สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก),วิถีชีวิต,ภาคใต้
Author เกศริน มณีนูน และ พวงเพ็ญ ศิริรักษ์
Title ซาไก ชนกลุ่มน้อยภาคใต้ของไทย
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มานิ มานิค โอรังอัสลี อัสลี จาไฮ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 67 Year 2546
Source โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เล่มที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Abstract

ซาไกเป็นชนกลุ่มน้อยทางภาคใต้ของไทย อาศัยอยู่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มตามป่าดิบเขาและบริเวณเทือกเขาในเขตจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล ยะลา และนราธิวาส มีสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การหาอาหาร การสร้างที่พัก ความเชื่อและพิธีกรรม ภาษาพูด รวมถึงการธำรงรักษาเอกลักษณ์และภูมิปัญญาในการดำรงชีพในป่าแบบมนุษย์โบราณ ซาไกบางกลุ่มยังคงนิยมอพยพเร่ร่อนย้ายถิ่นที่อยู่ไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ซาไกบางส่วนหันมาตั้งถิ่นฐานถาวร มีการแต่งงานกับคนท้องถิ่นจนมีซาไกลูกผสมเพิ่มขึ้น แม้จะมีการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้กลมกลืนกับสังคมวัฒนธรรมแบบคนเมืองมากขึ้น เช่น การแต่งกาย การใช้ภาษาท้องถิ่นภาคใต้มากขึ้น การหันมาประกอบอาชีพรับจ้าง เพาะปลูกแทนการหาอาหารจากป่าแบบเดิม การหันมาบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักแทนมันป่า อย่างไรก็ดี ซาไกบางกลุ่มก็ยังคงประสบปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมบางอย่างของคนเมือง เช่น การใช้รองเท้า นอกจากนี้ยังพบปัญหาการที่ซาไกถูกเอารัดเอาเปรียบและตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ที่ต้องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากขาดการศึกษาในระบบโรงเรียน และค่านิยมของคนนอกที่ขาดความเคารพสิทธิพื้นฐานของชนเผ่าซาไก

Focus

เน้นศึกษาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ พิธีกรรมรวมถึงภูมิปัญญาของซาไก

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

เน้นศึกษาชนเผ่าซาไกทางภาคใต้ของไทย ซาไกเรียกตนเองว่า "มันนิ" แปลว่า คน เรียกคนอื่นว่า "หะมิ" คนภาคใต้เรียกว่า "เงาะ" คนพื้นเมืองเรียก "ไอ้เกลอ" หรือ "ไอ้เฒ่า" นักวิชาการเรียกซาไกว่า "โอรัง อัสลี" หรือ "นิกริโต" บ้างก็เรียก "เซมัง" ตามรากศัพท์เดิม "ซาไก" "ซาแก" แปลว่า ป่าเถื่อน หรือหมายถึงชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในป่าทางภาคใต้ของไทย (หน้า 41) ผู้ศึกษาแบ่งกลุ่มของซาไกในประเทศไทยออกเป็น 4 กลุ่มตามภาษาที่แตกต่างกันของกลุ่ม ได้ดังนี้คือ 1) ซาไกกลุ่มแต็นแอ็น อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด บริเวณจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล 2) ซาไกกลุ่มกันซิว อาศัยอยู่บริเวณอำเภอธารโต จังหวัดยะลา 3) ซาไกกลุ่มแตะเด๊ะ อาศัยอยู่บริเวณอำเภอรือเสาะ และอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส 4) ซาไกกลุ่มยะฮาย อาศัยอยู่บริเวณอำเภอแว้ง และอำเภอสุคีรินทร์ นราธิวาส (หน้า 22-23)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาซาไกมีเพียงภาษาพูด ไม่มีตัวอักษรและภาษาเขียน มักใช้ภาษาท้องถิ่นภาคใต้ติดต่อกับบุคคลภายนอก ภาษาซาไกเป็นภาษาในตระกูลออสโตร-เอเชียติค สาขามอญ-เขมรจัดอยู่ในกลุ่มอัสเลียน มีการยืมคำศัพท์ภาษาไทยเข้าไปผสม คำศัพท์ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ ศัพท์ใหม่มักพูดทับศัพท์ สำเนียงพูดค่อนข้างเร็วมาก น้ำเสียงมักห้วนใหญ่ ซาไกบางกลุ่มที่ได้เข้ามาใกล้ชิดกับสังคมเมืองสามารถพูดภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษายาวี ภาษามาเลย์ได้ เช่น ซาไกกลุ่มกันซิว อำเภอธารโต จังหวัดยะลา (หน้า 40) ภาษาที่ใช้เกี่ยวกับจำนวนและการนับมีเพียง 1-4 ออกเสียง นาย-กะมัม-ติกะ และอะวา จำนวนตั้งแต่สี่ขึ้นไปใช้ว่า "แบม" หมายถึง มาก (หน้า 40-41)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้นักวิชาการมีข้อสันนิษฐานถึงแหล่งที่มาของชนเผ่าซาไกแตกออกเป็น 2 สาย คือ สายหนึ่งเชื่อว่า ซาไกเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในภาคใต้มาแต่ดั้งเดิม จากคำเรียกซาไกว่า "โอรัง อัสลี" หมายถึงคนพื้นเมืองดั้งเดิม โดยให้ความเห็นว่า ซาไกเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของแหลมมลายู อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย มาเลเซียและบางส่วนของอินโดนีเซียมาก่อนชนชาติอื่น ในขณะที่อีกสายหนึ่งเชื่อว่า ซาไกเป็นชนเผ่าที่อพยพมาจากถิ่นอื่น จากเอกสารข้อมูลพบว่า เส้นทางการอพยพของซาไกสู่แหลมมลายูมี 2 เส้นทาง เส้นทางแรกอพยพมาจากอินเดีย ศรีลังกา จีนก่อนเข้าสู่ภาคใต้ของไทย อีกเส้นทางหนึ่งอพยพมาจากอินโดนีเซีย ผ่านมาเลเซียสู่ภาคใต้ของไทย หลักฐานจากการขุดค้นโครงกระดูกบริเวณถ้ำในอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรังเมื่อปี พ.ศ. 2534 พบร่องรอยของชนกลุ่มเชื้อสายมองโกลอยด์ก่อนการเข้ามาของซาไก จึงเกิดข้อสันนิษฐานว่า ซาไกไม่น่าจะเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของไทยมาแต่ก่อน สอดคล้องกับคำบอกเล่าของซาไกที่อาศัยบริเวณเทือกเขาบรรทัด เล่าว่ากลุ่มตนหนีไฟไหม้มาจากเมืองลังกาลงเรือมาขึ้นฝั่งที่ประเทศมาเลเซีย แล้วใช้ชีวิตเร่ร่อนตามป่ามาเรื่อย ๆ จนถึงถิ่นที่อยู่ปัจจุบัน (หน้า 15)

Settlement Pattern

ซาไกอยู่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มในเขตจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล ยะลา นราธิวาส รวมถึงแถบภาคเหนือของมาเลเซีย และบางส่วนของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะอันดามันในอินเดีย ในประเทศไทยบริเวณเทือกเขาที่มีป่าดิบชื้น เช่น เทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาบรรทัด ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,350 เมตร พื้นที่เป็นป่าดิบเขา ทุ่งหญ้าป่าละเมาะกระจายเป็นหย่อม ก็เป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานของซาไกกลุ่มแต็นแอ็น (หน้า 11-12, 14) ส่วนซาไกที่อาศัยในพื้นที่ป่าฮาลา จังหวัดยะลามักเลือกที่พักอาศัยบริเวณสันเขา หลีกเลี่ยงสัตว์ป่าลงมากินน้ำบริเวณพื้นราบ มักหลีกเลี่ยงบริเวณจอมปลวก ดินสีดำ มีแหล่งน้ำนิ่งขัง มักสร้างที่พักชั่วคราวภาษาซาไกเรียก "ฮะยะ" ภาษาท้องถิ่นภาคใต้เรียกว่า "ทับ" มีลักษณะเป็นเพิง เสาไม้มีง่าม 2 เสา ใช้ไม้วางพาดเป็นคาน มักนำใบไม้ขนาดใหญ่ เช่น กาบใบปุดคางคก ใบกล้วยป่า ใบชิงหรือใบจากจำมาสานกันซ้อนกันหรือปูเป็นที่นั่งหรือที่นอน พื้นนิยมปูด้วยไม้ไผ่หรือใบไม้ มีแคร่นอนกว้างกว่าลำตัวเล็กน้อย มีกองไฟระหว่างแคร่ไว้คอยไล่แมลงรบกวนและให้ความอบอุ่น ขนาดของทับขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกแต่ละครอบครัว เด็กเล็กจะนอนกับแม่ ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่า 10 ขวบจะแยกออกมามีทับเล็ก ๆ ของตัวเอง จากการสำรวจพบว่ามี 2-15 ทับ การสร้างทับนิยมหันหน้าเข้าหากันเป็นวงกลม เพื่อความสะดวกในการพูดคุยกัน (หน้า 26-27, 29) ที่พักของกลุ่มซาโอ๊ะมีถิ่นที่อยู่ถาวรลักษณะคล้ายขนำ (กระท่อม) มีฝากั้นทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก นำมาทุบให้แผ่ออก หรือนำมาวางต่อหรือสานต่อกันคล้ายขัดแตะ บางบ้านใช้เศษไม้กระดาน หลังคามุงด้วยใบจากจำหรือสังกะสี ยกพื้นสูงจากพื้นดินเล็กน้อย ใช้ไม้ไผ่ปูเป็นพื้น ช่องประตูมีไม้วางพาดเป็นบันได ภายในซาโอ๊ะมีที่เก็บข้าวเปลือกและพืชผัก ทั้งยังแบ่งสัดส่วนเป็นที่ทำครัวและที่สำหรับนอน มีการก่อกองไฟไว้ระหว่างที่นอน โดยใช้ดินเป็นฐานรองไว้ บางบ้านอาจก่อไฟไว้ใต้ถุน (หน้า 26-27) นอกจากนี้ ซาไกมักจะเลือกบริเวณที่มี "เพิงถ้ำ" หรือ "ลา" ซึ่งมีแสงแดดส่องถึง ไม่อับชื้นและอยู่ไม่ห่างจากแหล่งน้ำมากนักเป็นที่พักอาศัย แทนการสร้างทับในป่า (หน้า 29)

Demography

จำนวนประชากรชนเผ่าซาไกที่อาศัยบริเวณป่าภาคใต้ของไทยมีประมาณ 250 คน แต่จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2546 พบว่ามีจำนวน 136 คน เป็นชาย 79 คน หญิง 57 คน แต่ยังมีซาไกอีกจำนวนหนึ่งที่อาศัยบริเวณเทือกเขาบรรทัดและใกล้เคียง จึงประมาณว่าน่าจะมีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 150-200 คน แบ่งตามช่วงอายุต่าง ๆ ได้เป็นประชากรในวัยเด็ก 61 คน วัยผู้ใหญ่ 51 คน วัยรุ่น 14 คน วัยชรา 10 คน แบ่งตามกลุ่มย่อยออกเป็น 9 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีประชากร 5-36 คน (หน้า 23) เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชากรในวัยเด็กมีจำนวนสูงสุด และมีแนวโน้มว่าซาไกดั้งเดิมจะค่อย ๆ ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เนื่องจากประชากรเด็กซาไกรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะแต่งงานกับชาวบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้สายเลือดซาไกดั้งเดิมลดน้อยลง (หน้า 24) การย้ายถิ่น ซาไกที่อาศัยบริเวณเทือกเขาบรรทัด มักตั้งทับอยู่อาศัยชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่งแล้วจึงย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่เมื่อบริเวณที่พักเริ่มขาดแคลนแหล่งอาหาร หรืออาจเกิดการย้ายถิ่นเมื่อมีคนในกลุ่มตาย ก็ปล่อยศพให้เน่าเปื่อยในทับของผู้ตาย หรือหาก มีคนป่วยหนักก็จะทิ้งอาหารไว้ให้ แล้วสมาชิกในกลุ่มก็ย้ายหนีไป เป็นการป้องกันโรคระบาดตามธรรมชาติ หากเป็นซาไกกลุ่มกันซิวจะใช้วิธีฝังศพ ซาไกกลุ่มที่มีที่อยู่ถาวร เมื่อมีคนตายจะนำไปวางไว้ในถ้ำ ห่างจากที่พัก นอกจากนี้ จะมีการย้ายถิ่นกรณีที่มี หญิงซาไกในกลุ่มคลอดบุตร และกรณีย้ายถิ่นฐานไปตามฤดูผลผลิตจากป่า เช่น ช่วงที่สามารถเก็บสะตอ เหรียง น้ำผึ้งหรือลูกประ ในอดีตการย้ายกลุ่มสมาชิกแต่ละคนต้องถือไม้ฟืนสำหรับก่อไฟไปด้วย การย้ายทับ มักย้ายไปยังพื้นที่ใหม่แต่เช้า นำสิ่งของติดตัวไปน้อยเท่าที่จำเป็นและหาที่พักใหม่ให้ได้ก่อนพลบค่ำ ผู้อาวุโสในเผ่ามักเป็นคนนำทาง ซาไกแต่ละกลุ่มส่วนใหญ่มีพื้นที่หากินไม่ทับซ้อนกัน แต่มักถูกเอารัดเอาเปรียบจากชาวบ้าน เพราะไปตั้งทับบริเวณที่ชาวบ้านมาหาของป่า (หน้า 29-31)

Economy

ซาไกไม่มีการทำเกษตรกรรม แต่ใช้วิธีเร่ร่อนหาอาหารตามธรรมชาติ โดยหากินเฉพาะมื้อและไม่นิยมเก็บสะสม การล่าสัตว์มักล่าครั้งละตัว เพราะเครื่องมือไม่เอื้ออำนวย และยังไม่รู้จักวิธีถนอมอาหาร ซาไกบางกลุ่มซึ่งมีถิ่นที่อยู่ถาวร และได้เรียนรู้วิธีเพาะปลูกจากชาวบ้าน เริ่มหันมารับประทานข้าวแทนมันป่า ซาไกส่วนใหญ่นิยมบริโภคมันป่าเป็นอาหารหลัก โดยขุดเอาเฉพาะส่วนหัวทิ้งรากบางส่วนไว้ให้ต้นมันสร้างหัวใหม่ได้ นิยมบริโภคมันตามรากและมันโสม มันปูนไม่ค่อยนิยมเพราะมีพิษ หากมันป่าซึ่งเป็นอาหารหลักเกิดขาดแคลน ก็จะบริโภคพืชอื่นทดแทน อาทิ มันสำปะหลัง กล้วยน้ำว้าดิบ หยวกกล้วยป่า และมะละกอดิบนำมาต้มสุกเสียก่อน สำหรับอาหารจำพวกโปรตีน ที่ได้จากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น กบ นก ลิง หมูป่า เต่า ปลา การจับสัตว์น้ำมีทั้งใช้มือจับ ใช้เบ็ด ตาข่ายดัก การล่าสัตว์บกจะใช้กระบอกตุด หรือบอเลา ยิงหนังสติ๊ก ดักแร้ว หรือใช้การเป่าลูกดอกอาบยาพิษ ปัจจุบัน ซาไกบางกลุ่มนำสุนัขมาเลี้ยงไว้เพื่อช่วยในการล่าสัตว์ ซาไกรับประทานผักในแต่ละมื้อน้อยมาก ผักที่นำมารับประทาน เช่น ผักกูดขาว อ้ายเบี้ยว หมากหมก มะเขือพวง เนียง สะตอ เป็นต้น ผลไม้ที่รับประทาน เช่น มะเม่าควาย งำเงาะ ลำแข เดื่อปล้องหิน จันหาน เป็นต้น การปรุงอาหารนิยมใช้การต้ม ย่าง หรือเผาไฟ เมื่อหาอาหารมาได้ ซาไกจะนำมาแบ่งปันให้สมาชิกครอบครัว ๆ อื่นอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเชื่อว่า หากไม่แบ่งปันให้คนอื่นถือว่าบาป (หน้า 31-35) เมื่ออาหารเริ่มขาดแคลน ซาไกก็เริ่มหาของป่าแลกเปลี่ยนกับอาหารและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ อาทิ ข้าวสาร มีด ไม้ขีดไฟ และเมื่อต้องใช้เงินเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ซาไกจึงหันมาประกอบอาชีพรับจ้างถางป่า แบกไม้ กรีดยาง หาสมุนไพรขาย ซาไกที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา มีอาชีพหลัก คือ หาสมุนไพรขายให้นักท่องเที่ยวที่แวะมาชมหมู่บ้านมัดละ 20 บาท บางกลุ่มก็รับจ้างกรีดยาง ซาไกกลุ่มคลองตงและกลุ่มเจ้าพะ ซึ่งตั้งถิ่นฐานถาวรเรียนรู้ การเพาะปลูกข้าว ยาพารา พืชและผลไม้จากชาวบ้าน จึงไม่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเหมือนกลุ่มอื่น ชาไกกลุ่มที่ยังนิยมย้ายถิ่นฐานจะประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารน้อยกว่า เพราะยังสามารถหาของป่ามาเป็นอาหารได้ กิจกรรมหลักในแต่ละช่วง คือ การหาน้ำผึ้งป่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม น้ำผึ้งที่หาได้จะนำมาจำหน่ายให้ชาวบ้านในราคาแกลลอนละ 500 -1,000 บาท นอกจากนี้ ยังหา "เหรียง" ขายได้ราคากิโลกรัมละ 50-90 บาท ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เมื่อสะตอให้ผลผลิตก็จะหาสะตอขายฝักละ 0.5 -1 บาท ช่วงเดือนกันยายนถึงมกราคมที่ผลผลิตจากป่ามีน้อย ซาไกจะล่าสัตว์เพื่อบริโภคและรับจ้างทั่วไป ซาไกกลุ่มที่ห่างไกลจากสังคมเมืองยังไม่รู้จักการใช้เงิน เนื่องจากนับเลขได้ไม่เกินหลักสิบ (หน้า 36-37, 39)

Social Organization

การแต่งงาน หญิงสาวซาไกเมื่อเริ่มสาว พ่อแม่จะมองหาคู่ให้โดยเลือกคนที่ขยันทำมาหากินและล่าสัตว์เก่ง มีการพามาแนะนำให้รู้จักก่อนตกลงแต่งงาน โดยฝ่ายชายจะมารวมกลุ่มกับญาติฝ่ายหญิงเพื่อศึกษานิสัยใจคอ เมื่อพอใจกันทั้งสองฝ่ายจึงมีการแต่งงาน หากไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ก็เลิกกันไป หนุ่มสาวที่รู้จักชอบพอกันเองก็จะปรึกษาพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย การแต่งงานไม่มีการเรียกสินสอด ฝ่ายชายต้องสร้างทับเป็นเรือนหอ และล่าสัตว์มาเลี้ยงเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง เมื่อแต่งงานแล้ว ไม่มีข้อกำหนดสำหรับคู่แต่งงานว่าจะต้องไปอยู่กับกลุ่มของฝ่ายใด หรือจะแยกไปอยู่กลุ่มอื่น ผู้ชายสามีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน เช่นเดียวกับหญิงซาไกสามารถมีสามีได้หลายคนโดยต้องเลิกกับคนเก่าก่อน ซาไกไม่แต่งงานกันเองภายในกลุ่มเครือญาติใกล้ชิด ทำให้ประชากรซาไกบริเวณเทือกเขาบรรทัดค่อนข้างคงที่ เนื่องจากซาไกส่วนใหญ่มักเป็นเครือญาติกัน ช่วงอายุก็ต่างกันมาก (หน้า 45-46) การเลี้ยงดูบุตร ทารกซาไกแรกเกิดนิยมให้กินนมแม่เท่านั้น เมื่อเด็กเริ่มมีฟันจึงให้กินเนื้อปลาและอาหารอื่น ๆ ตามวัย เด็กซาไกค่อนข้างเลี้ยงง่าย ไม่งอแงเนื่องจากได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ หน้าที่เลี้ยงดูลูกเป็นของแม่ซึ่งมักพาลูกไปทุกที่ หากเดินได้แล้วจะปล่อยให้เล่นกับพี่และเด็กวัยไล่เลี่ยกัน เด็กโตหรือเด็กวัยรุ่นมักจับกลุ่มกันพูดคุยเรื่องการเข้าป่าล่าสัตว์ (หน้า 46-47)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ความเชื่อและพิธีกรรม ซาไกมีความเชื่อเกี่ยวกับผีและวิญญาณ โดยเชื่อว่าสรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ มีวิญญาณซึ่งมีอำนาจดลบันดาลสิงสถิตอยู่ ซึ่งมีทั้งวิญญาณที่ดีและวิญญาณที่ไม่ดี นอกจากนี้ยังนับถือผีบรรพบุรุษโดยเชื่อว่า เมื่อคนเราตายไปจะ เกิดเป็นสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ ช้าง ความเชื่อเรื่องผีที่สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติเช่น ผีต้นไม้ทำให้ซาไกเลือกตัดไม้ขนาดเล็กเฉพาะที่ต้องการใช้ประโยชน์ เช่นกันกับความเชื่อเรื่องผีน้ำ ทำให้ซาไกไม่ขับถ่ายลงในน้ำหรือทำให้น้ำสกปรก ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ถูกปลูกฝังในจิตสำนึกและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ซาไกใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน (หน้า 44-45) - พิธีขึ้นเก (ซีมะ) เป็นพิธีที่ทำเมื่อเด็กนอนคว่ำได้ ก่อนทำพิธีพ่อเด็กจะออกไปล่าสัตว์มีขนเช่น นก ลิง ค่าง นำขนสัตว์มาเผาไฟแล้วใช้มือกำควันไฟไว้ เป่าใส่ปากเด็ก พร้อมกล่าวบทสวดแล้วลูบทั่วร่างกาย เพื่อให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วย (หน้า 47, 49) - พิธีศพ ซาไกไม่มีพิธีเกี่ยวกับคนตาย เมื่อมีคนป่วยหนักจะย้ายที่อยู่ไปแหล่งใหม่ แต่ก่อนไป จะทำรั้วล้อมที่พักผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เข้ามาทำอันตราย มีการวางอาหาร น้ำ บอเลาและเครื่องใช้ส่วนตัวไว้ให้เพราะเชื่อว่า หากผู้ป่วยหายก็จะตามไปสมทบกับกลุ่มตามเดิม ซาไกซึ่งมีที่อยู่ถาวรจะนำคนป่วยหรือคนตายไปไว้ในถ้ำห่างจากที่พัก พร้อมวางอาหารและน้ำไว้ให้ ซาไกกลุ่มกันซิวมีพิธีกรรมการฝังศพโดยให้ญาติที่สนิทกับผู้ตายเป็นผู้ทำพิธี การฝังศพทำทันทีที่ตาย ไม่ทิ้งไว้ข้ามคืน โดยขุดหลุมกว้าง 2 ศอก ยาว 3 ศอก ลึก 3 ศอก รองไม้ไผ่ไว้ที่พื้นหลุม วางศพในท่าคู้เข่าหันไปทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศใต้ ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกและใบไม้คลุมร่างก่อนกลบดินแน่น แล้วสร้างทับไว้ปากหลุม ช่วงกลางคืน ญาติจะมาก่อไฟไว้ให้ เชื่อกันว่าช่วยให้ความอบอุ่น (หน้า 49) - พิธีจังเดี้ยง เป็นพิธีสำหรับเด็กผู้หญิงเมื่อเริ่มจะมีประจำเดือน ทำพิธีเช่นเดียวกับพิธี "ขึ้นเก" แต่จะมีการให้คำแนะนำการปฏิบัติตนขณะมีประจำเดือน หญิงซาไกต้องอยู่แต่ในทับออกไปไหนไม่ได้ หากผ้าถุงเปื้อนเลือดมากจะนำไปซัก ห้ามรับประทานสัตว์มีขน หากปวดท้องให้ดื่มน้ำต้มราก Atalantia sp. หรือรับประทานรากเปล่าๆ ช่วยลดอาการปวดท้อง (หน้า 49)

Education and Socialization

การศึกษาของชนเผ่าซาไกส่วนใหญ่ เป็นการศึกษาเพื่อการดำรงชีพถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและศึกษาจากธรรมชาติ ซาไกต้องเรียนรู้วิธีล่าสัตว์ ขุดมัน ทำอาวุธ เด็กซาไก 5-6 ขวบสามารถหาอาหารได้เอง และยังสามารถจดจำชื่อพืชที่ใช้เป็นอาหารและสมุนไพรเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซาไกบางกลุ่มมีโอกาสเรียนในระบบโรงเรียน เช่น กลุ่มที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรบริเวณเทือกเขาบรรทัด และซาไกกลุ่มที่อำเภอธารโต จ.ยะลา กำลังประสบปัญหาการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากถูกกำหนดให้มีที่อยู่ถาวร ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแทนการหาของป่า จึงยังไม่สามารถปรับตัวได้ (หน้า 39-40)

Health and Medicine

ความเชื่อเกี่ยวกับการคลอดบุตร ซาไกมีข้อห้ามสำหรับหญิงมีครรภ์ให้ยึดถือปฏิบัติ เช่น ห้ามทานสัตว์มีขนเช่น ลิง ค่าง หมูป่า ชะนี เชื่อว่าจะทำให้ป่วย สัตว์ที่ทานได้ เช่น เต่า ตะพาบน้ำ ตะกวด ปลา การคลอดมักให้คนแก่ที่มีประสบการณ์หรือสามีทำคลอด อาจไปคลอดในป่าหรือที่พัก มีการแช่รากหินหรือตำตุ้ม ซึ่งเป็นเส้นใยเชื้อราสีดำชนิดหนึ่งนำไปลูบท้องแม่ เชื่อว่าช่วยให้คลอดง่าย เมื่อเด็กคลอดออกมาจะใช้ไม้ไผ่เหลาบาง ๆ ตัดสายสะดือ ใช้ปูนที่กินกับหมากป้ายรอยตัด เชื่อว่าให้เลือดหยุดไหล ใช้ผ้ากวาดสิ่งอุดตันในปากเด็ก มีการให้ดื่มน้ำต้มรากของชิงดอกเดียว ฝนแสนห่าและ Atalantia sp.ซึ่งช่วยขับเลือดหลังคลอด การอยู่ไฟจะใช้ก้อนหินเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 นิ้วนำมาหมกไฟให้ร้อน ห่อผ้าแล้ววางบนท้องแม่ 3-4 วัน วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าแม่เด็กจะเดินได้หรือ "เลือดขึ้น" (หน้า 46-47) การบริโภค เมื่อซาไกหันมาบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และทานเนื้อสัตว์ที่ซื้อจากตลาดมากขึ้น ก็เริ่มมีการใช้วัสดุปรุงแต่งรสอาหารเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันพอ การรับสารแปลกปลอมเข้าไปทำให้ร่างกายอ่อนแอ ซาไกหลายคนป่วยเรื้อรังหรือเสียชีวิตโดย เมื่อพืชสมุนไพรไม่สามารถรักษาได้ ซาไกจึงเริ่มมีค่านิยมรักษาโรคด้วยยาแผนปัจจุบันเพิ่มขึ้น (หน้า 63-64) พืชสมุนไพรรักษาโรค ซาไกมีการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรหลายชนิด เช่น - หมากหมก สามสิบ ใช้รักษาอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดเมื่อย - ข้าวเย็นเหนือ เฒ่าหลังลาย เหล็กฟักไข่ ว่านนางครวญและชิงดอกเดียวใช้รากต้มน้ำให้หญิงหลังคลอดดื่ม ชายนิยมนำมาทานสด ต้มหรือดองเหล้าบำรุงกำลัง - ปากกา เอาะลบนำลำต้นหรือใบมาตำ ใช้พอกแก้พิษสัตว์กัดต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ - รากของว่านนางตัดนำมาต้มน้ำให้สตรีหลังคลอดดื่ม ช่วยให้มดลูกแห้งเร็ว หากดื่มขณะตั้งครรภ์อาจแท้งบุตรได้ - รากของยาลูกขาดทานสดๆ ป้องกันการตั้งครรภ์ - รากของยาร้อยนำมาต้มดื่ม ช่วยลดอาการปวดท้อง ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ ป้องกันการตกเลือด - ยาคลอดง่ายเป็นเห็ดราที่ซาไกแช่น้ำแล้วนำมาลูบท้อง เชื่อว่าช่วยให้คลอดง่าย - ยาเสน่ห์เป็นพืชขนาดเล็กสีม่วงเข้ม ซาไกกลุ่มกันซิวนำไปแช่น้ำมันเสกคาถากำกับ ใช้ป้ายคนที่หลงรักเชื่อว่าจะช่วยให้รักสมหวัง (หน้า 51-52) - นอกจากนี้ ซาไกยังมีภูมิปัญญาในการใช้พืชสมุนไพรรักษาแผลสดโดยใช้น้ำผึ้ง รักษาแผลงูกัดโดยใช้เห็ดงู การรักษาตามความเชื่อ เช่นการแขวนกระดูกค่าง กระดูกลิง เกล็ดลิ่น หัวไพลช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเจ็บป่วย ถ่านไฟหรือขี้เถ้าใช้ป้ายหน้าผากบรรเทาอาการปวดศีรษะ บาดแผลจากไฟไหม้รักษาโดยการทาน้ำมันจากหมูหริ่ง โรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของซาไกในปัจจุบันคือ ไข้มาลาเรีย ซึ่งยังไม่มีพืชสมุนไพรรักษา (หน้า 52-53)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การจักสาน หญิงและเด็กซาไกมักสานภาชนะไว้ใส่ของ และสานเสื่อใบเตยเมื่อมีเวลาว่าง ขั้นตอนการทำเริ่มจากการคัดเลือกใบเตย กรีดส่วนขอบใบที่มีหนามออก ใช้ไม้ไผ่ซี่บางๆ ฉีกเป็นเส้น นวดให้อ่อนตัวลง แล้วนำมาสานแบบขัดแตะทรงกระบอก ใช้เป็นภาชนะใส่ของ สานให้แผ่กว้างใช้เป็นเสื่อ (หน้า 59) การแต่งกาย ซาไกในอดีตใช้เปลือกไม้ ใบไม้และตะไคร่น้ำมาถักเป็นเครื่องนุ่งห่ม ใช้ปกปิดร่างกาย ชายหญิงนิยมเปลือยท่อนบน เด็กไม่สวมอะไร ต่อมามีการนำผ้าชิ้นเล็ก ๆ มาทำผ้าเตี่ยว ปัจจุบันได้รับวัฒนธรรมจากคนเมือง ชายซาไกสวมเสื้อ นุ่งผ้าขาวม้า โสร่งหรือกางเกง หญิงสวมเสื้อ นุ่งโสร่ง กระโปรง กางเกง เด็กเปลือยท่อนบน ไม่นิยมสวมเสื้อผ้า หญิงมักนำเครื่องสำอางมาตกแต่งใบหน้า และใช้เครื่องประดับจากของป่า อาทิ เมล็ดต้นไทหรือลูกหับ นำมาขัดจนดำวาว ร้อยเชือกสวมเป็นสร้อยคอ ซาไกมักมีเสื้อผ้าคนละชุด และมักไม่ค่อยได้ซักเนื่องจากกลัวว่าจะทำให้สัตว์ป่าผิดกลิ่น จึงสวมใส่จนกว่าจะขาดค่อยเปลี่ยนใหม่ ซาไกไม่เคยชินกับการสวมรองเท้า (หน้า 17-18)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลักษณะทางกายภาพที่บ่งถึงเอกลักษณ์ด้านชาติพันธุ์ของซาไก คือผิวเหลือง เส้นผมหยิกขอดติดหนังศีรษะ จมูกแบน ริมฝีปากหนา รูปร่างสันทัดแข็งแรง ชายมักสูงกว่าหญิงเล็กน้อย และมักสูงไม่เกิน 175 ซม. ซาไกมักไม่นิยมการทะเลาะเบาะแว้ง โต้เถียงกัน หากถูกรบกวนมากเกินไปจะอพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น มักหลบคนแปลกหน้าหรือวิ่งหนีเข้าป่าเพราะไม่ไว้ใจ โดยทั่วไปซาไกมีอุปนิสัยร่าเริง ตรงไปตรงมา เอกลักษณ์พิเศษอีกประการหนึ่งคือซาไกเป็นชนเผ่าที่เดินเก่งมาก และเดินได้เร็ว (หน้า 16-17,19)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสังคมภายในของชนเผ่าซาไก เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมภายนอกและมีแนวโน้มจะถูกกลืนมากขึ้น การบุกรุกพื้นที่ป่าทำให้ ซาไกบางกลุ่มหนีเข้าป่าลึก ในขณะที่บางส่วนค่อย ๆ ซึมซับและเรียนรู้วัฒนธรรมภายนอก เช่น การทำเกษตร เพาะปลูก ใช้ปืนล่าสัตว์แทนบอเลา การหันมาบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ภาษาถิ่นภาคใต้มีบทบาทในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น เด็กซาไกรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกผสม พูดภาษาซาไกได้น้อยลง เนื่องจากซาไกแต่งงานกับคนท้องถิ่น การแต่งกายก็เปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรมเมือง ชายซาไกหันมาสวมกางเกงยีนส์ในขณะที่หญิงซาไกนุ่งผ้าถุง แม้จะมีการพัฒนาด้านวัตถุและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แต่ซาไกก็ยังไม่สามารถแยกแยะผลดีผลเสียจากการรับวิถีชีวิตแบบคนเมืองเข้ามา และไม่สามารถแยกแยะบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องได้ ทำให้มักถูกแสวงหาผลประโยชน์ หรือเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่ยุติธรรม บางครั้งก็ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่ต้องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบก้าวกระโดดโดยความช่วยเหลือจากทางการ เช่น ซาไกกลุ่มที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านแหร อำเภอธารโต จ. ยะลา ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ให้ซาไกทำเกษตร เลี้ยงสัตว์และปลูกยางพารา ทำให้ซาไกประสบปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ซาไกบางส่วนจึงหันกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม บางส่วนก็อพยพไปอยู่มาเลเซีย แตกต่างจากซาไกกลุ่มที่อาศัยบริเวณเทือกเขาบรรทัดซึ่งออกมาตั้งถิ่นฐานถาวรโดยความสมัครใจ จนปัจจุบันสามารถปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องและอยู่ร่วมกับสังคมเมืองได้(หน้า 62-66) ลักษณะพิเศษของชนเผ่าซาไกคือ การเดินทนโดยไม่ต้องสวมรองเท้า เนื่องจากซาไกมีผิวหนังใต้ฝ่าเท้าที่ค่อนข้างหนา หญิงซาไกอายุ 70 ปี สามารถเดินป่าขึ้นเขาลงห้วยได้นานร่วม 10 ชั่วโมง โดยไม่เหนื่อย เคยมีคนพยายามนำรองเท้าไปให้ซาไกที่อาศัยอยู่ในป่าสวม ปรากฏว่าซาไกใช้ได้ไม่นานก็ต้องถอดออกเพราะเดินไม่ถนัดเท่าเท้าเปล่า แสดงให้เห็นว่า การสวมรองเท้าแบบคนเมืองไม่เหมาะกับซาไกกลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่านัก (หน้า 18-19)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่แสดงแหล่งอาศัยของชนเผ่าซาไกบริเวณเทือกเขาบรรทัด (หน้า 9) ตารางแสดงจำนวนประชากรชนเผ่าซาไกจากการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 (หน้า 23) ความสมบูรณ์ของเทือกเขาบรรทัด (หน้า 11) สภาพการบุกรุกพื้นทีป่า (หน้า 12) การศึกษาข้อมูลการใช้ประโยชน์พรรณพืชจากซาไก (หน้า 13) ร่องรอยการขุดโครงกระดูกบริเวณถ้ำซาไกบ้านควนไม้ดำ จังหวัดตรัง (หน้า 15) การแต่งกายของซาไกในอดีต (หน้า 18) แม่เฒ่าซาไกในทับของตนเอง (หน้า 19) แผนภูมิแสดงจำนวนประชากรซาไกในช่วงอายุต่าง ๆ (หน้า 24) ซาไกใช้กระบอกไม้ไผ่เก็บน้ำ (หน้า 25) ลักษณะทับของซาไก (หน้า 26) "ซาโอ๊ะ" ของซาไกกลุ่มเจ้าพะ(หน้า 27) สภาพความเป็นอยู่ของซาไก (หน้า 28) ที่พักอาศัยบริเวณเพิงถ้ำ (หน้า 29) สะตอ-พืชเศรษฐกิจของซาไก/ซาไกมักก่อกองไฟช่วงกลางคืน (หน้า 30) มันป่า - พืชอาหารหลักของซาไก (หน้า 31) แป้งจากมันปูนผสมเถ้าจากใบลาโล๊ะหรือใบจะกะลดพิษก่อนรับประทาน (หน้า 32) ซาไกมันนำเนื้อสัตว์มาย่างรับประทาน/หลามข้าว (หน้า 33) ลิ่น - ซาไกกินเนื้อและนำเกล็ดมาร้อยห้อยคอ/ใบของอ้ายเบี้ยวกินเป็นผัก/เนื้อตะกวด - อาหารที่ซาไกโปรดปราน (หน้า 34) อาหารของซาไก (หน้า 35) เมล็ดกระวาน - อาหารว่างของเด็กซาไก/เอื้องดิน - นำมาคั้นดื่มแก้นิ่ว (หน้า 36) ปุดคางคก - นำกาบใบมาใช้สร้างที่พัก/เดื่อปล้องหิน (หน้า 37) สภาพความเป็นอยู่ของซาไก (หน้า 38) เด็กซาไก (หน้า 39) ปัจจุบันซาไกนำสุนัขมาเลี้ยงเพื่อช่วยล่าสัตว์ (หน้า 40) พี่ช่วยพ่อเลี้ยงน้อง (หน้า 41) สภาพความเป็นอยู่ของซาไก (หน้า 42-43) เรือนหอของคู่แต่งงานใหม่ (หน้า 45) หนุ่มซาไกพร้อมภรรยาทั้งสองและลูก ๆ (หน้า 46) ความเชื่อและพิธีกรรม (48) ชิงดอกเดียวใช้รากต้มน้ำให้หญิงหลังคลอดดื่ม หรือใช้ดองเหล้าบำรุงร่างกาย / ว่านนางครวญใช้รากดองเหล้าดื่มบำรุงร่างกาย (หน้า 51) เลาะลบใช้ต้นตำพอกแผลแก้พิษงู/Atalantia sp.- ใช้รากต้มน้ำให้ผู้หญิงหลังคลอดดื่ม ช่วยขับเลือดหรือดื่มขณะมีประจำเดือน ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง (หน้า 52) ตานโมย-ใช้รากดองเหล้าดื่มบำรุงร่างกาย/อุปกรณ์ล่าสัตว์ของซาไก (หน้า 53) การเชื่อมต่อไม้ไผ่ด้วยยางต้นจันหาน/การเผาลูกดอกให้แห้งเพื่อเพิ่มความแข็งแรง (หน้า 54) การเคี่ยวยาพิษ/การเคลือบยาพิษบริเวณปลายลูกดอก และย่างไฟให้แห้ง (หน้า 55) แค - เครื่องช่วยปีนเพื่อเก็บรังผึ้ง สะตอ และเหรียง (หน้า 56) หนุ่มซาไกกำลังทำตะกร้าใบชิงเคี่ยวยางอีโป๊ะ (หน้า 57) ซาไกนำหวายและไม้เสียดสีกันให้เกิดไฟ (หน้า 58) หญิงซาไกใช้เวลาว่างสานเสื่อและภาชนะใส่ของจากใบเตย (หน้า 59) ภูมิปัญญาของซาไก (หน้า 60-61) ซาไกรุ่นใหม่รับอิทธิพลการแต่งกายจากสังคมเมือง/เด็กซาไกกับความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม (หน้า 63) การลักลอบตัดไม้และใช้แรงงานซาไกในป่าเทือกเขาบรรทัด (หน้า 64) ซาไกกับรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป (หน้า 65) หนุ่มซาไกกำลังเป่าลูกดอก (หน้า 66) เด็กน้อยซาไก (หน้า 67)

Text Analyst ศมณ ศรีทับทิม Date of Report 25 ก.ค. 2559
TAG มันนิ มานิ กอย คะนัง(ซาไก), วิถีชีวิต, ภาคใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง