สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลเวือะ,โครงสร้างสังคม,ประเพณี,เศรษฐกิจ,ภาคเหนือ
Author Schrock, Joann L.
Title The Lawa
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
สำนักวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 25 Year 2513
Source Minority group in Thailand, ARPA Research and Development Center Thailand. (P. 937-985)
Abstract

ลัวะที่ในประเทศไทยอาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงบ่อหลวงระหว่างเมืองฮอด และเมืองยวมอีกกลุ่มอาศัยอยู่ในเทือกเขาอุ้มผาย ทำการเกษตรกรรมปลูกข้าวและพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด ถั่ว แตง มันฝรั่ง พริก ผัก และเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ สุนัข เพื่อใช้เป็นอาหารและใช้ในพิธีบูชายัญ ลัวะเชื่อเรื่องภูตผีว่ามีอยู่ในทุกๆ สิ่งรอบตัว พิธีกรรมส่วนใหญ่จึงเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับภูติผี เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติก็จะทำพิธีเซ่นไหว้

Focus

ศึกษาภูมิหลัง โครงสร้างทางสังคม ประเพณีวัฒนธรรม ศาสนา เศรษฐกิจ และการเมืองของลัวะในภาคเหนือของประเทศไทย

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ลัวะมีเชื้อสายออสโตรนีเซียน อาศัยอยู่ทางตอนเหนือ ได้อพยพลงมาทางใต้เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว โดยอาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงบ่อหลวง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเมืองฮอดและเมืองยวม อีกกลุ่มอาศัยอยู่ในเทือกเขาอุ้มผาย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงนี้ (หน้า 937 )

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาลัวะหรือละว้ามีรากมาจากตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค และได้รับอิทธิพลบางส่วนจากมอญ-เขมร ภาษาถิ่นต่างๆ ของ ละว้าแยกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มหนึ่งจะใช้สำเนียงถิ่น Wa-Vu ที่ใช้โดยละว้าแม่ปิง ที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงบ่อหลวง และอีกกลุ่มคือพวกละว้าป่าแป๋ใช้ภาษาถิ่นที่เรียกว่า Angku เป็นพวกแตกแขนงไปอยู่ทางตอนเหนือและตอนใต้ของที่ราบสูงบ่อหลวง และทางตะวันออกเฉียงเหนือของเชียงใหม่ โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่อุ้มผาย ซึ่งเป็นที่อนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้มาก (หน้า 939) ลัวะรู้จักเลือกใช้คำภาษาไทยเกี่ยวกับการเรียกชื่อพืชใหม่ๆ หรือกระบวนการทางการเกษตร ลัวะที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมไทยพูดภษาเหนือได้นอกเหนือจากภาษาของตนเอง และส่วนใหญ่สามารถพูดภาษากะเหรี่ยงได้ด้วย (หน้า 940) ลัวะมีภาษาเขียนของตัวเอง และไทยลัวะมีความรู้ภาษาไทย แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่ามีจำนวนเท่าไรที่อ่านออกเขียนได้ (หน้า 980)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ลัวะเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อ 900 ปีมาแล้ว มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในคริสตศตวรรษที่ 7 หรือ 8 ลัวะพ่ายแพ้แก่คนมอญจากลพบุรี ผู้สร้างเมืองนครลำพูนและนครลำปาง ทำให้ลัวะต้องอพยพขึ้นไปอยู่บนเขาและต่อมาในศตวรรษที่ 13 คนไทยได้เข้ารุกรานมอญและมีความสัมพันธ์กับลัวะ ประมาณ 150 ปีมาแล้ว ลัวะจาก 5 หมู่บ้าน ที่รู้จักกันดีมี 3 หมู่บ้านคือ Mo Pae, Mo Pan และ Mo Hong ปัจจุบันได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ Ban Pae รัฐบาลไทยเริ่มเข้าควบคุมลัวะโดยให้จ่ายภาษี การควบคุมโดยรัฐบาลไทยทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ลัวะบางกลุ่มกลายเป็นคนไทยมากกว่าลัวะกลุ่มอื่นๆ (หน้า 942)

Settlement Pattern

หมู่บ้านของลัวะ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ขนาดประมาณ 20-100 ครัวเรือน หมู่บ้านอยู่บนสันเขาเป็นกระท่อมหลังคาจั่ว บ้านป่าแป๋แตกต่างจากหมู่บ้านลัวะอื่นๆ มี 49 หลังคาเรือนจะสร้างชิดกันในหุบเขา แต่จะรักษาช่องว่างระหว่างหลังคาเพื่อที่น้ำฝนที่ตกจากหลังคาจะไม่ไปปนกับหลังคาบ้านอื่น มิฉะนั้น เจ้าของบ้านจะเจ็บป่วย ลัวะที่บ้านป่าแป๋ สร้างบ้านด้วยเสาไผ่และใช้ไม้ไผ่ถักเป็นผนังและใบหญ้าใช้มุงหลังคา บ้านมีขนาด 12 x 15 ฟุต สูงจากพื้นดิน 4 ฟุต แต่ละหลังมีเพียงห้องเดียว ไม่มีห้องครัว พื้นที่ตั้งเตาไฟตั้งอยู่หลังห้อง มีระเบียงหน้าบ้าน สัตว์เลี้ยงอยู่ใต้ที่อยู่อาศัย หลังคาหน้าจั่วตกแต่งด้วยเขาสัตว์ ฟืนเก็บไว้ด้านใต้หลังคาและผนังบ้าน (รูปบ้านลัวะ หน้า 944) "yu" เป็นบ้านของชุมชนที่ไม่มีระเบียง หลังคาจั่ว ไม่ยกพื้นสูง ภายในไม่มีเครื่องเรือน มีเตาไฟอยู่กลางพื้นบ้าน ด้านนอกมีเสา "sagang" ซึ่งถูกสลักเสมือนสัญลักษณ์ของเผ่า และใช้เสาผูกสัตว์ทำพิธีบูชายัญ หมู่บ้านลัวะที่ถูกกลืนกลายเป็นไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำลงมาบนที่ราบสูงบ่อหลวงมีจำนวน 200 หลังคาเรือน บ้านเรือนเรียงรายอยู่ริมถนนแคบๆใกล้กับชุมชนของคนไทย ผนังและพื้นไม้มุงด้วยกระเบื้อง มีห้อง 2 ห้อง ได้แก่ ห้องหลักและห้องทอผ้า แต่ละบ้านมีสวนผลไม้และปลูกผัก (หน้า 942-944)

Demography

ไม่มีข้อมูล

Economy

ลัวะทำการเกษตรกรรมปลูกข้าวและพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด ถั่ว แตง มันฝรั่ง พริก ผัก และเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ สุนัข เพื่อใช้เป็นอาหารและใช้ในพิธีบูชายัญ พืชผลเป็นสินค้าที่ลัวะนำไปขายในตลาด ทำให้มีรายได้เฉลี่ย 1,000 บาท/ปี ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกของลัวะคือ ข้าว มีการทำนาขั้นบันได วัฎจักรของการเกษตรเริ่มขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยจะเลือกพื้นที่ที่คาดว่าจะให้ผลผลิตดีบวกกับลางบอกเหตุที่ทำผ่านพิธีบูชายัญ การทำนาจะเริ่มจากด้านล่างสู่ด้านบน มีการเผาทุ่งนาในฤดูแล้งเพื่อควบคุมวัชพืชและแมลง โดยจะระวังไม่ให้เกิดไฟป่า (หน้า 972) การปลูกข้าวนาปรังนิยมในหมู่คนไทย-ลัวะที่บ่อหลวง และในหุบเขาแม่ปิงเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา การเพาะปลูกในพื้นที่ทดน้ำเริ่มในเดือนพฤษภาคมช่วงฤดูฝน (หน้า 927,973) นอกจากการเพาะปลูก ลัวะรู้จักการทอผ้า ทำที่นอน ทำเครื่องจักสานเพื่อขายในตลาดท้องถิ่น บ่อยครั้งที่ผู้ชายจะออกไปรับจ้างในโรงงานทำไม้และงานก่อสร้างทางหลวงเพื่อหารายได้หรือเก็บไว้เป็นค่าสินสอดให้กับเจ้าสาวเมื่อต้องการแต่งงาน (หน้า 975) ลัวะภูเขาจะค้าขายกับคนไทยและลัวะที่อยู่ในหุบเขาเบื้องล่าง เพราะความแตกต่างทางประเพณี วัฒนธรรม และภาษา ลัวะจึงรู้สึกว่าตนเสียเปรียบบ่อยๆ รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกบนเขาของลัวะแต่มิได้เข้าแทรกแซง อย่างไรก็ดี ลัวะต้องแย่งชิงพื้นที่ทำนากับกะเหรี่ยงที่ทำทีจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ถูกครอบครองโดยบุคคลที่เข้ามาซื้อ ขาย เช่า หรือจำนอง (หน้า 976) ลัวะต้องจ่ายภาษีต้มเหล้า ภาษีกระบือ และปืน รัฐบาลเริ่มเรียกเก็บภาษีเมื่อ ค.ศ. 1964 และลัวะยังถูกเรียกไปที่แม่สะเรียง ในปีเดียวกันเพื่อถ่ายรูปทำบัตรประชาชน ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมทำบัตร ชาวเขารู้สึกว่ามันคือภาษีเเบบหนึ่ง สถานะทางเศรษฐกิจของลัวะถดถอยลงในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เป็นของพวกเขา ซึ่งกะเหรี่ยงได้ขอเช่าทำการเพาะปลูก ในสายตาของลัวะ กะเหรี่ยงเป็นผู้ก้าวร้าวและเอาที่ดินไปอย่างไม่สมควร มีการสำรวจ 15 ครอบครัวในบ้านป่าแป๋ช่วงต้นปี ค.ศ. 1960 พบว่าครัวเรือนหนึ่งได้ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,225 บาทต่อปี ใช้ไป 1,000 บาทเพื่อยังชีพ เมื่อหักแล้วก็จะมีเงินเหลืออยู่ 225 บาท รวมการขายพืชผลอื่นๆ ค่าเฉลี่ยของรายได้ก็ยังคงน้อยกว่า 400 บาท (หน้า 978) ธรรมเนียมการดื่มกิน ลัวะปลูกผักและผลไม้ เช่น ขนุน ส้มโอ ส้ม หรือองุ่น ลัวะเป็นมังสวิรัติเพราะสัตว์หายาก ลัวะที่อยู่ห่างไกลออกไปหากบ ปู คางคก หรือสุนัขเป็นอาหารเพราะเป็นเนื้อที่หาได้ การบริโภคเนื้อสัตว์ เช่น หมูหรือไก่ถูกจำกัดเฉพาะยามมีการบูชายัญหรือพิธีกรรม "plai" เป็นเหล้าข้าว ลัวะนิยมดื่มเป็นยาและเพื่อเข้าสังคม และการเคี้ยวหมากพลูหรือสูบยาเส้นก็เป็นกิจกรรมยามว่างอย่างหนึ่ง (หน้า 962)

Social Organization

โดยทั่วไปผู้ชายลัวะมีบทบาทในสังคมตามอายุและตำแหน่งของวงศ์ตระกูล ผู้หญิงชราจะมีบทบาทในฐานะเป็นผู้ที่ควรเคารพ ผู้ชายสามารถเลื่อนสถานภาพของตนได้ เช่น หากแต่งงานกับแม่หม้ายที่เป็นหัวหน้าของตระกูลและย้ายไปอยู่บ้านสามีเก่ากับนาง เขาก็จะกลายเป็นผู้นำของตระกูล ผู้นำตระกูลเรียกว่า "samang" ถ้าเป็นผู้นำหมู่บ้านจะได้ชื่อว่า "big samang" ในบ้านแต่ละบ้านจะมี samang ซึ่งผู้ที่ได้ตำแหน่งจะเป็นชายที่มีอายุมากที่สุด หากไม่มีผู้ชาย ผู้หญิงก็รับตำแหน่งได้ ผู้หญิงทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน เก็บฟืน บรรทุกน้ำ บดข้าว ทำอาหาร ทอผ้า ผู้ชายจะทำงานหนักกว่า เช่น ซ่อมเครื่องมือ ก่อสร้าง ซ่อมบ้าน ล่าสัตว์ ผู้หญิงจะช่วยผู้ชายทำงานอื่น เช่น ปลูกพืช หรือเก็บพืชผล (หน้า 950, 951) ครอบครัวลัวะเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่ก็อาจมีญาติพี่น้องรวมอยู่ด้วย ในครอบครัวประกอบด้วยสามี ภรรยา และลูกๆ เมื่อแต่งงานฝ่ายชายจะพาฝ่ายหญิงไปที่บ้านของบิดาและอยู่ที่นั่นประมาณ 2-3 ปีจนกว่าน้องชายแต่งงาน ลูกชายคนสุดท้องจะอยู่กับพ่อแม่ไปเรื่อยๆ โดยมากบ้านหลังหนึ่งมีห้องไม่พอสำหรับคู่แต่งงาน 2 คู่ ถ้ามีเพิ่มอีกคู่ก็จะต้องอยู่ห้องเล็กที่สร้างเพิ่มตรงระเบียง การจัดพื้นที่ภายในบ้านนั้น พ่อแม่ของครอบครัวจะนอนที่ด้านหลังบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของผีบรรพบุรุษ เด็กเล็กจะนอนกับพ่อแม่ ในเรื่องหน้าที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและตำแหน่งของผู้สืบตระกูลจะมีขึ้นเมื่อลูกชายคนโตของบ้านตั้งตัวได้ ก็จะขอตำแหน่งจากพ่อและบูชาบรรพบุรุษ หากบ้านไหนไม่มีลูกชายก็จะยกตำแหน่งให้ลูกเขย หากไม่มีชายผู้สืบทอดตำแหน่งก็จะตกอยู่กับเขาจนกระทั่งตาย และหากภรรยาแต่งงานใหม่ สามีใหม่ที่ย้ายเข้ามาที่บ้านแม่หม้ายก็จะได้ตำแหน่งนี้ ถ้าผู้ชายตาย ทรัพย์สมบัติจะเป็นของผู้หญิงและลูกชาย ส่วนลูกสาวจะไม่ได้อะไรนอกจากเครื่องประดับเงิน (หน้า 952 ) ลัวะเชื่อว่าการแต่งงานเป็นกระบวนการของความรัก ก่อนแต่งงานก็จะมีการเกี้ยวพาราสี เมื่อฝ่ายหญิงอยากให้ฝ่ายชายมาเกี้ยวก็จะออกไปสังสรรค์กับเพื่อนสาว ช่วงหัวค่ำฝ่ายชายจะมาเยี่ยม และใช้เวลาสูบยา พูดคุยทำความรู้จักกัน พวกเขายังมีโอกาสอื่นๆ ที่ได้เข้าสังคม เช่น การสร้างบ้าน การแต่งงาน การปลูกพืช การเก็บเกี่ยวและพิธีศพ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องการคู่ชีวิตที่มีมาตรฐานคล้ายกันคือ ดูดี มีอารมณ์ขัน เป็นมิตรและขยันทำงาน เมื่อต่างฝ่ายต่างสนใจกัน การเกี้ยวพาราสีเป็นกลุ่มก็จะหยุดลงแล้วเริ่มพบกันตามลำพัง ฝ่ายชายจะเกี้ยวสาวโดยการเล่นดนตรีและร้องเพลงเกี่ยวกับความรัก มีการแลกเปลี่ยนของขวัญ เมื่อของขวัญเริ่มเพิ่มค่าขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นสัญญาว่าต่างฝ่ายต่างยอมรับกัน เมื่อตัดสินใจจะแต่งงานกันก็ต้องขออนุญาตจากพ่อแม่ (หน้า 954) เมื่อให้กำเนิดบุตร สายสะดือของทารกจะถูกตัดด้วยมีดไผ่ พ่อจะนำรกไปฝังในหลุมใต้ถุนบ้าน และทำกับดักกันสัตว์ หลังคลอดบุตร ผู้หญิงต้องรักษาตัวให้หายภายใน 5 วัน และมีพิธีเรียกขวัญ เด็กลัวะเมื่ออายุได้ 7 ปีก็จะช่วยงานในไร่นา เด็กผู้ชายเมื่ออายุได้ 16 ปีก็จะเป็นผู้ชายเต็มตัว พ่อแม่จะให้ดาบและชายหนุ่มจะสักร่างกาย ส่วนหญิงที่โตเป็นสาวแล้วจะขัดฟันดำ กิจกรรมของผู้ใหญ่คือการทำงานในไร่นา ทำเครื่องเงิน ทำงานบ้าน ทอผ้า ทำอาหารหรือออกไปล่าสัตว์ ลัวะชอบออกไปสังสรรค์กับญาติและเพื่อนตามโอกาส ลัวะให้ความเคารพญาติผู้ใหญ่ (หน้า 956-957)

Political Organization

"big samang" เป็นผู้นำหมู่บ้านของลัวะ มีหน้าที่ทางศาสนาและส่งเสริมวัฒนธรรมของลัวะ ผู้นำต้องเป็นผู้จัดการด้านการทำสำมะโนครัว การเกิด การตาย การย้ายถิ่น ออกกฏและออกคำสั่งแต่งตั้งชายในหมู่บ้านเมื่อมีความจำเป็น ดูแลเรื่องวัฎจักรการเพาะปลูกเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นผู้ติดต่อเรื่องการเก็บภาษีและดูแลเจ้าหน้าที่ของไทย (หน้า 978)

Belief System

ลัวะศรัทธาในพุทธศาสนา แต่ก็ทำพิธีกรรมเกี่ยวกับสัตว์ ทายาทของลัวะที่อาศัยอยู่บนภูเขาได้สร้างวัดที่เก่าที่สุด คือวัดเจดีย์หลวงในจังหวัดเชียงใหม่ การบูชาสัตว์ของลัวะอยู่บนฐานของความเชื่อที่ว่ามีทั้งผีดีและร้ายที่สถิตอยู่ในสิ่งต่างๆ ผีที่เป็นผู้ดูแลครอบครัว ท้องฟ้า ป่าเขา และหมู่บ้าน จะได้รับเลือดหมู ไก่ และไวน์ เป็นเครื่องเซ่น ลัวะใช้สัตว์เป็นเครื่องเซ่นในเรื่องเกี่ยวกับการเจ็บป่วย ฝนฟ้า พืชพันธุ์ สุขภาพ เพราะเชื่อว่าการเซ่นทำให้ผีพอใจ ลัวะเชื่อว่าทุกคนที่ตายไปจะกลายเป็นผี และจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กและคนที่ยังไม่แต่งงาน กลุ่มคนที่ไม่ได้ตายตามธรรมชาติหรือตายนอกหมู่บ้าน และกลุ่มคนที่แต่งงานและตายที่บ้าน กลุ่มที่สามนี้จะกลายเป็นผีบรรพบุรุษ ผีบรรพบุรุษเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อครอบครัวลัวะ เพราะเป็นผีที่ปกป้องคุ้มครองคนในบ้าน ขจัดเคราะห์ความเจ็บไข้และรักษาทรัพย์สิน ทุกบ้านจะมีผีคุ้มครองเรียกว่า ผีปู่ เครื่องเซ่นทั่วไปจัดเป็นสำรับขนาดเล็ก และไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ ลัวะเชื่อว่าทุกๆ สิ่งที่อยู่ในป่ามีภูติผีเป็นสื่อกลาง เช่น ผีป่า ผีลำธาร ผีต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เพราะผีเป็นสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์ ผีสายฟ้าเป็นผีที่มีพลังมากเพราะทำให้พืชผลในไร่นาเสียหาย ผีวีรบุรุษในหมู่บ้านจะได้รับการยกย่องด้วยการตั้งเสาไม้สูง 4 ฟุต นอกจากนี้ลัวะบ้านป่าแป๋ยังเซ่นไหว้ผีเจ้านายซึ่งเป็นผีของคนไทยในท้องถิ่นด้วย ลัวะเชื่อว่าผีที่อาศัยอยู่บนสวรรค์ซึ่งมีเจ้าที่เป็นหัวหน้าจะเป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด ซึ่งจะมีการประชุมกันทุกวันอาทิตย์ ทำให้ลัวะไม่มีการเซ่นไหว้ในวันอาทิตย์ เพราะเชื่อว่าผีที่มีอำนาจมากจะประชุมกัน (หน้า 966, 967,969) นอกจากนี้ลัวะยังเชื่อเรื่องขวัญในร่างกายของมนุษย์มี 32 ขวัญ ถ้าขาดหายไปขวัญหนึ่งก็จะเกิดการเจ็บป่วย เกิดประเพณีผูกข้อมือและกินไข่แข็งเพื่อเรียกขวัญกลับคืนมา นอกจากนี้ยังเชื่อเรื่องขวัญที่มีอยู่ในสัตว์ต่างๆ ด้วย (หน้า 968) ในอุ้มผาย การทำพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ มีการนำศพไปไว้ที่บ้าน 3-7 วัน ศพจะนำใส่โลงไม้ ประดับตามแบบประเพณี เหรียญทองแดงจะนำไปใส่ไว้ในปากศพ พร้อมกับอาหารและสิ่งของต่างๆ สัตว์จะถูกเลือกมาบูชายัญขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ถ้าเป็นศพเด็กจะใช้เลือดไก่ ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะใช้เลือดกระบือ ลัวะเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายจึงฝังศพพร้อมกับอาหารและสิ่งของจำเป็น ส่วนไทยลัวะรับประเพณีแบบพุทธศาสนาจะห่อศพด้วยผ้า และเอาเหรียญใส่ไว้ในปากก่อนตาย ศพจะตั้งไว้ 3 วันก่อนเผา เถ้ากระดูกจะนำไปฝังไว้ในสุสาน (หน้า 958, 959) ข้าวมีความสำคัญกับลัวะ ก่อนการเก็บเกี่ยวจะมีประเพณีอุ้มไก่ผ่านทุ่งนาเพื่อบอกข้าวไม่ให้กลัวเครื่องนวด เพราะเชื่อว่าข้าวมีวิญญาณ และจะมีพิธีปลุกผีก่อนที่จะเก็บเข้ายุ้งและก่อนเอาออกมา ลัวะทำเพื่อให้มั่นใจว่าข้าวจะไม่หายไป (หน้า 969) ผีบ้านผีเรือน ทุกๆ บ้านจะมีแท่นบูชาผีเรือน เมื่อจะมีการซ่อมแซมบ้านก็ต้องระวัง จะต้องเชิญผีบ้นผีเรือนไปอยู่บ้านเพื่อนบ้านเสียก่อน (หน้า 970) ผู้นำทางศาสนาของหมู่บ้านลัวะเป็นทายาทของ Khun หรือ samang ทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรม ยกเว้นพิธีศพ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาวัฒนธรรมประเพณีลัวะ เมื่อมีพิธีกรรมทางศาสนา lam หรือ samang จะเป็นผู้เชิญผีให้มารับเครื่องเซ่นสังเวย เนื้อสัตว์จะนำมาทำอาหารให้ภูตผีและที่เหลือก็จะนำมาบริโภคในครอบครัว (หน้า 969) กลุ่มมิชชันนารีกลุ่มแรกที่เข้าไปสอนศาสนาให้ลัวะคือ Presbyterians เข้ามาในหมู่บ้านละอุบ (Ban Laup) ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ถัดมาเป็นกลุ่มโปรเตสเต็นท์ Protestant New Tribes Mission ที่เข้ามาในพื้นที่เมื่อปี ค.ศ. 1951 โดยเข้ามาทำงานใน แม่สะเรียงและใช้ภาษาถิ่นละอุบ เป็นพื้นฐานในการเทียบคำภาษาลัวะกับอักษรโรมัน ทำให้ลัวะอ่านคัมภีร์ไบเบิลและเขียนภาษาตัวเองได้ แต่ลัวะไม่สนใจเพราะลัวะยังเคารพผีบรรพบุรุษ (หน้า 970, 971)

Education and Socialization

มีโรงเรียนรัฐบาลไทยที่บ้านป่าแป๋ สำหรับลัวะ จากการสังเกตการณ์ 6 เดือนพบว่าชั้นเรียนมีน้อยกว่า 6 สัปดาห์ ทั้งนี้เพราะลัวะมีพิธีกรรมบ่อยครั้ง มีครูที่ลัวะชื่นชมที่สอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้อง ครูสอนทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และสอนผู้ชายให้รู้จักโลกภายนอก ให้เคยชินกับรัฐบาลไทย สภาพการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามในลาวหรือเหตุการณ์ในพม่า (หน้า 959, 960)

Health and Medicine

ปัญหาสุขภาพของลัวะ คือ ภาวะขาดโปรตีนและขาดการช่วยเหลือทางการแพทย์ที่จะเข้ามาตรวจโรคและรักษาก่อนการแพร่ระบาด ลัวะช่วยตนเองโดยใช้พืชเป็นยา เช่น ใช้ฝิ่นบรรเทาความเจ็บป่วย หรือนวดบริเวณที่เจ็บปวด โรคที่เกิดประจำคือ ท้องร่วงและการติดเชื้อในลำไส้ อาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ปวดหัว หรือโรคผิวหนัง เป็นต้น ถ้าสมาชิกในบ้านป่วย ลัวะเชื่อว่าเพราะมีผีเข้า ชาวบ้านจะทำพิธีไล่ผีด้วยเครื่องเซ่น เช่น ข้าว ขมิ้น ด้าย รูปปั้นช้างม้า และรูปปั้นคน นำมาจัดใส่ถาด พอเสร็จพิธีก็จะนำออกไปนอกหมู่บ้าน หรือมีการรักษาด้วยการบูชายัญสัตว์ หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการดีขึ้น สัตว์ก็จะถูกฆ่าเพื่อเซ่นผี และในพิธีมีการสวดมนต์ "samang" เป็นชื่อของผีที่ถูกเรียกให้มาช่วยรักษาโรครุนแรง เช่น อาการบ้า หรือโรคระบาด ในหมู่บ้านไม่มีหมอ ผู้ชายในหมู่บ้านได้รับการฝึกการปฐมพยาบาลขั้นต้น อย่างไรก็ดี ยังมีคนบางพวกที่อวดอ้างว่าสามารถสื่อสารกับวิญญาณได้ ถ้าพิธีกรรมในการรักษาของลัวะไม่สำเร็จ หมอผีหรือผู้วิเศษกะเหรี่ยงก็จะแวะมาเป่ามนต์คาถา พิธีกรรมนี้ ผู้ป่วยต้องนั่งตรงประตูทางเข้าบ้าน มีปลายเชือกด้านหนึ่งผูกเข้าที่คอ และอีกข้างผูกที่ไม้ไผ่ที่วางของเซ่น หมอผีกะเหรี่ยงจะเรียกผีให้ออกมาตามเชือกที่ผูกไว้ แล้วตัดเชือกอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น จะนำถาดเซ่นออกไปให้พ้นหมู่บ้าน หมอกะเหรี่ยงได้รับค่าจ้างเป็นด้าย เหล้าข้าว ข้าวเปลือก และเงินประมาณ 10-20 บาท การเจ็บป่วยอื่นมีการเจ็บป่วยทางวิญญาณ ลัวะเชื่อว่าพบในเด็ก การเจ็บป่วยนี้ทำให้วิญญาณของเด็กไม่สงบ วิธีรักษาครอบครัวต้องจัดพิธี การรักษามี 2 แบบคือ การสัก และการผูกข้อมือ พิธีผูกข้อมือทำในโอกาสสำคัญ ทั้งในพิธีแต่งงาน พิธีรับขวัญเด็กแรกเกิด รับขวัญมารดา เชื่อว่าจะทำให้สุขภาพดี การผูกข้อมือยังเป็นการขอขมาที่ลัวะรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ ลัวะไม่ปฏิเสธที่จะรักษาด้วยการกินยาสมัยใหม่ แต่ความช่วยเหลือด้านสุขภาพไม่มีมากนัก (หน้า 947-948)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายแบบประเพณีของลัวะ ผู้หญิงจะใส่ชุดที่มีสีสัน สวมกระโปรงที่ทอเองและเสื้อคลุมแขนยาวสีขาวหรือดำ ขอบเสื้อด้านล่างมีแถบสีขาวหรือสีแดง ลัวะที่อยู่ห่างไกลทอผ้าฝ้ายใช้เอง สตรีสวมชุดคลุมหลวมสีขาวหรือฟ้า สีฟ้าอาจหมายถึงคนที่แต่งงานแล้ว ผ้าคลุมเป็นชุดยาวลงมาเปิดแขนและศีรษะ กระโปรงสวมยาวคลุมเข่า มีแถบขาว สีน้ำเงินเข้ม สีดำ และสีแดงเป็นที่นิยมทั่วไป (ดูรูปหน้า 962) ผู้ชายลัวะในชุมชนห่างไกลจะสวมกางเกงและเสื้อคลุมแขนสั้น ซึ่งมักซื้อเอามากกว่าให้ภรรยาทอให้ สีเสื้อผ้ามักเป็นสีขาว (หน้า 963) ลัวะสวมเครื่องประดับเงิน สร้อยคอลูกปัดแก้ว และกำไลเงิน ในโอกาสพิเศษ ผู้หญิงจะปะหน้าจนขาวและแต่งผม บนศีรษะมีเครื่องคลุมหลวม ๆ สีขาวที่ใช้กันทั้งชายและหญิง หมวกกันฝนปีกกว้างใส่ในฤดูฝนและหมวกบุนวมใช้บรรจุของเทินบนศีรษะ (หน้า 961) ไทยลัวะชอบซื้อเสื้อผ้ามากกว่าจะทำเอง ดังนั้น เสื้อผ้าจึงดูคล้ายกับของไทยและกะเหรี่ยง ผู้หญิงสวมกระโปรงแบบยาวเลียนแบบไทยและสวมเสื้อคลุมหลวมๆ คล้ายกะเหรี่ยง (หน้า 963)

Folklore

มีนิทานเกี่ยวกับความเป็นมาของลัวะ เกี่ยวกับราชาองค์สุดท้ายชื่อขุนหลวงวิลังคุ ผู้ปกครองเมื่อ 900 ปีมาแล้ว พระราชาองค์นี้ตกหลุมรักพระนางจามเทวี ผู้เป็นราชินีมอญแห่งเมืองลำพูน พระนางตกลงจะอภิเษกกับพระราชาหากพระราชาสามารถพุ่งหอกจากดอยสุเทพไปยังพระราชวังของนางได้ และพระนางจามเทวีได้เอาผ้าจากกระโปรงของนางให้พระราชาผูกไว้อ้างว่าเพื่อความโชคดี แต่แท้จริงแล้วนางได้เสกคาถาไว้เพื่อไม่ให้พระราชาทำสำเร็จ พระราชาจึงแพ้ทำให้ลัวะต้องหนีเข้าป่า อีกเรื่องหนึ่งกล่าวถึงลัวะที่เข้ามาอยู่บนภูเขา มีเรื่องเล่าว่าหลายร้อยปีมาแล้ว ลัวะอาศัยอยู่แถบหุบเขาสาละวิน วันหนึ่งมีหินก้อนมหึมาตกลงมาไล่ลัวะ จึงทำให้ต้องหนีไปอยู่หุบเขาขุนยวมแต่ก้อนหินนั้นก็ยังตามลัวะมา จนมาถึงลำธารชื่อ Mae La Noi ลัวะหยุดหินก้อนนี้ได้ ก้อนหินจึงได้ขอให้นกหัวขาวช่วยตามหาลัวะ นกตัวนี้เป็นเพื่อนกับลัวะจึงบอกก้อนหินว่าตนได้ตามหาลัวะจนขนบนหัวเปลี่ยนเป็นสีขาวแล้ว ก้อนหินจึงหมดหวังและนกก็บินไปบอกลัวะให้ออกมาจากที่ซ่อนเพราะก้อนหินหยุดไล่แล้ว เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่อของคนใช้ที่ชื่อว่า S' Mang Roh-eh พบในบันทึกแผ่นทองคำ 2 แผ่นที่ถูกฝังอยู่ใกล้อุ้มผาย สาวใช้คนนี้เป็นคนสวย มีผมยาวจรดพื้น และทุกๆ ครั้งที่นางหวีผมก็จะเกิดเสียงที่ไพเราะที่สุด วันหนึ่งนางตกหลุมรักวิญญาณชายหนุ่ม พ่อแม่ของนางไม่ชอบเพราะมองไม่เห็นผู้ชาย แต่ในที่สุดก็ยินยอมให้ทั้งสองแต่งงานกัน ฝ่ายชายไม่ได้มาเยี่ยมครอบครัวฝ่ายหญิงอีกเลยจนกระทั่งนางคลอดบุตร S'mang Roh-eh พาลูกน้อยไปเยี่ยมตายายพร้อมกับหีบทองคำ ฝ่ายพ่อแม่นางก็ดีใจที่นางมีของขวัญมาให้ แต่หลังจากที่นางเดินทางกลับ หีบทองนั้นก็กลายเป็นธุลีและใบไม้แห้ง สามีนางชื่อว่า Kho-era Glawm Sai ชาวบ้านเชื่อว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในสวนแห่งหนึ่งที่ Doi Cam ใกล้ๆ กับแม่แจ่ม ผลไม้ที่ปลูกในสวนมี มะม่วง สับปะรด และอ้อย ผู้คนกล่าวว่าเมื่อเดินผ่านสวนนี้ผลไม้ก็จะลอยตกใส่ศีรษะ (หน้า 940-942)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลัวะมีความสัมพันธ์กับกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงจะเข้ามาเยี่ยมในหมู่บ้านเวลามีงานเทศกาล กะเหรี่ยงถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกที่เหยียดหยามลัวะ ลัวะเข้าใจภาษากะเหรี่ยงแต่กะเหรี่ยงไม่เข้าใจภาษาลัวะ บ้างว่ากะเหรี่ยงกับลัวะมีความสัมพันธ์กัน เพราะกะเหรี่ยงเข้ามาใช้เพื้นที่ของลัวะ โดยจ่ายค่าเช่าที่ดินปีละครั้ง อย่างไรก็ดี ลัวะรับคำแนะนำด้านการแพทย์จากกะเหรี่ยงและยอมรับว่ากะเหรี่ยงเป็นนักสัก (960)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ลักษณะของลัวะ ลัวะค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยผู้ชายสูง 5 ฟุต 4 นิ้ว ส่วนผู้หญิงสูงเฉลี่ย 5 ฟุต ลัวะมีจมูกเป็นสัน มีผมสีดำน้ำตาลเป็นลอนคลื่น ผู้ชายไว้ผมสั้น ผู้หญิงไว้ผมยาวรวบเกล้าไว้ตรงต้นคอ ผู้ชายลัวะค่อนข้างผอมขณะที่ผู้หญิงล่ำกว่า โดยทั่วไปรูปร่างหน้าตาดี ฟันขาว ยกเว้นแต่คนที่เคี้ยวพลู วัยรุ่นสาวจะขัดฟันให้ดำด้วยเปลือกไม้ ผู้ชายจะสักตั้งแต่เอวถึงเข่า หรือสักแขน หน้าอก หลัง ขา และหน้า เพื่อแสดงถึงความเป็นชาย และเชื่อว่ารอยสักจะปกป้องจากวัตถุแหลมคมและศัตรู (หน้า 945) ลัวะเป็นผู้ที่รักสันติ ไม่สู้รบ และเคารพสิทธิของผู้อื่น ยามว่างก็จะเข้าสังคม ชอบทำกิจกรรมร่วมกัน ลัวะค่อนข้างขี้อายแต่เป็นมิตรกับคนแปลกหน้า (หน้า 948, 949) ธรรมเนียมเกี่ยวกับสัตว์ ลัวะเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กระบือ สุกร ไก่ และสุนัข ถ้าสัตว์เหล่านี้มีพฤติกรรมแปลกๆ ก็จะถูกฆ่าเพราะคิดว่ามีภูตผีสิง ลัวะเชื่อว่า ถ้าไก่บินผ่านบ้าน สุกรกัด หรือสุกรมีรูปร่างพิการ ถือเป็นลางร้าย (หน้า 963)

Map/Illustration

พื้นที่การตั้งถิ่นฐานของชาวละว้า (หน้า 936) รูปที่ 41 ลักษณะบ้านเรือนชาวละว้า (หน้า 944) รูปที่ 42 หญิงละว้า (หน้า 962)

Text Analyst กฤษฎาภรณ์ อินทรวิเชียร Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ลเวือะ, โครงสร้างสังคม, ประเพณี, เศรษฐกิจ, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง