สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มลาบรี มราบรี,คนชายขอบ,ทรัพยากร,การพัฒนา,บริโภคนิยม,ความสัมพันธ์,เชิงอำนาจ,น่าน
Author ศักรินทร์ ณ น่าน
Title มลาบรีกับการช่วงชิงทรัพยากรในบริบทของการพัฒนาโดยรัฐ
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มละบริ ยุมบรี มลาบรี มละบริ มลา มละ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 285 Year 2548
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

ระบบสังคมวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมของสังคมชนเผ่ามลาบรี ได้รับคำนิยามจากคนภายนอกในฐานะ "คนป่า" หรือ "ผีตองเหลือง" มาแต่อดีต แสดงให้เห็นตัวตนแบบชนเผ่าเร่ร่อนดั้งเดิม ที่อาศัยพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากป่าเพื่อยังชีพอย่างไม่รุกรานจนเกินพอดี แต่เมื่อโครงการพัฒนาทั้งจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน เข้ามามีบทบาทจัดการกับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของมลาบรี ด้วยการใช้อำนาจรัฐให้สิทธิจัดสรรที่ดินในชุมชนม้งบ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ให้มลาบรีเข้ามาตั้งหลักแหล่งถาวร โดยการจัดตั้งเป็น "ชุมชนตองเหลือง" การจำกัดพื้นที่เฉพาะและการปิดล้อมจากกลุ่มอำนาจภายนอก ยิ่งทำให้การเข้าถึงทรัพยากรและพื้นที่ป่าของมลาบรีเป็นไปอย่างยากลำบาก มลาบรีจำต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการยังชีพจากที่เคยท่องป่าล่าสัตว์ สู่การเป็นแรงงานรับจ้างทำไร่ในชุมชนม้ง ซ้ำยังตกเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดน่านของทางการ มีการนำมลาบรีที่แต่งกายด้วยการนุ่งตะแยด ซึ่งถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงสัญญะที่สำคัญ ในการจัดแสดงวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมแบบชนเผ่าดั้งเดิม มาใช้สร้างจุดขายเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัด แทนที่จะวางแผนพัฒนาวิถีชีวิตบนรากฐานที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และตัวตนของมลาบรีอย่างแท้จริง แสดงให้เห็นถึงความลักลั่นในการพัฒนาที่ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม ระบบคุณค่าและโครงสร้างความเชื่อของสังคมชนเผ่ามลาบรี การพัฒนาได้ส่งผลให้มลาบรีมีตัวตนทางสังคมที่ปรากฏต่อสังคมภายนอกไม่ต่างจาก "คนชายขอบของสังคม" ภายใต้การจัดการโดยกลุ่มอำนาจต่าง ๆ อย่างไรก็ดี มลาบรีเองก็มิได้มีท่าทียอมจำนนต่ออำนาจภายนอกอย่างสิ้นเชิง กลับพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ หรือใช้โอกาสดังกล่าวเป็นอำนาจต่อรองในการเข้าถึงทรัพยากรหรือบางครั้งก็มีท่าทีต่อต้านทางอ้อม เช่น การเพิกเฉยไม่ใส่ใจจะรักษาพื้นที่โครงการพัฒนาต้นน้ำโดยปล่อยให้ไฟไหม้ป่า เพื่อต่อต้านจากการถูกกีดกันในการเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่อนุรักษ์ของทางการ

Focus

เน้นศึกษาประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของชุมชนมลาบรีบ้านห้วยหยวก จังหวัดน่าน ในบริบทการพัฒนาของรัฐ ทำให้มลาบรีถูกผลักใสให้ตกอยู่ในสภาวะชายขอบของสังคม ความเป็นชาติพันธุ์กลายเป็นสินค้าในกระแสลัทธิบริโภคนิยมและการท่องเที่ยว แรงกดดันดังกล่าวทำให้มลาบรีต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อช่วงชิงทรัพยากร

Theoretical Issues

การขยายอำนาจและอิทธิพลการก่อตัวของรัฐชาติ และระบบทุนนิยมโลกเข้าสู่ท้องถิ่น โดยอาศัยการพัฒนา เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการจัดการคนและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ทุนท้องถิ่นต่างได้รับผลกระทบจากการครอบครองพื้นที่โดยรัฐ การผนวกกลืนของตลาดทุนนิยมจากกลุ่มอำนาจภายนอก ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งภายในรัฐและระหว่างรัฐ การขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติกันเกินขอบเขต ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและธรรมชาติเสื่อมโทรมลง วัฒนธรรมและความเป็นมนุษย์ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าตอบสนองตลาดทุนนิยม ประเด็นความรู้ พื้นที่และความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการมนุษย์ จึงกลายเป็นแง่มุมที่สามารถเรียนรู้ได้ จากกรณีศึกษาการผนวกชุมชนชาวมลาบรีสู่การพัฒนาจนตกอยู่ในสภาวะชายขอบของสังคม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและการจัดการจากกลุ่มอำนาจต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกัน มลาบรีเองก็ได้เรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างมีพลวัตขึ้น โดยอาศัยการสร้างความรู้ตามสถานการณ์ และการผสมผสานความรู้หลายชุด เพื่อสร้างทางเลือกภายใต้การปิดล้อม โดยนำมาใช้จัดการทรัพยากรและความสัมพันธ์ทางสังคมขึ้นใหม่ การที่มลาบรีใช้รูปแบบการต่อรองที่หลากหลาย และใช้ยุทธวิธีทางสังคมในสถานการณ์ต่าง ๆ ก็เพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คัดง้างกับการเข้ามามีอิทธิพลของกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน การต่อสู้ของมลาบรีเพื่อเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนจึงมิได้จำกัดเพียงทรัพยากรด้านวัตถุ แต่กลับครอบคลุมถึงการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ และการนิยามความหมายของพื้นที่เสียใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้นอีกด้วย (หน้า 252-263)

Ethnic Group in the Focus

ชนเผ่ามลาบรีหรือผีตองเหลือง จัดอยู่ในกลุ่มมองโกลอยด์ดั้งเดิม ตามตำนานท้องถิ่นม้งกล่าวว่า มลาบรีสืบเชื้อสายมาจากชนชาติในตระกูลมอญ -เขมร เช่นเดียวกับพวกละว้า ขมุและถิ่น เป็นกลุ่มที่อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่ก่อน (หน้า 44) มลาบรีมักเรียกตนเองว่า "ยุมบรี" หมายถึง คนที่อยู่ในป่า (หน้า 53) เป็นคำเรียกขานตนเองในเชิงโต้ตอบกับการถูกสังคมภายนอกเรียกขานอย่างเหยียดหยามว่าเป็น "ผีป่า" (หน้า 54) ในขณะที่ลาวเรียกกลุ่มมลาบรีว่า "ข่าตองเหลือง" คำเรียกคนป่าว่า "ข่า" เป็นคำที่ไทยรับมาจากสำเนียงลาวใต้ ตามความหมายของลาวหลวงพระบางมาจากคำว่า "ข้า" หรือ "ทาส" เป็นคำเรียกกลุ่มชนต่าง ๆ ที่รัฐสยามและลาว ใช้เรียกแรงงานทาสของพวกลาวแต่เดิม ที่ไทยได้มาจากแขวงสารวัน-จำปาศักดิ์และอัตตะปือ นำมาใช้แรงงานเป็นกองกำลังทหารของรัฐ (หน้า 48) ส่วนคำเรียกขานตนเองว่า "ยุมบรี" ตามที่มีการบันทึกไว้ พูดด้วยภาษาของกลุ่มไตยวนหรือ "คำเมือง" คือคำว่า "คนป่า" ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับมราบรี ที่พบในรายงานของคณะสำรวจสยามสมาคมได้บันทึกไว้ว่า ชนเผ่าผีตองเหลืองมีคำเรียกขานในภาษาของตนเองคือ "มราบรี" ความหมายเดียวกับ "ยุมบรี" (หน้า 63 - 64) สำหรับคนภายนอกมักเรียกชนเผ่ามลาบรีว่า "มราบรี " "ยุมบรี " "ข่าตองเหลือง" "ผีตองเหลือง" หรือ "ตองเหลือง" ภาษาม้ง เรียก "ม้ากู่" (หน้า 1)

Language and Linguistic Affiliations

เอกสารทางวิชาการของนักวิชาการตะวันตกในปี พ.ศ.2462 พบว่า กลุ่ม " ข่าตองเหลือง" มีภาษาพูดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก เป็นภาษาในตระกูลมอญ - เขมร (หน้า 44, 45) แต่จากรายงานของชาวเขาเผ่าลาหู่ในพื้นที่ดอยเวียงสระ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่พบว่า ชนเผ่าผีตองเหลืองมีสำเนียงพูดคล้ายว้าผสมม้ง ขมุและลาว ขณะที่ว้ามักเรียกตนเองว่า "Proa" ผีตองเหลืองที่ลาหู่พบเรียกตนเองว่า "Plo" อย่างไรก็ดี ม้งและเมี่ยน ในแถบดอยช้าง จ.เชียงรายบอกว่า ผีตองเหลืองมีสำเนียงพูดคล้ายภาษาลาว (หน้า 59) ภาษามลาบรีมีคำศัพท์ต่าง ๆ เช่น "กร้าน" หมายถึง ท้องฟ้า "อาอุย" หมายถึง พระจันทร์หรือ หมายถึง ผู้หญิง "สมอน" หมายถึง ดวงดาว "อาจโยง" หมายถึง พระอาทิตย์ หรือหมายถึง ผู้ชาย "แบะ" หมายถึง ผืนแผ่นดิน "ซึโบ้" หมายถึง ภูเขา "อาอุยเบ้ง" หมายถึง พระจันทร์เต็มดวง (หน้า 179 ,180)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ผู้วิจัยได้แบ่งการเปลี่ยนแปลงตามประวัติศาสตร์การพัฒนาของสังคมมลาบรีในช่วงต่าง ๆ ออกเป็น 4 ยุคดังนี้คือ ยุคที่ 1 "ยุมบรี" อิสรชนเร่ร่อน ? (ก่อน พ.ศ. 2500) ผู้วิจัยเสนอเป็นข้อสันนิษฐานจากหลักฐานเอกสาร ตำนานคำบอกเล่าต่าง ๆ และรายงานร่องรอยของกลุ่มชาติพันธุ์มลาบรีพบว่า มลาบรีมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในแถบแม่น้ำโขง เขตเมืองไชยะบุรี ในประเทศลาว แล้วได้อพยพไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ตามที่พบร่องรอย เช่น แถบภูเขียว จ.ชัยภูมิ ภูกระดึง จ.เลย ดอยเวียงสระ อำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ ดอยช้าง จ. เชียงราย มาจนถึงบริเวณเทือกเขาใน จ. น่าน จ. แพร่และเพชรบูรณ์ อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยเสนอข้อสันนิษฐานว่า มลาบรีอาจไม่ได้เคลื่อนย้ายจากลาวเข้าสู่ไทย แต่ได้ใช้ชีวิตเร่ร่อนอิสระท่องป่าลึก กระจายไปหลายบริเวณในภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ยังไม่มีการแบ่งอาณาเขตพรมแดนการปกครองแน่ชัด ทำให้อยู่นอกเหนือการควบคุมจัดการของอำนาจรัฐจนแทบไม่ได้รับการกล่าวถึง คำเรียกมลาบรีว่า "ข่า" "คนป่า" "ผีตองเหลือง" หรือ "ผีป่า" แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์แบบจัดประเภทของคนไทย ซึ่งเป็นหลักฐานข้อมูลจากการเขียนประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำหรือจากรัฐชาติโดยเฉพาะ ทั้ง ๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้เรียกตนเองว่า "ยุมบรี" หรือ "มราบรี" ซึ่งหมายถึง คนที่อยู่ในป่า (หน้า 43-48) นอกจากนี้มลาบรียังถูกคนลาวเรียกว่า "ข่าตองเหลือง" ซึ่งแสดงถึงสถานภาพความเป็นข้าทาส (ตามความหมายของลาวใต้) เป็นการจัดประเภทผู้คนและจัดความสัมพันธ์ของรัฐกับคนในเขตอำนาจให้อยู่ในกลุ่มคนที่รัฐนำมาเป็นแรงงานทาส เป็นกองกำลังทหารของรัฐ รวมถึงเก็บส่วย เป็นที่น่าสังเกตว่า การรับรู้ถึงตัวตนของมลาบรีผ่านงานชาติพันธุ์ซึ่งผลิตออกมาจากมุมมองของรัฐสยามและชนชั้นนำไทยในยุคต้น ๆ ให้ภาพลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์มลาบรีเป็น "คนป่า" ล้าหลังที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับ "ความมีอารยธรรม" สอดรับกับแนวคิดการจัดลำดับสถานภาพทางสังคมและแนวคิดวิวัฒนาการเชิงเส้นตรง ที่มักจัดให้สังคมเก็บหาของป่าล่าสัตว์มีพัฒนาการล้าหลัง ยุมบรีในยุคต้น ๆ จึงมีสถานภาพเป็นอิสระชนคนกลุ่มน้อยที่รัฐมิได้ให้ความสำคัญ อีกทั้งยังไม่ได้เข้าไปควบคุมปกครองหรือจัดการใด ๆ ขณะเดียวกัน เขตแดนและอำนาจการมีอยู่ของรัฐชาติก็มิได้อยู่ในการรับรู้ของมลาบรีที่ท่องไปในป่าลึก ภาพลักษณ์ของ "ผีป่า" "ผีตองเหลือง" "คนป่า" จึงฝังรากลึกในการรับรู้ถึงตัวตนของมลาบรี ต่อสังคมภายนอกมายาวนานตามหลักฐานที่ปรากฏ ชื่อเรียกตนเองว่า "ยุมบรี" มีความหมายเชิงโต้ตอบการถูกเรียกอย่างเหยียดหยาม จากการที่กลุ่มมลาบรีได้รับรู้ถึงสถานภาพของตนจากสายตาสังคมภายนอกเมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์กัน (หน้า 48-54) ยุคที่ 2 "มราบรี" การตกเป็นชาวเขาในรัฐไทย? (พ.ศ. 2500 - 2525) ช่วงปี พ.ศ. 2500 เป็นยุคที่รอบข้างประเทศไทยต้องเผชิญกับสงครามอินโดจีนอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการจำกัดพื้นที่ย้ายถิ่นของมลาบรี ช่วงปีพ.ศ. 2508 - 2525 สงครามระหว่างกองทัพไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นสนามรบจนกลุ่มมลาบรีที่ได้รับผลกระทบ ต้องอพยพหลบหนีเข้าสู่ตอนในภูมิภาคมากขึ้น (หน้า 55) อิทธิพลจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ส่งผลให้มลาบรีประสบปัญหาการปิดกั้นพื้นที่และถูกจำกัดการเคลื่อนย้าย (หน้า 56) ในปี พ.ศ.2502 รัฐได้เปลี่ยนมานิยามแนวคิดเกี่ยวกับประชาชนตามชายแดนเสียใหม่ด้วยคำว่า "ชาวเขา" คำว่า "ชาวเขา" แสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์กลายเป็นสิ่งที่ก่อปัญหาในสายตาของรัฐ โดยรัฐมองว่า ชาวเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนไทยแต่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ขาดสำนึกในความเป็นชาติและก่อปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนและปัญหายาเสพติด "ชาวเขา" ของรัฐไม่ได้ถูกใช้กับทุกกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ทางการถือว่ากลุ่มที่จัดเป็นชาวเขาที่ให้คำจำกัดความไว้มีเพียง 9 เผ่า คือ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า ลีซอ มูเซอ ลัวะ ขมุ ถิ่น อีก้อ โดยไม่ได้รวมมลาบรีไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐไม่ได้ให้ความสนใจหรือเห็นความสำคัญของยุมบรี ว่าต้องได้รับการสอดส่องควบคุมดูแลหรือเข้าไปพัฒนาแต่อย่างใด มลาบรีจึงยังมีสถานภาพเป็น "คนป่า" มิใช่ "ชาวเขา" ตามนิยามของรัฐ และยังคงท่องป่าในพื้นที่ในแถบตอนเหนือบริเวณ จ.แพร่ น่าน พะเยาต่อไป ตั้งแต่ พ.ศ.2510 ถึงกลางปี พ.ศ.2525 มีการวางกับระเบิดจนทำให้มลาบรีที่เดินทางท่องป่าได้รับอันตรายถึงชีวิต แบบแผนการเคลื่อนย้ายของมลาบรีจึงจำกัดลงมาเหลือเพียงภูเขาไม่กี่แห่งคือ บริเวณเขตรอยต่อของ จ.น่านกับ จ.แพร่และในเขตไชยะบุรี ประเทศลาว (หน้า 60-67, 69, 70) ยุคที่ 3 "มลาบรี" ยุคแรงงานในไร่และการเข้ามาของกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ( พ.ศ. 2519 - 2539) หลังปี พ.ศ.2525 เมื่อสงครามเริ่มสงบลง กลุ่มชาติพันธุ์มลาบรีที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรบนพื้นที่สูง เนื่องมาจากการหาที่หลบภัยสงคราม การลดลงของพื้นที่ป่าไม้อันเนื่องมา จากสัมปทานป่าและการขยายพื้นที่เพาะปลูก (หน้า 71-72) ในปี พ.ศ.2519 ม้งได้เริ่มจ้างแรงงานมลาบรีเข้ามาทำงานในไร่ โดยจ่ายค่าจ้างเป็นสิ่งของและอาหาร มลาบรีก็เข้ามาทำงานให้ม้งในระยะสั้น ๆ หลังงานเสร็จ มลาบรีก็ท่องป่าย้ายที่อยู่ไปที่อื่น แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ตามป่าเขาใกล้กับหมู่บ้านม้งในดอยขุนสถาน ดอยภูเค็งตามรอยต่อแพร่-น่าน ต่อมาเมื่อความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้น มลาบรีเห็นว่าได้อาหารและสิ่งตอบแทนจากม้งง่ายกว่าหาอาหารตามป่า ซึ่งถูกรุกรานจากบริษัทที่ได้สัมปทานป่าไม้ ก็เริ่มเข้ามาเป็นแรงงานในไร่ม้งเพิ่มขึ้น (หน้า 73-75) ช่วงปี พ.ศ. 2524 - 2534 กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนจากต่างประเทศและกลุ่มมิชชันนารี เข้ามาศึกษาวิถีชีวิตและอยู่ร่วมกับชนเผ่าตองเหลืองในประเทศไทย และพบว่ามลาบรีมักถูกกลุ่มอิทธิพลไม้เถื่อนข่มขู่ บ้างก็ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบด้านแรงงานจากชนกลุ่มอื่น บ้างก็ประสบปัญหาจากนักท่องเที่ยวและข้าราชการที่เข้าเยี่ยมพื้นที่ตลอดเวลา นายบุญยืนซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มองค์กรดังกล่าวได้เข้ามาช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และช่วยให้มลาบรีอ่านออกเขียนได้ โดยรวบรวมมลาบรีมาตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ในบริเวณเชิงเขาใกล้บ้านของตนและครอบครัว มีครอบครัวมลาบรีอพยพไป ๆ มา ๆ สม่ำเสมอ เมื่อหนีไปนายบุญยืนก็พยายามตามกลับ ใน ปี พ.ศ.2527 กองถ่ายทำภาพยนตร์ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เรื่อง "ตะวันยิ้มแฉ่ง" ซึ่งเป็นแนวเดียวกับ "เทวดาท่าจะบ๊องส์" แสดงให้เห็นการดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์แบบเดิมอยู่ โดยใช้ข้อมูลจากการรายงานข่าว ในหนังสือพิมพ์ ร่วมกับข้อมูลจากงานวิจัยของนักโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเกี่ยวกับกลุ่มผีตองเหลืองใน จ.น่าน และ จ.แพร่ โดยเข้าไปถ่ายทำในพื้นที่ป่าแถบ อ.นาน้อย จ.น่าน เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ระบบตลาดทุนนิยมเริ่มหันมาให้ความสนใจมลาบรีเป็นครั้งแรก คนส่วนใหญ่รู้จักและเรียกขานมลาบรีตามภาพยนตร์ว่า "ผีตองเหลือง" นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจที่นำมลาบรีมาโชว์ตัวตามห้างสรรพสินค้าในปีเดียวกัน ปีถัดมา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์มลาบรี โดยการเปลี่ยนพื้นที่สีแดงให้กลายเป็นเขตท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ทางการมีมติให้พัฒนาและสงเคราะห์ชนเผ่า "ผีตองเหลือง" ที่อาศัยในเขตบ้านขุนสถาน บ้านห้วยบ่อหอยและบ้านภูเค็ง 150 คน โดยใช้เวลา 8 ปี (2528-2535) เพื่อให้มลาบรีสามารถพัฒนาตนเองได้ตามขั้นตอนวิวัฒนาการทางสังคม การเข้ามาของกลุ่มอำนาจในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้มลาบรีมีบทบาทไม่ต่างไปจากสินค้าทางวัฒนธรรมในการดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าจังหวัดแพร่ และมีสถานภาพคล้ายเป็นลูกจ้างของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ซึ่งได้สร้างที่อยู่ถาวรให้มลาบรีพร้อมตอบสนองทิศทางการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว โดยที่หน่วยงานของรัฐกับเอกชนเริ่มช่วงชิงกลุ่มมลาบรีกัน ขณะที่จังหวัดน่านอ้างว่าเป็นต้นกำเนิดชนเผ่าผีตองเหลือง และได้จัดที่อยู่ถาวรพร้อมบริการการศึกษาและสาธารณสุขให้ที่อำเภอบ้านหลวง การจัดแสดง "ชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม" ของมลาบรีให้นักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษา เป็นที่น่าสังเกตว่า พื้นที่รวบรวมกลุ่มมลาบรีของสองจังหวัดต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องการนำมลาบรีมาเป็น "ทรัพยากรท่องเที่ยว" เป็นการดึงมลาบรีเข้าสู่กระแสการพัฒนาของรัฐ ซึ่งผนวกเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกผ่านแนวคิดในการพัฒนาทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว (หน้า 76-85) ยุคที่ 4 "ชุมชนตองเหลือง" การต่อสู้ช่วงชิงทรัพยากร (พ.ศ. 2540 - 2542) ในปี พ.ศ.2540 นายอำเภอบ้านหลวงได้ออกหนังสือเชิญนายบุญยืนมาร่วมโครงการพัฒนาและอนุรักษ์ชนเผ่าตองเหลืองตามคำสั่งของทางการ เนื่องจากเห็นว่านายบุญยืนเคยมีประสบการณ์พัฒนามลาบรีมาก่อน พร้อมตั้งคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชนเผ่าตองเหลืองทั้งด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ในพื้นที่ที่มีการจัดที่พักชั่วคราวให้กับมลาบรี 13 หลังคาเรือน มีการแบ่งงานให้มลาบรีมีงานทำ อีกทั้งเด็ก ๆ ก็ได้รับการสอนภาษาไทย โดยได้รับเงินสนับสนุนจากคริสตจักรในมลรัฐฟลอริดา สหรัฐ ขณะเดียวกันในบริเวณใกล้ศูนย์ ก็มีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่มักนำนักท่องเที่ยวมาชมกลุ่มมลาบรีที่ตนรวบรวมไว้ในบริเวณบ้านปี้ จนเกิดเป็นความขัดแย้งด้านรูปแบบการนำเสนอภาพลักษณ์ตัวตนของมลาบรี เนื่องจากกลุ่มมลาบรีที่อยู่กับธุรกิจท่องเที่ยว ยังคงอยู่ในลักษณะชนเผ่าดั้งเดิม ขณะที่กลุ่มมลาบรีที่อยู่กับศูนย์พัฒนาที่นายบุญยืนดูแล ได้รับการพัฒนาให้มีสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกายไม่ต่างจากคนไทยทั่วไป จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นการจัดฉากหลอกนักท่องเที่ยว ต่อมาเกิดความขัดแย้งใน การควบคุมการใช้พื้นที่ อันเป็นผลมาจากกระแส "สิ่งแวดล้อมนิยมในท้องถิ่น" มีการปิดกั้นพื้นที่ป่าและการเข้าถึงทรัพยากร "การอนุรักษ์" ถูกนำมาใช้ในความหมายที่เปลี่ยนพื้นที่ป่าเพื่อ "กีดกันการเข้าถึง" ชาวบ้านตำบลบ้านปี้เดินทางไปชุมนุมขอให้ย้ายกลุ่มมลาบรีรวมทั้งศูนย์พัฒนาและอนุรักษ์ออกจากพื้นที่ โดยอ้างประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ชาวบ้านโจมตีว่าชนเผ่าตองเหลืองทำให้ลำน้ำสกปรก ทั้งยังเข้าไปถางป่าทำลายป่า ล่าสัตว์และบุกรุกป่าสงวนซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร กระแสความขัดแย้งดังกล่าวรุนแรงขึ้น ในขณะที่คนของทางการอธิบายว่าโครงการดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้หมู่บ้าน แต่แกนนำกลับรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการ ทั้งยังขอให้ย้ายออกจากพื้นที่ไปเสีย เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวคิดในการพัฒนาที่ลักลั่น ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านโดยมุ่งเล่นงานกลุ่มมลาบรีโดยตรง ทั้ง ๆ ที่มลาบรีเองก็มิได้มีอำนาจต่อรองแต่อย่างใด การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์มีพรรคพวกเครือญาติที่มีอำนาจเป็นผู้นำท้องถิ่น อีกทั้งสื่อที่เสียผลประโยชน์ก็กลับเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มผู้ชุมนุม มีการใช้กระแสมวลชนกดดัน สร้างภาพลักษณ์มลาบรีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ผู้ทำลายป่าและแพร่เชื้อโรค" เมื่อไม่อาจทานกระแสต่อต้านในพื้นที่ได้ ทางจังหวัดก็ต้องหาพื้นที่ใหม่มารองรับ แล้วอพยพโยกย้ายมลาบรีออกจากศูนย์พัฒนา อำเภอบ้านหลวง เป็นการปิดฉากความล้มเหลวของโครงการพัฒนาและอนุรักษ์เผ่าตองเหลืองที่ดำเนินงานมาเป็นเวลานานถึง 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ถึงปี พ.ศ. 2541 ต่อมามีการออกสำรวจหาพื้นที่เหมาะสมเพื่อเริ่มโครงการพัฒนาอีกครั้ง จนมาได้ข้อสรุป บริเวณพื้นที่บ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา มีการจัดตั้ง "หมู่บ้านตองเหลือง" โดยแบ่งออกเป็น 5 คุ้ม ชุมชนตองเหลืองเป็นคุ้มที่ 5 ของหมู่บ้านห้วยหยวก แสดงถึงความพยายามของรัฐในการผนวกมลาบรี เข้าสู่การพัฒนาในรูปของหมู่บ้านและแหล่งท่องเที่ยวอีกครั้ง ในขณะที่กระแสสิ่งแวดล้อมนิยมที่หาทางผลักดันมลาบรีออกจากพื้นที่ ก็ให้ภาพลักษณ์ตัวตนของมลาบรีในลักษณะตีตราเป็นดั่ง "ผู้ร้ายที่ขาดจิตสำนึกจ้องจะผลาญป่า" หรือทำให้มลาบรีกลายเป็น "ตัวเชื้อโรคร้ายที่สกปรก" กระแสกดดันเหล่านี้ได้แฝงอคติด้านชาติพันธุ์เพื่อกีดกันและปิดกั้นการเข้าถึงพื้นที่ แสดงให้เห็นรูปแบบการช่วงชิงทรัพยากร ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ริเริ่มโครงการกับกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ซึ่งมีอำนาจอิทธิพลในท้องที่ โดยมีมลาบรีตกเป็นจำเลยรองรับกระแสกดดันต่าง ๆ โดยตรง (หน้า 90-104)

Settlement Pattern

มลาบรีมีรูปแบบการตั้งถิ่นฐานแบบเร่ร่อน หาของป่าล่าสัตว์นำมาแลกอาหารจากชาวบ้าน มลาบรีมีข้อห้ามตามจารีตของบรรพบุรุษคือ ห้ามตั้งหลักแหล่งอาศัยถาวรและห้ามเพาะปลูก ต่อมาเมื่อการพัฒนาจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนเข้าถึง มลาบรีก็เริ่มตั้งถิ่นฐานถาวรในพื้นที่บ้านห้วยหยวก (หน้า 1, 6) จากบทสัมภาษณ์มลาบรีทำให้ทราบว่า มลาบรีมักหลีกเลี่ยงการสร้างที่พักในบริเวณที่เป็นเส้นทางเดินป่าของคนพื้นราบ การเลือกบริเวณสร้างเพิงที่พักหรือ "แกง" มักเลือกพื้นที่ที่ค่อนข้างลาดเอียง เปิดสู่ด้านที่ลาดลงของเขา มีกองไฟใช้เป็นที่ประกอบอาหารและให้ความอบอุ่นหน้าเพิง ลักษณะเพิงที่พักเป็นเพิงหมาแหงน ในฤดูฝนมักมุงหลังคาด้วยใบไม้ให้แน่นหนากันน้ำฝนรั่วลงมา และบางครั้งก็มีการยกพื้นด้วยฟากไม้ไผ่ หรือขุดร่องเล็ก ๆ ระบายน้ำในฤดูฝนอีกด้วย (หน้า 110)

Demography

ชุมชนมลาบรีบ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่านมีขนาดประชากรน้อยหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคมไทย (หน้า 20) จากเอกสารของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน ระบุว่า บ้านห้วยหยวกเป็นพื้นที่ที่มีมลาบรีมาพักอยู่มากกว่าพื้นที่อื่น ชุมชนมลาบรีหรือชุมชนตองเหลืองนับเป็นคุ้มที่ 5 ของหมู่บ้านห้วยหยวก (หน้า 102) ประกอบด้วย ครอบครัวจำนวน 18 ครอบครัว มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 94 คน เป็นชาย 20 คน หญิง 21 คน เด็กชาย 23 คน เด็กหญิง 30 คน (หน้า 101) ระบบการผลิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ เพื่อหาอาหารมาเลี้ยงชีพ เมื่อแหล่งเดิมขาดแคลน มลาบรีก็จะเคลื่อนย้ายไปยังป่าแหล่งอื่น ๆ นอกจากนี้เหตุผลหนึ่งในการย้ายถิ่นที่อยู่คือ การต้องเผชิญภัยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ภัยจากสิ่งเหนือธรรมชาติที่มารบกวนให้หาอาหารลำบาก หรือการพบว่ามีสัตว์นักล่าอยู่ใกล้บริเวณที่พัก เป็นต้น (หน้า 110-111) การโยกย้ายไปหาที่อยู่ใหม่เมื่อพื้นที่เดิมขาดแคลนอาหาร ผู้ชายมักเป็นผู้ตัดสินใจย้ายถิ่น ผู้เฒ่าเป็นคนเลือกทำเล ชายจะเป็นผู้เดินนำทางโดยมีผู้หญิงและเด็กหิ้วสัมภาระตามไป และมักย้ายกันไปทั้งครอบครัว (หน้า 122)

Economy

อาจกล่าวได้ว่า ระบบเศรษฐกิจของมลาบรีเป็นเศรษฐกิจเพื่อการยังชีพ มีวิถีการผลิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ ซึ่งมีส่วนสร้างความรู้ในการดำรงชีพและจัดการสิ่งแวดล้อมในวิถีแบบอาศัยพึ่งพิงป่า อันเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน (หน้า 104,105) จากการสัมภาษณ์มลาบรีที่ใช้ชีวิตอยู่กับพื้นที่ป่า พบว่า มลาบรีมักเลือกอยู่ในป่าสมบูรณ์ที่เรียกว่า "ตึเตาะ" หรือ "กรูม" มากกว่าป่าแพะหรือ "เกรอะแกระ" เพราะป่ากรูมสามารถหาของป่าและพืชพวกหัวมันป่าได้ง่าย (หน้า 107) แต่เดิมมลาบรีหรือ "ข่าตองเหลือง" มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนลาวโดยมลาบรีจะนำของป่า เช่น เขากวาง หนังสัตว์ นอแรด มาวางไว้ในบริเวณที่รู้กันแล้วแอบซ่อนอยู่ในป่าบริเวณนั้น ในขณะที่ลาวจะนำของป่าไปแล้วนำเกลือ เศษผ้าฝ้าย ยาสูบมาวางไว้แทน (หน้า 51) ก่อนที่ทางการจะเริ่มโครงการพัฒนากลุ่มมลาบรีบริเวณพื้นที่บ้านห้วยหยวก ต.แม่ขะนิง อ.เวียงสา จ.น่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนม้ง พบว่าเคยมีมลาบรีในพื้นที่จังหวัดน่าน รับจ้างทำงานในไร่ของม้งมาก่อน (หน้า 101) เมื่อรัฐเข้ามาดำเนินโครงการจัดสร้างที่อยู่อาศัยถาวรให้ในจังหวัดน่าน ได้มีนโยบายจะพัฒนาให้หมู่บ้านกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดตั้งเป็น "หมู่บ้านตองเหลือง" (หน้า 102) การบริโภคอาหารของมลาบรี มลาบรีรู้จักขุดหัวมันป่าและเก็บพืชป่าต่าง ๆ มาบริโภคเป็นอาหารในฤดูกาลต่าง ๆ เช่น ในฤดูร้อน (ยัมทุอูล) จะมีมันป่า เช่น "ทรูด" "ม่า" "จะแหรก" "กะทาด" "เด้อว" "เกล้ว" กล้วยป่ารับประทานได้ทั้งส่วนหยวก "เดาะ" (ปลี) และส่วนผล "เพละ" นอกจากนี้ยังมีผักกูด (ริมห้วย) และมะไฟป่า ในฤดูฝนจะมีเห็นขึ้นตามขอนไม้ เช่น "ก่า" "โต้ล" "ซานรา" "ดั้ก" และเห็ดที่ขึ้นตามพื้นดิน เช่น "ยอร" "โป้ยส" ยอดฟักทอง ผล "ลมโบะ" ผล "ระเวก" มะม่วงหน่อหวาย และพืชตระกูลขิงที่เรียกว่า "เออะเกละ" ในฤดูหนาวนอกจากมันป่าและกล้วยป่ารวมถึงผักกูดที่บริโภคได้ทุกฤดูกาลแล้ว ยังมีดอกและลูกต๋าว รวมถึงผลฟักทองและหน่อหวายอีกด้วย (หน้า 111-112) การล่าสัตว์ของมลาบรีทำได้ทุกฤดู แต่ฤดูฝนจะเป็นช่วงที่นายพรานสามารถล่าสัตว์ที่อยู่ตามพื้นดินได้ง่ายกว่า เนื่องจากรอยสัตว์หาได้ง่าย สัตว์ที่มลาบรีล่าแบ่งออกเป็นสัตว์ใหญ่ (จะเด้อตรือหนาบ) และสัตว์เล็ก (จะเด้อไอตาก) สัตว์ใหญ่เช่น หมี "แบ้ก" หมูป่า "ง้าย" กระทิง "ดิ้ง" กวาง "คเจี้ยก" เป็นต้น สัตว์ใหญ่ที่ล่ามาได้ถือเป็นของส่วนรวม ต้องนำมาประกอบพิธีขอขมาสิ่งเหนือธรรมชาติ และแบ่งให้คนอื่น ๆ ส่วนสัตว์ขนาดเล็กก็แบ่งกันภายในครัวเรือน ไม่ต้องประกอบพิธีกรรม นอกจากนี้ก็มีไข่ของ "ปิเย" เหมาะกับการเพิ่มน้ำนมให้หญิงคลอดลูก และ "เวิ้กเยค" (น้ำผึ้ง) ซึ่งหาได้ในช่วงปลายฤดูหนาวหรือช่วงเดือนห้าที่เหมาะกับการตีผึ้ง (หน้า 113 -114) ในการล่าสัตว์ขนาดใหญ่เช่น หมี กระทิง งูเหลือม หมูป่า กวางป่า นายพรานจะเรียกกลุ่มผู้ชายไปช่วยกันชำแหละเนื้อในป่า นำกลับมายังที่พัก โดยพรานที่ฆ่าหรือแทงสัตว์ได้เป็นคนแรก จะได้รับเนื้อส่วนหัวและส่วนหาง พรานจะแบ่งเนื้อที่ล่ามาได้ให้กับญาติพี่น้อง พร้อมกล่าวอวยพรให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่าง ๆ (หน้า 127) สังคมมลาบรีมักใช้กฎเกณฑ์การแบ่งปันทรัพยากร และการใช้ความสามารถของตนเองในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อเลี้ยงชีพให้อยู่รอดในป่า การกระจายทรัพยากรอย่างเช่นอาหารสู่สมาชิกในสังคมคนอื่น ๆ จึงถือเป็นพันธะระหว่างผู้คนในสังคมอย่างหนึ่ง (หน้า 130, 133) การแบ่งมันหรืออาหารหลักที่ขุดมาได้มักอยู่ในระดับครัวเรือน หากมลาบรีหามาได้มากพอก็จะแบ่งไปยังสมาชิกอื่น ๆ นอกครัวเรือน แต่การที่บุคคลเอาเปรียบไม่ไปหากินด้วยตนเอง หรือคอยแต่จะแบ่งปันจากคนอื่นถือเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นคนป่วยหรือเด็กเล็กที่ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพเองได้ (หน้า 131-132)

Social Organization

ระบบครอบครัวและเครือญาติของมลาบรี มลาบรียึดถือการแต่งงานแบบสามีภรรยาเดียว (Monogamy) โดยถือว่าการมีสามีหรือภรรยามากกว่าหนึ่งคนเป็นเรื่องผิดจารีต และนิยมแต่งงานกับคนนอกกลุ่ม ทั้งยังมีข้อห้ามในการแต่งงานระหว่างญาติพี่น้อง (หน้า 151) หลังจากแต่งงาน คู่สมรสนิยมแยกออกมาตั้งครอบครัวใหม่ไม่อาศัยร่วมชายคาเดียวกับพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่จะอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มครอบครัวนี้มีขนาดโครงสร้างใหญ่กว่าครอบครัว แต่เล็กกว่าหมู่บ้าน มีความสัมพันธ์เป็นระบบเครือญาติ ทั้งยังมีความสัมพันธ์กันเชิงเศรษฐกิจ การช่วยเหลือพึ่งพากัน การแบ่งปันอาหารและดูแลกันและกันในกลุ่มของครอบครัวและเครือญาติ แต่ละกลุ่มมีบ้านไม่เกิน 5 หลัง เมื่อมีการย้ายถิ่นที่อยู่ ครัวเรือนทั้งหมดในกลุ่มครอบครัวเดียวกัน ก็จะอพยพโยกย้ายตามกันไปทั้งหมด สังคมมลาบรีเรียกรูปแบบครอบครัวดังกล่าวนี้ว่า "โกรกแกง" หมายถึง กลุ่มคนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของพี่น้องหรือเครือญาติ เข้ามาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน และไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นพ่อแม่ลูกกันเท่านั้น (หน้า 152, 153) การแบ่งหน้าที่ สังคมมลาบรี ผู้ชายจะถูกคาดหวังให้มีหน้าที่ล่าสัตว์ หาผึ้ง ในขณะที่ผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบงานบ้าน เช่น ตักน้ำ หาฟืน ขุดมัน เก็บพืชผัก ตัดต๋าว รวมถึงการไปช่วยผู้ชายล่าสัตว์ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณงานของผู้หญิงค่อนข้างมากกว่าผู้ชาย (หน้า 123-124) สำหรับชุมชนมลาบรีบ้านห้วยหยวกมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ประกอบด้วยคนรุ่นปู่ย่าตายายอยู่ร่วมกับพ่อแม่ลูก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังคมมลาบรียังมีรูปแบบการอาศัยร่วมกับพ่อแม่ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงอยู่ด้วย บางครัวเรือนก็มีแม่ม่ายหรือมีภรรยาสองคน ในปัจจุบัน เมื่อสังคมมลาบรีเปลี่ยนมาตั้งถิ่นฐานถาวรตามการสนับสนุนของรัฐ ทำให้รูปแบบ "โกรกแกง" แต่เดิมเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ เป็นการอยู่รวมกันของมลาบรีหลายกลุ่มครอบครัวและเครือญาติ มิใช่การรวมกันของกลุ่มเครือญาติเดียวอีกต่อไป มีการพิจารณาให้สัญชาติไทยและตั้งนามสกุลให้ โดยแยกกลุ่มตามเครือญาติสายบิดาเป็นนามสกุลต่าง ๆ ที่ทางการตั้งให้เมื่อปี พ.ศ. 2544 (หน้า 153) จากการสืบสายมลาบรีบ้านห้วยหยวกพบว่า มีกลุ่มเครือญาติอย่างน้อย 8 สาย แต่งงานระหว่างกัน ส่วนการแต่งงงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์แทบไม่พบในกลุ่มนี้ (หน้า154) การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มนี้ สังคมมลาบรีเรียกว่า "มู้" กลุ่มหนึ่งมีขนาด 7 ครัวเรือน (กูลมู้) กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ในแบบพี่น้องเครือญาติเดียวกันจะเรียก "ดิ้งโร่ย" ประกอบด้วย ตายาย พ่อแม่ลูกและกลุ่มญาติพี่น้อง (หน้า 155) ในสังคมรูปแบบใหม่ มลาบรีแต่ละครัวเรือนส่วนใหญ่จะแยกย้ายกันไปทำงานรับจ้างตามไร่ม้ง ทำให้เกิดการพึ่งพาแรงงานเฉพาะระดับครัวเรือนเท่านั้น ทั้งยังเกิดการเอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น จนทำให้คนชายขอบในสังคมเช่น ม่าย เด็ก ๆ และผู้สูงอายุได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น (หน้า 155-156)

Political Organization

ปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่บ้านห้วยหยวก เมื่อทางการเข้ามาจัดตั้งชุมชนตองเหลืองในพื้นที่ครอบครองของม้งบ้านห้วยหยวก ก็ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการเข้าใช้ทรัพยากร เนื่องจากชุมชนม้งเองก็มีการแย่งชิงที่ดินกับม้งหมู่บ้านอื่น (หน้า 148) พื้นที่จำนวน 150 ไร่ที่ทางการขอบริจาคจากม้งมาตั้งชุมชนตองเหลืองมีขนาดไม่พอที่จะรองรับประชากรจำนวน 119 คน 18 หลังคาเรือน มลาบรีจึงต้องออกไปใช้ทรัพยากรนอกพื้นที่ จนรุกเข้าไปในที่ของม้ง ม้งซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินก็ใช้สิทธิอ้างให้มลาบรีทำงานในไร่แลกสิ่งตอบแทน (หน้า 149) ความขัดแย้งดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความแตกต่างในระบบกรรมสิทธิ์ของมลาบรี ซึ่งเปิดกว้างให้คนเข้าถึงทรัพยากรและใช้เพื่อยังชีพ ในขณะที่ระบบกรรมสิทธิ์ของม้งกลับมุ่งเน้นวิถีการผลิตเชิงพาณิชย์จึงกีดกันการเข้าถึงทรัพยากร (หน้า 149) เมื่อมลาบรีประสบปัญหาความยากลำบากในการเข้าถึงทรัพยากรนอกเขตม้ง ก็ต้องเดินทางไปหาของป่าเป็นระยะทางไกลกว่าเดิม ในที่สุด มลาบรีก็จำเป็นต้องมาเป็นแรงงานรับจ้างม้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง (หน้า 149) ตัวอย่างที่แสดงถึงการถูกควบคุมจากกลุ่มอำนาจภายนอก ทำให้มลาบรีสูญเสียอำนาจเหนือพื้นที่ทางกายภาพ ทั้งยังเป็นการสั่นคลอนโครงสร้างความเชื่อเดิมอีกด้วย เช่น กรณีที่ม้งให้พวกเขาขุดดินในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของมลาบรี แต่เดิมมลาบรี เชื่อว่า มีสิ่งเหนือธรรมชาติคอยดูแลรักษา "ร้วด" หรือดินโป่ง พื้นที่ป่าที่มีร้วดจึงห้ามมนุษย์เข้าไปรบกวน เมื่อพื้นที่ป่าได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ไร่แล้ว นายจ้างม้งกลับให้แรงงานมลาบรีเข้าไปขุดดินในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นร้วดแต่เดิม ซึ่งแต่เดิมมลาบรีมีความเชื่อว่า อาจทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยและอาจถึงตายได้ (หน้า 150) รัฐกับอำนาจในการจัดการทรัพยากรป่าเมื่ออำนาจรัฐเข้ามามีอิทธิพลต่อการดูแลทรัพยากรป่า จากโลกทัศน์แบบเดิมของชาวบ้านที่มองว่า พื้นที่ป่าเป็นของเจ้าผู้ครองนครถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีสิ่งเหนือธรรมชาติดูแลคุ้มครองอยู่ แนวคิดดังกล่าวก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีการตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในปี พ.ศ.2439 เพื่อดูแลผลประโยชน์และบริหารจัดการป่า แนวคิดเกี่ยวกับ "ป่าเพื่อการอนุรักษ์" กลายเป็น "การเข้าครอบครองพื้นที่และบริหารจัดการสัมปทานป่าไม้ " โดยที่รัฐมุ่งเน้นผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ มีการเปิดสัมปทานให้นายทุนเข้าถางป่าแปรรูปไม้ให้กลายเป็นสินค้ามีคุณค่าทางเศรษฐกิจตามระบบทุนนิยม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สัมปทานไม้ที่รัฐเปิดให้นายทุนต่างชาติถูกยกเลิก แต่ชาวไทยยังคงทำไม้ในเชิงพาณิชย์ต่อไปเนื่องจากเห็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น มีการรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ความหมายของป่าแบบเดิมที่ชาวบ้านเคยมองว่าเป็น "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ภายใต้อำนาจผู้ครองนคร" เปลี่ยนเป็นป่าในความหมายของ "ทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ" เมื่อเกิดการสูญเสียพื้นที่ป่ามากเข้า รัฐก็ปิดป่าสัมปทาน แต่พอมีแรงผลักดันจากพ่อค้าไม้และนักการเมืองก็เปิดให้สัมปทานอีก แม้จะมีการออก พ.ร.บ.ป่าสงวน นิยามความหมายของป่าก็ยังคงเน้นผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สัมพันธ์กับอำนาจทางการเมืองเป็นหลัก การขยายอำนาจรัฐครอบคลุมพื้นที่ป่า โดยยึดเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นของรัฐภายใต้วาทกรรม "ป่าอนุรักษ์" ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ตกเป็นพื้นที่ซึ่งคนมีอำนาจช่วงชิงการเข้าถึงแบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" (หน้า 189-194) เมื่อรัฐเปิดให้นายทุนสัมปทานตัดไม้ใหญ่ไปเกือบหมดแล้ว ม้งก็ได้ขอซื้อที่ดินต่อจากนายทุนนำมาเพาะปลูกข้าวโพด โดยเข้าใจว่าตนมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของพื้นที่แทนนายทุน ทางการก็เข้ามาเก็บภาษี ป่าจึงมีความหมายเป็น "พื้นที่เพาะปลูกภายใต้อำนาจจัดการของม้ง" ในขณะที่มลาบรีเรียนรู้ที่จะปรับตัวเมื่อป่าที่เคยอยู่มาแต่เดิม ถูกอำนาจภายนอกบุกรุกเพิ่มขึ้น ด้วยการมาเป็นแรงงานให้ม้ง โดยเรียกไร่ม้งว่า "ระหมาบกั่วหระ" หมายถึงพื้นที่แห่งนี้ตกเป็นของคนนอกกลุ่มมลาบรี เมื่อรัฐขยายอำนาจควบคุมพื้นที่ ม้งก็พยายามรักษาอำนาจเหนือพื้นที่ด้วยการทำให้พื้นที่อยู่ในสภาพ "ป่าเหล่า" ที่ยังไม่โตเต็มที่และแปลงเพาะปลูก อำนาจของม้งจึงมาจากการช่วงชิงสิทธิเหนือพื้นที่ อย่างไรกีดี การที่พื้นที่ถูกปิดล้อมด้วยกลุ่มอำนาจภายนอก มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนิยามความหมายของพื้นที่และทรัพยากร ทั้งยังสั่นคลอนถึงระบบคุณค่าและความเชื่อแบบเดิมของสังคมมลาบรีอีกด้วย (หน้า 194 -199) การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของมลาบรี เมื่อมลาบรีถูกปิดล้อมจากกลุ่มอำนาจ ก็หาทางปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์หรือ ต่อรองกับกลุ่มอำนาจโดยมิได้เป็นฝ่ายยอมจำนนเสมอไป การต่อรองกับกลุ่มอำนาจนอกชุมชนซึ่งมีทั้ง หน่วยงานของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง (หน้า 204 - 205) เช่น การหลีกเลี่ยงไม่ไปหาของป่าในเขตป่าอนุรักษ์เมื่อได้รับคำเตือนจากหอกระจายข่าวว่าจะมีเจ้าหน้าที่ออกตรวจพื้นที่ (หน้า 205) การปล่อยไฟป่าให้ไหม้ลุกลามต้นไม้ในโครงการของหน่วยจัดการ ต้นน้ำจนเสียหาย เป็นการสะท้อนถึงความไม่ใส่ใจจะมีส่วนร่วมดูแลรักษาจากคนในชุมชน (หน้า 206) นัยหนึ่งแสดงถึงการต่อต้านของคนท้องถิ่นที่ตกเป็นคนชายขอบ เป็นผลมาจากการถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ (หน้า 207)

Belief System

มลาบรีมีความเชื่อและการนับถือผี โดยเชื่อว่าผีเป็นผู้ควบคุมทุกสรรพสิ่ง เมื่อคนตายวิญญาณจะล่องลอยตามป่าเขา เป็นผีเจ้าป่าเจ้าเขา มีอำนาจดลบันดาลในรูปของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ และสามารถดลบันดาลให้ผู้คนเจ็บป่วย มลาบรีจึงใช้ประโยชน์จากผืนป่าเพียงเพื่อการยังชีพ ไม่ครอบครองหรือเพาะปลูกบนผืนดินเพราะเชื่อว่าผีจะไม่พอใจและอาจดลบันดาลให้ประสบภัยต่าง ๆ (หน้า 1) ความเชื่อเกี่ยวกับผีและสิ่งเหนือธรรมชาติยังปรากฏผ่านคำศัพท์เฉพาะในภาษามลาบรีอีกด้วย กล่าวคือ คำเรียกสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ผี เรียกว่า "ซินเร" ผีฟ้า เรียก "ซินเร กร้าน" มลาบรีถือเป็นพ่อ ผีดิน เรียก "ซินเรแบะ" มลาบรีถือเป็นแม่ ซินเรมีอยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น "ซินเรซีโบ้" เป็นผีตามภูเขา "ซินเรเวิ้ก" เป็นผีที่อยู่ตามแหล่งน้ำ "ซินเรลัม" เป็นผีที่อยู่ตามต้นไม้ "ซินเรร้วด" เป็นผีที่อยู่ตามดินโป่ง "โป้กคาโรย" เป็นผีเจ้าที่ดูแลรักษาสัตว์ต่าง ๆ ในป่า (หน้า 181) เป็นที่น่าสังเกตว่า สังคมมลาบรีมีการใช้อำนาจของผีเป็นเครื่องจัดความสัมพันธ์ในสังคมแบบชนเผ่าที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน ต้องรู้จักให้เกียรติกันและกันผ่านข้อห้ามและความเชื่อเกี่ยวกับผีฟ้า ผีดินซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจเหนือธรรมชาติ การห้ามพูดทับถมผู้อื่น หรือพูดจาดูถูกผู้อื่นจึงเป็นค่านิยมที่ไม่ได้รับการยอมรับ และอาจได้รับการลงโทษจากสิ่งเหนือธรรมชาติอีกด้วย ความเชื่อดังกล่าวปรากฏผ่านบทสัมภาษณ์มลาบรีบ้านห้วยหยวกที่ว่า "ไม่ใช่เขาไม่เก่ง มันไม่เจอ แต่ว่าเขาเจอนี้เขาก็เก่ง เขาได้ไม่ได้ก็ไม่ ต้องพูด ไผได้ไผก็เก่ง อย่างว่าเขาเจอ เขาก็แทง เขาก็เก่งเหมือนกันนะ แต่ถ้าว่า โอ้เฮานี้เก่ง เฮานี้เก่งกว่าสู แบบนี้อันนี้หมีขบ ขึ้นผึ้งก็ตก นี่ผีผ้า (ผีฟ้า) ผีดิน มันยังไง มันรู้ เอา คนนี้พูดแบบนี้ พูดดูถูกคนเหมือนกันเกินไป ไม่ไหว จะฆ่าให้ตายเสีย" (หน้า 129-130) พิธีกรรมมลาบรีมีการประกอบพิธีกรรมสู่ขวัญสัตว์ "เมาะโล่น เปียะเด้อ" เป็นการขอขมาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเจ้าของทรัพยากร โดยมีผู้อาวุโสชายในเผ่าเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมดังกล่าว (หน้า 128) นอกจากนี้ ยังมีพิธีสู่ขวัญหอก "เมาะโลนค้อด" เป็นพิธีที่ทำขึ้นเพื่อให้มีโชคในการล่าสัตว์ในครั้งต่อ ๆ ไป มีการวางหอกไว้บน หิ้งผู้อาวุโสเป็นผู้ทำพิธี (หน้า 128-129)

Education and Socialization

มลาบรีมีการถ่ายทอดความรู้ในการดำรงชีพในป่า รวมถึงการจักสานสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กลุ่มผู้หญิงมลาบรีนิยมถ่ายทอดความรู้ในการจักสานย่ามหรือ "ยอก" ในขณะที่ผู้ชายมลาบรีได้เรียนรู้การสานกระบุง "ก้วย" จากม้ง นอกจากนี้ยังมีความรู้ในการตีเหล็กทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ อาทิ มีดพร้า เสียม หอก "ค้อด" หรือ "ท้อด" ซึ่งปัจจุบันไม่พบว่า มลาบรีเอาของป่าไปแลกเหล็กเพื่อมาตีเป็นหอกสำหรับใช้ล่าสัตว์อีก เนื่องจากมลาบรีหันไปใช้ปืนแทน (หน้า 119-120) นอกจากนี้ ความรู้เกี่ยวกับป่า ประสบการณ์ในการท่องป่า หาของป่าและล่าสัตว์ นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสถานภาพทางสังคมให้กับผู้ชายมลาบรีอีกด้วย (หน้า 123) การเรียนรู้ของมลาบรี ซึ่งรวมถึงการใช้สมุนไพรในการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วย มักเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับป่า เป็นความรู้ผ่านการปฏิบัติโดยอาศัยการสังเกต เรียนรู้และจดจำจากผู้ใหญ่ (หน้า 122) ในปี พ.ศ.2544 ทางการนำเด็กมลาบรี 8 คน ไปเรียนร่วมกับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์อำเภอเวียงสา ห่างจากชุมชนถึง 50 กิโล แต่มีนักเรียนหนีกลับมาบ้าน เนื่องจากถูกเพื่อนเผ่าอื่นว่าล้อเลียนและคิดถึงบ้านคิดถึงพ่อแม่ ทางการพยายามหันมาใช้นโยบายเปิดรั้วโรงเรียน ให้เด็กมลาบรีเข้าโรงเรียนภูเค็งพัฒนาบ้านห้วยหยวก (หน้า 173-174) ผู้วิจัยได้ให้ทัศนะเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐไม่เข้าใจวัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็กของชนเผ่า ที่พ่อแม่และเครือญาติมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางใจให้แก่เด็ก ตั้งแต่ยังเป็นทารก การเลี้ยงดูก็มักผูกลูกไว้กับอก หรือหลังเสมอ เมื่อโตขึ้นมาเด็กก็ยังได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในหมู่เครือญาติ การหนีเป็นทางออกของกลุ่มเด็กที่สะท้อนให้เห็นการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างเร่งรีบของทางการ โดยที่ไม่เข้าใจถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในสังคมมลาบรีแม้แต่น้อย (หน้า 174)

Health and Medicine

มลาบรีมีความรู้ในการรักษาพยาบาลด้วยการใช้ยาป่า "ระเห่อจะเปียะเด้อ" สาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยมีทั้งที่เกิดจากสัตว์ป่า เช่น หากถูกผึ้งต่อย มลาบรีจะใช้ใบ "สะอาล" มาต้ม แล้วนำน้ำยามาลูบเอาเหล็กในออก เป็นต้น แต่ในกรณีถูกสัตว์ป่าทำร้าย เช่น หากถูกเสือทำร้ายหรือถูกกัดแล้วไม่ตาย คนที่ถูกกัดต้องเสียสละให้เสือกินเพื่อไม่ให้พี่น้องถูกเสือตามไปทำร้าย หากเสือกัดตายก็จะทิ้งศพไว้ให้เสือกิน แล้วคนอื่นก็จะรีบย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น สำหรับการใช้พืชสมุนไพรรักษานั้น มลาบรีรู้จักใช้ยางจากรากของ "เบอะเวรง" ซึ่งมีลักษณะคล้ายบอนมาทำยาทาแผลและฝี โดยใช้ร่วมกับน้ำจากเถา "แย้-ช" รักษาอาการปวดท้องและฝีหนองได้ นอกจากนี้ยังมีต้น "ป้าบ" ซึ่งเป็นพืชตระกูลข่าป่าและ "ตะรอน" ใช้ส่วนหัวใต้ดินมาต้มดื่ม เพื่อรักษาอาการปวดหัวเป็นไข้ไม่สบาย (หน้า 117-119)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

บทเพลงและดนตรีของมลาบรี ลักษณะดนตรีของมลาบรีเป็นดนตรีพื้นบ้าน (Folk Music) มีเครื่องดนตรีประจำเผ่าที่สำคัญคือ แคน บางครั้งก็มีการร้องเพลงประกอบเสียงดนตรีด้วย เนื้อหาในเพลงมักเป็นการบรรยายความ บอกเล่าสภาพชีวิตส่วนตัว ของผู้ร้อง สภาวะทางจิตใจหรือสภาพความเป็นอยู่ของสังคม ความสามารถในการเป่าแคน หรือ "ปุงแคน" ซึ่งก็มักจำกัดวงในการเรียนรู้ไว้เฉพาะในหมู่ผู้ชายเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการฟังเพลงจากเครื่องเล่นเทปและวิทยุ อย่างไรก็ดี มีครัวเรือนไม่ถึงครึ่งที่มีเครื่องเล่นเทปและวิทยุ (หน้า 159) เครื่องแต่งกายของมลาบรี เครื่องนุ่งห่มดั้งเดิมของมลาบรีทำจากวัสดุตามธรรมชาติเช่น เปลือกไม้ "อะกูกู้ลาม" หรือกาบกล้วย "อะกูกู้โยน-ร" เครื่องแต่งกายชายเป็นผ้าเตี่ยว นุ่งปิดท่อนล่างเรียกว่า "ตะแยด" เครื่องแต่งกายผู้หญิงจะนุ่งปิดท่อนบน ท่อนล่างนุ่งกระโปรงยาวเลยเข่า เรียกว่า "แยด" โดยใช้เปลือกต้นปอสาหรือกาบกล้วยเย็บติดกันด้วยเชือกที่ทำจากเถาวัลย์ (หน้า 119) งานจักสานของมลาบรี หญิงมลาบรีมีทักษะในการสานย่าม "ยอก" ใส่ของด้วยการใช้เปลือกเถาวัลย์ ในขณะที่ชายมลาบรีเรียนรู้จากม้งในการนำไม้ไผ่มาสานเป็น "ก้วย" หรือกระบุงขนาดใหญ่ที่ไม่มีฝาปิด ใช้เชือกมัดสะพายหลังสำหรับใส่ของ นอกจากนี้ ยัง มีการนำหวายมาสานกระบุงแบบที่มีฝาปิดที่เรียกว่า "ปูม" อีกด้วย (หน้า 119 - 120)

Folklore

ตำนานม้งเล่าสืบกันมาว่า มลาบรีเคยเป็นคนพื้นราบเมืองอยู่หลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อเจ้าหน้าที่มาเก็บภาษีก็หนีเข้าป่า จึงถูกสาปแช่งว่า หากไม่เสียภาษีขอให้เสือกัด มลาบรีกลัวจึงไม่คิดออกจากป่าอีก (หน้า 44)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การบ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นมลาบรีท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และการต่อรองกับการครอบงำของอำนาจ ทำให้ตัวตนมลาบรีในฐานะคนชายขอบของสังคมเลื่อนไหลไปตามสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการรับรู้ (หน้า 205) อัตลักษณ์ด้านการแต่งกาย ที่อยู่อาศัย รวมถึงสภาพวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เมื่อมาอยู่ภายใต้บริบทการพัฒนาและถูกควบคุมโดยอำนาจจากภายนอก อาทิ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนต่าง ๆ ทำให้ความเป็นตัวตนของมลาบรีที่มีลักษณะไม่หยุดนิ่งตายตัวแต่เลื่อนไหลตามสภาพ การที่รัฐใช้ทรัพยากรป่าไม้เป็นเครื่องนิยามตัวตนของมลาบรีว่าเป็น "ชนเผ่าเร่ร่อนไร้ราก" หรือการนำทรัพยากรผืนดินเพื่อการเพาะปลูกมาบ่งบอกสภาพความเป็นมลาบรีในช่วงที่ถูกผนวกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาของรัฐอย่างเป็นรูปธรรม แสดงถึงการกำหนดทิศทางการเข้าถึงทรัพยากรของมลาบรีแต่ละยุคด้วยอำนาจรัฐ (หน้า 208) เป็นที่น่าสังเกตว่า การสะท้อนตัวตนทางสังคมของมลาบรีมีการใช้สัญญะ เช่น เครื่องแต่งกายแบบ "ตะแยด" ในงานต่าง ๆ ที่จัดโดยทางการ เช่น งานมอบข้าวใหม่ตองเหลือง และงานตองเหลืองตีข้าว เป็นสัญญะสำคัญต่อการปรากฏตัวตนทางสังคมตามเงื่อนไขการพัฒนามลาบรีพร้อมกับการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน การที่ชายมลาบรีนุ่งตะแยดมาตีข้าวไร่แสดง แล้วรีบไปเปลี่ยนเสื้อผ้าให้มิดชิด ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความลักลั่นของรัฐในการพัฒนา เพราะเท่ากับรัฐได้ฉุดรั้งให้มลาบรีอยู่กับภาพลักษณ์เดิมด้วยการนุ่งตะแยดแทนที่จะเป็นเสื้อผ้าที่เหมาะกับวิถีการผลิตแบบใหม่ โดยก้าวผ่านจากสังคมเร่ร่อนท่องป่าล่าสัตว์มาสู่สังคมเกษตร ที่เป็นเช่นนี้เพียงเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยว (หน้า 213) เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อคนของทางการขอร้องให้มลาบรีแต่งกายชุดประจำเผ่าหรือนำมลาบรีไปแสดงทางวัฒนธรรม ในที่ใดก็มักได้รับความร่วมมือ แม้มลาบรีจะรู้สึกอับอายและไร้ศักดิ์ศรีก็ตาม (หน้า 214) ในแง่นี้ "กาย" หรือการแสดงออกของตัวตนมลาบรี ในแง่หนึ่งถือเป็นการลดทอนอัตลักษณ์ด้านชาติพันธุ์ให้เหลือแค่ผืนผ้าตะแยด แต่ในอีกแง่หนึ่งกลับเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่มลาบรีใช้ในการต่อรองความสัมพันธ์กับการพัฒนา (หน้า 215)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชนเผ่ามลาบรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่แต่เดิมที่เคยเป็นชนเผ่าเร่ร่อน กลับต้องถูกจำกัดพื้นที่ทำให้เกิดความยากลำบากในการเข้าถึงทรัพยากรเพิ่มขึ้น ทั้งยังต้องแย่งชิงทรัพยากรกับม้ง ในพื้นที่จนเกิดความขัดแย้ง (หน้า 148-149) ในที่สุดมลาบรีก็ต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้างทำไร่ให้กับม้ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลสั่นคลอนโครงสร้างความเชื่อดั้งเดิมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางกายภาพและทางความคิดความเชื่อ (หน้า 150) เมื่อโครงการพัฒนาส่วนใหญ่มักดึงมลาบรีให้มาตั้งหลักแหล่งถาวร แต่การพัฒนาและการควบคุมจากกลุ่มอิทธิพลภายนอก กลับสร้างแรงกดดันต่อวิถีชีวิตมลาบรียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเด็กมลาบรีเข้าสู่ระบบการศึกษา (หน้า 174) การจำกัดพื้นที่ของทางการจนทำให้มลาบรีมีสภาพไม่ต่างจากผู้บุกรุกป่าสงวนในสายตากรมป่าไม้ เมื่อต้องออกหาของป่าหรือล่าสัตว์ตามวิถีชีวิตแบบเดิม หรือโครงการส่งเสริมให้เพาะเห็ดและเลี้ยงปลาดุกซึ่งไม่ได้รับความสนใจจากคนในชุมชน (หน้า 175) รวมถึงการชักนำส่งเสริมให้มลาบรีก้าวเข้าสู่ระบบเกษตร เพาะปลูกด้วยการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าหญ้า (หน้า176) เหล่านี้เป็นกรณีตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นการพัฒนา ที่ไม่สามารถเข้าถึงรูปแบบวิถีชีวิต ความเชื่อและวัฒนธรรมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนในชุมชนมลาบรีอย่างแท้จริง ที่น่าวิตกยิ่งกว่านั้นก็คือ ชุมชนมลาบรีได้สูญเสียความสามารถในการจัดการทรัพยากร โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างมั่นคง จนต้องกลายเป็นกลุ่มชายขอบของสังคมในที่สุด (หน้า 176) จากคำสัมภาษณ์ของมลาบรีที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมแวดล้อม เมื่อการพัฒนารุกคืบเข้ามา "ตั๋วมองดู ไม้ใหญ่หมู่เฮานี้ก็ไม่ทำ ป่าใหญ่ป่าหลวงหมู่เฮาก็ไม่แผ้ว ตัดก็ตัดไม้นิดไม้น้อย ทำบ้านหลังน้อย ๆ เท่านั้นนะ ตัดตองกล้วยมุง มันจนแท้ นุ่งก็นุ่งผ้าตะแยด นุ่งตองกล้วยบ้าง ตองตึงบ้าง มาอยู่นี้ มีหมู่ผู้ว่าฯ มาคอยดู โอ้มีเสื้อ มีผ้า มีกางเกงใส่" (หน้า 211))

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

โลกทัศน์ของมลาบรี : ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ มลาบรีมีความสัมพันธ์กับป่ามาแต่โบราณ มลาบรียังชีพและดำรงชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ คุณค่าของป่าต่อสังคมมลาบรีจึงมิใช่เป็นเพียงคุณค่าเชิงกายภาพตามวัฒนธรรมการผลิตของสังคมในรูปแบบหาของป่าล่าสัตว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความหมายต่อพื้นที่ป่าตามโลกทัศน์ของมลาบรีอีกด้วย สิ่งแวดล้อมในมุมมองของมลาบรีได้สะท้อนถึง "จินตนาการทางวัฒนธรรม" ที่แสดงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่มีเส้นแบ่ง วัตถุทางกายภาพในสภาพแวดล้อมมีคุณลักษณะที่แสดงถึงความเป็นคนด้วย โลกทัศน์ของมลาบรีจึงไม่แบ่งแยก "คน" ออกจาก "ธรรมชาติ" สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องกำหนดความหมายในพื้นที่ และการจัดการทรัพยากรในสังคมมลาบรีอีกด้วย สิ่งต่าง ๆ ตามธรรมชาติในผืนป่า ไม่ว่าจะเป็นผืนดิน แผ่นฟ้า ลำธาร ต้นไม้ สัตว์ป่าล้วนมีสิ่งเหนือธรรมชาติคอยดูแลอยู่ กล่าวคือ ในผืนดินจะมี "ซินเรแบะ" หรือผีดินที่มลาบรีถือเป็นแม่ บนฟ้าจะมี "ซินเร กร้าน" หรือผีฟ้า ตามแหล่งน้ำจะมี "ซินเรลัม" เป็นต้น พลังอำนาจเหนือธรรมชาติในพื้นที่ป่าตามจินตนาการของมลาบรี จึงมีอำนาจที่ส่งผลต่อรูปแบบการดำรงชีวิต ระบบคุณค่า ความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงการเข้าไปจัดการกับพื้นที่และทรัพยากรที่สอดคล้องโลกทัศน์ดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่า สังคมมลาบรีมีการแบ่งปันทรัพยากรส่วนรวมให้ทุกคนในกลุ่มโดยไม่กีดกันการเข้าถึง เพราะมลาบรีเชื่อว่าความสำเร็จในการหาของป่าล่าสัตว์ขึ้นอยู่กับท่าทีของสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งยังมีการประกอบพิธีกรรมขอขมาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติเมื่อล่าสัตว์ใหญ่มาได้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ป่าในโลกทัศน์ของมลาบรีจึงมิใช่พื้นที่ให้คนเข้าไปตักตวงทรัพยากร หรือใช้พื้นที่ได้ตามอำเภอใจ แต่เป็นพื้นที่ที่มี "ซินเร" ครอบครองอยู่ โดยวางอยู่บนหลักการที่ "อนุญาตให้ใช้" มากกว่า "กีดกันออกจากพื้นที่" แต่ต้องเคารพยำเกรงต่ออำนาจสิ่งเหนือธรรมชาติในพื้นที่ป่าที่จับจ้องมองอยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่า การนิยามความหมายของพื้นที่และทรัพยากร มีทั้งการส่งเสริมและจำกัดอำนาจในการใช้พื้นที่และทรัพยากรไปพร้อม ๆ กัน เช่น ในบางพื้นที่มลาบรีถือว่าเป็นที่ต้องห้าม เช่น บริเวณ "ร้วด" หรือ "โป่ง" ไม่ควรเข้าไปรบกวน หาของป่าล่าสัตว์หรือตั้งที่พักบริเวณนั้น หรือบริเวณที่ฝังศพผู้ตายไว้ โดยสลักเครื่องหมายไว้ที่ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ให้หลีกเลี่ยงบริเวณดังกล่าว หากล่วงล้ำเข้าไป วิญญาณผู้ตายหรือ "ว้อก" ที่ออกจากร่างศพมาสิงสถิตตามสิ่งแวดล้อม การเข้าไปรบกวนอาจทำให้เกิดเคราะห์ร้ายได้ (หน้า 177-188)

Map/Illustration

ตาราง 8.1 ปริมาณข้าวที่เก็บจาก "ระหมาบมล่า" ในแต่ละครัวเรือน พ.ศ. 2547 (หน้า 237) ตาราง 8.2 ปริมาณข้าวที่เก็บจาก "ระหมาบกั่วหระ" ในแต่ละครัวเรือน พ.ศ. 2547 (หน้า 237) ตารางภาคผนวก ข. การทำงานในรอบปีของมลาบรีในไร่ชาวม้ง (หน้า 279) แผนที่ 3.1 แผนที่แสดงที่ตั้งบ้านห้วยหยวก ต.แม่ขะนิง อ.เวียงสา จ.น่าน (หน้า 42) แผนที่ภาคผนวก ก. แสดงสนามทุ่นระเบิดในประเทศไทย (หน้า 280) ภาพที่ 1 แสดงสภาพหุบเขาที่ตั้งชุมชนมลาบรีที่โอบล้อมด้วยพื้นที่ป่าเหล่าของชุมชนม้ง ภาพที่ 2 แสดงการตีข้าวของมลาบรี ปี พ.ศ. 2544 (หน้า 279) ภาพที่ 3 แสดงการ "ไปฝรั่ง" ของมลาบรี ตามที่นัดกับบริษัทท่องเที่ยวในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอบ้านหลวง จ.น่าน (หน้า 280) ภาพที่ 4 แสดงการท่องเที่ยวในชุมชน (หน้า 280) ภาพที่ 5 แสดงการนำมลาบรีมาร่วมเดินในงานสงกรานต์ จ.เชียงใหม่ (หน้า 281) ภาพที่ 6 แสดงสภาพที่พักของแรงงานมลาบรี 2 ครอบครัวที่ทำงานในไร่ม้ง (หน้า 281) ภาพที่ 7 แสดงการเกี่ยวข้าวที่ครัวเรือนมลาบรีเพื่อปลูกข้าวไร่ในแบบ "ระหมาบกั่วหระ" (หน้า 282) ภาพที่ 8 แสดงการถางหญ้าในไร่ข้าวรับมาจากการยกให้ม้งแบบ "ระหมาบมล่า" (หน้า 282) ภาพที่ 9 แสดงทรัพยากรที่เก็บได้จากป่าเหล่า เช่น ไม้ฟืน (หน้า 283) ภาพที่ 10 แสดงการปลูกแนวกระถินมะแฮะในไร่ข้าวแบบ "ระหมาบดูมาบอน" (หน้า 283) ภาพที่ 11 แสดงภาพหมูที่รวบรวมเงินจากครัวเรือนต่าง ๆ ไปซื้อมา (หน้า 284) ภาพที่ 12 แสดงภาพการช่วยกันจัดการกับหมูของกลุ่มผู้ชายในชุมชน (หน้า 284)

Text Analyst ศมณ ศรีทับทิม Date of Report 29 มิ.ย 2560
TAG มลาบรี มราบรี, ผีตองเหลือง, คนชายขอบ, ทรัพยากร, การพัฒนา, บริโภคนิยม, ความสัมพันธ์, เชิงอำนาจ, น่าน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง