สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject อูรักลาโว้ย,ชาวเล,ความเป็นอยู่,การศึกษา,คุณภาพชีวิต,ภูเก็ต
Author ละเอียด กิตติยานันท์
Title สภาพความเป็นอยู่และความต้องการที่เกี่ยวกับการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเล
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity อูรักลาโว้ย อูรักลาโวยจ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเนเชี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 262 Year 2529
Source หลักสูตรปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาสารัตถศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

งานวิจัยชิ้นนี้ ศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของชาวเลในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา การปกครอง การสาธารณสุข ศาสนา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความจำเป็นพื้นฐานและคุณภาพชีวิต รวมไปถึงความต้องการของชาวเลในเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยศึกษาชาวเลหมู่บ้านหาดราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต จำนวน 84 ครอบครัว ผลการวิจัยพบว่า ชาวเลหาดราไวย์มีประชากรทั้งหมด 439 คน มีภาษาพูดเป็นของตนเองแต่ไม่มีภาษาเขียน สร้างบ้านเรือนอยู่อย่างเรียบง่ายบนพื้นที่ของเอกชน ชาวเลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพจับปลาในทะเลมาขาย แต่รายได้มักไม่พอกับรายจ่ายทำให้เป็นหนี้สินกันมาก ชาวเลส่วนใหญ่สมรสตั้งแต่อายุยังน้อยคือประมาณ 14-16 ปี สังคมของชาวเลยกย่องให้ภรรยาเป็นใหญ่ สามีจะประกอบอาชีพอะไรต้องขออนุญาตจากภรรยา ชาวเลส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์และนับถือคำสอนของบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด แต่ประเพณีต่าง ๆ ที่เก่าแก่ของชาวเล ได้รับเอาประเพณีและวิธีการของคนเมืองในบริเวณใกล้เคียงไปใช้ในบางส่วน ขณะเดียวกัน ชาวเลบางส่วนยังนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม แต่ก็เป็นไปอย่างไม่เคร่งครัดมากนัก ส่วนความเป็นอยู่ของชาวเลด้านสุขอนามัยนั้นพบว่า ชาวเลส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรง เพราะมีอาหารทะเลให้บริโภคอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ในชุมชนกลับไม่มีส้วมใช้ โรคที่ชาวเลเป็นกันมากคือโรคผิวหนัง (เกลื้อน) ชาวเลรักษาการเจ็บป่วยโดยซื้อยามากินเอง ชาวเลส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาตามระบบโรงเรียนเพราะความยากจน และไม่ต้องการให้บุตรหลานเข้าโรงเรียนที่เรียนร่วมกับคนพื้นเมือง เพราะไม่ต้องการให้เกิดการดูถูกเหยียดหยาม ชาวเลส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรมตามที่รัฐระบุไว้ เช่น การเลือกตั้ง การเกณฑ์ทหาร ความสนใจด้านการเมืองการปกครองของชาวเลมีอยู่น้อยมาก ชาวเลส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่เข้าเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานในเป้าหมายของปี 2529 เกณฑ์วัดคุณภาพชีวิตของคนไทยเมื่อมาใช้วัดชาวเล ชาวเลส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์นั้น นอกจากนี้ ชาวเลต้องการความรู้เกี่ยวกับหนังสือเพื่อให้สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยชาวเลต้องการระบบการศึกษานอกระบบโรงเรียน โดยให้ผู้รู้ช่วยสอนหรือแนะนำให้ นอกจากนี้ชาวเลยังต้องการความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ ความรู้ในการรักษาพยาบาลและสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ความรู้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนในชุมชนอีกด้วย ชาวเลเห็นว่าปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคือ ความยากจน การไม่รู้หนังสือ การไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง สุขลักษณะอนามัยที่ไม่สะอาด

Focus

ศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของชาวเลในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา การปกครอง การสาธารณสุข ศาสนา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความจำเป็นพื้นฐานและคุณภาพชีวิต รวมไปถึงความต้องการของชาวเลในเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (หน้า ง, 6, 194)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ศึกษาชาวเลหมู่บ้านหาดราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต จำนวน 84 ครอบครัว โดยชาวเลที่หาดราไวย์มี 2 กลุ่มคือ 1. ไทยใหม่ เป็นประชากรที่ผู้วิจัยเลือกศึกษา เดิมคือพวกมอเกล็นและอูรัก ลาโว้ย 2. สิงห์ เดิมอาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะของสหภาพพม่า ปัจจุบันอพยพมาที่หาดราไวย์ได้ 40 กว่าปีแล้ว (หน้า ง, 6-7, 71-72, 78, 194) พวกเขาเรียกตัวเองว่า "ไทยใหม่"

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาของชาวเล จัดอยู่ในตระกูลภาษาสาขามลาโยโปลีนีเซียน (Malayo Polynesian) เป็นภาษาที่เกี่ยวข้องกับภาษามลายูและอินโดนีเซีย ภาษาของชาวเลยังแบ่งออกเป็นภาษาถิ่นย่อยได้หลายถิ่น (Sub-dialect) ชาวเลไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง สื่อความหมายกันผ่านทางภาษาพูดเท่านั้น โดยสำเนียงพูดคล้ายกับภาษามลายูและภาษาอินโดนีเซีย มีศัพท์น้อยคำ คำพูดบางคำก็สร้างขึ้นมาเองและใช้กันในวงแคบ คำเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและอาชีพการงานของพวกเขา ชาวเลส่วนใหญ่พูดภาษาไทยภาคใต้และภาคกลางได้ แต่ไม่นิยมพูดกัน (หน้า 60, 72, 75, 78, 87, 196, 206-208)

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยระบุว่าได้เก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ด้วยตนเองเป็นเวลา 5 เดือน คือในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2527-เมษายน 2528 (หน้า 9)

History of the Group and Community

การศึกษาประวัติความเป็นมาของชาวเลได้รับความสนใจจากนักวิชาการหลายคน ทำให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย แตกต่างไปในรายละเอียด แต่สามารถสรุปความได้ว่าชาวเลไม่ได้เป็นชนพื้นเมืองของเกาะต่างๆ ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย แต่ชาวเลอพยพเร่ร่อนมาจากที่อื่น บ้างก็ว่าอพยพมาจากประเทศอินโดนีเซีย บ้างก็ว่าอพยพลงมาจากลุ่มน้ำแยงซีเกียง การศึกษาประวัติของชาวเลเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะชาวเลไม่มีภาษาเขียนจึงขาดหลักฐานที่สามารถนำมาอ้างอิงได้ (ดูประวัติของชาวเลจากนักวิชาการท่านต่าง ๆ ได้ที่หน้า 54-60) ชาวเลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งได้ 3 กลุ่มย่อย คือ 1. พวกมะละกา (Malacca) สันนิษฐานว่าเดิมอาศัยอยู่แถบช่องแคบมะละกา 2. พวกลิงคา (Lingga) สันนิษฐานว่าเดิมอาศัยอยู่แถบหมู่เกาะลิงคา 3. พวกสิงห์หรือมาซิง อาศัยอยู่แถบเมืองมะริด ทวายและเกาะต่าง ๆ ในเขตประเทศพม่า ส่วนมากยังใช้ชีวิตอยู่ในแบบดั้งเดิม (Primitive) (หน้า 69-70) ส่วนชาวเลที่อาศัยอยู่บริเวณหาดราไวย์ บรรพบุรุษอพยพมาจากหมู่เกาะแถบประเทศมาเลเซีย (หน้า 78)

Settlement Pattern

ชาวเลตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทะเลตามหมู่เกาะต่าง ๆ บริเวณฝั่งทะเลด้านตะวันตกตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศพม่าไปจนถึงจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ตลอดไปจนถึงประเทศมาเลเซีย (หน้า 54) ลักษณะการตั้งถิ่นฐานเป็นแบบกระจุกตัวรวมกัน และสมาคมกันในเฉพาะหมู่บ้านของตนเอง นิยมอยู่รวมกันเป็นกลุ่มย่อยมากกว่าอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ลักษณะบ้านเรือนจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย ใช้วัสดุธรรมชาติเป็นหลัก สร้างรวมกลุ่มกันตามชายหาด การตั้งบ้านเรือนมักไม่ถาวร โดยจะสร้างให้สามารถรื้อหรือโยกย้ายได้สะดวก เพราะต้องอพยพไปหาแหล่งทำกินที่ดีกว่า (หน้า 60-61, 66-68, 75) บ้านของชาวเลที่หมู่บ้านราไวย์แบ่งได้ 3 ลักษณะคือ (1) บ้านแบบถาวร ลักษณะบ้านเหมือนคนในท้องถิ่นทั่วไป วัสดุที่ใช้เป็นแบบถาวรและถูกกำหนดให้ได้สัดส่วนตามห้องที่กำหนดไว้ (2) บ้านแบบกึ่งถาวร มีใต้ถุนสูงประมาณ 1 เมตร นิยมใช้สังกะสีทำเป็นประตูและฝาบ้าน เป็นการสร้างที่ไม่ได้เตรียมแบบไว้ (3) บ้านแบบชั่วคราว ลักษณะของบ้านสร้างติดอยู่กับพื้นดินหรือยกพื้นให้สูงจากดินเพียงเล็กน้อย วัสดุหาง่ายจากบริเวณใกล้เคียง การปลูกสร้างไม่พิถีพิถัน บ้านของชาวเลจะสร้างติดกันจนแทบไม่เหลือบริเวณบ้านโดยรอบ แต่บริเวณบ้านของแต่ละบ้านก็คือใต้ถุนบ้านนั่นเอง โดยใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่นั่งเล่น เก็บของ เลี้ยงสัตว์ (หน้า 83-86, 210-211)

Demography

ชาวเลหมู่บ้านหาดราไวย์มีจำนวนทั้งสิ้น 84 ครอบครัว จำนวนประชากร 439 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) จำนวน 234 คน เป็นผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 15 ปี) จำนวน 205 คน โดยมีประชากรเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (หน้า 88-89, 195, 211-212)

Economy

ชาวเลส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ดำรงชีวิตด้วยการหาปลาและหอยจากทะเลเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังทำงานรับจ้างและหาของทะเลขายอีกด้วย ชาวเลทำมาหากินวันต่อวันไม่สนใจการสะสมทรัพย์หรืออาหาร เมื่ออาหารหมดถึงค่อยออกไปหาอีกครั้งหนึ่ง ชาวเลมีความชำนาญในการจับปลามาก แม้จะไม่ได้ออกเรือหาปลา แค่เพียงมีเหล็กแหลม 1 อันพร้อมกับแห 1 ปาก ก็เพียงพอให้พวกเขาจับสัตว์ทะเลมาเป็นอาหารได้ ดังนั้นพวกเขาจึงมักไม่เก็บหรือถนอมอาหารไว้ (หน้า 67, 73, 75, 126) ชาวเลหมู่บ้านหาดราไวย์ร้อยละ 76.67 เป็นผู้มีงานทำ ร้อยละ 23.33 ว่างงาน ผู้ที่มีงานทำในครอบครัวของชาวเลคือสามีเพียงคนเดียว ส่วนผู้ที่ว่างงานจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาชีพหลักของชาวเลคือการจับปลาในทะเลมาขาย (ร้อยละ 51.67) งมหอย (ร้อยละ 12.78) รับจ้าง (ร้อยละ 9.44) และค้าขาย (ร้อยละ 2.78) เรือที่ใช้จับปลามีทั้งที่เป็นของตนเองและเช่าจากนายทุนที่เป็นบุคคลภายนอก สินค้าของชาวเลจะขายให้กับเจ้าของที่ดินหรือนายทุน บางคนก็นำไปขายเอง บางครั้งก็มีคนมาซื้อโดยตรงจากชาวเลถึงในหมู่บ้าน ซึ่งให้ราคาต่ำกว่าท้องตลาดเป็นอันมาก ชาวเลส่วนใหญ่มีรายได้ 1,001-2,000 บาทต่อเดือน เป็นรายได้ที่ต่ำกว่ารายจ่าย ทำให้ชาวเลส่วนใหญ่เป็นหนี้สินกันมาก โดยสาเหตุที่ทำให้ชาวเลเป็นหนี้สินมากมาจากการกู้เงินเพื่อซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือการจับปลา ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในงานพิธีต่างๆ แต่ชาวเลก็ไม่ต้องการเปลี่ยนไปประกอบอาชีพใหม่ แต่ต้องการให้สมาชิกครอบครัวหารายได้เพิ่ม และต้องการให้ราชการหรือเอกชนส่งเสริมสนับสนุนด้านอาชีพ (หน้า 90-100, 196, 212-217)

Social Organization

โครงสร้างของครอบครัวมีขนาดกลาง ในครอบครัวหนึ่ง ๆ มีพ่อแม่อยู่รวมกัน เมื่อลูกหลานแต่งงานแล้วจะแยกออกไปตั้งบ้านเรือนใกล้ ๆ ภายในหมู่บ้านนั้น ผู้หญิงถือว่าเป็นใหญ่ในครอบครัว เพราะชาวเลเชื่อว่าหากครอบครัวใดมีบุตรหญิงมากก็มีค่าเหมือนทองที่สามารถพึ่งพิงในภายภาคหน้าได้ ผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหนักทั้งออกทะเลเพื่อหาปลาหรือรับจ้างทำงานนอกบ้าน โดยผู้ชายต้องขออนุญาตจากภรรยาเสียก่อนว่าจะอนุญาตให้ไปทำงานตามที่ขอหรือไม่ (หน้า 63-64) ชาวเลหมู่บ้านหาดราไวย์ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสแล้ว (ร้อยละ 80.49) ส่วนใหญ่จะสมรสตั้งแต่อายุยังน้อย คือฝ่ายหญิงเมื่ออายุประมาณ 14-15 ปี ส่วนฝ่ายชายเมื่ออายุได้ 16-17 ปี จำนวนสมาชิกในครอบครัวมีประมาณ 5-6 คน ชาวเลส่วนใหญ่ (ร้อยละ 78.83) พอใจอาศัยอยู่ในชุมชนปัจจุบัน ไม่อยากย้ายไปอยู่ที่อื่น ประเพณีการแต่งงาน หนุ่มสาวชาวเลมีอิสระในการเลือกคู่ครอง ส่วนใหญ่มักแต่งงานในหมู่ชาวเลด้วยกันเอง การแต่งกายของคู่บ่าวสาวนิยมแต่งกายแบบชาวมาเลเซีย พิธีแต่งงานมักจัดในตอนเย็นและฉลองจนสว่าง พิธีเริ่มจากแห่ขันหมากจากบ้านเจ้าบ่าวไปบ้านเจ้าสาว พิธีการต่างๆ จึงมักจัดที่บ้านฝ่ายหญิง มีหมอไสยศาสตร์ทำคาถาเพื่อให้ผู้หญิงรักและหลงไม่นอกใจไปหาชายคนอื่น (หน้า 101-105, 112, 197, 217-219)

Political Organization

ในอดีต "โต๊ะ" หรือหมอไสยศาสตร์มีบทบาทในการปกครองชาวเลเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ได้รับความเชื่อถือจากชาวเลในหลายๆ ด้าน ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีนโยบายการปกครองในระดับท้องถิ่น ทำให้บทบาทของโต๊ะลดลงแทนที่ด้วยสารวัตรกำนัน ชาวเลส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63.20) มีบัตรประจำตัวประชาชน ร้อยละ 72.24 ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยการไปบ้างไม่ไปบ้าง ไม่มีชาวเลคนใดเสียภาษีอากรและเข้าร่วมการคัดเลือกทหาร โดยชาวเลอ้างว่าพระราชชนนีไม่ให้มีการเกณฑ์ทหารในหมู่ชาวเล เพราะชาวเลไม่รู้หนังสือ เจ้าหน้าที่ราชการระบุว่าเหตุที่ชาวเลได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร เพราะบางคนไม่มีบัตรประชาชน และต้องเร่ร่อนทำมาหากิน ไม่รู้หน้าที่ของชายไทย จึงได้รับการยกเว้น มีเจ้าหน้าที่จากราชการเข้าไปตรวจเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอคือ ครูและเจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัย ชาวเลบอกว่าปกติไม่ค่อยมีใครเข้าไปเยี่ยม หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น นอกจากการพานักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเท่านั้น ชาวเลนิยมปรึกษาปัญหากับสารวัตรกำนัน ครู เจ้าหน้าที่อนามัย (หน้า 150-156, 199, 238-240)

Belief System

ไทยดั้งเดิมชาวเลเป็นกลุ่มเร่ร่อน อิทธิพลของศาสนาแผ่ไปไม่ถึง ชาวเลจึงเป็นกลุ่มชนที่มีแค่ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เมื่อชาวเลติดต่อกับคนพื้นเมืองมากขึ้นจึงหันมานับถือศาสนาพุทธและศาสนาอื่นกันมากขึ้น ค่านิยมประจำหมู่พวกคือความซื่อสัตย์ ความสามัคคี ไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบและไม่นิยมการออมทรัพย์ (หน้า 63, 74) ชาวเลมีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเองทั้งประเพณีการเกิด การแต่งงาน และการตาย (หน้า 66) ชาวเลหมู่บ้านหาดราไวย์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 58.33) รองลงมาคือศาสนาคริสต์ (ร้อยละ 23.41) และศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 12.30) การนับถือศาสนาต่าง ๆ เป็นไปอย่างไม่เคร่งครัด บ้างนับถือตามชุมชนใกล้เคียง (พุทธ) หรือเพราะได้รับสวัสดิการจากศาสนานั้น (คริสต์) หรือนับถือตามบรรพบุรุษ (อิสลาม) ชาวเลร้อยละ 5.96 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุไม่นับถือศาสนาอะไรเลย แต่เชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณบรรพบุรุษและไสยศาสตร์ รวมไปถึงคำสั่งสอนของบรรพบุรุษ เช่น ความเชื่อเรื่องการทำเสน่ห์ การป้องกันภัยจากสัตว์ร้ายในทะเล ห้ามออกเรือไปจับปลาในวันขึ้นหรือแรม 1 ค่ำ พิธีงานศพ เมื่อมีคนตายภายในหมู่บ้านชาวเล ทุกครอบครัวจะไปช่วยเหลือที่บ้านผู้ตาย ชาวเลไม่เก็บศพไว้หลายคืน หากมีคนตายระหว่างใกล้ค่ำหรือกลางคืน จะทำพิธีฝังในวันรุ่งขึ้น ถ้าตายตอนเช้าก็จะฝังให้เสร็จสิ้นในวันนั้นๆ เริ่มแรกต้องวางของมีคม เช่น มีดหรือกรรไกร หมากพลู บนหน้าอกของศพ เพื่อไม่ให้วิญญาณผู้ตายถูกรบกวน โดยตลอดของพิธีศพจะมีพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อนความเชื่อทางไสยศาสตร์ได้เป็นอย่างดี หลังจากพิธีศพชาวเลไม่นิยมไว้ทุกข์ ยังคงปฏิบัติตัวตามปกติเช่นเดิม พิธีการทำน้ำมนต์ เป็นพิธีเฉพาะหมู่บ้านหาดราไวย์เท่านั้น ทำกันปีละ 2 ครั้ง ในเดือน 6 และเดือน 11 มีหมอไสยศาสตร์ทำน้ำมนต์ให้ โดยชาวเลจะนำน้ำมนต์นี้ไปอาบและดื่ม เพื่อความเป็นศิริมงคลสำหรับชีวิต ประเพณีบุญเดือน 10 หรือ บุญวันสารท เป็นวันที่ชาวเลทุกครอบครัวทั้งที่มีฐานะดีและยากจนจะออกไปรับทาน ทั้งสิ่งของ เสื้อผ้า และอาหารการกินจากคนพื้นเมือง โดยประเพณีนี้เป็นไปตามคำสั่งสอนของบรรพบุรุษที่สอนให้กตัญญูต่อคนพื้นเมืองที่ให้ผืนแผ่นดินเป็นที่อยู่อาศัย (หน้า 106-118, 197, 220-222)

Education and Socialization

หัวหน้าครอบครัว คือ บิดามารดา ผู้ปกครอง หัวหน้ากลุ่ม เป็นผู้ให้การถ่ายทอดทางวัฒนธรรมรวมไปถึงให้การศึกษาอบรมและสร้างบุคลิกภาพให้แก่สมาชิกในสังคม แม้ปัจจุบันชาวเลจะให้บุตรหลานของตนเข้าไปศึกษาในโรงเรียน แต่ครอบครัวก็มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและคนหนุ่มสาวชาวเลอย่างมาก เรื่องที่ให้สมาชิกเรียนรู้มีทั้งการทำมาหากิน การสร้างที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาลผู้ป่วย ระเบียบประเพณีของกลุ่ม หน้าที่ของสามีภรรยาในครอบครัว ความประพฤติทั่วไป ความเชื่อ ตลอดจนคอยคุ้มกันอิทธิพลของวัฒนธรรมภายนอกที่จะเข้ามาปะปนในสังคม ชาวเลมีการศึกษาในระบบต่ำมาก สามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้เพียงร้อยละ 31.67 ชาวเลหมู่บ้านราไวย์ก็ใช้การสั่งสอน อบรมขัดเกลาคนรุ่นหลังผ่านทางสถาบันครอบครัว และการถ่ายทอดผ่านทางบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันบริเวณใกล้เคียงหมู่บ้านก็มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาอยู่ 1 โรงเรียน อาคารเรียนชั่วคราวของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.ภูเก็ต อยู่ 1 แห่ง แต่ชาวเลส่วนใหญ่ (ร้อยละ 50.73) ก็ไม่เคยเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียน หรือแม้ได้เข้าเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้น (ร้อยละ 75.71) ชาวเลบางคนก็เคยเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ ชาวเลต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งโรงเรียนโดยเฉพาะสำหรับพวกเขา โดยระบุเหตุผลด้านความยากจน และการถูกเด็กพื้นเมืองรังแก (หน้า 64-65, 73-74, 138-149, 198-199, 231-238, 254-259) ชาวเลต้องการความรู้เพื่อให้อ่านออกเขียนได้มากที่สุด รองลงมาคือความรู้ในการประกอบอาชีพและความรู้ในการรักษาพยาบาล การรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ส่วนความรู้ที่ต้องการน้อยที่สุดคือความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยต้องการการศึกษานอกระบบโรงเรียนโดยให้ผู้รู้ช่วยสอนและแนะนำให้ (หน้า 187-191, 204, 214)

Health and Medicine

ที่ผ่านมาบ้านชาวเลมีน้ำครำขังใต้ถุนบ้าน ไม่มีการระบายน้ำ บริเวณหมู่บ้านเหม็นคาวปลาและสิ่งปฏิกูล ไม่มีส้วมใช้เพื่อสุขลักษณะ ปัจจุบันบ้านเรือนของชาวเลสวยงามและสะอาดมากขึ้น ชาวเลส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรง เพราะอยู่ใกล้ทะเล ได้รับอากาศบริสุทธิ์จากทะเล มีอาหารทะเลรับประทานทุกวัน ชาวเลเป็นโรคผิวหนังกันมากเพราะไม่ค่อยอาบน้ำ เป็นไข้มาลาเรียเพราะชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตกมียุงชุกชุม ส่วนเด็กมักเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและระบบการหายใจ ส่วนคนสูงอายุมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับหูและตา ครอบครัวหนึ่งๆ มีบุตรเฉลี่ย 4-6 คน ไม่นิยมวางแผนครอบครัว (หน้า 65, 67-68, 74) สำหรับชาวเลหมู่บ้านหาดราไวย์มีสุขลักษณะสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ ไม่มีปัญหาน้ำเสียขังตามใต้ถุนบ้าน แต่ชาวเลในหมู่บ้านทั้งหมดไม่มีส้วมใช้ และนิยมทิ้งขยะมูลฝอยบริเวณบ้านโดยไม่กำจัดขยะเหล่านั้น ชาวเลรับประทานอาหารด้วยมือที่ดำและสกปรก จึงทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารตามมา ส่วนโรคที่เป็นกันมากคือโรคผิวหนัง เป็น "เกลื้อน" จากการไม่อาบน้ำ โดยเฉพาะผู้ชาย ชาวเลถือว่าการเป็นเกลื้อนไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ ยิ่งผู้ชายเป็นเกลื้อนมากเท่าไหร่ก็จะมีเสน่ห์ทำให้ผู้หญิงชอบมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเจ็บป่วยชาวเลนิยมซื้อยามากินเอง รองลงมานิยมไปสถานีอนามัย ขณะที่บางคนยังใช้วิธีการทางไสยศาสตร์ บางคนบำบัดด้วยวิธีการธรรมชาติ เช่น เมื่อดำน้ำหาปลาจนตัวซีด ก็จะรักษาโดยฝังตัวเองอยู่ใต้ทรายที่อยู่ชายหาด โผล่มาเพียงแค่ศีรษะเท่านั้น ชาวเลนิยมเลี้ยงดูบุตรด้วยนมมารดา พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิดอีกด้วย (หน้า 119-137, 197-198, 223-231) ประเพณีการเกิด ในอดีตชาวเลคลอดลูกโดยหมอตำแย ก่อนคลอดหมอตำแยจะตรวจสุขภาพของหญิงมีครรภ์ตามพิธีทางไสยศาสตร์ วิธีการคลอดจะให้ผู้หญิงนั่งยอง ๆ บนร้านหรือแคร่เพราะคลอดง่าย และต้องการให้เลือดไหลออกมาก ๆ เพราะเมื่อเลือดตกถึงพื้นดิน กลิ่นคาวจะทำให้ผู้คลอดมีกำลังใจอดทนมากขึ้น และต้องการให้ผีเรือนมาช่วยทำคลอดด้วย ก่อนคลอดจึงต้องบรวงสรวงผีเรือนให้มาคุ้มครองคนไข้ (หน้า 111-112)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ในอดีตชายชาวเลนิยมนุ่งผ้าเตี่ยว ไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงมักไม่สวมเสื้อเช่นกัน โดยมักนุ่งกระโจมอกคลุมถึงเข่าโดยใช้โสร่งหรือผ้าถุง สาวชาวเลเชื่อว่าการแตกเนื้อสาวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนหลัง ไม่น่าอับอายจนต้องปกปิดแต่อย่างใด ส่วนเด็กๆ ชาวเลนั้นแทบจะไม่สวมเสื้อผ้าเลย ปัจจุบันการแต่งกายของชาวเลเลียนแบบคนพื้นเมืองมากขึ้น ผู้ชายนิยมสวมกางเกงจีน ไม่สวมเสื้อ ส่วนผู้หญิงหันมานุ่งผ้าถุง สวมเสื้อ เครื่องประดับที่ชาวเลนิยมมากที่สุดคือทองคำ (หน้า 62, 78-79, 195, 205-206)

Folklore

ชาวเลนิยมเล่นไพ่บริเวณบ้านในยามที่ไม่ได้ออกไปหาปลา เป็นกิจกรรมที่นิยมทำกันมากที่สุดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ (หน้า 124-125)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

"ชาวเล" (ชาวทะเล) เป็นคำเดิมที่คนไทยภาคใต้ใช้เรียกชนกลุ่มนี้ หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตทำมาหากินในทะเล แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า "ชาวไทยใหม่" เป็นชื่อใหม่ที่ชาวเลใช้เรียกตัวเองและภูมิใจที่จะให้เรียกชื่อนี้ เพราะรู้สึกได้รับการยกย่องให้เสมอภาคเท่าเทียมกับคนไทย ส่วนคำเรียกชาวเลว่า "ชาวน้ำ" ในมุมมองของพวกเขาแล้วเป็นคำไม่สุภาพ โดยชาวเลให้เหตุผลว่ามนุษย์เกิดมาจากน้ำอสุจิซึ่งเป็นน้ำไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ คำว่า "ชาวน้ำ" จึงเป็นคำต่ำ ส่วน "ชาวสิงห์" หรือ "มาซิง" เป็นชื่อชาวเลพบได้ที่หาดราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต (หน้า ง, 68- 69, 78) มลายูเรียกชาวเลว่า "โอรัง ละอุต" (Orang-Laut) แปลว่า "คนทะเล" พม่าเรียกชาวเลว่า "ฉลาง" ชาวอังกฤษเรียกชาวเลว่า "Sea Gypsy" หมายถึงยิปซีทะเล เพราะสมัยที่อังกฤษเข้ามาค้าขายในดินแดนนี้ได้เห็นชาวเลอพยพเร่ร่อน ทำมาหากินไม่เป็นหลักแหล่ง คล้ายกับยิปซีที่อพยพเร่ร่อนในทวีปยุโรป บางครั้งก็เรียกทับศัพท์ว่า "Chaonam" (หน้า 55)

Social Cultural and Identity Change

เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ชาวเลนิยมแต่งกายเลียนแบบคนพื้นเมืองมากขึ้น ดังที่ชาวเลบางคนได้กล่าวไว้ว่า "เห็นคนอื่นเขาแต่งก็อยากแต่งบ้าง" ส่วนด้านศาสนาและความเชื่อ เดิมชาวเลเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ แต่ปัจจุบันเมื่อติดต่อกับคนพื้นเมืองมากขึ้นจึงหันมานับถือศาสนาพุทธและศาสนาอื่นกันมากขึ้น (หน้า 62-63, 206) ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี จากการได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมประเพณีจากทั้งคนจีน คนไทยและมลายู ทำให้พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงอิทธิพลที่มากระทบต่อประเพณีดั้งเดิมได้ (หน้า 66) สำหรับหมู่บ้านหาดราไวย์ซึ่งอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวนั้น มีกลุ่มทัวร์ต่างๆ นำนักท่องเที่ยวเข้าไปชมในหมู่บ้าน ทำให้ได้รับอิทธิพลต่าง ๆ จากกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ทำให้ความเป็นอยู่และประเพณีเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เช่น ประเพณีการเกิด จากอดีตที่ใช้หมอตำแยทำคลอด ก็มาใช้บริการของเจ้าหน้าที่อนามัยหรือโรงพยาบาลของรัฐเพราะสะดวก ปลอดภัย (หน้า 110-112) ด้านการปกครอง ในอดีต "โต๊ะ" หรือหมอไสยศาสตร์มีบทบาทในการปกครองชาวเลเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ได้รับความเชื่อถือจากชาวเลในหลายๆ ด้าน ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีนโยบายการปกครองในระดับท้องถิ่น และสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บทบาทของโต๊ะลดลงแทนที่ด้วยสารวัตรกำนันและการปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น (หน้า 150 - 151)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีตาราง แผนภาพและภาพประกอบที่ช่วยสร้างความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ของงานวิจัยให้มากยิ่งขึ้น เช่น ตารางแสดงการมีงานทำของชาวเล (ตารางที่ 2 หน้า 90) ตารางแสดงความต้องการให้บุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน (ตารางที่ 21 หน้า 146) แผนภาพแสดงที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเล (แผนภาพที่ 2 หน้า 71) ภาพแสดงชาวเลใช้เหล็กแหลมจับปลาหมึกมาเป็นอาหาร (รูปภาพที่ 19 หน้า 127)

Text Analyst สิทธิพร จรดล Date of Report 04 เม.ย 2556
TAG อูรักลาโว้ย, ชาวเล, ความเป็นอยู่, การศึกษา, คุณภาพชีวิต, ภูเก็ต, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง