุห์ (หน้า 93) บ้านสำโรง (หน้า 106) บ้านโคเฒ่า (หน้า 139)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 02 ก.ค. 2555
TAG เยอ, วัฒนธรรม, ความเชื่อ, พิธีกรรม, ศรีสะเกษ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง