สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย โย่ย,วัฒนธรรม,บุญยอธาตุ,การปรับเปลี่ยน,สกลนคร
Author กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์
Title การปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในบุญยอธาตุของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย ตำบลศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทโย้ย โย่ย โย้ย ไทยโย้ย ไทย้อย ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 201 Year 2540
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา (เน้นมนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Abstract

บุญยอธาตุของไทยโย้ย บ้านเดื่อศรีคันไชย แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการและขั้นดำเนินการ แต่ละขั้นตอนมีองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ องค์ประกอบด้านบุคคล องค์ประกอบด้านเวลา องค์ประกอบด้านสถานที่ และองค์ประกอบด้านวัสดุอุปกรณ์ องค์ประกอบของบุญยอธาตุมีคติความเชื่อว่า พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีกรรมงานบุญยอธาตุเป็นผู้ที่มีศีลธรรม มีคุณธรรม ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนเป็นที่พึ่งทางใจของบุคคลทั่วไป และมีหน้าที่สืบทอดและเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแนวทางของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าพระสงฆ์เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมบุญยอธาตุ วันเวลาในการจัดงานบุญยอธาตุจะจัดในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ มีกำหนด 2 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 19-20 เมษายนของทุกปี วัตถุสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรมที่มีการเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องไทยทาน เครื่องสังฆทาน ส่วนวัตถุสิ่งของที่นำมาในวันงานคือ ดอกไม้ ธูปเทียน ดิน หิน ทราย ข้าวปลาอาหารคาว หวาน น้ำอบ น้ำหอม ปราสาทผึ้งและต้นกัณฑ์ คติความเชื่อเกี่ยวกับงานบุญยอธาตุ แบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ คติความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพุทธแบบพื้นบ้าน คติความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์แบบพื้นบ้าน และคติความเชื่อเรื่องผี คติความเชื่อเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน กล่าวคือ พิธีกรรมทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ที่ประกอบขึ้นนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในบุญยอธาตุ เกิดจากสาเหตุการทำนุบำรุงส่งเสริมวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางสังคม การหยิบยืมวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงเกิดจากได้รับความรู้และเทคโนโลยี ใหม่ ๆ จะเห็นได้ว่า มุมมองของการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในงานบุญยอธาตุปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อนำจุดเด่นทางการสืบทอดประเพณีมาแสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ตน

Focus

ศึกษาประเพณีบุญยอธาตุของไทยโย้ย บ้านเดื่อศรีคันไชย ในด้านองค์ประกอบและขั้นตอนของบุญยอธาตุ คติความเชื่อจากองค์ประกอบ และขั้นตอนของบุญยอธาตุ ตลอดจนศึกษาการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในบุญยอธาตุ

Theoretical Issues

ไม่ได้ระบุแนวทฤษฎีที่ชัดเจน ผู้เขียนได้พยายามอธิบายว่า การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวปรับตัวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความต้องการของมนุษย์เป็นหลักใหญ่ ฯ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจึงมีขบวนการทั้งการคงอยู่และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถจะพิจารณาได้ 2 ลักษณะคือ 1. การรับเอาวัฒนธรรมอื่นที่เผยแพร่เข้ามา อันเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านการติดต่อสื่อสาร การขนส่ง 2. การคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ทำให้กระทบกระเทือนถึงแบบแผนความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของมนุษย์เสมอ จึงต้องปรับปรุงแบบแผนของความคิด ประเพณี และจิตใจให้ทันกับความเจริญทางวัตถุ ในแง่นี้การปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในบุญยอธาตุของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยนั้น จึงมีสาเหตุมาจากไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย ได้รับความรู้จากโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มากพอสมควร ตลอดจนได้มีการติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอก มีการคมนาคมที่สะดวกและรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในหมู่บ้านอย่างกว้างขวาง การคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นในสังคมฯ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในบุญยอธาตุของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย จึง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ และเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ (หน้า 142-143) การรับเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ และจากการที่ชาวบ้านมีความรู้มากขึ้น ทำให้วัฒนธรรมในการจัดงานบุญยอธาตุเปลี่ยนไปแต่ยังคงยึดถือคติความเชื่อดั้งเดิมอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมในงานบุญยอธาตุมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมทางสังคม (หน้า 151) จะเห็นได้ว่า มุมมองของการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในงานบุญยอธาตุเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นอกจากนี้ได้ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ข้อดีคือ มีเงินหมุนเวียนในหมู่บ้านที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์เตรียมในงานบุญ นอกจากนั้น หนุ่มสาวที่ไปทำงานนอกหมู่บ้านได้มีการจัดผ้าป่าเข้ามาร่วมในงานบุญอีกด้วย แต่ในด้านลบคือ ต้องสูญเสียเงินปีละหลายหมื่นเพื่อไปจ้างมหรสพมาแสดง เช่น ภาพยนตร์ หมอลำซิ่ง และการแสดงคอนเสิร์ต และด้านสังคม ข้อดีคือ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อระบบเครือญาติ มีการรวมกลุ่ม ความสามัคคี การลดปัญหาสังคมภายในหมู่บ้าน ความภาคภูมิใจที่มีต่อชื่อเสียงของหมู่บ้าน การมีส่วนร่วมพัฒนาหมู่บ้าน (หน้า 156-159)

Ethnic Group in the Focus

ไทยโย้ย บ้านเดื่อศรีคันไชย ชนเผ่าโย้ยเรียกได้หลายชื่อคือ ย้อย ผู้ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย (หน้า 9) การแต่งกายเหมือนไทยลาว ผู้หญิงมีชื่อในการเย็บปักถักร้อย มักเรียกตัวเองว่า "ลาวย้อย" คำว่า Dioi หรือ Dioy นั้น เขียนตามอักขระวิธีของภาษาสเปน ซึ่งคำว่า ไทยย้อยเป็นคำซ้ำกันมีความหมายว่า "ไทย ไทย" บางทีชาวจีนเรียกชนเผ่านี้ว่า "แข่" (หน้า 10)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาในหมู่บ้านเดื่อศรีคันไชยมีอยู่ 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยโย้ยและภาษาไทยลาว (มีผู้พูดภาษาไทยโย้ยประมาณร้อยละ 80) (หน้า 64)

Study Period (Data Collection)

ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2538 ถึง พ.ศ.2540 (หน้า 6)

History of the Group and Community

ไทยโย้ยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มไทยลาว มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองภูวา (ภูวดลสอางค์) ใกล้เมืองมหาชัยกองแก้วและเมืองหอมท้าวในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ปัจจุบันอยู่ในเขตของแขวงคำม่วนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งในอดีตดินแดนในแถบนี้เป็นของประเทศสยาม เมื่อเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เช่น ไทยลาว ผู้ไทย ไทยโส้ ไทยข่า ไทยโย้ย ไทยกะเลิง ไทยย้อ ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก เมืองสกลนครได้ตั้งให้ราชวงค์อิน ซึ่งมีความคุ้นเคยกันดีกับชนเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้มาอาศัยอยู่ที่สกลนคร โดยสัญญาว่า เมื่อพาไพร่พลจำนวนมากอพยพมาอยู่แล้ว จะได้รับที่ดินทำมาหากินตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง และจะมีการปูนบำเหน็จรางวัล และพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ให้ตามสมควร ทำให้บรรดาอุฮาดราชวงค์ ท้าวเพี้ย กรมการเมืองต่าง ๆ เกิดความต้องการและพากันปรึกษาหารือกัน แล้วอพยพผู้คนเข้ามาสู่สกลนครเป็นอันมาก ไทยโย้ยเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่พาไพร่พลอพยพมาด้วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้ 1. ไทยโย้ยที่อพยพมาจากเมืองหอมท้าว มีท้าวติวซอยเป็นหัวหน้าพร้อมด้วยท้าวศรีสุราช ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคตรพากันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านม่วงริมห้วยยามมีพลเมืองที่อพยพมา 2,339 คน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านม่วงขึ้นเป็นเมืองอากาศอำนวยขึ้นต่อเมืองนครพนมเมื่อ พ.ศ.2380 ได้แต่งตั้งให้ท้าวศรีสุราชเป็นหลวงผลานุกูล เจ้าเมืองต่อมาเมืองนี้ได้โอนมาขึ้นต่อเมืองสกลนคร ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ปัจจุบัน คือ อำเภออากาศอำนวย 2. ไทยโย้ยที่อพยพติดตามพระสุนทรราชวงศาไปอยู่เมืองยโสธรใน พ.ศ.2396 โดยมีท้าวจารย์โสมเป็นหัวหน้าเจ้าเมืองยโสธรได้ให้พวกนี้ตั้งอยู่ที่บ้านกุดลิงในท้องที่อำเภอเสลภูมิ (ติดเขตอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด) ใน พ.ศ.2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็นเมืองวานรนิวาสขึ้นต่อเมืองยโสธร พระราชบรรดาศักดิ์ท้าวจารย์โสม เป็นหลวงประชาราษฎร์รักษาเจ้าเมือง ในเวลาต่อมาไทยโย้ยได้อพยพมาอยู่ที่บ้านกุดแฮ่ชุมภู (ตำบลแร่ อำเภอพรรณนานิคมและได้ย้ายไปอยู่ที่ชุมแสงหัวนา ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอวานรนิวาสในปัจจุบัน) 3. กลุ่มไทยโย้ยที่อพยพมาจากเมืองภูวาใกล้เมืองมหาชัยกองแก้ว มีท้าวเทพกัลยาเป็นหัวหน้า ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองสกลนครให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านโพธิ์สว่าง หาดยาวริมน้ำปลาหางใน พ.ศ.2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวเทพกัลยาหัวหน้าไทยโย้ยเป็นพระสิทธิศักดิ์ประสิทธิ์เจ้าเมืองยกบ้านโพนสว่างหาดยาวริมน้ำปลาหางขึ้นเป็นเมืองสว่างแดนดินขึ้นกับแขวงเมืองสกลนคร ปัจจุบันคือ บ้านสว่างเก่า อำเภอพรรณนานิคม ต่อมาได้ย้ายเมืองสว่างแดนดินมาตั้งที่บ้านเดื่อศรีคันไชยริมห้วยปลาหาง ปัจจุบันคือ บ้านเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส ต่อมาในปีพ.ศ.2424 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ย้ายบ้านเดื่อศรีคันไชยไปอยู่ที่บ้านโคกสี (ปัจจุบันคือ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน) อีกหลายปีต่อมาได้ย้ายเมืองสว่างแดนดินจากบ้านโคกสีมาตั้งที่บ้านหัน อำเภอสว่างแดนดินในปัจจุบัน (หน้า 29-30) ประวัติความเป็นมาของบ้านเดื่อศรีคันไชย บ้านเดื่อศรีคันไชยเดิมมีครอบครัวอยู่ประมาณ 10 ครอบครัว ซึ่งอพยพมาจากบ้านสว่างเก่า (บ้านโพนสว่างหาดยาว) นำโดยปู่ฝ่าย และย่ารีย์ เมื่ออยู่มาไม่นานในราวสมัยรัชกาลที่ 3 ท้าวเทพกัลยาได้ย้ายเมืองสว่างแดนดินมาตั้งที่บ้านเดื่อศรีคันไชยเพราะเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีน้ำปลาหางไหลผ่าน ทางทิศเหนือ มีที่ดินสำหรับเลี้ยงสัตว์เพราะเป็นป่าโคก มีพันธุ์ไม้หลายชนิดสามารถนำมาก่อสร้างเป็นบ้านเรือนได้ และใช้เป็นแหล่งอาหารป่า มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์มาก ทางทิศตะวันออกมีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีห้วยไผ่ไหลผ่านเหมาะที่จะเป็นพื้นที่ในการทำนาทำไร่ ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันตก ก็มีแม่น้ำปลาหางไหลผ่าน เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำสวนผัก ทำนาและเป็นแหล่งอาหาร และทำประมงเป็นอย่างดี บ้านเดื่อศรีคันไชยมีเจ้าเมืองปกครองคนแรกคือ ท้าวเทพกัลยา (พระเทพประสิทธิ์) มีเจ้าเมืองปกครองติดต่อกันมาหลายคนและที่มีชื่อเสียงคือขุนศรีคันไชย สาเหตุที่ชื่อบ้านเดื่อศรีคันไชย เพราะทางเข้าหมู่บ้านมีต้นมะเดื่อต้นใหญ่มีใบปกคลุมปนาแน่นตลอดทั้งปี และคำว่า "ศรีคันไชย" มาจากชื่อดาบอาญาสิทธิ์ของเจ้าเมืองจึงนำมาต่อกันเป็นชื่อเมืองว่า "เดื่อศรีคันไชย" เพื่อเป็นสิ มงคล ส่วนปู่ฝ่ายและย่ารีย์ก็เป็นต้นตระกูล "ฝ่ายรีย์" ซึ่งมีคนใช้นามสกุลนี้มากในบ้านเดื่อศรีคันไชย เพื่อเป็นการให้เกียรติที่พาลูกหลานมาตั้งบ้านเรือน ที่บ้านเดื่อศรีคันไชย เป็นกลุ่มแรก ปัจจุบัน บ้านเดื่อศรีคันไชยมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร บนถนนสายพังโคน-บึงกาฬและอยู่ห่างจากอำเภอวานรนิวาสประมาณ 28 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอพังโคน 6 กิโลเมตรโดยมีลำห้วยปลาหางเป็นเส้นกั้นเขตแดน

Settlement Pattern

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานเป็นแบบ Line Settlement มีการตั้งถิ่นฐานเป็นแนวยาวตามลำน้ำ แต่ในปัจจุบันบ้านเรือนประชากรมีแนวยาวตามถนนที่ตัดผ่าน (หน้า 66)

Demography

ประชากรประกอบด้วยชนเผ่าไทยโย้ยทั้งหมู่บ้าน จะมีชนเผ่าอื่นมาปะปนบ้างเล็กน้อย เช่น มาประกอบอาชีพและการแต่งงาน เป็นต้น จำนวนประชากรทั้งหมด 4 หมู่บ้าน (บ้านเดื่อศรีคันไชย บ้านโคกไพศาล บ้านปานเจริญ บ้านเนินโพธิ์ทอง) แบ่งเป็นชาย 1,297 คน หญิง 1,309 คน รวม 2,606 คน (หน้า 52)

Economy

ไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก รองลงมาคือ การทำไร่ ทำสวน ทอผ้าในฤดูว่างเว้นจากการทำนา เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย และประกอบอาชีพอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง มีฐานะค่อนข้างยากจนถึงปานกลาง สินค้าออกของหมู่บ้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ อาหารป่าต่าง ๆ ข้าวเหนียวและสัตว์น้ำจากห้วยปลาหาง (หน้า 53)

Social Organization

กลุ่มทางสังคมของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย ส่วนใหญ่ได้แก่กลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้นำ ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็จะมีการแบ่งเป็นรุ่น ๆ (ในงานบุญยอธาตุจะใช้กลุ่มต่าง ๆ ในการทำต้นกัณฑ์มาร่วมพิธี เป็นการรวมกลุ่มกันบริจาคปัจจัยเพื่อสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน) ลักษณะการอยู่อาศัยเป็นแบบเครือญาติ และจากประวัติของหมู่บ้านทำให้ทราบว่า มีประมาณ 10 ครอบครัวที่มาอาศัยอยู่ในรุ่นแรก ๆ และตระกูล "ฝ่ายรีย์" เป็นตระกูลใหญ่ที่ในหมู่บ้านมีการใช้นามสกุลกันมาก

Political Organization

ปัจจุบันแบ่งการปกครองเป็น 4 หมู่บ้านคือ บ้านเดื่อศรีคันไชย (หมู่ที่ 2) บ้านปานเจริญ (หมู่ที่ 10) บ้านโคกไพศาล (หมู่ที่ 9) บ้านเนินโพธิ์ทอง (หมู่ที่ 11) ปกติจะเรียกกันว่า บ้านเดื่อศรีคันไชยกันทุกหมู่ เพียงแต่แบ่งกลุ่มเพื่อความสะดวกและทั่วถึงในด้านการปกครองเท่านั้น มีผู้ใหญ่บ้านของหมู่ที่ 2 เป็นกำนันคือ นายศรีจันทร์ สุวรรณเทพ ตำบลเดื่อศรีคัน-ไชยมีทั้งหมด 14 หมู่บ้าน (หน้า 51-52) ส่วนการควบคุมทางสังคมเนื่องจากไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย อยู่อาศัยกันแบบเครือญาติ และยึดมั่นในจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด อีกทั้งมีการนับถือผี นับถือผู้อาวุโส และพระสงฆ์ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการควบคุมทางสังคมของไทยโย้ยไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรมหรือนอกรีต อาทิเช่น บ้านเดื่อศรีคันไชย เป็นหมู่บ้านเก่าแก่และเคยเป็นเมืองชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงมีประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแก่และสำคัญหลายอย่าง ส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่ชาวเผ่าโย้ย ไทยลาวและชาวเผ่าต่าง ๆ ซึ่งอาศัยอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำโขงปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันปี เป็นประเพณีเกี่ยวกับฮีต 12 คอง 14 ฮีตสิบสองคองสิบสี่คือ ประเพณีประจำสิบสองเดือน เป็นจารีตที่จะให้สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสร่วมกัน ชุมนุมกันทำบุญประจำเดือนทุก ๆ เดือนของรอบปี ผลที่ได้รับคือ ทุกคนจะได้มีเวลาเข้าวัด ใกล้ชิดกับหลักการของธรรมทางพุทธศาสนายิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนในย่านข้างเคียงรู้จักมักคุ้น สามัคคีกันเป็นอย่างดี และมีผลทางอ้อมคือ เมื่อว่างจากการงานอาชีพแล้วก็มีจารีตบังคับให้ทุก ๆ คน เสียสละทำงานร่วมกันเพื่อสังคมส่วนรวมไม่ให้คนอยู่ว่าง ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนก็ถูกสังคมลงโทษตั้งข้อรังเกียจ เป็นต้น (หน้า 55) ดังนั้น กฎ ระเบียบ การควบคุมคนในสังคมส่วนใหญ่จึงอยู่ที่การยึดมั่นในจารีตประเพณี นับถือผี ผู้อาวุโสฯ มากกว่าเป็นการสร้างกฎ ระเบียบโดยทั่วไป

Belief System

จากการศึกษาคติความเชื่อการจัดงานบุญยอธาตุของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยในอดีตและปัจจุบัน สรุปได้ว่า มีคติความเชื่อแฝงอยู่ เป็นคติความเชื่อที่ผสมผสานกันระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ คติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องภูติผี วิญญาณ จึงมีการทำบุญยอธาตุเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไป เพื่อให้ได้รับส่วนบุญและได้ไปเกิดในภพหน้าชาติหน้าต่อไป ระบบความเชื่อเหล่านี้ดำรงอยู่ได้เพราะต้องพึ่งพาสนับสนุนกันและชาวบ้านยังมีความเชื่อที่แน่นแฟ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน จึงผูกพันอยู่กับเรื่องนี้ มีความเชื่อเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ นรก สวรรค์ ทำให้ประเพณีการทำบุญยอธาตุคงอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน (หน้า 141) ประเพณีฮีตสิบสองที่ไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย ให้ความสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ คือ ประเพณีบุญเดือนห้า บุญสงกรานต์และบุญยอธาตุ ความเชื่อของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยที่มีต่องานบุญญอธาตุนั้น ผู้วิจัยได้แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ คือ คติความเชื่อเกี่ยวกับบุคคล คติความเชื่อเกี่ยวกับเวลา คติความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่ คติความเชื่อเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ และคติความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ (รายละเอียดในหน้า 119-141) งานบุญยอธาตุของชาวบ้านเดื่อศรีคันไชย เป็นการจัดงานสืบเนื่องจากประเพณีสงกรานต์ กล่าวคือ เมื่อทำบุญสงกรานต์ครบเจ็ดวันแล้ว ชาวบ้านก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปที่อัญเชิญลงมาสรงน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเสร็จพิธีสรงน้ำแล้วชาวบ้านจึงได้อัญเชิญยกหรือยอขึ้นประดิษฐ์ฐานไว้บนแท่นบูชาตามเดิม ชาวอีสานนิยมเรียกเจดีย์ว่าธาตุ บางครั้งเรียกเจดีย์ทั้ง 4 ว่า ธาตุสี่ ได้แก่ 1.พระธาตุเจดีย์ คือ เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า 2.พระธรรมเจดีย์ คือ เจดีย์บรรจุพระธรรมหรือคำสั่งสอนของพระศาสนา ได้แก่ ตู้พระไตรปิฎกและหอพระไตรปิฎก 3.บริโภคเจดีย์ คือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงเคยใช้สอย 4. อุทเทสิกเจดีย์ คือ เจดีย์สร้างอุทิศถวายพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ดังนั้น การทำบุญยอธาตุของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยจึงหมายถึง การอัญเชิญ (ยก) การยอหรือการน้อมเอาธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ อุทเทสิกเจดีย์ และพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นธาตุทั้งสี่ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ว่าเป็นเจติยานุสรณ์ คือ สิ่งที่ควรปฏิบัติ และน้อมนำมาปฏิบัติอยู่เสมอ (พระสมฤทธิ์ ปัญญาคะโม. 2536 : 1) (หน้า 67) ไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด มีการปฏิบัติตามฮีต 12 คอง 14 มาแต่โบราณ มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ โดยจะมีศาลปู่ตาหรือดอนปู่ตาอยู่ในหมู่บ้าน 1 แห่ง มีการเลี้ยงปู่ตาทุกปี มีเจ้าจ้ำคือ นายชมภู ฝ่ายรีย์ เป็นจ้ำ คือ ผู้ติดต่อระหว่างไทยโย้ยและวิญญาณผีปู่ตา (ผีบรรพบุรุษ) มีนางเทียม 1 คน คือ นายดาย เทศประสิทธิ์ มีหน้าที่เหยารักษาไข้ และดูแลลูกหลานมิให้ทำผิดประเพณีของหมู่บ้านเป็นร่างทรงของผีไท้ หรือผีเชื้อสายของหมู่บ้านบุคคลทั้งสองนี้ชาวบ้านจะให้ความเคารพนับถือยำเกรงมาก ก่อนจะทำอะไรต้องไปคอย (บอกกล่าว) ก่อน เช่น ลูกหลานจะแต่งงานหรือมาอยู่ใหม่ และย้ายที่อยู่ ต้องมีการบอกกล่าวทุกครั้ง เวลาจะไปสอบหรือเดินทางไกลก็มักจะไปบนบานกับเจ้าจ้ำ เพื่อขอพรให้โชคดี ถ้าสำเร็จตามที่บนบานก็ต้องมาทำพิธี "แก้บะ" (แก้บน) กับจ้ำทุกครั้ง ส่วนเวลาป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุหรือทางโรงพยาบาลรักษาไม่หายก็จะมีการเหยารักษาโดย นางเทียม มีหมอธรรมอีกประมาณ 2-3 คน มีหน้าที่ทำพิธีเข้าทรงเพื่อชาวบ้านต้องการจะทราบอะไรบางสิ่งบางอย่าง เช่น เวลาของหาย คนหายก็จะลงธรรมดูว่า ขณะนี้อยู่ที่ไหน ซึ่งชาวบ้านจะเชื่อถือมากเช่นกัน นอกจากนี้ก็มีหมอสูดประจำหมู่บ้านเป็นผู้นำในการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ในพิธีต่าง ๆ เช่น แต่งงาน บายศรีสู่ขวัญเมื่อคลอดลูกใหม่ เวลาไปอยู่ต่างถิ่นเป็นต้น (หน้า 54-55)

Education and Socialization

ในด้านการศึกษาพบว่า บ้านเดื่อศรีคันไชย เป็นหมู่บ้านปลอดคนไม่รู้หนังสือในปี พ.ศ.2529 และจากข้อมูลในปี พ.ศ.2536 พบว่า มีสถานศึกษาทั้งหมด 3 แห่งประกอบไปด้วย 1. โรงเรียนบ้านเดื่อศรีคันไชย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เปิดสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับประถมศึกษาตอนปลายมีจำนวน 11 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน 359 คน มีผู้บริหารเป็นอาจารย์ใหญ่ มีครูในสังกัด 23 คน มีภารโรง 2 คน 2. โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส สาขาเดื่อศรีคันไชย สังกัดกรมสามัญศึกษามีครูที่ผลัดกันสอนจากโรงเรียนวานรนิวาส 9 คน มีจำนวน 2 ห้องเรียน (มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 2) เปิดทำการสอนในปี 2535 มีจำนวนนักเรียน 65 คน 3. สถานเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน 1 แห่ง สังกัดกรมพัฒนาชุมชนมีผู้เลี้ยงดูเด็ก 3 คน มีจำนวนเด็ก 23 คน

Health and Medicine

มีสถานีอนามัย 1 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ 3 คน ชาย 2 หญิง 1 (ข้อมูล พ.ศ.2536) นอกจากนั้น มีการรักษาพยาบาลแบบพื้นบ้าน (ตามรายละเอียดเรื่องความเชื่อหน้า 54-55)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

จากการศึกษาเอกสาร ผู้เขียนได้อ้าง ลัดดา พนัสนอกและคนอื่น ๆ (2530 : 24) ว่า ได้กล่าวถึงการแสดงของไทยโย้ยในหนังสือนาฎศิลป์พื้นเมืองสกลนครว่า ไทยโย้ยอยู่ในบ้านอุ่มเหม้า อำเภอพังโคน และไทยโย้ยอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร มีการแสดงชุดหนึ่งเรียกว่า โย้ยคูณลาน หมายถึง การหาบข้าวที่จะนวดมากองไว้ที่ลานนวดข้าว เพื่อจะนวดและนำขึ้นสู่ยุ้งฉาง นิยมเล่นในช่วงพักผ่อนเพื่อความสนุกสนานหลังจากการหาบข้าวและนวดข้าว สุรัตน์ วรางค์รัตน์ (2530 : 15-16) กล่าวถึงการแต่งกายของไทยโย้ยว่า เดิมสตรีโย้ยนิยมแต่งด้วยผ้าย้อมครามทั้งเสื้อและผ้าซิ่น ซึ่งไม่สวยเด่นเท่าผ้ามัดหมี่เพราะมีสีดำมืดทั้งตัว สมัยต่อมาก็จะนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สีฉูดฉาด ลวดลายสวยงาม ใส่เสื้อแขนกระบอกฝ้ายย้อมครามหรือมัดหมี่ ใช้ผ้าจ่องลวดลายสวยงามเป็นผ้าสะไบ ใช้เครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน เช่น สร้อยคล้อง คอ แขน ต่างหู เข็มขัด เป็นต้น (หน้า 10)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

การปรับเปลี่ยนเกิดจาก สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การศึกษา เทคโนโลยี ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกมาใช้ภายในหมู่บ้าน อาทิเช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การแต่งตั้งมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในงานบุญยอธาตุ การแสดงแสงสีเสียง คอนเสิร์ต เป็นต้น ซึ่งแต่ก่อนนั้นเป็นการจัดงานอย่างเรียบง่าย มีเพียงการบอกกล่าวกันภายในหมู่บ้าน มีการแสดงพื้นบ้านเพื่อผ่อนคลายความเครียดเท่านั้น

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

(หน้า 47, 48, 65, 66)

Text Analyst กรชนก สนิทวงค์ Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย โย่ย, วัฒนธรรม, บุญยอธาตุ, การปรับเปลี่ยน, สกลนคร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง