สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง, เมี่ยน, ลีซู, ลาหู่, ลเวือะ, ลัวะ, ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง),โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง), อาข่า,ขมุ,ชาวเขา, ความเชื่อ, ตำนาน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Author Corlin, Claes
Title Common Roots and Present Inequality : Ethnic Myths among Highland Populations of Mainland Southeast Asia
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, ลัวะ (มัล ปรัย) ลัวะมัล ไปร ลัวะปรัย, อ่าข่า, ลีซู, ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, ม้ง, โพล่ง โผล่ง โผล่ว ซู กะเหรี่ยง, ปกาเกอะญอ, กำมุ ตะมอย, ละว้า ลัวะ ว้า, คะฉิ่น จิงเผาะ, Language and Linguistic Affiliations ไม่ระบุ
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 31 Year 2537
Source NIAS Report (The Nordic Institute of Asian Studies, Njalsgade 84, DK-2300 Copenhagen S. Denmark)
Abstract

ชาวเขาชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่หลากหลาย การพิจารณาตัดสินความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์จึงต้องอยู่ในทิศทางที่เป็นไปโดยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ อิทธิพลของชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงรวมทั้งบริบทในมิติต่าง ๆ ที่แวดล้อมชุมชนของชาติพันธุ์นั้น ๆ สำหรับตำนานเรื่องน้ำท่วมโลกนั้น ชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีเนื้อเรื่องที่แตกต่างกัน แต่โดยสรุปแล้ว ตำนานดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมาของชาติพันธุ์ จารีตประเพณีของชาติพันธุ์ รวมไปถึงการให้ความหมาย หรือการเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทั้งนี้ ตำนานมิใช่สิ่งที่สะท้อนความเชื่อของผู้คนเท่านั้น แต่ยังได้แสดงบทบาทหน้าที่ในการโน้มน้าวความคิดของผู้คนให้เปลี่ยนสถานการณ์ที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม ไปสู่การสร้างพฤติกรรมที่นำมาซึ่งการให้ และการรับอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนั้น ตำนานยังหยิบยื่นคำอธิบายเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันได้ดีพอ ๆ กับการกำหนดวิถีแห่งพฤติกรรมของผู้คนในอนาคตข้างหน้า (หน้า 30)

Focus

ศึกษาคติความเชื่อของชาติพันธุ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดว่าเป็นอย่างไร โดยผู้ศึกษาได้หยิบยกตำนานเรื่องน้ำท่วมโลกมาเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์เปรียบเทียบความเชื่อที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวถึงแนวคิดที่หลากหลายของนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับชาวเขาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Theoretical Issues

ผู้ศึกษาหยิบยกแนวคิดของ Leach (1954) ที่ศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์คะฉิ่น (Kachin) ทางตอนเหนือของเมียนม่าร์ ซึ่งให้แนวคิดที่จู่โจมพวกที่พยายามคิดแบบตรงทื่อด้วยการกำหนดแผนที่จำกัดขอบเขตของชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยเขาแสดงให้เห็นว่าสังคมของคะฉิ่นมีรูปแบบที่แกว่งไปแกว่งมาไม่คงที่ กล่าวคือ บางช่วงก็มีการแบ่งชนชั้นระหว่างกัน แต่ในบางช่วงกลับอยู่กันแบบที่มีสถานะเท่าเทียมกัน (ไม่มีใครเป็นผู้นำ) ดังนั้นภาพลักษณ์ของคะฉิ่นจึงมีความแตกต่างหลากหลายตามช่วงเวลาที่ต่างกัน (หน้า 7) ซึ่ง Abrahams (1990) ก็สนับสนุนแนวคิดของ Leach ในลักษณะ "Unstable equilibrium" ดังกล่าว ว่าเป็นแนวคิดที่สอดคล้องเข้ากันได้กับ Chaos theory ในโลกยุคปัจจุบัน (หน้า 10) ขณะที่ Maran La Raw (1967) กล่าวว่า ความเป็นคะฉิ่นอาจเป็นที่เข้าใจกันได้อย่างมากก็เฉพาะเพียงชนเผ่าที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกันกับคะฉิ่นเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะคะฉิ่นมีภาษามากมายถึง 40 ภาษาขึ้นไป และภาษาส่วนใหญ่ของพวกเขาก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้โดยชาติพันธุ์อื่น แม้จะมีภาษาแตกต่างกัน พวกเขาก็มีบรรพบุรษกลุ่มเดียวกัน ลักษณะการแต่งงานคล้ายคลึงกัน มีกฎระเบียบ และจารีตเหมือน ๆ กัน แต่ลักษณะของการเมืองการปกครองอาจแตกต่างกันตามพื้นที่ต่าง ๆ (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ที่พวกเขาไปอาศัยอยู่) อย่างไรก็ตาม ลักษณะของความเป็นคะฉิ่นก็ได้รับอิทธิพลจากชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ฉาน (shan) หรือ ฉิ่น(chin) ดังนั้น ความแตกต่างหลากหลายระหว่างชาติพันธุ์จึงมีความเปลี่ยนแปลงได้ อันเกิดจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงกล่าวถึงชนกลุ่มน้อยโดยปราศจากความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของบริบทแวดล้อมไม่ได้เลย (หน้า 7-8) นอกจากนั้น ผู้ศึกษายังได้นำผลงานของ Berreman (1972) ที่ได้ศึกษาชาติพันธุ์ใน Dehra Dun ของประเทศอินเดียที่ให้แนวคิดว่ามีหลักเกณฑ์มากมายในการแบ่งแยกชาติพันธุ์ต่าง ๆ ออกจากกัน เช่น ศาสนา เศรษฐกิจ ชนชั้น ฯลฯ แต่การตัดสินใจที่จะใช้หลักเกณฑ์ใดเป็นสิ่งที่ซับซ้อนยากเย็นทีเดียวที่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะเป็นรายกรณีไป (หน้า 9)

Ethnic Group in the Focus

ชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กะเหรี่ยง (Karen) ม้ง (Hmong) ฉิ่น (Chin) Kammu (Khmu) อาข่า (Akha) คะฉิ่น (Kachin) ฯลฯ

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาที่ใช้แบ่งได้เป็น 5 ตระกูล คือ มอญ, แม้ว-เย้า (Meo-Yoa), ไท (Tai), ทิเบต-พม่า (Tibeto-Burmese) และจีน (หน้า 6)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ไม่มีข้อมูล

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ไม่มีข้อมูล

Economy

แม้ว่าจะมีการทำเกษตรที่ใช้ระบบชลประทานอยู่บ้าง แต่การทำเกษตรกรรมที่พึ่งพาน้ำฝน (Dry land cultivation) ยังคงเป็นรูปแบบหลักสำหรับการทำมาหากินเพื่อยังชีพของชาวเขา (หน้า 6)

Social Organization

สำหรับสังคมในประเทศไทย และแถบพื้นราบบริเวณรัฐฉานของเมียนม่าร์นั้น ถือว่าคนเราถูกจัดแบ่งลำดับชั้นไว้เรียบร้อยแล้วโดยบุญวาสนาของแต่ละคนที่มีไม่เท่ากัน ซึ่งคนที่มีวาสนาได้เป็นพระสงฆ์และข้าราชการ ได้รับการจัดวางว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจบุญบารมีอันสูงกว่าบุคคลทั่ว ๆ ไป (หน้า 15) ในขณะที่ชาติพันธุ์ลีซอปราศจากชนชั้นวรรณะ กล่าวคือ ไม่มีการยกตั้งใครเป็นผู้ปกครอง (หัวหน้า) รวมทั้งไม่มีการแบ่งแยกเชื้อสายวงศ์ตระกูลใด ๆ ทั้งสิ้นในสังคมของลีซอ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก็คล้ายคลึงกับรูปแบบแนวคิดของคะฉิ่นในเมียนม่าร์เป็นอย่างมาก (หน้า 16)

Political Organization

ม้ง (Hmong) และฉิ่น (Chin) ซึ่งอยู่ในสถานะที่เป็นส่วนประกอบเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในสังคมไทยและเมียนม่าร์เท่านั้น มองว่าความสัมพันธ์ของอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนกลุ่มใหญ่ (Lowland states) กับชาวเขาชนกลุ่มน้อย เกิดจากอำนาจบุญวาสนาของชนกลุ่มใหญ่มีมากกว่า โดยความไม่สมดุลกันเช่นนี้บ่งบอกถึงความล้มเหลวของบรรดาชาวเขาชนกลุ่มน้อย (หน้า 17)

Belief System

ความเชื่อเกี่ยวกับพลังอำนาจในลักษณะที่เป็นผลแห่งการกระทำของมนุษย์ที่จะเกิดในอนาคต หรือกรรมที่ก่อขึ้น คือสิ่งสามัญธรรมดาของสังคมชาวเขาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพลังอำนาจแห่งกรรมนั้นเป็นสิ่งที่แผ่ซ่านปกคลุมไปทั่วทั้งจักรวาล ซึ่งคำสอนของศาสนาเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ว่านี้เช่นกัน ทั้งนี้ เพราะเป็นตัวตัดสินว่าพฤติกรรม หรือการกระทำใดควรหรือไม่ควร ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตหลังความตายของผู้นั้น ดังนั้น พิธีกรรม (กิจกรรม) ต่าง ๆ ที่พวกเขาปฏิบัติอยู่ก็มิได้หวังเพียงเพื่อให้เกิดคุณแก่ตัวเองต่อชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชีวิตในโลกหน้าด้วย (หน้า 14) อำนาจแห่งกรรมในความเชื่อของตะวันตกอาจเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมไม่สามารถมองเห็นพิสูจน์ได้ แต่สำหรับชาวเอเชียแล้วนั้น มันเป็นรูปธรรมที่จับต้องสัมผัสได้ (หน้า 15) ขณะที่ผู้คนในพื้นราบอันเป็นใจกลางของประเทศอย่างเช่นในบาหลี และลาวนั้น มีมโนทัศน์เกี่ยวกับอำนาจที่มองไม่เห็นในตัวคน ซึ่งจะแสดงออกได้จากการมีโอกาสวาสนาในการปกครองประเทศ และชนชั้นทางสังคมของคน ๆ นั้น ทั้งนี้ อำนาจ หรือบุญบารมีของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับเวลาตกฟาก สถานการณ์ และลักษณะเฉพาะตัวของผู้นั้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เป็นกษัตริย์ก็สมควร หรือชอบธรรมที่จะปกครองประเทศอยู่เอง เพราะการที่ผู้นั้นมีอำนาจบารมีเหนือกว่าผู้อื่นนั่นเอง โดยที่ผู้คนในดินแดนบริเวณนี้เชื่อว่าอำนาจบารมีที่กษัตริย์มีอยู่จะแผ่ไปถึงเหล่าพลเมืองและประเทศชาติ รวมทั้งยังแสดงให้เห็นได้ผ่านความสมบูรณ์พูนสุขของแผ่นดิน (หน้า 15) สำหรับลีซอ (Lisu) นั้น Durrenberger ซึ่งได้ศึกษาชาติพันธุ์ลีซอทางตอนเหนือของไทย ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างชื่อเสียงเกียรติยศ กับประสิทธิภาพทางการผลิต ความมั่งคั่งร่ำรวยกับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างกุศลกรรมกับอำนาจบุญวาสนา พบว่า กุศลกรรมกับความมั่งคั่งร่ำรวยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน (เป็นของคู่กัน) โดยความร่ำรวยนั้นเป็นผลอันประจักษ์แจ้งของผู้ที่ทำความดี ทั้งนี้ หลายต่อหลายครั้งที่วิญญาณบรรพบุรุษซึ่งสิงสถิตในร่างของผู้เข้าทรง พร่ำบ่น ว่า "เพราะพวกเจ้ากระทำความชั่ว จึงทำให้มีคนล้มป่วยอย่างที่เห็นนี้ไงเล่า" (หน้า 15-16) อย่างไรก็ตาม สำหรับความเชื่อของลีซอนั้น การประสบความสำเร็จในชีวิตของผู้ใดล้วนเป็นผลผลิตแห่งความสามารถเฉพาะบุคคลนั้น ๆ โดยการทำบุญกุศลถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการนำมาซึ่งแบบอย่างความประพฤติที่ถูกต้อง ปริมาณผลผลิตที่สูง และการบรรลุสู่บรรทัดฐานของสังคม นอกจากนั้น เมื่อหลังจากที่ผู้ใดสร้างคุณความดีจนส่งผลให้ผู้นั้นมั่งคั่งร่ำรวยแล้ว การมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีก็จะทำให้จุนเจือช่วยเหลือสังคมได้เพิ่มขึ้นไปอีก อันเป็นการต่อยอดบุญกุศล และเกียรติภูมิของตนต่อไป ซึ่งวัฎจักรดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ผลผลิตส่วนที่เหลือ หรือส่วนเกินทางเศรษฐกิจของสังคมลีซอถูกนำมาจัดสรรแบ่งปันกันระหว่างครอบครัว ด้วยลักษณะเช่นนี้เอง สังคมของลีซอจึงปราศจากการเก็บกักความร่ำรวยไว้แต่เพียงผู้เดียวเพื่อประโยชน์เชิงอำนาจทางการเมือง (หน้า 16)

Education and Socialization

คติความเชื่อซึ่งอยู่ในรูปของภูมิปัญญาของสังคมชาวเขาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือ ความเชื่อเกี่ยวกับความสมดุล(Balance) โดยเชื่อว่าความไม่สมดุลระหว่างสิ่งที่ตรงข้ามกันเป็นสภาวะที่ต้องหลีกเลี่ยง ซึ่งหากความไม่สมดุลเกิดขึ้นจะต้องแก้ด้วยการคืนความสมดุลสู่สภาพเดิม อย่างเช่น ความสมดุลระหว่างพลังลม กับพลังน้ำ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าระบบภูมิปัญญาของชาวเอเชียในลักษณะดังกล่าวรู้จักกันดีในนามของ "หยินหยาง" อันเป็นปรัชญาของชาวจีน (หน้า 16) โดยแนวคิดของคะฉิ่นก็มีการแบ่งเป็นคู่ตรงข้ามแบบหยินหยางเช่นกัน (หน้า 17)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ตำนาน (Myth) หรือเรื่องเล่าปรัมปราต่าง ๆ ของชาวเขาแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมรดกที่เป็นสิ่งสืบทอดต่อกันมาผ่านการเล่าเรื่องของกวี และปราชญ์ทั้งหลาย ซึ่งในเอกสารชิ้นนี้เสนอตำนานขมุ เกี่ยวกับน้ำท่วมโลกที่ปรากฏอยู่ในตำนานของชาวเขาหลายเผ่าพันธุ์โดยมีรายละเอียดเนื้อหาแตกต่างกันไปบ้าง (หน้า 18) ตามตำนานขมุ มีครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลก โดยมีเพียงสองพี่น้องที่สามารถรอดชีวิตจากมหันตภัยครั้งนั้นได้ และได้กลายเป็นคู่ชีวิตกัน ด้วยเหตุที่ว่าไม่สามารถหาคนอื่นได้ ในที่สุดผู้หญิงตั้งครรภ์ แต่เมื่อถึงเวลาคลอดสิ่งที่คลอดออกมาไม่ใช่เด็กทารก เพราะทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่กลับกลายเป็นน้ำเต้า ซึ่งสองพี่น้องได้ทราบภายหลังว่าน้ำเต้าที่ว่านี้ได้บรรจุพวกเด็กเล็กชนชาติต่าง ๆ ไว้มากมาย เมื่อเด็ก ๆ โผล่ออกมาจากน้ำเต้า เด็ก ๆ จึงมีการแบ่งสรรทรัพยากรต่าง ๆ (เช่น ต้นอ้อย ต้นกล้วย ฯลฯ) ที่มีอยู่ในโลกใหม่ตามลำดับอาวุโส และสืบเชื้อสายของตนเองต่อไป โดยในตำนานเล่าว่าประชากรของโลกเรานี้ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคไหนก็ล้วนเป็นผลิตผลที่เกิดจากสองพี่น้องคู่นี้ทั้งสิ้น (หน้า 18-19) ตำนานดังกล่าวข้างต้นได้แสดงให้เห็นถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมาทางชาติพันธุ์ของบรรดาชาวเขาเผ่าต่าง ๆ (ซึ่งมีความเชื่อที่แตกต่างกัน) ความเชื่อเกี่ยวกับที่มาแห่งความหลากหลายของชาติพันธุ์ การปฏิบัติตามจารีตประเพณี หรือบรรทัดฐานของสังคม ฯลฯ โดยความเชื่อในเรื่องที่มา หรือบรรพบุรุษของพวกเขา ซึ่งก็แตกต่างกันไป เช่น - อาข่า (Akha) ในเมียนม่าร์ เชื่อว่าบรรพบุรุษของเขามีสองเพศในร่างเดียว และให้กำเนิดบุตรจากอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้แก่ เส้นผม นิ้วมือ นิ้วเท้า ฯลฯ (หน้า 20) - คะฉิ่น (Kachin) ในเมียนม่าร์ เป็นชาติพันธุ์ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษมีสองคน คือ หญิง 1 คนซึ่งเป็นตัวแทนของสวรรค์ และชาย 1 คนที่เป็นตัวแทนของพื้นโลก ต่อมาได้มีลูกด้วยกัน 2 คน โดยที่ลูกทั้ง 2 คนนี้แต่งงานกันจนเป็นที่มาของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนพื้นโลก และสรวงสวรรค์ (หน้า 20-21) - กะเหรี่ยง (Karen) กะเหรี่ยงเล่ากันว่าพวกเขาล้วนมาจากพ่อแม่เดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งในอดีตกาลนั้น มีชายหญิงเพียงคู่เดียว โดยระหว่างที่ทำงานในทุ่งนาบรรพบุรุษชายหญิงของพวกเขาคู่นี้เจอปูนาถึง 101 ตัว และจัดการกินปูเหล่านั้นจนหมด ต่อมาผู้หญิงจึงคลอดลูกออกมา 101 คน ซึ่งในท้ายที่สุดก็กลายเป็นชาติพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กะเหรี่ยง ลัวะ ฉาน พม่า ฯลฯ (หน้า 21) อันที่จริงแล้ว ตำนานเรื่องน้ำท่วมโลกดังกล่าวข้างต้นนี้ ค่อนข้างขัดแย้งกับบรรทัดฐานของสังคม เนื่องจากเนื้อหาของเรื่องได้กล่าวถึงการที่พี่น้องท้องเดียวกันได้แต่งงานกัน ซึ่งเป็นการผิดประเพณีที่ห้ามเอาไว้ (หน้า 24) ด้วยเหตุนี้เอง เนื้อหาของชาติพันธุ์อื่นจึงแต่งโครงเรื่องที่หลีกเลี่ยงประเด็นอันผิดจารีตนี้ อย่างเช่น ในตำนานของ อาข่า (Akha) ในประเทศเมียนม่าร์ เปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องโดยให้พี่น้องคู่นี้มีอิทธิฤทธิ์วิเศษสามารถชุบชีวิตผู้อื่นได้ ทำให้สามารถไม่ต้องแต่งงานกันเอง รวมทั้งยังแต่งบทว่าพระเจ้าแบ่งสรรผืนดินให้กับชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยเท่าเทียมกัน (หน้า 25-26) ในขณะที่ตำนานชาติพันธุ์ของบางกลุ่มทางตอนเหนือของไทย ให้บรรพบุรุษเป็นฝาแฝดคนละเพศกัน โดยช่วงเด็กถูกจับให้อยู่คนละหมู่บ้านจึงไม่รู้จักกัน ภายหลังเมื่อทั้งคู่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ฟ้าจึงลิขิตให้หนุ่มสาวคู่นี้มาเจอกัน และแต่งงานกัน ซึ่งเท่ากับว่าการเป็นเนื้อคู่กันของทั้งสองไม่ผิดประเพณีแต่อย่างใด (หน้า 26) อย่างไรก็ดี ตามตำนานขมุที่ได้เล่ามาแล้วข้างต้น พี่น้องท้องเดียวกันจำเป็นต้องแต่งงานกัน เพื่อที่จะสร้างโลกใหม่ และดำรงเผ่าพันธุ์สืบไป แม้ว่าจะเป็นการขัดต่อประเพณีก็ตาม แสดงให้เห็นว่าหากสถานการณ์บังคับจริง ๆ กฎเกณฑ์ของคนในสังคมที่ยึดถือกันมาก็สามารถยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ (หน้า 27) ขณะที่เนื้อเรื่องของตำนานยังกล่าวถึงการแบ่งสรรทรัพยากรตามลำดับอาวุโส ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ชาวเขาหลายชาติพันธุ์กลับปฏิบัติต่อลูกคนสุดท้องดีกว่าลูกคนโต เช่น การให้ลูกคนสุดท้องเป็นผู้ได้รับมรดก หรือการมอบให้อยู่ในเรือนของพ่อแม่ภายหลังพี่น้องคนอื่นไปตั้งครอบครัวที่อื่นหมดแล้ว จึงกล่าวได้ว่าเรื่องราวในตำนานอาจแย้งกับชีวิตจริงก็เป็นได้ (หน้า 28) เรื่องราวที่กล่าวถึงการที่มนุษย์เกิดขึ้นมาจากน้ำเต้านั้น ค่อนข้างแพร่หลายในชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเรื่องดังกล่าวบางครั้งก็แยกออกมาเป็นเรื่องโดด ๆ มิได้เป็นส่วนหนึ่งของตำนานน้ำท่วมโลกเสียด้วย อย่างเช่น ตำนานของลาวที่กล่าวว่าพระราชาเป็นผู้ค้นพบน้ำเต้ามหึมาสองอัน และเมื่อพระราชาเฉือนน้ำเต้าออกมา ก็ปรากฏว่ามีทั้งมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยเต็มไปหมดหลุดออกมาจากน้ำเต้า (หน้า 27) นอกจากเรื่องน้ำท่วมโลกแล้ว ยังมีตำนานที่แสดงถึงความเชื่ออื่น ๆ อีกมากมาย อย่างเช่น ตำนานเกี่ยวกับที่มาแห่งการไม่รู้หนังสือของมนุษย์ ซึ่งเป็นตำนานของคะฉิ่น (Kachin) โดยเนื้อเรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งเทพผู้สร้างโลกได้เรียกเหล่ามนุษย์ และสัตว์โลกทั้งหลายมาประชุมกัน โดยเทพฯ ได้แจกหนังสือที่สอนถึงการใช้ภาษา และสาระความรู้ต่าง ๆ ให้กับทุกชาติพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นคะฉิ่นเอง พม่า ฉาน หรือจีน แต่หนังสือเล่มที่แจกให้แก่คะฉิ่นทำมาจากหนังสัตว์ ขณะที่เล่มที่แจกให้กับชาติพันธุ์อื่นทำจากกระดาษธรรมดา ซึ่งทุกชาติพันธุ์ก็กลับบ้านและเก็บรักษาหนังสือเป็นอย่างดี ส่วนคะฉิ่นกลับนำหนังสือที่ทำจากหนังสัตว์มาย่างกินเป็นอาหารเสีย นั่นก็คือที่มาว่าทำไมจึงมีผู้คนที่ไม่รู้หนังสือ (อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) (หน้า 28-29) ต่อเนื่องจากเรื่องดังกล่าวข้างต้น ชาติพันธุ์อื่นที่นำหนังสือไปอ่าน จึงทราบว่าเทพฯ จะมีการแจกทรัพย์สมบัติเพื่อกระจายความร่ำรวยให้แก่มวลมนุษย์ เมื่อเทพฯ เรียกมารวมตัวกัน บรรดาชาติพันธุ์ต่าง ๆ จึงเตรียมตะกร้าขนาดใหญ่มาใส่แก้วแหวนเงินทอง ขณะที่คะฉิ่นซึ่งทำลายหนังสือไปแล้วและไม่ทราบข่าวนี้เลย สามารถรับเอาทรัพย์สินต่าง ๆ ไปได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น ซึ่งนี่คือตำนานที่อธิบายว่าทำไมพวกเขาถึงได้ยากจนเพียงนี้ (หน้า 29) โดยทั่วไปตำนานของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแต่ละชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น อาข่า ฉิ่น กะเหรี่ยง และลาหู่จะอธิบายครอบคลุมไปถึงความแตกต่างของสังคม และวัฒนธรรมระหว่างตนกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วย รวมทั้งยังให้คำตอบเกี่ยวกับที่มาของความแตกต่างทางด้านรูปร่างหน้าตาระหว่างชาติพันธุ์ มีตำนานซึ่งอธิบายว่าการที่ชาวเขามีผิวพรรณที่ดำกว่าคนพื้นราบ เป็นเพราะว่าบรรพบุรุษของชาวเขาโผล่ออกมาจากน้ำเต้าเป็นคนแรก เนื้อตัวจึงเปรอะเปื้อนไปด้วยขี้เขม่าของน้ำเต้า ขณะที่คนพื้นราบทั่วไปเห็นดังนั้น จึงเจาะรูออกอีกทางหนึ่งทำให้ตัวไม่ดำเหมือนชาวเขา (หน้า 29) นอกจากนี้ ยังมีตำนานที่อธิบายถึงสาเหตุแห่งความร่ำรวยของแต่ละชาติพันธุ์ที่มีไม่เท่าเทียมกัน โดยกะเหรี่ยงมีตำนานที่อ้างว่าเป็นเพราะบรรพบุรุษของตนถูกคนพื้นราบ (คนผิวขาว) หลอกหลวง และขโมยคัมภีร์ทองซึ่งบรรจุเคล็ดลับในการสร้างความร่ำรวย และการรู้หนังสือไป (หน้า 30) ทั้งนี้ หากวิเคราะห์โครงสร้างเนื้อหาของตำนานแล้ว จะเห็นได้ว่าประเด็นต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในตำนาน สามารถตีความให้เห็นถึงนัยของตำนานที่จะสื่อต่อทุกคนที่รับฟังตำนานนั้น กล่าวคือ ตำนานเป็นบทอุปมาสะท้อนความจริงอะไรบางอย่าง เช่น โลกก่อนมหันตภัยน้ำท่วม ก็หมายถึงวิถีสังคมเดิมที่เท่าเทียมกัน น้ำท่วมก็เป็นสิ่งที่สะท้อนวิกฤตที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ การรอดตายของสองพี่น้องก็เปรียบดั่งการเกิดใหม่ (ฟื้นตัว) ของสถานการณ์ที่เลวร้าย การแต่งงานกันเองระหว่างพี่น้องแสดงถึงการกระทำที่ขัดแย้งกับเงื่อนไขเดิม ๆ ส่วนการเกิดขึ้นของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ภายหลังเกิดโลกใหม่ก็เป็นสิ่งที่มีนัยถึงสังคมใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยบรรทัดฐานแบบใหม่ ดังนั้น โดยภาพรวมแล้วสามารถตีความได้ว่าตำนานกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงจากเงื่อนไข (สังคม) เดิมไปสู่เงื่อนไขสังคมใหม่โดยผ่านวิกฤต (Chaos) ที่เป็นสิ่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง (หน้า 31)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

สำหรับประเทศไทยเราสามารถแบ่งชาวเขาออกได้เป็น 6 ชาติพันธุ์ คือ กะเหรี่ยง แม้ว ละหู่ ลีซอ เย้า และอาข่า อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วนั้น การที่จะแบ่งแยกว่าชาวเขาพวกใดเป็นชาติพันธุ์ไหนก็เป็นเรื่องซับซ้อน อีกทั้งการที่จะไปเขียนแผนที่อย่างชัดเจนว่าเผ่าไหนอยู่พื้นที่บริเวณใดโดยใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งแบ่งแยก ก็ยังเป็นข้อกังขากันอยู่ (หน้า 6-7) ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าแม้จะอยู่คนละชาติพันธุ์แต่พวกเขามีอะไรบางอย่างที่ร่วมกัน (เหมือนกัน) อยู่ (หน้า 6)

Social Cultural and Identity Change

ชาวเขาบางกลุ่มสามารถปรับตัว และประยุกต์แบบอย่างของคนพื้นราบมาใช้ในชีวิต ประจำวันได้ดี จนกระทั่งความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ของตนกับชาติพันธุ์อื่น มีมากกว่าความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ของตนกับคนพื้นราบที่เป็นชนกลุ่มใหญ่เสียอีก (หน้า 6) ระบบเศรษฐกิจสังคมตามแนวคิดสังคมนิยมอย่างลัทธิเหมา (Maoist) ได้เข้ามามีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวเขาในประเทศลาว และเวียดนามในช่วงสงครามเวียดนาม ทั้งนี้ ก็เนื่องจากแนวคิดแบบลัทธิเหมานั้น สอดคล้องเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับคติความเชื่อของชาวเขาเหล่านี้ที่เชื่อว่า ภายหลังเกิดโลกใหม่แล้ว มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนเสมอภาคเท่าเทียมกัน (Egalitarian) (หน้า 33)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ไม่มี

Text Analyst เกรียงกมล ธีระศักดิ์โสภณ Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ม้ง, เมี่ยน, ลีซู, ลาหู่, ลเวือะ, ลัวะ, ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง), โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง), อาข่า, ขมุ, ชาวเขา, ความเชื่อ, ตำนาน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง