สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กูย,ส่วย,คุณภาพชีวิต,การศึกษา,ศรีสะเกษ
Author น้ำทิพย์ พุ่มไม้ทอง
Title คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล และความต้องการทางการศึกษา สำหรับกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพประชากร กรณีศึกษาชาวส่วยเขมร หมู่บ้านแจงแมง และหมู่บ้านชำ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีษะเกษ
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity กูย กุย กวย โกย โก็ย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) Total Pages 205 Year 2534
Source หลักสูตรปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

จากการสำรวจคุณภาพชีวิตของส่วยเขมรในหมู่บ้านแจงแมง และหมู่บ้านชำ พบว่าสภาพคุณภาพชีวิตยังเป็นปัญหาอยู่เกือบทุกด้าน สาเหตุคือ 1.ความยากจน เกิดจากผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ต่ำ ขาดเงินทุนจัดหาปัจจัยการผลิต ขาดความรู้และประสบการณ์การเกษตรแผนใหม่ ที่จะทำให้ผลผลิตสูง การมีลูกมาก การถูกเอาเปรียบจากนายทุนที่กู้ยืมเงินมาลงทุนในอาชีพ หรือใช้จ่ายในครัวเรือนโอกาสในการเลือกอาชีพมีน้อย 2.ความเจ็บไข้ ไม่สามารถประกอบการงานได้ หรือได้ไม่เต็มที่มีอัตราสูง เนื่องจากการกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ที่พักอาศัย การรักษาพยาบาลยังไม่ถูกต้องตามสุขบัญญัติ 3.ความไม่รู้ หรือการศึกษาต่ำ ทำให้คิดว่าไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ ซึ่งเป็นผลจากสภาพแวดล้อม และสิ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในสังคมส่วยเขมรมีน้อย 4.เนื่องจาก ความไม่กระตือรือร้นในการประกอบอาชีพ หรือการแสดงออกทางสังคมที่ขาดระเบียบ ไม่สนใจเหตุการณ์แวดล้อม คอยแต่ความช่วยเหลือจากทางราชการ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของส่วยเขมร เป็นไปใม่ได้เท่าที่ควร ประกอบกับส่วยเขมรยังขาดความเข้าใจถึงประโยชน์และข้อดี ในการร่วมมือกันทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนในด้านความต้องการทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่วยเขมรมีความต้องการความรู้มากน้อยต่างกันตามองค์ประกอบพื้นฐานด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ดี นโยบายหรือการจัดการศึกษาที่เน้นอาชีพที่ผ่านมา ส่วยเขมรยังไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการดำรงชีวิต เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องสภาพภูมิประเทศ และความยากจน (หน้า 194,197-198)

Focus

สภาพทั่วไปทางกายภาพ ทัศนคติ เศรษฐกิจ สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ตามองค์ประกอบความจำเป็นพื้นฐาน และสภาพปัญหาต่างๆ ตามกาลเวลา (หน้า 73-127, 168-194) ตลอดจนความต้องการด้านการศึกษา (หน้า 146-152) ในการสำรวจภาวะความมีคุณภาพชีวิต ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือกำหนดแนวทางพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในชนกลุ่มน้อยส่วยเขมร หมู่บ้านแจงแมง และหมู่บ้านชำ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ส่วยเขมร "ส่วย" เป็นคำที่คนไทยใช้เป็นชื่อเรียกกลุ่มชนที่มีพันธะทางสังคม ไม่ได้กำหนดจากเชื้อชาติ สืบเนื่องในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ดินแดน และผู้คนที่อาศัยในบริเวณตั้งแต่แม่น้ำมูล จังหวัดบุรีรัมย์เรื่อยไปจนถึงแขวงจำปาศักดิ์ - สาละวิน และอัตปือ เข้ามาไว้ในอำนาจนั้น มีพันธะว่าจะต้องส่งส่วยของป่าให้กับราชสำนักตามอัตรากำหนด ต่อปี ซึ่งจำนวนผู้คนที่มีพันธะต้องส่งส่วย หรือถูกจับเป็นข้าทาสเป็นชนชาติในตระกูลภาษามอญ-เขมร มากที่สุด ซึ่งในภาษาลาวหรือไทยอีสานเรียกคนเหล่านี้ว่า "ข่า" หรือ "ข้า" ส่วนพวกส่วยเองนั้นเรียกตัวเองว่า "กุย" แปลว่า คน แต่คนไทยใช้คำว่า "ส่วย" หมายรวมถึงพวกที่เป็นเขมร หรือลาวด้วย (หน้า 33-39, หน้า 65) และสำหรับหมู่บ้านแจงแมง และหมู่บ้านชำที่ได้ทำการศึกษานี้ เป็นส่วยเขมรทั้งหมด มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นแบบเขมรโดยไม่ปะปนกับคนไทยอีสาน (หน้า 66)

Language and Linguistic Affiliations

ส่วยจะใช้ภาษาที่ดัดแปลงมาจากภาษาส่วยเดิมปะปนกับภาษาเขมร ภาษาลาว โดยอยู่ใกล้เขตแดนใดก็จะพูดภาษานั้นด้วยสำเนียงส่วย และยังมีส่วยบางพื้นที่ในจังหวัดศรีสะเกษที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมภาษาของตนเองโดยพูดภาษาส่วย ภาษาเยออยู่ ซึ่งเป็นภาษาที่ดัดแปลงมาจากภาษาส่วยเดิม เป็นภาษาเขมรปนลาว ไม่มีภาษาเขียน (หน้า 4,43, 63,156) ส่วนในพื้นที่ที่ทำการศึกษานั้น ทั้งสองหมู่บ้านเป็นส่วยที่พูดภาษาเขมรในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นโดยทั่วไปจะพูดภาษาไทยอีสาน (หน้า 63,65, 90)

Study Period (Data Collection)

ทำการสำรวจเบื้องต้นวันที่ 22-26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 เก็บข้อมูลภาคสนามระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน พ.ศ. 2531 (หน้า 48, 52)

History of the Group and Community

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าส่วยเขมรในบริเวณหมู่บ้านแจงแมง และหมู่บ้านชำ อพยพมาตั้งแต่เมื่อไร แต่เชื่อกันว่าชนพื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดศรีสะเกษนั้นเป็นส่วย (หน้า 61-63, 68 ) ซึ่งแต่เดิมพวกส่วยตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ตามป่าดง แขวงเมืองอัตปือ เมืองแสนแป ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ประเทศลาว เมื่อถูกลาวเข้ารุกรานแย่งที่ทำกิน และจับเป็นข้าทาสใช้งาน จึงมีส่วยบางพวกอพยพไปหาที่ทำกินแหล่งใหม่หลายสาย และบางพวกอาศัยตามเดิมซึ่งเป็นเมืองขึ้นของลาวทั้งหมด กลุ่มที่อพยพเข้ามาประเทศไทยสู่ดินแดนอีสานตอนใต้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วง พ.ศ. 2199 ขึ้นไป มักจะตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำมูล ต่อมาในสมัยระหว่างกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ.ศ. 2320 - พ.ศ. 2350 กองทัพไทยได้กวาดต้อนเกลี้ยกล่อมพวกส่วย หรือที่คนไทยในสมัยนั้นเรียกว่า เขมรป่าดง ให้เข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษเป็นจำนวนมาก (หน้า 33 -39) ส่วยแบ่งออกเป็น 3 พวก คือ ส่วยเขมร ส่วยลาว และส่วยที่พูดภาษาของตนเอง คือภาษาส่วย แต่รับวัฒนธรรมประเพณีเป็นแบบเขมร (หน้า 39-40, 155)

Settlement Pattern

ส่วยเขมรทั้งในหมู่บ้านแจงแมง และหมู่บ้านชำมักปลูกสร้างบ้านเรือนบนบริเวณที่เป็นเนิน ใกล้แนวป่าตามแนวชายแดนเทือกเขาพนมดงรัก ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะรวมกันเป็นกลุ่ม บริเวณรอบบ้านมักเป็นบ้านเรือนของญาติพี่น้องและค่อย ๆ กระจายกันออกไป (หน้า 57-61,170) มักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ และตั้งบ้านเรือนแยกต่างหากกับหมู่บ้านคนไทยอีสาน สภาพบ้านเรือนมักยกสูงเพื่อใช้บริเวณใต้ถุนเป็นที่เก็บวัสดุ ผลผลิต และใช้ส่วนหนึ่งทำเป็นคอกเลี้ยงสัตว์ นั่งทอผ้า เลี้ยงบุตรหลาน ส่วนหลังคามุงหญ้าคาหรือสังกะสี ขนาดบ้านเรือนมีเล็ก ใหญ่บ้างตามขนาดครอบครัว บริเวณที่พักอาศัยสกปรกง่ายต่อการเป็นแหล่งของเชื้อโรค (หน้า 63, หน้า 66-68, หน้า 74)

Demography

บริเวณส่วนใหญ่ที่ส่วยมักอพยพมาตั้งถิ่นฐานคือพื้นที่ป่าดงทางฝั่งใต้ของแม่น้ำมูล ลงมา ประมาณปี พ.ศ. 2320 มีส่วยอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษ ราว 30,000 คน (ขณะนั้นไทยมีพลเมืองประมาณ 6 ล้านคน) (หน้า 35,39) ซึ่งส่วยเองก็ได้สืบทอดเชื้อสายขยายตระกูลต่อมา โดยแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในหลายพื้นที่ ในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และประมาณปี พ.ศ. 2450 ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่มีส่วยมากที่สุด (หน้า 39-40) ตั้งบ้านเรือนอยู่ต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ไม่อพยพไปที่อื่น นิยมมีบุตรครอบครัวละหลายคนเพราะต้องการให้ช่วยประกอบอาชีพ และใช้แรงงาน (หน้า 178, 169) ทำให้สภาพการทำมาหากิน และที่ดินทำกินมีไม่เพียงพอและจำกัดกว่าเดิม สำหรับส่วยเขมรเฉพาะในพื้นที่ศึกษาทั้งสองหมู่บ้านนั้น มีประชากร รวม 1967 คน (เป็นชาย 827 คน หญิง 1,140 คน) จำนวน 321 ครัวเรือน (หน้า 72-73)

Economy

ส่วยเขมรประกอบอาชีพหลักคือการเกษตรมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในหมู่บ้านแจงแมงและหมู่บ้านชำ มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองส่วนใหญ่แต่ก็ไม่สมดุลกับจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นและรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรที่ดินทำกินได้อย่างทั่วถึง รายได้หลักของส่วยมาจากการทำไร่ข้าวโพด ส่วนข้าวมักปลูกไว้บริโภคเองเท่านั้น ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินจะรับจ้างเป็นแรงงานการเกษตร การเพาะปลูกเป็นแบบง่ายๆ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ผลผลิตที่ได้จึงน้อย (หน้า 7, 94-97) การจำหน่ายผลผลิตมักจะขายให้กับ ผู้มารับซื้อในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพ่อค้า หรือเจ้าหนี้ที่เข้ามาซื้อผลผลิตเป็นการทยอยหักหนี้ เพราะชาวบ้านไม่มีพาหนะที่จะนำผลผลิตไปขายนอกหมู่บ้านได้สะดวก (หน้า 101-102) ทำให้อยู่ในสภาพถูกเอาเปรียบจากนายทุน และพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งขาดทักษะความรู้ และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต นอกจากนั้น การใช้ชีวิตของส่วยเขมรมีลักษณะไม่กระตือรือร้นในการเพาะปลูกพืชผักชนิดอื่นไว้บริโภคนอกจากข้าว ทำให้ต้องซื้อหาอาหาร ทำให้ต้องพึ่งเงิน (หน้า 174-175,184-186) ทำให้ส่วยเขมรส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย และอยู่ในสภาพเป็นหนี้สิน

Social Organization

ส่วยเขมรในหมู่บ้านทั้ง 2 มีความรักผูกพันกับที่อยู่เดิมมากไม่ต้องการย้ายถิ่นฐาน ที่อยู่ มีความใกล้ชิดญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้าน รักใคร่ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ผู้น้อยให้ความเคารพนับถือเชื่อฟังผู้อาวุโสอย่างเคร่งครัด ผู้คนในหมู่บ้านรู้จักกันหมด (หน้า 63,187,190) จากการคมนาคมที่สะดวกขึ้นกว่าเมื่อก่อนจึงทำให้ส่วยเขมรในหมู่บ้านมีความคุ้นเคย ติดต่อกันมากขึ้นกับคนไทยอีสาน ซึ่งมีผลในเรื่องการแต่งงานของคนในครอบครัวโดยจะเป็นใครก็ได้ ไม่บังคับหรือห้ามเหมือนในอดีต (หน้า 108) ส่วยเขมรนิยมเข้าร่วมงานพิธีต่างๆ ที่จัดขึ้นในหมู่บ้าน หรือชุมชนใกล้เคียงเสมอโดยเฉพาะงานมหรสพรื่นเริง มีการช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ตรงกันข้าม หากมีกิจกรรมที่เป็นการร้องขอความร่วมมือที่จะสร้างสิ่งต่าง ๆ หรือพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญขึ้นด้วยโครงการต่างๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล กลับไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร (หน้า 108-112, 188-189) สำหรับการรวมตัวเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ ของส่วยเขมรทั้ง 2 หมู่บ้านนั้น ส่วนใหญ่หวังที่จะได้กู้เงิน หากกลุ่มหรือองค์กรใดมีเงินทุนหมุนเวียนน้อย ก็จะเลิกสนใจ (หน้า 115-116) ในอดีตบริเวณหมู่บ้านทั้ง 2 จัดอยู่ในเขตพื้นที่ล่อแหลม ทางราชการได้กำหนดให้เป็นหมู่บ้าน อพป. (กลุ่มไทยอาสาป้องกันตนเอง) จึงมีลักษณะดูแลปกครองตนเอง แต่ด้วยเหตุที่ชาวบ้านมีสภาพความเป็นอยู่ยากจน อีกทั้งไม่นิยมเพาะปลูกพืชเก็บไว้เพื่อบริโภค และมีความเป็นอยู่ในวงแคบ จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องความเปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความเป็นอยู่ของเขมรอัตคัตมากกว่าเดิม การลักขโมยจึงเริ่มมีขึ้นประปราย (หน้า 189-191)

Political Organization

ด้วยเป็นประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ทางรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพและโครงสร้างเศรษฐกิจ ตามกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่วยเขมรทั้ง 2 หมู่บ้านจึงได้รับความช่วยเหลือในรูปโครงการต่างๆ มากมาย เป็นผลให้เกิดการกระจายอำนาจหน้าที่ไปยังหลายหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อบริหารงานพัฒนา แต่ด้วยข้อจำกัดและขั้นตอนการปฏิบัติราชการที่ล่าช้า และความไม่พร้อมของส่วยเขมรในหมู่บ้านทำให้โครงการพัฒนาต่าง ๆ ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน ที่สำคัญส่วยเขมรคิดว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในการพัฒนาหมู่บ้านฝ่ายเดียว (หน้า 173-189. 192-193)

Belief System

เขมรส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นอยู่กับเรื่องผี ไสยศาสตร์ คำสอนของบรรพบุรุษ และคตินิยมผสมในแนวทางพุทธศาสนาที่ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำกลุ่ม ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ของส่วยเขมร คือมีการทำบุญให้ทาน เชื่อเรื่องบุญบาป ยึดมั่นในคุณธรรม และมีพิธีกรรมต่างๆ ตามแบบลัทธิพราหมณ์ที่เป็นการบวงสรวง บูชา บนบาน เช่น พิธีการรำแม่มด การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งยึดมั่นในแนวปฏิบัติเก่าแก่มาจวบจนปัจจุบัน ส่วนความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ยังเชื่อถือกันอยู่มากคือเรื่องการทำเสน่ห์ การเสกของเข้าร่างกาย ยาสั่ง และยังมีความเชื่อในเรื่องโชคลางบางอย่าง และคิดว่าขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างของตนแตกต่างจากชาวอีสานอย่างเห็นได้ชัด บางอย่างแตกต่างบ้างในเรื่องฤกษ์ยามและวิธีปฏิบัติ เช่น พิธีศพ พิธีแต่งงาน (หน้า 122-125,192-193) ส่วยเขมรจะเรียนรู้คาถาเวทย์มนต์ต่าง ๆ ทางไสยศาสตร์ด้วยภาษาเขมร จึงจำเป็นต้องเรียนรู้วัฒนธรรมภาษาเขียนด้วย แต่จาก สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ความจำเป็นในการใช้ภาษาเขียนหมดไป (หน้า 171) ข้อคำสอน และความเชื่อต่างๆ ในเรื่องผีและไสยศาสตร์ที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษนั้น เป็นข้อยึดถือและเป็นแนวทางให้ส่วยเขมรปฏิบัติในรูปแบบจารีตประเพณี หรือกฎของสังคม ที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมาจากพระ พ่อแม่ หรือผู้อาวุโส โดยการบอกเล่า สอนให้ปฏิบัติจริง หรือจากการสังเกต เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตของส่วยเขมร เกิดเป็นความสามัคคี และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยเชื่อว่าหากทำความดีก็จะได้รับผลดีตอบแทน หากทำความชั่ว วิญญาณต่าง ๆ จะดลบันดาลให้เกิดความวิบัติ ใครฝ่าฝืนข้อคำสอน หรือความเชื่อ ก็จะถูกรังเกียจหรือไม่ยอมรับ (หน้า 183-184, 195)

Education and Socialization

นอกจากการศึกษาในระบบโรงเรียนแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเข้ามาอบรมความรู้ด้านการประกอบอาชีพ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจน ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเขมรส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา มักให้บุตรหลานออกมาประกอบอาชีพ หรือใช้แรงงาน หลังจากจบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้ได้เงินค่าจ้างมาดำรงชีวิต ประกอบกับเด็กนักเรียนส่วยเขมรเองมีผลสัมฤทธิผลทางการเรียนต่ำมาก เนื่องจากปัญหาในการใช้ภาษาไทย (หน้า 4-8, 170-171) นอกจากนั้น ส่วยเขมรยังได้รับการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ ความเชื่อ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต จากพระ พ่อแม่ และผู้อาวุโสต่างๆ ด้วยการสอนให้ปฏิบัติจริง หรือจากการสังเกต และเลียนแบบ ซึ่งเป็นการศึกษาแบบธรรมดาวิสัย (Informal Education) ตลอดจนการเข้าร่วมกิจรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น ทำให้ส่วยเขมรได้รับความรู้จากข่าวสาร และมหรสพต่างๆ นั้นด้วย (หน้า 90, 158-159)

Health and Medicine

บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของส่วยเขมรมักมีสภาพสกปรก เพราะความไม่รู้ถึงอันตรายจากเชื้อโรคต่าง ๆ จึงไม่ค่อยสนใจเรื่องสุขอนามัยของครอบครัว ไม่ช่วยกันรักษาความสะอาดของหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันส่วยเขมรมีความต้องการที่จะมีส้วมใช้มากขึ้น ส่วนในเรื่องโภชนาการนั้น พบว่าการกินอาหารเป็นไปในลักษณะตามมีตามเกิด เนื่องจากสภาพขาดแคลนเงินทองซื้อหาอาหารบริโภค และส่วยเขมรเองไม่ปลูกผักไว้บริโภค แหล่งน้ำดื่มมีน้อย เป็นผลให้เด็กส่วยเขมรขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่แข็งแรง ขาดภูมิต้านทาน กลายเป็นประชากรที่ขาดคุณภาพชีวิต (หน้า 172-176) เมื่อเจ็บป่วยชาวบ้านนิยมไปรักษาที่สถานีอนามัยที่อยู่ใกล้บ้าน นอกจากมีการเจ็บป่วยที่รุนแรง หรือบางครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะมักจะไปรักษาที่คลินิก หรือโรงพยาบาลในอำเภอ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเชื่อถือในการรักษาทางไสยศาสตร์ด้วย แต่มีแนวโน้มว่าจะลดน้อยลง เนื่องจากส่วยเขมรพบว่าการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันนั้นทำให้หายจากการเจ็บป่วย รวมถึงการวางแผนครอบครัวก็มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาที่ทำให้ส่วยเขมรมีประสบการณ์ เกิดความคิดอย่างมีเหตุผล มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าบริการของรัฐที่เข้าไปยังหมู่บ้านนั้นต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการสร้างความพร้อม เพื่อเปลี่ยนทัศคติของส่วยเขมร (หน้า 176-178)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ในอดีตผู้หญิงส่วยเขมรจะนุ่งผ้าซิ่นที่มีเชิงสวยงาม ส่วนผู้ชายจะแต่งกายธรรมดา นุ่งกางเกงจีน หรือโสร่งมีผ้าขะม้าพาดบ่า ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งกายนี้จะถูกถ่ายทอดโดยกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องทอผ้า แต่ปัจจุบันนี้ มักแต่งตัวตามสมัยนิยมหาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้สะดวกจากตลาด แต่ยังมีบ้างที่ทอเสื้อผ้าใช้เองโดยซื้อด้ายทอสีสำเร็จรูปมาใช้ทอมากกว่าที่จะปั่นฝ้ายย้อมสีเอง (หน้า 77, 156-157,173) ในงานมงคลหรืองานเทศกาลต่าง ๆ จะมีมหรสพ "กันตรึม" ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นเมือง ประกอบการร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิงได้รับความนิยมมากที่สุด แค่ปัจจุบันใช้ดนตรีสากล และมีหางเครื่องประกอบ ส่วนการละเล่นที่นิยมกันคือ "เจรียง" มีลักษณะเหมือนหมอลำและเพลงโคราช ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบการร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิง บทเจรียงจะออกไปทางตลก คะนอง (หน้า 110-111)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ส่วยมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดกับคนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีผลทำให้ความคิด ความเชื่อ และชีวิตความเป็นอยู่ของส่วยและคนลาวคล้ายคลึงกัน นับตั้งแต่สังคมเกษตรกรรม การมีชีวิตอยู่อย่างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน จารีต ประเพณี กฎของสังคมขึ้นอยู่กับธรรมชาติ เชื่อเรื่องผีสางเทวดา มีพิธีกรรมบวงสรวงบูชา เมื่อส่วยอพยพมาสู่ภาคอีสานของไทยก็ได้คละเคล้าวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนกับพวกเขมรและคนไทยอีสาน โดยเฉพาะวัฒนธรรมเขมร ที่เห็นชัดคือพีธีกรรมต่างๆ ตามลัทธิพราหมณ์ยังคงอยู่ (หน้า 45-48) สำหรับส่วยเขมรทั้ง 2 หมู่บ้านในพื้นที่ศึกษาเดิมมีถิ่นฐานติดกับเขตแดนของเขมร จึงทำให้ส่วยเขมรยอมรับวัฒนธรรมทางภาษาพูดไว้มาก และเกิดปัญหาทางการเรียนในเด็กที่ใช้ภาษาไทยไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ ส่วยเขมรบางส่วนในหมู่บ้านมีความรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย มีความรู้น้อย และไม่ค่อยได้รับสิทธิต่าง ๆ เท่าเทียมกับไทยอีสาน (หน้า 201-203) อย่างไรก็ดี สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง มีการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นทำให้ส่วยเขมรทั้ง 2 หมู่บ้านมีสภาพความเป็นอยู่คล้ายคนไทยอีสานมากขึ้น และลดความรู้สึกที่ว่ามีคุณค่าไม่เท่าเทียมกัน หรือไม่ได้เป็นสมาชิกของสังคมเช่นเดียวกับคนอื่นลงไปมาก

Social Cultural and Identity Change

ในอดีตส่วยมีการดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งตนเอง สภาพสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงช้า เนื่องจากอยู่ห่างไกลชุมชน แต่ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปทำให้ความเจริญทางวัตถุต่างๆ ภายนอกได้เข้ามายังหมู่บ้าน ส่วยเขมรมีโอกาสได้พบปะผู้คนต่างหมู่บ้านวัยรุ่นได้รับรู้และเห็นการดำเนินชีวิตแบบสังคมคนเมือง ส่งผลให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้ในลักษณะธรรมดาวิสัยลดลง ระบบการสื่อสาร ทำให้เกิดการเอาอย่าง และเกิดความรู้สึกในทางแข่งขันเพื่อได้อวดสภาพฐานะซึ่งกันและกัน จนบางครั้งเป็นความขัดแย้งกันอย่างมากระหว่างฐานะทางเศรษฐกิจกับสภาพการใช้ชีวิต ส่งผลให้ส่วยเขมรต้องเป็นหนี้สินเพื่อจะนำเงินมาใช้จ่าย ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินเกินความจำเป็นโดยใช่เหตุ (หน้า 156, 187-189) ส่วนในเรื่องศาสนาและความเชื่อต่างๆ ส่วยเขมรจะรับเอาวัฒนธรรมความเชื่อต่างๆ ของคนไทยไปใช้กับกลุ่มของตนมากยิ่งขึ้น เพราะมีความสัมพันธ์กับคนไทยหรือคนพื้นเมืองหลายๆ ด้าน ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนหรือยอมรับวัฒนธรรมความเชื่อต่างๆ ได้รวดเร็วจนเกิดการสลายตัวของวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย การประกอบอาชีพ ยังอาจได้รับการถ่ายทอดจากการศึกษาที่ได้รับในโรงเรียน หรือจากสื่อมวลชนต่าง ๆ และการบรรจุวิชาพระพุทธศาสนาไว้ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ มีส่วนทำให้ส่วยเขมรมีนิสัยรักสงบ และพยายามที่จะทำตนให้เข้ากับคนไทยอีสาน (หน้า 192-196)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

เพื่อให้คุณภาพชีวิต การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างทั่วถึงยังพื้นที่ชนบทห่างไกล การยกระดับคุณภาพชีวิต (Quality of life) จึงเป็นแนวคิดการเร่งรัดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่นำมาใช้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (หน้า 1-3) แต่ในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนกลุ่มน้อยส่วยเขมรบ้านแจงแมง และบ้านชำนั้น ยังไม่ประสบผลเท่าที่ควร เนื่องจากการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมา มักเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เน้นการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเป็นวัตถุ สิ่งของต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่จัดสรรเป็นความช่วยเหลือนั้นไม่ได้เกิดจากกความต้องการของคนในชุมชน และมักเป็นชุมชนที่ล้าหลังมาก สภาพสังคมนั้นไม่มีความพร้อมหลายด้าน ทำให้เสียเวลา เสียงบประมาณ และเปล่าประโยชน์ ส่วนในด้านการจัดการศึกษา มักเป็นนโยบาย ที่กำหนดจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น ยังไม่เน้นถึงชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีความต้องการที่แตกต่าง โดยเฉพาะทักษะ ความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นฐานความจำเป็นในการดำรงชีวิต และเป็นความรู้ที่ยืดหยุ่นนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง อย่างไรก็ตาม กลไกการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และเอกชน ตลอดจนชาวบ้านในหมู่บ้าน มีความสำคัญอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมในแผนปฏิบัติการ เพื่อประสานการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด (หน้า 200-203)

Map/Illustration

ผู้เขียนได้ได้ใช้แผนที่ แสดงที่ตั้ง อาณาเขต ประกอบคำอธิบายประวัติการตั้งถิ่นฐาน ภาษา และสภาพทางภูมิศาสตร์ (หน้า 41, 58, 64) ใช้ภาพถ่าย ชุมชน สิ่งแวดล้อม สภาพ การใช้ชีวิตปัจจุบันของส่วยเขมรในพื้นที่ศึกษา เพื่อประกอบคำอธิบายภาวะความมีคุณภาพชีวิต (หน้า 69-71,74-81,91-93,111-112) และแสดงประเภทของกลุ่มชนต่างๆ ในประเทศไทยด้วยแผนผัง (หน้า 250-251)

Text Analyst นพรัตน์ พาทีทิน Date of Report 25 ก.ค. 2559
TAG กูย, ส่วย, คุณภาพชีวิต, การศึกษา, ศรีสะเกษ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง