สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject พวน,ไทพวน,การตั้งถิ่นฐาน,เศรษฐกิจสังคม,การปรับตัว,ลพบุรี
Author Smuckarn, Snit and Breazeale, Kannon
Title Culture in Search of Survival The Phuan of Thailand and Laos
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ไทยพวน ไทพวน คนพวน, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 262 Year 2531
Source Yale University Southeast Asia Studies New Haven, Connecticut
Abstract

การศึกษานี้เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของพวนในที่ราบภาคกลางของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจการเมืองเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายประชากร การตั้งถิ่นฐานของพวนในพื้นที่ต่าง ๆ ของไทย และการปรับตัวของพวนให้เข้ากับเศรษฐกิจและสังคมไทย ในการศึกษาผู้เขียนใช้ข้อมูลจากเอกสารเพื่อจะได้เข้าใจประวัติศาสตร์ของพวน และเก็บข้อมูลภาคสนามที่อำเภอบ้านหมี่ เพื่อเข้าใจสภาวะสังคมและวัฒนธรรมของพวนในปัจจุบัน ส่วนแนวคิดในการศึกษาใช้แนวคิดการผสมกลมกลืนมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ผลการศึกษาผู้เขียนสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจแบบยังชีพมาเป็นเศรษฐกิจแบบเงินตราทำให้พวนต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงชีพ เปลี่ยนจากการปลูกข้าวเพื่อยังชีพมาเป็นการปลูกเพื่อการค้า เปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและมีหนี้สินจากการปลูกข้าวมากขึ้น พวนเปลี่ยนอาชีพไปทำงานอื่นที่มีรายได้เลี้ยงชีพมากกว่าการปลูกข้าว และขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ได้ทำให้พวนหันมาให้ความสนใจกับการรักษาวัฒนธรรมของตนเองมากยิ่งขึ้น

Focus

ศึกษาองค์ประกอบทางการเมืองที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายประชากร การตั้งถิ่นฐานใหม่ของพวนในพื้นที่ต่างๆ ของไทย และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยของพวนในช่วงอายุ 5-6 รุ่น การศึกษานี้พยายามเน้นความแตกต่างระหว่างคนพวนกับคนไทยและลาว โดยอธิบายขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของพวน รวมทั้งพยายามอธิบายว่าทำไมวัฒนธรรมของพวนจึงยังคงอยู่รอดมาเป็นเวลานานในที่ราบภาคกลางของไทย (น.8)

Theoretical Issues

การศึกษาชิ้นนี้มีแนวทางการศึกษา 2 ส่วน ส่วนแรก ตั้งแต่บทที่ 1 ถึงบทที่ 8 เป็นการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ อธิบายความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัฐไทย ลาว และเวียดนาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อรัฐพวนที่ตั้งอยู่ในดินแดนระหว่างลาวกับเวียดนาม โดยเฉพาะนโยบายของรัฐไทยที่อพยพพวนออกจากบ้านเกิดเพื่อป้องกันมิให้พวนสามารถสนับสนุนช่วยเหลือลาว และส่วนที่สอง เป็นการศึกษาวัฒนธรรมพวนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย ผู้เขียนพยายามอธิบายวัฒนธรรมพวนที่ยังคงอยู่รอดในสังคมไทยโดยใช้แนวความคิดเรื่องการผสมกลมกลืน (assimilation) และได้นำวิธีการศึกษาของ John Hickman มาใช้ ซึ่งในการศึกษาการเปลี่ยนแปลง Hickman มีสมมุติฐานว่า แบบแผนพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ภายในขอบเขตอันจำกัดของสังคมหมู่บ้าน จะเปลี่ยนไปเป็นพฤติกรรมแบบตะวันตกในระหว่างกระบวนการแห่งการผสมกลมกลืน (the process of assimilation) และเขาก็มองว่าการเลื่อนฐานะทางสังคม (social mobility) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผสมกลมกลืน เขาได้สร้างเครื่องมือสำหรับวัดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต (life-style) ท่ามกลางการเลื่อนฐานะ (the mobile) โดยสร้างเกณฑ์จำแนกของตัวแปรต่าง ๆ ที่แยกความแตกต่างคนแต่ละคน (น.195) สำหรับการศึกษาพวนชิ้นนี้ ผู้เขียนได้ใช้ตัวแปรที่สะท้อนระดับการข้องเกี่ยวกับสังคมที่กว้างกว่าสังคมหมู่บ้าน โดยตัวแปรแต่ละตัวจะมีเกณฑ์ (categories) สำรวจการเปลี่ยนแปลงแบบแผนความคิดและพฤติกรรมของพวนไปสู่ความคิดและพฤติกรรมสมัยใหม่แบบเมือง เกณฑ์เหล่านี้จะช่วยกำหนดแบบแผนและอัตราการเลื่อนฐานะในหมู่บ้านที่ศึกษาทั้งสองแห่ง รวมทั้งเปรียบเทียบระดับการผสมกลมกลืนด้วย ตัวแปรเหล่านั้นได้แก่ ตัวแปรที่ 1 ความเป็นอิสระจากคำอธิบายแบบจารีตเดิมเกี่ยวกับความสำเร็จ ชาวบ้านมองคนที่ร่ำรวยและมีอำนาจว่าเป็นผลมาจาก 1) การสะสมบุญในอดีตชาติ 2) ส่วนหนึ่งจากผลบุญที่สะสมในอดีตและอีกส่วนหนึ่งจากการทำงานหนัก และ 3) การทำงานหนักและวางแผนอย่างรอบคอบ ตัวแปรที่ 2 การศึกษาของเด็ก ๆ ชาวบ้านคิดอย่างไร 1) ไม่สนใจให้การศึกษา 2) ให้เด็กเรียนหนังสือ แต่ยังต้องการให้พวกเขายังคงอยู่ในหมู่บ้าน 3) ต้องการให้เด็ก ๆ มีการศึกษาสูง โดยให้เด็กผู้ชายออกไปนอกหมู่บ้าน ส่วนเด็กผู้หญิงยังคงอยู่ในหมู่บ้าน และ 4) ต้องการให้เด็ก ๆ ทั้งหญิงและชายมีการศึกษาสูง มีงานดี แม้ว่าพวกเขาจะต้องละทิ้งหมู่บ้านก็ตาม ตัวแปรที่ 3 ก. ประสบการณ์นอกชุมชนหมู่บ้าน 1)ไม่เคยเดินทางออกนอกอำเภอ 2) เดินทางออกนอกอำเภอในบางโอกาส 3) เดินทางออกนอกอำเภอบ่อยเพื่อติดต่อธุรกิจหรือเที่ยว และ 4) เดินทางออกนอกอำเภอบ่อยมาก - ตัวแปรที่ 3 ข. ระดับการเปิดรับสื่อ (หนังสือพิมพ์ระดับชาติ) - ตัวแปรที่ 3 ค. การข้องเกี่ยวติดต่อนอกเหนือระดับหมู่บ้าน ตัวแปรที่ 4. ความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยราชการ 1)ไม่สามารถพูด อ่าน หรือเขียนภาษาไทย 2) พูดภาษาไทยได้ แต่ไม่สามารถอ่านหรือเขียน 3) พูด อ่านและเขียนภาษาไทยได้ และ 4) พูด อ่านและเขียนภาษาไทยได้ดี ตัวแปรที่ 5. ความสนใจทางการเมือง 1) ไม่สนใจการเมืองและไม่เข้าไปมีส่วนร่วม 2) สนใจการเมืองบ้าง แต่ไม่เข้าไปมีส่วนร่วม และ 3) สนใจการเมืองบ้าง และเข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง ตัวแปรที่ 6 ทักษะความรู้ด้านอาชีพ 1) ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว 2) ปลูกข้าวและพืชอื่นๆ หรือทำสวน หรือเลี้ยงสัตว์ และ 3) ต้องออกนอกหมู่บ้านเพื่อใช้ทักษะความรู้ด้านอาชีพ (ช่างไม้ ครู ค้าขาย รับราชการ) (น.195-208)

Ethnic Group in the Focus

คนพวนในที่ราบภาคกลางของไทยโดยเฉพาะบริเวณบ้านหมี่

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

เก็บข้อมูลภาคสนามที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 (น.8) และเน้นการศึกษาที่บ้านเสา (Ban Sao) กับบางกะพี (Bang Kaphi) (น.131)

History of the Group and Community

ก่อนอพยพเข้ามาในไทย พวนได้ตั้งถิ่นฐานมีฐานะเป็นรัฐอิสระอยู่ติดกับเวียดนาม โดยมีภูเขากั้นระหว่างที่ราบอันเป็นที่ตั้งเมืองทั้งสอง รัฐพวนประกอบด้วยเมืองเล็ก ๆ หลายเมือง มีเจ้าเมืองเชียงขวางเป็นผู้ปกครอง พวนถือว่าตนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษไท (น.3) พวนอพยพเข้ามาในไทยเนื่องจากความขัดแย้งและสงครามระหว่างรัฐไทย ลาว และเวียดนาม ราชสำนักไทยเห็นว่าจากสถานที่ตั้งของรัฐพวน ทำให้รัฐพวนเป็นแหล่งสนับสนุนเสบียงอาหารให้กับกองทัพฝ่ายตรงข้ามของไทย เพื่อป้องกันความช่วยเหลือดังกล่าว จึงจำเป็นต้องกวาดต้อนผู้คนพวนออกจากถิ่นที่อยู่เดิมให้หมด การกวาดต้อนได้เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2377 (1834) ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 (น.23-24) หลังการอพยพในปี พ.ศ.2419 (1876) คนพวนก็ได้เริ่มเข้ามาตั้งบ้านเรือนตามลำน้ำที่บ้านเสาในบริเวณทางเหนือของลพบุรีเป็นแห่งแรก และประมาณปี พ.ศ.2426 (1883) ชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางการบริหารเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อเปลี่ยนศตวรรษใหม่ก็กลายเป็นที่ทำการอำเภอสนามแจ้งซึ่งเป็นอำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่ต่อมาก็ได้ย้ายที่ทำการอำเภอไปตามตำบลต่าง ๆ หลายแห่ง และสุดท้ายก็ย้ายกลับมาตั้งที่ทำการอำเภอในตลาดแห่งใหม่ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ทำการเดิมแห่งแรก และในปี พ.ศ.2454 (1916) ชื่ออำเภอได้เปลี่ยนมาเป็น "บ้านเสา" ตามชื่อที่ตั้งที่ทำการอำเภอเดิม และเมื่อปี พ.ศ.2482 (1939) ก็เปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งหนึ่งเป็น "บ้านหมี่" ซึ่งคำว่า "หมี่" มาจากชื่อที่ใช้เรียกผ้าทอพื้นเมืองของพวนที่ใช้ไหมและฝ้ายทอผสมกันอันเป็นลักษณะเฉพาะของคนพวนที่นี่ (น.133)

Settlement Pattern

ผู้เขียนกล่าวถึงลักษณะบ้านของพวนในที่ราบภาคกลางของไทยว่า โครงสร้างบ้านของพวนแตกต่างจากบ้านเรือนไทยเพียงเล็กน้อย โดยทั่วไปเรือนส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ หลังคาเป็นไม้แผ่นเล็ก ๆ หรือสังกะสี ถ้าเป็นคนจนเรือนจะเป็นไม้ไผ่หลังคามุงด้วยใบหญ้า ตัวเรือนยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ส่วนมากแล้วพื้นที่หลักของเรือนอาจจะยกพื้นสูงกว่าส่วนอื่น ๆ โดยแบ่งเป็นห้อง ๆ และเหลือพื้นที่โล่งไว้ส่วนหนึ่งเป็นระเบียง หรือลักษณะเรือนอาจจะเป็นตัวเรือน 2 หลังหรือมากกว่าสองหลังหันหน้าชนกันมีนอกชานแล่นกลางเชื่อมตัวระหว่างเรือนทั้งสอง สำหรับบริเวณที่ใช้ทำครัวจะเป็นห้องโล่ง ส่วนใต้ถุนเรือนใช้เป็นคอกสัตว์ และใกล้กับตัวเรือนจะมียุ้งสำหรับเก็บข้าวเปลือกต่างหาก (น.148)

Demography

ผู้เขียนกล่าวถึงข้อมูลประชากรภาคสนามที่อำเภอบ้านหมี่ว่า เป็นพวนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นคนไทย ลาวและคนจีน โดยคนไทยจะอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ แม่น้ำ Bang Kam ขณะที่คนลาวจะตั้งบ้านเรือนกระจาย ส่วนคนจีนซึ่งเป็นคนรุ่นที่สองจะอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ ตลาดและศูนย์การค้าของบ้านหมี่ (น.134) สำหรับประชากรบ้านเสาและบ้านบางกะพีที่ถูกสัมภาษณ์ส่วนใหญ่เป็นเพศชายทั้งสองหมู่บ้าน คือ บ้านเสา 72.8% และบ้านบางกะพี 68.8% โดยส่วนที่เหลือเป็นเพศหญิง ทั้งสองหมู่บ้านมีโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานโดยมีความแตกต่างกันเล็กน้อยคือ ประชากรที่บ้านเสาส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 46-60 ปี จำนวน 53.3% รองลงมาอายุระหว่าง 26-45 ปี จำนวน 29.4% ขณะที่บ้านบางกะพีประชากรส่วนใหญ่อายุระหว่าง 26-45 ปี จำนวน 57.9% รองลงมาอายุระหว่าง 46-60 ปี จำนวน 21.3% ส่วนประชากรอายุตั้งแต่ 25 ปีลงมา ทั้งสองหมู่บ้านมีน้อยที่สุดเหมือนกันคือ บ้านเสา 1.1% บ้านบางกะพี 3.5% ประชากรของหมู่บ้านทั้งสอง 80% ขึ้นไปมีสถานภาพสมรส คนโสดในบ้านเสามีอัตราน้อยกว่าบ้านกะพี คือ 2.2% ขณะที่บ้านบางกะพีมี 4.5% ส่วนการหย่าร้างและแยกกันอยู่ทั้งสองหมู่บ้านมีอัตราใกล้เคียงกัน คือ 2.2% และ 1.1% ในบ้านเสา ส่วนบ้านบางกะพี 2.0% และ 1.0% การแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ในบ้านเสามีอัตราสูงกว่าบ้านบางกะพีมากคือ แต่งงานกับคนไทย 26.1% และแต่งกับคนลาว 7.6% ขณะที่บ้านบางกะพีแต่งกับคนไทยเพียง 7.9% และคนลาว 5.9% ส่วนการแต่งกับคนจีนมีเฉพาะในบ้านบางกะพี 0.5% ในด้านการศึกษาอัตราคนไม่รู้หนังสือในหมู่บ้านทั้งสองแห่งใกล้เคียงกัน คือ 9.8% และ 10.4% จำนวนประชากรของทั้งสองหมู่บ้านส่วนใหญ่จบประถมศึกษาปีที่ 4 คือ บ้านเสา 51.1% และบ้านบางกะพี 57.4% แต่อัตราคนที่จบการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษาปีที่ 4 ในบ้านเสามีมากกว่าบ้านบางกะพี คือ 21.7% ส่วนบ้านบางกะพีมีเพียง 6% และในด้านการประกอบอาชีพของหมู่บ้านทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกันดังนี้ บ้านเสาปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว 34.8% ปลูกข้าวร่วมกับพืชอื่น 14.0% ค้าขาย 23.9% รับราชการ 5.4% แรงงานฝีมือ 3.3% แรงงานทั่วไป 10.9% ขณะที่บ้านบางกะพีมีผู้ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวแค่ 16.3% ปลูกข้าวและพืชอื่น ๆ สูงถึง 55.0% ค้าขาย 10.9% รับราชการ 2.5% แรงงานฝีมือและแรงงานทั่วไปรวมกันได้เพียง 5%

Economy

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ : ในบทนำอธิบายสภาพการติดต่อค้าขายทั่วไปของรัฐพวนว่า การติดต่อค้าขายกับคนภายนอกจะทำได้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน เนื่องจากระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นฤดูมรสุมการเดินทางลำบาก การแลกเปลี่ยนสินค้าทำให้พวนมีของใช้จำเป็นที่พวกเขาต้องการจากโลกภายนอก สินค้าที่พวนนำมาแลกเปลี่ยน ได้แก่ งาช้าง ทอง cinnmon, gum benjamin, cardamoms และ สมุนไพรหายาก ผ้าไหม ขี้ผึ้ง ยาสูบ และอื่น ๆ เกลือเป็นสินค้าจำเป็นที่พวนต้องซื้อจากภายนอก จากชายฝั่งอันนำและหลวงพระบาง เพราะรัฐพวนไม่มีแหล่งเกลือ (น.4-5) ในบทที่ 12 ผู้เขียนกล่าวถึงลักษณะเศรษฐกิจของพวนในช่วงแรก ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่ราบภาคกลางว่า ลักษณะเศรษฐกิจไม่มีความแตกต่างจากท้องถิ่นเดิมของพวกเขา การค้าขายแลกเปลี่ยนภายในท้องถิ่นและระหว่างท้องถิ่นในราชอาณาจักรไทยส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน (barter) เงินตราในรูปเงินเหรียญยังหายากอยู่ พืชผลผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก ๆ อย่างเช่น ข้าว จะแลกเปลี่ยนกันในระยะทางสั้น ๆ เท่านั้น ตลาดที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าเป็นพื้นที่โล่ง โดยจะเริ่มทำการแลกเปลี่ยนกันก่อนตะวันขึ้นแล้วเลิกในตอนสาย ๆ ในระยะนี้สภาพหมู่บ้านกับตัวเมืองไม่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากเศรษฐกิจพื้นฐานในชนบทเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ ในเมืองยังไม่มีถนนและร้านค้าเกิดขึ้น ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานเพื่อขยายการค้านอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนแบบเดิม (barter) จึงได้เกิดเมืองที่เป็นปรากฏการณ์แบบเมืองขึ้น (an urban phenomenon) (น.179) ต่อมาประมาณกลางคริสตศตวรรษที่ 19 ลักษณะสภาพเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนไป ความเจริญเติบโตทางการค้าในช่องแคบมะละกาและฮ่องกง รวมทั้งการขนส่งที่มีอันตรายลดลง ทำให้ข้าวจากเมืองไทยสามารถส่งไปยังจีนและยุโรปได้ง่ายขึ้น เมื่อไทยมีพื้นฐานการค้าดีสะดวกขึ้นและมีการตั้งหอการค้า (rice-trading towers) มั่นคงแล้ว รวมทั้งรายได้จากการค้าที่ต่อเนื่องแน่นอนก็ได้ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจเงินตราขึ้น ชาวบ้านต้องการเงินสดเพื่อใช้จ่ายมากขึ้น พวกเขาได้ดึงดูดพ่อค้าชาวจีนจากกรุงเทพฯ และนอกประเทศให้เข้ามาสร้างอาคารร้านค้าถาวรขายสินค้าต่างๆ และเป็นพ่อค้าคนกลางขายข้าวเปลือกให้แก่พ่อค้าข้าวในกรุงเทพฯ หลังจากกลางคริสตศตวรรษที่ 19 เมืองต่างจังหวัดแบบใหม่จึงปรากฏขึ้น เมื่อเศรษฐกิจแบบเงินตราเริ่มนำการค้าแบบเมืองเข้ามายังหมู่บ้านสำคัญ ๆ ที่ชนชั้นผู้ดี/ขุนนางต่างจังหวัดอาศัยอยู่ (น.179-180) ผู้เขียนเห็นว่า การค้าข้าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย ชาวบ้านต้องพึ่งพาข้าวในการเลี้ยงชีพมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจแบบเงินตราทำให้รัฐหันมาใช้ระบบการเก็บภาษีที่ง่ายกว่าโดยการเรียกเก็บเป็นเงินตรา รัฐได้ยกเลิกระบบการเก็บภาษีแบบเก่า อันได้แก่ การเก็บภาษีของป่า การขุดแร่และการตัดไม้ แล้วใช้ระบบภาษีรายได้ ในช่วงต้นครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 เมื่อการค้าข้าวและเศรษฐกิจแบบเงินสด (the cash economy) ขยายตัว ระบบการจัดเก็บภาษีแบบเดิมก็เริ่มลดลง และกลางทศวรรษ 1890 ก็ยกเลิกระบบภาษีแบบเดิมหมด ใช้ระบบภาษีแบบใหม่และเก็บภาษีบุคคลเป็นเงินสดแทน (น.180) ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ยังทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวเพื่อการค้าแทนการปลูกเพื่อยังชีพ ซึ่งทำให้เกิดการกู้เงินเป็นหนี้ในหมู่ชาวบ้าน ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการเงินเพื่อนำไปลงทุนในการปลูกข้าวเพื่อการค้า เมื่อชาวนาเผชิญกับปัญหาเงินกู้ยืม ที่ดินของเขาซึ่งเพิ่งมีมูลค่าทางการค้าสำหรับพวกเขาในช่วง 2-3 ชั่วอายุคนที่ผ่านมา จึงเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่ใช้ประกันการกู้ยืม และชาวบ้านก็ได้สูญเสียที่ดินไปเนื่องจากหนี้สินและอัตราดอกเบี้ยที่สูง (น.183) ระบบเศรษฐกิจชุมชนในอำเภอบ้านหมี่ ข้าวเป็นพืชที่ปลูกได้ดี เนื่องจากดินในบริเวณนี้เป็นดินดำเหนียว แต่ก็มีพืชอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกได้ดีในบริเวณนี้คือ ปอกระเจา (kenaf) ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงเกษตรให้เป็นพืชเศรษฐกิจตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ขณะเดียวกันในบริเวณที่มีน้ำชลประทานก็สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น ข้าวโพด ฝ้าย และไม้ผล เช่น น้อยหน่า มะม่วง มะละกอ ได้ (น.135) ในด้านการค้าแลกเปลี่ยน บ้านหมี่มีตลาดสองแห่ง คือ ตลาดเสริมศักดิ์ซึ่งตั้งขึ้นเป็นตลาดแห่งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และตลาดบุญเจริญที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1950 ตลาดบุญเจริญมีขนาดใหญ่กว่าตลาดเสริมศักดิ์และดึงดูดแม่ค้าพ่อค้ามากกว่ารวมทั้งมีสินค้ามากว่าด้วย (น.138) และก่อนที่ตลาดจะพัฒนา พวนทำการแลกเปลี่ยนผลผลิตส่วนเกินโดยตรงกับหมู่บ้านอื่นที่อยู่ไม่ไกลนัก เรียกกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนี้ว่า "แลกข้าว" เพราะมีข้าวเป็นสินค้าหลักในการแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนจะทำในช่วงฤดูแล้งเพราะเป็นช่วงที่มีความต้องการแรงงานในไร่นาน้อย พวนจะนำผลผลิตของตนไปแลกเปลี่ยนกับเนื้อแห้ง ของป่า และอาหารต่าง ๆ ที่ผลิตได้ในหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณที่สูงหรือภูเขา ซึ่งดินในบริเวณนั้นเหมาะสำหรับปลูกพริก ถั่วลิสงและฝ้าย ต่อมาเมื่อเป็นระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนเงินตรา ข้าวที่เป็นผลผลิตส่วนเกินก็ถูกขายโดยตรงให้กับพ่อค้าคนกลาง แต่กิจกรรมการ "แลกข้าว" ก็ยังคงอยู่ แม้ว่าจะไม่มีข้าวรวมอยู่ในรายการของที่ใช้แลกเปลี่ยนก็ตาม (น.135)

Social Organization

การแต่งงาน สาวพวนจะแต่งงานในช่วงอายุ 17-20 ปี ขณะที่หนุ่มพวนจะแต่งงานในช่วงอายุ 21-25 ปี และนิยมบวชก่อนแต่งงาน แต่ในพวนที่มีการศึกษาช่วงอายุการแต่งงานจะเลื่อนออกไป และคนโสดที่อายุ 30 ปีขึ้นไปในหมู่พวนก็มีจำนวนน้อยมาก ในการเลือกคู่ พ่อแม่ก็ปรารถนาให้ลูกของตนแต่งงานกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเท่าเทียมกับตนหรือสูงกว่า ขณะที่ลูกชายมักจะต้องการแต่งงานกับผู้หญิงสวย ซึ่งความสวยในทัศนะของหนุ่มพวนคือ ผู้หญิงที่มีผมตรง ตากลมโต หน้าอกกลางๆ สะโพกกลม ขาตรง ท้วมเล็กน้อยเพราะเป็นเครื่องหมายแสดงการมีสุขภาพดีและศักยภาพการเป็นมารดาที่ดี ส่วนผู้หญิงผอมไม่ดึงดูดใจหนุ่ม ๆ การสู่ขอ ถ้าครอบครัวทั้งสองฝ่ายมีฐานะเท่าเทียมกัน พ่อของฝ่ายชายจะไปเจรจากับพ่อแม่ฝ่ายหญิงโดยตรง แต่ถ้าฝ่ายหญิงมีฐานะสูงกว่า พ่อแม่ของฝ่ายชายก็จะหาตัวแทนจากหมู่ญาติซึ่งมักเป็นผู้อาวุโสเป็นตัวแทนเจรจากับพ่อแม่ฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายหญิงตกลง ฝ่ายชายจะต้องจ่ายค่าสินสอดเป็นเงินจำนวนตามแต่จะตกลงกัน รวมทั้งของหมั้น เช่น สร้อยคอทองคำหรือเครื่องประดับเพชรพลอย ซึ่งสินสอดจะให้แก่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นค่าเลี้ยงดู ส่วนของหมั้นถือเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าสาว หลังการแต่งงานในปีแรกคู่แต่งงานใหม่จะอาศัยอยู่พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว (น.159-161) ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา พวนถือกันว่าสามีควรจะเป็นใหญ่เหนือภรรยา ภรรยาต้องปฏิบัติต่อสามีเหมือนดั่งพี่ชายมากกว่าหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน ภรรยาเปรียบเหมือนกับน้องสาวที่ต้องเคารพเชื่อฟังพี่ชาย และสามีจะต้องปกป้องภรรยาและเลี้ยงดูครอบครัว พวนมีข้อห้ามในการแต่งงานสองประการ คือ ห้ามแต่งงานกับญาติผู้พี่ ซึ่งเรียกว่า "pin" เพราะจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่แต่งงานผิดแบบแผนการลำดับญาติ การแต่งงานลักษณะนี้จะนำโชคร้ายความเจ็บป่วยและตายก่อนแก่มาให้ (น.161) ข้อห้ามอีกประการหนึ่งคือ การแต่งงานข้ามลำดับกัน เช่น พี่แต่งกับน้องและน้องก็แต่งกับพี่ ซึ่งเรียกว่า "tao" การข้ามลำดับเช่นนี้ถือว่าผิดระเบียบธรรมชาติ ทั้งยังทำให้เกิดปัญหาการเรียกขานลำดับญาติกันด้วย ดังนั้น พี่จึงควรคู่กับพี่ และน้องคู่กับน้อง (น.163)

Political Organization

ผู้เขียนกล่าวถึงแบบแผนการปกครองของรัฐพวนในอดีตว่า มีลักษณะเดียวกับเมืองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขง แต่ละเมืองจะมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองสูงสุด โดยมีผู้ช่วยเจ้าเมือง เจ้าราชวงศ์และเจ้าราชบุตรซึ่งเป็นเชื้อสายในตระกูลเจ้านาย มีอำนาจรองลงมาตามลำดับ และก็มีคณะกรมการเมืองเป็นที่ปรึกษา แม้แต่ละเมืองจะมีอิสระในการปกครองแต่ก็ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าเมืองเชียงขวาง เนื่องจากถือว่าเจ้าเมืองเชียงขวางมีสถานภาพสูงกว่าเมืองอื่น ๆ (น.4) ในบทที่ 9 ผู้เขียนกล่าวว่า รูปแบบการบริหารการปกครองแบบปัจจุบันได้เข้ามาแทนที่การบริหารรูปแบบเดิมเมื่อคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งการบริหารแบบเดิมจะอยู่ภายใต้ครอบครัวคนในท้องถิ่นไม่กี่ครอบครัว แต่ปัจจุบันการบริหารโดยคนท้องถิ่นจะถูกจำกัดให้อยู่ในงานด้านสาธารณูปโภค การดูแลเมืองให้สวยงามและความสะอาดในตลาด และเจ้าหน้าที่เทศบาลมีสำนักงานของตนเอง ส่วนงานอื่นๆเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในกระทรวงต่าง ๆ ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงลักษณะการบริหารการปกครองบ้านหมี่โดยตรง แต่ก็กล่าวถึงบริการด้านต่างที่เป็นของรัฐ ในบ้านหมี่ ได้แก่ สำนักงานไฟฟ้าจังหวัด ที่ทำการไปรษณีย์และโทรเลข สำนักงานประปา ธนาคารออมสิน และสำนักงานชลประทาน โรงพยาบาล โรงเรียน (น.136)

Belief System

ศาสนาพุทธ พวนนับถือศาสนาพุทธ ทุกบ้านจะมีที่เฉพาะสำหรับตั้งพระพระพุทธรูป พร้อมทั้งจัดอาหาร น้ำ ดอกไม้ ตั้งไว้หน้าพระพุทธรูปทุกวัน ซึ่งผู้เขียนอธิบายว่า การกระทำเช่นนี้ไม่ใช่ 'การถวายของบูชา' ('worship' offerings) ในเชิงเทวนิยม เพราะพระพุทธรูปไม่ได้แทนอำนาจเหนือธรรมชาติใด ๆ สิ่งของที่วางไว้หน้าพระพุทธรูปแสดงถึงการตอบแทนและความสุขของครอบครัว พวนเชื่อว่าพระพุทธรูปมีพลังอำนาจปกป้อง ไม่มีอำนาจใดยิ่งใหญ่กว่าอำนาจพระพุทธคุณ ก่อนเข้านอนหัวหน้าครอบครัวจะไหว้พระสวดมนต์ และขอให้คุณพระปกป้องคุ้มครองตนและครอบครัวจากอันตรายหรือสิ่งชั่วร้าย (น.168) พวนเชื่อว่าการปฏิบัติสามอย่างอันได้แก่ การบวชลูกชายเป็นพระ การทำบุญทอดกฐิน และการได้ร่วมสร้างวัดในพุทธศาสนา จะทำให้พวกเขาไปดีเมื่อตาย (น.171-172) ความเชื่อเกี่ยวกับผี พวนเชื่อว่ามีผีร้ายกับผีดี ผีร้ายที่น่ากลัวมากคือ ผีปอบ เพราะเชื่อว่าผีปอบชอบกินอวัยวะภายใน คนที่โดนผีปอบเข้าจะไม่รู้ตัวจนกระทั่งผีปอบได้ทำลายอวัยวะข้างใน หมอผีซึ่งอาจจะเป็นคนเดียวกันกับหมอยาก็จะถูกตามตัวให้มาขับไล่ผีปอบ ส่วนผีดีเป็นผีที่ช่วยรักษาดูแล จะอยู่ทั่วไปและอยู่รอบ ๆ หมู่บ้าน พวนจะสร้างบ้านหลังเล็กๆ ไว้ที่มุมหนึ่งภายในบริเวณบ้านสำหรับผีดีอยู่อาศัย ซึ่งพวนเรียกผีนี้ว่า "เจ้าพ่อ" เป็นผีที่มีอำนาจปกป้องคุ้มครอง และจะต้องถวายอาหาร น้ำและดอกไม้แก่เจ้าพ่อเป็นการตอบแทน (น.173) พิธีกรรม พิธีกรรมสำคัญที่กล่าวถึงในการศึกษานี้ ได้แก่ งานบุญห่อข้าวซึ่งจัดก่อนสิ้นเดือน 9 สองสามวัน เป็นการทำบุญให้กับผี การกำฟ้า จะทำในวันข้างขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ครั้งหนึ่งและวันพระขึ้น 8 ค่ำเดือน 3 อีกครั้งหนึ่ง ในวันกำฟ้านี้ชาวบ้านจะไม่ทำเสียงดังใด ๆ ทุกคนจะรักษาความเงียบตั้งแต่ตะวันขึ้นจนตะวันตกดิน (น.175) พิธีศพ งานศพจะจัดที่วัด ถ้าผู้ตายมีลูกชาย ลูกชายก็จะบวชหน้าศพให้โดยเชื่อว่าวิญญาณผู้ตายจะจับชายจีวรของพระลูกชายไปสวรรค์ แต่ถ้าไม่มีลูกชาย หลานชายหรือญาติผู้ชายก็จะเป็นผู้บวชให้ พวนแบ่งการตายเป็น 3 อย่าง คือ แก่ตาย ตายห่าและตายโหง โดยถือการแก่ตายเป็นการตายดี เพราะตายตามธรรมชาติ ส่วนตายห่าและตายโหงเป็นการตายไม่ดีเพราะตายก่อนวัยแก่ ตายห่าคือการเจ็บป่วยตาย ส่วนตายโหงคือการตายเนื่องจากอุบัติเหตุ พวนจะไม่เผาศพให้กับคนที่ตายห่าและตายโหง แต่จะฝังแทน (น.177-178)

Education and Socialization

ไม่มีรายละเอียดชัดเจน

Health and Medicine

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บของพวนมีพื้นฐานความรู้จากพุทธศาสนาและโลกวิญญาณ หมอรักษาของพวนมี 2 แบบคือ หมอยากับหมอผี หมอยาจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยสมุนไพร ส่วนหมอผีรักษาโรคที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผี เช่น ผีปอบ ด้วยพลังอำนาจพิเศษ (น.172-173)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ผู้เขียนกล่าวถึงหัตถกรรมการทอผ้าของพวนที่บ้านหมี่ไว้เล็กน้อยว่า เมื่อพวนได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนที่บ้านหมี่ ดินที่บ้านหมี่สามารถปลูกฝ้ายได้ดี พวกเขาจึงได้พัฒนาการทอผ้าไหมโดยนำใยฝ้ายมาใช้ทอผ้าผสมกับใยไหมเกิดเป็นผ้าทอลักษณะเฉพาะถิ่น ซึ่งเรียกว่า "หมี่" และผ้าทอนี้ก็ได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวบ้าน แต่ในช่วงทศวรรษ 1970 ก็เหลือเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้นที่ยังทอผ้านี้ นอกจากการทอผ้าแล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงไว้เล็กน้อยว่า ผู้หญิงพวนนิยมไว้ผมยาวและนุ่งซิ่น ซึ่งเหมือนกับผู้หญิงลาว (น.133-134)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

พวนทั้งที่บ้านบางกะพีและบ้านเสาส่วนใหญ่มองตนเองว่า เป็นคนไทกลุ่มหนึ่งที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษตระกูลไท มีเพียงจำนวนน้อย (5.5 %ที่บ้านเสา) มองว่าตนเองเหมือนคนลาว และก็มีจำนวนหนึ่ง (28%) มองว่าคนพวนแตกต่างจากคนไทยและคนลาวซึ่งผู้เขียนกล่าวว่าประสบการณ์การศึกษาและประสบการณ์นอกหมู่บ้าน ได้เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความแตกต่างดังกล่าวในหมู่คนกลุ่มนี้ และการตระหนักรู้ในตัวตน (self-awareness) เพิ่มและลดระดับลงตามกระบวนการการเปลี่ยนแปลงและการผสมกลมกลืน (the process of mobility and assimilation) พวนที่บ้านเสาส่วนมากจะรู้สึกว่าการเรียกพวกเขาว่า "ลาวพวน" แสดงนัยยะความต่ำต้อย พวกเขามองตนเองว่าเป็น "พวน" โดยไม่ต้องอ้างอิงหรือเชื่อมโยงกับไทยหรือลาว ขณะที่พวนบ้านบางกะพียอมรับการเรียกนี้มากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พวนน้อย พวกเขาคิดว่าแผ่นดินพวนโบราณผูกพันใกล้ชิดกับลาว และความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตก็เป็นประว้ติศาสตร์บอกเล่าจากผู้สูงอายุในหมู่บ้านเกือบทั้งหมด โดยทั่วไป คนพวนไม่ลังเลใจที่จะบอกว่าตนเป็นพวน ความภูมิใจในการเป็นพวนมองเห็นได้ในกลุ่มคนที่มีการเลื่อนฐานะทางสังคมสูงขึ้นกว่าเดิม ในทัศนะของผู้เขียน แนวโน้มนี้ไม่สอดคล้องกับการยอมรับการเรียก "ไทย-พวน" (หมายถึงคนพวนในประเทศไทย) พวนจำนวนมากต้องการเรียกร้องให้มาสนใจวัฒนธรรมของพวกเขา เช่น การแสดงหมอลำพวน การออกหนังสือพิมพ์ข่าวสารไทยพวนเพื่อเชื่อมโยงคนพวนในจังหวัดต่างๆ เข้าด้วยกัน และที่สำคัญคือ การที่คนพวนเริ่มพูดภาษาพวนในที่สาธารณะ เพราะถ้าพวกเขาไม่พูดภาษาพวนก็จะไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเป็นพวน แม้แต่ในหมู่คนพวนด้วยกันเอง พวกเขาต้องการให้คนอื่นโดยเฉพาะคนไทยภาคกลางตระหนักถึงฐานะ "คนพวน" ที่เท่าเทียมกับคนกลุ่มใหญ่ (น.223-224)

Social Cultural and Identity Change

ผู้เขียนสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจแบบยังชีพมาสู่เศรษฐกิจการตลาด ทำให้เกิดการเลื่อนฐานะทางสังคม (social mobility) ในชนบทมากขึ้น อัตราการเลื่อนฐานะและการผสมกลมกลืน (mobility and assimilation) ในพวนรุ่นหนุ่มสาวมีสูงกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ เพราะการทำมาหากินแบบเดิมไม่สามารถหารายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพอีกต่อไป (น.227-228) การเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือ ในระบบการเก็บภาษีแบบเดิม กลุ่มคนในหมู่บ้านมีหน้าที่จัดหาสิ่งของที่รัฐต้องการ เช่น ไม้ซุง ทอง ไหม เครื่องเทศ ซึ่งปริมาณสิ่งของที่จัดส่งให้รัฐจะคำนวณจากจำนวนแรงงานในพื้นที่ ระบบภาษีแบบนี้ไม่ใช่ภาษีบุคคล แต่เป็นภาษีของหน่วยทางสังคม (a tax on the social units) ระบบเช่นนี้ทำให้ผู้ชายและผู้หญิงต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลิตหรือจัดหาสิ่งของให้แก่รัฐ รูปแบบของประเพณีการร่วมมือกันทำงานเช่นนี้ คือ ระบบแรงงานไพร่ (the corvee labour system) ซึ่งได้หายไปอย่างรวดเร็วในจังหวัดที่พวนอาศัยอยู่ (น.180) นอกจากนี้ การติดต่อกับวัฒนธรรมเมืองก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านเสาแบบอื่น ๆ ด้วย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำนาแบบดั้งเดิม แรงงานสัตว์ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรยนต์ การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ประเมินคุณภาพดินและใช้ปุ๋ยเคมี (น.183-184)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ 1 : แหลมอินโดจีน (น.VIII) แผนที่ 2: รัฐพวน (น. IX) ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบอายุ การแต่งงาน การศึกษาและอาชีพระหว่างบ้านเสากับบ้านบางกะพี ปี พ.ศ. 2514 (น.145) ตารางที่ 2 แสดงทัศนะของงานในอุดมคติ ปี พ.ศ. 2514(น. 192) ตารางที่ 3 แสดงจำนวนเด็กที่ถูกส่งไปโรงเรียนโดยแยกตามอาชีพของพ่อแม่ ปี พ.ศ.2514 (น.199)

Text Analyst อธิตา สุนทโรทก Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG พวน, ไทพวน, การตั้งถิ่นฐาน, เศรษฐกิจสังคม, การปรับตัว, ลพบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง