สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject โส้ โซร ซี ,วิถีชีวิต,ตำนาน,ครอบครัว,สกลนคร
Author Raymond S. Kania and Siriphan Hatuwong Kania
Title The So People of Kusuman, Northeastern, Thailand
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity โส้ โทรฺ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูยน์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 36 Year 2522
Source Journal of the Siam Society 67,1 (Jan. 1979)
Abstract

โส้ มาจากไหนไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ปัจจุบันโส้อยู่ในจังหวัดสกลนคร มีทักษะการจักสานด้วยไม้ไผ่และการทอผ้าฝ้าย โส้ปลูกข้าวแต่ไม่เน้นขายเป็นสินค้าหลัก เพราะบางทีผลผลิตไม่ดี แต่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง เช่น ปลูกพืชผัก ล่าสัตว์ ชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องภูตผี เคารพผีต้นไม้ใหญ่เชื่อว่ามีอำนาจสูงสุด ผู้นำหมู่บ้านเป็นผู้ที่สื่อสารระหว่างผีต้นไม้ใหญ่กับชาวบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าผีทำให้เจ็บป่วยหรือตาย ผู้นำหมู่บ้านเป็นผู้ตัดสินข้อถกเถียงต่างๆ หญิงชายมีสิทธิ์เลือกคู่ครองเอง ผู้ใหญ่จะสอนลูกหลานให้รู้จักการดำรงชีพ และสอนให้เด็กๆ รู้จักคิดจากนิทาน

Focus

นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโส้ (So) ในหมู่บ้านกุสุมาลย์ ครอบคลุมลักษณะทางกายภาพ ความเชื่อ รูปแบบและเทคโนโลยีเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ วิถีชีวิต ความสัมพันธ์กับครอบครัวและผู้อื่น ภาษา และตำนานพื้นบ้าน (หน้า 74)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ศึกษาโส้ ในหมู่บ้านกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร (หน้า 74)

Language and Linguistic Affiliations

โส้ ไม่มีภาษาเขียน ภาษาพูดมีสำเนียงต่างกันในแต่ละท้องถิ่น (หน้า 76) ภาษาถูกจัดอยู่ในกลุ่มมอญ-เขมร เสียงสูงต่ำไม่ทำให้แตกต่างในความหมาย มีคนพูดน้อยกว่า 10,000 คน ในประเทศไทย คำศัพท์มี 1-3 พยางค์ โครงสร้างประโยคประกอบด้วยประธาน-กริยา-กรรม คำนามหนึ่งคำมีความหมายหลายอย่าง คำกริยาไม่เปลี่ยนรูปตามกาล (หน้า 103,104)

Study Period (Data Collection)

ไม่ได้ระบุเวลาที่ชัดเจน ประมาณทศวรรษของ ค.ศ. 1970 (หน้า 74-75)

History of the Group and Community

ประวัติศาสตร์โส้ มีไม่ละเอียด ได้มาจากคำบอกเล่า เชื่อว่าอพยพข้ามฝั่งโขงมาจากลาว (หน้า 76) ในต้นปี ค.ศ. 1950 ชาวเวียดนามได้ลี้ภัยหนีสงครามฝรั่งเศส-อินโดจีน ชาวเวียดนามได้เข้ามาอาศัยอยู่ในหมูบ้านและนำข้าวจากโส้ ค้าขายทำกำไร คนเวียดนามและจีนเป็นเจ้าของร้านหลายแห่งในหมู่บ้านขณะนั้น และมองคนโส้ในฐานะต่ำต้อยกว่า ชาวเวียดนามอยู่ในหมู่บ้านจนกระทั่งรัฐบาลไทยให้อพยพออกไปในต้นปี ค.ศ. 1960 โดยให้ย้ายไปอยู่นครพนมและชายแดนอีสานเพื่อรอส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเวียดนามเหนือ (หน้า 82)

Settlement Pattern

บ้านเรือนของโส้ ตั้งอยู่บนเสาไม้สูงประมาณ 5-6 ฟุต มีประตูรั้ว หลังคาไม้หน้าจั่ว บางบ้านมีหลังคาสังกะสี โดยเฉลี่ยในบ้าน โส้ มีห้องเพียง 1 ห้อง ในห้องแบ่งส่วนสำหรับผีบรรพบุรุษและที่นอนของพ่อแม่ ในบ้านไม่มีเครื่องเรือนมากนัก ไม่มีห้องน้ำ อาจมีห้องครัวที่ติดกับบ้านหรือแยกจากตัวบ้าน ซึ่งตั้งอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 4 ฟุต มีขนาด 6 x 6 ฟุต (หน้า 79)

Demography

มีประชากรโส้ ในจังหวัดสกลนครและนครพนมประมาณ 500-7,000 คน ที่ใช้ภาษาโส้เป็นภาษาแม่ (หน้า 76)

Economy

ในอดีตโส้ค้าขายโดยการแลกเปลี่ยนสินค้า จนกระทั่งต้นปี ค.ศ. 1950 เงินเข้ามามีบทบาทแทน ปัจจุบันข้าวเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้โส้ รองมา คือสินค้าเกษตรอื่นๆ และงานหัตถกรรม ชาวบ้านนำสินค้าไปขายในตลาดท้องถิ่น โส้ เริ่มปลูกข้าวเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ช่วงที่รอผลผลิต ผู้หญิงจะปลูกผักและปลูกฝ้าย ผักที่ปลูก ได้แก่ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ แคนตาลูป มันฝรั่ง น้ำเต้า พริกไทย มะเขือยาว ช่วงฤดูฝนผู้หญิงและเด็กจะออกหาปลา ส่วนฤดูหนาวจะล่าสัตว์หรือจับแมลงเป็นอาหาร ผู้ชายทำหน้าที่ล่าสัตว์จำพวกกระต่าย นก และกิ้งก่า โส้เลี้ยงควายไว้ทำนา บ้างก็เลี้ยงไว้ขาย สัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหารได้แก่ ไก่ เป็ด ห่าน และหมู (หน้า 81, 82) โส้มีอุปกรณ์ล่าสัตว์ได้แก่ หน้าไม้ ธนู ปืนลม อุปกรณ์เหล่านี้ทำจากไม้ไผ่หรือไม้ บ้างก็มีปืนไรเฟิลหรืออาจใช้หนังสติ๊ก ในการจับกบชาวบ้านจะใช้กับดักที่ทำจากตะกร้าสานด้วยไม่ไผ่ บางครอบครัวตัดไม้เองโดยใช้เลื่อย (หน้า 80,81) ผู้ชายจะออกไปล่าสัตว์และสานตะกร้าจากตอกไม้ไผ่ มีหลายขนาดและประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกัน (ดูรูปตะกร้าแบบต่างๆ ตารางที่ 1-19) (หน้า 83)

Social Organization

การเกี้ยวพาราสีและการแต่งงาน การแต่งงานและมีครอบครัวเป็นเรื่องแต่ละบุคคลจะตัดสินใจ แต่พ่อแม่มักอยากให้ลูกแต่งงานกับคนที่มีฐานะ อย่างไรก็ตาม โส้จะไม่แต่งงานกับญาติ ยกเว้นญาติห่างๆ และก็อาจจะแต่งงานกับคนกลุ่มอื่นได้เช่น ไทยหรือลาว หญิงและชายเริ่มเกี้ยวพาราสีเมื่ออายุได้ราว 16-17 ปี โดยมักจะพบปะกันตอนเย็น ฝ่ายชายอาจไปเยี่ยมฝ่ายหญิงที่บ้านกับกลุ่มเพื่อน หรือเรียกให้ออกมาพบ หากฝ่ายหญิงพอใจก็จะออกมาพูดคุยด้วยตลอดเย็น เมื่อความสัมพันธ์จริงจังขึ้น ฝ่ายชายจะนำเงินมาให้ผู้หญิงซื้อผ้ามาทำเสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับใช้ในบ้าน เมื่อตัดสินใจแต่งงาน ผู้ชายจะแจ้งให้แม่ของผู้หญิงทราบ 2-3 วันต่อมาจึงพาพ่อแม่ของตนมาสู่ขอ การแต่งงานจะจัดในเดือนที่ 4, 6 หรือ 12 ของปี ถือว่าเป็นเดือนแห่งโชคและจะทำให้คู่แต่งงานมีความสุข พ่อเจ้าบ่าวจะไปพบผู้นำหมู่บ้านเพื่อหาฤกษ์แต่งงาน หัวหน้าหมู่บ้านจะไปที่ต้นไม้ใหญ่ เพื่อถามผีถึงเวลาที่เหมาะสมของเจ้าสาวที่จะไปบ้านเจ้าบ่าว และเวลาดีในพิธีผูกข้อมือ ในวันนัดหมาย เจ้าบ่าวและสมาชิกครอบครัวจะมาพร้อมกับผู้นำที่บ้านของเจ้าสาว ผู้นำหมู่บ้านจะนำเงินที่ฝ่ายเจ้าสาวตกลงไว้มาให้ และมีงานเลี้ยงที่บ้านเจ้าบ่าว แม่ของเจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวไปยังห้องของตน ซึ่งได้ยกให้เจ้าสาวและเจ้าบ่าวอยู่แทน ทั้งคู่จะอยู่กับครอบครัวจนกว่าจะมีเงินสร้างบ้านของตัวเอง โส้ไม่นิยมมีสามีหรือภรรยาหลายคน ผู้หญิงมีสถานภาพเป็นรองในสังคม (หน้า 87, 88) หญิงสาวโส้หวังจะแต่งงานกับคนไทยหรือลาว เพราะมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า การแต่งงานกับคนโส้ด้วยกันเองทำให้ชีวิตต้องทำงานหนักในไร่นาเหมือนเดิม (หน้า 91) ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในครัวเรือน เลี้ยงดูลูกและทำงานในนา และตัดสินเรื่องในชีวิตประจำวัน สามีปรึกษาภรรยาเฉพาะเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อครอบครัว (หน้า 92) คนโส้ให้ความสำคัญกับญาติฝ่ายพ่อและแม่เท่ากัน และเรียกญาติของทั้งสองฝ่ายตามลำดับรุ่น (หน้า 94, 95) การเลี้ยงดูเด็ก เมื่อเด็กเกิดจะถูกตัดสายสะดือและนำสายสะดือไปฝังไว้ที่ใต้บันไดทางขึ้นบ้าน ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อเติบใหญ่จะหวนกลับบ้านเสมอ เด็กจะได้รับน้ำนมมารดา 12-14 เดือน และทานอาหารที่บดละเอียด เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายใส่ผ้าอ้อมไม่เหมือนกัน เด็กผู้ชายจะไม่ใส่ผ้าอ้อมที่ทำมาจากชิ้นส่วนผ้าของผู้หญิง แต่จะใส่ผ้าอ้อมที่ทำจากฝ้ายเท่านั้น เพราะผู้หญิงมีสถานะทางสังคมต่ำกว่า เด็กผู้ชายเมื่อโตขึ้นจะถูกคาดหวังให้บวชพระเพื่อเป็นกุศล ในช่วงเพาะปลูกข้าว เด็กจะถูกพาไปในนาด้วย แต่พักอยู่ในเพิงเล็กๆ เมื่อโตขึ้นก็จะช่วยงานในนา (หน้า 84-85 )

Political Organization

มีผู้นำหมู่บ้านและผู้อาวุโสเป็นผู้ตัดสินข้อขัดแย้งในชุมชม มีพิธีดื่มน้ำสาบานกรณีที่ต้องการให้คนพูดความจริง ผู้นำเป็นทั้งผู้นำของชุมชนและเป็นผู้สื่อสารกับภูติผี เป็นตัวกลางระหว่างโส้ และ 'Big Tree' มีศาลในท้องถิ่นใช้เป็นที่ตัดสินคดีความ แต่ชาวบ้านเชื่อว่ามีการคอรัปชั่นในศาล (หน้า 88) กรณีที่ชาวบ้านไม่ต้องการไปขึ้นศาล หัวหน้าหมู่บ้านก็จะเข้ามามีบทบาทพร้อมด้วยคณะผู้อาวุโส ตัดสินด้วยการให้ดื่มน้ำสาบาน ผู้ทำผิดจะได้รับโทษ โส้ไม่ชอบรัฐบาลที่พยายามกลืนวัฒนธรรมของตน และเจ้าหน้าที่มักมองชาวบ้านต่ำต้อย (หน้า 93, 94)

Belief System

ประเพณีฝังศพ มีประเพณีการวางเหรียญไว้ในปากศพ ศพจะตั้งไว้ที่บ้าน 3 คืน กลางคืนพระสงฆ์ 4 รูปมาสวดที่บ้าน ในวันที่ 4 จึงจัดพิธีศพ ศพที่ตายด้วยอุบัติเหตุจะถูกฝังทันทีในวันที่ตาย ศพที่ตายโดยธรรมชาติจะถูกเผา งานพิธีศพจัดในป่า สมาชิกในครอบครัวถูกฝังไว้ใกล้กัน ร่างที่เตรียมเผาจะนำใส่โลงไม้ มีบ้านผีตั้งอยู่เหนือร่าง ผู้ชาย 6 คนจะวางชามโลหะเทินไว้บนศีรษะ และร่ายรำช้าๆ รอบโลงศพ หลังจากนั้นจึงนำบ้านผีเดินรอบสุสาน หัวหน้ากลุ่มผู้ชายเดินถือถ้วยใหญ่ที่ใส่ข้าวสารและโปรยข้าวไปบนถนนเพื่อให้ผีหาทางกลับบ้านได้ เด็กหญิงและเด็กชายจะอยู่ที่วัดประมาณ 7 วันเพื่อทำสมาธิและสวดมนต์ ก่อนกลับบ้านแต่ละคนจะเดินผ่านบ้านของคนตาย สมาชิกชายที่เป็นผู้อาวุโสของบ้านผู้ตายจะพรมน้ำให้เพื่อให้มีชีวิตยืนนานและสุขภาพดี 7 วันหลังพิธีเผาศพ ครอบครัวของผู้ตายจะเก็บกระดูกบรรจุใส่โอ่งเล็กๆ และนำไปวัด เพื่อนำโอ่งที่ใส่กระดูกไปวางไว้ในกำแพงวัด วันถัดมาจึงมีพิธีถวายอาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ และครอบครัวจะย้อนกลับไปที่วัดเพื่อปิดกำแพงที่ใส่กระดูก (หน้า 89-91 ) โส้นับถือภูตผี เชื่อว่าผีมีอยู่ในทุกสิ่ง เช่น ผีบ้าน ผีต้นไม้ มีพืช เป็นต้น และเชื่อว่าผีทำให้เจ็บป่วยหรือตายได้ หัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้สื่อสารระหว่างต้นไม้และชาวบ้าน เชื่อว่าผีที่อำนาจสูงสุดสถิตย์อยู่ในต้นไม้ใหญ่ นอกจากนี้โส้ยังมีความเชื่อนับถือผีบรรพบุรุษ และเชื่อว่าผีมีทั้งที่ดีและร้าย (หน้า 95) โส้ปฎิบัติตามในหลักพุทธนิกายเถรวาท เชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด จึงมีพิธีกรรมทั้งที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี (หน้า 96) พิธีผูกข้อมือ (wrist-tying) จัดทุกๆ ปีในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ และบูชาผีต้นไม้ สมาชิกในหมู่บ้านเตรียมอาหารไปวางไว้ใกล้ต้นไม้และวางไว้ที่ศาลผี ผู้นำหมู่บ้านจะมองไปยังศาลผีและสื่อสารกับผีด้วยภาษาพิเศษ เพื่อขอให้ชาวบ้านมีสุขภาพดีและมีความเจริญในปีใหม่นี้ ผู้นำจะผูกเชือกที่ข้อมือของชาวบ้าน แล้วจึงทานอาหารร่วมกัน (หน้า 96) พิธีผูกข้อมือบ้าน (house wrist-tying) จัดที่บ้านในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ พิธีจัดในตอนเช้า หัวหน้าหมู่บ้านจะเป็นผู้หาฤกษ์ให้แต่ละครอบครัว พิธีนี้มีเพื่อฉลองปีใหม่และขอให้สมาชิกในบ้านมีสุขภาพและโชคดี ตอนเช้าทุกคนจะมารวมตัวในบ้าน ชายที่อาวุโสสุดจะเชิญผีครอบครัวมาร่วมพิธี และขอให้ผีอวยพรให้ทุกคนโชคดี เมื่อเสร็จพิธีจึงดื่มไวน์ข้าวแล้วผูกข้อมือให้กับสมาชิกในบ้าน (หน้า 97) พิธีข้าว โส้เชื่อว่าผลผลิตข้าวที่ได้เป็นความช่วยเหลือจากผีนา ชาวนาจะทำกำแพงดินสูง 3 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 ฟุต ปลูกข้าว 7 เมล็ดไว้ในกำแพงดินเป็นวงกลม ตั้งศาลไว้ตรงกลางสูง 4 ฟุต แล้วแขวนไม้ไผ่สลักรูปปูและปลา เซ่นผีด้วยยาสูบ ใบพลู และดิน แล้วจึงอธิษฐาน (หน้า 97) เมื่อผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยว ลำต้นข้าวรอบๆ ศาลผีจะถูกตัดก่อนและแขวนไว้กับเชือก ศาลจะถูกย้ายไปในพื้นที่ราบเพื่อแยกเมล็ดข้าวออกจากลำต้น ก่อนเก็บข้าวศาลผีจะถูกนำไปตั้งในยุ้งฉาง ชาวนาจะขอให้ผีดูแลยุ้งข้าวให้ปลอดจากแมลง หนู และไฟ (หน้า 98) พิธีไล่ผี เมื่อมีคนป่วยหรือบาดเจ็บจะมีหมอชาวบ้านมาทำพิธีสวดไล่ผี พร้อมๆกับรักษาด้วยยาสมุนไพร มีขั้นตอนต่างๆ กัน มีหมออยู่ 2 แบบในหมู่บ้านคือหมอ 'ploŋ' ทำพิธีง่ายๆและไม่แพง และหมอ 'yao' ที่ชาวบ้านต้องจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องดนตรีในการรักษาเอง หมอ 'ploŋ' มักเป็นผู้ชาย และเป็นผู้ประพฤติตตัวเหมือนพระ หมอนี้เป็นผู้ขับไล่ผี 'maná' ชาวบ้านกลัวผีนี้มาก เพราะทำให้ทุกข์ทรมาน เชื่อว่าผีจะเข้าสิงและกินเครื่องในของคนนั้น (หน้า 99) หมอมีวิธีไล่ผีโดยใช้วิธีตรวจไข่ จะนำไข่ไก่ไปสัมผัสร่างท่อนบนของคนไข้ แล้วตอกไข่ดูว่าส่วนใดของร่างกายคนไข้เจ็บปวด ปัจจุบันโส้ไม่เชื่อว่าผี 'maná' จะฆ่าชาวบ้านได้ (หน้า 100,101) การทำบุญที่วัด โส้ที่เป็นพุทธจะทำบุญเพื่อสร้างกุศลเพื่อภายภาคหน้า โดยให้เงินบริจาควัดหรือสร้างพระ(หน้า 101) พิธีเรียกวิญญาณ จัดเมื่อเกิดอุบัติหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่น หกล้ม เพราะกลัวว่าวิญญาณหลุดออกไปจากร่าง เวลาเรียกวิญญาณกลับมาคือตอนเช้าตรู่ และก่อนตะวันลับฟ้า ในพิธีต้องเตรียมไข่ต้มและก้อนข้าวเหนียว เสาไม้ไผ่มีตาข่ายดักวิญญาณ ในตาข่ายมีเสื้อผ้าของผู้เสียวิญญาณใส่ไว้ ผู้คนจะชักชวนให้ผีกลับมาขณะที่ขนถือตาข่ายก็จะแกว่งตาข่ายไปมา 3 ครั้ง พิธีจัดในบริเวณที่คนเสียวิญญาณสะดุดดล้ม เมื่อขบวนทำพิธีเดินกลับ คนถือตาข่ายต้องระมัดระวังไม่ให้สะดุดล้ม เมื่อถึงบ้านผู้เสียวิญญาณจะเอามือใส่ลงในตาข่าย ผู้ทำพิธีจะใส่ไข่และข้าวลงไปในนั้นและผูกเชือกไว้ที่ข้อมือของคนที่เสียวิญญาณ (หน้า 102) จันทรุปราคา เชื่อว่าจันทรุปราคาเกิดขึ้นเพราะกบพยายามกลืนดวงจันทร์ โส้จะไล่กบโดยการตีสิ่งต่างๆ เชื่อว่าถ้าไล่กบออกไปด้วยการตีสิ่งใดๆ ได้ ดวงจันทร์จะตอบแทนพวกเขาด้วยการให้อุปกรณ์ใหม่แทน (หน้า 102)

Education and Socialization

เด็กเข้าโรงเรียนเมื่ออายุได้ 7 ปี และต้องสวมเครื่องแบบ เด็กๆ ในหมู่บ้านกุสุมาลย์เข้าโรงเรียนของรัฐบาลเพียง 4 ปี เพราะในชั้นประถม 5 โรงเรียนคิดค่าธรรมเนียม หลายครอบครัวไม่มีเงิน พ่อแม่จะสอนลูกให้รู้จักปลูกข้าวหรือเลี้ยงควาย เมื่อโตขึ้นก็จะพาเข้าป่าไปช่วยหาของป่าหรือล่าสัตว์ เด็กผู้หญิงเมื่อโตขึ้นจะเรียนทำอาหาร เย็บปักเสื้อผ้า ส่วนเด็กผู้ชายจะช่วยพ่อทำงานในนา ทั้งปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวผลผลิต (หน้า 85-86) โส้พยายามสอนลูกให้คิดถึงตัวเองยามเป็นผู้ใหญ่โดยมักจะแทรกคำสอนลงในนิทาน (หน้า 108)

Health and Medicine

เมื่อมีคนป่วยหรือบาดเจ็บจะมีหมอชาวบ้านมาทำพิธีสวดไล่ผี พร้อมๆกับรักษาด้วยยาสมุนไพร (หน้า 99)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เสื้อผ้า ผู้หญิงสวมเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายทอเองย้อมสีดำ มีผ้าผืนยาวพันรอบตัวขมวดช่วงบน ความยาวตั้งแต่ระดับเอวลงมาจนถึงตาตุ่ม ถ้าใส่อาบน้ำจะขมวดผ้าพันรอบหน้าอกยาวลงมาถึงหัวเข่า ผู้หญิงแต่งงานแล้วอาจไม่สวมท่อนบน ส่วนผู้ชายสวมกางเกงขายาวหรือขาสั้นเป็นผ้าฝ้ายสีดำ วัยรุ่นชอบซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงาน เสื้อผ้าทอโดยผู้หญิง ทั้งชายและหญิงไม่สวมรองเท้าหรืออาจสวมรองเท้าแตะยาง ผู้หญิงสวมเครื่องประดับที่ทำจากทองหรือแต่งกระดุมเสื้อด้วยเหรียญเงินไทย (หน้า 77) ผู้หญิงทอเสื้อผ้าโดยปลูกฝ้ายเองและนำฝ้ายมาปั่นให้เป็นเส้นด้ายและทอเอง เสื้อผ้าจะย้อมสีด้วยพืชในท้องถิ่น เครื่องไม้เครื่องมือจะผลิตโดยช่าง ทำจากไม้หรือไม้ไผ่ (หน้า 82) เครื่องดนตรี โส้ชอบฟังและเล่นดนตรี บางคนที่เล่นได้ดีก็จะหารายได้พิเศษ ผู้ชายมีทักษะมากทั้งการเล่นและทำเครื่องดนตรี มีทั้งเครื่องสาย (ดูรูป Fig.20) ซึ่งมีลักษณะคล้ายแบนโจ และ 'drua' (ดู Fig. 21) ลักษณะคล้ายซอ เครื่องเป่ามี 'qen' หรือแคน (ดู Fig.22) มีปี่, galok และกลองที่ทำจากหนังควาย (ดู Fig.23) (หน้า 83)

Folklore

หญิงและชายมีโอกาสเลือกคู่ครองเอง เพราะมีเรื่องเล่าถึงการฆ่าตัวตายของสาวคนหนึ่งชื่อว่า Nu ซึ่งมีคนรักและต้องการแต่งงานด้วย แต่พ่อปฏิเสธเพราะครอบครัวฝ่ายชายยากจนและยังบังคับให้แต่งงานกับคนอื่นที่มีฐานะดีกว่า แต่ Nu ได้ตั้งครรภ์ขณะที่ชายคนรักกลับปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเป็นลูกตน Nu จึงฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอตายใต้ต้นไม้ (หน้า 88, 89) มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดผี 'maná' มีดังนี้ เมื่อหลายปีก่อนมีกลุ่มที่ใช้เวทมนต์ แต่สมาชิกในกลุ่มคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฏจึงทำให้ขาดพลัง จึงถูกผีร้ายเข้าครอง ซึ่งเรียกว่า ผี 'maná' นิทานที่เล่าภายในครอบครัว มีดังนี้ เรื่องสิงโตและกบ สิงโตตัวหนึ่งหิวโหย เมื่อพบกบตัวหนึ่งจึงขอกบให้มาเป็นอาหาร แต่กบต่อรองสิงโตด้วยการท้าว่าถ้าสิงโตยกท่อนซุงได้กบจะให้กินตัวเอง สิงโตพยายามแต่ไม่สำเร็จ กบฉลาดมุดเข้าไปอยู่ในหลุมตื้นใต้ซุง สิงโตเชื่อว่ากบยกซุงได้จึงไม่กินและยอมให้กบนั่งบนหลังของมัน เมื่อเดินทางไปถึงบึงน้ำสิงโตอยากกินกบแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงท้ากบว่าถ้าใครว่ายไปถึงอีกฝั่งก่อนจะชนะ ถ้าสิงโตชนะกบจะถูกกิน ปรากฏว่ากบชนะเพราะกบอาศัยอยู่ในน้ำ สิงโตจึงยอมรับในความฉลาดของกบและยอมให้ขี่หลัง ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนกัน (หน้า 105,106) เรื่องผู้ชายและกับดักจับปลา ชายคนหนึ่งทำกับดักจับปลาอันใหม่ด้วยไม้ไผ่สานให้เป็นทรงกระบอกยาว 2 ฟุต ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังโม่ข้าวอยู่ไม่ไกล ชายคนนี้นำกับดักใหม่ไปใช้แต่ล้วงอย่างไร มือก็ไปไม่ถึงสุดกับดัก ผู้หญิงที่โม่ข้าวเห็นก็หาทางช่วย ขณะเดียวกันมีไก่มากินข้าวของเธอ เธอจึงพูดกับไก่ว่า ถ้าอยากกินอีกต้องไม่โง่เหมือนผู้ชายที่ทำกับดักปลายาวแต่ไม่มีปัญญาเอื้อมให้ถึงสุดกับดัก เมื่อผู้ชายได้ยินก็โกรธ จึงเลื่อนกับดักไว้ใต้แขนข้างหนึ่งทำทีเหมือนว่ารู้ว่าตนทำได้ (หน้า 106) เรื่องผู้ชายที่แขนติดหน้าต่าง ชายคนหนึ่งไปงานเลี้ยงแต่งงาน เขาหาที่นั่งใกล้หน้าต่างแคบๆ แล้วเอนพิงหน้าต่างโดยวางข้อศอกไว้ ขณะที่คนอื่นทานอาหารกัน ชายคนนี้ก็ขยับแขนไม้ได้ เพื่อนๆ มาเรียกชายคนนี้ก็ปฎิเสธ และไม่ยอมขอความช่วยเหลือเพราะอาย เขาติดอยู่ 7-8 ชั่วโมงจนกระทั่งเห็นฝูงควายกลับมาจากกินหญ้า ชายคนนี้จึงเกิดความคิดเมื่อเห็นว่าควายสามารถผ่านรั้วแคบๆ ได้โดยใช้เขาทั้งสองของมัน เมื่อเห็นดังนั้นเขาจึงใช้มืออีกข้างที่ว่างอยู่ย้ายแขนที่ติดออกไปจากหน้าต่างได้ (หน้า 107) เรื่องยายกับหมี ยายคนหนึ่งมีสวนผลไม้ วันหนึ่งยายเข้าสวนไปเก็บกล้วยสุกเครือใหญ่สองเครือ แต่แบกไม่ไหวยายจึงทำคานไม้แล้วห้อยเครือกล้วยไว้ทั้งสองด้านของคานเอาพาดบ่า ขณะเดินกลับมีหมีตัวหนึ่งอาสาจะแบกให้ ยายจึงให้หมีแบก แต่หมีแอบกินกล้วยของยาย เมื่อถึงบ้านยายจะเอากล้วยให้หลานๆ กินแต่ก็มีไม่พอเพราะหมีกินไปเยอะ ยายจึงโมโหและไม่เชื่อใครอีก (หน้า 108) ตำนานพระราชา Aygok พระราชา Aygok เป็นผู้ฉลาด วันหนึ่งได้คิดค้นอักษรภาษาโส้ แล้วบันทึกไว้ในหนังควาย พระองค์ตั้งใจจะสอนคนให้อ่านและเขียนภาษาโส้ ได้ แต่ก่อนที่จะได้ลงมือ ก็เกิดสงครามกับอาณาจักรเพื่อนบ้าน พระองค์เข้ารบและสิ้นพระชนม์ลง ขณะนั้นสุนัขตัวหนึ่งเข้าไปในวังและกินหนังความนั้นเสีย ทำให้อักษรภาษาโส้ถูกทำลาย (หน้า 108)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่ได้ระบุ

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามที่เข้ามาอยู่ในระยะสั้นๆ ในหมู่บ้านกุสุมาลย์ และการสร้างทางหลวงเชื่อมแผ่นดินอีสานกับกรุงเทพ ในช่วงนั้นเริ่มระบบการค้าแบบใช้เงินตรา รัฐบาลมีนโยบายกลืนกลุ่มโส้ให้รวมเข้ากับคนไทย ตลาดมีจำนวนมากขึ้น ทักษะการสานตะกร้าและการทอผ้าของคนในหมู่บ้านลดลง ชาวบ้านหันไปซื้อสินค้าพร้อมใช้ คนรุ่นใหม่ที่เรียนโรงเรียนไทยหมดความสนใจในศาสนา พิธีกรรมต่างๆ ลดลง (หน้า 109)

Map/Illustration

รูปที่ 1-19 ภาพตระกร้าสานและเครื่องมือสานไม้ไผ่ รูปที่ 20-23 ภาพเครื่องดนตรีของ โส้

Text Analyst กฤษฎาภรณ์ อินทรวิเชียร Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG โส้ โซร ซี, วิถีชีวิต, ตำนาน, ครอบครัว, สกลนคร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง