สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง),ลเวือะ,ไทย,ภูมิปัญญาชาวบ้าน,การอนุรักษ์ป่า,ภาคเหนือ
Author ชูสิทธิ์ ชูชาติ
Title การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศไทย
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลัวะ (มัล ปรัย) ลัวะมัล ไปร ลัวะปรัย, ปกาเกอะญอ, ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 135 Year 2541
Source สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
Abstract

รายงานการวิจัยชิ้นนี้ศึกษาการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านของกะเหรี่ยง ลัวะ และคนไทย ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าภาคเหนือของประเทศไทย โดยเน้นการศึกษาที่วิธีการของกะเหรี่ยงเปรียบเทียบกับลัวะและคนไทย แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าการใช้ภูมิปัญญามีปัญหา อุปสรรค และความสำเร็จอย่างไรบ้าง ผลการวิจัยพบว่า ชาวบ้านมองระบบนิเวศป่าประกอบด้วยสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ดิน น้ำ อุณหภูมิ แร่ธาตุ ฝน ฯลฯ และสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์ พืช และมนุษย์ ชาวบ้านใช้ระบบการผลิตและการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาป่าโดยยึดหลักการอนุรักษ์ การพึ่งพาอาศัย การเคารพ การนับถือ ความกลัว การสำนึกบุญคุณ ระบบนิเวศในป่าเริ่มสูญสลายเมื่อมีการพัฒนาพื้นฐานปัจจัยการผลิตและระบบการผลิตเพื่อขาย แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังคงรักษาระบบนิเวศป่าไว้ได้ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่า ได้แก่ การนับถือผี การผูกสายสะดือทารกไว้ที่ต้นไม้ ระบบเหมืองฝาย การประปาภูเขา การบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำ การปลูกป่า การทำไร่หมุนเวียนและการสร้างแนวป้องกันไฟ โดยพิธีกรรมดังกล่าวเป็นการปฏิบัติที่แสดงถึงความเคารพ ความกตัญญู ความกลัว การอ้อนวอน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ในปัจจุบันมีป่าที่ชาวบ้านรักษาเท่าที่สำรวจพบประมาณ 400 ป่า มีองค์กรชาวบ้านรักษาป่า 42 องค์กร ในเขตลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กก อิง ยวมและปาย แต่ก็มีอุปสรรคที่ยังมีการทำลายป่าจากนักการเมืองและนายทุนจากการร่วมมือของชาวบ้านบางกลุ่ม ในส่วนของข้าราชการบางหน่วยงานก็ไม่ยอมรับวิธีการรักษาป่าของชาวบ้าน มีการกันคนออกจากพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านอาศัยอยู่มานาน โดยที่ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาว่าต้องใช้หลักศาสนาและวัฒนธรรม สร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาต่อต้านลัทธิบริโภคนิยมและวัตถุนิยม ใช้ปัญญาดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ นอกจากนี้ต้องแก้ปัญหาทางด้านโครงสร้างคือระบบการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา กฎหมาย โดยยึดหลักการการอยู่อย่างยั่งยืนและเกื้อกูลกันระหว่างพืช สัตว์ และมนุษย์ในระบบนิเวศเดียวกัน (หน้า (1) - (2))

Focus

ศึกษาการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านของกะเหรี่ยง ลัวะ และคนไทย ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าภาคเหนือของประเทศไทย โดยเน้นการศึกษาที่วิธีการของกะเหรี่ยงเปรียบเทียบกับลัวะและคนไทย แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าการใช้ภูมิปัญญามีปัญหา อุปสรรค และความสำเร็จอย่างไรบ้าง (หน้า (1) , 4)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ศึกษากะเหรี่ยง ลัวะ และไทย ในด้านภูมิปัญญาการอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศกระจายตามลุ่มน้ำต่างๆ ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย คือ ลุ่มน้ำปิงและสาขาในเขต จ.เชียงใหม่และลำพูน ลุ่มน้ำน่านในเขต จ.น่าน ลุ่มน้ำวังในเขตจ.ลำปาง ลุ่มน้ำยวมในเขตจ.แม่ฮ่องสอน (หน้า 5 - 6 , 51 - 55)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

กะเหรี่ยง (Karen) ในประเทศไทยมี 4 กลุ่มคือ สะกอ (Skow) โป (P'wo) บเว (Bwe) หรือคะยา (Kaya) หรือยางแดง (Yang Dang) และตองสู (Tongsu) (หน้า 7, 48) กะเหรี่ยงอพยพจากธิเบตเข้ามาอยู่ในพม่าและดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 การอพยพครั้งใหญ่เกิดขึ้นระหว่างสงครามมอญ พม่า และไทย ระหว่างปี พ.ศ.2296 - พ.ศ.2367 กะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาในไทยจำนวนมากเป็นไพร่เช่นเดียวกับคนไทย แต่หลังจากรัชกาลที่ 5 สถานภาพของกะเหรี่ยงได้รับการยอมรับจากรัฐบาลน้อยลง (หน้า 23 - 24) กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ทางภาคเหนือตอนบนไปจนถึงภาคกลางรวมทั้งสิ้น 15 จังหวัด (เรียงจากมากไปน้อย) คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน กาญจนบุรี แพร่ ราชบุรี เชียงราย ลำปาง เพชรบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร ประจวบคีรีขันธ์ สุโขทัย (หน้า 48 - 49) ส่วนลัวะอยู่ในตระกูลออสโตรเนเชียน (Austronesian) สาขามอญ - เขมร อาศัยอยู่ตอนบนของไทยก่อนกะเหรี่ยงและไทยจะอพยพมาตั้งหลักแหล่ง (หน้า 50)

Settlement Pattern

ระหว่าง พ.ศ.1839 - 2101 มีการเกณฑ์แรงงานลัวะเพื่อสร้างโบราณสถานที่สำคัญในเชียงใหม่ และกวาดต้อนประชาชนสู้รบในสงครามระหว่างไทย - พม่า ทำให้ไทยพื้นราบ กะเหรี่ยง ลัวะ หลบหนีเข้ามาอาศัยในเขตป่าลึก และรูปแบบการตั้งถิ่นฐานก็ยังเป็นอยู่เช่นนี้จนกระทั่งปัจจุบัน (หน้า 50-51)

Demography

ชาวเขาในประเทศไทยมีทั้งหมด 9 เผ่า คือ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า อีก้อ มูเซอ ลีซอ ลัวะ ถิ่น และขมุ เมื่อพ.ศ.2540 มีจำนวนประชากร 774,316 คน แต่หากรวมประชากรพื้นที่สูงชาติพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ จีนฮ่อ ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ปล่อง คนไทย และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จะมีทั้งสิ้น 991,122 คน โดยกะเหรี่ยงมีประชากรมากที่สุดจำนวน 353,574 คน (ร้อยละ 35.6) รองลงมาคือ คนไทยที่อาศัยในเขตพื้นที่สูง 157,718 คน (ร้อยละ 15.9) อันดับที่ 3 คือแม้ว (ม้ง) จำนวน 126,300 คน (ร้อยละ 12.7) และลัวะมีประชากร 17,637 คน (ร้อยละ 1.8) (หน้า 48) จำนวนประชากรในหมู่บ้านที่ผู้วิจัยได้เข้าไปศึกษามีดังนี้ (1) บ้านโป่งสมิ ประชากรทั้งหมดเป็นกะเหรี่ยง มีจำนวน 52 หลังคาเรือน ประชากร 277 คน (2) บ้านดอกแดง ประชากรทั้งหมดเป็นกะเหรี่ยง มีจำนวน 52 ครอบครัว ประชากร 337 คน (3) บ้านปากบอก มีประชากรจำนวน 72 ครอบครัว 308 คน เป็นชาย 155 คน หญิง 153 คน ในหมู่บ้านมีเยาวชนที่เป็นผู้หญิงแค่ 3 คน ผู้ชาย 20 คน เพราะต้องไปทำงานในเมืองกันหมด (4) บ้านเมืองตึง มีจำนวนประชากรจำนวน 264 ครอบครัว มีประชากรทั้งหมด 1,071 คน (5) บ้านมอวาคี มีประชากรทั้งหมด 61 ครัวเรือน จำนวนทั้งหมด 357 คน (6) บ้านรับปาปอร์ต มีประชากรแบ่งเป็นหมู่บ้านดังนี้ บ้านแม่เกี๊ยะนอก หมู่ที่ 1 (บ้านกะเหรี่ยง) มีประชากร 405 คน จำนวน 70 ครอบครัว 90 หลังคาเรือน บ้านแม่เกี๊ยะนอกหมู่ที่ 8 มีประชากร 796 คน จำนวน 92 ครอบครัว 145 หลังคาเรือน (หน้า 51 - 54)

Economy

คนไทยทำไร่หมุนเวียนโดยถือครองพื้นที่ 5 - 6 แปลง หมุนเวียนกันไปปีละ 1 แปลง เช่นเดียวกับลัวะก็ทำไร่ที่เดิมหมุนเวียนกันไปตั้งแต่ 6 - 8 ปี ลัวะจะไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ เพียงแต่ตัดกิ่งก้านสาขาเพื่อให้ข้าวได้รับแสงแดด (หน้า 71 - 72) ส่วนกะเหรี่ยงก็ทำไร่และทำนาดำในที่ราบระหว่างหุบเขา โดยการทำไร่ของกะเหรี่ยงจะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี (หน้า 67 - 68)

Social Organization

ดูการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อจัดการทรัพยากรในหัวข้อ Political Organization

Political Organization

การรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อการรักษาป่า มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านเพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้ในแต่ละลุ่มน้ำในภาคเหนือดังนี้ ลุ่มน้ำปิง (1) กลุ่มรักป่าเชียงดาว อ.เชียงดาว (2) คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำเลา อ.แม่แตง (3) คณะกรรมการร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ในลุ่มน้ำแม่เลาะ อ.แม่ริม (4) สหพันธ์ผู้ใช้น้ำยุติธรรม อ.แม่วาง ลุ่มน้ำแม่วาง (5) กลุ่มอนุรักษ์ป่า ต.แม่ทา ต.ท่าเหนือ อ.สันกำแพง ลุ่มน้ำแม่ทา (6) คณะกรรมการป่าชุมชนห้วยแก้ว อ.สันกำแพง ลุ่มน้ำกวง (7) เครือข่ายเหมืองฝายลุ่มน้ำสาน อ.เมือง จ.ลำพูน ลุ่มน้ำแม่สาน (8) คณะกรรมการป่าชุมชนทุ่งยาว อ.เมือง จ.ลำพูน ลุ่มน้ำแม่สาน (9) คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านห้วยม้าโค้ง อ.เมือง จ.ลำพูน ลุ่มน้ำแม่สาน (10) คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านน้ำพุ อ.เมือง จ.ลำพูน ลุ่มน้ำแม่สาน (11) กลุ่มอนุรักษ์ป่า ต.บ้านปวง กิ่งอ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ลุ่มน้ำลี้ (12) กลุ่มอนุรักษ์ป่า ต.ตะเคียนปม กิ่งอ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ลุ่มน้ำลี้ (13) กลุ่มรักเมืองแจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ลุ่มน้ำแม่แจ่ม (14) กลุ่มอนุรักษ์ป่าขุนน้ำแม่แจ่ม ต.บ้านจันทร์ ลุ่มน้ำแม่แจ่ม (15) กลุ่มอนุรักษ์ป่าห้วยแม่หลุ - แม่ยางส้าน อ.แม่แจ่ม ลุ่มน้ำแม่แจ่ม ลุ่มน้ำน่าน (1) กลุ่มอนุรักษ์และทรัพยากรธรรมชาติขุนสมุน - สะเนียน จ.น่าน (2) กลุ่มอนุรักษ์และทรัพยากรธรรมชาติกิ่งอ.สันติสุข จ.น่าน (3) คณะกรรมการรักษาป่าไม้และต้นน้ำลำธาร ต.ศิลาแดง จ.น่าน (4) กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านน้ำไคร้ อ.ท่าวังผา จ.น่าน (5) ชมรมอนุรักษ์ป่าดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน (6) ชมรมอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านกิ่งม่วง กิ่งอ.สันติสุข จ.น่าน (7) กลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยหวะ ต.เมืองจัง อ.เมือง จ.น่าน (8) คณะกรรมการรักษาป่าชุมชนบ้านเมืองหลวง ต.เมืองจัง จ.น่าน (9) คณะกรรมการรักษาป่าชุมชนบ้านสบยาว ต.เมืองจัง จ.น่าน (10)กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ (ลำน้ำน่าน) - ลุ่มน้ำวัง กลุ่มกะเหรี่ยงรักป่าบ้านหมีนอก บ้านหมีใน บ้านต่อมนอก บ้านต่อมใน ต.หัวเมือง กิ่งอ.เมืองปาน จ.ลำปาง ลุ่มน้ำยม (1) กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ กิ่งอ.บ้านหลวง จ.น่าน (2) กลุ่มอนุรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.น่าน (3) กลุ่มอนุรักษ์ป่าแม่จองไฟ จ.แพร่ (4) กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน อ.เถิน จ.ลำปาง 25 หมู่บ้าน - ลุ่มน้ำอิง (1) กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านถ้ำจอมศีล อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา (2) กลุ่มอนุรักษ์ป่าห้วยแก้วหลวง อ.เมือง จ.พะเยา (3) กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ใจ อ.แม่ใจ จ.พะเยา (4) กลุ่มผู้ใช้น้ำแม่ต๋อม อ.เมืองจ.พะเยา - ลุ่มน้ำกก (1) ชมรมผู้รักษาป่าชุมชนจ.เชียงราย 15 แห่ง เขตอ.เวียงชัยและอ.แม่จัน จ.เชียงราย (2) เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำจัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย (3) คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านเมืองงาม ต.ท่าตอน จ.เชียงใหม่ (4) คณะกรรมการเหมืองฝายลุ่มน้ำฝาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ - ลุ่มน้ำยวม คณะกรรมการป่าชุมชน - ผู้ใช้น้ำแม่หาร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ลุ่มน้ำปาย (1) คณะกรรมการลุ่มน้ำสา อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (2) กลุ่มอนุรักษ์ป่าแม่สุยะ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน (หน้า 88 - 91) การจัดตั้งหมู่บ้านรักษาป่า แต่ละหมู่บ้านจะมีกฎข้อบังคับในการรักษาป่า เช่น กะเหรี่ยงบ้านแม่หมีใน ต.หัวเมือง อ.เมือง จ.ลำปาง มีกฎระเบียบการอนุรักษ์ป่าดังนี้ (1) ห้ามตัดต้นไม้ในเขตป่าอนุรักษ์ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร (2) ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนในการจัดการป่าชุมชน (3) ประชุมเดือนละ 1 ครั้งเพื่อสรุปการดำเนินงานของโครงการ ร่วมกันแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินงานต่อไป (4) ในเขตป่าใช้สอยชาวบ้านสามารถเก็บของป่าและยาสมุนไพรมาบริโภคได้ (5) ห้ามจุดไฟเผาป่าไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น (6) คณะกรรมการหรือชาวบ้านจะออกตรวจป่าอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง (หน้า 91 - 97)

Belief System

ภูมิปัญญาชาวบ้านในการแบ่งประเภทป่า กะเหรี่ยงแบ่งประเภทของป่าออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 1) ป่าใช้สอยหรือป่าสำหรับทำไร่ ทำนา หาอาหาร เชื้อเพลิง ที่อยู่อาศัย เป็นป่าที่ใช้ประโยชน์สำหรับทำมาหากิน 2) ป่าอนุรักษ์หรือป่าศักดิ์สิทธิ์ ห้ามเข้ามาตั้งถิ่นฐานหรือทำมาหากิน เป็นป่าพิธีกรรมสำหรับขอฝน โดยมากจะอยู่บนยอดเขาสูงสุด สำหรับคนไทยก็แบ่งป่าออกเป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกับกะเหรี่ยง คือ 1) ป่าอนุรักษ์ไว้เพื่อทำพิธีกรรม เป็นที่สิงสถิตของผีป่าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อนุรักษ์ป่าไม้เพื่อเป็นบ่อเกิดของลำธาร 2) ป่าใช้สอย สามารถเก็บของป่าเพื่อยังชีพได้ (หน้า 38-41, 129) ภูมิปัญญาของกะเหรี่ยงในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่า 1.กะเหรี่ยงดำเนินชีวิตสันโดษ ยึดการพออยู่พอกิน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน อนุรักษ์นิยมและผูกพันกับธรรมชาติ ความช่วยเหลือกันและกันของสังคมกะเหรี่ยงแสดงออกได้หลายวิธี เช่น เมื่อข้าวเปลือกในยุ้งหมด จะทำพิธีก้นยุ้ง (โพคิดะ) คือเอาข้าวมารวมกันแล้วต้มสุรา เชิญชาวบ้านดื่มกินเพื่อประกาศให้รู้ว่าข้าวสารหมดแล้วเหลือแต่น้ำ (สุรา) กะเหรี่ยงเชื่อว่าเงินตราเป็นบ่อเกิดของความตายและเป็นสมบัติของคนตาย จึงมีประเพณีวางเงินไว้ที่ร่างกายของผู้ตาย 4 จุด คือที่ตาทั้ง 2 ข้าง ปาก ฝ่ามือทั้ง 2 ข้างและเหนือหัวใจ เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจและค่าใช้จ่ายของคนตายในการดำรงชีวิต เทพเจ้าหรือผีสูงสุดของกะเหรี่ยงคือ "ตาตีตาเต๊าะ" เป็นที่รวมจิตใจของกะเหรี่ยง นอกจากนี้ยังมีผีอื่น ๆ อีกเช่น ผีป่า ผีภูเขา ผีไฟ ผีไร่ ผีน้ำ ผีบ้าน ฯลฯ 2.สังคมกะเหรี่ยงสอนว่า "ได้กินจากน้ำต้องรักน้ำ ได้กินจากป่าต้องรักป่า" กะเหรี่ยงแบ่งประเภทของน้ำออกเป็น 5 ประเภทตามความเชื่อดังนี้ 1) น้ำซับ (ทีจีท่อ) เป็นที่น้ำซึมซับอยู่ตลอดเวลา ตลอดปี พื้นที่มักเป็นป่าดง มีต้นไม้ขนาดใหญ่ ไม่มีใครเข้าไปรบกวน เชื่อว่ามีผีหรือเจ้าของคอยรักษาอยู่ 2) น้ำโป่ง (ทีมอ) น้ำที่เกิดขึ้นบริเวณที่ลุ่มของห้วย เป็นโคลนน้ำลึกมีน้ำขังตลอดปี ชาวบ้านเชื่อว่ามีผีดุมาก ถ้าไม่จำเป็นจะไม่เข้าใกล้ 3) ลำห้วย (ทีโกล๊ะ) เชื่อว่ามีผู้รักษาน้ำอาศัยอยู่ในลำห้วยหรือที่ที่มีน้ำขังอยู่ทั่วไป หากใครทำลายน้ำจะถูกลงโทษให้เกิดการเจ็บป่วย 4) น้ำผุด (ทีเป่าท่อ) เป็นน้ำที่ผุดขึ้นมาจากดินตลอดเวลา บริเวณดังกล่าวจะอุดมสมบูรณ์ ห้ามเข้าไปรบกวนหรือทำลาย ถือว่ามีเจ้าของหรือผีดุอาศัยอยู่ 5) น้ำอ่างแก้ว (ทีแหมะเก่อล่า) น้ำที่เกิดขึ้นตามป่าดงดิบที่ชุ่มชื้น คนและสัตว์สามารถดื่มกินได้ ห้ามทำลายน้ำในแอ่ง การใช้น้ำแต่ละครั้งของกะเหรี่ยงจึงต้องทำพิธีกรรมขอโทษผีน้ำ การบูชาผีต้องทำทุกปีก่อนฤดูทำนา นอกจากนี้ กะเหรี่ยงยังมีข้อห้ามเกี่ยวกับดิน เช่น ห้ามแตะต้องดินที่เป็นหลุมใหญ่ ดินร่องน้ำ ดินบริเวณร่องน้ำพบกัน ดินจอมปลวก ดินปากถ้ำ ดินยอดดอยหรือยอดภูเขาและดินริมฝั่งแม่น้ำ เป็นการป้องกันการรบกวนของมนุษย์ที่มีต่อผีและเป็นการป้องกันการพังทลายของดินในเวลาต่อมาด้วย ในส่วนของต้นไม้ก็มีข้อห้ามหลายประการ เช่น ห้ามตัดไม้ไผ่กอละไม่เกิน 2 ต้น หน่อไม้เก็บได้กอละ 2 หน่อ ไม้ที่เกี่ยวกับคนตายรวมทั้งไม้ในป่าช้าห้ามไม่ให้ผู้ใดเกี่ยวข้อง ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์นั้นก็มีข้อห้ามมากมายเช่น ห้ามยิงสัตว์บนต้นไทร ห้ามล่าสัตว์หลังจากเสร็จพิธีแต่งงาน 3 วัน ผู้หญิงท้องห้ามสามีล่าสัตว์ ควรล่าสัตว์เพื่อพออยู่พอกิน (หน้า 61 - 71) ภูมิปัญญาของคนไทยและลัวะในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่า คนไทยที่ใกล้ชิดกับป่าเคารพธรรมชาติโดยผ่านผี เทวดา และเจ้าที่ ในการรักษาป่าเช่นเดียวกับกะเหรี่ยง แต่คนไทยใกล้ชิดกับวัฒนธรรมใหม่และติดต่อกับโลกภายนอก ผลิตเพื่อขายมากกว่าสังคมกะเหรี่ยงและลัวะ ทำให้ความคิดในการเคารพธรรมชาติลดน้อยลง ลัวะนับถือผีไร่โดยทุกครัวเรือนจะทำพิธีเลี้ยงผีก่อนฟันไร่ เพื่อให้ผีไร่ออกจากที่จะทำไร่ เมื่อทำไร่เสร็จแล้วจึงกลับเข้ามาใหม่ให้ผีไร่ช่วยครอบครองให้ครอบครัวมีความสุข (หน้า 71-72) พิธีกรรมแบบอย่างในการอนุรักษ์ป่า 1) การเกิด ตามประเพณีของกะเหรี่ยงเมื่อทารกคลอดแล้ว จะนำสายสะดือใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกไว้กับต้นไม้ใหญ่ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เก็บของขวัญของทารก ห้ามตัดทำลายเด็ดขาด 2) การเลี้ยงผีขุนน้ำ เชื่อว่าลำน้ำทุกสายจะมีผีรักษาอยู่ตลอดสายน้ำและบันดาลให้น้ำไหลตลอดปี บริเวณใดที่เป็นขุนน้ำ ชาวบ้านจะรักษาไว้เป็นอย่างดีเพราะเป็นแหล่งต้นน้ำ จะมีการเลี้ยงผีขุนน้ำเพื่อแสดงความเคารพในฤดูกาลไถนาประมาณเดือนพฤษภาคม 3) การบวชป่า เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่พระสงฆ์ในภาคเหนือประยุกต์ใช้กับอนุรักษ์ป่า เป็นการต่อต้านผู้บุกรุกทำลายป่า 4) แนวกันไฟ เพื่อป้องกันไฟป่าลุกลาม โดยจะทำแนวกันไฟเมื่อเผาไร่ 5) ระบบเหมือง ฝายภูเขา เป็นการกักเก็บน้ำเพื่อให้ไหลวนไปตามแนวลาดชันของพื้นที่และเขตบริเวณที่นาขั้นบันได โดยชาวบ้านนำกิ่งไม้ ก้อนหิน กรวด มากั้นเป็นลำห้วย แต่ความเชื่อเกี่ยวกับผีน้ำทำให้ชาวบ้านกลัวผีลงโทษเพราะกั้นสายน้ำ จึงมีหอผีฝายบริเวณต้นลำเหมืองเพื่อขอโทษและบูชาผีขุนน้ำดูแลลำห้วย 6) การประปาภูเขา ต่อท่อประปาจากแหล่งต้นน้ำมายังหมู่บ้าน และมีพิธีกรรมเคารพผีน้ำเช่นเดียวกับการทำเหมืองและฝาย (หน้า 75 - 86)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

กะเหรี่ยงมีบทขับร้องเพื่อการอนุรักษ์ป่า เช่น บทเพลงการรักษาดิน น้ำ ป่า (ทา คอ ทิ) ที่ว่า "อยู่ที่เดิมของแม่บ้านเก่า อยู่ที่เดิมของพ่อบ้านเก่าดูภูเขา ภูเขาโล่ง ไม่เห็นร่องรอยฝีมือแม่ ไม่เห็นร่องรอยฝีมือพ่อ พวกเราถ้าทำเหมือนเขา น้ำตาหลั่งเหมือนเยี่ยวจักจั่น" และบทกวีที่สอนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ว่า "อยู่กับน้ำที่พระเจ้าสร้าง อยู่กับดินที่พระเจ้าสร้าง อยู่ที่เก่าเราต้องรักษา อยู่ที่สูงเราต้องรักษา ต่อไปเราทำได้มีกิน ดีขึ้นกับทุกสิ่งทุกอย่าง (หน้า 63 - 64)

Folklore

ลัวะ : ตำนานหลายเรื่องของล้านนาไทยกล่าวถึงลัวะว่า ได้ก่อสร้าง "เวียง" หรือชุมชนในเขตเมืองเชียงใหม่ ขุนหลวงวิลังคะ กษัตริย์ลัวะที่ปกครองเชียงใหม่วางอุบายยึดครองเมืองหิริภุญชัยของพระนางจามเทวี แต่ไม่สำเร็จ เมืองลัวะเชียงใหม่จึงถูกยึดครอง ลัวะบางส่วนจึงหลบหนีเข้าป่า สมัยพระเจ้ามังราย (พ.ศ.1805 - 1854) ลัวะชื่อ "อ้ายฟ้า" ช่วยพระเจ้ามังรายยึดครองเมืองลำพูนได้สำเร็จ ราชวงค์มังรายจึงได้ปกครองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา (หน้า 50) กะเหรี่ยง : พ้อเลป่า กวีกะเหรี่ยงแห่งลุ่มน้ำแม่แจ่ม กล่าวไว้ว่า "ชีวิตของข้า งอกงามจากผืนดินและสายน้ำ โรงเรียนของข้าคือวันและคืน คือฤดูกาลของโลกบนภูเขา คือครอบครัวคือความรัก คือป่าทุ่งไร่ฝูงสัตว์และความฝัน" (หน้า 56) คำพังเพย "พี่เอ๋ย น้องเอ๋ย เรามีกบตัวเดียวแกงให้เต็มหม้อแล้วแบ่งกันกิน พี่เอ๋ย น้องเอ๋ย เรามีปลาตัวเดียวแกงให้เต็มหม้อแล้วแบ่งกันกิน หากพี่น้องจัดตั้งหมู่บ้านมั่นคง แม้ฟ้าจะหล่นทับ พี่น้องก็ช่วยกันพยุงฟ้าให้กลับที่เดิมได้" และ "อดก็อดด้วยกัน ได้กินก็ได้กินด้วยกัน สิ่งของมากให้กินน้อย ของน้อยให้แบ่งปัน" กะเหรี่ยงคิดว่าข้าวสำคัญกว่าเงิน ดังมีนิทานเล่าไว้ว่า เทพธิดาแห่งเงินและข้าวเถียงกันว่าใครสำคัญกว่ากัน ถึงที่สุดเทพธิดาแห่งข้าวยอมแพ้และหนีไปอยู่ "ถ้ำปากอ้า ถ้ำปากหุบ" ต่อมาบุตรของเทพธิดาแห่งเงินหิวข้าว ร้องไห้ เทพธิดาแห่งเงินให้เงินก็ยังไม่หยุดร้องไห้ จึงให้กินข้าวสุกติดก้นหม้อ 2 - 3 คำ จึงหยุดร้องไห้ พอกินข้าวหมดก็ร้องอีก เทพธิดาแห่งเงินจึงให้นกกระจิบไปพบเทพธิดาแห่งข้าวเพื่อขอแบ่งข้าว เทพธิดาแห่งข้าวจึงให้ข้าวเปลือกมา 7 เมล็ด เพื่อให้มาปลูก จากนั้นมาเทพธิดาแห่งเงินจึงมีข้าวกินและอยู่อย่างมีความสุข (หน้า 61 - 62)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

- กะเหรี่ยงสะกอเรียกตัวเองว่าปกากะญอ แปลว่า คน (หน้า 7) - ส่วนลัวะมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ละว้า ลเวือ มาล ไพร ถิ่น - คนไทยใน จ.น่าน มักเรียกชาวเขาเผ่าถิ่นว่า "ลัวะ" อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้กับถิ่นและลัวะที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ลัวะที่น่านคือถิ่น แต่ลัวะที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนคือลัวะ ทั้ง 2 เผ่าแตกต่างกัน (หน้า 50) มีความขัดแย้งในการอนุรักษ์ป่าระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ทั้งความขัดแย้งภายในระหว่างชาวบ้านหมู่บ้านเดียวกันและชาวบ้านต่างหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านกะเหรี่ยงและม้งในอ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่หมู่บ้านติดกัน โดยกะเหรี่ยงเข้ามาตั้งถิ่นฐานก่อนที่ม้งจะอพยพตามมา ทำให้กะเหรี่ยงกลัวว่าม้งจะทำลายป่า จึงมีการกั้นอาณาเขตการใช้พื้นที่ป่า จนปัจจุบันเขตป่าที่ทำมาหากินของม้งโล่งเตียนกลายเป็นไร่กะหล่ำปลี ขณะที่เขตป่าของกะเหรี่ยงยังเป็นธรรมชาติหนาแน่นอยู่ นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งกับบุคลลภายนอกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการ รัฐบาล นักพัฒนา มีการอพยพชาวบ้านออกจากป่าเพราะการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งๆที่ชาวบ้านตั้งหมู่บ้านกันในพื้นที่มานานแล้ว (หน้า 110 - 116 , 132)

Social Cultural and Identity Change

ปัจจุบันนี้วิถีการผลิตของชาวเขาเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผลิตเพื่อพึ่งตนเองมาเป็นการผลิตเพื่อการค้าและการส่งออก นำเทคโนโลยีและสารเคมีมาใช้ในการผลิตซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง มีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร (หน้า 86 , 101 - 102)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

งานวิจัยชิ้นนี้มีตารางและภาพประกอบเพื่อนำเสนอข้อมูลค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เช่น ตารางแสดงรายได้จากป่าและปริมาณไม้ที่ทำออกจากป่าทุกๆระยะ 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2500 - 2540 (ตารางที่ 5.2 หน้า 121) , ภาพแผนผังแสดงลักษณะโครงสร้างหมู่บ้านและแบบแผนการดำเนินชีวิตของชาวเขา (ภาพประกอบที่ 4.4 หน้า 82)

Text Analyst สิทธิพร จรดล Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง), ลเวือะ, ไทย, ภูมิปัญญาชาวบ้าน, การอนุรักษ์ป่า, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง