สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอแกน,วิถีชีวิต,หมู่เกาะสุรินทร์
Author อรรถกร ภาคีรุณ
Title ก่อนจะเหลือเผ่าพันธุ์สุดท้าย มอแกน (SEA - GYPSIES)
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอแกน บะซิง มาซิง, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเนเชี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 158 Year 2544
Source สำนักพิมพ์ธารบัวแก้ว
Abstract

หนังสือเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวของชนเผ่ามอแกนที่อาศัยอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โดยนำเสนอในรูปแบบสารคดีมีการอ้างอิงงานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับชนเผ่ามอแกนในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งในด้านวิถีชีวิต การทำมาหากิน สภาพสังคม รวมไปถึงประเพณีความเชื่อที่ผูกโยงกับวิถีชีวิตของมอแกนในแง่มุมต่าง ๆ ด้วย โดยงานชิ้นนี้ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าเร่ร่อนในทะเล (Sea Nomads) คือ เผ่ามอแกน บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โดยชาวเลเผ่า "มอแกน" จะเร่ร่อนตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่งอันดามัน โดยใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนเรือที่เป็นทั้งบ้านและยานพาหนะ แต่ปัจจุบันจะตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่งหรือบนเกาะ ชาวเล "มอแกน" พบได้ในหมู่บ้านตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดพังงา และหมู่เกาะมะริดในเขตน่านน้ำประเทศพม่า มอแกนมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับฤดูกาลจากลมมรสุม เมื่อทะเลเรียบและอากาศดี มอแกนจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเรือเพื่อจับปลาและงมหอย เมื่อถึงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ คลื่นลมจัด มอแกนจะขึ้นฝั่งสร้างกระท่อมอยู่กันชั่วคราว โดยเรือมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของมอแกน เพราะเป็นเครื่องมือทำมาหากินและที่อยู่อาศัยไปพร้อมกัน ดังนั้นมอแกนจึงมีพิธีเลี้ยงผีเรือก่อนถึงฤดูกาลที่ต้องออกทะเล มอแกนเชื่อว่าเรือแต่ละลำจะมีวิญญาณของผีไม้สิงสถิตอยู่ สังคมของมอแกนมีพื้นฐานอยู่แบบระบบเครือญาติแบบครอบครัวเดี่ยว หญิงและชายมีความสำคัญพอ ๆ กัน มักแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่แต่งงานในหมู่ญาติพี่น้อง ไม่นิยมเปลี่ยนคู่ครอง นอกจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตลง ครอบครัวของมอแกนที่แตกออกมาจากครอบครัวใหญ่ได้กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวเล็ก ๆ รวมตัวกันเป็นกองเรือขนาด 7-10 ลำ แต่ละกองเรือเป็นตัวแทนของการใช้ชีวิตเร่ร่อนทางทะเลของมอแกน โดยแต่ละกองเรือจะมีบุคคลที่เรียกว่า "ปาเตา" ทำหน้าที่นำทาง เขาคือตำแหน่งของผู้อาวุโสสูงสุดประจำเรือ เป็นผู้รับผิดชอบชะตากรรมของสมาชิก เป็นทั้งหมอผี หมอยา คนทรงและผู้พิทักษ์ประจำกองเรือ มอแกนมีอายุเฉลี่ย 28 ปี เพราะเสียชีวิตจากโรคที่ได้รับจากการบีบกดของน้ำขณะดำน้ำ เมื่อมอแกนเจ็บป่วยจะเยียวยาโดยให้โต๊ะหมอมาเข้าทรงและเซ่นไหว้ด้วยวิธีต่าง ๆ มอแกนยังใช้ความรู้ทางสมุนไพรรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย มอแกนมีนิทานและบทเพลงที่เป็นเรื่องเล่าสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของมอแกนในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิถีชีวิตด้านการเลือกคู่ครอง เนื่องจากปัจจุบันวิถีชีวิตของมอแกนต้องขึ้นมาอาศัยตามชายฝั่งของเกาะทำให้ต้องกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติมากขึ้น ทำให้ความเป็นอยู่ของมอแกนต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของเจ้าหน้าที่

Focus

หนังสือเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวของชนเผ่ามอแกนที่อาศัยอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โดยนำเสนอในรูปแบบสารคดีมีการอ้างอิงงานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับชนเผ่ามอแกนในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งในด้านวิถีชีวิต การทำมาหากิน สภาพสังคม รวมไปถึงประเพณีความเชื่อที่ผูกโยงกับวิถีชีวิตของมอแกนในแง่มุมต่าง ๆ ด้วย

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าเร่ร่อนในทะเล (Sea Nomads) คือ เผ่ามอแกน บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ (หน้า 13)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

"ชาวเล" เป็นกลุ่มชนที่เร่ร่อนอยู่แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน แบ่งได้ 3 กลุ่มคือ "อุรักลาโว้ย", "มอแกลน" และ "มอแกน" โดย 2 กลุ่มแรกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมาตั้งหลักแหล่งบนฝั่งอย่างถาวรมากขึ้น ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาภาคบังคับและได้สัญชาติไทยจึงเรียกชาวเล 2 กลุ่มแรกว่า "ไทยใหม่" (หน้า 28, 30)

Settlement Pattern

ชาวเลใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนเรือที่เป็นทั้งบ้านและยานพาหนะ แต่ปัจจุบัน ชาวเลส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่งหรือบนเกาะ ชาวเล "มอแกน" พบได้ในหมู่บ้านตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดพังงา เช่นที่หมู่บ้านไทยใหม่ อ.ท้ายเหมือง และยังอาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะมะริดในเขตน่านน้ำประเทศพม่า ตั้งแต่เกาะเซนท์ แมทธิว ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือจนถึงเกาะคิงที่ 1 ส่วนชาวเล "อูรักลาโว้ย" มักตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านใหญ่กระจายกันตามฝั่งทะเลและเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เช่น ชุมชนอูรักลาโว้ยที่สิเหร่ ราไว สะปำ บ้านเหนือ แหลมหลา จ.ภูเก็ต ; สังกะอู้ บนเกาะลันตาใหญ่ เกาะจา ในจ.กระบี่ ; หมู่บ้านบนเกาะอาดังและเกาะลิเป๊ะ จ.สตูล มอแกนมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับฤดูกาลจากลมมรสุม เมื่อทะเลเรียบและอากาศดี มอแกนจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเรือเพื่อจับปลาและงมหอย เมื่อถึงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ คลื่นลมจัด มอแกนจะขึ้นฝั่งสร้างกระท่อมอยู่กันชั่วคราว ดังที่ผู้อาวุโสมอแกนคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า "มันมีอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่พวกเราจะหายไปในทะเลโดยเราไม่รู้ทิศทาง รู้แต่ว่าพอได้กลิ่นอายของลม เราจึงจะหวนกลับเข้าฝั่ง" (หน้า 30-34)

Demography

มอแกนประมาณ 2,000-3,000 คน กระจายกันอยู่ในเรือประมาณ 500 ลำ แทรกอยู่แทบทุกเกาะบริเวณเขตแดนไทย-พม่า (หน้า 59) มอแกนที่ผู้เขียนเข้าไปศึกษามีจำนวนประชากรที่เรียกว่า "ลูกบ้าน" จำนวน 183 คน มอแกนมักจะมีอายุไม่เกิน 30 ปี ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 28 ปี เพราะเสียชีวิตจากโรคที่ได้รับจากการบีบกดของน้ำขณะดำน้ำ (หน้า 21-22, 74)

Economy

ชาวเลยึดอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทะเล รวมไปถึงการกินข้าว ทำแร่ ร่อนแร่ด้วย (หน้า 30) โดยมอแกนกลุ่มที่ผู้เขียนเข้าไปศึกษามีเรืออยู่ทั้งหมด 10 ลำ มีรายได้ลำละประมาณ 60-70 บาทต่อวัน/ครอบครัว (หน้า 26-27) มอแกนงมหอย ตกปลา จับปูและสัตว์ทะเลต่างๆ เป็นอาหาร ส่วนฤดูฝนช่วงที่อาศัยบนเกาะ มอแกนจะขุดหัวมัน หน่อไม้ และพืชอื่นๆ เพื่อบริโภค มอแกนไม่นิยมการสะสมวัตถุ ไม่ว่าอาหารหรืออะไรทั้งสิ้น พวกเขามีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้เท่านั้น ไม่มีแม้กระทั่งปลาเค็ม กะปิ น้ำปลา มอแกนไม่รู้จักการถนอมอาหาร มอแกนยังคงดำปลิง (ปลิงทะเล) รังนก หอยมุก และเปลือกหอยสวยงามเพื่อแลกเปลี่ยนกับข้าวสาร อาหาร และสิ่งจำเป็นกับพ่อค้าคนกลาง บางครั้งมอแกนอาจจะเข้าป่าเพื่อล่าหมูป่าหรือสัตว์ป่าเท่าที่พอจะหาได้ แต่ก็ไม่คุ้นเคยเท่ากับหากินทางทะเล มอแกนมักหากินเพียงหัวมันหรือผลไม้เท่านั้น (หน้า 37-38, 83) มอแกนใช้เวลาส่วนใหญ่ในเรือที่เป็นทั้งบ้านและยานพาหนะเพื่ออาศัยทะเลเป็นแหล่งทำมาหากิน "เรือ" หรือ "ก่าบาง" ของมอแกนคือ "บ้านลอยน้ำ" เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ โดยเรือทำด้วยไม้เนื้อแข็งคว้านเอาส่วนในออกจนมีลักษณะเปิด ส่วนท้องจะแบนราบ ลำเรือยาวป้อม หัวท้ายแหลม รูปแบบของเรือจำลองแบบมาจากประมงชายฝั่งของไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นเรือแบบนั่ง มีหลังคาและสีสันคล้าย ๆ กัน และออกแบบให้ซ่อนตัวได้ง่ายตามป่าโกงกางชายฝั่ง แต่ทางการไทยก็ไม่ได้เข้มงวดอะไรมากนัก (หน้า 30, 60-71)

Social Organization

สังคมของมอแกนมีพื้นฐานอยู่แบบระบบเครือญาติแบบครอบครัวเดี่ยว หญิงและชายมีความสำคัญพอๆกัน มอแกนมักแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่นิยมเปลี่ยนคู่ครอง นอกจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตลง (หน้า 42 และดูรูปของหญิงมอแกนที่มีครอบครัวตั้งแต่อายุ 12-13 ปี ที่หน้า 60) มอแกนถือว่าถ้าไม่อยู่ครอบครัวเดียวกันต้องถือว่าเป็นคนต่างพวกทันที แต่บางครั้งเรือต่างครอบครัวก็ต้องมาสัมพันธ์กันเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของเพื่อบริโภค (เหล้า ยาเส้น ข้าว) ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างตระกูลมีพื้นฐานอยู่ที่การหาคู่ครองโดยมีญาติพี่น้องทั้ง 2 ฝ่ายเป็นพ่อสื่อแม่สื่อ มอแกนห้ามแต่งงานในหมู่พี่น้อง หนุ่มมอแกนหากต้องการหาเมียต้องสร้างเรือขึ้นมาลำหนึ่งแล้วออกหาในช่วงฤดูร้อนยามออกทะเล ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีเรือก็ไม่มีเมียตามมา" และหนุ่มมอแกนยังต้องสร้างเรือเองเป็นและทำมาหากินเองเป็นด้วย พ่อตาแม่ยายจะช่วยเขยทำเรือไม่ได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่เขยแต่เพียงลำพัง เพราะในอนาคตต้องอาศัยลูกสาวและลูกเขย (หน้า 142-147) ครอบครัวของมอแกนที่แตกออกมาจากครอบครัวใหญ่ได้กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวเล็กๆ รวมตัวกันเป็นกองเรือขนาด 7-10 ลำ แต่ละกองเรือเป็นตัวแทนของการใช้ชีวิตเร่ร่อนทางทะเลของมอแกน (หน้า 156)

Political Organization

แต่ละกองเรือของมอแกนมีบุคคลที่เรียกว่า "ปาเตา" ซึ่งเป็นตำแหน่งของผู้อาวุโสสูงสุดประจำกองเรือ ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบชะตากรรมของสมาชิก เป็นทั้งหมอผี หมอยา คนทรงและผู้พิทักษ์ (หน้า 156)

Belief System

ชาวเกาะนับถือยำเกรงทะเลในฐานะที่เป็นแหล่งของความศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับนานัปการ ไม่มีชาวเกาะคนใดกล้าล่วงเกินทะเลโดยเด็ดขาด (หน้า 37) พิธีประจำปีที่สำคัญของมอแกนคือ การฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ (เหนียะเอนหล่อโขง) หรือ "เสาหลักประจำตระกูล" โดยพิธีนี้จัดขึ้นตอนเดือนห้าทางจันทรคติซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู โดยมอแกนถิ่นต่าง ๆ จะมารวมตัวเพื่อบูชาวิญญาณบรรพบุรุษให้ปกป้องคุ้มครองพวกตน โดยมอแกนจะดื่มเหล้าขาวอย่างหนักในพิธีนี้เพื่อประชดชีวิตที่หนักหนาสาหัสของตน มอแกนมีความเชื่อแบบ "วิญญาณนิยม" คือเชื่อว่าผีบรรพบุรุษและผีต่างๆ ในธรรมชาติมีอำนาจให้ร้าย - ดีแก่พวกตนได้ (หน้า 38-41) มอแกนเชื่อว่ามีวิญญาณประจำเรือโดยติดมาจากต้นไม้ที่นำมาขุดเป็นเรือ มอแกนเชื่อว่าคนสร้างเรือต้องเป็นชายโสดเพื่อที่นางฟ้าหรือนางไม้จะมาช่วยเหลือ เพราะมอแกนเชื่อว่าวิญญาณประจำเรือเป็นผู้หญิง มอแกนเชื่อว่าเรือเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่อยู่ระหว่างความสัมพันธ์ของมอแกนกับระบบความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ มอแกนมีคติว่า "ขาดเรือ ขาดลม ก็ถือว่าชีวิตนี้คือการสิ้นสุด" โลกของมอแกนประกอบขึ้นด้วยผีบรรพบุรุษ เทพยดา แต่เมื่อมอแกนขึ้นไปพักพิงบนฝั่งช่วงฤดูฝน บรรดาผีทั้งหลายจะลาจากไป เพราะมอแกนเชื่อว่าที่พักชั่วคราวไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งใด ๆ ที่เหนือธรรมชาติ โดยผีไม้ของเรือมอแกนเรียกว่า "อีบับ" มอแกนจะมีพิธีเลี้ยงผีก่อนนำเรือลงน้ำเรียกว่า "โมน คเนนัน ก่าบาง" แปลว่า "ให้ขนมเรือ" โดยใช้ใข่ใส่ลงในหม้อข้าวต้ม กวนให้เข้ากัน จากนั้นใช้ช้อนตักไปป้อนที่หัวเรือที่ทำเป็นรูปคล้ายปาก และจุดบุหรี่ให้ด้วย จากนั้นก็เอาข้าวสวยไปป้อนให้รูปแกะสลักจากไม้ ชื่อว่า "สิติ ติมา" ซึ่งถูกสมมติให้เป็นเทพธิดาของผีประจำเรือและผีประจำไม้เรือ (นางไม้) เป็นอันเสร็จพิธี มอแกนเชื่อว่าผีเหล่านี้จะนำพวกตนออกสู่ทะเลหลวงได้ มอแกนยังกลัวผีประจำต้นไม้ (นางไม้) ผีประจำกอไผ่ ผีปลาและผีอื่น ๆ อีกมากมาย มอแกนเชื่อว่าผีเหล่านี้จะปกป้องพวกตนให้พ้นจากภัยพิบัติได้ มอแกนมี "เสาแกะสลัก" 3 เสา ปักไว้กลางลำเรือบ้าง หัวเรือบ้าง โดยหลักที่ 1 เป็นเจ้าแม่ย่านางที่พิทักษ์ตะกูด (หางเสือ) ส่วนหลักที่ 2-3 เป็นเจ้าแม่ย่านางรักษาหลังคาเรือ ทั้งหมดเป็นเพศหญิงชื่อว่าอาวา (AWAH) เชื่อกันว่า อาวาคืออีฟหรืออีวาในคัมภีร์ไบเบิล และยังวิเคราะห์ต่อว่าเสาแกะสลักที่ปักอยู่ท้ายเรืออีกต้นหนึ่งคือ "อาดัม" และเสาต้นเล็กๆ คือลูกของอาดัมกับอีฟ แต่ผู้เขียนก็ตั้งข้อสังเกตว่า "เสาแกะสลัก" ดังกล่าวก็คือ "เสาหลักประจำตระกูล" ซึ่งไปพ้องกับชาวเกาะทะเลใต้หลายเผ่าพันธุ์ที่มีเสาแกะสลักเหมือนกัน โดยส่วนหัวแกะสลักเป็นรูปสัตว์ที่ดูแล้วเข้มแข็ง เช่น นกอินทรี ควายป่า ปลาฉลาม ส่วนลำต้นแกะเป็นรูปคนแสดงความเป็นมาของเผ่าพันธุ์แต่ละตระกูล (หน้า 83, 85-88, 104-111, 114-119) ผู้เขียนหนังสือ "The Moken Boat" วิเคราะห์ความเชื่อเรื่องเรือของมอแกนได้ 3 ระดับ ดังนี้ (1) ลำเรือ (Monoxylon) หมายถึงร่างกายของคน (2) ท้องเรือ เป็นครัวถือว่าเป็นท้องของคน (3) ส่วนเสาแกะสลัก ทำหน้าที่คล้ายหัวใจ ประสาท และส่วนที่เป็น "ชีวิต" อื่น ๆ รวมกันเป็นจิตวิญญาณ (หน้า 120 และดูขั้นตอนการทำเรือของมอแกนได้ที่หน้า 121-140)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

มอแกนมักเสียชีวิตก่อนอายุ 30 ปี จากโรคที่ได้รับจากการบีบกดของน้ำขณะดำน้ำ (หน้า 21-22, 74) เมื่อมอแกนเจ็บป่วยจะเยียวยาโดยให้โต๊ะหมอหรือ "ออลางปูตี" มาเข้าทรงและเซ่นไหว้ด้วยวิธีต่าง ๆ มอแกนยังใช้ความรู้ทางสมุนไพรรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย แต่ความรู้เหล่านี้ค่อยสาบสูญไปแล้วในปัจจุบัน (หน้า 41)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

มอแกนมีเครื่องดนตรีพื้นเมืองเรียกว่า "ก่าติ๊ง" (ดูภาพได้ที่หน้า 144) บทเพลงของมอแกนสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันกับเรือ ท้องทะเลที่พวกเขาใช้ทำมาหากิน เนื้อหาของเพลงยังบ่งบอกให้เห็นถึงความเคารพยำเกรงเทพเจ้าและวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มอแกนนับถืออีกด้วย (ดูเนื้อเพลงได้ที่หน้า 158)

Folklore

นิทานของมอแกนที่เป็นเรื่องเล่าสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของมอแกนที่ว่ามีวิญญาณอาศัยอยู่ในต้นไม้ (อ่านนิทาน 2 เรื่องได้ที่หน้า 84-94) และยังมีนิทานอีก 2 เรื่อง ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตด้านการเลือกคู่ครองของมอแกน (ดูได้ที่หน้า 147-154)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

คนไทยมักเรียก "ชาวเล" ว่า "ชาวน้ำ" แต่ปัจจุบันนี้ไม่เรียกแล้วเพราะฟังดูเป็นการดูหมิ่น ในขณะที่ชาวตะวันตกจึงขนานนามชาวเลว่า Sea Gypsies (Sea Nomads) เพราะชาวเลมีวิถีชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเล (หน้า 29-30, 60) เมื่อวิถีชีวิตของมอแกนต้องขึ้นมาอาศัยตามชายฝั่งของเกาะทำให้ต้องกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์สภาพป่าชายฝั่งและน่านน้ำทะเลที่รับผิดชอบให้มีสภาพสมบูรณ์ ทำให้ความเป็นอยู่ของมอแกนต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของเจ้าหน้าที่ (หน้า 61)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

หนังสือเล่มนี้มีภาพประกอบมากมายที่สร้างความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ของมอแกนมากขึ้น เช่น ภาพหญิงสาวมอแกนที่มีครอบครัวตั้งแต่อายุ 12-13 ปี (หน้า 60) ภาพแสดงขั้นตอนการต่อเรือของมอแกน (หน้า 121-140) และภาพของชายมอแกนที่กำลังเตรียมฉมวกเพื่อจับปลา (หน้า 151)

Text Analyst สิทธิพร จรดล Date of Report 11 เม.ย 2556
TAG มอแกน, วิถีชีวิต, หมู่เกาะสุรินทร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง